กัณฑ์ที่ ๒๖๐       ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๙

 

ความอยากเป็นตัวปัญหา

 

 

วันนี้ท่านทั้งหลายได้ใช้เวลาที่มีคุณค่าด้วยการมาวัด มาเติมความสุขความเจริญให้กับชีวิต ตัดภพชาติให้น้อยลง  ทำภพชาติที่เหลือให้เป็นสุคติ ไม่ไปตกระกำลำบากในทุคติ ด้วยการทำความดี ละบาป ชำระใจให้บริสุทธิ์ ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงให้เบาบางลงไปจนหมดไป เป็นวิธีที่จะนำมาซึ่งความดีงามที่ปรารถนากัน  เราจึงต้องบังคับตัวเราให้เข้าวัดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้าไม่บังคับแล้วจะมีสิ่งอื่นมาฉุดลากให้ไปที่อื่นอยู่เรื่อยๆ ให้ไปทำในสิ่งที่ไม่เสริมสร้างความสุขความเจริญ แต่สร้างความเสื่อม สร้างภพสร้างชาติ ให้มีมากขึ้นไป เพราะการกระทำตามความโลภตามความอยาก เป็นการสะสมภพชาติให้มีมากขึ้น เหตุที่จะพาให้ไปเกิดก็ไม่ใช่อะไรที่ไหน ก็คือความโลภความอยากต่างๆนี้เอง  โลภเท่าไรอยากเท่าไร ก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ  ได้มามากน้อยเพียงไรก็ไม่อิ่มไม่พอ เมื่อตายไปก็ต้องทิ้งไปหมด ไปเกิดใหม่ก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ เป็นการกระทำของคนโง่ ที่ชอบสะสมสิ่งต่างๆที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ เหมือนกับการก่อกองทรายไว้ที่ชายทะเลเวลาที่น้ำลง ก่อให้สวยอย่างไรพิสดารอย่างไร  พอน้ำขึ้นมาก็ซัดพังทลายไปหมด ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย ชาตินี้เราเกิดมาแล้ว ก็มาสะสมลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ ที่ได้จากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะกัน ได้มามากน้อยเพียงไรในที่สุดก็ต้องจากมันไป เอาติดไปกับใจไม่ได้  สิ่งที่ติดไปกับใจก็มีแต่ความโลภความอยากความต้องการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ความไม่พอให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ใจจึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่มาเป็นเวลาอันยาวนาน 

 

ถ้าอยากจะทราบว่าภพชาติที่เราได้ผ่านมานั้น มีมากน้อยเพียงไร ก็ลองคิดดูตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ในแต่ละภพแต่ละชาติที่เราเกิด ก็ต้องหลั่งน้ำตากัน ต้องร้องไห้กัน เวลาที่สูญเสียสิ่งที่รักไป เวลาที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ก็ร้องห่มร้องไห้กัน ถ้าเอาน้ำตาที่หลั่งในแต่ละภพในแต่ละชาติมารวมกัน ก็จะมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร คิดดูก็แล้วกันว่าจะต้องเกิดตายๆสักกี่ครั้งด้วยกัน ถึงจะหลั่งน้ำตาให้ได้มากเท่ากับน้ำในมหาสมุทร นี้แหละคือจำนวนภพชาติที่พวกเราได้ผ่านมากัน ได้เกิดได้ตายมา และจะเกิดจะตายต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าไม่ทำลายเหตุที่ผลักให้ใจต้องไปเกิดใหม่ คือความอยากต่างๆ ได้แก่กามตัณหา ความอยากในรูป ในเสียง  ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะต่างๆ ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ที่มีอยู่ในใจของสัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อเกิดความอยากแล้วก็ต้องไปทำ เช่น  อยากจะไปดูหนังฟังเพลงก็ไป ไปแล้วก็ไม่พอ ก็ต้องไปอยู่เรื่อยๆ จนเงินทองไม่พอใช้ ก็ต้องไปหามาด้วยวิธีที่มิชอบ เพราะหาด้วยวิธีที่สุจริตไม่พอใช้ ก็ต้องไปหาด้วยวิธีที่ทุจริต ไปลักขโมย ไปฉ้อโกง ไปปล้น ไปจี้ ไปทำร้ายผู้อื่น เพื่อจะได้เอาเงินมาเที่ยวต่อไป เมื่อทำอย่างนี้ก็เป็นการสร้างความเสื่อมให้กับใจ เสื่อมจากมนุษย์ไปสู่เดรัจฉาน  ไปสู่สัตว์นรก  ไปสู่เปรต

 

ความอยากมีพลังมีอำนาจมาก สามารถผลักดันให้คนเราไปทำในสิ่งที่ไม่ดีได้ เวลาเกิดความอยากแล้วไม่ได้ดังใจ ก็เกิดความโกรธ ใครขวางทางก็สามารถทำร้ายหรือฆ่าผู้นั้นได้ เพราะอำนาจของความอยากมีความรุนแรงมาก ถ้าปล่อยให้ความอยากไปตามเรื่องของมัน ก็จะฉุดลากพาเราไปสู่ทุคติ ไปสู่ที่ต่ำ  ในปัจจุบันก็อาจจะต้องถูกจับเข้าคุก เข้าตะราง หรือถูกจับไปประหารชีวิต ถ้าปล่อยให้ความอยากพาไปทำสิ่งที่ไม่ดี หน้าที่ของเราที่เกิดมาในแต่ละภพแต่ละชาติ จึงอยู่ตรงที่การต่อสู้กับความอยากต่างๆ คนเราไม่มีความอยากก็อยู่ได้  ไม่อยากไปเที่ยวก็ไม่ตาย ไม่อยากเป็นสามี ไม่อยากเป็นภรรยา ไม่อยากเป็นสส.  ไม่อยากเป็นนายกฯก็ไม่ตาย เพราะความอยากไม่ได้ทำอะไรให้ดีเลย มีแต่ความไม่อยากต่างหากที่จะทำให้ดี เพราะเวลาที่ไม่อยากแล้วเราสบาย อยู่เฉยๆก็เป็นสุข อยู่บ้านเฉยๆก็มีความสุข ไม่ต้องดิ้นรนไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆ   แต่เราไม่มีกำลังพอที่จะต่อต้านกับความอยากได้  มันจึงพาเราไปหาสิ่งนั้นหาสิ่งนี้อยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อเราเริ่มฝึกฝนจิตใจ  มาวัดมาปฏิบัติธรรม  มาฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วเกิดความเข้าใจว่า ความอยากเป็นอันตรายที่สุด เราก็มาต่อสู้กับความอยากกัน มาอยู่วัดถือศีล ๘  กันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะต่อสู้กับความอยากต่างๆ เวลาอยู่วัดถือศีล ๘    ก็จะไม่กินข้าวเย็น คนที่อยากกินข้าววันละหลายๆครั้ง ก็ต้องตัดมันไป กินได้ถึงเวลาเที่ยงวันเท่านั้น

 

ถ้าจะให้เคร่งกว่านั้นก็กินวันละครั้งเดียว กินวันละมื้อเดียว เหมือนกับพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในอารามนี้ ท่านสมาทานธุดงควัตรกัน   ฉันข้าววันละมื้อเดียว  เป็นวิธีปราบความอยากกินอาหาร แบบไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น  กินเข้าไปเท่าไรก็ไม่พอ อยากจะกินไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่ร่างกายไม่ต้องการอาหารที่เราพยายามยัดเยียดให้ จนมีน้ำหนักมากเกินไป   ทำให้มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เบียดเบียนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ ที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย  รับประทานตามความอยาก แต่มาอยู่วัดถือศีล ๘ ก็ต้องอดอาหารกัน หลังจากเที่ยงวันแล้วก็ไม่กินกัน กินมื้อเดียวไม่ตาย พระบางรูปเวลาที่ท่านปฏิบัติต่อสู้กับกิเลสอย่างเข้มข้น บางครั้งท่านอดอาหารถึง ๗  วัน ๑๐ วันหรือ ๑๕  วันก็มี ก็ยังอยู่ได้ เพราะร่างกายไม่ตายจากการอดอาหารเพียง ๑๕ วัน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเคยอดถึง ๔๙ วันด้วยกัน แต่การอดอาหารมากๆเกินความจำเป็น ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร การอดอาหารเพื่อปรามหรือปราบความอยาก     แต่ในขณะเดียวกันร่างกายก็ยังต้องการอาหารอยู่ ถ้าไม่ให้อาหารเลยร่างกายก็จะอยู่ไม่ได้ อย่างนี้ก็เกินความพอดีไป  อดอาหารเพื่อปราบความอยากปราบกิเลส แต่ต้องมีอาหารพอให้ร่างกายอยู่ได้ เพราะยังต้องอาศัยร่างกายไว้ต่อสู้กับกิเลส  ถ้าตราบใดกิเลสและความอยากต่างๆ ยังไม่หมดไปจากจิตจากใจ ก็ยังต้องอาศัยร่างกายนี้อยู่

 

เช่นพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า หลังจากที่ได้อดพระกระยาหารถึง ๔๙ วันแล้ว กิเลสก็ยังไม่หมดไปจากใจ ความอยากก็ยังมีอยู่ในใจ จึงเห็นว่าถ้าอดต่อไปร่างกายก็จะตายไป จะไม่สามารถปฏิบัติธรรมต่อสู้กับความอยากต่างๆได้อีกต่อไป ไม่ได้เป็นการชนะแต่เป็นการแพ้ เพราะทำผิดทางนั้นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงย้อนกลับมาเสวยพระกระยาหารตามปกติ เสวยวันละครั้งหนึ่ง พอให้ร่างกายมีกำลังวังชา แล้วก็เอาร่างกายมานั่งขัดสมาธิต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับความอยากที่มีอยู่ในใจ  ปกติคนเราถ้าจะให้นั่งอยู่เฉยๆไปนานๆจะนั่งไม่ได้กัน นั่งไปเดี๋ยวก็ต้องเกิดความอึดอัดใจ ต้องทำนั้นต้องทำนี้ ต้องดูนั้นต้องดูนี่ ไม่เคยนั่งอยู่เฉยๆได้เลย เพราะกามตัณหา ความอยากในรูป ในเสียงต่างๆนั้นเอง ถ้านั่งเฉยๆ แล้วไม่มีอะไรให้ดูก็เบื่อ แต่ถ้ามีอะไรให้ดูก็นั่งไปได้นาน  เช่นถ้ามีโทรทัศน์ให้ดู มีหนังให้ดู ก็นั่งดูไปได้เป็นชั่วโมงๆ  เพราะมีสิ่งมาคอยเลี้ยงความอยากไม่ให้สร้างความอึดอัดใจขึ้นมา แต่ถ้าปิดโทรทัศน์แล้วให้นั่งเฉยๆ ก็จะนั่งไม่ได้ เพราะความอยากจะคอยผลักจิตให้ไปหาอะไรมาดู หาอะไรมาฟัง พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วว่าความอยากนี่แลเป็นตัวปัญหา ที่ทำให้พระองค์เองและสัตว์โลกทั้งหลายไม่มีความสุข อยู่เฉยๆ ไม่ได้ อยู่ไม่เป็นสุข แต่พระพุทธเจ้าทรงคิดว่า ถ้าทำลายความอยากได้แล้ว ก็จะสบาย จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 

จึงทรงตัดสินพระทัยตั้งจิตอธิษฐาน ในขณะที่นั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ว่า ตั้งแต่นี้ไปจะนั่งต่อสู้กับกิเลสตัณหา ด้วยการเจริญสมถะภาวนา เจริญวิปัสสนาภาวนา   เพื่อกำจัดความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากจิตจากใจ ถ้าตราบใดยังมีความอยากอยู่ในพระทัย จะไม่ลุกจากที่ประทับโดยเด็ดขาด ถึงแม้ร่างกายจะตายไปก็จะไม่ลุกขึ้นอย่างแน่นอน  นี้คือการตั้งสัจจะอธิษฐานของพระพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญเดือน ๖  คืนที่ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะทรงต่อสู้กับความอยากที่มีอยู่ในพระทัยของพระองค์นั่นเอง ต่อสู้ในเบื้องต้นด้วยการทำจิตให้สงบ  กำหนดดูลมหายใจเข้าออก  หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ มีสติรู้อยู่กับการหายใจอย่างเดียว ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านมาก็ดี เรื่องในอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็ดี เรื่องของคนนั้นเรื่องของคนนี้ จะไม่ให้จิตไปคิดเลย จะให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว ทรงควบคุมจิตให้อยู่กับลมหายใจ แล้วจิตก็ค่อยสงบตัวลงไปๆ จนสงบเต็มที่เป็นสมาธิขึ้นมา มีความสุข มีความเย็น  มีความสบาย  เป็นอุเบกขา คือวางเฉย ไม่หิว ไม่อยาก ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้นในขณะนั้น แต่อยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้ชั่วคราว เมื่ออยู่ได้สักระยะหนึ่งแล้วก็จะถอนออกมา จิตก็จะเริ่มคิด เริ่มปรุงถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็จะเกิดตัณหาความอยากขึ้นมา อยากจะไปดู อยากจะไปฟัง อยากจะไปเห็น อยากจะไปดื่ม อยากจะไปลิ้มรส อยากจะไปสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ถ้าไม่มีวิปัสสนาปัญญาจะไม่สามารถทนนั่งอยู่ต่อไป

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงเจริญวิปัสสนาปัญญา เพื่อกำจัดความอยากในรูปในเสียงในกลิ่นในรสต่างๆ ด้วยการพิจารณาว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆที่อยากจะเสพ อยากจะสัมผัสนั้น ก็เคยเสพ เคยสัมผัสมามากมายแล้ว ก็ไม่เห็นจะทำให้พระทัยของพระองค์วิเศษขึ้นมาแต่อย่างใด  แต่กลับทำให้เป็นทาสของความอยากไป ถ้าอยากจะให้พระทัยของพระองค์วิเศษก็ต้องไม่ทำตามความอยาก  เพราะทำมาได้มากน้อยเพียงไรก็ไม่พออยู่นั่น  ได้มาเท่าไร ได้ดูเท่าไร ได้ฟังเท่าไร ก็หมดไป แล้วก็ต้องไปดูใหม่ ไปฟังใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ    เมื่อได้ทรงพิจารณา ก็เห็นว่า รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ไม่ได้ให้ความสุข ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอกับใจ มีแต่จะให้ความทุกข์อยู่เรื่อยๆ อยู่ร่ำไป จึงทรงตัดความอยากได้ในที่สุด  ด้วยการพิจารณาจนเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ  ไม่ควรยินดี ไม่ควรอยากได้มา  ได้มาแล้วก็จะกลายเป็นทาสไป เหมือนเสพยาเสพติด เสพแล้วจะเลิกไม่ได้ จะต้องเสพไปเรื่อย ๆ  จนร่างกายไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ เพราะพิษของยาเสพติดจะทำลายร่างกายไปในที่สุด  ฉันใดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ที่พวกเราชอบแสวงหากันก็เป็นอย่างนั้น เป็นเหมือนยาเสพติด จะทำลายใจ  ทำให้ใจกลายเป็นทาสของความอยาก  เมื่อเป็นทาสแล้วก็ต้องรับใช้ความอยากไปเรื่อยๆ เวลาความอยากสั่งการมาให้ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวก็ต้องไป  ให้ไปเที่ยวที่นั้นก็ต้องไป  ให้ไปดื่มที่โน้นก็ต้องไป ทำมากน้อยเพียงไรก็ไม่พอ ต้องคอยถูกสั่งอยู่เรื่อยๆไป   ตายจากชาตินี้ไปเกิดชาติหน้า ก็ต้องไปทำตามความอยากอีก 

 

นี้คือโทษของความอยากและสิ่งที่ไปอยาก ไม่มีประโยชน์เลย ไม่มีความสุขเลย ถ้าพิจารณาก็จะเห็นโทษ ก็จะเลิกได้ เหมือนกับเห็นโทษของยาเสพติด เราก็ไม่เสพกัน ก็อยู่ได้ ไม่ตาย ไม่กินเหล้าก็ไม่ตาย ไม่สูบบุหรี่ก็ไม่ตาย  ไม่ไปดูหนังฟังเพลงก็ไม่ตาย ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น การไม่ได้ทำอะไรตามความอยาก ไม่ทำให้เราทุกข์ เหตุที่เราทุกข์ก็เพราะความอยากต่างหาก ถ้าไม่มีความอยากอย่างพระพุทธเจ้า อย่างพระอรหันตสาวกแล้ว จะไม่มีความทุกข์ใจเลย ทั้งๆที่ไม่ได้เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ อย่างที่พวกเราเสพกัน นี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าพิจารณาเรียกว่าเจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา ให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่อยู่กับเราไปตลอด ไม่ใช่สมบัติของเรา มีแต่จะให้ความทุกข์กับเราเวลาได้มาครอบครอง เวลาที่มีลูก ก็ต้องทุกข์กับลูก ห่วงลูก กังวล เพราะอยากจะให้ลูกได้ดิบได้ดี อยากจะให้ลูกมีความสุข พอมีอะไรเกิดขึ้นกับลูกก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ก็เพราะความอยากนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ตัดความอยากต่างๆ  ภวตัณหาความอยากมี อยากจะมีสามี อยากจะมีภรรยา อยากจะมีลูกก็ตัดไป ถ้ายังไม่แต่งงานก็อย่าไปริ ถ้ามีแล้วก็ต้องอดทนพยายามดูแลกันไป แต่อย่าไปอยาก ดูแลให้ดีที่สุดก็แล้วกัน  แต่อะไรจะเกิดก็ต้องยอมรับ ลูกจะดีจะชั่วก็ต้องยอมรับ ในเมื่อได้ทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้ว สามีภรรยาจะดีจะชั่วก็ต้องยอมรับ เพราะเราไปทำอะไรไม่ได้มันเป็นเรื่องของเขาเป็นตัวของเขา ไม่เช่นนั้นเราจะทุกข์ไปอย่างมากกับคนนั้นกับคนนี้  

 

ถ้ามีปัญญามีวิปัสสนาแล้วจะไม่ทุกข์ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญญากัน  ไม่มีวิปัสสนากัน จึงทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ เพราะไม่พิจารณา  พอเห็นอะไรชอบอะไรก็อยากจะได้ อยากเอามาครอบครอง ไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งที่อยากจะได้นั้นเป็นเหมือนกับงูพิษ เอามาแล้วมีแต่จะคอยกัด คอยทำลายจิตใจอยู่ตลอดเวลา ด้วยความห่วง ด้วยความหวง  ด้วยความกังวล  ด้วยความเสียใจ นี้คือสิ่งที่เราจะได้รับจากสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้  พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พิจารณาให้เห็นว่า เป็นความทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไร เป็นสามีก็ทุกข์ เป็นภรรยาก็ทุกข์ เป็นลูกก็ทุกข์ เป็นตำแหน่งต่างๆก็ทุกข์  เป็นนายกฯก็ทุกข์  เป็นสส.ก็ทุกข์  เป็นรัฐมนตรีก็ทุกข์ มันทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่ทุกข์ ให้พิจารณาให้เห็นอย่างนี้ เพื่อจะได้ตัดความอยากให้หมดไปจากใจเพราะถ้าเห็นว่าเป็นทุกข์ เป็นเหมือนยาพิษ  เป็นเหมือนงูพิษ ก็จะไม่เข้าใกล้ แต่พวกเรามันพวกมืดบอด ไม่มีปัญญา ไม่เคยคิดกัน คิดไม่เป็น มองอะไรก็ดีไปหมดไม่เคยเห็นความทุกข์ที่จะตามมาเลย ก็เลยต้องทุกข์กันอยู่ร่ำไป แล้วเวลาทุกข์ก็ไม่รู้จักวิธีแก้  แทนที่จะตัดมันไป ก็ตัดไม่ได้ แทนที่จะปล่อยมันไป ก็ปล่อยไม่ได้ เช่นสามีหรือภรรยาถ้าเกิดไม่ดีขึ้นมาก็ตัดไม่ได้  อยากจะเปลี่ยนเขาให้ดีให้ได้ ยิ่งอยากเท่าไรก็ยิ่งทุกข์ยิ่งทรมานใจขึ้นไปเท่านั้น

 

แต่ถ้ายอมรับความจริงว่าสักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน ถ้าจะจากกันวันนี้เพื่อให้เรามีความสุข   เพื่อไม่ให้เราทุกข์ ก็จากกันวันนี้ดีกว่า  เรื่องอะไรจะต้องทนอยู่กันไป แล้วก็ต้องทุกข์กันไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่ออยู่ด้วยกันไม่ได้ก็อย่าอยู่ด้วยกันดีกว่า ต่างคนต่างไป แต่ถ้าไม่อยากอะไรกับเขาแล้ว เราก็จะอยู่กับเขาได้ เขาจะดีจะชั่วอย่างไร เราก็ไม่ไปอยากให้เขาเป็นอย่างอื่นไป ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ ถ้าอย่างนี้ก็อยู่ร่วมกันได้  แต่ถ้าอยากให้ดีแล้วไม่ดี อยู่ร่วมกันก็จะทุกข์  จึงต้องทำใจให้ได้  ไม่ให้ไปมีความอยากกับสิ่งต่างๆ มีอะไรมีได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องมี เช่นต้องมีเสื้อผ้า มีบ้าน มียารักษาโรค มีอาหารก็มีไว้ แต่ไม่ต้องไปทุกข์กับมัน  ถ้ามีมากก็ไม่เป็นไร  มีน้อยก็ไม่เป็นไร อดบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่มีกินเลยก็ไม่เป็นไร มันก็ตายเท่านั้น ไม่ช้าก็เร็วคนเราก็ต้องตายอยู่ดี ต่อให้มีมากขนาดไหน ได้กินมากขนาดไหน เมื่อถึงวันหนึ่งก็ต้องตายอยู่ดี  ถ้าทำความเข้าใจได้แล้ว ใจจะไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนกับอะไร  เพราะไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ ไม่อยากกับสิ่งต่างๆนั่นเอง ถ้าใจเป็นอย่างนั้นแล้วก็หลุดพ้น ไม่ต้องไปทุกข์กับอะไรอีกต่อไป เป็นใจที่มีความสุขอย่างยิ่ง เพราะเมื่อไม่หิว ไม่อยาก ไม่ทุกข์กับอะไร ธรรมชาติที่แท้จริงของใจก็จะถูกเปิดเผยขึ้นมา คือความสุขที่เลิศ ที่ประเสริฐที่สุด ที่เรียกว่า ปรมังสุขังนั่นเอง คือพระนิพพาน

 

ใจที่ได้ชำระตัดความอยากต่างๆให้หมดไปแล้ว ก็จะกลายเป็นพระนิพพานไป เป็นจิตนิพพาน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็หมดปัญหากับเรื่องความทุกข์ทั้งหลาย หมดปัญหากับเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย เพราะจะไม่ไปเกิดอีกต่อไป  เมื่อไม่เกิดก็ไม่ต้องตาย ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิดเท่านั้น ถ้าตราบใดยังมีการเกิดอยู่ตราบนั้นก็ยังมีความทุกข์อยู่ เพราะต้องไปแก่ ไปเจ็บ ไปตาย  ต้องไปอยากกับสิ่งนั้นกับสิ่งนี้ เหมือนกับที่พวกเรากำลังอยากกัน ทุกวันนี้ยังอยากกันอยู่ ยังลำบากกันอยู่    เพราะกังวล เวลาอยากแล้วไม่มีเงินไปทำตามความอยาก ก็วุ่นวายใจ เดือดร้อนใจ แต่ถ้าไม่อยากแล้วไม่มีเงินก็ไม่เดือดร้อนอะไร อยู่เฉยๆได้ อยู่บ้านเฉยๆก็ได้ อยู่บ้านไหว้พระสวดมนต์ นั่งทำสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะไปก็มีความสุขได้ เป็นความสุขที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากการไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ  นี้คือวิถีชีวิตของพวกเราชาวพุทธ มีหน้าที่คอยกำจัดความอยากต่างๆ   ด้วยการทำความดี ละบาปทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติธรรม  ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  ถ้าดำเนินชีวิตไปในทางนี้แล้ว รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็วก็จะพ้นทุกข์ จะพบกับความสุขที่แท้จริง ที่จะอยู่กับเราไปตลอดอนันตกาล ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป นี้คือผลที่จะตามมา  จึงขอฝากเรื่องการมาวัด  มาบำเพ็ญ มาเสริมบำรุงความสุขให้กับจิตใจ มาตัดภพตัดชาติให้เบาบาง ให้น้อยลงไป ให้หมดไปในที่สุด ให้ท่านนำไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้