กัณฑ์ที่ ๒๗๑       ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๙

 

ทาน ศีล ภาวนา

 

 

 

วันนี้เป็นวันหยุดราชการ เป็นวันที่ท่านทั้งหลายไม่ต้องไปทำงานทำการ จึงได้มาวัด เพื่อมาสร้างคุณงามความดี อันเป็นเหตุที่จะนำมา ซึ่งความเจริญก้าวหน้า ความร่มเย็นเป็นสุข เพราะการกระทำเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งผลต่างๆ ที่ปรารถนาและไม่ปรารถนา ถ้าทำดีก็เป็นเหตุดี  นำผลที่ดีมา ถ้าทำไม่ดีก็เป็นเหตุไม่ดี นำผลที่ไม่ดีมา เป็นกฎตายตัว ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ แล้วนำมาสั่งสอนหรือไม่ก็ตาม ความจริงย่อมเป็นความจริงอย่างนั้น เหมือนกับน้ำที่จะต้องเปียก ไฟจะต้องร้อน เป็นธรรมชาติ  จะมีใครมาบอกว่าถูกน้ำแล้วจะต้องเปียกหรือไม่ก็ตาม   ถ้าถูกน้ำแล้วก็ต้องเปียก ไฟมันร้อน ถ้าไปอยู่ใกล้ไฟก็ต้องร้อน ไม่มีใครไปห้ามความจริงนี้ได้  ฉันใดการกระทำของพวกเรา ทางกายทางวาจาและทางใจ ก็เป็นเช่นนั้น เป็นเหตุที่จะนำผล คือความสุขหรือความทุกข์ ความเจริญหรือความเสื่อมมา เมื่อทำไปแล้วก็ไม่มีอะไรมายับยั้งผลที่จะตามมาได้  มีอย่างเดียวคือไม่ทำเท่านั้นเอง  ถ้าไม่ทำก็ไม่มีผลปรากฏขึ้นมา ถ้าไม่ทำบาป นรกหรือความทุกข์ก็จะไม่มีตามมา  ถ้าไม่ทำบุญ ความสุขหรือสวรรค์ก็จะไม่มีตามมา ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา พระพุทธเจ้าไม่สามารถดึงเราขึ้นสวรรค์หรือผลักเราให้ตกนรกได้  ไม่มีใครทำให้เราขึ้นสวรรค์หรือตกนรกได้ แต่การกระทำของเรานั้นแลจะเป็นตัวที่จะผลัก ให้เราขึ้นสวรรค์หรือตกนรก 

 

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้พุทธศาสนิกชนหมั่นทำความดีกันไว้ ทำบุญทำกุศล รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ที่เป็นเหตุของความสุขความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข ความก้าวหน้า ตั้งแต่ระดับมนุษย์ขึ้นไปจนถึงเทวดา พรหม พระอริยเจ้า พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า ตามลำดับ เกิดจากการกระทำที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราทำกันอย่างสม่ำเสมอ ในเบื้องต้นทรงสอนให้ทำทาน ให้บริจาคสิ่งของเงินทองต่างๆที่เหลือกินเหลือใช้  การให้ทานมีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกันคือ ๑. วัตถุทาน ให้พวกวัตถุข้าวของเงินทองต่างๆ อย่างวันนี้ญาติโยมนำกับข้าวกับปลาอาหารคาวหวาน จตุปัจจัยไทยทานมาถวาย จีวร ยารักษาโรค รวมไปถึง กุฏิ วิหาร  โบสถ์ เจดีย์  เป็นการให้วัตถุ  ๒. วิทยาทาน ให้วิชาความรู้ เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอะไร เรานำเอาไปสอนผู้อื่น  โดยไม่เก็บเงินเก็บทอง  เช่นรู้จักวิธีทำกับข้าวกับปลาอาหาร เราก็ไปสอนผู้อื่นโดยไม่เรียกค่าตอบแทน ไม่เก็บค่าสอน  สอนให้ฟรีๆ  ๓. อภัยทาน คือการให้อภัย ไม่อาฆาตพยาบาท ไม่จองเวรจองกรรม เวลามีใครทำให้เรามีความเจ็บช้ำน้ำใจ มีความไม่พอใจ ไม่สบายอกไม่สบายใจ แทนที่จะไปโกรธ ไปอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรม เราก็ให้อภัย  ถือเสียว่าเป็นการทำบุญ เหมือนกับการให้ทานด้วยวัตถุข้าวของเงินทอง ๔. ธรรมทาน ให้ธรรมะ คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 

 

เรามาวัดกันอย่างสม่ำเสมอ ได้ยินได้ฟังเรื่องบาปบุญคุณโทษ เรื่องนรกเรื่องสวรรค์ เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เป็นความจริงที่ผู้ใดนำไปปฏิบัติแล้ว จะได้รับประโยชน์ เพราะเมื่อได้ยินได้ฟังว่า ตายไปแล้วจะขึ้นสวรรค์ถ้าทำบุญ ตกนรกถ้าทำบาป เมื่อรู้แล้วจะได้ไม่ทำบาป  นี้คือการให้ธรรมะ เรียกว่าธรรมทาน การให้ทั้ง ๔ ชนิดนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการให้ธรรมทาน เป็นการให้ที่ประเสริฐที่สุด เป็นการให้ที่มีคุณค่าที่สุด  การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง ถ้าได้อ่านหนังสือธรรมะดีๆ คิดว่ามีประโยชน์ ก็พิมพ์แจกให้กับผู้อื่น ก็เป็นธรรมทาน เป็นการให้ธรรมะเหมือนกัน ถ้าเรายังไม่สามารถศึกษาปฏิบัติ จนรู้ธรรมะอย่างถ่องแท้  จนสามารถสั่งสอนผู้อื่นได้ แต่อาศัยการที่เราชอบอ่านหนังสือธรรมะ   ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม พอได้อ่านหนังสือเล่มไหนที่เห็นว่ามีคุณค่ามีคุณประโยชน์   หรือได้ยินได้ฟังธรรมะจากแผ่นซีดีหรือจากเทป  แล้วอยากจะเอาไปเผยแผ่ให้กับผู้อื่น  เราก็ช่วยจัดพิมพ์หนังสือจัดผลิตแผ่นซีดีเหล่านั้นออกมา    การให้ทั้ง ๔ ชนิดนี้ เราสามารถให้ได้ตลอดเวลา  ไม่ว่าจะอยู่ในวัดหรืออยู่นอกวัด  เวลามีเหตุการณ์มีความจำเป็นที่เราควรให้ ก็ไม่ควรเมินเฉย รีบให้เสีย เพราะเป็นโอกาสที่ดี  แม้ขณะที่ถูกโจรปล้น ก็คิดเสียว่าเป็นการให้ทานไปก็แล้วกัน  ให้ไปแล้วจะมีความสุขใจ จะไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัว ถ้าไม่ยอมแล้วต่อสู้กัน ก็อาจจะถูกฆ่าตายได้  เสียเงินเสียทองไม่พอยังต้องเสียชีวิตอีกด้วย   แต่ถ้าเคยให้ทานอยู่อย่างสม่ำเสมอ จะมีความยินดีพร้อมที่จะให้ทุกเวลา เมื่อมีเหตุมีความจำเป็น ก็สามารถให้ได้ทันทีโดยไม่รู้สึกเสียดายหรือเสียใจเลย นี่ก็เป็นอานิสงส์อย่างหนึ่งที่เกิดจากการให้ทานอย่างสม่ำเสมอ ถ้าให้อยู่บ่อยๆแล้ว จะไม่ยึดติดกับสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ ถ้าควรให้ก็ยินดีให้ เพราะคิดว่าพรุ่งนี้ก็หาใหม่ได้ถ้ายังไม่ตาย ถึงแม้จะสูญเสียอะไรไป ถึงแม้จะบริจาคทรัพย์สินเงินทองข้าวของไปมากน้อยเพียงไร พรุ่งนี้ก็หาใหม่ได้ 

 

เวลาให้แล้วจะเกิดความสุขใจ ความภูมิใจ ความอิ่มเอิบใจ ชนะความตระหนี่ ใจแคบ คนที่ใจแคบมีความตระหนี่จะไม่มีความสุข มีแต่ความหวงแหน ความห่วง ความกังวลกับสมบัติข้าวของเงินทอง จะไปไหนก็ไปไม่ได้ กลัวทิ้งบ้านไปแล้วเดี๋ยวขโมยจะขึ้นบ้าน ก็เลยกลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไป มีทรัพย์มากน้อยเพียงไร แทนที่จะให้ทรัพย์รับใช้ตน ให้ความสุขกับตน กลับกลายเป็นคนรับใช้ทรัพย์สมบัติไป เป็นยามเฝ้าสมบัติไป  ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มีเงินทองมากมายก่ายกอง แต่ไม่กล้าใช้ ตายไปก็ไม่ได้ประโยชน์ สมบัติที่ทิ้งไว้ให้กับคนอื่น ไม่มีอานิสงส์เลย  จะมีก็ต่อเมื่อให้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  ให้ด้วยความเต็มใจ ด้วยความยินดี  ทำให้อิ่มเอิบใจ สุขใจ ได้ชำระความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวให้เบาบางลงไป เมื่อตายไปก็จะมีทรัพย์รออยู่ข้างหน้า ไปเกิดในภพหน้าชาติหน้าจะไม่อดอยากขาดแคลน จะมีเครื่องใช้ไม้สอยเงินทองรออยู่ ได้ไปเกิดบนกองเงินกองทอง เป็นลูกเศรษฐี ลูกของพระเจ้าแผ่นดิน จึงไม่ควรมองข้ามการให้ทาน เพราะการให้ทานเป็นฐานรองรับของความดีงามทั้งหลาย เหมือนกับการเรียนหนังสือ ถ้ายังไม่ได้เรียนชั้นอนุบาล ชั้นประถม จะไม่สามารถเรียนชั้นมัธยมหรือระดับมหาวิทยาลัยได้ ต้องเริ่มต้นจากชั้นอนุบาลไปก่อน ถึงจะขึ้นไปสู่ชั้นประถมชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัยได้ ต้องเริ่มต้นจากขั้นต่ำขึ้นไป ไม่เช่นนั้นจะเรียนไม่ผ่าน ถ้ายังไม่ได้เรียนชั้น ป. ๑ แล้วไปเรียน ชั้น ม. ๑ เลย ก็จะเรียนไม่ผ่าน เพราะเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้พอที่จะสอบผ่านไปได้ ต้องกลับลงไปเรียนชั้นอนุบาลชั้น ป.๑ อยู่ดี

 

การทำบุญให้ทานก็เป็นอย่างนั้น เป็นรากฐานของการพัฒนาจิตใจ ให้ก้าวขึ้นไปสู่ศีล ไปสู่ภาวนา คือการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิและปัญญา เพื่อไปสู่การหลุดพ้น ไปเป็นพระอริยเจ้า ไม่ว่าจะเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า ก็ต้องเกิดจากการไต่เต้าจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูงนั่นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำทีละอย่าง เราสามารถทำควบคู่กันไปได้ อย่างเช่นตอนเช้าก็ให้ทานทำบุญตักบาตร แล้วก็รักษาศีลกัน ศีล ๕ ศีล ๘ แล้วแต่ความสามารถ ตอนเย็นก็ภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ ทำจิตใจให้สงบ แล้วก็เจริญวิปัสสนา พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกัน ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดา สอนใจอยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อใจได้รับได้ยินได้ฟังแล้ว จะได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ เวลาเกิดขึ้นมาจะไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์ ไม่วุ่นวาย ไม่เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับสภาพความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น นี่คือการปฏิบัติที่จะต้องไต่เต้าขึ้นไปทีละขั้นๆ ทำให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ เคยทำทานได้มากน้อยเพียงไรก็ทำเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนไม่เคยทำบุญทำทาน ชอบเอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือย ไปเที่ยวไปกินไปดื่ม แต่ก็ไม่เคยเกิดความสุขใจเกิดความภูมิใจเลย พอได้ช่วยเหลือผู้อื่น ที่ตกทุกข์ได้ยากลำบากลำบน ให้ได้เงยหัวขึ้นมาบ้าง ให้มีความสุขบ้าง ก็จะทำให้มีความภูมิใจมีความสุขใจ ติดใจกับการทำบุญทำทาน อยากทำให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

 

เมื่อทำมากขึ้นไปเรื่อยๆ ความโลภอยากได้สิ่งต่างๆก็จะเบาบางลง ถึงแม้ยังมีอยู่แต่ก็จะอยู่ในกรอบของความดีงาม อยากจะได้อะไร ก็จะหามาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ไปลักทรัพย์ ไปฆ่าผู้อื่น ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยาของผู้อื่น ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ เพราะใจไม่ได้โลภมากถึงขนาดนั้น ถึงแม้ยังมีความโลภอยู่ แต่ไม่ถึงกับต้องไปทำผิดศีลผิดธรรม ถ้าหามาด้วยความสุจริตไม่ได้ก็ไม่เอาก็ได้ เพราะใจที่ให้ทานอยู่อย่างสม่ำเสมอ จะมีความสุขหล่อเลี้ยงจิตใจ พอต่อสู้กับความโลภความอยากได้ คนที่ทำบุญทำทานอยู่อย่างสม่ำเสมอ จะรักษาศีลได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ทำ เพราะจิตจะมีแต่ความหิวความอยากได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีมากน้อยเพียงไร ความหิวความอยากในใจก็ไม่หมดไปตามสิ่งที่มีอยู่ แต่กลับจะมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งได้มามากเท่าไหร่ก็ยิ่งอยากได้มากขึ้นไปเท่านั้น ไม่เหมือนกับเวลาให้ทาน ให้ไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งอยากจะให้มากขึ้นไปเท่านั้น เพราะทุกครั้งที่ให้จะมีความอิ่มเอิบใจ ความสุขใจ ความพอใจ เพราะการให้เป็นการให้อาหารกับจิตใจ ส่วนการได้มา ไม่ได้เป็นการให้อาหารกับจิตใจ แต่เป็นการสร้างความหิว ความต้องการให้มีมากยิ่งขึ้นไป นักปราชญ์ทั้งหลายจึงสอนให้ทำบุญทำทานเสมอ เพราะเมื่อได้ทำแล้ว จะนำไปสู่การรักษาศีล เพราะจิตใจที่มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น เวลาอยากจะได้อะไร ก็จะไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้องการ ก็จะนำไปสู่การมีศีล

 

เมื่อมีศีลก็จะตั้งอยู่ในความสงบ ไม่วุ่นวายใจ ไม่มีปัญหามาสร้างความทุกข์ร้อนให้กับจิตใจ ไม่เหมือนกับเวลาที่ทำผิดศีลผิดธรรม โกหกหลอกลวง ลักเล็กขโมยน้อย ยุ่งเกี่ยวกับสามีภรรยาของผู้อื่น จิตใจจะต้องมีความกังวลกระวนกระวายรุ่มร้อน เพราะกลัวจะถูกจับไปลงโทษนั่นเอง กลัวจะถูกสาปแช่งประณาม แต่ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว จะไม่ถูกจับไปลงโทษ ไม่มีใครสาปแช่งประณามว่าเป็นคนไม่ดี มีแต่ยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดี ศรัทธาเคารพเลื่อมใส อย่างพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลาย ที่ญาติโยมกราบไหว้กัน เพราะท่านมีศีล ตั้งอยู่ในความดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เมื่อรักษาศีลได้แล้ว จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ทำให้เห็นคุณค่าของความสงบสุขของจิตใจ แล้วก็อยากจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่การรักษาศีลจะได้ความสงบในระดับหนึ่ง ถ้าต้องการให้มีความสงบเพิ่มมากขึ้น ก็จะต้องภาวนา ทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ ให้ฉลาดให้เกิดปัญญา การทำจิตให้สงบจะทำให้มีความสุข การทำจิตให้มีปัญญาจะกำจัดความทุกข์ความวุ่นวายใจให้หมดสิ้นไป ดังนั้นเมื่ออยากจะได้ความสุขมากขึ้นไปกว่าที่ได้จากการทำบุญให้ทาน จากการรักษาศีลแล้ว ในลำดับต่อไปเราก็จะสนใจกับการภาวนา จะศึกษาว่าการภาวนาต้องทำอย่างไร ทำแล้วจะได้ผลอะไรตามมา เมื่อศึกษาแล้วก็นำไปปฏิบัติ การภาวนาเป็นการทำจิตใจให้สงบ ไม่ให้ไปคิดไปปรุงถึงเรื่องราวต่างๆนั่นเอง แต่จะบอกให้จิตใจอยู่เฉยๆ ไม่ให้คิดทันทีทันใดนั้น ย่อมทำไม่ได้ เหมือนกับรถยนต์ที่วิ่งอยู่ อยู่เฉยๆจะสั่งให้หยุดวิ่งไม่ได้ ต้องมีวิธีมีอุบาย ต้องมีเบรก ถ้ามีเบรกก็หยุดได้ แต่ถ้าไม่มีเบรกก็ต้องขับวนไปเวียนมา ถ้ามีทางขึ้นเขาก็ขับขึ้นเขา เดี๋ยวไม่ช้าก็เร็วรถก็จะหมดแรงไปเอง

 

ฉันใดการจะทำจิตใจให้หยุดคิดได้ ก็ต้องมีอุบาย ที่ง่ายที่สุดก็คือการสวดมนต์ ให้สวดมนต์ไปเรื่อยๆ สวดบทที่จำได้ บทไหนก็ได้ เพียงแต่ขอให้มีสติอยู่กับการสวด ไม่ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ คิดถึงคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้มีสติรู้อยู่กับการสวดมนต์ สวดไปเรื่อยๆ ต้องสวดนานหน่อย ถ้ายังไม่เคยสวด เพราะสวดใหม่ๆยังจะไม่เห็นความสงบ แต่ถ้าสวดไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปใจจะแผ่วลงๆ ความคิดจะเบาลงๆ เพราะในขณะที่สวด จิตยังแอบไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ได้อยู่ เพราะยังมีแรงมาก แต่ถ้าสวดไปเรื่อยๆ พยายามเกาะติดอยู่กับการสวดมนต์ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ต่อไปความคิดจะเบาลงไปๆ ใจรู้สึกสบายขึ้นเย็นขึ้น อยากจะอยู่เฉยๆ ถ้าจะหยุดสวดตอนนั้นก็ลองหยุดดู ถ้าหยุดแล้วจิตนิ่งเฉยๆ สบายใจ มีความสุข ไม่คิดเรื่องอะไร ก็อยู่เฉยๆไป หรือจะดูลมหายใจต่อก็ได้ เวลาลมหายใจเข้าหน้าอกจะพองขึ้นมา เวลาหายใจออกจะยุบลงไป สังเกตดูตรงนั้นก็ได้ เรียกว่ายุบหนอพองหนอ เวลาหายใจออกก็ยุบ เวลาหายใจเข้าก็พอง เพียงแต่ให้รู้เฉยๆไม่ต้องไปคิดอะไร เป้าหมายของการภาวนา คือไม่ให้ไปคิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น เพราะเวลาคิดแล้วจะวุ่นวายใจ เวลาไม่คิดแล้วจะสบายใจ ไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจ นี่คือการภาวนาเพื่อทำจิตใจให้สงบ ถ้าจิตสงบได้เต็มที่แล้ว บางทีความรู้สึกเกี่ยวกับร่างกายจะหายไปเลย เรื่องรูปเรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรสนี้ จะไม่เข้ามาอยู่ในใจเลย จะเหลืออยู่แต่ใจล้วนๆ อยู่ในความสงบ มีแต่สักแต่ว่ารู้ อยู่เฉยๆ ในขณะนั้นจะมีปีติ มีสุข มีอุเบกขา มีความสบายอกสบายใจ ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับไม่มีโลกนี้ มีแต่ความว่างที่เย็นสบาย นี่คือเป้าหมายของภาวนา

 

เมื่อภาวนาเป็นแล้ว เวลามีปัญหา มีเรื่องวุ่นวายต่างๆจะมีที่หลบ มีที่พึ่ง เหมือนกับมีห้องไว้สำหรับหลบความร้อน เวลาอยู่ข้างนอกมันร้อนมากก็เข้าห้องปรับอากาศ จะเย็นสบาย เวลาใจไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ จะทำให้กังวล รุ่มร้อน หวั่นไหว ก็ระงับด้วยการภาวนา ไปหาที่สงบ มุมสงบ แล้วก็สวดมนต์ไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดถึงเรื่องต่างๆที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นมา ทำใจให้สงบก่อน เมื่อใจสงบใจสบายแล้วค่อยมาคิดด้วยปัญญา ที่จะช่วยตัดความกังวลได้อย่างแท้จริง เพราะปัญญาจะสอนให้รู้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรถาวร ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องหมดสิ้นไป จบสิ้นไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม เมื่อถึงเวลามันก็จะหมดของมันไปเอง ถ้ามันไม่หมดเราก็หมดไปก่อน คือตายไปก่อน มันก็จบเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลกับปัญหาต่างๆ อะไรที่ทำได้ดูแลได้จัดการได้แก้ไขได้ก็ทำไป อะไรที่ทำไม่ได้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่มีอะไรที่ต้องไปกังวลด้วย เมื่อเข้าใจหลักนี้แล้ว ความกังวลวุ่นวายใจก็จะสงบตัวลง แม้ปัญหาต่างๆยังไม่ยุติ ยังมีอยู่ แต่จะไม่เข้ามาสร้างความวุ่นวายใจ เพราะใจปล่อยวางได้นั่นเอง ไม่เดือดร้อน ไม่กลัว อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป ตอนนี้ยังไม่เกิดไปวุ่นวายกับมันทำไม นี่คือปัญญาที่เราจะต้องใช้ พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน เมื่อถึงเวลาจะต้องจากกันจะไม่เศร้าโศกเสียใจวุ่นวายใจ เพราะไม่มีใครจะยับยั้งได้

 

แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องตายเลย พระอรหันต์ทั้งหลายก็ต้องตายเหมือนกัน พระเจ้าแผ่นดิน ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี มหาเศรษฐีก็ต้องตายเหมือนกัน ต้องจากสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆไปเหมือนกัน เป็นเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องปกติ ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่เดือดร้อนวุ่นวายใจ สามารถอยู่ได้อย่างสุขอย่างสบาย เพราะมีปัญญานั่นเอง มีการเตรียมพร้อมที่จะรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ใจเองก็ไม่ได้ตาย ไม่ได้เป็นอะไรไปเลย ใจก็ยังเหมือนเดิมอยู่ ถ้าเปรียบเทียบใจก็เป็นเหมือนกับเครื่องโทรทัศน์ เวลาเปิดขึ้นมาก็จะมีเรื่องราวในจอปรากฏขึ้นมา มีการยิงกัน มีการฆ่ากัน มีการทำร้ายกัน มีการระเบิดใส่กัน แต่พอปิดโทรทัศน์ไปปั๊บ โทรทัศน์ก็ยังอยู่เหมือนเดิม จอก็ไม่ได้ระเบิดตามกับเรื่องที่เกิดขึ้นในจอ ฉันใดเรื่องราวต่างๆที่ปรากฏในใจก็เป็นอย่างนั้น ใจเป็นเหมือนจอโทรทัศน์ เรื่องราวต่างๆก็เหมือนกับเรื่องที่ปรากฏในจอโทรทัศน์ ปรากฏขึ้นมาแล้วก็ผ่านไปดับไป ไม่ได้มาสร้างไม่ได้มาทำลายใจเลย สิ่งที่ทำลายใจได้ก็คือความโง่เขลาเบาปัญญา ที่ไปหลงตกอกตกใจกับเรื่องราวต่างๆ เพราะความยึดมั่นถือมั่นกับเรื่องราวต่างๆว่าเป็นของเรา เป็นตัวเรา แต่ถ้ามองด้วยปัญญาแล้วจะเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นเพียงแต่ภาพที่ปรากฏขึ้นในใจเท่านั้นเอง ใจเพียงแต่รับรู้ จะดีจะชั่วมันก็ดีชั่วของมัน แต่ไม่ได้ทำให้ใจดีชั่วไปด้วย จะเกิดจะดับ ก็ไม่ได้มาทำให้ใจเกิดดับไปด้วย

 

ถ้ามีปัญญาจะเข้าใจ จะปล่อยวางได้ จะไม่วุ่นวายใจกับเรื่องราวต่างๆ ปล่อยให้มันเป็นไป ถ้าดูแลรักษาได้ป้องกันได้ก็ทำไป ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องปล่อยวาง แต่ใจจะอยู่อย่างสงบ อยู่อย่างสบาย ท่ามกลางเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม จะไม่มากระทบกับจิตใจได้เลย นี่คืออานิสงส์ของการเจริญปัญญา ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา เพื่อทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง ไม่ต้องไปทุกข์กับเรื่องอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกัน จะไม่ทำให้จิตที่มีปัญญาต้องมีความวิตกกังวลด้วยเลย จะรับรู้ได้อย่างสบายใจ นี่คือสิ่งที่ควรบำเพ็ญกัน เริ่มต้นตั้งแต่การให้ทาน แล้วก็รักษาศีล แล้วก็บำเพ็ญภาวนา ทำจิตใจให้สงบ แล้วก็เจริญปัญญา จนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้หมดหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้ามอบให้กับพวกเรา อยู่ในวิสัยของพวกเราทุกคน ถ้ามีศรัทธาความเชื่อ มีวิริยะความพากเพียรแล้ว ไม่ช้าก็เร็วจะได้รับผลอันประเสริฐนี้อย่างแน่นอน ขอให้มีความแน่วแน่มั่นคงต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนกว่าชีวิตจะหาไม่ รับรองได้ว่าสักวันหนึ่งจะได้สัมผัสกับการหลุดพ้น ที่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ที่จิตใจจะสามารถไขว่คว้าได้อย่างแน่นอน การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้