กัณฑ์ที่ ๒๗๓       ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๙

 

ออกกำลังใจ

 

 

 

ตลอดระยะเวลา ๕ วันทำงาน ญาติโยมก็หมดเวลาไปกับการดูแลทำนุบำรุงร่างกาย ด้วยการทำมาหากิน หาเงินหาทอง เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย ๔ ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ นอกจากนั้นก็ยังต้องหมดไปกับการรับใช้กิเลสตัณหาความอยาก ถ้าจิตใจยังไม่ได้รับการชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็ยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจของความอยากความโลภต่างๆ เวลาก็จะหมดไปอีกส่วนหนึ่งเพื่อรับใช้กิเลสตัณหา ความโลภความอยากต่างๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรกับจิตใจเลย นอกจากสร้างความทุกข์ สร้างความวุ่นวายใจให้กับจิตใจอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากใจยังไม่มีกำลังพอที่จะต่อต้านต่อสู้กับความโลภกับความอยากต่างๆ จึงต้องคล้อยตามไป พอวันหยุดเช่นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์เราก็มาที่วัดกัน เพื่อเสริมสร้างกำลังให้กับจิตใจ ด้วยการทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เป็นเหมือนกับการออกกำลังใจ สร้างกำลังใจให้แข็งแรง มีกำลังที่จะต่อต้านกับความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ ชีวิตของเราจึงต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสม ส่วนหนึ่งก็ต้องแบ่งให้กับการดูแลรักษาร่างกาย อีกส่วนหนึ่งก็เอามาเสริมสร้างกำลังใจคือสติปัญญา ความเข้มแข็ง ความอดทน ความอดกลั้น เพื่อต่อสู้กับกิเลสตัณหาที่จะฉุดลากพาเราไปสู่ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ถ้ามีกำลังใจคือสติปัญญาความฉลาด ขันติความอดทน ทมะความอดกลั้น เราก็จะสามารถต่อสู้กับความโลภกับความอยากต่างๆได้

 

เมื่อเราสามารถกำจัดความโลภความอยากได้ เราจะเห็นความสุขความสบายเกิดขึ้นมาภายในใจ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะตลอดเวลาในชีวิตของเรานั้น เราไม่เคยต่อสู้กับความโลภกับความอยากเลย เรามักจะคล้อยตาม มักจะทำตามความอยากความโลภเสมอ เพราะยังไม่รู้จักแยกแยะว่า ความอยากความโลภชนิดไหนมีความจำเป็น ความอยากความโลภชนิดไหนไม่มีความจำเป็น ถ้าความอยากความโลภที่เป็นความจำเป็น มันก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ เช่นความอยากที่จะดูแลรักษาร่างกายให้อยู่อย่างสุขอย่างสบาย เราก็ต้องไปทำงานทำการ ทำมาหากินด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อจะได้มีรายได้มาดูแลรักษาชีวิตของเรา อย่างนี้เรียกว่าเป็นความโลภความอยากที่จำเป็น ที่มีคุณมีประโยชน์ ส่วนความโลภความอยากที่ไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ ก็คือความอยากได้ลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ ที่ไม่ได้ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง แต่จะทำให้เราไม่มีกำลังที่จะยืนหยัดอยู่ตามลำพัง ต้องแสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้ความสุขกับเราอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆที่เราคือใจของเราก็ไม่ได้พิกลพิการอย่างไร ใจของเราสามารถยืนหยัดอยู่ตามลำพังได้ ไม่ต้องมีลาภยศสรรเสริญสุข มาสนับสนุน มาให้ความสุข แต่เราไม่รู้กัน เราถูกความหลงที่มีอยู่ในใจ หลอกให้ไปแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุขกันตลอดเวลา ได้มามากน้อยเพียงไรก็ไม่เคยพบกับความอิ่มกับความพอ เพราะลาภยศสรรเสริญสุขไม่ได้เป็นตัวที่จะทำให้จิตใจของเรา มีความอิ่มความพอ แต่กลับจะสร้างความหิวสร้างความกระหายให้มีมากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ได้เงินทองมามากน้อยเพียงไรก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ ได้คืบก็อยากจะได้ศอก ได้ศอกก็อยากจะได้วา มีเงินพันก็อยากจะได้เงินหมื่น มีหมื่นก็อยากจะได้แสน มีแสนก็อยากจะได้ล้าน มีล้านก็อยากจะได้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ  จนมีใช้ไปอีกสิบชาติก็ไม่หมด ก็ยังไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ เมื่อยังไม่ถึงความอิ่มถึงความพอก็จะไม่พบกับความสุขที่แท้จริง เพราะความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การอยู่เป็นสุข อยู่เฉยๆก็มีความสุข ไม่ต้องมีอะไรก็มีความสุขได้ ความสุขชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราทำจิตใจให้สงบ ระงับจากความโลภ ความโกรธ ความหลงต่างๆ สิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องโลภต้องอยากกันก็คือ อยากจะได้ความสงบสุขของจิตใจ เราต้องอยากอย่างนี้ เพราะความอยากอย่างนี้เป็นคุณเป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษ เมื่อได้ความสงบสุขของจิตใจแล้ว เราจะพบกับความสุขที่แท้จริง จะพบกับความอิ่มความพอ จะสามารถอยู่เฉยๆได้ อยู่เป็นสุข ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายหาอะไรต่างๆ เพราะได้อะไรมามากน้อยเพียงไร ก็ไม่ใช่เป็นคำตอบ ไม่ได้ทำให้เกิดความอิ่มความพอ เพราะความอิ่มความพอจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทำจิตใจให้สงบ ระงับจากความโลภความโกรธความหลงต่างๆ เราจึงควรหันมาแสวงหาความสุขแบบนี้ คือความสงบสุข ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้เราทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ละบาปกรรมทั้งหลาย และกำจัดความโลภความโกรธความหลง ที่มีอยู่ในจิตในใจให้หมดสิ้นไป นี่คือหน้าที่ที่แท้จริงของเรา หน้าที่รองก็คือการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อจะได้มีกำลังวังชา มีเวลามาทำหน้าที่หลัก คือการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

การทำความดีก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน เริ่มต้นตั้งแต่การมีความกตัญญูกตเวที สำนึกในบุญคุณของผู้มีพระคุณทั้งหลาย ทดแทนบุญคุณตามสมควรแก่ฐานะที่จะทำได้ เช่นบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย เมื่อมีโอกาสก็ควรทดแทนบุญคุณของท่าน ควรมีสัมมาคารวะ ความอ่อนน้อม เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ และก็ควรรับใช้ผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นตามสมควรแก่ฐานะ มีอะไรมากน้อยเพียงไร พอที่จะให้กับผู้อื่นได้ ก็ให้ไป ถ้ามีทรัพย์ก็ให้ทรัพย์ ถ้ามีของใช้ที่ไม่ใช้แล้ว แต่ยังเป็นของดีอยู่ ยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่น ก็เอาไปแจกเอาไปจ่าย อย่าสะสมเก็บไว้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร จะเกะกะบ้านช่องเปล่าๆ  ถ้าไม่มีแล้วจะทำให้รู้สึกโล่งอกสบายใจ เพราะไม่ต้องกังวลไม่ต้องดูแลรักษา นี่คือการกระทำความดีต่างๆ ที่เราทำได้และควรจะทำกันอยู่เสมอ ส่วนบาปกรรมท่านก็สอนให้เราชำระ ให้เราเลิก ให้เราละ อย่าไปสร้างเวรสร้างกรรม เพราะการทำบาปทำกรรมมีแต่ผลเสียตามมาทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในปัจจุบันเมื่อทำไปแล้วก็ทำให้จิตใจมีความรุ่มร้อน มีความกังวล ไม่มีความสุข เพราะเมื่อไปสร้างความเดือดร้อนไปเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว เช่นไปฆ่าผู้อื่น ไปลักทรัพย์ของผู้อื่น ไปประพฤติผิดประเวณี ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น ก็จะทำให้เราเป็นคนไม่ดี เป็นคนน่ารังเกียจ จะต้องถูกจับไปลงโทษ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็จะไม่สบายใจ เพราะกลัวถูกจับไปลงโทษนั่นเอง เมื่อตายไปก็ต้องไปสู่ทุคติ ไปเกิดในอบายภูมิใดภูมิหนึ่ง ที่มีอยู่ ๔ ภูมิด้วยกันคือ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก

 

เมื่อร่างกายสลายไปแล้ว ใจที่ครองร่างกายนี้ไม่ได้สลายตามไปด้วย ก็ต้องไปเสวยบุญเสวยกรรมต่อ ถ้าเป็นวาระของบาปกรรมที่จะส่งผล ก็จะส่งให้ไปเกิดตามชั้นต่างๆของอบาย ถ้าเป็นวาระให้ไปเป็นเดรัจฉาน ก็ต้องเป็นเดรัจฉาน ถ้าเป็นวาระให้ไปเป็นเปรต ก็ต้องเป็นเปรต ให้ไปเป็นอสุรกายก็ต้องเป็นอสุรกาย ให้ไปตกนรกก็ต้องไปตกนรก ไม่มีใครมายับยั้งมาหักห้ามได้ แม้แต่บุญกุศลที่ได้ทำไว้ ก็ไม่สามารถไปยับยั้งไปหักห้ามบาปกรรมที่จะส่งผลได้ เพราะบาปกรรมกับบุญเป็นคนละส่วนกัน บุญก็มีอานิสงส์ของบุญ บาปก็มีอานิสงส์ของบาป ไม่ไปลบล้างกัน เป็นกันคนละส่วนกัน ถ้าไม่อยากไปเกิดในที่ไม่ดี ไปเกิดในอบาย ก็ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำบาป ถึงแม้ไม่ได้ทำบุญ ถ้าไม่ได้ทำบาป อย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้ไปเกิดในที่ต่ำ ถ้าทำบุญแต่ยังทำบาปด้วย ก็ยังต้องไปใช้บาปอยู่ดี อย่าไปคิดว่าการทำบุญจะลบล้างบาปได้ เพราะเป็นเหมือนกับยาต่างชนิดกัน ยารักษาโรคปวดหัวก็รักษาได้แต่โรคปวดหัว ไม่รักษาโรคปวดท้องหรือโรคเจ็บตาได้ ยาแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพ มีหน้าที่ทำงานต่างกัน ฉันใดการกระทำของเราไม่ว่าจะบาปหรือบุญ ก็มีผลต่างกันเช่นเดียวกัน ถ้าชอบทำบุญทำทานอยู่เสมอ แต่ยังอดทำผิดศีลไม่ได้ เมื่อตายไปแล้วพอดีเป็นวาระของบาปที่จะส่งผล ก็ยังต้องไปเกิดในอบาย เช่นเกิดเป็นเดรัจฉานเป็นต้น แต่เนื่องจากได้ทำบุญมา อานิสงส์ของบุญก็จะช่วยให้เกิดเป็นเดรัจฉานที่มีรูปร่างสวยงาม ไม่อดอยากขาดแคลน

 

อย่างสุนัขตัวน่ารักที่พวกเราชอบซื้อมาเลี้ยงกัน เพราะเคยทำบุญให้ทานมาแต่ไม่ได้รักษาศีล จึงได้เกิดมาเป็นสุนัขที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามอานิสงส์ของทานที่ได้ทำไว้ ทำให้อยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่อดอยากขาดแคลน มีคนดูแลเลี้ยงดูอย่างดี ถ้าทำบุญให้ทานแล้ว จะไม่อดอยากขาดแคลน ไม่ว่าจะอยู่ในภพไหนชาติไหน จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ถ้ารักษาศีลได้ ก็จะไม่ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ถ้าได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ผิวพรรณผ่องใส มีความพร้อมเพรียงในด้านปัจจัยเงินทองต่างๆ อยู่อย่างสุขอย่างสบาย นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้เป็นผู้รับรองว่าเป็นความจริง ไม่มีพระอรหันตสาวกแม้แต่รูปเดียวที่จะออกมาคัดค้าน ว่าคำสอนต่างๆของพระพุทธเจ้าไม่เป็นความจริง เป็นความจริงทั้งสิ้น เป็นความจริงตามหลักของความจริง เช่นทำบุญได้ไปสวรรค์ ทำบาปไปตกนรกอย่างนี้เป็นต้น ไม่มีใครคัดค้านในบรรดาพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็เป็นเหมือนพวกเรา เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดศรัทธาความเชื่อ นำเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไปปฏิบัติ จนบรรลุธรรมเห็นเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว จะไปค้านว่าพระพุทธเจ้าพูดไม่จริงได้อย่างไร มีแต่จะรับรองความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาเท่านั้นเอง พระพุทธศาสนาจึงดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกคำสอนล้วนเป็นความจริงทั้งสิ้น สามารถพิสูจน์ได้ ไม่ได้ให้เชื่อลอยๆ ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง

 

เหมือนกับมีคนเอาของมาให้เราพิสูจน์ เช่นมียาวิเศษ ถ้ากินไปแล้วจะรักษาโรคที่เป็นอยู่ได้ เราก็สามารถทดสอบได้ด้วยการกินยานั้นเข้าไป ถ้าเป็นยาวิเศษอย่างที่เขาบอก ก็ต้องรักษาโรคให้หายได้ เมื่อกินเข้าไปแล้วโรคมันหาย เราก็รู้ว่าเป็นยาที่วิเศษจริงๆ รักษาโรคที่เป็นอยู่ได้อย่างจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็สามารถนำเอาไปบอกผู้อื่นได้อย่างเต็มปาก ว่ายานี้เป็นยาดียาวิเศษ รักษาโรคให้หายได้จริงๆ ฉันใดคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นเช่นนั้น เป็นเหมือนยาวิเศษ เป็นยารักษาโรคใจ คือความทุกข์ใจนั้นเอง ความกังวลใจ ความวุ่นวายใจ ความหวาดกลัวต่างๆ เป็นความทุกข์ที่พวกเรายังมีกันอยู่ทุกคน แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถรักษาให้หายได้ ถ้านำเอาธรรมโอสถคือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่ใจของเรา เราจึงต้องหมั่นศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะอยู่เรื่อยๆ เพราะธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นของปกปิด แต่เปิดเผยให้กับทุกคน สามารถศึกษาได้ เหมือนกับหนังสืออื่นๆที่เราอ่านกัน อ่านแล้วได้รับความรู้ต่างๆ ฉันใดหนังสือธรรมะก็เป็นเช่นนั้น อ่านแล้วเราก็ได้รับความรู้ ความรู้ที่จะมาช่วยกำจัดความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวของเราอยู่ในใจของเราให้หมดสิ้นไปได้ ถ้าต้องการพ้นจากความทุกข์ ก็ต้องเข้าหาพระธรรมคำสอน เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะสามารถรักษาความทุกข์ใจได้ นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทำให้หมดทุกข์ได้อย่างแท้จริง เมื่อได้นำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาปฏิบัติแล้ว รับรองได้ว่าทุกข์ต่างๆภายในใจจะหมดสิ้นไปอย่างแน่นอน

 

ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความแก่ก็ดี ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี ความตายก็ดี การพลัดพรากจากกันก็ดี จะไม่ปรากฏขึ้นมาในใจของเราเลย จะรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติ เหมือนกับวันนี้อากาศเย็นลง เราก็ไม่รู้สึกทุกข์กับความเย็นของอากาศ เพราะเรารู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อสองวันก่อนร้อนแต่วันนี้เย็น เราก็ไม่ได้เดือดร้อนกับการเปลี่ยนแปลง ฉันใดร่างกายของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะแก่จะเจ็บจะตายจะเป็นอย่างไร เราก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นเรื่องที่จะต้องทุกข์ต้องวุ่นวายใจเลย เพราะเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดา ใจของเราไม่ได้เป็นร่างกาย จึงไม่ได้แก่ไปกับร่างกายไม่ได้เจ็บไปกับร่างกาย ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจก็เป็นใจอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าร่างกายจะเป็นอย่างไร ใจก็ไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย แต่เหตุที่ทำให้ที่ใจวุ่นวาย ทุกข์ กังวล หวาดกลัวนั้น เพราะใจไม่ได้รับธรรมโอสถของพระพุทธเจ้าเข้าไปรักษานั่นเอง ทำให้ใจมืดบอด มีความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นว่าร่างกายเป็นใจ เมื่อใจคิดว่าร่างกายเป็นใจแล้ว พออะไรเกิดขึ้นกับร่างกายก็ต้องมีความหวั่นไหว คิดว่าใจจะเป็นไปกับร่างกายด้วย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายเจ็บแล้วยังไม่พอ ใจยังต้องเจ็บตามไปด้วย เจ็บไปด้วยความวุ่นวายความกังวล กลัวจะรักษาไม่หาย กลัวจะตาย เป็นความเจ็บชั้นที่สอง คือเจ็บกายแล้วยังต้องมาเจ็บใจด้วย

 

แต่ถ้ามีธรรมโอสถอยู่ในใจแล้ว จะเจ็บเพียงครึ่งเดียว คือเจ็บที่ร่างกายเท่านั้น ไม่เจ็บที่ใจ ความเจ็บของร่างกายเมื่อเปรียบเทียบกับความเจ็บของใจแล้วก็ต่างกันมาก ความเจ็บของร่างกายนี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นเมื่อเปรียบเทียบกับความเจ็บของใจ เวลาใจไม่เจ็บแล้วความเจ็บปวดของร่างกายจะมีมากน้อยเพียงไรก็จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นสาเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ไม่มีความหวั่นไหวต่อความเจ็บความตาย เพราะใจของท่านไม่ได้เจ็บไปด้วย ไม่ได้ตายไปด้วยนั่นเอง ท่านรู้แต่พวกเราไม่รู้ พวกเรายังหลงกัน ยังมองไม่เห็น ถึงแม้จะได้ยินได้ฟังว่าเป็นคนละส่วนกัน ก็ยังไม่สามารถแยกแยะออกจากกันได้ เพราะต้องเกิดจากการปฏิบัติเท่านั้นถึงจะเห็นได้ ปลงได้ ถ้าเราเชื่อว่าร่างกายไม่ใช่ใจ เชื่อว่าร่างกายต้องตายแต่ใจไม่ตาย เราก็ทดสอบดู พาไปอยู่ในที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัวดู ดูว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าใจมีธรรมโอสถก็จะไม่หวั่นไหว ปล่อยวางร่างกายได้ หลังจากนั้นแล้วไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เหมือนกันหมด ไม่ต้องไปอยู่ที่เปลี่ยวที่หวาดกลัวอีกต่อไป เพราะเราเพียงแต่อาศัยที่เปลี่ยวที่หวาดกลัวให้ใจเห็นความทุกข์ ที่เกิดจากการยึดติดอยู่กับร่างกาย ถ้าไม่ต้องการความทุกข์ก็ต้องสลัดความยึดติดในร่างกายไป ปล่อยวางร่างกาย ถ้าจะตายก็ให้ตายไป อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด แต่จะไม่หนี จะไม่กลัวอีกต่อไป นี่คือการปลงนั่นเอง เมื่อปลงได้แล้ว ก็ไม่ต้องไปอยู่ที่เปลี่ยวที่กลัวอีกต่อไปก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ เพราะใจไม่ยึดไม่ติดกับร่างกาย รู้จักปล่อยรู้จักวาง เห็นชัดแล้วว่าใจกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน

 

แต่ถ้ายังไม่ได้ไปพบกับสถานที่หรือพบกับเหตุการณ์ ที่ทำให้เราต้องปลงต้องวาง เราจะมองไม่เห็น เพราะกายกับใจยังไม่ได้แยกออกจากกันนั่นเอง เราจึงต้องไปหาความทุกข์ความลำบาก เช่นความเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อหัดทำใจให้นิ่งเฉย ร่างกายจะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป ถ้าฝึกได้แล้ว ต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายของคนอื่น เราก็จะไม่ตื่นเต้น เราก็จะไม่เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดนั่นเอง แต่ถ้าไปยึดไปติดแม้จะไม่ได้เป็นร่างกายของเรา เช่นร่างกายของคนอื่น ของสามีของภรรยา ของบิดามารดา ของบุตรธิดา พอมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาเราก็จะวุ่นวายใจเดือดร้อนใจ ทั้งๆที่เราไม่ได้เป็นอะไรไปกับเขาสักหน่อย ก็ยังเดือดร้อนใจเลย แล้วนับประสาอะไรกับร่างกายของเรา ที่เราหลงคิดว่าเป็นตัวเราของเราอยู่ ถ้ามันเกิดเป็นอะไรขึ้นมา เราจะเดือดร้อนขนาดไหน เราจะวุ่นวายขนาดไหน เราจึงควรศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำเอามาปฏิบัติ พยายามปลงให้ได้ ปลงว่าเกิดมาแล้วต้องตายต้องแก่ต้องเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ช้าก็เร็ว สักวันหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นกับทุกๆคน คนที่ปลงเป็น คนที่ปล่อยวางได้ คนนั้นจะอยู่อย่างสบายใจ จะตายอย่างสบายใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะไม่เดือดร้อน จะไม่วุ่นวายใจ นี่คือสิ่งที่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสามารถทำให้กับเราได้

 

ถ้ามีศรัทธาความเชื่อแล้วน้อมเอามาปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูง ขั้นต่ำก็คือปล่อยวางของนอกกายก่อน เช่นข้าวของเงินทองต่างๆ อย่ายึดอย่าติด อย่าไปเสียดาย อย่าไปหวงแหน มีเหลือกินเหลือใช้ ก็เอาไปแจกเอาไปจ่ายผู้อื่น เก็บไว้เท่าที่จำเป็น แล้วจะไม่มีความทุกข์ความวุ่นวายกับสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ เวลาจากไปเราก็จะไม่เสียอกเสียใจ ไม่ร้องห่มร้องไห้ ไม่ทุกข์กับมัน แล้วก็มาฝึกทำจิตใจให้สงบ ไหว้พระสวดมนต์ทำจิตใจให้นิ่ง อย่าไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ พยายามอยู่กับบทสวดมนต์ สวดไปเรื่อยๆ สวดไปสักครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง จิตใจจะเย็นสงบสบายปล่อยวาง เพราะสิ่งทำให้จิตใจไม่ปล่อยวางก็คือความคิดนั่นเอง พอคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็อดที่จะมีอารมณ์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ อดที่จะห่วง อดที่จะกังวล อดที่จะทุกข์ไม่ได้ แต่พอไม่ได้คิดถึง ก็ไม่มีอะไรให้ห่วงให้กังวลให้ทุกข์ นี่คือวิธีปล่อยวางในระดับต่อไป คือพยายามทำใจให้ว่างด้วยการไหว้พระสวดมนต์อยู่เรื่อยๆ ถ้าจะสวดในอิริยาบถทั้ง ๔ ก็ยังสามารถทำได้ ถ้าสวดไปภายในใจ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนทำอะไร ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็สวดมนต์ภายในใจไปเรื่อยๆ ใจจะได้ไม่ต้องเอาเรื่องต่างๆมาแบกให้หนักอกหนักใจ เมื่อได้เจริญปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า ทุกข์สิ่งทุกอย่างที่เรามี ที่เราไปเกี่ยวข้องได้ ล้วนเป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น สักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน สักวันหนึ่งก็ต้องไปกันคนละทิศคนละทาง ไม่อยู่ร่วมกันไปตลอด ถ้ารู้อย่างนี้ แล้วปล่อยได้ ยอมรับได้ เราก็จะไม่ทุกข์กับอะไร เวลาที่จะต้องจากเราไป นี่คือการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

เป้าหมายก็คือการปล่อยวางนั่นเอง ให้รู้ว่าไม่มีอะไรเป็นของเราแม้แต่ชิ้นเดียว เวลามาก็มาตัวเปล่าๆ เวลาไปก็ไปตัวเปล่าๆ ใจมาตามลำพังแล้วใจก็ไปตามลำพัง เวลามาเกิดก็ได้ร่างกาย ได้สมบัติได้ข้าวของเงินทอง ได้คนนั้นคนนี้ เมื่อร่างกายตายไป ใจก็ต้องไป เอาอะไรไปไม่ได้ เอาไปได้ก็คือความสุขและความทุกข์เท่านั้นเอง ถ้ามีธรรมโอสถ ถ้ารู้จักปล่อยวาง ก็จะไปอย่างสุขอย่างสบาย ถ้าไม่มีธรรมโอสถ มีแต่ความลุ่มหลง มีแต่ความโลภโมโทสัน ก็จะไปอย่างทุกข์ทรมานใจ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจของเรา ถ้าไม่สนใจธรรมะ ก็จะต้องอยู่กับความทุกข์ไปเรื่อยๆ ถ้าสนใจธรรมะแล้วปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เราก็จะปลดเปลื้องความทุกข์ให้หมดไปตามลำดับจนหมดสิ้นไปได้ จนเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกับพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เมื่อจิตได้บริสุทธิ์ผุดผ่องเต็มที่แล้ว เราก็ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป ได้สำเร็จบรรลุภารกิจแล้ว ต่อจากนั้นเราจะอยู่อย่างสุขอย่างสบายไปตลอดอนันตกาล ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจิตเป็นของไม่ตาย จิตจะอยู่อย่างนั้นไปตลอด ไม่มีความทุกข์มาเกี่ยวข้องด้วยเลย นี่คือสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ มีเวลาว่างอย่าไปหาความความสุขที่มีแต่ความทุกข์ตามมา ความสุขที่เกิดจากการไปเสพ รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ จะทำให้เราติด เมื่อติดแล้วก็จะต้องดิ้นรนแสวงหามันอยู่เรื่อยๆ หามาได้มากน้อยเพียงไร ก็จะไม่อิ่มไม่พอ แต่ถ้าเรามาทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มาแล้ว เราจะพบกับความอิ่มพบกับความพอ จึงขอฝากเรื่องการมาวัดในวันหยุด ในเวลาว่าง เพื่อมาสร้างกำลังใจต่อสู้กับความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ จะได้ปล่อยวางและหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้