กัณฑ์ที่ ๒๗๕        ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๙

 

พ่อแม่ครูจารย์

 

 

ไปอยู่กับหลวงตาก็เป็นเหมือนลูกของท่าน ท่านเป็นเหมือนพ่อเป็นเหมือนแม่ของพระเณรที่ไปอยู่ศึกษากับท่าน พระเณรจึงเรียกท่านว่าพ่อแม่ครูจารย์ บวชได้ประมาณ ๖ อาทิตย์ที่วัดบวรฯ พอห่มผ้าเป็น สามารถเดินทางได้ โดยไม่รู้สึกลำบากใจเกี่ยวกับการห่มผ้าและดูแลรักษาบริขารต่างๆ ก็กราบลาสมเด็จฯขออนุญาตไปอยู่กับหลวงตาที่วัดป่าบ้านตาด สมเด็จฯก็พูดว่าท่านอนุญาต แต่หลวงตาจะอนุญาตหรือไม่ก็อยู่ที่หลวงตา จึงเป็นเหมือนเด็กเกิดใหม่ ยังไม่เดียงสาในการเป็นพระนัก วันแรกที่ไปถึงก็เห็นสมรรถภาพของตัวเอง จากการเดินบิณฑบาตที่เร็วมากของวัดป่าบ้านตาด เราไม่เคยเดินเร็วอย่างนั้น นั่งรถไฟไปตอนเย็น ถึงอุดรฯตอนเช้ามืด มีรถของญาติโยมที่อุดรฯมารับ พอมาถึงศาลาวัดก็พอดีได้เวลาออกบิณฑบาต ก็รีบเตรียมบริขารแล้วก็ออกบิณฑบาต ขาไปก็เดินตามปกติไปแบบสบายๆ แต่ขากลับพอพ้นบ้านหลังสุดท้ายใส่บาตรเสร็จ พระรับบาตรของหลวงตาปั๊บ ต่างคนต่างโกยแนบกันเลย เราไม่เคยเดินวิ่งแบบนั้น ซึ่งเหมือนแข่งเดินเร็วในโอลิมปิก มีข้าวเหนียวเต็มบาตรที่หนักมาก ถลกบาตรก็ผูกไม่แน่น เดินกลับมาได้ครึ่งทางถลกบาตรก็หลุด จีวรก็จะหลุด ต้องคอยประคับประคองอย่างทุลักทุเล กว่าจะไปถึงศาลาเขาก็เริ่มจัดแจกอาหารกันแล้ว

 

ถาม  ท่านมองไหมค่ะ

 

ตอบ  ท่านคงมอง แต่ท่านเมตตา ท่านไม่พูดอะไร

 

ส่วนใหญ่ถ้าเป็นพระมาใหม่ ท่านจะไม่ใช้มาตรการหนัก ท่านจะเฉยๆไปก่อน นอกจากแย่จริงๆก็อาจจะถูกว่าโดยตรง แต่ใหม่ๆท่านจะสังเกตดู ถ้าเห็นว่ามีความตั้งใจปฏิบัติ จะช้ากว่าเขา ยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ท่านก็ไม่พูดอะไร ช่วงนั้นท่านจะรับพระประมาณ ๑๕-๑๖ รูปเท่านั้นเอง พอท่านอนุญาตให้อยู่ได้ พระเก่าก็มาแสดงความยินดี เพราะท่านจะไม่รับใครง่ายๆ มีพระหลายรูปด้วยกันที่ท่านไม่ให้อยู่ ในช่วงใกล้เข้าพรรษา ท่านก็จะพูดว่าองค์นี้ไปนะ องค์นี้อยู่ได้นะ แต่สำหรับอาตมาท่านยังกั๊กไว้ว่า ท่านที่มาจากวัดบวรฯ เราได้ตกลงกันไว้ว่าอยู่ได้ชั่วคราว ตอนไปกราบท่านวันแรกท่านก็บอกว่า อยู่ได้ชั่วคราวกุฏิไม่ว่าง แล้วท่านก็ไม่พูดอะไรอีก ตอนนั้นเป็นช่วงต้นเดือนเมษาฯ ตอนที่ท่านอนุญาตให้อยู่ได้ก็ประมาณเดือนมิถุนาฯ กำลังประชุมพระ ก่อนเทศน์ท่านก็พูดว่าองค์นี้ไปนะ องค์นี้อยู่ได้นะ ส่วนองค์ที่มาจากวัดบวรฯ เราได้ตกลงกันไว้ว่าอยู่ได้ชั่วคราว ท่านก็ต้องไป อยู่ไม่ได้ แล้วท่านก็เริ่มเทศน์ไปประมาณสักชั่วโมงกว่าๆ พอจะเลิกประชุมลุกขึ้นมากราบพระ ท่านก็พูดว่าองค์นั้นจะอยู่ก็อยู่นะ ท่านต้องการให้เห็นคุณค่าของการได้อยู่ จะได้มีความตั้งใจ เพราะเวลาได้อะไรมาง่ายๆเราจะไม่เห็นคุณค่าของมัน สิ่งใดที่ได้มาด้วยความยากลำบากเราจะรักษามัน

 

ก็อยู่มาตลอด ๕ ปีแรกก็ไม่ได้ไปไหนเลย เพราะพระวินัยกำหนดไว้ว่าถ้ายังไม่ได้ ๕ พรรษา ไม่ให้อยู่ปราศจากครูบาอาจารย์ เช่นบวชได้ ๒ พรรษาแล้วจะไปธุดงค์องค์เดียวก็ยังไปไม่ได้ นอกจากท่านเห็นว่าสมควร ถ้าไปแล้วได้ประโยชน์ แต่ถ้าไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ท่านก็ไม่ให้ไป มีพระอยู่รูปหนึ่งอยู่ได้ ๒-๓ พรรษา ก็ขอลาไปธุดงค์ ลาสองสามครั้งท่านก็ไม่อนุญาต ครั้งสุดท้ายไปลา ท่านก็บอกว่าถ้าไปก็ไม่ต้องกลับมา ท่านจะดูจิตของผู้ปฏิบัติเป็นหลัก อายุพรรษาไม่สำคัญเท่าไหร่ บางทีได้ ๕ พรรษาแล้ว ถ้าท่านเห็นว่ายังไม่สมควรไป ไปแล้วเสีย ไปแล้วสึก ท่านก็พยายามดึงไว้ อย่างน้อยอยู่ในวัดก็ยังได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ ที่วัดก็มีความสงบวิเวกดี ถ้าปฏิบัติเป็นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปที่อื่น แต่ใจไม่ค่อยชอบอยู่กับที่ ไปอยู่ที่ไหนนานๆแล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย อยากจะไปสถานที่ใหม่ จิตจะหลอกให้เราคิดว่า ไปที่นั่นดี ไปที่นี่ดี จะได้อย่างนั้นได้อย่างนี้ ความจริงแล้วอยู่กับครูบาอาจารย์นี้ดีที่สุด อยู่กับท่านก็เป็นเหมือนลูกของท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างท่านจะดูแลให้หมด ก็สบายดี ไม่ต้องมีภารกิจอย่างอื่น นอกจากตอนเช้าออกไปบิณฑบาต กลับมาฉันเสร็จก็ล้างบาตร ช่วยกันทำความสะอาดศาลา หลังจากนั้นก็กลับกุฏิภาวนาจนถึงช่วงบ่าย ๒ โมง ถ้าอยากจะฉันน้ำชากาแฟ ฉันน้ำปานะ ก็มีที่เตรียมไว้ให้ฉัน ฉันเสร็จแล้วก็ช่วยกันปัดกวาด เสร็จแล้วก็ช่วยกันทำความสะอาดศาลา เข็นน้ำไปใส่ตุ่มตามที่ต่างๆ ตักน้ำจากบ่อใส่ปี๊บในรถเข็น แล้วก็เข็นไปใส่ในห้องน้ำต่างๆ ตามกุฏิตามสถานที่ต่างๆ เสร็จแล้วก็กลับกุฏิสรงน้ำ แล้วก็ภาวนาต่อ วันที่ท่านจะประชุมอบรมพระ ท่านจะให้พระมาบอกตอนใกล้ๆพลบค่ำ พอบอกปั๊บก็ต้องรีบไปเลย เพราะท่านจะไปรออยู่แล้ว จะปล่อยให้ครูบาอาจารย์นั่งรอก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่พอพระมาบอกประชุมคำเดียว ก็รีบไปเลย หยิบไฟฉายหยิบผ้าปูนั่งกับจีวรได้ ก็ต้องรีบไปเลย ใครไปถึงก่อนก็ช่วยจัดที่นั่ง จุดธูปจุดเทียน ไม่มีไฟฟ้า เวลาท่านเทศน์ก็มีแค่เทียน ๒ เล่มที่จุดไว้บูชาพระเท่านั้นเอง

 

ถาม  สมัยที่ท่านพระอาจารย์ไปอยู่มีไมโครโฟนใช้หรือเปล่าครับ

 

ตอบ  ไม่มี ก็เหมือนตอนนี้ มีพระเณรประมาณ ๑๐ กว่ารูป ท่านก็นั่งอยู่ตรงนี้ พระเณรก็นั่งอยู่ข้างหน้าท่าน ท่านก็พูดเสียงดังพอได้ยินกัน

 

ถาม  ท่านพระอาจารย์อยู่กุฏิเดียวตลอด ๘-๙ ปีหรือว่ามีย้ายครับ

 

ตอบ  ก็มีย้ายบ้าง

 

ถาม  ท่านอาจารย์ปัญญาได้เคยอบรมสั่งสอนหมู่คณะไหมคะ

 

ตอบ  ท่านปัญญาจะทำหน้าที่แปลให้พระฝรั่งรูปอื่นฟัง หลังจากที่หลวงตาเทศน์เสร็จแล้ว ท่านก็บอกว่า เอาท่านปัญญาอธิบายให้หมู่เพื่อนฟัง สมัยนั้นจะมีพระชาวต่างประเทศอยู่ประมาณสัก ๕-๖ รูป ท่านปัญญาก็จะสรุปให้ฟังประมาณสัก ๑๐ นาที ช่วงนั้นหลวงตาก็จะนั่งฉันน้ำฉันหมากไป พระรูปอื่นก็นั่งสมาธินั่งภาวนาไป รอให้ท่านปัญญาอธิบายให้เสร็จเรียบร้อย พอเสร็จแล้วหลวงตาก็จะคุยต่อแบบสนทนากัน เล่าเรื่องการปฏิบัติของท่าน เรื่องการอยู่กับหลวงปู่มั่น และเรื่องราวต่างๆ เป็นเกร็ดความรู้  พูดคุยประมาณ ๔๕ นาที ก็เลิกประชุมกัน ใช้เวลาทั้งหมดประมาณชั่วโมงครึ่งหรือ ๒ ชั่วโมง หลังจากนั้นต่างคนต่างกลับที่พักไปภาวนาต่อ ไปเดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ จนถึงเวลาพักหลับนอน พอตื่นขึ้นมาก็ปฏิบัติกันต่อจนถึงเวลาออกไปบิณฑบาต ก็ลงไปที่ศาลาเตรียมจัดอาสนะต่างๆ ถูพื้นด้วยกะลามะพร้าว พื้นที่นั่นใช้เทียนไขทา เอาเทียนไขมาต้มกับน้ำมันก๊าดแล้วก็มาทาบนพื้นไม้ เวลาเดินจะมีรอยติดอยู่ จึงต้องถูพื้นด้วยกะลามะพร้าวทุกเช้าทุกเย็น

 

ถาม  เวลาขัดนี่มีเวรไหมครับ

 

ตอบ  ทุกคนต้องช่วยกันทำ ต้องรีบไปให้ทัน ถ้าไปหลังเขาแสดงว่าเอารัดเอาเปรียบ พอเริ่มถูก็ถูกันหมดทุกรูปเลย ถูเสร็จก็ช่วยกันกวาด กวาดเสร็จก็เตรียมห่มจีวรออกบิณฑบาต มีอยู่ปีหนึ่งหนาวมากถึง ๖ องศา หนาวจริงๆ ก็ยังต้องออกบิณฑบาตตามปกติ  สมัยนั้นถนนยังเป็นลูกรัง ยังไม่ได้ราดยาง เวลาเดินเหยียบก้อนหินเหมือนกับเหยียบก้อนน้ำแข็ง ต้องเดินเท้าเปล่า สุดทรมานเลย แต่เป็นการฝึกที่ดี

 

ถาม  ท่านอาจารย์เคยท้อไหมค่ะ เพราะท่านกลับจากอเมริกานี่มันสะดวกสบายมากเลย

 

ตอบ  ไม่หรอก ตอนไปอยู่อเมริกาก็อยู่แบบคนจนอยู่ ไม่ได้ไปอยู่อย่างสบาย ต้องทำงานพร้อมกับเรียนไปด้วย อดข้าวด้วย บางเวลามีเงินพอกินข้าวได้วันละมื้อเท่านั้นเอง ก็ต้องอด เพราะตอนนั้นหางานทำที่อยากทำไม่ได้ งานที่หาได้จะเป็นงานล้างชาม ก็ไม่ทำยอมอดเอา พออดไปนานๆก็ทนไม่ไหว อากาศมันหนาวเย็น เวลาเรียนหนังสือก็เรียนไม่รู้เรื่อง ในที่สุดก็ยอมล้างชาม

 

 

ถาม  ช่วงนั้นโยมแม่ท่านออกมาฟังธรรม หรือออกมาไม่ได้แล้ว

 

ตอบ  ตั้งแต่ไปอยู่ก็ไม่เคยเห็นออกมา เห็นแต่หลวงตาเข้าไปเทศน์ในครัวเวลาอบรมสั่งสอนญาติโยม พอดีปีนั้นที่ไปอยู่ มีโยมคนหนึ่งเป็นโรคมะเร็ง ขอไปอยู่เพื่อปฏิบัติจิตเตรียมใจให้พร้อม เพราะหมอบอกว่าอยู่ได้ไม่เกิน ๖ เดือน หลวงตาก็บอกว่าถ้าจะมาเพื่อภาวนาก็มาได้ แต่ถ้ามาแล้วต้องเอาหมอเอาหยูกเอายาเอาอะไรต่างๆมาด้วย ก็อย่ามาดีกว่า เขาก็ใจกล้า ไปแบบตัวเปล่าๆ ไปเพื่อภาวนาจริงๆ ท่านก็เมตตาเทศน์ทุกคืน ท่านไม่เคยเทศน์ทุกคืนมาก่อน ตั้งแต่สร้างวัดป่าบ้านตาดมา ท่านไม่เคยไปเทศน์ทุกคืนในครัวเลย เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ท่านเทศน์ทุกคืน ยกเว้นคืนที่มีภารกิจอื่น คืนที่ต้องเทศน์สอนพระ ท่านก็ไม่ได้ไปในครัว หรือไปธุระข้างนอก เป็นที่มาของหนังสือ ๒ เล่มคือ ธรรมชุดเตรียมพร้อมและศาสนาอยู่ที่ไหน ซึ่งจะเน้นไปทางพิจารณาวิปัสสนาเพื่อทำจิตให้สงบระงับ พิจารณาขันธ์ ๕ ให้เห็นว่าไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าไม่พิจารณาความหลงจะทำให้ยึดติด วิธีแก้ความหลงจึงต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พอไม่พิจารณา ความหลงก็จะทำให้ไปยึดติด ต้องพิจารณาจนไม่ยึดติด พอไม่ยึดไม่ติดแล้วก็จะสบาย จะเห็นว่าร่างกายของเราเป็นร่างกายของคนอื่นไป เวลาได้ข่าวว่าคนนั้นไม่สบาย คนนี้ต้องผ่าตัด คนนั้นตายไปแล้ว ก็จะรู้สึกเฉยๆ   ถ้าพิจารณาจนเห็นว่าร่างกายไม่ได้เป็นเราเป็นของเราแล้ว เวลาเป็นอะไรก็จะรู้สึกเฉยๆ

 

อยู่ที่การพิจารณา ที่ไม่สามารถพิจารณากันได้เรื่อยๆ เพราะใจไม่มีสมาธิ ถูกกิเลสฉุดลากไปเรื่อยๆ ถ้ามีสมาธิกิเลสจะถูกกดไว้ ไม่สามารถฉุดลากให้ไปคิดเรื่องต่างๆได้ ส่วนใหญ่กิเลสจะคิดหาโน้นหานี่ ทำโน้นทำนี่ ไม่คิดพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตาเลย แต่ถ้าได้ทำจิตให้สงบแล้ว กิเลสก็จะถูกกำลังของสมาธิกดเอาไว้ ถึงแม้จะออกจากสมาธิแล้วมันก็จะไม่มีแรงเหมือนเมื่อก่อนนี้ เหมือนกับคนที่ถูกชกนับ ๘ พอยืนขึ้นมามันก็ยังโซเซ ยังไม่มีแรงมากพอ ตอนนั้นก็เป็นโอกาสดีที่จะพิจารณาทางด้านวิปัสสนา พิจารณาร่างกายเป็นเบื้องต้น พิจารณาให้เห็นความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เกิดแก่เจ็บตาย เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ผ่านมาทางอาหาร มาเป็นอาการ ๓๒ เวลาตายไปก็แยกกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป เวลาฟังก็เข้าใจ แต่พอไม่พิจารณาความหลงก็กลับมายึดว่าเป็นเราเป็นของเราอีก แต่ถ้าเราสามารถพิจารณาได้ตลอดเวลา ยืนเดินนั่งนอน ในอิริยาบถทั้ง ๔ จนฝังอยู่ในใจแล้ว ก็เป็นเหมือนกับการท่องสูตรคูณ ตอนต้นก็ต้องท่องอยู่เรื่อยๆจนจำขึ้นใจ ต่อจากนั้นก็เลิกท่องได้ พอจะคูณอะไร เช่น ๗ คูณ ๗ ได้เท่าไหร่ คำตอบก็จะออกมาทันที ไม่ต้องไปไล่มาตั้งแต่ต้น คำตอบจะมาทันที ถ้าพิจารณาจนติดเป็นนิสัยฝังอยู่ในใจแล้ว ก็จะมองเห็นทันที เมื่อก่อนนี้มองเป็นตัวเราของเรา เดี๋ยวนี้มองเป็นแค่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง เป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็รู้ว่าจะปฏิเสธไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง จะแก่ก็ไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไปบังคับไปแก้มันไม่ได้ จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเป็น รักษาได้ก็รักษาไป หายก็หาย ไม่หายก็ต้องอยู่ร่วมกันไปจนกว่าจะจากกัน จนกว่าร่างกายจะดับจะหยุดทำงาน โรคภัยไข้เจ็บก็หายไปเอง หายอย่างถาวร

 

ผู้ที่กังวลไม่ใช่ที่ร่างกาย ผู้ที่วุ่นวายก็คือใจ เพราะใจยังหลงอยู่ ยังยึดยังติดอยู่ เพราะไม่ได้พิจารณา ถามจริงๆเถอะวันๆหนึ่งเราพิจารณาเรื่อง เกิดแก่เจ็บตายสักกี่ครั้ง ในเวลา ๒๔ ชั่วโมง เราพิจารณาได้สักชั่วโมงหนึ่งไหม เมื่อไม่พิจารณาก็ปล่อยให้ข้าศึกคือความหลงหลอกเราอยู่ตลอดเวลา ว่าเป็นตัวเราของเรา แต่ถ้าเราต่อสู้กับมันด้วยการพิจารณาอย่างต่อเนื่องจนมีกำลังมากกว่าแล้ว ก็จะกลายเป็นจิตใต้สำนึกไป ที่ฝังอยู่ในใจตลอดเวลา ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป เพราะมองทีไรคิดทีไรก็จะคิดว่าเป็นธรรมดาๆ เกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาๆ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา แล้วความวุ่นวายใจจะมาจากที่ไหน จะไม่มีโอกาสวุ่นวายอีกต่อไป จะรู้สึกเฉยๆ เพราะใจไม่ได้เป็นร่างกาย ใจเป็นเพียงเจ้าของชั่วคราวของร่างกาย ที่เป็นเพียงสมบัติชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าหลงก็จะคิดว่าเป็นของเรา พอเวลาต้องจากกันไปก็เศร้าโศกเสียใจ เพราะเสียดายอาลัยอาวรณ์ สร้างความทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง แทนที่จะคิดว่าไม่ช้าก็เร็วก็ต้องจากกัน มีใครเอาร่างกายไปได้บ้างเวลาตายไป เอาไปได้แค่ธรรมะหรืออธรรม ธรรมะก็คือวิปัสสนาปัญญาสมาธิศีลทาน ที่ได้ทำไว้ ที่จะติดเป็นนิสัยไป ทำให้ชอบทำบุญทำทาน ชอบรักษาศีล ชอบนั่งสมาธิ ชอบพิจารณาทางด้านปัญญา ถ้าไม่เสร็จภารกิจในชาตินี้ ก็จะทำต่อไปในภพหน้าชาติ จะทำง่ายกว่าคนที่ไม่ได้ทำมา จะทำอะไรก็ง่ายไปหมด นั่งสมาธิก็ง่าย รักษาศีลก็ง่าย ทำบุญทำทานก็ง่าย แต่คนที่ไม่ได้ทำมา พอจะทำจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องลำบากยากเย็น ไม่เหมือนเวลาไปเที่ยว เพราะความไม่ถนัด ไม่เคยทำมาก่อน จึงไม่ติดเป็นนิสัย แต่ถ้าเคยทำแล้วจะติดเป็นนิสัย จะมีความสุขเวลาทำ ไปเที่ยวก็มีความสุขแบบหนึ่ง ทำบุญทำทานรักษาศีลปฏิบัติธรรม ก็เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง เป็นความสุขที่ต่างกัน ความสุขแบบนี้ทำให้จิตใจมีความอิ่มมีความพอ ไม่หิวกระหายกับสิ่งต่างๆ แต่ถ้าไปเที่ยวไปซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ จะทำให้มีความหิวเพิ่มขึ้น ได้เที่ยวแล้วก็อยากจะเที่ยวอีก อยากจะซื้อของมากขึ้นไปเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังทำกันไปเรื่อยๆ ทำให้ได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี

 

ชีวิตของมนุษย์เป็นเหมือนปั๊มน้ำมัน เป็นที่เติมน้ำมันเติมพลัง จิตใจของเราเป็นเหมือนรถยนต์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ถ้าได้เติมน้ำมันก็จะท่องเที่ยวไปได้อย่างสะดวกสบาย มีเสบียง ถ้าไม่เติมน้ำมันมัวแต่ไปเที่ยวไปเล่นกัน พอขับรถไปกลางทางน้ำมันหมดก็ต้องเดินไป ก็จะลำบาก ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ส่วนใหญ่จะวนอยู่กับเรื่องของกิเลสตัณหา ไม่ได้ไปสู่การหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาเลย แต่ถ้าดำเนินตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน บำเพ็ญบารมีต่างๆ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมีที่เรากำลังบำเพ็ญกันอยู่นี้ ก็จะทำให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาไปตามลำดับ ทานบารมี วันนี้เราก็มาทำทาน ศีลบารมี เราก็รักษา ศีล ๕ ศีล ๘ เนกขัมมะบารมี เราก็ไม่กินข้าวเย็น ไม่ใช้น้ำหอมเครื่องสำอางต่างๆ ไม่ใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด ไม่เปิดโทรทัศน์วิทยุเครื่องเสียงต่างๆ ไม่เปิดดูหนังสือต่างๆที่ให้ความบันเทิง เปิดแต่หนังสือธรรมะ เปิดเทปธรรมะฟังกัน ไม่นอนบนฟูกหนาๆ แต่นอนบนพื้นแข็งๆ เพื่อจะได้ไม่นอนมาก จะได้มีเวลาภาวนามากขึ้น พระปฏิบัตินอนไม่เกิน ๔ ชั่วโมงก็พอแล้ว ร่างกายต้องการเพียงเท่านี้ พักผ่อน ๔ ชั่วโมงก็พอเพียงแล้ว แต่พวกเราต้องให้กิเลสอีก ๔ ชั่วโมงเป็น ๘ ชั่วโมง นอนนานๆก็เลยต้องมีฟูกนิ่มๆ จะได้นอนสบาย ถ้านอนบนพื้นแข็งๆก็จะนอนไม่หลับ เพราะร่างกายหลับพอแล้ว นี่คือการออกจากกามสุข เนกขัมมะบารมี หาความสุขจากการปฏิบัติธรรม สวดมนต์นั่งสมาธิกำหนดพุทโธๆไปภายในจิตภายในใจ

 

ขณะที่จิตสงบก็ปล่อยให้สงบไป ไม่ต้องไปทำอะไร เป็นเวลาที่จิตต้องการพักผ่อน เสริมสร้างพลัง สงบได้นานเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าเป็นจิตที่ผาดโผนเวลาสงบแล้วจะไม่นิ่งไม่อยู่เฉยๆ จะออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ในเบื้องต้นควรดึงกลับมา อย่าตามไป เพราะถ้าตามไปแล้วจะติดใจ จะติดเป็นนิสัย พอนั่งทีไรก็อยากจะไปเที่ยวไปดูสวรรค์นรก ไปสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่ค่อนข้างจะแปลกและมหัศจรรย์ แต่ไม่เกิดประโยชน์ทางด้านกำจัดกิเลสตัณหา ไม่ช่วยให้การบำเพ็ญของเราบรรลุถึงเป้าหมายที่แท้จริงคือมรรคผลนิพพาน เป็นเหมือนการเดินทางมาที่นี่แต่ไปแวะแถวบางแสนแถวหนองมน ไปซื้อขนมกับข้าวกับปลา ไปเที่ยวอาบน้ำที่บางแสน แล้วก็ไม่มาที่นี่เพราะเหนื่อย ก็เหมือนเวลานั่งสมาธิแล้วออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ พอออกจากสมาธิก็ไม่มีกำลังไม่สดชื่น เหมือนกับไม่ได้พักผ่อน ก็จะไม่มีกำลังไปต่อสู้กับกิเลส พอออกจากสมาธิกิเลสก็จะทำงานทันที ไปคิดตามเรื่องของกิเลสตัณหาทันที ไม่มีโอกาสพิจารณาไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ นั่งสมาธิเท่าไหร่ก็จะได้แค่ตรงนั้น ได้ไปเที่ยวได้ไปดูนรกดูสวรรค์ ได้ฤทธิ์ได้เดชอะไรต่างๆ ถ้าไม่ระวังกิเลสก็จะใช้ฤทธิ์เดชเป็นเครื่องมือ เป็นเครื่องมือทำมาหากิน หาลาภหายศ หาชื่อหาเสียง เป็นคนทำนายทายทัก กลายเป็นหมอดูไป อาจจะคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว ก็เลยไปไม่ถึงเป้าหมายที่ควรถึง อยู่ใกล้อยู่ในเอื้อมมือแล้ว ได้สมาธิแล้ว แต่ต้องดึงไว้ ไม่ปล่อยให้ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ต้องดึงไว้ให้อยู่กับความสงบ ถ้าใช้พุทโธๆก็ดึงกลับมาหาพุทโธๆก็ได้

 

ถ้าเป็นปัญญาจริตก็เอามาคิดพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย ให้เที่ยวอยู่ในร่างกายแทนก็ได้ ถ้าอยากจะไปเที่ยวนรกสวรรค์ก็มาเที่ยวกายนครแทน ท่องเที่ยวดูในร่างกาย ตั้งแต่ข้างนอกเข้าไปข้างใน ดูที่ผมที่ขนที่เล็บที่ฟันที่หนังที่เนื้อที่เอ็นที่กระดูก ที่หัวใจที่ตับที่ปอดที่ไตที่ลำไส้ ทั้ง ๓๒ อาการของร่างกาย พิจารณาไปเรื่อยๆ ทั้งอนุโลมและปฏิโลม ถ้าอย่างนี้ก็จะเป็นวิปัสสนาไปในตัว เป็นปัญญาอบรมสมาธิไปในตัวเลย ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็ไม่ต้องนิ่งก็ได้ พิจารณาอย่างต่อเนื่อง พิจารณาดูความไม่สวยงามของร่างกาย พิจารณาความเป็นดินน้ำลมไฟของร่างกาย เริ่มต้นตั้งแต่อาหารที่มาจากดินน้ำลมไฟ เมื่อเข้ามาในร่างกายก็เปลี่ยนเป็นผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯลฯ เมื่อร่างกายตายไปปล่อยทิ้งไว้ก็ค่อยๆแยกส่วนออกไป น้ำก็ไปส่วนของน้ำ ดินก็ไปส่วนของดิน ลมก็ไปส่วนของลม ไฟก็ไปส่วนของไฟ จนในที่สุดร่างกายที่ว่าเป็นตัวเราของเราก็หายไปหมด ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย ถ้ามีสมาธิแบบที่ชอบท่องเที่ยวในเบื้องต้นอย่าเพิ่งปล่อยให้ไปเที่ยว เพราะจะเสียเวลา เหมือนกับนักเรียนที่ไม่ทำการบ้าน แต่ไปอ่านหนังสือการ์ตูน ไปเล่นเกม กลับมาบ้านแทนที่จะรีบทำการบ้านอ่านหนังสือ กลับไปเล่นเกม ดูหนังสือการ์ตูน ดูโทรทัศน์ เวลาสอบก็ไม่ได้ผลดี เพราะไม่ได้ทำหน้าที่ของตนให้สมบรูณ์นั่นเอง

 

เป้าหมายของการปฏิบัติก็คือการละอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่าเป็นเราเป็นของเรา ความจริงมันเป็นเพียงสภาวธรรม รูปก็เป็นรูปธรรม มาจากดินน้ำลมไฟ ส่วนเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนามธรรม ออกมาจากจิต เป็นอาการของจิตเป็นเหมือนกับอาการของน้ำ น้ำก็มีฟองมีคลื่น มันก็มาจากน้ำ อาการของจิตก็มีเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เช่นเวทนาก็มี ๓ อย่าง มีสุขมีทุกข์มีไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอนิจจังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ไม่สุขไม่ทุกข์ มีเหตุมีปัจจัยทำให้เป็นไป บางครั้งก็ควบคุมได้ บางครั้งก็ควบคุมไม่ได้ ถ้าควบคุมไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป เช่นอากาศหนาวจัดมีผ้าห่มก็ห่มไป แต่ถ้าเกิดไปหลงอยู่ในป่าไม่มีอะไรห่ม ก็ต้องปล่อยให้หนาวไป ต้องทำใจให้เฉยให้ได้ ถ้านั่งสมาธิเป็นจะช่วยได้มาก เวลานั่งสมาธิจนจิตสงบนิ่งแล้ว จิตจะไม่รับรู้เรื่องความหนาวของร่างกายเลย ตอนนั่งใหม่ๆใจจะสั่นปากจะสั่น แต่พอจิตสงบแล้วความหนาวสั่นก็จะหายไป จะนิ่งสบาย พระที่ไปธุดงค์ในป่าท่านก็ไม่มีผ้าห่มติดตัวไป มีแค่ผ้า ๓ ผืนเท่านั้นเอง อย่างหลวงปู่มั่นเที่ยงธุดงค์อยู่ที่เชียงใหม่ คิดดูช่วงนี้อากาศมันเกือบจะถึงศูนย์องศานะ ท่านก็มีแค่จีวรสบงสังฆาฏิเท่านั้นเอง ท่านก็อาศัยผ้าที่ติดตัวไปแล้วก็นั่งสมาธิไป  

 

ในสมัยแรกๆพระจะมีผ้าใช้เพียง ๒ ผืนเท่านั้นเอง มีผ้าสบงคือผ้านุ่งและผ้าจีวรคือผ้าห่ม ต่อมามีอากาศหนาวมากพระก็ไปทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้า ขอหาผ้ามาเพิ่ม พระพุทธเจ้าก็ทรงพิจารณาดู ทรงนั่งสมาธิช่วง ๖ โมงเย็นถึง ๔ ทุ่ม ทรงห่มจีวรผืนเดียว พอ ๔ ทุ่มไปแล้วก็รู้สึกว่าจีวรผืนเดียวไม่พอ ก็เอาจีวรอีกผืนหนึ่งมาห่ม พอหลังจากตี ๒ ไปแล้วก็ต้องห่มอีกผืนหนึ่ง เป็น ๓ ผืนถึงจะพอกับการดูแลรักษาร่างกาย จึงทรงอนุญาตให้มีผ้าสังฆาฏิที่เป็นจีวรสองชั้นไว้สำหรับห่มกันหนาว ส่วนจิตที่เข้าไปในสมาธิแล้วจะไม่หนาวเลย แต่คนที่ยังเข้าไม่ได้จะลำบาก จะหนาวสั่นอยู่ตลอดเวลา อีกประการหนึ่งเวลานั่งขัดสมาธิ จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น สังเกตดูเวลานั่งสมาธิในหน้าร้อนเหงื่อจะแตกเลย เวลานั่งจะทำให้ร่างกายร้อนขึ้นอบอุ่นขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้มีผ้าสังฆาฏิ เป็นผ้าจีวร ๒ ชั้น ไว้ใช้เป็นผ้ากันหนาว สมัยนี้เวลาพระทำพิธีก็จะเอาผ้าสังฆาฏิพาดไว้บนบ่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระที่จะต้องรักษาผ้าทั้ง ๓ ผืนให้อยู่ใกล้ตัวเสมอ เกิดมีเหตุฉุกเฉินจะต้องไปไหนมาไหนปุ๊บปั๊บ ก็จะได้มีบริขารครบถ้วนอยู่กับตัว ไม่ต้องวิ่งหาผ้า

 

พระเมื่อก่อนนี้จะเป็นพระธุดงค์กัน จะไม่อยู่กับที่ จะจารึกไปเรื่อยๆ เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความกลัว ไปเจอที่แปลกใหม่แล้วจะรู้สึกกลัว แต่พออยู่ไปนานๆเข้าจะเกิดความเคยชิน ความกลัวก็จะหายไป ก็ให้เปลี่ยนที่ใหม่ ไม่ให้ยึดติดกับที่ พอปรับตัวได้ก็จะสุขมันสบาย ก็จะไม่ปรับตัวเอง แต่ถ้าต้องย้ายที่เรื่อยๆ ก็ต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ การรู้จักปรับตัวมีประโยชน์มาก เราอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้องปรับตัวอยู่เรื่อยๆ เช่นอากาศนี้เราก็ต้องปรับตัว แต่ถ้าปรับไม่ได้ก็จะทุกข์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องปรับตัว คนที่เคยเป็นรัฐมนตรีก็ต้องปรับตัวปรับใจ คนที่ไม่เคยเป็นรัฐมนตรีก็ต้องปรับตัว ก็ปรับกันไป มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความทุกข์ก็เกิดจากความไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริง ยังยึดติดกับอดีตอยู่ เคยเป็นรัฐมนตรีก็ยังคิดว่าเป็นรัฐมนตรีอยู่ ยังอยากจะให้ปฏิบัติกับตนเหมือนกับยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ เคยรวยก็ยังอยากจะทำตัวเป็นคนรวยอยู่ แต่เป็นไม่ได้ เพราะมันผ่านไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพปัจจุบันถ้าไม่อยากทุกข์ ต้องหัดปรับให้อยู่ในสภาพที่ต่ำที่สุด ที่เลวที่สุด ที่แย่ที่สุด ถ้าอยู่ได้แล้ว ต่อไปไม่ว่าจะอยู่สภาพไหนก็รับได้หมด เป็นเหตุทำให้พระธุดงค์ต้องอยู่แบบลำบากที่สุด เป็นเหตุที่ทำให้วัดป่าบ้านตาดไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา เป็นการฝึกให้ปรับใจปรับตัวให้เข้ากับสภาพความจริงของชีวิต

 

คนเราทุกคนจะต้องลงถึงจุดต่ำสุดสักวันหนึ่ง เวลาแก่ก็ต้องถูกทอดทิ้งให้อยู่กับบ้าน ถึงแม้ลูกจะรักเราขนาดไหน เขาก็ต้องไปทำงานทำการ จะเอาเราไปด้วยได้อย่าง เราก็ต้องหัดอยู่กับบ้านให้ได้ หัดอยู่เฉยๆให้ได้ จะมีความสุข อยู่เฉยๆนี้แสนจะสุข ความสุขสุดยอดก็คือการอยู่เฉยๆนี่แหละ ไม่มีอะไรจะสุขเท่า ไปเที่ยวฮ่องกงกับอยู่บ้าน อยู่บ้านสบายกว่าตั้งเยอะ พาสปอร์ตก็ไม่ต้องทำ วีซาก็ไม่ต้องขอ เวลาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองก็ต้องถูกจับแก้ผ้าก็มี ก็ยังไปกัน เพราะอยู่บ้านกันไม่ได้ เพราะไม่เคยปรับตัวเองให้อยู่กับที่ ให้อยู่เฉยๆ ต้องมีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ มาหล่อเลี้ยงจิตใจอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้จักพอเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยให้ความอิ่มความพอกับใคร เพราะความพออยู่ที่การอยู่นิ่งเฉยต่างหาก ถ้าอยู่นิ่งเฉยได้เราก็จะพบกับความพอ จึงต้องอาศัยการปฏิบัติ ต้องทำสมาธิ มีศีลมีทานเป็นเครื่องสนับสนุน แล้วก็เจริญวิปัสสนา พิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความทุกข์ทั้งนั้น ก็จะไม่อยากได้อะไรไม่อยากทำอะไร อยู่ตัวคนเดียวแสนจะสบาย เวลามีอะไรก็ต้องวิตกกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ มีสามีมีภรรยาก็ต้องทุกข์กับสามีทุกข์กับภรรยา มีใครบ้างที่ไม่ทุกข์กับสามีไม่ทุกข์กับภรรยาไม่ทุกข์กับลูก ที่มาบ่นให้ฟังก็เรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น

 

ถาม  ก็แต่งไปแล้วนี่เจ้าค่ะ

 

ตอบ  ก็ตัดใจซิ ว่าเขาไม่ใช่ลูกเรา ไม่ใช่สามีเรา เป็นเพียงเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายเท่านั้น อยู่ร่วมกันด้วยความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักกันได้แต่อย่าไปยึดติด อย่าไปอยากให้เขาเป็นตามที่เราต้องการ ก็คนอื่นเขาเป็นอะไรเราไม่เห็นเดือดร้อนเลย พอมาเป็นสามีเป็นลูกเราเท่านั้น ต้องเป็นเรื่องทันที ก็เพียงแต่ทำใจ หัดทำใจ ว่าเป็นเหมือนคนอื่นก็แล้วกัน แต่อยู่ด้วยกันอย่างเพื่อน เพื่อนร่วมหอเพื่อนร่วมบ้าน ช่วยดูแลกัน อยู่คนเดียวอาจจะมีคนอื่นรบกวนเราได้ ก็มีเพื่อนไว้คอยช่วยปกป้องคุ้มครอง ก็มีความสุขได้ เพียงแต่เปลี่ยนทัศนะของเราเท่านั้นเอง อย่าไปครอบครอง ส่วนใหญ่พอได้อะไรมาแล้วจะเป็นตัวกูของกูขึ้นมาทันที จะต้องทำตามที่เราสั่งที่เราต้องการทันที พอไม่ได้ดังใจความรักที่เคยมีก็กลายเป็นความเกลียดชังขึ้นมาทันที เพราะความหลง ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักคิดกัน ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์ความอยาก ที่เป็นตัวร้ายกาจที่สุด ได้อะไรมาก็ไม่เคยพอใจสักที ให้ทำอย่างนี้ก็ไม่พอใจ ทำอย่างนั้นก็ไม่พอใจ ถ้าชอบอาหารชนิดนี้ ก็ทำให้กินทุกวันก็เบื่อ ก็ว่าเขาอีก เขาก็ตอบว่าเห็นว่าชอบไม่ใช่หรือ ก็เลยทำให้กินทุกวัน ความอยากจะเป็นอย่างนี้ ไม่เคยอยากได้ในสิ่งที่มี สิ่งที่มีเหมือนกับของตายแล้ว ชอบของเป็นๆ ชอบลุ้น จะได้หรือไม่ได้หนอ มีความสุข ตื่นเต้น พอได้มาแล้วก็หมดความอยากแล้ว ก็หาของใหม่อีก

 

        นี่คือตัณหาความอยาก ต้องเห็นโทษของมัน อย่าไปหลงตามมัน ให้ใช้เหตุผลทุกครั้งที่อยากจะได้อะไร ให้พิจารณาว่ามีความจำเป็นไหม ถ้ามีความจำเป็นต่อการดูแลอัตภาพร่างกาย ก็หามา มีความจำเป็นต่อการดูแลจิตใจ ก็ทำไป เช่นต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรม เจริญปัญญา จำเป็นไหม ถ้าจำเป็นต่อจิตใจ ก็ไม่เป็นตัณหา เป็นมรรค เป็นเครื่องดับทุกข์ดับปัญหาต่างๆ ทางร่างกายก็เช่นกัน ถ้าต้องกินอาหาร ก็ต้องมีอาหาร แต่ให้รู้จักประมาณ ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป ให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย เสื้อผ้าก็เช่นเดียวกัน ก็ให้พอดีกับความจำเป็น ความต้องการ บ้านกับยารักษาโรคก็เช่นกัน ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องมี เพราะหน้าที่ของเราที่แท้จริงก็มีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้นคือ ดูแลรักษากายกับใจของเรา กายก็ต้องดูแลรักษาให้อยู่ได้ ไม่ให้ชำรุดทรุดโทรมก่อนเวลาที่ควร ใจก็ยิ่งต้องรักษาใหญ่ เป็นงานหลัก เป็นงานหนักด้วย เป็นงานที่สำคัญที่สุด เพราะถ้ารักษาใจได้แล้วปัญหาต่างๆจะหมดสิ้นไป เช่นพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ ที่เป็นพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ขึ้นมาได้ก็เพราะท่านดูแลรักษาใจ กำจัดความโลภความโกรธความหลง ความอยากต่างๆ จนหมดไปจากจิตจากใจ เพราะความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆนี้แล เป็นต้นเหตุของปัญหาของใจ ที่สร้างความทุกข์สร้างความวุ่นวายใจ กระวนกระวายใจ เวลาร่างกายเป็นอะไร ก็เกิดจากตัณหา จากความอยากทั้งนั้น เวลายังมีชีวิตอยู่เพียงแต่คิดถึงความตายก็ทุกข์แล้ว ก็เกิดจากตัณหาทั้งนั้น ถ้ากำจัดได้แล้ว จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป 

 

        หน้าที่หลักๆของเราจึงมี ๒ หน้าที่เท่านั้น คือดูแลรักษาร่างกายและใจ จะดูแลรักษาร่างกาย ก็ต้องมีรายได้ ก็ต้องทำงานทำการ แต่อย่าไปทำจนหลงผิดไป หาเงินหาทองร่ำรวยใช้ไป ๑๐ ชาติก็ไม่หมด อย่างนี้ไม่รู้จะหาไปทำไม หามาพอดูแลอัตภาพร่างกาย แล้วให้มีเวลาได้ทำบุญปฏิบัติธรรม มีเงินทำบุญทำทาน มีเวลาปฏิบัติธรรม จึงต้องมีร่างกายไว้ทำงานทางด้านจิตใจ ไม่มีร่างกายก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้ ไปเกิดในอบายก็ทำอะไรไม่ได้ ไปเกิดบนสวรรค์ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะอบายเป็นที่ใช้บาปใช้กรรม สวรรค์ก็เป็นที่รับรางวัลของบุญกุศล มีภพชาติของมนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำภารกิจทางด้านจิตใจให้เสร็จสิ้นไปได้ เมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าเกิดมาทำไม คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ถ้าไม่ได้เจอพระพุทธศาสนาจะไม่รู้ ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะจะไม่รู้ ก็จะไหลไปตามความอยากในลาภยศสรรเสริญสุขกัน แล้วก็ทุกข์วุ่นวายกัน เพราะมีทั้งเจริญและเสื่อม เวลาเจริญก็ดีอกดีใจ เวลาได้งานได้การได้เงินเดือนเพิ่มก็ดีใจ พอถูกปลดออกก็เสียใจ จึงไม่ควรกังวลกับเรื่องตกงาน หาอะไรทำได้ก็ทำไป ถ้าต้องล้างชามก็ล้างไป เป็นงานที่มีศักดิ์ศรี ดีกว่าไปลักไปขโมย ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น

 

ถาม  ถ้าต้องทำงานที่เราไม่ชอบนี่รู้สึกว่ามันฝืน เกิดความทุกข์ในใจขึ้นมา

 

ตอบ  ต้องปรับตัวเพราะไม่มีทางเลือก อย่างไปอยู่วัดป่าบ้านตาดก็ต้องเข็นน้ำ ต้องปัดกวาด ต้องถูพื้น คนอื่นทำ เราก็ต้องทำ อยู่ในสภาพที่บังคับให้ต้องทำเราก็ทำไป ตราบใดที่ไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่เสียหายอะไร ใจปรับได้ฝืนได้ ฝืนไปสักพักหนึ่ง สักระยะหนึ่ง ก็จะเคยชิน ก็กลับชอบขึ้นมาได้

 

ถาม  ความไม่ชอบนี้ก็เป็นตัวสมุทัย

 

ตอบ  เป็นวิภวตัณหา คือความไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่อยากเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่มีใครอยากจะจน ไม่มีใครอยากจะลำบาก ไม่มีใครอยากจะล้างถ้วยล้างชาม อยากจะนั่งชี้นิ้ว แจ๋วเธอทำอย่างนั้นเธอทำอย่างนี้ อยากมีคนใช้ แต่พระท่านสอนไม่ให้มีคนใช้ ให้พึ่งตนเอง พระป่าจะไม่ให้มีใครรับใช้ มีลูกผู้หลักผู้ใหญ่จะมาบวชที่วัดป่าบ้านตาด แล้วจะขอเอาเด็กรับใช้มาด้วย ท่านก็บอกให้เลือกเอา ถ้าจะเอาเด็กรับใช้ ก็ไม่ต้องให้ลูกมา ถ้าจะให้ลูกมาก็ไม่ต้องเอาเด็กรับใช้มา จะเอามาทั้ง ๒ อย่างไม่ได้ ที่มีก็มีเท่าที่จำเป็น ช่วยทำกิจที่พระทำเองไม่ได้ เช่นถางป่าถางหญ้าตัดต้นไม้ สิ่งไหนที่พระทำไม่ได้ก็ต้องให้ลูกศิษย์ทำให้ เช่นประเคนของ พระประเคนกันเองไม่ได้ ต้องมีฆราวาสคอยประเคนให้ เงินทองจับเองไม่ได้ ต้องมีฆราวาสดูแลรักษาให้ พยายามปรับตัวนะ พยายามฝึก พยายามลด พยายามเผชิญกับความยากลำบากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ขยับอันดับความลำบากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ นั่งให้นานขึ้น ทนความเจ็บปวดให้นานขึ้นไป พยายามทำใจให้นิ่ง ด้วยการพิจารณาก็ได้ สวดมนต์ก็ได้ บริกรรมพุทโธๆไปก็ได้ ปล่อยให้เวทนาแสดงอาการของมันไป จะดับก็ให้มันดับของมันไปเอง ถ้าไม่ดับก็ให้ตั้งอยู่อย่างนั้น ปรับใจให้รับกับสภาพความเป็นจริง

 

ถาม  เวลามีเวทนา ใจก็จะอยู่กับเวทนา

 

ตอบ  ถึงได้บอกให้กลับมาสวดมนต์ กลับมาบริกรรมพุทโธๆ บางทีต้องไปที่น่ากลัวๆ เวลากลัวก็จะคิดแต่เรื่องที่กลัว ยิ่งคิดก็ยิ่งกลัวใหญ่ ยิ่งทุกข์ใหญ่ ถ้าไม่อยากจะทุกข์ ก็ต้องหาที่พึ่ง ก็จะคิดถึงพุทโธๆ คิดถึงพระขึ้นมา บริกรรมแต่พุทโธๆ ฝากเป็นฝากตายไว้กับพุทโธ เวลากลัวมากๆไม่รู้จะหาอะไรพึ่ง ก็กอดกับพุทโธไป พอกอดไปเดี๋ยวเดียวจิตก็รวมลงสงบลง พอสงบลงปั้บความกลัวก็หายไปหมด เพราะความกลัวมันเกิดจากใจเราไปคิดขึ้นมาเอง ฉะนั้นเวลาเจ็บอย่าไปคิดถึงความเจ็บ อย่าไปส่งจิตหาความเจ็บ เวลากลัวอย่าไปหาความกลัว ให้รีบกลับมาหาพุทโธๆอย่างเดียว ความเจ็บความกลัวจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้มันเป็นไป ถ้าอยู่กับพุทโธได้ตลอดเดี๋ยวจิตก็รวมลงได้ แล้วมันก็จะหายไปหมดเลย แล้วจะรู้ว่าเราโง่เอง เราผลิตความกลัวขึ้นมาเอง ผลิตความเจ็บขึ้นมาเอง พวกเรายังภาวนาไม่เป็นกัน ถ้าภาวนาเป็นแล้วจะรู้ จิตยังไม่เคยรวมกัน ยังไม่รู้ ถ้ารวมแล้วจะรู้ว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ที่จิตนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่ไหน สิ่งต่างๆเขาก็อยู่อย่างนั้นของเขา เขาไม่มีอะไร เราไปวาดภาพขึ้นมาหลอกตัวเราเอง เวลาตุ๊กแกวิ่งบนหลังคาก็คิดว่าผีมา

 

ถาม  ท่านอาจารย์ครับ พออยู่วัดใหม่ๆนี่ อยู่ในกุฏิ แรกๆอาจจะกลัว พอนานเข้าๆความกลัวมันหายไป แต่ก็คิดว่าไม่ได้หายไปหมด พอรู้สึกคุ้นเคยแล้วมันจะชิน แต่พอเปลี่ยนปุ๊บความกลัวมันโผล่ขึ้นมาให้เห็นอีก ความกลัวมันยังไม่หายไปหมด

 

ตอบ  คือที่นั้นเรารู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัวแล้ว แต่ที่ใหม่นี้เรายังไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า ใจก็ปรุงแต่งขึ้นมา จินตนาการไปเอง พออยู่ไปสักพักหนึ่งมันก็ไม่มีอะไรอีก มันอยู่ที่จินตนาการของเรา ต่อไปก็จะรู้ว่าเราหลอกตัวเราเองอยู่ตลอดเวลา สถานที่เขาหลอกเราไม่ได้ สถานที่เขาไม่มีอะไร เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นต้นไม้ใบหญ้า ไม่มีอะไร เราหลอกตัวเราเองตลอดเวลา สมมุติว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี แล้วก็ไปแย่งกัน พอได้มาแล้วก็ไม่เอาแล้ว ไปสมมุติอย่างอื่นขึ้นมาอีก แล้วก็ไปแย่งกันใหม่ แฟชั่นก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็สั้นเดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สีนั้นเดี๋ยวก็สีนี้ หลอกกันไปหลอกกันมาอยู่อย่างนี้

 

ถาม  ท่านอาจารย์ค่ะที่ท่านอาจารย์ว่า ถ้าพวกเราเคยปฏิบัติมาก็จะติดตัวมา ถ้าสมมุติว่าเราปฏิบัติแล้ว ชาติหน้าจะปฏิบัติดีขึ้นไหมค่ะ

 

ตอบ  ก็เหมือนเราเรียนหนังสืออยู่ชั้นนี้ แล้วเปลี่ยนโรงเรียน เราจบ ม.๕ แล้วเราก็ไปต่อ ม.๖  โรงเรียนอาจให้เราสอบดู ทดสอบภูมิปัญญาเราดู แต่ทางด้านจิตใจไม่ต้องทดสอบ เรียนถึงขั้นไหนก็รู้อยู่ในขั้นนั้น รู้อยู่แก่ใจ เคยทำได้แค่ไหนก็จะทำได้แค่นั้น เคยนั่งสมาธิได้กี่นาที นั่งกี่ครั้งก็จะนั่งได้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้หรือชาติหน้า ตายไปแล้วสมมุติมาเกิดใหม่ นั่งสมาธิครั้งต่อไปใหม่ก็จะนั่งได้เท่านั้น จะให้มากขึ้นก็ต้องผลักมันขึ้นไป มันจะไม่ขึ้นโดยอัตโนมัติ ต้องผลักมันขึ้นไป เคยนั่งได้ ๓๐ อยากจะนั่งได้ ๔๐ ก็ต้องฝืนนั่งต่ออีก ๑๐ นาที

 

ถาม  ถ้าเกิดเราไม่ผลักมันขึ้นไป แล้วมันจะหล่นลงมาไหมครับ

 

ตอบ  ถ้าไม่นั่งเลยก็จะต้องหล่นลงมา บางวันเราไม่ได้นั่ง พอกลับมานั่งก็นั่งไม่ได้นานเท่าที่เคยนั่ง นั่งไม่ถึง ๓๐  เคยนั่ง ๓๐ นั่งได้แค่ ๒๐ จึงต้องรักษาไว้ สิ่งที่ทำได้ก็ต้องรักษาไว้ สิ่งที่ยังทำไม่ได้ก็ต้องพยายามทำให้ได้ ทำให้มากขึ้นไป

 

ถาม  ลูกเขาไม่ชอบมาวัด แสดงว่าไม่ได้ทำมา

 

ตอบ  ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยอย่างอื่นมาเกี่ยวข้องก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเขามีเหตุมีภารกิจอย่างอื่นที่ทำเขาต้องไปทำ เขาก็ไม่สามารถมาได้ ถ้าเป็นความชอบล้วนๆ ก็หมายความว่าเคยสะสมมา เคยชอบอะไรก็จะชอบอย่างนั้น

 

ถาม  เกี่ยวข้องกับเวลาของแต่ละคน บางคนเข้าวัดตั้งแต่อายุน้อยๆ บางคนก็ไปเข้าตอนอายุมาก เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไหมครับ

 

ตอบ  เวลามันก็มีส่วน เป็นตัวจุดประกาย ถ้ามีเชื้อเก่าอยู่แล้ว พอถูกจุดขึ้น ก็จะเริ่มทำงานต่อ แต่ถ้าไม่มีโอกาส เช่นไม่เคยได้เจอครูบาอาจารย์ ไม่เคยมีใครแนะนำพาไปวัดปฏิบัติ ทั้งๆที่มีอะไรอยู่บ้างแล้ว แต่ไม่ได้รับการปลุกขึ้นมา เหมือนถ่านไฟเก่า ถ้าไม่ได้ถูกจุด ก็จะไม่ลุกขึ้นมา การคบคนจึงมีส่วน ในมงคลสูตรท่านสอนไว้ในบทแรกเลย อเสวนา จ พาลานังฯ ไม่คบคนพาลคนโง่ ให้คบบัณฑิตคนฉลาด บัณฑิตก็คือพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย เวลาได้คบกับบัณฑิตแล้วก็จะจุดประกายให้บารมีต่างๆที่เคยทำไว้ฟื้นขึ้นมา ที่ยังไม่มีแรงพอที่จะไปของมันเองได้ ต้องอาศัยผู้อื่นหรือเหตุการณ์มาคอยผลักดันไป แต่ถ้ามีมามากแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยบัณฑิต ไม่ต้องอาศัยใคร มันจะไปของมันเอง อย่างพระพุทธเจ้านี้ถึงเวลาท่านก็ไปของท่านเลย อยู่ในวังแสนจะสุขแสนจะสบาย ทุกคนมีแต่มุ่งหน้าไปในวังทั้งนั้น มีใครจะมุ่งออกจากวังไปอยู่ป่าบ้าง ไม่มีหรอก เป็นเพราะบุญบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมามีพลังในตัวของมันเอง มีแรงมาก จนไม่มีใครจะยับยั้งเหนี่ยวรั้งไว้ได้ มันก็จะไปของมัน ถ้าบำเพ็ญขนาดนั้นก็มีอยู่ ๒ ทางเลือกเท่านั้น ถ้าไม่เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์เพราะได้พบกับธรรมะคำสอน พบครูบาอาจารย์ ก็จะไปอย่างรวดเร็วเลย เราจึงบรรลุช้าเร็วจึงต่างกัน อยู่ที่บุญบารมีที่บำเพ็ญมา ถ้าเรียนอยู่ในระดับไหนก็ต้องมาเรียนต่อในระดับนั้น ถ้าเป็นหลักสูตร ๔ ปี ได้เรียนมาปีหนึ่งแล้ว ก็ต้องมาเรียนต่ออีก ๓ ปีกว่าจะจบ แต่ถ้าเรียนมา ๓ ปีแล้ว ก็เรียนอีกแค่ปีเดียว ถ้าเรียนมา ๓ ปีครึ่งแล้ว ก็เรียนอีก ๖ เดือนก็จบ

 

        เราจึงบรรลุได้ช้าเร็วต่างกัน บางคนฟังธรรมเพียงครั้งเดียวก็บรรลุแล้ว เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะฟังธรรมครั้งแรก ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แต่พระปัญจวัคคีย์อีก ๔ รูปยังไม่บรรลุ เพราะปัญญาบารมีบำเพ็ญมาไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่ห่างกันเท่าไหร่ ไล่ๆกัน ตามกันมาติดๆ ห่างกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง พอฟังแล้วเอากลับไปพินิจพิจารณาอีกสักครั้ง ๒ ครั้ง ทบทวนในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาก็จะบรรลุได้ อาจจะไม่บรรลุในขณะที่ฟัง แต่บรรลุหลังจากที่ได้ฟังแล้วก็ได้ ก็ปรากฏว่าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในลำดับต่อมา ไม่นานหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอีกครั้ง ๒ ครั้ง ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมด เป็นพระอรหันต์ ๕ องค์แรกของพระพุทธศาสนา ตามอย่างพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นก็ทรงไปเทศน์โปรดพวกนักปฏิบัติในลัทธิอื่น ที่ได้ปฏิบัติทานศีลสมาธิมาแล้ว พอทรงแสดงทางด้านปัญญา แสดงทางด้านวิปัสสนาให้ฟังหนเดียว ทั้ง ๕๐๐ รูปก็บรรลุพร้อมกันเลย เพราะไปติดอยู่ตรงนั้น ติดอยู่ในขั้นปัญญา ยังไม่เห็นอนัตตา ที่ไม่มีใครรู้นอกจากพระพุทธเจ้าเป็นพระองค์แรก ที่ทรงตรัสรู้เห็นอนัตตาก่อนเพื่อน เมื่อรู้แล้วก็มาสอนผู้อื่นต่อ พอผู้อื่นฟังแล้วพิจารณาปั๊บก็เข้าใจ เหมือนกับเห็นงูเป็นปลาไหล แต่ผู้รู้งูจะรู้ว่าไม่ใช่ปลาไหล ถ้าแยกแยะดู ก็จะเห็นว่ามีลักษณะต่างกัน เช่นเดียวกันกับพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนพวกเราที่เห็นอัตตาตัวตน ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ถ้าเอาไปพิจารณาดู ก็จะเห็นอย่างที่ทรงสอน มันอยู่ที่ภูมิปัญญาของแต่ละคนที่ได้สะสมมา อยู่ที่สมาธิที่ได้บำเพ็ญมา มันจะสนับสนุนให้การปฏิบัติของเราในปัจจุบัน อย่าไปคิดเรียนข้ามชั้น เวลาย้ายโรงเรียนก็ไปโกหกครูว่าเรียนจบ ป.๔ แต่จบ ป.๒  พอให้เรียน ป.๕ ก็เรียนไม่ผ่าน

 

ถาม  สมัยก่อนแค่ฟังธรรมก็บรรลุได้เลย แต่สมัยนี้คงยาก

 

ตอบ  น่าจะมีนะ อาตมาเชื่อว่ายังมี ในวงพระปฏิบัตินี้ยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่มีการมาประกาศบอกกันเท่านั้น ไม่อยู่ในวิสัยที่จะประกาศได้ เพราะจะสร้างลัทธิเลียนแบบ เดี๋ยวก็จะประกาศกันวุ่นไปหมดเลย จนไม่รู้ว่าจริงหรือหลอก แต่ผู้รู้ย่อมรู้อยู่แก่ใจ ย่อมมีความพอใจ ผู้อื่นจะรู้ไม่รู้ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ เวลากินข้าวอิ่มแล้วผู้อื่นจะรู้ว่าเรากินอิ่มหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ นอกจากแม่เราเท่านั้นที่ต้องบอกว่าอิ่มแล้ว ไม่อย่างนั้นจะโดนบังคับให้กินอีก แต่ทางด้านจิตใจผู้ปฏิบัติจะรู้เอง เรียกว่าสันทิฐิโก ไม่มีความจำเป็นต้องไปประกาศบอกใคร

 

ถาม  แต่ผู้ปฏิบัติรู้กันใช่ไหมค่ะว่าองค์ไหน

 

ตอบ  ก็ต้องสนทนาธรรมะกัน หรืออยู่ร่วมกัน เห็นจริยาวัตรข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ แต่จะให้สนิทใจต้องคุยกัน ต้องมีธรรมะระดับเดียวกัน ถ้าอยู่สูงกว่าเรา เราจะไม่รู้ ถ้าอยู่ต่ำกว่า เราจะรู้ เพราะเราเคยผ่านมาแล้ว แต่ธรรมะที่สูงกว่าเรายังไปไม่ถึง เราเลยไม่รู้ เราเคยขึ้นถึงชั้น ๑๔ เราจะไม่รู้ว่าขึ้นถึงชั้น ๑๕ แล้วจะมองเห็นอะไรบ้าง เพราะยิ่งสูงขึ้นไปก็จะมองเห็นไกลขึ้น อยู่ชั้น ๒ จะเห็นได้ระดับหนึ่ง พอขึ้นไปถึงชั้น ๑๐ จะเห็นได้อีกระดับหนึ่ง คนที่อยู่ชั้น ๑๐ จะรู้ชั้น ๑๐ ลงมาถึงชั้น ๑ เพราะเคยผ่านมาแล้ว แต่จะไม่รู้ชั้น ๑๑ ขึ้นไป

 

ถาม  กรุณาทบทวนนิดหนึ่ง เมื่อคราวก่อนนี้ท่านอาจารย์เมตตาพูดถึงเรื่องของทำบุญนะครับ ที่ว่าผลบุญมี ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งท่านบอกว่าคนที่ได้รับจะได้ฟังธรรมในระดับและประสิทธิภาพที่ไม่เท่ากัน อีกส่วนก็คือความเมตตาที่เรามีให้กับใครก็แล้วแต่ นี่จะเสมอกัน แต่ผมมีความรู้สึกว่าเวลาทำบุญกับหลวงตานี่ หรือทำกับท่านอาจารย์นี่ ความปลื้มปีติยินดีในใจมันเกิด ความเย็นฉ่ำในใจมันมี ซึ่งตรงนี้มันแตกต่างกันกับทำกับคนอื่น ตรงนี้มันรู้สึกได้ว่ามันแตกต่างกัน ความปลื้มปีติยินดี

 

ตอบ  อยู่ที่อุปาทานของเรา ถ้าไปทำกับพระอริยะที่เราไม่รู้ว่าท่านเป็น เราก็อาจจะไม่มีความปลื้มปิติก็ได้

 

ถาม  อันนั้นเกิดจากศรัทธาใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ศรัทธานั้นแหละเป็นอุปาทาน

 

ถาม  เป็นตัวมานะ

 

ตอบ  จะว่าเป็นก็ได้ แต่เป็นธรรมนะ เช่นเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า ใจก็จะน้อมไป ก็จะมีความสุข เกิดจากความปรุงแต่งของใจ แต่ถ้าไปเจอกับพระปัจเจกพุทธเจ้าเราก็จะไม่รู้ ก็อาจจะไม่มีความรู้สึกอะไร

 

ถาม  แม้แต่หมาแมวก็อาจจะเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้

 

ตอบ  อาจจะเป็นชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้

 

ถาม  ถ้าเราล่วงรู้ตรงนั้น กับหมากับแมวเราอาจจะปลื้มปิติก็ได้

 

ตอบ  การแผ่เมตตานั้น หมายถึงให้เรามีจิตเมตตาต่อเพื่อนสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเดียรฉาน ให้ความเมตตาเท่าเทียมกัน ให้น้ำแก้วนี้กับหมาให้กับคนก็น้ำแก้วเดียวกัน หมาก็กินได้ คนก็กินได้ ได้ประโยชน์เหมือนกัน ความเมตตาก็เป็นแบบนั้น เป็นสิ่งที่ดีกับจิตใจของเราและของผู้อื่น ความเมตตาทำให้จิตใจเรามีความสุข เวลาโกรธกับเวลาไม่โกรธ อย่างไหนจะดีกว่ากัน เวลาโกรธนี่เราขาดความเมตตาแล้ว เวลาดับความโกรธได้ เราก็ได้ความเมตตากลับมา ประโยชน์อยู่ตรงที่ทำให้จิตใจเราร่มเย็นเป็นสุข เพื่อนมนุษย์ที่เกี่ยวข้องก็ร่มเย็นเป็นสุขด้วย ดังสุภาษิตที่พูดไว้ว่า เมตตาค้ำจุนโลก ความเมตตาทำให้เราสงสารผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น เวลาตกทุกข์ได้ยาก ได้ช่วยเหลือได้ให้ความสุขกับเขา ความสุขนั้นก็กลับมาหาเรา ให้สุขแก่ท่านสุขนั้นก็กลับมาหาเรา ให้ทุกข์กับท่านทุกข์นั้นก็กลับมาหาเรา เวลาเราโกรธเราเกลียดใครความทุกข์ก็เกิดขึ้นในใจเราแล้ว มันอยู่ตรงนั้น ไม่ว่าจะให้ความเมตตาแก่ใครมันก็สุขเหมือนกัน

 

        วันนี้อ่านข่าวที่มูลนิธิหมาพิการจัดงานเลี้ยงให้หมา จัดโต๊ะจีน ๑๐ โต๊ะ อยู่ที่นนทบุรีที่หลวงตาดูแลช่วยเหลือสนับสนุนเดือนละแสน แต่เขาบอกว่าค่าใช้จ่ายตกเดือนละสี่แสน เขาก็จัดอาหารให้สุนัขกิน สุนัขเขาก็มีกายมีใจเหมือนเรา เพียงแต่ต้องเสวยวิบากกรรม เขาทำบาปมาในชาติก่อน อย่างพวกเราถ้าทำบาปกัน ชาติหน้าก็ไปเป็นอย่างเขา ใจเราใจเขาก็เหมือนกัน อยากจะได้รับความสุข อยากจะได้รับความเมตตาเหมือนกัน ใจไม่ได้เปลี่ยนไปตามร่างกาย ใจกับภพชาติก็เหมือนร่างกายกับเสื้อผ้าที่ใส่ จะแต่งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ เป็นขอทานก็ได้ แต่ร่างกายก็ยังเป็นร่างกายอันเดิมอยู่ ใจก็เช่นเดียวกัน ใจเป็นสุนัขไปเป็นสัตว์เดียรฉาน เพราะต้องใช้กรรมที่ทำมา เกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ร่างของมนุษย์ แต่ก็ยังเป็นใจอันเดิม มีกิเลสโลภโกรธหลง มีความปรารถนาความสุขความเมตตาเหมือนกัน เวลาได้รับความเมตตาก็มีความสุข เวลามีคนทักทายยิ้มแย้มแจ่มใส เราก็มีความสุขแล้ว

 

ถาม  เวลาแผ่เมตตานี่ ให้แผ่เมตตาให้ตัวเองก่อน ถูกไหมครับ

 

ตอบ  หมายความว่าให้ความสุขกับเราด้วย ให้ความเมตตากับเราด้วย ก็คือต้องดูแลใจของเรา ไม่ให้โกรธไม่ไปทำบาปเป็นต้น

 

ถาม  เกิดมาเป็นสัตว์นี่จะมีโอกาสได้สร้างบุญไหมค่ะ  

        

ตอบ  อาจจะได้บ้าง ถ้ามีสติปัญญา เช่นลิงกับช้างที่อุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้า ตอนที่เสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าตามลำพัง สัตว์บางตัวมีสติปัญญาสูงเท่ากับมนุษย์หรือสูงกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำไป

 

ถาม  เวลาเราทำความดี เราก็นึกถึงครูบาอาจารย์ ท่านจะรับกระแสได้ไหมเจ้าค่ะ

 

ตอบ  หมายถึงอย่างไร

 

ถาม  หมายถึงว่าเราแสดงมุทิตากับท่านนะค่ะ คลื่นจิตของท่านจะรับเราได้ตลอดเวลาใช่ไหมค่ะ ถ้าเราทำกับท่าน

 

ตอบ  ต้องถามท่านดู โดยปกติคนเรามองหน้ากันก็รู้กัน เช่นสามีภรรยาก็ส่งกระแสให้กันอยู่ตลอดเวลา ด้วยกิริยาอาการที่แสดงออก บางวันก็ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน ก็รู้แล้วว่าวันนี้ส่งกระแสดีให้กัน บางวันหน้าบึ้งตึงใส่กันก็รู้แล้วว่าส่งกระแสที่ไม่ดี กิริยาอาการก็เป็นสื่ออยู่แล้ว อยู่ที่ผู้รับจะมีสติปัญญารับรู้หรือไม่ บางคนก็ไม่ค่อยดูคนอื่น มัวแต่คิดเรื่องของตนเอง คนอื่นจะส่งสัญญาณมาอย่างไรก็ไม่รับรู้เลย คงจะรับได้บ้าง จะมากจะน้อยจะหยาบจะละเอียดต่างกัน คนเราสื่อกันบางทีไม่ต้องใช้ภาษา ไม่ต้องใช้คำพูด ใช้กิริยาอาการมองหน้ามองตากัน บางทีอยู่ในเหตุการณ์ก็รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะเคยได้ฝึกมาแล้ว เหมือนพวกทหารตำรวจ เวลาออกปฏิบัติการณ์จริงๆ เขาไม่มานั่งบอกว่าทำอย่างนี้ๆ เพราะมีแผนอยู่แล้ว ก็ทำกันไปเลย

 

ถาม  คำถามต่อเนื่องนะเจ้าคะ ถ้าหากทุกคนเป็นห่วงพระอาจารย์ ปวดหลังอยากให้ท่านหายนะเจ้าค่ะ ความปรารถนานะค่ะ

 

ตอบ  เข้าใจ แต่เรามองกันคนละระดับ ระดับอุปาทานยึดมั่นถือมั่น กับระดับปล่อยวาง มันไม่เหมือนกัน

 

ถาม  ชัดเจน

 

ตอบ  ปรารถนาดีต่อกันได้ เป็นห่วงได้ แต่อย่าบังคับกัน อย่าฉุดอย่าลากพาไปหาหมอ ให้ไปทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ เป็นการล่วงล้ำ เป็นการปฏิบัติที่ไม่ดีแล้ว ถ้าไปล่วงล้ำชีวิตของผู้อื่น โดยที่เขาไม่อนุญาต เสนอได้แต่อย่าไปบังคับกัน บางคนเสนอแล้วต้องไป ถ้าไม่ไปจะโกรธ ผิดใจกัน เลิกคบกันเลยก็มี อุตส่าห์มาแล้วไม่ยอมไป ก็เสียใจ คิดว่ารังเกียจความปรารถนาดีความหวังดี แต่ละคนมีวิธีการปฏิบัติกับชีวิตของตนเองต่างกัน เรื่องส่วนตัวควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัว ก็ได้ตกลงกันไว้แล้วว่า ถ้าต้องการอะไรจะบอก ถ้าไม่บอกก็ไม่ต้องกังวล ญาติโยมก็ได้ปวารณาตัวแล้ว โดยปกติพระจะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นไม่ได้ ถ้าเขาไม่ปวารณา เช่นจะไปขอสิ่งนั้นสิ่งนี้กับคนนั้นคนนี้ไม่ได้ ยกเว้นญาติพี่น้องเท่านั้น แต่ถ้าได้ปวารณาตัวแล้ว ว่าจะรับใช้จะถวายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าต้องการก็บอกเขาได้

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นคณะขอปวารณาตัวนะค่ะ ขอไว้ก่อนเลย

 

ตอบ  จะได้สบายใจ ไม่ต้องมาห่วงมากังวล หรือคิดว่าใจจืดใจดำ ความหวังดีบางทีก็เหมือนนิทานที่หลวงตาเล่าให้ฟัง เรื่องลิงโดนกิ่งไม้ทับแล้วก็ร้อง ลิงตัวอื่นมาเห็นเข้าก็สงสาร ก็กระโดดขึ้นไปบนกิ่งไม้ ก็ยิ่งทำให้หนักขึ้น ลิงที่ถูกทับก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งร้องดังขึ้น ไอ้ตัวอื่นก็ยิ่งตกใจ ก็ยิ่งมารุมดูกันใหญ่ ขึ้นไปกระโดดโลดเต้นบนกิ่งไม้ จนลิงที่ถูกทับตายไป

 

ถาม  ท่านอาจารย์คะ น้องสาวว่าถ้าพวกเรานึกถึงท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์จะทราบไหมค่ะ

 

ตอบ  ไม่ทราบหรอก เพราะไม่ได้คิดถึงใคร อยู่ที่วิสัยของแต่ละคน คนที่มีวิสัยที่จะรับกระแสจิตของผู้อื่นได้ เขาก็อาจจะทราบ ถ้าเปิดเครื่องรับไว้ ถ้าไม่มีพลังจิตทางด้านนี้ก็จะไม่ทราบ เรื่องพลังจิตไม่ได้เป็นทางดับทุกข์ เป็นความสามารถพิเศษเท่านั้นเอง ไม่มีก็ยังเป็นพระอรหันต์ได้ ยังดับกิเลสได้ สิ่งที่ต้องรู้เพื่อเป็นพระอรหันต์ก็คือรู้ไตรลักษณ์ รู้อนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ คนมีฤทธิ์ที่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็มี เช่นพระเทวทัต ท่านก็มีฤทธิ์เดช แต่ไม่ไปทางวิปัสสนา ไม่เจริญปัญญา กลับไปหลงติดอยู่กับฤทธิ์ ใช้ฤทธิ์เป็นบันไดก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ ขอสืบทอดอำนาจจากพระพุทธเจ้า เพราะคิดว่าตนมีฤทธิ์มีเดช แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นฤทธิ์เดชไม่ใช่เรื่องสำคัญ ในการปกครองผู้อื่นหรือตนเอง ให้อยู่ในความสงบ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ต้องมีปัญญา ต่อให้เหาะเหินเดินอากาศได้ อ่านจิตอ่านใจของผู้อื่นได้ ระลึกชาติได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญากำจัดความโลภความโกรธความหลง ก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ อย่าหลงประเด็น พวกฤทธิ์เดชนี้อยู่ในขั้นสมาธิ มีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้

 

ถาม  พวกนี้เรียกว่าโยคีใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  พวกโยคีฤๅษีชีไพรมีวิชาต่างๆ แต่ยังตกเป็นเครื่องมือของกิเลสอยู่ กิเลสเอามาใช้เป็นวิชามาร เพื่อให้ได้มาตามความโลภความอยากความโกรธของตน ถ้าโกรธก็ใช้ฤทธิ์เดชไปทำร้ายผู้อื่น ฤทธิ์เดชสมัยนี้ก็คือพวกอาวุธต่างๆ เป็นฤทธิ์เดชเหมือนกัน แต่ไม่ได้ออกมาจากใจโดยตรง เป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ใจผลิตขึ้นมา เอามาเข่นฆ่ากันทั้งนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีธรรมก็จะไม่เอามาใช้เข่นฆ่าผู้อื่น แต่เอามาปรามเอามาป้องกัน ไม่เอามาทำร้ายผู้อื่น จึงอย่าไปยินดีกับเรื่องฤทธิ์เดช คิดว่ามันเป็นของแถม เวลาไปจ่ายกับข้าวก็อย่าไปเอาแต่ของแถมจนลืมหิ้วกับข้าวกลับบ้าน ไปซื้อข้าวกับข้าวกับปลาแล้วได้ของแถมด้วย ก็เอามาได้ ไม่เป็นไร แต่อย่าทิ้งกับข้าวกับปลาก็แล้วกัน เอาแต่ของแถมอย่างเดียว เดี๋ยวก็อดตาย ถ้าไม่เจริญปัญญา ไม่พิจารณาไตรลักษณ์ ก็จะไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ จะพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องก็ต้องมีจิตที่สงบ มีสมาธิ ตั้งมั่นไม่วอกแวก ไม่ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ

 

        สมาธิและปัญญาจึงมีความจำเป็น ต้องเจริญสลับกันไป เหมือนการเดินที่ต้องใช้ทั้ง ๒ เท้า เท้าซ้ายและเท้าขวา สลับกันไป สมาธิและปัญญาก็เช่นเดียวกัน ทำจิตให้สงบแล้ว พอถอนออกมาก็เจริญปัญญาต่อ พิจารณาจนจิตเหนื่อยหรือฟุ้งก็หยุด กลับมาทำสมาธิต่อ ออกจากสมาธิก็เจริญปัญญาต่อ สมาธิและปัญญาจะสนับสนุนกันถ้าใช้เท้าเดียวเดินจะเดินเร็วกว่าคนใช้ ๒ เท้าหรือไม่ ถ้ามี ๒ เท้าแต่ใช้เท้าเดียว ก็ต้องเขย่งไปกระโดดไปทีละก้าว ก็จะไปไม่ถึงไหน ถ้าใช้ ๒ เท้าเดินก็จะไปเร็ว สมาธิสนับสนุนปัญญา ปัญญาก็ทำให้จิตมีความหนักแน่น มีความสงบมั่นคงมากยิ่งขึ้น เพราะความไม่สงบวอกแวกหวั่นไหวของจิต ก็เกิดจากความหลงความเห็นผิดเป็นชอบ ความเห็นว่าเป็นตัวตน พอมีตัวมีตนแล้วก็เกิดความหวั่นไหวว่าจะเกิดอะไรกับตน ถ้าไม่มีตัวไม่มีตนก็จะไม่หวั่นไหว

 

        จะเห็นไม่มีตัวตนได้ก็ต้องพิจารณาแยกแยะอยู่เรื่อยๆ เพราะตัวตนจะไปรวมอยู่ในร่างกาย ในอาการ ๓๒ จึงต้องแยกมันออกมา ทำลายมัน ให้มันแยกออกมา เป็นชิ้นส่วน เหมือนกับรถยนต์ แยกออกมาเป็นส่วนๆ จะเห็นว่าไม่ได้เป็นรถยนต์ เป็นเพียงชิ้นส่วนต่างๆ มีล้อมีเครื่องยนต์มีเบาะมีที่นั่งมีกระจกฯลฯ ไม่ได้เป็นตัวเป็นตน พอมารวมกันก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แล้วก็ไปยึดไปติดว่าเป็นตัวเป็นตน จะทำให้ได้ผลก็ต้องมีเวลามาก เป็นฆราวาสญาติโยมก็ทำได้ถ้าไม่มีธุระไม่มีภารกิจ เช่นเป็นแม่บ้านอยู่กับบ้านทั้งวัน ไม่ต้องออกไปทำงานทำการ ทำงานบ้านก็เป็นเหมือนเป็นพระนี่ ล้างถ้วยล้างชามก็พุทโธๆไป พิจารณาไป หุงข้าวก็พิจารณาไป ถ้าทำกิจตามลำพังคนเดียวไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ก็จะสามารถทำกิจภายในได้ แต่ถ้าต้องไปคุยไปสนทนาไปปรึกษาหารือกับผู้อื่น ก็จะทำไม่ได้ เวลาพระธุดงค์พระป่าทำกิจจะไม่คุยกัน ลองสังเกตดู มีหน้าที่อะไรก็ทำไป ภายนอกก็ทำไป ภายในก็ภาวนาไป โดยที่เราไม่รู้ว่ากำลังภาวนาอยู่ กำลังพิจารณาอยู่ ถ้าเป็นอาหารก็พิจารณาให้เห็นว่าเป็นปฏิกูล อาหารในบาตรเวลาเข้าไปในท้องแล้วเป็นอย่างไร เวลามันออกมาแล้วเป็นอย่างไร พอพิจารณาอย่างนั้นความยินดีในอาหารก็จะหายไป

 

ถาม  ท่านอาจารย์ค่ะน้องเขาฝากถามว่า ถ้าเขามีความทุกข์แล้วเขาคิดถึงท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์จะทราบไหม

 

ตอบ  คงไม่ทราบหรอก แต่อาจารย์องค์อื่นอาจจะทราบก็ได้ อยู่ที่พลังจิตของแต่ละท่าน ที่ไม่เหมือนกัน เป็นความสามารถเฉพาะตน พระอริยะบุคคลแต่ละองค์ มีความสามารถเฉพาะตนไม่เหมือนกัน อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระโมคคัลลานะ ว่าเก่งทางด้านฤทธิ์ พระสารีบุตรเก่งทางด้านปัญญา พระสีวลีเก่งทางด้านทานบารมี ไปไหนจะมีอานิสงส์ของทานบารมีของปรากฏอยู่เสมอ มีคนชอบทำบุญถวายทานกับท่านมาก พระอานนท์ท่านก็เก่งทางด้านความจำ เป็นผู้ใฝ่รู้ เทศน์ของพระพุทธเจ้าทุกกัณฑ์จำได้หมด ถ้าพระอานนท์ไม่ได้ไปฟังด้วย ก็ยังบังคับให้พระพุทธเจ้า กลับมาเทศน์ให้ท่านฟัง เป็นเงื่อนไขข้อหนึ่ง ที่พระอานนท์ตั้งไว้สำหรับการรับหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐาก แต่ละองค์แต่ละท่านจึงมีความสามารถไม่เหมือนกัน

      

        อย่างในสมัยปัจจุบันนี้เท่าที่ทราบกัน หลวงปู่มั่นก็ติดต่อเทวดาได้ มีเทพมาฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านจิตใจได้ ตอนที่ท่านอยู่บนถ้ำแล้วมีหลวงตาอยู่ที่ตีนเขา เวลาท่านส่งจิตไปหาหลวงตาองค์นั้น ก็เห็นท่านคิดถึงแต่บ้าน คิดถึงแต่ลูก คิดถึงแต่ภรรยา พอตอนเช้าหลวงปู่มั่นท่านก็ทักหน่อยหนึ่ง หลวงตาองค์นั้นก็อายมากจนต้องย้ายหนีไปเลย ความสามารถเฉพาะตนแต่ละองค์ไม่เหมือนกัน ของหลวงตาเรานี้ไม่ทราบว่ามีการพูดกล่าวกันอย่างไรบ้าง เรื่องที่เด่นชัดก็คือการแสดงธรรมเทศนา ส่วนเรื่องอ่านใจคนก็มีคนกล่าวถึงเหมือนกัน ว่าบางทีเขาคิดอะไรอยู่ในใจ พอไปพบท่านแต่ยังไม่ทันได้กราบถามท่าน ท่านก็จะตอบก่อน มีคำถามอยู่ในใจไม่ทันได้ถามท่าน ท่านก็จะตอบเลย จะเป็นความบังเอิญหรือไม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เรื่องเหล่านี้ไม่ควรถือเป็นประเด็นสำคัญ อย่าไปหลงติดเพราะจะเสียเวลา เวลามีทุกข์อย่าไปคิดถึงอาจารย์ ให้พิจารณาว่าทุกข์ของเราเกิดจากอะไร เกิดจากสมุทัยความอยาก เราต้องอยากอะไรสักอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ได้สมความอยาก ก็จะทุกข์ขึ้นมา ถ้าตัดความอยากได้ความทุกข์ก็จะดับไป อย่างนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า

 

ถาม  ผมได้ยินมาว่าพระอานนท์ตรัสรู้ในคืน ที่ท่านเร่งความเพียรอย่างมากเกินไป ในขณะที่ท่านจะล้มตัวลงนอน ท่านก็ตรัสรู้เพราะท่านผ่อนคลายตัวเองลง แต่ของพระพุทธเจ้านี่ตั้งใจว่าจะไม่ลุกขึ้นจากการภาวนาจนกว่าจะตรัสรู้ ดูเหมือนมีความเพียรเหมือนกัน แต่ทำไมถึงต่างกันล่ะครับ

 

ตอบ  อิริยาบถต่างกัน แต่ความเพียรในจิตใจเหมือนกัน ต่อสู้กับกิเลสตัณหาในท่านั่งสมาธิก็ได้ หรือในอิริยาบถยืนหรือเดินหรือนอนก็ตัดกิเลสได้เหมือนกัน ภาวะจิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ของพระพุทธเจ้าต้องนั่งถึงจะตัดได้ ของพระอานนท์นี่ท่านไปยึดไปติดกับคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้า จิตเลยไม่ปล่อยวาง มัวแต่กังวลว่าเมื่อไหร่จะบรรลุเสียที เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ว่าจะต้องบรรลุวันนี้แน่นอน ความเพียรก็เร่งเต็มที่แล้ว พิจารณาทุกอย่างหมดแล้ว แต่ก็ยังไม่บรรลุ ก็เลยเกิดความวิตกกังวลขึ้นมา ยิ่งเวลาใกล้เข้ามาเท่าไหร่ ก็ยิ่งวิตกกังวลใหญ่ จิตก็เลยสร้างกิเลสขึ้นมาแทนที่จะสร้างธรรมะขึ้นมา การจะหลุดพ้นได้จิตต้องปล่อยวางทุกอย่างแม้แต่คำพยากรณ์ พอเห็นว่าใกล้สว่างแล้วก็คิดว่าหมดหวังแล้ว ครั้งนี้คงเป็นครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ผิดพลาด ก็เลยจะไปพัก ขณะที่กำลังจะพัก ระหว่างท่านั่งกับท่านอน จิตไม่ได้คิดอะไร ปล่อยวางคำพยากรณ์ ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง จิตก็หลุดเลย

 

        ต้องปฏิบัติถึงจะรู้ เวลาหลุดมันหลุดอย่างไร บางองค์ก็หลุดแบบง่ายๆ มีอยู่องค์หนึ่งบรรลุ ๔ ขั้นในเวลาปลงผม พอมีดโกนลงศีรษะครั้งแรกก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน พอลงครั้งที่ ๒ ก็เป็นพระสกิทาคามี ครั้งที่ ๓ ก็เป็นพระอนาคามี ครั้งที่ ๔ ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ปัญญาขยับไปเรื่อยๆ หมุนของมันไปเรื่อยๆ เหมือนกับไฟที่มีเชื้อ พอไฟติดแล้วก็ไหม้ของมันไป การบรรลุไม่อยู่ที่อิริยาบถ แต่อยู่ที่สภาพจิตที่พร้อมจะบรรลุในขณะนั้นหรือไม่ มีอยู่รูปหนึ่งมีปัญหา จะไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า พอเดินไปถึงกุฏิฝนก็ตก ยังไม่ได้ขึ้นไปบนกุฏิ ก็ยืนรออยู่ที่ชายคา เห็นน้ำฝนที่ไหลลงมาจากชายคา ลงมาในน้ำที่อยู่บนดิน เกิดเป็นฟองน้ำแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป พิจารณาฟองน้ำแล้วก็บรรลุเลย เลยไม่ต้องขึ้นไปกราบทูลถามพระพุทธเจ้า เพราะรู้คำตอบแล้ว การบรรลุธรรมจึงไม่จำเป็นว่า จะต้องอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิเสมอไป อยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ ถ้าจิตอยู่ในภาวะที่พร้อมก็บรรลุได้

 

        มีพระอีกรูปหนึ่งท่านติดในด้านความสวยงาม พระพุทธเจ้าก็ให้ไปดูซากศพของโสเภณีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เป็นโสเภณีที่มีความสวยงามมาก พอดีเธอตายไป ก็ให้ไปพิจารณาดูซากศพของเธอ พอพิจารณาปั๊บก็หลุด เพราะจิตแต่ละดวงไปติดอยู่กับจุดใดจุดหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน อย่างพระอานนท์ไปติดอยู่กับคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าว่าจะบรรลุ แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ได้บำเพ็ญเพียรนะ ธรรมขั้นอื่นๆก็ได้บำเพ็ญมาหมดแล้ว แต่มาติดที่ปมสุดท้ายนี้ ติดที่คำพยากรณ์นี้ ติดที่ความอยากจะบรรลุ ซึ่งเป็นสมุทัย ความอยากเป็นพระอรหันต์ในตอนนั้นจึงเป็นอุปสรรค เมื่อก่อนเป็นตัวผลักดันให้ปฏิบัติ พอมาถึงจุดนี้แม้แต่ความอยากไปพระนิพพานก็ต้องตัดไป เพราะเป็นสมมุติ จะรู้อยู่กับใจ ผู้ปฏิบัติจะรู้ว่าอะไรยังคาใจอยู่ เหมือนก้างติดคอ คนอื่นไม่รู้ เรารู้และเราต้องเอามันออกเอง

 

        ขอให้ปฏิบัติไปเถิดแล้วจะรู้เห็นเอง ไม่มีอะไรมาปกปิด มาปิดกั้นการปฏิบัติได้ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติแล้ว ต่อให้ฟังไปจนวันตายก็จะไม่เห็นไม่รู้ ฟังแล้วเข้าใจก็ดับความสงสัยได้ แต่ไม่แก้ปัญหาของเราได้ ขอให้เห็นความสำคัญของการศึกษาและการปฏิบัตินี้ ว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา ควรจะอุทิศชีวิตเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติ โดยการทำหน้าที่อย่างอื่น เพื่อสนับสนุนให้เราได้มาทำหน้าที่นี้ จะทำมาหากิน ทำอะไรต่างๆ ดูแลพ่อแม่ ทำบุญทำทาน ก็ขอให้คิดว่าเป็นการสนับสนุนให้เราได้ศึกษาได้ปฏิบัติ เพราะเนื้อหาสาระที่แท้จริงของชีวิตเราอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การศึกษาและการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่มีใครอยากจะเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาไม่สบายก็วิ่งหาหมอกันทุกคนเลย ไม่มีใครอยากจะไม่สบาย อยากจะหายกันทั้งนั้น แล้วทำไมไม่อยากจะพ้นทุกข์กันบ้าง ทั้งๆที่ทุกข์กันตลอดเวลา เพราะอำนาจของกิเลสมันแรงมาก ทำให้เราหลง ให้รักความทุกข์ ให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นทุกข์เป็นสุข เราจึงกอดความทุกข์กัน รักความทุกข์กันอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว

 

        อุปาทานต่างๆเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ ไอ้นั่นก็เสียดาย ไอ้นี่ก็เสียดาย ไอ้นั่นก็อยากได้ ไอ้นี่ก็อยากได้ ล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งนั้นเลย แต่มองไม่เห็นกัน ลองตัดทิ้งไปให้หมดเลย อยู่แบบไม่มีดู เอาเท่าที่มีอยู่แล้วก็พอ จะมีความภูมิใจ ผู้อื่นทำได้ ครูบาอาจารย์ที่เรากราบไหว้ท่านก็ทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ ก็เพราะเราสู้กิเลสไม่ได้ เราชอบฟังแต่พอถึงเวลาปฏิบัติเราไม่ปฏิบัติกัน เหมือนเชียร์นักมวยให้ชกซ้ายชกขวา พอให้เราขึ้นไปชกบนเวที เราก็ไม่เอา เพราะกลัวลำบาก ขาดโน้นขาดนี่หน่อยก็ลำบากแล้ว ค่อยๆตัดก็ได้ ค่อยๆลด สิ่งไหนไม่จำเป็นก็ค่อยตัดๆไป ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ก้าวหน้าสักที สิ่งที่ตัดได้ก็ตัด สิ่งที่ทำได้ก็ทำ ต้องทำทั้ง ๒ อย่าง ต้องลดต้องละ ต้องเสริมสร้างสิ่งที่ยังไม่มี ทานศีลภาวนามีน้อย ก็ต้องเสริมสร้างให้มีมากขึ้น สมบัติข้าวของเงินทองสิ่งที่ไม่จำเป็นต่างๆเรามีมาก ก็พยายามตัดทิ้งไป บริจาคไป แล้วเราจะพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

       

        เป็นอย่างไรหายดีแล้วหรือ เมื่อได้ต่อชีวิตมาแล้วก็ควรเอามาปฏิบัติธรรม มาทำบุญ อย่าไปเที่ยว เที่ยวพอแล้ว เที่ยวกี่ครั้งก็เหมือนกัน สู้ปฏิบัติธรรมไม่ได้ ปฏิบัติได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากขึ้นไปเท่านั้น จะมีความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ ความทุกข์จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

 

ถาม  ตอนเข้าห้องผ่าตัดไปก็รู้สึกว่าจิตสงบดีนะเจ้าค่ะ ก็ภาวนาไป แต่ทำไมความดันขึ้นตั้งเยอะ ก็ภาวนาไปไม่รู้สึกกลัว แต่หมอบอกว่าความดันขึ้น หมอถามว่ากลัวหรือ

 

ตอบ  ก็อาจจะมีสาเหตุอื่นก็ได้ ถ้าเราไม่รู้สึกกลัว ร่างกายมีอะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้ มันจะขึ้นก็ให้มันขึ้นไป ขอให้จิตใจเราสงบก็แล้วกัน จะขึ้นจะลงก็เป็นเรื่องของเขา ขอให้จิตใจเราดี จิตใจเราสงบ ให้นิ่ง ให้วางเฉย นั้นแหละเป็นเป้าหมายของเรา

 

ถาม  ที่บนเขานี้มีพระอยู่กี่องค์คะ

 

ตอบ  ตอนนี้มีอยู่ ๓ รูป ไปต่างจังหวัดกันพอออกพรรษา ธรรมดาก็มีไม่มาก มีประมาณสัก ๖ รูป เพราะส่วนใหญ่อาตมาไม่ได้สอนไม่ได้กำชับดูแลเคี่ยวเข็ญ เพราะไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างนั้น เพราะเราก็อยู่ในฐานะผู้อาศัย ไม่ใช่วัดของเรา เป็นของสมเด็จฯ ผู้มาอยู่ก็ไม่ได้มาศึกษากับเรา ใครสนใจอยากจะศึกษาถามเรา เราก็สอน ถ้าไม่สนใจเราก็ไม่สอน ปล่อยให้อยู่ตามอัธยาศัย บางท่านก็อยากไปอยู่กับสำนักครูบาอาจารย์ มีหมู่คณะมีกฎมีระเบียบที่ตายตัว ที่นี่ค่อนข้างจะเหมือนมหาวิทยาลัยเปิด ตัวใครตัวมัน ใครขยันอยากจะปฏิบัติก็ปฏิบัติไป ไม่อยากจะปฏิบัติก็ไม่บังคับกัน

 

ถาม  เข้าง่ายออกยาก

 

ตอบ  ที่นี่เข้าก็ง่ายออกก็ง่าย

 

ถาม  องค์ที่ขึ้นมาอยู่ข้างบนนี่ก็

 

ตอบ  ก็มาด้วยความสมัครใจ

 

ถาม  ท่านอาจารย์ก็ได้แนะนำบ้าง

 

ตอบ  ถ้าถามก็แนะนำไป แต่ส่วนใหญ่จะรู้ว่าต้องทำอะไร ได้ยินได้ฟังได้อ่านหนังสือของครูบาอาจารย์กันอยู่ประจำอยู่แล้ว ขาดการปฏิบัติเท่านั้นเอง ที่ผ่านกันไปไม่ค่อยได้ก็คือทุกขเวทนา พอเจอทุกขเวทนาก็จอด ถ้าผ่านไปได้แล้ว ก็จะไปได้เรื่อยๆ

 

ถาม  ตอนนี้โยมก็อายุมากแล้ว มีปัญหาเรื่องเข่า ก็เคยผ่านได้บ้าง นั่งเก้าอี้ได้ไหมคะ

 

ตอบ  ได้ แต่อาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็ต้องยอมรับสภาพ ว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติมันชำรุดทรุดโทรม

 

ถาม  แต่เดิมก็นั่งขัดสมาธิมาตลอดค่ะ นั่งได้นาน แต่ช่วงหลังนี่หมอบอกให้นั่งเก้าอี้ เพื่อชะลออาการเสื่อมไว้ จะได้เดินได้

 

ตอบ  ก็ต้องทำไปตามสภาพ ร่างกายก็เหมือนรถยนต์ ถ้ารถใหม่ก็วิ่งได้เร็ว ถ้ารถเก่าก็ต้องค่อยๆไป

 

ถาม  อย่างนี้ถ้าปฏิบัติแต่อายุน้อยๆก็ได้เปรียบซิค่ะ

 

ตอบ  ถึงได้บวชกันตั้งแต่อายุ ๒๐  ถ้าบวชอายุ ๖๐ ก็จะไม่ค่อยไหว