กัณฑ์ที่ ๒๗๖       ๑๓ มกราคม ๒๕๕๐

 

กินเพื่ออยู่

 

 

 

การพิจารณาให้เห็นปฏิกูลในอาหารนั้น ทำเพื่อกำจัดความอยาก ไม่ให้ยินดีในรูปสีสันกลิ่นรสของอาหาร ว่าเป็นอาหารชนิดนั้นอาหารชนิดนี้ ท่านจึงสอนให้พิจารณาให้เห็นความเป็นปฏิกูล คือความไม่น่าดูของอาหารที่รับประทาน พิจารณาดูอาหารที่เคี้ยวอยู่ในปาก ว่ามีรูปลักษณ์อย่างไร ถ้าคายออกมาแล้ว จะตักเข้าไปกินใหม่ได้ไหม ถ้าเห็นสภาพของอาหารที่เคี้ยวอยู่ในปาก ก็จะคลายความอยากรับประทานไปได้มาก ถ้าดูตอนที่อยู่ในถ้วยในจานก็จะทำให้น้ำลายไหล เราจึงต้องพิจารณาดูตอนที่อาหารถูกเคี้ยวแล้วคลุกกับน้ำลายอยู่ในปากว่าเป็นอย่างไร ดูตอนที่อยู่ในท้องว่าเป็นอย่างไร ดูตอนที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร เพื่อตัดความอยากรับประทานอาหารออกไป อาหารทุกชนิดที่รับประทานต้องไปรวมกันอยู่ในท้อง แต่ก่อนที่จะไปรวมกัน เราก็จัดเสียสวยงาม แยกอาหารคาวหวานออกจากกัน แยกไว้เป็นส่วนๆ ถ้าผลไม้หล่นไปในแกงก็จะไม่รับประทาน เพราะไปปนกับของคาว การพิจารณาแบบนี้เพื่อให้เกิดความรังเกียจขยะแขยง เพื่อทำลายความหลงในรูปรสของอาหาร ถ้าไม่พิจารณาก็จะติดกับรูปรสของอาหาร อยากกินอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ แต่ถ้าเป็นพระแล้วเลือกไม่ได้ แล้วแต่ญาติโยมจะนำมาถวาย ถ้าไปอยู่ที่กันดารมีแต่คนยากจนใส่บาตร ก็จะเป็นอาหารที่ไม่ค่อยชอบรับประทาน แต่ต้องฝึกฉันให้ได้ ด้วยการพิจารณาว่าอาหารทั้งหมดที่จะฉันนี้ จะต้องไปรวมกันอยู่ในท้องอยู่ดี ก็ให้รวมกันอยู่ในบาตรเสียเลย ได้อาหารชนิดต่างๆมา ก็เอาใส่รวมลงในบาตรเลย แล้วก็คลุกกันให้เป็นอาหารชนิดเดียวกัน ทั้งของคาวของหวานผลไม้ทองหยิบฝอยทองแกงเขียวหวานแกงจืด ก็ใส่ไปลงไปในบาตร แล้วก็คลุกกัน เหมือนคลุกข้าวให้หมากิน รสชาติก็ดี มีเปรี้ยวหวานมันเค็มครบถ้วนหมดเลย ถ้าฉันแบบนี้แล้วจิตใจจะไม่กังวลกับเรื่องอาหาร

 

ไม่เช่นนั้นแล้วเวลาบวชใหม่ๆจะต้องนั่งอยู่ปลายแถว เวลาเห็นอาหารที่ชอบอยู่หัวแถวก็อยากจะรับประทาน พอมาถึงเราที่ปลายแถวก็เหลือแต่ถาดเหลือแต่จาน ก็จะเกิดความเสียใจท้อแท้เบื่อหน่ายได้ ถ้าไม่ไปมองสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเรา  มองแต่เฉพาะสิ่งที่มาตั้งอยู่ข้างหน้าเรา เราก็จะไม่ผิดหวัง แล้วถ้าเอาอาหารทุกชนิดคลุกกันในบาตร เราก็จะไม่เกิดความอยากรับประทานอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ จะช่วยให้การฉันอาหารไม่เป็นปัญหากับเรา การฉันในบาตรนี้ก็มีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกันคือ ๑. แบบสบายๆ ได้อาหารอะไรมาก็แยกไว้เป็นส่วนๆในบาตร ข้าวก็เอาไว้ด้านหนึ่ง กับข้าวเอาไว้อีกด้านหนึ่ง ผลไม้เอาไว้ด้านหนึ่ง ของหวานก็เอาไว้อีกด้านหนึ่ง ถ้าเป็นน้ำก็ใส่ไว้ในถ้วยไว้ดื่มเลย ผลไม้จะไว้ที่ฝาบาตรก็ได้ ฉันแบบนี้ฉันแบบสบายๆ แบบที่ ๒  จะไม่จัดแยกอาหารไว้เป็นส่วนๆ มีอะไรก็ใส่ลงไปเลย ตรงไหนก็ได้ แบบที่ ๓ ก็คลุกอาหารทุกชนิดที่อยู่ในบาตร เพื่อกำหลาบกิเลสตัณหา ความอยากรับประทานอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะมีปัญหากับการขบฉัน ฉันไม่ลงบ้าง อยากจะฉันแล้วไม่ได้ฉัน ก็จะทำให้ท้อแท้เบื่อหน่ายกับเพศของนักบวช แต่ถ้าฝึกรับประทานตามมีตามเกิดได้ โดยพิจารณาว่าอาหารจะดีขนาดไหนจะเลวขนาดไหน ก็เป็นอาหารเหมือนกัน ทำหน้าที่เหมือนกัน คือรักษาร่างกายให้อยู่ต่อไปได้ ดับความหิวกาย ป้องกันไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ให้มีกำลังปฏิบัติธรรม ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว กินเพื่ออยู่ ไม่อยู่เพื่อกิน ไม่หาความสุขจากการรับประทานอาหาร ไม่เหมือนฆราวาสญาติโยม เวลารับประทานจะถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง กินกันแบบไม่ยับยั้ง ต้องหาที่กินกัน ต้องขับรถไปไกลๆ เพื่อไปร้านอาหารที่ถูกปากถูกคอ เสียเวลาไปเปล่าๆ เพียงเพื่อเติมน้ำมันให้กับร่างกายเท่านั้นเอง ควรจะปฏิบัติร่างกายเหมือนกับรถยนต์ ปั๊มไหนก็เติมได้ ปั๊มตราดาว ปั๊มตราเสือก็น้ำมันเหมือนกัน มาจากโรงกลั่นเดียวกัน อาหารก็มาจากตลาดเหมือนกัน พอมาถึงที่ร้านแล้วก็มีวิธีปรุงแต่งต่างกันไป ทำให้มีสีสันรสชาติต่างกันไป แต่การทำหน้าที่ดูแลรักษาร่างกายให้อยู่ได้ ให้มีพลัง ให้มีเชื้อเพลิง ก็เหมือนกัน

 

มีเรื่องการพิจารณาอาหารอยู่เรื่องหนึ่ง มีแม่ชีอยู่รูปหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าอยู่ในหนังสือของหลวงตาหรือเปล่า หรือได้ยินได้ฟังมา แม่ชีก็พิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารทุกครั้งก่อนที่จะรับประทาน มีอยู่ครั้งหนึ่งพิจารณาจนเลยเถิด จนรับประทานอาหารไม่ลง พอมองเห็นอาหารในจาน ก็จะเห็นภาพอาหารที่อยู่ในกระเพาะ รับประทานไม่ลง จนร่างกายซูบผอม ก็เลยไปปรึกษากับหลวงตา ท่านก็ช่วยแก้ให้ สอนให้พิจารณาว่า อาหารที่รับประทานเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ มาจากดินน้ำลมไฟ ร่างกายก็มาจากดินน้ำลมไฟ เป็นธาตุเหมือนกัน ส่วนผู้ที่พิจารณาคือใจ ไม่ได้กินอาหาร เป็นเพียงผู้จัดการเอาอาหารเข้าไปในร่างกายเท่านั้นเอง เหมือนกับเติมน้ำมันรถ คนขับรถไม่ได้กินน้ำมัน คนขับรถก็เพียงแต่เอาน้ำมันใส่ไปในถังรถยนต์เท่านั้นเอง ร่างกายเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ อาหารก็เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นการเติมธาตุเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวกับใจเลย ใจเป็นเพียงผู้จัดการดูแลร่างกาย นี่ก็เป็นวิธีแก้ถ้าพิจารณาจนเลยเถิดไป การพิจารณาทางด้านปัญญา ก็เป็นเหมือนกับการรับประทานยาเพื่อรักษาโรคของจิตใจ คือความโลภความโกรธความหลง หลงในรสชาติอาหารก็เป็นความหลงเป็นความโลภ ก็ต้องพิจารณาปฏิกูลความไม่สวยงามน่าขยะแขยงของอาหาร จะได้คลายความยินดีในอาหาร จะได้ไม่รับประทานมากจนเกินไป พออิ่มแล้วก็จะหยุดได้ ถ้าพิจารณามากเกินไปก็กลับเป็นโทษได้ ทำให้กินอาหารไม่ได้ การพิจารณาปฏิกูลก็เพื่อแก้ปัญหา คือความยินดีในรูปในรสในกลิ่นในสีสันของอาหาร จะต้องเป็นชนิดนั้นชนิดนี้ ความจริงแล้วก็มีอยู่ ๔ รสเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใด มีเปรี้ยวหวานมันเค็มเป็นหลัก จะเป็นอาหารฝรั่ง อาหารจีน อาหารไทยอาหารแขก ก็เปรี้ยวหวานมันเค็มเหมือนกัน ทำหน้าที่เหมือนกัน ก็คือ ให้พลังกับร่างกาย ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าพิจารณามากเกินไปก็เท่ากับกินยามากเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้ยาขึ้นมาได้ คือกินข้าวไม่ลง พิจารณาปฏิกูลมากจนเกินไป ก็เลยกินไม่ลง ก็ต้องหยุดพิจารณา ถ้าถึงขั้นนั้นก็ต้องหยุด ต้องหันมาพิจารณาว่า เป็นการเติมดินน้ำลมไฟให้กับร่างกายเท่านั้นเอง หรือพิจารณาความสวยงามของอาหารบ้างก็ได้ เพื่อมาแก้กัน ถ้าพิจารณาจนเลยเถิดไป ก็ต้องย้อนกลับมาพิจารณาดูรูปรสสีสันที่น่ารับประทาน เพื่อคลายปฏิกูลสัญญาที่ทำให้กินไม่ลง  

 

การปฏิบัติจึงต้องมีครูบาอาจารย์ ผู้มีประสบการณ์ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ เวลาปฏิบัติจนเลยเถิดไป ไม่มัชฌิมา ไม่อยู่ในทางสายกลาง ถ้าไม่พิจารณาเลยก็หย่อนเกินไป พอเห็นอาหารปั๊บก็น้ำลายไหลอยากจะกิน อย่างนี้ก็หย่อนเกินไป แต่ถ้าพิจารณาปฏิกูลจนกินไม่ลงก็มากเกินไป ต้องให้พอดี คิดว่าเป็นการเติมน้ำมันให้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็กินได้ ก็จะแก้ปัญหาเรื่องอาหารได้ ไม่ต้องกังวลกับเรื่องอาหารอีกต่อไป ตอนเริ่มต้นอาจจะต้องคลุกอาหารไปก่อน เพื่อกำจัดความอยากในอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ อยากจะกินก๋วยเตี๋ยว อยากจะกินพิซซ่าอย่างนี้ พอปนทั้งก๋วยเตี๋ยวทั้งพิซซ่าเข้าไปในบาตร ก็ไม่มีพิซซ่าไม่มีก๋วยเตี๋ยวแล้ว มีแต่อาหารรวมมิตรอยู่ในบาตร กินกี่ครั้งๆก็เป็นอาหารรวมมิตร จนไม่ได้ไปนึกถึงอาหารชนิดนั้นชนิดนี้อีกต่อไป หลังจากนั้นแล้วก็ไม่ต้องไปคลุกก็ได้ กินแบบปกติ เพราะเรื่องอาหารไม่เป็นปัญหาแล้ว มีก็กิน ไม่มีก็ไม่เคยไปฝันถึง เรื่องของการปฏิบัติกับอาหารก็มีหลายวิธีด้วยกัน สำหรับอาตมาขนาดคลุกแล้ว ตอนเย็นๆบางทีก็ยังปรุงแต่ง คิดถึงอาหารชนิดนั้นชนิดนี้อยู่ โชคดีที่ได้ไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ที่มีการอดอาหารกัน พออดอาหารได้สัก ๓ วันแล้ว ก็จะไม่คิดถึงอาหารชนิดต่างๆเลย เพราะคิดก็ไม่ได้กิน จึงอดไปเรื่อยๆ  ครั้งละ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง อดวันเว้นวันบ้าง วันนี้ฉันพรุ่งนี้ไม่ฉัน ทำอยู่  ๒ ถึง ๓ ปี แต่ไม่ได้อดเพราะเรื่องอาหารอย่างเดียว อดเพราะช่วยการภาวนาให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกียจคร้าน ไม่ให้ง่วง จึงควรลองอดอาหารกันดูบ้าง ไม่ตายหรอก กระเพาะก็ไม่เสียด้วย แต่กิเลสจะร้องขึ้นมาว่า กระเพาะจะไม่เสียหรือ จะไม่เป็นโรคกระเพาะหรือ ถ้าอดแบบมีขอบมีเขตก็ไม่เป็นไร หลวงตาท่านบอกว่า ท่านอดจนท้องเสีย เพราะอดนานมาก อดทีละ ๑๐ วัน ๑๕ วันแล้วกลับมาฉันครั้งเดียว แล้วกลับไปอดใหม่ ท่านบอกว่าฉันอะไรเข้าไปตอนเช้าพอตอนสายก็ออกมาหมดเลย ท่านบอกว่าเสียร่างกาย แต่ได้ทางจิตใจ คุ้มค่ากับการลงทุน

 

เวลาปฏิบัติควรมุ่งไปที่จิตใจเป็นหลัก เสียกายไม่เป็นไร ถ้าเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้ความเป็นอิสระของใจ ได้หลุดพ้นจากกิเลสความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ เสียอย่างนี้เสียไปเถิด เพราะร่างกายสักวันหนึ่งก็ต้องตายไป แต่ใจไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย ถ้ายังไม่ได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสรภาพ ก็ยังต้องเป็นทาสอยู่ ไปเกิดชาติหน้าก็ยังต้องเป็นทาสอีก แต่ถ้ายอมสละร่างกายเป็นเดิมพัน จะเป็นจะตายอย่างไร จะลำบากอย่างไร ก็ไม่ถอย เพื่อทำลายความโลภความโกรธความหลงที่มีอยู่ในจิตใจ ทำอย่างนี้จะได้กำไร เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะชีวิตนี้มีไว้เพื่อทำประโยชน์นี้นั้นเอง เหมือนกับซื้อรถยนต์ขับเคลื่อน ๔ ล้อ สำหรับใช้ในป่าในเขา มาใช้ในบ้านในเมือง ไม่รู้จะซื้อมาทำไม ถนนก็ไม่ขรุขระ ต้องเอาไปลุยในป่าในเขาสิ รถชนิดนี้มีไว้ใช้อย่างนั้น ร่างกายของเราก็อย่างนั้น เป็นเหมือนรถขับเคลื่อน ๔ ล้อ ไว้สำหรับลุยกับกิเลส กับความโลภความโกรธความหลง แต่เรากลับเอาไปรับใช้กิเลส รับใช้ความโลภความโกรธความหลง แล้วเราจะได้อะไรจากการเกิดในแต่ละชาติ ก็ไม่ได้อะไร ยังตกเป็นทาสของกิเลส รับใช้กิเลสอยู่ เป็นวาสนาของพวกเราที่ได้พบพระพุทธศาสนา ที่ทำให้เรารู้ถึงหน้าที่ที่แท้จริงของร่างกายเรา ว่ามีไว้ทำอะไร ก็มีไว้เพื่อปลดเปลื้องจิตใจที่เป็นทาสของกิเลส ที่อยู่ภายใต้อำนาจของความโลภความโกรธความหลงอยู่นี้ ให้ได้รับอิสรภาพ ทุกขณะที่เราหายใจอยู่นี้ เราอยู่ภายใต้อำนาจของความหลงทั้งนั้น คืออวิชชาปัจจยาสังขารา อวิชชาเป็นตัวสั่งให้สังขารคิด ให้คิดแต่เรื่องลาภยศสรรเสริญสุข วันนี้จะไปเที่ยวไหนดี วันนี้จะไปกินอะไรที่ไหนดี แต่เรื่องไปปฏิบัติธรรมแทบจะไม่คิดกันเลย ส่วนพวกเราอาจจะมีคิดกันบ้าง เพราะได้สัมผัสได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้คิดไปทางวิชชาปัจจยาสังขารา วิชชาก็คือธรรมะคำสอนของครูบาอาจารย์ ที่คอยกระตุ้นให้คิดไปในทางบุญทางกุศล อย่างวันนี้เราก็คิดมาทำบุญกัน ถ้าไม่เคยสัมผัสกับศาสนาเลย วันนี้วันหยุดก็ต้องพาลูกไปเที่ยวกันเพราะเป็นวันเด็ก ไปเที่ยวไหนดี ไปกินที่ไหนดี ก็เป็นเรื่องของอวิชชาปัจจยาสังขาราทั้งนั้น พอไปแล้วก็จะเป็นตัณหาความอยาก เป็นอุปาทานความยึดติด เป็นภพเป็นชาติขึ้นมา พอตายไปจิตก็ยังไม่หยุด อวิชชาปัจจยาสังขารา ก็ส่งให้จิตไปเกิดใหม่

 

แต่ถ้าใช้ธรรมะปัจจยาสังขาราแล้ว ก็จะดับตัณหา ดับอุปาทาน ดับภาวะคือภพชาติ ก็จะไม่มีการไปไหนมาไหน จิตใจมีความสุขแล้ว ก็ไม่ต้องออกไปเที่ยว อยู่บ้านเฉยๆก็มีความสุข อยู่วัดก็มีความสุข ไม่ต้องออกไปแสวงหาความสุขภายนอก นอกจากมีธุระจำเป็น ไปเผยแผ่ธรรมะ แต่จะไม่ออกไปเหมือนอย่างพวกเรา ที่อยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ พอวันเสาร์วันอาทิตย์ก็คิดหาเรื่องทำแล้ว จะไปไหนดี อยู่บ้านแล้วอึดอัดใจ หงุดหงิดใจ ทั้งๆที่ไม่มีอะไรจะสบายเท่าการอยู่บ้าน ไม่ต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้เหนื่อย ห้องน้ำห้องท่าก็สะดวก ไม่ต้องไปเข้าแถวไปแย่งกัน อาหารก็มีเก็บไว้ในตู้เย็น ทำกินในบ้านแสนสบาย แต่ต้องออกไปดิ้นรนหาความสุขภายนอกบ้านกัน เพราะอยู่บ้านไม่ติด อยากจะเห็นรูปแปลกๆใหม่ๆ อยากจะได้ยินเสียงแปลกๆใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ เพราะใจอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภความโกรธความหลง จึงเป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา สังขารก็ปรุงให้ออกไปทางอายตนะ ไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไปสู่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไปสู่การสัมผัส แล้วก็เกิดเวทนา พอได้ออกจากบ้านแล้วเป็นอย่างไร มีความสุข ไปดูหนังฟังเพลง ไปกิน ไปเที่ยว ไปซื้อของฟุ่มเฟือย แล้วก็เกิดอุปาทานความยึดมั่น เกิดตัณหาความอยาก ต้องออกไปเรื่อยๆ ออกไปวันนี้แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องออกไปอีก ก็เป็นภาวะ จะต้องออกไปทำใหม่ เสาร์อาทิตย์นี้ไปเที่ยวที่นั่น เสาร์อาทิตย์หน้าก็ไปเที่ยวที่อื่นต่อ ก็จะไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนแก่ตาย  พอตายไปใจก็ไปเกิดใหม่ ไปเริ่มต้นทำอย่างนี้ใหม่ เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใช้ธรรมะมาเป็นตัวขับเคลื่อนสังขาร ธรรมะปัจจยาสังขารา ก็จะไปที่สงบที่สงัดที่วิเวก ที่ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่จะทำให้เกิดตัณหาขึ้นมา เกิดความอยากขึ้นมา ไปอยู่ตามวัดป่าวัดเขา ไปไหว้พระสวดมนต์ ไปฟังเทศน์ ฟังธรรมะของครูบาอาจารย์ ไปนั่งทำจิตให้สงบ เพื่อตัดตัณหาความอยาก ตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ตัดภาวะภพชาติที่จะตามมาต่อไป

 

นี่คือธรรมะปัจจยาสังขารา ถ้าเจริญมรรคอยู่เรื่อยๆ เจริญธรรมอยู่เรื่อยๆ ต่อไปธรรมะจะมีแรงมากกว่าอวิชชา ก็จะทำลายอวิชชาให้หมดไปจากจิตจากใจได้ พออวิชชาถูกทำลายหมดไป จิตก็กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมทั้งแท่ง ใจเป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่เลย จะคิดแต่เรื่องธรรมะ เรื่องของเหตุเรื่องของผล ไม่คิดอยากไปมีสมบัติข้าวของเงินทอง เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณ เป็นสังฆราช หรือเป็นอะไรทั้งสิ้น จะไม่มีอยู่ในจิตในใจ ไม่คิดอยากไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง ไปโน้นมานี่ ไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก ใจจะไม่คิด เพราะในใจมีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข ถ้าไม่มีความโลภความโกรธความหลงแล้ว ก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความอยาก ก็จะไม่ไปไหน อยู่บ้านสบายที่สุด อยู่วัดสบายที่สุด นี่คือการใช้ธรรมะมาปลดเปลื้องจิต ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ อย่าปล่อยให้ร่างกายเป็นทาสของกิเลส ด้วยการขับรถไปหาร้านเชลล์ชวนชิม ไปกินที่โน้นที่นี่ อาหารชนิดนั้นดี ชนิดนี้ดี บางคนอุตสาห์นั่งเครื่องบินไปกินอาหารที่ฮ่องกง ไปเช้าเย็นกลับ เพราะอวิชชาปัจจยาสังขาราพาไป ถ้าเป็นธรรมะปัจจยาสังขาราก็อยู่ที่บ้านทอดไข่เจียวกิน กินเสร็จจะได้นั่งสมาธิต่อ ไหว้พระสวดมนต์ปฏิบัติธรรม เราทำอยู่ปีหนึ่ง อยู่ในบ้านไม่ได้ไปไหน แต่ไม่ได้ทำอาหารกินเอง ไปกินที่ร้านเพราะมันสะดวก กินก๋วยเตี๋ยวชาม ข้าวผัดชาม ก็อิ่มแล้ว ก็อยู่ได้วันหนึ่ง เช้าตื่นขึ้นมาก็นั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิก็เดินจงกรม ให้มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะเข้าห้องน้ำ จะแปรงฟันก็อยู่ตรงนั้น จะทำอะไรก็อยู่ตรงนั้น

 

แล้วก็เดินจงกรม พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดา พิจารณาไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะไม่วิตกกับความแก่ความเจ็บความตาย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ดีอกดีใจเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นมาตอนเช้า ไม่ได้เสียอกเสียใจเวลาที่ตกลงไปตอนเย็น เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ใจรับรู้ ร่างกายก็เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ใจรับรู้เช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่ใจไปยึดติดร่างกายว่าเป็นตัวเราของเรา เพราะความหลงหลอกให้ไปยึด ถ้าแก้ตรงนี้ได้แล้ว ร่างกายก็จะเป็นเหมือนดวงอาทิตย์ จะขึ้นจะตก ใจก็เฉยๆ ร่างกายจะเป็นจะตาย ใจก็เฉยๆเหมือนกัน เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดว่าเป็นตัวเราของเรานั่นเอง นี่คือสิ่งที่เราต้องพยายามฝึกสอนตัวเรา ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นการเปลี่ยนแปลงของดินน้ำลมไฟ เป็นการรวมตัวกันเข้ามาแล้วก็แยกออกไป ไม่มีอะไรที่รวมตัวกันแล้วจะอยู่ไปได้ตลอด แม้กระทั่งศาลาหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน สักวันหนึ่งก็จะเสื่อมลงไป ผุพังลงไป แยกจากกันไป ศาลาหลังนี้ก็จะหายไป ถ้าไม่ยึดไม่ติด ก็ไม่เสียอกเสียใจ แต่ถ้ายึดติดก็จะเสียใจ พูดถึงศาลาก็มีเรื่องยึดติดให้ฟังเรื่องหนึ่ง ศาลาหลังนี้สร้างเมื่อปี ๒๕๒๖ มีท่านอาจารย์จากวัดถ้ำกลองเพลงเป็นหัวหน้าพระที่วัดญาณฯ ท่านเห็นว่าที่บนเขาเป็นที่สงบสงัดวิเวกดี ก็เลยปรารถนาขึ้นมาทำสถานที่ปฏิบัติ ก็ขออนุญาตผู้หลักผู้ใหญ่ พอดีมีญาติโยมรื้อบ้านแล้วเอาไม้มาถวายวัด ท่านก็เลยชวนญาติโยมแบกไม้ขึ้นมาสร้างศาลาและกุฏิ สมัยนั้นไม่มีถนนขึ้นมา เป็นทางเดินป่า ก็ต้องแบกไม้ขึ้นมาอย่างลำบากลำบน เพื่อมาสร้างกุฏิและศาลาหลังนี้

 

พอสร้างเสร็จได้ไม่กี่เดือน สมเด็จพระสังฆราชก็รับเสด็จในหลวง ทรงสนทนาธรรมกันบนศาลาหลังนี้ พวกคุณหญิงคุณนายที่ติดตามมา ก็เห็นว่าศาลาหลังนี้ไม่เหมาะ ไม่สมพระเกียรติเลย ก็เลยอยากจะรื้อแล้วสร้างใหม่ พอพวกชาวบ้านที่ช่วยสร้างรู้เข้าก็ขู่ว่า ถ้าจะรื้อก็จะไม่ใส่บาตรพระ พอสมเด็จฯทราบก็เลยห้ามไม่ให้รื้อ ก็เลยเก็บรักษามาจนถึงปัจจุบันนี้ ศาลาหลังนี้มีทั้งในหลวง มีสมเด็จพระสังฆราช มีหลวงตาได้มาใช้แล้ว เป็นศาลาที่มีความเป็นมงคลอยู่มาก มีบุคคลสำคัญทั้งทางโลกและทางธรรมได้มาเยี่ยมเยียน ก็เลยรักษามา มีคนมาขอสร้างให้ใหม่หลายคน แต่สร้างใหม่ไม่ได้ เดี๋ยวพระไม่มีข้าวกิน ตอนหลังชาวบ้านก็บอกไม่เป็นไร จะรื้อก็รื้อได้ เขาไม่ว่าอะไรแล้ว แต่ตอนนั้นมันเสียความรู้สึก เพราะอุตส่าห์แบกไม้กันขึ้นมาอย่างลำบากลำบน สร้างได้เพียงไม่กี่เดือนก็จะไปรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ นี่ก็เป็นเรื่องของศาลาหลังนี้ พอมีใครไปยึดติดแล้ว ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาทันที แต่ถ้าไม่ยึดติดก็ไม่เป็น ใครจะรื้อก็รื้อไป สร้างใหม่ก็ดี ถ้าพูดตามความจริง จะสร้างให้อย่างถาวรเลย ก็น่าจะดีกว่า ถ้าเป็นวัดอื่นก็คงจะดีใจกัน มารื้อกระต๊อบแล้วสร้างเป็นตึกให้ใหม่ แต่ที่นี่ชาวบ้านเขายึดติด ที่ต้องลำบากลำบนขนไม้ขึ้นมาสร้างกัน ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเลย เป็นป่าล้วนๆ คืนแรกพระอาจารย์มาปักกลดอยู่คนเดียวก่อน มาเปิดทางก่อน ท่านก็เล่าว่าพอนั่งสมาธิ ก็มีชายร่างใหญ่ๆดำๆโผล่มา ถือไม้กระบองจะไล่ท่านไป ท่านก็บอกว่าท่านไม่ได้มาขับไล่ไสส่งใคร ไม่ได้มามีเรื่องมีราวกับใคร มาบำเพ็ญสมณธรรม หาความสงบ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เขาก็เดินหนีไป พอคืนที่สองก็มาอีก ทีนี้เขามาแบบมีไมตรีจิต บอกท่านว่าถ้ามาอยู่แบบนี้ก็มาได้ แล้วเขาก็กลับไป พระเณรจึงได้ขึ้นมาอยู่กัน แต่ก็แปลกนะ มีบางคนมาอยู่แล้วอยู่ไม่ได้ มาอยู่แล้วบอกเจออะไรไม่ทราบ อยู่คืนหนึ่งแล้วเปิดเลยก็มี

 

เมื่อวันปีใหม่ก็มีฆราวาสมาขออยู่ อยู่ได้คืนหนึ่งก็เจอเหมือนกัน มาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร ก็แผ่เมตตาให้เขาไป ขออนุญาตเขา เขาเป็นเจ้าที่เจ้าทาง ไม่ทำอะไรหรอก ก็จะลองอยู่อีกคืนหนึ่ง แต่พอตกเย็นก็ไม่กล้าอยู่กลับไปก่อน ถ้าขึ้นมาแล้วตั้งใจปฏิบัติก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถ้ามาแล้วจิตใจไม่สงบคิดมาก อาจจะเป็นอุปาทานก็ได้ แต่กับเราไม่เห็นมีอะไร เหมือนคนหูหนวกตาบอด มาอยู่ตั้ง ๒๐ ปีแล้ว ไม่เคยเห็นอะไร ไม่เคยมีใครมาขับมาไล่เลย อาจจะเป็นเพราะไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ก่อสร้างอะไรที่ไม่จำเป็นเลย แต่พอมีความจำเป็นต้องการอะไร มันก็มาเอง ตอนแรกทางเดินไม่ได้เป็นปูนซิเมนต์ เป็นทางดิน ตอนหน้าฝนดินมันเหนียว เวลาเดินดินจะติดกับรองเท้าหนาปึ้กเลย แล้วก็ลื่นด้วย ก็เลยปรารภอยู่ในใจว่าน่าจะทำทางเดินปูนซิเมนต์ ไม่นานก็มีคนมาถามว่าต้องการอะไรไหม กุฏิมีพอใช้ไหม ก็บอกเขาไปว่า มีกุฏิพอเพียงอยู่ แต่สิ่งที่ขาดก็คือทางเดินหน้าฝนลำบาก ทางเดินจะกลายเป็นร่องน้ำ เป็นเหมือนลำธารเลย เวลาฝนตกจะเดินลำบาก พระเณรต้องลงแต่เช้ามืด เดินลำบากมาก ก็เลยอยากจะทำทางเดินเป็นปูนซิเมนต์ เขาก็เลยบอกว่าให้พิจารณาดูว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ พอบอกเขาไป ก็เขียนเช็คมาให้เลย อย่างพวกแท้งค์น้ำก็เหมือนกัน เวลาที่สร้างกุฏินี่ คนสร้างไม่รู้ว่าแท้งค์น้ำมีความจำเป็นมาก ก็จะมีแท้งค์น้ำให้ลูกเดียว น้ำก็จะไม่พอใช้ ก็ปรารภอยู่ในใจว่าน่าจะมีสัก ๓ ใบต่อหนึ่งหลัง ไม่นานก็มีคนเอาแท้งค์น้ำมาถวาย จนมีเกือบทุกกุฏิ

 

ถาม  ท่านอาจารย์ไม่ปรารภอีกหรือค่ะ

 

ตอบ  พอไม่ปรารภก็ไม่มี เพราะไม่อยากจะยุ่งวุ่นวาย เรื่องมาก ทำลายการบำเพ็ญปฏิบัติ ทำลายความสงบ ก็เลยไม่ค่อยอยากจะทำเรื่องภายนอกเท่าไหร่

 

ข้างบนเขานี้เป็นที่ปลีกวิเวก ไม่ทำกิจร่วมกัน ไม่ได้ไหว้พระสวดมนต์ร่วมกัน ให้ถือการภาวนาเป็นการบูชา เป็นปฏิบัติบูชา เป็นการทำวัตร เหมือนกับตอนที่อยู่ที่วัดป่าบ้านตาด จะรวมกันเฉพาะเวลาหลวงตาเรียกประชุมเท่านั้นเอง นอกจากนั้นแล้วพระจะไม่มารวมกัน ท่านต้องการให้แยกกัน ให้ปลีกวิเวก ต่างคนต่างภาวนา ต่างคนต่างบำเพ็ญ ถ้าท่านเห็นกุฏิไหนมีรองเท้าอยู่ ๒ คู่ ๓ คู่ ก็จะโดนเลย เวลาจะเยี่ยมกัน ต้องซ่อนรองเท้ากัน เวลาคุยกันก็ต้องไม่ให้มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากกุฏิเลย แต่เราไม่ชอบไปคุยกับใคร อยู่ตามลำพังที่กุฏิ นานๆถ้ามีธุระจำเป็นจริงๆก็ไปพูดไปคุยบ้าง ส่วนใหญ่จะพูดคุยกันตอนที่ยังไม่มืด ตอนร่วมทำกิจวัตรกัน ส่วนใหญ่จะไม่ไปไหน ไปทำกิจที่ศาลาเสร็จแล้วก็กลับมาก็อยู่ที่กุฏิ หรือไปภาวนาเดินจงกรมอยู่ในป่า อยู่คนเดียวแสนจะสุขแสนจะสบาย เวลาบำเพ็ญจนจิตสงบแล้ว จะไม่อยากยุ่งกับใคร จิตสงบเป็นเหมือนกับน้ำนิ่ง พอไปพูดไปคุยกับใคร ก็ทำให้กระเพื่อม จิตก็จะไม่ใส ไม่สดชื่น ไม่สุข ทำให้เสียเวลาด้วย เพราะนอกจากการทำจิตให้สงบแล้ว ยังมีงานสำคัญกว่านั้นอีก คือการเจริญปัญญา พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในขันธ์ ๕ ในเบื้องต้นต้องพิจารณากายอยู่เรื่อยๆก่อน ให้เห็นว่าไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย เป็นปฏิกูลเป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง มีแต่ผลิตของเสียออกมา ต้องเข้าห้องน้ำปัสสาวะอุจจาระ มีเหงื่อไคล ต้องคอยอาบน้ำชำระอยู่เรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นก็จะส่งกลิ่นเหม็น ถ้าไม่พิจารณาก็จะไม่เห็นกัน ก็จะหลงยึดติดกับร่างกาย ของคนนั้นของคนนี้ อยากจะมีแฟน อยากจะมีสามี อยากจะมีภรรยา แต่ถ้าพิจารณาเห็นความเป็นปฏิกูล เห็นความเป็นอสุภะไม่สวยงามแล้ว ก็จะคลายความหลง มีแต่โครงกระดูก มีแต่หนังหุ้มกระดูก แล้วก็ไม่เที่ยงด้วย สวยวันนี้หล่อเหลาวันนี้ ไม่นานก็เริ่มแก่ ผมก็ขาวหนังก็เหี่ยว ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องจากกันไป มีแต่ความทุกข์ตลอดเวลา ความสุขที่ได้ก็เพียงเล็กๆน้อยๆ เพราะใจอ่อนแอ ไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ ต้องพึ่งคนนั้นต้องพึ่งคนนี้ จึงต้องไปทุกข์กับคนนั้นทุกข์กับคนนี้ ไม่คุ้มค่าเลย

 

สิ่งแรกที่พระอุปัชฌาย์สอนพระบวชใหม่ให้พิจารณา ก็คือร่างกาย พิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ  ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการ ๕ อย่างนี้เรียกว่ากรรมฐาน ๕ เป็นวิชาความรู้เบื้องต้นเลยที่พระบวชใหม่จะต้องเรียนรู้ก่อน ถ้าอุปัชฌาย์รูปใดไม่สอนกรรมฐาน ๕ ก็จะถูกปรับอาบัติ เพราะไม่ทำหน้าที่ของอุปัชฌาย์อย่างสมบูรณ์ เพราะการพิจารณาร่างกายเป็นการปกป้องจิตใจ เป็นการต่อสู้หรือกำจัดราคะความกำหนัดยินดีในกาม ที่บวชแล้วอยู่ไม่ได้กัน ก็เพราะไม่ได้พิจารณากรรมฐาน ๕ ไม่ได้พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย ไม่ได้พิจารณาอสุภะ พอไม่ได้พิจารณา เวลาเห็นอะไรก็จะสวยงามไปหมด ยิ่งคิดยิ่งสวย ผ้ายิ่งร้อนขึ้นไปใหญ่ จนอยู่ในผ้าเหลืองไม่ได้ จิตใจรุ่มร้อน ก็ต้องลาสิกขาไป แต่ถ้าได้พิจารณาตั้งแต่วันบวชเลย ว่าร่างกายมีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง พิจารณาไปทั้งอนุโลมและปฏิโลม จนติดอยู่ในใจ ต่อจากนั้นก็พิจารณาอาการอื่นๆ ดูใต้ผิวหนังว่ามีอะไรบ้าง ก็มีเอ็น มีกระดูก มีเนื้อ มีอวัยวะต่างๆ มีหัวใจ มีตับ มีปอด มีลำไส้ มีเยื่อในสมอง ฯลฯ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา ต้องใช้เวลามาก ต้องอาศัยความวิเวกมาก ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอื่นปั๊บ ก็จะถูกกลบไปทันที พอออกไปทำกิจอื่นก็จะไม่มีเวลาพิจารณาเลย ยกเว้นจิตที่แข็งจริงๆ มีความชำนาญในการพิจารณาอยู่แล้ว ก็พิจารณาควบคู่ไปกับการทำกิจวัตรได้ เช่นปัดกวาดไปก็ยังพิจารณาดูอาการ ๓๒ ได้ หรือพิจารณาอาการใดอาการหนึ่งที่ถนัดได้

 

มีพระรูปหนึ่งท่านถนัดในการพิจารณาโครงกระดูก มองไปทางไหนก็เห็นแต่โครงกระดูก ไม่เห็นคน มองไปทีไรจะลงไปใต้ผิวหนัง ลงไปที่โครงกระดูกเลย พอมีคนวิ่งตามหาคนผ่านมา ถามว่าเห็นคนๆนั้นผ่านมาทางนี้ไหม ท่านบอกไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูกวิ่งไปเมื่อกี้นี้ นี่คือการพิจารณาเพื่อกำจัดกามฉันทะหรือกามราคะ ความยินดีในกาม ความกำหนัดยินดีในรูปร่างหน้าตา อยากได้มาเป็นคู่ครอง ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วใจจะเย็นสบาย ในที่สุดก็จะปล่อยวางได้ ก็หมดไปเปราะหนึ่ง เรื่องของร่างกายก็หมดปัญหาไป จะไม่หลงยึดติดกับร่างกายของตนหรือของผู้อื่น รู้ว่าเป็นอนิจจังทุกขัง รู้ว่าเป็นอสุภะ เป็นแค่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่มีตัวไม่มีตน ต้องใช้เวลามากในการพิจารณา ต้องใช้ความสงบมาก ต้องไม่มีเรื่องอื่นๆมารบกวน ถ้าพิจารณาเป็นจะเดินจงกรมได้ทั้งวันเลย บางท่านเดินจนฝ่าเท้าแตก หลวงตาท่านก็เดินจงกรมจนฝ่าเท้าเกือบแตก เวลาลูบเท้าแล้วรู้สึกเสียว บางท่านเดินพิจารณาจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน จนตาเสียไปเลย เช่นพระจักขุบาล เพราะเวลาพิจารณาธรรมะแล้วจิตจะหมุนติ้วเลย เหมือนกับรถยนต์ที่วิ่งลงเขา จะหยุดก็ตอนที่เข้าใจแล้ว ปล่อยวางได้แล้ว ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป เหมือนการพิจารณาปฏิกูลในอาหารก็เหมือนกัน เมื่อหมดปัญหาแล้วก็ไม่ต้องพิจารณาอีก ไม่ต้องคลุกอาหาร กินอย่างไรก็ได้ การพิจารณาอสุภะก็เหมือนกัน เมื่อปล่อยวางได้แล้ว ไม่มีความกำหนัดยินดีแล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป ต่อให้สวยงามขนาดไหนก็ตาม

 

เป็นผลที่เกิดจากการพิจารณา อาศัยสมาธิเป็นที่พักจิต ที่เติมพลัง เพราะเมื่อพิจารณาไปสักระยะหนึ่งแล้วจิตก็จะเหนื่อยล้า เหมือนกับมีด ถ้าใช้ไปเรื่อยๆก็จะทื่อ การพิจารณาก็จะไม่แยบคาย ก็ต้องหยุดพักในสมาธิ กลับมาทำจิตให้สงบ ถ้าเคยสงบด้วยพุทโธๆก็พุทโธๆไป จิตสงบนิ่งได้นานเท่าไหร่ก็ปล่อยให้นิ่งไป เหมือนกับการพักผ่อนหลับนอนกินอาหาร พอจิตได้พักผ่อนเต็มที่แล้วก็จะถอนออกมาเอง ก็กลับไปพิจารณาใหม่ ก็จะเห็นชัดขึ้นเข้าใจดีขึ้นไปเรื่อยๆ การเจริญปัญญาและสมาธิจึงเป็นของคู่กัน ขาดกันไม่ได้ ต้องทำสลับกันไป เหมือนกับการเดิน ต้องใช้ทั้ง ๒ เท้าเดิน เท้าซ้ายและเท้าขวาสลับกันก้าว ถ้ามีเท้าเดียวก็จะเดินลำบาก ลองเดินเท้าเดียวดูซิ ก็ต้องกระโดดไปทีละก้าวๆ ถ้ามี ๒ เท้าก็จะเดินไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าทำสมาธิอย่างเดียวไม่เจริญปัญญาเลย ก็จะตัดกิเลสไม่ได้ สมาธิเพียงแต่กันกิเลสไม่ให้ทำงานเวลาที่จิตสงบ พอจิตออกจากสมาธิกิเลสก็จะทำงานทันที ถ้าเจริญปัญญาอย่างเดียวไม่ทำสมาธิเลย ก็จะไม่มีกำลังตัดกิเลส รู้ว่าไม่ดี รู้ว่าไม่สวย แต่พอเห็นเข้าก็ยังอยากได้ยังอยากทำ คนดื่มสุราก็รู้ว่าไม่ดี รู้ว่าเป็นโทษ ทำให้เมา ทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม แต่พอเห็นขวดเหล้าแล้ว ก็ไม่มีกำลังที่จะหยุด ต้องหยิบมาดื่มจนได้ ถ้ามีสมาธิแล้ว จิตจะนิ่ง มีความอิ่ม ก็จะไม่หิวกับอะไร ก็จะหยุดดื่มได้ ถ้ายังไม่ได้พิจารณาก็ยังไม่เห็นโทษของการดื่มสุรา ก็จะไม่หยุดดื่ม ถ้าไม่คอยเบรกไว้ ความอยากก็จะดึงให้กลับไปดื่มอีก จึงต้องพิจารณาด้วยปัญญา เป็นการถอนรากถอนโคนของกิเลส ท่านเปรียบเทียบไว้ว่าสมาธิเหมือนกับหินทับหญ้า ทำให้หญ้างอกขึ้นมาไม่ได้ พอยกเอาหินออก หญ้าก็งอกขึ้นมาใหม่ เพราะไม่ได้ถอนรากถอนโคน แต่ถ้าได้ถอนรากถอนโคนแล้ว ไม่ต้องเอาหินไปทับก็ได้ เมื่อไม่มีรากแล้วหญ้าก็จะเจริญขึ้นมาไม่ได้อยู่ดี

 

กิเลสก็เหมือนกัน ถ้าถูกถอนรากถอนโคนด้วยปัญญาแล้ว ก็จะโผล่ออกมาไม่ได้ รากของกิเลสคืออะไร ก็คือความหลงนี้เอง เห็นผิดเป็นชอบ ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นอนิจจังเป็นนิจจัง เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงเป็นของเที่ยง เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนเป็นตัวตน จึงต้องพิจารณาให้เห็นว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีตัวตน เพื่อจะได้ไปทำลายความหลง เมื่อไม่มีความหลงแล้ว ความโลภก็จะไม่มี เมื่อรู้ว่าสิ่งที่อยากได้มาให้ความทุกข์กับเรา มีใครอยากจะได้บ้าง เมื่อรู้ว่าได้มาแล้วต้องเสียมันไป แต่เราไม่คิดอย่างนั้นกัน เราชอบคิดว่าได้มาแล้วจะอยู่กับเราไปตลอด จะให้ความสุขกับเราไปตลอด จะเป็นของเราไปตลอด แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น บางทีได้มาแล้วก็ถูกขโมยไป ถูกคนอื่นแย่งไป แล้วก็มาร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ถ้ายังอยู่ก็กังวลว่าจะจากไปเมื่อไหร่เหมือนหุ้นจะตกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไม่คิดหรือว่ามันไม่เที่ยง ขึ้นได้ก็ลงได้ อย่าคิดว่าต้องขึ้นอยู่เรื่อย พอลงแล้วก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียอกเสียใจ แล้วก็บ่นกันใหญ่เลย

 

ถาม  ท่านอาจารย์ค่ะ มีปัญหาฝากมาถามว่า ในการพิจารณาอสุภะนี้ ต้องตั้งเป็นรูปขึ้นมา เหมือนนิมิตที่เกิดในสมาธิหรือไม่

 

ตอบ  ถ้ามองไม่เห็นก็ต้องสร้างมันขึ้นมา ไปดูการผ่าศพก่อนก็ได้ ไปดูที่งานศพก็ได้ อย่างอาตมาตอนไปอยู่ใหม่ๆก็ไปสวดงานศพ ชาวบ้านทางอีสานเวลาเผาศพ จะไม่มีโลงไม้ปิดมิดชิด จะเป็นโลงกระดาษแปะโครงไม้ ไม่มีฝา เวลาเผา ก็ตั้งบนกองฟืน เอาไม้ ๒ ท่อนทับโลงไว้ เวลาไฟเผาร่างกายจะดีดขึ้นมา ก็ไปพิจารณาดูคนตายอยู่เรื่อยๆ ถ้านึกภาพไม่ออกก็ต้องไปดูของจริง ดูของจริงแล้วก็เอามาคิดเอามาเจริญอยู่เรื่อยๆอยู่ในใจ ว่าสักวันหนึ่งร่างกายเราก็ต้องเป็นอย่างนี้

 

ถาม  ถ้าไม่เห็นด้วยตาใน

 

ตอบ  สมัยนี้มีหนังสือเปิดดูได้ หรือจะไปดูที่วัดบวรฯ ก็มีพิพิธภัณฑ์ เอาเด็กดองอยู่ในขวด แล้วก็มีภาพอสุภะให้ดู หรือไปดูการผ่าศพที่โรงพยาบาลศิริราชหรือโรงพยาบาลตำรวจก็ได้ 

 

ถาม  ในเวปไซด์ก็มี

 

ตอบ  ต้องรู้ว่าดูเพื่ออะไร ถ้ายังไม่รู้เรื่อง ก็จะไม่เข้าใจว่าดูไปทำไม เพราะเป็นเหมือนยาขม เหมาะกับคนที่ต้องการจะละ ต้องการถือศีล ๘ ไม่อยากครองเรือน เช่นนักบวช ก็จะมีประโยชน์ ผู้ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติก็อาจจะไม่เหมาะ ควรทำจิตให้สงบก่อน แล้วค่อยพิจารณา จึงจะเห็นคุณค่าของการเจริญปัญญา ว่าช่วยรักษาใจให้สงบระงับจากความโลภความยินดีต่างๆได้ เวลามีความกำหนัดยินดีในกาม จะทรมานใจ อยู่ไม่เป็นสุข ก็อยากจะกำจัด ถึงตอนนั้นก็จะเหมาะกับการพิจารณาอสุภะ ธรรมะแต่ละขั้น ถ้าใช้ผิดขั้นตอนก็ทำให้เสียได้ คือสติแตก หรือหมดศรัทธา เพราะใช้ยาแรงกว่าจะรับได้ ยังไม่อยู่ในขั้นที่จะใช้ยานั้น ก็อย่าเพิ่งใช้ ในเบื้องต้นจึงควรทำบุญทำทาน ลดละการยึดติดในสมบัติข้าวของเงินทองก่อน รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ทำจิตให้สงบ แล้วค่อยเจริญปัญญา

 

ถาม  ถ้ากรณีเกิดเป็นสีสันในบางครั้งเจ้าค่ะ

 

ตอบ  จะเป็นอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

 

ถาม  ของลูกนี่บางครั้งเห็นเป็นสีสัน บางครั้งก็เป็นขาวดำ

 

ตอบ  เป็นอย่างไรก็ได้ ขอให้ตัดกิเลสได้ก็ใช้ได้ บางทีไม่เห็นเป็นภาพเพียงแต่นึกปั๊บก็รู้ ก็ใช้ได้ บางคนเก่งทางนิมิตก็จะมีอุคหนิมิตปรากฏขึ้นมาเป็นภาพแล้วก็หายไป ก็ควรพยายามรักษาภาพนั้นให้ตั้งอยู่นานๆ เช่นเห็นอสุภะ เห็นวับแล้วก็หายไป ก็พยายามดึงกลับมา ให้ตั้งอยู่นานๆ เมื่อตั้งได้แล้ว ขั้นต่อไปก็ให้แยกเป็นส่วนๆ เรียกว่าปฏิภาคนิมิต คนที่มีจริตทางนี้ก็จะเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ต้องกังวล ขอให้นึกได้ก็ใช้ได้เหมือนกัน พอนึกถึงความไม่สวยไม่งามความกำหนัดยินดีก็จะถอยไป เหมือนนึกถึงคนนั้นคนนี้ ก็รู้ว่าเป็นใคร แต่ไม่เห็นเป็นภาพ

 

ถาม  การพิจารณาเป็นส่วนๆนี้หมายความว่า ถ้าเห็นภาพแล้วก็แยกเป็นส่วนๆออกมา

 

ตอบ  การแยกส่วนนี้เพื่อให้เห็นว่าไม่มีตัวตนในร่างกาย เป็นเพียงอวัยวะต่างๆ เหมือนรถยนต์ ถ้าแยกออกมา ก็จะมีแค่ชิ้นส่วนต่างๆ ไม่มีตัวรถยนต์

 

ถาม  แยกจนเห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟอย่างนั้นหรือเปล่าครับ

 

ตอบ  ในที่สุดก็ต้องลงไปตรงนั้น เวลาแยกอาการ ๓๒ ก็ไล่ถามไปว่า ตัวตนอยู่ตรงไหน อยู่ที่ผมหรือ อยู่ที่ขนหรือ อยู่ที่เล็บหรือ อยู่ที่ฟันหรือ ฟันก็ไม่มีตัวตน ขนก็ไม่มีตัวตน เล็บก็ไม่มีตัวตน หนังก็ไม่มีตัวตน อวัยวะทั้ง ๓๒ ก็ไม่มีตัวตน แล้วตัวตนอยู่ตรงไหน ก็อยู่ที่ความหลงสมมุติขึ้นมานั่นเอง

 

ถาม  พระอาจารย์ค่ะ เผอิญมีน้องคนหนึ่ง เขาฝันว่าตัวเองตาย เขาคิดเป็นจริงเป็นจังแล้วไม่สบายใจ ยังรับความตายไม่ได้ ควรทำอย่างไร ทุกอย่างยังไม่ได้ทำให้เรียบร้อย การงานก็ยังไม่เรียบร้อย เลยเป็นห่วงกังวล แต่เขาก็ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้มากๆ ขอให้พระอาจารย์อธิบายให้เขาฟังนิดหนึ่งค่ะ เขาไม่สบายใจค่ะ

 

ตอบ  ถ้ารับความตายไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปพิจารณา พยายามเจริญสมาธิให้มาก ให้จิตสงบก่อน แล้วค่อยพิจารณา การปฏิบัติของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ต้องเจริญสมาธิก่อน ให้จิตมีกำลังที่จะรับกับการพิจารณา ถ้าจิตรวมลงแล้วจะรับได้ จะรู้ว่าจิตไม่ใช่ร่างกาย แต่ถ้ายังไม่รวมลง ก็จะคิดว่าตัวเองจะตาย เพราะคิดว่าร่างกายเป็นตน ก็เลยกลัว

 

ถาม  เขาบอกว่าเขาใช้วิธีวิปัสสนา

 

ตอบ  ถ้าเจริญวิปัสสนาโดยไม่เจริญสมาธิเลยก็จะเป็นอย่างนี้ จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะสมาธิเป็นฐานของวิปัสสนา นอกจากใช้วิปัสสนาเพื่อทำจิตให้สงบให้เป็นสมาธิ ที่เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้วจึงค่อยพิจารณากาย พิจารณาอสุภะ ถึงจะก้าวไปได้

 

ถาม  อสุภะนี่ใช้วิธีลอกออกไปเป็นส่วนๆ

 

ตอบ  ก็ได้ ทำให้เกิดความขยะแขยงรังเกียจ ไม่ยินดี

 

ถาม  ลูกเคยทำจนจิตหลุดไป

 

ตอบ  น่าจะเป็นเพราะยังไม่มีสมาธิ มีแต่กำหนดดูด้วยสติไปเรื่อยๆ แล้วก็พิจารณาไป จิตยังไม่มีฐาน ไม่รวมลงสู่ฐาน ต้องทำให้ลงสู่ฐานก่อน ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง การกำหนดดูด้วยสติช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่พอ ต้องให้จิตรวมลงสู่ฐานถึงจะมีกำลัง จะลงได้ก็ต้องเจริญสมถภาวนา ถ้าไม่ชอบนั่งหลับตาบริกรรมพุทโธๆ ก็ต้องไปอยู่ที่กลัวๆ แล้วไปพบอะไรแรงๆ ถ้ามีสติดีจิตก็จะรวมลงเลย เหมือนหลวงปู่ชอบตอนที่เดินไปจ๊ะเอ๋กับเสือโคร่ง ท่านมีสติอยู่ตลอดเวลา พอเห็นเสือโคร่งปั๊บ แทนที่จะตื่นตระหนกกลัว จิตกลับวุ้บลงไปสู่ความสงบเลย ปล่อยวางร่างกาย หายไปหมดเลย ทั้งร่างกายทั้งเสือก็หายไป เหลือแต่จิตล้วนๆ ยืนอยู่ตรงนั้นตั้งนานโดยไม่รู้สึกว่านาน พอถอนออกมาก็เห็นเทียนที่จุดไว้ในโคมไฟได้ไหม้หมดไปแล้ว ถ้าไม่ชอบนั่งหลับตาพุทโธๆ ก็ต้องไปอยู่ที่เปลี่ยวๆกลัวๆ เวลาไปพบอะไรแรงๆเข้า จะเป็นกระตุ้นให้จิตรวมลง ถ้าไม่รวมลงก็เป็นบ้าไปเลย มีรายหนึ่งที่ในวงกรรมฐานเล่ากันว่า อยากจะเป็นเหมือนหลวงปู่ชอบ อยากจะไปเจอเสือ พอไปเจอเสือจริงๆแล้วภาวนาไม่ได้ จิตใจสั่นไปหมด พอได้ยินเสือใกล้เข้ามาก็วิ่งเข้าหมู่บ้านเลย พอเจอคนในหมู่บ้านก็พูดไม่เป็นภาษาเลย ถ้าอย่างนี้ก็อย่าพึ่งไป เพราะสติยังไม่แก่กล้าพอ การปฏิบัติจึงต้องรู้กำลังของตน ไม่ใช่เห็นคนอื่นทำได้ก็จะทำบ้าง ต้องค่อยๆไปทีละขั้น ถ้ากลัวก็ให้อยู่ในกุฏิก่อน พอหายกลัวแล้วก็ให้ออกมาอยู่ข้างนอกกุฏิ ออกมานั่งที่ศาลา หรือเข้าไปอยู่ในป่าลึกๆ ต้องขยับไปทีละขั้น

 

ถาม  ในการเจริญสติวิปัสสนา ก็คือการตามรู้เท่ารูปนามใช่ไหมเจ้าค่ะ

 

ตอบ  เป็นการฝึกตั้งสติมากกว่า

 

ถาม  ถ้าเป็นสติก็จะเห็นเพียงกายกับใจที่เคลื่อนไหวอยู่ คือจะไม่เห็นในรูปของความตายที่เป็นนิมิต แสดงว่าการทำแบบนี้เป็นสมถะเท่านั่นเอง แต่เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา

 

ตอบ  เป็นวิปัสสนาแบบหยาบๆ ถ้าเห็นการเปลี่ยนแปลงของกาย เห็นการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ต่างๆ แต่ยังไม่พอ เพราะเป้าหมายของการเจริญ อยู่ที่การกำจัดความโลภความโกรธความหลง เพื่อให้รับกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เช่นร่างกายจะตายวันนี้จะรู้สึกเฉยๆได้หรือไม่ จะรับได้หรือไม่ อยู่ที่ตรงนี้ ตอนนี้เราก็รู้ว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย แต่ยังเป็นทฤษฎีอยู่ ยังไม่ได้เจอของจริง แต่ถ้าหมอบอกว่ามีเวลาอยู่ ๓ เดือน จะรับได้ไหม จะรู้สึกเฉยๆได้ไหม ถ้าได้ก็แสดงว่าได้ผล แต่ถ้าไม่ได้ก็แสดงว่ายังไม่ได้ผล จึงต้องไปพิสูจน์กับของจริง เวลาปฏิบัติอยู่ในบ้านเหมือนกับชกต่อยกับกระสอบทราย ไม่เหมือนชกต่อยบนเวที แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็นการฝึกสติไว้ควบคุมจิตใจ เพื่อเป็นฐานของปัญญา ที่เห็นว่ามีการเกิดดับๆ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะรับกับความจริงนี้ได้หรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ดู รู้ทางทฤษฎีว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย ก็ต้องพิสูจน์ดูว่าปล่อยวางได้หรือไม่ ถ้าปล่อยได้ ไปอดข้าวในป่า อยู่วัดป่า ๓ วันไม่ต้องกินข้าวก็ได้ ไปนอนที่ไหนก็ได้ ให้นอนที่ไหนก็นอนได้ ให้อยู่ในป่าช้าก็อยู่ได้ ถึงจะพิสูจน์ได้ว่าการปฏิบัติได้ผลหรือไม่

 

ถาม  จริงๆแล้วควรเจริญทั้งสมาธิทั้งปัญญาควบคู่กันไปใช่ไหมค่ะ

 

ตอบ  ทำสลับกันไป ถ้าสมาธิยังไม่เต็มที่ ปัญญาจะทำงานไม่ได้ผลเต็มที่ สมาธิจะเต็มที่ได้จิตต้องรวมลง เหลือเพียงแต่สักแต่ว่ารู้ ปล่อยวางร่างกาย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ถึงแม้จะมาสัมผัสแต่จิตจะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย จะอยู่นิ่งๆตามลำพัง ถึงจะมีพลังเบรกกิเลส เพราะการทำสมาธิเป็นการหยุดจิต เมื่อจิตหยุดกิเลสก็ทำงานไม่ได้ แต่เราไม่เคยหยุดจิตมาก่อน จึงไม่รู้จะหยุดอย่างไร เหมือนขับรถแต่ไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน รู้แต่คันเร่ง พอถึงเวลาจะเบรกก็เบรกไม่ได้ ที่เรามานั่งสมาธิกัน ก็เพื่อหาคันเบรกของจิต ให้รู้จักวิธีหยุดจิต พอรู้แล้วเวลาเกิดกิเลสขึ้นมาก็จะหยุดกิเลสได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็เหมือนกับไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน พอเกิดกิเลสขึ้นมาก็หยุดไม่ได้ พอพิจารณาความตาย แทนที่จะสงบกลับฟุ้งซ่านขึ้นมา เพราะไปกระตุ้นความกลัวให้มีมากขึ้น แทนที่จะทำให้ปลงกลับไม่ปลง เพราะไม่มีสมาธิ จึงปลงไม่ได้

 

ถาม  คือเขาไม่สบายใจ

 

ตอบ  เพราะจิตยังไม่มีสมาธิ

 

ถาม  คือพิจารณาตามรู้

 

ตอบ  เพราะอยากปฏิบัติแบบง่ายๆสบายๆ ตามรู้รูปนาม เกิดดับๆ ไม่ได้ต่อสู้กับกิเลส เวลากิเลสทำอะไรก็ไม่ได้กำหนดดู เวลาอยากจะได้อะไรก็ไปทำตามความอยาก อยากไปดูหนังก็ไปดู พอดูแล้วความอยากดูหนังหายไป ก็ว่ามันดับไป อย่างนี้ใช้ไม่ได้

 

ถาม  เวลาพิจารณาเห็นกิเลส ปรากฏว่าเป็นกิเลสในตัวเรา แต่พอพิจารณาเข้าไป กลับเห็นกิเลสอยู่ในขันธ์

 

 

ตอบ  ความจริงกิเลสไม่ได้อยู่ในขันธ์ แต่อยู่ในจิต ขันธ์ไม่มีกิเลส ขันธ์ของพระพุทธเจ้ากับของปุถุชนก็เหมือนกัน แต่ใจของพระพุทธเจ้ากับใจของปุถุชนไม่เหมือนกัน ใจของพระพุทธเจ้าไม่มีกิเลส แต่ใจของปุถุชนมีกิเลส

 

ถาม  แสดงว่าเราก็หลงจิตของตัวเราเอง

 

ตอบ  เราหลงทุกสิ่งทุกอย่าง หลงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็เกิดความโลภขึ้นมา ถ้าไม่หลงก็จะไม่เกิดความโลภขึ้นมา

 

ถาม  อย่างนี้เราต้องถอยกลับมาที่สมาธิ

 

ตอบ  ถ้าพิจารณาต้องอยู่ที่ไตรลักษณ์เสมอ สิ่งต่างๆที่เราสัมผัสรับรู้ ต้องเห็นว่าเป็นทุกข์เป็นอนิจจังเป็นอนัตตา เมื่อเห็นแล้วก็จะไม่อยากได้อะไร

 

ขันธ์ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ กับของปุถุชนก็ไม่ต่างกัน เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเอง อยู่ที่ว่าใครจะเอาไปใช้ ถ้าธรรมะเอาไปใช้ อย่างหลวงตาท่านก็เอามาเทศน์สั่งสอน ท่านก็ใช้ขันธ์ ๕ ใช้ร่างกายพูด ใช้สังขารคิดปรุงแต่ง ใช้วิญญาณรับรู้สิ่งที่ท่านคิดแล้วแสดงออกไป รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ เวลาสนทนาก็ต้องใช้ขันธ์เหมือนกัน แต่ใจของท่านไม่มีความโลภความโกรธความหลง เวลาสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ใครจะให้อะไรมามากน้อยเพียงไร ก็ไม่ดีอกดีใจหรือเสียอกเสียใจ ใจของท่านเป็นปกติธรรมดา เป็นกลาง แต่ใจของพวกเราไม่เป็นอย่างนั้น ให้มาน้อยก็บ่น ให้มามากก็อยากจะได้มากกว่านั้นอีก ขันธ์เป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือ เป็นเหมือนรถยนต์ คนไม่เมากับคนเมาขับจะไม่เหมือนกัน คนเมาขับก็ไปชนแหลกเลย คนไม่เมาก็จะขับอย่างปลอดภัย พาผู้โดยสารไปถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ขันธ์ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นเครื่องมือของกิเลสก็จะเป็นโจรผู้ร้าย มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่มีอวิชชาความโลภความโกรธความหลงพาไป แต่ขันธ์ของพระอริยเจ้ามีแต่ธรรมะพาไป จึงทำแต่สิ่งที่ดีที่งามเป็นคุณเป็นประโยชน์ ขันธ์ไม่ได้เป็นของใคร เป็นสภาวธรรม เวลาเกิดการปฏิสนธิ ธาตุของแม่กับพ่อมารวมกัน แล้วก็มีจิตมายึดครอง เหมือนกับการผลิตรถยนต์ ที่ต้องสั่งจองไว้ก่อน เพราะผลิตไม่ทัน ต้องซื้อใบจองกัน ร่างกายก็เหมือนกัน พอธาตุของพ่อแม่มารวมกัน ก็มีดวงจิตดวงวิญญาณมาจอง แล้วก็รอจนคลอดออกมา แล้วก็ว่าเป็นของฉัน เอาไปใช้ทำโน่นทำนี่ ไม่ได้ทำตามพ่อแม่ พ่อแม่อยากจะให้เรียนกลับหนีไปเที่ยว พ่อแม่อยากจะให้บวชก็ไม่บวช พ่ออยากให้เป็นกษัตริย์ก็กลับไปบวชเสีย เพราะใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เคยสะสมมาทางไหนก็จะไปทางนั้น ถ้าสะสมมาทางธรรมะก็จะไปทางธรรมะ ถ้าสะสมมาทางกิเลสก็จะไปทางกิเลส แต่ขันธ์เป็นกลางๆ แล้วแต่ใครจะมาครอบครองเป็นเจ้าของ ถ้าเรามาจองร่างกายนี้ช้ากว่าคนอื่น ก็จะเป็นของคนอื่นไป ก็ต้องไปหาร่างกายอื่นแทน ส่วนร่างกายนี้เขาจะไปทำอะไรก็ได้ จะไปเป็นโจรก็ได้ เป็นนักการเมืองก็ได้ ใจชอบอะไรก็จะพาร่างกายไปทำตามที่ชอบ

 

ถาม  ถ้าธาตุขันธ์ของพระอรหันต์ไม่มีแล้ว แตกไปแล้ว ดวงจิตของท่านเมื่อพ้นไปแล้ว หลังจากละทิ้งขันธ์แล้ว ก็ไม่มีสภาพอยู่ แต่อยู่ในอวกาศของจิตของธรรมหรือค่ะ

 

ตอบ  จิตไม่ได้อยู่ในมิติของความกว้างแคบ ของกาลเวลา จะพูดว่าอยู่ตรงนั้นอยู่ตรงนี้ไม่ได้ จะว่ากว้างใหญ่เท่ากับจักรวาลก็ได้ เท่ากับท้องฟ้าก็ได้ หรือเล็กเท่ากับร่างกายก็ได้ เท่ากับตัวมดก็ได้ แล้วแต่ว่าจะเอาอะไรมาเป็นตัววัดจิต ถ้าเอาร่างกายเป็นตัววัด จิตก็ใหญ่เท่าร่างกาย ถ้าเอาช้างเป็นตัววัด จิตก็จะใหญ่กว่า แต่ความจริงจิตไม่ได้เป็นตัวช้าง ไม่ได้เป็นตัวมนุษย์ เหมือนกับโทรศัพท์มือถือ ที่มีหลายขนาด มีทั้งเล็กมีทั้งใหญ่ แต่คลื่นที่เข้าไปในเครื่องโทรศัพท์ก็เข้าไปได้หมดทุกเครื่อง จิตเป็นเหมือนกระแสคลื่นที่เข้ามาครอบร่างกาย สามารถไปได้ทั่วจักรวาลภายในเสี้ยววินาที อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า  เพียงแต่อ้าแขนออกไปปั๊บก็ไปถึงแล้ว ถึงโลกนั้นถึงโลกนี้แล้ว อย่าไปคิดเรื่องจิตมากนัก เพราะเป็นอจินไตยสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติ แต่สำหรับผู้ปฏิบัติจะรู้อยู่แก่ใจ รู้ว่าไม่จำเป็นต้องรู้ว่าจิตอยู่ตรงไหน เพราะอยู่กับตัวตลอดเวลา ที่คุยกันอยู่นี้ก็คือตัวจิต ไม่ใช่ร่างกาย ที่เป็นเพียงเครื่องมือของจิต แต่จิตมองไม่เห็นตัวจิตเอง ก็เลยคิดไปต่างๆนานา จิตไม่รู้จักตัวเอง เพราะไปหลงยึดร่างกายเป็นตัวจิต ตัวเราที่แท้จริงคือตัวจิต เราอยู่ตรงไหนจิตก็อยู่ตรงนั้น จิตอยู่ตรงไหนเราก็อยู่ตรงนั้น แต่เราไม่รู้ เพราะไม่เคยเห็นจิตอยู่ในสภาพของจิตล้วนๆ แต่เห็นอยู่กับร่างกาย เห็นอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็เลยคิดว่าจิตอยู่ตรงนั้น

 

ถาม  ติดในสมมุติ

 

ตอบ  ใช่แล้ว

 

ไม่ต้องกังวลเรื่องของจิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่ไม่เกิดไม่ดับไม่สลาย เหมือนธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ก็ไม่หายไปไหน มารวมกันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วเดี๋ยวก็กลายเป็นอย่างอื่นไป เช่นอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ก็มาจากการผสมผสานของดินน้ำลมไฟ มาเป็นผักเป็นเนื้อเป็นผลไม้ พอเข้ามาในร่างกายส่วนหนึ่งก็เป็นขนเป็นผมเป็นเล็บเป็นฟันฯลฯ ส่วนที่ร่างกายไม่ต้องการก็ถ่ายออกมา ก็กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟอยู่ดี เวลาถ่ายในป่า พอแห้งก็กลายเป็นดินไป น้ำก็ระเหยไป วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ รีไซเคิลไปเรื่อยๆ ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ จิตก็รีไซเคิลไปเรื่อยๆ จากร่างนี้ก็ไปอีกร่างหนึ่ง ก็ยังเป็นจิตอยู่อย่างเดิม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รู้ว่าจิตเป็นอะไร แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรกับจิตต่างหาก จะทำอย่างไรไม่ให้จิตทุกข์ ปัญหาอยู่ตรงนั้น เหมือนกับคนที่ถูกยิงด้วยลูกธนู ฝังอยู่ในร่างกาย มีคนจะมาช่วยเอาลูกธนูออก มารักษาแผลให้ ก็ห้ามไว้ก่อน อย่าพึ่งทำอะไร ไปถามก่อนว่าคนที่ยิงชื่ออะไร เป็นผู้หญิง ผู้ชาย มีอายุเท่าไหร่ เป็นคนชั้นไหน ถ้ามัวไปหาข้อมูล แผลก็เน่าตายพอดี นี่ก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปรู้หรอกว่าใจเป็นอย่างไร กว้างใหญ่ลึกแคบ อยู่ตรงไหน เวลาบริสุทธิ์แล้วจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องไปสนใจ รักษาให้หายเถอะ ทำให้บริสุทธิ์เถิด ปัญหามันอยู่ตรงนั้นแล้ว แล้วจะรู้เอง ไม่ต้องไปสงสัยว่าพระพุทธเจ้าตายไปแล้วจะไปอยู่ตรงไหน สามารถติดต่อกับเราได้หรือไม่ วันนี้ก็มีคนมาถามว่า พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ที่นิพพานไปแล้ว ยังติดต่อกับคนที่มีชีวิตอยู่ได้หรือไม่ ก็บอกว่าไม่รู้นะ แต่ก็มีพระอาจารย์ท่านเล่าว่า เวลาท่านเข้าสมาธิ ก็มีพระพุทธเจ้าพระอรหันต์มาสนทนาธรรมกับท่าน จะมาในรูปแบบไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน มาหรือไม่ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาของเรา ถ้ามาแสดงธรรม แต่เราไม่เอามาปฏิบัติก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าไม่มาแต่เราเอาธรรมะคำสอนของท่านมาปฏิบัติ ก็จะเกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดว่านิพพานเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วหายไปไหน สาบสูญหรือเปล่า เป็นปัญหาโลกแตก คิดไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มาทำหน้าที่ที่ต้องทำดีกว่า มานั่งสมาธิกันให้จิตสงบ มาเจริญปัญญา พิจารณาอสุภะ พิจารณาปฏิกูลทุกครั้งก่อนจะรับประทานอาหาร จะได้เป็นศิษย์มีครู 

 

พระเณรเวลาจะใช้สอยปัจจัย ๔ ท่านบังคับให้พิจารณา เรียกว่าปฏิสังขาโยนิโส ให้พิจารณาจีวร อาหารบิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคทุกครั้งที่จะบริโภค จะรับประทานอาหารเพื่อดับความหิว ไม่ได้รับประทานเพื่อความสนุกสนานเฮฮา เหมือนคนบางคนเวลากินอาหาร ต้องจัดงานเชิญคนมาเป็นร้อย อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของการกินอาหารแล้ว ไม่ได้ปฏิสังขาโยนิโสไม่ได้พิจารณาถึงเหตุผลตามธรรม การใส่เสื้อผ้าก็เพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้นเอง ถ้าพิจารณาก็จะไม่ซื้อเสื้อผ้าชุดละหมื่นชุดละแสนกัน ประดับพลอยประดับเพชร เป็นบ้ากันไป ติดไปทำไม มันได้ประโยชน์อะไร เสื้อผ้าที่ไม่ได้ประดับเพชรประดับพลอย ก็ปกปิดร่างกายได้เหมือนกัน เพราะไม่ปฏิสังขาโยนิโส ถ้าพิจารณา เวลาจีวรเก่าแล้วต้องปะ จะได้ไม่รังเกียจ ถ้าหลงตามแฟชั่นเวลาเห็นคนอื่นใส่ผ้าใหม่ๆไม่มีปะเลย จะรู้สึกน้อยอกน้อยใจมีปมด้อย อย่างพระมหากัสสปะนี่ ผ้าท่านปะจนไม่เห็นผ้าผืนเดิม ก็ยังใช้ได้อยู่ ใช้เพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้น ไว้ห่มไว้ห่อร่างกาย ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้วความหลงในเครื่องนุ่งห่มจะถูกกำจัดไปหมดเลย จะอยู่อย่างพอเพียงจริงๆ อยู่อย่างสมถะจริงๆ

 

ถาม  บางคนว่านิพพานเป็นอัตตาเป็นอนัตตา หมายความว่าอย่างไร

 

ตอบ  ไม่ทราบเหมือนกัน แต่เคยได้ยินหลวงตาเล่าให้ฟังว่า นิพพานไม่ใช่ทั้งอัตตาและอนัตตา เพราะเป็นสมมุติ ท่านว่านิพพานเป็นวิมุตติ ไม่อยู่ภายใต้มิติของสมมุติ อนัตตามีไว้เพื่อกำจัดความหลง ที่คิดว่ามีอัตตาตัวตนในสิ่งต่างๆ เช่นในร่างกาย ก็เลยเอาอนัตตามาแก้ ให้เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มีตัวตนได้อย่างไร ร่างกายก็เป็นดินน้ำลมไฟ ไม่มีตัวตน ต้องเอาอนัตตามาแก้ มาทำลายอัตตา ตัวจิตที่พิจารณาก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตน เป็นตัวรู้ เป็น ๑ ในธาตุทั้ง ๖  คือดินน้ำลมไฟ อากาศธาตุและธาตุรู้คือจิต เพียงแต่จิตมีความหลง คิดว่าดินน้ำลมไฟเป็นตัวเป็นตน แล้วก็ไปทุกข์กับมัน จึงต้องมาแก้ปัญหาคือความทุกข์ความหลงผิด ที่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน ก็ต้องใช้อนัตตาเป็นตัวแก้ เมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตาแล้วก็ปล่อยวาง  ถ้าเราเห็นว่าร่างกายเป็นเพียงวัตถุ เหมือนแก้วใบหนึ่ง เวลาเป็นอะไรไปเราก็ไม่เดือดร้อน จะเฉยๆ เพราะปล่อยวางแล้ว พอปล่อยวางหมดแล้วจิตก็หลุดพ้น จิตก็นิพพาน เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ไม่มีความโลภความโกรธความหลง ไม่เกี่ยวข้องกับอัตตาหรืออนัตตา จิตไม่ได้เป็นอัตตาหรืออนัตตา เป็นธาตุรู้ เหมือนดินน้ำลมไฟ ก็ไม่ได้เป็นอัตตาหรืออนัตตา แต่เมื่อไปว่าเป็นอัตตา จึงต้องเอาอนัตตามาแก้ ว่าไม่เป็นอัตตา เป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟ

 

        ที่ต้องเสียเวลาคิดกับเรื่องเหล่านี้กัน ก็เพราะไม่ปฏิบัติกัน อ่านแล้วก็จินตนาการกัน อวดรู้อวดเก่งกัน เป็นตาบอดคลำช้าง แต่ละคนก็ว่าตนถูกทั้งนั้น คนที่ไปคลำท้องช้างก็ว่าช้างเป็นเหมือนฝาผนัง คนที่ไปจับหางก็ว่าเป็นเหมือนเชือก คนที่ไปจับงวงก็ว่าเป็นเหมือนงู ก็ไม่มีใครผิด แล้วก็เถียงกัน เพราะเห็นเพียงบางส่วน เห็นไม่ครบทุกส่วน ถ้าศึกษาแต่ไม่ได้ปฏิบัติ ก็จะจินตนาการไป เหมือนคนที่ไม่เคยไปฮ่องกง เพียงแต่อ่านเรื่องของฮ่องกง แล้วก็จินตนาการไปต่างๆนานา ถูกบ้างผิดบ้าง แล้วก็มานั่งเถียงกัน คนที่เคยไปมาแล้วก็จะไม่มาเสียเวลาเถียงกับคนที่ไม่เคยไป เถียงไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ซื้อตั๋วเครื่องบินให้เขาไปดูเลยดีกว่า จะง่ายกว่า พวกเราก็เหมือนกัน อยากจะรู้ว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ก็ภาวนาไปเรื่อยๆ มรรค ๘ ก็เดินไปซิ ก็ต้องถึงจนได้ ถึงแล้วก็จะไม่เถียงใคร ไม่เห็นมีพระอรหันต์มานั่งเถียงกัน ว่าเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา มีแต่พวกที่ไม่เป็นที่เถียงกันอยู่เรื่อย

 

ถาม  การที่เรามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แล้วก็ไปไหว้ศาลพระภูมิของที่ทำงาน ที่เขาจะไหว้ทุกปี และก็ต้องให้หมั่นไปไหว้ ก็คิดว่าเอ๊ะมันถูกต้องหรือเปล่า ที่เรามีพระรัตนตรัยอยู่แล้ว แต่ยังไปไหว้เจ้าที่เจ้าภูมิ

 

ตอบ  ถ้าคิดว่าเจ้าที่เจ้าภูมิเป็นเจ้าของบ้าน เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วก็ไหว้เขา เพื่อไม่ให้เสียมารยาท ก็ไม่ขัดกับพระรัตนตรัย การไหว้กันไม่ได้หมายความว่ายึดเป็นสรณะ เพราะสรณะของศาสนามีอยู่คำเดียวเท่านั้น ก็คือกรรม ให้ยึดหลักกรรม ถ้าเรายึดเราเชื่อในหลักกรรม แสดงว่าเรายึดในพระรัตนตรัย แต่ถ้าเชื่อฮวงจุ้ย เชื่อดวงเชื่อดาว เชื่อการทำนายทายทัก แสดงว่าเราห่างเหินจากพระรัตนตรัย เช่นเวลาทำมาค้าขายไม่ขึ้นเลย ก็เปลี่ยนชื่อบริษัท เปลี่ยนชื่อของตัวเองเพื่อจะได้เจริญก้าวหน้า อย่างนี้ก็ไม่ได้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะเลย ถ้าเป็นสรณะก็ต้องยึดการทำความดี ถ้าขี้เกียจก็ทำให้ขยันมากขึ้น ทำงานให้ชนะใจเจ้านายให้ได้ ไปตั้งแต่ตี ๕ เลย เลิก ๒ ทุ่ม ก็จะได้ขึ้นเงินเดือน รับรองได้ขึ้นแน่ๆ แต่ถ้าไปสายกลับก่อน แล้วจะเจริญได้อย่างไร อยู่ที่การกระทำของเราเป็นหลัก อย่างอื่นเป็นเพียงส่วนประกอบ บางทีก็จำเป็น เช่นจะมาที่นี่ก็ต้องนัดวันกัน จะมาวันจันทร์ก็มาไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นตัวสำคัญ ตัวสำคัญอยู่ที่การมาทำบุญ มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติ  วันเวลาเป็นเพียงตัวประกอบ ทางศาสนาถือฤกษ์สะดวกเป็นหลัก ไม่ต้องให้หมอดูว่า จะทำวันไหนดี สะดวกเมื่อไรก็ทำเมื่อนั้นเลย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องไปดูฤกษ์ก่อนหรือเปล่า จะไปหาหมอวันไหนดี พอปวดปั๊บก็วิ่งหาหมอทันที  สรณะก็คือกรรมนี่แหละ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำความดี ละบาป กำจัดความโลภความโกรธความหลง นี่คือหลักของสรณะ อยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ตรงไหน อย่างอื่นเป็นส่วนประกอบให้ถูกกับกาลเทศะ ไม่ขัดกับสังคม ถ้าสังคมเขาไหว้พระภูมิ เราก็ไหว้ไป แต่ไม่ได้ไปหลงไปกับเขา เขาทำพิธีอะไรก็ทำตามเขาไป แต่ไม่ได้ไปทำเพราะเชื่อหรืออยากจะได้อะไร เป็นการเข้าสังคมเมื่อมีความจำเป็น

 

ถาม  แปลว่าภายนอกเราอาจจะยกมือไหว้ แต่ภายในใจเราอาจจะนึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ได้ ใช่ไหมครับ เช่นยกมือไหว้พระภูมิเจ้าที่ก็ไหว้ แต่ใจเรานึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นหลัก

 

ตอบ  ในใจเราทำอย่างไรก็ได้ ด่าใครก็ได้ ใครจะไปรู้ บางทีเราต้องไหว้คนที่เราเกลียด เราก็ไหว้ไป แต่ในใจเราอาจจะด่าเขาก็ได้

 

ถาม  ที่บ้านมีศาลพระภูมิ เราก็ยกมือไหว้ จำเป็นต้องบูชาหรือไม่ค่ะ

 

ตอบ  ถ้าเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยก็ไม่จำเป็น อย่างพระโสดาบันท่านไม่ไหว้อะไรทั้งนั้น ท่านเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่ออย่างอื่นไหว้อย่างอื่นก็เป็นสีลัพพตปรามาส ไม่เห็นว่าดีชั่วอยู่ที่กรรม อยู่ที่การกระทำ อยู่ที่ศีลธรรม ถ้าตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ แล้ว ไม่ต้องไปไหว้อะไรก็ได้ แต่บางทีก็ต้องทำไป เพื่อไม่ให้ขัดกับความรู้สึกของผู้อื่น ถ้าผู้อื่นอยากจะไหว้ศาลพระภูมิ ก็ไม่ต้องไปขวาง อยากจะตั้งก็ตั้งไป อยากจะไหว้ก็ไหว้ไป อยากจะให้เราไหว้ด้วย ก็ไหว้ไป ให้เขาสบายใจ จะได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่ทะเลาะกัน การกระทำของเราแบ่งเป็น ๒ ลักษณะคือ ๑. เป็นกิริยาเฉยๆ ๒. เป็นแบบจริงจัง ถ้าเป็นพระโสดาบันเวลาไปวัดแล้วมีการสมาทานศีล ท่านก็สมาทานไปกับเขา แต่ความจริงจิตของท่านมีศีล ๕ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วไม่ว่าจะสมาทานหรือไม่ เพราะเป็นธรรมชาติของพระโสดาบัน แต่เมื่ออยู่ในสังคมที่มีการสมาทาน ก็สมาทานตามเขาไป ไม่ประกาศว่าไม่ต้องสมาทานแล้ว การสมาทานไม่ได้ทำให้เกิดศีลขึ้นมา เป็นการตั้งสัจจะอธิษฐานเท่านั้นเอง แสดงว่ายังไม่มีศีล ๕ ถึงต้องตั้งสัจจะ ว่าจะรักษาศีล ๕ แต่คนที่มีศีล ๕ แล้วก็ไม่ต้องตั้งสัจจะ เมื่อมีศีลอยู่แล้ว ถ้าไม่สมาทานตามเขาไป คนที่ไม่เข้าใจก็จะหาว่าอุตริ หาว่าเพี้ยน อยู่ในสังคมของคนเพี้ยน คนไม่เพี้ยนก็ต้องแกล้งเพี้ยนตามไปด้วย 

 

ถาม  กลายเป็นเขาดีกันไปหมด เราเพี้ยนอยู่คนเดียว

 

ตอบ  ก็จะเป็นอย่างนั้น ถือเสียงข้างมาก พวกมากลากไป

 

ถาม  คำถามจากชาวไต้หวัน เขายังไม่มั่นใจเรื่องชาติก่อนชาตินี้

 

ตอบ  ต้องเชื่อคนที่รู้ไปก่อน ถ้ายังไม่แน่ใจก็ไม่เป็นไร จะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้ ไม่สำคัญ สำคัญที่ทำความดีหรือไม่ เชื่อว่าเราสามารถมีความสุขได้จากการทำความดี เชื่อหรือไม่

 

ถาม  เชื่อค่ะ

 

ตอบ  ก็ทำความดีไปก็แล้วกัน ถ้าทำความดีไปเรื่อยๆแล้วต่อไปก็จะเห็น ว่ามีชาติหน้ามีชาติก่อนหรือไม่ นั่งสมาธิแล้วจะเห็น

 

ถาม  การนั่งสมาธิต้องกำหนดเวลาหรือไม่

 

ตอบ  ไม่ต้อง ให้นานเท่าไหร่ได้ยิ่งดี

 

ถาม  ถ้าอดทนทำ เจ็บก็ปล่อยมัน

 

ตอบ  ถูกแล้ว ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ไม่ต้องไปสนใจความเจ็บ ปล่อยให้เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปเอง ส่วนใจก็ภาวนาไป ถ้าสวดมนต์ก็สวดมนต์ไปเรื่อยๆ จะเจ็บจะปวดอย่างไรก็ปล่อยมันไป ไม่ต้องไปสนใจ ถ้าหายไปเองจิตก็จะสงบลงไป แล้วจะเห็นตัวจิต จะรู้ว่าตัวจิตกับร่างกายเป็นคนละตัวกัน เหมือนน้ำกับแก้วน้ำ เป็นคนละอันกัน เวลานั่งสมาธิจิตกับร่างกายจะแยกออกจากกัน จะรู้ว่าจิตเป็นอย่างหนึ่ง ร่างกายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ร่างกายตายไป แต่จิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ก็จะรู้ว่าชาติก่อนชาติหน้ามีจริง ร่างกายก็เหมือนเสื้อผ้า เสื้อผ้าชุดเก่าก็เหมือนชาติก่อน ที่ใส่ไม่ได้แล้วก็โยนทิ้งไป ก็เป็นเหมือนชาติก่อน เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซื้อมาก็เป็นชาติใหม่ แต่ร่างกายก็ยังเป็นร่างเก่า จิตกับร่างกายก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นจิตเก่า เพียงแต่เปลี่ยนร่างกาย อาจจะเป็นร่างมนุษย์ อาจจะเป็นนกเป็นแมว อยู่ที่เราทำอะไรในวันนี้ ถ้าไม่รักษาศีล ๕ ก็ต้องไปเป็นนกเป็นปลาเป็นสุนัข แต่ถ้ารักษาศีล ๕ ได้ ก็จะกลับมาเป็นมนุษย์ได้อีกเรื่อยๆ สำคัญอยู่ที่ปัจจุบันว่าทำอะไร ถ้าทำแต่ความดีไม่ทำบาป ก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อยู่เรื่อยๆ ได้มาทำความดีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ไปในที่สุด จากนั้นก็ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป

 

ถาม  น้องเขาฝากถามว่า เวลาที่ถ่ายภาพนะค่ะ แล้วเห็นดวงๆ ไม่ทราบว่าเป็นดวงจิตดวงธรรมหรือเปล่าค่ะ

 

ตอบ  เห็นท่านผู้รู้บางท่านว่าเป็นพวกเทพ

 

ถาม  ส่วนมากจะอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

 

ตอบ  ใช่ ที่แถวนี้ก็มี มีคนถ่ายภาพมีเป็นดวงๆ เมื่อ ๒ พรรษาก่อนมีพระอินโดมาบวชอยู่ที่นี่ เขาก็ถ่ายตอนเดินลงเขา จะปรากฏเป็นดวงๆในภาพ แต่อาตมาไม่ยืนยันนะว่าเป็นเทพจริงหรือไม่ เป็นการวิเคราะห์ของผู้รู้บางท่าน บางทีก็จะปรากฏเป็นเส้นๆ เหมือนสร้อยคอทองคำ เช่นในงานศพของหลวงปู่ขาว หลวงปู่ดุลย์ ที่บนเขาพระมณฑปก็มีเหมือนกัน ของพวกนี้ไม่ได้เป็นมรรค รู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้ ไม่ได้ทำให้กิเลสหมดไป เพียงแต่รู้ว่าเป็นความจริงอย่างหนึ่ง ว่าดวงวิญญาณมีจริง เวียนว่ายตายเกิดมีจริง แต่การเวียนว่ายตายเกิดไม่ได้หยุดจากภาพเหล่านี้ ต้องหยุดด้วยการปฏิบัติเท่านั้น แต่รู้ไว้ก็ดี ถ้าเสริมศรัทธาความเชื่อ ทำให้เกิดฉันทะความยินดีในธรรม วิริยะความขยันหมั่นเพียร ที่จะทำความดีให้มากยิ่งขึ้นไป โดยหลักแล้วถ้าส่งเสริมให้เราทำความดี ทำบุญมากขึ้น อย่างนี้ก็ดี คนบางคนต้องเห็นโลงศพก่อนถึงจะรีบทำบุญ  การเห็นโลงศพก็ต้องถือว่าดี เพราะทำให้เราได้ทำบุญ

 

ถาม  ฝันเห็นโลงศพอะไรอย่างนี้นะครับ รีบไปปอเต๊กตึ๊งซื้อโลงศพเลย

 

ตอบ  อาตมาตอนอายุสัก ๑๒ ขวบก็ได้เห็นคนตาย ก็ติดตาติดใจมาตลอด ทำให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า คนนี้ก็ต้องตาย คนนั้นก็ต้องตาย เราก็ต้องตาย ไม่มีใครไม่ตายเลยสักคน คนที่เรารัก เช่นพ่อแม่ของเรา สักวันก็ต้องตาย คิดไปเรื่อยๆ พอตายไปก็รู้สึกเฉยๆ ไม่เศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ ช่วยรักษาใจให้เป็นปกติ ถ้าไม่ได้คิดไตร่ตรองไว้ก่อน เวลาสูญเสียสิ่งที่รักไป แทบจะอยู่ต่อไปไม่ได้ เวลาเห็นอะไรควรน้อมเข้ามาเป็นมรรคให้ได้ ให้เป็นปัญญา ให้เป็นสมาธิ ให้เป็นศีล ให้เป็นทาน ถ้าเห็นแล้วทำให้ทำบุญมากขึ้นก็ดี เห็นแล้วทำให้รักษาศีลก็ดี เห็นแล้วทำให้นั่งสมาธิก็ดี เห็นแล้วทำให้พิจารณา ทำให้ปล่อยวางได้ยิ่งดีใหญ่ มีบางคนพิจารณาเห็นความเสื่อมของดอกไม้ ก็หลุดพ้นได้ ปล่อยวางได้ พิจารณาดอกไม้ว่าเหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เพียงแต่ดอกไม้เสื่อมเร็ว ซื้อมาปักไว้ในแจกันไม่กี่วันก็เฉาตายไป แต่คนใช้เวลานาน แต่จะนานหรือไม่ก็เหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ถ้าพิจารณาเป็น เปรียบเทียบเป็น ก็บรรลุได้ ปล่อยวางได้ ท่านสอนว่าตามีไว้ดู หูมีไว้ฟัง ใจมีไว้คิด เวลาเห็นอะไรได้ยินอะไรก็ต้องโอปนยิโก น้อมเข้ามาให้เป็นธรรมะ ให้เป็นมรรค ให้เป็นปัญญา ไม่ใช่น้อมเข้ามาแล้วเกิดกิเลส เห็นเพชรพลอยแล้วตาลุกวาวอยากจะได้ อย่างนี้ไม่ใช่โอปนยิโก ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะเป็นโทษ เห็นคนอื่นได้ตำแหน่งแล้วอยากจะได้บ้าง เกิดความอิจฉาริษยา เกิดความท้อแท้ ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะทำงาน อย่างนี้เห็นแบบกิเลส ถ้าเห็นคนอื่นได้ดิบได้ดี ทำให้เกิดวิริยะความขยันหมั่นเพียรมากขึ้น ต้องทำให้ดีกว่าเขา  เพื่อจะได้ดีกว่าเขา อย่างนี้ไม่เป็นโทษ แต่เป็นคุณ

 

        ส่วนใหญ่มันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราขี้เกียจทำงานแล้วจะเลื่อนเราขึ้นไปได้อย่างไร ก็ต้องเลื่อนคนที่ขยันกว่า แต่ถ้าเราขยันกว่าคนอื่น ไปทำงานตั้งแต่ตี ๕ เลิกงาน ๒ ทุ่มอย่างนี้ ไม่นานเขาก็จะเลื่อนเราขึ้นไปอย่างแน่นอน อย่างที่นี่ก็มีอยู่คนหนึ่ง ทำงานถางหญ้า คนอื่นทำงาน ๖ วันก็หยุดวันหนึ่ง แต่คนนี้ไม่หยุด มาเป็นยามเฝ้าประตูต่อ ทำอย่างนี้มาตลอดเลย ถามว่าทำไปทำไม เขาบอกว่าเขาชอบ เขามีความสุข อาชีพเก่าเป็นสัปเหร่อ เป็นโสด ไม่มีครอบครัว จิตใจของเขาอาจจะสูงกว่าพวกเราก็ได้ เขามีความสุขกับการกระทำอย่างนี้ เวลาทำงานก็ไม่ขี้เกียจ คนอื่นนั่งอู้กัน กินน้ำกินอะไรกัน นั่งๆนอนๆกัน แต่เขาทำของเขาไปเรื่อยๆ เวลามีธุระจะลาไปไหน ก็ไปได้อย่างสบายเลย จะไปเมื่อไหร่เจ้านายก็ให้ไปทันทีเลย จิตใจของคนมันแปลกนะ สามารถมีความสุขจากการกระทำ ไม่ต้องมีอะไร เวลาเฝ้าประตูเขาก็อ่านหนังสือธรรมะไป ฐานะของจิตใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศกับวัย อยู่ที่การพัฒนาด้วยบุญบารมี เขาจึงไม่กระตือรือร้นกับการเจริญทางโลกเท่าไหร่ อาจจะยังไม่พร้อมที่จะบวช ยังไม่สุกงอม ก็ต้องบำเพ็ญไปก่อน

 

ถาม  คุณแม่ฝากมาทำบุญค่ะ คุณแม่ไม่สบาย ขอท่านพระอาจารย์เมตตาแม่ด้วยเจ้าค่ะ

 

ตอบ  ยังรักษาตัวเราไม่ได้เลย

 

ถาม  ก็ว่าจะไปภาวนาค่ะ แต่คงต้องลดจำนวนวันลง

 

ตอบ  ก็ดี ทำไปเถิด มันดีกับเราแน่นอน ก็อาจจะส่งผลให้ผู้อื่นด้วย แต่เราต้องยอมรับความจริง ต้องเจริญอนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นเรื่องธรรมดา พยายามรับความจริงนี้ให้ได้ จะดีกว่า เราจะได้ดำเนินต่อไปอย่างปกติ คนไปก็ต้องไป เขาไม่เดือดร้อน คนที่เดือดร้อนคือคนอยู่มากกว่า คนอยู่ยังทำใจไม่ได้ ดำเนินชีวิตไปอย่างปกติไม่ได้ มัวอยู่กับความทุกข์ ไม่เกิดประโยชน์อะไร การเจริญวิปัสสนาจะช่วยเรามากกว่าช่วยคนที่เราห่วง

 

ถาม  สงสารเขานะค่ะ ไม่อยากให้เขาเจ็บปวด

 

ตอบ  เป็นความหลง ไม่เห็นว่าคนเราเกิดมาต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา เขาก็อยู่มานานแล้ว ก็ถึงเวลาที่เขาจะต้องไป ก็ต้องเป็นอย่างนี้

 

ถาม  อยากให้เขามีจิตสงบ

 

ตอบ  เป็นตัณหา

 

ถาม  อยากให้เขาไปแบบสบายๆ ไม่ทรมาน

 

ตอบ  ทางที่ถูกคือไม่ต้องไปอยากอะไรทั้งสิ้น เขาจะอยู่ก็อยู่ จะทรมานก็เรื่องของเขา จะไปอย่างสบายก็เรื่องของเขา เพราะเป็นตัวของเขาเขาทำเขาเอง คนเราจะตาย ตายอย่างสุขก็ได้ ตายอย่างทุกข์ก็ได้ ถ้าบำเพ็ญมาก็จะตายอย่างสุข ถ้าไม่บำเพ็ญมา ก็จะตายอย่างทรมาน 

 

ถาม  เป็นผลของยาด้วยนะค่ะ

 

ตอบ  ถ้าบำเพ็ญมาก็ไม่ไปหายา อย่างพระปฏิบัติ ท่านจะไม่เข้าโรงพยาบาล จะใช้ธรรมโอสถเป็นหลัก ถ้าไม่พึ่งตนเอง ไม่พึ่งธรรมะ พึ่งแต่ยา พึ่งสิ่งต่างๆภายนอก ก็จะเป็นอย่างนี้

 

ถาม  เวลาญาติเราเจ็บป่วย ก็จะมีพี่น้องหลายคน คนนั้นอยากจะให้เข้าโรงพยาบาล คนนั้นบอกไม่ต้อง คนนั้นอยากจะให้ทำโน้นทำนี่ จะเป็นการก้าวก่ายชีวิตคนอื่นหรือเปล่าไม่ทราบ เป็นโทษเป็นภัยหรือเปล่าครับ

 

ตอบ  ถ้าเพียงแต่เสนอ ไม่บังคับกันก็ไม่เป็นไร ถ้าบังคับก็เป็นการก้าวก่าย ถ้าถามเขาว่าไปหาหมอไหม ถ้าบอกไม่ไป ก็จบเรื่อง การรักษาจึงขึ้นอยู่ที่กำลังจิต ความพอใจของแต่ละคน อย่างพระปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ จะไม่ค่อยไปหาหมอ ถ้าพอจะรักษาได้ก็ไป ถ้ารักษาไม่ได้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง จิตใจของท่านไม่มีอะไรกับการอยู่การตาย ไม่เดือดร้อนอะไร อยู่ไปก็ไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้น เพียงแต่ต้องทำงานนานขึ้น

 

ถาม  ถ้าตั้งจิตอธิษฐานให้กับแม่เขา จะได้รับไหม

 

ตอบ  ถ้าได้คนเราก็จะไม่ตาย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่แก่กัน เป็นเพียงความปรารถนาดี ถ้าทำได้ควรช่วยคนเจ็บให้เจ็บน้อยลง แต่ไม่ควรบังคับเขา ไม่ควรทะเลาะกัน วุ่นวายกันไปหมด ต้องเอาใจคนป่วยเป็นหลัก เขาเป็นโจทย์ ให้เขาเป็นผู้ตัดสินใจ  ถ้าเราสามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ ถ้าเห็นว่าไม่ผิดอะไรก็ทำไป ถ้าเขาอยากจะฆ่าตัวตาย ให้เราช่วยเขา อย่างนี้ก็ไม่ถูก ถ้าเขาบอกว่ามันทรมาน ก็ให้เอาความทรมานมาเป็นธรรมะ ทุกข์บ่มีปัญญาบ่เกิด ถ้าไม่ทุกข์ก็ไม่เกิดปัญญา ถ้าพิจารณาก็จะเห็นตัณหา ความไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย เป็นตัณหาทั้งนั้น ถ้าละตัณหาได้ทุกข์ก็จะดับไป ถ้าไม่มีปัญญาช่วยเขา ก็ต้องใช้อุเบกขา ไม่ต้องไปคิดว่าไม่มีความกตัญญู มันไม่เกี่ยวกัน เพราะเราทำอะไรไม่ได้ ไม่อยู่ในวิสัย แล้วเราก็ต้องดูแลใจของเราด้วย ถ้ากินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติได้ แสดงว่าเรากำลังทำลายตัวเราเอง เราไม่ฉลาด ถ้าฉลาดก็ต้องดำเนินชีวิตไปอย่างปกติ มีหน้าที่อะไรก็ทำไป มีเวลาว่างก็ไปเยี่ยมดูอาการ ถ้าเฝ้าได้ตลอดเวลาก็ทำให้ดีที่สุด การตายก็เป็นเหมือนการเปลี่ยนเสื้อผ้าเท่านั้นเอง เป็นการเปลี่ยนร่างกายใหม่ ถ้าทำบุญทำกุศลมาก็จะได้ของที่ดีกว่าเก่า ถ้าไม่ได้ทำก็จะไม่ได้ ไม่มีใครทำให้กันได้ ต้องทำเอง อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ เป็นเรื่องบุญเรื่องกุศล เรื่องบาปเรื่องกรรม อยู่ตรงนั้น พระพุทธเจ้าทำแทนเราไม่ได้ ถ้าทำได้ป่านนี้พวกเราไปถึงนิพพานกันหมดแล้ว

 

ถาม  เราควรน้อมเข้ามาหาตัวเอง ว่าสักวันเราก็ต้องเจอภาวะอย่างนี้ ใช่ไหมครับ

 

ตอบ ใช่แล้ว ที่ให้ไปงานศพก็เพื่อให้ไปโอปนยิโก ให้ไปดูว่าต่อไปเราก็จะเป็นเหมือนเขา จะไปนอนในโลงเหมือนกัน เมื่อคิดอย่างนั้นแล้ว ก็จะกระตือรือร้นในการทำความดี ในการปล่อยวางร่างกาย

 

ถาม  ครูบาอาจารย์เคยพูดว่าเวลาไปเผาศพ เวลาเดินขึ้นเมรุเอาดอกไม้จันทน์ไปวาง เหมือนเดินเข้าแถวเพื่อไปตาย

 

ตอบ  เหมือนพวกวัวควายที่จะถูกเอาไปเชือด แต่เราไม่คิดอย่างนี้กัน พอเป็นขึ้นมาก็สายไปเสียแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว ทำได้ตอนนี้ ยังมีเวลามีโอกาสสร้างธรรมะให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นเกราะคุ้มครองจิตใจ ไม่ให้หวั่นไหวเดือดร้อนวุ่นวาย กับความเป็นความตาย ของใครก็ตาม ของเราหรือของผู้อื่น จะรู้สึกเฉยๆ แต่ไม่ได้เฉยเมย ไม่มีน้ำใจ มีความเมตตาความกรุณาเต็มเปี่ยมก็ช่วยอะไรไม่ได้ ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำอะไรได้ จึงไม่ควรเศร้าโศกเสียใจ พยายามทำให้ดีที่สุดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำความดีให้กับคนที่เรารักให้มากที่สุด เวลาเขาตายไปแล้วจะได้ไม่ร้องห่มร้องไห้เสียใจ บางคนเหมือนกับดัดจริต เวลาตายไปแล้วก็ร้องห่มร้องไห้หน้าโลงศพ ร้องไปทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร ควรทำตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ ให้เขามีความสุข อย่าไปมองเรื่องความเป็นความตายเป็นเรื่องใหญ่โตเลย คิดว่าเป็นเรื่องปกติ เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก เกิดตายกันมานับไม่ถ้วนแล้ว มากกว่าพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตกอีก แต่ก็จำไม่ได้ พอเกิดใหม่ก็ยึดติดเหมือนเดิม ทุกข์เหมือนเดิม