กัณฑ์ที่ ๒๙     ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๓

เป้าหมายชีวิต

 

ชีวิตของพวกเราทุกคนนั้น เปรียบเหมือนกับการเดินทางในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล       การเดินทางของพวกเรานี้แบ่งได้เป็น ๒ จำพวกด้วยกัน  คือพวกที่นั่งอยู่ในเรือกับพวกที่นั่งอยู่ในแพ  พวกที่นั่งอยู่ในเรือนั้นสามารถบังคับเรือให้ไปในทิศทางที่ต้องการจะไปได้ พวกที่ลอยอยู่ในแพต้องไปตามลมตามน้ำ พวกที่นั่งอยู่ในเรือมีความเห็นว่าการลอยอยู่บนท้องทะเลนี้ เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี ควรแสวงหาฝั่งหาที่ปลอดภัย รู้ว่าในโลกนี้มีแต่ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีแต่ความทุกข์ เป็นโลกที่ไม่น่าอยู่ ควรจะหาวิธีหนีจากโลกนี้ไปให้ได้ พวกที่ลอยอยู่ในแพเป็นพวกที่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ไม่รู้ว่าอยู่ไปทำอะไร ก็เลยอยู่กันไปแบบสบายๆตามอารมณ์  อยากจะทำอะไรก็ทำไป อยากจะกินเหล้าก็กิน อยากจะเล่นการพนันก็เล่น อยากจะเข้าวัดทำบุญก็เข้าวัดทำบุญ  นี่คือลักษณะของพวกที่ลอยอยู่ในแพ คือลอยไปตามน้ำตามลม เลยไม่เคยถึงฝั่งอันปลอดภัย

พวกที่นั่งอยู่ในเรือเปรียบเหมือนกับพระพุทธเจ้า  พระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ที่รู้จักพิษภัยของการเวียนว่ายตายเกิด  รู้ว่าเมื่อเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย หาความสุขที่แท้จริงในโลกนี้ไม่ได้  เป็นคนฉลาด ท่านมีจุดหมายปลายทางที่จะดำเนินไป คือจะต้องไปให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด  ต้องไปให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ได้  เพราะว่าตราบใดที่ยังมีการเกิดอยู่ ตราบนั้นก็ต้องมีการแก่ การเจ็บ การตาย ต้องมีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งหลาย ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทั้งหลาย นี่คือลักษณะของโลกนี้  คนฉลาดเมื่อได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมน้อมเอามาประพฤติปฏิบัติ เพื่อความผาสุก ความเจริญรุ่งเรือง ความพ้นจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ถ้าไม่น้อมเอามาประพฤติปฏิบัติ แต่กลับปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม ปล่อยให้เป็นไปตามความอยากต่างๆนานา สุดแท้แต่อารมณ์จะพาไป  วันไหนอารมณ์ดีก็ทำความดี วันไหนอารมณ์ไม่ดีก็ทำความชั่ว ชีวิตก็จะเป็นไปแบบลุ่มๆดอนๆ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ปะปนกันไป  จะไม่สามารถไปถึงที่ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ไปถึง ที่พระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้ไปถึง คือไปสู่ความสงบสุข ไปสู่ความพ้นทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าอยากจะไปที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปถึง พระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้ไปถึง ก็ต้องเดินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน คือให้มี  เป้าหมายชีวิตที่มีอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน คือระดับแรก ระดับกลาง และระดับปลาย

เป้าหมายชีวิตระดับแรกคือ เมื่อเกิดมาแล้วต้องพยายามสร้างฐานะให้เป็นผู้สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้ ด้วยอาชีพที่สุจริต ยืนบนลำแข้งลำขา บนสติปัญญาความขยันหมั่นเพียรของตัวเอง เลี้ยงดูชีวิตให้เป็นไปด้วยความราบรื่นดีงาม   เวลาเป็นเด็กยังต้องพึ่งพาอาศัยบิดามารดาเป็นผู้เลี้ยงดู ควรขวนขวายเรียนหนังสือ หาความรู้  เมื่อมีวิชาความรู้แล้ว วิชาความรู้นั้นจะเป็นเครื่องมือใช้ประกอบอาชีพต่างๆที่สุจริต  เพื่อที่จะเป็นรายได้เข้ามาจุนเจือเลี้ยงชีวิตต่อไป เป้าหมายขั้นแรกของชีวิต คือทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองให้ได้ก่อน ด้วยความขยันทำมาหากิน

เป้าหมายชีวิตระดับกลางคือ หลังจากที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ถ้ามีเงินทองเหลือใช้ ให้เอาไปสร้างบุญสร้างกุศล ด้วยการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการฝากบุญไว้กับธนาคารบุญ คนที่ทำบุญนั้นเมื่อไปเกิดใหม่จะมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีพร้อมด้วยเงินทองข้าวของเครื่องใช้ต่างๆนานา  การทำบุญให้ทานมีอยู่ ๔ อย่างด้วยกันคือ  .วัตถุทาน     . วิทยาทาน    . อภัยทาน     . ธรรมทาน 

 

วัตถุทานคือการให้ข้าวของ เช่นกับข้าวกับปลา อาหารคาวหวาน จตุปัจจัยไทยทานทั้งหลาย เครื่องใช้ไม้สอย เครื่องอุปโภคบริโภค การให้สิ่งเหล่านี้เรียกว่าวัตถุทาน

วิทยาทานคือการให้วิชาความรู้แก่ผู้อื่นด้วยการเป็นวิทยากร หรือให้ทุนการศึกษา  เมื่อมีวิชาความรู้ก็สามารถพึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องคอยพึ่งผู้อื่น ผู้มีความรู้มีวิชาย่อมสามารถประกอบอาชีพที่สุจริต  ไม่ต้องไปลักทรัพย์ ไปปล้น ไปจี้ ไปทำร้ายผู้อื่น การให้วิชาความรู้จึงเป็นการช่วยทำให้สังคมอยู่ด้วยความสงบร่มเย็น

อภัยทานคือการให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองผู้อื่น ไถ่ชีวิตช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น บริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลเพื่อที่จะได้มีเครื่องไม้เครื่องมือ มียารักษาโรคไว้รักษาคนไข้ หรือการปล่อยนก ปล่อยปลา ไถ่ชีวิตโคกระบือเป็นต้น

ธรรมทานคือการให้ธรรมะ ธรรมะนั้นเปรียบเหมือนแสงสว่าง  ธรรมะสอนให้คนรู้จักเรื่องผิด ถูก ดี ชั่ว บาป บุญ คุณ โทษ นรก สวรรค์ ถ้ามีธรรมะคนเราจะไม่เบียดเบียนกัน ตั้งมั่นอยู่ในศีล ๕ คือละเว้นจากการฆ่า ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา  ถ้าคนในสังคมมีศีล ๕ แล้ว สังคมก็จะอยู่กันได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ในบรรดาการให้ทั้ง ๔ ชนิดนี้ การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง 

เป้าหมายชีวิตระดับปลายคือการประพฤติปฏิบัติเพื่อชำระจิตให้สะอาดหมดจด ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ต้นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการรักษาศีล เจริญจิตตภาวนา ทำสมาธิ เจริญวิปัสสนา ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกทั้งหลายได้บำเพ็ญ การทำสมาธิภาวนาทำได้หลายรูปแบบ เช่นการไหว้พระสวดมนต์ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ยุบหนอ พองหนอ การบริกรรมคำว่า พุทโธ พุทโธ อยู่ในใจ ให้สงบ ให้นิ่ง  เมื่อจิตมีความสงบนิ่งแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาปัญญา ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของไม่เที่ยง เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

จึงไม่ควรที่จะสะสมสมบัติข้าวของเงินทองให้มากมายเกินความจำเป็น มีแต่จะสร้างความกังวล ความห่วงใย ความเสียดาย ความหวงแหน เป็นความทุกข์  เงินทองนั้นมีไว้รับใช้ ไว้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ส่วนเกินก็ให้เอาไปช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก เอาไปทำบุญ ทำทาน เพราะว่าตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้  สิ่งที่จะเอาไปได้ก็คือบุญกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุญกุศลที่เกิดจากการรักษาศีล การทำสมาธิ และการเจริญวิปัสสนา เพราะจะช่วยซักฟอกจิตให้สะอาดขึ้นไป ทำให้กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้นเบาบางลงไปจนกระทั่งหมดสิ้นไป เมื่อสิ้นกิเลสก็ถือว่าการเดินทางในมหาสมุทรนั้นได้ถึงฝั่งแล้ว  การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้สิ้นสุดลงแล้ว  ได้ไปถึงจุดหมายที่พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกได้ไปถึง คือพระนิพพานนั่นเอง  พระนิพพานแปลว่าดินแดนที่มีแต่ความสุข เป็นดินแดนที่ไม่มีความทุกข์ เพราะไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป

พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิด ผู้ไม่เกิดเท่านั้นที่ไม่มีทุกข์ ตราบใดยังเกิดอยู่ ตราบนั้นยังมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง มีการประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทั้งหลายตามมา บุคคลที่ฉลาดที่ต้องการความผาสุกอย่างแท้จริง จึงต้องพยายามขวนขวายประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ เริ่มต้นด้วยการทำตนให้เป็นที่พึ่งของตนในการดำรงชีพ  ขั้นต่อมาให้ช่วยเหลือผู้อื่น จากนั้นจึงปฏิบัติธรรม รักษาศีล เจริญสมาธิ วิปัสสนา เพื่อตัดภพชาติ ให้หมดสิ้นไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้