กัณฑ์ที่ ๒๙๗       ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

อยู่เฉยๆไม่ได้
 

 

 

คนเรานี้แปลกอยู่เฉยๆไม่ได้ ปัญหาของคนเราทุกวันนี้อยู่ที่อยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องไปโน่นมานี่ ต้องทำโน่นทำนี่ นอกจากทำมาหากินแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องไปทำอะไรมากมายเลย  ถ้ามีงานมีการมีอาชีพ มีรายได้มีปัจจัย ๔ พร้อมแล้ว ก็น่าจะสุขสบายกัน แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอยู่เฉยๆกันไม่ได้ ไม่เคยคิดด้วยว่าทำไมไม่อยู่เฉยๆกัน ปัญหาของโลกเราทุกวันนี้ก็อยู่ตรงนี้เอง ไม่รู้ว่าการอยู่เฉยๆดีที่สุด ต่างคนต่างอยู่กันไป หาปัจจัย ๔ ได้แล้วก็น่าจะพอ ถ้าเห็นใครเดือดร้อนก็ช่วยเหลือกันไป เก็บส่วนที่เราต้องมีไว้ แล้วก็อยู่กับบ้านกัน แสนจะสุขแสนจะสบาย อย่างอาตมาก็อยู่ที่นี่มาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ก็ไม่ได้ไปไหน มีปัจจัย ๔ พอเพียงแล้วก็จบ ไม่เห็นต้องมีอะไรมากไปกว่านั้น ก็อยู่มาได้ แต่มองไม่เห็นกัน เหมือนเส้นผมบังภูเขา เราจึงแสวงหาอะไรวุ่นวายกันไปหมด ได้มามากน้อยเพียงไร ก็ไม่เคยอิ่มเคยพอ เคยสุขอย่างจริงๆเลย มีแต่เอาความทุกข์มาเพิ่ม อย่างโยมก็เอาลูกมาแบกอีกคนหนึ่ง ถ้าสมัยที่เรียนจบแล้วทำงานทำการ อยู่เป็นโสดได้ ก็จะแสนจะสบาย

 

ถาม  แต่ถึงเป็นโสด เขาก็มีทุกข์นะค่ะ

 

ตอบ  เพราะใจมันไม่นิ่งนั้นเอง ถ้านิ่งแล้วจะไม่ทุกข์กับอะไร ใจมันดิ้น อยู่คนเดียวก็เหงา เศร้าสร้อย ว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยวใจ

 

ถาม  โยมอีกคนมีความทุกข์จากคุณแม่ป่วยค่ะ ภาวนาไม่ได้

 

ตอบ  เหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีปัญญา มีแต่ความหลง

 

ไม่เห็นสัจจธรรมความจริงของชีวิตว่า มีแค่กายกับใจ ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มีการเจริญเติบโต แล้วก็เสื่อมหมดไป เหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆเจริญเติบโตจนเป็นต้นไม้ใหญ่ แล้วก็ต้องล้มลงมาสักวันหนึ่ง ช้าหรือเร็ว แล้วแต่พันธุ์ของไม้ บางชนิดก็มีอายุยืนยาวนาน บางชนิดก็สั้น เช่นข้าว ๓ เดือนก็หมดอายุแล้ว ร่างกายของคนก็แบบเดียวกัน ไม่ต่างกัน มาจากธาตุ ๔  ดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ร่างของคนมีใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ร่างกายเป็นเหมือนหุ่นกระบอก มีใจเป็นผู้เชิด พาร่างกายมาที่นี่ ไปที่นั่น พูดอะไรทำอะไร ความจริงร่างกายอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ขอให้มีปัจจัย ๔ หล่อเลี้ยง ก็อยู่ได้แล้ว จะให้อยู่ที่ไหนไปตลอดก็อยู่ได้ เหมือนกับต้นไม้ ถ้ามีแดดมีอากาศมีน้ำมีดินหล่อเลี้ยง ก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปไหนก็ได้ แต่ใจอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องแสวงหาอะไรต่างๆอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า ความหลงทำให้ใจต้องไปทำนั่นทำนี่ หาสิ่งนั้นสิ่งนี้ หลงหาความสุขผิดที่ ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ แต่ไปหลงว่าอยู่ที่สิ่งต่างๆภายนอกใจ ก็เลยไปแสวงหากัน อาศัยเอาร่างกายเป็นเครื่องมือ หาความสุขจากการได้เห็นได้ยินได้ฟัง ได้ลิ้มรสได้ดมกลิ่น ได้สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นแล้วว่าไม่ได้ให้ความสุขที่อิ่มที่พอ มีแต่จะกระตุ้นความหิวความอยากให้มีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ใจจึงอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องไปโน่นมานี่ หาสิ่งนั้นหาสิ่งนี้มาดูมาฟัง หามาได้มากน้อยเพียงไรก็ไม่อิ่มไม่พอ เพราะไม่ใช่อาหารของใจ ใจไม่รู้ว่าอะไรเป็นอาหารของใจ นอกจากพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์เท่านั้นที่รู้ รู้จริงๆ ไม่ได้รู้จากทางทฤษฎี อย่างพวกเราได้ยินได้รู้ว่าความสงบคืออาหารคือความสุขของใจ แต่ยังไม่เคยได้สัมผัส จึงไปหาความสุขจากสิ่งอื่นๆกัน เป็นเหตุทำให้อยู่เฉยๆกันไม่ได้ เมื่อต้องไปไหนมาไหน ก็มีภาระต่างๆเพิ่มขึ้นมา ต้องมีรถยนต์มีถนน มีอุปกรณ์ต่างๆสนับสนุน พอไปถึงแล้วก็อยากกลับ พอกลับมาแล้วก็อยากจะไปใหม่ กลิ้งไปกลิ้งมา เหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งไปแกว่งมา แกว่งไปทางซ้ายแล้วก็แกว่งมาทางขวา แกว่งอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าจะสามารถควบคุมไม่ให้แกว่งได้

 

เราจึงต้องจัดการกับใจ ทำใจให้นิ่งให้ได้ การบวชก็เป็นการทำใจของเราให้นิ่ง ไม่ให้อยากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ให้ไม่อยากสิ่งนั้นสิ่งนี้ สิ่งที่ไม่อยากกันก็คือไม่อยากยากจน ไม่อยากลำบากลำบน สิ่งที่อยากก็คืออยากจะสุขอยากจะสบาย แต่ไปเห็นความสุขความสบายอยู่กับของภายนอก ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วไม่ได้ให้ความสุขความสบายกับเรา ให้แต่ความทุกข์ แต่เรามองไม่เห็นกัน ก็เลยไปหาความสุขความสบายจากสิ่งภายนอกกัน ที่เราต้องทำงานหาเงินหาทองกัน เพราะคิดว่ามีเงินทองแล้วจะมีความสุข หายศหาตำแหน่งกัน เพราะคิดว่ามีตำแหน่งสูงๆแล้วจะมีความสุข หาบริษัทบริวารหามาสรรเสริญยกย่องเยินยอ เพราะใจติดกับการสรรเสริญ  ถึงแม้สิ่งที่พูดจะไม่จริงก็ไม่สำคัญ ถ้าพูดแล้วถูกใจเป็นใช้ได้ แล้วก็หลงกับการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ ชอบดูรูปแปลกๆใหม่ๆ ชอบได้ยินเสียงแปลกๆใหม่ๆ ถ้าเป็นของจำเจแล้วจะเบื่อ แม้จะเป็นของโปรดอย่างไรก็เบื่อ ถ้าได้ดูหรือฟังอะไรที่ชอบมากๆทุกวัน เดี๋ยวก็เบื่อ ให้รับประทานอาหารจานโปรดวันละ ๓ เวลาตลอดทั้งเดือนเลย เดี๋ยวก็เบื่อ แสดงว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริงกับเรา

 

มีพระพุทธเจ้ากับพวกนักบวชเท่านั้น ที่เห็นความสุขอีกด้านหนึ่ง คือความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ จะทำจิตใจให้สงบได้ ก็ต้องอยู่คนละฟากกับทางโลก ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะถ้าได้สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กับเงินทองกับตำแหน่งแล้ว จะมีความผูกพัน ทำให้จิตอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องคอยหามาเพิ่มให้มีมากขึ้น ต้องคอยรักษา มีตำแหน่งก็ต้องคอยรักษาไว้ หรือหาที่สูงขึ้นไป ก็เลยอยู่นิ่งๆไม่ได้ อยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องออกจากบ้านกันทุกวัน ตื่นแต่เช้าก็ต้องออกไปแล้ว เพื่อหาสิ่งเหล่านี้ เย็นก็กลับมา แล้วก็วุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้ เพราะมีการโยกย้ายกัน มีการสูญเสีย วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา แต่พวกที่มีปัญญาจะเห็นว่านี่ไม่ใช่ทางสู่ความสุข อย่างพวกนักบวชในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ ก็สามารถหาความสุขจากความสงบของใจได้ในระดับหนึ่ง ด้วยการบำเพ็ญ รักษาศีล นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ มีความสุขเป็นพักๆไป เวลาจิตสงบก็มีความสุข แต่พอออกจากความสงบ ก็อยากได้นั่นอยากได้นี่ ทั้งๆที่ก็ไม่ได้อยู่ใกล้กับสิ่งต่างๆเหมือนกับฆราวาส แต่ก็ยังอดคิดถึงความสุขแบบนั้นไม่ได้  ถ้าไม่กลับมานั่งสมาธิทำจิตให้สงบต่อ ก็จะบวชอยู่ต่อไปไม่ได้ ที่สึกกันไปก็เพราะจิตไม่สงบ อยู่ไม่ได้ จิตยังอยากไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อยากไปหาเงินหายศหาสรรเสริญ พอไปเกี่ยวข้องด้วยก็มีแต่ความทุกข์ต่อเนื่องกันไป พอมีครอบครัวมีภรรยามีลูก ก็ต้องดูแล ต้องห่วง ต้องกังวล ต้องเลี้ยงภรรยากับลูก และญาติพี่น้อง ที่ไม่ช้าก็เร็วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องไปเยี่ยมกันเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปงานศพกัน มีเรื่องให้ทำอยู่ตลอดเวลาจนวันตาย  

 

ไม่เคยเจอความสุข ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกได้เจอกัน เพราะต้องตัดทุกอย่าง ตัดลาภยศสรรเสริญ ตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วก็ต้องควบคุมจิตด้วยสติ ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ทำจิตให้ว่างด้วยอุบายแห่งสมาธิ บริกรรมพุทโธๆๆไป สวดมนต์ไป หรือดูลมหายใจเข้าออกไป ถ้าเป็นอุบายแห่งวิปัสสนา ก็พิจารณาดูร่างกาย ดูอาการ ๓๒ แล้วจิตจะสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่กำหนัดยินดี แต่จะเบื่อหน่ายกับสิ่งต่างๆ เพราะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงทั้งนั้น เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่อยู่ในอำนาจจะเหนี่ยวรั้งให้อยู่กับเราไปได้ตลอด ให้เป็นของเราไปได้ตลอด เช่นร่างกายของเรานี้ พิจารณาไป ก็มีแต่จะแก่ มีแต่จะเจ็บ มีแต่จะตาย บังคับไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนี้  สิ่งต่างๆที่หามาได้ก็จะต้องหมดไป พอตายไป สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆก็เป็นของคนอื่นไป ใครมีบุญมีวาสนาเขาก็ได้ครอบครองไป ตำแหน่งก็เป็นของคนอื่นไป แต่ปัญหาไม่ได้หมดไปกับการตาย เพราะใจผู้ที่ก่อปัญหาไม่ได้ตายไปด้วย ถ้าใจตายไปด้วยปัญหาก็จะจบด้วย แต่ใจไม่ตาย ไปเกิดใหม่ ไปเริ่มต้นสร้างปัญหาใหม่ รอบนี้ไม่ใช่รอบที่ ๑๐ รอบที่ ๑๐๐ นะ ท่านว่าเป็นล้านๆรอบแล้ว ความทุกข์ที่เราได้สัมผัสผ่านมาอย่างแสนสาหัส แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไม่หยุดใจปราบใจ ด้วยการปฏิบัติ บำเพ็ญตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 

ถ้าหยุดใจได้เมื่อไหร่แล้ว จะเจอสิ่งที่วิเศษที่สุดในโลก ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ไม่มีสุขอันใดในโลกนี้ที่จะเสมอหรือเหนือกว่า ความสุขที่ได้จากความสงบระงับของจิตใจ ระงับจากความโลภความโกรธความหลง ระงับจากความอยากในกาม อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น เวลาอยากได้อะไรก็ต้องใช้ปัญญาระงับ ต้องเห็นว่าสิ่งต่างๆที่อยากได้ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่มีสาระแก่นสาร ไม่มีคุณค่าอะไร มีแต่โทษมีแต่พิษมีแต่ภัย เป็นเหมือนระเบิดเวลา ถ้าเป็นเด็กก็จะไม่รู้ว่าลูกระเบิดมีพิษภัยอย่างไร พอเล่นกับลูกระเบิดเกิดระเบิดขึ้นมา ก็ต้องเจ็บตัวถึงแก่ความตายไป จิตของปุถุชนก็เหมือนกับเด็ก มองไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในสิ่งต่างๆ ที่อยากได้อยากสัมผัส พอไปเล่นกับมันก็เหมือนกับเด็กที่ไปเล่นกับลูกระเบิด แล้วผลเป็นอย่างไร มีใครบ้างที่บอกว่าไม่มีความทุกข์ มีไหมในโลกนี้ ไม่มีความกังวล ไม่มีความห่วงใย ไม่มีความเสียอกเสียใจอาลัยอาวรณ์ สิ่งเหล่านี้เกิดจากความไม่รู้ทั้งสิ้น คือความหลง ศาสนาพุทธจึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ความหลงนี่เอง คำว่าพุทธะคือผู้รู้  รู้ความจริงของความสุขและความทุกข์ของใจ พระพุทธเจ้าเป็นองค์แรก ก่อนหน้านั้นนักบวชทั้งหลายก็ไม่รู้กัน รู้แต่วิธีระงับให้จิตสงบได้เป็นพักๆเท่านั้นเอง กำหนดพุทโธๆๆหรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก พอจิตสงบตอนนั้นก็สบาย ลืมเรื่องราวต่างๆไป ไม่คิดถึงเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ไม่วุ่นวายใจ แต่พอถอนออกมาก็เริ่มคิด เริ่มอยากจะรู้อยากจะเห็นอยากจะฟัง อยากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอไปได้ยินเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้า ถ้าถูกอกถูกใจก็ดีใจ ถ้าไม่ถูกอกถูกใจก็วุ่นวายใจ แล้วก็พยายามไปแก้ในสิ่งที่แก้ไม่ได้ แต่ไม่รู้ เช่นคนจะเจ็บคนจะตายจะไปแก้ได้อย่างไร ทำให้หายวันนี้ แล้วอยู่ต่อไปสัก ๕ ปี ๑๐ ปีได้ แล้วก็กลับมาที่จุดนี้อีก ต้องกลับมาเจ็บมาตายจนได้ เพียงแต่ผัดเวลาไปเท่านั้นเอง แต่ก็ต้องทำ ทำได้ก็ทำไป แต่ควรทำด้วยปัญญา คือรู้ว่าเป็นการผ่อนเวลาไปเท่านั้นเอง ผัดเวลาไป สำหรับคนที่ได้รับการรักษาหายจนแล้ว ถ้าฉลาดก็จะได้รับประโยชน์ จะรู้ว่าชีวิตใกล้จะหมดแล้ว เกือบจะหมดไปแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนี้ได้โอกาสใหม่ จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ หรือตามแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็จะได้ประโยชน์ตรงนั้น ถ้าได้สติแล้วรีบปฏิบัติ ก็อาจจะเสร็จกิจภายในไม่กี่วัน

 

พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระราชบิดาให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนที่จะเสด็จสวรรคต ตอนนั้นทรงประชวร พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเอาหมอไป เอารถพยาบาลไป แต่เอาธรรมโอสถไป เอาความจริงไป สอนจิตให้ปล่อยวาง สังขารร่างกายเป็นของไม่เที่ยง อนิจจา วต สังขารา มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา ปล่อยวางได้จะทำให้หลุดพ้น จากความทุกข์ทั้งหลาย ที่เกิดจากการแตกดับของสังขารร่างกาย ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้วปล่อยวางได้ ร่างกายจะอยู่จะตายก็เป็นเหมือนแก้วน้ำ ใครจะเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรา แต่ถ้าหวงว่าเป็นแก้วราคาแพง ที่เราโปรดมาก ถ้าใครมาแตะมาทำแตกเข้า ก็วุ่นวายใจ ร่างกายกับแก้วน้ำก็เหมือนกัน เป็นธาตุเหมือนกัน เป็นอนิจจังเหมือนกัน ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็ต้องบุบสลายไป ให้ความทุกข์ถ้าไปหลงยึดติด ไปรักไปชอบไปอยากให้อยู่ไปนานๆ ถ้าไม่เป็นตามความอยากก็เสียใจ แต่ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆว่ามันต้องไป มันจะไปก็ให้มันไป ไม่ต้องเสียดาย พอมันไปก็จะไม่วุ่นวาย จะปล่อยมันไป ถ้าพิจารณาจนเห็นชัดแล้วก็จะปล่อย จะโล่งใจ เบาใจ สบายใจ โรคจะหายไม่หายก็ไม่สนใจ ใจของพวกเราตอนนี้เหมือนกับกาวตราช้าง พอได้อะไรมาแล้วจะติดจนแยกออกจากกันได้ยาก เหมือนกาวตราช้างที่ติดกับอะไรแล้ว จะเอาออกยาก ต้องง้างจนหักออกจากกัน นี่คือผลที่เกิดจากความหลง ไม่เห็นความสุขภายนอกใจ ก็เลยไปหาความสุขภายนอกกัน ที่ความทุกข์แถมมาด้วย เหมือนไปเติมน้ำมันแล้วได้แก้วได้ผ้าแถมมาด้วย ได้อะไรมาก็ต้องทุกข์กับสิ่งนั้น ยิ่งรักมากยิ่งทุกข์มาก ถ้าไม่รักเลยก็ไม่ทุกข์เลย จะเอาอย่างไรดี จะเอาทุกข์หรือไม่เอาทุกข์ ถ้าไม่เอาทุกข์ก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง อยู่เฉยๆไป ไม่รักไม่ชัง แต่มีความเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา ถ้าอยู่แบบนี้ได้ ก็จะอยู่แบบไม่ทุกข์

 

ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำอะไรกัน ก็ปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัย ใครอยากจะทำอะไรก็ทำไป อยากจะเอาเท้าเดินก็ได้ เอามือเดินก็ได้ คลานไปก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ ชีวิตของเขา ถ้าเขาไม่เดือดร้อนเสียอย่าง เราจะไปเดือดร้อนแทนเขาทำไม เพราะเราไปหลงรักเขา ไปยึดไปติด เห็นว่ากำลังจะไปสู่ความเสื่อมเสีย สู่ความทุกข์ ก็เดือดร้อนแทน พูดอย่างไรก็ไม่ฟัง ก็ยิ่งเดือดร้อนใหญ่ อย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเอง บอกได้สอนได้ แต่อย่าไปทุกข์ด้วย เหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนครูบาอาจารย์ ท่านไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนกับพวกเรา สอนแล้วก็แล้วกันไป คนฟังจะเอาไปปฏิบัติหรือไม่ ก็อยู่ที่ตัวเขา คนสอนจึงไม่ควรไปเดือดร้อน ทำหน้าที่ไป สั่งสอนไป จะปฏิบัติได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่เข้าใจก็ได้ ไม่ยอมรับสิ่งที่เราสอนก็ได้ ถ้าไม่รับก็เหมือนเทน้ำใส่แก้วที่คว่ำอยู่ เทลงไปเท่าไหร่ก็ไม่สามารถรับน้ำได้ คำสอนที่ดีที่งามถ้าสอนให้คนที่ไม่ยอมรับ ก็เปล่าประโยชน์ ปัญหาของพวกเราก็คือความหลง ขาดปัญญา เมื่อมีความหลงก็เกิดความยึดติด ความอยากต่างๆ ถ้ามีปัญญาก็จะมีความพอดี ทำทุกอย่างในกรอบของเหตุผล เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แล้วก็ต้องดูที่ใจของตนด้วย ว่าทุกข์วุ่นวายหรือเปล่า ถ้ามีปัญญาจะไม่ทุกข์ไม่วุ่นวาย ถ้าทุกข์วุ่นวายก็จะหยุดทันที ถ้าไม่มีปัญญาจะวุ่นวายจะทุกข์กว่าคนที่ได้รับการช่วยเหลือเสียอีก ที่กลับเห็นว่าเรานี่วุ่นวายเหลือเกิน

 

จึงควรเข้าใจว่า สิ่งที่เราควรแสวงหาไม่ได้อยู่ภายนอก แต่อยู่ภายใน คือความสงบของจิตใจ จึงต้องมีทานศีลภาวนา ทำความดีต่างๆ มีความกตัญญูกตเวที สัมมาคารวะ ความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ เสียสละรับใช้ผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีความเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา ไม่อิจฉาริษยา  ผู้อื่นได้ดีก็ถือว่าเป็นบุญของเขา ใครทุกข์ยากใครลำบากก็ให้ความเมตตากรุณา ช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกันไป อย่ามองว่าเป็นคู่ต่อสู้กัน ให้มองว่าเป็นมิตรเป็นเพื่อนกัน จะทำให้จิตสงบไม่วุ่นวาย เวลาปฏิบัติธรรมก็จะสงบง่าย เมื่อจิตออกจากความสงบแล้วก็เจริญปัญญา ให้เห็นว่าโลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่ความทุกข์ ความสุขอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ในโลกนี้ จิตก็จะปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ได้ จะไม่เดือดร้อนไม่ทุกข์กับอะไรต่อไป คำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ ถ้ายังอยู่ในโลกนี้ก็ยังต้องทำมาหากิน เพื่อมาทำความดี ทำเพื่อสมบัติที่อยู่ในใจ อย่าทำเพื่อเงินทอง เพื่อตำแหน่ง แต่ทำเพื่อความสุขใจ

 

ถาม  ขออนุญาตเรียนถามเพื่อความรู้ประดับภูมิปัญญานะครับ อย่างบางคนเสาะแสวงหา ถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจก็จริง แต่มันเป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่ต้องทำ อย่างเช่นพ่อแม่ต้องหาเงินหาทองเผื่อไว้ ให้ลูกใช้จ่ายไปทางการศึกษา ก็ต้องเสาะแสวงหา ไม่ได้ทำเพื่อใจแต่ต้องทำเพื่อหน้าที่

 

ตอบ  ก็ต้องทำไป อย่างที่พูดไว้ว่า อะไรที่จำเป็นต้องทำก็ทำไป แต่ไม่ได้ทำเพื่อความร่ำรวย ไม่ได้ทำเพื่อให้มีตำแหน่งสูงๆยศสูงๆ ทำเพื่ออยู่ เพื่อจะได้มาทำใจให้สงบต่างหาก

 

ถาม  คือที่ผมเรียนมานะครับ ความต้องการของคนนี่ นอกจากปัจจัย ๔ แล้ว ยังมีอีกตั้งหลายอย่าง เช่นความมีหน้ามีตาในสังคม ความมั่นคงในชีวิตอะไรต่างๆเหล่านี้ มันก็ดูเหมือนต่างไปจากที่ท่านพูด มันก็จะมีปัญหาเหมือนกัน เพราะเราอยู่ในโลก

 

ตอบ  นั่นแหละคือความหลง เพราะสิ่งที่เราต้องการไม่ได้ให้ความสุข ไม่เป็นคุณแต่เป็นโทษ แต่มองไม่เห็นกัน ไม่เข้าใจ เวลาอยากให้คนนับหน้าถือตาถ้าไม่ได้ก็จะเสียใจ จะโกรธ

 

ถาม  แล้วอีกอย่างท่านพูดว่า สอนแล้วไม่ทำก็ตามใจเขา แต่บางทีในเรื่องการศึกษา ผู้ที่เป็นครูเมื่อสอนแล้ว จะต้องมีการติดตามผลการปฏิบัติ จะไม่ขัดกันหรือครับ ว่าทำไมไม่ทำให้เขาเป็นคนดีให้ได้  ควรพยายามเพียรสอนไปหรือไม่

 

ตอบ  ถ้าทำได้ทุกคนก็ดีกันไปหมดแล้ว

 

ถาม  เปล่าเพียงแต่ว่า ทำไมไม่เพียรสอนให้เขาเป็นคนดีให้ได้ หรือติดตามผลการปฏิบัติ

 

ตอบ  เราสอนไปแล้วเราก็ตามดูด้วย ดูความสามารถของผู้รับ ว่ารับได้มากน้อยเพียงไร ประเมินผลไป แต่ไม่ให้ไปมีอารมณ์กับการสั่งสอน เข้าใจไหม สั่งสอนไปตามหน้าที่ มีนักเรียนในห้องอยู่ ๓๐ คน จะให้สอบได้ที่ ๑ ทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ จะให้ ๔ จุดทุกคนคงเป็นไปไม่ได้

 

ถาม  แต่ช่วยให้คนที่จะตกหรือใกล้ๆตกให้สอบผ่านได้ ก็คือต้องเรียกมาติวพิเศษหรือมาสอนเพิ่มเติม

 

ตอบ  ถ้าเกิดเขาไม่มาจะทำอย่างไร

 

ถาม  ก็ต้องหาวิธีการ ถ้าเป็นครูที่ดี นี่เป็นความคิดผมนะครับ

 

ตอบ  ก็ทำไป ไม่ได้ว่าอะไร เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ถ้าต้องการจะทำอย่างนั้นก็ได้ ไม่ได้ห้าม  ที่พูดก็เป็นแนวหนึ่งเท่านั้นเอง ที่มีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นแนวทางเดียวในการดำเนินชีวิต ถ้าเป็นอย่างนั้นทุกคนก็เป็นพระกันไปหมดแล้ว เพียงแต่ว่าพระก็ต้องสอนแนวทางของพระเท่านั้นเอง ในโลกนี้มีหลากหลายลัทธิด้วยกัน เช่นลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิทุนนิยม เป็นแนวความคิดในการดำเนินชีวิตที่ต่างกันไป ทุกคนก็คิดว่าแนวทางของตนถูกทั้งนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร พระพุทธศาสนาก็ไม่ได้มาล้มล้างลัทธิคำสอนของผู้อื่น ไม่ได้มาล้มล้างวิธีการดำเนินชีวิตของใครทั้งสิ้น มีหน้าที่สอนทางของพุทธเท่านั้นเอง ว่าเป็นอย่างนี้ เราไปทางนี้ เราทำอย่างนี้ คุณจะมาด้วยก็เชิญ เหมือนกับเราขับรถไปทางนี้ มีที่นั่งว่างอยู่ ถ้าคุณอยากจะไปด้วยก็เชิญ ถ้าคุณไม่อยากไปด้วย ก็ไม่เป็นไร คุณก็ไปทางของคุณ

 

ถาม  พระพุทธเจ้าสอนทางเพื่อความหลุดพ้นค่ะ เพื่อไม่ต้องมาเกิดอีก

 

ตอบ  ถ้าพูดกับคนที่ไม่มีความคิดแนวนี้ พูดไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด พูดไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ที่พูดนี้ก็ไม่ได้เน้นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เน้นตรงที่ตัวจิตเท่านั้น ว่าทำไมอยู่ไม่เป็นสุขกัน ทั้งๆที่จิตมีความสุขได้โดยไม่ต้องมีอะไร ถ้ามีปัญญา เข้าถึงสัจจธรรมความจริงของชีวิต ก็จะปล่อยวาง คำว่าปล่อยวางนี้ก็ไม่เข้าใจกันอีก ปล่อยทุกอย่างเลยหรือ ลูกก็ปล่อย เมียก็ปล่อย ผัวก็ปล่อย ไม่ใช่เช่นนั้น มีหน้าที่อะไรก็ทำไป แต่ทำในขอบในเขตของเหตุผล ของความจำเป็น เหตุผลก็คือความจำเป็น ต้องมีข้าวกินก็ต้องหามา ต้องมีเสื้อผ้าใส่ก็หามา จะเอากี่ชุดล่ะ ชุดละเท่าไหร่ดี นั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง อย่างในหลวงทรงสอนให้ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ก็ยังนั่งเถียงกันว่าเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะไม่เข้าใจ ในหลวงทรงพูดในแนวธรรมะ ถ้าคนฟังมีธรรมะก็จะเข้าใจ คือพอมีพอกินนั่นเอง ให้มีปัจจัย ๔ เพียงพอ เมื่อมีแล้วก็ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งอื่นอีก ไม่ต้องไปแสวงหาเรื่องหน้าตา เรื่องอะไรต่างๆ เพราะไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง ทำจิตให้สงบดีกว่า เจริญปัญญาเพื่อจะได้ปล่อยวาง เพื่อความสุขที่แท้จริง แนวพุทธเป็นอย่างนี้ แต่แนวที่คุณโยมได้อ่านมา เขาก็สอนว่านอกจากปัจจัย ๔ แล้ว ก็ต้องมีสังคม มีเพื่อนมีฝูง มีหน้ามีตา มีเกียรติ์  มีการพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ฯลฯ ก็เป็นความสุขแบบหนึ่ง แต่ทางพุทธกลับเห็นว่าไม่สุข เห็นว่ามีทุกข์แถมมาด้วย ไม่ได้แก้ทุกข์ในใจ ที่เกิดขึ้นเวลาพลัดพรากจากกัน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาแก่ชรา

 

ถาม  บางคนอาจจะเข้าใจว่า ปล่อยวางเป็นการไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจเกียร์ว่างค่ะ บางคนก็ยอมรับการเกิดเป็นธรรมดา ยังไงก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้สนใจที่จะปฏิบัติ เขาบอกว่าทุกข์ก็ทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายยอมรับ

 

ตอบ  ใช่ ชีวิตเขาก็จะวนเวียนอย่างนี้ไป โดยไม่รู้ตัว ฆ่าตัวตายกันก็มากทุกวันนี้ เมื่อมีปัญหา รับกับสภาพไม่ได้ ก็ยุติปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่ได้ไปแก้ปัญหา เพราะตัวที่ถูกฆ่าเป็นเพียงหุ่นเท่านั้นเอง ถ้าจะฆ่าต้องฆ่าตัวเชิด คือตัณหาความอยากทั้งหลาย ที่ต้องฆ่ากลับไม่ฆ่า ไปฆ่าร่างกาย ก็เหมือนกับพระพุทธเจ้าตอนแสวงหาการตรัสรู้ ก็จะฆ่าร่างกายด้วยการไม่กินข้าว อดข้าวถึง ๔๙ วัน แต่ตัวเชิดยังมีกำลังเต็มที่อยู่ในจิตในใจ จึงทรงเห็นว่าความทุกข์มันอยู่ในใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ตัวที่ทำให้ต้องดิ้นรนกวัดแกว่งแสวงหาต่างหากที่ต้องฆ่า แล้วก็ฆ่ามันได้ ระงับมันได้หยุดมันได้ แต่ต้องเห็นด้วยปัญญา ว่าสิ่งที่อยากได้นั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ให้โทษมากกว่าให้คุณ ให้ความทุกข์มากกว่าให้ความสุข เป็นสุขตอนต้นแต่ทุกข์ตอนปลาย เวลาได้เป็นนายกฯก็ดีอกดีใจ พอตกเก้าอี้ไปก็เป็นทุกข์  ศาสนาสอนให้ทุกข์ตอนต้นแต่สุขตอนปลาย ทุกข์ด้วยการต่อสู้กับความอยาก คนที่เลิกบุหรี่ได้นี่สบายกว่าคนที่ติดบุหรี่ คนที่เลิกเหล้าได้สบายกว่าคนที่ติดเหล้า แต่เวลาเลิกนี่มันทรมานจิตใจ แต่ก็ไม่นาน ไม่กี่วัน ถ้าฝืนได้อดได้ทนได้ ถ้าทำจิตให้สงบได้ก็จะไม่ยาก พอห่างไปสักระยะหนึ่ง ความอยากก็จะเบาลงไปๆ แล้วก็หมดไป ถ้าจะโผล่กลับมาอีก ถ้ามีปัญญาเห็นว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ก็จะไม่กล้าแตะ

 

ถาม  คนที่เห็นทุกข์แต่ไม่เห็นธรรมก็ลำบากเหมือนกัน

 

ตอบ  ก็ฆ่าตัวตาย

 

ถาม  พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า จะเห็นธรรมก็ต้องเห็นทุกข์ แต่คนที่มีทุกข์แต่ไม่เห็นทุกข์นี่ ลูกว่ามีอยู่ทั่วไป

 

ตอบ  เห็นทุกข์แต่ไม่รู้จักวิธีดับทุกข์ กลับไปดับด้วยวิธีที่เพิ่มทุกข์ เวลาทุกข์เพราะอยากไปเที่ยวแต่ไม่มีเงิน ก็เลยใช้บัตรเครดิต ทำให้เป็นหนี้มากขึ้น แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ ก็ทำให้ทุกข์มากขึ้น วิธีแก้ทุกข์ที่ถูกก็คือ เมื่อไม่มีเงินก็อย่าไปใช้บัตร หัดอยู่บ้าน อยู่เฉยๆบ้าง

 

ถาม  น้องที่เคยมาด้วยคนหนึ่ง เขามีความทุกข์คะ จริงๆพวกปฏิบัติส่วนใหญ่แล้ว เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาก็ปฏิบัติมาพอสมควร แต่เวลานี้เขาทุกข์มาก เขาก็รู้อยู่ แต่ยังหาทางออกไม่ได้ คือในที่ทำงานมีปัญหามาก แล้วก็กดดัน เขาก็รู้ว่าการออกมาปฏิบัติธรรมเลยเป็นการวางลง แต่มีภาระหลายเรื่องที่ยังต้องทำอยู่ ไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ เป็นความกดดันหลายๆทาง ทำให้ทุกข์มาก เขาก็ไม่รู้จะออกอุบายอย่างไรค่ะ จะปล่อยไปอย่างนี้แล้วจะพบทางออกเองหรือ

 

ตอบ  ทำเท่าที่ทำได้ ทำได้เท่าไรก็ทำเท่านั้น ผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามเรื่อง เราคงไม่สามารถไปกำหนดได้ ความอยากของใจมีมากกว่าความสามารถ ก็เลยทุกข์

 

ถาม  คือเขาต้องขายรถ เมื่อก่อนนี้ในภาวะเศรษฐกิจดีก็สามารถขายได้เยอะ ทีนี้ผู้เป็นนายก็กดดันค่ะ เป็นญาติสนิทกันด้วย ก็บอกว่าต้องตั้งเป้าขายให้ได้วันละ ๓ คัน ทีนี้เขาทำไม่ได้ แล้วเวลานี้เขารู้ใจเขาแล้วค่ะ เขาอยากออกไป อยากออกไปมาก เป็นคนมีศรัทธามาก แต่เนื่องจากภาระทางแม่ก็ยังมีอยู่ ก็เลยกดดันหลายทาง เขาเครียดมาก ขอเมตตาท่านอาจารย์ชี้แนะเขา

 

ตอบ  ความเครียดแก้ได้ แต่สิ่งภายนอกบางทีก็แก้ไม่ได้ ความเครียดเกิดจากจิตไปอยาก กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วไม่เป็นไปตามอยาก ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา วิธีง่ายๆก็คือยอมรับความจริง อะไรจะเกิดก็เกิด เราทำดีที่สุดแล้ว ทำหน้าที่ของเราเต็มที่แล้ว เต็มความสามารถแล้ว ด้วยความถูกต้องดีงาม ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่ถ้าผลไม่ออกมาที่เราต้องการ ก็ต้องปรับความต้องการให้เท่ากับผลที่ออกมา ก็จะไม่เครียด พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ถาม  ที่นี้ไม่พอใจกับคนที่เป็นนาย

 

ตอบ  ต้องปล่อยเขา เขาไม่พอใจ ก็รู้ว่าเขาไม่พอใจ

 

ถาม  ยอมรับสภาพ

 

ตอบ  ยอมรับความจริง ถ้าเขาจะย้ายเราไปก็ยอมไป จะไล่ออกเราก็ยอม

 

ถาม  ยอมรับสภาพ แต่จิตใจก็ยังเครียดอยู่ครับ มันไม่หาย

 

ตอบ  ถ้ายอมจริงๆจะไม่เครียด ถ้ายังเครียดก็แสดงว่ายังไม่ยอมรับ ถ้าปล่อยวางแล้วจะกล้าเผชิญกับผลที่จะเกิดขึ้น จะตกงานก็ยอมรับ จะต้องไปติดคุกติดตะรางก็ไป ยอมรับความจริง ถ้ามีปัญญาจะรู้ว่าไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตาย ไม่มีอะไรจะรุนแรงเท่าความตาย ถ้าทำผิดโทษสูงสุดก็แค่ประหารชีวิตเท่านั้นเอง ให้คิดถึงผลเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น ถ้ายอมรับได้แล้ว อะไรจะเกิดก็ไม่มีปัญหา ดีทั้งนั้น ดีกว่าถูกประหารชีวิต แค่ถูกไล่ออก 

 

ถาม  ถูกไล่ออกนี่ บางคนต้องมีเงินมาเลี้ยงครอบครัว

 

ตอบ  ก็ไม่เป็นไร ไม่มีเลี้ยงก็อยู่แบบไม่มี ถ้าตายไปเสียก่อน ไม่ได้ถูกไล่ออกจากงาน หัวใจวายตายไป คนที่อยู่ข้างหลังจะอยู่ได้ไหม เขาก็อยู่ได้ อยู่ไม่ได้ก็ตายตามกันไป ก็มีอยู่เท่านั้น อยู่ได้เดี๋ยวก็ตายเหมือนกัน

 

ถาม  อาจจะอยู่ได้แต่อยู่แบบลำบาก

 

ตอบ  ความจริงของชีวิตมันเป็นอย่างนี้ อย่างน้อยเราไม่เครียด ถ้าอยากจะเครียดแล้วลำบากด้วยก็สุดแท้แต่ ไม่มีใครอยากจะลำบากเมื่อครู่นี่ก็พูดแล้วว่า คนเราคิดแต่จะมีความสุขความสบายกัน แล้วทำไมยังมีคนลำบาก ยังมีความทุกข์กันอยู่ล่ะ ก็เพราะเป็นสภาพความจริงของคนเรา มันเป็นแบบนี้ มีสุขมีทุกข์ มีสบายมีลำบากสลับกันไป บางคนชาตินี้เกิดมาแล้วสุขสบาย บางคนเกิดมาแล้วทุกข์ลำบาก โลกนี้เป็นอย่างนี้ นิ้วของคนเรายังไม่เท่ากันเลย ทำให้นิ้วของคนเราให้เท่ากันก่อนเถิด ก่อนที่จะทำให้ทุกคนเท่ากันหมด อยู่อย่างสุขสบายเหมือนกันหมด ความเป็นอนิจจังเป็นอย่างนี้ แต่ไม่มองกัน มองแต่ทางอุดมคติ คิดว่าทุกคนต้องเสมอภาคเท่ากันหมด มีความสุขเท่ากันหมด เป็นความคิดความฝัน พระพุทธเจ้าไม่เป็นคนคิดฝัน ท่านเป็นคนจริง ดูความจริง คือสัจธรรม อริยสัจ ๔ ความจริงที่มีอยู่ในใจของเราทุกคน แต่มองไม่เห็นกัน ที่เครียดก็เพราะความอยาก แสดงไว้อย่างชัดเจนแล้ว ถ้าไม่อยากเครียดก็ดับความอยากเสีย

 

ถาม  แล้วอย่างปัจจัยภายนอกหรือสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ มันมากระทบเรานี่ จะแก้ได้อย่างไร

 

ตอบ  ต้องทำใจ ฝนจะตก ไปห้ามมันได้ไหม สึนามิมาอย่างนี้ ไปห้ามมันได้ไหม เวลาเกิดก็ต้องทำใจ

 

ถาม  หมายความว่าเราแก้อย่างอื่นไม่ได้ แก้ที่ตัวเราเองจะง่ายกว่า

 

ตอบ  แก้ที่ใจ ด้วยการทำใจ

 

ถาม  ฟังๆดูเหมือนง่ายแต่ทำยาก

 

ตอบ  เพราะไม่ทำกัน มันจึงยาก คนอื่นทำไมเขาทำได้ ครูบาอาจารย์ที่เรากราบไหว้ทุกวันนี้ท่านทำได้ เราถึงกราบไหว้ท่าน ไม่ได้กราบไหว้ตรงไหน ก็กราบไหว้ตรงที่ท่านทำใจได้ ท่านอยู่แบบขอทานได้ เราอยู่ได้หรือเปล่า

 

ถาม  คือเราจะต้องค่อยๆทำใจไปเรื่อยๆ

 

ตอบ  หัดอยู่แบบขอทานที่บ้านก็ได้ 

 

ถาม  มันยากจริงๆค่ะ อย่างเรื่องคนที่แม่ป่วยลูกก็เข้าใจเขา เขาก็เข้าใจ เขายอมรับในไตรลักษณ์ แต่บางขณะมันทำไม่ได้

 

ตอบ  กิเลสมันแรงกว่า 

 

ถาม  ที่ท่านเทศน์บอกว่า พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระราชบิดาตอนทรงประชวร พระพุทธเจ้าคงจะรักษาได้ แต่ท่านก็ไม่

 

ตอบ  ทรงให้ยาที่ดีกว่า รักษาส่วนที่ต้องรักษา ส่วนที่ไม่ควรรักษาก็ไม่ไปเสียเวลา

 

ถาม  ไม่มีอะไรแน่นอน

 

ตอบ  ใจไม่ตาย รักษาใจ

 

ถาม  บางครั้งก็รู้ แต่บางครั้งยังหลงอยู่นะค่ะ

 

ตอบ  หลวงปู่มั่นตอนที่ท่านไปอยู่ที่ถ้ำสาลิกา ท่านเล่าว่าปวดท้อง รับประทานยาอยู่หลายวัน ก็ไม่หาย จนในที่สุดก็ตัดสินใจไม่รับประทานยาอีกต่อไป ใช้ธรรมโอสถแทน ถ้าพิจารณาปล่อยวางร่างกายได้ โรคก็จะหายไปเอง ท่านก็เลยนั่งสมาธิกำหนดจิต แยกธาตุแยกขันธ์แยกจิตออกจากกัน ปล่อยวางเวทนา จะทุกข์จะเจ็บจะปวดขนาดไหนก็ปล่อยมันเป็นไป ปล่อยให้แสดงอาการเต็มที่ จนจิตสงบรวมลงเป็นหนึ่ง พอถอนออกมาอาการเจ็บท้องก็หายไปหมด บางทีเกิดจากความเครียด เกิดจากความอยากให้มันหาย ยิ่งอยากให้หายแต่ไม่หาย ยิ่งเครียดใหญ่ ก็ยิ่งเจ็บใหญ่ ความเครียดไปเสริมความเจ็บทางร่างกายให้มีมากขึ้น ร่างกายก็เลยปั่นป่วน เพราะไหนตัวมันเองก็ไม่ค่อยปกติอยู่แล้ว ยังมีจิตมายุ่งกับมันอีก ก็เลยยิ่งปั่นป่วนใหญ่ พอจิตไม่ไปยุ่งกับมัน ปล่อยให้มันดูแลของมันไปเอง ให้ฟื้นตามธรรมชาติ พอถึงเวลามันก็ฟื้นขึ้นมาเอง

 

ถาม  อย่างนี้ไม่ต้องทานยา

 

ตอบ  เท่าที่ท่านเล่าให้ฟังก็เป็นอย่างนี้ ทานมาหลายวันแล้วไม่ได้ผล อาจจะเป็นเพราะยาไม่ถูกกับโรคก็ได้

 

ถาม  วันนี้ท่านพระอาจารย์เทศน์ว่า คนเรามันเบื่อง่าย ทานอาหารอร่อยๆซ้ำกัน ๒-๓ ครั้งก็เบื่อแล้ว เป็นเพราะอะไร สัตว์บางชนิดทานอาหารอย่างเดียวตลอดชีวิตได้ แต่เราเป็นเพราะกิเลสหรืออย่างไร ที่ทำให้ต้องเป็นอย่างนี้

 

ตอบ  เป็นกิเลส จิตจะแกว่งไปแกว่งมาอยู่เรื่อย จากความอยากมีอยากเป็น ก็จะแกว่งไปหาความเบื่อหน่าย ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น พอมีอะไรจำเจก็จะเบื่อ อยากจะได้ใหม่ เป็นเหรียญด้านเดียวกันแล้วแต่จะมอง อยากได้ของใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ เบื่อของเก่าๆ ซื้อเสื้อผ้ามาใส่ได้ไม่กี่วัน พอไปเห็นชุดใหม่ก็อยากจะได้อีก

 

ถาม  ส่วนใหญ่เป็นกันอย่างนั้นใช่ไหมค่ะ

 

ตอบ  กิเลสตัณหาเป็นอย่างนี้ ถ้ายังมีโลภโกรธหลง มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาอยู่ ก็จะเป็นอย่างนี้ สิ่งต่างๆที่เราได้มาก็ไม่ได้ให้ความพอ ไม่มีคำว่าพอสำหรับของที่เราได้มา

 

ถาม  อย่างสัตว์มันไม่มีทางเลือก

 

ตอบ  ถ้าเลือกได้มันก็เลือกกินเหมือนกัน หมามันก็เลือกกินเหมือนกัน

 

ถาม  เขาอาจจะเบื่อก็ได้ เพราะให้อย่างเดียวทุกวัน เขาไม่มีสิทธิ์เลือก

 

ตอบ  เพราะไม่มีอย่างอื่นกิน ลองให้อย่างอื่นดู พวกลิงนี่พอให้ข้าวมันกินแล้ว มันก็ไม่จะหากินในป่า รอกินแต่ข้าวที่พระให้มัน

 

ถาม  แสดงว่าสัตว์ทุกชนิดมีกิเลสหมดเลย

 

ตอบ  มีจิตเหมือนกัน เพียงแต่ว่าชาตินี้เป็นสัตว์เท่านั้นเอง เราก็ไม่แน่ชาติหน้าอาจจะไปเป็นลิงหรือเป็นอะไรก็ได้

 

ถาม  จิตเราตามเรามาหรือเปล่า

 

ตอบ  ก็จิตเรานี่แลที่เป็นตัวไปเข้าในร่างลิง เหมือนที่เข้ามาในร่างคน

 

ถาม  แล้วจิตไปเป็นลิงด้วยหรือเปล่า

 

ตอบ  ไม่ จิตไม่ตาย เพียงเปลี่ยนร่างไปเรื่อยๆ ร่างนี้แตกไป ก็เปลี่ยนร่างใหม่ เหมือนกับเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่

 

ถาม  อ้าวไม่ใช่ตามคนนั้นที่ว่า ทำความดีแล้ว จะตามไป

 

ตอบ  จิตกับคนที่ไปก็ตัวเดียวกัน พอร่างกายนี้ดับไปแล้ว ใจก็จะไปหาร่างใหม่ ใจที่กำลังคิดอยู่นี้ ที่กำลังรู้อยู่นี้ ตัวนี้ไม่ตาย แต่ทางวิทยาศาสตร์ว่าใจเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย อยู่ในสมอง แต่ทางศาสนาพุทธว่าเป็นเหมือนน้ำกับขวดน้ำ เวลาขวดน้ำแตก น้ำไม่ได้แตกไปกับขวดน้ำ น้ำก็ได้ขวดใหม่ ขวดกลมขวดแบน ขวดขาวขวดเขียว ใจก็แล้วแต่บุญแต่กรรม ถ้าไปเกิดเป็นเดียรัจฉานก็แสดงว่าไม่ได้รักษาศีล ๕ แต่ถ้ารักษาศีล ๕ ก็จะได้เกิดเป็นมนุษย์

 

ถาม  บางคนฝันทุกคืน บางคนก็ฝันน้อยมาก

 

ตอบ  ถ้าไม่ฝันก็แสดงว่าจิตไม่เสวยบุญหรือบาป อยู่กลางๆ

 

ถาม  แล้วถ้าคนที่ฝันเห็นสิ่งที่ไม่ดี

 

ตอบ  เพราะทำสิ่งที่ไม่ดีไว้ ถ้าทำบุญอยู่เรื่อยๆไม่ทำบาปเลย ก็จะฝันแต่เรื่องดีอยู่เรื่อยๆ ถ้าชอบทำบาปทำกรรม ก็จะฝันร้ายอยู่เรื่อยๆ แต่พวกที่ชอบทำสมาธิปฏิบัติธรรมจะไม่ค่อยฝัน จะหลับสนิท

 

ถาม  เผอิญมีโยมที่มาปฏิบัติเขามีปัญหาอยู่หน่อย คือในการปฏิบัติของเขาขณะนี้ก้าวหน้าขึ้น แต่ว่าเกิดนิมิตขึ้นมากมาย แล้วเขารู้สึกพอใจในนิมิตมาก เพราะเป็นนิมิตในทางดีด้วยค่ะ

 

ตอบ  นิมิตก็เหมือนกับดูหนังดูละคร ดูแล้วมันก็ติด ไม่ก้าวหน้า ไม่เป็นวิปัสสนา ไม่ทำให้เกิดปัญญา ไม่ปล่อยวาง เวลาจิตไปเผชิญกับความทุกข์ จะไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เพราะไม่มีปัญญา

 

ถาม  เขาสงสัยว่านิมิตที่เกิดขึ้นเมื่อจิตรวมลงแล้ว เป็นสิ่งที่เขาเคยผ่านมาใช่หรือเปล่า เช่นเห็นพระพุทธเจ้าบ้าง หรืออะไรอย่างนี้ค่ะตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกับเขา 

 

ตอบ  มันดีแต่ไม่เป็นประโยชน์แก่การตัดภพตัดชาติ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก็ได้ แต่ไม่ได้ทำให้อนาคตของเราดีขึ้น คุณแม่แก้วก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน คุณแม่แก้วนับถือหลวงตาเป็นอาจารย์ ท่านพยายามสอนคุณแม่แก้วให้ละนิมิต เพราะคุณแม่แก้วจะชอบไปรับรู้เรื่องต่างๆ

 

ถาม  จะบอกให้เขาละนิมิตโดยวิธีใดคะ ไม่สนใจมัน

 

ตอบ  พิจารณาด้วยปัญญาว่าไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าต้องการพัฒนาจิตใจไปสู่อริยภูมิ สู่มรรคผลนิพพาน ก็ต้องปล่อยไปก่อน ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหายไป มันอยู่กับเรา เมื่อได้บรรลุถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะมาปรากฏให้เห็นเหมือนเดิม ตอนนั้นจะมีความรู้ความสามารถที่จะวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง สามารถเอาไปใช้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ได้ แต่ตอนนี้ถ้าไปยุ่งเกี่ยวแล้ว จะไม่ทำงานที่ต้องทำ คือทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ เหมือนกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แทนที่จะเรียนหนังสือ กลับไปทำกิจกรรม การเรียนก็เลยไม่ดี ไม่ได้ขึ้นชั้น เรียนไม่จบ นิมิตพวกนี้ก็เป็นเหมือนกิจกรรม ไม่ใช่วิชาหลัก ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ไปสนใจ รู้ไปก็เท่านั้น ไม่ได้ทำให้กิเลส คือความโลภความโกรธความหลง เบาบางหรือหมดไปได้ หลวงตาจึงต้องใช้ไม้เด็ดกับคุณแม่แก้ว บอกว่าถ้าไม่เลิกก็ไม่ต้องเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์กัน คุณแม่แก้วก็เลยเลิกยุ่งกับนิมิต ไปทำงานด้านวิปัสสนาทันที พิจารณากาย พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พิจารณาอวิชชาจนหลุดพ้น ทีนี้จะมีนิมิตมากน้อยก็ไม่เป็นปัญหา คนที่ยังไม่หลุดพ้นก็เหมือนกับคนที่ติดอยู่ในคุก ไปดีใจกับการดูโทรทัศน์ทำไม รอไปดูข้างนอกไม่ดีกว่าหรือ เพราะจะไปทำอย่างอื่นก็ทำได้ อยู่ในคุกก็ได้แต่ดูโทรทัศน์ จะไปเที่ยวที่นั้นที่นี่ก็ไปไม่ได้ ก็ต้องเลือกเอา