กัณฑ์ที่ ๒๙๙      ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๐

 

ใจเป็นใหญ่

 

 

การมาวัดของพวกเรา มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาทำบุญให้ทาน มาปฏิบัติธรรม ก็มาเพื่อใจของเราเท่านั้น ไม่ได้มาเพื่อสิ่งอื่นใด เพราะไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับใจ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากใจทั้งนั้น ไม่ว่าในทางโลกหรือในทางธรรม มีใจเป็นประธาน ใจเป็นใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ เช่นรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน จรวด มีใจเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้คิดค้น แล้วก็สั่งไปทางกายและวาจา ให้ทำสิ่งต่างๆขึ้นมา พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ก็มีใจเป็นผู้ทำให้ปรากฏขึ้นมา อยู่ตรงที่ว่าอะไรเป็นผู้ผลักดันใจ  ถ้าอวิชชากิเลสตัณหาเป็นผู้ผลักดัน ก็จะออกมาทางโลก มาสร้างสิ่งต่างๆ เช่นจรวดดาวเทียม เพราะกิเลสอยากจะไปโลกอื่น ไปโลกพระจันทร์ ไปดาวอังคาร ก็คิดค้นสร้างจรวด สถานีอวกาศ ยานอวกาศ ถ้าธรรมเป็นผู้ผลักดัน ก็จะออกมาทางธรรม ปรากฏเป็นพระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวกขึ้นมา อย่างพวกเราวันนี้มาวัดกัน ก็มีธรรมเป็นผู้ผลักดันมา เราจึงมาปฏิบัติธรรม มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาทำบุญให้ทานกัน ถ้ามีอวิชชากิเลสตัณหาผลักดัน ก็คงไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไปบ่อนการพนัน ไปตามสถานที่เริงรมย์ มีอวิชชาพาไป คือมิจฉาทิฐิความเห็นผิดเป็นชอบ ส่วนธรรมเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่าสัมมาทิฐิ ใจจึงเป็นเหมือนรถยนต์ มีผู้ขับคือทิฐิ ๒ ชนิด สัมมาทิฐิความเห็นชอบกับมิจฉาทิฐิความเห็นผิดเป็นชอบ ถ้าความเห็นผิดเป็นชอบพาไป ก็จะพาให้เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ตามความโลภความอยาก ที่ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ ได้มามากน้อยเพียงไร ก็ยังโลภยังอยากอยู่เหมือนเดิม มีความรุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ผลักดันให้ใจเดินทางไปสู่ภพหน้าชาติหน้า เมื่อร่างกายแตกสลายดับไปแล้ว

 

ถ้าใจยังมีความโลภความอยากอยู่ มีมิจฉาทิฐิ มีอวิชชา ก็จะผลักดันให้ไปแสวงหาสิ่งต่างๆ อย่างที่เราแสวงหากัน ก็จะแสวงหาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบคนที่มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ อย่างพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่จะชี้ให้ไปในทางธรรม ถ้าเกิดศรัทธาแล้วปฏิบัติตาม ก็จะเป็นจุดหักเหของชีวิต เปลี่ยนจากการเดินตามอวิชชาตามมิจฉาทิฐิ ไปเดินตามธรรมตามสัมมาทิฐิ ใจก็จะหมุนไปอีกแบบหนึ่ง จากวัฏฏะก็จะเป็นวิวัฏฏะ สวนกระแสของสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิด ภพชาติก็น้อยลงไปตามลำดับจนหมดไปในที่สุด เพราะความโลภความอยากจะถูกทำลายไปตามลำดับ ชีวิตของพวกเราคงมีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจจะเป็นชาตินี้หรือชาติก่อนๆ ที่ได้พบกับจุดหักเห ได้พบผู้แนะนำเรื่องความเห็นที่ถูกต้อง หรืออาจจะคิดขึ้นมาเอง ว่าการทำตามความอยาก การแสวงหาความสุขจากสิ่งต่างๆในโลกนี้ เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ เห็นว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การระงับดับความโลภความอยากต่างๆ จึงพยายามปฏิบัติอย่างเข้มข้น จนหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง พวกเราคงได้พบกับจุดหักเหแล้ว จึงได้มีฉันทะวิริยะ มีความพอใจความพากเพียร ที่จะเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินไป ถ้าปฏิบัติอย่างไม่ท้อแท้ อย่างขะมักเขม้น ปฏิบัติให้มากยิ่งๆขึ้นไป ก็เชื่อได้ว่าไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง จะถึงจุดหมายปลายทางที่ดีที่เลิศ คือมรรคผลนิพพานอย่างแน่นอน แต่ต้องมีวินัย ต้องบังคับตนเองให้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ก็จะเป็นแบบกระต่ายที่วิ่งแข่งกับเต่า เต่ามีวินัยถึงแม้จะเดินช้าแต่เดินไม่หยุด เดินไปเรื่อยๆ แต่กระต่ายจะวิ่งไปตามอารมณ์ มีอารมณ์อยากจะวิ่งก็วิ่ง ไม่มีก็จะไม่วิ่ง ก็จะไปไม่ถึงไหน แต่ถ้ามีวินัยทำไปเรื่อยๆ ก็จะติดเป็นนิสัยไป จะทำแบบไม่หยุดไม่หย่อน ถึงแม้จะช้าบ้างเร็วบ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะมีความตั้งใจที่แน่วแน่ ที่จะทำอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ทำให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ รับรองได้ว่าไม่มีอะไรจะมาขวางกั้นมรรคผลนิพพานได้ อย่างในสุภาษิตที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น

 

พวกเรามีเหตุมีปัจจัยที่ดีแล้ว คือมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ แต่เรายังต้องเพิ่มความเพียรให้มากขึ้น เพราะการจะหลุดพ้นจากความทุกข์ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ต้องมีความเพียรเป็นส่วนประกอบสำคัญ คุณธรรมอย่างอื่นก็สำคัญ เช่นสติปัญญาสมาธิ ถ้ามีศรัทธาแล้วธรรมที่ต้องเจริญให้มากก็คือสติและความพากเพียร แล้วก็เจริญสมาธิเจริญปัญญา ตามลำดับต่อไป เมื่อมีปัญญาแล้วก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง บรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วยคุณธรรมทั้ง ๕ ประการคือ ๑. ศรัทธาความเชื่อ ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ๒. วิริยะความเพียร  ๓. สติ ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ให้ใจปราศจากสติ ให้มีกรรมฐานเช่นการบริกรรมพุทโธ เป็นหลักผูกใจไว้ ไม่ให้ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ ให้รู้อยู่กับพุทโธๆก็ได้ อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้ อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้านั่งอยู่เฉยๆก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออก ถ้ากำลังเดินกำลังเคลื่อนไหวก็ให้อยู่กับการเดินการเคลื่อนไหว จะได้ไม่ลื่นไม่ล้ม ไม่ไปเตะสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าเดินไปแล้วก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็อาจจะลื่นหกล้ม ไปชนไปเตะสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ เพราะไม่มีสติอยู่กับตัว ถ้ามีสติอยู่กับตัวจะรู้ทุกย่างก้าว จะรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า นี่คือการมีสติ ถ้านั่งรับประทานอาหารก็ให้อยู่กับการรับประทานอาหาร ไม่คุยกัน ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งคงจะยากสำหรับฆราวาสญาติโยม เพราะไม่เคยได้รับการปลูกฝังให้ปฏิบัติแบบนี้กัน ส่วนใหญ่จะถือการรับประทานอาหารเป็นกิจกรรมทางสังคม เวลาจะคุยกันก็กินข้าวไปด้วย เป็นปกติของฆราวาส ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ การปฏิบัติก็จะไม่เจริญก้าวหน้า ต้องดูการรับประทานอาหารของพระ เวลาฉันจะไม่คุยกัน ถึงแม้จะมีพระ ๑๐๐ รูป ๑๐๐๐ รูป ก็จะไม่มีเสียงออกมาเลย ทุกองค์จะฉันด้วยการมีสติ แม้แต่การขบเคี้ยวก็ต้องระวัง อยู่กับหลวงตาเวลาเคี้ยวดังๆจะโดนเทศน์ เวลาเคี้ยวผักบุ้งดังกรอบๆ ท่านก็จะมองละ พระทุกองค์ก็หันมามอง แต่องค์ที่เคี้ยวกลับไม่รู้สึกตัวเพราะขาดสติ ถ้ามีสติจะรู้ว่าดังกรอบๆก็ต้องหยุดก่อน แล้วค่อยเคี้ยวใหม่ไม่ให้มีเสียงดัง ถ้ายังมีเสียงดังก็เลิกฉันเลย ฉันอย่างอื่นที่ไม่ดังแทน

 

ถ้ามีสติอย่างต่อเนื่องแล้ว ใจจะอยู่ใกล้ตัว ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกผูกไว้ ก็จะไปไม่ไกล เวลาต้องการมันก็ไม่ต้องเสียเวลาไปตามหา ถ้าไม่ผูกไว้บางทีก็หาไม่เจอ ไม่รู้ว่าไปไหน ใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ผูกด้วยสติให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ พอเวลาจะนั่งสมาธิทำจิตให้สงบก็จะยาก เพราะจิตจะไม่อยู่กับกรรมฐานเช่นการบริกรรมพุทโธ  จะคิดถึงเรื่องต่างๆ บางวันนั่งสมาธิไม่สงบเลย นั่งไม่ได้เลย เพราะปล่อยจิตให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือมีเรื่องที่มีผลกระทบมาก ดึงให้จิตไปคิดจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว วันนั้นจะนั่งสมาธิไม่ได้ เพราะใจอยู่ไกลจากฐานของความสงบ ถ้ารู้สึกว่านั่งยาก บริกรรมพุทโธก็ไม่ได้ ดูลมหายใจเข้าออกก็ไม่ได้ ก็ต้องฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์แทน ฟังด้วยสติ ไม่ใช่ฟังแล้วก็คิดถึงเรื่องต่างๆ หรือสวดมนต์ด้วยสติไปก่อน ให้อยู่กับบทสวดมนต์ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องต่างๆ หรือใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องที่ไปกังวลไปเกี่ยวข้องด้วย เพื่อจะได้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป ต้องจบ ให้เห็นว่าไม่มีสาระอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นของปลอมทั้งนั้น ถ้าเป็นความสุขก็เป็นความสุขปลอม ถ้าเป็นสมบัติก็เป็นสมบัติปลอม ไม่ต้องไปเสียดาย เพราะสักวันหนึ่งก็ต้องทิ้งมันไป เมื่อตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย เอาความสุขปลอมไปไม่ได้ ความสุขแท้อยู่ที่ความสงบใจ ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาจะตัดเรื่องที่เกี่ยวข้องผูกพันได้ จะภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งสบายได้ พอจิตสงบนิ่งแล้วก็จะเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น ไม่ลอยไปลอยมา ไม่คิดปรุงอะไร ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ ไม่ต้องดูลมหายใจ จิตจะนิ่งอยู่เฉยๆ จะนานหรือไม่นานก็ขึ้นอยู่กับกำลังของการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติมากก็มีกำลังมาก ถ้ามีสติมาก ก็จะสงบนาน มีสติน้อย ก็จะสงบไม่นาน

 

การฝึกสติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญสมาธิ และการเจริญปัญญาในลำดับต่อไป เราสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ในวัด อยู่นอกวัด อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ก็เจริญได้ แต่สถานที่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเจริญสติง่ายหรือยาก เรียกว่าสัปปายะ ถ้าอยู่คนเดียวในสถานที่สงบสงัดวิเวก การเจริญสติก็จะง่ายกว่าอยู่ ๒ คนหรือ ๓ คน พออยู่ ๒ คน ๓ คนแล้วจิตมักจะคิดถึงกัน อยากจะคุยกัน แต่ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่รู้จะไปคุยกับใคร จะทำให้การดูแลการรักษาสติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เวลานั่งสมาธิก็จะสงบได้ง่ายกว่า เพราะไม่มีอะไรมาฉุดกระชากลากใจไป ถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงอึกกระทึกคึกโครม เวลานั่งสมาธิจะยาก เพราะเสียงจะเข้ามากระทบกับจิต ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา เกิดความรำคาญใจ เกิดความโกรธขึ้นมา ทำให้จิตขุ่นมัวยากต่อการทำให้สงบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเจริญสติจะต้องรอเวลา รอสถานที่สงบสงัด เพราะบางทีเรายังมีความผูกพันกับสังคมกับการทำงานทำการอยู่ ก็ต้องพยายามปฏิบัติในสภาพที่เราอยู่นั้นไปก่อน ถึงแม้จะไม่ได้เต็ม ๑๐๐ ได้เพียง ๑๐ ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย รักษาสติได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้รักษาเลย ให้คิดว่าขณะที่เดินไปไหนมาไหนเป็นการเดินจงกรม ขณะที่นั่งรออะไร ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดเรื่องอะไร ก็ให้คิดว่ากำลังนั่งสวดมนต์ กำลังนั่งทำสมาธิ บริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ พอกลับถึงบ้านอาบน้ำอาบท่าเสร็จ ก่อนจะนอนก็นั่งสมาธิ จิตก็จะสงบง่าย พอตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็นั่งได้อีก แต่ต้องตัดเรื่องอย่างอื่นไป ถ้าไม่ตัดจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน เช่นตัดพวกละครไป เสร็จจากงานกลับบ้านกินข้าวอาบน้ำเสร็จก็นอนเลย พอแล้วสำหรับเรื่องบันเทิงต่างๆ เป็นของปลอมทั้งนั้น เป็นตัวที่จะขัดขวางไม่ให้ได้พบกับความสุขพบกับสมบัติที่แท้จริง ตัดไปเลย อย่าไปเสียดาย

 

ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้า จะหลอกให้รอไปวัดก่อนค่อยปฏิบัติ ปีหนึ่งก็อาจจะไปได้เพียงครั้งเดียว ก็จะไม่พอ เพราะการปฏิบัติจะให้ได้ผลเป็นกอบเป็นกำ จะต้องปฏิบัติตลอดเวลาเลย เพราะกิเลสทำงานอยู่ตลอดเวลา อวิชชาทำงานอยู่ตลอดเวลา มิจฉาทิฐิทำงานตลอดเวลา คอยหลอกคอยล่อเราอยู่ตลอดเวลา แต่ธรรมกลับไม่ได้ทำตลอดเวลา ก็โดนต่อยอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ได้ต่อยกิเลสเลย กิเลสจึงมีกำลังมากกว่า แต่ถ้าผลัดกันต่อยก็จะพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ถ้าธรรมต่อยมากกว่า กิเลสก็จะต้องแพ้ธรรม แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ธรรมจะแพ้เสียมากกว่า เวลาเกิดความโลภก็โลภตาม เวลาเกิดความโกรธก็โกรธตาม เวลาเกิดความหลงก็หลงตาม จึงมีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจตามมา นี่คือผลจากการที่ไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะสลับผลัดกัน มีทุกข์บ้างมีสุขบ้าง แต่จะไม่ทุกข์เสมอไปแล้วก็ไม่ได้สุขแบบทางโลก ไม่ได้สุขจากการได้ดูได้ยินได้ฟังได้ดื่มได้รับประทาน แต่สุขจากการชนะความโลภความอยากความโกรธ เวลาโกรธแล้วดับมันได้ จะเกิดความสุขขึ้นมาภายในใจ เวลาโลภแล้วตัดมันได้ ก็เกิดความสุขขึ้นมา โดยไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองเสียเวลากับการหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก จะมีเวลาปฏิบัติ พอกลับบ้านรับประทานอาหารอาบน้ำอาบท่าเสร็จ ก็ไหว้พระสวดมนต์นั่งทำสมาธินอนแต่หัวค่ำ เช้าก็ตื่นสักตี ๒ ตี ๓ ภาวนาจนถึงตี ๕ ตี ๖ แล้วค่อยอาบน้ำอาบท่าไปทำงาน ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ไม่ต้องไปวัดก็ได้ ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา พอตื่นขึ้นมาก็มีสติอยู่กับตัว อยู่กับทุกย่างก้าว ไม่ว่าจะทำอะไร ให้มีสติกับการกระทำนั้นๆ ตั้งแต่อาบน้ำอาบท่าแต่งหน้าแต่งตัว ขับรถหรือขึ้นรถไปทำงาน อยู่ที่ทำงานก็มีสติอยู่กับการทำงาน ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ก็จะได้ปฏิบัิติอย่างต่อเนื่อง

 

ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้วรับรองว่าจะได้ผลมาก จะเจริญก้าวหน้า จะทำให้มีกำลังคือพละ ๕ ศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาจะเจริญเติบโต จากอินทรีย์ก็จะกลายเป็นพละเป็นพลัง เป็นระดับอริยะไป พระอริยะก็อาศัยพละทั้ง ๕ นี้ คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา เป็นเครื่องมือพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างพระโสดาบันนี่ก็มีศรัทธาที่ไม่สั่นคลอน ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ รู้ว่านี่คือทางที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง เพราะพระโสดาบันได้บรรลุธรรมได้เห็นธรรมแล้ว เมื่อได้เห็นธรรมก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าไปพร้อมๆกัน ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้เห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ที่จะเห็นตถาคตเห็นธรรมได้ก็ต้องเป็นพระอริยะสงฆ์เท่านั้น ก็คือพระโสดาบัน เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม เป็นอริยบุคคลขั้นแรก เป็นได้ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีศรัทธาเต็มเปี่ยมในหัวใจ มีฉันทะความพอใจที่จะปฏิบัติให้มีธรรมมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วยพละ ๕ คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา พวกเราตอนนี้ก็มีสติมีสมาธิมีปัญญาอยู่บ้าง แต่ยังมีไม่มากพอ จึงต้องเพียรสร้างให้มากขึ้น วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง เรานอนเสีย ๘ ชั่วโมง มี ๑๖ ชั่วโมงที่ตื่น เราเจริญสติกันสักกี่นาที ควรประเมินดู ที่ไปไม่ถึงไหนกันก็อยู่ที่การปฏิบัติของเรา ไม่ได้อยู่ที่ใคร ถ้าประเมินดูเราจะเกิดความอาย และคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนอาจจะหลอกตัวเองว่าปฏิบัติมาก พอประเมินดูก็จะเห็นว่าไม่ได้ปฏิบัติมากเลย ถ้าจะปฏิบัติมากต้องถึงเนื้อถึงแก่น ต้องปฏิบัติทุกลมหายใจเข้าออกเลย ในทุกขณะที่ตื่น ควรเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ให้อยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ หลักของสติคือที่นี่เดี๋ยวนี้ ถามตัวเราเสมอว่า ขณะนี้ใจเราอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้หรือเปล่า หรืออยู่ที่เมื่อวานนี้ อยู่ที่พรุ่งนี้ อยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่ตามที่ต่างๆ นั่นแสดงว่าใจลอยไปแล้ว แต่ก็ไปได้บ้าง เพราะมีความจำเป็นต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าปล่อยให้ไป อย่าเคลิ้มฝันคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดถึงความสุขในอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรือฝันถึงความสุขในอนาคตที่จะตามมา เป็นเรื่องไร้สาระทั้งนั้น

 

ความสุขที่แท้จริงอยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ อยู่ในขณะที่มีสติ ถ้ามีสติจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น จึงต้องเพียรสร้างสติให้มากๆ นั่งสมาธิให้มากๆ ทำจิตให้รวมลงเป็นหนึ่งให้ได้ เป็นเอกัคตารมณ์ ขาดจากอารมณ์ต่างๆ ขาดจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถึงแม้จะมีเสียงมีรูปมีกลิ่นมีรสมีโผฏฐัพพะเข้ามาตามทวารทั้ง ๕ ถ้าจิตขาดจากอารมณ์เหล่านั้นแล้ว มันก็จะไม่รบกวน จิตจะนิ่งเฉยสบายเหมือนกับไม่ได้ยินไม่ได้เห็น เวลาจิตสงบจะเป็นอย่างนั้น ถ้าลงลึกไปอีกระดับหนึ่ง ก็จะหายไปเลย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆหายไปจากการรับรู้ของจิต แม้แต่ร่างกายก็หายไป เหลือแต่จิตอยู่ตามลำพัง สักแต่ว่ารู้เท่านั้น จะอยู่ได้เดี๋ยวเดียวหรืออยู่ได้นาน ก็แล้วแต่กำลังของการปฏิบัติ ถ้าได้พบจุดนั้นแล้ว รับรองได้ว่าศรัทธาจะมีมาก วิริยะก็จะตามมา อยากจะปฏิบัติอย่างเดียว อยากจะเจริญให้มาก อยากจะให้จิตเป็นอย่างนั้นอยู่บ่อยๆ เป็นอยู่เรื่อยๆ ตอนนั้นก็จะตัดความสุขทางโลกได้ ความสุขที่เกิดจากการดูการฟังการรับประทานการดื่มอะไรต่างๆ จะไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะความสุขที่ได้รับจากการรวมลงของจิตมีอานุภาพมาก เทียบกันไม่ได้เลย เหมือนช้างกับมด แต่เราไม่เคยเจอความสุขแบบช้างเลย พอได้ความสุขแบบมดก็ดีอกดีใจ มีความยึดติด ก็เลยไม่ได้สัมผัสกับความสุขที่เลิศที่ประเสริฐ ที่พระอริยะทั้งหลายได้สัมผัสกัน แต่ถ้าบำเพ็ญอย่างต่อเนื่อง ตั้งสติอยู่เรื่อยๆ นั่งสมาธิจนจิตรวมลงได้แล้ว จะรู้ว่าความสุขที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้สัมผัสเป็นอย่างไร จะมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความสุขนั้นมาอยู่กับเราตลอดเวลา การปฏิบัติก็จะคืบหน้า พอได้สมาธิแล้วก็เจริญปัญญาต่อไป ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามที่เข้าใจกัน คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเมื่อได้สมาธิแล้วปัญญาจะเกิดตามมา สมาธิเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้เกิดปัญญา

 

เวลามีสมาธิจิตสงบนิ่งแล้ว จิตจะไม่ลอยไปลอยมา เวลาจะให้พิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใดเช่นพิจารณากาย ให้เห็นเป็นอสุภไม่สวยไม่งาม จิตก็จะอยู่กับการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้พิจารณาเพียงแว้บเดียวแล้วก็หายไปคิดเรื่องอื่น แต่จะคิดพิจารณาทั้งวันทั้งคืนจนกว่าจะเข้าใจ เห็นอย่างทะลุปรุโปร่งตลอดเวลา จนตัดความหลงยึดติดในความสวยงามของร่างกายได้ ระงับดับราคะความกำหนัดยินดีในร่างกายได้เท่านั้น ถึงจะหยุดการพิจารณา ที่ต้องพิจารณาอสุภก็เพราะจิตยังหลง ยังมีความยินดีกับร่างกายของผู้อื่น โดยเฉพาะเพศตรงข้าม หญิงก็ต้องพิจารณาชาย ชายก็ต้องพิจารณาหญิง พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งาม อาการ ๓๒ หรือสภาพที่ตายไปแล้วว่าเป็นอย่างไร พิจารณาดูไปเรื่อยๆ ถ้ามีสมาธิก็จะสามารถพิจารณาได้ทั้งวันทั้งคืน เดินยืนนั่งนอน ในอิริยาบถต่างๆ เพราะจิตไม่ลอยไปไหน ไม่หิวกับอารมณ์ต่างๆ เพราะมีความสุขของสมาธิหล่อเลี้ยงอยู่ ความสุขที่เกิดจากความสงบเป็นเหมือนกับยาสลบ ที่จะทำให้กิเลสตัณหาความหลงต่างๆ ไม่มีกำลังฉุดลากจิตให้ไปอยากไปโลภได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่สามารถพิจารณาอสุภได้อย่างต่อเนื่อง หรือจะพิจารณาอะไรก็ตาม จะพิจารณาได้เดี๋ยวเดียว พิจารณาได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็หิวกับอารมณ์ต่างๆ กังวลกับคนนั้นกังวลกับคนนี้ ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ ก็จะไม่ได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่เห็นอย่างชัดแจ้ง ไม่สามารถตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ตัดตัณหาความอยากในสิ่งต่างๆได้ สมาธิจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญปัญญา เมื่อได้เจริญปัญญาอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะตัดอุปาทานตัดตัณหาได้ วิมุตติการหลุดพ้นก็จะเป็นผลตามมา นี่คือการปฏิบัติทางพุทธศาสนา เป็นขั้นเป็นตอน

 

นี่พูดถึงส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ยังไม่รวมถึงศีลและทาน ที่เป็นองค์ประกอบที่ต้องมีด้วยเช่นกัน ถ้ายังไม่ใจกว้างยังตระหนี่อยู่ ก็จะปฏิบัติธรรมยาก จะรักษาศีลยาก ถ้าไม่มีศีลจิตจะไม่สงบง่าย จะวุ่นวายรุ่มร้อนกับเรื่องต่างๆ เวลาทำผิดแล้วจะมีความกังวลวุ่นวายใจ นอกจากมีศรัทธาสติวิริยะสมาธิปัญญาแล้ว ก็ยังต้องทำบุญให้ทานรักษาศีล อย่างที่พวกเราทั้งหลายได้ปฏิบัติกัน อย่าไปเสียดายสมบัติข้าวของเงินทอง ทำบัญชีจำแนกมันไว้ ส่วนไหนที่จำเป็นก็เก็บไว้ ส่วนไหนไม่จำเป็นก็เอาไปจำหน่ายจ่ายแจก จะได้ตัดความตระหนี่ตัดความโลภ จะได้ไม่อยากได้เงินทอง เพราะพอมีพอกินแล้วจะเอามาทำไม ได้มาก็เอามาทำบุญอยู่ดี อย่าไปหามาเพื่อเอามาทำบุญ เป็นความหลงติดในการทำบุญ ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะทำด้วยความโลภ โลภในบุญ ทำบุญเพื่อตัดความโลภ ขอให้บำเพ็ญต่อไป

 

ถาม  เป็นคำถามของเพื่อนซึ่งมีญาติเป็นจิตหลอนแบบวิปลาส   เพื่อนแนะนำให้ทำภาวนาเพื่อบำบัด  ซึ่งดิฉันบอกเพื่อนว่าอย่าให้เขาทำภาวนา  เพราะสภาพป่วยของเขาเป็นที่จิต เป็นกรรม แล้วจิตของผู้ป่วยฟุ้งซ่านอยู่  ผู้ป่วยทำภาวนาร่วมชั่วโมง เงียบ แต่เมื่อออกจากภาวนา ผู้ป่วยเล่าว่ามีการสู้รบกันภายใน  ดิฉันเกรงว่าสภาพจิตเขาจะยุ่งเหยิงมากขึ้น  เลยห้ามไป ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด

 

ตอบ  ถ้าทำแล้วสงบ ก็ไม่มีปัญหาอะไร

 

ถาม  ก็ไม่ทราบสงบหรือไม่สงบ เขานั่งอยู่แล้วคะ แต่พอออกมาแล้วก็อาละวาดค่ะ

 

ตอบ  คงไม่มีสติ ไม่มีปัญญา

 

ถาม  ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่เหมือนกัน

 

ตอบ  ถ้าฟุ้งซ่านก็แสดงว่าไม่มีสติ ถ้ามีสติจะดูความคิดปรุงของตนเองอยู่ ถ้ามีปัญญาก็จะระงับดับความฟุ้งซ่านได้ อย่างที่อธิบายให้ฟัง  วันที่จิตวุ่นวายมากนั่งแล้วไม่สงบ ก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปหาเหตุผลว่ากังวลกับเรื่องอะไร ใช้ปัญญาดับเรื่องต่างๆนั้น ว่ามันไม่มีสาระอะไร เพียงแต่เราไปให้ความสำคัญกับมันเอง แต่ความจริงแล้ว มันไม่ได้สำคัญอะไร ไม่ได้เป็นสมบัติที่แท้จริง ไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่มีมันเราก็อยู่ได้

 

ถาม  สำหรับคนที่เป็นบ้าไม่ควรทำใช่ไหมค่ะ คือเขาจะมีระยะที่ดีและระยะที่ไม่ดี

 

ตอบ  คนบ้าจะไม่รู้สึกตัว มีสติแบบเกิดๆดับๆ ช่วงที่มีสติก็พอจะรู้เรื่องรู้ราว ช่วงที่ไม่มีสติก็เหมือนคนกินเหล้าเมา จะไปแนะนำอย่างไร จะรับคำแนะนำได้หรือเปล่า การดับความทุกข์นี้ดับได้ ๒ วิธี ด้วยสมาธิหรือปัญญา ถ้าใช้สมาธิ กำลังทุกข์กับเรื่องอะไร  ก็บริกรรมพุทโธๆอย่างเดียว ไม่ไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ทุกข์ อยู่กับพุทโธๆไปจนจิตสงบลง ก็ดับความทุกข์ได้ชั่วคราว พอถอนออกจากความสงบแล้วไปคิดถึงเรื่องนั้นอีก ก็จะทุกข์อีก เพราะไม่รู้ต้นเหตุของความทุกข์เกิดจากอะไร ถ้าใช้อุบายแห่งปัญญาพิจารณาจนเห็นว่า ทุกข์เพราะไปยึดไปติด ว่ามันดีมันวิเศษ แต่ความจริงแล้วมันไม่ดีไม่วิเศษอย่างไร ไม่มีมันเราก็อยู่ได้ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ได้ ก็จะไม่ยึดไม่ติด อยู่กับเราได้ก็อยู่ไป จะไปก็ให้มันไป ที่ฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ เพราะกลัวจะสูญเสียสิ่งที่รักที่ชอบไป พอคนที่เรารักจะจากเราไป เราก็วุ่นวายใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าพิจารณาว่าเขาก็แค่คนๆหนึ่ง มีอาการ ๓๒  มีเกิดแก่เจ็บตายเหมือนเรา สักวันเขาก็ต้องแก่เขาก็ต้องตายจากเราไป ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก็ปล่อยวางได้ เมื่อก่อนเราไม่มีเขาเราก็อยู่ได้ ที่วุ่นวายก็เพราะความหลงความยึดติด ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาก็จะเห็นไตรลักษณ์ เห็นอสุภ ก็ปล่อยวางได้ แต่คนที่จะมีปัญญาอย่างนี้มีน้อย จึงต้องอาศัยอุบายแห่งสมาธิไปก่อน ง่ายที่สุด เวลาทุกข์ใจไม่สบายใจก็กดความทุกข์ด้วยสมาธิ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ถ้าใช้ปัญญาเป็นก็พิจารณาว่าสักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน ไม่จากวันนี้ก็ต้องจากกันในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะเป็นอนิจจัง ไม่มีใครจะอยู่ไปได้ตลอด ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็จะปล่อยวางได้

 

ถาม  บางทีเราใช้ปัญญาพิจารณา แต่สติกับสมาธิมีกำลังไม่พอ มันก็กลับไปฟุ้งอีก พิจารณาอีกก็กลับไปฟุ้งอีก สู้กันอยู่อย่างนี้ เหมือนธรรมะกับอธรรมสู้กัน

 

ตอบ  พยายามทำไปเรื่อยๆ ต่อไปธรรมะจะมีแรงมากขึ้น เป็นพลังขึ้นมา ดังคำพูดที่ว่า ถ้าไม่มีความทุกข์ปัญญาก็บ่เกิด ถ้าไม่มีมารบารมีก็บ่เกิด

 

ถาม  ได้กราบเรียนไปตามที่ท่านอาจารย์บอก ว่าความทุกข์ของเขาไม่สามารถบำบัดโรคได้ เขาก็บอกว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคทางกายแต่เป็นทางจิต ความรู้สึกของเขาอันหนึ่งก็คือ ญาติเขาไม่สามารถจะรับรู้ จะให้กินยาหรืออะไรได้ กับสังคมรังเกียจว่าเป็นคนบ้า ทุกข์ของเขาจึงซ้ำสอง

 

ตอบ  คิดว่าเป็นเหมือนคนตายก็หมดเรื่อง เป็นคนนอกสังคมแล้ว อย่าไปหวังอะไรจากสังคม จะมองใครอย่างไรก็เป็นเรื่องของสังคม เราอย่าไปมองตามสังคม อย่าไปหวังอย่าไปอยากให้สังคมมองเขาตามความอยากของเรา ต้องยอมรับว่าสังคมเป็นอย่างนี้ เป็นสังคมของคนตาบอดหูหนวก มองไปตามประสาคนหูหนวกตาบอด คนที่มีปัญญาจะมองด้วยความเมตตาด้วยความกรุณา ด้วยธรรม ว่าเป็นวิบากกรรม ทำกรรมก็ต้องรับกรรมไป เราไม่ต้องไปแบก ไปหนักอกหนักใจกับวิบากของเขา พยายามช่วยเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ ดูแลเขาไป ก็ไม่ต้องอับอายขายหน้าเสียอกเสียใจอะไรกับ ปัญหามันอยู่ที่ตัวเขามากกว่าคนที่เสียสติ เพราะคนเสียสติก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว เหมือนกับคนตกนรกไปแล้ว คนที่ยังมีสติควรแก้ปัญหาของตัวเอง อย่าไปวิตก ยอมรับความจริงว่าเขาเป็นอย่างนี้ เป็นวิบากของเขา ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญอยู่เรื่อยว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว จะต้องรับผลของกรรมนั้น เป็นการเจริญอุเบกขาธรรม ปล่อยวาง ยอมรับว่าเป็นเรื่องของกรรม ไม่มีใครไปขวางกรรมได้

 

ถาม  พอจะรู้ได้ไหมว่าทำกรรมใดถึงทำให้ได้รับผลแบบนั้น

 

ตอบ  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เรื่องของกรรมเป็นอจินไตย สำหรับปุถุชนอย่างพวกเรา อย่าไปคิดให้เสียเวลา ว่าทำอะไรแล้วจะได้อะไร ให้คิดโดยภาพรวมก็แล้วกันว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากกรรมก็เจริญทานศีลภาวนา ถ้ายังอยากจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็ให้โลภโมโทสันไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็เกิดจากตัณหา ที่เป็นบ้าก็เพราะตัณหาพาให้เป็น อยากจะได้อะไรก็ทำตามอยากไปเรื่อยๆ ทำไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็หาเรื่องอื่นเรื่องใหม่มาทำ อย่างดารานักร้องชื่อดัง พอดังแล้วมีเงินทองเยอะ ก็เอาเงินทองมาซื้อความสุข ซื้อของฟุ่มเฟือย ซื้อยาเสพติด ซื้อสุรายาเมา ไปเที่ยวที่นั้นที่นี่ แต่งงานกับคนนั้นกับคนนี้ จนเป็นบ้าไป หาความสงบไม่ได้ ยิ่งทำตามความอยากมากเท่าไร ยิ่งทำให้จิตฟุ้งซ่านมากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำให้สงบ จิตจะสงบได้ต้องฝืนความอยาก ต่อสู้กับความอยาก เงินทองเป็นเครื่องมือของกิเลส ของความอยาก อยากจะได้อะไรก็หามา หามา หามาเท่าไหร่ ก็ไม่ได้ความสุขที่แท้จริง ได้ความสุขปลอม เพราะไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ กลับสร้างความอยากความหิวให้มีมากขึ้นกว่าเดิม มากกว่าตอนที่ไม่มีเงินมีทอง พอซื้อความสุขด้วยเงินด้วยทองไม่ได้ ก็หันไปพึ่งสุรายาเมา ดับความฟุ้งซ่าน พึ่งยาระงับประสาท พึ่งยาเสพติด ในที่สุดก็ตายไป อย่างนักร้องดังเอลวิสนี่ก็ตายเพราะยา ทั้งยากระตุ้นประสาท ยาระงับประสาท เวลามีความเศร้าสร้อยหงอยเหงา ก็กินยากระตุ้น ให้สดชื่นเบิกบาน ก็นอนไม่หลับ ก็ต้องกินยานอนหลับ กินเข้าไปมากๆก็จะทำลายร่างกาย อายุไม่เท่าไหร่ก็เสียชีวิตไป ถ้าทำตามความอยากมันจะเป็นอย่างนี้ จะทำให้กลายเป็นคนบ้าไปในที่สุด มีเศรษฐีบางคนกลัีวเชื้อโรค ต้องอยู่ในห้องปลอดเชื้อคนเดียว ไม่ให้ใครเข้ามา ใครจะเข้ามาต้องฆ่าเชื้อก่อน ไปไหนไม่ได้ ขังตัวเองอยู่ในห้อง

 

ถาม  เขาอยากจะขึ้นมาอยู่กับท่านอาจารย์ แต่อุปสรรคนี้คงทำให้มาไม่ได้

 

ตอบ  อย่ามาจะดีกว่า มาก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะยังห่วงยังกังวลอยู่ ต้องตัดให้ได้ก่อน ยอมรับความจริง สักวันหนึ่งก็ต้องตายจากกันไป คิดว่าตอนนี้ตายไปแล้วก็ได้ จะได้หมดเรื่อง

 

ถาม  คนที่อยู่ในภาวะแบบนี้ ต้องพยายามอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะฟุ้งไปตลอดเวลา เพราะเรื่องของคนอื่น ตัวเองพยายามให้อยู่กับปัจจุบันให้ได้ ว่ากำลังทำอะไรอยู่

 

ถาม มันทรมานมาก เวลาที่คนบ้าอาละวาดนี่ ทำให้คนที่อยู่ด้วยเป็นทุกข์

 

ตอบ  อย่าไปมองว่าเป็นคน ต้องมองว่าเป็นเหมือนสุนัข กิริยาอาการการกระทำไม่ได้เป็นคนแล้ว เป็นเหมือนกับเดรัจฉาน ก็ต้องมองแบบนั้น แต่ให้มีความเมตตา เป็นหมาก็ต้องล่ามไว้ ป้องกันไม่ให้ไปทำร้ายผู้อื่นหรือทำร้ายตัวเขาเอง

 

ถาม  ถ้าพิจารณาแบบนั้น ก็น้อมกลับมาพิจารณาตัวเองก็ได้ใช่ไหม

 

ตอบ  พิจารณาทั้ง ๒ ส่วน คนที่เราดูแล ก็ต้องดูแลให้เหมาะสมกับสภาพของเขา ส่วนใจเราก็ต้องพิจารณาว่าเป็นธรรมดาของชีวิต มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา ถ้าไม่เคยศึกษาถึงความเสื่อม พอปรากฏขึ้นกับคนที่เรารัก ก็รับไม่ได้ ถ้าพิจารณาไว้ล่วงหน้าแล้ว ว่าสักวันหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นแบบไหนก็ตาม เจ็บไข้ได้ป่วย วิกลจริต แก่ชรา หรือตาย ต้องเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าพิจารณาไว้ก่อน เตรียมตัวรับกับสภาพ พอเกิดขึ้นมาก็จะเฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งเขาและเรา เวลาพิจารณากายท่านสอนให้พิจารณาทั้งของเราและของคนอื่น เป็นเหมือนกัน เป็นวิบากกรรม เป็นเพียงที่กาย ถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะไม่เดือดร้อน เพราะใจไม่ได้เปลี่ยนแปลง ใจก็เหมือนเดิม ไม่ได้เป็นอะไรไปตามกาย ถ้ามีปัญญาแล้วใจจะมีสรณะ มีที่พึ่ง ทำให้ใจเป็นอุเบกขา ไม่วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ถ้าไม่เจริญปัญญา ไม่แยกกายออกจากใจ ไม่รู้ว่ากายเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าใจเป็นอย่างไร ก็สับสนวุ่นวายไปหมด ท่านจึงสอนให้เจริญธรรมที่ว่า เราเกิดมาแล้วย่อมมีความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บไข้ ความตายไปไม่ได้ ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องตื่นเต้น ร้องห่มร้องไห้ กลายเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะไม่ได้มองว่าเป็นธรรมดา กลับมองว่าเป็นเหตุการณ์แปลกประหลาด สัมมาทิฐิกับมิจฉาทิฐิก็ต่างกันตรงนี้ มิจฉาทิฐิจะมองเป็นเรื่องแปลกประหลาด ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย ทำไมจึงเกิดกับเขา จะคิดอย่างนี้ ถ้าเป็นสัมมาทิฐิก็จะมองเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นกับทุกคน มากหรือน้อย หนักหรือเบา เร็วหรือช้า ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็จะปล่อยวางได้ มีอุเบกขา

 

        อีกสักระยะหนึ่งก็คงจะทำใจได้ เบื้องต้นกิเลสจะต่อต้าน อยากให้เป็นไปตามความอยากของตน พอสักระยะหนึ่งก็ยอมรับ ยอมจำนนต่อสภาพความเป็นจริง ก็จะปลงได้ รับกับสภาพนั้นได้ เป็นปกติเวลาเกิดการสูญเสีย เกิดเหตุการณ์ที่เลวร้าย จะรับไม่ได้ จะต่อต้าน เครียดและทุกข์มาก พอเวลาผ่านไปก็ยอมจำนนต่อความจริง เพราะอยากอย่างไรก็ไม่เป็นไปตามความอยาก ถ้ายอมรับได้ก็ปลงได้ จิตก็กลับเป็นปกติ จะเอาประสบการณ์นี้มาเป็นบทเรียน เพื่อรับกับเหตุการณ์อื่นๆที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าได้หรือไม่ ถ้ายังเกี่ยวข้องกับคนนั้นคนนี้อยู่ ก็ยังจะต้องมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น กับคนอื่นและกับตัวเรา เกิดพิกลพิการไป แขนขาดขาขาดหูหนวกตาบอด จะรับกับสภาพได้หรือไม่ ถ้ารับได้เร็วก็จะทุกข์น้อย ถ้ารับได้ยากก็จะทุกข์มากทุกข์นาน ถ้ารับได้ทันทีก็จะไม่ทุกข์เลย ถ้ามันจะเป็นก็ต้องเป็น ห้ามมันได้ ต้องพิจารณา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาทั้งตัวเราและผู้อื่น

 

ถาม  คำถามที่พี่เขาถามในสภาวะจิตใจแบบนี้นะครับ เขาเหมาะที่จะนั่งภาวนาไหม

 

ตอบ  ตัวเขาหรือตัวผู้ป่วย

 

ถาม  ตัวเขาครับ

 

ตอบ ถ้าภาวนาได้ก็ดี จะช่วยทำให้รับความจริงได้

 

ถาม  หมายถึงคนป่วย

 

ตอบ  คนป่วยไม่รู้เรื่อง เหมือนคนเมา

 

ถาม  ไม่รู้เรื่อง จะสอนภาวนาคงไม่ได้

 

ตอบ  พาไปเที่ยวดีกว่า ให้ลืมเรื่องต่างๆ ให้เขาสนุกเพลิดเพลินกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าไปได้ ไม่ไปอาละวาด อยู่กับบ้านอาจจะรู้สึกหดหู่ ถ้าได้ออกไปปล่อยอารมณ์ ไปที่โน้นที่นี่ ก็จะบรรเทาได้บ้าง ดูว่าเขารับรู้หรือไม่ ถ้าไม่รับรู้ พาออกไปก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร

 

ถาม  เคยได้ยินครูบาอาจารย์พูดถึงการภาวนาของพระบางรูป ที่ภาวนาแล้วสติแตกไป ท่านก็ห้ามไม่ให้ภาวนา

 

ตอบ  ภาวนาไม่ถูก ควรจะหยุดก่อน จนกว่าจะหาวิธีที่ถูกได้แล้ว ค่อยภาวนาต่อไป การภาวนาที่ถูกหลัก คือทำจิตให้สงบ ด้วยอุบายของสมาธิหรือปัญญา เวลาฟุ้งซ่านวุ่นวาย ใช้ปัญญาพิจารณาให้สงบก็ได้ หรือทำจิตให้สงบด้วยสมาธิก็ได้ ถ้าเคยทำสมาธิอยู่เป็นประจำ ก็ใช้สมาธิเป็นเครื่องระงับ ถ้าทำสมาธิไม่ได้ พิจารณาด้วยปัญญาไม่เป็น ก็อย่าไปอยู่ใกล้กับเหตุการณ์ หลบไปดูหนังไปชอปปิ้ง ให้ลืมเรื่องที่สร้างความวุ่นวายใจ หรือไปอยู่วัดก็ได้

 

ถาม  เขาอยากจะขึ้นมาอยู่กับท่านอาจารย์

 

ตอบ  กลัวมาแล้วจะห่วงทางโน้น จะคิดว่าทิ้งปัญหาไปหรือเปล่า ก็จะเป็นกิเลสขึ้นมา หนีปัญหาหรือเปล่า ทอดทิ้งเขาหรือเปล่า ต้องคิดว่ามาเพื่ออะไร ถ้ามารักษาตัวก็ไม่เป็นการทอดทิ้ง เวลาไม่สบายก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ถึงแม้จะดูแลใครอยู่ก็ต้องปล่อยไปก่อน เพราะต้องรักษาตัวเราก่อน ก็ไม่เป็นการทอดทิ้ง ถ้าคิดไม่เป็นก็จะคิดว่าหนีปัญหา ปล่อยให้เป็นภาระของคนอื่น มาอยู่อย่างนี้ก็จะฟุ้งซ่าน คนฟุ้งซ่านอยู่ที่ไหนก็หาเรื่องฟุ้งจนได้ ไม่ได้อยู่ที่สถานที่

 

ถาม  คิดว่าเป็นความรับผิดชอบที่ต้องดูแล มาห่วงตรงนั้น

 

ตอบ  บางคนพอได้บวชแล้ว ก็มาคิดว่าทิ้งพ่อทิ้งแม่หรือเปล่า กิเลสจะทำให้จิตฟุ้งซ่านด้วยเรื่องต่างๆ จะทำอะไรจึงต้องมีเหตุมีผล มีความมั่นใจ จะได้ไม่ตะขิดตะขวงใจ ถ้าไม่มั่นใจก็จะสงสัยอยู่เรื่อย

 

ถาม  เคยได้ยินว่าศีลสมาธิปัญญาเปรียบเหมือนไม้ ๓ ท่อนที่ต่อเรียงกัน เพื่อค้ำยันกัน ถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็เท่ากับเอาไม้ ๒ ท่อนมาค้ำยันกัน ซึ่งเป็นไปได้ยาก ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ต้องหาให้ได้ ๓ ท่อนก่อน ต้องหาทาน หาสมาธิ หาปัญญามา แล้วค่อยเอามาประกอบกัน เหมือนสร้างกุฏิก็ต้องมีไม้ก่อนถึงจะสร้างได้ หาของที่หาง่ายก่อน หาทานแล้ว ก็หาศีล หาสมาธิ หาปัญญาไปตามลำดับ แล้วค่อยเอามาค้ำยันกัน ให้เป็นเรือนนิพพานขึ้นมา การปฏิบัติเพื่อพระนิพพานก็เหมือนการสร้างบ้าน ต้องหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆมาให้พร้อม ถึงจะสร้างได้ พวกเราแต่ละคนเคยหามามากน้อยต่างกัน บางคนไม่ต้องมาทำบุญทำทานก็ได้ อาจจะไม่มีเงินทอง แต่ก็ไม่กังวล ไม่มีก็ไม่ทำ รักษาศีลเจริญสติไปเลย แสดงว่าได้ทำทานมาพอแล้ว ไม่กังวลกับเรื่องการทำทาน สามารถรักษาศีล ๕ ได้ การทำบุญทำทานเป็นการช่วยทำให้รักษาศีล ๕ ได้ง่ายขึ้นกว่าการไม่ได้ทำทาน ถ้ามีความตระหนี่เห็นแก่ตัว ก็จะไม่เห็นแก่ผู้อื่น เวลาทำอะไรจะไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น อยากจะได้อะไรก็อาจจะทำผิดศีลผิดธรรม เห็นสามีเห็นภรรยาของคนอื่น อยากจะได้ขึ้นมา ก็จะไม่คิดถึงความเดือดร้อนของคนอื่น ถ้าเคยช่วยเหลือคนอื่นด้วยการทำทานอยู่เรื่อยๆ ก็จะคิดเสมอว่า เบียดเบียนคนอื่นไม่ดี เคยช่วยคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แล้วจะไปเบียดเบียนเขาได้อย่างไร ก็ทำให้เกิดมีศีลขึ้นมา เมื่อมีศีลความวุ่นวายใจก็น้อยลง ถ้าไม่ทำผิดอะไรจะไม่กังวลไม่วุ่นวายใจ ไม่เป็นวัวสันหลังหวะ เวลาแตะที่แผลก็จะเจ็บ เพียงแต่คิดถึงเรื่องที่ทำผิดก็ไม่สบายใจแล้ว เวลาจะนั่งสมาธิจะนั่งได้อย่างไร เพราะจะมีเรื่องมาคอยสะกิดใจอยู่เรื่อยๆ ต้องปฏิบัติเป็นขั้นๆไป บ้านเรือนก็ต้องสร้างไปตามขั้น เหมือนกับเรียนหนังสือ จากประถมก็ขึ้นมัธยม จากมัธยมก็ไประดับปริญญา ถ้าเรียนมาไม่เท่ากัน พอมาเกิดในชาตินี้ก็จะเรียนต่อคนละขั้นกัน พวกเราเกาะกลุ่มกันมาก็แสดงว่าอยู่ในขั้นเดียวกัน ถ้าอยู่สูงกว่านี้ก็คงไม่มา คงไปฉายเดียว คงบวชไปแล้ว

 

ถาม  เมื่อเช้าถามว่าจะทำอย่างไรจึงจะพาลูกเข้าวัดได้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

 

ตอบ  ถ้าเราบวช เขาก็ต้องมาวัดมาหาเราอยู่เรื่อยๆ เราจะกล้าทำหรือเปล่า อยากจะให้พ่อแม่เข้าวัด เราก็บวช เดี๋ยวเขาก็มาหาเราเอง เพราะความผูกพันของแม่ลูกที่มีต่อกัน นอกจากเป็นลูกเนรคุณก็ช่วยไม่ได้ ถือว่าเป็นกรรมของเรา ก็ตัดมันไปเสียเลย อย่าไปหลง หลงแล้วจะทุกข์ ความจริงแล้วเราไม่ควรคิดว่าเขาเป็นลูกเรา คิดว่าเป็นผู้มาอาศัยครรภ์เรา เป็นอาคันตุกะมาอาศัยบ้านเราอยู่ เราก็ให้ข้าวเขากิน ให้เสื้อผ้าเขาใส่ เขาอยากจะไปไหนมาไหนก็เรื่องของเขา ตัวใครตัวมัน สบายใจกว่า ปัญหาอยู่ที่เรามากกว่าอยู่ที่เขา

 

ถาม  ท่านอาจารย์สอนตรงทุกๆอัน คนที่ถามปัญหามาบอกว่า โอ้โหท่านอาจารย์ไม่เมตตาเลย ให้แต่น้ำกรด

 

ตอบ  ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ฝรั่งบอกว่าความจริงเป็นสิ่งที่เจ็บปวด ยารักษาเป็นเหมือนทิงเจอร์ มันแสบแต่ทำให้แผลหายเร็ว  ศาสนาพุทธสอนแต่ความจริง ถ้าคนสอนยังไม่ได้พบความจริง ก็จะสอนแบบลูบหน้าปะจมูก อย่างที่หลวงตาท่านพูด เราไม่ลูบหน้าปะจมูกใคร ธรรมย่อมเหนือกว่าสิ่งอื่นใด เราไม่เกรงใจใคร เกรงแต่ธรรม เมื่อเข้าหาธรรมแล้ว ไม่ให้ธรรม จะได้ธรรมไปได้อย่างไร คนเข้าหาศาสนาก็เพื่อหาธรรมะ ไม่ได้มาหาความเอาอกเอาใจ พูดปลอบใจ ลูบหน้าปะจมูก หาธรรมะต้องกล้าหาญ กล้ารับความจริง ไม่กลัวความจริง ถ้ากลัวความจริงอย่าเข้าหาศาสนา เหมือนกับคนที่กลัวแสงสว่าง ชอบอยู่ในความมืด อยู่ในจินตนาการของตน

 

ถาม  คำแนะนำของท่านอาจารย์ปฏิบัติยากนะคะ

 

ตอบ  เราว่ามันยากเอง มันไม่ยากหรอก ถ้าเราไม่ชอบมันก็ยาก

 

ถาม  ยังไม่พร้อมค่ะ

 

ตอบ  ถ้าให้ไปฮ่องกงพรุ่งนี้ ไปได้

 

ถาม  ยังมีกิเลสอยู่

 

ถาม  คนฟังเทศน์ท่านอาจารย์แล้ว เขาว่าท่านไม่ยอมต่อรองเลย

 

ตอบ  เพราะไม่ต่อรองถึงได้ผล เราต้องการผลไม่ใช่หรือ ต้องการความสุขที่แท้จริง ต้องการพ้นทุกข์ไม่ใช่หรือ แล้วจะมาต่อรองกันทำไม จะไม่ได้ผล จะเสียเวลา ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์มาพบศาสนาพุทธอีกเมื่อไหร่ มันไม่ใช่ของง่าย ตอนนี้เป็นโอกาสที่เลิศอย่างที่หลวงตาท่านเทศน์ ไม่มีโอกาสไหนจะเลิศเท่านี้แล้ว นอกจากการได้เกิดในสมัยที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้สอนธรรมอยู่ ก็มีสมัยนี้แหละที่ดีที่สุด ไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ตายไปแล้วจะไม่ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ทุกครั้งไป อาจจะต้องไปเป็นเดรัจฉาน หรือเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในประเทศที่ไม่มีศาสนาก็ได้ อย่างพวกฝรั่งที่มาบวชในประเทศไทย เพราะมีเชื้อเก่า ถึงแม้จะได้เกิดเป็นมนุษย์แต่ไม่ได้เกิดในแดนพระพุทธศาสนา ก็ดิ้นรนหาจนได้ พวกเราเกิดในแดนของพุทธศาสนาแท้ๆ ทำไมปล่อยให้เขามาตักตวงสิ่งต่างๆไปต่อหน้าต่อตาเรา เพราะไม่ได้บำเพ็ญบารมีมากเท่าเขา เขามีความพร้อมมากกว่าเรา เราก็ต้องทำกันไปเรื่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ

 

ถ้าปฏิบัติอย่างที่สอนจะไปได้เร็ว ตั้งสติอยู่เรื่อยๆ อยู่กับตัวตลอดเวลา อย่าไปคิดเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่มีสาระ ไม่มีความสำคัญ ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ต่อการปฏิบัติภารกิจต่างๆ กังวลกับคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ปล่อยไปเถิด อย่าไปแบก แบกไม่ไหวหรอก เรื่องของคนอื่น แบกตัวเราดีกว่า แก้ปัญหาของเราก่อน เสร็จแล้วค่อยช่วยคนอื่น จะช่วยได้มากกว่า ปัญหาของแต่ละคนแก้ให้กันไม่ได้ ต้องแก้ด้วยตนเอง อาศัยคนอื่นสอนวิธีปฏิบัติให้ ถ้าพระพุทธเจ้าแก้ปัญหาของพวกเราได้ ก็ไม่ต้องลำบากลำบนกัน เพียงตรัสว่าไปนิพพานเลย หมดโลภโกรธหลงเลย อย่างนี้ทำไม่ได้ เหมือนกับเรียนหนังสือ ไม่อยากจะไปโรงเรียน จะจบปริญญาได้อย่างไร ต้องเรียน พ่อแม่เรียนแทนไม่ได้ ถ้าพ่อแม่เรียนแทนเวลารับปริญญา ก็จะเป็นชื่อของพ่อของแม่ ไม่เป็นชื่อของลูก การช่วยเหลือผู้อื่นจึงช่วยได้ในเรื่องปัจจัย ๔ แต่การประพฤติปฏิบัติตนนี้ เราได้แต่บอกวิธีเท่านั้น แต่ถ้าไม่นำเอาไปปฏิบัติ ก็อย่าไปเคี่ยวเข็ญให้เสียเวลา ให้เหนื่อยไปเปล่าๆ เอาเวลาที่มีค่ามาเคี่ยวเข็ญตัวเราดีกว่า ไปเคี่ยวเข็ญคนอื่นทำไม

 

ถาม  เกิดเป็นมนุษย์นี่มีโอกาสสร้างบำเพ็ญบุญบารมีให้กับตัวเอง แต่ชั้นพรหมชั้นเทวดานี่ทำไม่ได้

 

ตอบ  ไม่ได้ เป็นที่ไปเสวยบุญ ถ้าเป็นพรหมจะไม่ติดต่อกับใคร อยู่ในฌาน เหมือนตอนนั่งสมาธิแล้วจิตรวมลง ไม่รับรู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น จนกว่ากำลังของสมาธิของฌานเสื่อมหมดไป ถึงขยับลงมาเป็นเทพ ถ้ามีอุปนิสัยสนใจศึกษาธรรมะ ก็ไปฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจากพระอรหันต์ได้ แต่ถ้าไม่สนใจก็จะเสพความสุขของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่ละเอียด พวกรูปทิพย์เสียงทิพย์ จนกว่าบุญจะหมดไป ถึงจะกลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไม่สนใจธรรมะไม่เข้าวัด หาแต่ความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่หยาบ อย่างที่เราสัมผัสกัน ทำผิดศีลผิดธรรม เมื่อตายไปก็จะไปเกิดในอบาย เข้าสู่ทางธรรมไม่ได้เลย

 

ถาม  ที่บอกว่าสนใจธรรมะก็คือการสร้างบารมีต่างๆใช่ไหม ไม่ใช่เพียงแต่ฟังธรรม

 

ตอบ  การฟังธรรมเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีอย่างหนึ่ง แต่ฟังอย่างเดียวไม่พอ การฟังธรรมเป็นเหมือนการศึกษาแผนที่ อยากจะไปสถานที่ใด ก็ต้องรู้ว่าอยู่ตรงไหน ไปทางไหน ต้องดูมีแผนที่ก่อน จะมาที่นี่ถ้าไม่เคยมาก็ต้องเปิดแผนที่ดู ว่าวัดญาณฯอยู่ตรงไหน แล้วก็เดินทางมา การศึกษาการได้ยินได้ฟังธรรมเป็นเหมือนการดูแผนที่ เมื่อได้ฟังแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม ท่านสอนให้ทำบุญให้ทานให้เสียสละ ให้รักษาศีล ให้ภาวนา เราก็ต้องทำตาม ถ้าฟังเฉยๆแต่ไม่ทำ ก็เหมือนกับดูแผนที่แล้วแต่ไม่ออกเดินทาง ก็จะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการจะไป คือมรรคผลนิพพาน การหลุดพ้นจากความทุกข์ ต้องปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่ได้ยินได้ฟังมา ถ้าปฏิบัติน้อยผลก็ได้น้อย ถ้าปฏิบัติมากผลก็ได้มาก ถ้าปฏิบัติมากๆก็บรรลุได้ในชาตินี้เลย ไม่ต้องรอเป็นกัปเป็นกัลป์เหมือนพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าไม่มีแผนที่ ที่เสียเวลามากก็เพราะไม่รู้ทาง ไปทางนี้ก็ไม่ใช่ ไปทางนั้นก็ไม่ใช่ หลงวนไปเวียนมาอยู่นานกว่าจะพบทาง พวกเรามีคนบอกทางให้แล้ว เพียงแต่เดินตามทางไปเท่านั้นเอง เพียงไม่กี่ชั่วโมงไม่กี่วันก็ถึงแล้ว ก็ยังไม่ยอมเดินกัน

 

ถาม  เวลาเรานั่งปฏิบัติ บริกรรมสักพักหนึ่ง คำบริกรรมจะหายไป เสร็จแล้วก็จะอยู่กับความนิ่งเฉย ต้องดึงคำบริกรรมมาใหม่ไหมค่ะ

 

ตอบ  ถ้ามันนิ่งเฉยโดยไม่ไปคิดอะไร ก็ไม่ต้อง ถ้านิ่งแต่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ก็ต้องบริกรรม

 

ถาม  นิ่งเฉยแล้วก็มีแต่ความว่างเปล่า

 

ตอบ  ขณะที่ว่างเปล่า มีความสุข มีความสบายใจ มีความพอใจ ตอนนั้นก็ไม่ต้องบริกรรม เพราะเป็นจุดเป้าหมายของการภาวนา ความว่างเปล่ามีหลายระดับด้วยกัน ระดับพื้นๆจนถึงระดับลึก เหมือนตกหลุมตกบ่อตกเหว ขึ้นอยู่กับการเจริญสติได้มากเท่าไหร่ ห่างไกลจากเรื่องที่ทำให้ฟุ้งซ่านวุ่นวายใจได้มากเท่าไหร่ ถ้าเป็นฆราวาสก็อาจจะสงบลงในระดับพื้นๆ ถ้าเป็นนักบวชก็อาจจะลึกไปถึงก้นบ่อเลยก็ได้ เพราะนักบวชจะอยู่ในที่สงบสงัด มีสติคอยคุมจิตอยู่ตลอดเวลา เวลาลงก็จะลงได้ลึกได้นาน เป็นฆราวาสมีเรื่องเยอะ คอยดึงจิตไว้ เวลาลงจึงลงได้นิดเดียว ถ้าทำจนสงบแล้วไม่คิดอะไร ก็ปล่อยให้สงบให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ถ้าเริ่มคิดแล้ว ก็ควรคิดทางด้านปัญญา พิจารณาร่างกายว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ว่าใครทั้งนั้น พิจารณาไปเรื่อยๆ เราต้องตาย เพื่อนเราก็ต้องตาย พ่อเราก็ต้องตาย แม่เราก็ต้องตาย คนที่เรารักก็ต้องตาย คนที่เราเกลียดก็ต้องตาย ต้องตายหมด ถ้าได้พิจารณาอย่างนี้แล้ว ต่อไปเวลาใครทำให้เราโกรธเราเกลียด ก็จะคิดว่าเดี๋ยวเขาก็ต้องตาย ไม่ต้องไปทำอะไรเขา ก็จะไม่อาฆาตพยาบาท

 

ถาม  เวลาเทวดาไปฟังธรรมจากพระอรหันต์นี่ เทวดารู้ด้วยตัวเองหรือเปล่าว่า พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ หรือเพื่อนเทวดาบอกครับ

 

ตอบ  คงเหมือนพวกเรา คงไม่รู้โดยตรง เพียงแต่เชื่อ เพราะมีคนอื่นบอก เราจะรู้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ได้ก็ต่อเมื่อ ๑. เอาคำสอนที่ท่านสอนมาปฏิบัติจนบรรลุเป็นอรหันต์ ตอนนั้นเราจะรู้แน่ๆว่า ถ้าท่านไม่รู้จริง จะสอนแบบนี้ไม่ได้ หรือ ๒. ถ้าเป็นคนมีรูปมีร่างอยู่ ก็รอเวลาที่ท่านมรณภาพ ดูกระดูกของท่านว่าจะกลายเป็นพระธาตุหรือเปล่า นอกจากนั้นก็เป็นความเชื่อกัน เชื่อว่าท่านบรรลุแล้ว บางทีท่านบอกก็ยังมีคนไม่เชื่อ ถึงจะบอกว่าเป็น ก็ไม่ได้ทำให้คนเชื่อเสมอไป ถึงจะไม่บอกถ้าคนเชื่อก็เชื่ออยู่นั่นแหละ

 

ถาม  พระอรหันต์ท่านทราบภูมิจิตภูมิธรรมกันใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าสนทนาธรรมกันก็จะรู้

 

ถาม  อย่างที่ท่านบอกว่า คนไปฮ่องกงมาเท่านั้น ที่จะรู้ว่าฮ่องกงเป็นอย่างไร

 

ตอบ  ใช่ คนที่ไม่เคยไปจะไม่รู้ เหมือนคนที่จบปริญญาตรี คุยกันก็จะรู้ แต่ถ้าจบสูงกว่าเราๆจะไม่รู้ ถ้าเขาจบปริญญาโท ส่วนเราจบปริญญาตรี คุยกันเราจะไม่รู้ว่าเขาจบขั้นไหน แต่อย่างน้อยจะรู้ว่าเขาต้องจบปริญญาตรีแล้ว จะจบโทหรือเอกหรือไม่ เราไม่รู้ ถ้าเราจบปริญญาเอกแล้ว เราจะรู้หมดว่าเขาอยู่ขั้นไหน ขั้นโทหรือขั้นตรีหรือขั้นเอก แต่อย่าไปสนใจเรื่องของคนอื่นเลย สนใจเรื่องเราดีกว่า ตอนนี้เราอยู่ขั้นไหนรู้หรือเปล่า

 

ถาม  การตกภวังค์มีวิธีแก้อย่างไรคะ

 

ตอบ  ถ้าเป็นภวังค์หลับ ก็ต้องไปภาวนาที่น่ากลัวๆ เช่นที่ป่าช้า การที่พระต้องไปที่เปลี่ยวๆกลัวๆกัน ก็เพราะเหตุนี้ เพื่อแก้อาการง่วงเหงาหาวนอน แก้การนั่งหลับ ในหนังสือปฏิปทาฯหลวงตาท่านเล่าว่า บางองค์ไปนั่งที่หน้าเหว ถ้าหลับก็ตกเหวไปเลย อย่างนี้รับรองได้ว่าจะไม่ง่วง เพราะสัญชาตญาณความกลัวตายจะทำไม่ให้ง่วงไม่ให้หลับ หรือนั่งตรงทางที่เสือเดินผ่าน ก็จะไม่มีทางหลับได้เลย ต้องอาศัยที่อย่างนั้น พระถึงต้องไปอยู่ในป่าในเขากัน มีบางคนบอกว่าอยู่ในบ้านอยู่ในเมือง ก็คิดว่าเป็นป่าเป็นเขาก็ได้ มันไม่เป็นหรอก เพราะไม่อยากไปก็เลยพูดอย่างนั้น ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ป่าใช้เขาเป็นอุบาย อยู่ในบ้านในเมืองก็บรรลุได้

 

ถาม  ภวังค์หลับเกิดขึ้นแสดงว่าสติเราอ่อน

 

ตอบ  สติยังไม่แก่กล้าพอ สติเป็นเหมือนเชือก มีหลายชนิด เชือกกล้วยเชือกไนลอน ถ้าเชือกกล้วยกระตุกทีเดียวก็ขาด เชือกไนลอนดึงอย่างไรก็ไม่ขาด เช่นมหาสติมหาปัญญา ถึงขั้นนั้นแล้วมีสติอยู่ตลอดเวลา พิจารณาธรรมอยู่ตลอดเวลา

 

ถาม  แต่ว่ายังไม่บรรลุธรรม

 

ตอบ  ยังไม่บรรลุอรหัตผล ตอนนั้นอยู่ขั้นพระอนาคามี ถึงจะเป็นมหาสติมหาปัญญา หลวงตาเรียกว่าสติปัญญาอัตโนมัติ ไม่ต้องไขลานมันหมุนของมันไปเอง มันเดินของมันไปเอง พวกเรายังเป็นพวกไขลานอยู่ ก็อย่าท้อแท้ก็แล้วกัน อย่าไปคิดว่าไม่มีบุญไม่มีวาสนา ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะตัดอนาคตของเรา เรามีบุญมีวาสนาเพียงแต่ว่าเราขี้เกียจ จึงต้องเคี่ยวเข็ญ ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าพระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์เวลาเกิดความท้อแท้ ท่านก็เป็นเหมือนเรา เป็นปุถุชนเหมือนเรามาก่อน ท่านก็ล้มลุกคลุกคลาน ต้องต่อสู้กับความเกียจคร้านเหมือนกัน แต่ท่านสู้ไม่ถอย สู้อยู่ตลอดเวลา เหนื่อยบ้างก็พักได้ ถ้าหมดแรงจริงๆก็พักสักหน่อย แต่อย่าเลิก บางคนพาลเลิกไปเลย ไม่เอาแล้ว ปฏิบัติไม่ได้ผล มรรคผลนิพพานหมดแล้วไม่มีแล้วในสมัยนี้ ก็จะไม่ได้ปฏิบัติอีกต่อไป ถ้าตอนนี้ปฏิบัติไม่ค่อยได้ผลเลย ไม่ค่อยมีกำลังเลย ก็พักสักวัน ๒ วันก็ได้ พอมีกำลังจิตกำลังใจก็ปฏิบัติต่อ ไม่หยุดเลยจะดีกว่า ถึงแม้จะปฏิบัติไม่ได้ผล เคยนั่งเวลาไหนก็นั่งไป เคยปฏิบัติอย่างไรก็ปฏิบัติไป จะได้ไม่ถอยหลัง ถ้าหยุดแล้วเหมือนเดินถอยหลัง

 

ถาม  เวลาที่เราพูดว่าจิตรวมกับจิตสงบนิ่ง

 

ตอบ  คำเดียวกัน มีรวมน้อยหรือรวมมาก ถ้ารวมมากร่างกายก็หายไปเลย ถ้ารวมน้อยก็ยังจะได้ยินเสียง ยังมีความรู้สึกกับร่างกายอยู่ แต่จิตไม่คิดไม่ปรุงอะไร อยู่เฉยๆ

 

ถาม  ทำไปแล้วมีความรู้สึกเหมือนกับตาย เหมือนไม่มีตัว

 

ตอบ  ไม่สงบเต็มที่ ถ้าสงบเต็มที่จะมีความมหัศจรรย์ใจ จะเป็นตัวบอกว่าสงบจริงๆ สงบแล้วจะตื่นเลย จะไม่หลับเลย จะตื่นเต้นมหัศจรรย์ใจ เบาใจโล่งใจ สุขใจ ขนลุกน้ำตาร่วง ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้นก็ยังเฉียดๆอยู่

 

ถาม  ภาวนาถือศีล ๕ แล้ว จำเป็นต้องถือศีล ๘ ไหม

 

ตอบ  จำเป็นถ้าอยากจะให้ได้ผลเร็วและง่ายขึ้น ศีล ๕ ไม่พอ ยังติดกับความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส ยังหลับนอนกับคู่ครอง นอนฟูกหนาๆ ทานอาหารเย็น พอกินอาหารเย็นแล้วก็จะง่วง กินอิ่มก็อยากจะนอน ศีล ๘ เป็นเนกขัมมะ ออกจากกามสุข ศีลข้อกาเมฯ ก็เปลี่ยนเป็นอพรหมจะริยาฯ เป็นศีลพรหมจรรย์ ไม่ร่วมหลับนอนกับใคร ไม่หาความสุขจากการรับประทานอาหาร กินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน กินหนเดียวก็อยู่ได้แล้ว ถ้าอยู่เพื่อกินต้อง ๔ - ๕ ครั้งหรือมากกว่านั้น กินอิ่มแล้วจะง่วงนอน จะภาวนาไม่ได้ สติไม่มี ถ้าอดอาหารสติจะดี แต่ถ้าไม่ได้ไปอยู่ที่เปลี่ยวที่กลัวก็อดอาหารแทนก็ได้ ถือศีล ๘ อดข้าวเย็นแล้วสติจะดีขึ้น เพราะความหิวจะกระตุ้นสติอยู่เรื่อยๆ ทำให้เราต้องภาวนา ถ้าไม่ภาวนาจะทรมานใจ ถ้าภาวนาจิตจะสงบ ความหิวในส่วนที่เกิดจากความคิดปรุงจะหายไป ความหิวทางร่างกายจะรุนแรงเท่าไหร่ ถ้าถือศีล ๘ รับประทานอาหาร ๒ มื้อก็พอเพียง พระฉันมื้อเดียวยังพอเลย

 

ถาม  ตอนที่ท่านอาจารย์อยู่บ้านตาด ไม่ออกบิณฑบาตนานไหมคะ

 

ตอบ  สลับกันไป อด ๓ วันแล้วก็ออกมาฉันสักวัน ๒ วัน แล้วก็กลับไปอดใหม่ แล้วก็อด ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ส่วนใหญ่จะ ๓ วัน ๕ วัน เคยลองดูว่าจะได้สักกี่วัน ก็ได้สัก ๙ วัน

 

ถาม  อย่างนี้อย่างฆราวาสทำได้ไหมครับ

 

ตอบ  ก็คนเหมือนกัน พระก็มาจากฆราวาส

 

ถาม  แต่สภาวะจิตไม่เท่ากันครับ

 

ถาม  เวลาท่านอยู่องค์เดียวท่านภาวนาไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าจิตหลุดพ้นแล้ว จะภาวนาหรือไม่ก็เหมือนกัน

 

ถาม  ต้องนั่งขัดสมาธิหรือไม่ต้อง

 

ตอบ  นั่งก็ได้ไม่นั่งก็ได้ ถ้ายังไม่หลุด ยังไม่มีสมาธิก็ต้องนั่งให้มาก เดินจงกรมให้มาก พอได้สมาธิแล้วก็ต้องเจริญปัญญา เดินจงกรมนั่งสมาธิเจริญปัญญา ถ้าไม่มีกิเลสแล้วก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ แบบไม่ตัดกิเลส เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีอะไรมาหลอกมาล่อให้โลภให้อยาก อยู่เฉยๆก็ไม่คิดอะไร ถ้าไม่เรียกให้ออกมาคิดก็ไม่คิด อยู่กับปัจจุบันที่ว่างๆ ถ้าคิดก็จะไม่เป็นกิเลส เหมือนกับ สงครามที่สงบแล้วยุติแล้ว ทหารจะพกปืน จะเฝ้ายามหรือไม่ก็ได้การนั่งสมาธิเดินจงกรมของผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว เป็นวิหารธรรม เป็นการพักผ่อนจิตใจ ถ้าควบคุมความคิดปรุงได้แล้วไม่ต้องนั่งก็ได้ ตัวสังขารความคิดปรุงนี้ จะคิดให้เกิดกิเลสก็ได้ ให้เกิดธรรมก็ได้ เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหลาย จึงต้องคุมสังขารความคิดปรุงนี้ให้ได้ เมื่อคุมได้แล้วจะนั่งก็ได้ ไม่นั่งก็ได้

 

        ตอนนี้เราคุมความคิดของเราได้หรือไม่ ความห่วงก็เกิดจากความคิด ความกังวลก็เกิดจากความคิด ถ้าห่วงถ้ากังวลพอหยุดคิดความห่วงความกังวลก็หายไป อย่างตอนนี้เราอยู่ที่นี่ เราไม่ได้คิดถึงเรื่องต่างๆ ที่สร้างความห่วงความกังวล เราจึงไม่ห่วงไม่กังวล พอไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะเกิดความกังวลขึ้นมา เราหยุดมันได้หรือไม่ ถ้ายังหยุดไม่ได้ ก็เป็นเพราะจิตเป็นเหมือนรถที่วิ่งลงเขา ที่เราหาเบรกไม่เจอ เจอแต่คันเร่ง ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน บางทีกินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าเป็นเรื่องหนักๆ ถ้าปฏิบัติจนสามารถควบคุมสังขารความคิดปรุงได้แล้ว ก็จะไม่คิดถึงเรื่องต่างๆ เหมือนกับไม่มี มีอยู่ข้างนอก มีก็มีไป ยังไม่ถึงตัวเรา ถ้าถึงแล้ว เช่นสึนามิ ถ้ายังไม่ถึงตัวเรา เราไม่ไปคิดถึงมัน ก็จะไม่กังวล พอมาถึงเราจริงๆ ก็เอาเราไปเลย ไม่มีเวลามากังวล

 

ความทุกข์เกิดจากความคิดปรุงทั้งนั้น ถ้าเราควบคุมความคิดปรุงได้ การตายของร่างกายจะไม่เข้ามาในใจเรา จะหยุดอยู่ที่กาย ความแก่ก็หยุดอยู่ที่กาย ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็หยุดอยู่ที่กาย เพราะใจไม่ไปคิดถึงมัน ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ต่อไปจะควบคุมความคิดได้ รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน ส่วนใหญ่ไม่รู้กัน รู้แต่คันเร่ง ไม่รู้ว่าเบรกอยู่ตรงไหน เวลาทุกข์มากๆจึงเบรกไม่ได้ หยุดไม่ได้  งานปฏิบัติทางศาสนานี้มีวันสิ้นสุด ไม่ต้องนั่งสมาธิเดินจงกรมไปตลอด เมื่อเสร็จกิจแล้วจะนั่งก็ได้ ไม่นั่งก็ได้ ผลเท่ากัน น้ำเต็มแก้วแล้ว จะเติมไม่เติมก็เท่ากัน เต็มแล้ว แต่เนื่องจากร่างกายกับจิตยังเกี่ยวข้องกันอยู่ กายเป็นอะไรก็ส่งให้จิตรับรู้ ก็ต้องบรรเทา นั่งนานๆก็ต้องลุกขึ้นมาเดิน เดินนานๆเมื่อยก็ลงไปนั่ง เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ได้นั่งไม่ได้เดินเพื่อดับกิเลสดับความอยาก เพราะไม่มีให้ดับ เหมือนไฟเมื่อดับหมดแล้ว มีน้ำเหลืออยู่ก็ไม่รู้จะไปดับอะไร ไฟไม่มีให้ดับแล้ว นั่งสมาธิเดินจงกรมก็เพื่อความสบายระหว่างธาตุขันธ์กับจิต เพราะยังเกี่ยวข้องกันอยู่ ถึงแม้จะไม่มีกิเลส ถ้าคิดมากๆพูดมากๆก็เหนื่อยได้ ก็ต้องพัก หยุดคิดสักระยะหนึ่ง พอได้พักสักระยะหนึ่งก็จะสดชื่นเบิกบาน

 

ขอให้ทำไปเรื่อยๆ การปฏิบัติสำคัญที่สุด อย่างอื่นก็มีหมดแล้ว ได้ยินได้ฟังแล้ว ได้ศึกษาแล้ว แผนที่ก็มีดูแล้ว ก็ต้องออกเดินทาง มีอะไรสละได้ก็สละไป เลิกได้ก็เลิกไป ใจกล้าๆหน่อย ไม่ต้องกลัว อย่าไปเสียดายสิ่งต่างๆที่เรามี เช่นสถานภาพ เป็นคนระดับนั้นระดับนี้ มาอยู่แบบคนใช้ กวาดพื้นถูพื้นล้างส้วม ถือว่าเป็นการปฏิบัติ เป็นการลดละทิฐิ ลดละกิเลสลดละความหลง ความยึดติดในตัวตน ในฐานะ ว่าเรามีฐานะสูงทำงานอย่างนี้ไม่ได้ พระที่ไปวัดป่าบ้านตาดต้องถูพื้นเป็นทุกคน ต้องเข็นน้ำเป็นทุกคน ต้องปัดกวาดเป็นทุกคน มีนายพลจะเอาลูกมาบวช จะเอาคนรับใช้มาด้วย ท่านให้เลือกเอาว่าจะเอาใครมา จะเอาลูกมาหรือเอาทหารมา ให้เลือกเอา แต่มาทั้ง ๒ คนไม่ได้ การทำงานที่ไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่มีสูงไม่มีต่ำ เราสมมุติกันขึ้นมาเอง งานล้างส้วมก็เป็นงานที่ดี เพราะทำให้มีส้วมสะอาดใช้กัน ถ้าไม่ล้างก็จะสกปรก ของสกปรกก็ออกมาจากตัวเรา ของเขาของเราก็เหมือนกัน ถ้าใช้ปัญญาจะไม่รังเกียจ มันก็มาจากของที่เรากินเข้าไป จะน่ารังเกียจได้อย่างไร หลวงตาท่านเล่าตอนที่ท่านปฏิบัติหลวงปู่มั่น ตอนใกล้มรณภาพ ท่านว่าเวลาหลวงปู่มั่นถ่ายลงบนที่นอน ท่านต้องช้อนด้วยมือใส่กระโถนเอาไปล้าง ท่านไม่คิดอะไร เป็นแค่ธาตุเท่านั้น ร่างกายก็เป็นธาตุ ที่ถ่ายออกมาก็เป็นธาตุเหมือนกัน เวลาตักเข้าปากกินกันได้ เวลาออกมากลับแตะไม่ได้ โง่ขนาดไหน

 

พยายามต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นผิด คนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้ ครูบาอาจารย์ที่เรากราบไหว้ทุกวันนี้ ท่านก็ทำได้ ทำมาแล้ว เราจะไปทางนั้น ทำไมเราไม่ทำ ถ้าไม่ทำก็ไปไม่ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะไม่มีอะไรขวางกั้นเราได้ ส่วนใหญ่เกิดจากกิเลส ที่บรรลุช้าเร็วต่างกัน เพราะกิเลสหนาบางต่างกัน ไม่ได้อยู่ตรงไหน อยู่ตรงนั้น ที่ยากก็เพราะกิเลสหนา ที่ช้าเพราะปัญญาทึบ ถ้ากิเลสบางปัญญาแหลมคมก็จะเร็วและง่าย ไม่มีอะไรทำให้ยากนอกจากกิเลส ขาดปัญญาก็ทำให้ช้า ปัญญาเกิดจากการได้ยินได้ฟัง พอได้ยินได้ฟังแล้ว ก็นำเอามาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ อย่าฟังแบบเข้าหูซ้ายออกหูขวา ถ้านำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปคิดอยู่เรื่อยๆ ก็จะกระตุ้นให้เราปฏิบัติ พอเห็นผลก็จะเกิดฉันทะวิริยะ ทีนี้ไม่ต้องมีอะไรมากระตุ้น จะไปเอง เหมือนทำงานแล้วได้รับเงินเดือน ก็จะมีกำลังใจทำ ถ้ายังไม่ได้เงินเดือน ก็สองจิตสองใจ จะทำดีไม่ดี ให้ปฏิบัติจนเห็นผลสักครั้งหนึ่ง ให้จิตขาดจากอารมณ์ จากความโลภความโกรธความหลง จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้สงบตัวลง แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ก็จะได้กำลังใจอย่างมหาศาล จะเร่งทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ทำอย่างอื่น เพราะช่วยเราไม่ได้ ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ช่วยเราไม่ได้ ครูบาอาจารย์ก็ช่วยเราไม่ได้ มีเราเท่านั้นที่ช่วยได้ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ เราต้องปฏิบัติเอง

 

ถาม  ที่นั่งแล้วมันไม่สงบนี่ เป็นเพราะปัญญาคิดใช่หรือไม่

 

ตอบ  ที่ไม่สงบเพราะสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่อยู่กับกรรมฐานที่กำหนดไว้ อยู่ได้แวบเดียวแล้วก็เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ บางทีกว่าจะมารู้สึกตัวก็ ๑๐ นาที ๒๐ นาทีผ่านไปแล้ว ถ้ารู้แล้วรีบดึงกลับมา ก็ยังพอมีโอกาส ไปอยู่ที่กลัวๆจะช่วยได้มาก เวลากลัวมากๆจะระลึกถึงพุทโธอย่างเดียว จะอยู่กับพุทโธๆ ไม่กล้าไปคิดอะไรเลย ภายใน ๒ – ๓ นาทีก็รวมลงได้ ความกลัวช่วยทำให้จิตสงบได้เร็ว แต่ต้องกล้าๆ ถ้ากลัวสติจะแตก คิดว่าเกิดมาก็ต้องตาย ตายแบบได้กำไรดีกว่าตายแบบขาดทุน ตายแล้วได้ความสงบก็คุ้มค่าแล้ว ประวัติของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น ต้องต่อสู้กับความยากความลำบาก ความว้าเหว่ ความเปล่าเปลี่ยว ความหวาดกลัว แต่คุ้มค่ากับการลงทุน หุ้นตัวนี้ไม่มีลง มีแต่ขึ้นอย่างเดียว ขอให้มั่นใจ อย่าไปขายทิ้งเป็นอันขาด

 

ถาม  อุบายของท่านอาจารย์นี้ใช้ได้กับทุกคนหรือเปล่าค่ะ

 

ตอบ  ก็แล้วแต่ ถ้าเล่นหุ้นก็คงใช้ได้ ที่เล่นหุ้นแล้วไม่รวยเพราะใจวอกแวก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่เรื่อยๆ ถ้ามีความมั่นใจแล้วว่าหุ้นตัวนี้จะต้องขึ้นแน่ๆ ช้าหน่อยเร็วหน่อยก็เก็บเอาไว้ แต่ทางโลกไม่มีอะไรแน่นอน ไม่เที่ยง แต่ทางธรรมนี้แน่นอน ถ้าปฏิบัติจะได้แน่ๆ อย่างที่ทรงตรัสไว้ว่า โลกนี้จะไม่ปราศจากพระอรหันต์ ถ้ายังมีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ตรงที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น ไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่กับใครทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าพระธรรมพระอริยสงฆ์เป็นผู้ชี้ทาง ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เจอพระอรหันต์ที่ไหนก็ไม่ดีเท่ากับเจอพระอรหันต์ในตัวเรา

 

ถาม  ก็ต้องให้พระอรหันต์ชี้ทาง

 

ตอบ  ชี้ให้เจอพระอรหันต์ในตัวเรา เมื่อชี้แล้วแต่ยังเกาะติดกับพระอรหันต์นอกอยู่ ก็จะไม่เจอพระอรหันต์ใน

 

ถาม  เท่าที่อธิบายมาก็คิดว่าทุกคนเข้าใจ แต่พอเวลาจะทำจริงๆ ก็ไม่ค่อยจะได้ทำเท่าไหร่ ก็ทราบดี ทำอย่างนี้แล้วจะดีอย่างนี้ ก็ทราบหมด แต่ไม่ได้ทำ

 

ตอบ  อาจจะเป็นเพราะเอาวิชาระดับปริญญาตรี มาสอนเด็กอนุบาลหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นก็ทำทานรักษาศีลไปก่อน ศีล ๕ รักษาให้ดีอย่าให้ขาด ทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมไปเรื่อยๆ ภาวนาได้ก็ภาวนาไป ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปก่อน วันนี้พูดเผื่อคนทีอยู่ในระดับปริญญา เผื่อฟังแล้วสามารถนำไปปฏิบัติได้ ก็จะได้ประโยชน์ ถ้าพูดแต่ระดับอนุบาล คนที่อยู่ระดับปริญญาก็จะไม่ฟัง เพราะพูดแต่เรื่องทำบุญให้ทานรักษาศีล คนที่สามารถปฏิบัติสูงกว่านั้นก็มี เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ จะไล่จากทานศีลขึ้นไป จนถึงสมาธิปัญญาวิมุตติ ความพากเพียรความอดทน ความเชื่อมั่นในพระธรรมคำสอน สอนให้กำลังจิตกำลังใจ เอาประสบการณ์ที่ได้ประสบมาเล่าให้ฟัง ทั้งดีและไม่ดี เอามาสอนเรา ให้รู้ว่าทางที่จะไป จะต้องติดอะไรบ้าง บอกหมดเลยทุกขั้น จะได้ไม่หลงทาง จะไปได้เร็ว ถ้าปฏิบัติไปตามลำพัง พอถึงขั้นสมาธิก็จะติดในสมาธิจะไม่ออกเจริญปัญญา พอออกเจริญปัญญา ก็จะฟุ้งกลายเป็นวิปัสสนูไป คิดว่าบรรลุแล้ว เป็นอรหันต์นกหวีดไป ถ้ามีครูบาอาจารย์ท่านจะชี้เหตุชี้ผล ว่าทำอย่างไรถึงจะได้อย่างนี้ ไม่ใช่คิดว่าได้แล้ว จิตต้องพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากจิตที่ดำมืดเป็นจิตที่สว่างไสว เป็นสันทิฐิโก ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นได้จากการปฏิบัติ จึงไม่ต้องไปถามใคร พระอรหันต์ไม่ถามพระพุทธเจ้าว่านิพพานเป็นอย่างไร รู้แล้วจะไม่สงสัย