กัณฑ์ที่ ๓๐    ๒๔  ธันวาคม  ๒๕๔๓

 สัมปทา ๔

การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเรียกตัวเองว่าเป็นทหารก็ดี เป็นตำรวจก็ดี เป็นข้าราชการก็ดี เป็นแพทย์เป็นพยาบาลก็ดี เป็นนักศึกษาก็ดี หรือว่าเป็นพระก็ดี  บุคคลนั้นๆจะต้องมีคุณสมบัติตามที่สถาบันหรือองค์กรนั้นๆได้กำหนดขึ้นมา คือถ้าเป็นทหาร ก็ต้องมีคุณสมบัติของทหาร เป็นตำรวจ เป็นข้าราชการ ก็ต้องมีคุณสมบัติของตำรวจของข้าราชการครบบริบูรณ์ตามที่ทางการได้กำหนดไว้และให้การรับรอง เป็นแพทย์เป็นพยาบาล เป็นพระก็เช่นกัน คือต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่ได้กำหนดไว้ ได้รับรองจากสถาบันนั้นๆ ถ้าไม่มีคุณสมบัติและไม่ได้รับการรับรองจากสถาบันนั้นๆ เช่นเวลาอยากจะเป็นทหาร ก็ไปซื้อชุดทหารมาแต่ง อยากจะเป็นพระ ก็ไปโกนหัว ไปซื้อผ้าเหลืองมาห่ม แบบนี้เรียกว่าทหารปลอม พระปลอม ไม่ใช่ของแท้ อานิสงส์และประโยชน์ที่พึงมีพึงได้จากการเป็นบุคคลนั้นๆย่อมไม่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกันกับพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธนั้น แน่ใจหรือไม่ว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง หรือเป็นชาวพุทธปลอม เพราะว่าการที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าจะต้องมีความถึงพร้อมคุณสมบัติหรือคุณธรรมอยู่ ๔ ประการด้วยกัน  คือสัมปทา ๔     ได้แก่      . ศรัทธาสัมปทา     ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา   . จาคะสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ   . ศีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล   . ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความรู้ความฉลาด นี่คือคุณธรรม ๔ ประการที่ทำให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง ผู้ที่จะเป็นชาวพุทธที่แท้จริงจึงควรสร้างคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ให้ครบถ้วนบริบูรณ์

ศรัทธาสัมปทาคือความถึงพร้อมด้วยศรัทธา  มีความเชื่อในกรรมและวิบาก คือเชื่อในเหตุและในผล  เหตุได้แก่กรรม คือการกระทำ  ผลได้แก่วิบาก คือผลของการกระทำ  กรรมมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว เรียกว่าบุญและบาป  ผลของการกระทำบุญและบาปได้แก่สุขและทุกข์ ทำความดีทำบุญย่อมมีความสุขมีความเจริญไปสู่สวรรค์   ทำความชั่วทำบาปย่อมมีความทุกข์มีความเสื่อมเสียไปสู่นรก นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อเพราะว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์รู้ทรงเห็นจากการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ชาวพุทธจึงควรเชื่อในเรื่องกรรมและวิบาก เชื่อว่าสุขหรือทุกข์ เจริญหรือเสื่อม เกิดจากการกระทำของตนเอง  ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสิ่งอื่นๆ  สิ่งอื่นๆเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆน้อยๆเท่านั้นเอง  ผู้ที่ยึดมั่นในคุณงามความดีจะไม่ตกทุกข์ได้ยาก จะไม่ลำบาก  สาเหตุที่คนเรายังต้องตกทุกข์ได้ยาก มีความลำบาก มีความไม่สบายใจ มีความทุกข์ ก็เป็นเพราะว่าได้กระทำกรรมต่างๆในอดีตมามากมาย วิบากกรรมจากการกระทำกรรมนั้นๆเพิ่งปรากฏผลขึ้นมาในวันนี้

จงอย่าปฏิเสธผลของกรรมเป็นอันขาด อย่าท้อแท้ อย่าเสียใจ เวลาทำความดีแต่ยังไม่ได้รับผลของความดี ต้องทำความเข้าใจว่าผลของการกระทำต่างๆนั้น บางครั้งก็เร็ว บางครั้งก็ต้องใช้เวลา เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ต้นไม้บางชนิดต้องใช้เวลานานกว่าจะเจริญเติบโตออกดอกออกผล ต้นไม้บางชนิดปลูกแค่เดือนสองเดือนก็ออกดอกออกผลแล้ว ขอให้เชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อนั้น เป็นความจริง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงแต่งขึ้นมา เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ทันใจเรา เพราะโดยปกติใจของคนเรานั้นอยากจะมีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว  ไม่อยากจะพบกับความเสื่อมเสีย พบกับความทุกข์  แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตามความอยาก ความต้องการ แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ทั้งในปัจจุบันและในอดีต

จาคะสัมปทาคือการการเสียสละ แบ่งปันความสุข แบ่งปันผลประโยชน์ให้ผู้อื่น เป็นการละความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุของความยึดมั่นถือมั่น ของความทุกข์ทั้งปวง ผู้ถึงพร้อมด้วยความเสียสละย่อมอยู่เย็นเป็นสุข ย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะไม่ยึดไม่ติดกับอะไร 

ศีลสัมปทาคือการถึงพร้อมด้วยศีล   ได้แก่   . การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต     . ละเว้นจากการลักทรัพย์      . ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี    . ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ     . ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา  พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ฆ่าฟันกันแม้เพื่อจะรักษาพระศาสนาไว้ เพราะศาสนาเป็นนามธรรม  เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถทำลายได้ เป็นของที่อยู่ในใจ  ส่วนโบสถ์ เจดีย์ กุฏิ วิหารต่างๆเหล่านี้ เป็นเพียงองค์ประกอบของพระศาสนาเท่านั้น  พระศาสนาคือสัจจธรรมความจริง  ที่ว่าการทำความดี  ละความชั่ว  และการชำระจิตให้สะอาดหมดจด  คือละความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เป็นเหตุของความสุขความเจริญที่แท้จริง ไม่มีใครสามารถที่จะทำลายสัจจธรรมความจริง  นี้ได้  มีแต่พุทธศาสนิกชนเท่านั้นที่จะทำลายพระศาสนานี้ได้ ด้วยการไม่ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเมื่อไม่มีผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ศาสนาย่อมหมดสิ้นไปโดยปริยาย  พุทธศาสนิกชนจึงไม่เข่นฆ่ากันเพื่อที่จะรักษาพระศาสนาไว้ แต่จะรักษาพระศาสนาด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเท่านั้น  พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ฆ่าใครทั้งสิ้น  แม้กระทั่งชีวิตของเราเองท่านก็ห้ามไม่ให้ฆ่า  การฆ่าตัวตายนั้นท่านถือว่าเป็นการกระทำบาปที่หนักมาก เพราะเมื่อฆ่าตัวตายแล้วก็ต้องไปใช้กรรมในนรกเหมือนกับฆ่าผู้อื่น  ชาวพุทธจึงควรตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ละเว้นจากการกระทำบาปทั้งปวง

ปัญญาสัมปทาคือความถึงพร้อมด้วยความรู้ความฉลาด ได้แก่ความรู้ในเรื่องของกรรมของวิบาก เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องนรก เรื่องสวรรค์  เรื่องสุข  เรื่องทุกข์  พูดถึงเรื่องปัญญากับศรัทธานี้ฟังดูแล้วคล้ายคลึงกัน  แต่ไม่เหมือนกัน  ยกตัวอย่าง  ศรัทธาเปรียบเหมือนคนตาบอด  ได้ยินคนตาดีบอกว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้  ก็เชื่อว่ามีจริงตามที่เขาพูด  นี่คือศรัทธาความเชื่อ เช่นถ้ายังไม่เคยมาที่วัดญาณฯ แล้วมีคนมาบอกเกี่ยวกับวัดนี้ว่ามีอะไรบ้าง  ถ้ารู้จักคนนี้ดี รู้ว่าเป็นคนที่พูดความจริง เราก็เชื่อในสิ่งที่เขาพูด  แต่การเชื่อกับการเห็นด้วยตนเองนั้นไม่เหมือนกัน  เวลาได้มาที่วัดนี้แล้ว มาสัมผัสด้วยตา  จะเห็นอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร  เมื่อเห็นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อคนอื่นอีกต่อไป นี่คือปัญญา  ปัญญาเกิดจากการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญจิตตภาวนา เจริญสมาธิ เจริญวิปัสสนา จนบรรลุธรรมขั้นต่างๆและรู้เห็นสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อพระพุทธเจ้าอีกต่อไป เพราะสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น เราก็ได้รู้ได้เห็นแล้ว 

การเป็นชาวพุทธที่แท้จริงจึงต้องมีสัมปทาทั้ง ๔ คือมีความถึงพร้อมด้วยศรัทธา จาคะ ศีล และปัญญา  แล้วอานิสงส์ที่พึงจะได้รับก็คือการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ การอยู่เหนือกิเลส เหนือการเวียนว่ายตายเกิด และการสิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งหลาย  ตามแบบพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกทั้งหลายย่อมเป็นของท่านทั้งหลายอย่างแน่นอน การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้