กัณฑ์ที่ ๓๐๗       ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๐

 

การรักษาศีล

 

 

 

โดยธรรมเนียมพอเป็นวันพระ จะมีการสมาทานรักษาศีล ตามแต่ศรัทธาสติปัญญาความเพียรกัน รักษาศีล ๕ บ้าง ศีล ๘ บ้าง การถือศีลไม่ควรถือในวันพระเท่านั้น ควรถือทุกวันทุกเวลาเลย ไม่จำเป็นต้องสมาทาน ไม่จำเป็นต้องมาวัด เพราะการมีศีลไม่ได้อยู่ที่การสมาทาน แต่อยู่ที่การรักษา ถ้ารู้ว่าศีลมีอะไรบ้าง ก็เพียงตั้งสติว่าวันนี้หรือตลอดไป จะรักษาศีลเช่นศีล ๕ ทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ต่อไปนี้จะละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา ก็มีศีลแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด ไม่ต้องรอวันพระ รอการสมาทาน รอพระเป็นผู้ให้ศีลก่อน เพราะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นเอง เป็นการตอกย้ำความเข้าใจ เป็นสักขีพยาน แต่ถ้าเห็นคุณค่าของศีลธรรม ก็สามารถรักษาได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ศีลมีอยู่ ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ ๑. สมาทานศีล อย่างที่พวกเราได้เปล่งวาจาว่าจะรักษาศีล ๕ กัน โดยมีพระภิกษุเป็นผู้กล่าวนำและเป็นสักขีพยาน ๒. วิรัติศึล มีเจตนาความตั้งใจจะรักษาศีล ก็ตั้งจิตอธิษฐานไปภายในใจ ไม่ต้องมาวัด ไม่ต้องมีพระเป็นสักขีพยาน เพราะไม่มีเวลามาวัด ก็ยังรักษาศีลได้ เพราะศีลอยู่ที่กายวาจาใจ ออกมาจากใจสู่กายและวาจา ถ้ามีสติเฝ้าดูใจ เวลาคิดอะไร ถ้ารู้ว่าผิดศีล ก็ระงับเสีย ถ้ารู้ว่าจะพูดโกหก ก็ไม่พูดเสีย เปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่น เรื่องดินฟ้าอากาศ พูดเรื่องอะไรก็ได้ เมื่อไม่อยากจะพูดปด ข้อสำคัญขอให้มีสติ รู้อยู่ว่ากำลังจะพูดอะไร ถ้าจะพูดปด ก็อย่าไปพูด เท่านี้ก็รักษาศีลได้แล้ว เช่นเดียวกับการกระทำ ถ้าเกิดความโกรธ อยากจะฆ่าผู้อื่น ก็ต้องระงับ เพราะเป็นการทำผิดศีล 

 

๓. อริยศีล เป็นศีลของพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เพราะมีสติปัญญา มีดวงตาเห็นธรรม ว่าการทำผิดศีลเป็นการสร้างความเสียหายให้กับตนและผู้อื่น ไม่ว่าจะมีใครรู้หรือไม่ก็ตาม ทำไปแล้วผลจะปรากฏขึ้นมาในใจทันที จะมีความไม่สบายอกไม่สบายใจ ตายไปก็ต้องไปเกิดในอบาย เช่นเดรัจฉานหรือนรก เป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทุกๆรูป จะรู้จะเห็น จะไม่กล้าทำผิดศีล เพราะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ เสียมากกว่าได้ เพราะได้ปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรม เห็นแล้วว่าคนเราจะดีจะชั่ว จะสูง จะต่ำ จะสุขจะทุกข์ อยู่ที่การกระทำทางกายวาจาใจเท่านั้น การละเมิดศีลเป็นการนำไปสู่ความทุกข์ ความเสื่อมเสีย ความหายนะ พระอริยเจ้าทุกๆรูปจึงไม่ละเมิดศีลโดยเด็ดขาด แม้จะต้องเสียชีวิตเพื่อรักษาศีลก็ยอม ตามที่พระบรมศาสดาได้ทรงตรัสสอนไว้ว่า ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาคุณธรรมความดีงาม เช่นศีลธรรมเป็นต้น นี่เป็นความรู้ของพระอริยเจ้าทุกรูป จึงมีศีลเป็นปกติ เป็นธรรมดา ไม่ละเมิดศีลโดยเด็ดขาด ไม่ต้องสมาทาน ไม่ต้องวิรัติ เพราะเป็นธรรมชาติของพระอริยเจ้า นี่คือศีลทั้ง ๓ ลักษณะ พวกเราอยู่ในลักษณะไหนก็พิจารณาดู ถ้ายังสมาทานอยู่ ก็สมาทานศีลไปเรื่อยๆ ถ้ารักษาศีลโดยไม่ต้องมาวัด เพราะติดธุระหรือวันพระไม่ตรงกับวันเสาร์วันอาทิตย์ ไม่สามารถมาวัด มาสมาทานศีลได้ ก็ใช้การวิรัติศีลแทน ตั้งจิตตั้งใจว่าจะรักษาศีล วันนี้เป็นวันพระแต่ต้องไปทำงาน ถ้าวันพระตรงกับวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ต้องทำงาน มาสมาทานศีลที่วัดไม่ได้ ก็ถือศีลวิรัติไป มีผลเท่ากัน มีอานิสงส์เท่ากัน ไม่มีความแตกต่างกัน ถ้ามีปัญญามีดวงตาเห็นธรรม เห็นว่าการกระทำผิดศีล จะพาไปสู่ภพชาติที่เลวต่อไป ในปัจจุบันจะสร้างความทุกข์ ความวุ่นวายใจให้ตลอดเวลา ก็จะรักษาศีล ๕ ไปตลอด

 

พระอริยบุคคล ๒ ระดับแรก คือพระโสดาบันและพระสกิทาคามี จะมีศีล ๕ เป็นปกติ แต่ศีล ๘ ยังไม่สามารถมีได้เป็นปกติ เพราะยังไม่บรรลุธรรมที่สูงกว่า ยังติดอยู่กับความสุขทางด้านรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ แต่หามาโดยไม่ผิดศีลผิดธรรม ถ้าจะมีคู่ครอง ก็จะไม่ประพฤติผิดประเวณี มีสามีเดียว ภรรยาเดียว ถ้าเห็นว่าความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นความสุขที่คลุกเคล้าไปกับความทุกข์ ความกังวล ความห่วงใย  ความเสียใจ เพราะบุคคลที่รัก สักวันหนึ่งก็ต้องจากไป ขณะที่อยู่ด้วยกัน ก็มีความห่วงใย ความกังวล ถ้าเห็นว่าเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ก็จะพยายามปฏิบัติให้ขึ้นไปสู่ธรรมขั้นที่สูงขึ้น คือการปฏิบัติเนกขัมมะ ออกจากกามสุข เพราะไม่เป็นความสุขที่แท้จริง จึงอยากจะสลัดทิ้งไป  ด้วยการปฏิบัติเนกขัมมะ นุ่งขาวห่มขาว ถือศีล ๘ คือนอกจากศีล ๕ ก็รักษาศีลเพิ่มอีก ๓ ข้อ ส่วนศีลข้อที่ ๓ ที่เป็นกาเมฯ มีคู่ครองด้วยความถูกต้องตามหลักประเพณี ก็เปลี่ยนเป็นการละเว้น เป็นอพรหมจริยาเวรมณี เป็นศีลพรหมจรรย์ ไม่หลับนอนกับใคร แม้กับคู่ครองของตน แล้วก็รักษาศีลข้อที่ ๖ ละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ข้อที่ ๗ ละเว้นจากการใช้เครื่องสำอาง ใช้น้ำหอม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด และข้อที่ ๘ ละเว้นจากการนอนบนฟูกหนาๆ นอนบนพื้นไม้ปูด้วยเสื่อหรือผ้าแทน ไม่หาความสุขจากการหลับนอน จากการใช้น้ำหอมเครื่องสำอาง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวยๆงามๆ จากการรับประทานอาหาร แต่หาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ปฏิบัติธรรม เพราะความสุขที่ได้รับจากความสงบของจิตใจ เป็นความสุขที่เลิศที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย เพราะไม่มีความทุกข์เจือปนอยู่เลย เป็นการปฏิบัติของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี

 

เพราะเห็นว่าความสุขที่ได้จากการมีคู่ครอง จากการรับประทานอาหาร แต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สวยๆงามๆ ใช้เครื่องสำอางน้ำหอม หลับนอนบนฟูกหนาๆ ไม่ได้เป็นความสุขที่ประเสริฐเลย ก็จะพยายามละด้วยการถือศีล ๘ เจริญภาวนา ทำจิตใจให้สงบ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ มีสติรู้อยู่กับพุทโธๆ ไม่ไปคิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น ถ้าคิดก็ดึงกลับมาอยู่ที่พุทโธๆ ในอิริยาบถทั้ง ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน เวลาทำอะไร ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องคิดอะไร ก็บริกรรมพุทโธๆไปในใจ เพื่อใจจะได้ว่างจากความวุ่นวายความอยากต่างๆ ถ้าไม่ควบคุมใจ ปล่อยให้คิดไปเรื่อยๆ พอคิดถึงอะไร ก็จะเกิดความอยากขึ้นมา ก็จะไม่สามารถรักษาศีลได้ถ้าถือศีล ๘ แล้วปล่อยให้ใจคิดถึงเรื่องอาหารอยู่เรื่อยๆ จะไม่มีกำลังพอที่จะทนต่อความอยากรับประทานอาหารได้ แต่ถ้าใจไม่มีโอกาสไปคิดถึงเรื่องอาหารเลย เพราะต้องบริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆแล้ว ก็จะลืมเรื่องรับประทานอาหารไปโดยปริยาย จะเข้าสู่ความสงบ จะพบกับความสุข ความอิ่ม ความพอ จะไม่หิวกระหายกับเรื่องอาหารก็ดี เรื่องหลับนอนก็ดี แต่งเนื้อแต่งตัว ใช้เครื่องสำอางน้ำหอม จะพาให้จิตขยับขึ้นสู่ธรรมขั้นสูงขึ้นไป คือพระอนาคามี ถ้าเป็นฆราวาสยังไม่ได้บวช ก็จะไม่มีความสัมพันธ์กับคู่ครองของตน เพราะใจไม่มีความอยากความต้องการ ถ้าบวชได้ก็จะออกบวช ถ้ายังบวชไม่ได้ก็จะอยู่เป็นผ้าขาวไปก่อน ปฏิบัติอยู่ที่บ้านรักษาศีล ๘ ถ้ามีเวลาว่างก็จะไปที่วัด เมื่อหมดภาระทางบ้านแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องดูแลใครแล้ว ก็จะออกบวช และเพื่อจะได้บำเพ็ญธรรมขั้นที่สูงขึ้นไป เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้บรรลุพระนิพพาน นี่คือการก้าวไปของพระอริยบุคคล เมื่อมีศีล ๕ เป็นปกติแล้ว ขั้นต่อไปก็จะรักษาศีล ๘ แล้วก็จะออกบวชถือศีล ๒๒๗ ข้อ ปฏิบัติไปจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อได้บรรลุแล้ว การปฏิบัติกิจทางศาสนาก็เสร็จสิ้นลง

 

ศีลเป็นเครื่องพาจิตให้ไปสู่การปฏิบัติ การปฏิบัติพาจิตให้สู่การหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้วการปฏิบัติก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เหมือนกับยารักษาโรคที่มีความจำเป็นต่อคนไข้ แต่เมื่อคนไข้รับประทานยา จนหายจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยาก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ฉันใดพระอรหันต์ทั้งหลายก็ไม่มีความจำเป็นกับการภาวนา นั่งสมาธิ เจริญปัญญาอีกต่อไป เพราะใจของท่านไม่ต้องอาศัยธรรมเหล่านี้แล้ว เพราะใจเป็นปกติ มีศีลเป็นปกติ เหมือนกับพวกเราในขณะนี้ เรานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้พูดอะไร ไม่ได้ทำอะไร ก็ถือว่ามีศีลเป็นปกติ ไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ตบยุง ไม่ได้ตีมด ไม่ได้ลักทรัพย์ ไม่ได้ประพฤติผิดประเวณี ไม่ได้พูดปดมดเท็จ ไม่ได้เสพสุรายาเมา ตอนนี้ก็ถือว่ามีศีลเหมือนกับพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกแล้ว ต่างกันตรงที่หลังจากที่ลุกจากที่นี่ไปแล้ว เราจะรักษาความเป็นปกติไม่ได้ นิ่งเฉยเหมือนตอนนี้ไม่ได้ พอเห็นอะไรก็จะเกิดความโลภความอยาก ที่จะพาไปสู่การประพฤติผิดศีล เพราะเวลาอยากจะได้อะไรมากๆ แล้วไม่สามารถหามาได้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก็จะต้องไปหามาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องนั้นเอง คือทำผิดศีล ไปฉ้อโกง ไปลักขโมย นี่คือความแตกต่างของพวกเรากับพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่ไม่มีความอยากความต้องการอะไรเลย เพราะใจของท่านมีความอิ่มความพออยู่ตลอดเวลา เห็นอะไรก็รู้สึกเฉยๆ เหมือนกับคนที่กินข้าวอิ่มแล้ว เห็นอาหารก็ไม่สนใจ ไม่อยากจะรับประทาน ฉันใดพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น หลังจากที่ได้รักษาศีลปฏิบัติธรรม จนจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆแล้ว ใจก็มีแต่ความสุข ความอิ่ม ความพอ ไม่มีอะไรมาฉุดลากให้ไปทำผิดศีลผิดธรรม จึงมีศีลบริสุทธิ์

 

การรักษาศีลที่แท้จริงจึงไม่ได้อยู่ที่กายและวาจา ที่เป็นเพียงปลายเหตุ ทำตามคำสั่งของใจ ถ้าใจสั่งให้ทำดี กายวาจาก็ทำดีพูดดี ถ้าใจสั่งให้ทำไม่ดี ก็จะพูดไม่ดี ทำไม่ดี ใจจะคิดดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีกิเลสตัณหาหรือไม่ ถ้ามีก็จะพูดไม่ดี ทำไม่ดี เช่นเวลาเกิดความโกรธขึ้นมา หน้าตาก็จะบูดเบี้ยว พูดจาไม่ดี ไม่สุภาพ หยาบคาย สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจความทุกข์ให้กับผู้อื่น เพราะมีความโกรธสั่งให้พูด แต่ถ้าไม่มีความโกรธแล้ว ก็จะพูดด้วยความเมตตามีไมตรีจิต ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยวาจาที่สุภาพ การกระทำก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่โลภไม่อยากแล้ว ก็จะไม่ไปทำในสิ่งที่เสียหาย แต่ถ้าโลภหรืออยากหรือโกรธ ก็มักจะทำในสิ่งที่เสียหาย ศีลที่แท้จริงจึงอยู่ที่ใจ กายและวาจาเป็นเพียงเครื่องมือ ถ้าจะรักษาศีลให้ได้ ต้องรักษาใจให้ได้ ไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้หลง การที่เราโลภเราโกรธเราหลง เพราะขาดปัญญา ขาดแสงสว่างแห่งธรรม จึงหลงในสิ่งต่างๆ ว่าจะให้ความสุขกับเรา เป็นที่พึ่งได้ แต่ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เราจะพึ่งได้อย่างแท้จริง ที่จะให้ความสุขอย่างเสมอต้นเสมอปลาย มีแต่ให้ทั้งความสุขและความทุกข์ เวลาได้สิ่งที่รักที่ชอบ เราจะมีความสุข แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีความทุกข์ที่เกิดจากความห่วงใย ความกังวล ความหวงแหน ความเสียใจ เมื่อสิ่งที่รักต้องจากไปตามหลักความจริง ไม่ว่าอะไรก็ตามไม่ช้าก็เร็ว สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ความหลงทำให้เรามองไม่เห็นกัน ไม่เห็นความไม่เที่ยงที่มีอยู่กับทุกสิ่งทุกอย่าง ความไม่ถาวร ไม่อยู่กับเราไปตลอด เรามองไม่เห็นกัน ไม่เห็นความทุกข์ที่มีอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่เราได้มาครอบครอง ไม่เห็นว่าสิ่งต่างๆไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง เพราะจะไม่อยู่กับเราไปตลอด เป็นสมบัติผลัดกันชม พอเราตายไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ ก็กลายเป็นสมบัติของคนอื่นไป

 

ร่างกายของเราก็ไม่ใช่สมบัติของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อตายไปก็เป็นสมบัติของสัปเหร่อของวัดไป เพราะเราเอาคนตายไปไว้ที่วัด ให้สัปเหร่อเป็นคนดูแล ให้เอาไปเผา กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป นี่คือสิ่งที่เรามองไม่เห็นกัน จึงเรียกว่าความหลง เมื่อเรามองไม่เห็นก็หลงคิดว่า สิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี น่าเอามันมาเป็นสมบัติ แต่หารู้ไม่ว่ากำลังเอาความทุกข์เข้ามาใส่ใจ โดยไม่รู้สึกตัว ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน ที่สอนให้พิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่จีรังถาวร ไม่ได้ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สมบัติของเราอย่างแท้จริง เอามาสอนใจอยู่เรื่อยๆ ก็จะเกิดความรังเกียจ ความเบื่อหน่าย เวลาอยากได้อะไรก็จะถูกปัญญาคือความจริงทำลายความอยากได้ ทำให้ไม่มีความยินดี ไม่มีความต้องการอะไร และสามารถอยู่ได้โดยไม่มีอะไร มีความสุขมากกว่าคนที่มีอะไรมากมายก่ายกองเสียอีก แต่เราไม่รู้กัน มีแต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกเท่านั้นที่รู้ แต่พวกเราไม่รู้ ถ้าเปรียบเทียบตัวเรากับพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกแล้ว จะเห็นว่าท่านไม่มีสมบัติอะไรเลย นอกจากสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้น คืออัฐบริขาร บริขาร ๘ มีบาตร ๑ ใบ ผ้า ๓ ผืน ประคดเอว ใบมีดโกน ที่กรองน้ำ เข็มกับด้าย ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นสมบัติเลย แต่ในใจมีความสุขเต็มที่ ปรมังสุขัง

 

ส่วนพวกเรามีสมบัติมากมายก่ายกองนับไม่ถ้วน แต่ในใจของเรากลับเต็มไปด้วยความทุกข์ ความวุ่นวาย กังวล ห่วงใย เสียดาย อาลัยอาวรณ์ ที่ความหลงสร้างขึ้นมา ถ้าอยากจะพบกับความสุขที่แท้จริง พบความอิ่มความพอ ก็ต้องน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มาสอนใจอยู่เรื่อยๆ ว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรเป็นความสุขที่แท้จริง ไม่มีอะไรเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง ถ้าเตือนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว  จะเกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งต่างๆที่มีอยู่ ไม่อยากจะได้อะไรเพิ่ม ใจจะสุขสบาย ไม่กังวลกับอะไรทั้งสิ้น ถึงเวลาที่ต้องจากคนนั้นคนนี้ จากสิ่งนั้นสิ่งนี้ จะรู้สึกเฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่หลงยึดติด ว่าจะต้องอยู่กับเราไปตลอด นี่คือผลที่จะได้รับจากการศึกษา จากการปฏิบัติ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อย่างที่พวกเราได้มาปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ มาทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เป็นทางที่จะนำพาจิตใจ ให้ไปสู่ความสุขที่แท้จริง ไปสู่ความอิ่มความพอ ไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ขอให้มีความแน่วแน่มั่นใจ ต่อการดำเนินตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้พบกับสิ่งที่ดีงามต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้