กัณฑ์ที่ ๓๐๘       ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๐

 

ทำบุญให้ทานตามฐานะ

 

 

 

วันนี้ท่านทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นหญิงเป็นชาย เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้สูงอายุ ก็ได้มาร่วมกันทำบุญทำทานทำกุศล เพราะบุญกุศลเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน ถ้าปรารถนาที่จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง เพราะบุญกุศลเป็นเหมือนกับยารักษาโรคที่ใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ เวลาที่ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าได้ยามารับประทาน ก็จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ จิตใจก็มีโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าอยู่เหมือนกัน คือความทุกข์วุ่นวายใจ กังวลใจ เศร้าโศกเสียใจ หวาดกลัว ที่สามารถเยียวยารักษาให้หายได้ด้วยบุญและกุศล ด้วยธรรมโอสถ คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้ทำดี ละบาป ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจ เพราะเชื้อโรคของใจก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เอง ตราบใดยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในใจ ตราบนั้นก็ยังจะมีความทุกข์ ความวุ่นวายใจรุมเร้าอยู่ เหมือนกับร่างกายถ้ามีเชื้อหวัดอยู่ในร่างกาย ก็ต้องเป็นไข้หวัด ถ้ามีเชื้อท้องร่วงก็จะต้องท้องร่วง แต่ถ้ารับประทานยาเข้าไปกำจัดเชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกายให้หมดไปแล้ว โรคต่างๆก็จะหายไป เราจึงไม่ควรมองข้ามความสำคัญของบุญและกุศล เพราะนอกจากเป็นยาแล้วยังเป็นอาหารด้วย จิตใจจะมีความอิ่มเอิบ มีความพอ ก็ต้องมีการทำบุญ มีการปฏิบัติธรรม คือบุญและกุศลนี้เอง บุญแปลว่าความสุขใจ ความอิ่มใจ กุศลแปลว่าความฉลาด คือปัญญา มีดวงตาเห็นธรรม ถ้าเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะไม่หลงยึดติด จะไม่ทุกข์กับสิ่งต่างๆ ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีกุศล ก็จะหลงยึดติดกับสิ่งต่างๆ ถ้าเป็นสิ่งที่รักที่ชอบ ก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ สิ่งที่ไม่ชอบก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ความชอบหรือไม่ชอบของเรา มีเหตุมีปัจจัยของเขา เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

 

ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และสามารถปฏิบัติตามได้ ใจก็จะหายจากความทุกข์ ความวุ่นวายต่างๆ ถ้าทำบุญเสียสละ นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ ก็จะมีความอิ่มมีความพอ ถ้าร่างกายต้องการอาหารต้องการยารักษาโรค ใจก็ต้องการอาหารและยารักษาโรคเช่นเดียวกัน คือบุญและกุศลนี้เอง เราจึงควรทำบุญทำกุศลอย่างสม่ำเสมอ เหมือนกับการรับประทานอาหาร วันหนึ่งเรารับประทานอาหารวันละ ๓ มื้อ เราก็ควรให้อาหารกับใจวันละ ๓ มื้อ หรือมากกว่านั้นเสียด้วยซ้ำไป เพราะโรคของใจปรากฏอยู่ตลอดเวลา ความหิวความอยากของใจปรากฏอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย ก็ยังมีความหิวมีความอยากอยู่ด้วยกันเสมอ ร่างกายมีความหิวเป็นเวลา คือเช้ากลางวันเย็น แต่ใจนี้หิวตลอดเวลาเลย แม้จะรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ พอคิดถึงของเอร็ดอร่อย ก็อยากจะรับประทานอีก จึงทำให้มีน้ำหนักตัวเกิน เพราะไม่มียารักษาใจ ไม่มีอาหารใจ ให้อาหารผิดชนิด เวลาใจหิวก็ต้องให้อาหารใจ แต่กลับไปให้อาหารกาย ซึ่งไม่ต้องการอาหาร ร่างกายก็เลยอ้วน จะไม่ให้ร่างกายอ้วนจนเกินไป ก็ต้องรู้จักหักห้ามจิตใจ หักห้ามความอยาก ต้องใช้เหตุและผล เช่นรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ แล้วไปเห็นขนมของโปรดขึ้นมา ก็อยากจะรับประทานอีก ก็ต้องบอกว่าร่างกายพอแล้ว ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่โทษ มีความสุขประเดี๋ยวเดียวในขณะที่ได้ลิ้มรส ถ้าอยากจะแก้ให้หายขาดเลย ก็ต้องพิจารณาดูสภาพของอาหารที่รับประทาน เวลาอยู่ข้างนอกก็ดูสวยงามดี พอเคี้ยวอยู่ในปากผสมกับน้ำลายแล้ว ลองนึกภาพดูว่าเป็นอย่างไร ถ้านึกไม่ออกก็คายออกมาดู ดูซิว่าจะตักเข้าไปใหม่ได้หรือไม่ ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว รับรองได้ว่าจะไม่อยากอีกเลย จะรับประทานอาหารตามเหตุตามผล ตามความจำเป็น ตามความต้องการของร่างกายเท่านั้น ความอยากทางใจจะไม่สามารถมาหลอกให้รับประทานอาหารเกินความจำเป็นได้ จะรักษาหุ่นให้ดูสวยงาม ไม่อ้วนจนกลายเป็นตุ่มน้ำไป  

 

เพราะธรรมะแก้ปัญหาของใจได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นความโลภ เช่นโลภในอาหารเป็นต้น ก็ให้พิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร เมื่อเข้าไปในปาก เข้าไปในร่างกายแล้ว ก็จะเป็นอีกสภาพหนึ่ง ถ้านึกถึงสภาพของอาหารที่อยู่ในปากอยู่ในท้องแล้ว ต่อให้เป็นอาหารที่วิเศษสวยงามน่ารับประทานขนาดไหนก็ตาม ก็จะรับประทานไม่ลง แต่ก็ต้องระมัดระวัง ถ้าพิจารณามากเกินไป ก็จะทำให้ไม่อยากจะรับประทานอาหารเลย ก็จะกลายเป็นโรคขาดอาหารไปได้ จึงต้องใช้ปัญญาให้เหมาะกับเหตุการณ์ ใช้ในขณะที่อยากจะรับประทานเกินความจำเป็น แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องรับประทาน ต้องเยียวยาร่างกายให้อยู่ได้  ก็ต้องรับประทานพอประมาณ ถ้าไปพิจารณาในตอนนั้น ก็จะไม่อยากรับประทานอาหาร ทำให้ร่างกายขาดอาหาร ผอมแห้งแรงน้อยได้ เหมือนกับการรับประทานยา ถ้ารับประทานไม่ถูกขนาด รับประทานมากเกินไป ก็จะทำให้แพ้ยา ทำให้ตายได้ ถ้ารับประทานน้อยไป ก็จะไม่รักษาโรคให้หายขาดได้ จึงต้องรับประทานยาตามที่หมอสั่ง ตามฉลากยาว่าให้รับประทานครั้งละกี่เม็ด วันละกี่เวลา ฉันใดธรรมะคือปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ศึกษาและนำมาปฏิบัติ ก็เช่นกัน ต้องปฏิบัติให้ถูกวิธี ให้ถูกกาลเทศะ ไม่เช่นนั้นแล้วธรรมะก็จะกลายเป็นของแสลงไปได้ ดังที่มีข่าวว่า ปฏิบัติธรรมแล้วเป็นบ้าไป เพราะปฏิบัติแบบไม่รู้จักความพอดี ไม่มีคนคอยสอนคอยบอก ปฏิบัติไปตามความเข้าใจของตนเอง ถ้าพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร ก็จะพิจารณาจนเลยเถิด จนไม่ยอมรับประทานอาหาร ซูบผอมและอาจจะตายไปได้ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์  จะช่วยแก้ปัญหาในการบำเพ็ญได้

 

เพราะการบำเพ็ญในแต่ละขั้นนั้น จะมีหลุมมีบ่อที่จะไปตกไปติดได้ การทำบุญให้ทานก็มีหลุมมีบ่อเหมือนกัน เช่นคิดว่าทำบุญให้ทานแล้วจะทำให้ร่ำรวย ก็อยากจะทำมากๆ ก็เลยพยายามหาเงินหาทองมามากๆ เพื่อจะได้เอามาทำบุญให้ทาน เพื่อจะได้ร่ำรวยมีเงินทองมากๆในชาติหน้า ซึ่งเป็นการทำบุญให้ทานที่ไม่ถูกต้อง เพราะต้องไม่ทำด้วยความโลภ แต่ทำเพื่อตัดความโลภ ความตระหนี่ ความยึดติด ในสมบัติข้าวของเงินทองที่มีเหลือกินเหลือใช้ต่างหาก ไม่ควรหวงเก็บเอาไว้ เพราะจะเป็นภาระทางจิตใจ ทำให้มีความห่วงกังวล เสียดายเวลาที่สูญเสียมันไป ถ้าเอามาทำบุญให้ทานช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะทำให้อิ่มเอิบใจ มีปีติ มีความสุข มีความอิ่ม มีความพอ ไม่อยากได้เงินทองมากเกินความจำเป็น เพราะไม่มีประโยชน์อะไรกับจิตใจ มีแต่จะสร้างภาระคือความกังวล ความเสียดาย ความตระหนี่และความโลภให้มีมากยิ่งขึ้นไป เจตนาของการทำบุญให้ทานก็เพื่อกำจัดความโลภ ความตระหนี่ ความหวง ความยึดติดในสิ่งต่างๆ ถ้าเอาส่วนที่เกินไปทำบุญทำกุศล ก็จะได้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในภพชาติต่อไป ในปัจจุบันจะมีความสบายใจ อิ่มเอิบใจ มีความอิ่มความพอ ไม่อยากจะหาเงิน เพราะไม่รู้จะเอามาทำไม เมื่อได้มาก็จะต้องเอามาทำบุญอยู่ดี จึงไม่ต้องดิ้นรนให้ยุ่งยากลำบาก มีเรื่องมีราว แข่งขันต่อสู้กับคนอื่น จะทำให้ภพหน้าชาติหน้าดีกว่าเก่า มีรูปร่างหน้าตาสวยงามกว่าเก่า มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองมากกว่าเก่า การทำบุญให้ทานไม่ได้อยู่ที่การหาเงินหาทองมามากๆเพื่อเอามาทำบุญ ทำบุญเพื่อระบายสิ่งของต่างๆที่ไม่จำเป็น ให้ออกไปจากตัวเรา จะได้ตัดความยึดติด ถ้าทำบุญอย่างสม่ำเสมอแล้ว เวลาสูญเสียอะไรไปจะไม่เสียอกเสียใจเสียดาย เพราะจะคิดว่าเป็นการทำบุญ ถึงแม้จะถูกขโมยไปก็ตาม จะไม่โกรธแค้นโกรธเคือง จะคิดว่าดี ไม่ต้องไปวัดให้เสียเวลา มีคนมาเรี่ยไรถึงที่บ้านเลย ถ้าไม่ชอบทำบุญ เวลาสูญเสียอะไรไปเล็กๆน้อยๆ ก็จะโกรธ เสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะยึดติดอยู่กับสิ่งที่เสียไป เพราะไม่เคยบริจาค ไม่เคยเสียสละ มีความทุกข์ทั้งในขณะที่มีและสูญเสียสิ่งต่างๆไป เวลามีก็หวงห่วงกังวล เวลาเสียไปก็โกรธแค้น เสียอกเสียใจ

 

การทำบุญให้ทานควรทำตามฐานะ ไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นทำมากน้อยเพียงไรอย่างไร ไม่จำเป็น คนเรามีฐานะไม่เหมือนกัน มีมากก็ต้องทำมากเป็นธรรมดา เพราะถ้ามีมากแล้วทำน้อยจะไม่รู้สึกอะไร ต้องดูที่สัดส่วนของสิ่งที่ให้ไป ถ้ามีร้อยแล้วบริจาคไปทั้งร้อยก็จะได้บุญมาก มีความสุขมาก ถ้ามีหนึ่งแสนแล้วบริจาคไปหนึ่งร้อย ถึงแม้จะเท่ากับคนที่บริจาคไปร้อยหนึ่ง แต่ความรู้สึกจะไม่เหมือนกัน เพราะคนมีแสนเสียเงินไปหนึ่งร้อยจะไม่รู้สึกอะไร จะไม่เกิดความสุขความอิ่มเอิบใจ เปรียบเหมือนกับสัตว์ใหญ่กับสัตว์เล็ก ถ้าเป็นหนูกินข้าวเพียงช้อนเดียวก็อิ่มแล้ว แต่ถ้าเป็นช้างกินข้าวช้อนเดียวจะไม่รู้สึกอะไร ช้างต้องกินเป็นกระสอบถึงจะอิ่ม ฉันใดการทำบุญก็เป็นอย่างนั้น มีน้อยทำน้อยก็มีความสุข มีมากแต่ทำเท่ากับคนที่มีน้อยจะไม่มีความสุขความอิ่ม ต้องทำตามฐานะของตน คือต้องสละส่วนเกินให้หมดไป จะมีความสุข ส่วนที่มีความจำเป็นก็จะต้องเก็บเอาไว้ เพราะต้องอาศัยเงินส่วนนี้ไว้ดูแลในยามเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาที่ไม่มีรายได้ ถ้าได้บวชก็จะไม่มีความจำเป็นกับเงินทองอีกต่อไป จะมีปัจจัย ๔ พร้อมบริบูรณ์จากผู้มีจิตศรัทธา พระสงฆ์องค์เจ้าจึงไม่มีความจำเป็นกับเงินทอง เพราะมีปัจจัย ๔ ครบบริบูรณ์ มีอาหารรับประทานทุกวัน มียารักษาโรค มีจีวรไว้นุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัย มีกุฏิ มีถ้ำ มีโคนไม้ เงินทองจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อความสุขใจ มีไว้ดูแลรักษาร่างกายให้อยู่ไปได้ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ลำบากลำบน มีมากเกินไปก็ไม่ได้ให้ความสุขใจอย่างที่คิดกัน มีแต่จะสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้มีมากขึ้น ถ้ามีเงินมีทองมากจะมีปัญหามาก เช่นพวกดาราภาพยนต์นักร้องทั้งหลาย เวลามีเงินทองมากๆ กิเลสก็มากตาม จะกินเหล้าเมายาเสพสิ่งเสพติดต่างๆ ใช้เงินใช้ทองอย่างฟุ่มเฟือย เพราะคิดว่าเป็นความสุข ยิ่งเสพยิ่งฟุ้งซ่านวุ่นวายใจจนเสียสติไป ต้องไปบำบัดตามศูนย์ต่างๆ บำบัดโรคติดยาเสพติดสุรายาเมา เพราะไม่ได้รับอาหารใจ รับแต่ยาพิษ คือการใช้เงินใช้ทองอย่างฟุ่มเฟือย ได้กินดื่มได้ทำอะไรตามความอยาก ที่ไม่ได้ให้ความสุขใจเลย

 

จะมีความสุขใจได้ใจต้องสงบนิ่ง ถ้าไม่สงบนิ่งจะหาความสุขไม่ได้ ต่อให้ได้ทำอะไรมากน้อยเพียงไรก็ตาม ให้ได้ขึ้นไปกับยานอวกาศ ไปวนรอบโลกกี่รอบก็ตาม กลับมามันก็เหมือนเดิม ไม่ได้ทำให้เกิดความอิ่มความพอเลย จะอิ่มจะพอได้ ก็ต่อเมื่อได้ทำบุญให้ทาน ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าจะให้สงบมากขึ้น ก็ต้องไหว้พระสวดมนต์ทำสมาธิ ทำจิตใจให้นิ่ง ด้วยการบริกรรมพทโธๆ เพื่อไม่ให้จิตไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จิตจะได้สงบ การบริกรรมพุทโธๆเป็นเหมือนการเหยียบเบรก เวลาคิดเรื่องต่างๆก็เป็นเหมือนเหยียบคันเร่ง ถ้าเหยียบแต่คันเร่งก็มีแต่จะพุ่งไปๆ ถ้าต้องการให้รถยนต์หยุด ก็ต้องเหยียบเบรกไว้ เหยียบไว้เรื่อยๆ เดี๋ยวก็หยุดเอง ใจก็เป็นเหมือนรถยนต์ จะหยุดนิ่งได้ก็ต้องมีเบรกคือการบริกรรมพุทโธๆ ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ถ้าคิดก็แสดงว่าได้ถอนเบรกแล้ว ไปเหยียบคันเร่งแทน ต่อให้นั่งสมาธิไปเป็นชั่วโมงๆ ก็จะไม่สงบนิ่ง จะให้สงบนิ่งก็ต้องบริกรรมพุทโธๆอย่างเดียว หรือสวดมนต์อย่างเดียว ไม่ไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ เรื่องอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก็ดี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ดี ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าไปคิด ในขณะที่ภาวนาทำจิตใจให้สงบ ต้องตัดเรื่องต่างๆออกไปให้หมด เพราะต้องการจะหยุดใจ ต้องการให้ใจสงบ เพื่อจะได้พบกับความสุขความอิ่มความพอ ถ้าพยายามทำไปเรื่อยๆ รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็ว จะได้พบกับความสุขที่มหัศจรรย์ ที่ไม่เคยพบมาก่อน ไม่มีความสุขใดที่จะสุขเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ จึงไม่ควรมองข้ามการทำใจให้สงบ เพราะเป็นเหมือนเพชรนิลจินดาภายใน มีคุณค่ายิ่งกว่าเพชรนิลจินดาภายนอก ที่ต่อให้มีมากน้อยเพียงไร ก็ไม่สุขเท่ากับเพชรนิลจินดาภายใน คือความสงบเลย

 

เราต้องทำเอง ไม่มีใครทำแทนเราได้ บุญกุศลเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำกันเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสไว้ว่า อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เหมือนกับการรับประทานอาหาร ไม่มีใครรับประทานแทนกันได้ ต้องรับประทานกันเอง การให้อาหารใจคือความสงบของใจ ก็ต้องใจเป็นผู้ให้กับตนเอง การจะทำให้เกิดความสงบได้ง่ายต้องอยู่ที่สงบ ถ้าทำสมาธิในที่ที่มีคนพลุกพล่าน มีเสียงรบกวนมากๆ จะสงบยาก ต้องหาสถานที่สงบวิเวก เมื่อกายวิเวกแล้วจิตจะวิเวกตาม จิตจะสงบง่าย แต่ต้องมีสติคอยควบคุมใจ ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ต้องดึงเอาไว้ให้อยู่กับพุทโธๆ อยู่กับอารมณ์ที่ถูกกับจริต ถ้าถูกกับการดูลมหายใจเข้าออก ก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออกไป ถ้าถนัดกับการดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย ก็กำหนดดูไป ดูผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ถ้าอยู่กับธรรมเหล่านี้ จิตจะสงบตัวลง จะมีความสุขมีความอิ่ม มีกำลังที่จะต่อสู้กับความอยากความหลงต่างๆ พอออกจากความสงบแล้ว จิตจะคิดต่อ ก็จะเกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา ก็ต้องเอาปัญญาเข้ามาสกัด ปล่อยวาง ไม่ผูกติดกับสิ่งต่างๆ จะดีจะชั่วมันก็เรื่องของเขา ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยว ไม่มีเขาเราก็อยู่ได้ จิตสามารถอยู่ตามลำพังได้ ไม่ต้องมีอะไรมาให้ความสุข ไม่ต้องมีอะไรเป็นที่พึ่ง เพราะมีที่พึ่งในตนแล้ว อัตตาหิ อัตโน นาโถ ที่เกิดจากการทำบุญทำกุศลนี้เอง นี่แลคือที่พึ่งที่แท้จริง

 

สิ่งอื่นๆไม่ใช่ที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเงินทองวัตถุต่างๆ บุคคลต่างๆ พึ่งไม่ได้ เพราะเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เที่ยง แปรปรวน เกิดแล้วก็ดับไป ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับ มีแต่จะให้ความทุกข์ความกังวลใจตลอดเวลา จึงต้องตัดให้หมด ไม่หลงยึดติดกับสิ่งต่างๆ กับบุคคลต่างๆ ให้ยึดติดอยู่กับความสงบอย่างเดียว ให้ยึดติดอยู่กับการภาวนา กับการปฏิบัติธรรม กับสถานที่สงบสงัดวิเวก ที่จะทำให้เราได้พบกับความสุขความอิ่มความพอ ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง อยู่ตรงนี้ เริ่มต้นด้วยการมาวัดอย่างสม่ำเสมอ มาทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้ามีเวลาก็อยู่วัดปฏิบัติธรรมถือศีล ๘ หรือออกบวชเป็นพระถือศีล ๒๒๗  บวชเป็นสามเณรก็ถือศีล ๑๐  ค่อยๆปฏิบัติไป พัฒนาขึ้นไปตามลำดับ จนได้พบกับความสุขความเจริญ ความหลุดพ้นจากความทุกข์ที่แท้จริง อยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่ใคร พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เป็นเพียงผู้ชี้ทาง เราต้องเป็นผู้ดำเนิน เป็นผู้เดินไป ถ้าไม่เดินไป ต่อให้มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์มากน้อยเพียงไร ก็ช่วยเราไม่ได้ เราต้องเดินไปเอง การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้