กัณฑ์ที่ ๓๑๑       ๑ เมษายน ๒๕๕๐

 

พระกับมาร

 

      

 

ความสุขใจที่เกิดจากการทำบุญ มีอยู่หลายระดับด้วยกัน เกิดจากความสงบของใจในระดับต่างๆ  การทำบุญจึงเป็นการทำจิตใจให้สงบด้วยวิธีต่างๆ  อยู่ที่ความสามารถ ความเข้าอกเข้าใจของแต่ละท่านจะนำเอามาปฏิบัติ ถ้ามีความสามารถมาก มีความเข้าอกเข้าใจมาก ก็จะทำได้มาก ทำได้หลายระดับด้วยกัน ถ้ามีความสามารถน้อย มีความเข้าใจน้อย ก็จะทำได้น้อย พวกที่ทำได้น้อยก็คือพวกที่ทำแต่ทานอย่างเดียว คือบริจาคให้สิ่งของต่างๆแก่ผู้อื่น เป็นบุญอย่างหนึ่ง ถ้ามีความสามารถมากกว่านี้ มีความเข้าใจบุญมากกว่านี้ ก็จะรักษาศีล  เป็นการทำจิตใจให้สงบมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ถ้ามีความสามารถมากกว่านั้นอีกก็จะภาวนา ทำจิตใจให้สงบขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เป็นความสุขที่ละเอียดลึกซึ้งและหนักแน่นมากยิ่งขึ้น  ความสุขสงบใจที่หนักแน่นและมั่นคง จะเป็นเกราะคุ้มกันความทุกข์ต่างๆ  ไม่ให้เข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจ  มาสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจ  เราจึงควรให้ความสำคัญต่อการทำบุญอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่าทำแต่เฉพาะวันสำคัญๆเท่านั้น เพราะเป็นเหมือนกับการรับประทานอาหาร ถ้ารับประทานเฉพาะวันสำคัญๆ  เช่น วันเกิดของเรา วันคล้ายวันตายของคนที่เรารัก วันขึ้นปีใหม่ วันเทศกาลต่างๆ ก็จะไม่พอเพียงต่อการดูแลรักษาร่างกาย ใจก็เป็นเหมือนร่างกายที่ต้องได้รับการดูแลรักษาด้วยบุญ  ทำบุญได้มากเท่าไร ใจก็จะมีความสงบ มีความอิ่ม มีความสุขมากขึ้นไปเท่านั้น  การทำบุญจึงเป็นสิ่งที่เราควรทำกัน ทำได้ทุกสถานที่และเวลา ไม่ต้องมาทำที่วัดเพียงแห่งเดียว เราทำทานได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  เวลาเห็นใครเดือดร้อนเราก็ช่วยเขาไป ไม่มีอาหารรับประทาน ก็หาอาหารมาให้เขารับประทาน อย่างนี้ก็เป็นบุญเหมือนกัน ไม่ว่าจะทำกับใคร ได้ผลบุญคือความสุขสงบใจเหมือนกัน  ทำกับพระก็เป็นบุญ ทำกับฆราวาสญาติโยมก็เป็นบุญ ทำกับสุนัขทำกับแมวทำกับนกก็เป็นบุญเหมือนกัน เพราะทำแล้วมีความสุขใจ  

 

ความสุขใจนี้แลคือบุญ อย่าไปเข้าใจว่าเวลาทำกับคฤหัสถ์จะไม่ได้บุญ แต่จะได้ทาน  ทานกับบุญเป็นคำใกล้เคียงกัน  ทานเป็นเหตุ ทำแล้วก็จะทำให้เกิดผลคือบุญขึ้นมา  ทานแปลว่าการให้  ให้ใครก็ได้ ให้พระก็ได้ ให้คนธรรมดาก็ได้ ให้สัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นทานเหมือนกัน  เมื่อให้แล้วก็จะเกิดผลคือบุญความสุขใจ จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจของผู้กระทำ  ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องการผลตอบแทนจากผู้รับ  ไม่ต้องการให้ขอบอกขอบใจ สำนึกในบุญในคุณ  ไม่ต้องการให้ทำอะไรให้กับเราทั้งสิ้น ก็จะได้บุญมาก มีความสุขใจมาก ถ้าทำเพราะต้องการสิ่งตอบแทน ให้ขอบอกขอบใจ ให้เคารพเชื่อฟัง  ถ้าเกิดไม่ทำตามที่ต้องการ ก็จะเสียใจ ผิดหวัง โกรธขึ้นมาได้ ก็จะกลายเป็นอกุศลไป  ทำให้ทุกข์ใจ  ถ้าอยากจะได้บุญมากๆ ก็ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เช่น  ปิดทองหลังพระ เป็นการทำที่บริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าได้ทำความดี ไม่ต้องเขียนชื่อติดไว้ตามสถานที่ต่างๆ  ว่าได้มาสร้างแท็งก์น้ำ  สร้างกุฏิ  สร้างอะไรต่างๆ  ซึ่งก็ได้บุญเหมือนกัน แต่ได้ไม่มากเท่ากับการไม่เขียนป้ายติดเอาไว้  การทำบุญทำทานอยู่ที่ใจเป็นหลัก ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจก็จะได้ผลมาก สิ่งที่ให้ก็มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่เฉพาะข้าวของเงินทองต่างๆเท่านั้น อย่างที่ญาติโยมนำเอามาถวายพระ เอาเงินทองมาถวายวัด อย่างนี้เป็นการให้วัตถุ เป็นวัตถุทาน นอกจากวัตถุแล้วยังมีสิ่งอื่นที่ให้กันได้ เช่นวิทยาทาน ให้วิชาความรู้ มีความรู้ความสามารถในวิชาอะไร เรานำเอามาสั่งสอนผู้อื่น โดยไม่เรียกค่าตอบแทน  ถ้ารู้วิชาวิชาภาษาอังกฤษ ก็สอนภาษาอังกฤษโดยไม่เรียกค่าตอบแทน อย่างนี้ก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน เป็นการให้วิชาความรู้ เป็นวิทยาทาน

 

แล้วก็ยังมีอภัยทาน  การให้อภัย ไม่โกรธแค้นโกรธเคืองผู้ที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ ความเดือดร้อนให้กับเรา  แทนที่จะโกรธ อาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรม ก็ถือโอกาสทำบุญไปเลย ไม่ต้องไปวัดให้เสียเวลา  ทำได้ในขณะที่กำลังโกรธแค้นโกรธเคือง ถ้าให้อภัยได้ใจก็จะกลายเป็นพระเป็นเทพไป   ถ้าให้อภัยไม่ได้ใจก็จะกลายเป็นยักษ์เป็นมารไปเพราะการจะเป็นเทพก็ดี  เป็นพระก็ดี  เป็นยักษ์เป็นมารก็ดี เป็นกันที่ใจนี้เอง ถ้าใจสงบเย็นมีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  มีความสงสาร ให้อภัย ใจก็เป็นพระเป็นเทพขึ้นมา ถ้าใจมีความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทคิดปองร้ายผู้อื่น ก็จะกลายเป็นยักษ์เป็นมารไป  นี้คือการให้ชนิดที่  ๓  ที่เรียกว่าอภัยทาน การให้ชนิดที่ ๔ ก็คือธรรมทาน   ให้ธรรมะ ช่วยกันเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยตัวเราเองก็ดี ด้วยการพิมพ์หนังสือธรรมะดีๆแจกให้ฟรี  ให้ผู้อื่นได้มีโอกาสได้รู้ได้เข้าใจถึงสิ่งที่ดี ที่พระพุทธเจ้านำมาสั่งสอนให้กับพวกเรา เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งเดียวในโลก ที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้  หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ พ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย การพลัดพรากจากกัน ไม่มีอะไรในโลกนี้จะทำให้เราอยู่เหนือความทุกข์เหล่านี้ได้  นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น  สิ่งอื่นๆต่อให้มีมากมายเพียงไรก็ตาม มีสมบัติข้าวของเงินทอง มีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงขนาดไหนก็ตาม ก็จะไม่สามารถดับความทุกข์ใจ  ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากกันได้ มีพระธรรมคำสอนเท่านั้นที่จะช่วยเราได้ ทำให้ไม่วุ่นวายไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกัน ถ้านำเอาสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมาปฏิบัติกัน 

 

ท่านสอนให้เราทำบุญให้ทานเราก็ต้องทำบุญให้ทานกัน  ให้ในสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ต้องไปหาสิ่งที่เราไม่มี เพื่อเอามาให้ผู้อื่น อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการทำบุญให้ทาน เพราะเป็นความโลภ  โลภอยากจะทำบุญก็ไม่ดี เพราะไม่ได้ทำให้มีความสุขใจ  ควรให้ในสิ่งที่เรามี ที่เหลือใช้ ที่เกินความจำเป็น  มีข้าวของเงินทองต่างๆพอที่จะให้ผู้อื่นได้ ก็ให้ไป เมื่อให้ไปแล้วเราจะมีความสุขใจ  เพราะได้ชำระความหวงความห่วง ความตระหนี่ ความกังวล กับข้าวของเงินทอง เมื่อให้ไปแล้วความหวง ความห่วง ความกังวล ความตระหนี่ ความยึดติดก็จะหายไป เพราะไม่มีอะไรต้องห่วง ต้องหวง ต้องตระหนี่  ใจก็โล่งสบาย มีความสุข  เป็นบุญที่เกิดจากการให้ในสิ่งที่เรามี   ถ้าไม่มีทรัพย์สินข้าวของเงินทอง แต่มีความรู้ความสามารถในเรื่องหนึ่งเรื่องใด  พอที่จะเอาไปสั่งสอนให้กับผู้อื่นได้ก็ทำไป จะได้วิทยาทาน ได้บุญเหมือนกัน เพราะเมื่อเราเห็นผู้อื่นได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราสั่งสอน  เช่นสอนให้พูดภาษาอังกฤษได้ เขาก็อาจจะไปทำงานเป็นมัคคุเทศก์ พาชาวต่างประเทศไปเที่ยวที่นั้นที่นี่  ทำให้มีรายได้ ช่วยตัวเองได้  เราก็จะมีความสุข ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เช่นเดียวกับการให้อภัย เมื่อให้อภัยแล้ว เราก็จะไม่ไปทุบตี ไม่ไปด่า  ไม่ไปว่า ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับเขา  เราก็จะมีความสุข จากการได้ทำความดี ทำให้เขาสบายใจ  ทั้งๆที่เขามาสร้างความเดือดร้อนให้กับเรา  แต่เรากลับไม่ถือโทษโกรธเคือง กลับให้อภัยเขา  เราก็จะมีความสุขเขาก็มีความสุข ถ้าให้ธรรมะแล้วเขานำเอาไปปฏิบัติได้ ปฏิบัติอย่างที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้  ทำบุญทำทาน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทานก็ดี  วิทยาทานก็ดี   อภัยทานก็ดี หรือธรรมทานก็ดี ก็จะทำให้เขามีความสุข ทำให้ผู้อื่นที่ได้รับการช่วยเหลือมีความสุข  ทำให้สังคมอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขเพราะธรรมะจะสอนให้เราช่วยเหลือกัน ไม่ให้เห็นแก่ตัว 

 

ทุกวันนี้โลกเรามีความวุ่นวาย ก็เพราะใจของคนเราขาดธรรมะ    ขาดคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงถูกความหลง คือความเห็นแก่ตัวเข้ามาครอบงำ  ทุกคนต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้  พยายามหาสิ่งนั้นสิ่งนี้กัน แล้วก็เกิดการแก่งแย่งชิงดีทำร้ายกัน เพราะเมื่อแข่งขันกันแล้วก็ต้องเอาชนะให้ได้ ด้วยวิธีถูกต้องก็เอา  ด้วยวิชามารก็เอา  สังคมจึงมีความเดือดร้อน วุ่นวาย ไม่ได้เป็นเพราะมีทรัพยากรไม่พอเพียง     เพราะในโลกนี้มีสิ่งต่างๆมากมายก่ายกอง  เกินกว่าที่พวกเราจะมาใช้ได้ แต่สิ่งที่โลกนี้ขาดก็คือธรรมะแสงสว่าง ที่จะสอนให้มนุษย์อยู่ร่วมกัน ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  เราสามารถอยู่กันแบบมีความสุขก็ได้ หรืออยู่ด้วยความเดือดร้อนวุ่นวายก็ได้ ขึ้นอยู่ว่าเราจะอยู่แบบไหนกัน   ถ้าอยู่แบบเห็นแก่ตัว  เห็นแก่ความอยากความต้องการ ไม่คิดถึงผู้อื่น โลกก็จะมีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย  แต่ถ้าอยู่ด้วยการเห็นแก่ผู้อื่น ส่วนของเราก็หามาโดยไม่ไปสร้างความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่น ถ้ามีมากเกินความจำเป็น มีเหลือกินเหลือใช้ เห็นผู้อื่นที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้  ก็ช่วยเหลือกันไป ถ้าทำแบบนี้โลกของเราก็จะอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข จิตใจของคนเราก็จะเป็นเทพเป็นพระกัน  ไม่ได้เป็นยักษ์เป็นมารกัน  อยู่ที่ว่าเรารู้จักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่เท่านั้นเอง  ถ้ารู้จักและปฏิบัติตามได้ โลกนี้จะอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ทุกคนจะเป็นพระเป็นเทพกัน  ไม่ช้าก็เร็วทุกคนก็จะสามารถปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างแน่นอน เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีอานุภาพอย่างนั้น ทำให้พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว  หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงแล้ว     ถ้าพวกเรานำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเราก็จะได้ผลเช่นเดียวกันอย่างแน่นอน  ไม่ช้าก็เร็ว    

 

เราจึงควรทำบุญกันอยู่เรื่อยๆ ทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้  เมื่อทำบุญให้ทานได้แล้ว ก็ขยับสู่บุญที่สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง คือการรักษาศีล  พยายามละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์  ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ  เสพสุรายาเมา  ถ้าสามารถรักษาศีลได้ใจก็จะสงบมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง  ความสุขก็จะมีมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เมื่อมีความสุขความสงบมากขึ้นแล้ว ก็จะเห็นคุณค่าของความสุขความสงบ ก็อยากจะทำให้มีมากยิ่งขึ้นไป   ก็ต้องขยับขึ้นสู่บุญอีกระดับหนึ่ง  คือการภาวนา ที่มีอยู่  ๒  ระดับด้วยกัน  คือสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา    สมถภาวนาก็คือการเพ่งจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพื่อไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆอย่างต่อเนื่องสักระยะหนึ่ง จิตก็จะสงบตัวลง  รวมเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์   ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่มาทางตาหูจมูกลิ้นกายหรือใจ  ในขณะนั้นจะไม่สนใจ ถึงแม้จะรู้ว่ามีเสียง มีกลิ่นหรือมีอะไรก็ตาม   แต่ใจจะไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย ในขณะนั้นจะเหมือนกับคนที่นอนหลับสนิท เวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น คนหลับจะไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ไม่เหมือนกันตรงที่จิตมีสติรู้อยู่ตลอดเวลา มีความสุข มีความอิ่ม  มีความพอ   ถ้าได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้แล้ว ก็อยากจะให้มีอยู่เรื่อยๆ  แต่เนื่องจากว่าเราไม่สามารถอยู่ในสมาธิได้ตลอดเวลา เพราะต้องออกมาทำภารกิจต่างๆ  ต้องไปเรียนหนังสือ ต้องไปทำงาน  ถ้าอยากจะรักษาความสงบของจิต ให้เป็นเหมือนกับในขณะที่นั่งอยู่ในสมาธิ ก็สามารถทำได้ด้วยการเจริญวิปัสสนา  คือการรักษาจิตใจในขณะที่ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ    เวลาไปเกี่ยวข้องกับอะไร ก็ต้องมีวิปัสสนาคอยดึงจิตไม่ให้ไปหลง ไปยึดไปติด เพราะถ้าไปหลงยึดติดแล้ว ก็จะเกิดความกังวลใจ ความหวง ความห่วงขึ้นมา 

 

เวลาได้อะไรมาที่เราชอบ ที่เรารัก ก็จะยึดติดทันที อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ จะห่วงกังวลเวลาที่ไม่เห็นสิ่งที่เรารัก   นี้คือปัญหาของพวกเราเวลาไปเห็นอะไร ได้ยินอะไร พบกับอะไร ก็จะเกิดความอยากได้หรือเกิดความรังเกียจขึ้นมา แต่เราอยู่ในโลกที่สิ่งต่างๆไม่ได้เป็นไปตามความอยาก ความต้องการของเรา เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา  เราไม่สามารถบังคับให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้เสมอไป    แต่สิ่งที่เราสามารถบังคับได้ก็คือใจของเรา ถ้ามีวิปัสสนาสอนใจไม่ให้ไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆ  เพราะสิ่งต่างๆที่เรารักก็ดีหรือที่เราเกลียดก็ดี  ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด      ถ้ารักแล้วจากเราไปเราก็จะเสียใจ   ถ้าเกลียดแล้วเกิดโผล่มาให้เห็นหน้าก็ทุกข์ใจ  ถ้าทำใจให้เฉยๆ ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ  กับคนนั้นคนนี้ จะมาก็ได้จะไปก็ได้  ถ้าสอนใจไม่ให้ไปยึดไปติด  ให้วางเฉยเป็นอุเบกขา เหมือนกับในขณะที่นั่งอยู่ในสมาธิ   ก็จะทำให้ใจสงบเย็นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบทางตาก็ดี ทางหูก็ดี  ทางจมูกก็ดี  ทางลิ้นก็ดี  ทางกายก็ดี  เราสามารถรักษาใจให้วางเฉยได้ด้วยวิปัสสนาภาวนา  คือพิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด  ไม่ใช่ของเรา  ไม่อยู่ในการควบคุมของเราเสมอไป  เราก็ต้องปล่อยวาง  เมื่อปล่อยวางแล้วเราจะไม่เดือดร้อน  ใครจะทำอะไรจะเป็นอะไร เราจะไม่เดือดร้อน ถ้าหลงไปยึดติด เช่นรักลูกเรามาก อยากจะให้ลูกเราดี แต่เขาไม่ดีเท่ากับความอยากของเรา  ทั้งๆที่เขาก็ดีอยู่แล้ว  แต่ใจเราอยากมากไปกว่านั้น  ก็จะทำให้เราทุกข์   ถ้ารับความจริงว่าเขาทำได้เท่านี้ ดีได้เท่านี้ เราก็พอใจเท่านี้ เราก็มีความสุข   

 

เราจึงต้องฝึกใจให้ยินดีตามมีตามเกิด  อย่าไปอยากมากจนเกินไป  เราช่วยเขาได้ สั่งสอนเขาได้ ก็ทำไป     ถ้าไม่เป็นไปตามที่เราต้องการก็อย่าไปเสียใจ  อย่าไปยึดอย่าไปติด ถือว่าได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว ได้ช่วยเหลือเขาแล้ว  เหมือนกับเอาเงินไปให้เขา แต่เขาไม่ยินดีรับ ก็ไม่เห็นจะเสียหายอะไร  ถ้าเขาไม่ต้องการเงินเราก็เก็บไว้ใช้อย่างอื่น   ไม่ต้องไปเสียใจว่าทำไมจึงไม่รับเงิน  รังเกียจเงินของเราหรืออย่างไร  อย่าไปคิดให้เสียเวลา  นี่คือวิปัสสนาภาวนา  สอนใจให้ปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา  ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆ ใจจะมีความสุขมีความสงบตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งหรือไม่นั่งสมาธิ  ไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรือจะอยู่กับหลายคน   ใจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ต่างๆ  ถ้าไม่มีวิปัสสนา ใจจะยึดจะติดกับสิ่งต่างๆ  จะเปลี่ยนไปกับเหตุการณ์ต่างๆ  ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่ดีก็จะดีอกดีใจ   ถ้าไม่ดีก็จะเดือดร้อนวุ่นวายใจ เป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้  สามารถรักษาใจให้สงบสุขได้ตลอดเวลา   ถ้าน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ  มาทำบุญด้วยวิธีต่างๆ ให้ทานรักษาศีลภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรม  นี่คือการสร้างความสุข   สร้างความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายให้กับใจของเรา ไม่มีอะไรที่จะทำได้นอกจากพระธรรมคำสอนและการปฏิบัติของเราเท่านั้น    ขอให้มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน พยายามปฏิบัติให้มาก เพื่อจะได้พบกับความสุขที่แท้จริงต่อไป  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้