กัณฑ์ที่ ๓๑๘       ๑๖ เมษายน ๒๕๕๐

 

ของคู่กัน

 

 

ความทุกข์เป็นสิ่งที่ดับได้   ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้     ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด   เช่นมาวัดทุกๆวันพระวันเสาร์หรือวันอาทิตย์    เพื่อสร้างบุญกุศล  บุญคือความสุขใจ   กุศลคือ   ความฉลาด ถ้ามีทั้งบุญและกุศลแล้ว จะมีอาวุธไว้ต่อสู้กับความทุกข์   ความวุ่นวายใจต่างๆ  บุญหรือความสุขใจเป็นเหมือนความเย็น ถ้ามีมากเพียงไรก็จะให้ความร่มเย็นเป็นสุขกับจิตใจมากเพียงนั้น   ส่วนความทุกข์เป็นเหมือนความร้อน ถ้ามีมากเพียงไรก็จะสร้างความรุ่มร้อนให้กับจิตใจเพียงนั้น     เราจึงต้องเอาความเย็นคือความสุขใจ ที่เกิดจากการทำบุญมาต่อสู้กับความร้อนของความทุกข์   ถ้ามีบุญมากจะมีความเย็นมาก  ความร้อนของความทุกข์ ก็จะไม่สามารถเข้ามาเหยียบย่ำทำลายจิตใจได้   ถ้ามีบุญมีความเย็นใจน้อย  ความทุกข์ร้อนก็ยังจะเข้ามาในใจได้  เพราะความสุขความเย็นใจ กับความทุกข์ความร้อนใจ เป็นคู่ต่อสู้กัน  เหมือนกับเครื่องปรับอากาศ  ถ้ามีความเย็นมาก  ความร้อนจากภายนอกก็จะไม่สามารถเข้ามาได้   ถ้ามีความเย็นน้อยความร้อนจากภายนอกก็ยังจะเข้ามาได้  เวลาเครื่องปรับอากาศไม่ทำงานเต็มที่เพราะเสื่อมหรือเสีย ก็เหมือนกับไม่มีเครื่องปรับอากาศ เปิดไปก็มีแต่ลมร้อนพัดเข้ามา ใจที่ทุกข์ร้อนก็เป็นเพราะเครื่องปรับอากาศของใจไม่ทำงาน หรือไม่มีเครื่องปรับอากาศติดตั้งในใจ  คือบุญและกุศลนี้เอง   ถ้าติดตั้งบุญและกุศลไว้ในใจ จะมีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามากระทบตลอดเวลา  

 

เพราะในชีวิตของเราในแต่ละวัน จะต้องเจอกับเรื่องราวต่างๆมากมาย ทั้งดีและไม่ดี   ถ้าดีก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะไม่สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ   ถ้าไม่ดีก็จะสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ   แต่เราไม่สามารถเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีอย่างเดียว  ไม่สามารถกีดกันสิ่งที่ไม่ดีไม่ให้มากระทบ   เพราะสิ่งที่ไม่ดีและดีเป็นของคู่กัน  เหมือนกับเหรียญที่มี ๒ ด้าน มีหัวมีก้อย   ถ้าจะเอาหัวก็ต้องเอาก้อยด้วย ได้ทั้งหัวและก้อย  ถ้าไม่อยากได้หัวหรือก้อย ก็ต้องไม่เอาเลย ฉันใดสุขทุกข์ที่มีอยู่ในโลกนี้ก็เป็นของคู่กัน  เป็นโลกของความสุขและความทุกข์ ถ้าไม่ต้องการความทุกข์ก็ต้องไม่ต้องเอาความสุขทางโลก ที่ออกบวชกันเพราะเห็นความสุขทางโลกมีความทุกข์ติดมาด้วย เป็นของคู่กัน  จึงสละความสุขทางโลก ไม่เอาเลยเพราะไม่ต้องการความทุกข์ที่ตามมาด้วย   ความสุขทางโลกก็คือการเจริญในลาภยศสรรเสริญกามสุข  แต่อยู่ภายใต้กฎของอนิจจังไม่เที่ยง   มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา   เวลาเจริญเราก็ชอบ ดีอกดีใจ เวลาเสื่อมเราก็เสียใจ เพราะหลงไปยึดไปติด  ไม่รู้ว่าเป็นอย่างนี้ มีทั้งสุขและมีทั้งทุกข์  มีทั้งเจริญมีทั้งเสื่อม เพราะไม่มีกุศลคือความฉลาด ไม่มีบุญคือความสุขใจไว้คอยป้องกัน พอเกิดความเสื่อมขึ้นมาใจก็รุ่มร้อนด้วยความทุกข์  อาลัยอาวรณ์ เสียดาย  เศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะไม่มีบุญกุศลมากพอที่จะกั้นไม่ให้ความทุกข์ร้อนเข้ามาในใจ  พระพุทธเจ้าทรงเห็นความสำคัญในการสร้างบุญกุศลอย่างสม่ำเสมอ  จึงทรงสอนให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัดกันอย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นเหมือนกับการติดเครื่องปรับอากาศนั่นเอง  เมื่อติดแล้วจะร่มเย็นเป็นสุขตลอดเวลา   ไม่ว่าจะพบกับสภาพอะไรในโลกนี้  เจริญหรือเสื่อม  จะไม่สร้างความรุ่มร้อนความทุกข์ให้กับใจได้   

 

นี้คือบุญและกุศลที่พวกเราได้มาทำกันอย่างสม่ำเสมอ    เกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา นั่งสมาธิ เจริญปัญญา   เป็นการสร้างบุญและกุศลความร่มเย็นให้กับจิตใจ  การให้ทานก็สร้างความร่มเย็นเป็นสุขได้ระดับหนึ่ง  การรักษาศีลก็ให้มากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง  การภาวนาก็ให้อย่างเต็มที่เลย  เหมือนกับเครื่องปรับอากาศที่มีปุ่มปรับความเย็นได้ มีตั้งแต่เลข ๑  ถึงเลข  ๕  หรือเลข  ๑๐   ถ้าหมุนไปที่เลขต่ำความเย็นก็น้อย   ถ้าหมุนไปที่เลขสูงๆ ความเย็นก็จะมาก  ฉันใดการทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา ก็เป็นเหมือนกับปุ่มควบคุมความเย็นของจิตใจ   ถ้าต้องการความเย็นมาก  ให้ได้เต็มร้อย ก็ต้องภาวนาไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ  เจริญปัญญา  ถ้าทำทานอย่างเดียว ไม่รักษาศีลหรือภาวนา  ก็จะได้ความเย็นน้อย  ถ้าร้อนมากๆก็จะไม่ทำให้จิตใจร่มเย็นได้ ถ้าความทุกข์ไม่มากก็พอจะรับได้ในระดับของทาน   ถ้ารักษาศีลด้วยก็เท่ากับปรับปุ่มให้สูงขึ้น  ปรับความเย็นใจให้มีมากขึ้น ก็จะรับกับความทุกข์ที่ร้อนมากขึ้นได้ ถ้าปรับปุ่มไปที่สูงสุดของความเย็นได้ ก็จะรับกับความทุกข์ร้อนต่างๆได้อย่างเต็มที่เลย  ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความแก่เจ็บตายพลัดพรากจากกัน  ถ้ามีภาวนารับรองได้ว่าจะไม่ทุกข์วุ่นวายกับความแก่เจ็บตายพลัดพรากจากกันเลย  เพราะใจจะเย็นอย่างเต็มที่จนความรุ่มร้อนต่างๆ  ไม่สามารถทำให้ใจร้อนขึ้นมาได้เลย  จึงไม่ควรทำแต่ทานอย่างเดียว รักษาศีลอย่างเดียว ต้องภาวนาด้วย  ต้องฝึกทำจิตใจให้สงบ วิธีที่ง่ายที่สุด ก็คือการสวดมนต์ด้วยสติ สวดบทไหนก็ได้ไม่สำคัญ  บทต่างๆเป็นอุบาย  เป็นเครื่องมือที่จะทำให้จิตสงบ  จะสวดยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎกก็ได้  อิติปิโสก็ได้  แผ่เมตตาก็ได้ ธรรมจักรก็ได้  แล้วแต่จะจำบทไหนได้ก็สวดบทนั้นไป ไม่เปิดหนังสือดูได้จะดีกว่า เพราะจะได้ไม่ต้องเพ่งดูตัวอักษร สวดบทที่จำได้ 

 

ถ้าจำบทไหนไม่ได้เลย ก็สวดแต่พุทโธๆไปเรื่อยๆก็ได้  พุทโธธัมโมสังโฆไปเรื่อยๆก็ได้  ข้อสำคัญอยู่ที่เวลาสวดไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น จะสวดบทไหนก็ได้  สวดอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ไปคิดเรื่องอื่น คืออยู่กับบทสวดอย่างเดียว  ต้องมีสติ   ต้องรู้อยู่ทุกขณะว่าขณะนี้กำลังอยู่กับการสวดมนต์ หรือกำลังคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่  ถ้าปล่อยให้ไปคิดแล้วสวดไปพร้อมๆกัน สวดไปนานสักเท่าไร ใจก็จะไม่สงบ  เพราะใจยังแกว่งไปแกว่งมา กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าไม่อยู่กับบทสวดมนต์ ก็จะไม่นิ่งไม่สงบ ต้องจ่ออยู่กับบทสวดมนต์อย่างเดียว สวดไปเรื่อยๆ แต่อย่าไปคิดไปคาดคะเน ว่าสวดแล้วจะได้ผลอย่างไรเมื่อไหร่ อย่าไปคิดเป็นอันขาด เพราะคิดแล้วก็จะไม่เป็น ต้องไม่คิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น อยู่กับบทสวดมนต์ไปเรื่อยๆ  รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะรวมตัวเข้าสู่ความสงบ จะเป็นเหมือนกับตกหลุมตกบ่อตกเหว วูบลงไป แล้วก็นิ่งเบาสบาย มหัศจรรย์ใจ  ถ้าลงลึกๆร่างกายจะหายไปจากความรู้สึก เหลือแต่ความรู้   เหลือแต่ผู้รู้อยู่ตัวเดียว ที่เรียกว่าสักแต่ว่ารู้ เป็นผลที่เกิดจากการสวดมนต์ จากการบริกรรมพุทโธธัมโมสังโฆ  เมื่อจิตรวมลงแล้ว จะพบกับความสุขที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ที่ไม่เคยพบมาก่อน ไม่มีความทุกข์  ไม่มีอะไรอยู่ในใจเลย  ไม่มีเรื่องราววุ่นวายต่างๆ     ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เหมือนกับลอยอยู่ในอวกาศคนเดียว แสนจะสุขแสนจะสบาย แล้วจะเข้าใจถึงคำที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า  ไม่มีความสุขอื่นใดจะเหนือกว่าความสุขที่เกิดจากความสงบ   ความสงบใจนี้แลเป็นสุดยอดของความสุข  

 

เป็นเหตุทำให้พระพุทธเจ้าสละความสุขทางโลกได้   เพราะทรงได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้มาก่อนที่จะออกบวช จนมีความเชื่อมั่นว่า ไม่มีความสุขอื่นใดจะดีเท่ากับความสุขนี้    จึงกล้าสละความสุขทางโลก  ในฐานะของราชกุมาร มีปราสาท ๓ ฤดู มีทรัพย์ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีความสุขที่ได้จากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะทรงเห็นว่าเป็นความสุขที่มีความทุกข์ควบคู่ไปด้วย   เทียบกับความสุขที่ได้จากความสงบใจไม่ได้  เพราะไม่มีความทุกข์มาเกี่ยวข้องเลย เป็นความสุขที่ดับความทุกข์ได้ ความสุขอย่างอื่นดับความทุกข์ไม่ได้   เวลาไปเที่ยวก็มีความสุข    พอกลับมาบ้านพบว่าขโมยได้ขึ้นบ้าน  ขโมยข้าวของไป  ความสุขที่ได้จากการไปเที่ยวก็หายไป   เกิดความเสียใจ เสียดายสมบัติข้าวของเงินทองที่ถูกขโมยไป จึงควรสร้างบุญและกุศลกัน   บุญก็คือการทำทาน   รักษาศีล นั่งสมาธิ  กุศลก็คือปัญญาความฉลาด เกิดจากการพินิจพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย   ตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณา  ให้มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา   ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม จะเป็นวัตถุ เป็นบุคคล ล้วนอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ทั้งนั้น มีความไม่เที่ยงเหมือนกัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน มีเกิดมีดับ เหมือนกับเสียงที่กำลังได้ยินอยู่นี้ ก็มีการเกิดดับ เวลาพูดก็เกิด  พอหยุดพูดเสียงก็ดับหายไป  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราไปตลอด เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่สามารถให้ความสุขกับเราไปได้ตลอด เวลาอยู่เราก็สุข พอจากไปเราก็ทุกข์ เสียอกเสียใจ เพราะไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง  ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นสมบัติของเรา เป็นตัวเรา เป็นเพียงสมมุติเท่านั้นเอง  

 

เวลาได้ร่างกายนี้มาก็สมมุติว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา แต่อยู่ไปสักระยะหนึ่งก็ต้องตายไป กลับไปสู่เจ้าของเดิม ไปสู่ดินน้ำลมไฟ  ไม่ได้เป็นของเราเป็นตัวเราอย่างแท้จริง นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พินิจพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ถ้าเห็นแล้วจะไม่หลงยึดติด ก็จะไม่ทุกข์กับอะไร เพราะความทุกข์เกิดจากความหลงยึดติด   เวลายึดติดกับอะไรก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้นๆ  แต่สิ่งใดที่ไม่ยึดติด ก็จะไม่ทุกข์ด้วย   เช่นคนอื่นหรือสิ่งของของคนอื่น เราไม่เดือดร้อนเวลาเป็นอะไรไป ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับเรา  เราไม่เดือดร้อนไม่ทุกข์ด้วย   แต่คนที่เราเกี่ยวข้องด้วย ที่เราหลงยึดติดว่าเป็นลูกเรา สามีเรา ภรรยาเรา  เป็นพ่อเป็นแม่เรา พอเป็นอะไรขึ้นมา เราก็ทุกข์วุ่นวายใจทันที เพราะไม่มีกุศล ไม่มีปัญญานั่นเอง ยังหลงติดอยู่ในสมมุติ   หลงติดว่าเป็นพ่อเป็นแม่  เป็นลูก  เป็นสามี เป็นภรรยาของเรา   แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เห็นด้วยปัญญาแล้วว่า  ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสมมุติเท่านั้นเอง  เป็นธาตุ  ๔ ดินน้ำลมไฟที่มารวมกับธาตุรู้คือใจ ก็ปรากฏเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา  เป็นคน  เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นนก ล้วนเป็นการรวมกันของธาตุ ๔  ดินน้ำลมไฟและธาตุรู้คือใจ แล้วก็สมมุติว่าเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน  เป็นสามีเป็นภรรยากัน หลงยึดติดว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ  ทั้งๆที่เป็นเหมือนกับการเล่นละคร    พวกเราเป็นเหมือนตัวละคร   ที่ถูกสมมุติให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้   สมมุติว่าคนนั้นคนนี้เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา    เราก็หลงเชื่อเต็มที่เลย เวลาเขาเป็นอะไรไป  เราก็ทุกข์วุ่นวายใจ  กินไม่ได้นอนไม่หลับ  เพราะไม่เคยสร้างกุศล   ไม่เคยเจริญปัญญา  ไม่เคยพิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นสมมุติทั้งนั้น  

 

เหมือนกับเอาดินมาปั้น  แล้วก็สมมุติว่าเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูก  แต่ความจริงก็มาจากดินเท่านั้น ฉันใดร่างกายของเราก็มาจากดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง เวลาตายไปก็กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ ถ้าคิดพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆแล้วจะไม่หลงยึดติด  จะปล่อยวาง จะไม่คิดว่าเป็นตัวเราของเรา   เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเรา สามีเรา ภรรยาเรา  เป็นการเล่นละครเท่านั้นเอง เป็นสมมุติ  เมื่อรู้อย่างนี้แล้วรับรองได้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม   จะไม่มีปัญหากับเราอย่างแน่นอน  ตายก็ตายไป  เป็นอะไรก็เป็นไป เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดกับเขา   เรายึดติดอยู่อย่างเดียวเท่านั้นก็คือบุญและกุศล  ที่เป็นสรณะที่พึ่งของเราอย่างแท้จริง   ถ้ามีบุญมีกุศลอยู่ในจิตใจเต็มร้อยแล้ว รับรองได้ว่าจะอยู่อย่างร่มเป็นสุขไปตลอดอนันตกาล นี่คือฐานะของจิตใจของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวก ที่ได้สร้างบุญและกุศลจนเต็มเปี่ยมในหัวใจ จึงไม่มีความทุกข์เล็ดลอดเข้าไปในใจ ไม่มีความหลงที่จะหลอกให้ยึดติด ให้ไปเวียนว่ายตายเกิดในภพต่างๆได้อีกต่อไป    นี่คืออานุภาพของบุญและกุศล ที่พวกเราได้มาบำเพ็ญกันอย่างต่อเนื่อง อย่างสม่ำเสมอ   ถ้าทำไปไม่หยุดไม่หย่อน รับรองได้ว่าสักวันหนึ่งไม่ชาตินี้หรือในชาติต่อๆไป ก็จะได้พบกับบรมสุขของพระนิพพาน  พบกับความสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอย่างแน่นอน 

 

จึงควรเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และพยายามปฏิบัติตามด้วยความขยันหมั่นเพียร  ด้วยความกล้าหาญ  ด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความอดทน  สักวันหนึ่งจะได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกได้ไปถึง  ส่วนในปัจจุบันจะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น มีความทุกข์มีปัญหาน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะเกิดจากอกุศลความไม่ฉลาด   ที่ชอบไปคว้าเอาเรื่องต่างๆมาเป็นปัญหา หลงยึดติดว่าเป็นของเรา ก็เกิดความหวงความห่วง เสียดายอาลัยอาวรณ์  เวลาที่จากเราไป ถ้ามีกุศลแล้วจะไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ   ถึงแม้จะต้องมีอะไรก็รู้ว่าเป็นของชั่วคราวเท่านั้น   มีไว้เพื่อใช้สอยให้เกิดประโยชน์  เพื่อให้ได้สร้างบุญสร้างกุศลเท่านั้นเอง   แต่จะไม่ยึดติดเวลาเป็นอะไร จะจากไปก็ปล่อยให้ไปโดยดี    ถ้าปล่อยวางได้จะไม่ทุกข์ไม่เครียดกับอะไรทั้งสิ้น   จึงขอฝากเรื่องของการทำบุญสร้างกุศลอย่างสม่ำเสมอนี้ไปปฏิบัติ   เพื่อประโยชน์สุขและความร่มเย็นของจิตใจที่จะตามมาต่อไป  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้