กัณฑ์ที่ ๓๑๙        ๒๑ เมษายน ๒๕๕๐

 

มองตามความจริง

 

 

 

วันนี้พวกเรามีเวลาว่างจากภารกิจการงาน จึงมาวัดเพื่อมาสร้างความดีทำบุญทำกุศล สร้างสรณะที่พึ่งทางใจ เพราะเราต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่มีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งสุขและทุกข์ ถ้าไม่สร้างสรณะที่พึ่งทางใจไว้ เวลาไปเจอความทุกข์เจอสิ่งที่ไม่ดี จะไม่มีภูมิคุ้มกัน เหมือนกับร่างกายถ้าไม่ได้ฉีดยาป้องกันโรคภัยต่างๆ เวลามีเชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย ก็จะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยและถึงตายได้ ถ้าเป็นโรคภัยที่ร้ายแรง ฉันใดใจก็ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีสรณะที่พึ่งทางใจ ก็คือธรรมะ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้ทำดี ละบาป ชำระกายวาจาใจให้สะอาดหมดจด ด้วยศรัทธาความเชื่อ จาคะการเสียสละ ศีลไม่เบียดเบียนผู้อื่น ปัญญาความฉลาดรู้ทันโลก รู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ ถ้ามีศรัทธาจาคะศีลปัญญา ก็จะมีสรณะมีที่พึ่ง ไว้คอยปกป้องรักษาใจ ไม่ให้ทุกข์วุ่นวายเศร้าโศกเสียใจ เราจึงต้องสร้างศรัทธาความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สร้างจาคะด้วยการบริจาคสิ่งของต่างๆ ที่เหลือกินเหลือใช้ ตั้งอยู่ในศีลด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา สร้างปัญญาด้วยการฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีปัญญาแล้วจะรู้ทันกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ จะไม่ถูกหลอก เมื่อไม่ถูกหลอกก็จะไม่เสียใจ ที่เสียใจกันก็เพราะถูกหลอก ไม่ใช่ใครที่ไหนที่หลอก กิเลสนี้เองที่หลอกเรา คือความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ เพราะเราไม่มองตามความจริง แต่มองตามความอยาก กิเลสชอบหลอกให้เราอยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ อยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อยากให้คนนั้นคนนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ความอยากมักจะไม่ตรงกับความจริงเสมอไป จึงทำให้เราผิดหวังเสียใจ ถ้าตรงกับความจริงก็ทำให้หลงระเริง คิดว่าอยากจะได้อะไรแล้วจะสมอยากเสมอไป ก็จะไม่สนใจที่จะศึกษาธรรมะ ไม่สนใจที่จะสร้างความฉลาด เพื่อรู้ทันความจริงของโลกของชีวิต

 

เราจึงต้องมาวัดกันอยู่เรื่อยๆ ในวันที่มีเวลาว่าง อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งก็ควรเข้าวัดสักครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เสริมศรัทธา ความเชื่อในพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ตรัสรู้จริงเห็นจริง ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เชื่อว่าจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ เชื่อในพระธรรมคำสอน เชื่อในพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า แล้วก็ทำหน้าที่แทนพระพุทธเจ้า นำเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน พวกเราได้ยินได้ฟังแล้ว แม้จะยังไม่ได้เห็นยังไม่ได้พบกับสิ่งที่ท่านได้พบได้เห็นได้รู้มา เราก็ควรเชื่อไว้ก่อน เพราะจะได้ประโยชน์ ท่านไม่หลอกลวงเรา  สมมุติว่ามีคนมาบอกเราว่า มีสิ่งดีๆอยู่มากมายในสถานที่หนึ่ง มีเพชรนิลจินดา มีเงินมีทอง ถ้าใครไปถึงสถานที่นั้นได้ ก็จะสามารถเอาเพชรนิลจินดา เอาเงินเอาทอง มาเป็นสมบัติของตนได้ ถ้าเชื่อเราก็จะมีโอกาสพิสูจน์ว่า สิ่งที่เขาบอกเราจริงหรือไม่ ถ้าไปถึงที่นั่นแล้วไม่เจออะไรเลย ก็แสดงว่าเขาหลอกเรา แต่ถ้าไปเจอเราก็จะได้กำไร ลักษณะของความเชื่อเป็นอย่างนี้ ต้องเชื่อก่อนถึงจะพิสูจน์ได้ ถ้าไม่เชื่อก็จะไม่ได้พิสูจน์ ก็จะไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ที่ได้ทรงบรรลุถึง คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ การบรรลุถึงพระนิพพานที่เป็นความสุขสุดยอด เป็นสิ่งที่เรายังไม่เห็นกับตา ยังไม่ได้สัมผัสกับใจ เป็นสิ่งที่เราจะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ ถ้าไม่เชื่อก็จะไม่รู้ จะไม่ได้เห็น จะไม่ได้สัมผัส เพราะจะไม่ทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ถ้าเชื่อก็จะมีโอกาส เพราะจะปฏิบัติตาม

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ถ้าอยากจะได้สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงได้มาเป็นสมบัติ ต้องมีจาคะการเสียสละ ต้องรู้จักให้ อย่าหวงอย่าตระหนี่กับสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ ที่เหลือกินเหลือใช้ ส่วนที่จำเป็นก็ต้องเก็บเอาไว้ดูแลรักษาชีวิตของเรา ส่วนที่เกินความจำเป็นเหลือเฟือ อย่าไปหวงอย่าไปเก็บเอาไว้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้เอามาบริจาคเสีย ให้ผู้อื่นสงเคราะห์ผู้อื่นช่วยเหลือผู้อื่น จะทำให้หลุดพ้นจากความตระหนี่ใจแคบ หลุดพ้นจากความห่วง ที่จะผู้มัดให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ต้องไม่ยึดติดกับสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ เป็นของชั่วคราว ไม่อยู่กับเราไปตลอด เมื่อตายไปก็เอาติดตัวไปไม่ได้ ช่วยดับทุกข์ให้เราไม่ได้ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่ช่วย ในขณะที่ตายก็ไม่ช่วย ถ้าเอามาทำบุญเอามาบริจาคเอามาช่วยเหลือคนอื่น ก็จะทำให้มีบุญ มีความอิ่ม มีความสุขมากขึ้น จะทำให้ปฏิบัติได้มากขึ้นอีก ได้รักษาศีลไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะมีความอิ่มความพอ ไม่หิวกระหายอยากได้สิ่งต่างๆ ถ้าไม่บริจาคไม่เสียสละ ยังตระหนี่หวงแหนอยู่ ก็จะหิวกระหายอยากได้สิ่งต่างๆเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ต้องไปหาสิ่งต่างๆมา ถ้าหาด้วยวิธีที่สุจริตไม่ได้ ก็หาด้วยวิธีทุจริต ทำให้ไม่สามารถรักษาศีลได้ ต้องฉ้อโกง ลักขโมย ประพฤติผิดประเวณี ต้องฆ่า เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ เพราะไม่มีจาคะการเสียสละการให้ มีแต่ความหิวความอยากตลอดเวลา ต่างกับจิตที่มีจาคะ ที่มีความหิวความอยากน้อยลง มีความอิ่มความพอมากขึ้น ไม่ต้องไปตะเกียกตะกายดิ้นรนหาสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีที่มิชอบที่ทุจริต ทำให้รักษาศีลความดีงามไว้ได้

 

เวลาไม่ทำผิดศีลผิดธรรม จะมีความอบอุ่นใจสบายใจ ไม่กังวลว่าจะถูกจับไปเข้าคุกเข้าตะราง ถูกประณามด่าว่า ถูกลงโทษ เพราะไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ไม่ได้ทำบาปทำกรรม ทำให้จิตใจมีความสงบมีความสุขมากขึ้น ที่เป็นเกราะเป็นสรณะเป็นที่พึ่งของจิตใจในระดับหนึ่ง เมื่อตายไปถ้ายังไม่บรรลุถึงพระนิพพาน ก็จะได้ไปสู่สุคติ ไม่ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ไปตกนรก ไปเกิดในอบาย เพราะมีศีล ๕ ปกป้องไว้ ให้ไปเกิดในสุคติ ภพของมนุษย์ของเทพของพรหมของพระอริยเจ้า จะได้กลับมาสร้างบุญสร้างกุศลอีก จนบรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้าไปในที่สุด นี่คืออานิสงส์ของการรักษาศีล ในขณะที่อยู่ก็มีความอบอุ่นใจ ในขณะที่ไปก็ไปสู่สุคติ มีแต่ได้กับได้อย่างเดียว คนที่ไม่รักษาศีลจะคิดว่าเสียเปรียบขาดทุน เป็นคนที่โง่ เพราะมองไม่เห็นสิ่งที่ได้ เมื่ออยากจะได้ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองบุคคลต่างๆ ถ้าต้องรักษาศีล ก็อาจจะไม่ได้ ก็จะคิดว่าเสียเปรียบ ถ้าไม่รักษาศีลก็จะได้ แต่ไม่เห็นส่วนที่ต้องเสียไป ซึ่งมีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งที่ได้มา สิ่งที่ได้มาไม่มีคุณค่าอะไร เพราะเป็นวัตถุ ไม่คุ้มครองจิตใจไม่ให้ไปสู่ที่ต่ำได้ ถ้าไปทำผิดศีลผิดธรรมไปทำบาปทำกรรม ตายไปก็จะไม่มีศีลคอยปกป้องคุ้มครองไม่ให้ไปเกิดในอบาย เป็นสิ่งที่ไม่เห็นกัน เพราะความหลงครอบงำจิตใจ ทำให้ไม่เห็นว่าศีลเป็นสมบัติที่แท้จริง เป็นสรณะเป็นที่พึ่งของใจ เหมือนกับจาคะการเสียสละ ถึงแม้จะเสียสิ่งของต่างๆไป เสียคนนั้นคนนี้ไป แต่เรากลับได้ความอิ่มเอิบใจความสุขใจความมั่นใจ เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นกัน ใจเป็นสิ่งที่ละเอียด มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ ต้องเห็นด้วยตาใน คือธรรมจักษุ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้สร้างขึ้นมา ทำให้เห็นใจและสิ่งที่มีความจำเป็นต่อใจ ก็คือบุญและกุศลนี้เอง ที่ทรงสอนให้เราทำกัน ให้เราบริจาค ให้เราเสียสละ ให้มีจาคะ ให้มีศีลความสะอาดบริสุทธิ์ของกายวาจาใจ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ให้มีปัญญา

 

ถ้ามีปัญญาแล้ว จะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัญญาก็จะไม่เห็น เป็นเหมือนคนที่อยู่ในที่มืดหรือหลับตา จะไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ ถ้าเดินไปทำอะไรก็จะทำแบบผิดๆถูกๆ จะเดินไปเตะสิ่งนั้นสิ่งนี้ ชนสิ่งนั้นชนสิ่งนี้ ที่จะสร้างความทุกข์ความเจ็บปวด ถ้ามีแสงสว่างหรือลืมตาขึ้น เวลาทำอะไรก็จะเห็นได้ชัดเจน ก็จะไม่ทำผิดพลาด ไม่ไปชนไม่ไปเตะสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้เจ็บปวด ฉันใดถ้าใจมีแสงสว่างแห่งธรรมจากพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้พิจารณาอยู่เสมอว่า เกิดมาแล้วย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้ มีความตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ ต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงไปเป็นธรรมดา ช้าหรือเร็ว ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าสอนใจอยู่ตลอดเวลา จะได้เตรียมรับกับเหตุการณ์ จะได้ไม่หลง ไม่เสียใจ เวลาเกิดความแก่ขึ้นมา เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เกิดความตายขึ้นมา กับตัวเราก็ดี กับผู้อื่นก็ดี จะรับความจริงได้ จะไม่เดือดร้อนไม่วุ่นวาย ถ้าไม่เตือนใจไม่สอนใจเลย จะถูกความหลงเสี้ยมสอนให้อยากอยู่ไปนานๆ ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพรากจากกัน พอเกิดความแก่ความเจ็บความตาย เกิดการพลัดพรากจากกันขึ้นมา ก็จะรับไม่ได้ จะตกใจ เสียใจ ถ้ามีพระธรรมคำสอนเราจะไม่วุ่นวายใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นกับทุกๆคน เกิดแก่เจ็บตาย พลัดพรากจากกัน ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆแล้ว เวลามีใครเจ็บไข้ได้ป่วย เวลามีใครตายไป เราจะไม่วุ่นวาย ไม่เศร้าโศกเสียใจ จะถือเป็นเรื่องธรรมดา

 

และทรงสอนให้พิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน ไม่ว่าจะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ถ้าต้องตายไปก่อนเวลาที่ควร ก็เป็นเพราะวิบากกรรม ทำบุญมาเพียงเท่านี้ก็อยู่ได้เพียงเท่านี้ จะให้อยู่เกินบุญที่ทำไว้ไม่ได้ เหมือนกับเติมน้ำมันรถครึ่งถังก็จะไปได้ไม่ไกลเท่ากับเติมเต็มถัง คนเราก็เช่นเดียวกัน มีความแตกต่างกัน มีอายุสั้นยาวต่างกัน มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนต่างกัน มีอาการ ๓๒ ไม่เท่ากัน เพราะทำบุญกรรมมาต่างกัน ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้มากน้อยเพียงไร ถ้าละได้มากอายุก็ยืนยาวนาน โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียนมาก มีอาการ ๓๒ ครบถ้วนบริบูรณ์ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณาอยู่เสมอ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราก็ดี กับคนที่เรารักก็ดี จะได้ทำใจได้ ไม่เศร้าโศกเสียใจ เพราะไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ได้ทำให้คนที่ตายไปแล้วฟื้นขึ้นมา ไม่ได้ทำให้เราสบายใจ แต่จะทำให้จิตของเราว้าวุ่นขุ่นมัว กินไม่ได้นอนไม่หลับไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร จึงต้องดูแลรักษาใจเป็นหลัก คนอื่นเราก็ดูแลไปด้วย แต่ต้องไม่ลืมมองใจของเรา บางทีเราห่วงคนอื่นมากจนลืมใจของเราไป ห่วงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อย่างนี้ไม่ถูก เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเอง เป็นอกุศล เป็นความไม่ฉลาด คนที่ฉลาดจะต้องรู้จักรักษาใจของตนด้วย ในขณะที่ดูแลรักษาผู้อื่น ช่วยอะไรได้ก็ช่วยไป ช่วยไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปตามบุญตามกรรม จะมาเศร้าโศกเสียใจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นี่คือปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญอยู่เรื่อยๆ จะได้ไม่ลืม ถ้ายังคิดอยากจะอยู่ไปนานๆ ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายอยู่ แสดงว่ายังไม่มีปัญญา ยังไม่ได้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ลองถามตัวเราว่า พร้อมที่จะเจอกับความแก่หรือไม่ พร้อมที่จะเจอกับความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ พร้อมที่จะเจอกับความตายหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อมแสดงว่ายังสอนใจไม่มากพอ

 

ต้องคอยเตือนเราอยู่เรื่อยๆ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้เตือนตนอยู่เรื่อยๆว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ต้องเตือนอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเลย หายใจเข้าก็ต้องเตือนว่าเดี๋ยวก็ต้องตายแล้ว หายใจออกก็ต้องเตือนว่าเดี๋ยวก็ต้องตายแล้ว ถ้าเตือนอยู่เรื่อยๆแล้ว จะมีสรณะ มีที่พึ่ง จะไม่หวั่นไหวกับความเป็นความตาย กับการพลัดพรากจากกัน เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไปเศร้าโศกเสียใจ ไปหวาดกลัว ก็เหมือนกับทุบตีตัวเอง ทำไมต้องทุบตีตัวเราเองกับเหตุการณ์ที่เรายับยั้งไม่ได้ เช่นฝนตกแดดออก เวลาที่ไม่ต้องการให้ฝนตกแดดออก ก็มาทุบตีตัวเรา ก็ห้ามฝนห้ามแดดไม่ได้ ฉันใดเวลาที่ไม่ต้องการความแก่ความเจ็บความตาย ก็มาทำใจของเราให้ทุกข์ให้วุ่นวาย ด้วยความหวาดกลัววิตกกังวล ก็ไปห้ามความแก่ความเจ็บความตาย ห้ามการพลัดพรากจากกันไม่ได้ เมื่อถึงเวลาที่จะเกิดขึ้น ก็ต้องเกิด ไม่ว่ากับใครทั้งนั้น เพราะความหวาดกลัววิตกกังวล ไม่ได้เป็นวิธีรักษาใจให้เป็นปกติสุข แต่การสอนใจเพื่อให้รับความจริง ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายต้องพลัดพรากจากกันต่างหาก ที่จะทำให้อยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่สร้างความทุกข์ให้กับใจได้เลย เพราะมีสรณะมีที่พึ่ง มีเกราะคุ้มกัน คือพระธรรมคำสอนและการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน นี่คือสิ่งที่เราควรให้ความสนใจมากๆ คือการสร้างสรณะสร้างที่พึ่งให้กับใจ มากกว่าการแสวงหาสิ่งต่างๆในโลกนี้ เพราะไม่ใช่ที่พึ่งของใจ ไม่ได้ทำให้ใจมั่นคง ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ มีแต่บุญกุศล มีแต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนเท่านั้น ที่จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้

 

เราจึงควรสร้างบุญสร้างกุศลอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในวัดหรืออยู่นอกวัด ไม่จำเป็นต้องบริจาคให้กับวัดอย่างเดียว บริจาคให้โรงเรียนก็ได้ ให้โรงพยาบาลก็ได้ ให้มูลนิธิที่ทำสาธารณประโยชน์ก็ได้ เช่นมูลนิธิที่บริจาคโลงให้ศพไร้ญาติ ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน รักษาศีลในวัดก็ได้ รักษานอกวัดก็ได้ เพราะศีลอยู่กับกายวาจาใจของเรา เวลาจะพูดจะทำอะไร ให้มีสติดูว่าจะพูดจะทำผิดศีลหรือไม่ ถ้าจะไปเสพสุรายาเมาก็ต้องยับยั้ง ถ้าจะพูดโกหกก็ต้องหยุดพูด ถ้าจะไปเอาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองของผู้อื่น โดยที่เขาไม่อนุญาต ก็ต้องยับยั้ง ถ้ามีสติจะรู้ว่าจะพูดจะทำผิดศีลหรือไม่ ส่วนปัญญาเราก็เจริญได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระก็ดี ฟังเทศน์ฟังธรรมในใจของเราก็ดี เพราะเราก็สามารถแสดงธรรมสอนเราได้ เช่นธรรมที่เราได้ยินได้ฟังในวันนี้ เราก็เอาไปสอนเราอยู่เรื่อยๆ พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย การพลัดพรากจากกันอยู่เรื่อยๆ เวลาที่ไม่ต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็มาคิดเรื่องธรรมะกัน พยายามคิดอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่คิดก็จะลืม พอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะลืมธรรมะไป ก็จะเป็นคนโง่ ไม่รู้ทันโลก จะหลงกับโลก จะไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย

 

ถ้าคอยสอนคอยเทศน์อยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน ทำกรรมดีก็จะได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็จะได้รับผลชั่ว ถ้าสอนใจอย่างนี้แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะสามารถนำเอาธรรมะมาใช้กับเหตุการณ์ต่างๆได้ เวลาแก่ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาตายก็รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา ตายเร็วตายช้าก็เป็นเรื่องของบุญของกรรม จะไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศกเสียใจ มีสรณะมีที่พึ่งของใจอยู่ตลอดเวลา จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ก็สุขตายก็สุข นี่คืออานิสงส์ของการมาวัด ของการได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน ของการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน จะทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง จึงควรใฝ่บุญใฝ่กุศล ศึกษาฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ แล้วนำไปปฏิบัติ จะได้มีแต่ความสุขความเจริญ จึงขอฝากเรื่องการทำบุญทำทาน รักษาศีล เรื่องศรัทธาความเชื่อ เรื่องจาคะ เรื่องศีล เรื่องปัญญา ให้นำเอาไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์สุข เป็นสรณะของใจต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้