กัณฑ์ที่ ๓๒     ๗  มกราคม  ๒๕๔๔

สุภาษิต

มีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งที่ว่า คารมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง  เป็นการเปรียบเทียบระหว่างรูปร่างหน้าตาที่สวยงามกับวาจาที่สวยงาม  ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่น่าดึงดูด น่าประทับใจมากกว่ากัน  กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าวาจาที่สวยงามนั้น เป็นสิ่งที่มีความหมายมากกว่ารูปร่างหน้าตาที่สวยงาม  เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่ารูปร่างหน้าตาที่สวยงามนั้น เมื่อเห็นครั้งแรกก็เป็นที่ประทับใจ แต่ถ้าได้เห็นบ่อยๆเข้า จะเกิดความเคยชิน เกิดความจำเจ แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาได้ เหมือนกับอาหารที่รับประทาน ชนิดไหนที่เราชอบแต่ถ้าต้องทานซ้ำซากอยู่ทุกๆวัน มันก็เกิดความเบื่อหน่ายได้  แต่ตรงกันข้ามกับวาจาที่สวยงาม ทุกครั้งที่เราฟังเราจะเกิดความประทับใจ ไม่ว่าครั้งแรก ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม หรือกี่ครั้งก็ตาม เพราะว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นสิ่งที่น่าฟัง ฟังแล้วก็เกิดความชื่นอก ชื่นใจ สบายใจ

เรื่องของรูปร่างหน้าตานั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา  เมื่ออายุมากขึ้นหน้าตาที่เคยสวยงามก็จะค่อยๆเสื่อมลง ค่อยๆเหี่ยวลง ผิวหนังก็จะเหี่ยวย่น ผมก็จะกลายเป็นสีขาว รูปร่างที่มีทรวดทรงย่อมหมดไปตามอายุขัย  ส่วนวาจานั้นไม่ได้แก่ไปตามวัย ไม่ได้แก่ไปตามเวลา ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา  ถ้าพูดดีความสวยงามก็จะปรากฏขึ้นเป็นเงาตามตัว ผู้ที่มีวาจาสวยงามจึงเป็นที่ชื่นชมยินดีของผู้ที่ได้ยินได้ฟังตลอดกาล  จึงขอให้พวกเราจงรักษาความสวยงามของวาจาให้มากกว่ารักษาความสวยงามของร่างกาย  รูปร่างหน้าตาเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติไม่ได้ จะต้องเป็นไปตามกาลตามเวลา จะค่อยๆแก่ลงไปเรื่อยๆ ความสวยงามที่เคยมีในวัยหนุ่มสาวก็จะค่อยๆหมดไป

วาจาที่สวยงามนั้นไม่ได้เสื่อมไปกับกาลเวลา  แต่ขึ้นอยู่กับผู้พูดว่ามีสติหรือเปล่า  รู้ว่ากำลังพูดอะไรอยู่หรือเปล่า รู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรพูดหรือเปล่า  ถ้ามีสติและรู้จักแยกแยะว่าคำพูดที่สวยงามนั้นเป็นอย่างไร ผู้พูดจะสามารถรักษาวาจาที่สวยงามไปได้ตลอดชีวิตเลยทีเดียว คำพูดที่สวยงามเรียกว่าสุภาษิต  ประกอบไปด้วย   . สัจจะ ความจริง    . สุภาพ อ่อนโยน   . มีคุณประโยชน์ มีสาระ    . ประกอบไปด้วยความเมตตา   .  ถูกกาลเทศะ

. สัจจะ ความจริง  เวลาจะพูดอะไรต้องมีสติพิจารณาก่อน ว่าสิ่งที่จะพูดนั้นเป็นความจริงหรือเปล่า  ถ้าไม่เป็นความจริงก็อย่าพูดออกไป ให้นิ่งเสีย หรือปฏิเสธไปด้วยคำสุภาพว่าขอไม่พูดเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องพูดคำเท็จ  จะทำให้เราไม่สวยงาม ลดคุณค่าในตัวเราลงไป  คุณค่าของคนอยู่ที่คำพูด ดังในนิทานอีสปเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ  ครั้งแรกก็ไปหลอกว่ามีหมาป่ามากัดฝูงแกะ พอคนได้ยินก็วิ่งมาช่วย พอรู้ว่าถูกเด็กเลี้ยงแกะหลอกคนที่วิ่งมาช่วยก็เกิดความเสียใจและไม่พอใจ คำพูดของเด็กเลี้ยงแกะต่อไปจึงไม่มีความหมาย ไม่มีคุณค่า ต่อมาเวลามีหมาป่ามาทำร้ายฝูงแกะเขาก็ตะโกนขอความช่วยเหลือ แต่คราวนี้ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ เพราะกลัวจะถูกหลอกอีก นิทานเรื่องนี้สอนให้เห็นโทษของการพูดปดมดเท็จ 

. สุภาพ อ่อนโยน คำสุภาพนั้นเวลาใครได้ยินได้ฟังก็เกิดความสบายใจ  ตรงกันข้ามกับคำหยาบคาย ใครได้ยินได้ฟังก็ไม่สบายใจ เป็นการส่อให้เห็นถึงนิสัยสันดาน ฐานะตระกูลว่าสูงหรือต่ำ ดีหรือชั่ว ผู้ที่มีวาจาสุภาพเป็นผู้สูงเป็นผู้ประเสริฐ ผู้ที่พูดคำหยาบคายเป็นคนต่ำทราม เวลาพูดอะไรต้องระวัง อย่าพูดคำหยาบ ให้พูดคำที่สุภาพ

. มีคุณประโยชน์ มีสาระ ควรคำนึงทุกครั้งที่จะพูดว่ามีประโยชน์ มีสาระหรือไม่ มีโทษหรือไม่  ถ้ามีโทษก็อย่าไปพูด ถ้ามีคุณมีประโยชน์จึงค่อยพูดออกไป

. ประกอบไปด้วยความเมตตา  ความเมตตาหมายถึงไมตรีจิต ไม่อาฆาตพยาบาท ไม่เกลียดชัง ไม่โกรธแค้น เวลามีความโกรธอย่าพูดอะไรออกไป เพราะมักจะพูดคำที่ไม่สวยงาม ไม่สุภาพ เวลาที่คนโกรธพูดจะไม่มีใครอยากจะฟัง มีแต่อยากจะเดินหนี  เพราะว่าเป็นคำพูดที่ออกมาจากอารมณ์ที่เคียดแค้น เป็นคำพูดที่ไม่น่าฟัง ทำให้คนฟังมีอารมณ์โกรธแค้นตอบโต้กลับมา การรักษาวาจาที่สวยงามนั้นจึงขึ้นอยู่กับความมีเมตตา ควรเจริญเมตตาอยู่เสมอๆ มองทุกคนว่าเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน มีอะไรก็พูดกันได้ เวลามีความโกรธความเคียดแค้นครอบงำอยู่  อย่าเพิ่งไปพูดกับใคร  ให้สงบสติอารมณ์ให้ดีเสียก่อน รอให้จิตใจเป็นปกติ เป็นจิตใจที่มีเหตุมีผลเสียก่อนแล้วจึงค่อยพูดออกไป ถ้าพูดออกไปในขณะที่มีความโกรธ ความเกลียด ความแค้นแล้ว จะเสียคนได้ พูดไปแล้วจะเสียใจภายหลัง ควรจำใส่ใจอยู่เสมอว่า ก่อนพูดเราเป็นนายของคำพูดเรา พูดไปแล้วคำพูดเป็นนายเรา 

.  ถูกกาลเทศะ  คือรู้จักเวลาที่ควรจะพูดหรือไม่พูด ถ้าพูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ หรือเกิดโทษ ก็ควรนิ่งเสีย รอโอกาสที่เหมาะที่ควรแล้วค่อยพูดจะดีกว่า

การรักษาวาจาที่สวยงามจึงต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอๆ  ก่อนจะพูดต้องรู้ว่ากำลังจะพูดอะไร ต้องรู้ว่าขณะนี้มีความโกรธหรือเปล่า  ถ้ามีอารมณ์โกรธอารมณ์แค้นอยู่ ก็อย่าเพิ่งพูด ให้หยุดไว้ก่อน  รอให้สบายใจแล้วค่อยพูดก็ได้ ไม่ต้องรีบร้อน มีเวลาเยอะแยะไปที่จะพูดกันได้ เวลาพูดด้วยความสบายใจ  คนฟังก็ฟังด้วยความสบายใจ ย่อมรับเหตุรับผลได้ เวลาที่พ่อแม่จะสั่งสอนลูกนั้น ขอให้ทำในขณะที่มีความสบายใจ อย่าไปดุ อย่าไปด่าลูกในขณะที่มีความโกรธ เพราะตอนนั้นจะเป็นการเอาแพ้เอาชนะกัน ลูกจะไม่ยอมรับ  เพราะรู้ว่ากำลังใช้อารมณ์อยู่ ไม่ได้ใช้เหตุผล สิ่งที่พ่อแม่พูดจะไม่มีน้ำหนัก เพราะไม่มีเหตุไม่มีผล มีแต่อารมณ์  เวลาสอนจึงต้องสอนด้วยเหตุด้วยผล  คำสอนของพ่อแม่จะมีน้ำหนักต่อเมื่อมีเหตุมีผลและการกระทำของผู้สอนก็ต้องสอดคล้องกับสิ่งที่สอนด้วย 

ถ้าไม่อยากให้ลูกสูบบุหรี่ ไม่อยากให้ลูกกินเหล้าเมายา ไม่อยากให้ลูกเที่ยวเตร่ ไม่อยากให้ลูกเล่นการพนัน  ตัวเราก็ต้องทำอย่างนั้นด้วย   เราต้องไม่สูบบุหรี่ เราต้องไม่เสพสุรา เราต้องไม่เที่ยวเตร่  เราต้องไม่เล่นการพนัน ถ้าเรายังทำสิ่งเหล่านี้อยู่ลูกก็จะไม่เชื่อฟังเรา  เพราะว่าสิ่งที่เราต้องการให้เขาทำนั้นตัวเราเองยังทำไม่ได้เลย  เมื่อตัวเราเองยังทำไม่ได้แล้วจะให้คนอื่นทำตามคำสอนเราได้อย่างไร  มันก็เหมือนกับแม่ปูสอนลูกปู  แม่ปูเห็นลูกปูเดินเฉไปเฉมาก็อยากให้ลูกปูเดินตรงๆ จึงสอนลูกว่าอย่าเดินเฉไปเฉมา  แต่ตัวแม่เองยังเดินตรงไม่ได้เลย แล้วจะให้ลูกเดินตรงๆได้อย่างไร ถ้าอยากจะให้ลูกดำเนินชีวิตไปในกรอบที่ดีที่งามตามทำนองคลองธรรม พ่อแม่ต้องสอนลูกๆด้วยความเมตตา ด้วยเหตุด้วยผลด้วยความรู้ความฉลาด และทำในสิ่งที่สอน เวลาสอนควรสอนในขณะที่มีอารมณ์ดี ใจสบาย  อย่าสอนในขณะที่มีอารมณ์ มีความโกรธ เพราะจะไม่ได้ผล

ถ้าอยากจะเป็นที่รักที่ชื่นชมของบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสามีของเราก็ดี  ภรรยาของเราก็ดี ลูกของเราก็ดี มิตรสหายของเราก็ดีนั้น เราต้องเดินตามสุภาษิตที่สอนว่า คารมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง    ไม่ต้องพะวงถึงเรื่องแต่งหน้าแต่งตัว เรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ จะเสียเงินไปเปล่าๆกับสิ่งที่ไม่น่าจะเสีย กับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์  ถึงแม้จะสวยด้วยรูปร่างหน้าตาเสื้อผ้าอาภรณ์  ถ้าวาจาไม่สวยงามก็ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้หรอก  ไม่มีใครอยากฟังคำหยาบคาย คำพูดปดมดเท็จ  คำพูดที่ออกมาจากอารมณ์โกรธแค้นอาฆาตพยาบาทเหล่านี้ ความสวยงามของรูปร่างหน้าตาจะถูกความไม่สวยงามทางวาจาบดบังทำลายไปหมด จงพยายามสร้างความสวยงามที่วาจาเถิด  เพราะว่าวาจาไม่เสื่อมไปกับกาลกับเวลา  รูปร่างหน้าตามีแต่ที่จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ผิวหนังจะเหี่ยวลงไปเรื่อยๆ ทำศัลยกรรมตกแต่งก็ทำได้เพียงครั้งสองครั้งเท่านั้นเอง  แต่ในที่สุดก็ต้องแพ้กาลเวลา สู้ไม่ได้  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้