กัณฑ์ที่ ๓๒๙       ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐

 

 

พอประมาณ

 

 

 

การประกอบภารกิจทางศาสนา ที่พระบรมศาสดา  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ มีการทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ละการกระทำบาปทั้งปวง ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการกำจัดความโลภโกรธหลง เป็นเหตุที่จะพาไปสู่ความสุขความเจริญ พวกเราจึงได้มาปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะได้เห็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติ เพราะถ้าไม่ได้เห็นผลแล้ว ก็คงจะไม่กลับมาทำกันอีก ผลที่ได้นั้นมีอยู่ ๒ ประการด้วยกันคือ ๑. ประโยชน์สุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  ๒.  ประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป ในภพหน้าชาติหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรามองไม่เห็นกัน แต่สิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ พิสูจน์ได้ ก็คือประโยชน์สุขในปัจจุบัน เวลาได้ทำความดี เรามีความร่มเย็นเป็นสุข นี่คือบุญ เพราะบุญแปลว่าความสุขใจ ทำบุญแล้วทำให้เรามีความสุขสบายใจ ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน ไม่เหมือนกับการกระทำสิ่งอื่นๆ เช่นมีเงินอยู่ก้อนหนึ่งที่ใช้ได้ ๒ ลักษณะด้วยกัน มีความแตกต่างกัน ถ้าเอาเงินมาทำบุญ อย่างที่เราทำกันในวันนี้ ใจของเราจะมีความสงบสุข มีความภูมิใจ มีความอิ่ม มีความพอ เพราะการให้ทาน การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการกำจัดความเห็นแก่ตัว ความใจแคบ ความตระหนี่ ความโลภ ความอยาก ให้เบาบางลงไป ทำให้ใจเราสงบลง เกิดความอิ่มความพอความสุขตามมา ธรรมชาติของใจเป็นอย่างนี้ ใจจะสุขจะอิ่มจะพอ ไม่ได้เกิดจากการทำตามใจเรา ทำตามความอยากของเรา ได้อะไรมามากน้อยเพียงไร ไม่ทำให้เรามีความสุข ความอิ่ม ความพอ ความภูมิใจ แต่กลับสร้างความอยาก ความต้องการ ให้มีมากยิ่งขึ้นไป ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เพราะไม่ได้ทำความดี การให้ทานช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการทำความดี แต่การให้ทานช่วยเหลือตัวเรา ไม่ได้เป็นการทำความดีแต่อย่างใด นี่คือประโยชน์สุขที่เกิดจากเงินก้อนหนึ่ง จะเอามาทำบุญก็ได้  เอาไปซื้อของฟุ่มเฟือย ไปดูภาพยนตร์ ไปเที่ยวตามสถานเริงรมย์ต่างๆก็ได้ ก็เป็นเพียงความสนุกเพลิดเพลิน ในขณะที่ได้สัมผัสเท่านั้น พอผ่านไป ก็เหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวใจ ไม่อิ่ม ไม่มีพอ

 

เราจะเห็นได้ทันทีว่าสภาพจิตใจของเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีความโลภโมโทสันน้อยลงไป เบาบางลงไป ถ้าปล่อยให้ใจทำไปตามความโลภโมโทสัน ตามความอยาก ก็จะทำให้ใจต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น ต้องคิดตามความอยากมากขึ้น ก็จะทำให้หิวกระหายมากขึ้น ทำให้ใจสงบน้อยลงไป เพราะความอิ่ม ความพอ ความสุข อยู่ที่ความสงบเป็นหลัก ถ้าไม่มีความสงบแล้ว จะหาความสุขไม่ได้ การกระทำที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราทำกัน จึงสวนกับความรู้สึกภายในใจของเรา เพราะใจถูกอำนาจของความโลภโกรธหลงครอบงำอยู่ คอยผลักดันให้ไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นการเดินผิดทาง เป็นการหลงทาง เพราะสิ่งต่างๆภายนอก ไม่สามารถให้ความสุขที่แท้จริงกับใจได้ พวกเราก็หากันมามากแล้ว ตั้งแต่เกิดมาก็หากันแทบจะทุกวันเลย พอตื่นขึ้นมาความโลภความอยากก็แสดงตัวออกมา แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ พอไม่ได้อะไรก็จะหงุดหงิด ร้องห่มร้องไห้ ต้องหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้ ถ้าเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่นอาหารน้ำดื่มอากาศหายใจ ก็ไม่ถือเป็นความโลภความอยาก เพราะเป็นความจำเป็น แต่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะความโลภความอยาก มักจะแฝงตัวมากับความจำเป็น เช่นรับประทานมากเกินไป นี่ก็แสดงว่าถูกความโลภความอยากแทรกแซงแล้ว จึงต้องรับประทานอาหารพอประมาณ ไม่น้อยจนเกินไป ไม่มากจนเกินไป เพื่อดูแลรักษาร่างกาย ให้อยู่ได้อย่างสุข อย่างสบาย ไม่หิวไม่กระหาย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาหาสิ่งที่จำเป็น เช่นปัจจัย ๔ ก็ต้องใช้หลักมักน้อยสันโดษ พอประมาณ มักน้อยก็คือเอาเท่าที่จำเป็น ถ้าความจำเป็นอยู่ที่เสื้อผ้า ๒-๓ ชุด ก็ไม่ให้มากไปกว่านั้น ถ้าความจำเป็นอยู่ที่ ๕-๖ ชุด ก็เอาเท่านั้น การรับประทานอาหารก็เช่นเดียวกัน รับประทานเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อรับประทาน ถ้าอยู่เพื่อรับประทานแล้ว รับประทานวันละ ๔-๕ ครั้ง ก็ยังไม่พอ แต่ถ้ารับประทานเพื่ออยู่แล้ว รับประทานเพียงวันละครั้งก็อยู่ได้

 

แต่กิเลสจะต้องสร้างความวุ่นวายใจให้กับเราอย่างแน่นอน จึงต้องมีความหนักแน่น ต่อสู้กับความอยากด้วยเหตุด้วยผล ถ้ารับประทานวันละครั้งเดียว เวลาเกิดกิเลสอยากจะรับประทานอีก ก็ต้องสอนใจว่า ไม่จำเป็น ไม่ตาย คนที่อดอาหารเป็นวันๆยังไม่ตายเลย เราได้รับประทานอาหารเต็มที่แล้ว ไม่ต้องกลัวตาย ไม่ตายอย่างแน่นอน เพราะเป็นเหมือนกับการเติมน้ำมันรถ เติมทีเดียวให้เต็มถังไปเลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหยุดเติมอยู่เรื่อยๆ ท้องของเราก็เป็นเหมือนกับถังน้ำมันรถ กินให้เต็มท้องไปเลย ครั้งเดียวจบ รับรองได้ว่าไม่ตาย จะมีความสุข เพราะไม่ต้องวุ่นวายหากินอยู่เรื่อยๆ ไม่ตกเป็นทาสของความอยาก พอความอยากสั่งว่าอยากจะกินสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะไม่สามารถสั่งได้อีกต่อไป เพราะมีธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้รู้จักประมาณ ให้รับประทานเท่าที่จำเป็น เราก็จะเป็นผู้ชนะความอยากทางด้านอาหารไป ปัญหาเรื่องสุขภาพก็จะไม่มีตามมา เรื่องน้ำหนักเกินก็จะไม่มี ไม่ต้องไปออกกำลังกายให้เหนื่อยยากไปเปล่าๆ เหตุที่ต้องไปออกกำลังกายส่วนหนึ่งก็เพื่อรีดไขมัน รีดอาหารที่รับประทานมากไป ซึ่งเป็นเรื่องโง่เขลาเบาปัญญา เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ควรแก้ที่ต้นเหตุ ก็คือ ไม่ควรรับประทานอาหารมากจนเกินไป ต้องใช้ธรรมะเข้ามาปราบตัณหาความอยาก คือเหตุผล ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ มีเหตุมีผลแล้ว กิเลสจะครอบงำใจไม่ได้ เพราะเหตุผลหรือความจริง จะชนะกิเลส พระพุทธเจ้าชนะกิเลสความโลภโกรธหลงได้เพราะเหตุผล คือปัญญา คือหลักความจริง ความจริงของร่างกายก็คือ รับประทานอาหารวันละครั้งหนึ่ง ก็อยู่ได้แล้ว ที่อยู่ไม่ได้กัน ก็เพราะกิเลสคอยเหยียบย่ำรุมเร้าจิตใจ ให้ทุกข์ทรมาน แต่กายไม่รู้สึกอะไร เพราะกายไม่มีความรู้สึก ความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ใจ

 

การต่อสู้กับกิเลสก็ต้องทุกข์ยากลำบากเป็นธรรมดา เหมือนกับการต่อสู้กับศัตรูข้าศึก ถ้าปราบศัตรูข้าศึกจนราบคาบหมดไปแล้ว เราก็จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่มีอะไรมาเหยียบย่ำทำลายจิตใจได้อีกต่อไป เราจึงต้องมีความเข้มแข็งอดทนแน่วแน่ ต่อการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มองไปที่พระพุทธเจ้าทุกครั้ง เวลาต่อสู้กับกิเลสแล้วเกิดความท้อแท้ ดูว่าพระพุทธเจ้าทุกข์ทรมานยากลำบากขนาดไหน กว่าจะชนะกิเลสได้ กว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ เลือดตาแทบกระเด็น ได้ยินว่าเคยอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วันด้วยกัน คิดดูก็แล้วกัน ๔๙ วัน ยาวขนาดไหน พวกเราเพียงอดแค่ ๒๔ ชั้วโมงเท่านั้น จะเป็นจะตายให้ได้แล้ว นี่แหละคือเรื่องของการเอาชนะกิเลส เรื่องของการสร้างความสุขให้กับเรา มันไม่ได้มาอย่างง่ายๆ ไม่ได้มาจากการรับประทานอาหารมากๆ นอนมากๆ ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ เพราะจะนำความทุกข์เข้ามาบีบคั้นใจมากยิ่งขึ้นไป จะบีบบังคับให้ไปหาเงินหาทอง มาใช้กับสิ่งต่างๆที่อยากได้ เมื่อได้มาแล้วก็ดีใจเพียงแค่ ๑-๒ วัน แล้วก็อยากจะได้ใหม่ วงจรอุบาทว์ก็เกิดขึ้นใหม่ ต้องไปหาเงินหาทองใหม่ แล้วก็ต้องไปซื้อไปใช้เงินใช้ทองใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้มาอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น เป็นเวลาอันยาวนานแล้ว ตั้งแต่เกิดมาก็ทำอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เราไม่เบื่อบ้างหรือ ไม่อยากจะทำอย่างที่พระพุทธเจ้าทำบ้างหรือ คือต่อสู้กับความอยากในสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งหลาย อะไรที่ไม่จำเป็นแล้วไม่เอาเลย เอาเพียงสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เช่นอากาศหายใจ จำเป็นก็หายใจเข้ามา น้ำจำเป็นต้องดื่มก็ดื่ม แต่ไม่ต้องไปดื่มน้ำที่มีสีมีรสผสม เพราะไม่จำเป็น เป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของกามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ที่ไม่ได้เสริมสร้างพัฒนาจิตใจหรือร่างกายแต่อย่างใด มีแต่จะฉุดลากให้ไปสู่ความหายนะ

 

ถ้ารับประทานของหวานๆมากๆ ต่อไปเบาหวานก็จะรับประทานเรา แล้วก็จะรับประทานของหวานไม่ได้อีกต่อไป ก็จะต้องทุกข์ทรมานอยู่ดี แต่ถ้ารู้จักประมาณ รับประทานพอสมควร จะรับประทานไปได้จนถึงวันตาย ไม่ต้องไปหยุดตอนที่เกิดโรคเบาหวาน เมื่อถึงตอนนั้นจะทุกข์ทรมานยิ่งกว่าตอนนี้ ตอนนี้เราทำด้วยความตั้งใจ ทำด้วยความพอใจ ทำด้วยเหตุด้วยผล ฝึกไปไม่กี่วัน ก็สามารถลดปริมาณการรับประทานน้ำตาลได้แล้ว ถ้ารับประทานอาหารวันละมื้อเดียว ยิ่งควบคุมได้ง่ายใหญ่ พอรับประทานเสร็จแล้ว ก็จะไม่ดื่มไม่รับประทานของหวานอีก จนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้ ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราจะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่วุ่นวายกับการรับประทานอาหารถึงวันละ ๓ มื้อ บวกกับอาหารว่างระหว่างมื้ออีก ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย เสียเวลาเปล่าๆ เสียชาติเกิด เพราะมนุษย์เกิดมาเพื่อสร้างบุญสร้างกุศล พัฒนาจิตใจให้พ้นจากความทุกข์ ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นี่คือภารกิจของมนุษย์ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน พวกเราจะไม่รู้ภารกิจที่แท้จริง แต่เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนแล้ว ก็จะรู้ว่าการได้เกิดเป็นมนุษย์นี้ เป็นสิ่งที่เลิศประเสริฐและยากยิ่ง เป็นภพเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถยกจิตใจ ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนหลุดพ้นจากความทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานได้ มีมนุษย์เท่านั้นที่จะทำได้ นอกนั้นแล้วไม่มีทางที่จะทำได้เลย เราจึงไม่ควรปล่อยของที่ดีที่วิเศษไปกับสิ่งที่ไร้สาระทั้งหลาย เช่นได้เงินได้ทองมาแล้ว แทนที่จะเอามาสร้างบ้าน ซื้ออาหาร เอาเก็บไว้ดูแลชีวิตจิตใจ ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยตกทุกข์ได้ยาก กลับเอาไปโยนทิ้งน้ำเสีย ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 

ควรเห็นคุณค่าของการที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ควรใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ได้ทำเป็นตัวอย่างไว้ ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจกับการพัฒนาจิตใจ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลย ภารกิจการงานต่างๆที่เคยทำไว้ ก็เลิกทำหมดเลย สละหมด ออกบวช เคยเป็นกษัตริย์ ก็ออกบวช เคยเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ออกบวช เคยเป็นผู้จัดการธนาคาร ก็ออกบวช เคยเป็นสามีหรือภรรยา ก็ออกบวช เพราะสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นของปลอมทั้งนั้น ไม่มีประโยชน์กับจิตใจเลย ตายไปก็เอาไปไม่ได้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว แม้แต่สังขารร่างกายก็เอาไปไม่ได้ ต้องทิ้งให้เขาเผา เอาไปฝังดิน จะมาหลงกับสิ่งเหล่านี้ทำไม ทำไมไม่ดูพระพุทธเจ้า ดูพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นตัวอย่าง ว่าท่านทำอย่างไร ท่านได้อะไรหลังจากที่ได้ทำแล้ว ก็ได้ปรมังสุขังคือบรมสุขนั่นเอง จิตใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่มีความทุกข์แม้แต่น้อยนิดอยู่ในใจเลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ไม่ว่าใครจะเป็นใครจะตาย หรือตัวท่านเองจะเป็นจะตาย จะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น เพราะใจไม่ได้ไปมีอะไรกับสิ่งต่างๆในโลกนี้แล้ว ได้ปล่อยวางหมดแล้ว ไม่ยึดไม่ติด ไม่ได้ถือว่าเป็นของเรา เป็นตัวเรา ถ้าพวกเราทำอย่างนี้ได้ ก็จะไม่มีความทุกข์เลย เหตุที่พวกเราทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ เพราะยังยึดติดกันอยู่ ยังถือว่าสิ่งนั้นเป็นของเรา สิ่งนี้เป็นตัวเราอยู่ ถ้าสิ่งไหนไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา จะไม่เดือดร้อนเลย มีคนในโลกนี้มากมายก่ายกอง เป็นพันล้าน เขาจะเป็นอย่างไร เราไม่เดือดร้อนเลย แต่มาเดือดร้อนกับร่างกายที่อยู่กับเรานี้

 

ทำไมไม่มองว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเหมือนๆกับของคนอื่น มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน ตายไปก็กลายเป็นดิน กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ ก็มีอยู่เท่านั้น แล้วยังมาหลงยึดติดว่าเป็นเรา เป็นของเราได้อย่างไร ถ้าเห็นแล้วจะปล่อยวางได้ จะไม่มีความทุกข์อีกเลย การปล่อยวางจะต้องยากเป็นธรรมดา เพราะเป็นการต่อสู้ อุปาทานความยึดมั่นจะเหนียวยิ่งกว่ากาวตราช้าง เวลาจะดึงงัดออกจากสิ่งที่ติดอยู่ จะยากมาก ต้องใช้กำลังมาก แต่ไม่เหลือวิสัย เพราะพระพุทธเจ้าได้ทำมาแล้ว ทรงต่อสู้กับอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นอย่างมาก ถึงกับอดข้าว ๔๙ วัน  พวกเราลองต่อสู้ด้วยการกินข้าววันละมื้อดูว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้องทำทุกวันก็ได้ ตอนต้นทำเพียงวันเดียวก่อน ทำอาทิตย์ละวันเท่านั้นเอง เช่นวันพระท่านก็สอนให้ถือศีล ๘ ละเว้นจากการรับประทานอาหาร หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ลองรับประทานเพียงมื้อเดียวดู จะเห็นผล ในเบื้องต้นจะต้องทุกข์ทรมานธรรมดา เพราะกิเลสไม่ยอมอยู่เฉยๆ จะคิดถึงอาหารอยู่เรื่อยๆ คิดแล้วก็น้ำลายไหล คิดแล้วก็หิว ต้องดับมัน อย่าไปปล่อยให้มันคิด ท่านจึงสอนให้สวดมนต์ ให้บริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ เรียกว่าสมถภาวนา อย่าปล่อยให้ใจคิดไปตามอำนาจของกิเลส ถ้าปล่อยจะคิดถึงอาหารทันที อาหารร้อยแปดพันเก้าชนิด จะมาโผล่อยู่ที่ในใจของเรา ไอ้นั่นก็อร่อย ไอ้นี้ก็อร่อย ถ้าคิดอยู่เรื่อยๆแล้ว ไม่นานตบะก็แตก ศีลก็ขาด ต้องไปกินจนได้

 

ถ้าจะใช้อุบายของปัญญาระงับ ด้วยวิปัสสนาภาวนา ท่านก็สอนให้พิจารณาดูสภาพของอาหาร ที่ไม่สวยงาม ที่เป็นปฏิกูล เช่นเวลาที่อาหารเข้าไปอยู่ในปาก ผสมกับน้ำลาย แล้วถูกเคี้ยวถูกบด ดูซิว่าเป็นอย่างไร ถ้ามองไม่เห็นก็คายออกมาดู ดูซิว่าจะตักเข้าไปใหม่ได้หรือไม่ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว รับรองได้ว่าจะไม่หิวไม่อยาก กินไม่ลงขึ้นมาทันทีเลย นี่คือวิธีแก้กิเลสความหิว ที่ไม่รู้จักขอบเขต ไม่รู้จักอิ่มพอ แก้ด้วย ๒ วิธีคือสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา ถ้ายังไม่มีความกล้าหาญ ที่จะนึกถึงความเป็นปฏิกูลของอาหาร ก็บริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ ทำทั้งวันเลย อย่าไปคิดถึงอาหาร พอคิดถึงอาหารปั๊บ ก็ต้องเรียกพุทโธมาเลย พุทโธๆไปเรื่อยๆ หรือจะสวดมนต์ก็ได้ สวดมนต์ไปเรื่อยๆ เวลาคิดถึงอาหาร เวลาอยากจะกินอาหาร ต้องสวดมนต์ไปเรื่อย อย่าไปคิดเรื่องอาหาร ไม่ใช่สวดไปคิดไปด้วย ก็จะไม่หาย ต้องสวดอย่างเดียว อย่าให้คิดถึงเรื่องอาหารเลย ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว ไม่ช้าก็เร็วความหิวก็จะหายไป เวลาที่จิตสงบลง ก็จะเกิดความอิ่มใจขึ้นมา จะเห็นว่าความหิวที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่ใจ อยู่ที่กิเลส ที่ไปคิดถึงอาหารต่างๆ  พอทำใจให้สงบ ไม่คิดถึงเรื่องอาหารเลย ความหิวก็หายไป ส่วนความหิวของร่างกาย ก็เป็นเพียงความรู้สึกท้องว่างๆเท่านั้นเอง แต่จะไม่ทุกข์ทรมาน เหมือนที่เกิดจากความคิดปรุงของกิเลส ที่ทุกข์ทรมานมาก แม้แต่รับประทานอาหารเสร็จไปใหม่ๆ ถ้าคิดถึงอาหาร คิดถึงขนมขึ้นมา ก็ยังอยากจะรับประทานอีก ทั้งๆที่ท้องก็แน่นอยู่แล้ว จึงหยุดรับประทานไม่ได้ น้ำหนักจึงเกิน เพราะเมื่อท้องเริ่มแน่นแล้ว แทนที่จะหยุด กลับไม่หยุด หยุดไม่ได้ ไม่มีเบรก ถ้าเป็นรถก็ต้องวิ่งฝ่าไฟแดง ไปชนกับรถคันอื่น ถ้ากินอาหารก็ต้องกินจนอ้วน แล้วก็มีปัญหาทางด้านสุขภาพตามมา เพราะไม่รับประทานอาหารพอประมาณนั่นเอง

 

เวลาจะทำอะไร เราต้องระมัดระวัง อย่าให้กิเลสแทรกเข้ามา อย่าให้ความอยากแทรกเข้ามา ต้องใช้เหตุใช้ผลเสมอ เวลาอยากจะได้อะไร ต้องถามว่า จำเป็นไหม ถ้าไม่มีสิ่งที่อยากได้ ยังอยู่ได้หรือเปล่า หรือจะต้องตายไป ถ้าต้องตายก็จำเป็น ก็ต้องไปหามา เช่นน้ำดื่ม จำเป็นไหม ถ้าไม่ดื่มน้ำไปไม่กี่วันก็ต้องตาย ก็จำเป็น ต้องมีน้ำไว้ดื่ม แต่อยากจะได้โทรศัพท์มือถือมาสักเครื่องหนึ่ง อย่างนี้จำเป็นไหม ไม่มีโทรศัพท์มือถือแล้วจะตายหรือไม่ หรืออยากจะได้เครื่องใหม่ เครื่องเก่าใช้ไม่ได้หรืออย่างไร พอเห็นโฆษณาเครื่องใหม่ๆออกมา ก็อยากจะได้อีกแล้ว พอได้มาแล้ว ไม่นานก็มีเครื่องใหม่ออกมาอีก อย่างนี้เมื่อไหร่จะได้พบกับความสงบสุข เมื่อยังต้องดิ้นรนขวนขวายตะเกียกตะกาย หาเงินหาทอง ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เราไม่คิดกันบ้างเลยหรือว่า อยู่เฉยๆนี่มันแสนจะสุข แสนจะสบาย ทำไมไม่อยู่กัน ก็เพราะสู้ความอยากไม่ได้ สู้กิเลสความโลภไม่ได้ เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงปล่อยให้ไหลไปตามความโลภ ตามความอยาก แต่พวกเราโชคดีที่ได้มาเจอคำสอนแล้ว ได้ยินได้ฟังแล้วว่า กิเลสตัณหาเป็นพิษเป็นภัยกับชีวิตจิตใจของเรา ไม่ควรปล่อยให้มีอำนาจอยู่เหนือใจเราได้ ต้องเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาต่อสู้ ใช้เหตุใช้ผล ใช้การปฏิบัติธรรม การภาวนา นั่งสมาธิ เจริญปัญญา

 

ถ้าได้ทำแล้ว รับรองได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นกิเลสชนิดไหน ตัณหาแบบไหน จะไม่สามารถครอบงำจิตใจได้อีกต่อไป เมื่อไม่มีกิเลสตัณหาแล้ว จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย ไม่มีใครมาสั่งมาใช้ เราอยากจะเป็นคนรับใช้หรือ ไม่มีใครอยากจะรับใช้ใคร อยากจะเป็นอิสระกันทั้งนั้น แต่ในขณะนี้เราไม่ได้เป็นอิสระ เรามีกิเลสตัณหาเป็นเจ้านายของเรา ไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ ท่านเป็นอิสระแล้ว หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาแล้ว จึงมาสั่งสอนพวกเรา ให้กำจัดกิเลสตัณหา ด้วยการทำความดี ละบาป ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ กำจัดความโลภโกรธหลงนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เป็นคนดีคนเจริญที่แท้จริง เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่เรากราบไหว้บูชากัน เพราะท่านได้ทำในสิ่งที่ท่านสอนแล้ว พวกเราอยากจะดีอยากจะเจริญเหมือนท่าน ก็ต้องทำตามคำสอนของท่าน ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ละบาปทั้งปวงเสีย ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการกำจัดความโลภโกรธหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ เพื่อความเป็นอิสระความสุขความเจริญ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้