กัณฑ์ที่ ๓๓๕       ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐

 

งานภายใน

 

 

 

ผู้ปฏิบัติธรรมควรทำงานภายนอกให้น้อยที่สุด ทำงานภายในให้มาก งานภายนอกทำเท่าที่จำเป็น หลวงตาท่านเข้มงวดกวดขันเรื่องงานภายนอกมาก เวลาทำอะไรก็ทำอย่างรวดเร็ว สร้างกุฏิก็มีขอบเขต ทำเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วน ไม่ให้เลยเถิด พอตกเย็นก็ให้เลิก เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ ทำจนมืดค่ำจะไม่เหมาะ พอตกเย็นท่านก็ให้หยุด พรุ่งนี้ค่อยทำใหม่ เพราะงานภายนอกเป็นเพียงงานสนับสนุน แต่พวกเราชอบทำงานภายนอกจนลืมงานภายในไป บางทีไม่ลืมแต่ทำไม่ได้ เพราะงานภายในมันยาก มีฝ่ายต่อต้านมาก คอยขัดขวางไม่ให้ทำ คอยหลอกล่อให้ไปทำงานภายนอก ชีวิตเรามันสั้นนิดเดียว เดี๋ยวก็หมดแล้ว ไม่ควรหมดไปกับงานภายนอก ควรคิดถึงงานภายในจิตใจ มาเกิดชาตินี้ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงไป ผลของงานภายในจะติดไปกับใจ แต่งานภายนอกจะไม่ติด สร้างวัดใหญ่โตขนาดไหน สวยงามขนาดไหน เวลาตายไปใจก็ไม่ได้เอาไปด้วย อาจจะไปไม่ได้เสียด้วยซ้ำไป ถูกดึงไว้ด้วยความห่วงความหวง ไม่รับอานิสงส์ของการสร้างวัด เพราะอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นวัดของฉัน ถ้าสร้างยังไม่เสร็จจะห่วงจะกังวล เลยมาขวางอานิสงส์ของการเสียสละ ของการทำบุญให้ทาน ไม่ได้ไปเกิดใหม่ไปเสวยบุญ เป็นดวงวิญญาณวนเวียนอยู่บริเวณที่ก่อสร้าง ไม่ได้ประโยชน์อะไร การได้มาเกิดเป็นมนุษย์เป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้ว ในบรรดาภพชาติทั้งหลาย ที่หนังสือของหลวงตาท่านระบุว่าชาตินี้ดีที่สุดแล้ว ภพของมนุษย์นี้ดีที่สุดแล้ว เป็นเหมือนปั๊มน้ำมัน ขับรถแล้วไม่เจอปั๊มก็จะกังวล น้ำมันหมดเมื่อไหร่ก็ต้องเดิน ถ้าเจอปั๊มต้องรีบเติมน้ำมันทันที รถจะได้วิ่งไปได้เรื่อยๆ คนขับก็สบายไม่ต้องเดิน บุญกุศลก็เป็นเหมือนน้ำมันเติมรถ ทำให้เดินทางได้สะดวกสบาย วนเวียนอยู่แต่ในสุคติ ไม่ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน ไปตกนรก เสวยบุญที่ได้ทำไว้ในขณะที่เป็นมนุษย์ พอหมดบุญก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ มาสร้างบุญต่อ ถ้าสร้างบุญอย่างเดียว ไม่สร้างบาป จิตก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญตอนที่เป็นพระโพธิสัตว์ ในแต่ละภพแต่ละชาติก็บำเพ็ญบุญอย่างเดียว สร้างบารมีทั้ง ๑๐ ที่แสดงไว้ในพระเจ้า ๑๐ ชาติ ทรงบำเพ็ญบารมีต่างๆ อุเบกขาบารมีก็ไม่พูดกับใครเลย เป็นพระเตมีย์ นิ่งเฉยปล่อยวาง ใครจะทำอะไรก็ไม่ตอบโต้  

 

ถ้าเปรียบกับคนอื่นพวกเราก็ถือว่าได้บำเพ็ญบุญมาพอสมควร ถึงใฝ่บุญใฝ่ภาวนากัน สนใจฟังเทศน์ฟังธรรมกัน มีคนอีกมากที่ไม่เห็นคุณค่า ไม่เข้าใจธรรมะ ว่ามีคุณมีประโยชน์อย่างไร มัวแต่แข่งหาชื่อเสียงกัน เป็นนักกีฬาก็แข่งหารางวัล เป็นพ่อค้าก็แข่งทำมาหากิน ให้บริษัทใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ ไปทางนั้นกันหมด ไม่เคยคิดเลยว่ามีประโยชน์อะไรกับจิตใจของตนบ้าง มองไม่เห็น เพราะจิตใจมืดบอด   ไม่เห็นจิตใจของตน เห็นแต่สิ่งที่ได้มา แล้วก็ดีใจไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เวลาที่ความทุกข์ ความกังวลความห่วง ความหวงแหน ความเสียดาย ความอาลัยอาวรณ์ ความเสียใจรุมล้อมจิตใจ กลับมองไม่เห็น พอเกิดขึ้นมาจนทนไม่ไหว ก็ไปแก้โดยวิธีที่ไม่ถูก ไปซ้ำเติม เพราะไม่ได้แก้ที่ปัญหาที่ใจ แก้ที่ภายนอก ไปเปลี่ยนทรงผมใหม่ เปลี่ยนชุดใหม่ เปลี่ยนชื่อใหม่ เปลี่ยนบ้านใหม่เปลี่ยนฮวงจุ้ยใหม่ ขยับโต๊ะขยับอะไร แก้ไม่ถูกจุดเลย ต้องแก้ที่ใจ กลับไม่แก้ ใจมันมืดบอด ไม่เข้าใจว่าชีวิตของคนเรามีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา มีเหตุมีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เวลาขึ้นก็อยากจะให้ขึ้นไปตลอด ไม่ยอมให้ลงเลย พอลงก็อยากจะให้รีบๆขึ้น ก็ต้องไปหาซินแส ไปหาหมอดู อย่างตอนนี้ก็กลายเป็นเหยื่อของพวกที่ผลิตจตุคามรามเทพกัน ไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนเลย เป็นพุทธแท้ๆ มงคลสูตร ๓๘ ประการนี้อ่านกันบ้างหรือเปล่า มงคลสูตรนี่แหละเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้เกิดสิริมงคล ให้พบกับความสุขความเจริญที่แท้จริง ไล่ไปตั้งแต่ต้นจนถึงพระนิพพานเลย แสดงไว้ในมงคลสูตร เบื้องต้นท่านก็สอนให้คบบัณฑิต คือคนฉลาด คนฉลาดที่สุดในโลกนี้ก็คือพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ รู้จริงเห็นจริง ไม่รู้แบบความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด แบบพวกด็อกเตอร์ ที่ถูกวางยาจนเป็นบ้าไป ถูกจับเข้าโรงพยาบาลบ้าไป เพราะความหลง แพ้นารีพิฆาต เพราะรู้ไม่จริง ไม่ทันเกมกิเลส ทั้งของคนอื่นและของเรา เรามีความโลภเขาเอาเหยื่อมาล่อ เราก็หลง พอหลงตามเขา ก็เปิดช่องให้เขาได้ทำร้ายเรา เป็นความรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นบัณฑิต การคบบัณฑิตจึงไม่ได้หมายถึงคนที่จบปริญญา หรือคนที่ได้รับปริญญาที่เขาแจก เรียกตัวเองว่าด็อกเตอร์ เป็นด็อกเตอร์หรือด็อกก็ไม่รู้

 

ติดในยศสรรเสริญ ดุษฎีบัณฑิตก็เป็นการสรรเสริญนั่นเอง ยกย่องว่าบุคคลนี้เป็นคนเก่งคนฉลาด ไม่ต้องเรียนก็ยินดีมอบปริญญาให้ คนมอบก็เป็นคนโง่เหมือนกันถึงมอบให้ คนฉลาดจริงๆกลับไม่มอบให้ เพราะไม่รู้ว่าคนฉลาดที่แท้จริงเป็นอย่างไร วัดความฉลาดที่ผลงาน คือการหาเงินหาทอง ถ้าหาเงินเก่งก็ฉลาด ได้ตำแหน่งสูงๆ ได้เป็นนายกฯ ก็ถือว่าเป็นคนเก่งคนฉลาด แต่คนฉลาดที่แท้จริงกลับไม่เห็นกลับไม่รู้ คนฉลาดที่แท้จริงเป็นอย่างไร มักจะเป็นคนธรรมดาๆ ถ้าไม่มีคนบอกจะไม่รู้ เพราะไม่มีปัญญาไปวัดความฉลาดของคนฉลาดที่แท้จริงได้ เหมือนกับนิทานในพระไตรปิฎก ที่ญาติโยมคงเคยได้ยิน ที่เอามาเขียนในเรื่องกามนิตวาสิฏฐี มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเดินทางไปเมืองหนึ่ง มีชายคนหนึ่งมีศรัทธาอยากจะไปกราบ ไปสนทนาธรรม ไปรับความรู้จากพระพุทธเจ้า แวะพักแรมกลางทาง เป็นที่เดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ก็เลยไปกราบไปสนทนาธรรมะ แต่ไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้า ทรงถามว่าจะไปไหน เขาตอบว่าจะไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้แสดงตน สนทนาธรรมไป ปัญหาธรรมะที่ถามเป็นเรื่องอจินไตย จึงไม่ทรงตอบ ก็เลยไม่ประทับใจในการสนทนาธรรม พอรุ่งขึ้นก็ออกเดินทางไปกันคนละทาง พระพุทธเจ้าก็เดินทางต่อ เขาก็มุ่งไปหาพระพุทธเจ้า เดินไปกลางทางก็สวนกับพระสารีบุตร ก็ถามว่าไปไหนมา เขาก็ตอบว่าจะไปหาพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรก็ถามไปว่าไม่ได้เจอกับพระที่เดินอยู่ข้างหน้าหรือ เจออยู่เหมือนกัน แล้วเป็นอย่างไร ก็อย่างนั้นๆ พระสารีบุตรก็ไม่ได้ว่าอะไร ออกเดินทางต่อไป

 

คนฉลาดดูคนโง่ออก แต่คนโง่ดูคนฉลาดไม่ออก เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดนั่นแหละคือคนโง่ เพราะไม่มีโอกาสที่จะฉลาดได้ เมื่อคิดว่าตัวเองฉลาดแล้ว ก็ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องศึกษาอะไรอีกแล้ว แต่คนที่รู้ว่าตนยังโง่อยู่ มีโอกาสที่จะฉลาดได้ ตราบใดที่เรายังไม่พ้นทุกข์ ก็อย่าไปคิดว่าฉลาดเป็นอันขาด ถ้าฉลาดจริงต้องไม่ทุกข์กับอะไร ต่อให้เรียนจบคัมภีร์พระไตรปิฎกเช่นพระโปฐิละ พระพุทธเจ้าเจอหน้าทีไรก็บอกว่าใบลานเปล่าๆ อยู่ไปเปล่าๆ ตายไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะเรียนอย่างเดียว ไม่ได้เอาไปปฏิบัติ ไม่ได้ชำระไม่ได้ตัดกิเลส ไม่ได้ทำลายสมุทัยความอยากต่างๆให้หมดสิ้นไป ยังต้องทุกข์ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนหลายๆครั้งเข้า เจอทีไรก็ตรัสอย่างนี้ทุกครั้ง ก็เลยเกิดความสำนึกขึ้นมาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุตส่าห์เมตตาเราขนาดนี้ ต้องทำอะไรสักอย่าง ก็เลยพิจารณาตัวเองดู ก็เห็นว่ายังไม่ได้ปฏิบัติ ก็เลยคิดว่าถึงเวลาที่ต้องปฏิบัติแล้ว ถ้าดีจริงพระพุทธเจ้าก็คงไม่ว่าเราเป็นใบลานเปล่า

 

ก็เลยออกไปหาสำนักปฏิบัติ ซึ่งเป็นสำนักที่มีพระอรหันต์ทั้งหมดเลย ตั้งแต่พระเถระจนถึงสามเณร เป็นพระอรหันต์ทั้งสำนักเลย ท่านก็ไปกราบพระที่อยู่ในศาลาพร้อมกันหมดเลย ไปกราบพระหัวหน้าแล้วก็ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พระหัวหน้าท่านก็บอกว่ามีพรรษาน้อยกว่า ความรู้ก็รู้น้อยกว่า ไม่ได้รู้พระไตรปิฎกจัดเจนนัก จึงปฏิเสธที่จะสอน ต้องไปศึกษากับองค์อื่น ท่านก็ไปกราบองค์ที่ ๒ องค์ที่ ๓ ก็ถูกปฏิเสธไปเรื่อยๆ จนถึงสามเณรองค์สุดท้าย สามเณรก็เห็นว่าพระผู้ใหญ่ปฏิเสธกันหมด แล้วตนจะไปรับได้อย่างไร ก็ทำท่าจะปฏิเสธ พระหัวหน้าก็เลยบอกสามเณรว่า ไม่สงเคราะห์ท่านเสียหน่อยหรือ สามเณรก็เลยรับไว้เป็นลูกศิษย์ ก่อนจะสอนก็เอามาใช้เสียก่อน ใช้ล้างกระโถนล้างส้วมล้างบาตรซักจีวร ให้ไปหยิบข้าวหยิบของที่ตรงนั้นที่ตรงนี้ บางทีก็ให้ลุยลงไปหยิบของในน้ำ พอลงไปได้ครึ่งทางก็บอกเปลี่ยนใจ ไม่เอาแล้ว  แต่พระโปฐิละก็รู้สึกว่าได้มอบกายถวายชีวิตให้กับสามเณรจริงๆ จะสั่งให้ทำอะไรก็ยอม ยอมรับเป็นอาจารย์ เมื่อสามเณรเห็นว่าไม่มีทิฐิเหลืออยู่เลย ถ้าเป็นแก้วน้ำก็เทน้ำเก่าออกไปหมดเลย ไม่มีเหลือแม้แต่หยดเดียว ตอนนั้นถึงจะเติมน้ำใหม่เข้าไปได้ นิกายเซนจะพูดเรื่องน้ำชาในแก้วว่า จะเติมน้ำชาใหม่ ก็ต้องเทน้ำชาเก่าทิ้งไปก่อน ไม่เก็บเอาไว้เลย ไม่หลงเหลืออยู่เลย จึงจะเทน้ำชาใหม่ลงไป

 

ใจของเราก็เหมือนกัน ถ้ายังยึดติดอยู่กับทิฐิความเห็นของเรา ที่ขัดกับคำสอนของครูบาอาจารย์ ความเห็นของเราก็จะต่อต้าน ต้องละทิฐิก่อน เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ การโต้เถียงกับครูบาอาจารย์จึงไม่มี มีแต่รับลูกเดียว อาจารย์มีหน้าที่สอน ลูกศิษย์มีหน้าที่ฟังอย่างเดียว ถ้าไปโต้ก็แสดงว่าไม่ได้เป็นลูกศิษย์แล้ว ถ้าอยากจะโต้หรือไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่าอะไร ก็ไปหาอาจารย์อื่นก็ได้ เป็นอาจารย์ของตนเองก็ได้ ไปอยู่องค์เดียว ใช้ทิฐิของตนปราบกิเลสดู  นี่ก็เหมือนกันก่อนที่จะสอนใครได้ คนสอนต้องมีความมั่นใจว่าคนรับมีใจว่างจากทิฐิต่างๆ พอที่จะรับคำสั่งสอนได้ ถ้าเป็นเหล็กก็ต้องเผาไฟให้นิ่มเสียก่อน แล้วค่อยเอามาทุบตี ให้เป็นจอบเป็นมีด ถ้ายังไม่ได้เผาไฟ จะแข็งตียาก จิตของคนเราก็เหมือนกัน ถ้ายังไม่ได้ละทิฐิต่างๆ ก็จะสอนยาก ครูบาอาจารย์จะไม่สอน เวลาพระเณรไปหาครูบาอาจารย์แต่ละองค์นี้ ท่านจะไม่รับง่ายๆ ท่านไม่ได้อยากสอน อยากให้เป็นลูกศิษย์เลย มีแต่จะขับไล่ปฏิเสธไม่แยแส ดูเพื่อว่ามีทิฐิหรือไม่ ถ้าต้องการธรรมจากท่านจริงๆ ก็ต้องลดละทิฐิของเราให้หมด สมัยก่อนเขาสอนกันอย่างนี้ ทางธรรมะต้องสอนกันอย่างนี้ ไม่เหมือนกับทางโลก ที่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนเขาก็สอน จะเรียนหรือไม่เรียน จะฟังหรือไม่ฟัง เขาไม่สนใจ เพราะไม่ได้สอนด้วยใจ ไม่ได้สอนด้วยความบริสุทธิ์ใจ สอนด้วยอามิสสินจ้าง ขอให้มีเงินก็เรียนได้

 

แต่ทางธรรมไม่ได้เน้นไปที่ผลตอบแทน เพราะผู้สอนที่รู้จริงๆ ไม่หิวไม่ต้องการอะไร ไม่อยากได้อะไร อยากได้อย่างเดียวก็คือ ให้คนที่มาเรียนได้รู้จริงๆ ได้ประโยชน์จริงๆ เหมือนกับหมอที่รักษาคนไข้ สมัยก่อนหมออุทิศตนจริงๆ รักษาเพื่อให้คนไข้หายจากโรคจริงๆ ไม่ได้คิดว่าจะมีเงินจ่ายหรือไม่ รักษาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็พอใจ มีความสุึขใจ เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ก็อยากจะให้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยต่างๆ สอนด้วยความเมตตาจริงๆ เอาใจใส่จริงๆ จึงต้องดูใจของลูกศิษย์ก่อนว่า พร้อมที่จะรับจริงๆหรือไม่ ถ้าไม่พร้อมสอนไปก็ลำบาก คนที่จะเป็นลูกศิษย์ต้องพร้อมที่จะเสียสละทุกอย่าง เพื่อธรรมะอย่างเดียว ต้องสละได้แม้แต่ชีวิต หลวงปู่ขาวบอกว่านิพพานอยู่ฟากตาย ถ้าไม่ยอมตายจะไม่ได้ไปนิพพาน ถ้ากลัวตายจะไปไม่ถึง จะกอดอยู่กับร่างกาย ไม่ต้องกลัวตาย เพราะความตายรอเราอยู่แล้ว กลัวไม่กลัวก็เอาเราแน่ แต่ถ้าไม่กลัวก็จะข้ามไปได้ ไม่สามารถทำร้ายใจได้ ไม่ทำให้ใจของเราทุกข์ได้ ถ้ากลัวเพียงแต่คิดถึงก็ทุกข์แล้ว ยังไม่ทันเจอตัวมันเลย เหมือนกับเสือ เพียงแต่ได้ยินเสียงก็สั่นแล้ว ยังไม่เห็นตัวเลย ถ้าไม่กลัวมันเสียอย่าง จะไม่ทำให้เราทุกข์ได้เลย

 

เมื่อสามเณรเห็นว่าใช้ได้แล้ว จึงสอนธรรมะให้กับพระโปฐิละ ยกตัวอย่างเรื่องจอมปลวกที่มีตัวกระปอมอาศัยอยู่ จอมปลวกมีทางเข้าออกอยู่ ๖ ทางด้วยกัน ถ้าอยากจะจับกระปอมก็ให้ปิดทางเข้าออกเสีย ๕ ทาง เหลือไว้ทางเดียว แล้วเฝ้าอยู่ตรงนั้น จะออกทางอื่นไม่ได้ เหมือนกับกิเลสโลภโกรธหลง มีทางเข้าออกอยู่ ๖ ทางเหมือนกัน คือทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้าอยากจะจับกิเลสก็ต้องปิดเสีย ๕ ทาง ปิดตาหูจมูกลิ้นกาย คือให้มีอินทรีย์สังวร สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย อย่าไปดูไปฟังไปดมไปลิ้มรสไปสัมผัสด้วยกาย ในสิ่งที่ทำให้เกิดกิเลส เช่นไปอยู่ในป่าก็จะเป็นการสำรวมไปโดยอัตโนมัติ เพราะภาพที่เห็นด้วยตาไม่ทำให้เกิดกิเลส ไม่เหมือนกับไปชอปปิ้ง พอเห็นแล้วตาลุกวาว ใจลุกวาว ไอ้นั่นก็ดีไอ้นี่ก็ดี อยากจะได้ ความอยากก็คือกิเลส เห็นอาหารชนิดต่างๆก็อยากรับประทาน จึงให้ปิดให้สำรวมทวารทั้ง ๕ ไว้ วันพระให้เข้าวัด ถืออินทรีย์สังวร ไม่ดูหนังฟังเพลง ไม่อ่านหนังสือที่ทำให้เกิดกามารมณ์ อ่านหนังสือธรรมะ ฟังธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม มีสติเฝ้าอยู่ที่ประตูเข้าออกของกิเลส คือที่ใจ เฝ้าดูใจ ดูความคิด กิเลสจะมากับความคิด ที่คิดได้ ๓ ทาง คิดทางกุศล คิดทางอกุศล คิดทางที่ไม่ใช่กุศลหรืออกุศล คิดทางกุศลเป็นมรรค เช่นคิดว่าภาวนาดีกว่า  เดินจงกรมดีกว่า นั่งสมาธิดีกว่า ถ้าคิดทางอกุศลก็เป็นกิเลส คิดว่าไปคุยกับคนนั้นกับคนนี้ดีกว่า ถึงจะอยู่ในวัดกิเลสก็ยังเกิดขึ้นได้ แทนที่จะภาวนาก็แวบไปหาคนนั้นหาคนนี้ ไปคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ คุยเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมะคุยเรื่องทางโลก ทำให้จิตฟุ้งซ่านไม่สงบ ถ้าจะคุยก็ให้คุยเรื่องธรรมะ คุยเรื่องมักน้อยสันโดษ เรื่องความเพียร เรื่องสถานที่ที่สงบสงัดวิเวก เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา

 

ต้องคอยเฝ้าดูใจที่จะคิดไปได้ ๓ ทาง ทางมรรค ทางกิเลสทางตัณหา ทางที่ไม่ใช่มรรคไม่ใช่กิเลส ให้คิดไปทางมรรคอย่างเดียว ให้คิดยินดีในความวิเวก การไม่คลุกคลีกัน เมื่อ ๒ วันก่อนหนังสือพิมพ์ได้เขียนถึงพระโมคคัลลาน์ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระโมคคัลลาน์ให้ปฏิบัติ คือไม่ให้ยินดีกับการคลุกคลีกัน ให้ยินดีกับการอยู่ตามลำพัง ไม่ให้ชูงวง เหมือนช้าง คือไม่ให้เบ่งว่าเป็นคนระดับนั้นระดับนี้ มีตำแหน่งระดับนั้นระดับนี้ ต้องต้อนรับแบบนั้นแบบนี้ ถ้าไม่ได้รับการต้อนรับก็จะเสียใจ ต้องทำตัวเป็นเหมือนพื้นปฐพี จะต้อนรับแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่ที่จะเน้นก็คือการไม่คลุกคลีกัน นักปฏิบัติต้องรักความวิเวก รักการอยู่ตามลำพัง จะได้ปฏิบัติได้เต็มที่ จะได้ดูใจ เวลาอยู่ที่วิเวกจะทำให้มีอินทรีย์สังวร กิเลสทางตาหูจมูกลิ้นกายก็จะไม่เป็นปัญหา เหลืออยู่ทางเดียวก็คือใจ ตอนนั้นจะได้จับกิเลส พอกิเลสโผล่ออกมาก็จะรู้ทันที จะระงับได้เลย ต่อไปก็จะหายไปหมด หลังจากนั้นไม่นานพระโปฐิละก็ได้บรรลุ หลังจากได้รับการสั่งสอนจากสามเณรอรหันต์ ไม่ยากเลย ปิด ๕ ทาง เฝ้าอยู่ทางเดียว ทางที่โลภโกรธหลงเข้าออก คือทางใจ พอคิดออกมาทางใจก็จะยินดีหรือรังเกียจ เป็นความทุกข์ขึ้นมา ยินดีก็เป็นความทุกข์แบบหนึ่ง รังเกียจไม่พอใจ  ก็เป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง

 

ชีวิตของเราก็ป้วนเปี้ยนอยู่กับทวารทั้ง ๖ นี้ แต่จับกิเลสไม่ได้ จับไม่ทัน ตอนไหนเราทุกข์ ร้องไห้ โมโห หวาดวิตก เศร้าสร้อยหงอยเหงา ตอนนั้นก็ไม่ทันมันแล้ว ถ้าทัน ใจต้องเฉยสบาย พอโผล่ออกมาปั๊บก็ตัดได้เลย ไม่ให้ออกมาสร้างความวุ่นวาย สร้างปัญหา ต้องมีสติดูที่ใจ เมื่อเราได้สถานที่สงบสงัดแล้ว ก็มีหน้าที่ดูที่ใจเท่านั้น ถ้าจะให้ดีก็อย่าไปเฝ้าดูใจ เอาธรรมะอัดเข้าไปเลย สอนใจให้เห็นความจริงต่างๆ เพราะมีความหลงเป็นพื้นอยู่แล้ว เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความโลภ เกิดความโกรธ ไม่เห็นว่าสิ่งที่เราโลภเราโกรธเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มีอะไรบ้างในโลกนี้ที่ไม่ได้มาจากดินน้ำลมไฟ ก็มีท้องฟ้าเท่านั้น เป็นอากาศธาตุ แล้วก็ใจที่เป็นธาตุรู้ นอกนั้นก็เป็นดินน้ำลมไฟหมด ร่างกายก็มาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป อาหารก็มาจากต้นไม้ใบหญ้าเนื้อสัตว์ต่างๆ สัตว์ก็ต้องกินหญ้ากินผัก ก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ของสวยๆงามๆต่างๆที่เราหลงอยากได้กันนักกันหนา ก็มาจากดินน้ำลมไฟ เสื้อผ้ามาจากไหน ก็มาจากดินน้ำลมไฟ เพชรนิลจินดาก็เป็นธาตุดิน ไม่มีค่าอะไร แต่ความหลงของพวกเราทำให้มีคุณค่าขึ้นมา พอใส่เพชรสักเม็ดหนึ่ง คนก็สรรเสริญเยินยอตาลุกวาว ทำให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่า นี่คือความหลง เห็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าว่ามีคุณค่า

 

เราจึงต้องสอนใจให้เกิดปัญญา เพื่อจะได้ทำลายความหลง ให้เห็นว่าของทุกอย่างในโลกนี้ คุณค่าเกิดจากสมมุติกันขึ้นมา เด็กๆสมัยก่อนชอบเก็บซองบุหรี่กัน แล้วก็ตั้งค่ากัน ซองบุหรี่เกร็ดทองก็ราคาหนึ่ง ซองบุหรี่พระจันทร์ก็ราคาหนึ่ง ซองบุหรี่กรุงทองก็ราคาหนึ่ง แล้วก็เอามาเล่นพนันกัน ไม่มีเงินจริงก็ใช่เงินซองบุหรี่นี่แหละ แย่งเก็บกันตามร้านกาแฟ พอเห็นก็คิดว่าเป็นเงินเป็นทอง นี่ความหลงของเด็กๆ ก็ยังหลงกันได้ ผู้ใหญ่ก็มองว่าเอาไปทำไมซองบุหรี่ แต่เด็กมันหลงกัน สมัยนี้จะมีของแถมมากับซองขนม มีฉลากชิงโชค ผู้ใหญ่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เพราะไม่ได้ติดตามข่าว ว่าขนมชนิดนี้มีอะไรแถมมาบ้าง ฝาปิดขวดก็เหมือนกัน เปิดแล้วก็โยนทิ้งไป ไม่ได้สนใจเปิดดูที่ใต้ฝาว่ามีรางวัลหรือไม่ มีวัตถุไว้เพื่อสนับสนุนร่างกายเท่านั้นเอง ต้องมีดินน้ำลมไฟหล่อเลี้ยงร่างกาย จึงจะอยู่ได้ แต่อยู่เพื่ออะไร อันนี้สำคัญกว่า อยู่เพื่อหลงกับวัตถุ หรืออยู่เพื่อให้รู้ทันวัตถุ ให้ปล่อยวางวัตถุ อันนี้ที่สำคัญ เราจึงต้องพิจารณาให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เราไปหลงติดอยู่เป็นเพียงวัตถุ เป็นของสมมุติ ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ความเจริญที่แท้จริง ไม่ได้เป็นสมบัติที่แท้จริง สมบัติที่แท้จริงอยู่ในใจ ที่ได้รับการปลดเปลื้องจากความกดดันของความหลง ที่กดดันให้อยากมีอยากเป็น ถ้าน้อยหน้าใครจะรู้สึกเสียใจ ถ้าเขาได้ดีกว่าเรา ได้คะแนนดีกว่า เราก็เสียใจ ถ้ามีปัญญาก็จะเฉยๆ เขาดีกว่าก็เป็นความสามารถของเขา เขามีมากกว่า ก็เป็นเพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง ไม่ได้มีคุณค่าอะไร ต่อให้มีเพชร ๑๐๐ กะรัต ก็เป็นเพียงก้อนหินก้อนหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าไม่หลงก็ไม่มีความหมายอะไร ถ้าหลง ก็จะคิดว่ามีคุณค่ามาก เอาไปแลกเปลี่ยนสิ่งอื่นได้ เพราะยังหลงติดอยู่กับพวกรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ยังอยากจะไปเที่ยวต่างประเทศ อยากจะพักโรงแรม ๕ ดาว รับประทานอาหารมื้อละแสน ดื่มไวน์ขวดละแสน เพราะความอยากในกามรสนี่เอง ทำให้หลงวัตถุต่างๆ

 

ทุกวันนี้ที่เราออกไปทำมาหากินกัน ก็ไปเอาวัตถุมาทั้งนั้น พอสิ้นเดือนก็ได้กระดาษมา เอาไปแลกสิ่งที่เราอยากได้ ถ้าไม่อยากดื่มไวน์ ไม่อยากกินเหล้า ไม่อยากเที่ยว ไม่อยากนอนโรงแรม ไม่อยากมีเสื้อผ้าสวยๆใส่ แล้วจะเอาเงินไปทำอะไร ถ้าเป็นพระได้เงินมาจะเอาไปทำอะไร นอกจากจะเอามาดูแลวัดวาซ่อมแซมกุฏิวิหาร หรือสงเคราะห์โลก ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน คนที่มีเงินเหลือใช้จึงต้องทำบุญ คนที่ไม่มีก็ไม่ต้องทำ เก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ฉลาด มีแล้วเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อาจจะเป็นโทษกับตน ถูกโจรผู้ร้ายปล้นจี้ฆ่าเพื่อเอาทรัพย์ จึงต้องศึกษาสอนใจให้รู้ทันความหลง พออยากได้เสื้อผ้าชุดใหม่ก็ต้องคิดเลยว่า เป็นเพียงเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น มีไว้เพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้นเอง ตอนนี้ก็มีอยู่เต็มตู้แล้ว ชุดเก่าก็ปกปิดได้เหมือนกัน มาวิเศษกันทางด้านจิตใจดีกว่า ด้วยการไม่โลภไม่โกรธไม่ทุกข์ ดีกว่าใส่เสื้อผ้าสวยๆงามๆแล้วใจร้อนเป็นไฟ ใครพูดอะไรไม่ถูกใจก็เป็นเดือดเป็นแค้นขึ้นมา จะเกิดประโยชน์อะไร ทำใจให้เย็นให้สงบให้สบายให้เป็นอุเบกขา ไม่ว่าอะไรจะมาสัมผัสมากระทบ จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใจได้เลย อย่างนี้แหละจึงจะวิเศษ ถ้ายังถูกกระทบอยู่ ควรพยายามแก้ไข อะไรที่ทำให้วุ่นวายใจกังวลใจ ต้องแก้ให้ได้ แก้ด้วยปัญญา เพราะปัญหาเกิดจากการขาดปัญญา หรือความหลงนี่เอง มองไม่เห็นว่าสิ่งที่ไปหลงไปกังวล ก็เป็นแค่ดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา คือ ๑. เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใคร ก็เหมือนกันทั้งนั้น เดี๋ยวก็ต้องแก่เจ็บตาย ๒. เป็นกรรม เขาไหลไปทางหนึ่ง แต่เราพยายามดึงให้ไหลไปอีกทางหนึ่ง ดึงอย่างไรก็ไม่ไปหรอก จะไหลไปตามทางของเขา เขาถนัดมือซ้าย เราอยากจะให้เขาใช้มือขวา ถ้าถูกบังคับจริงๆเขาก็อาจจะใช้มือขวา พอไม่มีใครบังคับ เขาก็จะกลับไปใช้มือซ้าย เขาชอบสีแดง เราจะให้เขาชอบสีเขียวได้อย่างไร เรื่องของกรรมเป็นอย่างนี้ ต้องยอมรับ จะได้ไม่ทุกข์ ไม่เช่นนั้นก็จะทุกข์ เขาเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่เราไม่เห็นอนิจจังไม่เห็นอนัตตา อนัตตาก็คือกรรมนี่แหละ การที่เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเหมือนอนัตตา เพราะเราไปควบคุมบังคับไม่ได้ อยากให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ถ้าไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา เราก็จะทุกข์ ถ้าเห็นแล้วจะไม่ทุกข์

 

จึงต้องสอนใจ อัดธรรมะเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้มีข้อมูลไว้แก้ความหลง ที่จะแสดงผ่านความโลภความโกรธ ความโกรธเกิดจากความโลภ เวลาไม่ได้อะไรดังใจก็เกิดความโกรธ ความโลภเกิดจากความหลง ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนไปโลภ ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่าอะไรเลย ถ้าไม่หลงก็จะไม่โลภ เมื่อไม่โลภก็จะไม่โกรธ ก็จะไม่ทุกข์ จะสบาย มีแต่ความอิ่มความพออยู่ในใจ วันๆหนึ่งก็อยู่ไปสบายๆ จนกว่าจะหมดหน้าที่ หมดหน้าที่ก็จบร่างกายเมื่อไม่ทำงานแล้วต้องไป ใจก็ไม่ได้ไปไหน  ใจก็อยู่ตรงนั้น ไม่ต้องไปเกิดใหม่ ไม่ต้องไปแก่ไปเจ็บไปตาย ไม่ต้องไปทุกข์ไปวุ่นวายกับอะไรอีกต่อไป ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิดเท่านั้น ตราบใดยังมีการเกิดอยู่ แม้จะเป็นภพที่ดีภพที่ละเอียด เป็นเทพเป็นพรหมก็ยังเสื่อมได้ ยังเป็นอนิจจัง จากชั้นพรหมลงมาสู่ชั้นเทพ ก็เหมือนกับเสื่อมจากเศรษฐีหมื่นล้านมาเป็นเศรษฐีพันล้าน คนที่มีหมื่นล้านแล้วมาเหลือพันล้านนี่ก็ทุกข์นะ แต่คนที่มีร้อยล้านได้เพิ่มเป็นพันล้านกลับไม่ทุกข์ คนที่มีหมื่นล้านแล้วเหลือพันล้านกลับทุกข์ ทั้งๆที่มีพันล้านเท่ากัน ภพชาตินี่มีความเสื่อม เมื่อมีความเสื่อมก็มีความทุกข์ตามมา ถ้าไม่มีภพไม่มีชาติก็ไม่มีทุกข์ ภพชาติจะไม่มีได้ก็ต่อเมื่อไม่มีเชื้อ ไม่มีตัวคอยฉุดลากไป ก็คือตัณหาความอยากทั้ง ๓ ได้แก่ ๑. กามตัณหาความอยากในกามรส ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ๒. ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น อยากเป็นด็อกเตอร์ อยากเป็นนายกฯ อยากจะเป็นอะไรต่างๆ ๓. วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น อยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่จน ไม่ลำบาก ไม่มีใครอยากเรื่องเหล่านี้ ถ้ามีตัณหาทั้ง ๓ นี้อยู่ในใจ ก็จะฉุดลากใจให้ไปเกิดต่อ ไปทุกข์ต่อ ถ้าไม่มีแล้วก็จะอยู่เฉยๆอย่างสบาย มีความอิ่ม มีความพอ มีความสุข ซึ่งไม่ได้เกิดจากการได้สิ่งต่างๆมา แต่เกิดจากการให้การสละไป สละไปแล้วกลับสบายกว่า

 

ขณะที่มีร่างกายอยู่กลับทุกข์ ถึงจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย วันๆหนึ่งก็ต้องหาข้าวมากิน ต้องออกกำลังกายยืดเส้นยืดสาย ถ้านั่งๆนอนๆก็จะเมื่อย ไม่มีเรี่ยวมีแรง ไหนจะต้องอาบน้ำอาบท่า ต้องซักเสื้อผ้า เป็นภาระทั้งนั้น ท่านถึงบอกว่าขันธ์ ๕ เป็นภาระหนักอย่างยิ่ง ภารา หะเว ปัญจักขันธา ถึงแม้จิตหลุดพ้นไปแล้ว ร่างกายก็ยังเป็นภาระอยู่ ต้องดูแลรักษา พระพุทธเจ้าจึงต้องมีพระอานนท์คอยอุปัฏฐาก ถ้าไม่มีร่างกายแล้วก็สบาย ไม่ต้องกิน ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องซักเสื้อผ้า จิตสงบสบาย อยู่ในปรมังสุขังตลอดเวลา เหมือนกับนอนหลับแล้วฝันดี หรือหลับสนิทไม่ฝันเลย ตอนนั้นก็ไม่ต้องดูแลร่างกายไปหลายชั่วโมงหรือ  นิพพานก็เป็นอย่างนั้น เวลาที่ไม่มีร่างกายจิตก็สบาย เหมือนหลับยาวไปเลย ความจริงตอนตายก็เหมือนนอนหลับไป เวลาจะตายก็ภาวนาพุทโธๆไป ถ้าจิตไม่มีเชื้อแล้วก็ไม่ไปเกิดอีก เวลาเกิดก็เหมือนตื่นขึ้นมา แต่จำไม่ได้ว่าตอนที่จะหลับเป็นอะไร ตื่นขึ้นมาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองเป็นอะไร ต้องมีคนคอยสอนคอยบอก ว่าเป็นมนุษย์นะ เป็นคนไทยนะ จึงไม่ควรอ่อนไหวกับอะไรทั้งนั้น เจ็บไข้ได้ป่วยก็เจ็บไป เจ็บที่กาย แต่ใจเราก็ภาวนาไป ทำใจให้สงบ ให้เป็นอุเบกขาไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มากระทบกับใจ เวลาตายก็เหมือนกับนอนหลับไป เพียงแต่นอนยาวหน่อย ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจก็ยังเหมือนเดิม เคยเป็นอย่างไรในขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นอย่างนั้นต่อไปอีก ถ้าใจเป็นมนุษย์เวลาร่างกายตายไป ใจก็ไปหาร่างมนุษย์ใหม่ ถ้าใจเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นพระนิพพานไป ไม่ได้สูญหายไปไหน ใจที่นิพพานแล้วไม่ต้องมีร่างกาย เหมือนกับพวกกายทิพย์ชนิดต่างๆ พรหม เทพ เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ที่ไม่มีร่างกาย 

 

จิตชั้นนิพพานมีแต่ความสงบเย็น ความอิ่มความพอ เหมือนกับจิตชั้นพรหม ต่างกันตรงที่ชั้นพรหมต้องเสื่อมหมดอายุไป ยังจะหิวขึ้นมาได้ แต่ชั้นนิพพานจะไม่หิวไปตลอด จะอิ่มไปตลอด พรหมจะอิ่มไปจนหมดกำลังของฌาน เมื่อฌานหมดแล้วกิเลสตัณหาก็จะลุกขึ้นมา กามตัณหาความอยากในกามก็จะปรากฏขึ้นมา ตอนต้นก็จะเป็นความอยากในรูปที่ละเอียดก่อน อยากในรูปทิพย์เสียงทิพย์กลิ่นทิพย์ ก็เป็นเทพไปก่อน เมื่อความอยากหยาบมากขึ้น ก็จะอยากในรูปหยาบเสียงหยาบ ก็ต้องไปเอาร่างกายมาเป็นเครื่องมือ จะได้มีตาดูรูปหยาบ มีหูฟังเสียงหยาบ เรื่องของใจก็มีอยู่แค่นี้ ขึ้นๆลงๆไปตามบุญตามกรรม จนกว่าจะลงหลุม ถ้าพูดทางวิทยาศาสตร์ก็ลงหลุมดำ รู้จักหลุมดำไหม นักวิทยาศาสตร์เขาเชื่อว่า ในจักรวาลมีหลุมดำเหมือนสะดือทะเล ที่จะดูดทุกสิ่งทุกอย่างที่ลอยอยู่ในจักรวาลลงไปในหลุมดำ ดวงดาวดวงอาทิตย์อะไรต่างๆเหล่านี้ ถ้าอยู่ใกล้หลุมดำก็จะถูกดูดลงไป เหมือนกับรูระบายน้ำในอ่าง เวลาเปิดฝาอุดรูออก น้ำในอ่างก็จะไหลลงรูหมด นิพพานก็คล้ายอย่างนั้น ธรรมจะดูดจิตให้ไปรวมอยู่ในจุดนั้น ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป แต่นักวิทยาศาสตร์ว่าหลุมดำนี้ จะดูดสิ่งต่างๆให้ไปโผล่ในอีกจักรวาลหนึ่ง ไม่รู้จริงหรือเปล่า ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น แต่พระนิพพานนี้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ได้พิสูจน์แล้ว เมื่อจิตเข้าไปสู่พระนิพพานแล้ว ก็เหมือนกับลูกกอล์ฟที่กลิ้งลงไปในหลุม จะไม่กลิ้งไปไหน มีแต่สบายอย่างเดียว ปรมังสุขัง

 

ถาม  การดับสังขารคือความคิดปรุงแต่งได้ ก็ยังไม่พ้นทุกข์ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  เราดับสังขารไม่ได้หรอก เพราะเป็นสภาวธรรม พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ก็มี แต่ท่านไม่ให้มันปรุงไปในทางที่สร้างความทุกข์ขึ้นมา คือปรุงไปทางตัณหาความอยากต่างๆ ให้มันปรุงไปในทางธรรม ทางไม่อยาก ไม่อยากดูไม่อยากฟัง ไม่อยากร่ำไม่อยากรวย ไม่อยากได้อะไรทั้งนั้น

 

ถาม  ก็ยังปรุงอยู่

 

ตอบ  แต่ไม่ได้ปรุงแบบปุถุชน อยากจะไปชอปปิ้ง อยากจะไปเที่ยว ปรุงไปทางสมุทัย แต่พระอรหันต์ท่านปรุงไปทางธรรม เวลาแสดงธรรมก็ต้องใช้สังขาร ปรุงไปในทางธรรมะ สังขารความคิดปรุงนี้คิดไปได้ ๓ ทางด้วยกันคือ ๑. คิดไปในทางธรรมคือมรรคก็ได้  ๒. คิดไปในทางอธรรมคือสมุทัยก็ได้ ๓. ทางกลางๆก็ได้ เป็นธรรมก็ไม่ใช่ เป็นสมุทัยก็ไม่ใช่ เช่นการดูแลร่างกายของเรา ไม่ได้เป็นธรรมหรืออธรรม เป็นความจำเป็นที่เราต้องดูแล พระอรหันต์พระพุทธเจ้าก็ต้องดูแลร่างกายของท่านเหมือนกัน ไม่ได้เป็นกิเลสไม่ได้เป็นมรรค

 

ถาม  หลวงตาบอกว่า จิตของท่านสว่างโล่งไปหมด

 

ตอบ  ธรรมชาติของจิตที่ไม่มีกิเลสเป็นอย่างนั้น กิเลสทำให้จิตมืด เหมือนตอนนี้มันมืด เพราะแผ่นพลาสติกใสที่มุงหลังคาอยู่นี้มีตะไคร่เกาะติดอยู่ ถ้าเราเช็ดทำความสะอาด มันก็จะสว่างขึ้น จิตของเราก็เหมือนกัน ถูกความโลภโกรธหลงครอบงำ ก็เลยไม่สว่าง พอชำระจนหายไปหมดแล้ว มันก็สว่างโล่งไปหมด แต่สว่างภายใน ในความรู้สึก ข้างนอกก็สว่างไปด้วย เหมือนคนใส่แว่นดำกับคนใส่แว่นขาว จะสว่างไม่เท่ากัน

 

ถาม  ความหลงทำให้เราโลภ

 

ตอบ  ต้องแก้ที่ความหลง

 

ถาม  ถ้าเราแน่ใจว่าเราหลง เราก็ตัดออกไป

 

ตอบ  ตัดด้วยปัญญา รู้ว่ามันไม่มีคุณค่าอะไร เราไปหลงมันเอง เป็นแค่ดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง มีอะไรไม่ใช่ดินน้ำลมไฟบ้าง ที่เราหลงกันอยู่ทุกวันนี้ ก็หลงดินน้ำลมไฟ ที่มาผสมผสานเป็นรูปเป็นร่าง เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นดินน้ำลมไฟทั้งนั้น เหมือนกับขนมต่างๆ มันก็มาจากแป้งน้ำตาลนมไข่ ผสมกันให้เป็นขนมชนิดต่างๆ เป็นหญิงเป็นชายก็มาจากดินน้ำลมไฟ เป็นแผ่นดีวีดีเป็นหนังสือ ก็มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น เพียงแต่ส่วนผสมของดินน้ำลมไฟมันต่างกัน ส่วนไหนที่แข็งมากๆก็จะมีธาตุดินมาก ส่วนไหนที่อ่อนก็มีธาตุน้ำมาก ถ้าเป็นของเหลวธาตุดินแทบจะไม่มีเลย

 

ถาม  ถ้าเรามีปัญญาก็จะตัดได้

 

ตอบ  ก็ต้องลองดูว่าตัดได้หรือเปล่า เพราะปัญญามีหลายระดับ การได้ยินได้ฟัง อย่างในขณะนี้ก็เป็นปัญญาในระดับหนึ่ง ก็ตัดได้ในขณะนี้ แต่พอลุกไปแล้ว จะไม่เป็นอย่างนี้แล้ว

 

ถาม  พอ ๓ วันผ่านไป ก็ตัดไม่ค่อยได้

 

ตอบ  ไม่ต้องรอถึง ๓ วันหรอก พอออกไปจากศาลานี้แล้ว ก็อยากจะเปิดเพลงฟังก็ได้ ปัญญามี ๓ ชนิดด้วยกันคือ ๑. ปัญญาที่เกิดจากได้ยินได้ฟัง ก็ตัดได้ในขณะที่จำได้ ๒. ปัญญาที่เกิดจากความคิด ได้ยินได้ฟังแล้วเอาไปคิดต่อ จะได้ไม่ลืม คิดอยู่เรื่อยๆ ขณะใดที่คิดอยู่ขณะนั้นก็ตัดได้ แต่ในขณะที่ต้องไปคิดเรื่องอื่น กิเลสก็จะแทรกออกมา ความอยากก็ไหลออกมา จิตก็ไหลตามไปเลย แสดงว่าไม่ทันมันแล้ว นอกจากเป็นปัญญาชนิดที่ ๓. คือภาวนามยปัญญา ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ทุกขณะลมหายใจเข้าออก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า เธอต้องเจริญมรณานุสติทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะทำลายความกลัวตายได้

 

ถาม  แต่มันต่อสู้กันรุนแรงมาก ความอยากไปเที่ยว

 

ตอบ  เพราะไม่พิจารณาอย่างต่อเนื่อง  มันก็มีโอกาสเล็ดรอดออกมาหลอกเราได้ จะทำได้ก็ต้องบวชเป็นพระ ไม่ต้องทำกิจอย่างอื่น หรือเป็นฆราวาสที่ไม่มีภารกิจการงานต้องทำ จะได้เจริญปัญญาอยู่ตลอดเวลา ถึงจะตัดได้ เพราะกิเลสมันคอยรอช่องว่าง พอเราไม่พิจารณา มันก็จะออกมาตอนนั้น เหมือนพระอรหันต์นกหวีด ตอนที่พิจารณาก็คิดว่าหลุดพ้นแล้ว พอไม่ได้พิจารณามันก็ฟื้นขึ้นมา ยังไม่ตายสนิท ตัดยังไม่ขาด เพียงสลบไป พอมีกำลังมีช่องว่างมันก็ลุกขึ้นมาใส่เรา ตอนที่เราเผลอ คิดว่ามันตายแล้ว

 

ถาม  การมีกิเลสหนา มีกิเลสบาง เกิดจากอะไรคะ

 

ตอบ  เกิดจากการได้เจริญปัญญามามากน้อยต่างกัน ถ้าได้เจริญปัญญามาก กิเลสก็จะบางลงไปมาก

 

ถาม  วันก่อนเพื่อนเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์ได้เมตตาอธิบายเรื่องพ่อแม่เปรียบเหมือนกับพระอรหันต์ แต่จิตพ่อแม่ต่างกันกับพระอรหันต์อย่างไร และเราต้องนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่อย่างไร

 

ตอบ  ที่พูดตอนนั้นมันสด ตอนนี้เอามาพูดจะเป็นสัญญา จะไม่เหมือนกัน เขาถามว่า ทำไมพ่อแม่ถึงเป็นเหมือนพระอรหันต์สำหรับลูกๆ เพราะพระอรหันต์เช่นพระพุทธเจ้ามีคุณประโยชน์กับเรามาก ท่านช่วยให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ไม่มีใครจะช่วยเราได้นอกจากพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ พ่อแม่ก็เป็นเหมือนพระอรหันต์ มีคุณประโยชน์กับเรามาก ท่านให้กำเนิดเรา จะเกิดเป็นมนุษย์ได้ต้องมีพ่อมีแม่ การได้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะมีโอกาสหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์ก็ยากที่จะหลุดพ้นได้ เช่นเกิดเป็นสุนัข ก็จะไม่มีทางหลุดพ้นได้เลย พระคุณของคุณพ่อคุณแม่ที่ให้ชีวิตเรา ก็มากเท่ากับพระคุณของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ท่านเป็นพระอรหันต์ในทางโลก ส่วนพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เป็นพระอรหันต์ในทางธรรม ในทางจิตใจ ท่านให้พระนิพพานเรา ให้เราอยู่ในพระนิพพานได้ พ่อแม่ก็ให้ร่างกายเรามา การมีร่างกายมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่เลิศที่สุดแล้ว ไม่มีภพไหนจะมีคุณค่าเท่ากับภพของมนุษย์

 

        พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ พูดภาษามนุษย์ ถ้าอยากจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ต้องเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไปเกิดเป็นช้างเป็นลิง ที่ไปอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ก็จะไม่สามารถรับธรรมะที่ละเอียดได้ ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร ถ้าได้เป็นมนุษย์ได้ไปอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ ๓ เดือน ถ้ามีบารมีพอที่จะรับธรรมได้ ก็จะหลุดพ้นได้ เช่นพระที่ได้ไปศึกษากับพระพุทธเจ้า ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก ในสมัยปัจจุบันนี้ พระที่ได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ ได้ศึกษาได้เรียนรู้จากท่าน ก็จะหลุดพ้นได้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ก็จะไม่มีทางหลุดพ้นได้ ปฏิบัติไปจนวันตายก็ไม่มีทาง เพราะกิเลสมันเหนือกว่าปัญญาของเรามาก จึงต้องอาศัยปัญญาของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ ถึงจะช่วยเราได้ นอกจากเป็นพระโพธิสัตว์เท่านั้น ที่จะชนะกิเลสได้ หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นแล้วไม่มีใครจะทำได้ ผู้ที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ก็มีน้อยมาก ถ้าเปรียบกับปุถุชนคนธรรมดาอย่างพวกเรานี้ ก็เหมือนเขาวัวกับขนวัว วัวตัวหนึ่งมีเขาวัวอยู่คู่เดียว แต่มีขนเป็นร้อย คนที่เป็นโพธิสัตว์ก็เป็นเหมือนเขาวัว สุดยอดของมนุษย์มีแค่คน ๒ คนเท่านั้นเอง ในจำนวนหลายๆล้านคน

 

        ทีนี้กลับมาตรงที่พระคุณของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าไม่มีคุณพ่อคุณแม่ เราจะเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างไร ถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์เราก็จะไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ไม่มีทางหลุดพ้นได้ ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นพระอรหันต์  พระพุทธเจ้าก็มีพ่อแม่เหมือนกัน ทรงเห็นพระคุณของพ่อแม่ จึงพยายามโปรดท่าน ให้บรรลุเป็นพระอริยะกัน พระพุทธมารดาก็ได้เป็นพระโสดาบัน ทั้งๆที่ท่านตายไปแล้ว แต่ยังอยู่ในฐานะที่จะรับธรรมได้ ท่านเป็นเทพ ทรงอุตส่าห์โปรดสอนผ่านทางกระแสจิต ทางสมาธิอยู่ ๑ พรรษา จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ส่วนพระพุทธบิดาก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนจะสวรรคต พระคุณของคุณพ่อคุณแม่จึงยิ่งใหญ่มาก ไม่มีท่านแล้วจะมีเราได้อย่างไร ถ้าดูแลท่านก็เท่ากับได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์เลย เราจึงไม่ควรมองข้ามการดูแลคุณพ่อคุณแม่ ถึงแม้จะยากจะลำบากอย่างไรก็ต้องอดทน ท่านอาจจะจู้จี้จุกจิก บ่นเรื่องนั้นบ่นเรื่องนี้ หรือไม่ทำตามที่เราบอกให้ท่านทำ ก็อย่าไปถือสา บางทีเราห่วงท่านมากจนเกินไป จนกลายเป็นลูกบังเกิดเกล้าไป บังคับพ่อแม่ให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ถ้าท่านไม่ทำก็ไม่เป็นไร ให้ท่านกินยา ท่านไม่ยอมกิน ก็ไม่เป็นไร ให้เดินออกกำลังกาย ท่านไม่เดิน ก็ไม่เป็นไร ถ้าท่านอยากจะเดิน เราก็ช่วยประคับประคองท่าน เราต้องคอยสนับสนุน อย่าไปเป็นเจ้านายท่าน บางคนเวลาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ทำเหมือนกับเลี้ยงลูก ทำให้พ่อแม่อึดอัดใจ จนทนอยู่ด้วยไม่ได้ ไปอยู่บ้านคนชราสบายใจกว่า เพราะรักเกินไป แต่ไม่รู้จักวิธีปรนนิบัติพ่อแม่  ต้องดูพระที่ปฏิบัติกับครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่าง ต้องเทิดทูนเคารพท่านอยู่เสมอ ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฟังธรรม ก็จะทำไปตามอารมณ์ พอไม่ได้ดังใจก็โกรธ แล้วก็พาลปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลเลย

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นเทวดาก็บรรลุธรรมไม่ได้ เพราะไม่มีร่างกายใช่ไหมคะ

 

ตอบ  บรรลุได้ถ้าตัดตัณหาได้ อาจจะยากหน่อย เพราะพวกเทวดาจะติดอยู่ในกามฉันทะมาก เหมือนพวกคนรวย จะให้ตื่นเช้าๆมาใส่บาตรมาทำบุญยาก สู้นอนดีกว่า เพราะเมื่อคืนนี้ไปเที่ยวดึก ไปมีงานเลี้ยงงานฉลอง พวกเทวดาก็เป็นเหมือนพวกคนรวย

 

ถาม  เขาไม่มีกาย ใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  เทวดาไม่มีกายหยาบ มีกายทิพย์ เขาเสพความสุขกับรูปทิพย์เสียงทิพย์กลิ่นทิพย์ เรื่องอะไรที่เขาจะต้องมาตัดมาละรูปทิพย์เสียงทิพย์ แล้วมาทำจิตให้นิ่งสงบ มันยาก มันฝืนนิสัยเขา เหมือนกับถนัดมือขวา แล้วบอกให้ใช้มือซ้าย นอกจากเทวดาบางองค์ที่เห็นคุณค่าของคำสอนของพระพุทธเจ้า เห็นโทษของการติดอยู่ในกามสุขถึงแม้จะละเอียดจะวิเศษขนาดไหน ก็หมดไปได้ เทวดาจะไม่เห็นบั้นปลายของเขา เวลาเทวดาตายจะมองไม่เห็นกัน จะเสื่อมหายไป ไปเกิดเป็นมนุษย์ เหมือนกับแสงสว่างที่ดับหายไป

 

ถาม  จึงไม่เห็นทุกข์

 

ตอบ  ไม่เห็นความเสื่อมของรูปทิพย์

 

ถาม  ไม่มีเวทนาทางกาย

 

ตอบ  ไม่มี แต่ของมนุษย์เรานี่เห็นชัด

 

ถาม  เพราะมีรูปให้เห็น

 

ถาม  ทราบหมดแล้วว่าควรจะทำอย่างไร ท่านอาจารย์ก็มีเมตตาเทศน์สอนลูกศิษย์อยู่เรื่อยๆ จ้ำจี้จ้ำไช แต่ลูกศิษย์ไม่ค่อยๆขยับชั้นเสียที อยู่ซ้ำชั้นนานๆอย่างนี้ ท่านอาจารย์เบื่อไหม

 

ตอบ  เราไม่ได้ยึดไปติดกับการสอนหรือผลของการสอน พยายามทำหน้าที่ของเราเท่านั้นเอง เหมือนคนบอกทาง คนมาถามว่าจะไปกุฏิหลังนั้น อยู่ตรงไหน เราก็บอกเขาไป แต่ไม่เดินตามไปดูว่าไปถึงหรือไม่ บอกให้ถูกต้องทุกอย่างแล้ว ถ้าไปไม่ถึงก็เรื่องของเขา

 

ถาม  แต่เดี๋ยวนี้ลูกศิษย์เดินกลับมาถามใหม่

 

ตอบ  เหมือนพราหมณ์ที่ถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านก็สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามามาก บางองค์ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ บางองค์ก็ไม่บรรลุ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ท่านก็ย้อนกลับไปถามพราหมณ์ว่า ท่านเองก็มีคนมาถามทาง ท่านก็บอกเขาไป บางคนก็ไปถึงบางคนก็ไปไม่ถึง แล้วท่านจะทำอย่างไร เราบอกเขาแล้ว เขาจะไปถึงหรือไม่ ก็เรื่องของเขา เราไม่เดือดร้อนด้วย ขอให้เราทำหน้าที่ของเราให้ถูกก็แล้วกัน อย่าไปบอกให้เขาหลงทาง ก่อนจะสอนใคร เราต้องมั่นใจในสิ่งที่เราสอนก่อน ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ดีกว่า อย่าไปอาย อย่าไปกลัวเขาว่าเราไม่ฉลาด พูดในสิ่งที่เรารู้ สิ่งไหนที่เราไม่รู้เราก็บอกไม่รู้ แต่อย่างน้อยถ้าได้มีการพัฒนาขึ้นเล็กน้อยก็ยังดี เท่าที่ได้ยินทุกคนก็บอกดีขึ้น อย่างนี้ก็พอใจ

 

ถาม  รู้สึกว่าทุกคนดีขึ้นไหมคะ

 

ตอบ  ถ้ายังมาอยู่ก็ถือว่าดีขึ้น  

 

ถาม  มีบางคนคิดอยากจะสร้างกุฏิอยู่แถวๆนี้ แต่กลัวท่านอาจารย์จะหนีไปก่อน

 

ตอบ  อนาคตเป็นเรื่องที่คาดไม่ได้เลย จึงอย่าไปยึดติดกับบุรุษไปรษณีย์ ให้ยึดติดกับจดหมายที่เขาเอามาส่งให้เรา

 

ถาม  แต่มันก็สำคัญ เป็นกำลังใจ

 

ตอบ  ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร ไม่มีใครอยู่ไปตลอด บุรุษไปรษณีย์ก็ต้องตายเหมือนกัน เราจึงต้องรีบขวนขวาย พยายามทำให้มากปฏิบัติให้มาก เพื่อธรรมจะได้เข้ามาอยู่ในใจของเรา เอาอาจารย์ภายในดีกว่า อาจารย์ภายนอกก็ดี แต่อาจารย์ที่แท้จริงต้องเป็นอาจารย์ภายใน คือใจของเราสอนใจเราเอง ด้วยการเข้าใจสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่ลืม จะอยู่กับใจไปตลอด มีคนถามพระอรหันต์ว่า พระอรหันต์ลืมได้หรือไม่ ท่านก็ตอบว่าลืมได้ ลืมชื่อคน ลืมวันที่ เพราะสัญญามันอนิจจา จำได้ก็ลืมได้ แล้วก็ถามว่ามีอะไรที่พระอรหันต์ไม่ลืมบ้าง ท่านบอกว่ามี เขาถามว่าอะไร ท่านก็ตอบว่าสัจธรรมหรืออริยสัจ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคนี้ไม่ลืม เพราะเกิดจากการปฏิบัติ จะอยู่กับใจไปตลอด พระอรหันต์จึงไม่กลับมาเป็นปุถุชนอีก ปุถุชนคือผู้ที่ไม่เห็นสัจธรรม ไม่เห็นอริยสัจ ๔ ผู้ที่เห็นแล้วจะไม่ลืม รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นสมุทัย อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นนิโรธ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า กิจในอริยสัจ ๔ ตถาคตได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว ทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้ ก็ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยที่ต้องละ ก็ได้ละแล้ว นิโรธที่ต้องทำให้แจ้ง ก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ต้องเจริญให้มาก ก็ได้เจริญจนสมบรูณ์แล้ว เมื่อทำกิจในอริยสัจ ๔ จนสมบรูณ์แล้ว กิจอย่างอื่นก็ไม่มีอีกต่อไป วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์นี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีกิจอย่างอื่นที่ต้องทำอีกต่อไป นอกจากสงเคราะห์ผู้อื่นไปตามอัตภาพ ตามสภาพ ใครศรัทธาสนใจอยากจะศึกษา ก็สอนกันไป แต่จะไม่ไปดึงคนนั้นไปลากคนนี้มาสอน นี่ๆเป็นอย่างนี้นะ นิพพานเป็นอย่างนี้นะ อริยสัจเป็นอย่างนี้นะ ไม่สอนให้เสียเวลา ถ้าไม่สนใจก็ไม่สอน

 

ถาม  เห็นหลวงตาเคยพูดถึงเวลาท่านบรรลุธรรมว่า จิตที่ผ่องใสก็ดี ที่เศร้าหมองก็ดี ที่สุขก็ดี ที่ทุกข์ก็ดี เป็นอนัตตา แล้วก็พูดถึงหลวงปู่ขาวด้วยว่าตอนที่บรรลุหลวงปู่ขาวพิจารณาต้นข้าว แต่ละองค์นี่มีจริต มีปัญญาเห็นจริง ไม่เหมือนกัน 

 

ตอบ  ไม่เหมือนกัน แต่ไปสู่จุดเดียวกัน

 

ถาม  ได้ผลเหมือนกัน

 

ตอบ  ได้ผลเหมือนกัน อวิชชาจะแตกกระจายหายไปเหมือนกัน จะรู้ ไม่สงสัย ใครไปถึงจุดนั้นแล้วจะไม่สงสัย แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นอาจจะใช้การวิเคราะห์ต่างกัน เหมือนกับบริษัทหลักทรัพย์ที่วิเคราะห์หุ้นต่างกัน มีเทคนิคต่างกัน แต่ได้ผลเหมือนกัน สำนักเศรษฐกิจต่างๆที่วิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศว่าจะขึ้นเท่าไหร่ปีนี้ การวิเคราะห์อาจจะไม่เหมือนกัน ให้น้ำหนักกับปัจจัยตัวนั้นตัวนี้หนักเบาต่างกัน คนเราก็มีประสบการณ์ต่างกัน หลวงปู่ขาวถนัดเรื่องปลูกข้าว เป็นชาวนาชาวไร่ ท่านก็จะพิจารณาไปทางนั้น คนอื่นอาจจะพิจารณาไปทางอื่น อย่างมีอยู่พระรูปหนึ่งมีปัญหา ก็จะไปกราบถามพระพุทธเจ้าที่กุฏิที่ประทับ พอดีเดินไปถึงกุฏิฝนก็ตกลงมา ก็เลยยืนอยู่ชายคา เห็นหยดน้ำไหลลงมาแล้วลงไปกระทบกับน้ำที่อยู่กับพื้น เป็นฟองแล้วก็แตกกระจายหายไป ท่านก็บรรลุตรงนั้น บรรลุแล้วท่านก็ไม่ได้ขึ้นไปถาม เพราะรู้คำตอบแล้ว  บางคนเห็นดอกไม้เหี่ยวลงไป ก็บรรลุได้ อยู่ที่ว่าจะเข้าใจหลักของความจริงหรือไม่ แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน เลียนแบบกันไม่ได้ แต่ต้องปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น หนักเบามากน้อยต่างกัน ถ้าได้ทำมามากแล้วก็ไม่ต้องทำมาก ทำมาน้อยก็ต้องทำมากหน่อย ถ้ามีกิเลสหนาปัญญาทึบก็ต้องช้าหน่อยยากหน่อย ถ้ากิเลสบางปัญญามากก็จะง่ายและเร็ว

 

ถาม  พวกสุขวิปัสสโก

 

ตอบ  ก็พวกปฏิบัติง่ายบรรลุเร็ว พวกปฏิบัติยากบรรลุช้า ก็ทุกขวิปัสสโก

 

ถาม  ได้ทำมาแล้วอดีตชาติ

 

ตอบ  เขาได้บำเพ็ญบารมีต่างๆมา เช่นปัญญาบารมีเป็นต้น

 

ถาม  ช่วยบอกเทคนิคให้กับพวกกิเลสหนาปัญญาทึบ

 

ตอบ  ให้ไปอยู่กับหลวงตา หรืออาจารย์ที่เหมือนกับหลวงตา จะช่วยเคี่ยวเข็ญให้ได้ดี ครูบาอาจารย์ที่เมตตาใจดีไม่ดุไม่ด่า จะไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่ ถ้าคิดว่ากิเลสหนาปัญญาทึบก็ต้องไปหาครูบาอาจารย์ที่ดุเก่งๆด่าเก่งๆ ที่มีความเข้มงวดกวดขันมาก เหมือนกับเรียนหนังสือ ถ้าได้ครูที่คอยติดตามดูการเรียนของเรา ก็จะช่วยดึงเราไปได้

 

ถาม  ตอนแรกๆที่ท่านอาจารย์จะอยู่กับหลวงตานี่ ก็รู้อยู่ว่าหลวงตาท่านดุมาก เวลาว่าท่านดุนี่ ท่านอาจารย์คิดหรือไม่คะว่าท่านดุ

 

ตอบ  ไม่หรอก เพราะประสบการณ์ของอาตมา ตั้งแต่เป็นฆราวาส รู้ว่าคนดุเป็นคนใจดี จะได้ประโยชน์จากคนดุมากกว่าคนไม่ดุ เวลาเรียนหนังสือก็จะหาครูที่ดุๆที่เคี่ยวๆ ถ้าไม่เคี่ยวจะไม่ได้ความรู้

 

ถาม  เพราะสังเกตดูเวลาที่หลวงตาดุ ท่านไม่ได้ดุจริงๆ เป็นเพียงอุบายสอนเราใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ก็แล้วแต่คน ดุตรงๆได้หรือไม่ จะเกิดประโยชน์หรือเกิดโทษ ถ้าดุแล้วเป็นบ้าไปเลย ท่านก็ไม่ดุ ท่านดูจริตนิสัยของคนว่าจะรับได้มากน้อยขนาดไหน ท่านเล็งถึงประโยชน์หรือโทษที่จะเกิดขึ้น บางทีก็ไม่ได้ว่าตรงๆ แต่พูดเรื่องคนอื่นให้คนนี้ฟัง แต่เป็นเรื่องของคนนี้ ถ้ามีปัญญาก็น้อมเอาเข้ามาพิจารณา ว่าเป็นเรื่องของตนหรือเปล่า คนฟังมันควรน้อมเข้ามาเสมอ ไม่ว่าพูดเรื่องอะไรต้องน้อมเข้ามา แต่ไม่น้อมแบบโมโหโทโส แบบมีอารมณ์ น้อมมาเพื่อศึกษาดูว่าเราบกพร่องหรือเปล่า ท่านว่าคนนั้นบกพร่อง เราก็ต้องย้อนมาดูว่า เราบกพร่องเหมือนกับที่ท่านว่าหรือเปล่า ถ้าไม่ก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะฟังเพื่อแก้ไขส่วนที่บกพร่อง ฟังเพื่อพัฒนาตัวเรา ส่วนดีที่เรายังไม่มี ก็ควรพัฒนาให้มีขึ้นมา ส่วนไม่ดีก็ต้องแก้ไข ไม่ว่าท่านจะพูดเรื่องใครก็ตาม เราต้องโอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเราเสมอ นักปราชญ์ท่านฉลาด ท่านรู้ว่าคนเรามีจริตนิสัยต่างกัน สอนตรงๆอาจจะรับไม่ได้ จะอับอายขายหน้าเพื่อนฝูง อาจจะโกรธขึ้นมาเลยก็ได้ อาจจะเลิกนับถือเป็นอาจารย์ไปเลยก็ได้ ท่านก็ดูแต่ละคนว่าจะรับได้มากน้อยเพียงไร

 

ถาม  สังเกตดูคนที่เข้าวัดส่วนใหญ่จะมีความทุกข์ ในเรื่องการงานครอบครัวหรืออะไรอย่างนี้คะ แต่คนที่มีความสุขสบายจะไม่ค่อยเข้าวัด

 

ตอบ  คนที่มีความทุกข์แต่ไม่เข้าวัดก็มีมากเหมือนกัน เพราะเลือกแก้ด้วยวิธีอื่น ไปตีกอล์ฟ ไปช็อปปิ้ง ไปอาบอบนวด  ไปดูหนัง วัดก็เป็นทางแก้ทางหนึ่ง

 

ถาม  อย่างลูกมีเพื่อนๆที่ไม่เข้าวัด เขาไม่มีความทุกข์

 

ตอบ  เขามี ไม่มีใครไม่มีทุกข์หรอกในโลกนี้ เพียงแต่เขาไม่มาบ่นให้เราฟังเท่านั้นเอง

 

ถาม  แสดงว่าไม่เกี่ยวกับความทุกข์ความสุขที่เข้าวัดใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่เสมอไป อยู่ที่จริตนิสัยของแต่ละคน บางคนแก้ความทุกข์ด้วยการดื่มสุรา เวลาไม่สบายใจก็หาเหล้ามาดื่ม บางคนก็เข้าบ่อนการพนัน เพื่อจะได้ลืมปัญหาลืมเรื่องราวต่างๆ

 

ถาม  มีน้องบางคนเขาบอกว่า ตัวเขายังอยากจะเกิด ยังอยากจะเห็นเรื่องตายเกิด ฟังแล้วตกใจเหมือนกัน

 

ตอบ  แสดงว่ามีความหลงมาก

 

ถาม  ยังไม่มีปัญญาที่จะคิด มีอวิชชาเต็มตัว

 

ตอบ  คนเข้าวัดนี้แหละเป็นคนฉลาด แก้ทุกข์ที่ถูกทาง เหมือนกับคนไม่สบายแล้วไปเข้าโรงพยาบาล ดีกว่าไปคลินิกหมอเถื่อน

 

ถาม  แต่เขามองตรงกันข้ามกับเราเลยนะคะ มองคนที่เข้าวัดว่าอะไรตื่นแต่เช้า

 

ตอบ  สัมมาทิฐิกับมิจฉาทิฐิ ต้องมองตรงกันข้ามกัน สัมมากับมิจฉาอยู่กันคนละด้าน เขาอาจจะมองว่าคนที่เข้าวัดเป็นคนอ่อนแอ ไม่กล้าต่อสู้ ไม่กล้าเผชิญความจริง

 

ถาม  เปอร์เซ็นต์ของคนเข้าวัดกับคนที่ไม่เข้าวัดก็ต่างกันมากเลย คนเข้าวัดนี่สัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์

 

ตอบ  น้อยมาก เพราะพวกเข้าวัดเป็นพวกเขาวัว พวกไม่เข้าวัดเป็นพวกขนวัว

 

ถาม  ดีใจจัง พวกลูกเป็นพวกเขาวัว

 

ตอบ  คนที่เป็นพระอรหันต์ อยู่ในวัดหรืออยู่นอกวัด คนที่เข้าวัดใหม่ๆก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แต่อยู่ไปนานๆก็กลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ อยู่นอกวัดไปจนวันตายก็ไม่เป็น การแก้ความทุกข์ที่ถูกทางต้องแก้ทางไหน คำตอบก็เห็นอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีปัญญาพิจารณาให้เห็นเท่านั้นเอง

 

ถาม  ในกรณีที่เป็นมิจฉาทิฐิ แต่เป็นบุพการีของเรา จะทำให้เกิดสัมมาทิฐิได้อย่างไร

 

ตอบ  แม้แต่บุพการีของพระอรหันต์บางทีก็ช่วยไม่ได้ อย่างบุพการีของพระโมคคัลลาน์หรือพระสารีบุตร สิ่งที่เราทำได้ คือการทำตัวของเราให้เป็นตัวอย่าง ถ้ายังไม่เห็นก็แสดงว่ามีเมฆหมอกของโมหะอวิชชาหนามาก แสงสว่างแห่งธรรมไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ เป็นเรื่องของกรรม เราจึงต้องเข้าใจหลักกรรม  และเรื่องอนิจจังของร่างกาย พ่อแม่ของเราก็ต้องแก่เจ็บตายเหมือนกัน แก้ไม่ได้ เรื่องกรรมของท่านเราก็ไปแก้ไม่ได้ มิจฉาทิฐิเป็นผลของกรรม สัมมาทิฐิเป็นผลของบุญ คนที่มีมิจฉาทิฐิก็จะคลุกคลีกับคนที่มีมิจฉาทิฐิ ก็ยิ่งส่งเสริมกันใหญ่   ยิ่งตอกย้ำมิจฉาทิฐิให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ส่วนคนที่มีสัมมาทิฐิก็จะคลุกคลีกับคนที่มีสัมมาทิฐิ ก็จะช่วยส่งเสริมกัน คนที่มีความรู้มากกว่าจะดึงคนที่มีน้อยกว่า พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้คบบัณฑิต ถ้าหาบัณฑิตคบไม่ได้ ก็อยู่คนเดียวไปจะดีกว่า อย่าไปคบคนพาลคนโง่ เพราะจะขาดทุน จะฉุดลากเราลงไป ถ้าจำเป็นต้องคบเช่นคบกับพ่อกับแม่เรา ก็อย่าให้เขาฉุดลากเราไป ถึงแม้จะเป็นพ่อเป็นแม่ ถ้าสอนให้เราเล่นการพนัน ให้กินเหล้า เราก็ไม่ต้องทำตาม ไม่เป็นการเนรคุณ ถ้าผิดกับหลักธรรมก็ไม่ต้องทำ การเนรคุณหมายถึงไม่ดูแลท่าน ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือ เราปล่อยปละละเลย ถึงจะเป็นการเนรคุณ ถ้าชวนให้เราไปดื่มเหล้า เราก็ไม่ต้องไป ถ้าไปก็ไม่ต้องดื่ม ท่านจะว่าอย่างไรเราก็ไม่ดื่ม ต่อไปท่านอาจจะไม่ดื่มตามเราก็ได้

 

        จะสอนพ่อแม่ ก็ต้องสอนด้วยการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง เช่นพระพุทธเจ้า ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ปฏิบัติจนหลุดพ้น พอหลุดพ้นแล้วบรรดาญาติทั้งหลายก็เกิดศรัทธาปฏิบัติตาม มีเจ้าชายออกบวชตั้ง ๕ รูปพร้อมๆกัน มีพระอานนท์ มีพระอนุรุทธะ บวชพร้อมๆกัน เพราะศรัทธา ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ออกบวช พวกนี้จะได้บวชหรือเปล่า ไม่มีทาง ก็เหมือนกับพระราชวงศ์จักรี มีรัชกาลที่ ๔ ออกบวชเป็นพระอยู่ตั้ง ๒๐ พรรษา ลูกๆหลานๆก็บวชตามกันทุกพระองค์เลย ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา รู้สึกจะบวชทุกๆพระองค์เลย ถ้าเรากินเหล้าเมายาจัดปาร์ตี้ทุกคืน ลูกหลานก็จะทำตาม ถ้ามีสัมมาทิฐิ เขาก็จะไม่ทำตาม ถ้าไม่มีสัมมาทิฐิก็จะทำตามคนอื่น ต้องแยกแยะ เป็นพ่อแม่ก็ส่วนหนึ่ง เรื่องของจิตใจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องของบุญของกรรม ท่านสอนว่าเรามีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ไม่ใช่พ่อแม่ที่ให้กำเนิดใจ พ่อแม่ให้กำเนิดร่างกาย แต่ใจจะสูงจะต่ำ จะดีจะชั่ว บุญกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด ทำให้ดีหรือชั่วสูงหรือต่ำ ถึงแม้จะเกิดเป็นลูกของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสูงตามเสมอไป ถ้าใจไม่สูงมันก็ไม่สูง ถึงแม้จะเกิดเป็นลูกขอทาน แต่ถ้าใจสูงมันก็สูง

 

ถาม  แล้วคำพังเพยที่ว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ก็ไม่เกี่ยวเลยใช่ไหมครับ

 

ตอบ  เป็นบางกรณี

 

ถาม  เป็นแต่ละบุคคลไป

 

ตอบ  เผอิญมีจริตนิสัยคล้ายกัน

 

ถาม  เคยเกี่ยวพันกันหรือเคยทำกรรมร่วมกันมา

 

ตอบ  ท่านสอนว่าถ้าอยากจะพบกันในชาติหน้า ได้เป็นคู่กัน ก็ต้องทำบุญทำทานเท่ากัน รักษาศีลเท่ากัน ภาวนาเท่ากัน ถ้าทำไม่เท่ากันก็จะไม่เจอกัน เหมือนรถที่วิ่งเร็วเท่ากันก็จะเกาะติดกันไป ถ้าเร็วไม่เท่ากัน ก็จะห่างกันออกไป แต่อย่าไปอยากเจอกันเลย ไม่เบื่อกันบ้างหรือ ไปข้างหน้ามีคนใหม่ให้เจอเยอะแยะ น้ำก็จะเข้าหาน้ำ น้ำมันก็จะเข้าหาน้ำมัน ไม่ปะปนกัน คนดีจะเข้าหาคนดี คนไม่ดีก็จะเข้าหาคนไม่ดี

 

ถาม  ลูกสาวทำงานทางราชการ มีการเรียกเงินใต้โต๊ะ แล้วเขาต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ให้ เขาจะมีความผิดในส่วนกรรมที่ละเอียดนี้หรือไม่

 

ตอบ  ถ้ามีส่วนร่วมด้วยก็มี ถ้าไม่มีส่วนร่วมด้วยก็ไม่มี

 

ถาม  ไม่ได้เป็นผู้รับ

 

ตอบ  อยู่ที่เจตนา

 

ถาม  ต้องทำไปตามหน้าที่

 

ตอบ  มีหน้าที่เซ็นก็เซ็นไป

 

ถาม  งานบางอย่างเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมอนุมัติ ถ้าไม่ให้เงินเขา

จะหาเรื่องราวหาข้อผิด นี่ก็กรณีเดียวกัน มันจำเป็นคะ

 

ตอบ  ก็มองว่าเป็นการซื้อของก็แล้วกัน ต้องเสียเงินซื้อ อยากจะได้ของก็ต้องจ่ายเงิน

 

ถาม  เพื่อความสะดวก ไม่อย่างนั้นจะทำอะไรไม่ได้ งานไม่เดิน

 

ตอบ  เราไม่ได้ทำผิด คนที่เรียกนั่นแหละผิด เราเป็นคนซื้อของ เขาเรียกราคานี้ เราก็จ่ายเขาไป เขาก็ไปเป็นเปรต เราไม่ได้ไปเป็น

 

ถาม  ที่สวนแสงธรรมไม่เคยต้องให้ค่าอะไรเลย มีแต่แย่งกันทำ ลูกว่าบารมีเป็นสิ่งสำคัญ

 

ตอบ  กับพระเขาจะไม่เอา เวลาตำรวจเรียกรถแล้วเห็นพระนั่ง เขาก็จะโบกให้ไป เราอย่าไปทำก็แล้วกัน ถ้าต้องขับรถผ่านทางนี้แล้วเขาจะเรียกเก็บเงิน เราก็จ่ายเขาไป ไม่ได้เป็นความผิดของเรา ความผิดอยู่ที่คนเรียก

 

ถาม  จะไปส่งเสริม

 

ตอบ  ก็อย่าไปทางนี้ ไม่ได้เป็นความผิดของเรา เพราะไม่มีเจตนาที่จะทำบาป เราต้องไปทางนี้ จะไปได้ต้องจ่ายเงิน เหมือนขึ้นทางด่วนก็ต้องจ่ายเหมือนกัน ทำไมเราจ่ายได้

 

ถาม  เร็วมากอายุ ๖๐ แล้วค่ะ

 

ตอบ  เป็นตัวเลขเท่านั้น หกสิบ แปดสิบ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็นับไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีชีวิตก็หยุดนับ แต่ใจนี่อายุยาวมาก ไม่รู้กี่ล้านปีแล้ว ร่างกายเป็นเหมือนเสื้อผ้าชุดหนึ่งเท่านั้นเอง

 

ถาม  ใจไม่มีตาย

 

ตอบ  ใช่

 

ถาม  อยากจะเรียนถามเกี่ยวกับการติดดีกับติดชั่ว เวลาใช้ชีวิตจริงๆจะต้องเจอทั้งที่ดีและไม่ดี จะมีวิธีการอย่างไรดีคะ ที่จะไม่ให้ติด

 

ตอบ  คำว่าดีหมายถึงสิ่งที่เราชอบใช่ไหม เช่นเวลาได้เงินเดือนขึ้นหรือใครชมเราอย่างนี้ใช่ไหมที่เรียกว่าดี ส่วนที่ไม่ดีหมายถึงเวลาที่เราโดนตัดเงินเดือน โดนไล่ออกจากงาน โดนตำหนิติเตียนนินทา ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องไม่ติดทั้ง ๒ อย่าง ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับฝนตกแดดออก เราไม่ติดกับแดดจนรับกับฝนไม่ได้เลย ต้องรับได้ทั้ง ๒ อย่าง เพราะไม่ได้อยู่ในวิสัยของเราที่จะไปควบคุมบังคับได้ เจ้านายจะไล่เราออก ก็ห้ามเขาไม่ได้ จะด่าเราก็ห้ามเขาไม่ได้ จะตำหนินินทาเราก็ห้ามเขาไม่ได้ จะชมเราก็ห้ามเขาไม่ได้ ให้เรามีความหนักแน่นกับความจริงก็แล้วกัน ถ้าเขาชมว่าเราดีแต่เราไม่ดี ก็ไม่ควรดีใจ เขาว่าเราไม่ดีแต่เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า ก็ไม่ต้องเสียใจ แต่ถ้าเป็นจริงอย่างที่เขาว่า เราก็ต้องแก้ไข เพราะจะเป็นประโยชน์กับเรา ฟังเพื่อให้เกิดประโยชน์ ฟังด้วยเหตุผล อย่าฟังด้วยอารมณ์ ถ้าฟังด้วยอารมณ์เราจะชอบให้คนสรรเสริญอย่างเดียว เราจะเลวขนาดไหน ถ้าเขายกย่องสรรเสริญเราก็ดีใจ เราจะดีขนาดไหน ถ้าเขาตำหนิเราก็จะเสียใจ ถ้าไม่ใช้อารมณ์ ดูความจริงเป็นหลัก ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตาม เราจะไม่หวั่นไหว จะฟังที่เหตุผล ว่าจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ต้องแก้ไข ถ้าไม่จริงก็ไม่ต้องทำอะไร แสดงว่าคนพูดเป็นคนตาบอด มองไม่เห็นความจริง หรือเกลียดเรา ก็ห้ามเขาไม่ได้ ถือว่าเป็นเวรเป็นกรรมก็แล้วกัน เราเคยมีอะไรกับเขามาก่อน จึงทำให้เขาเกลียดเรา

 

         พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า อยู่ในโลกนี้ต้องอยู่เหนือสรรเสริญนินทาให้ได้ อยู่เหนือโลกธรรมทั้ง ๘ ลาภยศสรรเสริญสุข ที่มีทั้งเจริญและเสื่อม เป็นธรรมดา ส่วนใหญ่เราจะไปติดเจริญ เวลาเจริญลาภยศสรรเสริญสุข เราจะดีอกดีใจ พอเวลาเสื่อมลาภเสื่อมยศ เจอนินทาเจอความทุกข์ ใจก็จะหดหู่ ต้องปรับใจให้อยู่ตรงกลาง ไม่ยินดียินร้าย เวลาเจริญก็เตือนสติว่าเดี๋ยวก็เสื่อม จะได้ไม่ดีใจ เวลาเสื่อมจะได้ไม่เสียใจ ถ้าดีใจพอจากไปก็จะเสียใจ ถ้าเฉยๆ ไม่ยินดี เวลาเสื่อมก็จะไม่เดือดร้อน จึงต้องรู้ทันว่าความเจริญกับความเสื่อมเป็นของคู่กัน มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา เวลาได้ขึ้นเงินเดือนก็ไม่ต้องดีใจ ต่อไปอาจจะถูกไล่ออกจากงานก็ได้ บริษัทอาจจะขาดทุน ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ก็ต้องปิดบริษัทลง หรือต้องลดจำนวนพนักงานลง ก็อาจจะต้องปลดเราออกจากงาน พยายามมองความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอยู่เสมอ จะได้ไม่หลง กับส่วนดีและส่วนไม่ดี ส่วนไม่ดีเดี๋ยวก็หมดไปเหมือนกัน เช่นฝนไม่ตกไปตลอด เดี๋ยวก็ต้องหยุด ไม่ต้องไปรังเกียจ ไม่ต้องอยากให้มันหยุด ถึงเวลามันก็หยุดเอง ถ้ายังไม่ถึงเวลาหยุด ต่อให้อยากอย่างไร ก็ไม่หยุดอยู่ดี จะทุกข์ทรมานใจไปเปล่าๆ ถ้าทำใจให้รับกับทุกสภาพได้ ก็จะไม่เดือดร้อนไม่ทุกข์ ไม่ให้ยึดติดทั้งดีและชั่ว ทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี แต่เรื่องทำความดีนี้ ให้ยึดติดตลอดเวลา เรื่องธรรมะให้ยึดติดตลอดเวลา เดี๋ยวจะเข้าใจผิด เป็นคนละเรื่องกัน ธรรมะไม่ใช่เรื่องที่พูดถึง ธรรมะยึดได้ตลอด เป็นสรณะเป็นที่พึ่งได้ตลอด การทำความดียึดได้เสมอ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา

 

ถาม  อย่างนี้ก็หมายความว่า ชีวิตคนเราก็มีทั้งสุขและทุกข์ ตอนไหนที่กำลังมีความทุกข์หรืออยู่ในภาวะที่แย่ ก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ทุกอย่างเป็นอนิจจัง ก็จะผ่านไป แต่เราก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำความดีต่อไป ความทุกข์ในช่วงนั้นเป็นผลของบาปกรรมที่เราเคยทำมา ต้องคิดอย่างนั้นถูกไหมคะ

 

ตอบ  บางอย่างไม่ได้เป็นผลของการกระทำของเรา เป็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อย่างฝนตกแดดออก แล้วก็ไปกระทบกับเศรษฐกิจ ก็ถ้าแดดมากกว่าฝน เกษตรกรก็จะไม่สามารถผลิตข้าวออกมาได้มาก ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เงินฝืด ก็อาจจะถูกตัดเงินเดือน เป็นผลต่อเนือง ไม่ได้เป็นเรื่องของบุญของกรรม แต่ถ้ามีคนมาทำร้ายเรา ก็อาจจะเป็นเพราะเราเคยไปทำร้ายเขามาก่อน หรือชีวิตตกต่ำ ทั้งๆที่เราพยายามทำดีที่สุดแล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องของกรรม ก็ต้องอดทนไว้ ทำใจให้เป็นอุเบกขา พยายามประคับประคองชีวิต ไม่ให้ตกต่ำมากไปกว่านี้

 

ถาม  อย่าไปทำตามอย่างที่เราได้รับ

 

ตอบ  ใช่ พอชีวิตตกต่ำก็เลยทำตัวสำมะเรเทเมาไปเลย เราต้องพยายามทำความดีให้มากยิ่งขึ้นไปอีก จะดีกว่า บางทีความตกต่ำของชีวิตอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราได้ทำความดีกัน

 

ถาม  เพราะเห็นทุกข์จริงๆ

 

ตอบ  อย่างหลวงปู่ขาวนี่ เมียท่านไปมีชู้ ท่านก็เสียใจมาก ตอนต้นอยากจะฆ่าเมียกับฆ่าชู้ แต่พอได้สติขึ้นมา ก็คิดว่าไปฆ่าเขาทำไม เขามีความสุขก็ให้เขาไปเถิด เมื่อก่อนเราอยู่คนเดียวเราก็อยู่ได้ ทำไมต่อไปนี้จะอยู่ไม่ได้ ไปฆ่าเขาเราก็ไม่วิเศษไปกว่าเขา แต่จะเลวกว่าเขาเสียอีก ท่านได้สติ ก็เลยประกาศเป็นทางการเลยว่า ต่อไปนี้ขอยกภรรยาให้คนนี้ไป ส่วนเราจะไปบวช จะไปทำความดี พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส พลิกเหตุการณ์ที่เลวร้ายให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา ถ้าเราสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ก็ไปบวชเลย

 

ถาม  ผลของการทำความดีมันรอนาน

 

ตอบ  ความอยากของเราทำให้รู้สึกนาน เวลาอยากได้อะไรจะรู้สึกไม่ทันใจ เวลาไม่อยากได้รู้สึกมาเร็วเหลือเกิน เรื่องบิลนี่มาเร็วเหลือเกิน แต่เงินเดือนกว่าจะออกรู้สึกว่านาน ทั้งๆที่เป็นเวลา ๓๐ วันเหมือนกัน ความอยากทำให้รู้สึกว่าต่างกัน จึงอย่าไปหลงกับอะไรในโลกนี้เลย ไม่มีสาระทั้งนั้น ไม่ได้ให้ความสุขความสบายใจ ความหลุดพ้นจากความทุกข์ มีแต่จะสร้างความทุกข์ให้มีมากขึ้นไปเรื่อยๆ พอได้ดีก็อยากจะให้ดีไปตลอด พอไม่ดีเพียงนิดเดียวก็เสียใจแล้ว

 

ถาม  พอเราเห็นลูกคนอื่นเขาดี เราก็อิจฉาจังเลย

 

ตอบ  แล้วมันดีจริงหรือเปล่า ไม่ดีจริงหรอก พระพุทธเจ้าไม่เห็นว่ามันดี พระอรหันต์ท่านไม่เห็นว่ามันดี ครูบาอาจารย์ท่านไม่เห็นว่ามันดี คนหลงเท่านั้นที่เห็นว่ามันดี คนที่ไม่หลงเห็นว่ามันทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีนะดีที่สุด เมื่อก่อนนี้ตอนที่ไม่ได้แต่งงานไม่มีลูกก็สบายอยู่แล้ว พอมีสามีมีลูกแล้ว เป็นอย่างไร ดีไหมล่ะ

 

ถาม  มีแต่เห็นลูกคนอื่นสามีคนอื่นเขาดีจัง

 

ตอบ ไม่เห็นความทุกข์ของเขา ส่วนใหญ่จะเห็นแต่ส่วนที่ดี เวลาทะเลาะกันเราไม่เห็น ไม่มีคู่ไหนไม่ทะเลาะกัน

 

ถาม  ได้ยินว่าการอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น เป็นกิเลส

 

ตอบ  ถ้าทุกข์ก็เป็นกิเลส

 

ถาม  หลักใหญ่ต้องดูใจตัวเอง

 

ตอบ  ใช่ ต้องดูที่ความทุกข์ใจเป็นหลัก ความทุกข์ใจเป็นผลของกิเลสทั้งนั้น ถ้าเป็นธรรมแล้วจะไม่ทุกข์กับอะไรเลย ถึงแม้จะถูกทรมาน ถูกขังอยู่ในกรง ถูกทำร้ายร่างกาย ถ้าทำใจให้สงบได้ ก็จะไม่กระทบกับใจ เพราะกิเลสสงบตัวลงไปด้วย เราทุกข์เพราะกิเลส ไม่ต้องการสิ่งที่ได้รับก็เป็นทุกข์ อยากได้ในสิ่งที่ไม่ได้ก็เป็นทุกข์