กัณฑ์ที่ ๓๓๘       ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐

 

ความสุขที่แท้จริง

 

 

 

การภาวนาคือการมีสติอยู่กับกรรมฐานที่ควบคุมกำกับใจ เช่นอยู่กับพุทโธๆอย่างต่อเนื่อง ถ้าอยู่ได้เดี๋ยวเดียว แล้วก็แวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะไม่สงบ ถ้าอยู่กับพุทโธๆไปได้เรื่อยๆ ไม่คิดเรื่องอื่นเลย คิดแต่พุทโธๆอย่างเดียว ไม่นานก็จะสงบ เพราะไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะทำกันไม่ได้ เพราะรู้สึกอึดอัด เหมือนชักเย่อกัน ฝ่ายที่อยากคิดเรื่อยเปื่อยก็จะดึงไปทางหนึ่ง ฝ่ายพุทโธก็จะดึงมาอีกทางหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีกำลัง ตอนที่ปฏิบัติใหม่ๆ จึงไม่ค่อยอยากอยู่กับพุทโธ พอเผลอก็จะคิดไปเรื่อยเปื่อย ก็จะไม่เกิดผล เพราะยังไม่ได้ภาวนาจริงๆ เป็นเพียงกิริยาของภาวนา กายนั่งสมาธิเดินจงกรม แต่ใจไม่ได้ภาวนา ยังคิดเรื่อยเปื่อย จึงต้องตัดความคิดเรื่อยเปื่อยให้ได้ ให้อยู่กับพุทโธๆ หรือจะพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายแทนก็ได้ มีสติอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้ เวลาเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน ก้าวเท้าก็รู้ว่ากำลังก้าว ก้าวซ้ายก็รู้ว่าซ้าย ก้าวขวาก็รู้ว่าขวา ให้รู้เท่านี้ก็พอ ให้อยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ แต่ใจมักจะไม่อยู่กับร่างกาย จะไปทั่วจักรวาล ถ้าปล่อยให้ไปอย่างนั้น ก็จะไม่เห็นผล จะเห็นได้ก็ต้องหยุดความคิดให้ได้ พอหยุดได้แล้วก็จะควบคุมความคิดได้ ก็จะควบคุมอารมณ์ได้ เพราะอารมณ์ต่างๆก็เกิดจากความคิดทั้งนั้น คิดแล้วก็เกิดอารมณ์ตามมา คิดดีก็เกิดอารมณ์ดี คิดไม่ดีก็เกิดอารมณ์ไม่ดี ถ้ามีสติก็จะรู้ว่ากำลังมีอารมณ์ไม่ดี ก็หยุดคิดไม่ดี อารมณ์ไม่ดีก็จะหายไป

 

การคิดดีไม่ได้หมายถึงการคิดเรื่องที่เราชอบ ถึงแม้จะทำให้มีอารมณ์ดี บางครั้งก็ทำให้มีอารมณ์เสียได้ เมื่อสิ่งที่ชอบเปลี่ยนไป เช่นคิดถึงแฟนตอนรักกันก็มีอารมณ์ดี พอคิดถึงตอนที่ทะเลาะกัน ก็จะมีอารมณ์ไม่ดี ที่ให้คิดดีหมายถึงให้คิดเรื่องธรรมะ คิดตามความจริง แต่ใหม่ๆจะเกิดอารมณ์ไม่ดี เพราะกิเลสจะต่อต้าน เช่นพระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย ว่าเป็นธรรมดา พอคิดกิเลสก็จะต่อต้าน จะไม่ชอบคิดเป็นสิ่งที่กิเลสกลัวที่สุด เพราะเวลามีความแก่ความเจ็บความตายกิเลสจะโลภจะอยากไม่ได้ เวลาแก่จะไปเที่ยวก็ลำบาก เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนอนอยู่โรงพยาบาลก็ออกไปเที่ยวไม่ได้ เวลาตายก็ทำอะไรไม่ได้เลย กิเลสจะไม่ชอบ แต่ถ้าคิดไปเรื่อยๆจนใจสงบลง ก็จะเห็นว่าคิดอย่างนี้ระงับดับความฟุ้งซ่านได้ คิดเรื่องแก่เรื่องเจ็บเรื่องตายจะทำให้ความโลภความอยากต่างๆหายไปได้มาก จึงเป็นความคิดที่ดี เพราะคิดทีไรทำให้ใจสงบ พอสงบแล้วก็มีความสุขเย็นสบาย คิดดีคือคิดเพื่อให้ใจสงบ คิดที่ไหนเวลาใดก็จะสงบระงับดับความทุกข์ได้ ดับความรู้สึกไม่ดีได้ เช่นเวลาต้องใช้หนี้หรือจ่ายค่าปรับ ก็คิดว่าพอตายไป ก็ต้องทิ้งเงินไปอยู่ดี ก็ดับความรู้สึกที่ไม่ดีได้ ถ้าคิดทางธรรมะได้แล้วจะมีอารมณ์ดีเสมอ แต่ใหม่ๆอารมณ์จะไม่ดี เพราะมีกิเลสคอยขัดขวาง ทำให้หดหู่ใจเวลาคิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย

 

ถ้ามีความสงบอยู่บ้าง เวลาจิตคึกคะนองขึ้นมา พอคิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย ก็จะดับความคึกคะนองได้ ทำให้จิตสงบได้ ถ้าไม่มีความสงบเป็นฐานเลย ก็จะไม่สงบ พอคิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย ก็จะหดหู่ทันทีด้วยอำนาจของกิเลส จึงยากต่อการปฏิบัติ ยากต่อการคิดในทางธรรมะ จึงไม่มีใครชอบคิดเรื่องความแก่ความเจ็บความตาย ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดอยู่ทุกวันทุกเวลา ทรงสอนพระอานนท์ให้คิดพิจารณาความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่กิเลสจะไม่ให้คิด ถ้าคิดแล้วจะไม่มีกำลังจิตกำลังใจ ที่จะอยากไปทำมาหากินหาเงินหาทอง มันถึงไม่ให้เราคิด พอไม่คิดก็จะอยากร่ำอยากรวย อยากไปเที่ยวที่โน้นที่นี่ เพราะลืมไปว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าไม่ลืมก็จะคิดว่าไปเที่ยวทำไม ไม่เกิดประโยชน์กับจิตใจเลย สู้ทำใจให้สงบไม่ได้ จะได้หายอยาก ไม่อยากเที่ยวไม่อยากรวย อยู่เฉยๆก็มีความสุข จิตที่สงบจะมีความสุขมาก จะเห็นว่าเป็นความสุขที่แท้จริง เกิดจากความสงบของจิต ไม่ใช่เกิดจากการได้เงินได้ทอง ได้ไปเที่ยวที่นั้นที่นี่ ที่เป็นความสุขชั่วขณะที่ได้สัมผัส พอผ่านไปแล้วก็หมดไป เหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ความอยากความต้องการ วันนี้ได้เงินมาล้านหนึ่งก็ดีใจเดี๋ยวเดียว พอเอาเข้าธนาคารก็หมดไปแล้ว อยากจะได้เงินก้อนใหม่อีก เงินที่มีอยู่ก็หวง อาจจะไม่ได้ใช้เลย เก็บไว้อย่างนั้นเอง แต่ยังอยากได้อีก ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ได้เพิ่มอีกล้านหนึ่งนี้ก็เป็นเหมือนเดิม ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นความสุขที่ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ

 

แต่ความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตไม่ต้องเติม ไม่ต้องดูแลรักษา ถ้าจิตคึกคะนองขึ้นมาด้วยอำนาจของตัณหาความอยาก ก็เอาความแก่เจ็บตายเข้าไปเบรก จะอยากไปทำไม เดี๋ยวก็แก่แล้ว เดี๋ยวก็ต้องเข้าโรงพยาบาลแล้ว เดี๋ยวก็ตายแล้ว คิดอย่างนี้ก็อยู่เฉยๆอย่างมีความสุขได้ ในเมื่อมีพอมีพอกินแล้วจะไปดิ้นรนทำไม ได้มาอีก ๑๐ เท่า ๑๐๐ เท่าก็เหมือนเดิม มีสมบัติมากขึ้น แต่ใจกลับแย่ลง มีความผูกพันความยึดติดความทุกข์มากขึ้น นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ ควรปฏิบัติให้มาก โดยเฉพาะขั้นต้น ต้องควบคุมใจไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้อยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับธรรมะบทใดบทหนึ่งที่ถูกกับจริต ทำให้มาก แล้วจิตจะหดตัวเข้ามา หดเข้ามามากเท่าไหร่ก็จะสงบมากขึ้นเท่านั้น ถ้าออกไปข้างนอกก็จะฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนั้นแล้วก็มีเรื่องนี้มาต่อ มีเรื่องมาให้คิดอยู่เรื่อยๆ แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ดีใจบ้างเสียใจบ้าง ถ้าไม่คิดอะไรเลย ก็จะสงบสบายใจ จึงไม่ควรคิดออกไปข้างนอก ให้คิดเข้าข้างใน เข้าหาความสงบ ด้วยการใช้พุทโธเป็นตัวดึงเข้ามา ถ้าอยู่ที่วิเวกที่สงบสงัด ตามป่าตามเขา จะไม่มีอะไรดึงจิตออกไป ไม่มีอะไรมาหลอกมาล่อ เหมือนกับเวลาอยู่ในบ้านในเมือง จะมีรูปเสียงกลิ่นรสคอยหลอกล่อให้ใจออกไปอยู่ตลอดเวลา ไปเปิดโทรทัศน์ดูเปิดอะไรฟัง อยู่ตามป่าตามเขาไม่มีอะไรดู ไม่มีอะไรฟัง มีแต่เสียงนกเสียงกามีต้นไม้ที่ไม่หลอกล่อใจ มีแต่กิเลสที่คอยหลอกให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ จึงต้องมีสติดึงใจไว้อยู่เรื่อยๆ ผูกไว้กับพุทโธ ผูกไว้กับลมหายใจเข้าออก ผูกไว้กับอาการ ๓๒ ของร่างกาย ไม่ช้าก็เร็วก็จะสงบ

 

พอสงบแล้วก็จะรู้ว่านี่คือสมบัติที่แท้จริง ที่เราต้องรักษา ไม่ใช่สมบัติภายนอก ต้องรักษาความสงบ พอออกจากสมาธิแล้ว ถ้าจิตจะคึกคะนองก็ต้องใช้ปัญญาสกัด สกัดด้วยไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดแก่เจ็บตายก็อนิจจัง มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น ได้อะไรมาก็ดีเดี๋ยวเดียว แล้วก็กลายเป็นความทุกข์ ที่ต้องดูแลรักษา ต้องคอยห่วงคอยกังวล เสียอกเสียใจเมื่อต้องพลัดพรากจากกัน ถ้าเห็นทุกข์แล้วก็จะไม่กล้าไปวิ่งเข้าหา แต่เราไม่เห็นกัน เหมือนแมลงเม่า ไม่รู้ว่าแสงสว่างของกองไฟมีความร้อนอยู่ด้วย พอเห็นแสงสว่างก็ดีอกดีใจ พอบินเข้าไปใกล้ๆกองไฟ ก็จะถูกความร้อนเผาตายไป เวลาเราสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เห็นสิ่งต่างๆเห็นบุคคลต่างๆ ก็คิดว่าเป็นความสุข อยู่คนเดียวมันเหงา มีเพื่อนคุยมีเพื่อนเที่ยวมีเพื่อนเล่นก็จะสนุกสนานเฮฮา พอเพื่อนต้องจากไปก็เสียใจ ทะเลาะกับเพื่อนก็ทุกข์ใจ ไม่ได้สุขอย่างที่เราคิดเสมอไป มีทุกข์ตามมาเสมอ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วต่อไปก็จะอยู่คนเดียวได้ ไม่ต้องมีอะไรก็อยู่ได้ นอกจากสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ การทำหน้าที่ของเรา ถ้าไม่มีความจำเป็น อยู่คนเดียวก็จะดี ไม่ต้องทุกข์กับใคร

 

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา เหมือนฝนตกแดดออก ถ้าไม่ไปยุ่งกับเขาก็ไม่ทุกข์ ถ้ายุ่งก็จะต้องทุกข์ เช่นไม่อยากให้ฝนตก พอฝนตกก็วุ่นวาย หลังจากออกจากสมาธิแล้วก็ต้องใช้ปัญญาคอยตัดกิเลส ที่จะไปยุ่งกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ จะเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปหาคนนั้นคนนี้ ก็ตัดๆไป อยู่คนเดียวอยู่กับความสงบ นี่แหละคือสมบัติอันวิเศษ ถ้าได้แล้วจะปล่อยทุกอย่างได้ ถ้ายังไม่ได้ความสงบก็ยังต้องติดอยู่กับสิ่งต่างๆภายนอก ยังบวชไม่ได้ แต่ถ้าเจอความสงบเพียงครั้งเดียวแล้วจะตัดได้เลย สละได้บวชได้ ถ้ายังไม่ได้ความสงบในใจก็จะรักพี่เสียดายน้อง ธรรมะก็อยากจะได้ แต่ยังไม่เห็นก็เลยไม่รู้ว่าดีขนาดไหน ส่วนสิ่งที่มีอยู่นี่ถึงแม้จะทุกข์ ก็ยังมีความสุขอยู่ เหมือนกับยาเสพติด ถึงแม้รู้ว่าไม่ดี เมื่อยังเลิกไม่ได้ก็ขอเสพไปเรื่อยๆก่อน ถ้าไม่ได้เสพแล้วจะตายเอา เพราะไม่มีอะไรมาทดแทน อย่างคนจะเลิกสูบบุหรี่ก็ต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน หายาอมมาอม หาหมากฝรั่งมาเคี้ยว มาทดแทน ทางธรรมก็เหมือนกัน ต้องมีความสงบมาทดแทน ถึงจะตัดสิ่งอื่นๆได้หมด ตัดทางโลกได้หมด

 

ถ้ายังไม่มีความสงบ จะไม่มีที่ยึดที่เกาะ มาวัดภาวนาได้วัน ๒ วันก็เบื่อแล้ว ทนไม่ได้ ฟุ้งซ่านแล้ว กลับบ้านดีกว่า เวลาห่างจากสิ่งต่างๆจะดูดีไปหมด เมื่อก่อนอยู่ที่บ้านก็รำคาญเบื่อ พอมาอยู่วัดสักพักหนึ่งจะเห็นสิ่งต่างๆที่บ้านดีไปหมด ทำให้อยากกลับบ้าน ถ้าไม่ได้ความสงบจะเป็นอย่างนี้ ถ้าได้ความสงบแล้วจะไม่อยากกลับ ถ้ากลับก็เพียงแต่ไปทำธุระที่จำเป็น เสร็จแล้วก็รีบกลับมาปฏิบัติต่อ จนกว่าจะตัดธุระทุกอย่างได้หมด ก็จะไม่กลับไปอีกเลย อยู่ที่ความสงบนี้แหละ เป็นตัวที่จะชี้วิถีชีวิตของเรา ถ้าเจอความสงบแล้วก็จะไปทางวัด ไปทางภาวนา ถ้ายังไม่เจอก็ยังรักพี่เสียดายน้องอยู่ ธรรมะก็อยากจะได้ก็มาวัดบ้าง แต่ก็ต้องกลับไปหาเงินหาทองเพื่อจะได้ซื้อความสุขจากสิ่งต่างๆ เป็นแบบเหยียบเรือ ๒ แคม เวลาเรือต้องแยกทางกันก็จะลำบาก จะทรมานใจ ถ้าลำหนึ่งไปทางซ้ายอีกลำไปทางขวาก็ต้องเลือก จึงต้องปฏิบัติให้มากๆ ปฏิบัติให้ได้ผล ให้ได้ความสงบ ก็ไม่ยากเย็นจนเกินไป เพียงแต่คอยควบคุมบังคับใจเท่านั้นเอง ทำจริงๆวันเดียวก็ได้ ถ้าไม่ไปคิดเรื่องอะไรเลย

 

ถาม  เวลาอยู่กับครอบครัว ดูลูกๆน่ารักมีความสุข แต่ลึกๆมันทุกข์ เพราะรู้ว่าวันหนึ่งต้องจากกัน ยิ่งรักเขามาก ก็จะยิ่งทุกข์มาก บางทีผมบอกแฟนว่า อย่ารักกันมากเกินไปนะ บางทีเขาก็รับไม่ได้ เขาก็ว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น อย่างลูกของผม พอเห็นเขาแล้วผมก็สงสาร ถ้าเกิดวันหนึ่งต้องจากกัน จะจากกันในรูปแบบใด ก็รู้สึกทุกข์ จะเป็นอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ มันเกิดจากความคิดปรุงแต่ง

 

ตอบ  เกิดจากที่เรายังหลงยึดติดอยู่ เกิดจากกิเลส พอคิดถึงเรื่องแก่เจ็บตายแล้วก็จะทำให้หดหู่ใจ เพราะไม่รู้ว่าจะยืนอยู่ตรงจุดไหน ถ้ามีความสงบแล้วเราจะมีจุดยืน เวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างจากเราไป ก็สงบนิ่งเฉย เพราะทำอะไรไม่ได้ เหมือนฝนตก บังคับให้มันหยุดได้ไหม สิ่งที่เราทำได้คือนั่งอยู่เฉยๆ ตอนนี้ฝนกำลังตกก็ปล่อยให้ตกไป ไม่เดือดร้อนอะไร ต้องหาจุดยืนนี้ให้เจอ จุดที่อยู่เฉยๆได้ เวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เรียกว่าอุเบกขา ต้องเป็นเอกัคตารมณ์ จิตต้องรวมลงเป็นหนึ่งก่อน เป็นเอกัคตารมณ์ จึงจะรู้ว่าเป็นอุเบกขาจริงๆ พอเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ก็ไปตรงจุดนั้นได้ทันที เป็นเหมือนหลุมหลบภัย ถ้าจิตยังไม่รวม ก็จะแกว่งไปแกว่งมา ระหว่างดีใจกับเสียใจ ต้องพิจารณาจนกว่าจะรับความจริงได้ ว่าเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้น พอเหตุการณ์นั้นปรากฏขึ้นมา ก็ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน ไม่ต้องไปตีโพยตีพาย ไม่ต้องไปเสียอกเสียใจ เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เราไม่มีอำนาจที่จะยับยั้งกฎแห่งอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ ยับยั้งการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปได้ ถ้าไม่มีจุดยืนก็จะทำใจไม่ได้ ถ้าใจสงบแล้วจะมีจุดยืน เป็นที่พึ่งได้เวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆขึ้นมาก็นิ่งเฉยเสีย เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องไปหมด ร่างกายเราก็ต้องไป มีสิ่งเดียวที่ไม่ไปก็คือใจ ถ้าใจนิ่งสงบก็จะมีความสุข ไม่หวั่นไหว ถ้าใจไม่นิ่ง ก็จะทุกข์วุ่นวายตามไปด้วย ทุกข์มากกว่าร่างกายเสียอีก ความเจ็บป่วยทางร่างกายไม่รุนแรงเท่ากับความเจ็บป่วยทางจิตใจ จึงต้องรักษาใจให้สงบให้ได้ ด้วยสมาธิด้วยปัญญา ถ้ารักษาได้แล้วจะมีความมั่นใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะไม่หวั่นไหวกับอะไรทั้งสิ้นที่จะเกิดขึ้น

 

ถาม  เวลาฟังเทศน์ ฟังเทปครูบาอาจารย์ บางครั้งจิตจะอ่อนตัว เหมือนกับว่าจะรู้จะเข้าใจในสภาวะที่อธิบายไม่ได้ บางทีอ่านหนังสือที่พูดถึงความสงบ พูดถึงการหยุดความคิด แล้วก็อยู่กับปัจจุบัน รู้สึกจิตจะเบาเย็น เหมือนไม่มีตัวตน เป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ เป็นอะไรที่บอกไม่ถูก สภาวะแบบนี้เกิดจากความคิดปรุงแต่งหรือเกิดจากกิเลส

 

ตอบ  เป็นอานิสงส์ของการฟังธรรม ทำให้จิตสงบผ่องใส แต่ไม่ถาวร ปรากฏขึ้นแล้วก็ผ่านไป เป็นหนังตัวอย่าง ยังไม่ใช่หนังจริง ถ้าจะให้เป็นหนังจริง ก็ต้องน้อมเอาสิ่งที่ท่านสอนมาปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ เอาคำสอนเข้ามาอยู่ในใจเรื่อยๆ แต่เราไม่ค่อยมีกำลังที่จะระลึกถึงคำสอนได้เรื่อยๆ ผลจึงไม่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง ถ้าจับประเด็นได้ก็จะอยู่กับใจ เป็นปัญญาขึ้นมา ถ้าจับประเด็นไม่ได้ ก็จะไม่สามารถรักษาให้อยู่กับใจได้ ก็เป็นสัญญาไป คือขณะที่ฟังไม่ได้คิดเรื่องอื่น จิตก็สงบตาม พอผ่านไปก็ลืม พอลืมก็กลับไปสู่สภาพเดิม ถ้าฟังแล้วเข้าใจจับประเด็นได้ ก็จะไม่ลืม เป็นปัญญา  

 

ถาม  คือความรู้สึกของผมตอนนั้น มันเหมือนกับว่าไม่มีขั้นตอน ๑ ๒ ๓ ๔ มาถึงตรงนั้น อยู่ๆพอฟังปุ๊บ มันจะเกิดขึ้นมาทันที ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

 

ตอบ  เพราะจิตไม่ได้คิดปรุงแต่ง ถ้าฟังแล้วเข้าใจจับประเด็นได้ก็จะสงบสบายไปเรื่อยๆ หลังจากฟังเทศน์ผ่านไปแล้ว ก็ยังสงบสบาย อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก ก็อุทานขึ้นมาว่า สิ่งต่างๆมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปเป็นธรรมดา จิตของท่านจึงปล่อยสิ่งต่างๆได้หมด ไม่ยึดไม่ติด ท่านจับประเด็นได้ จิตก็โล่งไปตลอดเวลา ไม่หนักอกหนักใจ กับการจากกัน เพราะรู้ว่ายึดติดไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความจริง จะโล่งใจ ไม่เสียอกเสียใจทุกข์ใจ เพราะเป็นธรรมดาของธรรมทั้งหลาย มีการเกิดขึ้นดับไปเป็นธรรมดา นี่แหละคือการบรรลุธรรมในขณะที่ฟัง ฟังเข้าใจแล้วจิตก็จะปล่อย ตัดอุปาทานด้วยปัญญา ต้องพิจารณาจนเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ อยากจะปล่อยก็ปล่อยไม่ได้ ถ้าพิจารณาจนเห็นความจริงว่าต้องจากกัน ก็จะปล่อยได้ เราบังคับให้ปล่อยไม่ได้ ต้องพิจารณาจนเข้าใจว่า เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นอย่างนี้ แต่พวกเราไม่พิจารณากันอย่างต่อเนื่อง เพราะพิจารณาทีไรจะรู้สึกหดหู่ใจ เพราะกิเลสมีกำลังมาก ถ้าทำจิตใจให้สงบได้ กิเลสก็จะถูกตัดกำลัง พอพิจารณาก็จะไม่หดหู่ใจ จะกล้าพิจารณาจนเห็นเต็มที่ ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ ก็ปล่อยได้ ความสงบจึงมีความสำคัญมาก ดังท่านแสดงไว้ว่า สมาธิสนับสนุนปัญญา ปัญญาทำจิตให้หลุดพ้น ปล่อยวางได้

 

ถาม  มีบางครั้งไปภาวนากับเพื่อน วันแรกๆก็รู้สึกว่าจิตมันไม่สงบ ก็ทำไปเรื่อยๆ พอมาวันที่ ๒ วันที่ ๓ อยู่ๆก็เกิดขึ้นมา ผมไม่ทราบว่าเป็นสมาธิหรือเปล่า แต่จิตมันเบา แล้วก็มองว่าการปฏิบัติมันง่ายนะ มันไม่มีอะไรหรอก แค่ตามรู้ ขณะนั้นเรามองว่ามันง่ายจริงๆ  ที่ว่ารู้กายรู้จิตมันเป็นอย่างนี้เอง มันเบา เราไม่ต้องทำอะไร การนั่งลุกเดินให้เรามีสติรู้ จิตมันก็เบา ก็ไม่ทราบว่าสภาวะแบบนั้นเป็นสมาธิหรือเปล่า แต่เป็นไม่นาน

 

ตอบ  เป็น แต่ยังไม่ลึก ยังไม่ถึงฐาน ยังไม่เต็ม ๑๐๐ ได้สัก ๑๐ ๒๐ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ต่อเนื่อง ถ้าเป็นอย่างต่อเนื่อง ออกจากสมาธิ ออกจากท่านั่งแล้ว จะยังสงบอยู่ ลืมตาขึ้นมาเห็นรูป ได้ยินเสียงก็ยังสงบอยู่ เวลาคิดก็ยังสงบอยู่ ถ้าเป็นอย่างนี้ถึงจะเป็นความสงบที่แท้จริง ถ้ามีอารมณ์ก็เป็นแบบชั่ววูบ ในขณะที่ไปคิดเรื่องที่ทำให้เกิดกิเลสขึ้นมา แต่จะเห็นชัด เหมือนกับโยนก้อนหินลงไปในน้ำนิ่ง จะเห็นการกระเพื่อมของน้ำได้อย่างชัดเจน นี่แหละคือความสงบที่ต่อเนื่อง ไม่เสื่อมไม่หายไปไหน จะกระเพื่อมเฉพาะเวลาที่กิเลสโผล่ขึ้นมา สมาธิจึงทำลายกิเลสไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาตัด พิจารณาไตรลักษณ์ในสิ่งที่กิเลสไปเกี่ยวข้องด้วย พอคิดถึงลูกจิตก็จะกระเพื่อมขึ้นมา ต้องพิจารณาว่าต้องแก่เจ็บตายนะ เป็นดินน้ำลมไฟ ไม่มีตัวไม่มีตน คนเราทุกคนมาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น แต่เรามองไม่เห็นดินน้ำลมไฟ เห็นเป็นหนังเป็นเนื้อเป็นเอ็นเป็นกระดูก เป็นหญิงเป็นชาย ถ้าวิเคราะห์จริงๆก็จะเห็นว่ามาจากดินน้ำลมไฟ มาจากอาหาร อาหารก็มาจากดินน้ำลมไฟ ถ้าพิจารณาก็จะเห็นว่าต้นน้ำคือดินน้ำลมไฟ แล้วก็มาเป็นอาหาร แล้วก็มาเป็นผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูก เป็นอาการ ๓๒ แล้วก็กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ เวลาตายก็แยกกันไป น้ำก็แยกไป ลมก็แยกไป ไฟก็แยกไป เหลือแต่ดิน

 

        พิจารณาอย่างนี้แล้วจะเข้าใจว่า เขาไม่ได้เป็นลูกเราหรอก เป็นเพียงสมมุติ เราหลงสมมุติ หลงก้อนดินน้ำลมไฟว่าเป็นลูกเรา เป็นแฟนเรา เป็นภรรยาเรา เป็นพ่อเรา เป็นแม่เรา เป็นตัวเรา แต่ความจริงก็เป็นเพียงก้อนดินน้ำลมไฟ เป็นมายากลของธรรมชาติ เราไม่ฉลาด จึงรู้ไม่ทัน เคยดูเขาเล่นกลไหม ผ่าคนออกเป็นสองท่อน นี่ก็เหมือนกัน เป็นการเล่นกลของธรรมชาติ เอาดินน้ำลมไฟมาผสมให้เป็นรูปร่างต่างๆ แล้วก็สมมุติกันว่า เป็นลูกเรา เป็นพ่อแม่เรา เพราะต่อเนื่องเกี่ยวดองกัน ลูกออกจากท้องแม่ ท้องแม่ก็เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ถ้าพิจารณาจนเห็นว่าเป็นธาตุแล้วก็จะรู้ทันสมมุติ เหมือนกับหนังสือนี้ กว่าจะเป็นหนังสือได้ ต้องมีอะไรบ้าง ต้องมีกระดาษ มีหมึก มีเครื่องพิมพ์ มีอะไรหลายอย่าง เก็บไว้ไม่กี่ปี ก็กลับไปเป็นดิน ธรรมชาติเล่นกลให้เราดู ถ้าไม่มีปัญญาก็จะหลงติดสมมุติ ว่าเป็นคน เป็นหญิงเป็นชาย เป็นลูกเป็นพ่อเป็นแม่ ความจริงเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

 

        ในอดีตที่ผ่านมามีคนเกิดแก่เจ็บตายมากมายก่ายกอง หายไปไหนหมด คนในสมัยอยุธยา สุโขทัย รัตนโกสินทร์ ร่างกายก็กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟกันหมด ส่วนใจก็กลับมาเกิดใหม่ พอออกจากร่างกายนี้ก็ไปหาร่างกายใหม่ อาจจะได้ร่างกายทิพย์ เป็นเทพ เป็นพรหม หรือไปตกนรก ไปเป็นเปรต แล้วจึงกลับมาได้ร่างกายมนุษย์ ได้ร่างกายเดรัจฉานใหม่ แล้วก็กลับมาหลงสมมุติใหม่ วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ ถ้าได้เจอพระพุทธเจ้า ได้เจอคำสอน ได้พิจารณาก็จะไม่หลงสมมุติ ก็ไม่ต้องไปเกิดใหม่ ไม่ต้องไปทุกข์กับอะไรอีกต่อไป ปัญหาของใจอยู่ที่ทุกข์นี่เอง เหตุของความทุกข์ก็คือความหลง มองไม่เห็นสัจธรรมที่แท้จริง คือดินน้ำลมไฟ เห็นเป็นตัวเป็นตน เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เห็นสมมุติสัจจะ แต่ไม่เห็นปรมัตถสัจจะ

 

ถาม  มีกรรมแบบไหน ที่จะทำให้เราเจริญก้าวหน้า ในทางที่จะหลุดพ้น เมื่อเราตายไปแล้วไปเกิดใหม่

 

ตอบ  บารมี ๑๐ หรือมรรค ๘ เริ่มต้นด้วยการมีศรัทธาในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ จะได้ปฏิบัติตามคำสอน ต้องบำเพ็ญไปเรื่อยๆ ทานศีลภาวนา ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ขันติบารมี วิริยะบารมี ฯลฯ เป็นสิ่งที่เรากำลังปฏิบัติ ที่ครูบาอาจารย์สอน เช่นเรามาทำบุญก็เป็นทานบารมี มาทำบุญก็ต้องมีวิริยะบารมี ถ้าขี้เกียจก็มาไม่ได้ ถ้าวันนี้อยากจะนอนก็ขับรถมาไม่ไหว ก็จะไม่ได้มา ต้องมีขันติบารมี จะทำบุญก็ต้องเหนื่อยบ้าง ถ้าอยากจะสบายก็จะนอนอยู่กับบ้าน ต้องมีอธิษฐานบารมี คือความตั้งใจ ตั้งใจว่าจะมาทำบุญ มีสัจจะบารมีคือมีความจริงใจ คือตั้งใจแล้วก็ทำตามที่ตั้งใจไว้ ต้องขยับการปฏิบัติให้สูงขึ้นไป ด้วยการรักษาศีีล การปฏิบัติเนกขัมมะ ออกบวช ออกจากกามสุข ปฏิบัติแล้วก็จะได้อุเบกขาบารมี พอจิตสงบก็จะเป็นอุเบกขา จะได้เมตตาบารมี เวลาจิตมีความสงบจะมีความสุข จะไม่เกลียดชังใคร จะมีแต่ความเมตตา เพราะไม่ต้องไปแก่งแย่งชิงดี สิ่งที่ดีที่สุดมีอยู่ในใจแล้ว  มีปัญญาเห็นความจริงที่เป็นปรมัตถสัจจะว่า ไม่มีตัวตน เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

 

นี่คือการบำเพ็ญบารมี ที่จะพัฒนาจิตใจให้ไปถึงพระนิพพาน ถ้าทำไม่เสร็จชาตินี้ก็ไปทำต่อชาติหน้าได้ ไม่สูญหายไปไหน เหมือนเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้ แล้วต้องย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ก็ไปเรียนต่อได้เลย เรียนจบ ม. ๕  ก็ไปเรียนต่อ ม. ๖ ได้เลย ไม่ต้องไปเริ่ม ป. ๑ ใหม่ นี่ก็เหมือนกัน บำเพ็ญบารมีได้ถึงระดับไหนแล้ว พอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็จะทำต่อ คนเราจึงมีการพัฒนาทางจิตใจมาไม่เท่ากัน ครูบาอาจารย์ท่านได้ทำมามากแล้ว พอมาเกิดชาตินี้ท่านก็บวชได้เลย ทำไมพวกเรายังบวชไม่ได้ เป็นคนเหมือนกัน เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่เหมือนกัน กินข้าวเหมือนกัน หายใจเหมือนกัน เพราะต่างกันตรงบารมีที่ได้สะสมมา ได้ทำมาไม่เท่ากัน ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ เห็นคนอื่นอยู่ระดับปริญญา แต่เรายังอยู่ชั้นประถม ก็อย่าไปอิจฉา อย่าไปน้อยใจ ต้องยอมรับความจริงว่าเรายังเรียนไม่ถึงชั้นนั้น ก็ต้องเรียนต่อไปเรื่อยๆ จากประถมก็ขึ้นมัธยม จากมัธยมก็ขึ้นระดับปริญญา ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ตราบใดถ้ายังปฏิบัติทางแห่งทานศีลภาวนา ด้วยศรัทธาวิริยะขันติก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนจบวิชาทางพระพุทธศาสนา ได้อริยะ ๔ ขั้นตามลำดับ คือโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์

 

ถาม  คำอธิษฐานนี่ไม่ทราบจะมีผลมากน้อยแค่ไหนครับ

 

ตอบ  ถ้าการอธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ ไม่ได้แปลว่าขอ ก็ต้องมีผลสิ เพราะถ้าไม่ได้ตั้งใจจะไปทำอะไรได้อย่างไร เช่นวันนี้ถ้าไม่ได้ตั้งใจมาที่นี่ จะมาได้อย่างไร การอธิษฐานคือการตั้งเป้า ถ้าทำงานให้กับบริษัทก็ต้องตั้งเป้า ให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องขวนขวายหาวิธีทำให้เกิดผลขึ้นมาให้ได้ ต้องติดตามดูทุกเดือน ว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ต้องเร่งทำให้มากขึ้น อธิษฐานไม่ได้แปลว่าขอ เป็นความเข้าใจผิด ทางโลกหมายถึงการขอ ทำบุญให้ทานก็ขอให้ไปพระนิพพาน ไม่ต้องกลับมาเกิด ขอไม่ได้ ไม่ได้อยู่ที่ขอ อยู่ที่เหตุปัจจัย อยากจะไปนิพพาน อยากจะไม่กลับมาเกิด ก็ต้องตัดตัณหาทั้ง ๓ ให้ได้ ไม่ได้อยู่ที่การทำบุญให้ทานอย่างเดียว มันไม่พอ เหมือนอยากจะกินข้าวให้อิ่ม ต้องอธิษฐานไหมว่าขอกินให้อิ่ม ตักข้าวเพียง ๒ คำแล้วก็หยุด จะอิ่มไหมละ มันไม่อิ่มหรอก มันอยู่ที่การกินมากกว่า ไม่ต้องอธิษฐานก็อิ่มได้ กินเข้าไปเถิด เดี๋ยวก็อิ่มเอง ถ้าอธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ ก็ต้องอธิษฐาน กินข้าวก็ต้องตั้งใจกิน ถ้าไม่ตั้งใจกินก็จะไม่อิ่ม พอกินได้ ๒ คำมีคนมาติดต่อธุระ ก็หยุดกินไปทำธุระต่อ ก็จะไม่อิ่ม ถ้าตั้งใจว่าต้องกินให้อิ่มก่อน แล้วค่อยไปทำงานต่อ ใครจะมาติดต่อธุระก็ต้องรอไปก่อน ก็จะอิ่มอย่างแน่นอน นี่คืออธิษฐานในทางธรรม คือความตั้งใจ ถ้าตั้งใจไปนิพพาน เราก็จะไม่ทำอย่างอื่น ให้ไปถึงนิพพานก่อน แล้วค่อยทำอย่างอื่น เช่นพระพุทธเจ้าไม่ทรงทำอย่างอื่นเลย ออกบวชแล้วก็มุ่งสู่พระนิพพานอย่างเดียว พอบรรลุถึงพระนิพพานแล้วถึงค่อยสั่งสอนผู้อื่นต่อ ทรงไม่ให้การสั่งสอนมาขัดขวางการดำเนินสู่พระนิพพาน ได้ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานไว้แล้วว่า จะไปถึงพระนิพพานก่อน แล้วค่อยทำอย่างอื่นต่อ อธิษฐานมีความหมายอย่างนี้ มีความสำคัญมากในการปฏิบัติ ถ้าไม่แน่วแน่ต่อการอธิษฐาน พอมีเรื่องอื่นมาดึงไป ก็จะไปตาม เช่นรับงานชิ้นหนึ่งไว้ สัญญาว่าจะทำให้เสร็จภายในวันพรุ่งนี้ พอมีงานใหม่มาก็รับไว้อีก แล้วก็ทำงานใหม่ก่อน ไม่ทำงานที่รับไว้ก่อนหน้านี้ งานก็จะไม่เสร็จตามสัญญา

 

ถาม  การนั่งสมาธิกับการเดินจงกรมภาวนา ให้มีสติรู้อยู่กับสติปัฏฐาน ๔ ตลอดเวลา ผลจะออกมาเหมือนกันไหมครับ

 

ตอบ  ไม่ได้อยู่ที่กิริยาการเดินหรือการนั่ง แต่อยู่ที่ใจว่ารวมลงได้หรือไม่ ถ้ารวมลงเป็นหนึ่งได้ จะยืนก็ได้จะนั่งก็ได้ อยู่ที่ใจ เช่นหลวงปู่ชอบที่มีเอ่ยถึงในประวัติหลวงปู่มั่น หลวงปู่ชอบท่านชอบเดินธุดงค์ตอนกลางคืน ท่านจะถือโคมไฟแล้วก็เดินไปในป่า คืนหนึ่งท่านเล่าว่าท่านเดินไปจ๊ะเอ๋กับเสือโคร่ง พอเห็นเสือโคร่งปั๊บ จิตซึ่งกำลังเดินจงกรมภาวนาอยู่ก็รวมลงไปเลย รวมลงไปเป็นหนึ่ง ตอนนั้นร่างกายหายไปหมดเลย ท่านบอกว่าเสือโคร่งก็หายไป ร่างกายก็หายไป เหลือแต่สักแต่ว่ารู้อยู่อย่างเดียว การรวมลงของจิตจึงรวมได้ทั้งยืนทั้งนั่ง ไม่ได้อยู่ที่กิริยา ไม่ได้อยู่ที่ท่า อยู่ที่ว่ามีสติหรือไม่ อยู่ที่เหตุที่จะทำให้จิตรวมด้วย ในกรณีของหลวงปู่ชอบก็คือเสือ พอเห็นเสือปั๊บก็ตกใจ แต่มีสติคอยดึงใจไว้ไม่ให้เตลิดเปิดเปิง ดึงให้รวมลง บางองค์ท่านก็ไปนั่งตรงหน้าผา เพื่อจะได้ไม่หลับ เพราะท่านชอบนั่งสัปหงก จึงไปนั่งที่หน้าผา ถ้าสัปหงกจะได้หัวทิ่มลงเขาเลย ก็จะไม่ง่วง พอพุทโธๆไปไม่นานจิตก็รวมลงได้ ไม่ได้อยู่ที่กิริยา ไม่ได้อยู่ที่การเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ นั้นเป็นเพียงกิริยาทางร่างกาย อยู่ที่ว่ามีสติอยู่กับอารมณ์กรรมฐานหรือไม่ ถ้าอยู่แต่ยังไม่รวมลง ก็ยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ยังไม่ถึงเป้าหมาย ถ้าเดินจงกรมนั่งสมาธิมา ๑๐ ปีแล้ว จิตยังไม่รวมลง ก็ยังไม่ได้ผล เพราะสติไม่ต่อเนื่อง ถ้าเดินจงกรมในที่ปลอดภัย ก็จะไปคิดเรื่องอื่น ถ้าเดินในที่มีภัย เดินไปไม่รู้จะมีงูเลื้อยออกมาหรือไม่ ก็จะมีสติอยู่กับการก้าวเดินตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่นานก็สงบลงได้ จึงอยู่ที่ว่ามีสติดึงใจให้อยู่กับกายได้ตลอดเวลาหรือไม่ อยู่กับการเดินได้ตลอดเวลาหรือไม่ ไม่ใช่ดูไปคิดไป คิดเรื่องนั้นแล้วก็คิดเรื่องนี้  ก็จะไปไม่ถึงไหน  จะไม่หยุดคิด ไม่รวมลงสู่ความสงบ

 

ถาม  ถ้าเดินหรือนั่งแล้วจิตมันรวม ปัญญาที่จะเกิดหลังจากนั้น จะเหมือนกันหรือเปล่าครับ

 

ตอบ  ปัญญาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนละเรื่องกัน สมาธิเป็นเพียงผู้สนับสนุนในการทำงานของปัญญา สมาธิเป็นเหมือนรถ ถ้ามีรถเวลาจะไปไหนก็ไปได้สะดวกรวดเร็ว ถ้าไม่มีรถก็ต้องเดินไป ก็จะช้า หรือไปไม่ถึงเลยก็ได้ จิตที่สงบกับจิตที่ไม่สงบมันต่างกัน จิตที่สงบกิเลสเหมือนถูกฉีดยาสลบ เวลาพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย จะไม่มีกิเลสมาทำให้หดหู่ใจ ทำให้พิจารณาได้นานจนเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า มันต้องเป็นอย่างนี้ พอรับความจริงนี้ได้ กิเลสก็จะตายไปเลย ถ้าจิตยังไม่สงบ พอพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ก็จะหดหู่ใจ กิเลสจะมาขัดขวางทันที มาหลอกล่อให้ไปคิดเรื่องอื่น ก็จะไม่ได้คิดพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ได้อย่างต่อเนื่อง จนติดอยู่กับใจ ก็จะตัดกิเลสไม่ได้ นี่คือหน้าที่ของสมาธิในการเจริญปัญญา

 

มีสมาธิแล้วไม่ได้หมายความว่า จะเกิดปัญญาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ พระพุทธเจ้าและพระปัญจวัคคีย์ก็มีสมาธิก่อนที่จะทรงตรัสรู้ ทรงได้ฌานมาก่อนที่จะนั่งบำเพ็ญใต้ต้นโพธิ์ แต่ไม่ตรัสรู้เพราะไม่รู้จักวิธีเจริญปัญญา จนได้ทรงวิเคราะห์เห็นว่า ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ ถึงจะเกิดปัญญาขึ้นมา ต้องพิจารณาความไม่เที่ยง พิจารณาความทุกข์ พิจารณาความไม่มีตัวตนของสภาวธรรมทั้งหลาย ถ้าพิจารณาเห็นทั้ง ๓ ส่วนนี้แล้ว ถึงจะเป็นปัญญาขึ้นมา เป็นวิปัสสนาขึ้นมา ก็จะตัดกิเลสได้ ทำให้จิตหลุดพ้นได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็จะพิจารณาอย่างต่อเนื่องไม่ได้ พิจารณาได้ปั๊บเดียวก็ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว อย่างที่ได้ถามว่า วันๆหนึ่งคิดถึงความตายได้สักกี่ครั้ง คิดไม่ได้หรอก กิเลสจะดึงไปหมด ถ้ามีสมาธิแล้วก็อยู่คนเดียว คิดได้ทั้งวันเลย ถ้าคิดได้ทั้งวันก็จะตัดกิเลสได้ เพราะกิเลสไม่มีช่องที่จะเข้ามาหลอกให้หลงได้เลย เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องจากกัน โดยสรุปก็คือ ได้สมาธิแล้วไม่ได้เกิดปัญญาโดยอัตโนมัติ ยกเว้นสิ่งที่ได้เคยพิจารณามาก่อน มันฝังอยู่ในจิต พอจิตสงบแล้วก็จะโผล่ขึ้นมา ทำให้เข้าใจได้ ตัดได้ ปล่อยได้  แต่ส่วนที่ไม่เคยพิจารณามาก่อนจะยังไม่เห็น ถ้ายังไม่เคยพิจารณาอสุภะมาก่อน ก็จะไม่เห็น ถ้าเคยพิจารณามาก่อนแล้ว พอจิตสงบปั๊บ อสุภะก็จะโผล่ขึ้นมาให้เห็นทันที

 

ถาม  ตอนนี้ในวงปฏิบัติจะมีความเห็นต่างกัน เหมือนไปกันคนละทาง

 

ตอบ  เทคนิคหรืออุบายต่างกันได้ แต่หลักการไม่ต่างกัน เช่นอุบายการทำสมาธิ จิตต้องอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จะเดินจงกรมก็ได้ นั่งสมาธิก็ได้ อยู่ในป่า อยู่ในถ้ำ อยู่ปากเหวก็ได้ แล้วแต่อุบายหรือเทคนิคของแต่ละคน แต่ต้องมีสติอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างต่อเนื่องถึงจะสงบได้ ส่วนปัญญาก็เหมือนกัน จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ แต่ต้องคิดให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ถ้าไปพิจารณาว่าสวยงาม ว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ก็จะทำให้หลง ไม่เป็นปัญญา ไม่เป็นวิปัสสนา ต้องพิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะเป็นปัญญา ต้องพิจารณาว่าเป็นอสุภะไม่สวยไม่งาม จะนั่งพิจารณา  จะเดินพิจารณา จะนอนพิจารณาก็ได้ สำคัญที่ใจที่เป็นตัวทำงาน อิริยาบถเป็นเรื่องของร่างกาย คน ๒ คนนอนอาจจะนอนไม่เหมือนกัน คนหนึ่งนอนแล้วคิดเรื่อยเปื่อยฟุ้งซ่านนอนไม่หลับ อีกคนหนึ่งคิดแต่พุทโธๆนอนหลับสบาย คิดพิจารณาเรื่องเกิดแก่เจ็บตายอยู่เรื่อยๆ ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นพระอริยะในขณะที่นอนได้ ไม่ได้อยู่ที่อิริยาบถของร่างกาย อยู่ที่ใจเป็นหลัก

 

ถาม  อยากจะถามเรื่องสตินะคะ อย่างกรณีของหลวงปู่ชอบ เวลาท่านตกใจแต่ท่านมีสติ ถ้านั่งเพลินๆ เรามีสติอยู่กับการนั่งหรือเปล่าคะ

 

ตอบ  เพลินๆก็แสดงว่าหลงแล้ว ต้องอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างต่อเนื่อง อยู่กับพุทโธไปต่อเนื่องหรือเปล่า อยู่กับมรณานุสติอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า อยู่กับผมขนเล็บฟันอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า หรืออยู่แบบลอยๆ อย่างนั้นก็ไม่มีสติ ถ้าเป็นเรือต้องทอดสมอ น้ำจะไหลอย่างไรก็จะไม่ลอยตามน้ำไป ถ้าใจไม่มีสติก็จะลอยไปเรื่อยๆ

 

ถาม  ถ้ามีสติอยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับพุทโธบ้าง อยู่กับเรื่องความตายบ้าง อย่างนี้จะได้ไหมคะ

 

ตอบ  ไปคิดเรื่องอื่นด้วยหรือเปล่า

 

ถาม  บางทีก็แวบไป

 

ตอบ  ถ้าอยู่กับพุทโธ อยู่กับมรณานุสติ อยู่กับลมหายใจ  ถึงแม้จะสลับผลัดเปลี่ยนกันก็จะสงบได้ ถ้าไปอยู่กับเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะไม่สงบ

 

ถาม  เวลานั่งภาวนาจะคิดเป็นช่วงๆ สงบระยะหนึ่งแล้วก็คิดอีก

 

ตอบ  จิตยังนิ่งไม่นาน สติไม่มีกำลังพอที่จะดึงจิตไว้ ถ้าเป็นเชือกก็ขาดอยู่เรื่อยๆ อย่างเชือกที่เราผูกสุนัขไว้ พอมันกระตุกปั๊บก็ขาด ก็หาเชือกเส้นใหม่มาผูกใหม่ เดี๋ยวก็ขาดอีก ถ้าได้เชือกเส้นใหญ่ๆจะกระตุกอย่างไรก็ไม่ขาด สติก็เป็นเหมือนเชือก เริ่มต้นก็เป็นเชือกเส้นเล็กๆ เหมือนเส้นด้ายก็ขาดง่าย แต่พอปฏิบัติไปเรื่อยๆพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็จะใหญ่ขึ้น จนจิตไม่สามารถดิ้นหนีจากสติไปได้เลย อย่างนั้นก็จะเป็นมหาสติไป ไม่มีเวลาเผลอเลย  จิตจะอยู่ในกำกับของสติตลอดเวลาเลย  จะให้พิจารณาก็เป็นปัญญา    จะให้อยู่กับพุทโธอย่างเดียวก็จะสงบเป็นสมาธิ

 

ถาม  ตอนจะนอนจะบริกรรมพุทโธๆจนหลับไปเลย พอตื่นขึ้นมาก็บริกรรมพุทโธๆต่ออีก โดยไม่ได้บังคับ

 

ตอบ  ควรบริกรรมพุทโธๆต่อไปเรื่อยๆ ลุกขึ้นมาล้างหน้าล้างตา ไปทำงานทำการ ก็บริกรรมต่อไปเรื่อยๆถึงจะดี เป็นการภาวนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอยู่แต่ในห้องพระ นั่งขัดสมาธิหลับตาอย่างเดียว การภาวนาก็คือการบริกรรมในอิริยาบถทั้ง ๔ แทนที่จะคิดเรื่อยเปื่อย ก็บริกรรมไปเรื่อยๆ ทำให้เป็นนิสัย จะมีสมาธิในระดับหนึ่ง จิตไม่ฟุ้งซ่านกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ เวลามีอารมณ์ไม่ดีมีความทุกข์ก็ดึงกลับมาที่คำบริกรรมได้ ก็จะดับความทุกข์ความวุ่นวายต่างๆได้ แต่ยังไม่รวม ถ้ารวมได้เมื่อไหร่ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตของฆราวาส เบื่อหน่ายความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆ เพราะสู้ความสุขที่ได้จากจิตที่รวมลงไม่ได้ ที่เป็นเหมือนเพชร ความสุขอย่างอื่นเป็นเหมือนก้อนอิฐก้อนกรวดเม็ดทราย จะเห็นคุณค่าที่ต่างกัน เมื่อถึงตอนนั้นจะตัดได้หมดเลย แก้วแหวนเงินทองสมบัติต่างๆที่มีอยู่ รู้ว่าไม่ใช่เป็นที่พึ่งที่แท้จริง ตอนนั้นอยากจะเข้าวัดอยากจะภาวนาอยากจะบวช ไม่อยากเที่ยว ไม่อยากดูหนังฟังเพลง ถ้ายังไม่ถึงขั้นนั้นก็จะวนอยู่อย่างนี้

 

ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก็บริกรรมพุทโธๆไป ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ดีกว่าไม่บริกรรมเลย ดีกว่าปล่อยให้ทุกข์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดแรง พอมันทุกข์ก็ดึงกลับมาที่พุทโธๆ เดี๋ยวก็ลืมเรื่องทุกข์ไป ทุกข์ก็ดับไป ไม่นานกิเลสก็โผล่มาหลอกอีก ให้อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ พอทุกข์ก็แก้มันอีก ก็จะวนไปอย่างนี้กลับไปกลับมา เพราะยังไม่ได้เห็นของจริง ถ้ารวมลงเป็นหนึ่งแล้ว จะไม่อยากได้อย่างอื่นเลย ตอนนี้พวกเรากำลังหาของจริงนี้อยู่ อย่างที่หลวงปู่มั่นสอนพวกชาวเขาให้หาพุทโธ ตอนนี้ยังไม่เจอพุทโธ เจอแต่คำบริกรรม ยังไม่เจอพุทโธจริงๆ  พุทโธคือผู้รู้ สักแต่ว่ารู้ ถ้าเจอแล้วไม่เอาอย่างอื่น จะปล่อยหมดเลย สามีภรรยาก็จะขอหย่า ทำความเข้าใจกัน จะยกให้ทุกอย่าง มีอะไรให้หมด หย่าอย่างนี้ไม่เป็นไร คนที่ถูกหย่าก็ไม่เสียใจ เพราะได้ทุกอย่าง ไม่ได้อย่างเดียวก็คือตัวผู้ขอหย่า ลูกก็ยกให้ ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองก็ให้หมดเลย ขอตัวเองไปบวชเท่านั้นเอง เหมือนหลวงปู่ขาวตอนที่ท่านเสียเมียไป ท่านก็ประกาศยกเมียให้เขาไปเลย ท่านขอตัวไปบวช  ท่านมีปัญญาเห็นว่าชีวิตของฆราวาสมันทุกข์ แล้วก็ได้เจอจังๆเลย ภรรยาไปมีอะไรกับคนอื่น เห็นทุกข์เต็มหัวใจเลย ตอนต้นจะคิดฆ่าเขาเสียด้วยซ้ำไป แต่ท่านมีธรรมมีบุญเก่ามีสติ ทำให้เห็นว่าการฆ่ากันมันบาป อานิสงส์ของทานที่ท่านได้ทำมา ทำให้ท่านมีศีล มีหิริโอตตัปปะ ท่านก็เลยให้ทานไปเลย ยกเมียให้เขาไปเลย แล้วขอไปบวช กลายเป็นครูบาอาจารย์ให้เรากราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้

 

        ต้องปฏิบัติให้เจอพุทโธให้ได้ ถ้ายังไม่เจอพุทโธ ก็ยังไม่ได้เข้าสู่การภาวนาอย่างแท้จริง ยังไม่ได้เจอผลที่แท้จริงของการภาวนา สำหรับบางคนมันง่ายนะ นั่งภาวนาไป พอเจ็บปวดก็ยังบริกรรมพุทโธๆต่อไปเรื่อยๆ สักระยะหนึ่งก็วูบลงไปเลย ความเจ็บปวดหายไปหมดเลย สงบนิ่งสบาย ถึงแม้ร่างกายยังอยู่ แต่ไม่เจ็บไม่ปวด ใจไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง สบายสงบ นั่นแหละเห็นแล้ว ลองนั่งดูสิ เจ็บปวดอย่างไรก็ไม่ลุก พุทโธๆไปเรื่อย อย่าอยากให้มันหายเจ็บ ให้อยู่กับพุทโธอย่างเดียว เช่นเดียวกับเวลาไปอยู่ที่กลัวๆ พอเกิดความกลัวขึ้นมา ก็พุทโธๆอย่างเดียว เดี๋ยวเดียวจิตก็รวมลงเอง พระท่านถึงต้องไปหาที่กลัวๆ ที่เปลี่ยวๆ เพราะอยู่ที่สบายๆแล้วจะขี้เกียจภาวนา ไม่คิดถึงพุทโธ แต่พอไปเจอเหตุการณ์ที่จะเป็นจะตายนี่ จะพุทโธๆอย่างเดียวเลย ถ้าอยู่บนเครื่องบิน เวลาเครื่องบินจะตกนี่ จะไม่คิดถึงเรื่องอะไรแล้ว จะสวดมนต์กันวุ่นไปหมดเลย ถ้าไม่ได้ไปอยู่ในที่เปลี่ยวๆกลัวๆ ก็ต้องนึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ จะตายเมื่อไหร่ไม่รู้ อาจจะตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว จะทำให้ขยันบริกรรมพุทโธ

 

ถาม  จำเป็นต้องสวดมนต์ให้ได้หรือเปล่าคะ

 

ตอบ  การสวดมนต์เป็นอุบายของการภาวนาอย่างหนึ่ง ถ้าบริกรรมพุทโธไม่ได้ก็สวดมนต์ไปแทน ถ้าบริกรรมพุทโธได้ ก็ไม่ต้องสวดมนต์ก็ได้ ถ้าชอบสวดมนต์ก็สวดไปก่อนก็ได้ เวลาจิตฟุ้งซ่านมากๆ บริกรรมพุทโธก็เอาไม่อยู่ ก็สวดมนต์ไปก่อน ไม่ต้องสวดบทยาวๆก็ได้ บทสั้นๆก็ได้ สวดซ้ำไปซ้ำมา สวดอรหังสัมมาฯสัก ๑๐๐ รอบก็ได้ ไม่ให้ไปคิดเรื่องอะไร สวดไปแล้วจะเบาสบายอยากจะหยุดสวดก็บริกรรมพุทโธๆไปต่อ ถ้าไม่อยากพุทโธก็ดูลมหายใจไปก็ได้ ดูไปเรื่อยๆ

 

ถาม  ลูกจะขี้เกียจสวดมนต์คะ

 

ตอบ  ดูลมหายใจไปก็ได้

 

ถาม  สวดมนต์ทีไรจะหาว

 

ตอบ  ก็ไม่ต้องสวด การสวดมนต์เป็นอุบาย เป็นวิธีภาวนาอย่างหนึ่ง เหมือนกับคำบริกรรมพุทโธ การดูลมหายใจเข้าออก การพิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย อนิจจังทุกขังอนัตตา ที่เป็นแบบปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เดี๋ยวคนนั้นก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เดี๋ยวคนนี้ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย พอปล่อยวางได้ จิตก็จะหดเข้ามาจนสงบตัวลง อุบายการทำจิตให้สงบมีอยู่หลากหลาย มีกรรมฐานอยู่ ๔๐ ชนิด เพราะจริตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพิจารณาความตายไม่ได้เลยเพราะกลัว จริตมีอยู่ ๕ ชนิดคือ ๑. พุทธิจริต จะถนัดกับเรื่องความตายชอบของจริง ๒. ศรัทธาจริต ชอบบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ  ๓. โมหะจริตจะชอบอานาปานสติ ๔. โทสะจริตชอบแผ่เมตตา ๕.ราคะจริตต้องใช้อสุภะ ขึ้นอยู่กับว่าจิตจะอยู่ในจริตไหน เรามีทั้ง ๕ จริต แล้วแต่จริตไหนจะโผล่ออกมา ก็ต้องใช้กรรมฐานที่ถูกกับจริตนั้น เหมือนกับโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ในร่างกาย มีทั้งปวดหัว มีทั้งปวดท้อง ก็ต้องใช้ยาให้ถูกกับโรค เวลาภาวนาก็ต้องดูว่าตอนนี้กรรมฐานอันไหนมันถูกกับเรา

 

ถาม  อย่างนั้นเราก็เลือกได้ เปลี่ยนได้ซิคะ

 

ตอบ  ต้องเปลี่ยนไปตามความจำเป็น เหมือนกับกินยา ปวดท้องก็ต้องกินยาแก้ปวดท้อง จนหายปวด

 

ถาม  เวลาอยากสวดมนต์นี้ มันเป็นความเคยชินใช่ไหมครับ

 

ตอบ  เหมือนกับเวลาที่อยากจะกินข้าว เราเคยชอบกินอาหารชนิดไหนเราก็จะคิดถึงอาหารชนิดนั้น นี่ก็เหมือนกัน เมื่อจิตต้องการความสงบ ก็อยากจะสวดมนต์ขึ้นมา เพราะเวลาสวดแล้วมันเย็นสบาย เป็นนิสัยด้วย ถ้าเคยทำอะไรแล้วจะติดเป็นนิสัยไป ถ้าเป็นนิสัยดีก็เป็นบารมี ถ้าเป็นนิสัยไม่ดีก็เป็นบาป

 

ถาม  การสวดมนต์เป็นนิสัยที่ดี

 

ตอบ  เป็นการภาวนา

 

ถาม  เป็นอุบายทำให้จิตสงบ

 

ตอบ  ใช่

 

ถาม  ที่เขาบอกว่าสวดมนต์บทนั้นบทนี้ มีอานิสงส์แบบนั้นแบบนี้

 

ตอบ  เป็นอุบายของสมาธิเท่านั้น ถ้าเข้าใจความหมายก็เป็นปัญญา ความหมายของแต่ละพระสูตรไม่เหมือนกัน ธัมมจักฯก็แสดงเรื่องมรรค ๘ อนัตตลักขณสูตรก็แสดงเรื่องอนัตตา ถ้าเข้าใจความหมายก็จะมีความรู้มีปัญญา ถ้าอ่านหนังสือทางด้านกฎหมายก็จะได้ความรู้ทางด้านกฎหมาย หนังสือทางการค้าขายก็จะได้ความรู้ทางด้านการค้าขาย บทสวดมนต์ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนความรู้ระดับต่างๆ  แล้วแต่ว่าสอนใคร สอนพระก็สอนระดับหนึ่ง สอนฆราวาสก็สอนอีกระดับหนึ่ง ถ้าเข้าใจความหมายก็จะได้ปัญญา แต่ถ้าไม่เข้าใจความหมายก็จะได้สมาธิ ถ้าใจจดจ่ออยู่กับการสวดอย่างเดียว ไม่ไปคิดเรื่องอื่น จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่าน จะสงบตัวลง

 

ถาม  อาจารย์บางองค์ ท่านให้สวดสั้นๆ ถ้ามีปัญหาอะไรบทนี้จะช่วยได้ มันเป็นอุบายใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ท่านสอนคนหลายระดับ คนที่ไม่รู้เรื่องเลยท่านก็สอนแบบนี้ เป็นการสอนให้ระงับจิตใจเวลาเกิดความฟุ้งซ่าน ถ้าสอนอย่างละเอียดก็จะไม่เข้าใจ เอาแบบสั้นๆไปก่อน อย่างหลวงปู่มั่นสอนชาวเขาให้พุทโธๆ ชาวเขาเห็นท่านเดินจงกรมก็ถามว่าท่านทำอะไร ท่านบอกหาพุทโธ แล้วหาอย่างไร ก็พุทโธๆไปเรื่อยๆ เป็นอุบายของนักปราชญ์สอนคนโง่ จะให้เด็กกินยาก็ต้องมีอุบาย ว่ายานี่หวานอร่อยนะ กินแล้วจะดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ เด็กก็อยากจะกิน

 

ถาม  ในหนังสือสวดมนต์บางเล่มจะมีแรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ที่ให้สวดบทต่างกันไป ทำไมต้องมีอย่างนี้ด้วย

 

ตอบ  เพราะมีมาก จะสวดทั้งหมดก็ไม่มีเวลาพอ จึงต้องแบ่งสวด เป็นการรักษาและสืบทอดพระธรรมคำสอนไว้ให้คนรุ่นหลัง สมัยโบราณไม่มีหนังสือ พระจะแบ่งกันสวด กลุ่มนี้ก็สวดพระวินัย กลุ่มนี้ก็สวดพระสูตร กลุ่มนี้ก็สวดพระอภิธรรม จะได้สืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ให้สูญหายไป แต่สมัยนี้คนเราขี้เกียจมาก มีหนังสือก็เลยไม่สวดกัน สวดกันน้อย แต่คนที่สวดจะได้อานิสงส์คือจะได้สมาธิ และได้ปัญญาถ้าเข้าใจความหมาย

 

ถาม  ในบทสวดจะมีความหมายในทางธรรม

 

ตอบ  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎก เป็นภาษาบาลีแล้วก็แปลเป็นภาษาไทย ความจริงไม่ต้องอ่านทุกเล่มก็ได้ เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า คำสอนของพระองค์ถึงแม้จะมีมากมายก่ายกอง เหมือนกับน้ำในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลก็ตาม แต่มีรสเหมือนกัน มีความเค็มเหมือนกัน คำสอนของพระพุทธเจ้าก็สอนวิธีดับทุกข์ทั้งนั้น จึงไม่ต้องอ่านทั้งพระไตรปิฎก จับประเด็นได้ว่าจะดับทุกข์ได้อย่างไรก็พอ ไม่ต้องอ่านมาก อ่าน ๒ – ๓ พระสูตรก็พอแล้ว หรืออ่านพระสูตรเดียวก็ได้ อ่านพระมหาสติปัฏฐานสูตรเพียงสูตรเดียวจนเข้าใจ ก็สามารถปฏิบัติให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้ ถ้าอ่านหลายๆสูตรก็จะช่วยเสริมความเข้าใจ เพราะมีรายละเอียดต่างกัน สูตรนี้อาจจะแสดงไม่ครบถ้วน ก็ไปขยายความต่อในอีกสูตรหนึ่ง ดีที่สุดก็คือไม่ต้องอ่านเลย ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เป็นตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่ อยู่กับท่านฟังเทศน์ของท่านก็พอแล้ว ง่ายกว่าอ่านพระไตรปิฎกเอง อ่านแล้วบางทีก็หลงสับสน ฟังท่านสอนให้ทำอย่างนี้ๆ จะง่ายกว่า