กัณฑ์ที่ ๓๔๐       ๙ มิถุนายน ๒๕๕๐

 

 

พึ่งตนเอง

 

 

 

วันนี้ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจมาวัด เพื่อมาประกอบคุณงามความดี มาสร้างทรัพย์ภายในให้กับตน เพราะเป็นทรัพย์ที่แท้จริง ต่างกับทรัพย์ภายนอกที่ไม่จีรังถาวร พอตายไปก็จะกลายเป็นสมบัติของผู้อื่นไป แต่ทรัพย์สมบัติภายใน ที่เรามาสร้างมาสะสมกันที่วัดอยู่เรื่อยๆ จะเป็นทรัพย์สมบัติที่จะติดไปกับเรา เวลาที่เราจากโลกนี้ไป นักปราชญ์ทั้งหลายจึงสอน ให้เห็นความสำคัญของทรัพย์ภายใน ยิ่งกว่าทรัพย์ภายนอก เนื่องจากท่านรู้เห็นในสิ่งที่เราไม่รู้เห็นกัน ก็คือหลังจากที่เราตายไปแล้ว ใจของเราไม่ได้ตายไปด้วย ใจต้องเดินทางไปต่อ ถ้าได้สร้างทรัพย์ภายในไว้ ก็จะมีทรัพย์รออยู่ในภายภาคหน้า มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่นเทวสมบัติ พรหมสมบัติ มรรคผลนิพพานสมบัติ เป็นสมบัติที่จะทำให้เราอยู่อย่างสุขสบาย ห่างไกลจากความทุกข์ความวุ่นวายทั้งหลาย ถ้าไม่สร้างกันไว้ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องจากโลกนี้ไป จะไม่ได้ไปสวรรค์ ไปเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้า จะไปเกิดในที่ไม่พึงปรารถนากัน ถ้าทำบาปทำกรรมไว้ เช่นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวง เกี่ยวข้องกับอบายมุขทั้งหลาย เช่นสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้าน ก็จะฉุดลากให้ไปสู่ที่ต่ำ ไปสู่เดรัจฉานสมบัติ เปรตสมบัติ อสุรกายสมบัติ นรกสมบัติ เป็นที่ไปของผู้ที่ไม่สร้างบุญสร้างกุศล สร้างแต่บาปสร้างแต่กรรม เมื่อมีเวลาว่างจึงไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป โดยไม่สะสมสมบัติภายในเลย ด้วยการให้ การเสียสละ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น การทำจิตใจให้สงบ การสอนจิตใจให้ฉลาด รู้ทันสภาวธรรมทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

 

ควรสะสมให้มาก อย่าเสียดายทรัพย์สมบัติภายนอก มีไว้ใช้กับความจำเป็นก็พอ ถ้ามีเหลือมีเกินก็เอามาแปลงเป็นสมบัติภายใน อย่างที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ มีเงินทองเหลือกินเหลือใช้ เก็บไว้ก็ไม่ได้ใช้อะไร ตายไปก็กลายเป็นของคนอื่นไป จึงเอามาเปลี่ยนเป็นทรัพย์ภายใน เหมือนกับเอาเงินสดไปแลกเช็คที่ธนาคาร เวลาที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เวลาต้องการใช้เงินก็เอาเช็คไปแลกเป็นเงินสดได้เลย ถ้าไม่มีเช็คติดตัวไปเลย ก็จะไม่มีเงินใช้ การตายจากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้า ก็เหมือนกับเดินทางไปต่างประเทศ แทนที่จะขึ้นเครื่องบิน เราก็ออกจากร่างกายไป    คือใจออกจากร่างกายไป ไปตามฐานะของสมบัติที่ได้สะสมไว้ ถ้าได้สะสมเทวสมบัติไว้ก็จะไปสวรรค์ ถ้าสะสมพรหมสมบัติก็จะไปสวรรค์ชั้นพรหม ถ้าสะสมมรรคผลนิพพานสมบัติ ก็ไปเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ อยู่ที่ความสามารถของเรา อยู่ที่ตัวเรา ไม่มีใครทำแทนเราได้ ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ พ่อแม่ทำให้เราไม่ได้ พี่น้องทำให้เราไม่ได้ สามีภรรยาทำให้เราไม่ได้ เพื่อนสนิทมิตรสหายทำให้เราไม่ได้ พระสงฆ์องค์เจ้าก็ทำให้เราไม่ได้ อยู่ที่ตัวเรา เราต้องเป็นผู้ทำเป็นผู้สร้างขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พึ่งตนเอง อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน จะสุขจะเจริญก็อยู่ที่ตนเอง อยู่ที่การกระทำทางกายวาจาและทางใจ ถ้าไม่ทำก็จะไม่ได้อะไร เวลาเดินทางจากโลกนี้ไป ก็จะไปตัวเปล่าๆ ถ้าทำบาปทำกรรม ก็จะมีโทษติดตัวไป ต้องไปใช้โทษในนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นเดรัจฉาน เหมือนกับไปติดคุก สำหรับผู้ที่ทำผิด ก็ต้องไปใช้โทษ สำหรับผู้ที่ทำถูก ทำบุญทำกุศล ก็จะไปรับรางวัล คือสมบัติต่างๆ

 

ถ้ารักษาศีล ๕ ได้มั่นคง ก็จะได้มนุษยสมบัติ จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้ารักษาศีลและทำบุญให้ทานด้วย มีเงินมีทองเหลือกินเหลือใช้ ก็เอามาแจกจ่าย เอามาสงเคราะห์ เอามาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ที่มีพระคุณ หรือผู้ที่เราเมตตากรุณา ก็จะได้เทวสมบัติ ได้ไปเกิดเป็นเทพชั้นต่างๆ ถ้ารักษาศีลให้ทานและปฏิบัติสมถภาวนา ก็จะได้พรหมสมบัติ ได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม สมถภาวนาคือการทำจิตใจให้สงบ ด้วยการระลึกถึงพุทโธๆไปเรื่อยๆ ไม่ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือจะกำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น ให้คิดแต่เรื่องลมหายใจอย่างเดียว หายใจเข้าก็คิดว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออกก็คิดว่ากำลังหายใจออก หรือจะไม่คิดก็ได้ เพียงแต่ให้รู้ว่ากำลังหายใจเข้าหายใจออก จะหายใจสั้นหายใจยาวก็ไม่ต้องไปบังคับ หายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น หายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว ลมจะละเอียดหรือลมจะหยาบก็รู้ตามความจริง ลมหายไปก็ให้รู้ตามความจริง ไม่ต้องกลัวว่าจะตาย คนที่ปฏิบัติดูลมหายใจเข้าออก เมื่อมาถึงจุดที่รู้สึกว่า ลมหายใจหายไปหมดแล้ว ก็จะเกิดความวิตกกลัวขึ้นมา กลัวว่าจะตายเพราะไม่ได้หายใจ แต่ความจริงไม่ตาย เพียงแต่ตอนนั้นลมมันละเอียดมากจนไม่สามารถรับรู้ได้ ก็ขอให้รู้ว่าลมละเอียด ให้รู้ว่าไม่มีลม แล้วก็ให้อยู่กับความรู้นั้นไว้ แล้วไม่นานจิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ ตอนนั้นร่างกายก็จะหายไปจากความรู้สึก เหลือแต่จิตตัวเดียว เหลือแต่ผู้รู้อยู่ตัวเดียว รู้อยู่อย่างเดียว ไม่มีความคิด ไม่มีความรู้สึกทางร่างกาย มีแต่ความสุข ความอิ่มเอิบ ความปีติ ความพอ เป็นผลที่จะเกิดขึ้นจากการทำจิตใจให้สงบ ทำสมถภาวนา นั่งสมาธิ

 

จะใช้พุทโธก็ได้ ดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ หรือจะรวมกันทั้งสองอย่างก็ได้ เช่นหายใจเข้าก็ระลึกถึงพุทโธ หายใจออกก็ระลึกถึงพุทโธ ก็ทำได้เช่นเดียวกัน ถ้ายังทำไม่ได้ จะสวดมนต์ไปพลางๆก่อนก็ได้ สวดไปเรื่อยๆ สวดไปภายในใจไม่ต้องออกเสียง นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ ไม่ต้องจุดธูปเทียนก็ได้ เพราะการภาวนาเป็นการบูชาด้วยการปฏิบัติบูชาอยู่แล้ว ไม่ต้องจุดธูปจุดเทียนให้กังวล เพราะจะกลัวว่านั่งหลับตาแล้ว ไฟอาจจะลุกไหม้ขึ้นมา ก็ไม่ต้องจุดธูปจุดเทียน ไม่ต้องมีดอกไม้ เพราะบูชาได้ ๒ วิธีด้วยกันคือ อามิสบูชาและปฏิบัติบูชา อามิสบูชาคือการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ส่วนปฏิบัติบูชาคือการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญให้ทาน รักษาศีล นั่งสมาธิทำจิตให้สงบ ก็เป็นการบูชาเหมือนกัน เป็นการบูชาที่แท้จริง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า การบูชาที่แท้จริงต้องปฏิบัติบูชา เพราะจะได้ผล ส่วนอามิสบูชาจะไม่ได้ผลอะไรมาก จึงไม่ต้องกังวลกับเรื่องดอกไม้ธูปเทียน เวลาบำเพ็ญสมถภาวนาทำจิตใจให้สงบ ถ้าปฏิบัติจนเป็นนิสัยแล้ว เวลาตายไปก็จะได้พรหมสมบัติ ได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม  ถ้าอยากจะได้สมบัติที่ดีกว่าพรหมสมบัติ คือมรรคผลนิพพานสมบัติ ก็ต้องบำเพ็ญภาวนาอีกระดับหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา เพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งต่างๆ ที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ใจมักหลงคิดว่าจะอยู่กับเราไปตลอด จะให้ความสุขกับเรา เป็นสมบัติของเรา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วว่า ไม่จีรังถาวร มีเกิดมีดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง แต่จะให้ความทุกข์เมื่อต้องพลัดพรากจากกัน จึงไม่เป็นสมบัติที่แท้จริง

 

เราต้องพิจารณาให้เห็น รูปที่เห็นด้วยตา ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตอนนี้เห็นรูปในศาลา พอออกไปนอกศาลา ก็จะเห็นรูปเห็นภาพอีกแบบหนึ่ง พอไปอีกที่หนึ่งก็จะเห็นอีกแบบหนึ่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้ายินดีเวลาไม่ได้เห็นรูปเห็นภาพนั้น ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา อาลัยอาวรณ์อยากจะเห็นอีก ถ้าเห็นตลอดเวลาแล้วเกิดความเบื่อหน่าย ก็เกิดความทุกข์ใจอีกแบบหนึ่ง อยากจะให้หายไปก็ไม่ยอมหายไป เช่นคนที่เราอยู่ด้วย มาทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ชอบหน้ากัน แต่ยังต้องอยู่ร่วมกัน ยังต้องเห็นหน้ากัน ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด อย่าไปยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ เพราะจะให้ความสุขในขณะที่มีความชื่นชมยินดีเท่านั้น พอเปลี่ยนไปก็จะเกิดความเบื่อหน่ายรังเกียจขึ้นมา ถ้ายังต้องอยู่ร่วมกันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้ายังไม่เบื่อหน่าย พอจากไป ก็จะเสียอกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เจริญวิปัสสนา ให้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในกรอบของไตรลักษณ์ที่มีอยู่ ๓ ลักษณะคือ ๑. อนิจจังไม่เที่ยง ๒. ทุกขังเป็นทุกข์ ๓. อนัตตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา  อนิจจังทุกขังอนัตตาเป็นคุณสมบัติของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม จะเป็นวัตถุข้าวของต่างๆ ก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะเป็นบุคคลต่างๆ เช่นร่างกายของเรา หรือร่างกายของคนอื่น ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน มีการเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ไม่มีใครอยู่เหนือความจริงนี้ได้ เพราะเป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่จะต้องเป็นอย่างนี้ กฎของธรรมชาติบังคับเอาไว้ว่า เกิดแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย มีสิ่งของใหม่ๆเดี๋ยวก็ต้องกลายเป็นของเก่าไป ในที่สุดก็จะเสียไป ซื้อรถมาใหม่ๆก็วิ่งดี ใช้ไปเรื่อยๆก็เสีย ต้องซ่อม ซ่อมไม่ไหวก็ต้องทิ้งไป เพราะไม่สามารถอยู่ต่อไปได้

 

ร่างกายของเราก็เช่นกัน ของคนที่เรารัก ที่ให้ความสุขกับเรา เช่นสามีภรรยาของเรา ก็เป็นเหมือนกัน ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องแก่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยต้องตายไป หรือเปลี่ยนไป จากคนที่คอยเอาอกเอาใจเรา กลายเป็นคนไม่เอาอกเอาใจ จากคนที่เสียสละ กลายเป็นคนเอารัดเอาเปรียบเห็นแก่ตัว เราก็จะไม่พอใจ ก็จะไม่อยากอยู่ใกล้เขา ถ้ายังไม่สามารถแยกทางกันได้ ก็ต้องทุกข์ทรมานไปก่อน จนกว่าจะแยกทางกันไป นี่คือความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาอยู่เสมอๆ อย่าไปหลงยึดติดกับอะไร พยายามสอนตนเองเสมอว่า สักวันหนึ่งก็ต้องจากกันไป ถ้าเขาไม่จากเราไปก่อน เราก็จากเขาไปก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็จากไปพร้อมๆกัน ก็มีแค่นี้ ไม่ได้อยู่ร่วมกันไปตลอด มารู้จักกัน แล้วก็แยกทางกัน  ถ้ารู้อย่างนี้จะได้ไม่หลงไม่ยึดติด เจอใครก็คบค้าสมาคมกันไป แต่ไม่มีความผูกพัน เพราะเดี๋ยวก็จะไม่เห็นหน้ากันแล้ว  อย่างพวกเราที่มาทำบุญที่ศาลากัน พอเสร็จภารกิจแล้ว ก็ไปกันคนละทาง นี่ก็แสดงถึงความไม่เที่ยงให้เห็นแล้ว อนิจจัง เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป พอออกจากที่นี่ก็ไปเจอคนอื่นอีก เจอไปเรื่อย ตราบใดที่ยังมีการเคลื่อนไหว ไปไหนมาไหนอยู่เรื่อยๆ ก็จะเจอคนนั้นเจอคนนี้อยู่เรื่อยๆ ถ้าเจอแล้วทำใจให้วางเฉย ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าเกิดมีความยินดี ก็จะเกิดความทุกข์ที่เกิดความอยากได้ เวลาชอบอะไรก็อยากได้ ถ้าไม่ได้ก็เสียใจ ถ้าได้ก็เกิดความหึงหวง เกิดความห่วง เกิดความกังวล กลัวจะต้องเสียไป แล้วก็เสียไปจริงๆ ไม่ช้าก็เร็ว เพราะไม่มีใครอยู่ด้วยกันไปได้ตลอด พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราเห็นความไม่เที่ยง เห็นความทุกข์ที่มีอยู่ในสิ่งต่างๆ เห็นว่าไม่ใช่เป็นของเรา ถ้ามีอะไรก็ให้คิดว่าเป็นของยืมมา เป็นสมบัติของผู้อื่น ไม่ช้าก็เร็วก็จะมาเอาคืนไป

 

เจ้าของที่แท้จริงก็คือยมบาลนี้เอง เดี๋ยวก็มาเอาร่างกายของคนนั้นคนนี้ไป เอาสามีไป เอาภรรยาไป เอาพ่อไป เอาแม่ไป เอาลูกไป เอาร่างกายของเราไป ทุกสิ่งทุกอย่างต้องไปกันหมด ถ้าพิจารณาแล้ว จะไม่ยึดติด จะปล่อยวาง จะไม่เดือดร้อน เวลาที่เขามาเอาไป เหมือนกับเวลาที่เราไปยืมของมา เรารู้ว่าไม่ใช่ของเรา เดี๋ยวก็ต้องเอาไปคืนเจ้าของ หรือเจ้าของมาเอาคืน เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ของเรา ก็ไม่ยึดไม่ติด ไม่หลงว่าเป็นของเรา พอถึงเวลาเขามาเอาไป ก็คืนเขาไป ฉันใดสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆก็เป็นอย่างนั้น มีสิ่งเดียวที่เป็นของเราที่แท้จริง ไม่มีใครสามารถเอาจากเราไปได้ ก็คือทรัพย์ภายในที่เรามาสร้างกันนี้ ที่เกิดจากการทำบุญให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เป็นทรัพย์ของเรา ไม่มีใครเอาไปได้ ยมบาลเอาเพียงแต่ร่างกายไปเท่านั้น แต่สมบัติที่อยู่คู่กับใจเอาไปไม่ได้ เป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นมนุษยสมบัติ เมื่อเราตายไป ก็จะได้ร่างกายมนุษย์ใหม่ ถ้าเป็นเทวสมบัติ ก็จะเป็นเทพบุตรเป็นเทพธิดา ถ้าเป็นพรหมสมบัติ ก็จะได้เป็นพรหม ถ้าเป็นมรรคผลนิพพานสมบัติ ก็จะได้เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า เป็นสมบัติที่ไม่มีใครแย่งจากเราไปได้ เพราะเป็นธรรมชาติที่อยู่ติดกับใจ เกิดจากการทำความดี ละบาป ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความโลภความโกรธความหลง นี่แลคือสมบัติที่แท้จริงของเรา จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราบำเพ็ญปฏิบัติ ทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ทั้งสมถะและวิปัสสนา ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยึดไม่ติดกับอะไรทั้งนั้น

 

ของต่างๆในโลกนี้มีไว้มาทำประโยชน์ มีเงินมีทองก็เอามาทำบุญทำทาน มีร่างกายก็เอามาทำความดี มารักษาศีล มาปฏิบัติธรรม เป็นการใช้เงินทองใช้ร่างกายให้เกิดประโยชน์ ถ้าเอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือย ไปเที่ยว เสพสุรายาเมา เล่นการพนัน ก็จะสร้างความเสื่อมเสีย สร้างโทษให้กับเรา ไม่เกิดประโยชน์ ทำให้เราต้องตกทุกข์ได้ยากในลำดับต่อไป จึงควรเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะพระพุทธเจ้ามีตาใน มีดวงตาเห็นธรรม มีแสงสว่างแห่งธรรม ที่มองเห็นกรรมของสัตว์ได้ เห็นว่าทำกรรมอย่างนี้จะได้ผลอย่างนั้น เห็นว่าทำกรรมอย่างนั้นจะได้ผลอย่างนี้  ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม เช่นพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย จะเห็นวิบากกรรมของสัตว์ทั้งหลายได้ เห็นวิบากกรรมเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของตนเองได้ ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติธรรมจนมีดวงตาเห็นธรรมอย่างพวกเรา ที่เป็นปุถุชนคนธรรมดา ก็จะยังมองไม่เห็นเรื่องของวิบากกรรม จึงต้องอาศัยคนที่มีตาใน มีแสงสว่างแห่งธรรม เช่นพระพุทธเจ้าคอยสอนเรา ที่เป็นเหมือนคนตาบอด ต้องอาศัยคนตาดีสอน ว่าตรงนั้นมีอะไรตรงนี้มีอะไร จะไปตรงนั้นตรงนี้จะต้องไปทางไหน ถ้าไม่มีคนตาดีบอก ก็จะไม่สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ฉันใดพวกเราทุกคนเกิดมาก็ต้องการความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ แต่เราเป็นเหมือนคนตาบอด ไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ไม่รู้ว่าความทุกข์อยู่ตรงไหน จึงต้องอาศัยคนตาดีเช่นพระพุทธเจ้า ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าแล้วรับรองได้ว่า จะเจอแต่ความสุข จะห่างไกลจากความทุกข์ ถ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าก็จะเจอแต่ความทุกข์ความวุ่นวาย ไม่รู้จักจบจักสิ้น ดังที่เป็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติอย่างจริงจัง ทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว รับรองได้ว่าจะเจอแต่ความสุข จะห่างไกลจากความทุกข์ จึงควรเชื่อและหมั่นสร้างสมบัติภายใน ให้อยู่ติดกับใจ เพื่อจะได้เป็นที่พึ่ง เป็นที่ให้ความสุข การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้