กัณฑ์ที่ ๓๔๑         ๑o มิถุนายน ๒๕๕๐

 

ทางร่มเย็น

 

 

 

วันนี้ทั้งหลายได้ตั้งใจมาวัด เพื่อมาทำบุญทำทาน มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติธรรม เป็นการดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดา ทรงสอนให้ดำเนินให้ปฏิบัติกัน เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข เพื่อความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิตและจิตใจ เป็นทางร่มเย็น ที่มีองค์ประกอบคือคุณธรรมอยู่ ๘ ประการด้วยกันคือ ๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปโป ความคิดชอบ ความดำริชอบ ๓. สัมมากัมมันโต การกระทำชอบ ๔. สัมมาวาจา การพูดชอบ  ๕. สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ ๖. สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ ๗. สัมมาสติ สติชอบ  ๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบของจิตใจ ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๘ ประการนี้แล้ว ชีวิตจะก้าวไปสู่ความสุขความร่มเย็นความเจริญ ห่างไกลจากความทุกข์ความวุ่นวายต่างๆ เราจึงควรให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างทำนุบำรุงคุณธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ให้มีอยู่ในใจ ประการแรกทรงสอนให้มีสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง หมายถึงให้เห็นตามความเป็นจริง เช่นเห็นว่าบาปมีจริง บุญมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง ตายแล้วไม่สูญ ตายแล้วก็ต้องไปใช้บุญใช้กรรมที่ได้ทำไว้ ไปขึ้นสวรรค์บ้าง ไปตกนรกบ้าง อย่างนี้เรียกว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว ก็จะมีสัมมาสังกัปโป ความคิดที่ถูกต้อง คือคิดทำบุญ คิดละบาป ถ้ามีมิจฉาทิฐิความเห็นผิด เช่นเห็นว่าบุญกรรมไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี ตายแล้วไม่ต้องไปเกิดอีก ก็จะไม่กลัวบาป ไม่อยากทำบุญ คิดแต่จะทำบาป ทำอะไรไปตามความต้องการของตน โดยไม่คิดว่าจะมีผลเสียหายตามมา  คิดว่าเมื่อตายไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ต้องพยายามหาเงินหาทองหาความสุขไว้มากๆ จะมาด้วยวิธีใดก็ไม่สนใจ  ขอให้ได้มาก็แล้วกัน จะต้องไปฆ่าผู้อื่นก็จะทำ ต้องไปลักทรัพย์ไปฉ้อโกงไปหลอกลวงผู้อื่นก็จะทำ ไปประพฤติผิดประเวณีผิดสามีผิดภรรยาของผู้อื่นก็จะทำ ถ้าคิดแบบนี้ก็จะทำแต่บาปทำแต่กรรม แล้วก็ต้องไปใช้เวรใช้กรรมต่อไป

 

เพราะชีวิตของเรามีองค์ประกอบอยู่ ๒ ส่วนด้วยกัน คือร่างกายและใจ ร่างกายเมื่อตายไปแล้ว ใจไม่ได้ตายไปด้วย ใจก็ไปเกิดใหม่ ที่เรามาเกิดกันได้ก็เพราะใจของเราไม่ตาย ชาติก่อนเรามีร่างกาย แต่ได้แตกสลายหมดไปแล้ว ใจจึงต้องไปหาร่างใหม่ ตามวิบากกรรมที่ได้ทำไว้ กว่าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก ก็อาจจะต้องไปเกิดหลายที่ด้วยกัน ไปสวรรค์ ไปนรก ไปเกิดเป็นเดรัจฉาน อยู่หลายภพหลายชาติ จนกว่าจะหมดบุญกรรมที่ได้ทำไว้ หรือถึงวาระที่จะต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก มาสร้างบุญสร้างกรรมกันอีก ถ้ามีมิจฉาทิฐิความเห็นผิด ก็จะสร้างบาปมากกว่าสร้างบุญ ถ้ามีสัมมาทิฐิตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็จะสร้างบุญมากกว่าสร้างบาป ตายไปก็จะได้ไปเสวยบุญมากกว่าไปเสวยบาป ก็จะไปอยู่สวรรค์เป็นเวลายาวนาน หมดบุญก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก มาสร้างบุญสร้างกรรมใหม่อีก เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสร้างบุญสร้างกุศลได้เต็มที่ เหมือนกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็จะได้เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้าไป นี่คือความเห็น ๒ ชนิด เห็นผิดกับเห็นถูก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เห็นถูก จะได้คิดดี พูดดี ทำดี เพราะรู้ว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี การพูดปด การเสพสุรายาเมา เป็นการกระทำเป็นการพูดที่ไม่ดี ก็จะหลีกเลี่ยง

 

จะมีสัมมาอาชีพ คือรู้ว่าการทำมาหากินต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นต้องเสียชีวิต เช่นการค้าขายสารพิษต่างๆ อาวุธต่างๆ เครื่องดักสัตว์ต่างๆ ทรงสอนให้หลีกเลี่ยง หรือค้าขายสุรายาเมาต่างๆ เพราะเสพสุรายาเมาเข้าไปแล้ว จะไม่มีสติควบคุมจิตใจ จะไปทำในสิ่งที่เสียหาย ถ้าขับรถก็จะประสบอุบัติเหตุ ทำให้ผู้อื่นและตนเองต้องเจ็บหรือล้มตายไป เวลาเสพสุราแล้วจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อยากจะทำอะไรก็จะทำ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น ก็จะต้องมีเรื่องมีราว ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกายฆ่ากันตามมา ถ้ากลับไปบ้านก็ไปอาละวาดกับคนที่บ้าน ข่มเหงรังแกภรรยาบุตรธิดาของตน เพราะสุรายาเมาเมื่อเสพเข้าไปแล้ว จะไม่สามารถควบคุมจิตใจให้เป็นปกติได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้หลีกเลี่ยงอาชีพเหล่านี้ เพราะจะทำให้โลกอยู่กันอย่างเดือดร้อนวุ่นวาย ถ้าไม่มีการขายอาวุธ ขายยาพิษสารพิษต่างๆ ขายสุรายาเมา คนที่อยู่ในโลกนี้ก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เราสามารถอยู่กันได้โดยไม่มีสิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นแล้ว จึงนำมาสั่งสอนพวกเรา เพื่อจะได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต้องหวาดผวากับภัยต่างๆ ภัยส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหน เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งนั้น พอมีความเห็นผิดแล้ว ก็จะไม่กลัวบาป จะกล้าทำบาป ไม่คิดถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ถ้ามีความเห็นถูก ก็จะไม่กล้าทำบาป จะทำแต่บุญ อย่างญาติโยมวันนี้มาวัด ก็ไม่ได้มาทำบาปกัน มาทำบุญกัน จึงนั่งอยู่ในศาลานี้ได้อย่างเป็นสุขอย่างปลอดภัย ถ้าเกิดมีคนเสพสุรายาเมาถือปืนเข้ามา เราก็จะนั่งกันอย่างปกติไม่ได้

 

เราจึงควรเห็นความสำคัญของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะประสูติเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้วก็ตาม แต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ล้าสมัยเลย ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ถ้าใครนำเอามาใช้ก็จะได้รับประโยชน์ทันที นี่แหละคือความวิเศษของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นอกาลิโก ไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา ไม่เสื่อมไม่หายไปไหน อยู่ที่ว่าจะรักษาให้อยู่กับใจของเราได้หรือไม่เท่านั้น ถ้าไม่สนใจไม่ศึกษา ไม่นำเอามาปฏิบัติ ไม่นำเอามาเผยแผ่ให้กับผู้อื่น เช่นลูกหลานของเรา ต่อไปพระธรรมคำสอนก็จะหายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าพระธรรมได้สูญไป เพียงแต่ว่าไม่มีคนสนใจเอามาศึกษาเอามาปฏิบัติ ก็เลยไม่มีใครรู้กัน เมื่อถึงยุคนั้นก็จะเป็นยุคมืด จะเป็นยุคของมิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ จะมีแต่การเข่นฆ่ากัน เอารัดเอาเปรียบกันอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดก็จะฆ่ากันตายไปเกือบหมด คนดีก็จะหลบไปอยู่ตามป่าตามเขา ปล่อยให้คนชั่วฆ่ากันให้พอ จนไม่มีเหลืออยู่แล้ว คนดีที่หลบหนีไปอยู่ตามป่าตามเขาก็จะกลับมาสร้างสังคมใหม่ อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข รักษาศีล ทำบุญให้ทาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน สังคมก็จะเจริญรุ่งเรืองกลับขึ้นมาใหม่ สังคมของมนุษย์เราเป็นอย่างนี้ มีการเจริญและเสื่อม การเจริญและเสื่อมที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆที่เราผลิตออกมา ถ้ามองทางด้านวัตถุ ก็ต้องยอมรับว่าสังคมในขณะนี้เจริญรุ่งเรือง จะไปไหนมาไหนก็มีความสะดวกสบาย มีรถราให้นั่ง การกินการอยู่ก็พร้อมบริบูรณ์ แต่ถ้ามองทางด้านจิตใจ ก็จะเห็นว่า จิตใจของมนุษย์เราทุกวันนี้เสื่อมลงไปมาก ขาดความเห็นที่ถูกต้อง มีการกระทำบาปทำกรรมกันอย่างเปิดเผย โดยไม่มีเกรงกลัวต่อวิบากกรรมแต่อย่างใด และจะทำมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าตราบใดเราให้ความสนใจต่อการเจริญทางวัตถุมากกว่าทางจิตใจ

 

จะทำให้มีความโลภความอยากในวัตถุมากขึ้น ก็จะพยายามหามาทุกวิถีทาง ถ้าหามาด้วยวิธีที่สุจริตไม่ได้ ก็จะหามาด้วยวิธีทุจริต เป็นการก้าวไปของจิตที่มีความหลง มีความเห็นผิดเป็นชอบ คิดว่าความสุขและความเจริญอยู่ที่การมีสมบัติข้าวของเงินทองมากๆ แต่ใจกลับหาความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้ ถ้าปล่อยให้ความโลภความอยากมีอำนาจเหนือจิตใจแล้ว จะไม่มีความพอ ถ้าไม่มีความพอก็จะไม่มีความสุข ได้มามากน้อยเพียงไร ก็อยากจะได้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามีความพอก็จะมีความสุข ถึงแม้จะไม่มีอะไรมากมายก็จะไม่อยากจะได้อะไรอีก เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงมีสมบัติมากมายก่ายกอง แต่ทรงเห็นว่าสมบัติไม่ได้ทำให้จิตใจของพระองค์มีความสุขความเจริญ มีแต่ความทุกข์มีแต่ความกังวลมีแต่ความห่วงใย จึงทรงสละราชสมบัติเพื่อปฏิบัติจิตใจให้สงบให้นิ่งให้เย็นให้สบายให้อิ่มให้พอ พอได้ความสุขได้ความอิ่มได้ความพอแล้ว ก็จะไม่หิวไม่อยากกับอะไรอีกต่อไป เพราะความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่สมบัติข้าวของเงินทอง ไม่ได้อยู่ที่บุคคลนั้นบุคคลนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้หมั่นทำบุญกัน อย่าเสียดายเงินทองที่เหลือกินเหลือใช้ เอามาทำประโยชน์เอามาช่วยเหลือผู้อื่น เพราะจะทำให้จิตใจมีความสุขมีความอิ่มมีความพอนั่นเอง นี่แหละเป็นเหตุที่ทำให้พวกเรามาวัดกัน เพื่อปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ทำบาป ทำแต่บุญ ทำจิตใจให้สะอาด ชำระความโลภความโกรธความหลงให้หมดไป ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม ที่ทำให้หูตาสว่าง เห็นโทษของความโลภความอยาก เห็นคุณของการให้การเสียสละ เห็นคุณของความสงบของจิตใจ ถ้ามีความสงบสุขทางจิตใจแล้ว จะไม่หิวไม่อยากกับอะไร จะอยู่ได้อย่างสุขอย่างสบาย ต่างกับการมีสมบัติข้าวของเงินทองมากมาย แต่อยู่ไม่เป็นสุข มีแต่ความรุ่มร้อนความวุ่นวายความห่วงความกังวล

 

นี่คือทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ดำเนินคือ ให้มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโปความดำริชอบ สัมมากัมมันโตการกระทำชอบ สัมมาวาจาการพูดชอบ สัมมาอาชีโวอาชีพชอบ สัมมาวายาโมความเพียรชอบ ที่มีอยู่ ๔ ลักษณะด้วยกันคือ ๑. เพียรทำความดี หมั่นทำความดี ที่ยังไม่มีให้ปรากฏขึ้นมา ถ้าไม่เคยทำบุญทำทานก็ทำไป ถ้าทำแล้วก็ทำให้มากขึ้นไป จนกลายเป็นพระเวสสันดรไปเลย ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมาเป็นตัวอย่าง  ๒. ให้รักษาความดีที่มีอยู่ไว้ ถ้าเคยทำบุญทำทาน ก็ต้องทำต่อไป ไม่ท้อแท้ ไม่คิดว่าทำบุญทำทานแล้วจะต้องร่ำรวยขึ้นมาทันที นี่ไม่ใช่เป็นผลของการทำบุญทำทาน ผลที่จะได้ในเบื้องต้นก็คือความร่มเย็นเป็นสุข ความอิ่มเอิบใจ ที่จะปรากฏขึ้นมาในปัจจุบัน ส่วนความร่ำรวยก็จะตามมาในภพหน้าชาติหน้า ไปเกิดบนกองเงินกองทอง ได้เป็นลูกเศรษฐี เป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน เช่นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายของการเป็นมนุษย์ ก่อนที่จะได้มาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทรงเป็นพระเวสสันดร ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมีอย่างสุดๆ มีทรัพย์สินสมบัติข้าวของเงินทองมากน้อยเพียงไร ก็บริจาคแจกจ่ายไปหมด ไม่เสียดายไม่หวงแหนเลย เมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดอยู่บนสวรรค์ เมื่อหมดบุญแล้วก็ลงมาเกิดเป็นลูกของพระเจ้าแผ่นดิน นี่คืออานิสงส์ของการทำบุญให้ทาน จะทำให้ร่ำรวยแต่ไม่ใช่ในชาตินี้ เป็นชาติต่อไป ในชาตินี้สิ่งที่ได้ก็คือความสุขความอิ่มเอิบใจความพอใจ เราจึงต้องหมั่นทำความดี เสียสละ ทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆ ทำให้มากๆ แล้วรักษาไว้ให้ดี เคยทำแล้วก็ทำต่อไป ๓. ให้ละบาปที่มีอยู่ ถ้ายังฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา ก็ต้องกำจัดให้หมดไป ๔. ให้ป้องกันไม่ให้บาปที่ได้กำจัดไปแล้วหวนกลับคืนมาอีก ถ้าเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ พูดปดมดเท็จ ประพฤติผิดประเวณี เสพสุรายาเมาได้แล้ว ก็อย่ากลับไปทำอีก เวลาที่เกิดความโกรธ อยากจะทำร้าย อยากจะฆ่าใคร ก็ต้องให้อภัย ไม่จองเวรจองกรรมกัน ให้รำลึกถึงพระธรรมคำสอนที่สอนว่า เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร ถ้าเราไปทำอะไรเขา เขาก็ต้องกลับมาทำเราอีก แต่ถ้าเราไม่ตอบโต้ อยู่เฉยๆ ยอมรับเคราะห์กรรม คิดว่าเป็นการใช้หนี้เก่าไป ต่อไปเขาก็จะไม่ทำอะไรเราอีก นี่คือความเพียรชอบ เรียกว่าสัมมาวายาโม เพียรทำความดี เพียรรักษาความดี เพียรละบาป เพียรป้องกันไม่ให้บาปที่ได้ละแล้วหวนกลับคืนมาอีก

 

คุณธรรมลำดับต่อไปคือสัมมาสติ ให้มีสติอยู่กับตัว อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่อยู่กับร่องกับรอย ให้อยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่นี้เดี๋ยวนี้ ขณะนี้กำลังฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ให้มีสติอยู่กับการฟังเทศน์ฟังธรรม อย่าไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร การฟังธรรมมีประโยชน์กว่า จะได้มีความรู้ความฉลาด ถ้าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะไม่เข้าใจ เหมือนกับไม่ได้ยิน ได้ยินเสียงแต่ไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีสติก็จะทำผิดๆถูกๆ เวลาหั่นผักหั่นเนื้อ ก็อาจจะหั่นนิ้วมือได้ เพราะมัวแต่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าอยากจะให้การกระทำของเราถูกต้องดีงาม ต้องมีสติอยู่กับตัวเสมอ ต้องหลีกเลี่ยงการเสพสุรายาเมา เพราะจะทำให้ขาดสติ จะไม่รู้ว่า กำลังคิดอะไร พูดอะไร ทำอะไร แล้วก็ต้องมาเสียใจในภายหลัง เมื่อหายเมาแล้วถึงจะรู้ว่า ถูกตำรวจจับเข้าไปในคุกแล้ว เพราะเวลาเมาจะไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ว่ากำลังคิดกำลังพูดกำลังทำอะไร ถ้าไม่เมาจะรู้อยู่ทุกขณะ ว่าขณะนี้กำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร คิดดีพูดดีทำดี หรือคิดไม่ดีพูดไม่ดีทำไม่ดี  เราจึงควรตั้งสติให้อยู่กับตัวอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยเปื่อย ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้วุ่นวายใจไปเปล่าๆ

 

ประการสุดท้ายทรงสอนให้มีสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิตใจ ให้ตั้งอยู่ในความสงบ ระงับจากความโลภจากความโกรธจากความหลง เวลาเกิดความโลภเกิดความโกรธความหลง ก็อย่าโลภอย่าโกรธอย่าหลงตาม พยายามดึงใจให้อยู่เป็นปกติ ให้อยู่นิ่งๆอยู่เฉยๆ อยากจะได้อะไรก็คิดด้วยเหตุด้วยผลด้วยปัญญาก่อน ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็น ไม่มีก็ไม่ตาย ก็ตัดใจไปเลย อย่าไปเอามา ถ้าตัดไม่ได้ ก็จะถูกความโลภครอบงำ ที่จะฉุดลากให้ไปทำอะไรต่างๆวุ่นวายไปหมด แต่ถ้าระงับดับความโลภได้ ก็จะตั้งอยู่ในความสงบสุข ปัญหาของคนเราอยู่ที่อยู่เฉยๆไม่ได้ อยู่ไม่เป็นสุข เพราะไม่มีสัมมาสมาธิ ถูกความโลภความโกรธความหลงครอบงำ คอยหลอกคอยล่อให้ไปหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ หามาได้มากน้อยเพียงไร ก็ไม่อิ่มไม่พอไม่สุขสักที ต้องหาอยู่เรื่อยๆ หาไปจนวันตายก็จะเป็นอย่างนี้ ตายไปแล้วไปเกิดใหม่ก็จะไปหาใหม่ เป็นอย่างนี้มาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว มีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่เห็นโทษของความโลภความโกรธความหลง จึงทรงสอนให้ทำสมาธิ ทำจิตใจให้ตั้งมั่น ด้วยการสวดมนต์ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ด้วยการกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ทำใจให้นิ่ง ไม่ไหลไปตามอารมณ์ตามความคิดต่างๆ อย่าไปสนใจในขณะที่ทำสมาธิ ให้อยู่กับบทสวดมนต์ อยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ ทำไปเรื่อยๆแล้วต่อไปจิตจะตั้งมั่น  จะไม่ไหลไปตามกระแสของความคิดต่างๆ จะมีความหนักแน่นเหมือนกับก้อนหิน ถ้าไม่มีสมาธิใจจะเป็นเหมือนปุยนุ่น เวลาลมพัดมาเบาๆก็จะลอยตามไป ถ้าใจหนักแน่นเหมือนก้อนหินแล้ว ต่อให้มีพายุพัดกระหน่ำมาก็จะไม่สามารถพัดใจไปได้ เวลามีเรื่องราวต่างๆมากระทบ ใจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศกเสียใจ ไม่ร้องห่มร้องไห้ ไม่หวาดกลัว เพราะได้ตั้งใจไว้ในที่ที่ดีนั่นเอง คือตั้งอยู่ในความสงบ ระงับจากความโลภความโกรธความหลง จึงควรทำสมาธิกัน ถ้ามีสมาธิแล้ว ก็จะคิดดีพูดดีทำดี พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สร้างคุณธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ คือให้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีความคิดที่ถูกต้อง มีการกระทำที่ถูกต้อง มีการพูดที่ถูกต้อง มีอาชีพที่ถูกต้อง มีความพากเพียรที่ถูกต้อง มีสติที่ถูกต้อง และมีสมาธิความตั้งมั่นของจิตใจที่ถูกต้อง เพื่อชีวิตของเราจะได้ดำเนินไปสู่ความสุขและความเจริญ ห่างไกลจากความทุกข์จากความเสื่อมเสียทั้งปวง การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้