กัณฑ์ที่ ๓๔๘        ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐

 

รู้รักสามัคคี

 

 

 

วันนี้เป็นวันพระ วันธรรมสวนะ วันฟังธรรม เป็นวันชำระกายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อความสุขความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พุทธศาสนิกชน ให้หมั่นเข้าวัดกันเป็นประจำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง เพื่อจะได้ทำภารกิจทางศาสนา คือชำระกายวาจาใจให้สะอาด เนื่องจากกายวาจาใจก็เป็นเหมือน เสื้อผ้าที่สวมใส่  หลังจากที่ใส่ไปแล้วต้องเปรอะเปื้อน ต้องนำไปซัก เอาไปรีด เอาไปทำความสะอาด  ตลอดระยะเวลา ๗ วันที่ผ่านมา เรามีการกระทำ มีการพูด มีการคิด ที่ทำให้เปรอะเปื้อนเช่นกัน   เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด คือพูดเพื่อให้แตกสามัคคี  ไม่ได้หมายถึงพูดเสียดสี   ที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ พูดส่อเสียดคือพูดยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกสามัคคี  เช่นยุยงให้สามีภรรยาทะเลาะวิวาทกัน ยุงยงให้คนในสังคมแตกแยกกัน  เมื่อมีการแตกแยกกันแล้วย่อมไม่มีความสุข ไม่มีความเจริญ สังคมจึงต้องมีความรักความสามัคคีกัน จึงจะอยู่กันได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข เจริญก้าวหน้า ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นสอนอยู่เสมอว่า ให้รู้รักสามัคคี คือให้รักกัน ให้สามัคคีกัน  จึงต้องระมัดระวังไม่ให้พูดส่อเสียด  เพราะพูดไปแล้วไม่เกิดประโยชน์มีแต่จะเกิดโทษ ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ไม่ควรพูด ความจริงบางอย่างไม่พูดเสียจะดีกว่า พูดไปแล้วทำให้ทะเลาะวิวาท ต้องทำร้ายกัน เช่นไปเห็นสามีเขาไปกับคนอื่น ก็ไปบอกภรรยาเขาอย่างนี้เป็นต้น  พูดไปแล้วมันเกิดประโยชน์อะไร พูดไปแล้วทำให้ภรรยาต้องเจ็บช้ำน้ำใจ โกรธแค้นขึ้นมา ถ้าไม่พูดก็จะไม่รู้ ก็ยังรักกันอยู่ ปล่อยให้รู้เองดีกว่า นี่คือการพูดที่จะทำให้เกิดความเปรอะเปื้อน ซึ่งเราก็คงพูดกันอยู่เรื่อยๆ พูดปดบ้าง พูดเพ้อเจ้อบ้าง พูดคำหยาบบ้าง พูดส่อเสียดบ้าง  พอถึงวันพระก็มาชำระกัน ด้วยการตั้งใจใหม่ว่าจะไม่พูดอย่างนั้นอีก 

 

ส่วนความเปรอะเปื้อนทางใจก็มีอยู่  ๓  ประการด้วยกันคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เวลาเราโลภ เราโกรธ เราหลง ก็ทำให้ใจเปรอะเปื้อนเศร้าหมอง มีความทุกข์  ไม่สบายอกไม่สบายใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้หมั่นชำระใจให้สะอาด เพราะเป็นต้นเหตุของการกระทำและการพูด ถ้าใจดีก็จะพูดดีทำดี  ถ้าใจไม่ดีก็จะพูดไม่ดีทำไม่ดี  ใจจะดีได้ก็ต้องไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ถ้าใจโลภใจโกรธใจหลง ก็จะไม่พูดดีทำดี เวลาโกรธจะใช้ผรุสวาทวาจา พูดคำหยาบ เวลาโลภก็จะพูดในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เวลาอิจฉาริษยาก็จะพูดส่อเสียด เห็นใครได้ดีก็จะพูดยุยงให้เกลียดชังให้แตกแยกกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการดูแลใจ   ถ้าดูแลใจไม่ให้โลภโกรธหลงได้แล้ว ก็จะทำดีพูดดี  ต้นเหตุของการกระทำและการพูดทั้งดีและไม่ดี อยู่ที่ใจเป็นหลัก ถ้าใจสงบนิ่ง ปราศจากความโลภโกรธหลง ก็จะไม่ทำไม่พูดในสิ่งที่เสียหาย  ถ้าใจโลภโกรธหลง ก็จะทำจะพูดในสิ่งที่ไม่ดี  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เฝ้าดูใจเป็นหลัก  สังเกตดูใจทุกขณะ   เช่นในขณะนี้ใจเป็นอย่างไร โลภหรือไม่ โกรธหรือไม่ หลงหรือไม่  ถ้านั่งสงบสบายก็จะไม่โลภ ไม่โกรธ  ไม่หลง ถ้าเรานั่งไม่ติด แสดงว่ามีความโลภแล้ว อยากจะลุกหนีไป เพราะหงุดหงิดรำคาญใจ  ขอให้ดูใจเป็นหลัก  ถ้าใจไม่สงบนิ่ง ก็แสดงว่ากำลังวุ่นวาย  ก็จะพูดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดี  จึงต้องเฝ้าดูใจเสมอ เวลาเห็นใครพูดอะไรทำอะไร ต้องดูใจเราว่าพอใจหรือไม่  ถ้าไม่พอใจก็จะโกรธ จะพูดจะทำไม่ดี  ถ้ารู้ว่าไม่พอใจ ก็ไม่ควรพูดไม่ควรทำอะไร ให้นิ่งเฉยไว้  ถึงแม้จะสร้างความเสียหายให้กับเรา ก็ต้องนิ่งเฉยไว้ก่อน ถ้าไปพูดไปทำอะไร จะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นไปอีก  ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว  จะพูดหรือไม่ก็ลบให้หายไปไม่ได้ การนิ่งเฉยจะยับยั้งปัญหาไม่ให้บานปลาย

 

พออารมณ์สงบตัวลง ก็จะสบายใจ  อารมณ์ต่างๆที่อยู่ในใจ ไม่ว่าจะเป็นความไม่พอใจ ความโกรธ ความโลภ ความอยากต่างๆ   ก็ไม่ได้อยู่ไปตลอด  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนแสงหิ่งห้อย ที่เกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา  ถ้ามีสติจะรู้ทันอารมณ์  รู้แล้วจะได้ระมัดระวัง  ถ้าไม่จำเป็นต้องทำอะไร ก็นิ่งเฉยไว้ แล้วทุกอย่างจะดีเอง พออารมณ์สงบแล้ว จะมองทุกสิ่งทุกอย่างไปอีกแบบหนึ่ง ขณะที่มีอารมณ์โกรธ ก็อยากจะทำร้ายผู้อื่น พอหายโกรธแล้ว ก็จะไม่อยากทำ ถ้าทำก็จะเสียใจในภายหลัง  ปัญหาอยู่ที่ตัวเราเอง  คนอื่นไม่สามารถทำให้เราโกรธได้ ถ้าเราไม่มีความโกรธ ต่อให้ทำร้ายเราฆ่าเรา ก็จะไม่โกรธ ถ้ามีความโกรธ พอใครพูดอะไรนิดทำอะไรหน่อย ก็จะโกรธขึ้นมาทันที คนอื่นเพียงจุดชนวน ถ้ามีเชื้อก็จะลุกขึ้นมาทันที ถ้าไม่มีเชื้อต่อให้จุดอย่างไรไฟก็จะไม่ลุก  เราจึงต้องกำจัดเชื้อภายในใจ ที่ทำให้ใจลุกเป็นไฟขึ้นมา   ทำให้ใจรุ่มร้อนทุกข์กังวล คือความโลภความโกรธความหลงนี้เอง  เป็นเชื้อไฟในใจที่ต้องกำจัดให้ได้ อย่าไปส่งเสริม เวลาโลภก็ไม่โลภตาม เวลาโกรธก็ไม่โกรธตาม  เวลาหลงก็ไม่หลงตาม วิธีที่ส่งเสริมความโลภความโกรธความหลงให้มีมากขึ้น ก็คือเวลาโลภก็โลภตาม เวลาโกรธก็โกรธตาม เวลาหลงก็หลงตาม ถ้าทำอย่างนี้ก็จะทำให้มีความโลภความโกรธความหลงมากขึ้น  ทำให้ไฟลุกมากขึ้น  ทำให้มีความทุกข์มากยิ่งขึ้น เราจึงต้องต่อสู้กับความโลภความโกรธความหลงเสมอ

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ใช้เหตุผลเวลาที่มีความโลภ อยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้พิจารณาว่าถ้าไม่ได้แล้ว จะอยู่ได้หรือไม่ ถ้าอยู่ได้ก็ไม่ควรเอามา ให้ตัดความโลภ ตัดความอยากไป  เห็นคนอื่นมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็อยากได้ทั้งๆที่ไม่มีก็อยู่ได้  ไม่เดือดร้อนอะไร ก็ควรจะหักห้ามจิตใจ เพราะจะสุขสบายกว่า ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องเสียเงินเสียทองไปซื้อหามา ต้องดูแลรักษา ต้องเสียอกเสียใจเวลาจากเราไปหายไป   นี่คือวิธีเอาชนะความโลภ ความอยากได้ คือใช้เหตุผล  ถ้าไม่มีแล้วไม่ตายก็แสดงว่าไม่ต้องเอามา  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่อย่างมักน้อยสันโดษ อย่าไปโลภมาก เอาน้อยๆ เอาเท่าที่จำเป็น พอมีพอกินก็พอแล้ว มีมากกว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ใจมีความสุขมากไปกว่านี้ แต่กลับจะทำให้มีความทุกข์มากยิ่งขึ้น  ต้องคอยดูแลรักษา ต้องคอยห่วงคอยกังวล ต้องร้องห่มร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ เมื่อต้องจากกันไป ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง  จะไม่ทุกข์กับอะไร  เราจึงต้องต่อสู้กับความโลภด้วยการใช้เหตุผล  ต่อสู้กับความโกรธด้วยความเมตตา ให้อภัย ไม่จองเวร ไม่ว่าใครจะพูดอะไรทำอะไร สร้างความเดือดร้อน สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้มากน้อยเพียงไร ถ้าไม่โกรธ ให้อภัย ไม่จองเวร ก็จะไม่มีปัญหาอะไร  สิ่งที่เขาพูดไปแล้วทำไปแล้วก็ผ่านไปแล้ว ถ้าเป็นข้าวของก็เสียไปแล้ว แต่อย่าไปเสียใจตามไปด้วย เช่นถูกแย่งเอาสมบัติไป  เอาไปแล้ว เสียของไปแล้ว เสียอย่างเดียวก็พอ อย่าเสียสองอย่าง คืออย่าเสียใจด้วย  เสียใจนี่มันทุกข์ทรมานมาก เสียของไปก็เท่านั้น ถ้ารู้จักเสียกลับมีความสุข ถ้าคิดว่าเอาไปได้ก็ดี จะได้หมดภาระกัน จะได้ไม่ต้องมาห่วงมากังวล ไม่ต้องมาเสียอกเสียใจในภายหลัง

 

อย่างวันนี้ญาติโยมก็เสียเงินเสียทองเสียข้าวเสียของ แต่กลับไม่ทุกข์ใจแต่อย่างใด เพราะตั้งใจจะเสีย ยินดีที่จะเสีย  ยินดีที่จะมาทำบุญให้ทาน  ฉันใดเวลาที่เสียอะไรไป ขอให้คิดว่าเป็นการทำบุญให้ทาน เรียกว่าอภัยทาน  อภัยทานก็เป็นการให้เหมือนกัน  เหมือนกับการให้ข้าวของเงินทอง ที่เรียกว่าวัตถุทาน ส่วนการให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคือง  ไม่จองเวรจองกรรม เรียกว่าอภัยทาน ก็เป็นบุญเป็นกุศลเหมือนกัน  นี่คือวิธีที่เอาชนะความโกรธ  ส่วนความหลงก็ต้องใช้ปัญญา  ต้องเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ ที่หลงอยากได้อยากมีมาเป็นของเรา อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไปนานๆ เป็นไปไม่ได้ เพราะเราอยู่ในโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เกิดมาแล้วจะไม่ดับไป ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา  มีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา  เช่นร่างกายของเรา เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา  สมบัติข้าวของเงินทองและบุคคลต่างๆ ก็เป็นเช่นเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลง จากใหม่กลายเป็นเก่า  จากเก่าก็กลายเป็นของเสีย ของชำรุดไป หรือตายไป เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา จึงอย่าหลงยึดติดกับสิ่งต่างๆ เราอยู่ในโลกนี้เกิดมาในโลกนี้ ไม่ได้เกิดมาเพื่อครอบครองสมบัติข้าวของเงินทองบุคคลต่างๆ เพราะไม่สามารถครอบครองไปได้ตลอดเวลา  การมาเกิดนี้เป็นการมาใช้บุญใช้กรรม มาสร้างบุญสร้างกรรมใหม่ อยู่ที่ว่าจะเลือกทำอะไร

 

เวลามีความสุขความเจริญ แสดงว่ากำลังรับอานิสงส์ของบุญเก่า เวลาตกทุกข์ได้ยากลำบากลำบน มีเรื่องมีราวมีปัญหา มีความทุกข์ มีความวุ่นวาย มีความเศร้าโศกเสียใจ  แสดงว่ากำลังใช้กรรมเก่า ผลของบุญเก่าและกรรมเก่าเราห้ามไม่ได้ จะต้องเกิดขึ้น มีสิ่งเดียวที่เราทำได้ ก็คือสู้มันรับรู้มันด้วยจิตใจที่นิ่งสงบ ไม่สียอกเสียใจ ไม่โทษใคร  ไม่ตีโพยตีพาย ไม่โทษตัวเราเอง แต่โทษกรรมเก่า จึงต้องมารับใช้กรรมเก่า  ส่วนการสร้างบุญและสร้างกรรมใหม่เราเลือกได้ สร้างบุญก็ได้ สร้างกรรมก็ได้ เราเลือกได้  ถ้าเชื่อฟังพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  ชำระกายวาจาใจให้สะอาด ก็เป็นการสร้างบุญไม่สร้างบาปไปในตัว ถ้าทำแต่บุญไม่ทำบาป ก็จะมีแต่ผลบุญปรากฏขึ้นมาให้เชยชม  ไม่มีผลบาปกรรมให้เผชิญ ให้ทุกข์ยากลำบาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเรา พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเกิดขึ้นจากการกระทำของเรา เป็นเหตุที่ทำให้เราสุข ให้เราทุกข์ ให้เราเจริญ ให้เราเสื่อม  ในปัจจุบันนี้พวกเรามีความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน รวยจนไม่เท่ากัน รูปร่างหน้าตาสวยงามไม่เท่ากัน  อายุสั้นยาวไม่เท่ากัน เป็นผลของบุญของกรรมที่ได้ทำในอดีต แก้ไขไม่ได้ สิ่งที่แก้ไขได้ก็คืออนาคตของเรา  เราสามารถลิขิตอนาคตของเราได้   ใช้กรรมเป็นตัวลิขิตอนาคต ศาสนาพุทธสอนเรื่องกรรมลิขิต ไม่ได้สอนเรื่องพรหมลิขิต ไม่มีพรหมที่ไหนจะมาลิขิตชีวิตของเราได้ มีการกระทำของเราเท่านั้น ที่จะลิขิตชีวิตของเราได้  ถ้าคิดดีพูดดีทำดี ก็จะสร้างความสุขความเจริญให้กับเรา  ถ้าคิดไม่ดีพูดไม่ดีทำไม่ดี ก็จะลิขิตชีวิตที่ไม่ดีให้กับเรา

 

พระพุทธเจ้าไม่สามารถลิขิตชีวิตของเราได้ ทำได้เพียงสอนเราให้เรารู้ว่า อะไรดีอะไรชั่ว จะทำหรือไม่ทำ ไม่มีใครบังคับเราได้  เราเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจและทำเอง ถ้ายังไม่รู้ยังไม่แน่ใจ ก็ขอให้เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ก่อน อย่าปฏิเสธคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงรู้จริงเห็นจริง ทรงได้สัมผัสกับผลที่ได้กระทำมาแล้ว จึงรู้อย่างแม่นยำว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  ถ้าเรายังไม่รู้ยังไม่แน่ใจ ก็อย่าไปปฏิเสธ ให้เชื่อพระพุทธเจ้า เพราะทรงเปรียบเหมือนคนตาดี  ส่วนเราเป็นเหมือนคนตาบอด คนตาบอดจะเห็นเหมือนคนตาดีไม่ได้  คนตาบอดจึงต้องเชื่อคนตาดี นอกจากไปเจอคนตาดีที่ใจไม่ดี  ชอบหลอกคนอื่น ก็ถือว่าเป็นกรรม แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้เป็นคนแบบนั้น ทรงเป็นคนตาดีและใจดีด้วย มีความเมตตากรุณาสงสารสัตว์โลก  ทรงเห็นว่าถ้าสัตว์โลกไม่มีใครสอน ก็จะต้องทุกข์ทรมานไปกับการเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้จักจบจักสิ้น  เพราะไม่รู้วิธีดำเนินชีวิตให้สุขให้เจริญ จึงทรงสละเวลาอุทิศชีวิตของพระองค์สั่งสอนสัตว์โลก ให้หูตาสว่างขึ้นมา  ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วมีศรัทธาความเชื่อ นำเอาไปปฏิบัติจนได้รับผลที่ดีเลิศ มีเป็นจำนวนมาก หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด มีเป็นจำนวนมากมาย ตั้งแต่วันแรกที่ทรงประกาศสอนพระศาสนาจนมาถึงปัจจุบันนี้  แม้พระพุทธเจ้าจะไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้วก็ตาม แต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ยังทำหน้าที่เป็นพระศาสดา เป็นครูเป็นอาจารย์แทนพระพุทธเจ้าได้ ถ้าน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้เข้าวัดอยู่อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อมาชำระกายวาจาใจ ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล  ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว รับรองได้ว่าชีวิตของเราจะก้าวไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขอย่างแน่นอน 

 

จึงควรเชื่อแล้วน้อมเอามาปฏิบัติ  พอเห็นผลแล้วจะหายสงสัย ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าอีกต่อไป  เหมือนกับรับยาจากหมอมา ตอนต้นก็ไม่แน่ใจว่าจะรักษาโรคให้หายได้หรือไม่ พอรับประทานแล้ว อาการดีขึ้นตามลำดับ ก็ไม่ต้องเชื่อหมอแล้ว เพราะรู้แล้ว มีความมั่นใจแล้ว ว่ายาที่ได้มาเป็นยาที่วิเศษจริงๆ รักษาโรคให้หายได้จริงๆ  ฉันใดเมื่อได้เห็นผลจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนแล้ว จะไม่สงสัยในพระพุทธเจ้าอีกต่อไป จะไม่ต้องเชื่อก่อน  พระพุทธเจ้าสอนให้ทำอะไร จะรีบทำทันทีเลย เพราะมีความมั่นใจในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ในเบื้องต้นอาจจะลำบากหน่อย เพราะยังไม่เห็นผล เนื่องจากปฏิบัติไม่มากพอ ยังทำบุญทำทาน รักษาศีล นั่งสมาธิ เจริญปัญญาไม่มากพอ จึงไม่เห็นผล ยังลังเลสงสัยอยู่  ถ้าเห็นผลแล้ว จะเกิดความยินดีที่จะทำให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเห็นแล้วว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะมีคุณค่ายิ่งกว่าผลที่เกิดจากการปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะทำให้จิตใจมีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง ทำให้เป็นคนดีมากขึ้น ทำให้โลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง มีความเมตตากรุณามากขึ้น ถ้ายังไม่เห็นผลก็ต้องทำให้มากขึ้น จะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้