กัณฑ์ที่ ๓๕๑       ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐

 

รักษาตนให้ดี

 

 

 

การมาวัดก็มีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกันคือ ๑. มาด้วยกำลังของตนเอง ไม่ต้องให้ใครชวนมา ๒. มาเพราะมีคนอื่นชวนมา คนที่มาวัดโดยไม่ต้องให้ใครชวน ก็เป็นเหมือนเรือที่มีเครื่องยนต์ สามารถวิ่งไปเองได้ ส่วนคนที่ต้องให้คนอื่นชวนมา ก็เป็นเหมือนเรือพ่วง ถ้าไม่มีเรือยนต์ลากมา ก็มาไม่ได้ เพราะบำเพ็ญบุญบารมีมาไม่เท่ากัน ถ้าได้บำเพ็ญมาก ก็จะมีพลังทำความดีมาก เช่นทำบุญให้ทานรักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องให้คนอื่นชักจูง ทำได้เอง ส่วนพวกที่ยังทำเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยผู้อื่นชักชวนก่อน จึงเป็นเหมือนเรือพ่วง พอได้ทำไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะเป็นเรือที่มีเครื่องยนต์ พวกเรือพ่วงจึงต้องอาศัยพวกเรือยนต์ฉุดลากไปก่อน แต่ก็ต้องระวัง เพราะพวกเรือยนต์ก็มีอยู่ ๒ พวกด้วยกันคือ  ๑. พวกที่ลากไปทำความดี ไปสู่ความเจริญสู่ความสุข ๒. พวกที่ลากไปทำความเสื่อมเสีย ไปสู่ความทุกข์ความหายนะ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้คบบัณฑิต ไม่ให้คบคนพาล บัณฑิตเป็นคนที่มีพลังทำความดี ก็จะชวนเราไปในทางที่ดี คนพาลเป็นคนที่มีพลังทำความเสื่อมเสีย เช่นเล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เสพสุรายาเมา ถ้าคบกับคนพาล เขาจะไม่ชวนมาวัด มาทำบุญให้ทาน มารักษาศีล มาฟังเทศน์ฟังธรรม มาปฏิบัติธรรม แต่จะชวนเข้าบ่อนเข้าบาร์ ไปตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ผลจึงมีความแตกต่างกัน มาวัดทำให้ร่มเย็นเป็นสุข อิ่มเอิบใจ ได้พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น มีความซื่อสัตย์สุจริตมากขึ้น ถ้าพัฒนาไปเรื่อยๆ จิตใจก็จะกลายเป็นเทพเป็นพรหมเป็นพระอริยเจ้าไป ถ้าไปตามบาร์ตามบ่อน จิตใจจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ จากมนุษย์ก็จะกลายเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรตเป็นสัตว์นรกไป

 

พอไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องไปทำผิดศีลผิดธรรม ไปลักทรัพย์ ไปโกหกหลอกลวง ไปฆ่าผู้อื่น เพื่อจะได้เอาทรัพย์มาสนับสนุนอบายมุข เช่นเล่นการพนันจนหมดเนื้อหมดตัว ก็ต้องไปลักเล็กขโมยน้อย  ไปปล้นไปจี้ไปฆ่าผู้อื่น เพื่อจะได้เอาเงินมาเล่นต่อ หรือเอามาใช้หนี้ ก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจับตัว เอามาลงโทษ จับไปขังคุกขังตะราง ตกนรกในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายไปก็ต้องไปตกนรกต่อ เพราะยังทุกข์ยังวุ่นวายใจอยู่ นี่คือทาง ๒ ทางที่เราต้องเลือก จะไปทางไหนดี สำหรับคนที่มีปัญญาบารมี รู้ผิดถูกดีชั่ว ก็จะเลือกมาวัด พวกที่ไม่รู้ไม่มีพลังผลักดันตนเอง ก็ต้องอาศัยคนดีอาศัยบัณฑิตพาไป พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้คบบัณฑิต ไม่ให้คบคนพาล ถ้าอยากจะเจริญรุ่งเรือง มีแต่สิริมงคล อยู่ที่การเลือกคบคน เราเลือกได้ ไม่มีใครบังคับเราได้ นอกจากต้องทำงานร่วมกัน ก็คบไปเพื่อไม่ให้เสียมารยาท แต่จะไม่ให้เขาฉุดลากไปทำในสิ่งที่เป็นโทษ ไม่มีใครบังคับเราได้ เราบังคับตัวเราเองได้ ถ้ารู้ว่าไม่ดี ก็อย่าไปทำ ก็จะไม่เสียหาย ถ้ากลัวจะเสียเพื่อน ก็ควรเลือกระหว่างเสียเพื่อนกับเสียคน ว่าอะไรมีคุณค่ากว่ากัน เพื่อนเรากับตัวเรา ส่วนไหนจะมีคุณค่ากว่ากัน เสียเพื่อนไปก็หาใหม่ได้ เพื่อนมีเยอะแยะ มีเป็นล้าน แต่เสียคนนี่หาใหม่ไม่ได้ เพราะมีตัวเราอยู่หนึ่งเดียวเท่านั้น เสียคนแล้ว จะมีแต่ความเสื่อมเสีย มีแต่ความทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้รักษาตนให้ดี ตนเป็นที่พึ่งของตน อัตตาหิ อัตโน นาโถ แต่ก็ต้องพึ่งผู้ที่เก่งกว่า ดีกว่า ฉลาดกว่าก่อน

 

ทรงสอนว่าถ้าหาคนที่เก่งกว่า ฉลาดกว่า ดีกว่าคบเป็นเพื่อนไม่ได้ ก็อย่าไปคบกับใครดีกว่า ให้อยู่คนเดียวจะดีกว่า ถ้าคบกับคนที่แย่กว่าเลวกว่า ก็จะฉุดลากให้ลงต่ำ ถ้าคบกับคนเสพสุรายาเมา ก็จะชวนเสพสุรา คบกับคนเล่นการพนัน ก็จะชวนเล่นการพนัน คบกับคนที่ชอบเที่ยวกลางคืน ก็จะชวนเที่ยวกลางคืน คบกับคนเกียจคร้าน ก็จะชวนให้เกียจคร้านไปด้วย แทนที่จะขยันทำมาหากิน ขยันไปโรงเรียน ก็ชวนกันหนีโรงเรียนชวนกันหนีงาน ก็จะมีแต่ความเสื่อมเสียตามมา ไม่มีทางที่จะเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองได้ จึงควรคบบัณฑิต คนดี คนที่ฉลาดกว่า ถ้าหาคนที่เก่งที่ดีที่ฉลาดไม่ได้ ก็ให้คบพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ถึงแม้ท่านจะไม่อยู่กับเราแล้ว แต่คำสอนของท่านยังอยู่ เป็นตัวแทนของท่าน ถ้าศึกษาคำสอนแล้วนำเอามาประพฤติปฏิบัติ ก็เหมือนมีเพื่อนที่ดีอยู่ในใจตลอดเวลา เวลาที่ไม่ได้อยู่กับเพื่อนภายนอก ก็จะขาดเพื่อน แต่ถ้ามีคำสอนที่ดีอยู่ในจิตในใจไว้เตือนสติอยู่เสมอแล้ว ก็จะไม่ขาดเพื่อนเลย จะมีเพื่อนคอยสอนให้รักษาศีล ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา เวลาจะทำผิดศีล ก็จะมีเสียงกระซิบเตือนห้ามว่า ทำบาปไม่ได้ จะเสียหาย ให้ทำความดี ให้รักษาความดีแม้จะต้องเสียชีวิตไป เพราะชีวิตไม่มีคุณค่าเท่ากับความดี มีชีวิตอยู่กับความชั่ว อยู่ไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่ความทุกข์มีแต่ความเสื่อมเสีย เทียบกับรักษาความดีแล้วตายไปไม่ได้ เพราะเวลาตายไปนั้น ตายไปเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นคือร่างกาย แต่ตัวตนที่แท้จริงคือใจไม่ได้ตาย ใจจะได้ไปเกิดดีกว่าเดิม นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น จึงได้นำเอามาสั่งสอนพวกเรา

 

พวกเรามองไม่เห็นกัน เห็นเพียงครึ่งเดียว คือเห็นร่างกาย แต่ไม่เห็นใจ เราไม่รู้ว่าใจเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีใจก็เป็นเหมือนคนตาย คนตายคือร่างกายที่ไม่มีใจ เวลาคุยกับคนตายจะไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น เพราะผู้รับรู้คือใจ ไม่ได้อยู่กับร่างกายแล้ว แต่พวกเรามองไม่เห็นใจกัน มีแต่ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกเท่านั้น ที่มีดวงตาเห็นธรรม มีตาทิพย์ ที่จะสามารถเห็นกายทิพย์คือใจได้ กายทิพย์หรือใจไม่ตายไปกับกายหยาบคือร่างกาย เมื่อร่างกายแตกดับไปแล้วกายทิพย์ก็ไปต่อ จะไปสูงไปต่ำก็ขึ้นอยู่กับบาปบุญที่ทำไว้ ถ้าทำบาปก็จะไปสู่ที่ต่ำไปเกิดในอบาย ไปเป็นเดรัจฉานบ้าง ไปเป็นเปรตบ้าง ไปตกนรกบ้าง ถ้าทำบุญทำกุศลรักษาศีลประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะไปเกิดเป็นเทพบ้างเป็นพรหมบ้าง เป็นพระอริยเจ้าบ้าง ไปสู่พระนิพพานบ้าง ใจไม่เกิดไม่ดับ ทำอย่างไรก็ไม่ดับ เอาระเบิดนิวเคลียร์ใส่ก็ไม่สลายหายไป ผู้ที่รู้แล้วจึงไม่กลัวตาย เพราะผู้ที่กลัวตายไม่ได้ตายนั่นเอง ส่วนผู้ที่ตายคือร่างกาย ก็ไม่รู้อะไร เป็นเหมือนกับเสาต้นหนึ่ง เอามีดไปฟันเอาค้อนไปทุบ ก็ไม่รู้สึกอะไร ใจต่างหากที่เป็นผู้รู้ พอมาเกี่ยวข้องกับร่างกาย ก็หลงคิดว่า ร่างกายเป็นตนเป็นใจขึ้นมา ก็เลยเกิดความวิตกกังวล เวลาร่างกายเป็นอะไรไป จะตกใจกลัว ผู้ที่ตกใจกลัวไม่ใช่ร่างกาย แต่คือใจนี้เอง ทั้งๆที่ใจไม่ได้เป็นอะไรไปเลย เหมือนกับดูภาพยนตร์ ดูหนังผี ทั้งๆที่เป็นภาพเฉยๆ ใจยังกลัวได้เลย เพราะใจไม่ฉลาด ถูกความหลงความมืดบอดครอบงำ เห็นอะไรก็กลัวไปหมด

 

ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนได้ปฏิบัติแล้ว จนแยกใจออกจากกายได้แล้ว จะไม่หวั่นไหวกับอะไรทั้งสิ้น จะรู้ว่าเหมือนกับดูหนังดูละคร ใจเป็นเพียงผู้ดู ส่วนกายเป็นผู้แสดง ได้อะไรมาแล้วเดี๋ยวก็ต้องหมดไป แม้แต่ร่างกาย ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องหมดไป แต่ใจไม่หมดตามร่างกาย ไม่ได้หมดไปกับอะไรทั้งสิ้น ถ้าใจฉลาดใจรู้ ก็จะไม่หลง จะไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายกับการมาการไปของสิ่งต่างๆ จะไม่อยากมีอะไรอีกต่อไป เพราะได้อะไรมาก็ต้องเสียไป เกิดมาก็ไม่ได้มีอะไรติดตัวมาด้วยเลย พอเกิดก็ได้ร่างกาย พอโตขึ้นก็ได้ข้าวของเงินทองต่างๆ ได้สามีได้ภรรยาได้ลูก พอแก่ตายไปก็ไปคนเดียว ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ผู้ที่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมจนมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว จะเบื่อหน่ายกับการเกิด เพราะเกิดแล้วจะต้องแก่เจ็บตาย ต้องพลัดพรากจากกัน เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว จะไม่ยินดีที่จะไปเกิดอีกต่อไป เมื่อไม่เกิดก็ไม่ต้องแก่เจ็บตายอีกต่อไป นี่คือใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ แต่ไม่ได้สูญหายไปไหน ไม่ได้หมายความว่า ถ้าไม่ได้เกิดแล้วจะสูญหายไปไหน ใจของท่านก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ต้องไปแบกภาระของการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ต้องไปแบกความทุกข์ต่างๆที่ตามมา ท่านอยู่กับบรมสุข ปรมัง สุขัง เพราะเห็นแล้วว่า การที่จะไม่มีทุกข์ได้นั้น  จะต้องไม่เกิดเท่านั้น ถ้ายังเกิดอยู่ ก็ยังต้องทุกข์อยู่ จึงทรงตรัสสอนว่า ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิดเท่านั้น ถ้ายังเกิดกันอยู่ ก็ยังต้องทุกข์กันอยู่ ถ้าทำความดีไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะยังไม่ได้ไปถึงที่สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็จะได้เกิดในภพที่ดี จะมีความทุกข์น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะมีปัญญาคอยสอนเราไม่ให้หลงยึดติดกับสิ่งต่างๆ ถ้ามีปัญญามากเท่าไหร่ก็จะปล่อยวางได้มากเท่านั้น ถ้ามีปัญญาเต็มที่เลยก็จะปล่อยวางได้หมดเลย

 

จึงควรเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน พระพุทธเจ้าเป็นบัณฑิต ให้คบพระพุทธเจ้า คบพระอริยสงฆสาวก แล้วเดินตามพระพุทธเจ้าพระอริยสงฆสาวก ท่านอยู่อย่างไร เราก็อยู่อย่างนั้น ท่านอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย ไม่แสวงหาสิ่งต่างๆในโลกนี้มาเป็นสมบัติ เพราะเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า เป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข ได้อะไรมาก็ต้องทุกข์กับสิ่งที่ได้มา มีความหวงความห่วง มีความเสียดายเวลาจากกัน ถ้าไม่มีก็จะไม่เดือดร้อน สิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพก็มีไม่มาก มีเพียงปัจจัย ๔ เท่านั้นเองคือ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ถ้ามีพอเพียงแล้ว เราก็ควรหยุดได้แล้ว อย่าหามามากกว่านี้ เพราะเป็นการหาความทุกข์มาใส่ตัว หาเหามาใส่หัว ถ้าอยู่เฉยๆแบบพระพุทธเจ้า แบบพระอริยสงฆสาวกได้ จะมีความสุขมาก ถ้ายังไม่ได้ทำก็ต้องเริ่มทำ พยายามตัดลดละสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพออกไป เช่นของฟุ่มเฟือยต่างๆ อย่าหลงระเริงกับของฟุ่มเฟือย ไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น แต่จะกดดันให้มีความทุกข์มากขึ้น ถ้าเคยใช้ของฟุ่มเฟือยแล้ว ก็จะติดเป็นนิสัย ต้องหาเงินมาซื้ออยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่มีเงินพอก็จะทุกข์วุ่นวายใจ  ถ้าอยู่อย่างเรียบง่าย อยู่อย่างสมถะ จะไม่มีอะไรมากดดันให้ดิ้นรนหาเงินหาทอง จะมีเวลาพัฒนาจิตใจ พัฒนาความสุขที่แท้จริง จะมีเวลามาวัดมากขึ้น แทนที่จะมาอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ก็จะมาได้หลายครั้ง มาอยู่วัดครั้งละหลายๆวัน เพราะไม่ต้องไปทำงานทำการเหมือนเมื่อก่อน เพราะพอมีพอกินแล้ว พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแล้ว พอมีเงินสะสมดูแลเราแล้ว เรื่องอะไรที่จะต้องไปวุ่นวายกับการหาเงินหาทองมาอีก ได้มามากกว่าความจำเป็น ก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น  มีพอกับความจำเป็นก็พอแล้ว มีไว้เพื่อดับทุกข์ ถ้าขาดสิ่งที่จำเป็นแล้ว ปัญหาคือความทุกข์ก็จะตามมา เช่นร่างกายขาดอาหารก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีเสื้อผ้าใส่ก็จะเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มียารักษาโรคก็อาจจะตายได้

 

ถ้ามีพอเพียงแล้ว ก็อย่าไปหาอะไรอีกเลย ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจ หาบุญบารมีดีกว่า จะทำให้สุขใจอิ่มใจ ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ความวุ่นวายใจ พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกจึงดำเนินชีวิตแบบนั้น เพราะพบทางที่ถูกแล้ว เป็นทางที่ประเสริฐ ทางที่จะนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง ไม่มีทางอื่น เป็นทางสู่ความสุขตลอดอนันตกาล ปรมังสุขังแปลว่า ความสุขที่ไม่เสื่อมคลาย ไม่มีที่สิ้นสุด ความสุขต่างๆในโลกนี้มีที่สิ้นสุด เวลาได้อะไรมาใหม่ๆ ก็ดีอกดีใจมีความสุข หลังจากนั้นก็กลายเป็นความกังวล ถ้าได้อะไรที่รักที่ชอบมา ก็จะหวงจะห่วงจะกังวล กลัวจะจากไป กลัวจะสูญหายไป ความสุขทางโลกเป็นอย่างนี้ เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล เวลาอมเข้าไปใหม่ๆก็หวานดี พอน้ำตาลละลายไปหมดก็เหลือแต่ความขมขื่น  ชีวิตของพวกเราก็เป็นอย่างนี้ เวลาอยู่คนเดียวก็รู้สึกหงอยเหงา ก็อยากจะมีคู่ครอง อยากจะมีสามีมีภรรยา พอได้พบคู่ครองก็ดีอกดีใจมีความสุข พออยู่ร่วมกันใหม่ๆก็มีความสุข พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง ความสุขก็หมดไป กลายเป็นความเคยชิน ถ้าขัดใจกันทะเลาะกัน ก็จะเสียใจไม่สบายใจ ถ้าเกิดอุบัติเหตุต้องจากกันอย่างกะทันหัน ก็จะร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ความสุขทางโลกเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงมีความสุขแบบนี้มาก่อน ทรงเป็นพระราชกุมารอยู่ในวัง มีความสุขต่างๆบำรุงบำเรอเป็นจำนวนมาก แต่ทรงเป็นคนฉลาดมีปัญญา ไม่หลงระเริงกับความสุขที่มีความทุกข์ตามมา ที่เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล จึงกล้าสละตัดความสุขแล้วออกบวช หาความสุขแบบน้ำตาลเคลือบยาขม ยอมทุกข์ยอมลำบากก่อนแล้วสุขทีหลัง วิธีของนักปราชญ์เป็นอย่างนี้

 

ยอมทรมานตน อดข้าวอดอาหาร อยู่ในที่ลำบากกันดาร อยู่ตามมีตามเกิด ไม่ได้สนใจกับเรื่องการอยู่การกิน สนใจอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรที่จะกำจัดความโลภความโกรธความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจได้ เพราะเป็นตัวสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจ ให้กับสัตว์โลกทั้งหลายไม่รู้จักจบจักสิ้น นี่คือตัวการสำคัญที่จะต้องกำจัดให้ได้ แต่ไม่ค่อยมีใครอยากจะต่อสู้กับความโลภความโกรธความหลง อยากจะเป็นพวกเดียวกัน เวลาชวนให้โลภก็โลภตาม ชวนให้โกรธก็โกรธตาม ชวนให้หลงก็หลงตาม แต่ผลที่เกิดจากการตามกิเลสเป็นอย่างไร ก็มีแต่ความทุกข์วุ่นวายใจ ถ้าต่อสู้กับมันถึงแม้จะลำบากยากเย็น พอชนะมันแล้วก็จะสบาย ไม่มีอะไรมากวนใจอีกต่อไป เช่นอยากจะเลิกสูบบุหรี่ ทุกครั้งเวลาที่อยากสูบก็ไม่สูบ ก็เท่ากับเป็นการต่อสู้กับกิเลส ตอนต้นก็จะรู้สึกอึดอัดทรมานใจ ถ้าสู้จนชนะมันได้ ต่อไปมันก็จะบังคับให้สูบบุหรี่ไม่ได้ ก็จะหลุดพ้นจากการเป็นทาสของบุหรี่ ถ้าไม่สู้มัน ทุกครั้งที่อยากจะสูบก็ต้องสูบ ก็จะสูบไปเรื่อยๆ สูบมากขึ้นไปเรื่อยๆ จากซองหนึ่งก็เป็น ๒ ซอง จาก ๒ ซองก็เป็น ๓ ซอง ไม่ช้าก็เร็วปอดก็จะเสียหาย จะต้องตายไปก่อนวัยที่ควร เพราะอ่อนแอ ไม่มีกำลังต่อสู้กับกิเลส ยังต้องการความสุขจากความโลภความโกรธความหลง เพราะไม่คิดว่าเป็นเหมือนความสุขที่เคลือบความทุกข์ไว้ พอความสุขหมดไปก็จะมีแต่ความทุกข์ ทำไมไม่เอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เอาความสุขที่มีความทุกข์เคลือบไว้

 

การที่จะได้ความสุขจากการหลุดพ้นจากกิเลส จะต้องทุกข์ลำบากก่อน ต้องต่อสู้กับกิเลสด้วยวิธีการต่างๆ พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย ต้องออกไปอยู่ในป่าในเขา อยู่อย่างลำบากลำบน ตามมีตามเกิด กินแบบตามมีตามเกิด ไม่ได้กินมากมาย กินวันละมื้อ พระธุดงค์ที่อยู่ป่าส่วนใหญ่จะถือธุดงควัตรคือ ฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว ออกบิณฑบาต ไม่มีใครเอากับข้าวกับปลามาถวายถึงที่กุฏิ  จะต้องเดินไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อาหารอะไรมาก็รับประทานไปตามที่ได้มา ไม่โทรศัพท์สั่งให้ส่งอาหารชนิดนั้นชนิดนี้มาบำรุงบำเรอ เพราะไม่ใช่วิถีทางสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ ขอให้เลือกเอาความสุขที่ตามความทุกข์มา ดีกว่าเอาความทุกข์ที่ตามความสุขมา พอความสุขหมดไปก็จะเหลือแต่ความทุกข์ ส่วนความสุขที่ตามความทุกข์มา พอความทุกข์หมดไป ก็จะเหลือแต่ความสุข จะสุขไปตลอดไม่มีที่สิ้นสุด อย่างพวกเราก็จะทุกข์ไปตลอด ไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน ถ้าเลือกเอาความสุขที่ตามความทุกข์ นี่คือทางเลือกของพวกเรา จะไปทางบัณฑิตก็ได้ ไปทางคนพาลก็ได้ จะไปทางไหนก็ควรคิดให้ดี คิดถึงผลที่จะตามมา อยากจะเป็นเหมือนพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก หรืออยากจะเป็นเหมือนพวกเรา ที่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้