กัณฑ์ที่ ๓๕๕       ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐

 

วันอาสาฬหบูชา

 

 

 

วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันคล้ายวันเกิดของพระพุทธศาสนา เป็นวันก่อตั้งพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ประกาศพระศาสนา สั่งสอนสัตว์โลกเมื่อ ๒๕๙๕ ปีมาแล้ว  พระพุทธศักราชนับเริ่มต้นตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ๔๕ ปีก่อนที่จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ถ้าอยากจะทราบอายุของพระพุทธศาสนา   ก็เอาปี พ..บวกกับ ๔๕ ปีเข้าไป ปีนี้  พ.. ๒๕๕๐ บวกอีก ๔๕ ปี เป็น ๒,๕๙๕ ปี นี่คืออายุของพระพุทธศาสนา ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่าศาสนาจะอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี ตอนนี้ก็เลยครึ่งหนึ่งไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะไม่ได้อยู่กับเราแล้วก็ตาม  เพราะศาสนาไม่ได้อยู่ที่สรีระร่างกายของพระพุทธเจ้า แต่อยู่ที่พระธรรมคำสอนที่ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว นี่คือศาสดาแทนพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจากพวกเราไปแล้ว พวกเราจึงไม่ได้อยู่ปราศจากพระศาสดา ไม่ได้อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้า   ตราบใดที่ยังมีการสั่งสอนอบรมพระธรรมคำสอน มีการศึกษา มีการปฏิบัติ มีการบรรลุผล มีการเผยแผ่ให้กับผู้อื่น นี่คือการสืบทอดพระศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงริเริ่ม เมื่อ ๒,๕๙๕ ปีมาแล้ว 

 

ในเบื้องต้นตอนที่ได้ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ  ในวันเพ็ญเดือน ๖ วันวิสาขบูชา ทรงท้อพระทัย ไม่อยากจะประกาศพระศาสนา ไม่อยากที่จะสั่งสอนสัตว์โลก ทรงเห็นว่าสิ่งที่ได้ทรงตรัสรู้เห็นนั้น เป็นสิ่งที่ยากสำหรับสัตว์โลกจะปฏิบัติได้  จึงไม่ปรารถนาที่จะสั่งสอนสัตว์โลก ต่อมามีท้าวมหาพรหม  ได้มากราบอาราธนา  ขอให้เมตตากรุณาต่อสัตว์โลก หลังจากที่ได้ทรงพิจารณา ก็ทรงเห็นว่าสัตว์โลกมีระดับสติปัญญาที่ต่างกัน ทรงจำแนกไว้เป็น ๔ พวกด้วยกัน เปรียบเหมือนบัว ๔ เหล่า คือ ๑. บัวที่อยู่เหนือน้ำแล้ว พอได้รับแสงอาทิตย์ก็จะบานออกมา  เปรียบเหมือนคนที่ฉลาดมาก มีความรู้มาก  พอได้ยินได้ฟังเพียงคำสองคำ ก็จะเข้าใจ สามารถรู้ตามได้  ๒. บัวที่เพิ่งโผล่พ้นน้ำ ต้องรออีกวันสองวันถึงจะบานได้ เป็นเหมือนคนที่มีสติปัญญารองลงมา  ถ้าได้ยินได้ฟังหลายๆครั้ง ก็จะบรรลุธรรมได้  ๓. บัวที่ยังอยู่ใต้น้ำ ที่จะโผล่เหนือน้ำในลำดับต่อไป เป็นเหมือนคนที่มีสติปัญญาปานกลาง ต้องใช้เวลาศึกษาไปเรื่อยๆก่อน ชาตินี้อาจจะยังไม่ได้บรรลุธรรม ได้แต่สะสมบุญบารมีไปก่อน ๔. บัวที่อยู่ก้นบ่อก้นสระ อยู่กับตมกับโคลน จะไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำและบานได้เลย เพราะจะกลายเป็นอาหารของปูของปลาไป  เปรียบเหมือนคนที่มีสติปัญญาทึบ  หูหนวกตาบอดทางปัญญา  พวกนี้จะไม่เชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  จะไม่เชื่อว่าบาปมีจริง บุญมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง สั่งสอนไปก็เสียเวลาเปล่าๆ เหมือนกับเทน้ำใส่แก้วที่คว่ำไว้ เทลงไปเท่าไรก็ไม่สามารถเก็บน้ำได้แม้แต่หยดเดียวเพราะไม่ได้หงายแก้วขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงไม่สอนคนเหล่านี้ จะทรงสอนแต่พวกที่มีโอกาสจะบรรลุธรรมได้

 

จึงทรงมุ่งสอนพวกที่มีสติปัญญาแหลมคมก่อน พร้อมจะบรรลุธรรมได้ทันที  ถ้าได้ยินได้ฟังสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จึงทรงคิดถึงพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่เคยติดตามปรนนิบัติพระพุทธเจ้ามา แต่ได้แยกทางไปตอนก่อนที่จะทรงตรัสรู้  ทรงเห็นว่าพระปัญจวัคคีย์มีบารมีพร้อมที่จะบรรลุธรรมได้  ถ้าได้ยินได้ฟังสิ่งที่พระพุทธเจ้าจะทรงสอน จึงทรงมุ่งไปหาพระปัญจวัคคีย์ ในวันนี้คือวันเพ็ญเดือน ๘  ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกโปรดพระปัญจวัคคีย์   พระธรรมเทศนานี้มีชื่อว่า     ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แสดงพระอริยสัจ ๔  ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา  คือความจริง  ๔ ประการ  ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์โลกทุกตัวทุกบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในสมัยไหน สัตว์โลกที่เกิดมาในโลกนี้จะต้องอยู่ภายใต้สัจจะทั้ง ๔ นี้  คือ  ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์หมายถึงความทุกข์ใจ  สัตว์โลกเมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีความทุกข์ใจด้วยกันทั้งนั้น มีความไม่สบายใจ กังวลใจ เสียใจ หวาดกลัวเป็นต้น   ความทุกข์นี้ทรงตรัสว่าเกิดจากอริยสัจข้อที่ ๒ คือ สมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ ประกอบด้วยตัณหาความอยาก  ๓ ชนิดด้วยกันคือ  ๑. กามตัณหา ความอยากในกาม ๒. ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น ๓. วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ความอยากทั้ง ๓ นี้ที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 

เช่นอยากมีความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็ต้องห่วงกังวลกับร่างกาย  เพราะต้องอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข  ถ้าร่างกายพิกลพิการไป ก็จะไม่สามารถหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ ถ้าตาบอดไปก็จะไม่สามารถหาความสุขจากการดูสิ่งต่างๆได้  ถ้าหูหนวกก็ไม่สามารถหาความสุขจากการฟังสิ่งต่างๆได้  นี่คือความทุกข์ที่เกิดจากความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องละความอยากนี้เสีย  คืออย่าไปอยากดู อยากฟัง อยากลิ้มรส  อยากดมกลิ่น อยากสัมผัสกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ทางร่างกาย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ  มีอะไรดูก็ดูไป มีอะไรฟังก็ฟังไป ไม่มีก็ไม่เดือดร้อน ถ้าอย่างนี้ก็จะไม่ทุกข์ แสดงว่าไม่มีความอยากทางรูปเสียงกลิ่นรส ไม่มีกามตัณหา ความอยากในกาม  พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนถ้าอยากจะดับความทุกข์ใจ  ก็ต้องละความอยากทั้ง ๓ เสีย  อย่าไปอยาก เพราะอยากแล้วเป็นทุกข์   อย่าไปอยากดีกว่า จะมีความสุขที่ดีกว่า เวลาได้อะไรมาก็มีความสุขใจ แต่พอเสียอะไรไปก็มีความทุกข์ตามมา ถ้าไม่อยากกับอะไรเลย เวลาเสียอะไรไปก็จะไม่เสียใจ จะรู้สึกเฉยๆ จะมีความสุขทั้งๆที่เสียสิ่งต่างๆไป  เพราะมีความสุขที่ดีกว่า ที่เกิดจากการดับความอยากนั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ดับความทุกข์ให้ได้ คือทำนิโรธ อริยสัจข้อที่ ๓ ให้แจ้ง  ด้วยการเจริญมรรค อริยสัจข้อที่ ๔  ที่เป็นเครื่องมือดับทุกข์ใจ ประกอบด้วย ทานคือการให้  ศีลการไม่เบียดเบียนกัน ภาวนาการทำจิตใจให้สงบ ให้เกิดปัญญา ให้เข้าใจในความจริงของชีวิตว่า ความทุกข์เกิดจากความอยาก ความสุขเกิดจากการไม่อยาก ต้องตัดความอยากให้หมดสิ้นไป ด้วยการทำบุญให้ทานรักษาศีลและภาวนา

 

นี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนในวันแรก หลังจากนั้นก็มีพระปัญจวัคคีย์หนึ่งท่าน ได้มีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยะขั้นที่ ๑  พ้นจากการเกิดในอบาย มีภพชาติเหลือไม่เกิน ๗ ชาติ จะเกิดแต่ในสุคติ คือภพของมนุษย์ของเทพเท่านั้น นี่คืออานิสงส์ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังธรรมครั้งแรก  หลังจากนั้นก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์อีก ๒,๓ ครั้ง พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นกิเลสตามพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย ไม่ต้องพลัดพรากจากกัน  จิตได้เข้าสู่พระนิพพาน มีความสุขเต็มที่ตลอดไป ตลอดอนันตกาล ไม่มีที่สิ้นสุด นี่คือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะได้รับ จากการน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาศึกษาและปฏิบัติ จิตใจจะค่อยเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ  เพราะการปฏิบัติจะชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ ที่เป็นเหตุทำให้ทุกข์วุ่นวายใจ  ให้ปฏิบัติมากขึ้นไปเรื่อยๆ จากทานก็รักษาศีล จากศีลก็ภาวนา นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ ด้วยอุบายวิธีต่างๆ จะสวดมนต์ไปก่อนก็ได้   สวดไปภายในใจไม่ต้องออกเสียงก็ได้   ข้อสำคัญเวลาสวด ให้มีสติรู้อยู่กับการสวด อย่าเผลอไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ให้อยู่กับบทสวดมนต์อย่างเดียว  สวดไปเรื่อยๆ จิตจะค่อยสงบลงไปๆจนสงบนิ่ง ก็จะปรากฏความสุขสบายใจขึ้นมา เป็นการดับทุกข์วิธีหนึ่ง

 

เวลาไม่สบายอกไม่สบายใจ คิดถึงเรื่องนั้นคิดถึงเรื่องนี้แล้วทำให้เกิดความกังวล ความวุ่นวายใจ ก็อย่าไปคิดถึงมัน ให้สวดมนต์แทน สวดบทไหนก็ได้ที่จำได้ บทสั้นก็ได้ บทยาวก็ได้ ข้อสำคัญคือให้สวดไปเรื่อยๆ สวดหลายๆรอบ อย่าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ พอสวดไปสักระยะหนึ่งก็จะลืมเรื่องที่ทำให้เราไม่สบายใจ ความสุขก็จะปรากฏขึ้นมา เราก็จะรู้ว่า เรื่องต่างๆไม่สำคัญเลย อะไรจะเกิดก็เกิด ใครจะอยู่ก็อยู่ ใครจะจากไปก็จากไป ไม่สำคัญอะไร เพราะเรามีความสุขได้โดยไม่ต้องมีอะไร นี้คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการสวดมนต์ ทำจิตใจให้สงบ จะรู้ขึ้นมา  จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ไม่มีอะไรก็มีความสุขได้  จะเสียอะไรไปมากน้อยเพียงไร ก็ไม่เป็นปัญหาเลย เพราะยังมีความสุขได้ ด้วยการสวดมนต์นี่เอง นี่คือวิธีดับทุกข์ เป็นการสร้างความสุขอย่างแท้จริง ความสุขอย่างอื่นที่ต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ อาศัยคนนั้นคนนี้ เป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่รู้ว่าคนนั้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้ จะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่ จะเปลี่ยนไปหรือเปล่า  ถ้าเปลี่ยนไปหรือจากไป เราก็ต้องเสียอกเสียใจร้องห่มร้องไห้ นี่คือความสุขที่เกิดจากการมีสิ่งต่างๆ มีบุคคลนั้นมีบุคคลนี้ ความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราปฏิบัติกัน ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้หรือบุคคลนั้นบุคคลนี้เลย  แต่อาศัยความศรัทธาคือความเชื่อ เชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัตินั้น  เป็นการสร้างความสุขที่แท้จริง  เมื่อมีศรัทธาแล้วจะมีความขยันหมั่นเพียร ที่จะปฏิบัติตาม จะไม่เสียดายกับสิ่งต่างๆในโลกนี้เลย  

 

ทรงสอนให้ทำบุญทำทานก็ทำอย่างเต็มใจ ไม่เสียดายกับสิ่งที่ให้ไป เพราะรู้ว่าไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริง เวลาให้แล้วใจจะเบาจะสุข ไม่ต้องกังวลกับสิ่งนั้นอีกต่อไป ถ้ายังมีสิ่งนั้นอยู่ก็ยังต้องคอยดูแลรักษา คอยหวงคอยกังวล เวลาสูญเสียไปหายไป ก็จะต้องเสียอกเสียใจ ถ้าให้ผู้อื่นไปด้วยความยินดี ด้วยความพอใจ คิดว่าเป็นการช่วยเหลือกัน เป็นการทำบุญทำทาน ก็จะเกิดความสุขขึ้นมา จึงอย่าเสียดายกับสิ่งต่างๆที่เหลือกินเหลือใช้  เอาไปแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน จะช่วยระงับดับความทุกข์ความกังวลใจในวัตถุข้าวของต่างๆได้ จะลดความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ลงไปด้วย เวลาให้แล้วจะอิ่มเอิบใจ จะไม่อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ จึงควรเสียสละให้มาก ให้ทานให้มาก ถ้ามีเวลาว่างก็ฝึกทำจิตใจให้สงบ ไหว้พระสวดมนต์ แทนที่จะเสียเวลาไปดูหนังฟังเพลง ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านวุ่นวาย หิวกระหายไม่รู้จักจบจักสิ้น เอาเวลามาฝึกทำจิตใจให้สงบ  ด้วยการสวดมนต์จะดีกว่า ถ้าสวดมนต์เป็นทำสมาธิเป็นแล้ว ต่อไปไม่ต้องไปเที่ยวข้างนอกให้เสียเวลา เพราะมีที่เที่ยวอยู่ในบ้านแล้ว อยู่ในตัวเรา เที่ยวข้างในดีกว่า  เที่ยวด้วยการสวดมนต์ พอสวดมนต์แล้วจิตใจจะสงบอิ่มเอิบใจพอใจ จะไม่อยากไปไหน ไม่อยากได้อะไร ไม่ดีกว่าหรือ เพราะความอยากเป็นโทษ  เมื่ออยากแล้วอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องดิ้นรนหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มา หามาได้มากน้อยเพียงไรก็ไม่เคยพอ ได้มาแล้วก็อยากจะได้ใหม่อีก ก็จะต้องดิ้นรนไปเรื่อยๆ จนแก่ตายไป ก็ต้องไปเกิดใหม่ ไปดิ้นรนใหม่ ทำอย่างนี้มานับไม่ถ้วนแล้ว ไม่รู้กี่รอบแล้ว ตายเกิดมาไม่รู้กี่รอบแล้ว ไม่เบื่อกันบ้างเลยหรือ  ทำไมไม่ทำตามพระพุทธเจ้า  คือทำจิตใจให้สงบ จะได้ไม่อยากได้อะไร ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป ไม่ต้องไปแก่ ไม่ต้องไปเจ็บ ไม่ต้องไปตาย ไม่ต้องพลัดพรากจากกัน นี่คือทางของผู้ประเสริฐ ของผู้ที่รู้จริงเห็นจริง เป็นทางไปสู่ความสุขที่แท้จริง ไม่มีทางอื่น ทางอื่นมีแต่ความทุกข์ ความวุ่นวาย ความเศร้าโศกเสียใจ  การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้