กัณฑ์ที่ ๓๖     ๒๐ มกราคม ๒๕๔๔

พระพุทธเจ้า

เวลาที่นึกถึงน้ำตาล เราย่อมนึกถึงความหวาน เวลาที่นึกถึงเกลือ เราย่อมนึกถึงความเค็ม ฉันใดเวลาที่นึกถึงพระพุทธศาสนา เราย่อมนึกถึงพระพุทธเจ้า เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของคู่กัน  น้ำตาลย่อมมีรสหวาน เกลือย่อมมีรสเค็ม พระพุทธศาสนาย่อมมีพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดา  ดังนั้นทุกครั้งที่มีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา  เราจึงตั้งนะโม ๓ จบ นะโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมา สัมพุทธัสสะ แปลความว่า ขอนอบน้อมนมัสการในองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นพระนามที่ทรงใช้หลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้ธรรมในวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว แต่ก่อนนี้พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  เริ่มแรกทีเดียวพระองค์ทรงมีพระนามว่าเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงออกผนวช พระองค์ทรงได้พระนามใหม่เป็นสมณโคดม  หลังจากที่ทรงประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ประมาณ ๖ ปี จึงทรงตรัสรู้ธรรมจากนั้นทรงเรียกพระองค์เองว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

การที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้นั้น มีสาเหตุมาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธองค์ทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร พระองค์ทรงได้พบเห็นเทวทูต      คือ   . คนแก่   . คนเจ็บ    . คนตาย   . สมณะนักบวช   หลังจากที่ได้ทรงเห็นเทวทูตทั้ง ๔ นี้แล้ว  พระองค์ทรงได้สติเกิดปัญญาขึ้นมาว่า    คนเราทุกคนไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ   จะเป็น ขอทานหรือพระเจ้าแผ่นดินก็ตาม เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายด้วยกันทุกคน  ไม่มีใครหนีพ้นความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้  เมื่อตายไปแล้ว ของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลายย่อมหมดไป  ไม่สามารถเอาติดตัวไปได้

เมื่อยังมีกิเลสตัณหาอยู่ในจิต ยังมีความอยากอยู่ในใจ ก็ยังต้องไปเกิดใหม่อีก เมื่อเกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นสัจจะของสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิด  พระองค์ทรงมีปัญญา มีความเข้าใจในเรื่องนี้ดี ทรงเห็นว่ามีวิธีเดียวเท่านั้นที่จะไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย  นั่นก็คือต้องไม่เกิด การที่จะไม่เกิดได้นั้นก็ต้องระงับต้นเหตุของการเกิด คือกิเลสตัณหาทั้งหลายที่มีอยู่ในจิตใจ   เมื่อเห็นสมณะนักบวชจึงทรงเกิดศรัทธาอยากจะออกบวชเป็นสมณะเพื่อแสวงหาโมกขธรรม การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ในคืนหนึ่งทรงได้ทราบข่าวว่าพระมเหสีได้คลอดพระโอรส  พระองค์ทรงเปล่งอุทานว่าราหุล แปลว่าบ่วง ลูกเป็นบ่วงผูกมัดพ่อแม่ไว้ติดกับลูก พ่อแม่กับลูกย่อมมีความผูกพันต่อกันและกัน  พระองค์เปรียบเหมือนกับกวางเนื้อที่ฉลาด เมื่อเห็นนายพรานเอากับดักมาวางไว้ก็จะไม่เข้าไปใกล้กับดักนั้น ฉันใดพระองค์ก็ทรงเห็นว่าพระโอรสก็เป็นเหมือนบ่วง เป็นเหมือนกับดัก จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกจากพระราชวังในคืนนั้นโดยมีมหาดเล็กตามส่งเสด็จ หลังจากได้ทรงปลงพระเกศาและทรงเครื่องของสมณะแล้ว ทรงมอบเครื่องทรงของราชกุมารให้มหาดเล็กนำกลับพระราชวังไป

จากนั้นพระองค์ทรงพยายามศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย  แต่ครูบาอาจารย์เหล่านั้นสอนได้แต่ศีลกับสมาธิเท่านั้น ไม่มีใครรู้จักวิชาวิปัสสนาปัญญาที่จะทำให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้  ในสมัยนั้นไม่มีใครรู้จักวิชานี้  เมื่อไม่มีใครรู้จักวิชานี้พระองค์ก็เลยต้องศึกษาด้วยพระองค์เอง  ลองผิดลองถูก ไปๆมาๆ จนกระทั่งในที่สุดก็พบวิชาวิปัสสนาปัญญาขึ้นมา ทรงค้นพบพระอริยสัจสี่ สัจจธรรมที่นำพาสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากการเกิดแก่เจ็บตาย  การเวียนว่ายตายเกิด หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงบรรลุถึงพระอริยสัจสี่ พระหทัยของพระองค์ก็สะอาดหมดจด ปราศจากกามตัณหา  ความอยากในกาม ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ต้นเหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายไปเกิดนั้นเอง  ถ้าไม่มีตัณหาทั้ง ๓ นี้แล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จะให้ไปเกิดอีกต่อไป เหมือนกับรถยนต์ที่ไม่มีน้ำมันเหลืออยู่ในถัง  รถยนต์ก็ไม่สามารถวิ่งไปไหนได้ 

พระพุทธองค์ทรงสามารถปฏิบัติตามหลักพระอริยสัจสี่ได้ครบถ้วน คือ  . ทุกข์ที่จะต้องกำหนดรู้  ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว  . สมุทัยที่จะต้องละ ได้ทรงละแล้ว   . นิโรธที่จะต้องทำให้แจ้ง ได้ทรงทำให้แจ้งแล้ว  . มรรคที่จะต้องเจริญให้มาก ได้ทรงเจริญอย่างสมบูรณ์แล้ว นี่คือภารกิจในพระอริยสัจสี่  เครื่องมือที่ใช้กำหนดดูทุกข์ ละตัณหา ทำนิโรธให้แจ้ง ก็คือมรรค เมื่อได้เจริญมรรคอย่างเต็มที่แล้ว ย่อมเห็นทุกข์ว่าเป็นเรื่องธรรมดา คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นเรื่องธรรมดา  เมื่อเกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย  ยอมรับความจริงนี้ได้ คือไม่ฝืน ไม่หนี ไม่ต่อสู้กับความแก่ ไม่ต่อสู้กับความเจ็บ ไม่ต่อสู้กับความตาย และก็ไม่กลัวความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะรู้ว่ากลัวอย่างไร ต่อสู้อย่างไร ก็ไม่สามารถจะเอาชนะความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ไปได้  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ปลง  เมื่อปลงได้ก็ละตัณหาได้ คือละความไม่อยากแก่ ความไม่อยากเจ็บ ความไม่อยากตายลงได้  เมื่อสามารถละตัณหาได้ ความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย ก็หมดไป  นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา  นั่นก็คือได้นิโรธทำให้แจ้ง

นี่คือกิริยาทั้ง ๔ ในพระอริยสัจสี่ ที่มีความต่อเนื่องกัน  อยู่ที่มรรคเป็นองค์สำคัญ  ผู้ใดสามารถเจริญมรรคให้ได้มากๆจนเห็นอย่างชัดแจ้งว่าการแก่ การเจ็บ การตาย  เป็นผลที่ตามมาจากการเกิด หนีจากการแก่ การเจ็บ การตาย ไปไม่ได้  ก็ยอมรับการแก่ การเจ็บ การตาย  ไม่กลัวการแก่ การเจ็บ การตาย    ไม่มีความอยากที่จะหนีการแก่ การเจ็บ การตาย  เมื่อยอมรับการแก่ การเจ็บ การตาย  ก็เท่ากับได้ละสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ เมื่อละสมุทัยได้แล้ว นิโรธการดับทุกข์ก็ปรากฏขึ้นมา

พระพุทธองค์ทรงอุตส่าห์ประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นเวลานานถึง ๖ ปีด้วยกัน ในที่สุดก็ค้นพบพระอริยสัจสี่ ทรงปฏิบัติกิจในพระอริยสัจสี่ได้อย่างครบถ้วน ทรงสามารถตัดตัณหาทั้งสามได้ คือกามตัณหา ความอยากในกาม ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น  ถ้าละตัณหาทั้ง ๓ นี้ได้ก็เท่ากับตัดภพชาติได้ เหมือนกับการตัดไฟ ต้องตัดด้วยการนำเอาเชื้อไฟออกจากกองไฟ ถ้ามีฟืนอยู่ในกองไฟ ก็ต้องเอาฟืนออกจากกองไฟ แล้วไฟก็จะค่อยๆดับไป เพราะว่าไม่มีเชื้อที่จะทำให้ไฟลุกต่อไปได้ ภพชาติก็เช่นเดียวกัน จะไม่มีกับผู้ที่ละตัณหาทั้ง ๓ นี้ได้ การที่จะละตัณหาทั้ง ๓ นี้ได้ ก็ต้องอาศัยเครื่องมือก็คือมรรคนั้นเอง มรรคเป็นเครื่องดับไฟ มรรค ที่มีองค์ ๘ เรียกย่อๆว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ทาน ศีล ภาวนา นี่คือมรรค ผู้ที่เจริญมรรคนี้อย่างต่อเนื่อง เท่ากับเป็นผู้กำหนดรู้ทุกข์ เป็นผู้ละตัณหาความอยากทั้ง ๓  เป็นผู้ที่ได้ทำนิโรธการดับทุกข์ให้แจ้งขึ้นมา ผู้ที่สามารถทำกิจทั้ง ๔ นี้ได้ จะเป็นผู้ที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เพราะทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิด

ผู้บรรลุพระอริยสัจสี่ได้ด้วยตนเองโดยไม่มีผู้ใดสั่งสอน เรียกตนเองว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเรียนรู้จากผู้อื่น เช่นนำเอาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติ ด้วยการทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิวิปัสสนาอย่างต่อเนื่องจนจิตหลุดพ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง จากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา  บุคคลนั้นจะไม่เรียกตนเองว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จะเรียกตนเองว่าเป็นพระอรหันตสาวก  สาวกแปลว่าผู้ฟัง  ต้องได้ฟังเรื่องพระอริยสัจสี่จากผู้อื่น ไม่ได้เรียนรู้พระอริยสัจสี่ด้วยตัวเอง  แต่รู้จากการได้ยินได้ฟังคำเทศนาของพระพุทธเจ้า  เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว ก็เอามาประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  ก็กลายเป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา 

ในแต่ละพระพุทธศาสนาจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว  นอกนั้นเป็นพระอรหันตสาวก  ท่านจะไม่เรียกตนเองว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะคำว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหมายถึงผู้ตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองโดยชอบ  เป็นผู้ศึกษาค้นคว้า ลองผิดลองถูก จนกระทั่งบรรลุพระอริยสัจสี่ขึ้นมา จึงได้เรียกตนเองว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ที่ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา จะเรียกตนเองว่าพระอรหันตสาวก  แต่ความบริสุทธิ์ของจิตใจของพระพุทธเจ้ากับของพระอรหันตสาวกนั้นเท่ากัน ความสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดก็เท่ากัน   ความสิ้นกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เท่ากัน ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย นิพพานของพระพุทธเจ้ากับนิพพานของพระอรหันตสาวกก็เหมือนกัน  เพราะนิพพานก็คือการสิ้นกิเลสนั่นเอง  สิ้นแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นปรมังสุญญัง เป็นจิตที่สะอาดหมดจด  ไม่มีเชื้อแห่งภพชาติเหลืออยู่ในจิต

พระนิพพานมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ  . สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่   . อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว ตอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ใต้ต้นโพธิ์นั้น พระพุทธองค์ทรงบรรลุถึงสอุปาทิเสสนิพพาน คือได้บรรลุถึงนิพพานในขณะยังมีชีวิตอยู่ ส่วนตอนที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ทรงเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน     คือนิพพานที่ไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว  

พระพุทธเจ้าก็มี ๒ ลักษณะเช่นกันคือ . พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่ประกาศสั่งสอนธรรมะให้กับสัตว์โลก เหมือนกับพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้  พระองค์ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือหลังจากที่ทรงตรัสรู้ธรรมแล้ว ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ ทรงนำเอาธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มาเผยแผ่ มาสั่งสอนผู้อื่น ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา   . พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าที่หลังจากตรัสรู้แล้วไม่ได้สั่งสอนธรรมะให้กับผู้หนึ่งผู้ใดเลย

นี่คือเรื่องราวความเป็นมาของพระพุทธเจ้า ทุกๆครั้งที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าจะเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วจะทำให้เกิดกำลังใจที่จะประกอบคุณงามความดี เกิดกำลังใจที่จะละความชั่วทั้งหลาย เกิดกำลังใจที่จะประพฤติปฏิบัติ ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ  เพื่อการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้