กัณฑ์ที่ ๓๖๒       ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐

 

ใบไม้ในกำมือ

 

      

 

การฟังเทศน์ฟังธรรมมีคุณมีประโยชน์มาก เป็นสิริมงคลอย่างแท้จริง เพราะฟังแล้วจะเกิดกุศลความฉลาด  ความรู้ทางธรรมะมีความสำคัญต่อการอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  ปราศจากความทุกข์ ความวุ่นวายใจต่างๆ ความรู้ทางโลกแม้จะมีมากเพียงใดก็ตาม ก็เป็นความรู้แบบท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะดับความทุกข์ใจ ความวุ่นวายใจ ความกังวลใจไม่ได้  มีแต่ความรู้ในทางธรรมเท่านั้นที่จะดับได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเราศึกษาพระธรรมคำสอนอยู่เรื่อยๆ แล้วนำเอาไปปฏิบัติ เพื่อผลดีงามที่จะตามมาต่อไป  ไม่ต้องสนใจความรู้ทางโลกมากจนเกินไป ไม่ต้องเสียใจถ้าไม่ได้เรียนจบปริญญา ไม่ได้เรียนสูงๆ  เรียนไปก็เท่านั้น  สู้เรียนทางธรรมไม่ได้  จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ว่าจะยากดีมีจน ถ้ามีธรรมะแล้ว ถึงแม้จะยากจนไม่ได้เรียนจบปริญญา ก็จะมีความสุขมากกว่าได้เรียนจบปริญญา มีความร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี แต่ไม่มีธรรมะ  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนแต่ธรรมะ  ทั้งๆที่ทรงรู้เรื่องอื่นมาก แต่ไม่ทรงนำเอามาสั่งสอน เพราะไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้นำไปสู่ความดับทุกข์ สู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด  ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำมือหนึ่งแล้วทรงถามพระภิกษุว่า ใบไม้ที่อยู่ในมือของตถาคต กับใบไม้ที่อยู่ในป่าทั้งหมด ส่วนไหนจะมากกว่ากัน พระภิกษุก็ทูลตอบไปว่า ใบไม้ในกำมือมีเพียงนิดเดียว จะไปมากกว่าที่มีอยู่ในป่าได้อย่างไร พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ความรู้ที่ตถาคตรู้ก็เป็นเหมือนใบไม้ในป่า มีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้นำเอามาสั่งสอน สิ่งที่สอนเป็นเหมือนใบไม้ในกำมือ แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการดูแลรักษาจิตใจ ให้อยู่เหนือความทุกข์ต่างๆ ให้สนใจธรรมะคำสอนก็พอแล้ว ไม่ต้องสนใจความรู้อื่นๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร  เป็นความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด  ความรู้ที่ตถาคตสอนมีอยู่เพียง ๗ ข้อเท่านั้นเอง   ให้เรียนรู้จนเข้าใจ แล้วนำเอาไปปฏิบัติ  เพื่อป้องกันไม่ให้ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ความกังวลใจ มาเหยียบย่ำทำลายจิตใจ  ความรู้ทั้ง ๗ ข้อมีดังต่อไปนี้คือ  ๑. รู้เหตุ   ๒. รู้ผล  ๓. รู้ตน  ๔. รู้บุคคล  ๕. รู้สังคม  ๖. รู้กาลเทศะ  ๗. รู้ประมาณ  ถ้ารู้แล้วปฏิบัติตามได้ ก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญก้าวหน้าโดยถ่ายเดียว จะไม่มีความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ความกังวลใจเลย  จึงควรจะศึกษาความรู้ทั้ง  ๗ ข้อนี้ให้ดี แล้วปฏิบัติให้ถูก 

 

ข้อที่ ๑. ทรงสอนให้รู้เหตุ  คือการกระทำทางกายวาจาใจ   ทำแล้วจะมีผลตามมา  รู้ว่าต้องมีเหตุก่อนผลถึงจะตามมา การกระทำทำได้  ๓ วิธีด้วยกัน ทำดี ทำไม่ดี ทำที่ไม่ใช่ดีและไม่ใช่ไม่ดี  เมื่อทำแล้วก็จะมีผลตามมา ๓ ประการเช่นเดียวกันคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำไม่ดีไม่ชั่วได้ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่ารู้  เหมือนกับการปลูกต้นไม้  ถ้าปลูกต้นมะม่วงผลก็จะต้องเป็นมะม่วง  ถ้าปลูกส้มผลก็จะต้องเป็นส้ม จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้  ฉันใดการกระทำที่เป็นเหตุก็เป็นเช่นนั้น  ทำดีย่อมได้ดี  ทำชั่วย่อมได้ชั่ว  ไม่ทำดีหรือชั่ว  ย่อมไม่ได้ผลดีหรือชั่ว ถ้าต้องการความสุขความเจริญก็ต้องทำความดี ถ้าไม่ต้องการความทุกข์ความเสื่อมเสีย ก็ต้องละการกระทำความชั่ว นี่คือรู้เหตุและรู้ผล เมื่อรู้แล้วก็ต้องนำเอาไปปฏิบัติ เช่นอยากจะได้ความสุขความเจริญ  ก็ต้องทำความดี เช่นมีความกตัญญูกตเวที มีสัมมาคารวะ มีการเสียสละ มีการให้ มีความเมตตากรุณา ทำไปแล้วจะมีแต่ผลดีตามมา ทั้งที่เกิดภายในใจและจากผู้อื่น  ทำความดีแล้วจะมีความสุขใจภูมิใจ ผู้อื่นก็ยินดีสนับสนุนยกย่องสรรเสริญ  ส่วนการกระทำบาป ทำความชั่ว ทำไม่ดี ก็จะนำผลที่ไม่ดีมาให้เกิด  เช่นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ลักทรัพย์  ประพฤติผิดประเวณี  พูดปดมดเท็จ  เสพสุรายาเมา  จะนำมาซึ่งความทุกข์ ความเสื่อมเสีย จะเป็นที่น่ารังเกียจ น่าประณาม น่าจับไปลงโทษ ไม่น่ายกย่องสรรเสริญ

 

นี่คือการรู้เหตุรู้ผล ให้คิดให้จำไว้เสมอว่าผลเกิดจากเหตุ  ผลดีเกิดจากการทำความดี  ผลไม่ดีเกิดจากการทำไม่ดี ไม่ได้เกิดจากผู้อื่น เกิดจากการกระทำของเราทั้งนั้น ถ้าต้องการผลที่ดีก็ต้องทำความดี ไม่ต้องไปขอจากใคร ไม่ต้องไปขอจากพระวิเศษ เพราะท่านให้เราไม่ได้  ให้ได้อย่างมากก็คืออวยพร  ให้มีความสุขมีความเจริญ แต่ไม่ได้เป็นเหตุที่จะทำให้สุขให้เจริญ  คำอวยพรเป็นเพียงการแสดงความปรารถนาดีเท่านั้น  ไม่ได้ทำให้สุขและเจริญ  ต้องเกิดจากการทำความดีเท่านั้น ถ้าไม่ต้องการความเสื่อมเสียความหายนะ ก็ต้องละเว้นจากการทำบาป  ถ้าไม่ทำบาปแล้วจะไม่มีความเสื่อมเสียตามมา ไม่มีความทุกข์ตามมา  ยังมีเหตุอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก็คือ เหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ เหตุที่จะทำให้ความทุกข์ดับ เหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ก็คือความอยากต่างๆ ถ้ามีความอยากแล้วใจจะไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่อิ่ม ไม่พอ ต้องดิ้นรนหาสิ่งที่อยาก  พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้รู้เหตุของความทุกข์ใจ ว่าเกิดจากความอยาก อยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น เวลาอยากจะออกไปเที่ยวแล้วไม่ได้ออกไปก็จะมีความทุกข์ความวุ่นวายใจ เวลาอยากเป็นอะไรแล้วไม่ได้เป็น ก็จะเกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจ เช่นอยากเป็นสส. เป็นนายกฯ เป็นกำนัน เป็นผู้ใหญ่บ้าน พอไม่ได้เป็นก็จะเสียใจ  เวลาอยากไม่เป็นอะไรแล้วต้องเป็นก็เกิดความทุกข์ความวุ่นวายใจเช่นเดียวกัน เช่นอยากไม่แก่แล้วต้องแก่ก็จะเสียใจ อยากไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วต้องเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเสียใจ อยากไม่ตายเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตายก็จะต้องเสียใจ นี่คือต้นเหตุ ของความทุกข์ 

 

ทรงสอนให้รู้เหตุที่จะดับความทุกข์ ก็คือการไม่อยากนั่นเอง  ถ้าไม่อยากเสียอย่างเดียวปัญหาต่างๆก็จบ  ถ้าไม่อยากออกไปเที่ยว อยู่บ้านเฉยๆได้ ก็มีความสุข ถ้าไม่อยากเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน เป็นสส. เป็นนายกฯ  เวลาไม่ได้เป็นก็ไม่เดือดร้อนอะไร สบายใจ  ถ้าเลิกไม่อยากแก่เจ็บตายได้ คือพร้อมที่จะแก่ พร้อมที่จะเจ็บ พร้อมที่จะตาย เวลาแก่เวลาเจ็บเวลาตายก็จะรู้สึกเฉยๆ เพราะผู้ที่แก่เจ็บตาย กับผู้ที่ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย เป็นคนละคนกัน  ผู้ที่แก่เจ็บตายก็คือร่างกาย  ผู้ที่ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายก็คือใจ   แต่ใจไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เพียงแต่ใจไม่รู้ เพราะหลงนั่นเอง ใจไม่มีธรรมะ ไม่มีกุศล ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะ จึงไม่เข้าใจ จึงหลงคิดว่าใจเป็นร่างกาย พอร่างกายเป็นอะไร ใจก็ไม่อยากจะให้เป็น ก็เลยเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา   ถ้าใจรู้ว่าใจไม่ได้เป็นร่างกาย  เวลาร่างกายแก่เจ็บตาย  ใจก็ไม่ได้แก่เจ็บตายไปด้วย  ก็จะเลิกไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายได้  พอไม่อยากแล้วความทุกข์ใจก็ไม่มีตามมา  นี่คือเรื่องของการรู้เหตุและการรู้ผล เป็นอย่างนี้ ให้นำเอาไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติดู  รับรองได้ว่าจะมีแต่ความสุขความเจริญ จะอยู่ห่างไกลจากความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ

 

. รู้ตน รู้จักตัวเราเอง ว่าเป็นอะไร เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้าไม่รู้ก็จะทำผิด  เช่นเป็นผู้หญิงแต่ทำตัวเป็นผู้ชาย เป็นผู้ชายแล้วทำตัวเป็นผู้หญิง แสดงว่าไม่รู้ตน ก็จะเกิดความวุ่นวาย จะต้องไปแปลงเพศ ตัดส่วนนี้ต่อส่วนนั้น วุ่นวายไปหมด แทนที่จะอยู่อย่างมีความสุข กลับต้องทุกข์วุ่นวาย เพราะไม่รู้ตนนั่นเอง ไม่รู้ว่าตนเป็นหญิงหรือเป็นชาย เป็นหญิงแล้วอยากจะเป็นชายก็วุ่นวาย เป็นชายแล้วอยากจะเป็นหญิงก็วุ่นวาย นอกจากตนเองจะวุ่นวายแล้ว ยังไม่เป็นที่รักของผู้อื่นด้วย พ่อแม่ก็ต้องเสียอกเสียใจ ทำไมลูกของเราถึงเป็นอย่างนี้  ถ้ารู้ตนก็จะปฏิบัติถูก จะอยู่อย่างสุขอย่างสบาย   เป็นชายก็อยู่แบบชาย  เป็นหญิงก็อยู่แบบหญิง เรื่องความรู้สึกนี้มันแก้ได้เปลี่ยนได้  อย่าให้อยู่เหนือเหตุผล เหนือความเป็นจริง เช่นความอยากต่างๆก็เป็นความรู้สึก พอมีความอยากแล้วก็จะมีความทุกข์ตามมา  ถ้าระงับดับความอยากได้ ความทุกข์ต่างๆก็ดับไปเช่นเดียวกับเป็นหญิงแล้วอยากเป็นชาย เป็นชายแล้วอยากเป็นหญิง ก็ดับความอยากนั้นเสีย  ความทุกข์ก็จะหายไป อยู่อย่างชายอย่างหญิงได้อย่างสบาย ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาอยู่ที่ใจที่หลง ไม่รู้ตนนั่นเอง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  เป็นชายแล้วอยากเป็นหญิง  เป็นหญิงแล้วอยากเป็นชาย เรียกว่ามิจฉาทิฐิความหลงผิด  จึงต้องเอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแก้ไข ด้วยการรู้ตน  รู้ว่าเราเป็นอะไร ต้องปฏิบัติตามฐานะ  เป็นหญิงก็ต้องทำตัวให้เป็นหญิง  เป็นชายก็ต้องทำตัวให้เป็นชาย  เป็นพระก็ต้องทำตัวให้เป็นพระ  เป็นฆราวาสก็ต้องทำตัวให้เป็นฆราวาส  ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาได้  เป็นพระแล้วทำตัวเป็นฆราวาสก็จะถูกจับสึก เป็นฆราวาสแล้วทำตัวเป็นพระ ก็จะถูกว่าเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล  จึงต้องรู้จักตัวเรา ว่าเราเป็นอะไร และปฏิบัติให้เหมาะสมกับฐานะ จะไม่มีปัญหาตามมา  จะมีแต่ความสุขสบายใจ 

 

๔. รู้บุคคล นอกจากรู้ตัวเราแล้ว ต้องรู้คนอื่นที่เราเกี่ยวข้องด้วย มีหลายประเภท มีคนที่สูงกว่าเรา คนที่เท่าเรา คนที่ต่ำกว่าเรา การปฏิบัติต่อคนประเภทต่างๆย่อมแตกต่างกัน  คนที่สูงกว่าเรา เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์  ก็ต้องให้ความเคารพ ความกตัญญูกตเวที คนที่เสมอเราก็ต้องปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง  มีเมตตาไมตรีจิตต่อกัน หยอกล้อกันได้ ไม่ต้องกราบไหว้กัน คนที่ต่ำกว่าเช่นลูกหลาน ก็ต้องให้ความเอ็นดู สงสาร ดูแลช่วยเหลือ ต้องรู้ว่าคนในสังคมมีฐานะต่างกัน  จะถือว่าเป็นคนเหมือนกัน แล้วปฏิบัติเหมือนกันหมดไม่ได้ จะไปลูบศีรษะพ่อแม่ไม่ได้ ลูบศีรษะลูกได้  กราบลูกไม่ได้ ต้องกราบพ่อกราบแม่ 

 

๕. รู้สังคม คือขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม เช่นสังคมไทยมีประเพณีเวลาไปจะลาเวลามาจะไหว้  มีการยกมือไหว้ทักทายกัน  ถ้าไปอยู่อีกประเทศหนึ่งก็มีประเพณีที่ต่างกันไป   ถ้าเป็นฝรั่งก็จับมือทักทายกัน แทนที่จะยกมือไหว้  ถ้าเป็นญี่ปุ่นก็จะก้มโค้งศีรษะกัน การปฏิบัติของแต่ละสังคมจึงไม่เหมือนกัน  จึงต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่เชื่อก็ไม่ควรลบหลู่ ไม่ควรทำผิดประเพณี  เขาทำอย่างไรก็ทำตามไป เป็นชาวพุทธแล้วไปเข้าโบสถ์ของชาวคริสต์  ก็ควรทำตามเขาไป เพราะเป็นกิริยาเท่านั้นเอง ทำเพื่อรักษามารยาท รักษาน้ำใจ  ดีกว่าไม่ทำ ถ้าไม่ทำจะดูน่าเกลียด  อย่าเข้าไปดีกว่า  ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปก็ควรทำตาม  ไม่ได้หมายความว่าจะเข้ารีตหรือนับถือศาสนาเขา แต่ทำเพื่อไม่ให้เสียมารยาท เพื่อรักษาน้ำใจกันเท่านั้นเอง 

 

. รู้กาลเทศะ รู้เวลาและสถานที่ต่างๆ ว่าควรจะทำอย่างไร เช่นเวลามาวัดควรจะมาเวลาไหน แต่งกายอย่างไร พอมาถึงศาลาแล้วเขากำลังทำอะไรกันอยู่ กำลังตักบาตร ถวายอาหารคาวหวาน หรือกำลังฟังเทศน์ฟังธรรม กำลังทำพิธี  กำลังรับศีลรับพร  ต้องรู้จักกาลเทศะ ไม่ใช่กำลังฟังเทศน์ฟังธรรมกันอยู่ แต่เราจะถวายข้าวปลาอาหาร จะตักบาตร ก็ทำไปโดยไม่สนใจว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่ อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้จักกาลเทศะ ทำไปแล้วเท่ากับประกาศความโง่ของตนให้ผู้อื่นได้เห็น ว่าเป็นคนหูหนวกตาบอด ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา  ถ้าทำตัวให้เหมาะกับกาลเทศะแล้ว ก็จะไม่เป็นคนเชย ไม่เป็นคนโง่ นี่คือการรู้กาลเทศะ     

 

๗. รู้ประมาณ คือรู้ความพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป ไม่ใหญ่ไป ไม่เล็กไป เช่นรองเท้าที่เราใส่ ต้องไม่ใหญ่เกินเท้า เพราะใส่แล้วจะหลวม  ใส่ไม่สบาย ถ้าเล็กไปก็จะคับ จะเจ็บเท้า ไม่ดี ไม่พอดี ต้องให้พอดี ทุกอย่างต้องพอดี ไม่ว่ารองเท้า เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหารก็ต้องรับประทานให้พอดี ไม่มากจนเกินไป ไม่น้อยจนเกินไป มากไปก็จะอ้วนน้ำหนักเกิน มีโรคภัยต่างๆเบียดเบียน น้อยไปก็จะผอมแห้งแรงน้อย มีโรคภัยเบียดเบียนเช่นกัน ต้องกินให้พอดี คือพออิ่ม พออิ่มแล้วก็หยุด อย่ากินต่อ ทั้งๆที่อยากจะกิน อย่ากินตามความอยาก กินตามความต้องการของร่างกาย พอรู้สึกอิ่มแล้วให้หยุดทันที อย่าขอต่ออีกคำสองคำ เพราะจะไม่เป็นคำสองคำ แต่จะเป็นจานสองจาน  ให้รู้จักพอดี ให้รู้จักฐานะ ใช้จ่ายตามฐานะ อย่าใช้เกินตัว  อย่าใช้มากกว่าที่หามาได้ จะมีปัญหาตามมา จะต้องเป็นหนี้เป็นสิน จะต้องเดือดร้อนไปเรื่อยๆ

 

รวมทั้งหมดแล้วก็มี ๗ ข้อด้วยกันคือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้บุคคล รู้สังคม รู้กาลเทศะ  รู้ประมาณ  ถ้ารู้ทั้ง ๗ ข้อนี้แล้วปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะฉลาดกว่าคนที่เรียนจบปริญญาเอกเสียอีก  เพราะคนที่เรียนจบปริญญาเอกแต่ไม่มีความรู้ทั้ง ๗ ข้อนี้แล้ว มักจะเอาตัวไม่รอด จะมีความทุกข์ความวุ่นวายใจตามมาอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น  แต่คนที่มีความรู้ทั้ง ๗ ข้อและปฏิบัติตามได้แล้ว จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข มีแต่ความเจริญก้าวหน้า ปราศจากความทุกข์ความวุ่นวายใจทั้งหลาย นี่คือความรู้ที่สำคัญแก่ชีวิตของเรา อยู่ที่ความรู้ทางศาสนานี้ มีอยู่ ๗ ข้อดังที่ได้แสดงไว้แล้ว  จึงขอให้นำเอาไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ  เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้