กัณฑ์ที่ ๓๖๕       ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๐

 

กิจในพระอริยสัจ ๔

 

 

 

การปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคุณเป็นประโยชน์มาก แต่โอกาสที่จะได้ปฏิบัติตามไม่เกิดขึ้นมาง่ายนัก เพราะพระพุทธศาสนาไม่ปรากฏขึ้นมาในโลกอย่างง่ายดาย ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงตรัสรู้แล้ว นำเอาพระธรรมคำสอนมาเผยแผ่สั่งสอนสัตว์โลก ถ้าไม่ประกาศพระศาสนา ก็จะไม่มีพระพุทธศาสนาให้พวกเราได้นับถือ ได้เคารพ ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติตาม ได้ตักตวงประโยชน์ที่สูงสุด ที่ไม่มีคำสอนใดจะมอบให้กับเราได้ นอกจากคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะพระธรรมคำสอนสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ต่างๆที่มีอยู่ในใจของเรา ปลดเปลื้องภพชาติต่างๆ การเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ให้หมดสิ้นไปได้ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงประกาศพระศาสนา ก็จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พวกเราก็จะไม่รู้ว่ามีพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมาในโลกนี้ เนื่องจากไม่ทรงประกาศพระศาสนาสั่งสอนสัตว์โลกนั่นเอง จึงถือว่าเป็นบุญเป็นวาสนาของพวกเรา ที่ได้มาเกิดในภพนี้ชาตินี้ ได้มาเจอพระพุทธศาสนา เราจึงควรจะรีบฉวยโอกาสนี้ให้เกิดคุณเกิดประโยชน์ที่สูงสุด ถ้าเกิดเป็นมนุษย์แต่ไม่ได้เจอพระพุทธศาสนา ก็จะไม่ได้ศึกษาปฏิบัติ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้ามีพระพุทธศาสนาแต่ไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เช่นมาเกิดเป็นสุนัขอยู่ในวัดนี้ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะสุนัขไม่มีสติปัญญา พอที่จะศึกษาปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ดังนั้นการจะหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ จำต้องมีทั้งร่างกายของมนุษย์และมีพระพุทธศาสนา

 

เมื่อมีทั้ง ๒ อย่างนี้แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องมีอีกก็คือศรัทธา ความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้มีอิทธิบาท ๔ ตามมา คือฉันทะความพอใจที่จะศึกษาปฏิบัติ วิริยะความพากเพียรที่จะศึกษาปฏิบัติ จิตตะจิตใจจดจ่อกับการศึกษาปฏิบัติ วิมังสาจิตใจใคร่ครวญกับการศึกษาปฏิบัติ เราจึงต้องปลูกฝังศรัทธาให้เกิดขึ้นให้ได้ ให้เชื่อว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าศึกษาและปฏิบัติตาม ก็จะหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้  ดับความทุกข์ทั้งหลายได้  ถ้าเชื่อว่ากรรมมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริงและเป็นทุกข์ เพราะเกิดแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่น่าปรารถนาเลย สิ่งที่น่าปรารถนาก็คือการไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ที่จะเกิดขึ้นจากการศึกษาและปฏิบัติตาม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ต้องศึกษาพระอริยสัจ ๔  คือ ๑. ทุกข์  ๒. สมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ ๓. นิโรธ ความดับทุกข์  ๔. มรรค ทางดำเนินสู่ความดับทุกข์ ต้องศึกษาและปฏิบัติทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นกิจในพระอริยสัจ ๔ ถ้าปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ ๔ นี้ได้แล้ว ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ได้ ก็ต้องปฏิบัติภารกิจทั้ง ๔ ประการนี้ให้ครบถ้วนบริบูรณ์

 

ภารกิจในอริยสัจ ๔ ข้อที่ ๑  ก็คือ ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ต้องศึกษาให้รู้ว่าทุกข์คือความเกิดแก่เจ็บตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา โดยสรุปก็คือการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ อุปาทานในขันธ์ ๕ คือยึดติดกับชีวิตจิตใจ เพราะขันธ์ ๕ ก็คือองค์ประกอบของชีวิตจิตใจ มีอยู่ ๕ ส่วน คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปก็คือร่างกายของเรา มีอาการ ๓๒ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น จิตใจก็มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรายึดติดในรูปขันธ์ด้วยการอยากจะให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย อยากจะให้อยู่ไปนานๆ ยึดติดในจิตใจด้วยการอยากจะให้ใจมีแต่ความสุขไม่มีความทุกข์ เรียกว่าอุปาทานในขันธ์ ยึดติดในขันธ์ ๕ โดยสรุปทุกขสัจจะก็คืออุปาทานในขันธ์ ๕ อุปาทานในชีวิตจิตใจ อยากจะให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง มีความสุขโดยถ่ายเดียว ซึ่งขัดกับความเป็นจริง เพราะเกิดมาแล้วก็ต้องมีความแก่ความเจ็บความตายเป็นธรรมดา มีการพลัดพรากจากของรักเป็นธรรมดา มีการประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาเป็นธรรมดา จึงทรงสอนให้กำหนดรู้ ให้ศึกษาจนเห็นความจริงของชีวิตว่าเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเกิดมาแล้วต้องแก่เจ็บตายด้วยกันทุกคน ต้องพลัดพรากจากกัน ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาด้วยกันทุกคน ถ้าศึกษาแล้ว ก็จะเห็นต้นเหตุของความทุกข์ คือความอยากต่างๆของเรานี้เอง ความอยากที่สวนกับความจริงของชีวิต ที่เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่เราอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย อยากไม่พลัดพรากจากกัน อยากไม่ทุกข์ อยากจะมีแต่ความสุข นี่คือต้นเหตุของความทุกข์ ถ้าความอยากเหล่านี้อยู่ อยากให้คนนั้นคนนี้ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ก็จะเกิดความทุกข์ใจไม่สบายใจขึ้นมา

 

จึงทรงสอนให้ละต้นเหตุของความทุกข์ เป็นภารกิจข้อที่ ๒ สมุทัยต้องละ คืออย่าไปอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าจะอยากก็ให้อยากในสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจะไม่ทุกข์ เช่นอยากแก่อยากนี้จะไม่ทุกข์ เวลาแก่จะไม่เสียใจเพราะสมใจอยาก อยากจะเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะสมใจ เมื่อถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย อยากจะตายก็จะสมใจ จะไม่เสียใจจะไม่ทุกข์ใจ อยากจะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก อยากจะประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา นี่คือวิธีละความอยาก ต้องสวนทางกับมัน มันอยากไม่แก่เราก็ต้องอยากแก่ มันอยากไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ต้องอยากเจ็บไข้ได้ป่วย มันอยากไม่ตายเราก็ต้องอยากตาย ถ้าสวนกับมันได้แล้ว ต่อไปจะเฉยๆ จะอย่างไรก็ได้ เมื่อถึงเวลาแก่ก็แก่ เวลาเจ็บก็เจ็บ เวลาตายก็ตาย แต่ใจจะไม่วุ่นวาย เพราะละความอยาก ต้นเหตุของความทุกข์ได้แล้ว นี่คือภารกิจข้อที่ ๒ ต้องละความอยากต่างๆ ละความอยากมีอยากเป็น อยากมีความสุข อยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย อยากไม่ทุกข์ อยากไม่ยากจน  ถ้าละได้แล้ว ผลคืออริยสัจข้อที่ ๓ ก็จะปรากฏขึ้นมา คือความดับทุกข์  เป็นภารกิจข้อที่ ๓ คือนิโรธต้องทำให้แจ้ง ทำความดับทุกข์ให้ ด้วยการละตัณหาความอยากต่างๆ ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ การจะละสมุทัยได้ก็ต้องมีมรรคอริยสัจข้อที่ ๔ เป็นเครื่องมือสู่การดับทุกข์ ทรงสอนให้เจริญให้สมบูรณ์ เป็นภารกิจข้อที่ ๔ มรรคต้องเจริญให้สมบูรณ์ ถ้ามีมรรคมากเท่าไหร่ ก็จะมีกำลังละสมุทัยได้มากเท่านั้น มีกำลังที่จะทำให้ความดับทุกข์แจ้งมากขึ้นไปเท่านั้น  มรรคคืออะไร มรรคก็คือทานศีลภาวนา ได้แก่  ๑. ทานคือการให้  ๒. ศีลคือการไม่เบียดเบียนกัน  ๓. ภาวนาคือการพัฒนาจิตใจให้สงบให้ฉลาด รู้ทันกับความจริงของชีวิต ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา นี่คือมรรค ถ้าเจริญมรรคได้สมบูรณ์แล้ว ก็เท่ากับได้ทำภารกิจทั้ง ๔ ข้อได้ครบถ้วนบริบูรณ์

 

เพราะการกำหนดรู้ทุกข์ ก็คือการเจริญมรรคนั่นเอง เวลาศึกษาทุกข์ก็เท่ากับได้เจริญวิปัสสนาภาวนาหรือเจริญปัญญา พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ก็จะเห็นสัจธรรมข้อที่ ๒ คือสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ คือความอยากต่างๆ เมื่อรู้แล้วว่าความทุกข์เกิดจากสมุทัยความอยากต่างๆ ก็ต้องละ อยากได้อะไรก็ต้องละ อยากอยู่ไปนานๆ ก็ต้องไม่อยากอยู่ไปนานๆ  ไม่อยากแก่ก็ต้องอยากแก่ ไม่อยากเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องอยากเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่อยากตายก็ต้องอยากตาย คือไม่กลัวตาย ไม่กลัวเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่กลัวความแก่ ถ้าไม่กลัวก็จะไม่ทุกข์ เมื่อไม่ทุกข์ก็เท่ากับได้ละสมุทัยความอยากต่างๆ ได้ทำนิโรธความดับทุกข์ให้แจ้ง ด้วยการเจริญมรรคนี้เอง มรรคจึงต้องเจริญให้มาก เจริญให้สมบูรณ์ เมื่อเจริญจนสมบูรณ์แล้ว จะรู้ว่าทุกข์คืออะไร จะรู้ว่าสมุทัยคืออะไร จะละสมุทัยได้ จะทำนิโรธความดับทุกข์ให้แจ้งขึ้นมา นี่คือภารกิจ ๔ ประการในอริยสัจ ๔ ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าปรารถนาที่จะก้าวพ้นจากความทุกข์ ก้าวพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จำต้องทำภารกิจในอริยสัจ ๔ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าทำได้แล้ว ก็จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ถ้าปฏิบัติภารกิจในอริยสัจ ๔ โดยไม่มีใครสั่งสอน เช่นเจ้าชายสิทธัตถะหรือสมณโคดม ก็จะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า หลังจากได้ทรงออกบวชแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญสมณธรรมตามลำพัง ไม่มีครูไม่มีอาจารย์สั่งสอนภารกิจในอริยสัจ ๔ จึงต้องศึกษาและค้นคว้าด้วยตนเอง จนปฏิบัติภารกิจในอริยสัจ ๔ ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าทรงสั่งสอนก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่สั่งสอนก็เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

 

ส่วนผู้ที่ได้ยินได้ฟังอย่างพวกเรา ในวันนี้ได้ยินได้ฟังเรื่องภารกิจในอริยสัจ ๔ ถ้าน้อมเอาไปปฏิบัติได้ จนทำภารกิจในอริยสัจ ๔ ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันตสาวก คำว่าสาวกแปลว่าผู้ฟัง ก่อนที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสาวกได้ ต้องได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนก่อน จะมาอุตริว่าเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ถ้าได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน แล้วเอาไปปฏิบัติ ได้ทำกิจในอริยสัจ ๔ จนครบถ้วนบริบูรณ์ จนจิตสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความโลภความโกรธความหลงแล้ว ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันตสาวก แต่เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าหมายถึงผู้ที่ศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติภารกิจในพระอริยสัจ ๔ ได้ด้วยตนเองเท่านั้น แต่ความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ไม่มีความแตกต่างกัน ในเรื่องการหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็หลุดพ้นเท่าๆกัน จิตใจสะอาดบริสุทธิ์หมดจดเหมือนกัน ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน ต่างกันตรงที่คนหนึ่งต้องศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติด้วยตนเองไม่มีใครสั่งสอน ส่วนอีกคนหนึ่งมีคนสั่งสอนแล้วก็ปฏิบัติตาม จนหลุดพ้นได้ แตกต่างกันตรงนี้ แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร เพราะการหลุดพ้นด้วยตนเองไม่ใช่ของง่าย ขนาดมีคนสั่งสอนอย่างพวกเรา ฟังเทศน์ฟังธรรมกันอยู่เป็นปีๆแล้ว ยังไม่สามารถปฏิบัติให้หลุดพ้นได้เลย ถ้าต้องศึกษาค้นคว้าปฏิบัติด้วยตนเอง ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย การปรากฏของพระพุทธเจ้าขึ้นมาแต่ละพระองค์ จึงไม่ใช่ของง่าย ไม่เหมือนกับการปรากฏของพระอรหันตสาวก พอมีพระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นมาแล้ว ได้ประกาศพระธรรมคำสอนให้กับสัตว์โลกแล้ว ก็จะมีผู้สามารถนำเอาไปปฏิบัติตามได้เป็นจำนวนมาก ปรากฏมีพระอรหันต์ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เช่นในศาสนานี้

 

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอน สั่งสอนสัตว์โลกไปเพียง ๗ เดือนเท่านั้น ก็ปรากฏมีพระอรหันต์ขึ้นมาถึง ๑,๒๕๐ รูป ในวันมาฆบูชา วันเพ็ญเดือน ๓ นั่นเอง เป็นวันที่มีพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ได้มาเฝ้าพระพุทธจ้าโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน ถ้านับเวลากลับไปก็เป็นเวลา ๗ เดือน ตั้งแต่วันแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอน คือในวันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา นับจากวันเพ็ญเดือน ๘ มาถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ก็ ๗ เดือน สามารถสั่งสอนอบรม ให้สัตว์โลกกลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ อย่างน้อยก็ ๑,๒๕๐ รูปแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏมีพระอรหันต์มีพระพุทธเจ้า มาเป็นกัปเป็นกัลป์เลยทีเดียว เพราะการจะปรากฏของพระพุทธเจ้าขึ้นมาแต่ละครั้งเป็นสิ่งที่ยากมาก ผู้ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องบำเพ็ญบุญบารมีเป็นเวลาอันยาวนาน จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า พอบรรลุแล้วก็สามารถทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้อย่างง่ายดาย มีเป็นจำนวนมากในศาสนาพุทธของเรานี้ มีพระอรหันตสาวกนับจำนวนไม่ถ้วน เพราะบุญบารมีของพระพุทธเจ้า ที่ได้ศึกษาปฏิบัติด้วยตนเองจนบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็นำเอามาสั่งสอนพวกเราอีกทีหนึ่ง พวกเราจึงไม่ควรปล่อยให้โอกาสอันดีงามนี้ผ่านพ้นไป ถ้ายังไม่สามารถปฏิบัติกิจในพระอริยสัจได้ อย่างน้อยก็บำเพ็ญทานบารมีศีลบารมีไปก่อน เพื่อที่จะได้เข้าสู่ขั้นภาวนา ทำจิตใจให้สงบ เพื่อจะได้ปฏิบัติภารกิจในอริยสัจ ๔ ต่อไป

 

จึงควรให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญ ไม่ควรปล่อยให้เวลาผ่านไป โดยไม่ได้ทำบุญทำทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เพราะจะเป็นการเสียโอกาส เสียเวลา เสียชาติเกิด เกิดมาแล้วไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ไม่ได้ตัดภพตัดชาติให้น้อยลงไป ไม่ได้ทำให้ความทุกข์เบาบางลงไป จึงควรตั้งหน้าตั้งตาศึกษาปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจในพระอริยสัจ ๔ คือ ๑. ทุกข์ต้องกำหนดรู้  ๒. สมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ต้องละ  ๓. นิโรธความดับทุกข์ต้องทำให้แจ้ง  ๔. มรรคคือทางสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ต้องเจริญให้สมบูรณ์ ถ้าบำเพ็ญได้แล้ว ก็จะสามารถประกาศให้โลกรู้ได้ว่า ทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้ เราได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยที่ต้องละ เราได้ละแล้ว นิโรธความดับทุกข์ที่ต้องทำให้แจ้ง  เราได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ต้องเจริญให้สมบูรณ์ เราได้เจริญอย่างสมบูรณ์แล้ว นี่คือวาจาของพระพุทธเจ้าหลังจากที่ได้ทรงบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระอรหันต์ทุกรูปก็เช่นเดียวกัน จะเปล่งวาจานี้ขึ้นมาเหมือนกัน ประกาศศักดิ์ศรีความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ จึงควรน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้ามาศึกษาปฏิบัติ นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปพินิจพิจารณา เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้