กัณฑ์ที่ ๓๖๘       ๒ กันยายน ๒๕๕๐

 

พิสูจน์คำสอน

 

        

 

วันนี้ท่านทั้งหลายได้มาวัด เพื่อปฏิบัติภารกิจของพุทธศาสนิกชน  เพื่อพิสูจน์ให้รู้ว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นสวากขาโต ภควตา ธัมโม  เป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบแล้วหรือไม่  เป็นความจริงหรือไม่ เราพิสูจน์ได้ถ้าน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพราะเป็นเหมือนกับรับยาจากหมอมารักษาโรคของเรา  ถ้ารับประทานยาก็จะรู้ว่ายาจะรักษาโรคได้หรือไม่ ถ้าไม่รับประทานก็จะไม่รู้  ถ้ารับประทานแล้วโรคหายไป  ก็รู้ว่ายารักษาโรคได้ ถ้าโรคไม่หายก็แสดงว่ายารักษาโรคไม่ได้   ฉันใดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นเหมือนกับยา  ที่เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า  นรกสวรรค์กรรมมีจริงหรือไม่  ตายแล้วต้องไปเกิดใหม่ ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่หรือไม่  ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  เป็นจริงหรือไม่ ด้วยการศึกษาพระธรรมคำสอนแล้วน้อมเอาไปปฏิบัติ ถ้ายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ คือยังไม่เห็นว่าตายแล้วยังต้องไปเกิดอีก ก็แสดงว่ายังปฏิบัติไม่ถึงขั้นที่ต้องปฏิบัติ ถ้าเป็นยาก็ยังรับประทานยาไม่ครบ ยังขาดยาบางชนิด  หมอให้ยามาหลายชนิดด้วยกัน  แต่รับประทานเพียงบางชนิด  โรคก็จะไม่หาย พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ท้าให้เราพิสูจน์ก็เช่นเดียวกัน  ถ้าประพฤติปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามที่ได้ทรงสอนให้ปฏิบัติ  ก็จะยังไม่เห็นผลเต็มที่  อาจจะเห็นเป็นบางส่วน ถ้าได้ปฏิบัติอย่างครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น  เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ปิดบังแต่อย่างใด สิ่งที่ปิดบังใจไม่ให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น ก็คืือความมืดบอดของใจ ที่เหมือนคนหลับตา ย่อมไม่เห็นสิ่งที่คนลืมตามองเห็น  ถ้าลืมตาขึ้นมา ก็จะเห็นสิ่งต่างๆ  เช่นเดียวกับคนที่ลืมตาเห็น

 

คำสอนของพระพุทธเจ้าสอนเพื่อให้เราลืมตาใจขึ้นมา ที่ตอนนี้ถูกความมืดบอด คืออวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลงทำให้หลับ  พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้เบิกตาใจ  ด้วยการปฏิบัติตามคำสอน ถ้าเพียงแต่ศึกษาได้ยินได้ฟัง แต่ไม่ได้นำเอาไปปฏิบัติ ก็เหมือนกับการรับยาจากหมอแต่ไม่ได้รับประทาน เอาวางไว้เฉยๆ แล้วรอให้โรคหาย  อย่างนี้โรคก็จะไม่หาย ต้องรับประทานยา ฉันใดพระธรรมคำสอนก็เป็นเช่นนั้น  เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ต้องน้อมเอามาปฏิบัติ  ธรรมที่ทรงสอนให้ปฏิบัติก็มีอยู่  ๓ ขั้นด้วยกันคือ  ๑. ทานคือการให้  ๒. ศีลการไม่เบียดเบียนกัน  ๓. ภาวนาการชำระความมืดบอดของใจให้หายไป ทำใจให้สว่างขึ้นมา นี่คือธรรมะ ๓ ขั้นตอนที่ใช้ในการพิสูจน์คำสอนว่าจริงหรือไม่ ถ้าทำไม่ครบถ้วนหรือทำไม่ถูก ก็จะยังไม่เห็น  ถ้าทำถูกต้องครบถ้วนแล้วก็จะเห็น เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น  เพราะได้ลืมตาใจขึ้นมาแล้ว  เมื่อตาใจสว่างไสวด้วยแสงสว่างแห่งธรรมแล้ว  สิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น ก็จะปรากฏขึ้นมาภายในใจ จะเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย  เห็นกรรม เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เห็นมรรคผลนิพพาน  เห็นการสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันตสาวก รับรองคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นความจริง ไม่มีพระอรหันตสาวกองค์ใดออกมาค้าน ว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น ทรงนำเอามาสั่งสอนสัตว์โลกนั้น ไม่เป็นความจริง  มีแต่รับรองพระธรรมคำสอนทุกๆองค์เลย  เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสันทิฏฐิโก ที่ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยตนเอง ด้วยการปฏิบัติทาน ปฏิบัติศีล ปฏิบัติภาวนา  ถ้าฟังเฉยๆ แต่ไม่ปฏิบัติก็จะยังไม่เห็น ถ้าฟังแล้วนำเอามาปฏิบัติก็จะเห็นอย่างแน่นอน เพราะความจริงเป็นอย่างนี้ เหตุผลเป็นอย่างนี้

 

เหมือนกับวัดญาณฯถ้ายังไม่เคยมา ก็จะไม่ีรู้ว่าเป็นอย่างไร ถ้าเดินทางมาถึงวัดแล้ว ก็จะรู้ว่าวัดญาณฯเป็นอย่างไร จะหายสงสัยว่าวัดญาณฯมีจริงหรือไม่ เพราะได้มาพิสูจน์กับตัวเองแล้ว ด้วยการเดินทางมาที่วัด  ถ้าฟังคนอื่นเล่าให้ฟัง ก็จะไม่รู้ว่าเป็นดังที่เขาพูดหรือไม่ นี่คือหลักของการพิสูจน์พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วต้องเอาไปปฏิบัติดู ต้องไปดูถึงจะเห็น ถ้าไม่ไปดูก็จะไม่เห็น ต้องดูด้วยการปฏิบัติธรรม ๓ ขั้น คือขั้นแรกให้ทำทาน ให้บริจาคทรัพย์ สิ่งของต่างๆ ที่มีเหลือกินเหลือใช้ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดูแลอัตภาพชีวิตร่างกาย ก็แบ่งปันให้ผู้อื่นไป แล้วก็ให้รักษาศีล ไม่ให้เบียดเบียนกัน เพื่อสนับสนุนการกระทำขั้นที่ ๓ คือการภาวนา  ถ้ายังไม่ได้ทำบุญให้ทาน ยังมีความตระหนี่ ยังหวงในสมบัติข้าวของเงินทองอยู่ ก็จะไม่มีความเมตตากรุณา  ก็จะเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะไม่มีศีล เมื่อไม่มีศีลจิตก็จะไม่สงบ จิตจะวุ่นวาย ก็จะไม่สามารถเจริญจิตตภาวนาทำจิตให้สงบได้ เมื่อจิตไม่สงบก็จะไม่สามารถพิจารณาธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณา ให้เห็นตามความเป็นจริงได้  เมื่อไม่สามารถภาวนาได้ ผลที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นก็จะไม่ปรากฏขึ้นมาในใจ ดังนั้นถ้ายังไม่ได้ทำบุญทำทานอย่างจริงๆจังๆ ก็ต้องทำก่อน  ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ทำตามธรรมเนียมประเพณี  ทำตามวาระโอกาส เช่นทำในวันเกิดบ้าง ในวันสำคัญทางศาสนาบ้าง ทำเวลาที่มีคนตายบ้าง เหล่านี้เป็นการทำตามเหตุการณ์ ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ถ้าทำอย่างจริงจังต้องทำด้วยความยินดี ความพอใจ ความเมตตากรุณา ที่ทำให้มีความสุขความอิ่มความพอ เป็นการให้อาหารใจ 

 

เวลาเรารับประทานอาหารเราไม่ได้สักแต่ว่ารับประทาน ไม่ได้รอเหตุการณ์แล้วค่อยรับประทาน รอวันเกิิดค่อยรับประทาน   รอวันตายของคนนั้นคนนี้ค่อยรับประทาน  ถ้ารออย่างนี้ร่างกายก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะได้รับอาหารไม่พอเพียง   ฉันใดการให้อาหารใจด้วยการให้ทาน เพื่อให้ใจมีกำลังปฏิบัติธรรมขั้นสูงได้ เช่นการรักษาศีลก็ดี การภาวนาก็ดี ก็ต้องให้อย่างจริงจัง เพื่อให้ใจมีกำลัง  มีความอิ่มความพอ  จะได้ไม่ทะเยอทะยานอยากได้สิ่งต่างๆที่ไม่จำเป็น จะได้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะอยู่อย่างสงบอยู่อย่างสันติได้ ถ้าอยากได้อะไรก็หามาโดยไม่เบียดเบียนกัน ก็จะมีศีลขึ้นมา จิตใจก็จะสงบเย็นสบาย ไม่วุ่นวาย ต่างกับเวลาที่ไปทำผิดศีล จะไม่สบายอกสบายใจ  หวาดผวาหวาดกลัว เพราะรู้ว่าได้ทำในสิ่งที่ไม่ดี  สร้างเวรสร้างกรรมให้กับผู้อื่น ก็กลัวว่าจะถูกจองเวรจองกรรม ถูกทำร้าย  ใจก็จะไม่สงบไม่สบาย  จะทำจิตใจให้สงบนิ่งก็จะทำได้ยาก หรือทำไม่ได้เลย เพราะต้องต่อสู้กัน ลำพังจิตที่มีศีลแล้วเวลาทำสมาธิก็ยังไม่ง่ายเลย เพราะใจยังคิดเรื่องราวต่างๆ ที่จะขวางการทำใจให้สงบ ถ้ามีความวุ่นวายใจที่เกิดจากการไปเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะทำให้การภาวนาทำจิตใจให้สงบนิ่ง ยากเป็นสองเท่า จึงต้องตัดความวุ่นวายใจภายนอกออกไปก่อน ที่เกิดจากการเบียดเบียนผู้อื่น ด้วยการมีศีล ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา  ใจจะได้ไม่วุ่นวายกับเรื่องภายนอก เหลือแต่เรื่องภายในใจที่ยังอดที่จะคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ไม่ได้ แต่ก็จะไม่หนักเหมือนกับตอนที่ไม่มีศีล เพราะต้องกังวลกับเรื่องจองเวรจองกรรมอีก  

 

จึงทรงสอนให้ทำทานก่อนอย่างจริงจัง เหมือนกับการรับประทานอาหาร  ไม่รับประทานแบบเล่นๆ สักแต่ว่ารับประทาน  แต่รับประทานอย่างจริงจัง รับประทานจนอิ่มเลย  ฉันใดการทำบุญให้ทานก็ต้องทำอย่างจริงจัง อย่าสักแต่ว่าทำ  ทำให้ผู้อื่นมีความสุข  ให้ได้สิ่งที่ดีจากเรา ไม่ใช่สักแต่ว่าให้ ให้ของที่ไม่ใช่แล้ว จะโยนทิ้งแล้ว จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร สู้ทำอย่างตั้งใจทำจริงๆไม่ได้ อยากจะให้เขามีความสุขจริงๆ เหมือนกับเราอยากมีความสุขจากการได้รับของดีๆ ฉันใดเวลาเราอยากจะให้ผู้อื่นมีความสุข  ก็ต้องให้ของดีๆ อย่าให้ของที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ เพราะจะไม่ทำให้อิ่มเอิบใจ ถ้าพิถีพิถันให้จะทำให้มีความอิ่มเอิบใจ มีความสุขใจ ความพอใจ เวลาถวายสังฆทานก็ควรพิถีพิถันซื้อของที่ใช้ได้  อย่าซื้อของที่จัดไว้จัดเป็นชุดๆ ผู้รับจะไม่ได้ใช้เพราะมีล้นวัด  เป็นของซ้ำๆซากๆกัน เป็นของไม่มีคุณภาพ  คนถวายก็สักแต่ถวาย คนรับก็สักแต่รับ ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร ถ้าพิถีพิถันสักหน่อย ซื้อของที่ผู้รับใช้ได้ ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่นสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน น้ำดื่มเป็นต้น เป็นของที่มีประโยชน์ ดีกว่าซื้อของที่จัดมาเป็นสิบๆชุด ที่ไม่มีคุณภาพ สู้ซื้อของดีๆสักชิ้นหนึ่งจะดีกว่า  เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง  ทำทานแล้วก็จะทำให้มีศีล ไม่เบียดเบียนกัน มีความปรารถนาดีกัน มีความกรุณาความสงสารกัน จะไม่อยากเบียดเบียนกัน เวลาอยากได้อะไรก็จะระมัดระวัง ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  เพราะจะทำให้ใจไม่สงบ ทำให้ใจวุ่นวาย จะภาวนาไม่ได้  ถ้าไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ก็จะไม่กังวล จะสงบ จะสบาย จะอยากทำจิตใจใ้ห้สงบมากขึ้น เพราะเห็นความสงบของจิตใจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆในโลกนี้ ก็จะหาเวลาภาวนาให้มากขึ้น 

 

ในเบื้องต้นก็ทำจิตให้สงบด้วยการเจริญสมถภาวนา กำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เป็นเครื่องผูกใจไว้ เพื่อจะได้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น เช่นระลึกพุทโธๆ บริกรรมพุทโธๆ ไปภายในใจ  ไม่ให้ใจไปคิดเรื่องอื่น  ถ้าอยู่กับคำบริกรรมพุทโธใจก็จะไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ เช่นในขณะนี้กำลังพูดธรรมะอยู่จะแว็บไปคิดเรื่องอื่นก็ไม่ได้ เพราะจะต้องคิดแต่เรื่องธรรมะ ถ้าบริกรรมพุทโธๆ ใจก็ต้องอยู่กับพุทโธๆ จะแว็บไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ ถ้าไม่บริกรรมก็จะแว็บไปคิดเรื่องอื่น แล้วก็แว็บกลับมาบริกรรมใหม่อย่างรวดเร็ว  ทำให้เห็นว่ากำลังทำสองอย่างด้วยกัน  คือบริกรรมพุทโธๆไปแล้วก็คิดเรื่องอื่นไปด้วย แต่ความจริงแล้วใจกำลังสลับไปสลับมา  บริกรรมปั๊บแล้วก็ไปคิดเรื่องอื่นแล้วก็กลับมาบริกรรมใหม่  จึงต้องระมัดระวังเวลาทำจิตให้สงบ  ถ้าต้องการเห็นผลก็ต้องมีสติเฝ้าใจให้อยู่กับพุทโธเพียงอย่างเดียว บริกรรมไปเรื่อยๆ ถ้าอยู่กับพุทโธไปเรื่อยๆแล้วใจก็จะสงบนิ่ง จะมีความสุขมีความสบาย จะเห็นใจแยกออกจากกาย  จะเห็นว่าร่างกายเป็นส่วนหนึ่ง ใจเป็นอีกส่วนหนึ่ง จะเข้าใจเลยว่าเวลาร่างกายตายไป ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เพราะใจกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน ใจเป็นอย่างหนึ่ง กายเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อกายไม่สามารถอยู่กับใจได้ ใจก็ต้องไปหาร่างกายใหม่  ไปเกิดใหม่ จะได้ร่างกายดีหรือชั่วก็ขึ้นอยู่กับบาปบุญที่ได้ทำไว้  ถ้าทำบุญไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำบาปทำกรรม ก็จะได้ร่างของมนุษย์ ได้ร่างทิพย์ของเทวดาของพรหม  ถ้าเบียดเบียนผู้อื่น  ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นต้น ก็จะได้ร่างของเดรัจฉาน ได้ร่างทิพย์ของพวกเปรตพวกสัตว์นรก  ที่เป็นกายทิพย์เหมือนกัน แต่เป็นกายทิพย์ที่มีแต่ความทุกข์รุมเร้าอยู่ตลอดเวลา พวกเปรตก็มีแต่ความหิวความอยากความต้องการรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา  ต่างกับกายทิพย์ของเทวดาที่มีแต่ความอิ่มหนำสำราญใจ  มีแต่ความสุข ความเพลิดเพลินกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะทิพย์ชนิดต่างๆ  ถ้าได้กายทิพย์ของพรหมก็จะมีความสงบนิ่งอยู่ในสมาธิอยู่ในฌาน มีความสุขเหนือความสุขที่ได้จากการเสพอาหารทิพย์ชนิดต่างๆ

 

นี่คือผลที่จะปรากฏขึ้นมาในขณะที่ทำจิตใจให้สงบ จะเห็นชัดว่าร่างกายกับใจเป็นคนละส่วนกัน จะไม่สงสัยคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าจริงหรือไม่  นรกมีจริงหรือไม่ สวรรค์มีจริงหรือไม่ ตายแล้วต้องไปเกิดหรือไม่ จะสามารถเห็นได้ แต่ยังไม่สามารถทำใจให้หยุดเวียนว่่ายตายเกิดได้ เพราะการทำสมถภาวนายังไม่ได้กำจัดเชื้อของภพชาติ ที่จะพาให้ไปเวียนว่ายตายเกิดอีก คือกิเลสตัณหาทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยากต่างๆ จะหมดไปได้ด้วยการบำเพ็ญภาวนาอีกขั้นหนึ่งคือวิปัสสนาภาวนา สอนใจให้ฉลาดรู้ทันความหลง  ที่ทำให้เกิดความโลภ เกิดความอยาก พอไม่ได้ตามความโลภ ตามความอยากก็เกิดความโกรธขึ้นมา  ถ้าใจมีปัญญารู้ทันความหลง ก็จะไม่มีความโลภ ความอยาก ก็จะไม่มีความโกรธตามมา  วิธีที่กำจัดกิเลสตัณหาความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็คือการสอนใจให้รู้ทันความหลง  ความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ให้ความสุขกับเรา   แต่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นความทุกข์ทั้งนั้น  ได้อะไรมาแทนที่จะให้ความสุขอย่างเดียว ก็มีความทุกข์แถมมาด้วย เป็นความทุกข์ทรมานมากกว่าความสุขที่ได้รับ  เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ  ไม่ว่าจะได้อะไรมา เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ได้สามีมา ได้ภรรยามา ก็ต้องห่วงต้องหวง ต้องกังวล ต้องเสียอกเสียใจ เวลาเป็นอะไรไป ถ้าไม่มีสามีไม่มีภรรยาก็ไม่ต้องทุกข์กับเขา  ถ้าไม่มีลูกก็ไม่ต้องทุกข์กับลูก เพราะสิ่งต่างๆอยู่ใต้กฎของอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง ไม่อยู่กับเราไปตลอด ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป

 

นี่คือวิปัสสนาภาวนา สอนใจให้รู้ทันความหลง ให้รู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่น่ายินดี เพราะไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง  ให้ความทุกข์มากกว่าให้ความสุข เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ใช่สมบัติที่แท้จริง สักวันหนึ่งต้องจากเราไป เวลาเราตายไปก็ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไป ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเราก็ดี สมบัติข้าวของเงินทองของเราก็ดี สามีภรรยาบุตรธิดาของเราก็ดี เพื่อนฝูงของเราก็ดี  ต้องทิ้งไปหมด เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน   ไม่ใช่สมบัติของเรา  ถ้ารู้ทันแล้วจะไม่อยากได้อะไร จะไม่อยากมีอะไร  จะพอใจกับการอยู่ตามลำพัง เพราะมีความสุขที่เกิดจากความสงบ จะใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทให้กับการทำจิตใจให้สงบ ให้ฉลาดรู้ทันความหลง จนไ่ม่มีความหลงเหลืออยู่ในใจแล้ว ก็จะถึงจุดอิ่มตัวเต็มที่ ที่เรียกว่าปรมังสุขัง ได้ถึงพระนิพพานแล้ว ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  นี่คือสิ่งที่เราสามารถพิสูจน์ได้  จะรู้เลยว่าสวรรค์มีจริง นรกมีจริง  การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง กรรมมีจริง เพราะใจรู้ใจเห็นใจ ที่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด ต้องไปตกนรก ไปขึ้นสวรรค์ ไปเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก ไม่ใช่ใครที่ไหน ใจนี่เองที่ได้ทำบาปและบุญไว้ จะเห็นได้อย่างชัดเจน จะไม่สงสัยอีกต่อไป   จึงควรเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แต่ไม่เืชื่อเฉยๆ โดยไม่พิสูจน์  ความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา ให้เชื่อเพื่อจะได้นำเอามาพิสูจน์ เหมือนกับเชื่อหมอ เชื่อยา แล้วก็เอายามารับประทาน พิสูจน์ดูว่ายาจะรักษาโรคให้หายได้หรือไม่ ฉันใดสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก็เป็นเช่นนั้น  สอนให้นำเอามาพิสูจน์ว่า นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด กรรมมีจริงหรือไ่ม่  จะพิสูจน์ได้เพราะมีผู้อื่นได้พิสูจน์มาแล้ว  เช่นพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่่านได้พิสูจน์มาแล้ว ได้รับรองคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแล้ว ได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไปแล้ว ได้ไปถึงพระนิพพานแล้ว พวกเราควรลองเอาไปพิสูจน์ดู รับรองได้ว่าจะไม่ผิดหวัง การแสดงก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้