กัณฑ์ที่ ๓๗๐       ๒๓  สิงหาคม ๒๕๕๐

 

                                                                                                                      พัฒนาจิต

 

 

 

งานภายนอกเป็นงานหยาบ ครูบาอาจารย์ส่งเสริมงานภายในมากกว่า ถ้าใจยังหยาบอยู่ ยังเข้าถึงงานละเอียดไม่ได้ ท่านก็ให้ทำงานภายนอกไปก่อน ยังภาวนาไม่ได้ ก็ให้ไปดูแลโรงครัว ปัดกวาด ทำกับข้าว เช็ดถูต่างๆไปก่อน ถ้าทำงานละเอียดได้แล้ว ท่านก็จะไม่บังคับให้ทำงานหยาบ เวลาเห็นมาทำงานหยาบท่านก็จะไล่ไป อย่างสมัยที่อาตมาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด บางครั้งก็มีการสร้างกุฏิ ก็มีพระช่วยกันทำ เราก็ไปช่วย พอหลวงตาท่านเห็น ท่านก็ไล่เราไป แต่ท่านก็พูดแบบไม่ให้คนอื่นเสียกำลังใจ ท่านก็ว่าเรามันไม่ได้เรื่อง อย่ามาเกะกะ ก็เหมือนกับท่านชี้โพรงให้แล้ว เราก็สบายใจ วันต่อไปก็ไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่ไม่ได้มาช่วย เป็นธรรมดาของคนที่อยู่ร่วมกัน ก็ต้องมีภาระความรับผิดชอบร่วมกัน มีงานส่วนรวมที่ต้องช่วยกันทำ พอดีท่านเมตตา ท่านแยกแยะคน ให้ไปทำงานอีกอย่างจะดีกว่า เพราะจะเกิดประโยชน์ตามมาทีหลัง งานภายนอกก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ไม่มากเท่ากับงานภายใน งานภายในผู้ปฏิบัติก็ได้ประโยชน์ เมื่อปฏิบัติเสร็จ ผู้อื่นก็จะได้รับประโยชน์ด้วย ควรไปวัดที่มีครูบาอาจารย์ฉลาด รู้เรื่องงานหยาบงานละเอียด รู้ว่าเหมาะกับงานชนิดไหน ท่านแยกแยะได้ ถ้าไปอยู่ที่วัดที่ไม่แยกแยะ ถึงเวลาทำงานหยาบทุกคนก็ต้องทำด้วยกันหมด ไม่ว่ากำลังทำงานละเอียดขนาดไหน ก็ต้องปล่อยไว้ก่อน มาทำงานหยาบก่อน งานละเอียดก็จะไม่ก้าวหน้า จะเสียเวลา ถ้าปล่อยให้ทำไปตามภูมิจิตภูมิธรรม กำลังทำงานหยาบก็ทำไป กำลังทำงานละเอียดก็ทำไป แยกกันไป จะได้ไม่เสียเวลาสำหรับคนที่ทำงานละเอียด ถ้าทำงานหยาบมากๆ งานละเอียดก็จะเสียหายได้

 

วันก่อนมีคนมาเล่าตอนที่หลวงตาสมาธิเสื่อม ท่านไปทำกลดอยู่เดือนหนึ่ง พอกลับมาภาวนา จิตไม่สงบแล้ว เพราะไปทำงานหยาบ งานภายนอก ไม่ได้ทำงานภายในที่ละเอียด เพราะตอนนั้นจิตยังอยู่ในขั้นที่เสื่อมได้ ไม่ได้ทำอยู่เดือนหนึ่ง พอกลับไปทำใหม่ จิตก็ไม่สงบแล้ว ท่านเล่าว่าจิตท่านวุ่นวายมากเลย ยิ่งอยากให้สงบ แล้วไม่สงบ ยิ่งวุ่นวาย ยิ่งรุ่มร้อนใหญ่เลย พอท่านบริกรรมพุทโธๆตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร ก็พุทโธๆ ทั้งวันทั้งคืนเลย  ไม่นานจิตก็สงบลง

 

ถาม  ตอนอยู่ที่วัด ได้พิจารณาเจริญปัญญาอยู่ตลอด ก็รู้สึกว่าดี แต่พอกลับมารู้สึกถอยกลับ

 

ตอบ  เพราะไม่ได้พิจารณาธรรม มีเรื่องอื่นเข้ามากลบ มาดึงจิตไปคิดเรื่องอื่น จิตก็เป็นเหมือนรถ จะขับไปสองทิศทางพร้อมกันไม่ได้ จะไปกรุงเทพฯไปอุดรฯพร้อมกันไม่ได้ ถ้าไปกรุงเทพฯก็ไม่ได้ไปอุดรฯ ตอนอยู่ที่วัดเราก็พิจารณาธรรมะ จิตอยู่กับธรรม เป็นธัมมานุสติปัฏฐาน ใคร่ครวญแต่เรื่องธรรมะเพื่อให้เกิดปัญญา พอมีปัญญาอยู่ในจิตมากเท่าไร กิเลสก็จะอ่อนตัวลง สงบตัวลงไปมากเท่านั้น ถ้ายังไม่ตายก็จะหลบซ่อนตัว ไม่โผล่ออกมาให้เห็นง่ายๆ เวลาไม่มีธรรมะ เช่นตอนกลับมาที่บ้านแล้ว ต้องคุยกับสามีคุยกับลูก คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีแต่เรื่องทางโลก ธรรมะก็หายไป กิเลสก็ออกมาเพ่นพ่าน ใจก็ร้อน ใจก็วุ่นวาย ไม่สงบ การเจริญหรือเสื่อมของจิต จึงขึ้นอยู่ที่สังขารความคิดปรุงแต่ง ว่าคิดไปทางไหน หลวงปู่ดุลย์ท่านสอนว่า จิตออกนอกเป็นสมุทัย จิตเข้าข้างในเป็นมรรค ถ้าจิตเข้าข้างใน ก็จะพิจารณาเรื่องธรรมะ พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณารูปว่าไม่สวยงาม เป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ถ้าพิจารณาอย่างนี้ กิเลสก็จะหลบ ราคะตัณหาก็จะเบาลง ปฏิฆะความหงุดหงิดใจก็จะเบาลง แต่ยังไม่ตาย ถ้ายังไม่ได้ถอนรากถอนโคน ถ้าถอนรากถอนโคนได้แล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป ต้องพิจารณาอสุภะทุกลมหายใจเข้าออกเลย มองทีไรก็เห็นเป็นอสุภะ จนไม่มีความอยากในร่างกายอีกต่อไป มองทีไรก็จะเป็นอย่างนี้ทุกที ถึงแม้จะกำหนดให้เห็นว่าสวยงาม พอกำหนดปั๊บก็ล้มหายไป เพราะตัวอสุภะจะขึ้นมาแทนที่ อย่างนี้ราคะตัณหาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็จะรู้เองว่าเรื่องนี้หมดปัญหาไปแล้ว ถ้าเป็นโรคก็หายแล้ว หายจากไข้หวัดแล้ว จะไปกินยาแก้หวัดอีกทำไม หยุดกินได้แล้ว

 

ยังมีงานอื่นที่ต้องทำอีก เป็นงานละเอียดขึ้นไปอีก จากกายจากรูปธรรมก็เข้าสู่นามธรรม พิจารณาดูการเกิดดับของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็พิจารณาจิต พิจารณาการเกิดดับของอารมณ์ในจิต ที่สัมพันธ์กับการเกิดดับของนามขันธ์ พิจารณาความสุขความทุกข์ ความสว่างความเฉาของจิต พิจารณาไป ปล่อยวางไป จนไม่มีอะไรเหลือให้พิจารณา พอหมดแล้วก็ไม่มีงานให้ทำ งานละเอียดหมดแล้ว กิจในพรหมจรรย์ได้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่ต้องทำอีกต่อไป  ทีนี้ก็ไปทำงานภายนอกได้แล้ว ไปอบรมสั่งสอนเผยแผ่ความรู้ให้กับผู้อื่น เป็นงานหลัก ส่วนงานก่อสร้างต่างๆ ก็ทำไปตามความจำเป็น ทำไปตามเหตุตามปัจจัย มีคนถวายเงินทองมาก็เอาไปสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียนที่ไหนเดือดร้อนขาดแคลนอะไร ก็ไปช่วยเหลือกัน แต่ไม่ได้ถือเป็นภารกิจหลัก เป็นผลพลอยได้ ภารกิจหลักคือการเผยแผ่ธรรมะ สั่งสอนผู้อื่นให้ทำบุญทำทาน เพราะยังอยู่ในขั้นที่ต้องทำบุญทำทาน เขาก็บริจาคทรัพย์ ก็ต้องเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นสาธารณประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์สำหรับบุคคล ก็ต้องเป็นคนที่เดือดร้อนจริงๆ ก็ทำกันไป กิจของศาสนาก็มีเพียงเท่านี้ สำหรับพวกที่กำลังภาวนา ก็ต้องระมัดระวังกิจภายนอกให้มาก ถ้าหลีกได้เลี่ยงได้ ไม่เสียหายก็ควรจะหลีก ถ้าทำแล้วไปทำลายไปขวางงานภายใน ก็ควรจะเปลี่ยนที่ ไปหาที่ๆส่งเสริมการทำงานภายใน บางแห่งไม่ให้ทำงานภายนอกเลย อาหารก็ไม่ต้องทำ เขาจัดมาให้ ให้อยู่ภาวนาในห้อง ๗ วัน ๗ คืนเลย เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานที่ละเอียด ที่สำคัญกว่างานภายนอก พอเสร็จงานภายในแล้ว ก็จะไม่มีงานอื่นต้องทำอีกต่อไป ถ้าทำแต่งานภายนอก งานภายในไม่ทำ ก็จะไม่มีวันเสร็จสิ้น ตายไปก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ ต้องทำใหม่อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จึงควรเห็นความสำคัญของงานภายใน งานภายนอกก็ทำไปตามเนื้อผ้า ตามความจำเป็น มีลูกต้องเลี้ยงดู ก็เลี้ยงดูไป มีสามีภรรยาต้องดูแล ก็ดูแลกันไป มีพ่อแม่ต้องดูแล ก็ดูแลกันไป มีเวลาว่างจากงานภายนอก ก็ควรจะทุ่มเทให้กับงานภายใน อย่าไปทำงานให้กับกิเลส ด้วยการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทำให้กับพ่อกับแม่กับลูกกับภรรยากับสามีแล้ว ยังต้องไปทำให้กับกิเลสอีก ไม่ได้ทำให้กับธรรมเลย ไม่ได้ทำให้กับใจเลย

 

ถาม  การมีสติได้บุญในข้อไหน มีสติตลอด ได้บุญอย่างไร

 

ตอบ  ถ้ามีสตินิพพานก็แค่เอื้อม อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ อย่างเร็วก็ ๗ วัน อย่างช้าก็  ๗ ปี

 

ถาม  อย่างนั้นเป็นมหาสติแล้วใช่ไหมคะ

 

ตอบ สติมีหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นอนุบาลจนถึงขั้นมหาสติ ส่วนใหญ่ฆราวาสจะอยู่ในระดับอนุบาล

 

ถาม  คนไม่ดีเช่นขโมย ก็ต้องมีสติ มีสมาธิ ใช่ไม่คะ แต่เป็นสติเป็นสมาธิของกิเลส

 

ตอบ  ใช่ สติไม่ได้มีอยู่กับคนดีเสมอไป คนชั่วก็มีสติได้ เพราะดีหรือชั่วนั้น อยู่ที่มิจฉาทิฐิหรือสัมมาทิฐิ ไม่ได้อยู่ที่สติ อย่างองคุลีมาลท่านก็ทำชั่ว ฆ่าคนถึง ๙๙๙ คน ท่านก็ต้องมีสติ ถึงจะฆ่าคนได้ เพราะมีมิจฉาทิฐิ ท่านถึงไปทำชั่ว สติเป็นเครื่องมือที่จะเอาไปใช้ทางไหนก็ได้ ถ้าเอาไปใช้ทางชั่ว ก็มีมิจฉาทิฐิพาไป ถ้ามีสัมมาทิฐิก็จะพาไปสู่การทำจิตให้สงบ คือจะเข้าข้างใน ถ้ามีมิจฉาทิฐิก็จะออกไปข้างนอก จะวางแผนทำอะไรต่างๆก็ต้องมีสติ เช่นวางแผนปล้นธนาคาร ก็ต้องมีสติมีปัญญา แต่เป็นสติปัญญาที่ผิด ถ้าไม่มีสติก็จะเป็นคนบ้า มีสติบ้างแต่ไม่มากพอที่จะทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันได้ แค่ร่างกายของตัวเองยังดูแลไม่ได้เลย น้ำท่าไม่อาบ เสื้อผ้าไม่ซัก มีสติเพื่อกินอยู่เท่านั้นเอง เป็นสติระดับเดียรัจฉาน แต่ไม่มีสติที่จะพอดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะไม่รู้จักรักษา ปล่อยให้เจ็บไปตายไป

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นคนที่คิดวางระเบิดตึกเวิลด์เทรด ต้องมีทั้งสติทั้งปัญญาใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่  ต้องมีสติ มีอิทธิบาท ๔ ของมิจฉาทิฐิ มีฉันทะความพอใจที่จะวางแผนขับเครื่องบินไปชนตึก มีวิริยะความพากเพียรที่จะหัดขับเครื่องบิน  มีจิตตะจดจ่อกับงานนี้ ไม่ไปทำงานอื่น  

 

ถาม  การจะบรรลุธรรมได้ต้องมีศีลในเบื้องต้น ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ต้องมีทานก่อน ทานจะสนับสนุนศีล ถ้าให้ทานจะมีจิตเมตตากรุณา ศีลก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ จะไม่อยากเบียดเบียนใคร ถ้าจะวางแผนทำอะไรก็จะไปในทางที่ดี ถ้าไม่มีทาน ก็จะรักษาศีลได้ยาก เพราะยังโลภยังอยากได้ยังเห็นแก่ตัวอยู่ ถ้าให้ทานจะเห็นแก่ผู้อื่น เวลาสอนพระก็ตัดทานออกไป เพราะพระได้บริจาคหมดแล้ว ได้สละสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆไปหมดแล้ว จึงไม่ต้องเสียเวลาสอนเรื่องให้ทาน  ทานหมายถึงให้สละในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้ให้ไปหาเงินมาเพื่อมาทำทาน คนบางคนเห็นเขาทำทาน ก็อยากจะทำเหมือนเขา ตัวเองไม่มีเงินก็ต้องไปหาเงิน ก็ต้องไปทำผิดศีล ถึงจะได้เงินมา แต่รู้สึกขัดข้องในใจ ไม่รู้ว่าทำถูกหรือไม่ มาถามเรา เราก็อธิบายว่า การให้ทานคือการให้เงินทองที่เรามีอยู่ มีเท่าไหร่ก็ให้เท่านั้น มีมากก็ให้มาก มีน้อยก็ให้น้อย ให้ไปหมดแล้วก็จบ

 

ถาม  ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องให้ ดีกว่าไปทำผิด เพื่อเอามาทำทานใช่ไหมคะ

       

ตอบ  ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องให้ ถึงจะไม่มีเงินทองเลย  มีข้าวทัพพีเดียวก็ยังให้ได้ การให้ทานจะทำให้เราเป็นคนใจกว้าง ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว พอจะช่วยเหลือใครได้ก็ช่วยไป

 

ถาม  เพื่อนที่อยู่เดนมาร์คฝากถามว่า เขานั่งสมาธิไปนานๆ รู้สึกว่ามีอะไรในจิตเขา มันเหมือนมีคำพูดว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ฝากเรียนถามว่ามันเป็นอุปาทานหรืออะไร ควรจะทำอย่างไรกับความรู้สึกนี้ค่ะ

 

ตอบ  เขาไม่อยากให้มันเกิดขึ้นหรือ

 

ถาม  เขาไม่ได้อยาก เขาไม่รู้ว่าทำไมอยู่ๆ มันมีความรู้สึกว่าเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มันเป็นอย่างนี้นะคะ เขาไม่รู้ว่าเขาควรจะทำอย่างไร เป็นอุปาทานหรืออะไร

 

ตอบ  ก็ให้รู้ว่าเขาเกิดขึ้น เขาตั้งอยู่ แล้วเขาก็ต้องดับไป ให้ถือเป็นอารมณ์กรรมฐาน เหมือนกับพุทโธ ให้อยู่กับอารมณ์นั้นไปเรื่อยๆ เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป อย่าไปรังเกียจ อย่าไปอยากให้มันหาย ถ้ามันเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ก็ไม่ต้องไปบังคับมัน ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วอยู่กับมันไป ใช้มันเป็นอารมณ์ของการภาวนา เป็นเหมือนพุทโธ เหมือนกับการสวดมนต์บทที่ว่า เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ในอดีตอาจจะเคยพิจารณามาก่อน พอจิตเริ่มสงบ มันก็จะโผล่ขึ้นมา ถ้านั่งไปแล้วมันเจ็บมันปวด ก็ให้เขาคิดว่าเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ต้องกังวลกับความเจ็บปวด

 

ถาม  คำถามที่ ๒ นะคะ เขานั่งไปนาน มีความรู้สึกปวดเกิดขึ้น เขาก็ไปอ่านหนังสือท่านอาจารย์ว่าให้บริกรรมพุทโธๆ หรือให้ใช้ปัญญาพิจารณา แยกกายออกจากใจ เขาทำได้ จนนั่งได้นาน ๒ ชั่วโมง แต่พอ ๒ ชั่วโมงเป๊ะ มันไม่เอา มันเลิก เขาถามว่า ถ้าเป็นอย่างนี้จะให้เขาทนนั่งอยู่ต่อไปหรือทำอย่างไร

 

ตอบ  ถ้าเขานั่งต่อไปไม่ได้จริงๆ ให้ลุกขึ้นมาเดินจงกรมแทน ให้พิจารณาร่างกายแทน พิจารณาว่าเกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ทั้งของเราและของผู้อื่น ทั้งของคนที่เรารัก คนที่เราเกลียด ทุกคนเหมือนกันหมด พิจารณาสลับไปสลับมา พิจารณากายนอกแล้วพิจารณากายใน พิจารณาทั้งกายนอกและกายใน จะได้เกิดความเสมอภาค ถ้าคิดแต่เราจะตายเราก็จะคิดหงุดหงิดใจ เศร้าโศกเสียใจ ถ้าคิดว่าคนอื่นจะตายก็ห่วงกังวลเขา ถ้าคิดว่าเราก็ตาย เขาก็ตาย ทุกคนต้องตาย ก็จะเกิดความเสมอภาค ปล่อยวางร่างกายได้

 

ถาม  เขาถามว่าจะให้เขาทนนั่งต่อไปอีกไหมค่ะ

 

ตอบ  ถ้าเขาอยากจะนั่ง นั่งได้ก็ดี ถ้านั่งแล้วสงบก็ดี ถ้านั่งไม่ได้ก็ลุกมาเดินจงกรมต่อ มาพิจารณาทางปัญญาบ้าง พิจารณาร่างกายว่าเกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ถ้าอยากจะนั่งไปตลอด ๖ ชั่วโมง ๗ ชั่วโมงได้ยิ่งดี อย่างที่หลวงตาท่านเทศน์ว่า มันจะผ่านเวทนา ๓ ตัวด้วยกัน ตัวแรกจะเกิดขึ้น ประมาณชั่วโมงแรก ตัวที่ ๒ ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมงต่อมา ตัวที่ ๓ นี้ต้อง ๔ ชั่วโมงไปแล้ว ไอ้ตัวนี้มันจะใหญ่มากเป็นเหมือนช้าง ตัวแรกเป็นเหมือนหนู ตัวสุดท้ายเหมือนโดนช้างเหยียบ อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เหมือนจะระเบิดแตกแยกออกจากกัน ถ้าสามารถนั่งผ่านไปได้แล้ว จะไม่กลัวตาย ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น

 

ถาม  เขากลัวว่าขาเขา มันไม่ค่อยดี

 

ตอบ  ไม่ต้องกลัว ไม่เป็นอะไรหรอก นั่งชั่วครั้งชั่วคราว นั่งเพียงครั้ง ๒ ครั้ง ไม่มีปัญหา ถ้านั่งเป็นเดือนเป็นปีก็จะเป็นปัญหาได้ ถึงต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถกัน ถ้าการทดสอบจิตใจทดสอบพลังของธรรมของกิเลสก็ต้องใช้เวลานั่งมาก พอผ่านไปแล้วก็ไม่ต้องนั่งนานก็ได้ เรารู้ว่าไม่กลัวมันแล้ว จะมาขนาดไหน ก็รู้วิธีรับมันแล้ว ก็ไม่ต้องนั่งนานแบบนี้อีก ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ให้เท่าเทียมกัน นั่งสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง แล้วก็ลุกมาเดินสัก ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ถ้าอยู่ขั้นเจริญปัญญาจะเดินมากกว่านั่ง พิจารณาแยกแยะสิ่งต่างๆ ต้องใช้การคิดพิจารณา เดินจะเพลินกว่านั่ง จะไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเมื่อยเลย เดินได้ ๖-๗ ชั่วโมง เดินจนฝ่าเท้าแตก เพราะเพลินกับการพิจารณา ถ้าเขาอยากนั่งต่อ อยากให้ผ่านทุกขเวทนาก็ให้นั่งไป ถ้านั่งไม่ได้ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม พิจารณาร่างกายแทนก็ได้ สลับกันไป ถ้าเดินจนเมื่อยแล้วก็กลับไปนั่งต่อ สลับกันไป ถ้าไม่มีกิจอย่างอื่นทำ ก็ทำแบบนี้ไปทั้งวัน สลับกันนั่งกับเดิน ไม่ช้าก็เร็ว ก็ต้องผ่านไปได้

       

ถาม  ในขั้นของพระอริยะ สังขารร่างกายเสื่อม จิตไม่เสื่อม ใช่ไหม

 

ตอบ  ไม่เสื่อม เพราะไม่เกี่ยวกัน คนละเรื่องกัน เหมือนคน ๒ คน คนหนึ่งแก่ลงๆ แต่อีกคนมีอายุยืนยาวไม่แก่

 

ถาม  แล้วเรื่องความหลงลืม

 

ตอบ ความหลงลืมเป็นเรื่องของขันธ์ เรื่องของสัญญา เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เพราะเกี่ยวกับร่างกาย เกี่ยวกับอายตนะ ถ้าจิตระลึกชาติได้ ก็จะไม่ลืม เป็นจิตพิเศษ ที่ได้รับการพัฒนาเป็นอธิจิตต์ จากจิตธรรมดาเป็น อธิจิตต์  อธิแปลว่ายิ่งใหญ่ มีญาณ มีอภิญญา ถ้าเป็นพระขีณาสพ ท่านก็มีจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ลืมเรื่องอริยสัจ แต่ลืมชื่อคนได้ ลืมหน้าคนได้ ถ้านานๆ เจอกันที ก็ต้องนึกก่อนว่าใช่คนนี้หรือไม่ เพราะเวลาเปลี่ยนไปหน้าตาก็เปลี่ยนไปด้วย ก็ลืมได้ ลืมวันเวลาได้ จิตกับกายไปคนละทางกัน จิตมีการพัฒนา ยิ่งอายุมากยิ่งพัฒนาสูงขึ้น แต่ร่างกายกลับเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ถ้าจิตพัฒนามากขึ้น ธรรมะก็จะมากขึ้น กิเลสก็จะน้อยลง ถ้าจิตเสื่อม ธรรมะก็จะน้อยลง กิเลสก็จะมากขึ้น ไม่ได้ขึ้นกับกาลเวลา ขึ้นกับจิตเอง ว่าจะเดินไปในทางไหน ถ้าปล่อยให้ไหลไปทางกิเลส ก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ถ้าฉุดลากให้ไปทางธรรม ก็จะเจริญขึ้นเรื่อยๆ อกาลิโก ไม่ได้ขึ้นกับกาลเวลา แต่ร่างกายเป็นไปตามกาลตามเวลาทุกคน เมื่อเจริญสูงสุดแล้วก็เริ่มเสื่อมลงไป อายุ ๔๐ เป็นจุดสูงสุดของการเจริญ จากนั้นก็จะแก่ลงไป แก่ลงไป จนในที่สุดก็หยุดทำงาน จึงควรพัฒนาจิตกันดีกว่า ร่างกายปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อาบน้ำอาบท่าให้สะอาดเรียบร้อยก็พอแล้ว ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องสิวฝ้า เรื่องเหี่ยวย่น ไม่ต้องทาหน้าทาปาก นอกจากมีความจำเป็นทางสังคมก็ทำไป ถ้าไม่จำเป็นก็ทำตัวสบายๆดีกว่า อย่าไปทำเพราะอยากทำ ทำเพราะจำเป็นต้องทำ ทางสังคมกาลเทศะบังคับให้ทำ

 

ถาม บางทีเวลาภาวนาแล้วจิตมันฟุ้ง ก็มีอะไรในใจมาบอกให้อยู่กับปัจจุบันบ้าง บริกรรมพุทโธบ้าง ผมก็งงว่าตัวที่บอกนี้คืออะไร ตัวที่ถูกบอกนี้คืออะไร มันตัวเดียวกันหรือเปล่า

 

ตอบ  ตัวเดียวกัน ใจสอนใจ

 

ถาม  ตัวนี้คือธาตุรู้หรือเปล่าคะ

 

ตอบ ตัวที่ฟังคือตัวธาตุรู้ ตัวที่สอนคือตัวสังขาร ความคิดความปรุงแต่งเป็นผู้สอนใจ ถ้าสอนในทางธรรมก็เป็นมรรค สอนในทางกิเลสก็เป็นสมุทัย เช่นถ้านั่งไม่ได้ ก็ลุกไปหาอะไรมากินดีกว่า ไปเที่ยวดีกว่า อย่างนี้สอนทางกิเลส ถ้าสอนทางมรรค ก็ทนเอาหน่อย ตั้งสติใหม่ พอเผลอ ไปคิดเรื่องอื่น ก็หยุดคิดเสีย ให้อยู่กับพุทโธๆ นี่ก็สอนเหมือนกัน ใจจะรู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้

 

ถาม  เวลาพิจารณาว่าทุกอย่างในโลกนี้เป็นธาตุหมด เดินไปก็รู้ว่าจิตนี้เป็นธาตุรู้อันหนึ่ง แต่ไปอิงกับธาตุ ๔ คือดินน้ำลมไฟ ยังสับสนอยู่

 

ตอบ จิตเอาตัวธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟมาเป็นสมบัติ เป็นเครื่องมือ เอาร่างกายเป็นเครื่องมือ ดูรูปฟังเสียงต่างๆ จิตก็เป็นธาตุรู้ตัวหนึ่ง แล้วก็เอาธาตุ ๔ คือร่างกายมาเป็นเครื่องมือ เหมือนรถยนต์คันหนึ่ง ที่จะพาให้มาที่นี่ ไปที่นั่นได้ คนขับรถก็เป็นจิต แล้วก็ยึดว่ารถคันนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา จะไปไหนก็ต้องเอารถคันนี้ไปด้วย ถ้ารถเป็นอะไรไปก็เดือดร้อนวุ่นวายใจไปด้วย เพราะหลงคิดว่ารถกับเราเป็นตัวเดียวกัน

 

ถาม   พอสิ้นร่างกายแล้ว ธาตุรู้ก็ออกไปอยู่ของมันต่างหาก

 

ตอบ ความจริงจะว่ามันอยู่ข้างในหรือข้างนอกก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นรูปธรรมเหมือนร่างกาย อยู่คนละมิติ แต่เชื่อมกันด้วยผัสสะ ตาสัมผัสกับรูป ก็เกิดผัสสะเกิดวิญญาณขึ้นมาในจิต เหมือนกับโทรศัพท์ ๒ เครื่อง ที่มี คลื่นวิทยุเป็นตัวเชื่อม

 

ถาม  ระหว่างที่มันเชื่อม มีความรู้สึกว่าความปรุงแต่งเกิดขึ้นในนาทีนั้น 

 

ตอบ มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยกเว้นตอนที่มันหยุดอยู่ในฌาน อยู่ในเอกัคตารมณ์เท่านั้น ที่ความปรุงแต่งจะไม่ทำงาน พอออกจากอันนั้นปั๊บก็ปรุงแต่งตลอดเวลา ทั้งละเอียดและหยาบ ถ้าละเอียดเราจะไม่รู้เลย เวลาตื่นขึ้นมาแล้วไม่สบายใจ ก็เกิดจากการปรุงแต่งแล้ว ทั้งๆที่เราไม่รู้ว่าไม่สบายใจได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะร่างกายไม่ค่อยสบาย ก็เป็นเหตุให้สังขารปรุงไปในทางไม่ดีได้

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นเวลาหลับสนิทก็หยุดการปรุงแต่ง

 

ตอบ ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่จะหยุดหมดเลยหรือไม่ก็ไม่รู้ ท่านเปรียบเทียบเอกัคตารมณ์และฌาณเป็นเหมือนตอนหลับสนิท ไม่ฝัน ถ้าฝันก็เหมือนนั่งสมาธิแล้วมีนิมิต เห็นนั่นเห็นนี่ ต่างกันตรงที่นั่งฝันมีสติสัมปชัญญะ แต่เวลานอนหลับสติสัมปชัญญะไม่มี ถ้ามีก็น้อยมาก มีพอที่จะติดตามเรื่องในฝันได้ พอตื่นขึ้นมาปั๊บ เรื่องที่ฝันนั้นก็หายไปหมดเลย มีเรื่องอื่นเข้ามาแทนทันที พอตื่นปั๊บจิตก็เริ่มถามตัวเองว่าอยู่ที่ไหน ดูนาฬิกาว่าเวลาเท่าไหร่แล้ว สังขารคิดเรื่องอื่นแล้ว บางทีอยากจะย้อนกลับไปว่าฝันเรื่องอะไร นึกอยู่ตั้งนานก็นึกไม่ออก บางทีก็นึกออก

 

ถาม ที่เราพูดว่าธาตุรู้ จิตบริสุทธิ์ ธรรมธาตุ เป็นอันเดียวกันใช่ไหมคะ

 

ตอบ ไม่ใช่ ธาตุรู้คือจิต ส่วนธรรมธาตุเป็นจิตบริสุทธิ์ของพระอรหันต์ ธรรมธาตุหมายถึงจิตที่เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีกิเลสเหลืออยู่ ธรรมเข้าไปชำระธาตุรู้จนบริสุทธิ์ เป็นธรรมทั้งแท่ง คำว่าจิต คำว่าใจ คำว่าผู้รู้ คำว่าธาตุรู้ก็ดีนี้ เป็นตัวเดียวกัน เรียกต่างกันตามสถานการณ์ ถ้าอยู่กับร่างกายก็เรียกว่าจิตใจ พอออกจากร่างกายไปก็เรียกว่าดวงวิญญาณ พอไปครอบครองร่างใหม่ที่อยู่ในท้องแม่ ก็เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ การจะเกิดปฏิสนธิขึ้นมาได้ ต้องมี ๓ ส่วนเข้ามารวมกัน คือส่วนของพ่อ  ส่วนของแม่ และปฏิสนธิวิญญาณ จึงจะมีการเจริญเติบโตตามมา

 

ถาม  ต่างกับวิญญาณในขันธ์ ๕ ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ใช่ วิญญาณในขันธ์ ๕ คือตัวที่รับรู้ผัสสะของตาหูจมูกลิ้นกาย ที่เกิดดับ เกิดดับ พอเสียงสัมผัสกับหู ก็เกิดการรับรู้เสียง พอเสียงหายไป การรับรู้เสียงก็ดับไป พอเสียงใหม่มาการรับรู้เสียงก็เกิดขึ้นมาใหม่ เกิดแล้วดับ เหมือนแสงหิ่งห้อย

 

ถาม  คนที่จิตใจดี ขึ้นอยู่กับการทำบุญ ใช่ไหมคะ

 

ตอบ คนทำบุญจิตใจก็จะดี ถ้าทำด้วยใจจริง ไม่ทำเพื่อเอาหน้าเอาตา ทำเพื่อสร้างภาพ

 

ถาม  ถ้าทำบุญแบบสร้างภาพ ไม่ได้บุญเท่าไรหรือคะ

 

ตอบ  ใช่ เพราะสร้างภาพ ไม่ได้สร้างบุญ

 

ถาม  ได้ผลทางโลกใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นพวกไฮโซที่ออกหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้ซิคะ

 

ตอบ  ได้ แต่ได้น้อย ได้บ้าง ขึ้นอยู่ที่จิตใจ ทำเพื่ออะไร

 

ถาม  ถ้าทำน้อยๆ แต่ตั้งใจทำล่ะคะ ทำตามทรัพย์สินที่มี

 

ตอบ สมมติว่าเราจัดงานกาลาดินเนอร์ ได้เงิน ๑ ล้าน ถ้าไม่จัดงานแล้วเอาเงินที่ต้องใช้จ่ายจัดงานอีก ๑ ล้านไปทำบุญด้วย ก็จะได้ ๒ ล้าน แต่ไม่ได้หน้า ไม่ได้โลกียสุข ไม่ได้กินได้ดื่ม ไม่ได้ถ่ายรูปอวดกัน ไม่ได้อวดกิเลสกัน ก็จะได้บุญมากกว่าการจัดกาลาดินเนอร์ ได้เงิน ๑ ล้าน

 

ถาม  ท่านอาจารย์คิดอย่างไรกับเรื่องทำหมันคะ

 

ตอบ ขึ้นอยู่ที่เหตุผลว่าทำหมันเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อส่งเสริมกิเลสก็ไม่ดี ถ้าทำเพราะว่ามีโรคบางอย่าง เวลามีลูกแล้วจะมีปัญหาตามมา ก็มีวิธีแก้ได้ ๒ วิธีคือ ๑. ทำหมัน  ๒. ละเว้นกิจกรรมทางเพศ ถ้ายังละไม่ได้ก็ควรทำหมัน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ใจ ทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อกิเลสก็อย่าไปทำดีกว่า พยายามหักห้ามจิตใจจะดีกว่า ถ้าหักห้ามจิตใจไม่ได้ ก็ทำหมันดีกว่าทำแท้ง เพราะจะมีโทษมาก เมื่อ ๒ วันก่อน มีคนมาปฏิบัติธรรม มาสารภาพบาปว่า เขาฆ่าลูกเขา แล้วลูกก็ตามมารังควาน

 

ถาม  อันนี้อยู่ในจิตใจเขาใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ อยู่ในจิตใจเขา เขาว่าเขาทำอะไรไม่เจริญรุ่งเรืองเลย เราก็สอนให้เขายอมรับกรรม และขออโหสิกรรม ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไป เมื่อเช้าเขามาลา เขาเล่าว่าตอนนี้หายไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ใจเขา ที่คิดไปเอง พอยอมรับกรรมได้ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด จิตใจก็สงบ ความจริงจิตเขาคิดปรุงแต่งไปเอง ทำให้เกิดกังวลกลัวขึ้นมา ถ้าได้ทำบาปไปแล้ว ก็ยอมรับกรรมเสีย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ในปัจจุบันทำจิตให้ว่างไว้ อย่าสร้างนรกในขณะนี้เลย แล้วจำไว้เป็นบทเรียน ว่าทำไปแล้วจะเกิดผลแบบนี้ จะได้ไม่ทำอีก

 

ถาม  ราคะนี้มีถึงแก่เลยใช่ไหมคะ

 

ตอบ มันไม่ได้แก่ตายไปกับวัย ที่ไม่มีกิจกรรมทางเพศกัน เพราะร่างกายทำไม่ไหว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่อยากทำอะไรเลย ไม่อยากเที่ยว แต่ไม่ได้อยากเพราะกิเลสตายไป กิเลสจะตายด้วยการปฏิบัติธรรมเท่านั้น ต้องเจริญอสุภกรรมฐานเท่านั้น จึงจะระงับราคะได้

 

ถาม  เพื่อนเป็นหมอสูติ ทำหมันให้คนไข้ เขาจะมีกรรมไหมครับ

 

ตอบ  ไม่น่าจะมี เพราะไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

 

ถาม  เวลาขับรถผมชอบเปิดฟังเทปธรรมะครูบาอาจารย์ รู้สึกจิตเบาสบาย ถ้าทำอย่างนี้ไป มีโอกาสที่จิตจะรวม แล้วขับรถไปชนได้ไหม

 

ตอบ  เป็นไปได้น้อยมาก ขนาดตั้งใจปฏิบัติเต็มที่ยังไม่รวมเลย จิตต้องเป็นหนึ่ง ต้องอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างต่อเนื่อง ถ้าทั้งฟัง ทั้งบริกรรมพุทโธๆ ทั้งขับรถไปด้วย ถ้ารวมก็จะไม่เป็นแบบหลับหูหลับตา จิตจะวูบลงไป แต่ยังมีสติอยู่กับการขับรถ เหมือนเวลาเดินจงกรม เคยอยู่ครั้งหนึ่ง ง่วงนอนมาก แต่เราไม่ยอมนอน บังคับให้เดินไปๆ บังคับให้บริกรรมพุทโธๆ ซ้ายขวาๆ สักพักหนึ่งจิตก็สงบวูบลงไป หายง่วงเลย หูตาสว่างเย็นสบาย ไม่รวมแบบสลบไสล แบบหลับใน แต่รวมแบบมีสติ

 

ถาม  ถ้าขับรถไป เปิดฟังธรรมะ รู้สึกสบายเบาสงบ

 

ตอบ ไม่ต้องกลัวว่าจะรวมแล้วฟุบไป จะรวมแบบตื่นตัว เบาในอารมณ์ ถ้าวุ่นวายหนักอกหนักใจอยู่ ก็จะหายไปเลย

 

ถาม  เรื่องจิตรู้นี่นะครับ คราวที่แล้วที่ท่านอาจารย์เทศน์ที่ศาลา ว่าเวลาภาวนาให้จิตอยู่กับปัจจุบัน พออาจารย์พูดว่าจิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ทราบเป็นอย่างไร ข้างในจะว่าปีติหรืออย่างไรไม่ทราบ มันสว่างขึ้นมาเลย ผมอธิบายไม่ถูก ข้างในมันสว่างขึ้นมาเลย กายเบา หมายความว่าอย่างไร

 

ตอบ  มันตรงประเด็น ตรงกับที่เราปฏิบัติพอดี พอพูดตรงนั้นปั๊บก็เสริมความมั่นใจขึ้นมา ว่าเรามาถูกทางแล้ว

 

ถาม แต่ความรู้สึกนั้นเป็นตอนนั้นแล้ว ก็ไม่เป็นอีกเลยนะครับ

 

ตอบ จะว่าเป็นการบรรลุธรรมระดับหนึ่งก็ได้ เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว เราปฏิบัติของเราอย่างนี้มา พอมาพูดว่าถูกต้องแล้ว เราก็เกิดความปีติ เกิดความสุขใจขึ้นมา ว่าได้ทำถูกแล้ว ร้องอ๋อขึ้นมา ใช่แล้ว เหมือนพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านคงจะพิจารณาธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงมาก่อนแล้ว พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยเหตุด้วยผล ท่านก็รับได้เต็มที่เลย อ้อถูกแล้ว เราพิจารณาอย่างนี้มานานแล้ว ถูกต้องแล้ว สิ่งใดมีการเกิดขึ้นต้องดับไปเป็นธรรมดา ต้องไม่ยึดไม่ติด ต้องปล่อยวาง คุณก็เหมือนกัน ปฏิบัติมานานแล้ว พอพูดปั๊บก็เข้าใจเลย อ้อเพื่อให้จิตอยู่ในปัจจุบันนี้เอง อดีตไม่ใช่ความจริง อดีตเป็นความจำ อนาคตเป็นจินตนาการ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ถาม  เวลาภาวนาจิตมันเตือนจิตนะครับ ให้อยู่ในปัจจุบัน หลายครั้งที่พูดถึงตรงนี้ จิตมีกำลังขึ้นแล้วก็หายไป

 

ตอบ  ต้องย้ำอยู่เรื่อยๆ ยังไม่มั่นคง ต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะจิตจะถูกอารมณ์ดูดไปเรื่อยๆ ไปอดีต ไปอนาคต ไปที่ใกล้ที่ไกล แต่จะไม่อยู่ในปัจจุบัน ที่นี่เดี๋ยวนี้ ถ้านั่งอยู่คนเดียว เดี๋ยวก็เบื่อแล้ว ไม่มีอะไรให้ทำ ก็ต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้  ไม่อยู่ในปัจจุบันแล้ว

 

ถาม  ผลของภาวนาจะสะสมไปหรือเปล่า

 

ตอบ สะสมไปเรื่อยๆ ไม่หายไป พัฒนาไปเรื่อยๆ เป็นความชำนาญ เหมือนหัดพิมพ์ดีด หัดพิมพ์ไปเรื่อยๆ ต่อไปก็พิมพ์เร็วขึ้นๆ ชำนาญขึ้น ต่อไปไม่ต้องคิดเลย เป็นไปโดยอัตโนมัติ

 

ถาม ภาวนาช่วงไหนดีค่ะ ช่วงกลางคืนก่อนนอน กลางวัน เช้า เที่ยง

 

ตอบ จิตจะละเอียดในตอนกลางคืน ตอนเช้ามืดจะละเอียดที่สุด แต่จะง่วง นั่งเดี๋ยวเดียวก็อาจจะหลับ ถ้านั่งแล้วหลับก็ลุกขึ้นมาเดินแทน

 

ถาม  ตอนตี ๒ ตี ๓

 

ตอบ ตอนก่อนนอนจะเหนื่อยเพลีย พอได้นอนพักแล้ว ตื่นขึ้นมาจิตจะละเอียด นักปฏิบัติจะนอนเพียง ๔-๕ ชั่วโมง ตื่นตอนตี ๒ ตี ๓ ตอนนั้นจิตจะละเอียดที่สุด ถ้าดีสำหรับเราตอนไหนก็เอาตอนนั้น เพราะต่างคนต่างมีความแตกต่างกัน โดยทั่วไปจิตจะละเอียด ตอนเช้ามืด ตอนตี ๒ ตี ๓ หลังจากได้พักผ่อนหลับนอนเต็มที่แล้ว ภายนอกก็เงียบสงบ ส่งเสริมความสงบภายใน ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปจะภาวนาเวลาไหนก็ได้ ยกเว้นเวลาฉันเสร็จ นั่งแล้วจะหลับ ต้องเดินจงกรมก่อนแล้วค่อยไปนั่งต่อ เสร็จแล้วถ้าอยากจะพักก็พักสักชั่วโมงหนึ่ง พอลุกขึ้นมาก็เดินต่อนั่งต่อ ทำกิจวัตรปัดกวาด พอสรงน้ำแล้ว ก็เดินจงกรมจนถึงเวลานั่งสมาธิ แล้วก็พัก ๔-๕ ชั่วโมง แล้วก็มานั่งต่อ เดินต่อ

 

ถาม  วันๆก็ภาวนา เกือบ ๒๔ ชั่วโมง

 

ตอบ  เวลาพักผ่อนหลับนอนเท่านั้นที่ไม่ได้ภาวนา แม้แต่เวลาทำกิจต่างๆ ก็ต้องมีสติ พระที่วัดป่าบ้านตาดท่านไม่คุยกันเวลาทำกิจวัตร  

 

ถาม มีอยู่ครั้ง ๒ ครั้ง นั่งภาวนา ดูเหมือนจิตจะสงบ มีแสงมาจ่อจนต้องลืมตา สุดท้ายต้องลืมตา แก้อย่างไรดีครับ

 

ตอบ  ใช้อะไรเป็นองค์ภาวนา

 

ถาม  ปกติผมใช้ดูลมหายใจ

 

ตอบ  ให้กลับมาดูที่ลมหายใจ อย่าไปสนใจแสง ถ้าไปสนใจ แสดงว่าเผลอแล้ว ไม่อยู่กับลมหายใจแล้ว แสงเป็นผลพลอยได้จากการภาวนา พอใกล้จะสงบก็ปรากฏแสงขึ้นมา ข้อสำคัญอย่าไปให้ความสนใจกับมัน

 

ถาม  พยายามจะไม่ให้เห็นมัน

 

ตอบ อย่าไปให้ความสำคัญกับมัน อย่าไปจ้องอย่าไปดูมัน ให้กลับมาดูลมหายใจแทน ไม่ต้องลืมตา

 

ถาม  เห็นภาพแล้วปล่อยใช่ไหมครับ

 

ตอบ ถ้าเราหันมาดูลมหายใจ มันก็หายไป ถ้าติดตามดูมันก็จะไม่หาย  เพราะนี้ไม่ใช่ผลที่เราต้องการ ผลที่เราต้องการคือจิตรวมเป็นหนึ่ง สงบนิ่งเย็นสบาย แต่อาจจะมีผลพลอยได้ อาจจะขนลุก มีภาพ มีความสว่างไสว ปรากฏขึ้นมา ก็ให้รู้ว่ามันสว่างไสว แต่อย่าไปให้ความสนใจ ให้พิจารณาด้วยปัญญา ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าไปหลงยึดติดก็จะทุกข์ จะมีความผูกพัน นั่งคราวหน้าก็อยากจะเห็นอีก  จะไม่ก้าวไปในทางที่ถูก

 

ถาม  การเกิดขึ้นอย่างนี้ แต่ละคนไม่เหมือนกัน ใช่ไหมคะ

 

ตอบ ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เป็นปัญหาก็ไม่ต้องแก้ ถ้าเป็นก็ต้องแก้ ถ้าไม่มีคนสอนก็จะหลงได้ คิดว่าเป็นผล จิตต้องสงบนิ่ง หนักแน่นมั่นคง  อารมณ์เบาบาง

 

ถาม  ให้จิตรวมแล้วเกิดบรมสุขอย่างนี้ใช่ไหม

 

ตอบ ถ้าถึงตรงนั้นจะอยากบวช ไม่อยากไปเที่ยวไหน ถ้าเจอแล้ว ชีวิตจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เคยออกสังคม ก็จะทิ้งหมดเลย ไม่มีสุขใดในโลกนี้จะสุขเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบ นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง ถ้าสงบด้วยสมาธิก็จะเป็นชั่วคราว บรมสุขชั่วคราว เหมือนดูหนังตัวอย่าง ถ้าเป็นนิพพานก็จะเป็นหนังจริง ฉายตลอดวันตลอดคืนเลย ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ยืนเดินนั่งนอน เป็น ปรมังสุขัง ตลอด

 

ถาม  ไม่มีไตรลักษณ์เลยใช่ไหมคะ ไม่เสื่อม

 

ตอบ ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว กินข้าวอิ่มแล้ว บาปละได้แล้ว บุญก็ละได้แล้ว ถ้าทำบุญก็เป็นเพียงกิริยา อย่างหลวงตาที่ท่านทำบุญช่วยชาตินี้ ท่านไม่ได้ทำด้วยจิตใจที่อยากจะทำ ท่านทำเพราะมีเหตุมีปัจจัยให้ท่านทำ ไม่กระวนกระวายว่ากฐินปีนี้จะได้กี่ล้าน ไม่มี

 

ถาม  บรมสุขชั่วคราว เจอได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ ใช่ ต้องเจอแบบนี้ก่อน พอได้เห็นหนังตัวอย่างแล้ว จะเกิดฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ขึ้นมา

 

ถาม  ที่เราเจอความสงบ แต่ไม่รู้ว่าเป็นบรมสุข

 

ตอบ เพราะยังไม่สงบเต็มที่ ได้เพียงบางส่วน ได้ดอกเบี้ย ไม่ได้เงินต้น

 

ถาม  อย่างนี้สะสมได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ทำไปเรื่อยๆ จะเจอเข้าสักวันหนึ่ง ไม่ชาตินี้ ก็ชาติต่อๆไป พอเจอแล้ว ชีวิตจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างพระพุทธเจ้าก็ทรงหนีออกจากวังได้ เพราะความสงบนี้ ทรงเล่าว่านั่งอยู่โคนต้นไม้ตามลำพัง พวกบริวารไปทำกิจกัน ไม่มีใครรบกวน จิตก็รวมลงเลย จิตรวมนี้แหละเป็นตัวที่คอยชวนให้ท่านเสด็จออกจากวัง

 

ถาม  ถ้าเราเจอตัวนี้ ก็จะเริ่มทำไปเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ

 

ตอบ ถ้าเจอตัวนี้เราก็จะตัดภาระต่างๆลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่นั่งสมาธิจะเจอได้อย่างไร  ต้องไปอยู่วัดทีละ ๓ วัน ๗ วัน จะได้เจอ

 

ถาม เวลาเดินจงกรม จะเกิดภาพครูบาอาจารย์ขึ้นมาในจิต ควรสักแต่ว่าเห็น แล้วก็ตั้งสติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปสนใจใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ให้กลับมาหาสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพียงแต่รับรู้แล้วก็ผ่านไป กำลังกำหนดดูอะไร ก็ดูต่อไป กำหนดอสุภะ กำหนดพุทโธ ก็กำหนดต่อไป ถึงแม้จะเป็นภาพของพระพุทธเจ้า ก็อย่าให้มาทำลายสมาธิเรา ยกเว้นเป็นภาพอสุภะ กำหนดอสุภะ แล้วเห็นเป็นโครงกระดูกขึ้นมา ก็ใช้โครงกระดูกเป็นอารมณ์ก็ได้

 

ถาม  ช่วงเวลาเดินผมก็พยายามให้มีสติรู้อยู่ที่อิริยาบถ แล้วมาดูที่ตัวรู้คือจิต แต่จิตยังไม่สงบ พอมีรูปครูบาอาจารย์ปรากฏขึ้นมา ถ้ายึดรูปครูบาอาจารย์ไว้ด้วยแล้วก็เดินไปด้วยจะดีไหม

 

ตอบ  ไม่ดี มันหลายเรื่อง เอาเรื่องเดียวดีกว่า ถ้าจะเอารูปครูบาอาจารย์ ก็กำหนดรูปครูบาอาจารย์ไปอย่างเดียว แต่เราไม่เคยทำ ส่วนใหญ่จะใช้ดูเท้ามากกว่า ซ้ายขวาๆ จะกระชับกว่า

 

ถาม  ดูที่กายอย่างเดียว จิตไม่ต้องยุ่งเลยใช่ไหมครับ

 

ตอบ ถ้าเดินจงกรมให้ดูที่เท้า ก้าวซ้ายขวา หรือจะว่าพุทเวลาก้าวเท้าซ้าย ว่าโธเวลาก้าวเท้าขวาก็ได้ หรือจะว่าซ้ายขวาซ้ายขวาก็ได้ ขอให้มีสติเท่านั้น อย่าให้มีเรื่องมาก คิดให้น้อยที่สุด ไม่คิดเลยยิ่งดี ให้สติจับกับการก้าวย่างอย่างเดียว

 

ถาม  ลูกพิจารณาไป

 

ตอบ พิจารณาก็ได้ พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาอสุภะ ก็พิจารณาไป ให้เป็นเรื่องๆไป อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย จากเรื่องนี้ไปเรื่องนั้น ให้เป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรื่องเป็นราว อย่าเพ้อเจ้อ ต้องอยู่ในวงของไตรลักษณ์ เช่นพิจารณาว่ากิจการโรงพิมพ์สักวันหนึ่งก็ต้องปิด จะได้ออกบวชได้ พิจารณาไตรลักษณ์เพื่อให้จิตสงบ ว่าไม่ใช่ของเรา เป็นของชั่วคราว สักวันหนึ่งก็ต้องแยกทางกันไป พอพิจารณาอย่างนี้เวลาภาวนาจะไม่ห่วงกังวล ถ้าห่วงโรงพิมพ์จิตจะรวมลงไม่ได้ เหมือนการตัดต้นไม้ ถ้าอยู่ต้นเดียวเดี่ยวๆ มันล้มง่าย ถ้าตัดต้นที่อยู่ติดกับต้นอื่น ตัดขาดแล้วแต่ไม่ล้ม เพราะมีต้นอื่นคอยเหนี่ยวรั้งไว้ จิตก็เช่นกัน ที่ไม่รวมลงเป็นหนึ่ง เพราะมีเรื่องอื่นคอยดึงไว้ สามีก็ดึงไว้ ลูกก็ดึงไว้ งานก็ดึงไว้ จิตจึงไม่รวมลง

 

ถาม  วันหนึ่งเราพิจารณากาย อีกวันมาพุทโธๆ จะถูกไหมครับ

 

ตอบ  อย่างไหนได้ผล ก็เอาอย่างนั้น

 

ถาม  สลับไปสลับมาได้

 

ตอบ ให้ดูที่ผลเป็นหลัก ถ้าสลับไปสลับมาไม่ได้ผล ก็แปลว่าไม่ได้เรื่อง ต้องรู้ว่าควรจะใช้อย่างไหน ควรจะใช้สมถะหรือวิปัสสนา ถ้าสมถะก็บริกรรมพุทโธๆ หรือดูก้าวย่างอย่างเดียว ถ้าวิปัสสนาก็พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ต้องกังวลเรื่องความสงบ ต้องการปล่อยวางเป็นหลัก จะโล่งเบาไปอีกแบบ สุขไปอีกแบบ

 

ถาม มีหลายครั้งเวลาสวดมนต์โดยเฉพาะช่วงกลางคืน จิตมันเบา มันอยากหยุดสวด

 

ตอบ  มันสวดพอแล้ว สวดเพื่อให้สงบ หยุดสวดได้เลย

 

ถาม  ไม่ต้องสวดให้จบ หยุดไปเลย

 

ตอบ  ไม่ต้องสวดต่อ กำหนดดูลม ดูจิตที่นิ่งเฉยก็ได้ ถ้าจิตไม่คิดไม่ปรุงก็ใช้ได้

 

ถาม ของผมกลางคืนมันวูบทุกที คล้ายๆจะสงบ พอขาดสติก็หลับวูบไปเลย ไม่รู้ตัว

 

ตอบ  สติยังอ่อน ต้องไปอยู่ที่เปลี่ยวๆกลัวๆ จะได้ตื่น พอมีความหวาดกลัวแล้วจะไม่ค่อยหลับ หลับยาก พระบางรูปต้องไปนั่งตรงทางเสือผ่าน ไปนั่งตรงหน้าเหว เพราะชอบหลับ นั่งในกุฎิแล้วหลับ ก็ออกมานั่งหน้ากุฎิ ถ้ายังหลับก็ไปนั่งที่น่ากลัว จะได้ไม่หลับ

 

ถาม  พุทโธกับการพิจารณาไตรลักษณ์ให้ปล่อยวาง ต่างกันอย่างไรคะ

 

ตอบ พุทโธเป็นการกล่อมจิตให้สงบ เป็นสมถภาวนา การพิจารณาด้วยปัญญาเป็นการทำจิตให้สงบ ด้วยการทำลายเหตุที่ทำให้จิตไม่สงบ เป็นวิปัสสนาภาวนา

 

ถาม  บั้นปลายเราต้องการความสงบ หรือต้องการปล่อยวาง

 

ตอบ  ต้องการปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วจิตจะสงบ

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นสงบมาก่อนปล่อยวาง

 

ตอบ สงบแบบนั้นไม่ถาวร พอไปเจอปัญหาก็จะฟุ้งซ่านขึ้นมาอีก

 

ถาม  แปลว่าปล่อยวางแล้วจะสงบดีกว่า

 

ตอบ ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องทำให้จิตสงบด้วยสมถภาวนาก่อน ยกเว้นถ้าเป็นจริตที่ใช้ปัญญาทำจิตให้สงบ อย่างที่หลวงตาท่านสอนว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาเพื่อปล่อยวาง แล้วจิตก็จะสงบ

 

ถาม พุทโธเป็นสมถภาวนา พิจารณาไตรลักษณ์เป็นวิปัสสนาภาวนา

 

ตอบ  ในขั้นของสมาธิ ของสมถภาวนา ทำได้ ๒ วีธีคือ  ๑. กล่อมจิตด้วยการบริกรรมพุทโธ  ๒. พิจารณาด้วยเหตุผล เพื่อตัดปัญหาที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน จิตไม่สงบ แต่ยังไม่เป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะยังไม่ได้พิจารณาเป้าของวิปัสสนาคือขันธ์ ๕ ตอนนี้พิจารณาเรื่องที่ทำให้วุ่นวายใจ ปัญหาทางการงาน ทางลูกทางสามี ทำให้นั่งบริกรรมพุทโธไม่สงบ ก็ต้องพิจารณาตัดปัญหาต่างๆ ให้ปล่อยวางให้ได้ พอปล่อยวางแล้ว จิตก็จะสงบลงได้ เป็นเพียงขั้นสมาธิ เป็นปัญญาระดับต้นๆ เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป ยังไม่ได้เข้าถึงตัวปัญหาหลักคืออุปาทานในขันธ์ ๕ นี่คือเป้าของวิปัสสนา ต้องตัดอุปาทาน ยึดมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณให้ได้ จึงจะเป็นวิปัสสนา แต่ตรงนั้นเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มีปัญหาก็ใช้ปัญญาเข้ามาแก้ ยอมรับความจริง จะจากกันก็จากกัน จะเลิกกันก็เลิกกัน

 

ถาม แนวทางในการปฏิบัติธรรม ต้องใช้ความเพียรเป็นหลักใช่ไหมคะ จะทำความเพียรแบบไหน ให้ฉลาดให้ได้ผลที่สุด

 

ตอบ เพียรสร้างสติก่อน สติเป็นตัวสำคัญที่สุด ถ้าเพียรแล้วไม่มีสติก็เสียเวลาเปล่าประโยชน์ ทำไปก็ไม่ได้ผล ได้แค่กิริยาอาการ นั่งสมาธิไป ใจก็ลอยไปลอยมา ไม่สงบ

 

ถาม  ท่านอาจารย์เจี๊ยะว่า บางคนนั่งมา ๑๐ ปีแล้ว ไปไม่ถึงไหนเลย

 

ตอบ เพราะไม่มีสติ นั่งแล้วใจก็ลอยไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ สลับกับพุทโธๆ

 

ถาม  อย่างนั้นจะเริ่มอย่างไร เพื่อให้มีสติคะ

 

ตอบ ให้ฝึกตั้งสติตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย ให้มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา เฝ้าดูร่างกายเป็นเหมือนนักโทษ เป็นสมบัติที่มีค่ามาก ต้องเฝ้าดูอยู่ทุกเวลานาที ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องเฝ้าดูอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้มันเคลื่อนจากสายตาของจิตไปเลย อย่างนี้ถึงจะมีสติ เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะโดยธรรมชาติ จิตไม่ชอบอยู่กับร่างกาย ชอบอยู่กับเรื่องอื่น เรื่องที่มีความผูกพันมาก ก็อยู่กับเรื่องนั้นมาก พอตื่นขึ้นมาก็กระโดดไปหาเรื่องนั้นทันทีเลย เรื่องงานเรื่องเที่ยว ต้องใช้ไตรลักษณ์ต้องใช้ปัญญาตัดมัน อย่างตอนนี้เราอยู่ตรงนี้ เรื่องงานอยู่ตรงนั้น คิดไปก็เปล่าประโยชน์ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าจำเป็นต้องคิดก็คิดให้ทะลุปรุโปร่งไปเลย พอเสร็จแล้วก็หยุดคิด กลับมาดูที่ร่างกายเราต่อ ถ้าจำเป็นต้องคิด ก็หยุดทำงานอย่างอื่นก่อน นั่งเฉยๆ แล้วคิดให้พอ พอเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ต้องคิดเรื่องนั้น ถ้ามีอะไรต้องทำต่อก็ทำไปด้วยสติ ให้กลับมาอยู่ในปัจจุบันเสมอ ปัจจุบันเป็นฐานปฏิบัติการของจิต ต้องเป็นปัจจุบันถึงจะเป็นการปฏิบัติ ถ้าเป็นอดีตเป็นอนาคต ก็เป็นจินตนาการ เป็นสัญญา ยกเว้นถ้าพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วไปเกี่ยวข้องกับอดีตปัจจุบันอนาคต อย่างนี้ไม่เป็นสัญญา เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา แต่พิจารณาในปัจจุบัน เช่นพิจารณาการเกิดการแก่การเจ็บการตายของเรา ต้องพิจารณาทั้งอดีตปัจจุบันอนาคต ให้เห็นภาพรวม ตั้งแต่ดวงวิญญาณเข้ามาสู่ร่างกายจนแยกออกจากร่างกายไปในที่สุด ต้องพิจารณาให้ครบวงจร อย่างนี้ไม่เป็นการติดอดีตอนาคต เป็นปัจจุบัน แต่คิดเกี่ยวกับอดีตเกี่ยวกับปัจจุบันเกี่ยวกับอนาคต เป็นวิปัสสนา เพราะปัญญาต้องเห็นทั้ง ๓ ส่วน จึงจะเข้าใจ เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ถ้าเห็นแต่ปัจจุบันอย่างเดียว ไม่เห็นอดีต ไม่เห็นอนาคต ก็จะเห็นไม่ชัด ไม่เห็นอนิจจัง การเปลี่ยนแปลง เราเห็นตัวเราทุกวัน หน้าตาก็เหมือนเดิม ไม่เห็นเปลี่ยนตรงไหนเลย  แต่ถ้ากลับไปดูตอนเป็นเด็ก ดูอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ว่าจะเป็นอย่างไร ก็จะเห็นชัด ว่ามีการเปลี่ยนแปลง นี่คือการพิจารณา ต้องพิจารณาให้เห็นทั้ง ๓ ส่วน เป็นการพิจารณาอนิจจัง ส่วนการพิจารณาทุกข์ก็ดูว่าร่างกายมีสุขไหม มีลูกแล้วสุขไหม สุขมากกว่าทุกข์ หรือทุกข์มากกว่าสุข ถามตัวเองดู ชั่งน้ำหนักดู มีกับไม่มี อย่างไหนสบายกว่ากัน เปรียบเทียบดูก็เห็นได้ชัด

 

ถาม  จิตตัวเดียว คิดได้ตั้ง ๕๐๐ อย่างในเวลาเดียวกัน แตกกิ่งก้านไปได้มาก

 

ตอบ ใช่ รวดเร็วมาก ไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจเลย เกิดจากกิเลส เพราะโลภมาก อยากจะได้หลายอย่าง คุยโทรศัพท์ไป กินข้าวไป เขียนหนังสือไป เพื่อกิเลสทั้งนั้น ถูกกิเลสเอาไปใช้งานหมด อวิชชา ปัจจยา สังขารา  การย้อนศรย้อนเกล็ดอวิชชาจึงยาก เพราะติดเป็นนิสัย ชอบทำอะไรทีละหลายๆอย่างพร้อมกัน พอให้ทำทีละอย่างก็อึดอัด

 

ถาม  เวลาห้ามมัน เหมือนมีเยื่อบางๆ มันไม่ยอมนะคะ

 

ตอบ  การถอดถอนอุปาทานต้องใช้เวลา ต้องใช้เหตุผล ขั้นต้นต้องใช้ความสงบก่อน สมาธิเป็นเหมือนฉีดยาสลบ ให้กิเลสอ่อนกำลังลง พอจิตมีความสงบ กิเลสจะทำงานช้าลงๆ ตอนนั้นจะพิจารณาทางปัญญาได้ ไม่มีอะไรมารบกวน ในขณะที่จิตไม่สงบ กิเลสจะทำงานอย่างเต็มที่ พอพิจารณาความตายคำเดียว กิเลสก็ดึงไปแล้ว ผลักไปแล้ว พิจารณาอนิจจังปั๊บ ก็ผลักไปแล้ว พิจารณาไม่ต่อเนื่อง ต้องมีฐานสมาธิก่อน อย่างตอนที่หลวงตาไปกราบหลวงปู่มั่นวันแรก หลวงปู่มั่นท่านเมตตาเทศน์ว่า ท่านมหาก็เรียนจบเป็นมหาแล้ว แต่ความรู้ทั้งหมดที่ท่านเรียนมานี้ ไม่มีประโยชน์กับตัวท่านเลย ขอให้ท่านวางไว้บนหิ้งก่อน ให้หันมาทำจิตให้สงบก่อน เมื่อจิตสงบแล้ว ความรู้ต่างๆที่ท่านเรียนมานี้ จะเข้ามาเป็นวิปัสสนาเป็นปัญญาเอง แต่ตอนนี้ไม่เป็นปัญญา เป็นสัญญา ทำลายฆ่ากิเลสไม่ได้ ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะไม่ได้เป็นความรู้แบบภาวนามยปัญญา ต้องภาวนาก่อน ทำจิตให้สงบ พอจิตสงบแล้ว เห็นอะไรไม่ดีก็หยุดได้เลย เห็นความโลภไม่ดี ก็หยุดได้ จิตมีเบรก ตัวเบรกก็คือสมาธินี่เอง ถ้าไม่มีสมาธิ ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นกิเลส ก็หยุดไม่ได้ รู้ว่าไปเที่ยวไม่ดีก็หยุดไม่ได้ หยุดความอยากไม่ได้ เพราะไม่มีสมาธิที่จะไปหยุดมัน รู้ว่าสูบบุหรี่ไม่ดี ก็หยุดไม่ได้

 

ถาม  กิเลสทำให้คิดว่าทำไปแล้วมีความสุข

 

ตอบ  มันหลอกเรา  ต้องมีสมาธิ พอได้สมาธิแล้ว ก็จะหยุดได้