กัณฑ์ที่ ๓๗๒       ๒ กันยายน ๒๕๕๐

 

คู่มือปฏิบัติธรรม

 

 

 

พระมหาสติปัฏฐานสูตรนี้เป็นเหมือนคู่มือปฏิบัติธรรม ถ้าอ่านพระสูตรเข้าใจก็จะมีคู่มือปฏิบัติ   ความจริงก็ไม่ยากอะไร     ยากที่การปฏิบัติหลักใหญ่อยู่ที่ให้มีสติรู้อยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ให้รู้อยู่กับการกระทำนั้นๆ แต่ใจเราชอบแกว่งไปแกว่งมา ไปทางโน้นที มาทางนี้ที ไม่ชอบอยู่กับตัว ไม่ชอบอยู่กับที่ ไม่ชอบอยู่กับปัจจุบัน อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ กายอยู่ตรงนี้แต่ใจไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน ไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ มันยากตรงนี้เอง ถ้าสามารถดึงใจให้อยู่กับเราได้ตลอดเวลา ก็จะควบคุมใจได้ ถ้าควบคุมใจได้ก็ตัดปัญหาไปได้มาก ใจเป็นเหมือนม้า สติเป็นเหมือนบังเหียน ถ้ามีบังเหียนก็จะบังคับม้าให้หยุด ให้วิ่ง ให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร ถ้าบังคับไม่ได้ ม้าก็จะวิ่งไปตามใจของมัน ถ้าลุยเข้าไปในพงหนาม คนขี่ก็จะโดนหนามข่วน ฉันใดใจก็เป็นเหมือนกับม้านี้แหละ เวลาโกรธมันก็จะหลุดไปเลย ทำอะไรเหมือนคนเสียสติ เหมือนคนบ้า ทำให้เกิดความเสียหายต่างๆตามมา ถ้าทำเรื่องที่ไม่ถูกศีลถูกธรรม ก็จะมีเรื่องวุ่นวายตามมา เพราะใจไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของสติ ของผู้รู้คือใจเอง ที่เป็นผู้กระทำ แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะไม่เคยฝึก  ไม่รู้ว่าการฝึกสติควบคุมใจตนเองนั้น จะนำประโยชน์มาให้อย่างมาก เพราะอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชาความไม่รู้ ใจจึงชอบทำอะไรตามอารมณ์ ไม่ชอบทำอะไรตามเหตุผล ถ้าอะไรถูกอกถูกใจก็จะถือว่าดี ถึงแม้คนอื่นจะมาทักมาท้วงอย่างไร ว่าทำแล้วจะเกิดความเสียหาย

 

เช่นลูกของเรานี้ จะถูกอารมณ์ครอบงำ จะชอบทำอะไรตามอารมณ์ พ่อแม่เคยมีประสบการณ์มาแล้ว รู้ดีรู้ชั่วแล้ว ก็อยากจะให้ลูกอยู่ในทำนองคลองธรรม อยู่กับการกระทำที่เกิดคุณเกิดประโยชน์ เช่นอยากจะให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ ไม่อยากให้ลูกเล่นมากจนเกินไป ดูโทรทัศน์มากจนเกินไป เที่ยวมากจนเกินไป แต่ใจของลูกถูกความอยากเหล่านี้ครอบงำ จึงชอบเที่ยว ชอบเล่น ชอบสนุกสนานเฮฮา ไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบเรียนหนังสือ พ่อแม่ก็เลยหนักอกหนักใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าสามารถสอนให้ลูกปฏิบัติตามแนวพระมหาสติปัฏฐานสูตรได้ ก็จะเป็นคุณเป็นประโยชน์มาก สอนให้ลูกมีสติคอยควบคุมอารมณ์ ให้ใช้เหตุใช้ผลเวลาจะทำอะไร ว่าจะเกิดคุณหรือโทษ ถ้าเกิดโทษก็ให้หักห้ามจิตใจอย่าไปทำ ถ้าเกิดคุณเกิดประโยชน์ก็ให้ทำไปเลย พ่อแม่จึงต้องสอนลูกด้วยเหตุด้วยผล แต่บางทีพ่อแม่ก็สอนด้วยอารมณ์ ก็ทำให้เป็นปัญหาเพิ่มขึ้นมา เพราะอารมณ์ต่ออารมณ์จะรับกันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างมีทิฐิด้วยกัน อารมณ์ของฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าดี อารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ว่าไม่ดี ฝ่ายที่สอนก็บอกว่าต้องเชื่อฟังพ่อแม่ เพราะรู้มากกว่า แต่อารมณ์ของลูกไม่ยอมรับ ต้องให้เห็นเหตุเห็นผลเห็นโทษจริงๆ  บางทีก็ยากที่จะทำให้เห็นได้ ก็ต้องใช้มาตรการเผด็จการบังคับ มีการลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตาม ถ้าอยู่ในวัยที่ยังควบคุมบังคับด้วยกฎด้วยระเบียบได้ ก็ต้องทำ ถ้าฝืนก็ต้องมีการลงโทษ

 

เด็กบางคนห้ามอย่างไรก็ไม่เชื่อ พ่อแม่ก็ไม่มีปัญญาที่จะลงโทษได้ ก็ต้องให้ตำรวจช่วยจับไปอยู่โรงเรียนดัดสันดานเลย มีอยู่รายหนึ่ง พ่อแม่ห้ามอย่างไรก็ไม่เชื่อ ไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่ชอบทำงาน ชอบเอาเพื่อนมาเล่นการพนัน กินเหล้ากันในบ้าน จนพ่อแม่ต้องขอให้ตำรวจมาช่วยจับไปส่งโรงเรียนดัดสันดาน ที่ราชบุรีมีโรงเรียนของคาทอลิค ที่รับเด็กที่ไม่เอาไหนไปอยู่ ให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบ ให้เรียนหนังสือ มีกฎเคร่งครัดมาก ไม่ให้กลับไปเยี่ยมบ้าน พ่อแม่ไปเยี่ยมได้เดือนละครั้ง พออยู่ได้สักพักหนึ่งก็ดีขึ้น ต้องมีประสบการณ์ถึงจะเห็นโทษ ว่าทำไปแล้วจะต้องรับผลอย่างนี้ ถ้าสามารถวาดภาพให้ลูกเห็นได้ว่า ถ้าทำอย่างนี้ต่อไปอนาคตจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเขาเห็นเขาเชื่อและปฏิบัติตามได้ก็ดีไป ถ้าเขาไม่เชื่อก็ต้องใช้มาตรการการลงโทษ ใช้กฎระเบียบ ถ้ายังห้ามปรามไม่ได้ก็ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่พ่อแม่บางคนก็ใจอ่อน ทำไม่ลง รักลูก กลัวลูกจะโกรธจะเกลียด กลัวจะขาดจากการเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ใจของเด็กเป็นหลัก ถ้ามีอวิชชาโมหะตัณหามาก มีความโลภโมโทสันมาก ก็เหมือนมีเมฆปกคลุมหุ้มห่อใจมาก จนแสงสว่างของเหตุผลของธรรมะเข้าไม่ถึง อธิบายด้วยเหตุด้วยผลก็ไม่ชอบ ไม่ถูกอารมณ์ ไม่ยอมฟัง ถ้าพ่อแม่มีความแน่วแน่ มีความกล้าหาญ ไม่กลัวว่าลูกจะโกรธจะเกลียดอย่างไร เชื่อว่าทำเพื่อลูกจริงๆแล้ว ก็ต้องใช้มาตรการเข้มงวดกวดขัน ลูกก็จะยอม จะเห็นคุณต่อไป เพราะทำเพื่อให้เขาได้เห็นคุณเห็นโทษ ให้เขาฉลาด พอโตขึ้นเขาก็จะเข้าใจ ว่าเราทำเพื่อเขา ถึงแม้เขาจะไม่ชอบ

 

พวกเราทุกคนชอบทำอะไรตามใจ ถ้าถูกบังคับจะโกรธจะเกลียดคนที่มาบังคับ พอโตขึ้นได้พัฒนาทางด้านสติปัญญาก็จะเข้าใจ ไปอยู่วัดกับครูบาอาจารย์ก็แบบเดียวกัน ท่านเข้มงวดกวดขันมาก จนดูเหมือนว่าท่านโหดร้ายทารุณเป็นเผด็จการ แต่ท่านมีความมั่นใจในมาตรการของท่าน และสิ่งที่ท่านอบรมสั่งสอน ว่าเป็นทางที่ถูกต้องดีงามที่สุด เราไปหาท่านก็เพื่อไปรับสิ่งเหล่านี้จากท่าน แต่กิเลสก็ชอบมาดึงมาลากให้ไปอีกทางหนึ่ง ไปชนกับมาตรการที่ดีงามของท่าน ถ้าท่านทราบท่านก็ต้องตักเตือน ถ้าเราฝืนท่านก็ต้องใช้มาตรการเด็ดขาด เช่นวัดป่าบ้านตาดนี้ท่านห้ามทะเลาะกัน ถ้าทะเลาะกันก็ถือว่าผิดด้วยกันทั้งคู่ ที่วัดป่าบ้านตาดจะไม่มีศาลตัดสินว่าใครผิดใครถูก ถ้าใครมาฟ้องก็ให้ออกไปเลย ไปด้วยกันทั้งคู่ ทั้งคนฟ้องทั้งคนถูกฟ้อง การทะเลาะกันมันเสียหาย เกิดจากทิฐิความไม่ยอมกัน ในสมัยพุทธกาลก็ทำให้สงฆ์แตกแยกเป็นสองส่วน แม้พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามก็ไม่ฟัง เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องอยู่จำพรรษาตามลำพัง มีช้างกับลิงอุปัฏฐาก ชาวบ้านไม่ทราบว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงไปปลีกวิเวกอยู่องค์เดียว ก็ส่งสายไปสืบ ก็ได้ทราบว่าสงฆ์แตกแยกกัน พระพุทธเจ้าได้ทรงห้ามไม่ให้ทะเลาะกัน ให้ยอมกันด้วยเหตุผล แต่ต่างฝ่ายต่างถือว่าตนถูก ก็เลยไม่ทรงสามารถที่จะปกครองได้ จึงทรงแยกตัวไป พวกชาวบ้านทราบข่าวก็เลยงดใส่บาตรพระ เวลาไปบิณฑบาต ก็ไม่มีใครใส่บาตร พอไม่มีข้าวกินก็สำนึกผิด ก็เลยไปขอขมา ขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจำพรรษา

       

ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์หรือเป็นฆราวาส ความสามัคคีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อยู่ร่วมกันต้องไม่แตกแยก ถึงแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน มีการกระทำที่แตกต่างกัน ก็ให้สงวนความแตกต่าง ประสานความเหมือน ส่วนที่มีความเห็นไม่ตรงกันก็เก็บไว้ในใจ ส่วนที่ต้องทำร่วมกันเพื่อให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ก็ทำกันไป ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบก็ตาม ถ้าอยู่ในสังคมนั้นเขาทำกันอย่างนั้น ก็ต้องทำตาม ถ้าทะเลาะวิวาทกัน ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ถ้าเป็นสังคมระดับประเทศชาติอย่างที่ผ่านมา เราก็เห็นกันว่าเป็นอย่างไร พอเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกัน แยกเป็นสองฝักสองฝ่าย บ้านเมืองก็จะเดินไปสู่ความหายนะ ถ้าไม่มีมาตรการยับยั้งก็อาจจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาก็ได้ ในประวัติศาสตร์ก็มีประเทศที่มีปัญหาเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองมาแล้ว คนในประเทศเดียวกันต้องฆ่ากันเอง แม้แต่ในปัจจุบันก็มีให้เห็นเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ต่างศาสนาต่างนิกาย พอใครมาพูดเรื่องนิกายของพุทธศาสนา ก็ต้องรีบตัดไปเลยว่าเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นพระเหมือนกัน มีพระพุทธเจ้าเป็นครูเป็นอาจารย์เหมือนกัน ต่างกันเพราะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน จึงแยกกัน เราอยู่นิกายไหนก็อยู่ไป ถ้าเห็นว่าไม่ดีไม่ถูกต้องก็ย้ายได้ เช่นพระที่ญัตติในสมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นอยู่ในนิกายที่เคารพพระธรรมวินัยมาก ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีพระบางรูปอยู่อีกนิกายหนึ่งที่ปฏิบัติไม่เคร่งครัดเท่า ก็เกิดความเลื่อมใสอยากเป็นลูกศิษย์ อยากจะอยู่ศึกษาปฏิบัติกับท่าน ท่านก็ให้ทำญัตติกรรม เปลี่ยนจากนิกายหนึ่งไปอีกนิกายหนึ่ง ก็ต้องเริ่มต้นใหม่เหมือนกับบวชใหม่ ถึงแม้บวชมาสิบยี่สิบพรรษาแล้ว พอทำญัตติกรรมแล้วก็ต้องนับหนึ่งใหม่ แต่ท่านก็ไม่ถือเรื่องพรรษา เพราะบวชเพื่อธรรมะจริงๆ ไม่ได้บวชเพื่อพรรษา บวชแบบทัพพีในหม้อแกงจะเกิดประโยชน์อะไร เทียบกับบวชแบบลิ้นกับแกงไม่ได้ บวชเพื่อสัมผัสธรรมะ รู้ธรรมะ เกิดธรรมะขึ้นมาในใจ กิเลสล้มหายตายจากไปจากใจ ถึงแม้จะเป็นผู้บวชใหม่ก็มีศักดิ์ศรีมากกว่าผู้บวชมานาน แต่ไม่ได้สัมผัสธรรมะ บวชแบบทัพพีในหม้อแกง จึงต้องให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติ ที่จะทำให้ได้สัมผัสกับธรรมะ

 

การได้ยินได้ฟังอย่างเดียวยังไม่พอ เหมือนกับรับยามาจากหมอ แต่ไม่รับประทานยา โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่หาย เพราะยายังไม่ได้เข้าไปในร่างกาย ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เราได้ยินได้ฟังก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่ได้นำมาปฏิบัติกับกายวาจาใจ ก็ยังไม่เกิดประโยชน์ เหมือนยาที่ยังไม่ได้รับประทาน ฟังไปมากน้อยเพียงไร ถ้าไม่น้อมเข้ามาปฏิบัติกับกายวาจาใจ ก็ยังเป็นธรรมะภายนอกอยู่ ยังไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไร เราต้องน้อมเข้ามาปฏิบัติกับกายวาจาใจ ประโยชน์ถึงจะเกิดขึ้นมา เช่นเรื่องการให้มีสติอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องฝึกทำให้ได้ ถ้าทำได้แล้วจะเห็นคุณเห็นประโยชน์เห็นผล ที่เกิดขึ้นจากการมีสติ เพราะสติสามารถระงับดับอารมณ์ต่างๆได้ อาจจะยังไม่ได้อย่างถาวร อย่างน้อยก็จะตัดอารมณ์ได้เป็นพักๆ ไม่ให้ลามเป็นลูกโซ่ ถ้ามีสติเวลาเกิดอารมณ์เราจะรู้ทันที ถ้ายังระงับไม่ได้ ก็ใช้การเบี่ยงเบนไปก่อน พอคิดแล้วเกิดอารมณ์ขึ้นมา รู้ว่าอารมณ์ไม่ดี ก็หันไปคิดเรื่องอื่น คิดเรื่องธรรมะแทน ถ้าคิดเรื่องธรรมะแล้วใจจะเย็น ถ้ายังคิดเรื่องธรรมะไม่เป็น ก็ให้ระลึกชื่อของพระพุทธเจ้าไปก่อน บริกรรมพุทโธๆไปในใจ อย่าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้เกิดอารมณ์ เช่นกำลังมีปัญหากับใครสักคนหนึ่ง เกิดความโกรธเกลียดชังขึ้นมา ก็หันมาบริกรรมพุทโธๆไปในใจ หรือจะสวดมนต์บทใดบทหนึ่งก็ได้ ไม่ให้คิดถึงเรื่องอื่น พอสวดไปสักระยะหนึ่ง ความอยากจะไปคิดถึงเรื่องนั้นก็จะอ่อนตัวลง แล้วก็จะหายไป อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการคิดเรื่องนั้นก็จะหายตามไป ใจก็กลับสู่ปกติ ก็จะคิดด้วยเหตุด้วยผล ยอมรับเหตุผล ก็จะคิดว่าเขามีความเห็นอย่างนี้ เขาชอบทำอย่างนี้ เราไม่ชอบทำอย่างนี้ แต่จะทำอย่างไรได้  เขาเป็นเขา เราเป็นเรา เราไปบังคับให้เขาทำตามใจเราไม่ได้ เมื่อเขาอยากจะทำก็ปล่อยให้ทำไป ถ้ายังต้องอยู่ด้วยกันก็ต่างฝ่ายต่างอยู่ ถ้าคิดว่าอยู่ร่วมกันแล้วไม่เจริญ ก็แยกทางกันไป เช่นเขาชอบดื่มสุรายาเมา ดื่มแล้วก็อาละวาดทุบตี ก็จะอยู่ไปทำไม อยู่อย่างนี้ไม่เจริญ ก็แยกทางกันดีกว่า คิดด้วยเหตุด้วยผลไป ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ ถ้ามีเหตุมีผลเราจะชั่งน้ำหนักของคุณของโทษ ของการกระทำของเรา ว่าเมื่อทำอย่างนี้แล้วจะได้จะเสียมากน้อยเพียงไร ถ้าทำแล้วได้มากกว่าเสียก็ทำไป ถ้าทำแล้วเสียมากกว่าได้ก็อย่าเพิ่งทำ อดทนไว้ก่อน ถ้าแยกทางกันแล้วเรากลับแย่ลง เพราะเรายังต้องอาศัยเขา ในการส่งเสียเลี้ยงดู แยกทางกันแล้วไม่มีรายได้เลย ก็จะเสียประโยชน์มากกว่าได้ ก็ทนอยู่กันไปก่อน จนกว่าจะหารายได้เอง แล้วค่อยแยกทางกันไป

 

นี่คือเรื่องของเหตุผล ที่แก้ปัญหาต่างๆได้ แก้ด้วยอารมณ์ไม่ได้ ไม่ว่ากับใครก็ตาม กับลูกเราก็เหมือนกัน ถ้าใช้อารมณ์อย่างเดียวจะแก้ปัญหาไม่ตก เช่นอยากจะให้ลูกดีแต่ลูกไม่ดี ก็ต้องสงบสติอารมณ์ก่อน แล้วมาคิดว่าเราไปบังคับเขาไม่ได้ พยายามสอนอย่างเต็มที่แล้ว แต่เขาไม่ยอมทำตาม ถ้าส่งเสริมเขาต่อไปก็เท่ากับส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งที่ไม่ดี เราก็ต้องหยุด เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา เป็นไปตามบุญตามกรรม แต่จะไม่โกรธไม่เกลียดเขา จะคอยสนับสนุนคอยช่วยเขา ถ้าเขาช่วยตัวเองไม่ได้ ในเรื่องที่จำเป็น เช่นปัจจัย ๔ ถ้าส่งเสียให้เขาเรียนหนังสือ แต่เขาไม่เอา เขาจะเที่ยวจะเล่น ก็ไม่ต้องให้เงินเขาเที่ยวเขาเล่น ถ้าจะเที่ยวจะเล่นก็ต้องหาเงินเอง เราจะไม่เสียใจ เพราะยอมรับความจริงว่าบุญกรรมเป็นอย่างนี้ เขาทำบุญทำกรรมมาอย่างนี้ ทำให้เขาเป็นคนแบบนี้ เราจะเข้าใจว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆตน มีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด เราไม่ได้ให้กำเนิดเขา ตัวเขามีอยู่สองส่วน ใจกับกาย ส่วนที่เราให้กำเนิดเขาก็คือกาย แต่ใจเขาเราไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิด ใจดีหรือชั่วเกิดจากกรรมดีหรือชั่ว ทำให้เขาดีหรือชั่ว เขามีกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำดีก็จะได้สิ่งที่ดีเป็นที่พึ่ง ทำไม่ดีก็ได้สิ่งที่ไม่ดีเป็นที่พึ่ง ถ้าเข้าใจหลักกรรมแล้วก็จะปล่อยวางได้ เราเป็นเพียงผู้ให้กำเนิดทางร่างกาย เหมือนสร้างบ้านให้เขาอยู่ แต่เขาจะเอาบ้านไปทำอะไร เราบังคับเขาไม่ได้ จะจัดบ้านให้สวยงามน่าอยู่ก็ได้ จะทำให้สกปรกรกรุงรังไม่น่าอยู่ก็ได้ เพราะเขาเป็นเจ้าของบ้าน เราเป็นเพียงผู้สร้างบ้านให้เขาอยู่ แล้วก็เป็นผู้แนะนำวิธีดูแลรักษาบ้าน ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ถ้าเขาทำไม่ได้ก็ต้องยอมรับว่าเขาไม่มีความสามารถ เขามีบุญมีกรรมมาอย่างนี้ เขาทำได้แค่นี้

 

คนเราถึงแม้จะเกิดมาจากพ่อแม่คนเดียวกัน พอโตขึ้นมาก็มีความแตกต่างกัน บางคนก็เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า บางคนก็กลายเป็นโจรไป ไม่ได้มาจากพ่อจากแม่ เพราะพ่อแม่ก็สอนให้ลูกเป็นคนดีเหมือนกัน แต่กรรมของเขาเป็นตัวที่ผลักดันให้เขาไปในทิศทางที่เขาได้สะสมมา ถ้าสะสมในทิศทางที่ไม่ดี ก็จะผลักให้เขาไปทำในสิ่งที่ไม่ดีต่อไป เพราะเป็นความเคยชิน ทำแล้วง่าย เหมือนคนที่ถนัดมือซ้าย ก็จะใช้มือซ้าย คนที่ถนัดมือขวาก็จะใช้มือขวา แต่เปลี่ยนได้ถ้าเห็นว่าไม่ถูกไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเห็นว่าใช้มือซ้ายแล้วสู้คนใช้มือขวาไม่ได้ ก็หัดใช้มือขวาไป ใหม่ๆจะรู้สึกไม่ถนัด พอใช้ไปเรื่อยๆก็จะถนัด เช่นเดียวกับการทำความดีหรือทำความชั่ว คนที่เคยทำความชั่วมาจะทำความชั่วง่าย พูดโกหกนี้จะเร็วสะดวก หยิบข้าวของๆคนอื่นโดยไม่ขออนุญาตก่อน จะทำได้ง่ายทำได้รวดเร็ว ถ้ามารู้ในภายหลังว่าไม่ดีไม่เจริญ อยากจะเป็นคนดี อยากจะเจริญ ก็ต้องฝึกนิสัยใหม่ เวลาพูดอะไรก็ต้องระมัดระวัง มีสติมีปัญญาคอยกลั่นกรอง ว่าสิ่งที่จะพูดนั้นถูกผิดอย่างไร จริงหรือเท็จ ถ้าพูดความจริงไม่ได้ก็พูดเรื่องอื่นแทน หรือไม่พูดเลย จะได้ไม่ต้องพูดปด ข้าวของๆคนอื่นก็เช่นเดียวกัน ไม่ถือวิสาสะ ถ้าอยากได้ก็ต้องคิดก่อนว่าของนี้มีเจ้าของ ถ้าอยากได้ก็ต้องขออนุญาตก่อน ทำให้ถูกต้อง ฝึกทำได้ ต่อไปก็จะเป็นนิสัย ก็จะทำง่าย ดังมีคำพูดว่า คนดีทำดีง่าย คนชั่วทำดียาก คนดีทำชั่วยาก คนชั่วทำชั่วง่าย เพราะความเคยชิน ถ้าเคยชินกับการทำความชั่วย่อมทำชั่วง่าย ถ้าเคยชินกับการทำความดีย่อมทำดีง่าย ชีวิตของเราก็อยู่ตรงนี้เอง อยู่ที่ทำดีละบาป กำจัดโลภโกรธหลง ที่เป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย ของความทุกข์ ของความชั่วทั้งหลาย ถ้ารู้ว่ายังทำดีไม่ครบ ก็พยายามทำให้ครบ ถ้ารู้ว่ายังทำบาปอยู่ ก็ต้องพยายามตัด ถ้ารู้ว่ายังมีโลภโกรธหลงอยู่ ก็ต้องพยายามกำจัด

 

สิ่งแรกที่ต้องมีก็คือสติ ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร กำลังคิดอะไร เพราะจะนำไปสู่การทำดีละบาป กำจัดโลภโกรธหลง พอคิดปั๊บก็ต้องถามตัวเองเลยว่า ความคิดนี้นำไปสู่การทำความดีหรือเปล่า นำไปสู่การละบาปหรือเปล่า นำไปสู่ความโลภความโกรธความหลงหรือเปล่า ถ้าไม่มีสติก็จะทำไปอย่างอัตโนมัติ ทำไปตามนิสัย เห็นอะไรอยากได้ก็หยิบมาเลย โดยไม่ไตร่ตรองก่อน พอจะพูดโกหกก็จะพูดไปเลย เพราะขาดสติ ถ้าฝึกสติแล้วสติจะเร็วกว่าความคิด จะทันความคิด จะรู้เลยว่ากำลังคิดไปทางโลภทางโกรธทางหลงหรือไม่ ไปในทางดีหรือไม่ ก็จะสามารถควบคุมบังคับใจให้ไปในทาง ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไปได้ คือทำดีละบาป กำจัดโลภโกรธหลง ผลก็จะดีตามมา จิตใจจะร่มเย็นเป็นสุข จิตใจจะสูงขึ้น จิตใจจะพ้นจากอบาย จากความเป็นเปรตเป็นเดรัจฉานเป็นสัตว์นรก จะเป็นแต่มนุษย์เป็นเทพเป็นพรหมเป็นพระอริยเจ้า นี่คือความเจริญที่แท้จริง ต้องเจริญที่จิตใจ ไม่เจริญที่ลาภยศ สรรเสริญสุข ที่พวกเราถูกความหลงหลอกให้ไปเจริญกัน ทำให้ต้องทำบาป ต้องโกหก ต้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคิดว่าลาภยศสรรเสริญสุขเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง ต้องมีลาภยศสรรเสริญสุขถึงจะมีความสุขถึงจะเจริญ เพราะทางโลกวัดกันด้วยลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าได้เลื่อนตำแหน่ง ได้เลื่อนขั้น ได้เงินเดือนเพิ่ม ก็ว่าเจริญ มีเงินทองมากขึ้น มีคนสรรเสริญ มีความสามารถในการหาความสุข ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ มีบ้านใหญ่โต มีรถราคาแพงๆ กินอาหารราคาแพงๆ ใส่เสื้อผ้าราคาแพงๆ ก็ว่าเป็นความเจริญ แต่ไม่เห็นว่าใจอาจจะเสื่อมลงไปจากมนุษย์ ไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรตแล้วก็ได้ ถ้าหามาอย่างไม่ถูกศีลถูกธรรม เบียดเบียนผู้อื่น ทำบาปทำกรรม ใจก็จะตกต่ำ แต่มีลาภยศสรรเสริญสุขมากขึ้น เพราะไม่มีธรรมะ มองไม่เห็นใจ ไม่เห็นตัวที่ต้องรับผลของการกระทำก็คือใจ จึงต้องฝึกสติตามพระมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ ลองไปอ่านดูแล้วลองไปปฏิบัติดู ถ้าปฏิบัติได้จะเห็นผล ถึงแม้จะทรงแสดงให้แก่พระภิกษุก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าฆราวาสจะนำเอาไปปฏิบัติไม่ได้ เพราะฆราวาสกับพระภิกษุก็เป็นคนเหมือนกัน มีร่างกายมีใจเหมือนกัน ต้องอาศัยธรรมะเป็นเครื่องพัฒนาเหมือนกัน ต่างตรงที่พระภิกษุมีเวลามากกว่าฆราวาส ที่จะทุ่มเทให้กับงานทางด้านธรรมะ ก็ลองไปปฏิบัติดู ฝึกตั้งสติอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับ ให้มีสติเป็นเหมือนกับยามเฝ้าดูการกระทำของเรา ดูความคิดการพูดการกระทำต่างๆ ให้มีสติคอยติดตาม มีปัญญาคอยกลั่นกรอง ถ้าปฏิบัติอย่างจริงจัง จะได้เห็นผลอย่างจริงจัง

 

ถาม  ท่านอาจารย์เน้นเรื่องสติ เรื่องการสำรวมอินทรีย์ เรื่องศีล พวกนี้เป็นเรื่องเดียวกันหมดเลยใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ต่อเนื่องกัน

 

ถาม  เพื่อจะทำให้สติมั่นคง ได้ทั้งศีล  การสำรวมอินทรีย์เล่าครับ

 

ตอบ  สนับสนุนกัน เป็นเหมือนวงกลม ตัวนี้ก็ดันตัวนั้น ตัวนั้นก็ดันตัวต่อไป จนกลับมาดันตัวนี้ใหม่ ต่างฝ่ายต่างดันกัน ทำให้มีกำลังมากขึ้นไปเรื่อยๆ   ถ้าเรายืนเข้าแถวเป็นวงกลม พอคนที่อยู่ข้างหลังเราดันเรา เราก็ต้องดันคนข้างหน้า คนข้างหน้าก็ต้องดันคนต่อไปๆ จนย้อนกลับมาดันคนที่อยู่ข้างหลังเรา แล้วก็ดันเราต่อไปอีก ตัวที่สำคัญที่สุด ที่เป็นตัวริเริ่มก็คือสติ ที่จะทำให้ทุกอย่างเริ่มขยับไป เริ่มพัฒนาไป ถ้าเมื่อคืนนี้กินเหล้าเมา ตื่นขึ้นมายังเมา ไม่มีสติ ก็จะมาวัดไม่ไหว มาทำบุญทำทานมาฟังเทศน์ฟังธรรมไม่ได้ หรือมาแล้วกลางทางก็แวะซื้อเบียร์ดื่ม พอมาถึงที่นี่ก็ต้องนั่งในรถ เพราะไม่มีสติ ตัวสำคัญตัวแรกก็คือสติ ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สามารถควบคุมใจให้ทำภารกิจต่างๆได้    ถ้าทำตอนที่เมาก็จะทำไปแบบผิดๆถูกๆ   ขับรถชนกันตายก็เพราะเมาแล้วขับ สติจึงเป็นตัวสำคัญที่สุดในบรรดาธรรมะทั้งหลาย ทรงเปรียบเทียบเป็นเหมือนรอยเท้าช้าง ครอบรอยเท้าของสัตว์ทุกชนิดได้หมด ถ้าไม่มีสติ ทานศีลภาวนาวิมุตติหลุดพ้นก็จะไม่เกิด ถึงแม้วิมุตติหรือปัญญาหรือภาวนาจะเป็นธรรมะที่สูงมาก  ก็ยังต้องมีสติเป็นผู้สนับสนุนผลักดัน เราสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา ไม่ว่าอยู่ในวัดหรือนอกวัด เพราะมันอยู่ที่ตัวเรา แต่เราไม่ฝึกทำให้เป็นนิสัย จึงชอบทำแบบไม่มีสติ คือมีสติบ้าง แต่ไม่พอต่อการปฎิบัติธรรม มีเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ปุถุชนคนธรรมดาสามัญจะมีสติประมาณร้อยละ ๕๐  พอควบคุมดูแลจิตใจให้ทำอะไรได้ ยังมีสติไม่ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำอะไรก็จะเผลอไปคิดเรื่องอื่น แล้วก็กลับมาดูบ้าง กลับไปกลับมา มีสติเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่นี่ห้า ๕๐ ไปที่นั่น ๕๐ กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ถ้าเป็นสติของนักปฏิบัติจริงๆ จะมี ๑๐๐ ทั้ง ๑๐๐ อยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ตลอดเวลา ทำอะไรก็จะอยู่ตรงนี้อย่างเดียว เวลารับประทานอาหารก็อยู่กับการรับประทานอาหาร เวลาเคี้ยวก็อยู่กับการเคี้ยว แต่ไม่ทำอย่างเชื่องช้า ไม่ทำแบบตักข้าวขึ้นมาหนอ ใส่เข้าไปในปากหนอ กำลังเคี้ยวหนอ กำลังกลืนหนอ ไม่ต้องทำอย่างนี้ เพราะสติไวพอ ทำตามธรรมดา ให้มีสติเฝ้าดูอยู่ ตอนฝึกใหม่ๆ สำหรับบางคนอาจจะเป็นประโยชน์จากการทำแบบช้าๆ  เพื่อฝึกให้มีสติอยู่กับการกระทำนั้นๆ  เมื่อถึงเวลาจริงๆแล้ว ต้องสามารถดำเนินชีวิตไปอย่างปกติ มีสติตามรู้อยู่ตลอดเวลา

 

ถาม  ถ้าทำช้าๆ จะมีช่องว่างแทรกเข้าไปในจิตได้

 

ตอบ  ใช่  กิเลสจะมีช่องแทรกเข้ามาได้

 

ถาม  ถ้ามันถี่ โอกาสแทรกก็จะมีน้อย

 

ตอบ  แล้วแต่จริต บางคนอาจจะได้ประโยชน์จากการทำช้าๆก่อน  พอมาเป็นครูเป็นอาจารย์ก็จะสอนให้ทำแบบนี้

 

ถาม  เวลาขับรถไปแล้วฟังธรรม ทำทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันนี้ จะสมควรไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าฟังไปขับไป สติก็ต้องแบ่งไปห้าสิบๆ

 

ถาม  ถ้าไม่ใช่คนขับ

 

ตอบ  ถ้าไม่ต้องขับรถ ก็จะมีสติฟังได้ ๑๐๐ เปอร์เซนต์    ขับรถได้ครึ่งหนึ่ง ฟังธรรมได้ครึ่งหนึ่ง เพราะต้องสลับสติกลับไปกลับมา    เพื่อความปลอดภัยขับรถอย่างเดียวจะดีกว่า

 

ถาม  หมายความว่าเวลาเราทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกันนี่ ทำให้เวลาทำสมาธิจิตจะรวมยากใช่ไหมครับ เพราะจะไปหลายทาง

 

ตอบ  ใช่  จิตจะไม่นิ่ง จะส่ายไปส่ายมา ถ้าอยู่กับอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะรวมได้เร็วกว่า เวลาฝึกสติจึงควรจะทำทีละอย่าง เพราะเป้าหมายของเราคือให้จิตรวมเป็นหนึ่งสงบนิ่ง  ถ้าไม่มีเป้าหมาย เวลาขับรถไม่มีอะไรฟังจะง่วงจะหลับ ก็เปิดธรรมะฟังแก้เหงาแก้ง่วงก็ได้ เป็นคนละเป้าหมายกัน ไม่ได้เป็นการเจริญสติเพื่อความสงบ เพื่อความเป็นหนึ่งของใจ เวลาทำอะไรก็ต้องพิจารณาดูว่าทำเพื่ออะไร อย่าหลงประเด็น

 

ถาม  กรุงเทพรถติดนาน ถือโอกาสตอนนั้นฟังธรรมะไป

 

ตอบ  ถ้ารถจอดนิ่ง ก็พุทโธๆไปภายในใจก็ได้ หรือสวดมนต์ไปก็ได้ แทนที่จะนั่งพะวงว่าเมื่อไหร่ไฟจะเขียวเสียที   จะได้ไม่เครียด

 

ถาม  ความจริงพวกโยมติดฟังธรรมเวลาขับรถ มีแผ่นซีดีในรถเต็มไปหมดเลย

 

ตอบ  เวลานั่งในรถตู้กลับไม่ฟังกัน คุยกันยังกับนกกระจอก เพราะเคยอย่างนี้    เวลานั่งรถไปกับหลวงตา พระทุกรูปจะนั่งสงบ ต่างคนต่างดูจิตของตน มีสติกัน ไม่เพ้อเจ้อ ไม่คุยกัน เวลาอยู่กับหลวงตา เหมือนท่านมีฤทธิ์เสกให้ทุกคนแข็งตัวนิ่ง

 

ถาม  เหมือนมีเรดาร์คอยจับ

 

ถาม  เคยขับรถให้ครูบาอาจารย์นั่ง เห็นท่านนั่งเฉยๆอยู่   ก็เปิดวิทยุของหลวงตาให้ท่านฟัง ท่านบอกให้ปิด เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี

 

ตอบ  เพราะใจเรากับใจท่านไม่เหมือนกัน ใจของท่านอยู่ในความสงบ ท่านมีความสุขอยู่แล้ว ส่วนเรามันเหงาถ้าไม่มีอะไรฟัง ต้องมีอะไรฟังถึงจะมีความสุข ก็เลยอยากให้ท่านมีความสุขเหมือนเรา

 

ถาม  มีเพื่อนไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด จะไปอยู่นาน มีปัญหาว่าสองอาทิตย์แรกก็ปฏิบัติได้ดีอยู่ พออาทิตย์ที่สาม ถึงจะทำนานเท่าไหร่มันฟุ้งมาก  เขาก็พยายามแก้  แต่ยังไม่กลับมาเข้าที่   ไม่ทราบว่าจะแก้อย่างไรดี ถึงจะผ่านไปได้

 

ตอบ  ต้องเข้าใจธรรมชาติของจิตว่า เวลาทำอะไรใหม่ๆจะมีความกระตือรือร้น มีพลังมาก มีฉันทะวิริยะมาก พอทำไปๆแล้ว พลังจะอ่อนลงๆไป จนเหมือนกับไม่มีพลังเลย  ทำแล้วไม่เกิดผล ก็ต้องอดทนทำไปเรื่อยๆ    ควรคิดย้อนกลับไปวันแรกๆที่ทำได้ผลดี ว่าทำอย่างไร ก็เอาวิธีนั้นมาทำต่อ อย่าไปกังวลกับผลที่ยังไม่เกิด ทำไปแล้วยังไม่สงบเหมือนเมื่อก่อนนี้เลย เพราะมีกิเลสต่อต้าน  ตอนไปใหม่ๆ กิเลสจะชอบ ดีอกดีใจ ได้เปลี่ยนสถานที่ ได้ทำอะไรใหม่ๆ กิเลสไม่ต่อต้าน พออยู่ไปนานๆเข้า เกิดความจำเจ ทีนี้กิเลสจะออกมาแล้ว เริ่มเบื่อแล้ว ไม่มีสติไม่มีฉันทะวิริยะเหมือนตอนต้น ตอนนี้เราต้องพยายามสร้างสติ สร้างฉันทะวิริยะ ด้วยการปฏิบัติต่อไป เคยทำอย่างไรก็ทำไป ผลจะได้มากน้อยเพียงไรก็อย่าไปกังวล ถ้ายังไม่ได้ผลก็แสดงว่าจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ถูกกิเลสฉุดลากไป กิเลสออกมาอาละวาดมากขึ้น ไม่เหมือนกับตอนไปใหม่ๆ กิเลสยังเฉยๆอยู่ พออยู่ไปนานๆแล้ว มันก็จะออกมาอาละวาด จึงทำไม่ค่อยได้ผล อย่าไปกังวลกับผล  ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็จะได้ผล จะได้กำลังใจ ต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ ที่จะช่วยปลุกฉันทะวิริยะให้ฟื้นขึ้นมาใหม่

 

        จึงควรฟังธรรมบ้าง อย่าปฏิบัติอย่างเดียว ควรฟังธรรมสักวันละชั่วโมง ถ้าครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้เทศน์ ก็เอาหนังสือธรรมะมาอ่าน เอาเทปของท่านมาเปิดฟังแทน อย่างสมัยที่อยู่กับหลวงตา อาตมาก็อ่านหนังสือของท่านทุกวัน วันละชั่วโมง  เหมือนกับได้ฟังเทศน์ของท่าน อ่านไปเรื่อยๆ ประวัติของหลวงปู่มั่น อ่านวันละชั่วโมงจนจบ แล้วก็อ่านปฏิปทาของหลวงปู่มั่นต่อ อ่านแว่นดวงใจต่อ มีหนังสือกี่เล่มก็อ่านไป อ่านแล้วเหมือนกับได้น้ำได้ปุ๋ย ถ้าจะรอให้ท่านอบรมก็จะไม่ทันกาล บางทีท่านมีภารกิจอย่างอื่น แต่สมัยนี้เรามีตัวแทนของท่านในรูปของหนังสือเทปและซีดี ไม่จำเป็นต้องฟังสดๆ เพราะธรรมเป็นอกาลิโก สดตลอดเวลา จะสดหรือไม่สดอยู่ที่การฟังของเรา ว่าฟังด้วยสติหรือไม่ ถ้าฟังด้วยสติจะสด ถ้าไม่ตั้งใจฟังก็จะไม่สด เพราะคิดว่าเป็นของเก่า เคยฟังมาแล้ว ความจริงเวลาฟังแต่ละครั้งนี้ เราฟังไม่ได้ครบร้อยหรอก ขึ้นอยู่กับสติของเราว่ามีมากเท่าไหร่ ถ้ามีห้าสิบก็ฟังได้เพียงห้าสิบ ถ้ามีร้อยก็จะฟังได้ครบร้อย  แต่ไม่มีใครหรอกที่มีสติครบร้อย เพราะฟังเดี๋ยวเดียวก็เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ธรรมที่ท่านพูดก็จะผ่านไป พอวันหลังฟังใหม่ก็เหมือนกับไม่ได้ฟังมาก่อน   

 

        จึงควรฟังธรรมสลับกับการปฏิบัติ  อย่าปฏิบัติอย่างเดียว ปฏิบัติอย่างเดียวอาจจะไปติดกับไปติดหล่มได้ จะไม่รู้จักวิธีแก้ ถ้าฟังธรรมอยู่เรื่อยๆแล้ว จะมีธรรมคอยเตือนสติ ว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกนะ ทำอย่างนี้ถูกนะ แล้วจะมีกำลังใจ ท่านจะพูดถึงการปฏิบัติของท่าน พูดถึงเรื่องธรรมต่างๆ ฟังแล้วจะมีกำลังจิตกำลังใจ ท่านจะเล่าถึงปัญหาที่ท่านเคยมีเหมือนที่เรากำลังมีอยู่ จิตของท่านก็เจริญแล้วก็เสื่อม พอเสื่อมแล้วก็เกิดความวุ่นวายใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร ยิ่งอยากให้หายเสื่อมยิ่งไม่หาย เพราะความอยากหายไม่ได้เป็นเหตุที่ทำให้หาย เหตุที่จะทำให้หายก็คือการมีสติอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน เช่นอยู่กับพุทโธ ถ้านั่งคิดว่าเมื่อไหร่จะสงบ เมื่อไหร่จะได้ผล แต่จิตไม่อยู่กับพุทโธเลย ก็จะไม่ได้ผล เพราะมีแต่ความอยาก ไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดผลคือความสงบขึ้นมา ถ้ามีสติอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง จะมีเหตุทำให้เป็นผลขึ้นมา ต้องอย่าลืมเหตุตัวนี้เป็นอันขาด

       

        เป็นธรรมชาติของจิตที่เป็นเหมือนลูกคลื่น บางทีก็ขึ้นสูง  มีศรัทธาแรงกล้า มีกำลังจิตมีกำลังใจมาก บางทีก็ลงต่ำ ไม่ค่อยอยากปฏิบัติ เป็นเหมือนลูกคลื่น บางทีก็ว่านอนสอนง่าย บางทีก็ดื้อด้าน ต้องเข้าใจธรรมชาติของจิตว่าเป็นอย่างนี้ เวลาดื้อด้านก็พยายามประคับประคองไป อย่าไปโกรธ อย่าไปโมโห อย่าท้อแท้ ไม่ปฏิบัติเลย เลิกดีกว่า ก็จะไปเข้าทางของกิเลส ที่ต้องการให้เราเลิกปฏิบัติ ช่วงนี้มันยาก เหมือนกับเดินขึ้นภูเขา ก็ต้องทนไปก่อน   ทำไปเรื่อยๆ   ช้าบ้างเร็วบ้าง ไม่เป็นไร   พอถึงช่วงลงเขาก็รีบกอบโกยเลย รีบตักตวง ทำให้มากๆ   จิตเป็นอย่างนี้ เป็นเหมือนลูกคลื่น มีสูงมีต่ำไปเรื่อยๆ แต่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเป็นเส้นตรง ไม่ขึ้นไม่ลง ทีนี้ก็จะสบาย ไม่ยากลำบาก จะไปได้เรื่อยๆ ตอนต้นเหมือนกับขึ้นเขาลงห้วยอยู่หลายเขาหลายห้วยด้วยกัน กว่าจะไปถึงทางราบ พอไปถึงทางราบแล้วก็จะสบาย

       

        จิตตอนต้นจะแกว่งมาก แกว่งไปทางกิเลส แกว่งมาทางธรรมมาก  พอปฏิบัติมากขึ้น มีธรรมะมากขึ้น ก็จะแกว่งน้อยลง จนนิ่งอยู่ตรงกลาง ไม่แกว่งเลย คืออุเบกขา จิตเป็นหนึ่ง ไม่แกว่งไปตามอารมณ์ต่างๆ   ตอนต้นจึงยากมาก พอไปถึงจุดอยู่ตัวแล้ว จะไปได้อย่างสบาย แต่ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก ถึงแม้จิตจะอยู่ตรงกลาง ก็ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่ได้ขุดคุ้ยถอดถอนกิเลส เพียงทำจิตไม่ให้แกว่งไปตามอารมณ์ ให้อยู่ในความสงบเท่าที่จะมากได้ แต่ในความสงบนั้นยังมีกิเลสซ่อนตัวอยู่   พอมีโอกาสมันก็จะโผล่ออกมา พอเห็นอะไร ได้ยินอะไร คิดอะไร ก็จะโผล่ออกมา ตอนนั้นจะเป็นงานละเอียด งานของปัญญา ไม่เหมือนการทำจิตให้สงบ ที่เป็นงานแบกหาม แต่การเจริญปัญญาเป็นงานขีดเขียน เราต้องมีความแน่วแน่ต่องานของเรา ต้องยอมรับว่ามีง่ายมียาก ยากก็ทำไป ถึงแม้จะไม่ได้ผลเลย อย่างน้อยได้รักษาข้อวัตร เคยนั่งได้เท่าไหร่ก็ต้องนั่งให้ได้เท่านั้น ถ้านั่งไม่ได้ก็เดินแทนก็ได้ ให้ปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ อย่าอยู่แบบไม่มีสติ ใจลอยคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็ร้องไห้อยู่คนเดียว นั่นกำลังจะเป็นบ้าแล้ว ไม่มีสติแล้ว นักปฏิบัติต้องมีสติประคับประคองใจตลอดเวลา ถึงแม้จะไม่ก้าวหน้าก็ไม่เป็นไร แต่อย่าถอยหลัง ยืนอยู่กับที่ก็ยังดี

 

ถาม  กำลังใจของตัวเองสำคัญที่สุดเลย อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ก็มีความรู้สึกว่ามีที่พึ่ง อบอุ่นใจ

 

ตอบ  ใช่ ครูบาอาจารย์ท่านเน้นเรื่องการให้กำลังใจเสมอ แล้วก็ให้ข้อคิด ให้ปัญญา เพราะจิตใจเรายังล้มลุกคลุกคลานอยู่

 

ถาม  ต้องอดทน มีความเพียร

 

ตอบ  วิริยะกับขันติ  ขันติเป็นสุดยอดของตบะธรรม  จะแผดเผากิเลส ต้องมีขันติ พระนิพพานเป็นผลสุดยอดของการปฏิบัติธรรม ขันติเป็นสุดยอดของเหตุ ที่จะทำให้เกิดพระนิพพานขึ้นมา

 

ถาม ฟังธรรมท่านอาจารย์นี่ กลับไปอาทิตย์แรกจิตใจมันฮึกเหิม แล้วก็เริ่มบางลงๆ    อาทิตย์ที่ ๒ ที่ ๓ บางลงๆ      อาทิตย์ที่ ๔ ก็ต้องมาชาร์จแบตฯอีก  ไม่ชาร์จแบตฯไฟก็หมด

 

ตอบ  อาจจะต้องมาทุกอาทิตย์

 

ถาม  เขาบอกว่าเขาทำอยู่นับเป็นชั่วโมง   แต่มันเหมือนเครียด

 

ตอบ  อย่าไปเครียดกับมัน   

 

ถาม  ไม่หวังผลในสิ่งที่ทำ

 

ตอบ  ผลก็หวัง แต่อย่าไปมีอารมณ์กับผล ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน อยู่กับเหตุ ผลเป็นอนาคต ถ้าเหตุดีแล้วผลก็ดีเอง ถ้าเหตุสับสนวุ่นวาย ผลจะดีได้อย่างไร

 

ถาม  ต้องมีเป้าหมาย ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป้าหมายของการปฏิบัติคืออะไร มาวัดก็เพื่อจะให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดวิมุตติ แต่อย่าไปคาดเค้น ว่านั่งแล้วต้องสงบให้ได้ ต้องเป็นเหมือนเมื่อวานนี้ ถ้านั่งอย่างนี้ก็เหมือนไม่ได้นั่ง  ต้องนั่งแบบไม่รู้ไม่ชี้ว่าวันนี้จะเกิดอะไร จะได้หรือไม่ได้   เหมือนกับไปตกปลา   เมื่อวานนี้ไปตกได้ยี่สิบตัว วันนี้ก็อยากจะได้ยี่สิบตัว มันไม่แน่หรอกว่าจะได้หรือเปล่า อาจจะได้มากกว่ายี่สิบก็ได้ อาจจะได้น้อยกว่าก็ได้ พอผ่านไปครึ่งวันยังไม่ได้สักตัว ก็ยิ่งเครียดใหญ่ จะทำอะไรไม่ถูก

   

ถาม  ก็ต้องพยายามรักษาข้อวัตรของเราไว้ให้ได้ ต้องทำอยู่อย่างนั้น

 

ตอบ  ให้อยู่ที่เหตุ คือการประคับประคองจิตด้วยสติ หมายถึงเหตุภายใน เหตุภายนอกก็คือภารกิจที่ต้องทำทุกวันทุกเวลา ก็ทำไป ถึงแม้จะมีความเศร้าสร้อยหงอยเหงาท้อแท้ใจ ก็อย่าปล่อยให้มาทำลายข้อวัตรปฏิบัติ ในชีวิตของฆราวาสก็เหมือนกัน  บางวันอาจจะไม่อยากไปทำงาน แต่ก็ต้องไป เพราะเป็นหน้าที่ ก็ต้องไปทำ   ถ้าไม่ทำความเสียหายก็จะตามมา  จะมากกว่าความรู้สึกที่เป็นอยู่ในขณะนี้  จึงอย่าให้ความรู้สึกมาล้มการทำกิจวัตรต่างๆ เคยนั่งทุกวันเวลานี้ พอถึงเวลาก็ต้องนั่ง ไม่อย่างนั้นจะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ไม่อยากจะนั่งเลย  ไม่นั่งดีกว่า ก็จะไม่ได้นั่ง พอวันต่อมาจะนั่งยากขึ้น ถ้าวันนี้ฝืนนั่งไป พอพรุ่งนี้กลับมานั่งใหม่ ก็นั่งได้อีก  เพราะกิเลสไม่มีช่องทางที่จะฉุดให้เราไปทำอย่างอื่นได้ เพราะเราไม่ยอมมัน เรามีความเคร่งครัดต่อข้อวัตรปฏิบัติ     ตามสำนักปฏิบัติจึงเคร่งครัดต่อการปฏิบัติมาก ตั้งแต่บิณฑบาตปัดกวาดจนถึงเดินจงกรมนั่งสมาธิ ถือเป็นหน้าที่ เป็นตัวรักษาใจ ไม่ให้กิเลสมาฉุดลากไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  ถ้าตั้งใจจะทำอะไรก็ต้องทำให้ได้  เช่นในพรรษานี้ตั้งใจจะนั่งสมาธิทุกวัน ก็ต้องนั่งให้ได้ จะรู้สึกอยากจะนั่งหรือไม่ก็ไม่สำคัญ ถึงเวลาก็ต้องนั่ง ถ้าอยู่กับพุทโธไม่ได้ก็สวดมนต์ไปในใจก็ได้ เปลี่ยนไปพิจารณาธรรมก็ได้ 

 

        พิจารณาว่าเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน คนนั้นคนนี้ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย  สิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ต้องจากเราไป คิดไปอย่างนี้เรื่อยๆ เป็นธรรมะ เป็นปัญญาอบรมสมาธิ    คิดอย่างนี้ไปสักพักใจก็จะสงบนิ่งสบาย บางวันถ้าไม่ยอมอยู่กับพุทโธๆ ก็ต้องใช้เหตุผล คิดไปในทางธรรมะ อย่าคิดไปในทางโลก แล้วเกิดความกังวล ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ เขาจะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะทำอย่างไรดี อย่างนี้คิดไปทางโลก ถ้าคิดไปในทางธรรมต้องคิดพึ่งตนเองเป็นหลัก  คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา เขาจะเป็นจะตายอย่างไร เราก็ต้องอยู่ของเราได้  ต้องพึ่งตัวเราได้ เป็นที่พึ่งที่แท้จริง  ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะทรงสอน อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนไว้ทำไม   จึงควรทำตัวเราให้เป็นที่พึ่งของเรา เวลาเราพิจารณาธรรมจะไม่หวั่นไหว เช่นพิจารณาความแก่ความเจ็บความตายของเราและของผู้อื่น เราจะไม่หวั่นไหว เวลาผู้อื่นต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เขาตายไปเราก็ยังอยู่ได้   เรามีที่พึ่ง  ถ้าเรายึดเขาเป็นที่พึ่ง เวลาเขาเป็นอะไรไป เราจะพึ่งอะไร ถ้าลอยน้ำอยู่ ก็ต้องจมน้ำตายไป  เพราะไม่มีที่พึ่ง  ไม่มีแพไว้เกาะ  ถ้าเราว่ายน้ำเป็น เราก็ไม่กลัว เรายังว่ายน้ำได้

 

ถาม  ยังไม่ค่อยชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องหลงค่ะ เห็นโกรธ เห็นโลภ แต่ไม่เห็นหลงค่ะ

 

ตอบ  ความหลงนี่ท่านแสดงไว้อยู่สามลักษณะด้วยกันคือ   ๑. เห็นความไม่เที่ยงว่าเที่ยง  เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนว่าเที่ยงแท้แน่นอน   ๒. เห็นทุกข์เป็นสุข    ๓. เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่นเห็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะว่าเป็นความสุข  ที่เราไปเที่ยว ไปดูหนังฟังเพลง ไปดื่มไปรับประทานกัน เพราะเราคิดว่าเป็นความสุข  มันก็ให้ความสุขในระดับหนึ่ง   แต่มีของแถมมาด้วยคือความทุกข์  ที่เรามองไม่เห็น ถ้าไม่มีปัญญา เช่นเวลาอยากไปเที่ยวแต่ไม่ได้ไป จะเป็นอย่างไร ก็เกิดความหงุดหงิดใจ เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะเราติดเที่ยว คนที่ไม่ติดเที่ยวเขาก็ไม่อยากเที่ยว   ไม่ได้ไปเที่ยวเขาก็ไม่เดือดร้อนอะไร     ถ้าไปเพราะคนอื่นลากไป   ไปเพื่อไม่ให้เสียมารยาท  ก็ไปอย่างนั้น ไม่มีความสุขอะไร  เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้เป็นความสุข เขาจึงไม่หาความสุขจากการเที่ยวการฟังการดื่มการรับประทาน ถ้าดื่มก็ดื่มเพราะความจำเป็น ไม่ได้ดื่มเพราะอยากดื่ม    หิวน้ำก็ดื่มน้ำเปล่าๆก็ได้ ไม่ต้องดื่มน้ำที่มีสีมีกลิ่นมีรส เพราะเป็นเรื่องของกิเลส เราดื่มน้ำเพราะร่างกายต้องการน้ำ ถ้ากินหรือดื่มของที่มีรสหวานมากๆ แทนที่จะเป็นคุณกลับเป็นโทษกับร่างกาย นี้คือความหลง เห็นทุกข์ว่าเป็นสุข พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  คือกามคุณทั้ง ๕ นี้เป็นโทษ    ไม่ได้เป็นคุณ ความจริงควรจะเรียกว่ากามโทษ ไม่ใช่กามคุณ  ความหลงเรียกว่ากามคุณ ความจริงต้องเรียกว่ากามโทษ  จึงทรงสอนให้สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ อย่าไปแสวงหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้  นี่คือความเห็นทุกข์    ถ้าเห็นว่าเป็นสุขก็เป็นความหลง เห็นกลับตาลปัตร เห็นหน้ามือเป็นหลังมือ 

 

         เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง ก็คือเห็นว่าแต่งงานแล้วต้องอยู่กันไปตลอดจนวันตาย แต่ที่ไหนได้ พอหกเดือนก็หย่ากันแล้ว   นี่คือเห็นความเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยงเห็น ตัวตนก็คือเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นตัวเรา เห็นร่างกายว่าเป็นตัวเรา เห็นสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆว่าเป็นของเรา มันไม่ใช่ของเราหรอก   เป็นของยืมมาทั้งนั้น พ่อแม่ให้ร่างกายเรามา     แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ของพ่อแม่   พ่อแม่เอามาจากธรรมชาติ    เอามาจากดินน้ำลมไฟ เอามาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป  สักวันหนึ่งก็กลับคืนสู่เจ้าของเดิม    กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ     แล้วจะว่าเป็นตัวตน เป็นของเราได้อย่างไร  ที่ทรงสอนให้พิจารณาอนิจจัง ก็เพื่อให้เห็นความจริง  ความไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย คือความจริง   แต่เราไม่คิดกัน    จึงคิดว่าจะอยู่กันไปตลอด  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย   พอเจ็บไข้ได้ป่วยก็กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา แสดงว่าหลงแล้ว     ถ้าไม่หลงจะไปตื่นเต้นอะไร   ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องเจ็บไข้ได้ป่วยกันทุกคน ต้องตายด้วยกันทุกคน  พอใครเจ็บไข้ได้ป่วยใครตายขึ้นมา ก็กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง แสดงว่าหลงแล้ว  หลงคิดว่าจะอยู่ไปนานๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย     ความจริงเราก็รู้อยู่ แต่ไม่รู้อยู่ตลอดเวลา กิเลสก็เลยหลอกเราได้ ไม่ให้เราคิดถึงเรื่องเหล่านี้ พอไม่คิดก็เหมือนกับว่าจะไม่เกิด พอเกิดขึ้นมาก็กระทบกับความรู้สึก ว่าเป็นได้อย่างไร ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ความจริงต้องเป็นด้วยกันทุกคน จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ต่างกันตรงนั้น นี่คือการแก้ความหลง คือการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ที่ต้องอาศัยสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน    

 

         ถ้าจิตไม่สงบจะพิจารณาไม่ได้ เพราะกิเลสจะดึงไปคิดเรื่องอื่น     พอพิจารณาปั๊บมันก็หลอกให้ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว   พิจารณาได้แค่แป๊บเดียว  วินาทีสองวินาที มันก็ดึงไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ถ้าปฏิบัติจนจิตสงบแล้ว เวลาพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา   ก็จะพิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง จะมีกำลัง มีสมาธิมีสติเป็นเครื่องสนับสนุน เวลาจิตสงบกิเลสจะไม่ออกมาเพ่นพ่าน ไม่มีอารมณ์มาฉุดลากให้ไปคิดเรื่องอื่น  ก็จะอยู่กับการเจริญปัญญา พิจารณาอนิจจังเกิดแก่เจ็บตายพลัดพรากจากกัน จะอยู่กับการพิจารณาแบบนี้    พอได้ตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ ก็จะฝังลึกลงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นจิตใต้สำนึกไป เวลาคิดอะไรจะมีอนิจจังทุกขังอนัตตาประกบอยู่เสมอ   เวลาเห็นอะไรอยากได้อะไร มันจะเตือนเราเสมอว่ามันไม่เที่ยงนะ  มันเป็นทุกข์นะ ถ้ามีความจำเป็นต้องมีต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้  ก็จะไม่ยึดติด เช่นจำเป็นต้องมีเครื่องอัดเสียง ก็มีไป   ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษก็เอามา แต่จะไม่ยึดติด   ถ้าเครื่องเสียก็จบ ถ้าหาใหม่ได้ก็หามา จะไม่เสียอกเสียใจ เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องเสียแน่ๆ     อาจจะถูกขโมยไปก็ได้ เพราะไม่ใช่ของเรา ถ้าเขามาเอาไป ก็เป็นของเขาไป   นี่คือการแก้ความหลง ปัญหาอยู่ที่ไม่มีสมาธิไม่มีสติพอ ที่จะทำให้พิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะในแต่ละวันเราต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ จนทำให้ลืมเรื่องสำคัญนี้ไป    พอลืมกิเลสก็เข้ามาครอบงำ    พอไปเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร ก็มีอุปาทานยึดติดทันที ทำอะไรก็อยากจะทำให้ดี ไม่อยากจะให้เสียหาย ทำดีแล้วก็อยากจะให้ดีไปนานๆ แต่ก็ดีไม่นาน เดี๋ยวก็ไม่ดีแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ก็วุ่นวายใจ  ต้องคอยแก้คอยรักษา    นี่คือความหลง เห็นความเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง  เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน

 

         ต้องใช้วิปัสสนา ใช้อนิจจังทุกขังอนัตตาเป็นตัวแก้ จะเข้าขั้นภาวนามยปัญญาได้ คือพิจารณาอย่างต่อเนื่องได้ ต้องมีสมถภาวนาเป็นตัวสนับสนุน ไม่เช่นนั้นจะเป็นจินตมยปัญญา หรือสุตมยปัญญา สิ่งที่เราฟังอยู่นี้เป็นสุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง แต่ยังกำจัดความหลงไม่ได้ พอไปจากที่นี่แล้วก็จางหายไป ความหลงก็กลับมาครอบงำอีก    หลอกให้ไปคิดเรื่องอื่นอีก  ลืมเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา ถ้าเป็นคนฉลาด พอไปจากที่นี่ก็เอาไปคิดต่อ อย่างนี้เรียกว่าจินตมยปัญญา แต่อาจจะคิดได้ไม่ได้นานเพราะคนนั้นคนนี้ก็มาชวนคุย ปัญญาก็หายไป ถ้าเป็นนักภาวนาใครมาชวนคุย ก็ไม่สนใจ นั่งนิ่งภาวนาไป พิจารณาเรื่องที่ได้ยินได้ฟังต่อ   ถ้านั่งรถจากที่นี่ไปถึงกรุงเทพฯไม่คุยกับใครเลย ภาวนามยปัญญาอย่างเดียว   จิตมีสมาธิสงบนิ่ง เพราะไม่คุยกับใคร ใครจะคุยก็ปล่อยให้คุยไป   ตัวเองนั่งพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาไปเรื่อยๆ   พอถึงกรุงเทพฯจิตก็อาจจะหลุดพ้นก็ได้

 

        อยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ตรงไหนหรอก   ไม่ได้อยู่ก็ครูที่อาจารย์  อยู่ที่ตัวเรา ครูอาจารย์จะเป็นถึงระดับพระพุทธเจ้า ก็ทำให้เราบรรลุไม่ได้   พระอานนท์อยู่กับพระพุทธเจ้า เกาะชายผ้าเหลืองอยู่ตั้ง ๒๐ กว่าปี ก็ยังไม่บรรลุเลย แต่คนอื่นที่ไปฟังเทศน์ฟังธรรมหนเดียวแล้วกลับไปปฏิบัติ บางทีคืนเดียวก็บรรลุ     พยายามให้อยู่ที่ใจให้มาก  ดูแลรักษาใจด้วยสติให้มาก   อย่าปล่อยให้ใจไหลไปตามกระแสของอารมณ์ต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน  ภายในก็คือความคิดของเรา ภายนอกก็คือคนรอบข้าง ที่คอยชวนคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้  ถ้าจะคุยท่านก็สอนให้คุยเรื่องธรรมะคือ  เรื่องมักน้อยสันโดษ  เรื่องสถานที่วิเวกสงบสงัด เรื่องความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัศนะ คือญาณที่เกิดขึ้นหลังจากที่จิตได้หลุดพ้นแล้ว รู้ว่าจิตได้หลุดพ้นแล้ว ไม่สงสัย ไม่ต้องไปถามใครว่าหลุดพ้นหรือยัง  เหมือนกินข้าวอิ่มหรือยัง ไม่ต้องไปถามใคร

 

ถาม  ถ้าจะคุยเรื่องเกี่ยวกับวิมุตติมันคง.....

 

ตอบ  คุยขั้นต่ำไปก่อน เรื่องมักน้อยสันโดษ อย่าฟุ่มเฟือย เสื้อผ้ารองเท้ามีพอใช้แล้ว ปีนี้หยุดซื้อได้แล้ว พูดเรื่องวิเวก ที่ตรงไหนสงบสงัด ควรไปอยู่ตรงนั้นกัน พูดถึงความเพียร นั่งสมาธิวันละกี่ชั่วโมง เดินจงกรมวันละกี่ชั่วโมง คุยเรื่องเหล่านี้     ถ้าพูดเรื่องเหล่านี้จะเสริมให้ปฏิบัติมากขึ้น    ถ้าคุยเรื่องกระเป๋ารุ่นใหม่นาฬิการุ่นใหม่ว่าสวยงาม รถรุ่นใหม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้  ใจก็ลอยไปแล้ว

 

ถาม  อยากทราบเกี่ยวกับปฏิกิริยาลูกโซ่ครับ คือปฏิจจสมุปบาท  เอามาใช้ได้อย่างไรครับ คิดว่าพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา  ก็น่าจะพอแล้ว 

 

ตอบ  ไม่ต้องรู้ปฏิจจสมุปบาทก็ได้  รู้แค่อนิจจังทุกขังอนัตตาก็พอ เพราะต้นเหตุของลูกโซ่ก็คืออวิชชาความหลง ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา   ถ้าเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาก็ดับอวิชชาได้ พออวิชชาดับ ลูกโซ่ต่างๆก็จะดับตาม เหมือนกับกุญแจรถ เป็นตัวสตาร์ทรถ  พอหมุนกุญแจปั๊บ เครื่องยนต์ก็หมุนตาม สายพานก็หมุนตาม แอร์ก็ติด  วิทยุก็ติด ไฟก็ติด   ตามกันเป็นลูกโซ่  ถ้าปิดสวิทซ์ตัวเดียว ทุกอย่างก็ดับหมด สำคัญที่ตัวกุญแจนี้เอง ถ้าดึงกุญแจทิ้งไป รถก็วิ่งไปไหนไม่ได้ พอดับอวิชชาได้ ภพชาติการเวียนว่ายตายเกิดก็ดับหมด ดับด้วยอนิจจังทุกขังอนัตตา   ส่วนรายละเอียดที่ว่าอวิชชาทำให้เกิดสังขาร สังขารทำให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ ก็เหมือนกับพอสตาร์ทรถปั๊บ ลูกสูบก็เริ่มทำงาน ไอ้นั่นก็หมุนตาม ไอ้นี่ก็หมุนตาม เปิดไฟเปิดวิทยุได้ เป็นลูกโซ่ตามมา ปฏิบัติไปจะรู้เอง ไม่ต้องกังวล รู้ตอนนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ให้รู้อนิจจังทุกขังอนัตตา ตัวที่จะถอดกุญแจทิ้งไป   ตัวที่จะทำลายอวิชชา ผู้เป็นต้นเหตุของการสร้างภพสร้างชาติ สร้างการเวียนว่ายตายเกิด

 

ถาม  วันนี้ท่านอาจารย์เมตตาเทศน์เรื่องลูก   ลูกก็มีคำถามว่า ที่ท่านอาจารย์บอกว่าลูกที่เป็นอย่างนี้ เพราะเราให้แต่ร่างกายเขา  เลยไม่แน่ใจว่าที่ลูกดื้อเป็นเพราะกรรมที่เขาทำมา หรือเพราะเลี้ยงลูกไม่เก่ง

 

ตอบ  ความดื้อติดมากับเขา การปฏิบัติกับเด็กดื้ออยู่ที่ตัวเรา ถ้าฉลาดก็จะรู้จักวิธีปฏิบัติ   รู้จักวิธีสอนเด็กดื้อ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุลให้รักษาสัจจะ ทรงตักน้ำขึ้นมาขันหนึ่ง แล้วก็ทรงเทน้ำทิ้งไปนิดหนึ่ง ทรงตรัสว่าทุกครั้งที่ราหุลพูดปดก็เหมือนกับเทน้ำคือความดีในใจทิ้งไป  ก็ทรงเทน้ำทิ้งไปเรื่อยๆ จนไม่มีน้ำเหลืออยู่ในขัน ถ้าพูดปดไปเรื่อยๆ ต่อไปสัจจะจะไม่มีเหลือ  จะไม่มีใครเชื่อถือ   อยู่ที่คนสอนว่าจะมีปัญญา ที่จะสอนให้หายดื้อได้หรือไม่  มีบางคนที่สอนไม่ได้ เช่นนายฉันนะ ที่เป็นคนเอาม้ากลับไปในวัง ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงออกผนวช ทรงตรัสสั่งสงฆ์ว่าหลังจากที่ทรงละขันธ์ไปแล้ว ไม่ต้องไปสอนเขา  ปล่อยเขาไปตามเรื่อง ให้เป็นไปตามบุญตามกรรม นายฉันนะถึงกับร้องไห้ที่ทรงปรารภอย่างนี้ คนนี้สอนไม่ได้ ก็อย่าไปสอนเขา ถ้าสอนจะเกิดทิฐิขึ้นมาทันที จะดื้อไม่ฟังใครทั้งนั้น จะฟังแต่พระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว  ถือว่าเป็นคนสนิทใกล้ชิดที่สุด  ใครเป็นลูกศิษย์มือขวามักจะมีทิฐิแบบนี้ทั้งนั้น คนอื่นแตะไม่ได้  มีแต่อาจารย์องค์เดียวเท่านั้นที่จะพูดจะว่าได้ สอนคนดื้อไม่ได้ก็ต้องปล่อยเขา   เป็นการสอนเหมือนกัน    ให้เกิดสำนึกว่าดื้อจริงๆ พ่อแม่รักขนาดไหนก็ยังสอนไม่ได้  ถ้าสอนแล้วไม่เชื่อฟัง   ก็ลองหยุดสอนสักพักหนึ่ง   ปล่อยเขาไปตามเรื่อง  บอกเขาไปเลยว่าต่อไปนี้ไม่สอนแล้วนะ  จะทำอะไรก็ทำไป  จะติดคุกติดตะรางก็ติดไป  ไม่ไปเยี่ยม ไม่ทำอะไรทั้งนั้น   อย่างนี้อาจทำให้เขาได้สติขึ้นมาก็ได้ แต่ไม่เด็ดขาด ยังยอมเขาไปเรื่อยๆ เขาก็ได้ใจดื้อไปเรื่อยๆ

 

ถาม  เวลาพิจารณาร่างกายตอนเจ็บป่วย ก็พิจารณาว่าไม่ใช่ของเรา จนเข้าใจว่าเรายอมรับแล้ว แต่พอหายจากไข้แล้วสักอาทิตย์สองอาทิตย์ ก็จะเกิดเห็นตัวเราผุดขึ้นมาอีก แสดงว่าสิ่งที่เราพิจารณานั้นยังไม่เข้าใจจริง ใช่หรือเปล่าคะ บางครั้งเหมือนกับว่ายอมรับทางจิต เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งว่ามันไม่เที่ยงนะ

 

ตอบ  ถ้าเห็นว่ามันไม่เที่ยงก็ดี จะได้ไม่หวั่นไหว เป็นผลที่เราต้องการ ไม่หวั่นไหวกับความเจ็บความแก่ความตาย ถ้าผ่านมาได้หนหนึ่งแล้ว  ก็จะผ่านไปได้ตลอด  ถ้าเคยผ่านการเจ็บไข้ได้ป่วยมาโดยไม่หวาดวิตก  หายก็หาย  ไม่หายก็ตาย  พอหายก็ไม่ได้ดีอกดีใจ  เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องเป็นอีก   เป็นอีกก็ไม่กลัว ถ้าอย่างนี้ก็ใช้ได้  แต่ถ้าหายแล้วคราวหน้าไม่อยากเจออีก ถ้ายังกลัวอยู่ แสดงว่ายังตัดไม่ขาด ต้องไม่กลัว อะไรจะผุดขึ้นมาในใจไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ใจหลุดพ้นหรือเปล่า ปล่อยวางได้หรือเปล่า สิ่งที่ผุดขึ้นมาอาจจะช่วยให้เราปล่อยวางก็ได้ หรืออาจจะไม่ช่วยก็ได้  ถ้าไม่รู้จักเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ดังที่หลวงตาเล่าให้ฟังว่า มีจุดมีต่อมปรากฏมาบอกท่าน  แต่เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ไม่ได้   ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะสอนให้ท่านปฏิบัติกับใจของท่านในตอนนั้น ท่านบอกว่าถ้าเอาไปเล่าให้หลวงปู่มั่นฟัง  หลวงปู่จะชี้ไปเลยว่า ตรงนั้นแหละตัวนั้นแหละคืออวิชชา

 

        ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาในใจ จะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมก็ตาม ก็เหมือนกับสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังในขณะนี้ เราเอาไปทำให้เกิดประโยชน์ได้หรือเปล่า อยู่ตรงนี้ต่างหาก  เอาไปดับความหลงที่ทำให้เรายึดติดได้หรือเปล่า ถ้าทำได้เราก็สบาย ถ้ายังทำไม่ได้ก็ยังต้องทุกข์    อย่าไปให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาในใจ ให้พิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา  มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ ก็อยู่ที่สติปัญญาของเรา  เหมือนกับมีคนหยิบมีดให้เรา   เราจะเอาไปใช้ทำประโยชน์ก็ได้ หรือเอามาทำร้ายตัวเราก็ได้     ธรรมต่างๆที่ปรากฏขึ้นมาในใจ ไม่ได้ทำให้เกิดวิมุตติขึ้นมา  เพียงช่วยเสริมให้เราฉลาดหรือหลอกให้เราหลงเท่านั้นเอง    ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไรก็อย่าไปยุ่งกับมัน ปล่อยมันไปก่อน ถ้ารู้ก็เอามาใช้เลย เช่นปรากฏเป็นภาพเรานอนตายอยู่ เราก็พิจารณาว่าเราต้องตายอย่างนี้จริงๆ แล้วก็เอามาระลึกอยู่ตลอดเวลา ก็จะเป็นการเจริญมรณานุสติ  เป็นการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา จะทำให้เราไม่หลงยึดติดกับร่างกาย ทำให้เราเตรียมตัวตาย คือตายก่อนตาย  เรารู้แล้วว่าจะต้องตาย ก็สมมุติว่าวันนี้เราตายไปแล้ว ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องอะไร คนที่ตายไปแล้วไม่กังวลกับเรื่องที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ใครจะดีใครจะชั่วอย่างไร ถือว่าอยู่นอกระบบแล้ว  ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ใจของเราก็ควรจะเป็นอย่างนั้น   ควรจะตายกับเหตุการณ์ต่างๆในโลกนี้    เหตุการณ์จะดีจะชั่วก็รับรู้ไปเฉยๆอย่างนั้นเอง   แต่ใจมันด้านมันตายกับความรู้สึก ไม่ดีอกดีใจ เสียอกเสียใจ ไม่หวั่นไหวกับเหตุการณ์ต่างๆ นี่คือการตายก่อนตาย ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย จะหายไม่หาย จะตายเมื่อไหร่ ก็จะไม่มีอารมณ์กับมัน   ใจมันด้านกับเรื่องราวต่างๆแล้ว เพราะรู้ว่าในที่สุดก็จะเป็นอย่างภาพที่เห็น คือภาพที่เรานอนตายอยู่

 

ถาม  มันหลอกลูกมาตลอด อ่านหนังสือแล้วมันเป็นความจำออกมา

 

ตอบ  ถ้าจิตใจยังไม่โล่งไม่เบาไม่สบาย  แสดงว่ายังไม่ได้ปล่อย ถ้าปล่อยแล้วจะโล่งเบาสบาย เหมือนอยู่กันคนละโลกเลย  อะไรจะเกิดกับร่างกาย ก็จะไม่หวั่นไหว

 

ถาม  เพื่อนเขานั่งสมาธิไปนานๆ สักสองชั่วโมง แล้วเขาก็รู้สึกเมื่อย จะมีอะไรบอกเขาว่าพอแล้วนะ นั่งนานแล้วนะ ลุกเถอะ พอเขาทนนั่งไป   ก็ทนไม่ไหว  เขาก็ลุก  พอลุกปุ๊บก็เดินไปเปิดทีวีเลยค่ะ

 

ตอบ  เป็นกิเลส เป็นความหลง ยังติดกับรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ พอนั่งสมาธินานๆ ก็เหมือนกับคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่นานๆ จะอึดอัด  จนทนไม่ไหว ก็ต้องลุกไปหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ  หรืออยากจะดูอยากจะฟัง  ก็ต้องรีบไปเปิดวิทยุเปิดทีวี นั่งยังไม่ได้ผล  จิตยังไม่สงบ  ได้เวลาแต่ไม่ได้ผลทางจิตใจ   ถ้าจิตสงบเวลาลุกออกมาจะเย็นสบาย ไม่หิวไม่อยากกับอารมณ์ต่างๆ    ก็ยังดีที่ยังนั่งได้ ดีกว่าเอาสองชั่วโมงไปนั่งดูทีวี ดูแล้วเกิดอารมณ์ต่างๆตามมา   อย่างน้อยก็มีขันติ  มีความอดทนอดกลั้น   มีเบรกบ้าง   เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ผลเพราะสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว  นั่งไปแล้วจิตยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ไม่อยู่กับธรรมะ เพราะไม่ได้เจริญสติอย่างต่อเนื่อง เวลาออกจากนั่งสมาธิแล้วไม่เจริญสติต่อ  เหมือนกับออกจากห้องเรียน ครูปล่อยให้ไปเล่นได้เลย ทำอย่างนี้ไม่ได้    ถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้วต้องคุมจิตด้วยสติตลอดเวลา   มันยากตรงนี้ การควบคุมจิตด้วยสติอย่างต่อเนื่อง  ถ้าทำอย่างต่อเนื่องแล้ว เวลานั่งสมาธิ จะต้องสงบ จะต้องเย็น จะต้องสบาย

 

ถาม  แล้วก็ไม่อยากดูทีวี

 

ตอบ  พอสงบเย็นสบายแล้วก็จะไม่อยากดูเอง เบื่อไปเอง ไม่รู้จะดูไปทำไม  เรื่องไร้สาระทั้งนั้น ซ้ำๆซากๆ   ที่ปฏิบัติไม่ได้ผลก็เพราะสติยังไม่พอ   สติยัง ๕๐-๕๐ อยู่   ต้องทำให้เป็น ๖๐-๔๐  ๗๐-๓๐    ให้อยู่กับธรรมะมากขึ้น อยู่กับเรื่องอื่นน้อยลง   ถ้าอยู่กับธรรมะมากเท่าไร  จิตก็จะนิ่งลงมากเท่านั้น  จะเกิดความเย็นความสบายความอิ่มเอิบใจความพอใจขึ้นมา จะไม่หิวกับเรื่องอื่น จะมีกำลังใจปฏิบัติให้มากขึ้น  จะเจริญสติบ่อยขึ้นๆ   ผลก็จะปรากฏมากขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ทวีคูณขึ้นไป ไม่ได้บวกทีละหนึ่ง  จาก ๑ เป็น ๒    จาก ๒ เป็น ๔   จาก ๔ เป็น ๘  จะคูณขึ้นไปเรื่อยๆ   พอจิตเริ่มเจริญแล้วจะเจริญอย่างไม่หยุดเลย แต่ก่อนนั้นค่อยสะสมมาทีละเล็กละน้อย ไม่รู้กี่ร้อยกี่กัปกี่กัลป์ ก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะยังไม่ถึงจุดที่จะหมุนไปเอง  พอถึงแล้ว ได้เจริญสติแล้ว ก็จะหมุนไปเอง    สติจึงสำคัญมาก พระพุทธเจ้าทรงกล้ารับรองเลยว่า ไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างช้า ถ้าเร็วก็ไม่เกิน ๗ วัน จะต้องได้ผลแน่นอน  ทรงแสดงไว้ในตอนท้ายของพระมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรเดียวที่ทรงได้พยากรณ์ไว้ สติจึงสำคัญมาก เป็นกุญแจสู่มรรคผลนิพพาน

 

ถาม  มีครั้งหนึ่งที่ลูกโกรธ แล้วก็คิดว่าที่โกรธนี่ เป็นเพราะเขาทำไม่ได้เหมือนกับใจเรา แต่แยกไม่ได้ว่าเป็นความหลงอย่างไร เพราะยังไม่เห็นความไม่เที่ยงหรือไม่ใช่ตัวตน ตรงนี้ยังเทียบกับชีวิตจริงๆไม่ได้ค่ะ

 

ตอบ  ยังไม่เห็นว่าสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นคนละอย่างกัน สิ่งที่เราคิดเป็นทฤษฎี สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นความจริง ยังไม่เห็นความไม่แน่นอนของความจริง สิ่งที่เราคิดว่าจะเกิดอาจจะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้  นี่คืออนิจจัง ไม่แน่นอน  เราสั่งให้ทำอย่างนี้ เขาก็ต้องทำตามทุกประการ   แต่สติการรับรู้คำสั่งของเขากับของเราอาจจะต่างกัน  เขาอาจจะฟังไม่เข้าใจ ก็เลยไปทำตรงข้ามกับที่เราสั่ง ผลที่เราต้องการจึงไม่เกิด  พอไม่เกิดเราก็โกรธ สั่งให้ทำอย่างนี้ ทำไมไปทำอีกอย่าง   เพราะเวลาสั่ง เขาฟังเป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นสั่งให้ไปปิดน้ำกลับไปปิดไฟเสีย กำลังวุ่นวายอยู่กับปัญหาของเขา ไปสั่งงานเขา เขาก็ค่ะๆ เพราะเขากลัว    ถ้าตอบว่าไม่เข้าใจจะโดนด่า โง่ขนาดนี้หรือ จึงไม่กล้าถาม ไม่แน่ใจว่าได้ยินอะไรเพราะความกลัวก็เลยค่ะไว้ก่อน เราคิดว่าเขาเข้าใจก็เลยไม่ทบทวน   ความจริงควรให้เขาทบทวนคำสั่ง เพื่อความมั่นใจ ดูซิว่าเขาได้ยินตามที่เราสั่งหรือเปล่า โอกาสที่จะทำตามคำสั่งก็จะมีมาก แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ อยู่ที่เขาจะทำตามได้มากน้อยเพียงไร บางทีสั่งแล้วก็ลืม   ดูโทรทัศน์เพลิน   ถึงเวลาต้องทำตามที่สั่ง  ก็ไม่ได้ทำ จึงไม่ควรมีอุปาทานกับคำสั่ง ว่าจะต้องเป็นไปตามคำสั่งเสมอไป ต้องเผื่อไว้บ้าง ว่าจะไม่เป็นไปตามคำสั่ง เพราะไม่แน่นอน มีเหตุมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้สิ่งที่เราต้องการปรากฏขึ้นมา

 

ถาม  ความไม่แน่นอนคือความไม่เที่ยงหรือคะ

 

ตอบ  ใช่  ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เพราะไม่เที่ยง ท่านถึงบอกว่าอนาคตมันคดไปคดมา อย่าไปคิดว่าเราไปกำหนดอนาคตได้ ว่าพรุ่งนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการก็ได้ เพราะความไม่แน่นอน

 

ถาม  เกี่ยวกับการคาดหวังผลที่จะได้รับหรือเปล่าครับ ว่าสั่งไปอย่างนี้ ผลจะต้องได้อย่างนี้ เมื่อไม่ได้ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วเกิดโทสะตามมา

 

ตอบ  ถ้าไปยึดติดกับความหวัง ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่ยึดติดกับคำสั่งก็จะไม่ทุกข์ เวลาสั่งงานต้องมีธรรมะกำกับ อาจจะไม่เกิดขึ้นตามที่ต้องการก็ได้ แต่เรามักจะยึดติดกับคำสั่ง ถ้าสั่งแล้วจะต้องได้  ถ้าได้ก็รอดตัวไป ไม่ต้องทุกข์   ถ้าไม่ได้ก็ปวดหัว   ถ้าทำใจให้ว่างๆ ให้เป็นกลาง อาจจะได้ ๕๐-๕๐    อาจจะเกิดขึ้นตามที่สั่งก็ได้ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่สั่งก็ได้ พอเกิดขึ้นมาทางใดทางหนึ่งเราก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ยึดติดกับคำสั่ง ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดติดกับอนาคต ที่เราทำนายไว้พยากรณ์ไว้  สั่งให้ทำอย่างนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ อนาคตไม่แน่นอน เขาอาจจะไม่ทำตามคำสั่งก็ได้  รับปากว่าจะทำอย่างนั้นทำอย่างนี้    พอถึงเวลากลับบอกว่ายังทำไม่เสร็จ  ถ้ายึดมั่นถือมั่นกับคำสัญญาก็จะปวดหัว   ถ้าคิดเผื่อไว้ก่อนว่าอาจจะไม่ได้ พอไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไรทั้งนั้น   ยึดได้อย่างเดียวคือธรรมะที่สอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ยึดมั่นถือมั่นได้เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย พระพุทธเจ้าทรงเป็นหมอดูที่เลิศวิเศษ แต่พวกเรากลับไม่เชื่อ  ชอบไปดูหมอดูหมอเดากัน ว่าจะได้เลื่อนขั้นหรือเปล่า จะได้คู่ครองที่ดีหรือเปล่า ชอบอย่างนี้  เป็นเรื่องของอารมณ์ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล เพราะอนาคตมันไม่แน่นอน ที่แน่นอนก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย อยู่กับความแน่นอนดีกว่า จะสบายใจ

 

ถาม  ขอถามเผื่ออาม่าคนแก่อายุ ๘๐ กว่าเจ้าค่ะ เป็นคนจีน คงไม่สามารถมาอย่างนี้ได้ แต่อยากจะให้ได้ทำบุญ

 

ตอบ  อยากให้คุณย่าได้บุญ

 

ถาม  ใช่เจ้าค่ะ

 

ตอบ  อยู่ที่ตัวคุณย่าเอง  บุญมีหลายอย่าง เช่นบุญที่เกิดจากการให้ทาน บุญที่เกิดจากการรักษาศีล บุญที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม

 

ถาม  ไม่เคยฟังเจ้าค่ะ เพราะเป็นคนจีน

 

ตอบ  ทำบุญให้ทานได้ไหม

 

ถาม  เคยบอกอาม่าว่าจะไปทำบุญ อาม่าก็ให้มา แต่ไม่แน่ใจว่าเต็มใจหรือเปล่า

 

ตอบ  ก็ยังดี ถ้าท่านให้มาโดยที่เราไม่ได้บังคับท่าน  ถึงแม้จะไม่เต็มใจท่านก็ยังทำอยู่  เบื้องต้นอาจจะต้องดึงกันไปก่อน  ถ้าทำแล้วเห็นผลเห็นคุณของการกระทำ  ก็จะทำมากขึ้นไปเอง แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าความอยากของเรา กับความเป็นจริงของท่านอาจจะไม่ตรงกัน  อย่าไปยึดติดกับความอยากจนทำให้เราไม่สบายใจ    ถ้ามีอุบายทำให้ท่านทำบุญได้ก็ทำไป ถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องกังวล เพราะท่านก็อยู่มานานแล้ว คงได้ทำมามากกว่าเราเสียอีก ข้อสำคัญควรดูแลท่านให้ดีจะดีกว่า  เราควรทำบุญให้มาก ดีกว่ากังวลกับการทำบุญของคนอื่น เป็นธรรมดาเวลาเรารักใคร เราก็อยากให้เขาได้ดี แต่ความจริงอาจจะไม่เป็นไปตามความอยาก   พระพุทธเจ้าก็อยากให้เราไปนิพพานกันทุกคน  แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทุกข์กับเรา จะไปหรือไม่ไป  ทรงทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว   ในวันหนึ่งก็สอนตั้งสามสี่รอบแล้ว ตอนบ่ายก็สอนญาติโยม ตอนค่ำก็สอนพระภิกษุสามเณร   ตอนดึกก็สอนเทวดา   ตอนเช้าก็เล็งญาณเพื่อไปโปรดคนที่พร้อมจะรับธรรมะ    ทรงทำอยู่ทุกวันตลอด ๔๕ พรรษา    ทรงทำเต็มความสามารถแล้ว    ขอให้พวกเราทำกันให้เต็มที่ก็แล้วกัน  ได้มากน้อยเท่าไหร่ก็ทำไป 

 

ถาม  ท่านอาจารย์อยากให้พวกลูกศิษย์ไปนิพพานไหมคะ

 

ตอบ  อยากให้ไป จะได้ไม่มารบกวน สองปีแล้วยังไปไม่ถึงไหนเลย น่าจะเรียนจบและย้ายไปโรงเรียนอื่นแล้ว นี่ยังอยู่ซ้ำชั้น     อาจารย์ก็อยากจะให้ลูกศิษย์เรียนจบได้รับปริญญากันทุกคน