กัณฑ์ที่ ๓๗๔       ๒๑  ตุลาคม ๒๕๕๐

 

ธรรมนำใจ

 

 

 

ร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง ใจผู้รู้ผู้คิดผู้สั่งร่างกาย เป็นเหมือนคนขับ  เป็น ๒ ส่วนมารวมกัน  เหมือนน้ำกับขวดน้ำ มาอยู่ในที่เดียวกัน  แต่ขวดน้ำกับน้ำเป็นคนละส่วนกัน  ร่างกายกับใจก็เป็นคนละส่วนกัน ใจเป็นเหมือนน้ำที่มีร่างกายเป็นภาชนะรองรับ มีหน้าที่สั่งให้กายไปทำอะไรต่างๆ ด้วยความฉลาดหรือความโง่  ถ้าฉลาดก็ใช้ให้ทำในสิ่งที่ดี เช่นวันนี้พวกเรามีความฉลาดสั่งให้มา  มีปัญญามีธรรมะสั่งให้มาทำบุญ  ฟังเทศน์ฟังธรรม  อย่างนี้เรียกว่าความฉลาดพามา  ไม่ใช่อวิชชา  ปัจจยา  สังขารา  แต่เป็นวิชชา ปัจจยา สังขารา  หรือธัมมา ปัจจยา สังขารา  อวิชชาเป็นความหลง  วิชชาเป็นความรู้จริงเห็นจริง พวกเราถึงแม้จะยังไม่รู้จริงเห็นจริง  เราก็อาศัยความรู้จริงเห็นจริงของพระพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์ ที่ทรงสั่งสอนให้เราคิดมาในทางนี้  คิดดี คิดทำบุญ  คิดแสวงหาธรรมะ  เมื่อคิดดีแล้ว  เราก็พูดดีทำดี  ชวนเพื่อนฝูงมากัน  แล้วก็เดินทางมาทำความดีกัน พอได้ทำความดีแล้ว ก็ได้ประโยชน์สุขทางด้านจิตใจ  จิตใจมีความสุข เย็นสบาย มีความรู้ความฉลาดเพิ่มขึ้น  มีความเห็นที่ถูกต้องมากขึ้น  นี่คือใจที่มีความฉลาดพาไป  ถ้าใจมีความโง่พาไป  ตอนนี้คงไปเที่ยวอยู่ที่ไหนแล้ว  ไปตกปลา ไปเล่นการพนัน ไปดูภาพยนตร์ ไปเลี้ยงฉลองกัน  นั่นเป็นความโง่พาไป  เป็นความสุขแบบสุกเอาเผากิน เหมือนกับควันไฟที่ปรากฏขึ้นมาแล้วก็จางหายไป  ความสุขที่ได้จากความโง่ เป็นความสุขที่ไม่จีรังถาวร  ไม่ติดอยู่กับใจ  สิ่งที่ติดอยู่กับใจคือความหิว ความอยาก ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวใจ  เวลาที่ได้อยู่กับเพื่อนฝูง ได้ไปเที่ยวกัน ก็มีความสุข พอต่างคนต่างแยกทางกันกลับบ้าน  ตอนนั้นใจก็รู้สึกว้าเหว่  แต่การทำบุญจะทำให้มีความอิ่มเอิบใจ  ตอนแยกจากกันไป ก็ไม่รู้สึกว้าเหว่ เพราะมีธรรมะมีบุญติดอยู่กับใจ ที่ทำให้อยู่ตามลำพัง  โดยไม่ต้องมีสิ่งอื่นหรือคนอื่นมาคอยให้ความสุขได้

 

เวลาคิดอะไรควรคิดด้วยปัญญาความฉลาด  เช่นคิดว่าร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์คันหนึ่ง ไม่ได้เป็นใจ  ใจไม่ได้เป็นกาย  ใจเป็นผู้รู้ผู้คิด  ร่างกายไม่รู้ไม่คิด  ถ้าไม่มีใจก็เป็นซากศพไป  ไปคุยกับคนตายคุยอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง  เพราะผู้รู้ไม่ได้อยู่กับร่างกายแล้ว  เวลาเอาเข็มไปทิ่มไปแทงร่างกายก็ไม่สะดุ้งผวา แต่ถ้ายังมีใจรับรู้อยู่ เพียงแต่ยกเข็มขึ้นมายังไม่ทันจิ้มก็ผวาแล้ว ใจนี้แลที่มาเกิดมาสิงในร่างกาย ในขณะที่เริ่มก่อตัวในท้องแม่  เมื่อมีเชื้อของพ่อกับของแม่มาผสมกัน ถ้าไม่มีใจมาร่วมด้วย ก็จะไม่ตั้งครรภ์  ไม่ปฏิสนธิ  เช่นสามีภรรยาบางคู่ที่ไม่มีลูก  อาจจะเป็นเพราะไม่มีดวงวิญญาณมาร่วมด้วย  หรือเป็นความบกพร่องในส่วนของพ่อหรือของแม่  ต้องเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งใน ๓ ส่วนนี้ที่บกพร่อง  คงไม่บกพร่องทางด้านวิญญาณ   เพราะมีดวงวิญญาณที่รอเกิดอยู่เป็นจำนวนมาก     เหมือนนักเรียนที่สอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย  ในแต่ละปีมีสมัครสอบเข้าเป็นจำนวนมาก  มากกว่าที่ทางมหาวิทยาลัยจะรับได้ ฉันใดการมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นเหมือนกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต้องแข่งขันกัน วิชาที่เน้นมากที่สุดก็คือศีลธรรม  ถ้ามีศีลธรรมมากก็มีคะแนนมาก  มีศีลธรรมน้อยก็มีคะแนนน้อย เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้ดวงวิญญาณเกิดเป็นมนุษย์ได้อยู่ที่ศีลธรรมเป็นหลัก  ไม่ใช่อยู่ที่การทำบุญให้ทาน ต่อให้ทำบุญให้ทานมากกว่าเป็นหลายล้านเท่า ก็สู้คนที่ไม่ได้ทำบุญให้ทานหรือทำบุญให้ทานน้อยกว่า แต่รักษาศีลได้มากกว่า เพราะคนที่รักษาศีลได้มากกว่ามีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์ได้มากกว่า  เพราะเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นมนุษย์  เป็นเทพ  เป็นพรหม  เป็นอริยบุคคล  ต้องมีศีล ๕  เป็นเหตุเป็นปัจจัย  ไม่ใช่อยู่ที่การทำบุญ ๑๐๐ ล้าน ๑๐๐๐ ล้าน แต่ยังคดโกง  ยังโกหกหลอกลวง  จะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่จะเกิดเป็นเดรัจฉาน  เช่นเศรษฐีที่กลับมาเกิดเป็นสุนัขในบ้านของตนเอง

 

ถ้าทำบุญมากแต่ไม่รักษาศีลก็จะได้เกิดเป็นสุนัขที่น่ารัก  ใครเห็นก็อยากเอาไปเลี้ยงเป็นลูก  บางคนไม่มีลูกก็เลี้ยงสุนัขแทน เลี้ยงเหมือนลูกเลย  เอาติดตัวใส่ตะกร้าไป  ไปหาพระก็ให้ถวายสังฆทานด้วย เวลาตายไปก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ด้วย  เพราะหมาตัวนั้นเคยทำบุญมามาก  เกิดมาก็อยู่อย่างสุขสบาย แต่ไม่ได้รักษาศีล  จึงไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์  เป็นเทพ  เป็นพรหม  เป็นพระอริยเจ้า เวลาพระให้ศีลท่านจะกล่าวว่า สีเลนะ สุคติง ยันติ ศีลเป็นเหตุพาให้ไปสู่สุคติ  คือภพของมนุษย์  เทพ  พรหม  พระอริยบุคล  จึงอย่าไปหลงคิดว่า  ถ้าทำบุญให้ทานมากแล้วจะได้ไปสวรรค์ ได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ ต้องรักษาศีล  ถ้ารักษาศีลแต่ไม่ได้ทำบุญให้ทานมาก ก็จะเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่ค่อยมีเงินมีทอง ต้องหาใหม่เอง  แต่ถ้าทำบุญให้ทานก็มาก รักษาศีลก็มาก   เกิดเป็นมนุษย์ก็จะมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีสมบัติข้าวของเงินทองมาก ได้เกิดเป็นลูกเศรษฐี ไม่ต้องเหนื่อยหาเงินหาทอง ใช้เงินของพ่อแม่ได้อย่างสบาย  นี่คืออานิสงส์ของการทำบุญให้ทานรักษาศีล  อานิสงส์ของการมีธรรมะพาไป  ถ้ารักษาศีลได้มากเพียงไร ใจจะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากเพียงนั้น  จะเห็นคุณค่าความสงบสุขของจิตใจ  ก็จะอยากให้มีมากยิ่งขึ้น ก็จะอยากภาวนา เพราะศีลให้ความสงบสุขได้ในเพียงระดับหนึ่ง  ถ้าอยากจะให้มีความสุขมากกว่านั้น ก็ต้องภาวนา ถึงแม้จะรักษาศีลได้  ก็ยังโกรธยังเกลียดได้  ยังอิจฉาริษยาได้  ยังมีอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัวได้  ถ้าต้องการกำจัดสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้จิตใจไม่สงบ  ก็ต้องบำเพ็ญธรรมที่สูงขึ้นไป 

 

ต้องเจริญจิตภาวนา  ในเบื้องต้นต้องเจริญสมถภาวนาก่อน  ต่อด้วยวิปัสสนาภาวนา เจริญสมาธิและปัญญาตามลำดับ เวลาจิตสงบตัวลงความโลภความโกรธความหลงก็จะสงบตามไปด้วย  เพราะความโลภความโกรธความหลง ต้องอาศัยการทำงานของจิต คือความคิดของจิต  เป็นสื่อเป็นเครื่องมือ  เหมือนพวกเราอาศัยรถยนต์เดินทางมาที่นี่  ถ้าใจไม่คิดอะไรสงบนิ่งอยู่เฉยๆ  ก็จะโกรธไม่ได้  โลภไม่ได้  หลงไม่ได้  ถ้าใจเห็นอะไรแล้วเอามาคิด ว่าดีนะ  ได้มาแล้วจะมีความสุข  ก็จะเป็นความหลงพาให้คิด  คิดผิด  คิดว่าสิ่งในโลกนี้มีความสุข  ถ้ามีธรรมะพาให้คิด ก็จะคิดว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นความสุขเลย  สัพเพ สังขารา ทุกขา  สัพเพ สังขารา อนิจจา  สัพเพ ธัมมา อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น แต่พวกเราไม่เห็นกัน เพราะเป็นความทุกข์ที่เคลือบด้วยความสุข  เหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล  ใหม่ๆก็มีความสุข เวลาไปเที่ยวก็มีความสุขสนุกสนานเฮฮา  พอกลับบ้านก็เศร้าสร้อยหงอยเหงา  ถ้าไม่ออกจากบ้านได้ อยู่บ้านทนทุกข์ไปจนเกิดความเคยชิน ต่อไปจะอยู่บ้านเฉยๆได้ จะไม่รู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ไม่ต้องออกไปหาความสุขนอกบ้าน หาความสุขภายในบ้านได้ เพราะในบ้านเป็นเหมือนสวรรค์อยู่แล้ว มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมเพรียงไปหมด ที่นอน ที่นั่ง ห้องน้ำห้องท่า อาหารการกิน  แสนจะสุขแสนจะสบาย ไม่ต้องไปทนนั่งรถเป็นชั่วโมงๆ กว่าจะไปถึงที่ๆอยากจะไป พอได้ดูได้เห็นแล้วก็ต้องนั่งรถกลับ ทรมานอยู่ในรถ  แต่ความหลงจะไม่ทำให้คิดอย่างนี้  จะคิดว่า ไปเถิด ไปแล้วจะสุข ไปแล้วจะสนุก เหนื่อยยากลำบากอย่างไรก็สู้ นี่คือความหลงพาไป อวิชชาพาไป อวิชชา ปัจจยา สังขารา พาไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 

ถ้าธรรมะพาไป จะสั่งให้สลัดให้ละรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  ให้สำรวมอินทรีย์ ตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ให้ไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  ให้หันเข้ามาดูใจ ให้เข้าข้างใน หลวงปู่ดุลย์สอนว่า ใจออกข้างนอกเป็นสมุทัย  พอออกข้างนอกก็จะเกิดความอยากขึ้นมา อยากจะทำ อยากจะดู อยากจะฟัง อยากจะได้ ถ้าดึงใจเข้าข้างในทำใจให้สงบ ความอยากก็จะไม่เกิดขึ้นมา มีแต่ความว่าง ความสงบ ความเย็น ความสบาย ความอิ่มความพอ มีอยู่ในตัวของเราแล้ว ทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์ เราหลงไปหาความทุกข์เข้ามาเอง ถ้าอยู่บ้านได้ เก็บเนื้อเก็บตัว เก็บใจ ไม่ส่งออกข้างนอก ก็แสนจะสุขแสนจะสบาย ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการแสวงหาเงิน หาทอง ทำงานทำการแทบเป็นแทบตาย แล้วต้องเหน็ดเหนื่อยกับการใช้เงินใช้ทอง เหน็ดเหนื่อยกับการดูแลรักษาสมบัติข้าวของต่างๆที่หามาได้ ต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ เวลาที่สูญเสียสิ่งต่างๆไป นี่คือผลของการทำตามอวิชชา ปัจจยา สังขารา ทำตามความคิดของอวิชชา ที่สั่งให้ออกไปข้างนอก ไปหาสิ่งต่างๆมาเป็นสมบัติ แล้วก็มาเป็นกองทุกข์ เป็นภาระให้ว้าวุ่นกังวลห่วงใย เสียอกเสียใจเวลาที่สูญเสียไป  แล้วก็ต้องสูญเสียไปด้วยกันทุกคน เพราะสังขารร่างกายนี้ไม่จีรังถาวร ไม่อยู่ไปตลอด สมบัติต่างๆก็ไม่อยู่ไปตลอดเหมือนกัน บางทีก็จากเราไปก่อน  บางทีเราก็จากไปก่อน ที่แน่ๆคือต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ถ้ามีความยึดติดน้อยก็จะทุกข์น้อย ถึงแม้มีมากถ้าไม่ยึดติดก็ไม่ทุกข์ เช่นหลวงตา ท่านมีสมบัติเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ท่านไม่ยึดไม่ติด  ได้มาก็ปล่อยออกไปทันที ไม่เก็บเอาไว้ให้เป็นภาระกับจิตใจ เอาไปทำประโยชน์ ถ้าเป็นบุญวาสนาของเรา ทั้งๆที่เราไม่อยากได้ แต่ก็มีมาอยู่เรื่อยๆ ก็อย่าไปยึดไปติดไปหวง เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  จะมีความสุข อิ่มเอิบใจ พอใจ ถ้าเก็บไว้จะวุ่นวายใจ จะให้ใครดี คนนั้นมาขอคนนี้มาขอ ก็จะรำคาญใจ ถ้าให้ไปหมดแล้วก็ไม่มีอะไรจะให้ ใครมาขอก็บอกว่าหมดแล้ว

       

เราจึงต้องให้ธรรมเป็นผู้พาเราคิด พาเราพูด พาเราทำ จะมีธรรมะได้ก็ต้องศึกษาได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำเอามาคิดอยู่เรื่อยๆ  ไม่ใช่ฟังเสร็จแล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป ต้องทำให้ติดอยู่ในใจ ด้วยการคิดพิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ คิดแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ ธรรมขั้นไหนที่ทำได้ก็ทำไป เช่นทำบุญทำทาน ทำได้ก็ทำไป ศีลก็รักษาไป ภาวนาก็ทำไป ถ้ามีการคิดพิจารณาและมีการกระทำควบไปด้วย ก็จะตอกย้ำให้ธรรมะฝังลึกเข้าไปในใจ จนวันหนึ่งไม่ต้องไปตอกย้ำเลย ไม่ต้องไปคิดถึง เพราะจะคิดโดยอัตโนมัติตลอดเวลา จะคิดว่าเป็นธรรมหรือเป็นกิเลสเสมอ ถ้ามีธรรมะก็จะมีฝ่ายค้านในรัฐสภาของใจ จะไม่เป็นเผด็จการ ถ้าขาดธรรมะก็จะมีกิเลสสั่งการฝ่ายเดียว  คนที่มีโลภโมโทสันมากแสดงว่าไม่มีธรรมะ กิเลสสั่งการได้เต็มที่เลย ทุกย่างก้าวของความคิดจะออกไปทางกิเลสทั้งนั้น คิดเอาแต่ได้อย่างเดียว จะหาแต่ความสุขจากภายนอก แล้วก็ต้องทุกข์วุ่นวายใจ เวลาที่ไม่ได้ดังใจหรือสูญเสียไป เช่นในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ รายได้เข้าน้อยรายจ่ายออกมาก ก็ไม่ฉลาดคิดกัน ถ้าเข้าน้อยก็ให้มันออกน้อย ก็หมดปัญหาไป แต่มันจะไม่ออกน้อย มีแต่อยากจะออกมาก  กิเลสเป็นอย่างนี้ ชอบใช้มาก เวลาให้ใช้น้อย มันอึดอัดมันทุกข์ ไม่สบายใจ ความจริงเมื่อก่อนเราใช้น้อยเราก็อยู่ได้ สมัยเป็นเด็กใช้วันละ ๑๐ บาทก็อยู่ได้ พอโตขึ้นมารายได้มากขึ้น ก็เลยใช้มากขึ้น จนติดเป็นนิสัยไป เคยใช้ของราคานี้ยี่ห้อนี้ พอต้องมาใช้ของราคาต่ำกว่าก็ใช้ไม่ได้ จนไม่เป็น ความจนไม่เป็นนี้เป็นเหตุให้เราทุกข์

 

ถ้าเราจนเป็นจะไม่ทุกข์ จะปรับตัวเหมือนกับเรือที่ขึ้นลงตามระดับน้ำ น้ำขึ้นเรือก็ลอยขึ้นตาม น้ำลงก็ลอยลงตาม คนจะลงจากเรือไม่มีปัญหาอะไร ไม่ลำบาก เพราะน้ำกับเรืออยู่ติดกันเสมอ ไม่เหมือนกับท่าน้ำบางแห่ง ที่ไม่ลอยขึ้นลอยลงกับน้ำ เวลาน้ำขึ้นก็อยู่ถึงบันได เวลาน้ำลงก็อยู่ห่างจากบันได ใจของเราก็เป็นอย่างนั้น  ถ้ายึดติดก็เป็นเหมือนท่าน้ำที่ไม่ลอยขึ้นลอยลงตามน้ำ ถ้าไม่ยึดติดก็จะเป็นเหมือนกับเรือ เวลาขึ้นก็ขึ้น เวลาลงก็ลง เวลามีมากอยากจะใช้มากก็ใช้ไป จะใช้อย่างไรก็ได้ แต่คนฉลาดจะไม่ใช้ในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ใช้ของฟุ่มเฟือย ไม่ใช้เลี้ยงดูกิเลส เช่นหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าใช้อย่างนี้แล้วจะติด จะลดยาก เป็นเหมือนยาเสพติด ต้องเสพอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าฉลาดใช้ มีมากก็ทำบุญมาก มีน้อยก็ทำบุญน้อย อย่างนี้ไม่เดือดร้อน เวลามีเงินน้อยทำบุญน้อยก็ไม่รู้สึกว่าน้อยไป เวลามีเงินมากทำบุญมากก็ไม่เสียดาย ทำไปตามที่มี ที่เป็นส่วนเกิน ส่วนที่จำเป็นก็เก็บเอาไว้ใช้ ส่วนที่เหลือที่เกินก็เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ต้องไม่ยึดติดกับฐานะของเรา เพราะว่าฐานะของเราขึ้นลง ไม่แน่นอน  ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง ถ้าฉลาดมีมากก็ควรเก็บสำรองไว้ เผื่อเวลาที่มีน้อยจะได้เอาส่วนที่สำรองนี้มาจุนเจือได้ ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย อย่าใช้กับสิ่งที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น เพราะเป็นเหมือนยาเสพติด ใช้แล้วมันติด สิ่งที่จำเป็นใช้แล้วไม่ติด ใช้แบบประหยัดมัธยัสถ์ ไม่ต้องราคาแพง เล็งที่ประโยชน์ของสิ่งที่ใช้ อาหารจะราคาแพงหรือถูก ถ้ารับประทานเข้าไปแล้วทำให้อิ่ม ไม่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ถือว่าทำประโยชน์ได้เหมือนกัน  คนฉลาดจะเสียเงินน้อยซื้ออาหารมารับประทาน คนโง่จะเสียเงินมากซื้ออาหารแพงๆมารับประทาน เพราะประโยชน์ที่ได้รับเท่ากัน คืออิ่มเหมือนกัน แล้วก็ผ่านไป ถ้าใช้เงินแบบประหยัดมัธยัสถ์  จะมีเงินเหลือเยอะ มีเงินไว้ดูแลในยามคับขันตกทุกข์ได้ยาก จะไม่เดือดร้อน นี่คือการคิดแบบธรรมะ ธรรมะพาให้คิด คิดมักน้อยสันโดษ เป็นพื้นๆของธรรมะ 

 

การดำรงชีพให้คำนึงถึงความมักน้อยสันโดษ ที่ในปัจจุบันใช้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็มาจากมักน้อยสันโดษ อย่าฟุ่มเฟือย อย่าใช้เงินไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ พยายามคิดตามธรรมะ ให้พยายามศึกษาปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น ฟังธรรมแล้วก็เอาไปทบทวนพิจารณาใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆ ถ้าอยู่ใกล้คนที่มีธรรมะได้ก็ยิ่งดี อยู่แบบคนที่มีธรรมะ  เช่นไปอยู่วัด ประหยัดได้มากเลย ใส่เสื้อผ้าแบบเรียบๆง่ายๆ เครื่องสำอางไม่ต้องเอาไป น้ำหอมต่างๆ ไม่ต้องใช้เลย  รับประทานอาหารแบบง่ายๆ ตามมีตามเกิด วันเวลาทุ่มไปกับการสร้างความสุขภายในจิตใจ ด้วยการเจริญสติอยู่ตลอดเวลา กำหนดให้จิตสงบนิ่ง พิจารณาธรรมะต่างๆ  เพื่อคลายความหลง ความยึดติด พิจารณาให้เห็นว่าร่างกายเป็นเพียงภาชนะ เป็นเครื่องมือ เป็นรถยนต์คันหนึ่ง ที่ใจใช้อาศัยทำภารกิจต่างๆ  ถ้าใจฉลาดก็จะเอาร่างกายสร้างธรรมะให้มีมากขึ้น สร้างบุญกุศลให้มีมากขึ้น ถ้าใจโง่ก็จะสร้างกิเลสให้มีมากขึ้น สร้างความโลภความโกรธความหลงให้มีมากขึ้น อยู่ใกล้ชิดกับคนฉลาดจะได้ประโยชน์ เพราะท่านรู้จักใช้ร่างกายให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ให้เกิดธรรมะขึ้นในจิตในใจ เพื่อจะได้ตัดความโลภความโกรธความหลง กำจัดความทุกข์ทั้งหลายที่มีในจิตใจให้หมดไป ไม่มีหลงเหลืออยู่เลย  ไม่ว่าจะเป็นความหวาดวิตกความกลัวความกังวล จะไม่มีเหลืออยู่ในจิตในใจเลย  อะไรจะเกิดก็เกิดไป ไม่มีอะไรจะมากระทบกระเทือนจิตใจได้ แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ก็ไม่สามารถทำลายจิตใจได้ ทำลายได้แต่ร่างกาย  ร่างกายไม่มีนิวเคลียร์ก็ต้องตายอยู่แล้ว อยู่เฉยๆไม่หายใจก็ตายแล้ว ทำอย่างไรก็รักษาร่างกายไปไม่ได้ตลอด ใจจะไม่กังวลไม่ห่วงไม่เสียดาย ถึงเวลาจะไป ก็ให้ไปเลย เป็นชั่วแวบเดียวความตาย พอไม่หายใจก็ตายแล้ว ถ้ายังหายใจอยู่ก็ยังไม่ตาย จะไปกลัวอะไร ใจไม่ตายไปกับร่างกาย ใจรู้อยู่ทุกขณะ รู้ว่าขณะนี้กำลังหายใจ รู้ว่าขณะนี้ไม่หายใจแล้ว ก็เท่านั้น ไม่หายใจก็ไม่เป็นไร ใจอยู่ตามลำพังได้ ถ้าใจสงบก็ปลอดภัย ไม่ทุกข์ ไม่กระวนกระวายกระสับกระส่าย ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว นี่แหละเป็นอานิสงส์ของการมีธรรมะ มีปัญญา มีผู้รู้ เป็นสหธรรมิก เป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร เป็นครูบาอาจารย์

       

ถ้าได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมะกับครูบาอาจารย์แล้ว จิตใจจะเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ จะปล่อยวางสิ่งต่างๆไปตามลำดับ ปล่อยวางกาย ปล่อยวางเวทนา จะสุข จะทุกข์ จะไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน รับได้ทั้ง ๓ ชนิด ไม่เหมือนพวกเราที่รับได้เพียงชนิดเดียว คือความสุข ถ้าทุกข์แล้ววุ่นวาย ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์ก็เบื่อหน่าย ต้องหาอะไรมาทำ ให้เกิดความสุขขึ้นมา แล้วก็ไปหาความทุกข์เข้ามาแทน เพราะหาไม่เป็น แทนที่จะหาความสุขกลับไปหาความสุขที่มีความทุกข์ซ่อนอยู่ เป็นความสุขที่เหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล พอได้สัมผัสได้อมสักพักหนึ่ง น้ำตาลละลายหมดเหลือแต่ความขม ความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆก็เป็นแบบนั้น เวลาได้มาใหม่ๆก็สุขดี ดีอกดีใจ พออยู่ไปสักพักก็ทะเลาะกัน มีปัญหามีเรื่องราวต่างๆ ถ้าเป็นความสุขทางธรรมะจะทุกข์ในเบื้องต้น เป็นเหมือนทุเรียน กว่าจะได้กินเนื้อมันก็ต้องเหนื่อยหน่อย ต้องแกะเปลือกที่มีหนามออก ถึงจะได้ของวิเศษที่อยู่ข้างใน ธรรมะก็เป็นแบบนั้น กว่าจะได้ธรรมะเลือดตาแทบกระเด็น ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆนานา ต้องต่อสู้กับกิเลส ทั้งของเรา ทั้งของคนอื่น เวลาปฏิบัติธรรมกิเลสของคนอื่นมาขวางเราได้ ทั้งๆที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาเลย แต่เขายังอดมาห่วงมากังวลไม่ได้ ว่าจะไปตลอดรอดฝั่งหรือ จะเป็นบ้านะ เวลาไปปฏิบัติธรรมอย่าให้คนอื่นรู้ ปฏิบัติแบบเงียบๆดีกว่า ไปวัดก็ไปเงียบๆ ถ้าไปคนเดียวได้ยิ่งดี ไปกับคนที่มีรสนิยมเหมือนกัน ชอบไปวัดเหมือนกัน ไปแล้วไม่วุ่นวาย ต่างคนต่างแยกกันอยู่ ต่างคนต่างบำเพ็ญกันไป ไม่ใช่ไปแล้วเกาะติดกันแบบปาท่องโก๋ กลางคืนคนหนึ่งเข้าห้องน้ำ อีกคนต้องไปเฝ้าหน้าห้องน้ำ

       

นักปฏิบัติธรรมต้องกล้าหาญ ต้องเจริญอนิจจังทุกขังอนัตตาให้มาก ร่างกายนี้เกิดมาแล้ว ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย อยู่ที่ไหนก็ตายได้ อยู่ในป่าก็ตายได้ อยู่ในบ้านก็ตายได้ ในโรงพยาบาลก็ตายได้ ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ อยู่ที่ว่าถึงที่หรือยัง ถึงที่เมื่อไหร่ก็ตายทันที ถ้ายังไม่ถึงที่ อยู่ที่ไหนก็ไม่ตาย ขอให้เจริญธรรมะให้มาก ปลูกฝังธรรมะให้มาก ให้ธรรมะเป็นผู้พาไป อย่างที่ทำกันอยู่นี้ก็เป็นการปลูกฝังธรรมะ เข้าหาครูบาอาจารย์ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำบุญไปด้วย ปฏิบัติไปด้วย ไม่ใช่ฟังอย่างเดียว ฟังอย่างเดียวยังไม่พอ ฟังแล้วต้องนำไปปฏิบัติ ถึงจะฝังอยู่ในใจ ถ้าฟังอย่างเดียวไม่นานก็ลืม พอไปทำธุระอย่างอื่น ภารกิจอย่างอื่น ธรรมะก็จะไม่ได้อยู่ในใจ ถูกเรื่องอื่นมากลบมาทับถม เหมือนกับเทป พออัดของใหม่ ของเก่าที่อัดไว้ก็หายไป จึงต้องคอยอัดธรรมะไว้เรื่อยๆ เวลาไปทำภารกิจทางโลก ต้องมีธรรมะควบคู่ไปด้วย คิดไปด้วย ว่าเราทำงานเฉพาะกิจ ทำเพราะความจำเป็น ต้องมีรายได้มาจุนเจือ แต่จะไม่ทำเพื่อลาภยศสรรเสริญสุข ทำเพื่อปัจจัย ๔ จะได้เอาร่างกายมาบำเพ็ญบุญกุศล ต้องคิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นจะหลง พอได้มาก็จะหลงระเริง อยากได้มากขึ้น พอได้ ๑ ล้านก็อยากได้ ๑๐ ล้าน ได้ ๑๐ ล้านก็อยากได้ ๑๐๐ ล้าน อยากไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เราทำกิจการต่างๆ เพื่อให้ร่างกายมีกำลังวังชา เป็นเครื่องสนับสนุนให้ทำภารกิจที่แท้จริง คือการสร้างธรรมะ สร้างบุญสร้างกุศลให้แก่จิตใจ เพราะใจจะเจริญได้ จะหลุดพ้นได้ ไปถึงพระนิพพานได้ ต้องมีบุญกุศล มีธรรมะ ไม่มีใครทำแทนได้ ต่างคนต่างทำ อย่าไปเสียเวลากับภารกิจอย่างอื่น เสียเท่าที่จำเป็น ต้องรีบเอาเวลาที่เหลือมาสร้างบุญ สร้างกุศล สร้างธรรมะ เพราะเวลาจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่มีมากขึ้น ชีวิตของเราเป็นเหมือนเทียน เวลาจุดแล้วจะไม่ยาวขึ้น มีแต่จะสั้นลงไปเรื่อยๆ เกิดมาแล้วก็เริ่มนับถอยหลังตั้งแต่วันเกิด อย่าปล่อยเวลาที่มีคุณค่าของมนุษย์ให้ผ่านไปเฉยๆ มนุษย์นี้เท่านั้นที่สามารถบำเพ็ญบุญกุศล สร้างธรรมะได้อย่างเต็มที่ ภพอื่นชาติอื่นทำไม่ได้ ยิ่งได้มาเจอพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เหมือนได้เดินทางลัด ไม่ต้องคลำหาทางเอง มีแผนที่มีป้ายบอกทาง เพียงแต่รีบๆเดินไปตามแผนที่ ตามป้ายที่บอกไว้ ไม่นานก็จะถึงจุดหมายปลายทาง อย่าไปเสียเวลากับกิจอย่างอื่น นี่คือภารกิจของเราที่จำเป็นอย่างยิ่ง คนอื่นทำแทนเราไม่ได้ ถ้าทำภารกิจนี้ไม่เสร็จ มันก็ไม่เสร็จ ภารกิจอื่นจะทำมากน้อยเพียงใดก็ไม่ได้ทำให้ภารกิจนี้เสร็จสิ้นไปได้ คือ การตัดภพ ตัดชาติ การสิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเกิดจากการปฏิบัติของเรา จากการสร้างบุญ สร้างกุศล สร้างธรรมะเท่านั้น 

       

จงพยายามบังคับใจให้มาทางธรรม ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์ อยากมาก็มา ไม่อยากมาก็ไม่มา อยากนั่งก็นั่ง ไม่อยากนั่งก็ไม่นั่ง อย่างนี้จะไปไม่ถึงไหน ต้องรู้ว่าต้องนั่ง เรามีหน้าที่นั่งสมาธิ พิจารณาธรรม รักษาศีล ทำบุญให้ทาน เป็นหน้าที่ของเรา ต้องทำทุกวัน ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำได้ทุกวันทุกเวลา  เช่นการเจริญสติ เจริญได้ตลอดเวลา ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ในอดีตหรือในอนาคต ให้อยู่ในปัจจุบัน ก็ถือว่าได้ภาวนาแล้ว เป็นการควบคุมใจ ถ้าสามารถควบคุมใจให้คิดไปในทางที่พระพุทธเจ้าสอนให้คิดได้ กิเลสก็จะตายหมด พอกิเลสตายไปหมดแล้ว จะไม่มีความทุกข์มารังควานใจ มารบกวนใจ จะอยู่อย่างบรมสุขปรมังสุขังไปตลอดเวลา ไม่ต้องรอตายถึงจะไปถึงพระนิพพาน พระนิพพานเป็นการสิ้นสุดของความทุกข์ทั้งหลาย การดับของกิเลสทั้งปวง ไม่ได้ดับตอนที่ตาย ดับก่อนตาย พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายตรัสรู้ก่อนตาย ไม่ได้ตรัสรู้ตอนตาย แม้จะถูกเสือคาบ ก็บรรลุก่อนตาย ไม่ได้บรรลุหลังตาย อย่าไปคิดว่าตายแล้วค่อยบรรลุ ค่อยปฏิบัติ ต้องปฏิบัติเสียแต่วันนี้ ปฏิบัติได้มากเท่าไร ก็จะบรรลุได้เร็วเท่านั้น ถ้ามัวผัดวันประกันพรุ่ง งานก็จะรอเราอยู่ หันไปทีไรก็เห็นว่าต้องนั่งสมาธิ  ต้องเดินจงกรมอีกแล้ว รีบทำให้ติดเป็นนิสัย จนกลายเป็นสิ่งที่ชอบทำ  ไม่อย่างนั้นมันก็จะรังควานใจเราอยู่เรื่อย พอเห็นทีไรก็จะรู้สึกอึดอัด ต้องนั่งสมาธิ ต้องเดินจงกรมอีกแล้ว แต่ถ้านั่งไปเรื่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ จนติดเป็นนิสัย ก็จะไม่คิดอย่างนี้ มีแต่จะหาเวลานั่งให้มาก เดินให้มาก ขอให้เรามุมานะ อดทน พากเพียร  ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ไม่ได้อยู่ที่ใคร ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ อยู่ที่ตัวเรา อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ด้วยความพากเพียร ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

ถาม  ชอบทานทุเรียน แต่ปอกไม่เป็น อยากได้ที่ปอกไว้แล้ว

 

ตอบ  ไม่มี ถ้ามีพวกเราก็ไปถึงไหนกันแล้ว ต้องปอกเอง ไม่มีใครปอกให้เราได้ ถ้าพระพุทธเจ้าปอกให้เราได้ พวกเราก็ไปถึงนิพพานกันหมดแล้ว

 

ถาม  ปอกไม่เก่ง

 

ตอบ ต้องไปเรียนวิธีปอก แล้วไปปอกของเราเอง อยู่ในใจเรา ไม่ได้อยู่ที่อื่น ถ้าเป็นของอย่างอื่นคนอื่นอาจจะปอกให้เราได้  ก็เหมือนกับเราสอนลูกเรา ย้อนกลับมาที่ตรงนั้น สอนอย่างไรก็ไม่เป็นไปตามอยาก

 

ถาม  พอดีมีโอกาสหยุดงาน ๔-๕ วัน เลยไปปฏิบัติธรรม  ๒  วันแรกฟังเทศน์สลับกับการนั่งสมาธิ รู้สึกว่าจิตใจสงบดี พอวันที่ ๓ เริ่มรู้สึกเบื่อขึ้นเรื่อยๆ พอวันที่ ๔ เริ่มรู้สึกว่าหดหู่เศร้าหมอง รู้สึกเหมือนเสียดายกิเลส เลยไม่แน่ใจว่าทำอะไรผิด

 

ตอบ  เป็นธรรมชาติของใจ เวลาทำอะไรใหม่ๆ จะกระตือรือร้นศรัทธาแรง พอทำไปเรื่อยๆจะอ่อนลงไป ถ้าไม่ได้เห็นผลแบบมหัศจรรย์ใจ ก็จะค่อยๆท้อมากขึ้น เบื่อมากขึ้น กิเลสมีแรงมากขึ้น

 

ถาม  จะรู้สึกเศร้าใจ

 

ตอบ  กิเลสเริ่มออกมาอาละวาดมากขึ้น กิเลสคือตัวเศร้าหมอง พอมาอยู่วัดไม่ได้ลิ้มรสกามสุข ก็จะสร้างความเศร้าใจขึ้นมา  ในช่วง ๒ วันแรก เราทุ่มเทต่อการภาวนา มีความกระตือรือร้น เพราะศรัทธาแรง พอทำไปๆเกิดความจำเจขึ้นมา แล้วก็ไม่ได้เห็นผลทันตา จึงไม่มีอะไรมากระตุ้นกำลังใจให้มีมากขึ้น ควรย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ว่าเกิดประกายแห่งศรัทธาขึ้นมาได้อย่างไร กลับไปคิดแบบนั้นใหม่ เพื่อจุดประกายให้เกิดขึ้น ว่าโอกาสที่จะมาปฏิบัติธรรมมีน้อย ปฏิบัติ ๒ วันแรกดีอยู่ วันที่ ๓ เริ่มไม่ค่อยดี ก็เป็นเหมือนการเดินทางไกลหรือวิ่งทางไกล ใหม่ๆกำลังวังชาดี ไม่เหนื่อย พอวิ่งไปนานเข้าๆก็เหนื่อย ต้องปลุกพลังขึ้นมาใหม่  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเผลอไป สติไม่ได้อยู่กับการภาวนา เปิดช่องให้กิเลสเข้ามารบกวนจิตใจ ถ้าคุมสติไว้อยู่เรื่อยๆ ให้อยู่กับพุทโธ อยู่กับการภาวนา กิเลสก็จะเข้ามายาก จะบำเพ็ญต่อไปได้

 

ถาม  วันท้ายๆเกิดคำถามว่า อยากจะละกิเลสจริงๆหรือเปล่า

 

ตอบ นั่นแหละกิเลสมันออกมาแล้ว เวลาไปก็ตั้งใจไปละกิเลส พอไปถึงก็เจอกิเลสออกอุบายล้มความตั้งใจ สร้างความลังเลสงสัยให้เกิดขึ้น เป็นหนึ่งในนิวรณ์ การปฏิบัติมีนิวรณ์อยู่ ๕  ชนิดด้วยกัน เช่นความลังเลสงสัย  ความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ คือกามฉันทะ พอต้องอดข้าวเย็น อดดูโทรทัศน์ ชักจะหิวจะอยากขึ้นมา อยากดูหนังฟังเพลง ทำอะไรต่างๆที่เคยทำ ก็ทำให้ไม่มีกำลังใจที่จะภาวนาที่จะปฏิบัติ ต้องหาวิธีกำจัดมันให้ได้ เช่น พิจารณาให้เห็นโทษของมัน ว่าเป็นความสุขแบบยาขมเคลือบน้ำตาล เป็นเหมือนยาเสพติด เลิกมันได้จะดีกว่า ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก็จะมีกำลังใจ ที่จะต่อต้านความรู้สึก ที่อยากจะไปหาความสุขแบบนั้นอีก แล้วบังคับให้เข้าทางจงกรมต่อ เดินจงกรมต่อไปอีกชั่วโมง นั่งสมาธิอีกชั่วโมง อ่านหนังสือธรรมะหรือฟังเทศน์อีกชั่วโมง ทำไปเรื่อยๆ ถ้ามีสติอยู่กับการปฏิบัติ ก็จะมีความสงบ ความสบาย ความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆความเศร้าหมอง ก็จะเบาบางลงไป จะเห็นว่านี่คือการต่อสู้ระหว่างธรรมกับกิเลสที่มีอยู่ในใจ ถ้ามีความเศร้าหมอง แสดงว่าธรรมกำลังอ่อน สติอ่อน ไม่เฝ้าดูใจ ปล่อยให้ใจไปคิดเรื่องที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองขึ้นมา

 

        ต้องระงับความคิดเหล่านั้น หันมาบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ หรือพิจารณาธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ถนัด เช่นพิจารณาความแก่ความตาย ชีวิตของเราใกล้ความแก่ ใกล้ความตายเข้าไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะไม่มีโอกาสไปหาความสุขแบบนั้น ตอนนั้นจะทุกข์ยิ่งกว่าตอนนี้ เพราะตอนนี้มีโอกาสที่จะสร้างธรรมะไว้ต่อสู้ ไว้ทำลายความทุกข์ที่เกิดจากความอยากได้ ถ้าไม่ทำตอนนี้พอแก่แล้ว จะไม่มีอาวุธไว้ต่อสู้กับมัน คิดอย่างนี้จะมีกำลังใจที่จะทนนั่งสมาธิ เดินจงกรมต่อไป ฟังเทศน์ฟังธรรมต่อไป ต้องหาวิธีปลุกศรัทธาให้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ท่านสอนว่าถ้าเกิดความท้อแท้ให้ระลึกถึงครูบาอาจารย์ ถึงพระพุทธเจ้า ถึงการปฏิบัติของท่านว่า ท่านก็ลำบากยากเย็นเหมือนกันทุกคน แต่ท่านไม่ถอยไม่กลัว เมื่อเดินหน้าแล้วท่านไม่ลังเลสงสัย มีอยู่ ๒ ทางเท่านั้น คือถ้ากิเลสไม่ตายเราก็ตาย ถ้าอย่างนี้แล้วไม่มีทางถอย เหมือนพระเจ้าตากสินที่ไปตีเมืองจันท์ฯ ให้ทุบหม้อข้าวทิ้งให้หมด ถ้าไม่ชนะก็ไม่ต้องกินข้าว ยอมอดตาย พอรู้ว่าต้องสู้อย่างเดียวมันก็ชนะได้ ถ้าลังเลสงสัย ก็จะกล้าๆกลัวๆ จะไม่ทุ่มเทเต็มที่ ผลก็จะไม่ปรากฏ ก็จะยิ่งท้อใหญ่ ยิ่งอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ยอมแพ้ ไม่เอาดีกว่า ยังไม่อยากจะละกิเลส

 

ถาม  บางครั้งรู้สึกว่าเป็นการบังคับให้นั่งสมาธิ มากกว่าความเต็มใจ ตั้งใจจริงๆ

 

ตอบ  ใช่ ต้องบังคับ ถ้าไม่บังคับไม่มีทางนั่งอย่างเต็มใจหรอก ในเบื้องต้นทุกคนต้องบังคับกันทั้งนั้น เหมือนกินยาฉีดยา ไม่มีใครอยากกินยา ไม่มีใครอยากฉีดยากัน

 

ถาม  เป็นธรรมดาที่ต้องบังคับตัวเอง

 

ตอบ  ใช่ ต้องมีกฎเกณฑ์ เมื่อบังคับไปแล้วต่อไปก็ติดเป็นนิสัย ง่ายไปเอง ถ้าไม่บังคับลูกก็ไม่ไปโรงเรียน ให้ลูกเลือกว่าจะไปหรือไม่ ลูกก็จะตอบว่าไม่ไปดีกว่า ต้องบังคับกันทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้าตอนที่ทรงบำเพ็ญก็ต้องบังคับ

 

ถาม  จิตจะแยกออกจากกายในกรณีไหนบ้าง

 

ตอบ  เวลาตาย ถ้ายังไม่ตายไม่แยก แต่อาจจะสงบตัวลง แต่ก็ยังติดอยู่กับกาย เช่นคนที่เข้าฌาน ร่างกายนั่งอยู่เป็นเวลาหลายวัน จิตก็ยังอยู่กับร่างกาย

 

ถาม  ทำไมแยกออกจากกายเมื่อเวลาตาย

 

ตอบ  ไม่รู้เหมือนกัน ธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น  เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน เหมือนกับน้ำในขวดน้ำ ที่อยู่ร่วมกันได้เพราะขวดไม่แตก พอขวดแตกก็อยู่ร่วมกันไม่ได้

 

ถาม  จิตกับกายเป็นคนละส่วนกัน สงสัยว่าจิตบังคับกายได้เพราะสิ่งใด

 

ตอบ  กายก็มีพลังของกาย เหมือนกับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ ถ้าไม่มีเครื่องยนต์ คนขับแม้จะมีกำลังมากขนาดไหน ก็ไม่สามารถทำให้รถยนต์วิ่งไปได้ ถ้ากายสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นอัมพาต แม้จะเป็นใจพระอรหันต์ ก็ไม่มีทางทำให้ขยับเขยื้อนได้   แต่พลังของใจสามารถผลักดันใจ ให้เข้มแข็งกล้าหาญอดทนแน่วแน่มั่นคงได้

 

ถาม  ใจใช้พลังอะไรไปสั่งกาย

 

ตอบ  ใช้ความคิด เช่นคิดว่าจะลุกขึ้น ก็สั่งไปที่ร่างกาย ร่างกายก็ลุกขึ้นมา ถ้าร่างกายไม่มีแรงก็ลุกขึ้นไม่ได้ แม้ใจจะมีแรงมากขนาดไหน สั่งให้มันลุก มันก็ไม่ลุก ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยพยุงขึ้นมาถึงจะลุกขึ้นได้ แต่ถ้าร่างกายมีแรงอยู่ในตัว พอสั่งให้ลุกมันก็ลุกขึ้นได้ เหมือนหลวงตาท่านบอกว่าล้มอยู่เรื่อยๆ ใจของท่านมีพลัง แต่กายไม่มีพลังทำตามใจสั่งไม่ได้ รถยางแตกสั่งให้วิ่ง ๑๐๐ กม./ชม. ก็วิ่งไม่ได้ ต้องเปลี่ยนยางก่อน ต้องซ่อมร่างกายก่อน ถ้าร่างกายเก่ามาก ซ่อมอย่างไรก็ซ่อมไม่ได้ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น อย่างตอนที่หมอเทวดามารักษาหลวงตา เหมือนกับการเกิดใหม่ มีกำลังวังชา ไปไหนมาไหนได้ รับผ้าป่าได้ไม่รู้กี่แห่ง เทศน์ไม่รู้เท่าไร เพราะร่างกายได้รับการซ่อมแซมได้รับยา ทำให้มีกำลังขึ้นมา ทำตามคำสั่งของใจได้ ใจมีกำลังอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ลดน้อยถอยไป สั่งร่างกายแต่ร่างกายไม่ขยับเขยื้อน เหมือนใช้คนดื้อ เขาไม่ทำตาม เอาหูทวนลม ไม่ได้ยินคำสั่ง กำลังของใจเป็นเรื่องของใจ กำลังของกายก็เป็นเรื่องของกาย พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ต้องดูแลรักษาร่างกายและใจด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ใจก็รื่นเริงไปกับการเดิน เพราะ ๒ อย่างยังเกี่ยวข้องกันอยู่ กายเจ็บก็สร้างความลำบากให้กับใจได้ จะทำอะไรก็ทำไม่ได้ พอร่างกายเจ็บป่วยก็ทำไม่ได้ ใจต้องดูแลรักษากาย ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านนั่งสมาธิเดินจงกรมกันนั้น ไม่ได้ทำเพื่อดับกิเลส เพื่อมรรคผลนิพพาน เพราะกิเลสดับหมดแล้ว มรรคผลนิพพานได้มาแล้ว เดินเพื่อความสบายระหว่างธาตุขันธ์กับใจ ที่ยังเกี่ยวข้องกันอยู่ ต้องดูแลรักษากันไป เหมือนรถยนต์ที่เดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เราก็ยังขับรถไปที่โน่นที่นี่ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องไปไหนจริงๆ เมื่อมีก็ใช้ให้เกิดประโยชน์เท่านั้นเอง เช่น พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ที่เอาร่างกายเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ธรรมะคำสอน

 

ถาม  นึกถึงหลวงพ่อชา

 

ตอบ  หลวงพ่อชาท่านก็นอนอยู่อย่างนั้น ขยับร่างกายไม่ได้ หมอซ่อมร่างกายให้ฟื้นขึ้นมาเป็นปกติ เพื่อรับคำสั่งจากใจไม่ได้ ประสาทร่างกายบางส่วนไม่ทำงานแล้ว ส่วนที่เกี่ยวกับร่างกายก็เหมือนส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวกับคนที่ใช้เครื่องมือนั้น คนละส่วนกัน รถยนต์ต้องคอยดูแลรักษา เติมน้ำมัน เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ซ่อมบำรุงอยู่เรื่อยๆ ถ้าต้องการใช้มันไปไหนมาไหน ถ้าไม่ซ่อมบำรุงก็จะไปไม่ได้ นั่งอยู่ในรถสตาร์ทเครื่องแล้วมันไม่ติด ใจเหมือนคนขับ ถ้ารถใช้ไม่ได้ก็เปลี่ยนคันใหม่หรือเดินไป แต่ใจออกจากกายไม่ได้ถ้ายังไม่ตาย แยกกันไม่ได้ ก็อยู่ด้วยกันไปก่อน

 

ถาม  การที่อยู่กันแบบนี้เป็นเพราะกระแสกรรม

 

ตอบ  จะว่ากรรมก็ได้ เรามาเพราะกรรมพามา อยู่ด้วยกันไปจนกว่าจะจากกัน กรรมพามาเกิด พาให้มาครอบครองร่างกายนี้ จะแยกจากกันก็เมื่อร่างกายนี้ตายไป บางคนทุกข์ทรมานใจมากเลยฆ่าตัวตาย ก็แยกจากกันได้ แต่การฆ่าตัวตายเป็นการสร้างกรรมใหม่ขึ้นมาอีก พระพุทธเจ้าพระอรหันต์จึงไม่ฆ่าตัวตาย ปล่อยให้ตายตามธรรมชาติ แต่ไม่ยื้อมันไว้ ไม่ซ่อมบำรุงเหมือนคนที่มีกิเลส ที่พยายามทุกวิถีทาง จะผ่าจะเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยน แต่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ จะเอาเท่าที่มีอยู่ ถ้าจะหยุดก็พอแล้ว ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เมื่อยังอยู่ก็อยู่ไปอย่างนั้นเอง ใจเป็นอุเบกขาตลอดเวลา ไม่สร้างกรรมใหม่

 

ถาม  จิตดวงที่ไม่ตายกับจิตในสติปัฏฐาน ๔

 

ตอบ  เป็นจิตเดียวกัน จิตไม่ตาย แต่อาการของจิต มันเกิดดับๆ คำว่าจิตในสติปัฏฐาน หมายถึงจิตที่เปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ จากสงบเป็นฟุ้งซ่าน จากโลภเป็นโกรธเป็นหลง เปลี่ยนอาการไปเรื่อยๆ แต่ตัวจิตเป็นตัวเดียวกัน เหมือนกับเราเปลี่ยนเสื้อผ้าไปเรื่อยๆ วันนี้ใส่ชุดนี้ พรุ่งนี้ใส่อีกชุด ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าก็คนเดิม จิตก็ตัวนี้ มาปฏิสนธิ มาเกิด เป็นตัวที่รับรู้ มีอารมณ์ต่างๆ เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ ท่านให้ดูอารมณ์เหล่านี้ว่าไม่เที่ยง เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา บางทีเราก็ควบคุมบังคับมันไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวาง เดี๋ยวก็หายไปเอง ถ้าพยายามไปแก้กลับทำให้เป็นมากยิ่งขึ้น วิธีที่จะแก้คือทำใจให้เป็นอุเบกขา รับรู้ พอหมดแรงมันก็สงบตัวลงไปเอง

 

ถาม  ความเจริญ ความเสื่อมของจิต

 

ตอบ ความเจริญความเสื่อมของจิตอยู่ที่ธรรมกับกิเลส  ถ้ามีธรรมมากกิเลสน้อยจิตก็เจริญมาก ถ้ามีธรรมน้อยกิเลสมากจิตก็เสื่อม ตัวจิตไม่ได้เสื่อม เพียงแต่สิ่งที่อยู่ในจิตเปลี่ยนไป เหมือนน้ำในขวดนี้ จะสะอาดมากขึ้นก็ได้ จะสกปรกมากขึ้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะใส่อะไรลงไปในน้ำ ถ้าใส่สิ่งสกปรกน้ำก็สกปรกมากขึ้น คุณภาพเสื่อมลง ถ้ากรองเอาสิ่งสกปรกออกจากน้ำก็สะอาดขึ้น เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง เป็นจิตตัวเดียวกัน

 

ถาม  ที่เจริญหรือเสื่อมคืออาการของจิต

 

ตอบ คุณสมบัติคุณภาพของจิต เหมือนกับน้ำที่สะอาดกับน้ำที่ไม่สะอาด ที่เราปฏิบัติก็เพื่อชำระกิเลส ด้วยการเอาธรรมเป็นเครื่องกรองกิเลสออกไป แยกกิเลสออกจากใจ พอปฏิบัติไปแล้วจะรู้ในใจว่า อะไรเป็นกิเลส ไม่ต้องมีใครสอนก็รู้  อะไรที่ทำให้รุ่มร้อนเหมือนเข็มทิ่มแทงจิตใจ จะรู้ทันทีว่าเป็นกิเลส พอคิดไม่ดีปั๊บก็จะรุ่มร้อนขึ้นมาทันที เป็นห่วงคนโน้นคนนี้ ต้องปล่อยวาง ห่วงไม่ได้ กังวลไม่ได้ กังวลก็เป็นทุกข์ แต่หน้าที่ไม่ปล่อย มีหน้าที่ต้องคอยดูแลใคร ก็ดูแลไป แต่ไม่ไปทุกข์กับเขา กับผลที่เกิดขึ้น ทำได้เท่าไรก็ทำไป ผลที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป ปัญหาต่างๆในโลกนี้  ความจริงเป็นปัญหาภายนอกกับปัญหาภายใน เวลาไม่สบายใจกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ว่ามีปัญหา แต่ไม่รู้ว่ามีปัญหาอยู่ ๒ ที่ อยู่ที่ใจที่หนึ่ง อยู่กับเรื่องที่เป็นปัญหาอีกที่หนึ่ง ต้องเข้าใจว่าต้องแก้ปัญหาที่ใจก่อน  ต้องให้ความไม่สบายใจหายไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ภายนอก วิธีแก้ปัญหาภายในใจก็คือ ต้องยอมรับว่า ปัญหาภายนอกนี้ บางทีแก้ได้บางทีแก้ไม่ได้ ถ้ายอมรับได้ใจก็จะสบาย แก้ได้ก็ดี แก้ไม่ได้ก็ดี ใจสบายแล้วก็จะแก้ด้วยเหตุด้วยผล แก้ได้ก็ดีแก้ไม่ได้ก็ดี อะไรจะเป็นก็เป็น อะไรจะเกิดก็เกิด ใจไม่เดือดร้อนวุ่นวาย ส่วนใหญ่พวกเราไม่แก้ปัญหาที่ใจกัน ไปแก้ปัญหาข้างนอก แก้ได้ปั๊บก็ดีใจเดี๋ยวเดียว แล้วก็เป็นอีก

       

ทุกครั้งที่มีปัญหา ต้องย้อนมาดูที่ใจ ว่าปัญหาอยู่ที่เรา เราวุ่นวายไปกับเขา ถ้ารู้อย่างนั้นต้องดับตัววุ่นวายในใจก่อน  ต้องยอมรับว่าเราอาจจะแก้ได้ อาจจะแก้ไม่ได้ เพราะของบางอย่างมีอำนาจเหนือความสามารถของเรา ถ้ายอมรับใจก็จะสงบเย็น ปล่อยวางได้ ก็แก้ปัญหาใจได้ ส่วนปัญหาภายนอกแก้ได้เท่าไรก็เท่านั้น แต่ไม่ปล่อยปละละเลย ฝนตกหลังคารั่วไม่ปล่อยมันรั่วไป พิจารณาดูถ้าแก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยให้มันรั่วไป หากระเบื้องมาเปลี่ยน หาอะไรมาอุดไม่ได้ ก็เอากระแป๋งมารองน้ำไปก่อน  ทำเท่าที่ทำได้ ไม่วุ่นวายใจกับปัญหาต่างๆ เรามักจะแก้ผิดที่ ไปแก้ที่ข้างนอก ไม่ได้แก้ที่ใจ ถ้าแก้ที่ใจได้ ปัญหาต่างๆภายนอกมีมากน้อยเพียงใดก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ไม่เป็นปัญหากับใจ ถ้าดับปัญหาที่ใจได้ จะสบายกับปัญหาต่างๆ เศรษฐกิจจะตกต่ำอย่างไร ก็ไม่เดือดร้อน ตกต่ำก็อยู่กับมันได้ ไม่ได้อยากให้เจริญขึ้น ไม่อยากกลับไปอยู่เหมือนที่เคยอยู่ คนส่วนใหญ่พอรวยแล้วจนไม่เป็น พอจนแล้ววุ่นวาย อยากกลับไปรวยอีก  แทนที่จะยอมรับว่าจนก็อยู่ได้ ยังมีลมหายใจอยู่ไปกลัวอะไร ยังมีชีวิตอยู่ คนที่จนกว่าเราเขายังอยู่ได้ เมื่อก่อนเราไม่ได้รวยอย่างนี้ เราก็อยู่ได้ คิดอย่างนี้ก็ทำใจได้ แก้ปัญหาได้

 

ถาม  วิธีทำจิตใจให้สงบ ไม่กวัดแกว่งไปกับสิ่งที่มากระทบ คือการเจริญสมาธิภาวนาวิธีเดียว

 

ตอบ ต้องใช้ปัญญาถึงจะไม่กวัดแกว่ง เวลาทำสมาธิเพียงแต่แยกใจ  ออกจากเหตุการณ์ต่างๆชั่วคราว เวลานั่งสมาธิหลับตาบริกรรมพุทโธ เราก็ลืมปัญหาต่างๆ ที่สร้างความวุ่นวายใจให้กับเรา  แต่เราอยู่ในสมาธิไม่ได้ตลอดเวลา พอออกจากสมาธิไปทำภารกิจต่อ  ถ้าจะไม่ให้สิ่งต่างๆรบกวนใจก็ต้องใช้ปัญญา ต้องยอมรับว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่ได้เป็นตามความต้องการของเราเสมอไป บางอย่างก็ได้ดังใจ บางอย่างก็ไม่ได้ดังใจ ต้องทำใจให้ยอมรับกับการได้เสีย แก้ได้ก็ดี แก้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ต้องสูญเสียอะไรก็สูญเสียไป เป็นการป้องกันไม่ให้ใจแกว่ง ใจจะนิ่งเฉยกับเหตุการณ์ต่างๆ ต้องระวังเวลาได้อะไรมาจะดีอกดีใจ ต้องเตือนสติเสมอว่า ไม่เป็นอย่างนี้เสมอไป หรือสิ่งที่ได้มาก็จะไม่อยู่กับเราไปตลอด ได้มาวันนี้อาจจะจากไปพรุ่งนี้ก็ได้  วันนี้ตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้น อีก ๒ วันเปลี่ยนคำสั่งใหม่ ดีใจได้ ๒ วัน แล้วกลับมาทุกข์อีก ต้องเตือนสติว่า มันไม่แน่นะ ได้มาแล้วอาจจะจากไปเมื่อไรก็ได้  เหมือนควันไฟ หรืออาจจะอยู่กับเราไปยาวหน่อย แต่ไม่นานก็จากไปอยู่ดี มันไม่จากเราไป เราก็ต้องจากมันไป ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะไม่หลงระเริง ไม่ดีอกดีใจกับสิ่งที่ได้มา เวลาสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบทำให้หงุดหงิดใจ ก็ต้องระงับความหงุดหงิดใจ ยอมรับว่าห้ามเขาไม่ได้ เช่นคนที่เราเกลียดขี้หน้า เขาตำหนิติเตียนว่าเรานินทาเรา พอเห็นหน้าก็รู้สึกอึดอัดใจ แต่ต้องทำงานร่วมกัน ก็ต้องทำใจเฉยให้ได้ เรามีหน้าที่อะไรก็ทำไป ถ้าใจหงุดหงิดก็บริกรรมพุทโธๆไป  หรือพิจารณาว่าเขาเป็นเหมือนกับลมกับแดด เราบังคับลมกับแดดไม่ได้ ลมจะพัดมาเราไปห้ามไม่ได้ ลมไม่พัดทำให้พัดก็ไม่ได้ เวลาเจอคนที่เราไม่ชอบก็เป็นอย่างนั้น บังคับเขาไม่ได้ แต่บังคับใจเราได้ ปล่อยวางได้ ยอมรับว่าถ้าต้องเจอก็เจอ เดี๋ยวก็จากกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่ว่าเป็นสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ เดี๋ยวก็ผ่านไป ถ้าคิดแบบนี้ใจจะสงบ  ไม่แกว่ง ต้องไม่มีได้มีเสียกับสิ่งต่างๆ แต่ส่วนใหญ่พวกเราชอบมีได้มีเสียกับสิ่งต่างๆ บุคคลต่างๆ พอได้ก็ดีอกดีใจ พอเสียก็วุ่นวายใจ เวลาใครเอาเงินมาให้ก็ยินดี เวลาใครมาขอเงินก็ไม่ยินดี

 

ถาม  คนเราเกิดแล้วตายไม่รู้กี่ชาติ ตกนรกผ่านความยากลำบากมานับไม่ถ้วน แต่ทำไมถึงลืมความทุกข์ยากนี้

 

ตอบ  เหมือนคนเมาสุรา ผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย แต่จำไม่ได้ พอหายเมา ถามว่าเมื่อคืนนี้คุณทำอะไร ตอบว่าไม่รู้เลย ความหลงก็คือความเมาของจิตใจ เวลาตกนรกก็ไม่รู้ว่าตกนรก เวลาอยู่บนสวรรค์ก็ไม่รู้ว่าอยู่บนสวรรค์ จำไม่ได้ ถึงแม้ขณะนี้มีสติรู้อยู่ว่ากำลังทำอะไร  พอเหตุการณ์นี้ผ่านไป ก็แทบจะจำไม่ได้ เมื่อวานนี้ทำอะไร จำอะไรได้บ้าง มื้อเช้ากินอะไร ธรรมชาติของใจเป็นอย่างนี้ จะไม่ค่อยจำอะไรเท่าไร จะจำสิ่งที่เด่นชัดๆ ที่มีความผูกพันมาก จะจำได้ เช่นใครด่าเราคำเดียว จะจำได้นาน ใครชมเราก็จำได้นาน ขึ้นอยู่กับความผูกพันของใจ ว่าผูกพันมากน้อยเพียงไร ก็จะจำได้มากน้อยเพียงนั้น

 

ถาม  ผลของการปฏิบัติธรรม ได้ผลในระดับหนึ่งแล้วฝังในจิต พอเปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาติ ภาวะตรงนี้จะกลับมาไหม

 

ตอบ ผลมี ๒ ระดับ ผลที่เป็นโลกิยะกับโลกุตระ ถ้าโลกิยะหมดไปได้  ทำบุญได้อานิสงส์ไปเกิดเป็นเทวดา พอหมดอานิสงส์ก็เสื่อมไปหายไป ความสุขสงบใจแบบเทวดาก็หมดไป ความหิวความอยากสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดหยาบก็จะเกิดขึ้นมา ทำให้จิตต้องมาหาร่างกายหยาบ เพื่อหาความสุขส่วนหยาบต่อไป ขึ้นๆลงๆ นั่งสมาธิเข้าฌานได้ ตายไปก็ไปเกิดเป็นพรหม พอกำลังของฌานหมดไป จิตก็หยาบลง ก็จะลงมาเป็นเทพ พอความสุขของเทพหมดไป ก็มีความหิวกับความสุขชนิดหยาบกว่า ก็จะลงมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ มาหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะใหม่ ถ้าได้ทำบุญนั่งสมาธิก็จะกลับขึ้นไปใหม่ ถ้าเป็นแบบโลกุตระ เป็นแบบถาวรก็จะไม่เสื่อมลงมา  ต้องเจริญอนิจจังทุกขังอนัตตา เจริญปัญญาเพื่อปล่อยวาง ทำจิตใจให้สงบสุขด้วยการตัดกิเลส  ปล่อยวางจากการยึดติดในความสุขต่างๆ  เห็นว่าความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายเป็นโทษ ไม่ได้เป็นคุณ ไม่ยึดไม่ติด ตัดด้วยปัญญา ทุกครั้งอยากดื่มกาแฟก็ไม่ดื่ม อยากจะหาความสุขจากการฟังการดูก็ไม่ทำ ตัดไป จิตก็จะเข้าสู่ความสงบ สงบแบบนี้จะไม่เสื่อม เพราะสงบด้วยปัญญา ไม่ได้สงบด้วยการบริกรรม หรือเพ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งจนจิตหยุดคิดปรุงแต่ง ถ้าสงบด้วยปัญญาแล้ว จะไม่คิดแสวงหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จะหาความสุขที่เกิดจากความสงบ ที่เกิดจากการปล่อยวาง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็จะไม่มีทางเสื่อม เป็นโลกุตรธรรม ซึ่งมีแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น 

 

        ศาสนาอื่นสอนได้แต่ขั้นโลกิยะ คือขั้นพรหมเท่านั้น  ทำบุญให้ทานรักษาศีลนั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ มีมาก่อนพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พวกฤๅษีนักบวชทำได้เพียงแค่นี้ ครูบาอาจารย์ ๒ รูป ที่สอนพระพุทธเจ้าก็ทำได้เพียงแค่นี้ เพราะไม่รู้ว่ามีธรรมขั้นสูงกว่านี้ ที่เป็นโลกุตรธรรม ที่เกิดจากการเห็นสภาวธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ทุกคนเห็นอนิจจังทุกขัง แต่ไม่เห็นอนัตตา ทุกคนรู้ว่าเกิดมาต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย รู้ว่าเป็นความทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าไม่มีตัวตน ไม่รู้ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตน หรือแม้แต่จิตเองก็ไม่ใช่ตัวตน อันนี้ไม่มีใครรู้ มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว องค์แรกเท่านั้นที่จะรู้ได้ พอรู้แล้วก็มาสอนให้ปล่อยวาง ไม่ให้ยึดติดกับร่างกายและสิ่งของต่างๆ ทุกอย่างมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไป อย่างที่พระอัญญาโกณฑัญญะหลังจากฟังเทศน์แล้วก็อุทานออกมาว่า ธรรมที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา เป็นการยอมรับความจริงว่า ทุกคนต้องมีการสิ้นสุดลง  ร่างกายเป็นเพียงการรวมตัวของดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวตน เหมือนกับเสื้อผ้า เอาผ้ามาตัดเย็บเป็นรูปร่าง ร่างกายก็เอาอาหารมากินมาหล่อเลี้ยง ให้เป็นผมขนเล็บฟันหนังฯลฯ  เหมือนหุ่นยนต์ ทุกวันนี้เราสร้างหุ่นยนต์ให้เหมือนคน ก็เป็นเพียงหุ่นยนต์ ร่างกายก็เป็นหุ่นยนต์ที่มีจิตเป็นผู้สั่งการ จิตไม่เห็นจิต ทำให้หลงคิดว่าร่างกายเป็นตัวเป็นตน เป็นจิต

 

ถาม  ถ้าปฏิบัติไม่ได้ขั้นโลกุตระ จะสร้างสมในภพหน้าชาติหน้า  เป็นนิสัยต่อไปหรือไม่

 

ตอบ เป็นบุญบารมี เช่นทานบารมี ศีลบารมี ปัญญาบารมี ที่จะทำให้บรรลุโลกุตรธรรมในลำดับต่อไป

 

ถาม  ถ้าเป็นโลกุตระต้องได้ขั้นโสดาบันถึงจะฝังอยู่ในจิต ถ้าต่ำกว่านั้นก็จะเสื่อมหมดไปได้

 

ตอบ  ใช่ ถ้าเป็นพระโสดาบันจะรู้โดยอัตโนมัติว่า อะไรดี อะไรชั่ว เพราะเห็นผลที่เกิดในจิตทันที พอคิดไม่ดีปั๊บใจจะร้อนขึ้นมาทันที พอคิดดีใจจะสบาย พอปลงได้วางได้ ใจจะสบาย พอยึดติดปั๊บจะวุ่นวายทันที จะรู้อยู่ในใจของพระโสดาบัน ปุถุชนจะไม่เห็น เพราะไม่มองข้างใน มองแต่ข้างนอก

 

ถาม  ร่างกายเป็นธาตุ ๔ เวลาทำร้ายร่างกายเป็นบาป ถ้าคิดว่าทำกับธาตุ ๔ แล้วเป็นบาปอย่างไร

 

ตอบ  ถ้าทำลายโต๊ะเก้าอี้ก็ไม่บาป เอาคนตายไปเผาก็ไม่บาป ถ้าฆ่าคนที่ยังไม่ตายก็บาป

 

ถาม   พวกเรามีอุปนิสัย อยากมาวัด ทำบุญ จะไม่ติดเป็นนิสัยไปหรือ

 

ตอบ ติดมากถ้าทำมาก ติดน้อยถ้าทำน้อย ถ้าไม่ทำต่อก็จะจางหายไปได้  ถ้าจะไม่ให้จางหายไปต้องมีปัญญา ที่เห็นคุณของการทำบุญจริงๆ ไม่ต้องให้ใครชวน ไม่ต้องรอให้ใครผลักดัน เหมือนกับเรือที่มีเครื่องอยู่ในตัว พวกที่ไม่มีปัญญาเป็นเหมือนเรือพ่วง ต้องรอให้เรือที่มีเครื่องลากจูงไป คอยชวนไปดึงไป

 

ถาม  ปุถุชนละกิเลสได้ไหม

 

ตอบ ได้ แต่ไม่ขาด ได้เป็นครั้งคราว บางเวลา ไม่ขาดแบบถอนรากถอนโคน การจะละกิเลสแบบถอนรากถอนโคน ต้องเห็นโทษของมัน เห็นว่าความโลภเป็นเหมือนยาพิษหรืองูพิษ  ถ้าเห็นแบบนี้จะไม่โลภ เห็นด้วยปัญญา เวลาโลภใจจะร้อนเหมือนไฟนรก เหมือนหอกทิ่มแทงใจเวลาโลภโกรธหลง ถ้าเห็นอย่างนั้นก็จะตัดได้ ถ้าไม่เห็นก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ บางเวลาก็ไม่โลภมาก

 

ถาม  ยังไม่ขาด

 

ตอบ เป็นไปตามอารมณ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ถ้าเป็นปัญญาจะเป็นเหตุผลที่ตายตัว มีใจเป็นเครื่องวัด อะไรเป็นโทษใจจะร้อนขึ้นมาทันที จะรู้ว่าตัวนี้เป็นโทษ ปล่อยให้เจริญอยู่ในใจไม่ได้ ต้องกำจัดมัน  เช่นเวลาห่วงอะไร ใจจะร้อนขึ้นมาทันที ก็ต้องไม่ห่วง เป็นอะไรก็ต้องเป็น ทำอะไรได้ก็ทำไป แก้ได้ก็แก้ไป ป้องกันได้ก็ป้องกันไป แต่ไม่ยึดติดกับสิ่งนั้น จะยอมรับความจริง เป็นอย่างไรก็ยอมรับ สักวันหนึ่งตอนที่เจ็บไข้เราต้องลุ้นว่าจะหายหรือไม่หาย ถึงตอนนั้นต้องทำใจว่าหายก็ได้ ไม่หายก็ได้ ถึงจะสบายใจ ถ้าอยากจะหายก็จะกังวล จะรู้ในใจว่า  ความร้อนใจวุ่นวายใจ เป็นโทษมากกว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือความตาย รู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยเหตุด้วยผล รู้ด้วยการปฏิบัติ ไม่ได้รู้จากจินตนาการ อย่างที่คุยให้ฟังนี้เป็นจินตนาการ ยังไม่เกิดขึ้นกับตัว ต้องให้มันเกิดขึ้นก่อน ถึงตอนนั้นต้องเลือกจะเอาอย่างไรดี จะปลงหรือไม่ปลง ถ้าไม่ปลงก็ทุกข์ทรมานใจ ถ้าปลงใจจะเย็นสบายสงบ เหมือนทุ่มทิ้งหินที่แบกไว้ โล่งอกเบาใจขึ้นมาทันที ร่างกายจะตายจะเป็นก็ให้มันเป็นไป ดูแลเต็มที่แล้ว ยาก็กิน หมอก็รักษา หายก็หาย ไม่หายก็ไป ถ้าอย่างนี้ใจจะโล่ง ตอนนั้นไม่มีใครทำให้เราได้ เราต้องทำเอง ตอนนี้โชคดีได้ฝึกได้ยินวิธีก่อน เหมือนกับรู้ทาง พอถึงเวลานั้นเกิดความกระสับกระส่ายวุ่นวายใจ  ก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่คนที่ไม่เคยเข้าวัดไม่เคยฟังธรรม  พอถึงเวลาแล้วจะไม่มีที่พึ่ง จะอยากให้หายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ยอมตาย ไม่มีทางที่จะยอมรับความตายได้ ก็ยิ่งทุรนทุรายไปใหญ่ จะตายอย่างทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง ตายแบบไม่ดี ไปตกนรก ไปสู่อบาย ใจวุ่นวาย ว้าวุ่นขุ่นมัว

 

ถ้ายังไม่ถึงขั้นปัญญา ก็บริกรรมพุทโธๆไป ไม่ไปคิดถึงเรื่องร่างกาย  ฉีดยาสลบให้กับใจ อย่างนี้ก็ยังดี ทำให้ไปอย่างสงบ ก็ยังไปดี แต่ไม่ดีเท่ากับไปด้วยปัญญา จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีกเลย เช่นพระราชบิดาที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดเมตตาสั่งสอน  ได้บรรลุพระอรหันต์ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต ต้องอาศัยเหตุการณ์นั้นให้ปลง ให้ปล่อยวาง ให้พิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเหมือนบ้านที่อาศัยอยู่ ไม่ใช่ของเรา ไฟจะไหม้ก็ให้ไหม้ไป ไม่ต้องไปทุกข์กับมัน พวกเราโชคดีที่ได้ยินได้ฟังธรรม เหมือนกับได้เห็นอนาคตแล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้น เหมือนกับการซ้อมรบ ถ้าเป็นนักมวยเหมือนกับได้ฝึกซ้อมชกกระสอบทราย ชกกับครูฝึกสอน ให้รู้วิธีรับหมัดต่างๆ พอขึ้นเวที ก็จะได้รู้จักวิธีต่อสู้ ถ้าไม่ได้ซ้อมไว้ก่อนถึงเวลานั้นจะระส่ำระสายไปหมด ถึงแม้จะนอนสงบอยู่ ก็อาจจะสงบเพราะยา แต่ในใจอาจจะวุ่นวาย สงบแต่ร่างกาย เช่นคนมีเงินเข้าโรงพยาบาล หมอก็มียาระงับประสาทความปวดต่างๆให้ แต่เราจะไม่รู้เลยว่าเขากระสับกระส่ายหรือไม่ จึงสอนให้คิดในทางธรรมอยู่เรื่อยๆ เช่นความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นของเรา อย่าไปยึดไปติด มีไว้ใช้เท่านั้นเอง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้แบบปล่อยวาง จะจากไปเมื่อไรเวลาใดก็พร้อมเสมอ ยิ้มได้ทุกเวลา วันไหนยิ้มไม่ได้แสดงว่ากำลังหลง กำลังยึดติด ต้องถามตัวเองว่า วันนี้ยิ้มได้หรือไม่ ถ้าเครียดแสดงว่าหลงแล้ว เอาจริงเอาจังมากเกินไปกับของที่ไม่จริงไม่จัง โลกนี้เป็นโรงละคร เราเล่นกันจริงจังเหลือเกิน ต้องยิ้มได้ หัวเราะได้เสมอ พูดง่าย ทำยาก สังเกตดูครูบาอาจารย์ท่านอารมณ์ดีตลอดเวลา

 

ถาม  มาฟังธรรมแล้วไม่ว้าเหว่ คณะลูกมากันทุกเดือนเพราะมีหลัก

 

ตอบ เดือนหนึ่งน้อยไป ไปที่อื่นบ้าง ไปหลายที่จะได้มีอะไรเปรียบเทียบ ถ้าตรงนี้บกพร่อง ไปตรงโน้นจะได้รู้ มีส่วนอื่นมาเสริม เพราะแต่ละองค์ถนัดในบางสิ่งบางอย่าง บางอย่างที่ไม่ถนัดท่านก็จะไม่พูด หรืออาจจะไม่ถูกจริตกับเรา แต่ถ้าไปฟังหลายๆที่ หลายๆองค์ จะช่วยเสริมกัน เสริมความรู้ความเข้าใจให้กว้างมากขึ้น จะได้ผ่อนเบาภาระของท่านไปในตัว

 

ถาม  เริ่มต้นภาวนา ใช้วิธีฟังเทปหรือพุทโธดี

 

ตอบ  การฟังธรรมเป็นเหมือนอาศัยคนอื่นช่วยดันให้รถเราวิ่ง ให้มันสตาร์ทเครื่องได้ เพราะแบตเตอรี่หมด ไม่มีไฟ หรืออาศัยแบตเตอรี่ของรถคันอื่นมาสตาร์ทรถของเรา ถ้าภาวนาแล้วไม่สงบ พุทโธแล้วไม่สงบ ก็ต้องอาศัยการฟังธรรมไปก่อน มีสติจดจ่ออยู่กับการฟัง ไม่ไปคิดเรื่องต่างๆ จิตก็จะสงบตัวลง เป็นการอาศัยสิ่งภายนอกมาทำให้จิตสงบได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สงบดีเท่ากับทำของเราเอง เพราะทำได้ตลอดเวลา ถ้าฟังเทปฟังธรรมต้องมีเทปมีไฟติดตัว ถ้าแบตฯหมดเครื่องเสียก็ทำไม่ได้ เราเพียงอาศัยเป็นเชื้อ ทำให้รู้ว่าความสงบเป็นอย่างไร ทำให้มีศรัทธาที่จะทำจิตให้สงบ เพื่อจะได้เจริญสติให้มากขึ้น พอมีสติแล้วก็สามารถบริกรรม พุทโธๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะสงบได้ พอทำแบบนี้ได้ก็ไม่ต้องอาศัยเทป อาศัยการฟังเทศน์ อยู่ที่ไหนเวลาใด อยู่ในป่าคนเดียวก็ภาวนาได้

       

การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นการอาศัยทางปัญญา ตอนต้นเป็นการอาศัยฝึกทำสมาธิ พอทำสมาธิได้แล้ว ก็ฟังธรรมเพื่อปัญญา เพราะคิดพิจารณาไปในทางธรรมะไม่เป็น ต้องอาศัยการฟังธรรมที่สอนให้รู้ว่า คิดอย่างไรเป็นธรรม คิดอย่างไรเป็นกิเลส คิดปล่อยวางเป็นธรรม คิดยึดติดเป็นกิเลส คิดในทางทุกขังอนิจจังอนัตตาก็เป็นธรรม ถ้าคิดว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้เป็นสุขก็คิดไปในทางกิเลส ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังก็จะไม่รู้ ก็จะคิดไปในทางกิเลสเสมอ เห็นอะไรก็ว่าดี ได้อะไรมาก็ว่าดี มีความสุข จะคิดอย่างนี้เสมอ พอได้ฟังธรรมก็จะได้เชื้อของปัญญา ก็เอาไปเจริญต่อ เดินจงกรมพิจารณาตามที่ได้ยินได้ฟังมา พิจารณาไปเรื่อยๆจนติดเป็นนิสัยไป ต่อไปก็แสดงธรรมอยู่ภายในใจ เหมือนไฟติดเชื้อแล้ว จะไหม้ไปเรื่อยๆ พอคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะพิจารณาเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเสมอ ก็จะปล่อยวางได้ ไม่กังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ต่อไปไม่ต้องฟังธรรมของผู้อื่นก็ได้ นอกจากธรรมที่สูงกว่าที่ยังไปไม่ถึงหรือติดขัดอยู่ ก็ต้องเข้าหาครูบาอาจารย์ ไปเล่าให้ท่านฟังเพื่อให้ท่านช่วยแก้ปัญหาให้ เพราะท่านผ่านมาแล้ว เร็วกว่าที่เรามาแก้เอง แก้เองอาจจะแก้ไม่ถูกก็ได้ ถ้าถูกอาจจะช้าก็ได้ ถ้ามีครูบาอาจารย์มีผู้รู้ผ่านมาแล้ว จะช่วยให้เราผ่านปัญหาไปได้อย่างรวดเร็ว นี่คือการฟังธรรมจากผู้อื่น ในเบื้องต้นเป็นการฝึกทำสมาธิด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม แต่ไม่ควรทำอย่างนี้ไปตลอด

 

เหมือนกับปลูกต้นไม้ในกระถาง ตอนต้นก็ต้องปลูกในกระถางก่อน ดูแลรักษาง่าย ให้น้ำง่าย เคลื่อนย้ายได้ง่าย ถ้าแดดมากก็เคลื่อนไปในร่มได้ แต่จะไม่โตมาก ถ้าอยากให้โตมากต้องย้ายจากกระถางลงไปในดิน การทำสมาธิก็เหมือนกัน เบื้องต้นถ้าไม่สามารถทำจิตให้สงบด้วยการบริกรรมพุทโธ หรือดูลมหายใจเข้าออก ก็เปิดธรรมะฟังไปก่อน ต้องมีสติอยู่กับการฟังอย่างเดียว อย่าไปคิดเรื่องอื่นในขณะที่ฟัง จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจไม่เป็นไร ขอให้จิตติดอยู่กับกระแสธรรมที่มาสัมผัสก็พอ ถ้าเข้าใจก็เกิดปัญญา ถ้าไม่เข้าใจก็ได้ความสงบอย่างเดียว ต่อไปจะรู้วิธีทำจิตให้สงบ คือให้มีสติจดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ต่อไปไม่ต้องใช้การฟังธรรมะเป็นอารมณ์ก็ได้ ใช้พุทโธ ใช้ลมหายใจเข้าออกได้เลย ถ้าถนัดทางปัญญา ก็ใช้การพิจารณาทำจิตให้สงบก็ได้  เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ  พิจารณาว่าวุ่นวายกับเรื่องอะไร เรื่องลูกก็ต้องตัดลูกให้ได้ ปล่อยให้ได้ เรื่องงานก็ต้องปล่อยให้ได้ ตัดให้ได้ เรื่องสามี เรื่องภรรยา ก็ต้องตัด ต้องปล่อยให้ได้ แต่ไม่ได้แยกกัน ยังอยู่ร่วมกัน แต่ปล่อยทางอารมณ์ ทางจิตใจ ไม่หนักอกหนักใจ ไม่กังวลวุ่นวายกับเขามากจนเกินไป ถ้าปลงได้ ตัดได้ ปล่อยได้ ใจก็จะสงบ

 

การทำจิตให้สงบทำได้ ๓ วิธีคือ ๑. ฟังเทศน์ฟังธรรม ๒. พิจารณาด้วยปัญญา ๓. บริกรรมพุทโธหรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก กรรมฐานที่ใช้ทำสมาธิมีถึง ๔๐ ชนิด เป็นเครื่องกล่อมใจได้ทั้งนั้น ถ้าถนัดเจริญเมตตาภาวนา ก็แผ่เมตตาไปภายในใจ สัพเพ สัตตา ระลึกถึงคนโน้นคนนี้ ให้เขามีความสุขมีความเจริญ หมดทุกข์ หมดภัย คิดอย่างนี้ใจก็มีความสุข มีความเย็น มีความสงบ ถ้าชอบเพ่งดูโครงกระดูก ก็ดูไปเรื่อยๆ ก็จะสงบได้ ถ้าชอบท่องเที่ยวดูอาการ ๓๒ ท่องเที่ยวกายนคร ดูขน ผม เล็บ หนัง ฟัน เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ก็จะได้ทั้งปัญญาและสมาธิ เพราะเห็นปฏิกูล เห็นอสุภะ ความไม่สวยงามของร่างกาย จิตก็จะระงับความฟุ้งซ่านที่ไปคิดถึงความสวยความงามได้ คิดแต่เรื่องของร่างกายจะทำให้จิตสงบ ทำให้เกิดปัญญา ไม่หลงยึดติด ไม่หลงยินดี ไม่หลงรักในรูปร่างของใครทั้งสิ้น เพราะเห็นมากกว่าที่เห็นด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยปัญญา เห็นใต้ผิวหนัง เห็นสิ่งปฏิกูลต่างๆที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกายและที่ออกมาจากร่างกาย ถ้าพิจารณาก็จะเห็น ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่เห็น เหมือนกับไม่มี มันมีอยู่แต่เราไม่พิจารณา

 

ในกรรมฐาน ๔๐ ชนิด บางชนิดเป็นทั้งปัญญาและสมาธิควบคู่กันไป บางชนิดก็เป็นสมาธิอย่างเดียว เช่นบริกรรมพุทโธ จะเป็นสมาธิอย่างเดียว เพราะไม่ได้เกี่ยวกับอสุภะหรือปฏิกูล หรืออนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าพิจารณาความเกิดแก่เจ็บตาย ก็เป็นปัญญา ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน จริตมีอยู่ ๕ ชนิด พุทธิจริตเป็นพวกที่ชอบของจริง ชอบพิจารณาความตาย พวกศรัทธาจริต ชอบพุทโธ ชอบเชื่ออะไรง่าย เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อพระธรรม เชื่อพระสงฆ์ ถ้าให้พิจารณาความตายไม่เอา กลัว จริตแต่ละชนิดก็มีกรรมฐานที่เหมาะสมกัน เรามีจริตทั้ง ๕ ชนิดอยู่ในใจ ถ้าเกิดราคะก็ต้องใช้อสุภะเข้ามาระงับ ถ้าเกิดโทสะก็ต้องใช้เมตตา เกิดความหลงก็ต้องใช้ปัญญา พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา กรรมฐานเป็นเหมือนยาระงับความฟุ้งซ่านของจิตใจ ทำให้จิตใจสงบ เป็นเหมือนยาระงับประสาท กินไม่ได้นอนไม่หลับก็ไปหาหมอ หมอก็ให้ยานอนหลับจะได้นอนหลับได้ ใจของเราก็เป็นอย่างนั้น

 

เป้าหมายของการภาวนาคือ  การระงับจิตใจให้สงบนิ่ง  ให้ปล่อยวาง  ไม่ให้มีความทุกข์กับเรื่องอะไรทั้งสิ้น  ต้องอาศัยทั้งสมาธิและปัญญา  ในเบื้องต้นทำสมาธิก่อน เพราะง่ายกว่าปัญญา และเป็นฐานรองรับปัญญา ถ้าจิตไม่สงบไม่สามารถแยกแยะสิ่งดีชั่วภายในใจได้ ถ้าจิตสงบแล้ว สิ่งไหนเป็นพิษเป็นภัยจะเห็นชัด มันจะกระเพื่อมขึ้นมา พอจิตกระเพื่อมขึ้นมาเพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้ จะรู้เลยว่าสิ่งนี้ไม่ดี ถ้าเห็นแล้วไม่กระเพื่อม ได้ยินแล้วไม่กระเพื่อมแสดงว่าใช้ได้ เห็นด้วยการปล่อยวาง ถ้าเห็นด้วยการยึดติด อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จิตจะกระเพื่อมทันที คนที่เราไม่ยึดติด จะเป็นจะตายอย่างไร จิตก็ไม่กระเพื่อม แต่คนที่เรายึดติดมีความผูกพันด้วย เพียงแต่เห็นหน้า เพียงแต่คิดถึง ก็กระเพื่อมขึ้นมาแล้ว เพราะความห่วงกังวลห่วงใย สมถภาวนามี ๒ วิธี ถ้ายังไม่สามารถบริกรรมพุทโธทำจิตให้สงบ ก็ต้องอาศัยการฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน

 

ถาม  ครั้งหนึ่ง เวลาภาวนาแล้วปวดศีรษะมาก เลยพิจารณาผ่ากะโหลกศีรษะของตนเอง พิจารณาไปเรื่อยๆ จนกะโหลกศีรษะตัวเองบานออกทั้ง ๒ ข้าง อาการก็หายไป ควรปล่อยวาง  หรือบริกรรมพุทโธใหม่

 

ตอบ  ผลเป็นอย่างไร หลังจากพิจารณาแล้ว

 

ถาม  สงบแล้วกายหาย

 

ตอบ  กายหายและสงบ ก็ได้ผลแล้ว ให้อยู่ในความสงบนั้นไป

 

ถาม  ยังเพลินกับการพิจารณาอยู่ ใจอยากพิจารณาต่อ

 

ตอบ  เหมือนกับกินข้าวไม่อิ่ม ก็พิจารณาต่อไป ถ้าอิ่มแล้วมันจะหยุดเอง ถ้าพอใจเห็นผลชัดสบายใจแล้ว จะหยุดเอง ถ้ายังไม่หยุดแสดงว่ายังไม่พอ

 

ถาม  ปล่อยให้มันหยุดอยู่อย่างนั้น

 

ตอบ  หมายถึงพิจารณากายต่อไป ถ้าพอแล้วมันจะหยุดพิจารณาเอง ถ้ายังไม่หยุด แสดงว่ายังไม่พอ ก็พิจารณาต่อไป

 

ถาม  ถ้าพอแล้วหยุดแล้ว ควรปล่อยไปแบบนี้ แล้วนั่งสมาธิต่อ

 

ตอบ  จะนั่งก็ได้ ไม่นั่งก็ได้ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถเดินจงกรมก็ได้ ถ้าจะนั่งก็ต้องแก้ปัญหาที่ตามมาคือทุกขเวทนา พอนั่งต่อจะเจ็บปวดขึ้นมาอีก ก็ต้องพิจารณาว่า เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน ต้องปล่อยวาง จะเจ็บก็ปล่อยมันเจ็บไป อย่าไปกลัวความเจ็บ อย่าไปรังเกียจความเจ็บ อย่าไปอยากให้มันหาย มันจะเจ็บก็ให้มันเจ็บไป ภาวนาต่อไป กลับมาพิจารณาร่างกายก็ได้ แยกแยะร่างกายให้ออกจากเวทนา ออกจากใจ ว่าทั้ง ๓ ส่วนนี้เป็นคนละส่วนกัน เป็น ๓ สภาวธรรม เวทนาก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง กายก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ใจก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ ร่างกายมีหน้าที่นั่งก็นั่งไป ใจมีหน้าที่รับรู้ก็รับรู้ไป เวทนามีหน้าที่แสดงก็ปล่อยเขาแสดงไป ไม่ต้องไปก้าวก่ายกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ไป ใจก็รู้อยู่เฉยๆ อย่าไปอยากให้เวทนาหายไป อย่าไปรังเกียจเวทนา ยอมรับเขาเหมือนกับรับสุขเวทนา สุขเวทนาเราไม่รังเกียจฉันใด เราก็ไม่ควรไปรังเกียจทุกขเวทนา

 

        ถ้าให้ความเสมอภาคระหว่างทุกขเวทนากับสุขเวทนา ใจก็จะมีความสุข จะอยู่เฉยได้ ถ้าไม่ให้ความเสมอภาค เลือกที่รักมักที่ชัง เวลาสุขเวทนาต้อนรับเต็มที่ เวลาทุกขเวทนา พยายามขับไล่ไสส่ง ถ้าเขาดื้อไม่ยอมไป เราก็วุ่นวายใจ อย่าไปขับไล่ไสส่ง ต้อนรับเขาเหมือนต้อนรับสุขเวทนา ถ้าทำใจได้อย่างนั้นใจจะสบาย จะผ่านทุกขเวทนาไปได้ ถ้าผ่านไปได้ ก็ผ่านอุปสรรคหลักที่ขวางการปฏิบัติของเรา พอผ่านทุกขเวทนาไปได้ ต่อไปจะไม่กลัวอะไร ไม่กลัวความเจ็บปวด ไม่กลัวความอดอยากขาดแคลน ไม่กลัวความหิว เพราะเป็นทุกขเวทนาทั้งนั้น เมื่อผ่านไปได้ต่อไปจะเฉยกับสิ่งเหล่านี้ เฉยกับความเจ็บปวดของร่างกาย ร่างกายจะเป็นอย่างไรไม่หวาดวิตก ไม่กลัว เพราะรู้ว่าผ่านมาได้แล้ว พยายามทำใจให้เป็นอุเบกขาท่ามกลางทุกขเวทนาให้ได้ เขาเกิดมาแล้วเดี๋ยวเขาก็ดับไป เหมือนทุกสิ่งทุกอย่าง สุขเวทนาเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทุกขเวทนาเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เวลาเรานั่งคุยกันจะนั่งได้นานกว่าตอนนั่งคนเดียว นั่งคนเดียวได้ไม่กี่นาทีก็อยากขยับแล้ว เพราะใจไม่มีอะไรเกาะ แต่เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม จะมีเรื่องให้ใจเกาะ ก็เลยไม่สนใจกับเวทนาทางร่างกาย

 

        เวลาเจอทุกขเวทนา นั่งเฉยๆไม่ได้ ต้องพิจารณาต้องแยกแยะ ว่าร่างกายเป็นอะไร เป็นวัตถุไม่ใช่หรือ มาจากดินน้ำลมไฟ ไม่ต่างกับเสาเก้าอี้ข้าวของต่างๆ จะตั้งอยู่ตรงไหน นานเท่าไร ก็ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดอย่างไร ร่างกายก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ความเจ็บปวดไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ผู้ที่รับรู้ความเจ็บปวดก็เพียงแต่รับรู้ เหมือนกระจกที่สะท้อนภาพเท่านั้นเอง ภาพจะเป็นภาพชนิดไหน กระจกไม่มีความรู้สึกอะไรกับภาพที่ปรากฏขึ้นในกระจก ภาพคนยิ้มก็เป็นภาพ ภาพคนทำหน้ายักษ์ ก็เป็นภาพเหมือนกัน กระจกก็เฉยๆ สะท้อนภาพจริง ใจก็ควรสะท้อนความจริง รับรู้ความจริง สุขก็รู้ว่าสุข ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ไม่ต้องไปเข้าข้าง พอสุขก็ไปเข้าข้าง พอเป็นทุกข์ก็ไปต่อต้าน แสดงว่าใจไม่เที่ยงธรรม มีอคติ มีรัก มีชัง สิ่งที่ต้องกำจัดคือ ความรักความชังที่มีอยู่ในจิต ให้เพียงแต่รับรู้เท่านั้น ถ้าเข้าใจแล้วทำได้ จิตจะนิ่งเฉย เวทนาจะดับหรือไม่ จะไม่กระทบกระเทือนใจ ต่างฝ่ายต่างอยู่ กายก็นั่งไปเรื่อยๆ เวทนาก็แสดงไปเรื่อยๆ ใจก็รู้ไปเรื่อยๆ เพราะกิเลสตัวรักตัวชัง ถูกกำจัดด้วยปัญญา นี่คือผลที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาแยกแยะกายเวทนาใจ ให้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของเขาไป

 

ถาม  นั่งนานๆแล้วขยับขาเปลี่ยนท่า

 

ตอบ  แสดงว่าเราเปลี่ยนเวทนา รังเกียจทุกขเวทนา อยากจะให้มันหายไป เมื่อมันไม่หายเอง เราก็ทำให้มันหาย เรามาฝึกให้มันหายเอง อย่าไปทำอะไรมัน ไม่ควรเปลี่ยน ให้หายเอง ต่อไปจะได้ไม่ไปวุ่นวายกับมัน ทุกวันนี้ที่เราวุ่นวายกัน เพราะชอบเปลี่ยนเวทนา พอร้อนก็ติดแอร์ พอติดแอร์ต้องมีไฟฟ้า พอมีไฟฟ้าก็ทำให้โลกร้อนขึ้นมา ยิ่งร้อนขึ้นไปใหญ่ มีแต่ปัญหาเพิ่มขึ้น ถ้าอยู่แบบธรรมชาติ อยู่แบบสัตว์ที่อยู่ในป่า จะไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ถาม  นั่งนานๆแล้วไปเดินจงกรม อันนี้ไม่เหมือนกัน

 

ตอบ  ที่ให้นั่งนานๆ เพราะต้องการให้ผ่านเวทนา เหมือนเข้าห้องสอบ การปฏิบัติมีห้องสอบที่เราต้องเข้าอยู่หลายห้อง ห้องกาย พิจารณาปล่อยวางร่างกาย ห้องเวทนา พิจารณาปล่อยวางทุกขเวทนา ถ้าเข้าห้องสอบเวทนาก็ต้องนั่งไปนานๆ นั่งทั้งคืน ๘ ชั่วโมง ตั้งแต่หัวค่ำถึงสว่าง ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้านั่งอยู่ได้ในอิริยาบถนั้น สามารถแยกแยะเวทนากายจิตได้ ให้ต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่รบกวนกันตลอดเวลา ๘ ชั่วโมงได้ แสดงว่าสอบผ่าน ถ้าผ่านแล้วเวลาปฏิบัติขั้นละเอียดกว่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องนั่ง ๘ ชั่วโมง นั่งชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เมื่อยก็ลุกขึ้นมาเดินต่อ หรือเดินมากกว่านั่งก็ได้ เพราะช่วงนั้นจะใช้การพิจารณามาก บางทีเดินเป็นชั่วโมงๆจนลืมเวลา เวลาพิจารณาธรรมขั้นละเอียดมันจะเพลิน ตอนนั้นไม่ต้องนั่งนานก็ได้ ห้องสอบแต่ละห้องมีข้อบังคับไม่เหมือนกัน ถ้าเกี่ยวกับร่างกายก็พิจารณาปลงให้ได้ เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือไปอยู่ท่ามกลางเสือ ทำจิตใจให้นิ่งได้หรือไม่ เสือจะมาคาบร่างกายไปกินก็ให้มันคาบไป นี่เรียกว่าห้องสอบของกาย ห้องสอบของเวทนาก็ต้องนั่งนานๆ ให้เวทนาเกิดขึ้นแล้วหายไปเอง ส่วนห้องสอบละเอียดกว่านั้นต้องใช้ปัญญาเดินจงกรมวิเคราะห์ มีหลายห้องสอบด้วยกัน

 

ถาม  เพื่อนบอกว่า เขานั่งได้นานๆ นั่งธรรมดา นั่งเก้าอี้

 

ตอบ  คนที่ผ่านทุกขเวทนาได้ จะรู้ว่าตนเองผ่านได้แล้ว จะไม่หวั่นเกรงกับความทุกข์ต่างๆทางร่างกาย ร่างกายจะเจ็บปวดอย่างไรก็ทนได้ ถึงขั้นตายก็ทนได้ แต่การปลงวางทางร่างกายอีกแบบหนึ่ง คือ ต้องไปอยู่ที่อันตรายเป็นภัยต่อชีวิต ตอนนั้นจิตใจจะระส่ำระสาย ถ้าทำให้สงบไม่ได้ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าทำให้สงบได้ก็อยู่ได้สบาย ไม่หวาดกลัวกับอะไรทั้งสิ้น ต้องเข้าใจว่าทำไมต้องนั่งนานๆ ไม่ใช่ตลอดเวลา เมื่อปฏิบัติไปถึงขั้นหนึ่ง รู้ว่านี่คือขั้นที่ต้องผ่าน ก็ต้องนั่งนานๆให้ได้ ไปอยู่ป่าก็เพื่อไปปลงสังขารปล่อยวางร่างกาย ความยึดติดในร่างกายในชีวิต ต้องไปปล่อย ไปปลงเรื่องเวทนา หลังจากนั้นก็ไปพิจารณาเรื่องอสุภะต่อไป ความไม่สวยไม่งามอย่างนี้ไม่ต้องนั่ง เดินก็ได้ รู้อยู่ตลอดเวลา ลืมตาก็เห็นหลับตาก็เห็น มีพระรูปหนึ่งท่านเจริญแต่โครงกระดูก ไม่เห็นคน มีคนถามว่าเห็นคน ๒ คนเดินผ่านมา บอกว่าไม่เห็น เห็นแต่โครงกระดูกเดินผ่านไป ท่านกำลังเจริญอสุภกรรมฐาน ความไม่สวยงามของร่างกาย

 

ถาม  การทำบุญตลอดเวลา แต่ไม่ทำสมาธิภาวนา ไม่ช่วยให้จิตพัฒนาขึ้น

 

ตอบ  จิตมีหลายขั้น ขั้นอนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา ถ้าเรียนอยู่แต่ขั้นอนุบาลก็ได้แค่ขั้นอนุบาล จบอนุบาลก็ต้องก้าวเข้าสู่ขั้นประถม ทำบุญให้ทานแล้วต้องรักษาศีล รักษาศีลแล้วต้องภาวนา ไปอยู่วัดถือศีล ๘ เนกขัมมะ แล้วนั่งสมาธิเดินจงกรม ตอนต้นก็อยู่ในกุฏิก่อน ต่อไปออกไปนั่งในป่า ไปเดินในป่าตอนค่ำคืน ตอนต้นก็ไปหลายๆคน ต่อไปก็ไปคนเดียวเป็นขั้นๆไป ทำแบบผลีผลามไม่ได้ เดี๋ยวเตลิดเปิดเปิง สองวันก่อนมีคนขออยู่ภาวนา มาตอนบ่ายสามโมง พอสามทุ่มก็หนีแล้ว โทรศัพท์เรียกรถมารับ ตอนเช้ามาเล่าให้ฟังว่า ตอนต้นภาวนาจิตก็สงบดี พอนั่งต่อไปจิตเริ่มหลอน ไม่มีสติควบคุม ทนอยู่ไม่ได้ กลัวไปหมด นั่งหลับตาจุดเทียนไว้ก็กลัวไฟจะไหม้ ก็เลยวุ่นวาย ไม่เคยอยู่ป่ามาก่อน อยู่แต่ในเมือง ตอนเช้ามาสารภาพว่า ผมเข้าใจแล้วที่ท่านอาจารย์พูดว่า การปฏิบัติเป็นขั้นเป็นอย่างไร ผมต้องกลับไปขั้นอนุบาลใหม่ ให้ทานรักษาศีลก่อน

 

ถาม  เคยนั่งภาวนาผ่านเวทนาได้ จิตสงบแล้วเวทนาก็หายไป แต่ไม่ได้เป็นทุกครั้ง

 

ตอบ แสดงว่าสงบด้วยอุบายของสมาธิ จิตเพ่งอยู่กับอารมณ์กรรมฐานอย่างต่อเนื่อง ไม่สนใจกับเวทนาที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้แยกแยะด้วยปัญญา ว่ามันเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่ใจรับรู้ได้ ไม่ต้องกลัวมัน ต่อไปเวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้นมา จะไม่ทำให้จิตใจวุ่นวาย

 

ถาม  ถ้าเป็นแบบนั้น จะทำได้ทุกครั้ง

 

ตอบ ถ้าเป็นปัญญาแล้วจะทำได้ทุกครั้ง ถ้าเป็นอุบายของสมาธิ ก็ขึ้นอยู่กับสติทำจิตให้อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ จนจิตสงบลงไม่วุ่นวาย ความเจ็บปวดก็จะหายไปเอง

 

ถาม  นั่งภาวนามียุงมากัด พิจารณาว่า ยุงมากินเลือดนิดเดียวไม่ได้เอาชีวิตเรา ให้เป็นทานแล้วกัน มันจะไม่รู้สึกเจ็บ

 

ตอบ  ใช่ เป็นอุบายของเรา เป็นการปล่อยวาง จะคิดแบบไหนก็ได้ ขอให้ปล่อยวางได้ ปล่อยให้เขาทำไปตามเรื่องของเขา ก็ถูกแล้ว แต่ละคนอาจคิดไม่เหมือนกัน บางคนอาจคิดว่าหมอเจาะเลือดไปตรวจ แล้วแต่จะคิด ผลที่ปรากฏเหมือนกัน ใจปล่อยวางไม่รำคาญ ไม่อยากจะให้มันหายไป ปล่อยไปตามเรื่อง แต่ละคนมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน อุบายไม่เหมือนกัน ผลที่ต้องการเหมือนกัน คือปล่อยวาง ปล่อยให้กัดไป

 

ถาม  เป็นความสงบกับความสบาย

 

ตอบ  จิตไม่ฟุ้งซ่าน นั่งต่อไปได้

 

ถาม  ถ้าปัดยุงไป

 

ตอบ  แสดงว่าไม่สงบ ปล่อยวางไม่ได้ ยังต้องไล่เขาไป

 

ถาม  นั่งแล้วเป็นเหน็บ มีความรู้สึกว่า ตายเป็นตาย เห็นมันวิ่งหนีไปเลย

 

ตอบ บางที บางส่วนเกิดจากจิตไปสร้างมันขึ้นมา พอปล่อยปั๊บมันก็ไปเลย ความรังเกียจก็เป็นอุปาทานอย่างหนึ่ง อยากให้มันหายเป็นสมุทัย เป็นวิภวตัณหา ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา จะเป็นอย่างไรก็ไม่รบกวนใจ จะทำให้ถึงจุดนั้นได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับอุบายของแต่ละคนที่ต้องคิดขึ้นมาเอง ฟังแล้วลองไปใช้ดู อาจจะใช้ไม่ได้กับเรา อาจจะใช้ได้ ไม่แน่ ต้องไปทดลองดู การปฏิบัติจะเป็นตัวที่จะรับรองผล

 

ถาม  ขณะที่ปวดเราพิจารณาเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ ไม่ได้พิจารณาความปวด

 

ตอบ  เป็นการเบี่ยงเบนจิต แต่ไม่ได้ถอนรากถอนโคนของปัญหา เป็นเพียงเบี่ยงเบนจิต ไม่ให้คิดอยากให้เวทนาหายไป เหมือนกับบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ ไม่มีโอกาสที่จะคิดอยากให้เวทนาหายไป เมื่อไม่ได้คิดอยากให้หาย ความทุกข์ในใจก็เบาลงไป รู้สึกว่าเจ็บปวดไม่มาก พอทนได้ หรือหายไปเองก็ได้ ถ้าพิจารณาว่าทุกขเวทนาเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเหมือนสุขเวทนา ทำไมเรารับสุขเวทนาได้ ทำไมรับทุกขเวทนาไม่ได้ เป็นเวทนาเหมือนกัน ถ้าเรารับทุกขเวทนาได้ เราก็สบาย ต้องเกิดจากปัญญาที่ยอมรับว่าสุขเวทนากับทุกขเวทนาเป็นของคู่กัน มีสุขมีทุกข์เป็นธรรมดา สุขได้ก็ทุกข์ได้ ถ้าสุขกับความสุขได้ ก็ต้องสุขกับความทุกข์ได้

 

ถาม  เวทนาจะเกิดดับตลอดเวลา เราอยากพิจารณา แต่มีเรื่องอื่นซ้อนขึ้นมาให้พิจารณา ซึ่งแบบนี้ไม่ถูกต้อง

 

ตอบ  ถ้าต้องการแก้ปัญหาของเวทนา ก็ต้องเกาะติดกับเรื่องเวทนา ถ้ามีเรื่องอื่นมาฉุดไปก็แสดงว่าสมาธิไม่แก่กล้าพอ ยังไม่เกาะติดอยู่กับเรื่องที่ให้พิจารณา ถูกอารมณ์อื่นฉุดลากไป ยังไม่ได้แก้ปัญหายังไม่ได้เข้าห้องสอบ ยังไม่ทำข้อสอบให้เสร็จ มีคนอื่นชวนให้ไปทำอย่างอื่นก็ไป ปัญหานั้นหรือข้อสอบนั้นก็ยังไม่ผ่าน

 

ถาม  จิตไม่ได้ปรุงแต่งเอง มันเกิดขึ้นเอง

 

ตอบ  เป็นกระแสของอารมณ์ต่างๆภายในจิต ถ้ามีสติที่แก่กล้าพอ จะไม่ไปสนใจกับมันได้ เกาะติดกับเรื่องที่พิจารณาได้ สติอ่อนก็เหมือนกับเรือที่ทอดสมอแล้ว แต่เชือกไม่แข็งแรง พอน้ำแรงๆพัดมาเชือกก็ขาด เรือก็ลอยไปตามกระแสน้ำ ถ้าใช้โซ่ผูกสมอกับเรือไว้ น้ำจะมาแรงขนาดไหน ก็ไม่สามารถพัดเรือให้ลอยไปได้ ถ้ามีสติแบบเข้มข้นแน่นหนา อารมณ์อะไรพัดมาจะไม่สามารถพัดให้ใจไปจากเรื่องที่กำลังกำหนดอยู่ได้ การเจริญสติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก จิตสงบได้ จิตเกาะติดอยู่กับอารมณ์ได้ จิตจะเกิดปัญญา ปล่อยวางรู้แจ้งเห็นจริงได้ ต้องเกิดจากการพิจารณาอย่างต่อเนื่องถึงเหตุถึงผล

 

ถาม  ฐานจิตยังไม่ตั้งมั่น

 

ตอบ  สมาธิเป็นเครื่องสนับสนุนปัญญา อย่าไปคิดว่าสมาธิไม่สำคัญ สมาธิสำคัญมาก แต่สมาธิโดยลำพังไม่สามารถกำจัดกิเลสได้ สมาธิเป็นเครื่องสนับสนุนปัญญา ที่จะเป็นตัวกำจัดกิเลสอีกที เป็นขั้นตอน ศีลเป็นเครื่องสนับสนุนสมาธิ ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า สมาธิที่ศีลอบรมดีแล้ว มีอานิสงส์มากมีผลมาก ปัญญาที่สมาธิอบรมดีแล้ว มีอานิสงส์มากมีผลมาก จิตที่ปัญญาอบรมดีแล้ว จะหลุดพ้นโดยถ่ายเดียว สนับสนุนกันไปเป็นขั้นๆ ศีลก็สนับสนุนให้เกิดสมาธิ สมาธิก็สนับสนุนให้เกิดปัญญา สนับสนุนในการเจริญปัญญา เมื่อมีปัญญาก็จะทำให้จิตหลุดพ้นได้ จิตหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา แต่ปัญญาต้องอาศัยสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน สมาธิต้องอาศัยศีลเป็นเครื่องสนับสนุน  ศีลต้องอาศัยทานเป็นเครื่องสนับสนุน  ทานก็ต้องอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องสนับสนุน  ศรัทธาต้องอาศัยการได้ยินได้ฟังเป็นเครื่องสนับสนุน  ฟังจากผู้ที่รู้จริงเห็นจริงก็จะเกิดศรัทธา  ทำให้มีความกล้าที่จะเสียสละ ที่จะทำดี จะเห็นว่าข้าวของเงินทองไม่มีคุณค่าเท่ากับการทำบุญ เป็นการแลกเปลี่ยนกัน เมื่อทำบุญให้ทานจิตจะมีความเมตตากรุณา ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะมีศีลขึ้นมา พอมีศีลขึ้นมาก็จะมีความสงบ ไม่วุ่นวายกับการไปทำผิดศีล เพราะเวลาทำผิดศีล จิตใจจะกังวลไม่สบายใจ จะสงบยาก พอมีศีลแล้วจะไม่มีความกังวลไม่สบายใจ ก็ทำให้สงบง่าย พอมีสมาธิแล้วให้พิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะเกาะติดอยู่กับเรื่องนั้น จนกว่าจะเข้าใจแล้วตัดได้ปล่อยได้ ถ้าตัดได้ปล่อยได้จิตก็จะหลุดพ้น เป็นขั้นๆไป เริ่มต้นตั้งแต่การมาฟังเทศน์ฟังธรรมให้เกิดศรัทธา แล้วนำไปปฏิบัติ