กัณฑ์ที่ ๓๗๖       ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

 

สังเวชนียสถาน

 

 

 

เป็นอุบายของพระพุทธเจ้า ที่จะจุดประกายศรัทธาความเชื่อ ในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ขึ้นมา จึงได้ทรงพิจารณาให้พุทธศาสนิกชนไปกราบสังเวชนียสถานทั้ง ๔ คือ  ๑. ที่ประสูติ   ๒. ที่ตรัสรู้   ๓. ที่แสดงพระปฐมเทศนา  ๔. ที่ปรินิพพาน เพื่อให้มีความรู้สึกได้อยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ให้มีศรัทธาความเชื่อมั่นคงยิ่งขึ้นว่า พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ไม่ได้เกิดจากการจินตนาการ แต่เป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นการประสูติ การตรัสรู้ การแสดงพระปฐมเทศนา และการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถ้าได้ไปแล้วจะทำให้คนที่ไม่มีศรัทธามีศรัทธาขึ้นมา กำจัดนิวรณ์ความลังเลสงสัยได้ เกิดอิทธิบาท ๔  คือฉันทะ ความยินดีที่จะศึกษาปฏิบัติ วิริยะความอุตสาหะพากเพียรที่จะศึกษาปฏิบัติ จิตตะจิตใจจดจ่อต่อการศึกษาปฏิบัติ วิมังสาใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผล ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อพัฒนาจิตใจให้เจริญก้าวหน้า ไปสู่จุดหมายปลายทางที่พระบรมศาสดาและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินไปถึง เป็นจุดประสงค์อันเดียวเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสละเวลาทั้งหมดที่ทรงมีอยู่ หลังจากที่ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เป็นเวลา ๔๕ ปีด้วยกัน ที่ทรงมุ่งมั่นสั่งสอนสัตว์โลกให้มีปัญญา เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย ถ้ายังมีการเกิดอยู่ ก็ยังต้องมีการแก่ มีการเจ็บ มีการตาย มีการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก มีการเผชิญกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ไม่ว่าจะอยู่ในภพไหนชาติไหน จะดีจะละเอียดขนาดไหนก็ตาม ก็ยังต้องมีการเสื่อมมีการสิ้นสุด เกิดเป็นมนุษย์ที่มีวาสนา เช่นเกิดเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นประธานาธิบดี เป็นมหาเศรษฐี เป็นผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ก็ต้องหมดสิ้นไป เพราะกาลเวลาย่อมกลืนสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายไปหมด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกของการเวียนว่ายตายเกิดนี้ อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คืออนิจจังทุกขังอนัตตา มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป

 

จึงไม่น่ายินดีที่จะไปเกิดอีก ถึงแม้จะได้เกิดดีขนาดไหนก็ตาม ก็ดีเพียงชั่วคราวเท่านั้น ไม่จีรังถาวร ไม่มีอะไรที่น่ายินดียิ่งกว่าพระนิพพาน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ปรมังสุขัง เป็นความสุขที่ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเสื่อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีไตรลักษณ์ ไม่มีอนิจจังทุกขังอนัตตา เพราะพระนิพพานอยู่เหนืออิทธิพลของไตรลักษณ์ อยู่อีกฟากหนึ่งของการเวียนว่ายตายเกิด ของสังสารวัฏ นี่คือจุดที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินไปถึง ทรงเห็นว่าเป็นจุดที่ดีที่สุด ที่ปลอดภัยที่สุด ปลอดจากความทุกข์ทั้งปวง ไม่มีความทุกข์เข้ามาเหยียบย่ำจิตใจได้เลย มีแต่ความสุขไปตลอดอนันตกาล เพราะไม่ต้องสัมผัสกับสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการดับมีการสูญสิ้นหมดไป เช่นการมาเกิดก็ต้องมาสัมผัสกับขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ที่เป็นส่วนประกอบของร่างกายและใจ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รูปคือร่างกายก็มีการเจริญ เมื่อเจริญเต็มที่แล้วก็มีการเสื่อมไปตามลำดับ จนแตกดับไปในที่สุด กลับคืนสู่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ส่วนเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็มีการเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา วันๆหนึ่งนี้เราจะสัมผัสกับการเกิดดับของนามขันธ์อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว เพราะไม่เคยสังเกตดู เช่นความรู้สึกสุขทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ไม่สุขไม่ทุกข์ ความคิดคือสังขาร ความจำได้หมายรู้คือสัญญา วิญญาณคือการรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่สัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย ก็มีการเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เช่นเสียงที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ก็มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นใหม่ ไม่จีรังถาวร เหมือนกับแสงหิ่งห้อย ความคิดที่พิจารณาตามก็เกิดดับเกิดดับไปเช่นเดียวกัน ความรู้สึกสุขทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เกิดดับเกิดดับตามกันไปเป็นชุดๆ แล้วก็เกิดขึ้นมาใหม่ จิตที่ไม่ได้รับการอบรมก็จะมีความหลง คอยหลอกคอยล่อ ให้ยินดีบ้างไม่ยินดีบ้าง ให้รักให้ชอบให้เกลียด ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ที่ต่างจากทุกขเวทนา

 

ทุกขเวทนาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของขันธ์ เช่นเวลารูปขันธ์สัมผัสกับอากาศที่ร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไป ก็เกิดความรู้สึกไม่สบายขึ้นมา เป็นทุกขเวทนาที่มาแล้วก็ไป แล้วก็มีความทุกข์ใจตามมาด้วยอีกชั้นหนึ่ง ที่เกิดจากความไม่ยินดี เกิดจากความรังเกียจ หนาวเกินไปหรือร้อนเกินไป ถ้าเกิดความรังเกียจ ก็จะเกิดความทุกข์ใจอีกชั้นหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายกำจัดได้ ด้วยการควบคุมไม่ให้เกิดความไม่พอใจ กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่มากระทบกับร่างกาย อากาศจะหนาวขนาดไหนก็รับรู้ตามความเป็นจริง ถ้าพอที่จะหาอะไรมาห่มเพื่อให้อุ่นขึ้นได้ ก็ทำไป ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องยอมรับกับสภาพความหนาวนั้น โดยไม่มีความรังเกียจหรือความไม่พอใจ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายทำได้ และนำมาสั่งสอนพวกเรา ให้บำบัดกำจัดความทุกข์ใจนี้ ไม่ได้ให้ไปบำบัดกำจัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่นอากาศร้อนมากๆ ก็เปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อปรับให้อากาศอยู่ในระดับที่เราต้องการ ท่านให้ปรับใจของเรา ให้เข้ากับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่ให้ไปเสียเวลาเหนื่อยยากกับการปรับธรรมชาติ ให้เป็นไปตามความต้องการของเรา แต่ปรับใจให้รับกับความเป็นไปของธรรมชาติ ของความจริงที่เกิดขึ้นที่มาสัมผัสกับใจ ที่ยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องอากาศร้อนหนาว ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งต่างๆที่มากระทบกับใจ ซึ่งมีมากมายหลายชนิดด้วยกัน เช่นเสียงอย่างนี้เป็นต้น เมื่อสักครู่นี้เราอยู่ในความสงบ พอตอนนี้ก็มีเสียงดังรบกวน เราก็รับรู้ไว้ว่าเป็นเสียงดัง แต่ใจอย่าไปรังเกียจ อย่าไปโกรธ จะได้ไม่ทุกข์ ถ้าไม่รู้จักควบคุมใจ ปล่อยให้สิ่งที่มาสัมผัสกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจ หรือความโกรธ หรือความอยากได้ ก็จะทำให้ทุกข์ใจ ความทุกข์ใจนี้ต่างกับความทุกข์ในขันธ์ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมต่างๆ เช่นเวลาสูญเสียอะไรไป ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ถ้ารู้ไม่ทันก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา แต่ถ้าได้ศึกษา ได้เตรียมใจ ได้สั่งสอนใจไว้ล่วงหน้าแล้ว ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปของสภาวธรรมและสิ่งต่างๆทั้งหลาย ก็จะไม่ทุกข์ใจ ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆ เหมือนการฝึกซ้อมของนายทวารรักษาประตูฟุตบอล ที่รู้ว่าลูกบอลมาได้หลายทางด้วยกัน มาทางซ้ายก็ได้ มาทางขวาก็ได้ มาทางตรงก็ได้ มาทางต่ำก็ได้ มาทางสูงก็ได้ ถ้านายทวารฉลาดได้รับการฝึกสอนมาอย่างดี ก็จะสามารถรับลูกบอลได้ทุกรูปแบบ ฉันใดสภาพของการเปลี่ยนแปลงหรือการหมดไปของสิ่งต่างๆก็เป็นเช่นนั้น มาได้ทุกรูปแบบด้วยกัน มาทางตาหูจมูกลิ้นกายและใจ มาทางขันธ์คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราศึกษา ให้เตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวธรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะเป็นธรรมารมณ์ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ มีทั้งที่ทำให้เกิดความยินดีและไม่ยินดี แต่เราไม่ควรยินดีหรือไม่ยินดี ควรจะรับรู้เฉยๆตามความเป็นจริง ถ้าไม่ยินดียินร้ายใจก็จะไม่วุ่นวายไปกับเขา นี่คือวิธีการดับทุกข์ ดับด้วยการรู้ทันสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสกับใจ ไม่หลงยินดีในสิ่งที่ถูกอกถูกใจ ไม่รังเกียจกับสิ่งที่ไม่ชอบอกชอบใจ ยอมรับความจริงว่าโลกนี้เป็นอย่างนี้ มีทั้งสิ่งที่ยินดีและไม่ยินดี พอใจและไม่พอใจ เราสามารถทำใจให้รับรู้เฉยๆได้ ให้พอใจกับทุกสภาพ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี น่ายินดีหรือไม่น่ายินดีก็ตาม รับได้กับทุกสภาพ ถ้าทำได้ก็ถือว่าใจมีปัญญามีธรรมะ ที่จะรักษาใจให้อยู่อย่างไม่ทุกข์ได้ แต่โดยธรรมชาติของใจที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนอบรม จะไม่เป็นอย่างนั้น จะเป็นเหมือนสัญชาตญาณ พอได้สัมผัสกับสิ่งที่ถูกอกถูกใจ ก็จะเกิดความยินดีเกิดความโลภความต้องการขึ้นมา เวลาสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็จะเกิดความรังเกียจ เกิดความโกรธขึ้นมา เราจึงต้องฝึกฝนใจให้เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย ด้วยการฝึกทำจิตใจให้สงบ พอจิตสงบก็จะเป็นกลาง เป็นอุเบกขา ไม่ยินดียินร้าย ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ชั่วคราว เพราะอยู่ในสภาพนั้นได้ไม่นาน จิตจะสงบได้ระยะหนึ่ง แล้วก็ถอนออกมา แล้วก็ไปทำภารกิจต่างๆ ไปสัมผัสรับรู้กับสิ่งต่างๆ ตอนนั้นแหละเป็นตอนที่ต้องใช้ปัญญา ใช้ไตรลักษณ์สอนใจ คอยเตือนใจไม่ให้ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ เพราะควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้

 

ถ้ามีความต้องการมากก็จะเหนื่อยมาก เพราะจะมีสิ่งให้แก้ไขมาก ถ้ามีความต้องการน้อย มีสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด พอใจกับสิ่งที่มี ที่เป็น ที่ปรากฏ ก็ไม่ต้องทำอะไรให้เหนื่อยยาก ร้อนก็ปล่อยให้ร้อนไป หนาวก็ปล่อยให้หนาวไป ไม่ต้องหาเครื่องปรับอากาศมาติดตั้ง ไม่ต้องหาที่ทำน้ำอุ่นมาอาบ ถ้าทำใจให้พอใจกับทุกสภาพได้ก็จะสบาย แต่พวกเรากลับมองไม่เห็นว่าสบาย เพราะถูกอำนาจของความหลงครอบงำ ทำให้ต้องไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อให้ถูกใจ กลายเป็นความวุ่นวายเป็นความทุกข์ไป กลายเป็นใจที่อ่อนแอ เพราะจะต้องคอยพึ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา เป็นเหมือนกับคนที่ไม่พิการ แต่ต้องอาศัยของที่คนพิการใช้ เช่นรถเข็นเป็นต้น สมัยนี้คนเราพิการกันเยอะ ไม่ค่อยเดินกัน ระยะทางใกล้ๆก็ไม่ยอมเดินกัน ต้องขึ้นรถ อยู่ใกล้ๆกันก็ยังต้องใช้โทรศัพท์คุยกัน ธรรมชาติของกิเลสเป็นอย่างนี้ ก็เลยต้องวุ่นวายกับการหาซื้อเครื่องโทรศัพท์ วุ่นวายกับการดูแลรักษาและชาร์จแบตอยู่ตลอดเวลา ถ้าโทรติดต่อกันไม่ได้ก็จะหงุดหงิดรำคาญใจ เพราะไม่อยู่แบบสันโดษนั่นเอง พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ที่มีอยู่ จะคอยปรับทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามความต้องการ แล้วในที่สุดก็มาหล่นทับศีรษะ เป็นความทุกข์ที่กดดันบีบคั้นใจ พอถึงเวลาที่ต้องอยู่กับสภาพที่ไม่ชอบ ก็ทนอยู่ไม่ได้ เพราะไม่รู้จักอดทน ไม่รู้จักทำใจให้นิ่งเฉย ให้รับกับสภาพต่างๆได้ บางทีต้องไปทำอะไรที่ไม่ดี ทำผิดศีลผิดธรรม ให้เกิดความเสียหายตามมา

 

เพราะใจไม่สันโดษ ไม่ยินดีตามมีตามเกิด มีแต่ความโลภความอยากความต้องการ จึงต้องไปฆ่าผู้อื่น ไปลักทรัพย์ ไปประพฤติผิดประเวณี ไปโกหกหลอกลวง ไปเสพสุรายาเมา เสพอบายมุขต่างๆ เพราะไม่รู้จักปรับใจให้เข้ากับสภาพ แต่พยายามปรับสภาพให้เข้ากับความต้องการของตน อยู่บ้านเฉยๆความจริงก็เป็นสภาพที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ไม่มีที่ไหนจะดีเท่าบ้านเรา ปลอดภัย มีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ แต่อยู่บ้านกันไม่ค่อยได้ ต้องออกไปข้างนอกกัน ไปเสี่ยงภัยกับเหตุการณ์ต่าง เพราะใจถูกอำนาจของความอยากครอบงำ ไม่เคยกำจัดความอยากต่างๆ ปล่อยให้ความอยากบงการชีวิต จนกลายเป็นทาสของความอยากไปโดยไม่รู้สึกตัว เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาตอนที่ยังเป็นพระราชโอรสอยู่ในวัง อยู่ท่ามกลางความสุขของทางโลก แต่ทรงสังเกตเห็นพระทัยของพระองค์ว่าไม่มีความสุขเลย ต้องยุ่งกับเรื่องราวต่างๆอยู่ตลอดเวลา ตามความบงการของความอยาก เดี๋ยวก็อยากจะกินนั่นกินนี่ ดื่มนั่นดื่มนี่ อยากทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นความบงการของความอยากทั้งนั้น ไม่ได้ทำตามความจำเป็น คือทำมาหากินเพื่อมีปัจจัย ๔  นอกเหนือจากนี้แล้ว เป็นเรื่องของความอยากทั้งนั้น ทำเพื่อความสนุกสนาน แล้วก็ผ่านไปหมดไป เหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว แล้วก็อยากหาอะไรมาทำอีก เพื่อดับความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว  ก็จะเป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้มานานนับไม่ถ้วนแล้ว เกิดมากี่ภพกี่ชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน จะเป็นเทพเป็นมนุษย์เป็นเดียรฉาน ก็ทำแบบเดียวกัน ทำตามคำสั่งของความอยาก คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่เป็นเจ้านายของสัตว์โลกทั้งหลาย เวลาเกิดความอยากก็อยู่ไม่เป็นสุข เวลาอยากจะไปไหน ให้อยู่บ้านเฉยๆก็จะแสนทรมานใจ ต้องออกไปให้หายอยาก ถึงจะกลับมาอยู่บ้านได้ แต่กลับมาเพื่อพักเอาแรงเท่านั้น พอได้แรงได้กำลังก็อยากออกไปอีก ชีวิตของพวกเราจึงติดอยู่ในวงจรนี้ ออกไปข้างนอกเพราะอยู่ในบ้านไม่ได้ พอเหนื่อยแล้วก็กลับมาพักในบ้าน พอหายเหนื่อยแล้วก็ออกไปใหม่ ทำอย่างนี้มาตั้งแต่เล็กจนโตจนแก่ จนกว่าสังขารจะไปไม่ไหวจริงๆ นี่แหละคืออำนาจของความอยาก ถ้าไม่พิจารณาก็จะไม่เห็น จะคิดว่าเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องผิดปกติ

 

ถ้าธรรมดาแล้วต้องอยู่เป็นสุข อยู่เฉยๆแล้วสุข จึงจะถือว่าเป็นธรรมดา จึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์ ถ้าอยู่เฉยๆแล้วมีความสุขก็หมดปัญหา ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการอยู่ไม่เป็นสุขนี่เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเราหรือเรื่องของคนอื่น เรื่องของเราก็มีมากพออยู่แล้ว แต่ก็ยังอดไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่นไม่ได้ ต้องวุ่นวายไปกับเขา สร้างความวุ่นวายสร้างความทุกข์ให้กับเราโดยไม่รู้สึกตัว และจะไม่มีทางรู้สึกตัวเลยถ้าไม่ได้มาเจอพระพุทธศาสนา ไม่ได้มาสัมผัสกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงย้อนกลับมาที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงให้พุทธศาสนิกชน เดินทางไปตามสังเวชนียสถานต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดศรัทธาความเชื่อ เกิดฉันทะวิริยะที่จะศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเปิดใจให้สว่าง ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ จะได้สร้างสิ่งที่เป็นคุณและกำจัดสิ่งที่เป็นโทษ จะได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต้องทุกข์ไม่ต้องวุ่นวายกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆในโลกนี้ คนที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้วจะไม่วุ่นวายกับอะไรทั้งสิ้น อะไรจะมีก็มีไป อะไรจะสูญก็สูญไป แต่ใจจะไม่ไปดีอกดีใจ เสียอกเสียใจ กับการมาและการไปของสิ่งต่างๆ เพราะมีปัญญารู้ทันว่านี่คือความจริง ทำอะไรไม่ได้ ถ้าไปดีใจหรือเสียใจก็เหมือนเป็นการทำโทษตนเอง คือสร้างความทุกข์ให้กับใจ

 

ไม่มีใครอยากจะทุกข์กัน จึงต้องปล่อยวาง ยอมรับความจริง ต้องอยู่กับความจริงให้ได้ นี่คือเป้าหมายของการไปอินเดีย ไปตามสังเวชนียสถานต่างๆ ถ้ากลับมาแล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติดีขึ้น ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นการไปเที่ยวเฉยๆ เหมือนกับไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ถ้ากลับมาแล้ว พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เคยสำมะเลเทเมาก็เลิกสำมะเลเทเมา เคยเที่ยวเตร่ก็เลิกเที่ยวเตร่ ไม่มีศีลมีธรรมก็มีศีลมีธรรม ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ ตรงกับความปรารถนาของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่สำมะเลเทเมาอยู่แล้ว มีศีัลมีธรรมอยู่แล้ว จะไปที่อินเดียหรือไม่ก็ไม่สำคัญอย่างไร ไปก็ได้ไม่ไปก็ได้ ไม่มีความแตกต่างกัน เพราะมีศีัลมีธรรม มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว ครูบาอาจารย์ต่างๆของพวกเราจึงไม่ค่อยมีปรากฏว่าท่านไปอินเดียกัน หลวงปู่ต่างๆนับแต่หลวงปู่มั่นลงมาก็ไม่ได้ไปอินเดีย ท่านไม่ต้องไป เพราะท่านเห็นธรรมอยู่ในใจแล้ว เข้าถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์แล้ว ไม่ลังเลสงสัย ในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เหมือนกับพวกเรา ที่ยังต้องไปเห็นสถานที่จริงถึงจะเชื่อว่า มีพระพุทธเจ้ามาประสูติ มาแสดงพระธรรมเทศนาจริงๆ

 

ดังนั้นไม่ว่าจะไปหรือไม่ ก็ขอให้เข้าใจว่า เป้าหมายของการไปก็เพื่อ ให้มีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ให้มีอิทธิบาท ๔ มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ที่จะศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดจากความโลภความโกรธความหลง เกิดจากความอยากทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการไปอินเดีย ของการไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์ตามสถานที่ต่างๆ ของการมาฟังเทศน์ฟังธรรมที่นี่ ก็อยู่ที่ตรงนี้ คือกำจัดความทุกข์ที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป จึงควรให้ความสำคัญตรงจุดนี้ ให้ดูที่ใจเป็นหลัก ถ้าเกิดความโลภความโกรธความหลงเมื่อไหร่ ก็ให้เรารู้ว่านี่แหละคือศัตรู เป็นสิ่งที่ต้องกำจัด ด้วยการปฏิบัติทานศีลภาวนานี่เอง มีเงินทองมากน้อยก็อย่าไปเสียดาย ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องเก็บไว้ก็เอาไปทำบุญทำทานเสีย ศีลก็พยายามรักษาไว้ให้ดีให้บริสุทธิ์ ภาวนาก็พยายามทำให้มาก เจริญสติอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงหลับเลย อย่าให้เผลอสติ ให้มีสติคอยเฝ้าดูกายวาจาใจอยู่เสมอ อย่าห่างไกลจากกายวาจาใจ อย่าไปในอดีตอย่าไปในอนาคต อย่าไปที่ใกล้ที่ไกล ให้อยู่ที่ตรง ๓ สถานที่นี้ อยู่ที่กายวาจาใจ แล้วจะรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นภายในใจ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็จะได้กำจัดได้

 

ถ้ามัวไปอยู่ที่อื่น มัวไปคิดถึงคนโน้นคนนี้ แล้วก็วุ่นวายใจขึ้นมา ก็จะไม่รู้สึกตัวว่าไฟกำลังเผาใจ แต่ถ้ามีสติจะรู้เลยว่า ไปคิดถึงคนนั้นแล้วก็เกิดความกังวลขึ้นมา ก็จะรีบระงับดับความกังวลทันที ด้วยปัญญาก็ได้ หรือด้วยสมาธิก็ได้ ถ้าใช้สมาธิก็บริกรรมพุทโธๆไป เลิกคิดถึงเรื่องของคนนั้นไป ถ้าใช้ปัญญาก็ต้องพิจารณาปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา เขาอยู่ตรงนั้น เราอยู่ตรงนี้ ไปคิดวุ่นวายกับเขาทำไม ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะดับความทุกข์ดับความกังวลได้ ถ้าไม่มีสติก็จะมัวแต่คิดถึงเขา ยิ่งคิดก็ยิ่งกังวลใหญ่ ยิ่งห่วงใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าปัญหาคือความทุกข์ความกังวลอยู่ที่นี่ มัวไปกังวลกับเขาที่อยู่ที่ตรงโน้น อาจถึงกับลากสังขารร่างกายไปหาเขา เพื่อไปแก้ปัญหา ซึ่งปัญหาจริงอยู่ที่ใจเรา ดับตรงที่ใจเราเท่านั้นก็หมดเรื่อง เขาจะเป็นอะไร ก็ปล่อยให้เป็นไป เรื่องก็จบ แต่เราแก้ไม่เป็น ไม่แก้ที่ใจเรา กลับไปแก้ที่ข้างนอก เพราะไม่ดูกายวาจาใจของเรา เพราะไม่มีสตินั่นเอง นี่คือการภาวนา ให้ดูที่กายวาจาใจ ดูว่าสุขหรือทุกข์ ถ้าทุกข์ก็รีบดับเสีย ไม่ต้องไปดับที่คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ดับที่ใจ ดับความอยากต่างๆ จึงขอให้พยายามสร้างฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา สร้างศรัทธา ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรมกับผู้รู้ เข้าหาครูบาอาจารย์อยู่เรื่อยๆ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในทางธรรมต่อไป

 

ถาม  ช่วงที่ผ่านมาหลังจากไปปฏิบัติธรรมก็นิ่งไปได้พักหนึ่ง พอมาทำงานก็เกิดภาวะที่ตัวเองเรียกว่าคนดีท้อแท้เจ้าค่ะ ว่าเราทำไมต้องทำส่วนที่คนอื่นเขาไม่ทำ เพราะเขาฉลาดจะทำให้แต่ตัวเขาเอง ก็เลยเริ่มไม่แน่ใจว่าเราควรจะทำหรือเปล่า

 

ตอบ  ความผิดอยู่ที่ความคิดของเรา คิดไปในทางกิเลส กิเลสย่อมคิดถึงประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ทำอะไรต้องได้รับประโยชน์ แต่ความจริงแล้วประโยชน์ที่ได้มีโทษตามมาด้วย เพราะประโยชน์ทางโลกไม่จีรังถาวร ได้อะไรมาแล้วเดี๋ยวก็เสื่อมหมดไป ใจไม่ได้อิ่มเอิบจากสิ่งที่ได้มา แต่ใจจะอิ่มเอิบจากสิ่งที่เสียไป แต่เราไม่รู้กัน เช่นเราทำบุญให้ทานเราต้องเสียเงินทองไป แต่ใจเราได้ความอิ่มเอิบใจ ได้ความสุขใจ แต่เรามักจะไม่คิดทางธรรมะกัน เพราะใจถูกอำนาจของกิเลสครอบงำ จะคิดแต่ประโยชน์ที่จะได้ ซึ่งไม่ใช่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงสำหรับใจ กลับเป็นโทษกับใจ เพราะเมื่อได้มาแล้ว ก็จะทำให้เกิดความโลภ อยากจะได้มากขึ้นไปอีก เช่นทำอะไรแล้วได้รางวัลได้คำชมเชยก็ดีใจ แล้วก็หวังที่จะได้รับอย่างนั้นทุกครั้งเวลาที่ทำอะไร แต่ใจไม่ได้ปีติ ไม่ได้ความภูมิใจ ไม่เหมือนกับการทำอะไรโดยไม่ต้องการผลตอบแทนจากผู้ใด ทำเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์กับผู้อื่นกับสังคมกับส่วนรวม เป็นจาคะ เป็นการเสียสละ เป็นธรรม ทำให้เกิดความภูมิใจสุขใจ เหมือนที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ทั้งหลายทำกัน ท่านไม่ได้ทำเพื่อหวังผลตอบแทนจากพวกเราเลยแม้แต่นิดเดียว พวกเราจะถวายอะไรให้กับท่านหรือไม่ จะยกย่องสรรเสริญหรือไม่ ท่านไม่ได้กังวลเลย ท่านทำเพราะท่านเห็นว่าเป็นประโยชน์ ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ตัวท่านเองมีความสุขอยู่แล้ว ท่านมีธรรม ท่านจึงคิดอย่างนี้

 

        แต่พวกเราไม่มีธรรมจึงไม่คิดอย่างนี้ จะคิดว่าเสียเปรียบคนอื่น เช่นเวลากินอาหารเสร็จแล้ว คนอื่นไม่ยอมล้างชาม ปล่อยให้เราล้างคนเดียว เราก็ล้างไปบ่นไป แทนที่จะล้างไปแล้วมีความสุข เพราะเป็นการทำบุญ เป็นการเสียสละ ถ้าเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ เราจะมีความสุข เราจึงต้องปรับความคิดของเราใหม่ อย่าไปมองคนอื่น ให้มองพระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์เป็นหลัก ท่านทำโดยไม่ต้องการผลตอบแทนจากผู้อื่น  เพราะมีผลตอบแทนอยู่ในตัวแล้ว แต่เรายังไม่ถึงขั้นนั้น ยังไม่สามารถต่อสู้กับความรู้สึกที่ไม่ดีของกิเลสได้ คือความเห็นแก่ตัว ยังอยากได้ประโยชน์จากสิ่งที่ทำ ถ้าเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้แล้ว จะมีความสุขใจภูมิใจอิ่มใจ ดังที่พูดอยู่เสมอว่า ให้ปิดทองหลังพระกัน ทำไปเถิดไม่ต้องให้คนอื่นรู้ ไม่ต้องให้คนอื่นชื่นชมยินดียกย่องสรรเสริญ นี่คือการทำทานที่บริสุทธิ์ ไม่มีความโลภความอยากได้ผลตอบแทนจากผู้หนึ่งผู้ใด จะได้ผลมากทางด้านจิตใจ คือจะมีความภูมิใจ มีความพอใจมีความสุขใจ ลองทำดู ที่ยากเพราะมีอุปสรรคคือความเห็นแก่ตัว ที่ให้คิดว่าเสียเปรียบ

 

ถาม  ไม่รู้เมื่อไรเขาจะกวาดหน้าบ้านเขาเองสักที

 

ตอบ  ไม่ควรคิดอย่างนี้ ถ้าเห็นว่ามันสกปรกเราก็กวาดมันเสียก็หมดเรื่อง ทำไปเรื่อยๆสักวันหนึ่งเขาจะต้องอายตัวเขาเอง ถ้าคนอื่นมากวาดให้เราทุกวัน โดยไม่ต้องการผลตอบแทนจากเราเลย สักวันหนึ่งเราจะต้องไปกราบเขา เพราะเราจะต้องอายตัวเราเอง ว่าเราทำไมถึงชุ่ยอย่างนี้ ปล่อยให้คนอื่นมากวาดบ้านเรา

 

ถาม  ส่วนใหญ่จะคิดว่าเสียเปรียบ ถูกเอารัดเอาเปรียบ

 

ตอบ ความสุขทางธรรมทางจิตใจเกิดจากการเสียสละ จาคะก็คือการเสียสละ เสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม หรือของผู้อื่น ทำแล้วจะทำให้เกิดความสุขใจ ญาติโยมก็ทำได้กับคนบางคน ทำกับครูบาอาจารย์ได้ ท่านต้องการอะไร เรายินดีทำให้ท่านทันที ทำแล้วก็มีความสุขใจ แต่ทำไมกับคนอื่นเราทำไม่ได้ เป็นคนเหมือนกัน แต่กิเลสเราจะแยกแยะว่า ทำแล้วได้ผลไม่เหมือนกัน ทำกับครูบาอาจารย์ได้ผล ทำกับคนอื่นไม่ได้ผล พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า ถ้าอยากจะรักษาตถาคต ก็ให้รักษาพระป่วยเถิด เพื่อให้เราได้ทำความดีกัน จะได้มีความสุข เหมือนกับได้ทำให้กับพระพุทธเจ้าเลย แทนที่จะถวายเงินให้กับหลวงตาไปสร้างโรงพยาบาล เราก็ไปสร้างกันเองเลยก็ได้ ท่านจะได้ไม่ต้องเหนื่อย ได้ผลเท่ากัน เมื่อเราไม่ทำ ท่านก็เลยต้องทำ ต้องรับภาระ รับเงินจากพวกเราไปทำอีกทีหนึ่ง ได้ผลน้อยกว่า เพราะผูกติดอยู่กับตัวท่าน ใจไม่กว้างพอ ยังไม่สัพเพสัตตา ในเรื่องจาคะสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน อย่าไปแยกแยะว่าเป็นคนดีเป็นคนชั่ว คนชั่วก็มีจิตมีใจ ต้องการความเมตตาเหมือนกัน เมื่อให้ความเมตตาแล้ว ความเมตตาจะทำลายความชั่วของเขาได้ คนที่ไม่ดีแล้วกลับตัวเป็นคนดีก็มีเยอะ เพราะความเมตตา ที่ไปละลายความชั่วในจิตใจของเขา การไร้ความเมตตาใจไม้ไส้ระกำ ไม่ได้ทำให้คนชั่วเป็นคนดีได้ แต่จะทำให้ชั่วมากขึ้น เช่นเวลาเขาเดือดร้อนแต่ไม่มีใครช่วยเหลือ จึงต้องไปลักขโมยไปทำความชั่ว

 

ก็กลับมาที่เรื่องเดิมที่ว่า ทำบุญกับพระกับทำบุญกับสุนัขได้บุญเหมือนกัน การให้ทานนั้นมีประโยชน์อยู่ ๒ ชั้นด้วยกันคือ ชั้นที่หนึ่งคือทางใจเรานี่ได้เหมือนกัน สัพเพสัตตา ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสุนัข ถ้าทำไปด้วยความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็จะมีความสุขใจเหมือนกัน ส่วนประโยชน์ชั้นที่สองนั้นก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น จะสามารถทำประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าทำได้มากเราก็ควรสนับสนุนมาก ถ้าทำได้น้อยก็ควรสนับสนุนน้อย ถ้าทำในสิ่งที่เกิดโทษ ก็ไม่ต้องสนับสนุน เช่นให้เงินทองกับคนดีคนที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม ได้เงินมามากน้อยก็เอาไปสงเคราะห์โลกหมด อย่างนี้ให้ไปได้เท่าไหร่ก็ให้ไปเถิด แต่ถ้าให้กับคนที่เอาเงินไปเสพสุรายาเมา ไปเล่นการพนัน ไปเที่ยวเมืองนอก อย่างนี้ก็ไม่ควรให้ ให้เขาหาเอง การทำบุญก็ต้องเลือกคน ในกรณีที่จะให้เขาทำประโยชน์ ก็ต้องเลือกคน ทำกับคนดี จะได้มีเครื่องไม้เครื่องมือไว้ทำความดี ถ้าทำบุญเพื่อให้ใจมีความสุขนี้ ก็ทำได้กับทุกคนที่เดือดร้อน เช่นคนขอทานข้างถนน จะได้ความสุขใจเท่าๆกับเอาอาหารไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็มีร่างกายเหมือนกับขอทาน เป็นคนเหมือนกัน คนขอทานก็ต้องการอาหารเหมือนกัน หิวเหมือนกัน มีความต้องการเหมือนกันในปัจจัย ๔ ถ้าสงเคราะห์โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ก็จะมีความสุขใจเท่ากัน

 

ถาม  ความเมตตาควรให้เสมอกันหมด ไม่ว่าใครก็ตาม แต่ส่วนการงานก็ต้องพิจารณาว่าควรทำให้เขามากน้อยแค่ไหน ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  หน้าที่ใครหน้าที่มัน งานของเราๆก็ทำไป งานของเขาก็ปล่อยให้เขาทำไป เขาจะทำหรือไม่ก็เรื่องของเขา

 

ถาม  แต่เราจำเป็นต้องทำให้เขา ถ้าเขาละเลย

 

ตอบ  ถ้ามันเป็นงานที่ทำร่วมกัน ถ้าเขาไม่ทำ เราก็ต้องทำไปก่อน

 

ถาม  ส่วนรวมจะเสียถ้าไม่ทำ

 

ตอบ  ให้คิดว่าเป็นการทำบุญก็แล้วกัน ในส่วนที่เราต้องทำแทนเขา ถ้าไม่ทำงานของเราก็จะเสียไปด้วย เพราะเป็นงานร่วมกัน เช่นเวลาเรียนหนังสือ อาจารย์ให้จัดกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน คนหนึ่งทำมาก อีกคนหนึ่งทำน้อย ก็ถือเป็นการทำบุญไปก็แล้วกัน ทำมากก็ได้บุญมาก

 

ถาม  ถ้าทำให้เขาโดยที่จิตเราไม่มีความเมตตา

 

ตอบ  เราจะมีความหดหู่ใจ จะไม่ได้บุญ เพราะทำด้วยความจำใจ

 

ถาม  ท่านอาจารย์สอนในตอนต้นว่า ขันธ์มันเปลี่ยนแปลงทุกวัน ส่วน การเปลี่ยนแปลงของจิตนี่ เป็นอาการของจิต แต่ตัวจิตเองไม่ได้เปลี่ยนใช่ไหมคะ

 

ตอบ  จิตเป็นเหมือนน้ำ น้ำก็เป็นน้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ในน้ำก็มีคลื่น มีความร้อนเย็น ที่เปลี่ยนไปตามอากาศ แต่น้ำก็ยังเป็นน้ำอยู่ ตัวจิตเองไม่ได้เปลี่ยน คือตัวผู้รู้ไม่ได้เปลี่ยน แต่อาการของผู้รู้เปลี่ยนไปตามสิ่งที่มาสัมผัสมากระทบ เปลี่ยนไปตามกิเลสที่มีอยู่ในจิต เวลามีอะไรมาสัมผัสก็เกิดความโลภเกิดความโกรธขึ้นมา เสร็จแล้วก็หายไป โลภแล้วก็หายไป โกรธแล้วก็หายไป แล้วก็กลับมาอยู่ในระดับที่เคยอยู่ ระดับของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกิเลสที่มีมากหรือน้อย ถ้าเราตัดกิเลสออกไปเรื่อยๆ ระดับก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับสูงสุด คือไม่มีกิเลสเลย จิตก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเลย สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็คือกิเลสนี่เอง 

 

ถาม  จิตที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นจิตเดิมหรือไม่คะ

 

ตอบ  เป็นจิตตัวเดียวกัน จะเรียกว่าจิตเดิมหรืออะไรก็ตาม ก็เป็นจิตดวงเดียวกัน จิตสมัยที่เป็นพระราชโอรส กับจิตที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นจิตดวงเดียวกัน ต่างกันที่สภาพในจิตนั้น สะอาดหมดจดมากน้อยต่างกัน ขณะเป็นพระราชโอรสก็ได้ชำระมาในระดับของพระโพธิสัตว์แล้ว ซึ่งก็สะอาดกว่าปุถุชนอย่างพวกเรา ท่านมีทานมากกว่าพวกเรา ตั้งแต่ตอนที่เป็นพระเวสสันดร เปรียบเทียบเรากับพระเวสสันดรดูก็แล้วกัน ว่าเราทำได้อย่างท่านหรือไม่ แสดงว่าใจของท่านสะอาดมากกว่าใจเราแล้ว แต่ยังไม่พอเพียง ยังมีโลภโกรธหลงอยู่ ท่านยังไม่พอใจ ยังต้องกำจัดชำระอีก จนไม่มีหลงเหลืออยู่เลย ถึงจะพอใจ ใจของปุถุชนเป็นเหมือนน้ำที่ไม่สะอาด มีสิ่งต่างๆเจือปนอยู่ ถ้าเอาใส่เครื่องกรองน้ำ กรองไปเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในน้ำ น้ำก็ยังเป็นน้ำอยู่เหมือนเดิม น้ำที่ต้นทางกับน้ำปลายทางก็น้ำอันเดียวกัน ต่างตรงที่น้ำที่ปลายทางไม่มีสิ่งสกปรกเจือปนอยู่เลย ที่พูดว่าใจของปุถุชนกับใจของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ก็ถูกแล้ว ถูกตรงที่ว่าเป็นใจเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ความบริสุทธิ์ เหมือนเราอาบน้ำกับไม่อาบน้ำ เราก็คนๆเดียวกัน คนที่อาบน้ำกับคนที่ไม่อาบน้ำก็คนเดียวกัน ต่างกันตรงที่ความสะอาด จิตนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ตัวผู้รู้นี้ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นผู้รู้ตลอดเวลา สิ่งที่เปลี่ยนก็คือสิ่งที่อยู่ในตัวผู้รู้ คือกิเลสและธรรมะที่มีอยู่ในจิต มีขึ้นมีลง มีมากมีน้อย ขึ้นอยู่กับกรรม ถ้าทำกุศลกรรมก็มีธรรมะมากขึ้น มีกิเลสน้อยลง ถ้าทำอกุศลกรรมก็มีกิเลสมากขึ้น มีธรรมะน้อยลง

 

ถาม  เป็นอาการของจิต ไม่ใช่จิตใช่ไหมครับ

 

ตอบ  เป็นอาการของจิต เหมือนกับเวลาร่างกายไม่สบาย ก็เป็นอาการของร่างกาย ปวดหัวตัวร้อนเจ็บท้อง เป็นอาการที่ออกมาจากร่างกาย จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตสงบ จิตฟุ้งซ่าน ก็เป็นอาการของจิต ออกมาจากตัวจิต แต่ไม่ถาวร เป็นแล้วก็หายไป

 

ถาม  เราสามารถแยกมันออกมาได้

 

ตอบ  ถ้ามีสติมีปัญญาก็แยกมันออกมาได้ รู้ทันว่าเป็นเพียงอาการ เป็นเหมือนอาคันตุกะที่มาเยี่ยมเยียน ไม่วุ่นวายไปกับมัน มันจะอยู่ก็ต้องปล่อยให้มันอยู่ไป ถ้าถึงเวลามันจะดับมันก็ดับไปเอง อาจจะดับได้ทันทีถ้ารู้ทัน เพราะส่วนใหญ่มันเกิดจากการไม่รู้ทันของจิต จิตไปสร้างมันขึ้นมาเองด้วยความหลง เวลากังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะไม่รู้ทัน ว่าไม่ควรกังวล ถ้ามีปัญญารู้ทันว่ากังวลไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะทำอะไรไม่ได้ กังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้ ต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ พอรู้ว่าทำอะไรไม่ได้ก็เลิกกังวล ความกังวลใจก็หายไป คนเราชอบกังวลเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่แน่นอน กังวลไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่กังวลก็ได้ มีทางเลือก จะกังวลก็ได้ ไม่กังวลก็ได้ แต่ชอบเลือกที่จะกังวลกัน เพราะไม่ยอมรับผลที่ไม่ปรารถนา ถ้ารู้ว่ามันก็เท่ากัน ผลจะออกมาบวกหรือลบ ใจก็เท่าเดิม เพราะไม่มีอะไรทำลายใจได้ สิ่งที่ทำใจให้ทุกข์ได้ก็คือความหลงของใจนี้เอง ที่ไม่รู้ทันกับสภาพต่างๆ ไปยึดติดอยู่กับสภาพหนึ่ง แล้วก็อยากให้เป็นอย่างนั้นไปตลอด แล้วก็กังวลว่าเมื่อไหร่จะหมดไป เช่นเวลาหนาว ก็คิดว่าจะหนาวไปนานหรือไม่ อยากให้หนาวนานๆ ก็กังวล พอไม่หนาวขึ้นมาก็ไม่สบายใจ อยากจะให้หนาวอีก อย่าไปกังวล ต้องเป็นอุเบกขา เป็นสันโดษ พอใจกับทุกสภาพที่ปรากฏขึ้นมา ความกังวลก็จะดับไป อย่าไปยึดติดกับสภาพใดสภาพหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะมันไม่ถาวร ไม่คงเส้นคงวา ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนไปเสมอ ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

 

ถาม  ถ้าแม่ทำทานให้ลูก โดยไม่ใช่เงินของลูก เขาจะได้ไหม

 

ตอบ  ไม่ได้เลย

 

ถาม  แต่ถ้าลูกเขาอนุโมทนาด้วย

 

ตอบ  เขาก็จะได้ตรงที่อนุโมทนา คนละเรื่อง คนละบัญชีกัน การให้ทานนี้ ต้องให้ของที่เป็นของเรา เราถึงจะได้ ถ้าเอาเงินค่าขนมของลูกมาทำบุญ ถ้าลูกอนุญาตด้วยความยินดี เขาจะได้เต็มที่เลย เพราะเป็นเงินของเขา แต่ถ้าเอาเงินของแม่ไปทำบุญให้กับลูก ลูกจะไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะไม่ได้เสียอะไร

 

ถาม  แต่ถ้าอนุโมทนา

 

ตอบ  ได้ตรงที่อนุโมทนา

 

ถาม  คนละบัญชีกัน

 

ตอบ  เขาไม่มีความรู้สึกว่าได้เสียอะไรไป บางคนตัวเองไม่ได้ทำแล้วยังไม่พอ ไม่อยากให้คนอื่นทำด้วย เงินของตัวเองก็หวงแล้ว ยังไปหวงเงินของคนอื่นอีก ก็จะไม่สุขใจไปกับการทำบุญของผู้อื่น

 

ถาม  ถ้าให้เงินแม่ แล้วแม่อธิษฐานแล้วเอามาถวาย อย่างนี้จะได้ไหมคะ เอาเงินตัวเราเองให้แม่

 

ตอบ  ถ้าให้เงินแม่ไปอย่างไม่มีเงื่อนไข แล้วแม่บอกให้เอาไปทำบุญ ท่านก็ได้ แต่ถ้าบอกว่าจะเอาเงินที่ให้แม่นี้ไปทำบุญ ถ้าแม่อนุโมทนา ก็จะได้ตรงที่อนุโมทนา แม่ไม่ขัดขวาง ชื่นชมยินดีกับการทำบุญของเรา

 

ถาม  ถ้าบอกแม่ว่าจะไปทำบุญ แล้วแม่ฝากเงินไปทำบุญด้วย จะได้หรือไม่คะ

 

ตอบ  ได้

 

ถาม  แต่ถ้าไม่ได้ฝากอะไรเลย ก็จะไม่ได้เลย

 

ตอบ  ถ้าแม่อนุโมทนา ก็จะได้บุญที่เกิดจากการอนุโมทนา แต่ต่างจากบุญที่เกิดจากการให้ทาน ถ้าไม่อนุโมทนาก็จะไม่ได้ เพราะจะไม่สบายใจ เสียดายเงินแทนเรา

 

ถาม  ถ้าทำให้คุณแม่ แต่ไม่ได้บอกให้คุณแม่ทราบ แม่ก็ไม่ได้อนุโมทนา ก็จะไม่ได้เลยใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ได้เลย

 

ถาม  เวลาอุทิศส่วนกุศล ให้พวกเปรตผีเทวดา

 

ตอบ  เป็นบุญอีกบัญชีหนึ่ง บุญที่เกิดจากการอนุโมทนา กับบุญที่เกิดจากการอุทิศบุญ เป็นคนละส่วนกัน

 

ถาม  เวลาเราทำบุญอุทิศให้แม่ แม่ก็ต้องได้ซิคะ

 

ตอบ  ถ้าแม่อยู่ในฐานะที่จะรับได้ ก็จะได้ ถ้าไม่อยู่ในฐานะก็ไม่ได้ ถ้าจิตของท่านสูงกว่าเปรต ท่านก็ไม่รอรับบุญนี้

 

ถาม  ถ้าทำทานจำนวนเท่ากัน ให้กับคนเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ แต่ความรู้สึกปลาบปลื้มใจไม่เท่ากัน ผลจะแตกต่างกันไหมคะ

 

ถาม  เป็นความรู้สึกที่ผมเคยถามท่านอาจารย์ว่า ทำไมทำกับหลวงตาแล้วมันปลาบปลื้ม

 

ตอบ  ถ้าทำด้วยอุปาทาน ความรู้สึกก็จะต่างตามอุปาทาน ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ความรู้สึกจะไม่ต่างกัน

 

ถาม  แล้วความสุขใจกับบุญนี้เป็น

 

ตอบ  อันเดียวกัน

 

ถาม  ท่านบอกว่าบุญผู้ทำเป็นผู้ได้ เวลาเราแผ่ส่วนกุศลไปนั้นหาประมาณมิได้ จะแผ่ไปมากแค่ไหนก็ไม่มีที่สิ้นสุด อย่างนั้นใช่ไหมคะ

 

ตอบ  มันเป็นโวหาร คำว่าไม่สิ้นสุด คือแผ่บุญไปได้ทุกแห่งหน ไม่ว่าผู้รับอยู่ตรงไหนก็ไปถึงหมด แต่ผู้รับจะรับได้เพียงนิดเดียว ตามฐานะของเขา ที่เป็นเหมือนกับภาชนะ คือจิตของเขารับบุญได้เพียงเสี้ยวเดียวของบุญที่เราทำ เช่นเราทำ ๑๐๐ แล้วเราอุทิศไปนี้เขารับได้เพียงหนึ่งส่วนเท่านั้นเอง อีก ๙๙ ส่วนเขารับไม่ได้ เพราะเขาไม่มีฐานะ ไม่มีภาชนะรองรับบุญ

 

ถาม  แม้กระทั่งบุรุษไปรษณีย์ที่ดีก็เหมือนกัน

 

ตอบ  ไม่ได้อยู่ที่บุรุษไปรษณีย์ อยู่ที่ผู้รับ อยู่ที่ฐานะของผู้รับว่ามีภาชนะรองรับได้มากน้อยเพียงไร

 

ถาม  อย่างท่านอาจารย์แผ่ไปกับลูกแผ่ไป เปรตผีเทวดาก็ต้องรับจากท่านอาจารย์ได้มากกว่าลูกแผ่ไปอย่างแน่นอนซิคะ

 

ตอบ  ไม่จำเป็น ไม่เกี่ยวกัน ควรทำในขณะที่มีชีวิตอยู่ จะได้มากกว่าให้คนอื่นอุทิศไปให้

 

ถาม  อยากให้พ่อแม่

 

ตอบ  ให้เขาทำตอนที่มีชีวิตอยู่

 

ถาม  เขาตายไปแล้ว

 

ตอบ  ก็ต้องเป็นไปตามบุญตามกรรม ตามฐานะของเขา คนส่งดีขนาดไหน แต่คนรับไม่มีภาชนะรองรับ ก็รับไม่ได้ เช่นไปตกนรกก็รับไม่ได้ ไปเกิดเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้รับทั้งนั้น มีพวกเปรตพวกเดียวเท่านั้นที่รับได้ ที่รอรับอยู่ แต่พวกอื่นไม่รอรับ เป็นเดียรฉานก็หากินเองได้ อยากจะเสพกามก็หาเสพเองได้ เป็นมนุษย์ก็หาความสุขเองได้ เป็นเทพก็มีความสุขอยู่แล้ว ถ้าตกนรกก็มีแต่ความทุกข์จนมองไม่เห็นความสุข ส่งความสุขไปให้ก็ไม่รู้เรื่อง เพราะทุกข์อยู่ตลอดเวลา เหมือนชวนคนที่ทุกข์ไปเที่ยว เขาก็ไม่อยากจะไป ไม่มีความสุขที่จะเที่ยว พวกเปรตนี้เหมือนพวกเร่ร่อนไม่มีบ้านอยู่ ที่เพิ่งถูกปล่อยออกมาจากคุก เพิ่งออกมาจากนรก ไม่มีบุญเก่าพอที่จะส่งให้ไปเกิดใหม่ จึงต้องอาศัยบุญอุทิศประทังชีพไปพลางๆก่อน

 

ถาม  พวกเปรตนี้ก็มีกรรมมากซิคะ

 

ตอบ  เป็นเปรตเพราะไม่ทำบุญ ไม่เสียสละ มีแต่ความโลภอยากได้ของผู้อื่น และได้มาด้วยวิธีที่มิชอบ ผิดศีลผิดธรรม ต้องไปใช้กรรมในนรกก่อน เพราะอยากจะได้เงินของคนอื่นแล้วก็ต้องไปฆ่าเขา จึงต้องไปใช้โทษในนรกก่อน พอออกมาก็เป็นเปรต แต่ถ้าทำบุญให้ทานอยู่เสมอ ใจกว้างไม่เสียดายเงิน ถ้ามีใครทำให้โกรธมากจนฆ่าเขาตาย ตายไปแล้วก็ต้องไปใช้กรรมในนรกเหมือนกัน แต่พอออกจากนรกก็ไม่ต้องเป็นเปรต เพราะได้ทำบุญอย่างสม่ำเสมอ ก็ส่งให้ไปเกิดในสวรรค์เลย เป็นเทพเลย หรือมาเกิดเป็นมนุษย์เลย ไม่ต้องรอบุญอุทิศของผู้อื่น ไม่ต้องไปเคาะประตูบ้านคนนั้นคนนี้ ให้เขาต้องตกอกตกใจ เหมือนในเรื่องที่มีเปรตมาสร้างเสียงอึกทึกครึกโครมจนทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงบรรทมไม่หลับ ต้องมากราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงบอกไปว่าเป็นอำมาตย์เก่าในชาติก่อนๆ มีจิตใจที่ไม่บริสุทธิ์ ยักยอกเงินของพระเจ้าแผ่นดิน ที่ให้ไปทำบุญทำทาน ก็ยักยอกเอาไว้บางส่วน เมื่อตายไปก็ไปตกนรกก่อน พอออกมาจากนรกก็ไม่มีที่ไป จึงคิดถึงเจ้านายเก่า ก็เลยมาขอความช่วยเหลือ

 

ถาม  พวกกะเทยหรือคนที่ผิดธรรมชาตินะคะ จะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือเปล่า

 

ตอบ  ได้ เพราะว่าเขาก็มีกิเลสเหมือนคนที่ไม่ใช่กะเทย มีความโลภความโกรธความหลงเหมือนกัน ถ้ามีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ แล้วปฏิบัติชำระความโลภความโกรธความหลงได้ ก็บรรลุได้เหมือนกัน ไม่ต่างกัน เพียงแต่ชอบไม่เหมือนคนทั่วไปเท่านั้นเอง คือชอบคนเพศเดียวกัน แต่กิเลสเป็นตัวเดียวกัน คือกามราคะ เหมือนกับคนที่ชอบคนรูปร่างหน้าตาแบบหนึ่ง ไม่ชอบคนรูปร่างหน้าตาอีกแบบหนึ่ง แต่เราไม่ถือว่าผิดธรรมชาติ เพราะเป็นเพศตรงกันข้าม ถ้าเป็นเพศเดียวกันก็ว่าผิดธรรมชาติ ผิดทางด้านสังคมความรู้สึกนึกคิด แต่ทางด้านกิเลสเหมือนกัน ไม่ต่างกัน

 

ถาม  แล้วสามารถบวชได้เหมือนกันใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ศาสนาจำเป็นต้องมีเงื่อนไขบางอย่าง ถ้าไม่เช่นนั้นบวชแล้วจะวุ่นวายได้ แม้กระทั่งผู้หญิงบวชยังยุ่งยากเลย แล้วยิ่งกะเทยมาบวชก็ยิ่งวุ่นวายใหญ่ บวชได้ถ้าไม่บอกว่าเป็นกะเทย และปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เหมือนกับคนที่ไม่ใช่กะเทย ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นกะเทย ก็อาจจะไม่รับ เพราะคงไม่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ ศาสนาไม่ได้รังเกียจเพราะเพศหรือวัย แต่รังเกียจถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ เพราะจะทำให้สงฆ์เสื่อมเสีย ไม่เป็นที่น่านับถือศรัทธาเลื่อมใส จะทำให้ศาสนาไม่เจริญและเสื่อมได้ เพราะศาสนามีสงฆ์เป็นหลัก หลังจากที่พระพุทธเจ้าผ่านไปแล้ว ก็มีสงฆ์เป็นหลัก ที่จะสืบทอดพระศาสนา เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า จึงต้องตั้งอยู่ในศีลในธรรม ให้เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใส เวลาบวชจึงต้องสอบสัมภาษณ์ก่อน ถ้าผ่านก็บวชได้ ไม่เช่นนั้นใครอยากจะบวชก็บวชกันได้หมด คนพิกลพิการไม่มีที่ไปก็มาบวช แต่ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรต่างๆของพระได้ ก็จะไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา ก็ต้องปฏิเสธ ถ้าช่วยเหลือทางด้านปัจจัย ๔ ได้ก็ช่วยไป เพราะเป้าหมายของการมาบวชของศาสนานี้ ก็เพื่อมรรคผลนิพพาน ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ถ้าไม่สามารถพึ่งตนเองได้ จะปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานได้อย่างไร จึงต้องดูตรงจุดนี้เป็นหลัก พึ่งตัวเองได้ไหม ดูแลรักษาตัวเองได้ไหม บวชแล้วบิณฑบาตหากินเองได้ไหม ปัดกวาดดูแลความสะอาดที่พักได้ไหม ซักจีวรได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ ใครจะทำให้ จึงต้องมีกฎมีเกณฑ์

 

ถาม  เวลาจิตผมนิ่งๆ มีความรู้สึกว่า ตายแล้วไม่ตกนรก ผมคิดไปเองหรือเป็นอย่างนั้นจริงๆ

 

ตอบ  ต้องตอบเอง ถ้าเป็นพระโสดาบัน ก็จะมีความมั่นใจว่าไม่ต้องไปเกิดในอบายอีก

 

ถาม  จิตอย่างนี้ถือว่าดีไหม ยังเกิดอยู่ แต่ไม่เกิดในอบาย

 

ตอบ  ถ้ามีความมั่นใจก็ดี แต่จะเป็นไปตามความมั่นใจหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์กัน เวลากรรมส่งผล จะหยุดยั้งจิตไม่ให้ไปเกิดในอบายได้หรือไม่ เป็นความจริงที่รู้อยู่ในใจ ถ้ายังไม่มั่นใจก็อาจจะเป็นเพียงความรู้สึกนึกคิด

 

ถาม  รู้สึกมั่นใจตลอดเวลา

 

ตอบ  มั่นใจว่าจะไม่ทำบาปอีกต่อไปหรือเปล่า ถ้ามั่นใจก็ไม่ต้องไปอบายอีกต่อไป ถ้ามั่นใจว่าจะรักษาศีลธรรมยิ่งกว่าชีวิต ก็จะไม่ต้องไปเกิดในอบาย เพราะวิบากกรรมจะไม่มีกำลังที่จะดึงจิตให้ไปเกิดในอบายได้ เรื่องอย่างนี้ต้องเป็นสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง มีความมั่นใจในตนเอง ผู้อื่นจะไปมั่นใจแทนไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านรู้ได้ เช่นตอนที่พระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าทรงรู้ว่าจิตของพระพระอัญญาโกณฑัญญะได้ถึงในระดับนี้แล้ว ความสามารถในการรู้จิตของผู้อื่นไม่ได้เป็นกับนักปฏิบัติทุกคน บางคนรู้แต่จิตของตนเอง แต่ไม่รู้จิตของผู้อื่น ว่าตอนนี้ได้บรรลุแล้วหรือยัง แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการรู้จิตของตนเองว่าได้บรรลุแล้วหรือยัง ได้หลุดพ้นแล้วหรือยัง ถ้ารู้อันนี้แล้วก็พอแล้ว ส่วนการรู้จิตของคนอื่นนั้นเป็นของแถม เป็นความสามารถพิเศษ พระอรหันต์แต่ละรูปจึงมีความสามารถพิเศษต่างกัน แต่ความสามารถที่มีเหมือนกันก็คือ รู้ว่าจิตของท่านได้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงแล้ว คืออาสวักขยญาณ รู้ว่าอาสวะทั้งหลายได้หมดสิ้นไปจากจิตของท่านแล้ว

 

        แต่ความสามารถระลึกชาติได้นั้น บางท่านก็ไม่สามารถระลึกได้บางท่านก็ระลึกได้ บางท่านมีฤทธิ์มีเดชต่างๆ เช่นอ่านจิตใจของผู้อื่นได้ เหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นความรู้ความสามารถพิเศษ นอกเหนือจากความสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งเป็นความสามารถที่สำคัญที่สุด พระอรหันต์แต่ละรูปจึงมีความสามารถพิเศษที่ต่างกัน พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องแต่ละรูปตามความสามารถพิเศษนี้ เช่นทรงยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นผู้ที่มีความฉลาดมีความสามารถมากในการแสดงธรรม เป็นรองพระพุทธเจ้าเท่านั้น ทรงยกให้เป็นอัครสาวกขวา ส่วนผู้ที่เก่งทางด้านฤทธิ์เดชมากที่สุดก็คือพระโมคคัลลานะ ทรงยกให้เป็นอัครสาวกซ้าย ทรงยกย่องพระอานนท์เป็นพหูสูต จำพระสูตรต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงได้หมด พระสีวลีทรงยกย่องว่าเด่นทางด้านลาภสักการะ เป็นเรื่องของการบำเพ็ญในอดีตที่ต่างกัน มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวที่ทรงบำเพ็ญครบถ้วนทุกวิชาความรู้ จึงทรงมีความสามารถพิเศษมากกว่าพระสาวกทุกๆรูป ถ้าเป็นพระสาวกแล้วก็เหมือนได้เจอทางลัด ไม่ต้องบำเพ็ญวิชาที่ไม่จำเป็น พอเจอพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้บำเพ็ญทานศีลภาวนา เพื่อกำจัดโลภโกรธหลงก็พอ ไม่จำเป็นจะต้องบำเพ็ญวิชาต่างๆเหมือนที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญในอดีต ที่ส่งผลให้มีความรู้ความสามารถพิเศษต่างๆติดตัวมาด้วย

 

        พระอรหันต์แต่ละองค์จึงมีความสามารถพิเศษที่ต่างกัน บางองค์ไม่มีความสามารถพิเศษเลย ก็จะไม่มีชื่อเสียง หลังจากบรรลุแล้วก็อยู่อย่างเงียบๆ เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะ หลังจากบรรลุแล้วก็ไปอยู่ในป่าองค์เดียว จนใกล้เวลาที่จะนิพพาน ก็มากราบทูลลาพระพุทธเจ้า พวกพระหนุ่มที่อยู่ในสำนักก็ไม่รู้จักท่าน เห็นท่านเป็นเหมือนพระแก่องค์หนึ่ง ไม่มีบารมีอะไร ก็ไม่แสดงความเคารพเท่าที่ควร จนพระพุทธเจ้าต้องทรงเตือนว่า เป็นพระสาวกองค์แรกของท่าน แต่มีความมักน้อยสันโดษ ชอบอยู่เงียบๆ จึงดูเหมือนไม่มีวาสนาบารมี เรื่องภายนอกของพระอรหันต์แต่ละรูปนี่เราดูไม่ออก บางองค์ก็เรียบร้อยมีสง่าราศี บางองค์ก็โผงผาง เพราะบำเพ็ญมาไม่เหมือนกัน

 

ถาม  พระอรหันตสาวกมีความสามารถพิเศษทุกองค์ไหมครับ ถึงแม้จะแตกต่างกัน แต่มีทุกองค์ไหมครับ

 

ตอบ  ไม่ทุกองค์ บางท่านมีแค่ความสามารถที่ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จึงไม่มีชื่อเสียง

 

ถาม  ถ้าสนทนากันท่านจะทราบสภาวะของกันใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าคุยกันท่านก็จะรู้

 

ถาม  เพื่อนของลูกจะดื่มเหล้าเป็นบางโอกาสค่ะ เขามองว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดศีลข้อ ๕ เขาบอกว่าเขาดื่มเหล้าแล้วไม่เมา สติเขาก็ยังมีอยู่ แต่ลูกว่าการดื่มเหล้าอย่างไรก็ผิดศีลคะ

 

ตอบ  การดื่มสุราเป็นเหตุให้ขาดสติ ที่สำคัญต่อการควบคุมกายวาจาใจให้เป็นปกติ ถ้าดื่มน้อยสติก็ยังพอมีอยู่บ้าง แต่ถ้าดื่มมากก็จะไม่มีสติ จะไม่สามารถรักษาศีลได้ ถ้าคิดว่าดื่มแล้วไม่ไปทำอะไรให้เสียหาย เช่นดื่มเสร็จก็นอน ก็ไม่เป็นปัญหา แต่จะติดสุรา ติดกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ในทางธรรมไม่มีประโยชน์ ในทางโลกอาจจะช่วยระงับปัญหาต่างๆในใจไปได้ขณะหนึ่ง ดื่มแล้วทำให้ลืมปัญหาต่างๆไป แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในใจ เหมือนกับปัดขยะไว้ใต้เสื่อใต้พรม ไม่ได้แก้ปัญหา ถ้าแก้ปัญหาด้วยปัญญาด้วยธรรมะจะมีประโยชน์กว่า ถ้าไม่มีสติเพราะดื่มสุรา ก็จะไม่สามารถคิดด้วยเหตุด้วยผล ไม่สามารถแก้ปัญหาในใจและปัญหาภายนอกได้ ถ้าไม่มีปัญหาแต่ชอบดื่ม ก็เป็นเหมือนติดยาเสพติด ไม่มีประโยชน์ ดื่มสุราแล้วทำให้รู้สึกสบายและนอนหลับไป แต่ไม่มีคุณประโยชน์กับจิตใจ ทำให้เสียเวลาของการที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

 

        เพราะทุกเวลานาทีของการเป็นมนุษย์นี้ มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการบำเพ็ญพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น ถ้าติดสุรายาเมา ก็จะไม่มีทางที่จะปฏิบัติธรรมได้ ไม่มีทางที่จะตัดกิเลสได้ เป็นการตัดมรรคผลนิพพานไปโดยอัตโนมัติ ถ้าติดสุรายาเมาก็จะเข้าวัดไม่ได้ บวชไม่ได้ ปฏิบัติธรรมไม่ได้ การได้เกิดเป็นมนุษย์ ที่เป็นชาติที่ดีที่สุดในการบำเพ็ญ ก็จะไม่ได้บำเพ็ญประโยชน์ จะอยู่ไม่ต่างจากสุนัข หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปวันๆหนึ่งจนกว่าจะตายไป เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ไม่รู้จักใช้สถานภาพของมนุษย์ ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เหมือนมีรถยนต์คันหนึ่ง แทนที่จะใช้ขับไปตามสถานที่ต่างๆ กลับจอดทิ้งไว้ในบ้าน แสดงว่าโง่ ไม่ฉลาด ชีวิตของมนุษย์เป็นเหมือนพาหนะ เป็นเหมือนรถยนต์ ที่จะพาไปสู่การหลุดพ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีภพอื่นชาติอื่นที่จะทำได้เท่ากับภพของมนุษย์ ถ้าไม่ใช้ชีวิตของมนุษย์ให้เป็นประโยชน์ ปล่อยให้หมดไปกับสิ่งที่ไร้สาระไร้คุณค่าทั้งหลาย ก็จะเป็นความโง่เขลาเบาปัญญา

 

        เป็นเรื่องของทิฐิความเห็น ถ้ามีความเห็นชอบก็จะเห็นโทษของสุรา ก็จะไม่ดื่ม ถ้าไม่รู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร เป็นมนุษย์มีคุณค่าอย่างไร ก็แสดงว่าไม่มีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ ก็จะคิดเหมือนกับสัตว์เดียรฉานทั่วๆไป ที่คิดจะหาความสุขเฉพาะหน้าเท่านั้น เมื่อเสพสุราแล้วมีความสุขก็จะเสพ จะอ้างเหตุผลต่างๆ มาลบล้างการห้ามไม่ให้เสพ ความจริงไม่ต้องหาเหตุผลก็ได้ เพราะไม่มีใครห้ามอยู่แล้ว อยู่ที่ตัวผู้เสพเอง แต่เวลาฟังคำสอนของนักปราชญ์ เช่นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะขัดกับพฤติกรรมของเขา ทำให้เขาต้องต่อต้าน ต้องหาเหตุผล เพื่อลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งลบอย่างไรก็ลบไม่ได้ ลบได้แต่ในใจของเขา คือแก้ตัวไปแบบข้างๆคูๆ ยิ่งลบล้างคำสอนของนักปราชญ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างความโง่เขลาเบาปัญญาให้กับตัวเองมากขึ้นไปเท่านั้น ชนะนักปราชญ์ไม่ได้ชนะจริง ชนะนักปราชญ์แสดงว่าโง่มากขึ้น สามารถลบล้างคำสอนของคนฉลาดได้ ด้วยเหตุผลข้างๆคูๆ

 

ถาม  ถ้าเขามีข้ออ้างหรือมีเหตุผลบางอย่าง ซึ่งอาจจะลบล้างคำสอนอย่างนี้จะบาปไหมคะ

 

ตอบ  บาปตรงที่จะเป็นการตัดทางสู่การหลุดพ้น สู่การพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นให้ดีขึ้น 

 

ถาม  สมัยนี้หลายคนอ้างว่าดื่มเพื่อเข้าสังคมนะคะ

 

ตอบ  เพราะเห็นคุณค่าของสังคม มากกว่าคุณค่าของการหลุดพ้นจากความทุกข์ เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะต้องไปเกิดใหม่ คิดว่าตายแล้วก็จบ ตายแล้วก็สูญ จึงไม่สนใจบำเพ็ญปฏิบัติธรรม ที่เป็นการตัดการหาความสุขทางโลก ที่สัตว์โลกทุกตัวที่มาเกิดต้องการกัน แล้วเขาจะไปหาความสุขกับอะไร เขาไม่รู้ว่ามีความสุขที่เหนือกว่าดีกว่า ที่เกิดจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่สนใจที่จะปฏิบัติ ลดละอบายมุขต่างๆ ลดละความสุขทางโลก พยายามแสวงหาแต่ความสุขทางโลกทุกวิถีทาง จึงต้องแก้ตัวกัน ดื่มเพื่อสังคมบ้าง ความจริงไม่ใช่เพื่อสังคมหรอก เพื่อตัวเขาเองต่างหาก ไม่ต้องไปสนใจเขามากนัก ต้องยอมรับว่าเขาไม่อยู่ในวิสัยที่ธรรมะจะช่วยเขาได้ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา จนกว่าจะเกิดมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เห็นคุณค่าของธรรมะ แล้วเขาจะมาเอง ธรรมะเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงไม่ให้สอนคนที่ไม่สนใจ ไม่ให้แสดงธรรมต่อผู้ที่ไม่เคารพธรรม ไม่ให้แสดงธรรมถ้าไม่ได้อาราธนา เพราะคำสอนจะสวนกับกระแสกับความรู้สึกนึกคิดของคน คือสอนให้ลดให้ละให้หยุดให้เลิก คนที่เรียกตัวเองว่าพุทธศาสนิกชน บางทีก็ไม่ใช่พุทธแท้ ทำบุญเพื่ออยากให้ร่ำให้รวย ให้มีเงินมากๆ เพื่อจะได้ใช้มากๆ พอพระสอนว่า อยากจะมีเงินมากๆ ก็ให้ประหยัด อย่าใช้มาก ก็จะไปขัดกับความรู้สึกของเขา เพราะคิดว่าทำบุญแล้วจะได้กลับมา ๑๐๐ เท่า ๑๐๐๐ เท่า บริษัทจะเจริญรุ่งเรืองขึ้น เปิดบริษัทใหม่จึงต้องนิมนต์พระไปฉัน

 

        ทำมาค้าขายเพื่อกำไรก็จำเป็น เพราะต้องมีรายได้ไว้จุนเจือ แต่ขอให้ทำเพื่อปัจจัย ๔ เท่านั้น อย่าทำเพื่อใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเพื่อความสุขทางโลก ซึ่งสวนกับทางของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้สละความสุขทางโลก ให้หาความสุขทางด้านจิตใจ ทางด้านความสงบ ด้วยการลดละการปล่อยวางความสุขทางโลก เพราะเป็นความสุขที่ดีที่ประเสริฐ ไม่มีความทุกข์เจือปน ความสุขทางโลก มีความทุกข์เจือปนอยู่ด้วย เป็นความสุขเพียงนิดเดียว ส่วนใหญ่จะทุกข์กังวลวุ่นวายใจกัน แต่ความสุขทางด้านจิตใจจะไม่วุ่นวายกับอะไรเลย อะไรจะเกิด อะไรจะดับ อะไรจะเป็น อะไรจะตาย จะไม่วิตกกังวลเลย แต่ความสุขทางโลกจะวุ่นวายไปหมด เศรษฐกิจขึ้นลงก็วุ่นวาย โลกร้อนก็วุ่นวาย มีสงครามก็วุ่นวาย วุ่นวายไปหมดเพราะกระทบกับความสุขของเรา ถ้าไม่ติดความสุขทางโลกแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะไม่กระทบกับเราเลย เพราะความสุขใจมีอยู่ในตัวของเรา ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอก แต่ไม่รู้กัน หรือไม่สนใจกัน จึงไม่มีความสุขแบบนี้กัน ยังหาความสุขแบบเดิมๆอยู่ เป็นเหมือนติดยาเสพติด ต้องเสพไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกล้าที่จะเลิกเสพ ยอมทุกข์ทรมานสักระยะหนึ่ง ในขณะที่ต่อสู้กับความอยากเสพ พอหายติดแล้วจะสบาย ถ้าเลิกหาความสุขทางโลกได้เมื่อไหร่แล้ว จะมีความสุขความสบาย แต่ตอนเลิกจะทรมานใจ เคยดู เคยฟัง เคยกิน เคยดื่ม แล้วต้องมาหยุด ไม่ได้ดู ไม่ได้ฟัง ไม่ได้กิน ไม่ได้ดื่ม จะหงุดหงิดทรมานใจ แต่เป็นชั่วระยะหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วจะค่อยๆเบาลงไปจนหมดไปในที่สุด

 

        ต้องมีอุบายวิธีช่วยหยุด คือต้องภาวนา ถ้าไม่ภาวนาจะไม่สามารถทนได้ อาจจะทนได้ครั้งสองครั้ง แล้วก็หมดแรง ต้องกลับไปทำเหมือนเดิม แต่ถ้าปฏิบัติจิตภาวนาได้ จะมีความสุขที่ดีกว่ามาทดแทน ในขณะที่ปล่อยวางความสุขแบบเดิมๆไป จะมีความสุขแบบใหม่ปรากฏขึ้นมา คือความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ  จากการภาวนา จะทำให้มีกำลังใจที่จะบำเพ็ญให้มีมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ละความสุขแบบเดิมๆได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จึงต้องทำทั้ง ๒ อย่าง ทางโลกก็ต้องละ ทางธรรมก็ต้องบำเพ็ญควบคู่กันไป จึงจะมีกำลังดึงให้ไปในทางธรรมได้ในที่สุด ตอนเริ่มแรกจะทรมานใจมาก เหมือนบ่งหนามออกจากเท้า ถ้าไม่บ่งเดินไปก็เจ็บ ถ้าบ่งมันก็เจ็บปวด จะทำอย่างไรดี จะเอาเจ็บปวดชั่วคราว หรือจะทนเจ็บปวดกับหนามไปเรื่อยๆ ก็แล้วแต่จะเลือก มีทางเลือกอยู่ ๒ ทาง ต้องเจ็บด้วยกันทั้งคู่ แต่เจ็บจากการบ่งเสี้ยนบ่งหนามออกไป พอหายเจ็บแล้วก็จะหายไปตลอด ไม่มีความเจ็บหลงเหลืออยู่เลย ถ้าลดละอบายมุข ลดละความสุขทางโลกได้แล้ว ก็จะสบายไปตลอด ไม่ต้องวุ่นวายกับความสุขทางโลกอีกต่อไป ไม่ต้องกังวลกับสามีภรรยา กับลูกกับหลาน กับทรัพย์สมบัติต่างๆ

 

ถาม  เพื่อนเขาปฏิบัติอีกแนวหนึ่ง คือให้มีสติระลึกรู้ตลอดเวลา เขาว่าถ้าลูกนั่งทำสมถภาวนา จะได้แค่สมาธิ ได้แค่ฌาน แต่เขาทำอะไรทุกอย่างให้มีสติระลึกรู้ตลอดเวลา แล้วก็ยกตัวอย่างนางวิสาขาที่สามารถบรรลุโสดาบันได้ ด้วยการระลึกรู้จิตตลอดเวลา

 

ตอบ  เขาเข้าใจไม่ถูก การมีสติตลอดเวลาก็สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ มีสติเพื่อจะได้ทำสมถภาวนา เพื่อให้เกิดความสงบ จะได้มีความสุขในระดับหนึ่ง พอออกจากความสงบแล้วก็เจริญสติต่อ แต่คราวนี้เจริญสติควบคู่กับปัญญาไปด้วย เวลามีอะไรมาสัมผัสก็พิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ไปด้วย ให้เห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นขั้นวิปัสสนา ขั้นต้นเจริญสติอย่างเดียวก่อน ให้รู้อยู่เสมอว่ากำลังคิดอะไร กำลังพูดอะไร กำลังทำอะไร ให้มีสติรู้อยู่ทุกขณะ เพื่อดึงใจให้อยู่ใกล้ๆ ไม่ให้ลอยไปไกล เพราะถ้าลอยไปไกลเวลานั่งทำสมาธิจะดึงเข้ามาสู่ความสงบได้ยาก จะไม่สงบ แต่ถ้าดึงไว้ให้อยู่ใกล้กับกายวาจาใจตลอดเวลา เวลานั่งทำสมาธิทำจิตให้สงบ ก็จะสงบได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จิตมีพลัง มีความสุข มีความอิ่ม เพื่อสนับสนุนการเจริญปัญญาเพื่อการหลุดพ้นต่อไป พอออกจากความสงบแล้ว จิตจะตั้งมั่น ไม่ลอยไปลอยมาเหมือนเมื่อก่อน จะกำหนดให้อยู่กับกายวาจาใจก็จะอยู่ ไม่ลอยไปไหน จะให้พิจารณาธรรม ก็จะพิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง

 

        เช่นให้พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายของร่างกายอยู่เรื่อยๆ ก็จะพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญญาขึ้นมา ที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา จะรู้ทันอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป พอเกิดความโลภขึ้นมา อยากจะได้อะไร ความรู้นี้จะขึ้นมาประกบทันที ทำให้ไม่อยากได้ทันที ซึ่งต่างกับความรู้ที่เรารู้กันในขณะนี้ เรารู้ว่ามันเกิดแก่เจ็บตาย แต่ไม่รู้ตลอดเวลา พอเห็นอะไรดีปั๊บก็อยากจะได้ทันที อยากจะสร้างบ้านใหม่ อยากจะมีโน้นมีนี่ขึ้นมาทันที ลืมไปว่าเดี๋ยวก็ตายแล้ว อาจจะสร้างบ้านไม่ทันเสร็จตายไปก่อนก็มี เพราะไม่ได้คิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา คิดได้เพียงบางเวลา เวลาที่มาฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ หรือเวลาสวดมนต์ไหว้พระ ก็พิจารณาอยู่รอบหนึ่ง พอออกจากห้องพระออกจากวัดแล้วก็ลืมไปเลย เห็นอะไรก็หลงตามไปเลย มีบริษัทก็อยากจะขยายให้ใหญ่โตขึ้นไปอีก อยากให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีสมาธิคอยดึงไว้ให้คิดด้วยปัญญา แต่ถ้ามีสมาธิแล้วจะไม่ไปหลงคิด มันจะพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆตลอดเวลา จนกลายเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมา เป็นปัญญาที่อยู่ควบคู่กับจิตทุกขณะ พอความโลภเกิดขึ้นมาก็ถูกปัญญาดับทันที นี่ก็เจริญสติเหมือนกัน แต่เจริญสติควบคู่กับปัญญา

 

ถาม  ไม่ทราบว่าลูกเข้าใจเขาถูกหรือเปล่า เหมือนกับว่าเขาไม่ต้องภาวนา เพียงแต่ใช้สติ

 

ตอบ  เขาเข้าใจผิดตรงที่ทำแค่สติแล้ว จะหลุดพ้นได้ เขาคิดว่าเจริญสติแล้วไม่ต้องเจริญสมถภาวนา จะเข้าวิปัสสนาเลย แต่จะไม่เป็นวิปัสสนา จะเป็นวิปัสสนึก เพราะจะไม่ได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง จิตใจไม่มีความสุข จะรุ่มร้อน คิดไปแล้วเกิดความโกรธขึ้นมาโดยไม่รู้สึกตัว

 

ถาม  เขาบอกเขาฝึกสติได้ รู้ว่าอะไรดีไม่ดี

 

ตอบ  ก็ถูกอยู่ แต่เป็นขั้นต้น ฝึกสติเพื่อทำจิตให้สงบ พอจิตออกจากความสงบแล้ว จะได้เจริญปัญญาต่อ เป็นปัญญาจริงๆ

 

ถาม  ยังไงก็ต้องนั่งภาวนา

 

ตอบ  จะนั่งหรือไม่นั่งก็ได้ เดินจงกรมก็ทำให้จิตรวมได้ ต้องไม่คิดอะไร ขณะที่เจริญสติใหม่ๆจิตยังคิดอยู่ ต้องดึงให้อยู่ในปัจจุบัน อย่าให้ไปคิดเรื่องอื่น เรื่องที่ไม่จำเป็น เรื่องที่ไม่สำคัญ พอดึงได้ในระดับหนึ่งแล้ว เวลาจะทำให้หยุดด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ก็จะรวมลงได้ เดินจงกรมก็รวมลงเป็นสมาธิได้ อย่างหลวงปู่ชอบ ท่านชอบเดินธุดงค์ตอนกลางคืน เดินภาวนาของท่านไป มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา พอไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้จิตรวมลง ก็รวมลงได้ในขณะที่เดินเลย การทำจิตให้สงบเป็นสมาธิจึงไม่ต้องนั่งอย่างเดียว นั่งก็ได้ยืนก็ได้ ถ้ามีบุญมากมีสติมากนอนก็ได้ ไม่ได้อยู่ที่ท่า อยู่ที่สติ แต่จะข้ามขั้นสมาธิไปไม่ได้ ถ้ายังไม่รวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์แล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นภาวนามยปัญญาได้ การพิจารณาจะไม่ต่อเนื่อง จะพิจารณาได้แวบหนึ่งแล้วลอยจะไปเรื่องอื่น ต่างกันตรงนี้ เพื่อนเราเอาขั้นที่ ๑ กับขั้นที่ ๓ มารวมกัน เจริญสติแล้วก็เจริญปัญญาเลย โดยไม่ผ่านสมถะ เป็นความหลงผิดอย่างหนึ่ง

 

        ตอนที่หลวงตาไปกราบหลวงปู่มั่นวันแรก หลวงปู่มั่นก็เทศน์สอนเลยว่า ท่านมหาท่านก็ได้ศึกษามามากแล้ว ปัญญาความรู้ทางธรรมะก็มีมากแล้ว แต่ความรู้เหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจของท่านเลย ขอให้ตั้งไว้บนหิ้งบูชาก่อน อย่าเอามาเกี่ยวข้องกับการทำจิตให้สงบ อย่าไปคิดถึงความรู้ต่างๆที่เรียนรู้มา อย่าไปคิดถึงเรื่องอะไรเลย ทำจิตให้สงบอย่างเดียวก่อน เมื่อจิตสงบแล้วความรู้ต่างๆเหล่านี้จะมาเอง จะมาสนับสนุนในการเจริญปัญญาในขั้นต่อไปเอง แต่ตอนนี้ไม่เกิดประโยชน์ เพราะจิตไม่ตั้งมั่น ยังควบคุมจิตไม่ได้ ควบคุมให้นิ่งให้สงบให้ตั้งมั่นไม่ได้ ถ้าควบคุมได้แล้ว ก็จะสามารถใช้ปัญญามาควบคุมได้ ในเวลาที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ เวลาออกจากความสงบแล้ว จิตก็ต้องไปสัมผัสเรื่องต่างๆ ต้องใช้ปัญญาดึงจิตไว้ ไม่ให้หลงเตลิดเปิดเปิงไป พอเห็นอะไรแล้วจะได้ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ที่ได้ยินได้ฟังมา เขาจะสอนไม่ต้องนั่งหลับตา ให้เจริญสติ ให้รู้อยู่ รู้ก็รู้ไปซิ รู้แล้วทำอะไรมันได้หรือเปล่า เวลามันโลภทำอะไรมันได้หรือเปล่า เวลามันโกรธหยุดมันได้หรือเปล่า

 

ถาม  เขาทำแบบนี้ก็สามารถบรรลุโสดาบันได้

 

ตอบ  หยุดความโลภ หยุดความโกรธ หยุดความหลงได้หรือเปล่า ส่วนใหญ่จะไม่มีพลังที่จะหยุดมัน เพราะไม่เคยหยุดจิต แล้วจะไปหยุดกิเลสได้อย่างไร เพราะกิเลสอาศัยจิตเป็นตัวทำงาน ถ้าต้องการหยุดกิเลสก็ต้องหยุดจิตให้ได้ก่อน เพราะจิตเป็นเหมือนรถ กิเลสเป็นเหมือนผู้โดยสาร ถ้าไม่อยากให้กิเลสไปไหนก็ต้องหยุดรถ หยุดจิตแล้วกิเลสก็ออกมาไม่ได้ พอหยุดคิดแล้ว กิเลสก็โลภไม่ได้ โกรธไม่ได้ หลงไม่ได้ เวลาโกรธใคร พอหยุดคิดถึงเรื่องนั้นปั๊บ ความโกรธก็หายไป ถ้าหยุดไม่ได้ พอโกรธแล้วจะยิ่งคิดใหญ่เลย คิดเรื่องที่ทำให้โกรธ ก็ยิ่งโกรธใหญ่ แทนที่จะโกรธน้อยลง กลับโกรธมากขึ้น ถ้าเคยฝึกทำจิตให้สงบได้แล้ว ก็จะหยุดโกรธได้ทันที พอรู้ว่ารถกำลังจะวิ่งตกเหวก็เบรกทันที ตอนกำลังโกรธก็เหมือนรถกำลังวิ่งตกเหว กำลังแหกโค้ง ก็หยุดรถเสีย หยุดจิตเสีย หยุดคิดถึงเรื่องที่ทำให้โกรธ พอหยุดคิดปั๊บความโกรธก็หายไป ความโลภความหลงก็เช่นกัน ถ้าหยุดจิตไม่เป็นแล้วจะหยุดโลภโกรธหลงได้อย่างไร

 

ถาม  หมายถึงหยุดชั่วคราวใช่ไหมคะ คือเราคิดของเราเอง มันเป็นชั่วคราว ไม่ใช่จิตที่บริสุทธิ์จริงๆ

 

ตอบ  ถ้าหยุดด้วยสมาธิก็หยุดได้ชั่วคราว ถ้าหยุดด้วยปัญญา พิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ ก็จะหยุดได้อย่างถาวร ถ้าเห็นโทษของความโกรธว่าเป็นเหมือนไฟเผาตัวเอง ใครอยากจะเผาตัวเองบ้าง ก็จะหยุดโกรธทันที เพราะจิตที่มีความสงบจะเย็น ต่างกับจิตที่ไม่มีความสงบ เวลาโกรธจะไม่รู้ว่ามันร้อน เพราะจิตร้อนอยู่แล้ว ก็จะไม่เห็นความสำคัญที่ต้องหยุดความโกรธ แต่จิตที่มีความเย็นแล้ว พอมีความโกรธความร้อนปรากฏขึ้นมาเพียงนิดเดียว ก็อยากจะกำจัดมันทันที มันต่างกัน ปัญญามี ๓ ระดับด้วยกัน คือ ๑. สุตตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง อย่างที่เราได้ยินได้ฟังนี้ เป็นปัญญาที่ต้องเอาไปพัฒนาต่อ ด้วยการพิจารณาต่อ เป็นขั้นที่ ๒ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดความโลภหยุดความโกรธได้อย่างถาวร เพราะยังไม่ใช่ปัญญาขั้นที่ ๓ คือ ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดหลังจากที่จิตสงบแล้ว ถ้าจิตสงบแล้ว พอพิจารณาเห็นว่าไม่ดี เป็นโทษ เป็นพิษเป็นภัย จะหยุดได้ทันที จะตัดได้ทันที เพราะพิจารณาอยู่ตลอดเวลา กิเลสก็ทำงานตลอดเวลา กิเลสปรากฏขึ้นมาตอนไหน ก็จะมีปัญญาคอยประกบ คอยตัด คอยทำลายตลอดเวลา แต่ถ้าอยู่ในขั้นที่ ๒ คือจินตมยปัญญา จะไม่ได้คิดตลอดเวลา คิดบ้างไม่คิดบ้าง เพราะจิตจะลอยไปลอยมา ไม่มีสมาธิ อยากจะคิดเรื่องอื่นมันก็ไปแล้ว พิจารณาร่างกาย เกิดแก่เจ็บตายได้แวบหนึ่ง เดี๋ยวก็ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องงานการ คิดเรื่องคนนั้นคนนี้

 

        ต่างกับจิตที่มีสมาธิ เวลาให้คิดเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ก็จะคิดเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ถ้าไปคิดเรื่องคนอื่น ก็จะคิดเรื่องเกิดแก่เจ็บตายของคนนั้น มีเรื่องเกิดแก่เจ็บตายอยู่กับทุกคน จะเห็นการเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา อย่างนั้นถึงจะเป็นโสดาบัน เห็นการเกิดการดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งที่เกิดดับ อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะดับก็ดับ ไม่เสียอกไม่เสียใจ ไม่ร้องห่มร้องไห้ ไม่เศร้าโศกเสียใจ ไม่ทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจเรื่องปัญญาว่ามี ๓ ระดับ ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้วก็คิดว่าบรรลุแล้ว มรรคผลนิพพานเข้าใจหมดแล้ว เสร็จแล้วก็กลับไปกินเหล้าเหมือนเดิม ไปเที่ยวเหมือนเดิม ไปทำอะไรเหมือนเดิม เป็นปัญญาระดับที่ ๑ สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง ฉลาดแล้วรู้แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำอะไรอีกต่อไป เคยทำอะไรอยู่ก็ทำต่อไปเหมือนเดิม แต่เวลาคุยธรรมะนี้ คุยได้ทะลุปรุโปร่งหมด แต่เวลาบอกให้เลิกเหล้านี่ ก็อ้างสังคมอ้างอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องมาบวชกันให้เหนื่อยยาก มีสามีภรรยามีครอบครัวได้ แล้วก็บรรลุพระนิพพานกันได้หมด พระพุทธเจ้าไม่ต้องเสด็จออกจากวังให้เหนื่อยยาก

 

ถาม  เพื่อนเขาศึกษาพระไตรปิฎกมาก

 

ถาม  ทำไมของเพื่อนเขาค่อนข้างง่าย แต่ทำไมของเรายาก

 

ตอบ  อยู่ในขั้นต่อยกระสอบทรายก็ง่าย เพราะกระสอบทรายไม่ต่อย   กลับ เราต่อยมันลูกเดียว ไม่เหมือนตอนขึ้นเวที มีคู่ต่อสู้ คนที่ปฏิบัติธรรมอย่างสุขอย่างสบาย นั่งภาวนาอยู่ในห้องแอร์ กินข้าว ๓ มื้อ ก็เป็นเหมือนพวกที่ต่อยกระสอบทราย ยังไม่ได้ลงสนามจริง ถ้าเป็นสนามจริงต้องอดอยากขาดแคลน ต้องต่อสู้กับความทุกข์ยากลำบากทุกชนิด ที่จะต้องเกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่ต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้แล้ว จะผ่านไปได้อย่างไร ใจผ่านมันได้ สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นอุปสรรค ไม่เป็นปัญหากับใจ ถ้าเอาใจเข้าไปต่อสู้กับมัน ศึกษาวิธีที่จะทำให้ใจผ่านไปได้ อย่างไม่วุ่นวายไม่ทุกข์ไม่กังวลกับมัน แต่เราไม่กล้ากัน เรากลัวกัน ก็เลยคิดว่าไม่จำเป็น คนที่อยู่ในเมืองก็ว่าไม่จำเป็นต้องไปอยู่ป่า ทำในเมืองให้เป็นป่าก็ได้ ทำใจให้เป็นป่าก็ได้ จะทำได้จริงหรือเปล่า ทำไมไม่ไปพิสูจน์ดู ให้มันหายสงสัยไปเลย ป่าก็ไม่เห็นมีอะไรที่ต้องรังเกียจ ถ้าปฏิบัติจริงๆที่บ้าน สักวันหนึ่งก็จะเห็นว่าปฏิบัติอยู่ที่บ้านไม่พอ เหมือนกับปลูกต้นไม้ในกระถาง เมื่อต้นไม้โตขึ้นจนดินในกระถางไม่มีเหลือ ก็รู้ว่าต้องเอาต้นไม้ลงดิน ถ้าปฏิบัติธรรมจริงๆแล้ว จะถึงจุดที่จะเห็นว่า อยู่ในบ้านไม่พอเพียงต่อธรรมที่ต้องการ เพราะมีเรื่องที่ท้าทายให้พิสูจน์อยู่ เช่นความกลัว และความทุกข์ยากลำบากลำบนต่างๆ ยังไม่ได้เจอของจริง ยังไม่มั่นใจ ยังต้องพิสูจน์ ต้องเจอของจริง ถ้าปฏิบัติไปจะรู้เอง ขอให้ปฏิบัติเถิด เริ่มที่ตรงไหนก็ได้ ปฏิบัติที่บ้านก่อนก็ได้ ถ้าปฏิบัติจริง จะก้าวหน้าจริง ได้ผลจริง รับรองได้ว่าไม่ช้าก็เร็วก็ต้องไปอยู่ป่าจนได้ พระบางรูปมาอยู่ป่าที่นี่ยังไม่พอใจ ยังไม่เป็นป่าจริง พอออกพรรษาขอลาไปอยู่ทางลำปาง ความจำเป็นของจิตจะบอกผู้ปฏิบัติเองว่าต้องการอะไร ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ในวังแล้ว ถ้าท่านตรัสรู้ในวังได้พวกเราก็สบายกันหมด พวกเราไม่ค่อยดูศาสดากันเท่าไหร่ ไม่ดู พุทธํ สรณํ คัจฉามิ ว่าท่านปฏิบัติอย่างไร

 

ถาม  เขาบอกว่าดูคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก

 

ตอบ  ดูคำสอน แต่ไม่ดูวิธีปฏิบัติของท่าน                                                                                                                                                                                              

 

ถาม  นั่งแล้วอยู่ๆก็เครียดขึ้นมา

 

ตอบ  จะเป็นอะไรก็ขอให้รู้ไว้ก็แล้วกัน อาจจะตั้งใจมากก็ได้ ยังไม่เป็นธรรมชาติ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบการภาวนาเหมือนกับการตรึงสายพิณ ตึงเกินไปก็ไม่ดี หย่อนเกินไปก็ไม่ดี นั่งให้มันสบายๆ ให้มันเป็นกลาง อย่าไปเคร่งอย่าเครียดจนเกินไป แต่ก็อย่าปล่อยจนไม่มีสติ

 

ถาม  แล้วเราต้องตั้งตัวใหม่หรือไม่คะ

 

ตอบ  ไม่ต้องหรอก ตอนเริ่มนั่งก็ตั้งท่าไว้ให้ดี พอภาวนาก็ไม่ต้องไปกังวลกับร่างกาย เวลารู้สึกเกิดอาการอะไรขึ้นมา เป็นปฏิกิริยาของกิเลสที่ต่อสู้กับธรรม แล้วก็ส่งผลไปกระทบกับร่างกาย ทำให้รู้สึกตึงบ้าง เจ็บบ้าง ปวดบ้าง ก็อย่าไปสนใจ ให้มีสติอยู่กับพุทโธ อยู่กับอารมณ์ที่เป็นเครื่องผูกจิต ให้เกาะติดไว้ พอจิตสงบ ความตึงเครียดจะหายไปหมดเลย

 

ถาม  มันเป็นเองเจ้าคะ พอถึงจุดๆหนึ่งแล้วมันจะตึง หัวก็จะตึง

 

ตอบ  ยังไม่นิ่งเต็มที่ ยังไม่สงบเต็มที่ ทำต่อไป

 

ถาม  ถ้าหลังมันงอนี่ ปล่อยมันไปหรือครับ

 

ตอบ  ก็ถ้ามันงอมาก ก็ควรตั้งให้ตรง แต่อย่าตั้งบ่อย

 

ถาม  เราอาจจะตั้งตัวตอนแรกไม่ดี

 

ตอบ  ในขณะที่ภาวนา อย่าไปกังวลกับเรื่องของร่างกายมากจนเกินไป จะคอยตั้งอยู่เรื่อย ถ้ามีสติดีจะไม่งอ

 

ถาม  แล้วที่มันหาวนอนละเจ้าคะ

 

ตอบ  ลุกขึ้นมาเดิน ไปเดินที่กลัวๆ เดี๋ยวหายง่วงเอง ตรงไหนกลัวๆเดินไปเลย เดี๋ยวหายง่วงเอง

 

ถาม  ความง่วงจะหาย แต่ความกลัวจะมา

 

ตอบ  ควบคุมใจให้อยู่กับพุทโธๆไว้ อย่าไปคิดถึงความกลัว ความกลัวก็จะหายไป ความกลัวเกิดจากความคิดของเรา ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา พอจิตอยู่กับพุทโธ ก็ลืมคิดถึงเรื่องที่ทำให้กลัว ความกลัวก็หายไป