กัณฑ์ที่ ๓๘๒        ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑

 

ทำจิตให้สงบก่อน

 

 

 

หลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงตาตอนที่หลวงตาไปอยู่กับท่านใหม่ๆว่า ท่านเป็นถึงมหา มีความรู้ด้านปริยัติมาก แต่ความรู้ทางปริยัติในตอนนี้ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับจิตใจ ขอให้ยกตั้งไว้บนหิ้งก่อน อย่าไปสนใจกับความรู้ที่ได้เรียนมา เพราะยังไม่สามารถดับกิเลสได้ สิ่งที่ต้องทำในเบื้องต้นนี้ก็คือทำจิตให้สงบก่อน พอจิตสงบแล้วความรู้ที่ได้เรียนมาจะปราบกิเลสได้ แต่ตอนนี้จิตไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิ ที่จะหยุดกิเลส เพราะสมาธิก็คือการหยุดจิต เวลาทำจิตให้นิ่งกิเลสก็นิ่งตามไปด้วย ถ้าไม่มีกำลังที่จะหยุดจิต เวลากิเลสแสดงอาการออกมา ก็จะหยุดมันไม่ได้ ถ้าหยุดจิตได้ก็จะหยุดกิเลสได้ แต่ต้องรู้ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส ตอนนั้นต้องอาศัยปริยัติธรรมที่ได้เรียนมาช่วยแยกแยะให้ ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส หลวงตาจึงพยายามเจริญสมาธิทำจิตให้สงบก่อน ท่านจะใช้พุทโธบริกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะทำกิจอะไร ก็จะบริกรรมพุทโธๆไป ไม่ปล่อยให้จิตคิดเรื่อยเปื่อย ถ้าปล่อยให้คิดแล้วจะมีเรื่องให้คิดไปเรื่อยๆ คิดแล้วจิตจะไม่สงบ จะมีอารมณ์ต่างๆตามมา แต่ถ้าคิดอยู่กับพุทโธๆอย่างเดียว จิตจะค่อยๆสงบลงไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะรวมลงได้ จิตก็จะนิ่งสงบเย็นสบาย จากนั้นก็จะรู้วิธีที่จะหยุดกิเลส อาศัยกำลังของสมาธิเป็นตัวหยุด อาศัยปัญญาเป็นตัวตัด

 

สมาธิหยุดกิเลสได้แต่ฆ่ากิเลสให้ตายไม่ได้ เพราะกิเลสเกิดจากความหลง ความเข้าใจผิด มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ จะฆ่ากิเลสให้ตายต้องใช้สัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ความหลงคือเห็นความเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน นี่คือความหลง เช่นปุถุชนอย่างพวกเรานี้ จะเห็นว่าร่างกายนี้เที่ยง จะอยู่กับเราไปตลอด อยู่กับเราไปนานๆ ให้ความสุขกับเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้ก็จะเกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เกิดตัณหาความอยาก อยากให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ มีใครบ้างที่ปฏิเสธว่าไม่มีความอยากนี้ ทุกคนอยากจะให้ร่างกายอยู่ไปนานๆทั้งนั้น ให้สาวให้หนุ่มไปนานๆ ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ทั้งๆที่รู้ว่าร่างกายนี้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่เป็นความรู้ทางด้านปริยัติ เป็นความรู้ทางด้านสัญญา เป็นความจำ แต่ลึกๆใจยังไม่ยอมรับ ยังอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายอยู่ เพราะมีความหลงคอยปลุกความอยากนี้อยู่ เพราะเราใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ ในการแสวงหาความสุขต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ ใช้ตาไว้ดูรูป ใช้หูไว้ฟังเสียง ถ้าเกิดหูหนวกตาบอดขึ้นมา ก็จะรู้สึกทุกข์ทรมานใจมาก เพราะจะไม่สามารถมองเห็นรูปต่างๆ ได้ยินเสียงต่างๆได้ เราจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ เพราะไม่รู้ว่ามีความสุขที่ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ คือความสุขภายในใจ จึงทำให้เรามีความทุกข์มีปัญหาต่างๆมากมาย เพราะไม่เห็นตามความจริง ต้องใช้ปัญญามาแก้มาตัดกิเลสอย่างถาวร

 

ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่สวยงามเลย มีอาการ ๓๒ มีผมขนเล็บฟันหนัง มีเนื้อมีเอ็นมีกระดูกเป็นต้น พิจารณาอยู่เรื่อยๆจนปรากฏเป็นความรู้อย่างต่อเนื่อง เวลาเห็นร่างกายทีไรก็จะเห็นทุกสัดทุกส่วน ไม่เห็นแต่เฉพาะผิวหนัง ไม่เห็นแต่เฉพาะผมขนเล็บฟัน แต่จะเห็นทุกอาการที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง เห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไม่ได้เป็นหนุ่มเป็นสาวไปตลอด ต้องแก่ หนังเหี่ยวย่น ผมขาว ต้องกลายเป็นซากศพไป นี่คือปัญญา นี่คือความจริง ปัญญาก็คือความจริงนั่นเอง วิปัสสนาคือรู้แจ้งเห็นจริงตามความจริง รู้ว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง รู้ว่าร่างกายเป็นทุกข์ รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวตน รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ รู้ว่าร่างกายนี้ไม่ได้สวยงาม สวยก็สวยชั่วคราว เหมือนกับดอกไม้สดที่ตัดมาบูชาพระ เวลาปักไว้ในแจกันใหม่ๆก็ดูสวยงามดี พอทิ้งไว้สักอาทิตย์หนึ่งก็กลายเป็นของไม่สวยงามไปแล้ว เช่นดอกบัวนี่ จากสีเขียวก็กลายเป็นสีน้ำตาลสีดำไป ร่างกายของคนเราก็เป็นอย่างนั้น ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนดอกไม้สด แต่พอตายไปก็เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวแห้ง ลองไปดูคนตายดู ถ้าไม่ได้ฉีดยาปล่อยให้เน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติก็จะไม่น่าดู นี่คือสิ่งที่เราต้องสอนใจ เพื่อจะได้ไปทำลายภาพลวงภาพหลอนที่ใจมีอยู่กับร่างกาย ที่มักจะมองร่างกายว่าสวยงามน่าดู แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นไปตลอด เมื่อถึงเวลาก็จะต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ อุปาทานที่ยึดว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา จะอยู่กับเราไปตลอด ก็จะถูกทำลายไป

 

พอเห็นว่าร่างกายไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง ก็จะปล่อยวางอุปาทาน จะไม่ยึดติด ไม่พึ่งร่างกายเป็นเครื่องมือในการหาความสุขต่อไป ทั้งร่างกายของเราเอง และร่างกายของผู้อื่น เช่นคู่ครองของเรา พอปล่อยวางได้แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็จะไม่เป็นปัญหา จะเป็นร่างกายของเราก็ดี ของคู่ครองของเราก็ดี ของคนที่เราเคารพรักก็ดี ก็เป็นเหมือนกันหมด เห็นตามสภาพตามความเป็นจริงแล้ว จิตก็จะไม่ยึดติดกับร่างกายทั้งหมด เห็นว่าเป็นเหมือนกันหมด เกิดแก่เจ็บตาย เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เวลาร่างกายเปลี่ยนไปหรือเป็นอะไรไป ก็จะไม่กระทบกระเทือนกับจิตใจ เพราะปัญญาได้กำจัดกิเลสต่างๆหมดไปจากใจแล้ว ไม่มีกิเลสมาทิ่มแทงใจ ไม่เศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์แต่อย่างใด รู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนฝนตกแดดออก เหมือนพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก เวลาพระอาทิตย์ขึ้นเราก็ไม่ได้ดีใจ พระอาทิตย์ตกเราก็ไม่ได้เสียใจ คนเกิดเราก็ไม่ดีใจ คนตายเราก็ไม่เสียใจ ถือเป็นเรื่องธรรมดาของดินน้ำลมไฟ นี่คือปัญญาที่เราใช้ในการทำลายกิเลสคือความหลง พอไม่มีความหลงแล้ว ก็จะไม่มีความโลภความอยาก เพราะรู้ว่าอยากกับสิ่งที่จะทำให้เจ็บช้ำใจ จะอยากไปทำไม ได้มาแล้วสักวันหนึ่งก็ต้องจากไป ขณะที่ยังไม่จากไปก็สร้างความกังวลให้กับเรา ต้องห่วงต้องกังวล เวลาเรารักอะไร เราก็อยากให้อยู่กับเราไปนานๆ ไม่อยากให้มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเห็นเป็นความทุกข์ทางด้านจิตใจ เราก็จะไม่ไปหาสิ่งเหล่านั้น เพราะเห็นว่ามีความสุขอีกอย่างที่ดีกว่าอยู่ภายในใจ คือความสุขที่เกิดจากความสงบ เป็นความสุขที่ดีที่เลิศที่สุด ที่เกิดจากการกำจัดกิเลสโลภโกรธหลง จนหมดไปจากจิตจากใจ

 

ความสุขที่เกิดจากการทำจิตให้สงบด้วยสมาธิก็ดี แต่ไม่ดีเท่ากับความสงบที่เกิดจากการกำจัดกิเลสด้วยปัญญา เพราะความสงบทางสมาธิเป็นชั่วขณะหนึ่ง เหมือนกับหินทับหญ้า เวลาหินทับหญ้าไว้หญ้าก็จะไม่งอกออกมา พอเอาหินออก หญ้าได้น้ำได้อากาศได้แดด หญ้าก็จะเจริญงอกงามขึ้นมาอีก กิเลสก็เหมือนกันเวลาที่ทำสมาธิจนจิตสงบนิ่ง ในขณะนั้นรู้สึกว่าไม่มีกิเลสเลย ความโลภก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความหลงก็ไม่มี มีแต่ความสุขความสบาย แต่อยู่ได้ไม่นาน พอออกจากสมาธิก็จะเริ่มคิดเริ่มปรุงเริ่มเห็นเริ่มได้ยิน กิเลสก็จะออกมาเพ่นพ่าน เริ่มชอบสิ่งนั้น เริ่มเกลียดสิ่งนี้ อยากได้สิ่งนั้น อยากจะหนีจากสิ่งนี้ เพราะสมาธิเพียงแต่เบรกกิเลสไว้เท่านั้นเอง หยุดกิเลสได้ชั่วคราว กิเลสอาศัยสังขารความคิดปรุงแต่ง อาศัยสัญญาความจำได้หมายรู้เป็นเครื่องมือ พอเห็นอะไรก็จำได้ว่าเป็นอะไร เป็นหญิงเป็นชาย ดีหรือชั่ว ชอบหรือไม่ชอบก็จะตามมา พอชอบสังขารก็จะสั่งให้ไปเอามา ถ้าไม่ชอบก็ให้เดินหนี สังขารปรุงความอยากขึ้นมา สิ่งไหนที่ชอบก็อยากจะเข้าใกล้ สิ่งไหนที่ไม่ชอบก็อยากจะหนีออกห่าง ถ้าหนีไม่ได้ก็ทุกข์วุ่นวายใจ ถ้าต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ เช่นเจอคนนี้ทีไรก็เอาแต่ด่า เอาแต่ว่า เอาแต่ตำหนิติเตียน ใจก็จะไม่ชอบ ถ้าหนีจากไปไม่ได้ก็ทุกข์ทรมานใจ ถ้าเจอคนที่ชมอยู่เรื่อยๆ ก็อยากจะให้เขาอยู่นานๆ ไม่อยากให้หายไป พอหายไปก็เสียดายเสียใจ ก็เป็นทุกข์อีก ชอบก็เป็นทุกข์ ไม่ชอบก็เป็นทุกข์ จึงต้องฝึกสอนใจให้อยู่ตรงกลาง ระหว่างชอบกับไม่ชอบ ให้เป็นอุเบกขา ให้สักแต่ว่ารู้ ให้รับรู้ทุกอย่างที่ใจสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดใดก็ตาม จะทำได้ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งที่เราชอบก็ไม่ได้ดีจริง สิ่งที่เราไม่ชอบก็ไม่ได้ไม่ดีจริง  ทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบมันเหมือนกัน คือเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน ให้ความทุกข์กับเราเหมือนกัน ควบคุมบังคับไม่ได้เหมือนกัน นี่คือวิธีปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ เพื่อจิตใจจะได้ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว เพื่อทำใจให้เป็นอุเบกขา

 

การจะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้จึงต้องมีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่รู้จุดของอุเบกขาว่าอยู่ตรงไหน จะมีแต่ชอบหรือไม่ชอบ เวลาเจออะไร แต่ถ้ามีสมาธิแล้วจะรู้ว่าอุเบกขาเป็นอย่างไร เวลาขยับไปที่ชอบหรือไม่ชอบจะรู้ทันที ว่าได้ออกจากจุดอุเบกขาไปแล้ว จะรู้ว่าจิตเริ่มกระเพื่อมแล้ว กำลังเข้าไปหาความทุกข์แล้ว เพราะถ้าชอบเดี๋ยวก็ต้องเสียใจ เวลาสิ่งที่ชอบจากไปหายไป ถ้าไปเจอสิ่งที่ไม่ชอบก็จะกระวนกระวายใจขึ้นมาทันที ต้องดึงจิตให้กลับเข้าสู่อุเบกขา ถ้าดึงด้วยสติก็จะอยู่ได้ชั่วคราว ถ้าดึงด้วยปัญญาก็จะอยู่ได้ถาวร ต้องยอมรับความจริงว่า สิ่งที่ไม่ชอบก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อต้องอยู่ด้วยกันก็อยู่กันไป ไม่ต้องปฏิเสธ ไม่ต้องขยับหนี ไม่ต้องขับไล่ไสส่ง รูปที่เราชอบหรือไม่ชอบก็เป็นรูปเหมือนกัน คนที่เราชอบหรือไม่ชอบก็มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ถ้ามองว่าเป็นเพียงสักแต่ว่ารูปเท่านั้น ก็จะไม่เกิดอารมณ์ชอบหรือชัง ถ้าพิจารณาทุกอย่างลงไปที่ไตรลักษณ์แล้ว จิตจะเป็นอุเบกขา จิตจะปล่อยวาง นี่คือเรื่องของปัญญาที่จะต้องอาศัยสมาธิสนับสนุน ถ้ายังไม่มีสมาธิจะไม่สามารถหยุดใจได้ ทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ ปัญญาก็จะยังไม่ได้เป็นปัญญาที่แท้จริง เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง ได้ศึกษาเล่าเรียน ที่เรียกว่าปริยัติธรรมหรือสุตตมยปัญญา ถ้าเป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดใคร่ครวญก็จะเป็นจินตมยปัญญา ยังไม่มีกำลังพอที่จะหยุดกิเลสหรือตัดกิเลสได้ เพราะเป็นปัญญาที่ไม่ต่อเนื่อง จำได้ลืมได้ ยังอยู่ห่างไกลจากใจ เวลาเกิดเหตุการณ์จริงๆจะมาดับกิเลสไม่ทัน เพราะเผลอลืมไปแล้ว รู้อยู่ว่ามันไม่ดี แต่พอเจอเข้าจริงๆก็เห็นว่าดีไปหมด ชอบขึ้นมาทันที ลืมไปหมดว่าเคยเจ็บปวดรวดร้าวกับคนๆนั้นอย่างไร พอเจอเขาปั๊บใจก็อ่อนไปหมด เพราะยังชอบเขาอยู่ แต่ถ้ามีสมาธิ จะเจริญปัญญาได้อย่างต่อเนื่อง จะพิจารณาว่าคนนี้ไม่ดีได้ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าพิจารณาอย่างนี้จึงจะเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ตัดกิเลสได้

 

จะเป็นภาวนามยปัญญาได้ จิตต้องมีความสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่ถูกอารมณ์อื่นมาฉุดลากไป ถ้าไม่มีสมาธิจะพิจารณาได้เดี๋ยวเดียว แล้วก็จะถูกเรื่องอื่นดึงไป หรือพอได้ยินเสียงก็ไปคิดตามเสียงนั้นไป พอเห็นรูปก็จะคิดตามรูปนั้นไป จิตจะถูกฉุดลากไป ถ้าไม่ได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ก็จะปล่อยวางไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาอยู่อย่างต่อเนื่อง จนฝังลึกอยู่ในใจแล้ว ก็จะปล่อยได้ หลังจากนั้นก็หยุดพิจารณาได้ เพราะรู้ว่าปล่อยได้แล้ว พอเจอคนนี้ทีไรก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ว่าเขาจะพูดเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะมาหลอกเราได้ เพราะเราเข็ดแล้ว เราจำได้ว่าเขาเป็นอย่างไร เขาไม่ดี เขาไม่ได้ให้ความสุขกับเรา ความสุขที่ให้กับเราเป็นเพียงเสี้ยวเดียว แต่ความทุกข์ที่ให้กับเราเป็นตั้งหลายเสี้ยวหลายเท่า การที่จะเจริญปัญญาได้จริงๆ จึงต้องมีสมาธิเป็นฐานก่อน เพราะต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่องแทบทุกลมหายใจเข้าออกเลย ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ให้พิจารณาความตาย ว่าต้องพิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าวันหนึ่งพิจารณาเพียง ๔ หรือ ๕ ครั้ง แสดงว่ายังอยู่ไกลมาก เวลาเกิดเหตุการณ์ถึงเป็นถึงตาย จะแก้กิเลสไม่ได้ กิเลสจะเร็วกว่า กิเลสจะสร้างความทุกข์ความกลัวขึ้นมาทันที แต่ถ้ามีปัญญาติดอยู่กับใจทุกขณะ พอเจอกับเหตุการณ์ที่คิดว่าจะต้องตาย ปัญญาจะมาสกัดกิเลสไม่ให้เกิดความกลัวขึ้นมา จะให้ปล่อยวาง พอปล่อยได้แล้ว ก็จะรู้ว่าปล่อยได้แล้ว พอปล่อยได้แล้วก็หมดปัญหา ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป ถ้าพิจารณาความตายอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้เอาไปพิสูจน์ในห้องสอบ ก็จะไม่รู้ว่าใช้ได้หรือไม่ ยังไม่รู้ว่ายังกลัวอยู่หรือไม่ จึงต้องไปหาที่น่ากลัวๆอยู่ ดูว่ายังกลัวอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่กลัวก็แสดงว่าใช้ได้แล้ว ถ้ายังกลัวอยู่ก็แสดงว่ายังไม่ผ่าน ยังไม่ทันกิเลส ความกลัวนี้แหละคือกิเลส ถ้าปัญญาเร็วกว่าก็จะดับความกลัวได้ จะไปกลัวอะไร กลัวก็ตาย ไม่กลัวก็ตาย กลัวแล้วทุกข์ ไม่กลัวกลับไม่ทุกข์ จะเอาอะไร ก็ต้องเอาไม่ทุกข์ ใครอยากจะทุกข์บ้าง ถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องไม่กลัว แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้กลัว ก็ต้องยอมตาย พอยอมตายแล้วก็จะไม่ทุกข์ จะรู้อยู่ในใจ จะรู้ว่าที่ท่านสอนให้ตายก่อนตายเป็นอย่างนี้เอง ให้เรายอมตายก่อนตายจริง ต้องยอมตายจริงๆ ไม่ใช่สักแต่คิดไป ตอนนี้เราบอกว่ายอมตายได้เพราะยังไม่ได้อยู่ใกล้ความตาย ถ้าอยู่ใกล้ความตายแล้วจะยอมตายได้หรือไม่ ถ้ายอมตายได้แล้วก็จะไม่ทุกข์ จะอยู่อย่างสบาย ไม่หวาดกลัวอีกต่อไป

 

การปฏิบัติจึงมีหลายลักษณะด้วยกัน ปฏิบัติอยู่ในสถานที่ปลอดภัย ยังไม่มีวิกฤตการณ์ ก็ยังไม่ได้พิสูจน์ เช่นปฏิบัติที่บ้านปฏิบัติในห้องแอร์ นอกจากว่านั่งไปแล้วเกิดทุกขเวทนาแล้วไม่ลุกไม่ขยับ อย่างนี้ก็จะได้เจอของจริง คือการต่อสู้กับทุกขเวทนา จะผ่านทุกขเวทนาไปได้หรือไม่ จะปล่อยให้ความเจ็บปวดทางร่างกาย เป็นไปตามเรื่องของมันได้หรือไม่ โดยที่จิตใจไม่รู้สึกกระวนกระวายกระสับกระส่าย ไม่ได้คิดอยากให้มันหายไป ไม่ได้คิดอยากจะหนีจากความเจ็บปวดของร่างกายไป ปล่อยให้มันเป็นไป เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ให้มันอยู่นอกใจ ไม่ให้เข้ามากระทบกระเทือนใจ ใจเพียงแต่รับรู้ เหมือนกับรับรู้เสียงที่เข้ามาสัมผัสกับหู ไม่ได้กระวนกระวายกระสับกระส่ายรำคาญแต่อย่างใด การปฏิบัติจึงต้องเจอของจริงๆ ถึงจะรู้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เช่นความกลัว ก็ต้องไปหาที่น่ากลัวๆ ความเจ็บปวดของร่างกายก็ต้องปล่อยให้มันเกิดขึ้น เช่นนั่งไปนานๆจนเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา ปล่อยให้มันหายไปเอง ถ้าไม่หายก็ช่างมัน สิ่งที่เราต้องการจะดับก็คือความกระวนกระวายกระสับกระส่าย ในขณะที่เราเจอความเจ็บปวดของร่างกาย ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ ว่าเวทนาก็เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน ไม่สามารถไปควบคุมบังคับมันได้ มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป มันก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เหมือนกับเสียงที่เราได้ยินขณะนี้ มันก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เสียงมากระทบกับหูแล้วก็ไปรับรู้ในใจ เวทนาที่ผ่านมาทางกายก็ไปรับรู้ในใจเหมือนกัน เป็นความรู้สึกร้อนเย็นแข็งอ่อนนุ่ม ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน ให้พิจารณารับรู้ไป ถ้าไม่ไปปฏิเสธเขาไม่ไปรังเกียจเขา ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ใจเป็นปกติเป็นธรรมดา เป็นอุเบกขาได้ด้วยปัญญา คือต้องยอมรับเขา ถ้าไปกีดกันขับไล่ไสส่งให้เขาหายไป จะเป็นความคิดที่ผิด  เป็นวิภวตัณหา จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาซึ่งเจ็บปวดมากกว่าความทุกข์กาย

 

ถ้าไม่มีความทุกข์ใจแล้วความทุกข์กายจะไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่ความทุกข์ใจ ที่เกิดจากสมุทัย เกิดจากตัณหา อยากจะให้ความเจ็บปวดหายไป ถ้าไม่หายก็ยิ่งกระวนกระวายกระสับกระส่าย จนทนนั่งไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าพิจารณาแยกแยะจนเพลินไปก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวด ความเจ็บปวดจะไม่เกิดขึ้น เพราะใจไม่มีเวลาไปสร้างความรังเกียจสร้างความอยากให้มันหายไป เราต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆที่เราทำใจได้ บางอย่างเราไม่ชอบ แต่เราก็ต้องทำใจ เพราะต้องอยู่กับมัน พอทำใจได้แล้วก็ไม่เป็นปัญหากับเรา สิ่งไหนที่เรายังทำใจไม่ได้ เช่นความเจ็บปวดของร่างกาย เราก็ต้องฝึกทำใจให้ได้ พยายามนั่งไปเรื่อยๆ เจ็บก็พยายามพิจารณาไปเรื่อยๆ ว่าปัญหามันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ความเจ็บปวดหรืออยู่ที่ใจ อยู่ที่ความอยากไม่อยากของเรา ถ้ามันอยู่ที่ความไม่อยากของเรา เราก็ต้องพยายามเปลี่ยนใจ ไม่อยากก็อยากมันดู ไม่ชอบก็ชอบมันดู ไม่ชอบความเจ็บปวดก็เปลี่ยนให้ชอบความเจ็บปวดดูบ้าง พอชอบแล้วก็จะสบาย สิ่งไหนที่เราชอบ เราก็อยู่กับมันได้ สิ่งไหนเราไม่ชอบเราก็อยู่กับมันไม่ได้ เราต้องพลิกใจของเรา เหมือนกับการรับประทานอาหาร สิ่งที่เราไม่ชอบรับประทานก็เป็นอาหารเหมือนกัน คนอื่นเขาชอบแต่เราไม่ชอบ มันไม่ได้อยู่ที่ตัวอาหาร มันอยู่ที่ใจของเราที่ไม่ชอบมันเอง ถ้าไม่ชอบเราก็หัดชอบมันเสีย หัดกินมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ชอบเอง เช่นเมื่อก่อนนี้ไม่เคยกินข้าวเหนียว พอไปอยู่อีสานนานๆ ก็กินได้ เมื่อก่อนไม่เคยกินขนมปังไปอยู่เมืองนอกก็กินได้ อยู่ที่การฝึกฝน สิ่งที่เราไม่ชอบก็พยายามหัดชอบมัน สิ่งที่เราชอบก็พยายามหัดไม่ชอบมัน จิตจะได้ไม่ไขว่คว้า ทุกวันนี้เราไขว่คว้าอยู่ ๒ อย่าง ไขว่คว้าหาสิ่งที่เราชอบ ไขว่คว้าหนีสิ่งที่เราไม่ชอบกัน จิตจึงไม่สามารถตั้งอยู่ในอุเบกขาได้ ถ้าฝึกอยู่แบบสันโดษ มาอย่างไหนก็ได้ ร้อนก็ได้ หนาวก็ได้  สิ่งที่ชอบมาก็ได้ สิ่งที่ไม่ชอบมาก็ได้ ต้องรับได้ทุกอย่าง มันเหมือนกันหมด มาจากธรรมชาติเดียวกัน มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน อาหารต่างๆก็มาจากดินน้ำลมไฟ นี่คือการปฏิบัติที่ต้องเข้าให้ถึงความจริง ถ้าปฏิบัติไม่ถึงความจริง ก็เหมือนกับการซ้อมกระสอบทราย ยังไม่ได้ขึ้นเวทีจริง ยังไม่ได้เจอของจริง เช่นความกลัว ต้องไปเจอสิ่งที่กลัวจริงๆ ความเจ็บปวดก็ต้องนั่งให้มันเจ็บจริงๆ นั่งจนมันหายไปเอง ถ้าไม่หายไปแต่ใจเป็นอุเบกขา ไม่กระสับกระส่ายกังวลกับมันก็ใช้ได้ คือให้ความทุกข์ในใจหายไป มันถึงจะเห็นผล ไม่อย่างนั้นก็ยังไปไม่ถึงไหน ยังเป็นการซ้อมกันอยู่ ยังไม่ได้ออกสนามจริง

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวต่อเนื่องมาจาก ที่หลวงปู่มั่นท่านสอนหลวงตา ให้ทำจิตให้สงบในเบื้องต้นก่อน ถึงแม้จะได้ยินได้ฟังธรรมมามากน้อยเพียงไรก็ตาม ถ้าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ยังไม่สามารถทำลายกิเลสภายในใจได้ ก็แสดงว่ายังไม่มีสมาธิไม่มีความสงบพอ แต่สำหรับบางคนบางท่าน อาจจะเป็นบารมีเก่าบุญเก่า มีความสงบเดิมมาแล้ว พอฟังก็สามารถทำลายกิเลสได้เลย อย่างนั้นก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง จะบอกว่าไม่มีสมาธิก็ไม่ได้ ท่านมีอยู่แล้ว บางคนมีบุญเก่า ฟังธรรมแล้วบรรลุได้เลย ไม่ต้องนั่งหลับตาพุทโธๆ ฟังธรรมปั๊บก็ตัดกิเลสภายในใจได้เลย แต่ถ้าฟังแล้วกิเลสก็ยังไม่ตาย อย่างนี้แสดงว่ายังไม่มีความสงบพอ ยังโลภ ยังอยาก ยังต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ก็พยายามทำจิตใจให้สงบก่อน เมื่อจิตสงบแล้วก็พิจารณาสิ่งต่างๆให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เมื่อเห็นเป็นไตรลักษณ์แล้วก็จะปล่อยวางได้ ก็จะไม่อยากไม่โลภไม่ต้องการสิ่งต่างๆ มีแต่ความอิ่มความพอไปตลอด แสนจะสบาย ไม่รู้จะเอามาทำไมมากมายก่ายกอง เอามาแล้วก็ไม่เคยอิ่มไม่เคยพอเสียที เพราะไม่ได้ให้อาหารของใจ กลับไปให้อาหารกับกิเลส ยิ่งให้อาหารกิเลสๆก็ยิ่งตัวใหญ่ขึ้น ยิ่งโลภมากขึ้น ยิ่งอยากมากขึ้น ยิ่งทุกข์มากขึ้น ถ้าจะให้อาหารใจ ต้องให้สมาธิ ต้องให้ปัญญา ต้องให้ทาน ให้ศีล ถึงจะเป็นอาหารของใจ ถ้าใจได้อาหารครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว จะไม่หิว ไม่อยาก ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆในโลกนี้ ที่คนในโลกนี้บูชากัน นับถือกัน ยกย่องกัน อยากได้กัน จะไม่มีความรู้สึกในจิตใจเลย ขอให้อยู่ตามลำพังไม่ต้องวุ่นวายกับใครก็พอแล้ว

 

ดังนั้นควรพยายามทำจิตให้สงบ ให้มีสติอยู่เรื่อยๆ ดึงใจให้อยู่ในปัจจุบันอย่าปล่อยให้ไปไกล ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพราะจะทำให้จิตนิ่ง ถ้าอยู่กับหลายอารมณ์แล้วจะไม่นิ่ง จะแกว่งไปแกว่งมา ถ้าให้อยู่กับพุทโธก็พุทโธไป อยู่กับลมก็ดูลมไป อยู่ที่จุดเดียว อยู่ตรงจุดที่ลมสัมผัส ถ้าจะสวดมนต์ไปก่อนก็สวดมนต์ไป ให้อยู่กับบทสวดมนต์ไป หรือจะพิจารณาด้วยปัญญาเลยก็ได้ เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกายไปเรื่อยๆ ก็ทำให้จิตสงบได้เหมือนกัน แล้วแต่จะถนัด เมื่อจิตสงบนิ่งอยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ปล่อยให้นิ่งไป ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร อย่าไปเจริญปัญญาในตอนนั้น ตอนที่จิตสงบนิ่งปล่อยให้นิ่งไป เหมือนคนนอนหลับ อย่าไปปลุกให้ขึ้นมาทำงาน จะรำคาญ จะหงุดหงิด ให้นอนหลับให้พอ ให้จิตพักให้พอ พอจิตพักพอแล้วจะถอนออกมาเอง จะเริ่มคิดปรุง ก็อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อยเหมือนที่เคยคิด ให้คิดเป็นเรื่องเป็นราว ให้คิดพิจารณาร่างกายในเบื้องต้น พิจารณาดูไตรลักษณ์ของร่างกาย ว่าเป็นอย่างไร  พิจารณาดูให้เห็นว่าเป็นธาตุ ๔ พิจารณาให้เห็นว่าเป็นอสุภไม่สวยไม่งาม เพื่อจะได้ไม่หลงยึดติดกับร่างกาย จากนั้นก็พิจารณาเวทนา มีสุข มีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ ต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา พิจารณาสังขารสัญญาว่าเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา สังขารความคิดปรุงแต่ง คิดแล้วก็ดับไป แล้วก็คิดใหม่ สัญญาจำได้แล้วก็ดับไป แล้วก็จำขึ้นมาใหม่ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เป็นสภาวธรรม ให้รู้ทัน จะได้ไม่หลงตาม เช่นสัญญาว่าคนนั้นเป็นคน เป็นหญิง เป็นชาย ก็จะไม่หลงตามถ้ามีปัญญา จะเห็นว่าเป็นแค่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นแค่อาการ ๓๒ มารวมกันแล้วก็อยู่กันไปชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็ล้มหายตายจากไป ขอให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง หรือตายไปก่อน

 

ถาม  ท่านพระอาจารย์เคยบอกว่า การเจ็บปวดเวลานั่งนี่อย่าไปคิดต่อสู้กับมัน

 

ตอบ  ต้องเข้าใจมัน การต่อสู้นี่หมายความว่าเราอยากจะให้มันหาย เราต้องยอมแพ้มัน อย่าไปสู้มัน คือยอมให้มันปรากฏอยู่ มันจะอยู่ก็ให้มันอยู่ไป เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งไล่ยิ่งอยู่นาน ถ้าเราไม่สนใจมัน บางทีมันก็หายไปเอง เช่นเวลาเรานั่งเล่นไพ่นั่งดูหนังทั้งคืน เราไม่ไปยุ่งกับมัน มันก็ไม่มายุ่งกับเรา

 

ถาม  แสดงว่าสมาธิหรือสติเราไปจับกับสิ่งอื่น ไม่ได้สนใจกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับร่างกายเรา ใช่ไหมครับ เพราะถ้านั่งไปสักชั่วโมงหนึ่งจะเจ็บเส้นเอ็นแล้ว ถ้าจิตเรานิ่งดี มันก็จะไม่รู้สึกอะไร ถ้าจิตไม่นิ่งมันก็จะยุ่งอยู่กับความเจ็บปวดนี้

 

ตอบ ถ้ามันนิ่งมันก็จะไม่ได้ปัญญา ได้แค่สมาธิ ถ้านั่งแล้วมันไม่นิ่ง แล้วเกิดอาการเจ็บปวด เราจะได้ใช้อาการเจ็บปวดเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดปัญญา ถ้าไม่เกิดปัญหาวิธีแก้ปัญหาก็จะไม่เกิด มรรคก็ไม่เกิด ทุกข์บ่มีปัญญาบ่เกิด

 

ถาม  ปัญญานี่ก็มีกำลังของมัน ใช่ไหมครับ มีกำลังมากกำลังน้อย ถ้ากำลังน้อยพิจารณาไป ก็เป็นสัญญาหมด ก็จะไม่เห็นจริง

 

ตอบ ปัญญาไม่ทันกิเลส เหมือนเสียงในสภา เสียงข้างน้อยก็สู้เขาไม่ได้

 

ถาม  ต้องพยายามพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ทันกิเลส

 

ตอบ เพื่อจะได้มีเสียงมากขึ้น มีความเข้มข้นมากขึ้น ถี่มากขึ้น อยู่ใกล้ใจมากขึ้น เวลาต้องการปัญญา ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน เหมือนกับอาวุธปืน ถ้าไม่เอาติดไว้กับกาย เวลาจำเป็นต้องใช้ปืน ไปวางไว้ที่ไหนก็ไม่รู้ ก็จะไม่ทัน ถ้าจะให้อยู่กับเรา ก็ต้องพิจารณาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตใจ พอต้องการเมื่อไหร่ก็จะมาทันที ก็จะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อย่างที่หลวงปู่ชอบท่านเดินธุดงค์ตอนกลางคืน ท่านก็บริกรรมพุทโธๆไป พอไปจ๊ะเอ๋เจอเสือโคร่งเข้า ขณะนั้นจิตของท่านมีสติอยู่ตลอดเวลา พอเห็นแล้วแทนที่จะตื่นกลับไม่ตื่น เพราะมีสติคุมอยู่ พอจิตเห็นเสือปั๊บก็วูบลงไปเลย ถ้าคนไม่มีสติเห็นปั๊บ ก็จะตื่นตกใจวิ่งหนีทันที

 

ถาม  ตรงที่วูบไปนี่ จิตรวมลงไปใช่ไหมครับ เป็นขั้นสมาธิใช่ไหมครับ

 

ตอบ เป็นขั้นสมาธิหรือจะเป็นขั้นปัญญาก็ได้ ถ้าท่านมองว่าตายเป็นตายมันก็เป็นปัญญา

 

ถาม  ท่านมองว่าตายเป็นตาย คือท่านทิ้งกายใช่ไหมคะ แล้วมันรวมเป็นอัตโนมัติเลย

 

ตอบ ใช่ ถ้าท่านกำหนดด้วยสติไม่ให้จิตมันตื่น พอจิตไม่มีทางตื่นไปข้างนอกมันก็วูบเข้าไปข้างใน เป็นธรรมชาติของจิตเมื่อมันกลัวภัยมันก็จะหาที่หลบภัย ก็จะหลบเข้าไปในสมาธิ ถ้ามีสติคุมอยู่

 

ถาม  เวลาเราปฏิบัตินี่ บางครั้งก็จะรู้ค่ะ แล้วก็จะพิจารณามันได้ แต่บางครั้งก็ต้องใช้อุเบกขาเข้าช่วย สลับไปสลับมาได้ไหมคะ

 

ตอบ วางเฉยไว้ก่อนก็ได้ ใช้สมาธิกดมันไว้ก่อน

 

ถาม  สลับกันได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ได้ ถ้าปัญญาเราไม่ทัน ก็ต้องใช้สมาธิกดไว้ก่อน อย่างน้อยก็ไม่ให้มันลุกลามไป ทำใจนิ่งเฉยไว้ก่อน แต่จะรู้สึกขุ่นๆมัวๆอยู่ ยังไม่เบายังไม่โล่ง เพราะยังมองไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้วก็ปล่อยมัน ก็จะโล่งจะเบา จะหมดปัญหาไปตลอดเลยกับเรื่องนั้น ถ้ากดไว้ด้วยสมาธิก็ยังจะเป็นปัญหาอยู่ พอเจอกันอีกก็จะทำให้จิตกระเพื่อมได้ ต้องพยายามพิจารณาปัญญาให้เห็นไตรลักษณ์ในเรื่องนั้นให้ได้ เพราะไตรลักษณ์ของแต่ละเรื่องอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้ว เห็นว่ามันเป็นโทษไม่เป็นคุณ เสียมันไปดีกว่าได้มันหรือเก็บมันไว้ ถ้ายังเสียดายยังหวงอยู่ ก็เพราะยังไม่เห็นว่ามันเป็นพิษเป็นภัยมากกว่าเป็นคุณเป็นประโยชน์ เพราะเราไปมองประโยชน์ทางด้านอื่น เราไปมองคุณประโยชน์ข้างนอกใจ เราไม่เห็นโทษภายในใจ เรายังต้องการรักษาสถานภาพของเราอยู่ ยังต้องขับรถเบ็นซ์อยู่อย่างนี้ ทั้งๆที่ไม่มีเงินผ่อนรถ ก็พยายามดิ้นรนหาเงินมาผ่อน เพื่อจะรักษาสถานภาพไว้ แต่ใจต้องทุกข์แสนทุกข์กับการหาเงิน เพื่อรักษาหน้าตาของเราไว้ แต่ถ้าพิจารณาเห็นว่าเรากำลังทุกข์ เรากำลังแบกกองทุกข์อยู่ เพราะไปหลงยึดติดอยู่กับสิ่งที่ไม่จีรังถาวร สิ่งที่เป็นทุกข์ รถเบ็นซ์มันเป็นทุกข์ มันไม่ได้ให้ความสุขกับใจ แต่ความหลงจะบอกว่ามันทำให้เรามีหน้ามีตามีเกียรติ ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อรักษาหน้าตาไว้ แต่ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาจนเห็นว่าทุกข์ทรมานแบบนี้ไปเพื่ออะไร ยอมเดินดีกว่า ยอมขับรถที่ราคาต่ำกว่ารถเบ็นซ์ ไม่มีใครมองเราก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครให้เกียรติเราก็ไม่เป็นไร แต่เราไม่ทุกข์ ถ้าจนไม่ลงจมไม่ลง เวลารวยแล้วไม่อยากจน กลัวถูกดูถูกดูแคลน ก็เลยต้องทุกข์กับการรักษาสถานภาพไว้ ต้องดิ้นรนด้วยวิธีการต่างๆ แสดงว่าไม่มีปัญญา ไม่เห็นด้วยปัญญา ไม่เห็นว่าเป็นพิษเป็นภัยกับจิตใจ ไม่เห็นความทุกข์ที่กำลังปรากฏอยู่ในใจ มัวแต่ไปเห็นเรื่องหน้าตาเรื่องเกียรติ เรื่องต่างๆภายนอก เพราะมองผิดจุด

 

คนในโลกนี้มองที่ลาภยศสรรเสริญสุขกัน แต่ไม่เห็นความทุกข์ในการหาลาภยศสรรเสริญสุข ในการรักษาลาภยศสรรเสริญสุข และในเวลาที่สูญเสียไป เป็นความทุกข์ทั้ง ๓ ขั้นตอนเลย เวลาหาก็ทุกข์ เวลารักษาก็ทุกข์ เวลาเสียไปก็ทุกข์ ไม่เห็นกัน พระพุทธเจ้าทรงเห็น ท่านเป็นพระราชกุมาร ทรงเห็นว่าเป็นพระราชกุมารนี่ลำบากจะตาย มีคนคอยล้มล้างทำลายตลอดเวลา เพราะใครๆก็อยากจะเป็นใหญ่กันทั้งนั้น ถ้ามีโอกาสก็จะล้มกัน มันทุกข์ การรักษาสถานภาพ สู้อย่าเป็นดีกว่า ไปเป็นขอทานดีกว่า สบาย ไม่มีใครมายุ่ง เรามองไม่เห็นกัน เราไปมองประโยชน์ทางภายนอก จึงไม่เห็นโทษภายในใจเรา ถ้าเห็นโทษภายในใจก็จะโยนทิ้งไป ประโยชน์ภายนอกนี้มันนิดเดียว เมื่อเทียบกับโทษหรือความทุกข์ภายในใจ มันไม่คุ้มกัน มีหน้ามีตามีชื่อมีเสียง แต่จิตใจจะเป็นบ้าเอา พวกดาราก็เป็นอย่างนี้ ดังแล้วกลัวดับ ต้องอาศัยยาเสพติด ยากล่อมประสาท ยากระตุ้นประสาท เพราะจิตใจไม่สงบไม่นิ่ง เพราะหวั่นไหวกับความเสื่อมของลาภยศสรรเสริญ ก็เลยดำเนินชีวิตไปแบบผิดๆ มีข่าวอยู่เรื่อยติดยาเสพติด ติดสุรา เมาแล้วขับแล้วก็ไปมีปัญหาที่จะต้องตามแก้ ทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่น นึกอยากจะแต่งงานก็แต่ง นึกอยากจะหย่าก็หย่า ก็ต้องมายุ่งกับเรื่องการหย่าร้าง เรื่องสมบัติ เรื่องลูก วุ่นวายไปหมด เพราะไม่ได้ดูที่ใจเป็นหลัก ดูที่ภายนอก ดูที่ลาภยศสรรเสริญสุขเป็นหลัก

 

เพราะหลง เห็นว่ามีลาภยศสรรเสริญสุขแล้วจะมีความสุข แต่หารู้ไม่ว่ากำลังวิ่งเข้าสู่กองไฟ เหมือนแมลงเม่าที่วิ่งเข้าสู่กองไฟ เห็นแสงสว่างของกองไฟก็คิดว่าสว่างไสวดี ก็อยากเข้าใกล้ พอบินเข้าใกล้ก็ถูกความร้อนของไฟเผาตายไป พวกเราก็เห็นแสงสว่างของลาภยศสรรเสริญสุขว่า ถ้ามีแล้วจะมีความสุขจะวิเศษ พอมีแล้วก็กลุ้มอกกลุ้มใจวุ่นวายตลอดเวลา เป็นเหมือนยาเสพติด พอติดแล้วก็ถอนออกยาก นอกจากคนที่ฉลาดจริงๆถึงจะทำได้ มีใครบ้างที่จะทำอย่างพระพุทธเจ้าได้ แม้แต่ในปัจจุบันนี้ก็ไม่มีใครทำได้ เป็นอะไรแล้วมีแต่จะกอดติดให้นานที่สุด ไม่เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการกอด ว่ามันทุกข์ขนาดไหน ที่ถามว่าถ้าใช้ปัญญาแล้วยังตัดไม่ได้ ก็ใช้อุเบกขากดไว้ก่อนก็ได้

 

ถาม  ปัญญาจะเกิดได้ง่าย ถ้ามีพื้นฐานทางสมาธิที่มั่นคง ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ขึ้นอยู่กับความสามารถในการที่จะคิดตามหลักของเหตุผล บางคนมีสมาธิแล้วก็ไม่ก้าวไปทางปัญญาเลยก็มี เพราะพิจารณาไม่เป็น เพราะไม่ได้รับอบรมมาในอดีต ไม่ได้ถูกสอนให้คิดตามเหตุตามผล ก็จะช้า มีสมาธิแต่ไปช้า บางคนเคยได้รับการฝึกฝนอบรม ให้คิดตามหลักของเหตุผลมาแล้ว เช่นพวกที่เก่งทางด้านวิทยาศาสตร์นี่ เขาคิดตามหลักเหตุผล ถ้ามาศึกษาทางพระพุทธศาสนา แล้วทำจิตให้สงบได้ เขาจะไปได้เร็ว จะพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่คนที่ไม่เคยพิจารณาแยกแยะอะไรเลย เห็นอะไรก็จะเห็นอย่างนั้น เห็นต้นไม้ก็จะเห็นต้นไม้ ไม่รู้ว่าต้นไม้มาจากอะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาจะวิเคราะห์ไปที่ต้นเหตุเลย ว่ามาจากเมล็ดที่ใส่ลงไปในดิน เมื่อดินได้น้ำได้แดดได้อากาศ ก็ค่อยเจริญงอกงามขึ้นมา จะพิจารณาเห็นเป็นระบบไปเลย จะเห็นว่าเจริญเติบโตไปถึงระยะหนึ่งแล้ว ก็จะตายไป นี่คือเรื่องของปัญญา ต้องเห็นทุกขั้นตอนของสิ่งนั้น จะได้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลง ถ้าไปรักไปชอบ ก็จะไม่สบายใจ เช่นปลูกต้นไม้ราคาแพงๆ จะห่วงเวลาไม่อยู่บ้าน ถ้าพิจารณาจนเห็นว่าเป็นแค่ดินน้ำลมไฟ ราคาเป็นสมมุติ ความจริงมันไม่มีราคาหรอก ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันเป็นดินเป็นน้ำเป็นลมเป็นไฟ มนุษย์เรามาสมมุติกันขึ้นมาให้มันมีราคาต่างๆ

 

การที่ว่ามีสมาธิแล้วจะไปเร็วทางปัญญาโดยอัตโนมัตินี่ ก็ไม่ใช่ บางคนก็ไปเร็ว บางคนก็ไปไม่เร็ว บางคนติดในสมาธิก็มี หรือไปหลงในสมาธิที่ไม่ถูกก็มี เช่นคุณแม่แก้วนี่ ท่านก็ไปหลงในนิมิตต่างๆ โชคดีที่มีอาจารย์คอยเตือน มีหลวงตาคอยเตือนคอยห้ามไม่ให้ไปยินดีไปติดอยู่กับในนิมิตต่างๆ ให้ทำสมาธิให้จิตสงบ อย่าไปรู้อย่าไปเห็นอะไร ถ้าจะไปรู้เห็นอะไรก็อย่าไปตามมัน ให้ดึงจิตกลับเข้ามาสู่ความสงบ พอออกจากความสงบก็สอนให้พิจารณาร่างกาย สอนให้พิจารณาอย่างไรถึงเป็นอนิจจัง ก็สอนให้ดูว่าคนเราเกิดมาต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากเด็กก็เป็นผู้ใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนแก่ เป็นคนตายไป ตายไปแล้วถ้าทิ้งไว้ในป่าช้า ก็ค่อยๆบุบสลายหายไปหมด ถึงจะเห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ถ้าพิจารณาไม่เป็นก็ต้องอาศัยอาจารย์ที่ได้ผ่านมาแล้วสอน ท่านรู้จักวิธีพิจารณา ท่านก็จะสอนวิธีพิจารณาให้ คุณประโยชน์ของครูบาอาจารย์ก็อยู่ตรงนี้ ถ้าท่านไม่ชำนาญ ก็จะไม่สามารถสอนได้อย่างละเอียด ก็จะพูดแบบรวมๆ ให้ไปขยายความเอาเอง

 

ถาม  ถ้าเราไม่แน่ใจว่าเราถนัด มีอะไรที่จะทำให้เราพิจารณาเรื่องนี้ได้เร็วขึ้น จะได้ไม่เสียเวลามาก จะรู้ตัวเองได้หรือเปล่าคะ

 

ตอบ ต้องลองทำไป เรื่องของปัญญาก็ดูความไม่เที่ยง ดูการเปลี่ยนแปลงของสภาวะต่างๆ ดูว่าไม่มีตัวตน ดูว่ามันให้ความทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะไม่ยินดี ไม่ยึดไม่ติด ไม่ต้องการ

 

ถาม  สรุปว่าถ้าคิดทางด้านปัญญา ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ต้องสรุปลงที่ไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย

 

ตอบ ต้องเห็นไตรลักษณ์ ถึงจะปล่อยวางได้ เช่นเห็นเงินว่าเป็นเพียงกระดาษ เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 

ถาม  เห็นความเป็นจริงของมัน ไม่ได้เห็นสมมุติ

 

ตอบ เดือดร้อนเพราะความอยาก ถ้าลดความอยากได้ ก็จะลดความเดือดร้อนลงไปได้ ส่วนใหญ่ไปอยากกับสิ่งต่างๆกัน เพราะหลงคิดว่ามันให้ความสุขกับเรา ก็เลยเดือดร้อนกัน เช่นต้องมีรถ เราคิดว่ามีรถแล้วจะมีความสุข จะไปไหนมาไหนได้สะดวกรวดเร็วสบาย แต่ไม่คิดว่าทำไมไม่อยู่แบบไม่ใช้รถดู ไม่อยากไปไหนเสียอย่าง ก็ไม่ต้องใช้รถแล้ว อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ไปไหน ก็ไม่ต้องใช้รถ เมื่อไม่ใช้รถก็ไม่ต้องผ่อนรถ ไม่ต้องเติมน้ำมันรถ

 

ถาม  ทุกข์เพราะราคาน้ำมัน

 

ตอบ เพราะไม่เห็นความทุกข์ในรถ แทนที่จะเห็นว่ามันทุกข์กลับเห็นว่ามันสุข เพราะมีมิจฉาทิฐิ เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้าไม่อยากจะทุกข์กับอะไรก็ต้องอยู่แบบพระ ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านก็ไม่มีรถ จะไปไหนก็เดินไปกัน พวกเราสามารถอยู่กันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอกมากมายก่ายกอง แต่เราไม่มีปัญญากัน ถูกความหลงหลอกว่าเป็นความสุขกัน มีสิ่งนั้นมีสิ่งนี้แล้วจะมีความสุขกัน ก็เลยมีกันมากมาย ก็เลยทุกข์กันมากมาย เดือดร้อนกันมากมาย เพราะอยู่แบบสมถะเรียบง่ายไม่เป็น มีเพียงปัจจัย ๔ เท่านี้อยู่ไม่ได้ ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องปรับหน่อย จะให้เหมือนกับพระ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์คงไม่ได้ เพราะพระมีผู้สนับสนุนทางด้านปัจจัย ๔ เป็นฆราวาสก็หาเท่าที่จำเป็น หาในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น สิ่งที่ไม่จำเป็นก็อย่าไปหามา เช่นครอบครัวนี้ก็ไม่จำเป็น สามีภรรยานี่ก็ไม่จำเป็น ใครยังโสดอยู่ฟังไว้นะ ทำงานทำมาหากินก็เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่ได้หาเงินมาเพื่อไปเที่ยว ไปซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ ซื้อเครื่องบันเทิงต่างๆมาดูมาฟัง แล้วก็จะติด อยากจะได้ของใหม่อยู่เรื่อยๆ ซื้อกล้องรุ่นนี้แล้วเดี๋ยวก็มีกล้องรุ่นใหม่ออกมาอีก ก็ต้องหาเงินต้องไปทำงาน ต้องไปทุกข์กับที่ทำงาน ถูกเขาสั่งถูกเขาใช้ถูกเขาว่า โต้ตอบเขาไม่ได้ เพราะต้องการเงินของเขา เพราะความอยากความโลภพาให้ไปทุกข์ทรมาน ถ้ามักน้อยสันโดษแล้ว จะเป็นอิสระ ไม่มีใครมาเป็นเจ้านาย

 

ถาม  สิ่งของจำเป็นนี่ อย่างสมัยนี้คนทั่วไปก็เข้าใจว่ามือถือเป็นสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันไปแล้ว ทั้งๆที่สมัยก่อนก็ไม่มี

 

ตอบ รถยนต์ก็จำเป็น เมื่อก่อนนี้ไม่มีก็ไม่จำเป็น เพราะเราใช้ชีวิตแบบนี้มันก็จำเป็น แต่ถ้าเราใช้ชีวิตแบบโบราณมันก็ไม่จำเป็น

 

ถาม  เราเลือกได้ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน

 

ตอบ ก็เป็นปัญญาอย่างหนึ่ง ถ้ารู้จักคิด แต่เราไม่ค่อยคิดกัน มักจะไหลไปตามกระแส ไปตามสังคม เพราะถูกเสี้ยมสอนอยู่ตลอดเวลา เปิดโทรทัศน์มันก็สอนเราแล้วว่าให้เรามีอะไร โฆษณาขายของต่างๆ ขายรถขายบ้านขายแอร์ขายอะไรต่างๆ มันเสี้ยมสอนเราอยู่ตลอดเวลา เราถูกมันสอนอยู่ตลอดเวลา เราก็เลยหลง ถูกกระแสของทางโลกพาไปลากไป แล้วก็ถอนตัวออกยาก เพราะเหมือนติดยาเสพติด พอติดความสุขแล้วก็ถอนยาก จึงควรเข้าวัดบ้าง ไปอยู่วัดบ้าง ไปอยู่สังคมที่อยู่แบบเรียบง่าย ไปอยู่วัดนานๆ อยู่สักพรรษาหนึ่ง อยู่ ๓ เดือน ให้มันซึมซับเข้าไปในจิตใจ วันก่อนมีคนมาเล่าว่าไปอยู่วัดแล้ว เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่งเลย ความรู้สึกนึกคิดต่างๆเปลี่ยนไปหมดเลย เพราะไม่ได้สัมผัสกับสิ่งเดิมๆ ในวัดไม่มีโทรทัศน์ให้ดู ให้คอยกระตุ้นให้น้ำลายไหล อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากไปที่นั่นไปที่นี่ อยู่ในวัดบางทีไม่รู้วันรู้เดือนด้วยซ้ำไป ว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่เดือนอะไร เพราะทุกวันมีหน้าที่เหมือนกัน ตื่นนอนขึ้นมาก็เตรียมหาอาหารรับประทาน และใส่บาตรพระพร้อมกับภาวนาพุทโธๆไป กำหนดดูจิตดูใจไป พิจารณาขันธ์ ๕ อยู่แต่ในวงนี้ เรื่องต่างๆที่เคยมาเกี่ยวข้องตอนอยู่ที่บ้าน ก็จะไม่มาปรากฏในใจ จะเห็นว่าอยู่แบบนี้ก็อยู่ได้ ไม่ต้องมีอะไรก็อยู่ได้ แล้วก็มีความสุขมากกว่าเสียด้วยซ้ำไป มีความทุกข์น้อยกว่า ไม่มีความกังวล ไม่มีความวุ่นวายใจ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องวิตกกับเรื่องอะไรเลย

 

        เรื่องที่จะต้องเผชิญก็เตรียมรับอยู่แล้ว เรื่องความแก่ความเจ็บความตาย ก็เตรียมรับอยู่แล้ว ถ้าอยู่บนเครื่องบินก็เตรียมร่มชูชีพไว้แล้ว จะไปกลัวอะไร ถึงเวลาก็กระโดดออกมาได้ คนที่มีปัญญานี้เหมือนมีร่มชูชีพ เวลาแก่เวลาเจ็บเวลาตายจะไม่วิตกกังวล เพราะแยกจิตออกจากกายได้ รู้ว่าจิตที่วุ่นวายนี้ ไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บไม่ได้ตาย ตัวที่แก่ที่เจ็บที่ตายนี้ไม่รู้เรื่อง ร่างกายไม่รู้ว่ามันแก่มันเจ็บมันตาย แต่จิตที่มาครอบครองร่างกายไปหลงว่าเป็นตัวเราของเรา พอร่างกายเป็นอะไร ก็คิดว่าจิตเป็น แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ไม่ตายไม่เปลี่ยนแปลง แต่กิเลสทำให้รู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตัวจิตเองตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันเป็นเพียงธาตุรู้เท่านั้นเอง สักแต่ว่ารู้ แต่มีความหลงมาหลอกมาสร้างอารมณ์ต่างๆให้เกิดขึ้น จิตเปรียบเหมือนท้องฟ้าที่ว่างไม่มีอะไร ส่วนอารมณ์ต่างๆเป็นเหมือนเมฆหมอก ที่ลอยอยู่ในท้องฟ้า ถ้ากำจัดมันออกไปหมดแล้ว มันก็จะว่าง เหมือนท้องฟ้าว่าง ไม่มีเมฆ ไม่มีหมอก  ไม่มีอารมณ์กับอะไรทั้งสิ้น ไม่หิว ไม่อยาก ไม่ต้องการอะไรเลย ความว่างนี่แหละที่เรียกว่าปรมัง สุญญัง  เป็นบรมสุข ปรมัง สุขัง พอมีกิเลสก็เกิดความอยาก ความหิว ความต้องการขึ้นมา พอกำจัดกิเลสหมดสิ้นไป จิตก็ว่าง จิตก็บริสุทธิ์ ไม่มีความอยาก ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ

 

        นี่คืองานที่แท้จริงของเรา คือการทำจิตของเราให้ว่าง ให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไม่มีทางอื่น มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น แล้วก็อย่าไปต่อรอง ให้มันง่ายให้มันเร็ว มันแล้วแต่บุญบารมีของแต่ละคน ถ้าบำเพ็ญมามากมันก็ง่ายมันก็เร็ว ถ้าบำเพ็ญมาน้อยมันก็ช้า ต้องค่อยเป็นค่อยไป เหมือนผลไม้ มีการเจริญ มีการพัฒนาการต่างกัน ลูกที่ใกล้จะสุกงอมแล้ว ก็จะหลุดออกจากขั้วก่อน ลูกที่เพิ่งโผล่ออกมาก็ต้องใช้เวลาเติบโต ไม่มีทางลัด ไม่ใช่กดปุ่มปั๊บก็บรรลุได้เลย บางคนก็คิดว่ารอให้เจอพระศรีอาริย์จะดีกว่า ถ้าได้ฟังธรรมะจากพระโอษฐ์แล้วจะได้บรรลุทันทีทันใด ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรับธรรมะ ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุได้ ถ้าไม่มีปัจจัยรองรับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ก็จะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด จึงต้องพยายามบำเพ็ญบุญบารมีต่อไปเรื่อยๆ  เผื่อภพหน้าชาติหน้าได้เจอพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ ก็จะได้บรรลุธรรมในขณะที่ฟังเลย

 

        ถ้าบรรลุในชาตินี้ได้ก็จะดีกว่า จะได้ไม่ต้องไปทุกข์ทรมานกับการเวียนว่ายตายเกิดอีก ต้องพยายามปลุกกระตุ้นความกระตือรือร้นให้เกิดขึ้น พยายามกระตุ้นฉันทะวิริยะให้เกิดขึ้น ด้วยการมองว่าเวลาของเราเหลือน้อยลงไปทุกวันๆ มีเวลาว่างอย่าปล่อยให้มันผ่านไป โดยไม่ได้ทำบุญรักษาศีลบำเพ็ญภาวนาหรือฟังเทศน์ฟังธรรมเลย อย่าประมาท อย่าคิดว่าฟังมาพอแล้ว มันลืมได้ พอไปคิดเรื่องอื่น มันก็จะกลบเรื่องที่เราได้ยินได้ฟังมา ถ้าจะไม่ให้ลืม ต้องคิดอยู่เรื่อยๆ ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมา ต้องคิดอยู่เรื่อยๆมันถึงจะไม่ลืม ถ้าไม่คิดเราก็ควรจะเปิดฟังอยู่เรื่อยๆ เพราะเมื่อฟังแล้ว จะกระตุ้นให้เกิดฉันทะเกิดวิริยะขึ้นมา อย่าปล่อยให้วันเวลาผ่านไปๆ โดยไม่ได้บำเพ็ญธรรมเลย จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เวลาว่างจากภารกิจการงานอย่างอื่น ก็อย่าปล่อยให้มันผ่านไป มีโอกาสก็ควรไปอยู่วัด จะได้ไปเร็วขึ้น ถ้าอยากจะไปเร็วก็ต้องไปอยู่วัดนานๆ ถ้าอยู่บ้านมันจะยาก เพราะปัจจัยเสริมไม่ค่อยมี มีแต่ปัจจัยถ่วง

 

ถาม  เพื่อนที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติฝากมาถามว่า จะรู้ความแตกต่างระหว่างการรู้กับการคิดได้อย่างไร

 

ตอบ การคิดก็คือสังขารการคิดปรุงแต่ง คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผู้รู้ก็คือใจ รู้ความคิดปรุงแต่ง ถ้าไม่รู้ว่ากำลังคิดอะไร ก็แสดงว่าไม่มีสติ

 

ถาม  เพื่อนเค้าจะคิดมาก เวลาปฏิบัติแล้วจะฟุ้งซ่านมาก อ่านหนังสือก็บอกให้รู้อยู่กับตัวอยู่กับใจ ก็เลยชักสับสนว่า อันไหนคือตัวรู้ อันไหนคือการคิด

 

ตอบ ตัวรู้เป็นเหมือนคนดู ส่วนตัวคิดเป็นเหมือนตัวแสดง ที่ให้รู้ก็คือให้คอยดูตัวแสดง ดูความคิด ว่ากำลังคิดไปในทางไหน คิดไปในทางธรรมะหรือคิดไปในทางกิเลส ถ้าคิดไปในทางธรรมะก็ส่งเสริม ถ้ากำลังคิดว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ก็เป็นความคิดทางธรรมะ ก็ส่งเสริมให้คิดอยู่เรื่อยๆ ถ้าคิดอยากสวยอยากงามอยากจะอยู่ไปนานๆ ก็เป็นความคิดของกิเลส ก็ให้ระงับความคิดนี้เสีย การให้รู้ก็คือให้มีสติดูสังขารความคิดปรุงแต่ง ว่ากำลังคิดไปในทางธรรมะ หรือคิดไปในทางกิเลส คิดไปในทางมรรคหรือคิดไปในทางสมุทัย ถ้าคิดเรื่องสร้างฐานะครอบครัวสร้างอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องของกิเลส อย่าไปคิดอย่างนั้น ให้คิดตัดลดละ ให้สละ ให้ออกบวช ถ้าคิดอย่างนี้ก็คิดไปในทางธรรม คือให้มีสติคอยเฝ้าดูความคิด ถ้าบังคับความคิดได้ยิ่งดีใหญ่ อย่าเฝ้าดูเฉยๆ อย่าปล่อยให้คิดไปเรื่อยเปื่อย ให้ดึงมาคิดในเรื่องที่ควรจะคิด

 

ถาม  เขาพึ่งเริ่มทำ พยายามทำให้มีสติ ให้เป็นสมาธิ พอทำไม่ได้ก็โมโห

 

ตอบ ให้คิดพุทโธๆไปเรื่อยๆ ให้รู้อยู่กับพุทโธๆไปเรื่อยๆ ถ้าอยากจะทำจิตให้สงบ ให้คิดแต่พุทโธๆไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้าต้องคิดเรื่องอื่นในขณะที่ทำงานทำการก็คิดไป พอไม่ต้องคิดก็กลับมาที่พุทโธต่อ ให้พุทโธคอยกำกับ ให้เป็นรั้วเป็นกรอบคุมจิตไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ถ้าคิดเรื่องอื่นก็ดึงกลับมาที่พุทโธ เอาพุทโธเป็นความคิดหลัก ความคิดอื่นเป็นความคิดรอง คิดไปตามความจำเป็น เช่นกำลังจะรับประทานอาหาร ก็คิดว่าจะกินอะไรดี จะไปกินที่ไหน ก็คิดได้ คิดเสร็จแล้วก็พุทโธต่อไป อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย คิดเกินความจำเป็น คิดเท่าที่จำเป็น กับเรื่องที่ต้องทำในปัจจุบัน พอคิดเสร็จแล้วก็กลับมาหาพุทโธ อยู่กับพุทโธ พุทโธๆไปเรื่อยๆ ถ้ามีพุทโธอยู่กับใจไปเรื่อยๆก็จะไม่ฟุ้งซ่าน

 

ถาม  การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ยิ่งๆขึ้นไปนี่มีเป็นขั้นๆ สมมุติว่าเราอยู่ขั้นที่ ๑ ด้วยการนั่งสมาธิหรือเจริญปัญญานี่ มีสิทธิ์ที่จะต่ำลงไปได้ใช่ไหมคะ ถ้าจิตมีกิเลสเข้ามากระทบ ไม่ได้อยู่ขั้นที่ ๑ แล้วจะขยับขึ้นไปอย่างเดียว มีสิทธิ์ตกลงไปที่ศูนย์ได้เหมือนกันใช่ไหมคะ

 

ตอบ ถ้าอยู่ในขั้นสมาธิยังตกลงมาได้ ถ้าอยู่ในขั้นปัญญาแล้ว จะไม่ลง

 

ถาม  ขั้นสมาธิมีสิทธิ์เปลี่ยนได้ตลอดเวลา ขั้นปัญญาจะไม่เสื่อม อย่างนั้นใช่ไหมคะ

 

ตอบ  เพราะปัญญาจะกำจัดความหลง พอความหลงถูกกำจัดแล้ว มันจะไม่ฟื้นคืนมาอีก แต่ความหลงมีหลายขั้น มีอยู่ ๔ ขั้นด้วยกัน ถ้าแก้ความหลงขั้นแรกได้แล้วมันก็จะไม่กลับคืนมาอีก จะไม่ตกต่ำลงไปอีก มีแต่จะขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าขั้นสมาธิจะเจริญได้เสื่อมได้ พอทำสมาธิจิตก็สงบ วันไหนขี้เกียจทำ ไปดูหนังไปเล่นไปเที่ยวแทน จิตก็จะไม่สงบ เพราะกิเลสออกมาเพ่นพ่าน

 

ถาม  สมมุติว่าชาตินี้เราบำเพ็ญภาวนาไปได้ในระดับหนึ่ง ในชาติหน้ายังจะอยู่กับเราไหมคะ ไม่ได้สูญหายไป แต่ยังจะวืดลงมาได้

 

ตอบ ยังอยู่ แล้วเราก็ค่อยๆต่อยอดไป อะไรที่ยังอยู่ในจิตก็จะอยู่ ทั้งธรรมะและกิเลส

 

ถาม  ต้องมีฐานของสมาธิก่อนใช่ไหมคะ ต้องตั้งมั่นแน่นหนาก่อน จำเป็นมากเลยใช่ไหมคะ

 

ตอบ ใช่ เพราะเวลาจะพิจารณาทางปัญญานี่ จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่มีสมาธิ จะถูกอารมณ์ต่างๆฉุดลากไป ให้ไปคิดเรื่องอื่น พิจารณาได้เพียง ๒ หรือ ๓ นาที ก็มีเรื่องอื่นมาฉุดไปแล้ว เผลอไปแล้ว ฉุดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว ปัญญาก็จะไม่ได้อยู่คู่กับใจไปตลอด แต่ถ้าสามารถพิจารณาจนอยู่กับใจไปตลอดแล้ว จะไปคิดเรื่องอื่นก็ไม่เป็นไร เพราะต้องการเมื่อไหร่ก็จะมาทันที เหมือนกับได้สะสมเสบียงสะสมกำลังพลไว้พร้อมแล้ว ข้าศึกจะมาตอนไหนก็ไม่เป็นไร ถ้ายังกำลังสะสมกำลังพลอยู่ พอข้าศึกมาก็จะสู้เขาไม่ได้ การเจริญปัญญาเป็นการสะสมพลังให้มีครบ ๑๐๐ พอมีครบ ๑๐๐ แล้ว ก็จะสบายใจ รู้ว่าสามารถรับกับเหตุการณ์ได้

 

ถาม  เคยขับรถแล้วง่วงนอนมาก ก็เลยสั่งจิตว่ากายง่วงจิตไม่ง่วง แล้วก็ขับได้เป็นชั่วโมง เหมือนกับแยกจิตแยกกายได้ แล้วก็ขับรถอย่างมีสติ คือเอาตัวจิตนี้ขับตลอดทาง ทั้งที่กายมันไม่ได้แล้ว แล้วก็เคยเข้าห้องประชุมก็เหมือนกัน แสดงว่าช่วงนั้นจิตเราแข็งใช่ไหมคะ

 

ตอบ ใช่ สติเราดึงจิตไม่ให้อ่อนตามความง่วงของร่างกายได้

 

ถาม  จิตเป็นผู้รู้ใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ ตัวรู้นี่แปลว่าใจ บางทีก็แปลว่าจิต บางคนก็ว่าจิตต่างจากใจ ความจริงมันเป็นตัวเดียวกัน ถ้ารู้ก็เป็นใจ ถ้าคิดก็เป็นจิต มโนก็คือใจ ภายในมโนก็มีอาการต่างๆ เรียกว่านามธรรม คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 

ถาม  ความเข้าใจของลูกคือ จิตเป็นทั้งผู้คิดและเป็นผู้รู้ แต่จิตสามารถทำงานได้อย่างเดียว เพราะฉะนั้นในขณะที่คิดจะไม่รู้ แต่พอรู้นี่คือหยุดคิดแล้ว กลับมารู้ว่าคิดอะไร

 

ตอบ ไม่ใช่ ต้องรู้ซิ ถึงจะคิดได้  ตอนนี้กำลังคิดอะไร คิดดี คิดชั่ว

 

ถาม  แต่ทั้งคิดทั้งรู้นี่ออกมาจากจิตนี่เจ้าคะ

 

ตอบ ภาษาสมมุตินี่ก็พูดไปได้หลากหลาย แต่ความจริงตัวจิตตัวใจหรือธาตุรู้นี่ก็คือตัวรู้ ในตัวรู้นี่ก็มีความคิดปรุงแต่งเรียกว่าสังขาร มีสัญญาความจำได้หมายรู้ มีวิญญาณการรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ผ่านมาทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็มีเวทนาที่เกิดขึ้นมา มีสุขมีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ ทั้งหมดนี้อยู่ภายในจิตภายในใจ อย่าไปกังวลกับคำว่าจิตเป็นผู้คิดหรือใจเป็นผู้รู้ คือจิตกับใจมันตัวเดียวกัน มันทั้งคิดมันทั้งรู้ เพียงแต่มันจะรู้ทันหรือไม่เท่านั้นเอง

 

ถาม  มีหลายครั้งอย่างตอนที่ยืนล้างจานอยู่ ก็รู้สึกว่าตัวเองกำลังยืนล้างจานอยู่ แต่ก็รู้ว่าตัวเองกำลังคิดอยู่ด้วย แล้วก็รู้ว่าตัวเองกำลังรู้อยู่ด้วย ๓ อย่างพร้อมกัน ก็เลยสงสัย

 

ตอบ กำลังทำ ๓ อย่าง ตัวรู้ก็รู้อยู่ ตัวคิดก็คิดอยู่ ตัวทำก็ทำอยู่

 

ถาม  ก็เลยสงสัยว่า รู้กับคิดนี้มันสามารถเกิดพร้อมกันได้หรือ

 

ตอบ ตัวรู้นี่มันรู้อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับท้องฟ้า มีอยู่ตลอดเวลา ส่วนความคิดนี่เหมือนกับเมฆหมอก ที่ลอยมาแล้วก็ลอยไป

 

ถาม  ถ้าคิดจนลืมรู้ไป นั่นคือไม่มีสติแล้วใช่ไหมคะ

 

ตอบ ตัวรู้นี่ทำอย่างไรมันก็ไม่ดับ เพียงแต่ว่าจะมีสติดึงใจให้มารู้กับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นหรือเปล่า ตัวรู้มีอยู่ตลอดเวลา ตัวที่จะเชื่อมตัวรับรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่าสติ ถ้าไม่มีสติก็จะไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น เหมือนกับคนที่ไม่มีสติ เขาก็ยังมีตัวรู้อยู่ เขาก็ยังมีตัวคิดอยู่ แต่ไม่มีตัวเชื่อมระหว่างตัวคิดกับตัวรู้ ทำให้คิดหรือทำอะไรไปโดยไม่รู้สึกตัว คนเมาเหล้าเป็นอย่างนี้ ทำอะไรไป ตัวเองก็คิดว่ารู้อยู่ แต่รู้ไม่พอที่ว่ากำลังทำอะไร พอเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว พอหายเมาแล้ว ถามเขาว่ารู้หรือเปล่าทำอะไรไปบ้าง เขาบอกว่าไม่รู้เรื่อง เหมือนกับตอนที่เรานอนหลับไป มันก็มีตัวรู้อยู่ มีตัวคิดอยู่ แต่ตัวสติไม่ค่อยมี  พอตื่นขึ้นมาก็จะลืมไปเลยว่าฝันอะไร แต่ในขณะที่ฝันเรารู้ว่ากำลังฝันอะไร แต่พอตื่นขึ้นมาปั๊บก็หายไปเลย เพราะสติตัวเชื่อมใจกับเหตุการณ์ในฝันไม่แรงพอ

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องไปสนใจมัน ให้มีสติรู้อยู่ก็แล้วกัน

 

ตอบ ให้รู้ว่าเป็นกิเลสหรือไม่ก็พอ อย่างอื่นรู้ไปก็เท่านั้น มันไม่สำคัญ เหมือนกับคนขับรถ ไม่ต้องไปรู้ว่าในเครื่องมีอะไรบ้าง มีกี่สูบ เป็นแบบนอนหรือแบบตั้ง ขอให้รู้ที่ใส่กุญแจสตาร์ทเครื่องได้ ออกรถได้ หยุดรถได้ เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ก็พอแล้ว ความรู้ที่จำเป็นจริงๆก็คือ รู้สมุทัยกับรู้มรรค รู้ว่าขณะนี้จิตคิดไปในทางมรรคหรือทางสมุทัย สำคัญตรงนี้ ถ้าคิดไปในทางสมุทัยก็ต้องรีบดับมันเสีย เพราะเหมือนจุดไฟเผาบ้าน ถ้าเป็นยามก็ให้เฝ้าดูว่า มีใครมาจุดไฟเผาบ้านหรือเปล่า ถ้ามาจุดก็ต้องรู้ว่าน้ำดับไฟอยู่ตรงไหน จะได้เอามาดับไฟได้ ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะหมดปัญหา

 

ถาม  ตัวรู้ก็จะรู้อยู่อย่างนั้นไปตลอด กี่ภพกี่ชาติก็รู้อยู่อย่างนั้น จะไม่มีวันลงไป

 

ตอบ ไม่ใช่ ตัวรู้เพียงแต่รู้เฉยๆ ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ตัวที่รู้ดีรู้ชั่วเรียกว่าปัญญา ต้องได้รับการสั่งสอนถึงจะรู้ หรือใคร่ครวญพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล บางคนไม่มีใครสั่งสอนแต่คิดเองได้ คิดว่าทำอย่างนี้แล้วเกิดอย่างนี้ขึ้นมา เช่นทำอย่างนี้แล้วเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะเห็นอริยสัจได้ด้วยตนเอง แต่พวกเราไม่มีปัญญาในระดับที่จะเห็นเอง เรามีใจเหมือนพระพุทธเจ้า แต่ไม่มีปัญญาที่จะแยกแยะความคิดว่า กำลังคิดไปในทางที่จะสร้างความสุขหรือสร้างความทุกข์ให้กับเรา

 

ถาม  ตัวรู้เป็นตัวกลางๆ ปัญญาเราต้องสร้างขึ้นมาใช่ไหมคะ

 

ตอบ ใช่ ตัวรู้เป็นเหมือนน้ำ เวลาเอาอะไรต่างๆใส่เข้าไป ใส่สี ใส่กลิ่น ใส่รส แต่น้ำก็ยังเป็นน้ำอยู่ ในตัวรู้ก็มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นแล้วก็จางหายไป แต่ตัวรู้ก็ยังเป็นตัวรู้อยู่ ความคิดต่างๆเกิดขึ้นแล้วก็หายไป เวทนาเกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหลือแต่ตัวรู้ ปัญหาอยู่ตรงที่คิดปรุงอยู่ตลอดเวลา ถ้าทำสมาธิแล้วจิตสงบปั๊บ ตัวคิดปรุงก็จะหยุด ก็จะเหลือแต่ตัวรู้ ที่เรียกว่าสักแต่ว่ารู้

 

ถาม  มันก็ว่าง อย่างนั้นใช่หรือไม่คะ

 

ตอบ ใช่

 

ถาม  นั่นคือที่สุดแล้ว

 

ตอบ ชั่วขณะที่เป็นสมาธิเท่านั้น แต่พอถอนออกมาก็เริ่มคิดปรุง จะคิดไปได้ ๒ ทาง คิดไปในทางมรรค หรือคิดไปในทางสมุทัย ถ้าไม่มีปัญญาก็จะคิดไปในทางสมุทัยเป็นส่วนใหญ่ คิดห่วงคิดหวงคิดรักคิดชอบอย่างนี้ เป็นทางสมุทัยทั้งนั้น เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับเรา พระพุทธเจ้าหลังจากทรงตรัสรู้แล้ว จึงนำมาสอนว่า อย่าไปคิดแบบนั้น ต้องคิดปล่อยคิดวางคิดลดคิดละ จะได้ไม่สร้างความทุกข์ให้กับใจ ตัวรู้ก็ยังรู้อยู่อย่างนั้น เป็นเหมือนจอภาพ ส่วนภาพที่ปรากฏขึ้นบนจอ เป็นได้หลากหลาย เหมือนกับจอโทรทัศน์ เปิดช่องนี้ก็มีหนังตลก เปิดอีกช่องก็เป็นข่าวการเมือง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่จอก็ยังเป็นจออยู่อย่างเดิม ตัวรู้นี่ก็เป็นตัวรู้อย่างเดิม อยู่ที่ตัวที่ผลิตรายการขึ้นมาให้ตัวรู้รับรู้นี้ ผลิตรายการดีหรือไม่ดี ผลิตความสุขหรือความทุกข์ อยู่ที่ตัวสังขารกับสัญญา สัญญาก็คือความรู้ที่ได้มาแล้ว อาจจะจริงหรืออาจจะไม่จริงก็ได้ ถ้าว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล ก็เป็นความรู้ที่ผิด ไม่ตรงกับความจริง ถ้าว่าเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นไตรลักษณ์ ก็เป็นความจริง ถ้ามีความรู้อย่างนี้สอนใจให้คิดไปในแนวนี้ ก็จะคิดปล่อยวาง คิดไม่ยึดติด

 

        แต่ถ้าคิดว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวเราของเรา ก็จะยึดติด จะสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นมา ใจก็เป็นผู้รับความทุกข์นั้นไป ใจเป็นผู้รับทั้งความทุกข์และความสุข ใจก็ยังเป็นตัวรู้อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ตัวที่ทำงานเรียกว่าจิต มีอยู่ ๔ อาการ เรียกว่านามธรรม ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ วิญญาณเป็นผู้รับรูปมาจากตา  สัญญาก็แปลความหมายว่าเป็นรูปอะไร เป็นหญิงเป็นชาย ดีหรือชั่ว เป็นความรู้ทางสมมุติ ไม่ได้เป็นความรู้ที่แท้จริง ก็ทำให้เราหลงติด เช่นเห็นทองก็คิดว่าดี นี่ก็หลงแล้ว เป็นสัญญาที่ไม่ถูกต้องตามความจริง คิดว่าทองมีค่ามีราคา ถ้ามองด้วยปัญญา ก็จะเห็นว่าเป็นแค่วัตถุชิ้นหนึ่ง เหมือนกับเหล็กแท่งหนึ่ง เป็นวัตถุเหมือนกัน จะเห็นต่างกันตรงนี้ ที่สัญญานี้ เห็นถูกต้องตามความจริงหรือไม่ สัญญาของพวกเราเห็นตรงข้ามกับความจริง เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน นี่คือสัญญาของพวกเรา ที่ถูกโปรแกรมมาและฝังติดอยู่กับใจมาตลอด ก็เลยยึดติดกับสิ่งต่างๆ พระพุทธเจ้าจึงต้องมาสอนว่าไม่ใช่ เป็นความเข้าใจผิด ความหลงผิด ความจริงแล้วไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นความสุขที่แท้จริงในโลกนี้ ไม่มีอะไรจีรังถาวร

 

ถาม  ตัววิญญาณนี่ต้องมีตัวสังขารกับสัญญาร่วมอยู่ด้วยใช่หรือไม่คะ

 

ตอบ ทำหน้าที่ต่างกัน วิญญาณทำหน้าที่เมื่อมีการสัมผัสของตากับรูป พอตาเห็นรูปก็จะมีการเชื่อมต่อกัน วิญญาณก็มารับรูปเข้าไปในจิตอีก เป็นตัวเชื่อมจากตามาสู่จิต วิญญาณเป็นตัวรับรูปจากตา สัญญาก็วิเคราะห์ว่าเป็นรูปอะไร เป็นหญิงเป็นชาย เป็นเจ้าหนี้หรือเป็นลูกหนี้ ถ้าเป็นเจ้าหนี้ก็เตรียมถอย สังขารก็ปรุงว่าเจ้าหนี้มาแล้วหนีดีกว่า ถ้าเป็นลูกหนี้จะเอาเงินมาให้ก็ต้อนรับอย่างดี เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา ยินดียินร้ายตามสัญญาที่ถูกสอนมา ว่าอันนี้เป็นเพชรนะ ดีนะ แต่ไม่เคยถูกสอนว่ามีเพชรแล้วจะเป็นอันตรายนะ จะถูกตัดนิ้วได้นะ จะถูกโจรปล้นจี้ฆ่าเราได้นะ เราไม่ได้ถูกสอนมาอย่างนั้น แต่ถูกสอนว่าดีต้องรีบเอาไว้ก่อน

 

ถาม  วิญญาณเป็นเหมือนคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ที่เรามองไม่เห็น แล้วก็มาแปรเป็นภาพบนจอ ตัวรู้ที่รับทราบก็เหมือนจอทีวี  ใช่ไหมคะ

 

ตอบ วิญญาณเป็นตัวรับคลื่นสัญญาณมา ให้ปรากฏบนจอภาพ สัญญาเป็นเหมือนคนพากย์ ว่าเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย สังขารเป็นผู้สั่งว่าควรจะทำอย่างไรกับสิ่งนี้ดี ควรจะรีบคว้าเข้ามาหรือโยนทิ้งไป เช่นเกิดมีงูหล่นลงมาตรงนี้ปุ๊บ ก็เกิดสัญญาขึ้นมาว่า “งู” ก็เกิดความตกใจ เกิดเวทนา เกิดความทุกข์ เพราะถูกสอนว่างูไม่ดี เป็นพิษเป็นอันตราย สังขารก็คิดว่าหนีดีกว่า ถ้ามีอะไรตีมันได้ก็ตีมันเลย จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว

 

ถาม  ความรู้ทั้ง ๓ อย่างนี้มันเกิดขึ้นเร็วมาก ชิดกันเลยใช่ไหมคะ

 

ตอบ  เร็วมาก เป็นไปโดยอัตโนมัติ แม้แต่พระอรหันต์ บางอย่างท่านก็ละไม่ได้ เช่นท่านเดินไปแล้วลื่นจะหกล้ม ท่านจะรีบคว้าที่เกาะทันทีเลย จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เป็นสัญชาตญาณ เพราะมันเร็วมาก ทั้งๆที่ไม่กลัว ไม่ตกใจนะ แต่จะทำไปทันทีเลย หรือถ้าเดินไปเห็นกิ่งไม้แต่คิดว่าเป็นงูปั๊บ ก็จะกระโดดข้ามเลย จะไม่เหยียบกิ่งไม้ จะกระโดดข้ามไปเลย เพราะคิดว่าเป็นงู  มันเร็วมาก พอตาเห็นรูปปั๊บ วิญญาณรับเข้ามา สัญญาแปลปั๊บ เวทนาก็ตามมา สังขารก็ทำงานทันที แต่พระอรหันต์ท่านไม่มีเวทนา ไม่มีความทุกข์ เพียงแต่รับรู้

 

ถาม  ที่พระอาจารย์สอนให้พิจารณามาตลอดนี่ เพื่อให้เกิดปัญญา

 

ตอบ มาแก้ความรู้เดิมที่ผิด แก้ความหลงผิด ที่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นสุข ถ้าพิจารณาจนติดอยู่กับใจตลอดเวลา ก็จะเป็นปัญญา ถ้ายังขาดๆหายๆอยู่ ก็ยังไม่เป็นปัญญา ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้              

 

ถาม  ปัญญามันหาย

 

ตอบ  แสดงว่ากำลังของปัญญายังไม่มากพอ ยังพิจารณาไม่ถี่ ท่านจึงสอนให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ทุกลมหายใจเข้าออก ต้องพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่ากับเรื่องอะไรก็ตาม  ถึงจะทันกัน

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิรู้สึกว่า สมาธิค่อนข้างจะมีน้อย เพราะพยายามจะให้นิ่งที่สุด แต่ก็ยังคิดอยู่ ก็เลยปล่อยเป็นวิปัสสนาไป คือคิดอะไรก็พยายามให้ทันไปเรื่อยๆ แต่พอมาถึงจุดๆหนึ่งก็คิดว่า ที่บอกว่าจิตเป็นอนัตตานี่ เราควรจะพิจารณาอย่างไร ให้เห็นว่าจิตเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน กับร่างกายเรายังพอบอกได้ว่าเป็นธาตุ ๔ แต่กับจิตไม่สามารถเห็นว่าไม่มีตัวตนได้เลย

 

ตอบ  จิตเป็นธาตุรู้ เหมือนกับธาตุดินน้ำลมไฟ

 

ถาม  จิตคือธาตุรู้

 

ตอบ  เป็นธาตุรู้ เรียกว่าจิต ทำหน้าที่รู้เรื่องราวต่างๆ แต่ถูกความหลงเข้าไปสอดแทรก ไปสร้างให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา คิดว่าเป็นเรา แต่ความจริงมันเป็นเพียงความคิด คิดว่ามีเราเป็นผู้คิด เป็นความเข้าใจผิด

 

ถาม  ว่าเราคิด แต่จริงๆมันเป็นความคิดเท่านั้น

 

ตอบ  เป็นความคิด ความคิดนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน ธาตุรู้ที่รู้ความคิดนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน คือไม่มีตัวตนเลย ตัวตนนี้เป็นสมมุติ ที่เกิดจากอวิชชาความหลง

 

ถาม  จำเป็นไหมเจ้าคะ ที่ต้องนั่งให้ได้อัปปนาสมาธิ

 

ตอบ  ได้ก็ดี เพราะเป็นฐานของจิต ทำได้หลายวิธี นั่งบริกรรมพุทโธ หรือดูลมหายใจเข้าออก หรือพิจารณาทุกขเวทนาจนจิตปล่อยวางเวทนาได้ จิตก็จะรวมลงสู่อัปปนาได้ หรือเดินจงกรมในที่น่ากลัวๆ แล้วไปเจออะไรเข้า จิตก็วูบลงไป รวมลงแบบหลวงปู่ชอบ ก็เป็นอัปปนาได้ ต้องอาศัยสถานที่ที่จะไล่จิตให้ลงได้ ต้องไปอยู่ในที่ที่น่ากลัวๆ มันถึงจะเข้าข้างใน ที่ไม่น่ากลัวมันจะไม่เข้า เพราะที่ที่น่ากลัวๆนี้ กิเลสจะหดตัว จะไม่กล้าออกมาเพ่นพ่าน ที่ปลอดภัยกิเลสมันจะห้าวหาญ พระถึงต้องไปหาที่น่ากลัวๆอยู่ ให้เป็นปัจจัยผลักให้จิตเข้าข้างใน ให้รวมลง เพราะโดยธรรมชาติของจิตนี้ ถ้าอยู่ในที่ไม่น่ากลัวแล้ว จะชอบออกมาข้างนอก ถ้าเจอผีก็จะพุทโธๆ เดี๋ยวก็จะเข้าไปเอง

 

ถาม  แต่สำหรับคนที่กลัว แล้วไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ จิตไม่รวม แต่ผมขาว นั่นคือไม่มีสติใช่ไหมคะ จะกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งไปเลย

 

ตอบ ใช่ จะเป็นกิเลสไป กลัวแล้วควบคุมความกลัวไม่ได้ ก็เลยออกไปทางร่างกาย ต้องดูความสามารถของเรา ก่อนที่จะไปในสถานที่ที่น่ากลัวๆ ต้องฝึกให้ได้ในระดับหนึ่งก่อน จนรู้ว่าสามารถควบคุมจิตได้ เวลาไปเจออะไรที่น่ากลัวๆ สามารถควบคุมไม่ให้ตื่นตระหนกได้ ท่านสอนว่าเวลาจะไปอยู่ในป่าช้า ให้ไปตอนกลางวันก่อน ไปดูลาดเลาก่อน ถ้าไปตอนกลางคืนพอเห็นอะไร ก็จะเป็นอะไรไปหมด กลัวอะไรก็จะเห็นอย่างนั้น สัญญาสังขารจะปรุงไปทางนั้นทันที พอใบไม้ไหวหน่อยก็คิดว่าเป็นผีไปแล้ว บางครั้งดูเมฆหมอกนี่ ยังเห็นเป็นหน้าตาได้เลย จิตไปปรุงไปแต่งว่าเป็นหน้าคนนั้นคนนี้

 

ถาม  แล้วที่เขาเห็นกัน เขาเห็นจริงๆหรือเปล่าคะ

 

ตอบ  ของจริงก็มี ของไม่จริงก็มี ของจริงที่เคยได้ยินก็มีของคุณแม่แก้วว่ามีผีมาเข้าในสมาธิท่านได้ แต่ก็ไม่ได้มาแบบหน้าตาน่ากลัว เขาก็มาในรูปร่างคน หมูป่าถูกฆ่าตาย แต่มาในรูปร่างคน ควายถูกฆ่าตายก็มาในรูปร่างของคน มาสนทนาธรรม มาปรับทุกข์กับท่าน ไม่ได้เป็นผีแบบที่เราจินตนาการกัน อสุภะที่ไปดูในป่าช้าไม่ได้เป็นผี แต่เป็นซากศพ

 

ถาม  ผู้ที่จะรู้เห็นได้ก็ไม่ใช่ทุกคน ใช่ไหมคะ

 

ตอบ ใช่ ขึ้นอยู่กับบุญเก่า ที่จะรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้  เป็นความรู้พิเศษ หลวงปู่มั่นท่านจะเห็นอยู่เรื่อย อ่านดูในประวัติของหลวงปู่มั่น ท่านเห็นผีอพยพมาทั้งครอบครัว มาเหมือนชาวบ้านทั่วไป หอบลูกจูงหลาน ไม่ได้เป็นแบบผีที่เราคิดกัน ที่มีแต่โครงกระดูก

 

ถาม  มีหลานไปสวดมนต์แล้วนั่งสมาธิเมื่อวันวิสาขบูชา เขาบอกว่ายังไม่ทันได้เริ่มสวด เขาเห็นตัวเองแต่งชุดทหารถูกปืนจ่อยิง ก็เลยไม่สบายใจ เขาบอกว่าเป็นเหมือนรูปของอนาคต ไม่ใช่รูปในอดีต

 

ตอบ  เขารู้ได้อย่างไรว่าเป็นอนาคตหรืออดีต ท่านสอนว่าเวลาเห็นอะไรแล้ว อย่าไปเชื่อทันที ต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ดูก่อน ถ้ายังไม่มีอะไรยืนยัน ก็อย่าพึ่งไปสรุปว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นบางคนเห็นเลข แล้วงวดหน้าก็ออกตรงกัน เขาก็มีหลักฐานยืนยันว่าสิ่งที่เขาเห็นมันตรงกัน ถ้างวดหน้าเห็นเลขแล้วแต่ออกมาไม่ตรงกัน ก็แสดงว่ายังไม่แม่น เพราะฉะนั้นเวลาเห็นอะไรต่างๆ ต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ดู และต้องรอดูเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น ถึงจะค่อยสรุปลงไปได้ว่าเป็นอะไร ข้อมูลที่ได้มายังเป็นข้อมูลดิบอยู่ ยังไม่ได้รับการยืนยัน ไม่ว่าจะเห็นอะไรในนิมิต ให้รู้ไว้แล้วก็เอาลงไปในไตรลักษณ์ก่อนเลยว่า มันเกิดขึ้นแล้ว มันดับไปแล้ว ถ้าไม่มีปัญญาวิเคราะห์ก็โยนทิ้งไปก่อน อย่าให้ติดตาติดใจ ต่อไปในภายภาคหน้าถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แล้วไปตรงกับที่เราเห็นในนิมิต ก็จะรู้ว่ามันมาบอกเรา ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ของอย่างนี้มันไม่แน่ อาจจะเป็นอดีตก็ได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นอดีตหรืออนาคต ไม่ได้ติดป้ายบอกไว้นี่ ว่านี่เป็นเหตุการณ์ปีนั้นๆ ส่วนใหญ่เรามักจะเอาความเห็นของเรา ไปวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งความเห็นของเรานี้มันไม่จริงเสมอไป ท่านถึงสอนอย่าไปยุ่งกับเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่ใช่เป็นมรรคเป็นผล จะทำให้เสียเวลา ถ้ามีนิสัยที่จะเห็นอย่างนี้ ในเบื้องต้นท่านสอนให้บังคับมันให้หายไปก่อน ดึงกลับเข้ามาหาพุทโธ ดึงจิตให้กลับเข้ามาหาผู้รู้ อย่าตามไปรู้ เพราะจะมีเรื่องให้รู้ไปเรื่อยๆ

 

ถาม  หลังๆเขานั่งแล้วเป็นจริงมาหลายครั้ง เขาก็เลยกลัว ลูกบอกว่า ทำตามที่อาจารย์ต่างๆสอน ให้นึกถึงคุณแม่แก้ว ให้เขาทิ้งไป อย่าไปสนใจ เขาก็ทิ้งไม่ได้

 

ตอบ ไม่มีสติพอ นั่งสมาธิแล้วพอจิตเผลอปั๊บ ก็จะออกไปรับรู้ทันที ถ้ามีสติก็จะไม่ไป ยิ่งถ้ามีปัญญาแล้วจะไม่ไปเลย พวกที่มีปัญญาจะไม่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ เพราะปัญญาจะรู้ทัน คอยคุมจิตอยู่ตลอดเวลา พวกที่ไม่ค่อยมีปัญญา พวกที่ซื่อๆบื้อๆ พอพุทโธๆปั๊บ เดียว ก็ออกไปแล้ว

 

ถาม  หนังสือของหลวงปู่้ดุลย์ท่านบอกว่า ที่เห็นน่ะจริง แต่ตัวที่เห็นน่ะไม่ใช่ของจริง

 

ตอบ  เห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นไม่ใช่ของจริง ตามที่หลวงตาท่านเคยเขียนไว้ว่า นิมิตนี่มี ๒ อย่าง นิมิตที่เกิดจากจิตเอง และนิมิตที่เกิดจากภายนอก อย่างพวกกายทิพย์ต่างๆนี่ เรียกว่านิมิตที่มาจากภายนอก ส่วนนิมิตที่เกิดจากจิตเอง ก็อาจจะเป็นอดีตหรืออนาคต มีทั้งจริงและไม่จริงปนกันไป บางทีเป็นความเพ้อเจ้อของจิตคิดปรุงไปก็มี จึงอย่าไปสนใจ ยิ่งถ้าไม่มีปัญญาอย่าเพิ่งไปยุ่ง เหมือนกับไปเล่นกับงู ถ้ายังจับงูไม่เป็น ไม่รู้จักวิธีปฏิบัติกับงู เห็นงูก็หนีดีกว่า ถอยดีกว่า ทำจิตให้สงบดีกว่า ให้นิ่งอย่างเดียว นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เพราะถ้าไปยุ่งกับพวกนี้แล้ว นั่งไปนานเท่าไหร่ก็เหมือนกับไม่ได้นั่ง จิตจะไม่มีกำลัง หยุดกิเลสไม่ได้ เพราะไม่นิ่ง พอเกิดความโลภความโกรธขึ้นมา ก็จะไม่มีกำลังหยุดมันได้ ไม่มีกำลังที่จะพิจารณาอย่างต่อเนื่องได้ พิจารณาได้เดี๋ยวเดียว ก็จะถูกอารมณ์อื่นฉุดลากไป แต่ถ้าทำจิตให้นิ่งสงบได้นานเท่าไหร่ เวลาออกมาพิจารณา ก็จะอยู่กับเรื่องที่พิจารณาได้นานเท่านั้น ถ้าพิจารณาได้นาน ปัญญาก็จะมีกำลังมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะทันกับกิเลส จึงควรนั่งสมาธิให้เป็นฐานสนับสนุนปัญญา ให้มันนิ่ง ให้เป็นอัปปนา เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ถ้าจะออกไปรู้อะไร ในเบื้องต้นอย่าเพิ่งไปสนใจ ถ้าได้ปัญญาแล้ว มีปัญญาวิเคราะห์แยกแยะนิมิตต่างๆได้ จะออกไปรู้บ้างก็ไม่เป็นอะไร ถือเป็นงานอดิเรก ให้เสร็จหน้าที่หลักก่อน คือกำจัดความโลภความโกรธความหลงให้หมดไปก่อน ถ้าเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็รักษาให้หายก่อน หายแล้วอยากจะลองยาชนิดนั้นชนิดนี้ดู ว่าทำให้ตาดีขึ้น หูดีขึ้น อายุยาวขึ้น ก็ลองได้

 

ถาม  อยากไปเที่ยวนี่ จัดว่าเป็นกิเลสประเภทไหนคะ

 

ตอบ เป็นกามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ตัณหามี ๓ ชนิด กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อยากเป็นใหญ่เป็นโตก็เป็นภวตัณหา อยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ก็เป็นวิภวตัณหา

 

ถาม  ทางวงการแพทย์บอกว่า ถ้าเกษียณอายุแล้ว ไม่ได้ทำงานแล้ว ถ้าสมองไม่ได้ฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา จะเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ก็เลยมาเทียบว่า ถ้าไม่ได้ทำงานทางโลกแล้ว การภาวนาการพิจารณาธรรมนี้ จะช่วยสมองไม่ให้เสื่อมได้หรือไม่ครับ

 

ตอบ ช่วยได้ เพราะเป็นการทำงานของสมองด้วย  เวลาจิตทำงานก็ต้องใช้สมองด้วย ยังเกี่ยวข้องกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ ก็ต้องผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วส่งต่อไปที่จิตอีกที ยังมีความสัมพันธ์กันอยู่ อย่างหลวงตาท่านอายุ ๙๕ แล้ว ท่านก็ยังไม่หลงไม่ลืม เพราะท่านใช้จิตอยู่ตลอดเวลา ใช้ในการเทศนาว่ากล่าว ไม่ได้อยู่เฉยๆ ถึงแม้ท่านอยู่ตามลำพังของท่าน ท่านก็พิจารณาธรรมของท่านไป สลับกับการพักจิต

 

ถาม  เห็นเพื่อนบางคนที่เกษียณอายุแล้ว บางคนก็ไปทำนั่นทำนี่ เพื่อให้มีอะไรทำ เพื่อจะให้สมองได้ทำงาน

 

ตอบ ถ้าอยู่เฉยๆ ก็จะเหม่อลอย

 

ถาม  ถ้าพิจารณาหลักสัจธรรมอยู่ตลอดเวลา สมองก็ถูกกระตุ้นให้ทำงาน ก็จะได้ประโยชน์มาก

 

ตอบ แต่ยิ่งอยู่ยิ่งแก่มันก็ยิ่งทรมานนะ เพราะร่างกายมันก็เป็นภาระ เป็นทุกข์ อย่างพระพุทธเจ้าก็เอาแค่ ๘๐  อย่าไปคิดอยู่ยาวเลย นอกจากเป็นบุญหรือเป็นกรรมของเราที่จะต้องอยู่ยาว ก็อยู่ไปอย่างมีประโยชน์ก็แล้วกัน อยู่อย่างมีความสุข ถ้าถึงเวลาไปก็ให้มันไปเถิด อย่าไปเสียดายเลย จะได้ไม่ทุกข์ ถ้าเสียดายจะทุกข์

 

ถาม  วันก่อนไปงานที่ร้อยเอ็ด ลูกศิษย์ลูกหาก็ภาวนาให้หลวงตาอยู่ถึง ๑๒๐ ปี ไม่รู้ลูกศิษย์จะอยู่ตามท่านหรือเปล่า อาจจะไปก่อนท่าน

 

ตอบ ทำไมไม่ขอซัก ๒๐๐ ปีไปเลย พอได้ถึง ๑๒๐ ก็จะขอต่ออีก ไม่มีใครบอกพอแล้ว ๑๒๐ ปีไปได้แล้ว พอได้ถึง ๑๒๐ ปีแล้วก็จะขอต่ออีก ไม่มีที่สิ้นสุด แต่องค์ท่านเองท่านพร้อมที่จะไปทุกเวลา เพราะเมื่อก่อนที่จะมาทำโครงการช่วยชาติ ท่านก็เตรียมสร้างเมรุไว้แล้ว จิตใจของลูกศิษย์กับจิตใจของอาจารย์นี่ไม่เหมือนกัน อาจารย์พร้อมจะไปเสมอ ลูกศิษย์ก็ขอให้อยู่ไปเรื่อยๆ มันเป็นธรรมชาติของกิเลส ที่อยากจะให้อยู่ไปนานๆ

 

ถาม  เพราะท่านสร้างคุณประโยชน์ไว้ให้มากครับ

 

ตอบ  เราทำไมไม่ทำแทนท่านบ้างล่ะ

 

ถาม  ยังไม่ผลิดอกเลยครับ อย่าว่าแต่จะเป็นลูกเลยครับ ดอกยังไม่ออกเลย กลัวมันจะร่วงเสียก่อน

 

ตอบ  ทำส่วนของเราเถิด ทำให้มากๆไว้ ส่วนของท่านจะเป็นอย่างไรก็รับรู้ไปก็แล้วกัน เพราะความอยากของเรา ก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรที่จะต้องตื่นเต้น ต้องเสียอกเสียใจ

 

ถาม  ท่านก็ทำให้ญาติโยมที่เป็นลูกศิษย์ทราบว่า มีครูบาอาจารย์องค์ไหนบ้างที่เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้

 

ตอบ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือตัวเรา ต้องดูที่ตัวเราเป็นหลัก ดูที่การปฏิบัติของเราเป็นหลัก ขอให้ทุ่มเทให้มากๆกับการปฏิบัติ กับเรื่องอื่นก็ทำไปตามเหตุตามปัจจัยก็แล้วกัน มีงานบุญไปได้ก็ไป ถ้ากำลังเข้าด้ายเข้าเข็มกับการปฏิบัติ ปล่อยให้ผ่านไปก็ได้ เพราะงานบุญจะไปทำลายงานที่ละเอียดกว่า งานที่ดีกว่า เราต้องขยับขึ้นชั้น จากชั้น ป. ๑ ก็ต้องขึ้น ป. ๒ ต่อไปก็ต้องขึ้น ป. ๓ ไม่ใช่จะไปแต่งานบุญอย่างเดียว ไม่ค่อยไปงานภาวนาเลย ไปอยู่วัดภาวนากันบ้างหรือยัง ควรคิดวางแผนไปอยู่วัดภาวนาสัก ๓ วัน ๗ วันบ้าง ข้าราชการยังลาบวชได้ไม่ใช่เหรอ

 

ถาม  ลาได้พรรษาหนึ่งครับ

 

ตอบ น่าจะใช้สิทธินี้นะ ก่อนจะเกษียณสัก ๓ เดือนก็ขอลาบวชเลย ได้เงินเดือนด้วย ได้ภาวนาด้วย ได้ทั้ง ๒ อย่างเลย ได้ทั้งเงินได้ทั้งธรรมะ หายากนะ น่าจะฉวยโอกาสนี้ เป็นสิทธิของเราแท้ๆ

 

ถาม  ผมคิดว่าการบวชนี้ ถ้าเราทำได้ไม่ดีจะติดลบ เพราะยิ่งรู้มากยิ่งต้องระวัง 

 

ตอบ แสดงว่ายังไม่พร้อม ก็น่าเสียดาย

 

ถาม  แต่สิ่งที่พระอาจารย์พูดนี่ ผมคิดมาหลายปีแล้วครับ พอปีสุดท้ายของการทำงานนี่ มันลาได้แล้ว เคยคิดแต่ยังไม่ตัดสินใจ

 

ตอบ ดีที่เรายอมรับความจริง ไม่ทำในสิ่งที่จะทำให้เราเสียหายมากขึ้น ถ้าคิดว่ายังไม่พร้อมก็ไม่ควรทำ อย่างเราก่อนที่จะบวชนี่ ก็ทดสอบตัวเองอยู่ปีหนึ่ง ถ้ายังไม่แน่ใจก็ไม่กล้าบวชเหมือนกัน พอแน่ใจแล้วเราก็บวช การบวชเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดของชีวิตเลยก็ว่าได้ แต่งงานหรือหย่าร้างนี่ยังง่าย แต่การบวชนี่ยากมาก

 

ถาม  ถ้าบวชอย่างชาวบ้าน ๕ วัน ๗ วันนี่ก็ไม่ยากหรอกครับ แต่ถ้าบวชเพื่อเอาดีนี่มันยาก

 

ตอบ  บวชแล้วปฏิบัติได้เหมือนกับพระรูปอื่นปฏิบัติกันนี่มันยาก

 

ถาม  เคยฟังที่พระอาจารย์พูดถึงคำหนึ่งคือ การชิงสุกก่อนห่าม ถ้าไม่พร้อมก็อย่าพึ่งไป

 

ตอบ ข้ามขั้นตอนไม่ได้

 

ถาม  ช่วงปีก่อนที่จะตัดสินใจบวชนี่ นอกจากการภาวนาแล้ว จิตสงบร่มเย็นแล้ว มีการพิจารณาปัญญาหรือไม่คะ

 

ตอบ พิจารณาไปเรื่อยๆ เดินตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ ส่วนใหญ่ก็พิจารณากายอยู่เรื่อยๆ เวทนาก็พยายามนั่งให้ผ่านให้ได้ แล้วก็ต่อสู้กับความอยาก พอเราเผลอ ก็จะรู้สึกหงุดหงิด อยากจะไปเล่นไปเที่ยวบ้าง ต้องพยายามต่อสู้กับความรู้สึกเหล่านี้  เพราะตอนนั้นสมาธิไม่ได้เป็นแบบต่อเนื่องตลอดเวลา ช่วงที่มีสมาธิก็สบาย พอไม่มีสมาธิจิตก็คิดปรุงแต่ง ก็อยากออกไปหาแสงสีเสียง ก็รู้สึกหงุดหงิดเศร้าสร้อยหงอยเหงา ตอนนั้นก็ต้องตั้งสติ ต้องพิจารณาธรรม หรือนั่งสมาธิทำจิตให้สงบ ถ้าปล่อยให้อยู่เฉยๆ ก็ยิ่งปรุงใหญ่ จะยิ่งฟุ้งซ่าน ต้องต่อสู้ไปเรื่อยๆ พยายามทำให้มากยิ่งๆขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าทำจนจิตไม่มีเวลาว่างไปคิดเรื่องต่างๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ ก็จะก้าวหน้าไป ถ้าไม่เดินจงกรมก็นั่งสมาธิ ถ้าไม่นั่งสมาธิก็ฟังธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ สลับกันไป หรือไม่เช่นนั้นก็ทำกิจที่ต้องทำ เป็นฆราวาสก็ต้องกวาดถูบ้าน ก็กวาดถูไป ซักผ้าก็ซักไป ทำกับข้าวรับประทานอาหารก็ทำไป แต่ให้มีสติอยู่กับกิจกรรมนั้นๆ ไม่ไปคิดเรื่องอื่น พอเสร็จกิจแล้วก็เดินจงกรมต่อ นั่งสมาธิต่อ สลับกันไป ไม่นั่งเหม่อลอยคิดถึงอดีตที่หวาน จะทำให้รู้สึกเศร้าสร้อยหงอยเหงา คิดถึงเพื่อนฝูง แต่ก็อดเผลอไม่ได้ พอได้สติก็ต้องรีบนั่งสมาธิเลย หรือเดินจงกรม ควบคุมจิตไม่ให้เพ้อเจ้อ ไม่ให้เหม่อลอย แต่มันมีช่วงของมันเพราะสติยังไม่ต่อเนื่อง เวลาที่เผลอปั๊บนี่ กิเลสจะมาพาไปคิดแล้ว ถ้าไม่ทันมันก็จะทุกข์ทรมานใจ กว่าจะดึงกลับเข้ามานั่งสมาธิได้ ก็ต้องลากกันอย่างสุดแรง ถึงจะกลับมาได้

 

ถาม  ทรมานมากหรือไม่คะ

 

ตอบ มันก็ต้องทรมานเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่เลวร้าย เป็นความทรมานที่ให้ผลดีต่อมา พอผ่านไปแล้วก็เหมือนกับพ้นอุ้งมารไป หลุดจากการควบคุมของกิเลสได้นี้มันแสนจะสบาย ไม่มีอะไรมารบกวนใจ ไม่มีอะไรมาคอยหลอกมาล่อ ให้หลงกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยู่เฉยๆก็มีความสุข เป็นรางวัลที่คุ้มค่ามาก

 

ถาม  หลังจากบวชแล้วมีอีกไหมคะ

 

ตอบ ไม่ค่อยมี เพราะอยู่กับครูบาอาจารย์ แล้วก็ภาวนาตลอดเวลา ตอนนั้นบุกกิเลส แทนที่จะปล่อยให้มันบุก บุกมันด้วยการอดอาหาร พออดอาหารกิเลสจะถอย ถ้าไม่อดอาหาร ตอนเย็นๆจะคิดถึงอาหาร อยากจะรับประทานอาหาร แต่พออดอาหารแล้ว จะไม่คิดเลย เพราะเวลาอดอาหารจะอยู่เฉยๆำไม่ได้ จะต้องภาวนาตลอดเวลา ถ้าไม่ได้ภาวนาปุ๊บ จิตจะปรุงแต่งคิดเรื่องอาหารทันที จะหิวขึ้นมาทันที พอนั่งสมาธิไปเดินจงกรมไป มันก็จะสงบลง ความคิดเรื่องอาหารก็จะหายไป ได้ยินได้ฟังธรรมะอยู่บ่อยๆ ได้รับการกระตุ้นจากครูบาอาจารย์ ก็มีกำลังจิตกำลังใจ เหมือนกับได้เติมน้ำมันชนิดพิเศษ ไม่ใช่น้ำมันธรรมดา ทุกครั้งที่ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว มีกำลังใจเดินจงกรมได้หลายชั่วโมง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน แต่พอสัก ๒-๓ วันผ่านไป ก็ค่อยๆจางหายไป ท่านถึงต้องเรียกประชุมอยู่เรื่อยๆ ทุก ๔-๕ วัน

 

ถาม  เราควรเจอกับเวทนาทุกวันๆ จนกว่าจะเคยชินกับมัน ไม่หลีกหนีมัน ใช่ไหมครับ

 

ตอบ ใช่

 

ถาม  พอออกจากวัดเข้ามาอยู่ในเมืองมันก็เปลี่ยนไป ลึกๆมันกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวการสูญเสีย ทั้งๆที่ตอนปฏิบัติก็เอาเป็นเอาตาย

 

ตอบ  แสดงว่ายังไม่ยอมรับความจริง ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการสูญเสีย

 

ถาม  ทั้งที่การปฏิบัตินั้นเอาเป็นเอาตาย

 

ตอบ  ยังตัดไม่ขาด พิจารณาแล้วแต่ยังไม่ปลงจริงๆ ถ้าปลงจริงๆก็เดินไปในที่มืดเลย ไม่ต้องฉายไฟ ดูซิว่าใจจะเป็นอย่างไรในตอนนั้น ถ้ามีความกลัวเกิดขึ้น ก็พยายามข่มใจด้วยธรรมะว่า กลัวทำไมกลัวก็ต้องตายอยู่ดี ถ้าเข้าใจแล้วมันจะปลง พอยอมตายแล้วก็จะหายกลัว ตอนนั้นก็จะรู้อยู่ในใจว่ายอมตายแล้ว ไม่กลัวแล้ว ถ้ายอมตายได้แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัว จะอดอยากขาดแคลน จะเจ็บไข้ได้ป่วย จะโดนอะไร ก็ไม่เท่ากับความตาย ถ้ากลัวความเจ็บปวด ก็ต้องนั่งพิจารณาทุกขเวทนา นั่งไปให้มันเจ็บให้มันปวดแล้วก็อย่าลุก อย่าไปกลัว อย่าไปอยากให้มันหาย ปล่อยให้มันอยู่ของมันไป จนกว่ามันจะหายเอง

 

ถาม เวลานั่งสมาธิ ควรจะนั่งดูความเจ็บปวด จนกว่ามันจะหายไปเอง

 

ตอบ  นั่งให้เห็นว่าความเจ็บปวดไม่น่ารังเกียจเลย มันก็เหมือนกับสิ่งที่เราชอบ ถ้าเราชอบจะเป็นอย่างไรก็รับมันได้ ถ้าไม่ชอบก็จะรับไม่ได้ ทั้งๆที่เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน เคยได้อุบายจากการพิจารณาเสียงกับความเจ็บปวด เวลานั่งจนเกิดความเจ็บปวด ปวดที่กายแล้วก็ส่งไปที่ใจ ไปรู้ที่ใจ เสียงเข้าไปในหูก็ไปปรากฏที่ใจเหมือนกัน เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน เกิดดับๆอยู่ภายในจิต ถ้าเป็นเสียงที่เราชอบ จะดังแสบแก้วหูขนาดไหนเราก็รับได้ ถ้าเป็นเสียงที่เราไม่ชอบ แม้จะไม่ดังมากเราก็รับไม่ได้ เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน เวทนาทั้ง ๓ ได้แก่สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นเหมือนกับเสียงนี้ ถ้าเป็นเวทนาที่เราชอบเราก็รับมันได้ ถ้าไม่ชอบเราก็รับไม่ได้ เหมือนคนที่กินเผ็ดได้ เผ็ดเท่าไหร่ก็รับได้ ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง ผ่านทางลิ้นแล้วก็เข้าไปในใจ เสียงก็ผ่านไปทางหูแล้วเข้าไปสู่ใจ นั่งสัมผัสกับของแข็งนานๆ ก็เกิดเวทนาผ่านทางกายเข้าไปสู่ใจ พอเข้าไปสู่ใจก็เป็นสภาวธรรมทั้งนั้น เกิดดับๆอยู่ในใจ อยู่ที่สัญญาสังขารว่าทำอะไรกับมัน สัญญามักจะถูกโปรแกรมไว้เดิมว่า ถ้าเป็นแบบนี้จะต้องยินดี จะต้องดีใจ ถ้าเป็นแบบนี้จะต้องรังเกียจ จะต้องอยากให้มันหาย จะต้องหนีมันไป พอมันเกิดความอยากแล้ว ก็จะเกิดทุกข์ในอริยสัจขึ้นมา ทุกข์ที่เกิดจากสมุทัยคือความอยาก

 

        ถ้าไปเจอกามคุณที่เราชอบ เช่นเสียงที่เราชอบ ก็อยากจะให้มันอยู่นานๆ ฟังแล้วไพเราะดี ถ้าเป็นเสียงที่เราไม่ชอบก็จะบาดใจทรมานใจ ก็อยากจะให้มันหายไป ถ้ามันไม่หายก็ยิ่งทุกข์ทรมานใจขึ้นไปใหญ่ อันนี้เกิดจากสมุทัย อันนี้แหละเป็นอริยสัจล้วนๆ อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่จิตไปสัมผัสรับรู้กับสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นในจิต ถ้ามีตัณหาก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ถ้าปล่อยวางก็เป็นมรรคเป็นนิโรธปรากฏขึ้นมา คือทุกข์ใจจะดับไป ที่ต้องแก้ก็คือทุกข์ในอริยสัจนี้เอง เราแก้ทุกข์กายไม่ได้ ทุกข์ที่มากับทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้เราแก้ไม่ได้ เช่นจะไปบอกให้เบาๆหน่อย หรือขอร้องอย่าพูดอย่างนี้ได้ไหม เราไม่ชอบฟังเลย อย่างนี้เราไปแก้ไม่ได้ ต้องแก้ที่ใจเรา พิจารณาให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่า เป็นสภาวธรรมที่เกิดดับๆ เป็นอนัตตา อย่าไปคิดว่าเป็นคนพูด ให้คิดว่าเป็นแค่เสียงที่เข้ามากระทบกับโสตประสาท เราก็รับรู้ผ่านทางวิญญาณ เข้ามาให้จิตรู้ ถ้าจิตฉลาดไม่ไปหลงว่าดีว่าชั่ว ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ถ้าไม่ฉลาด อวิชชาก็จะบอกว่าดีบ้างไม่ดีบ้าง แล้วก็จะเกิดสุขทุกข์ขึ้นมาทันที ต้องเข้าใจว่ามันเป็นสมมุติ จิตไปแยกสมมุติเป็นฝ่ายๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง กลางๆบ้าง แล้วก็จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ไปแยกแยะ ถ้าดีก็ดีใจ ถ้าไม่ดีก็เสียใจ ถ้ากลางๆก็เฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ

 

ถาม  ให้รับรู้เฉยๆใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ใช่รู้เฉยๆ ต้องรู้ด้วยปัญญา ว่าทั้งหมดนี้มันเป็นสมมุติ ไม่ควรไปดีใจหรือเสียใจ มันมาแล้วก็ไป มันเกิดแล้วก็ดับ

 

ถาม  ก่อนที่จะถึงตรงนี้ ต้องใช้วิธีไตร่ตรองดูก่อน อย่างพระอรหันต์นี่ท่านเพียงรับรู้ ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ท่านซ้อมจนสติปัญญาท่านไวมาก พอจิตจะมีปฏิกิริยาปั๊บ ท่านตัดตรงนั้นได้ทันที ตัดตรงตัวอุปาทาน เพราะได้พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว รู้ว่าสภาวธรรมทั้งหลายนั้น เกิดดับๆ ไปควบคุมบังคับเขาไม่ได้ เช่นเสียงที่เราชอบนี้ เราอยากจะให้มีอยู่ทั้งวัน แต่เราบังคับมันไม่ได้ ถ้าชอบมันพอมันหายไปเราก็จะรู้สึกเหงา แสดงว่าใจไปมีความผูกพันมีอุปาทาน ถ้าเสียงไม่ดีก็อยากจะให้หายไปทันที ก็เป็นอุปาทานอีกแบบหนึ่ง อุปาทานในทางลบ คืออยากจะให้มันหายไป เรียกว่าวิภวตัณหา ภวตัณหาก็คืออยากให้สภาวธรรมนี้มีอยู่เรื่อยๆ วิภวตัณหาก็คืออยากให้สภาวธรรมนี้หายไป ที่ปรากฏในใจรับรู้ด้วยใจ ใจต้องเข้าใจว่าสภาวธรรมทั้งหมดนี้เป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน อย่างที่พูดว่า ยังอดห่วงเรื่องความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะไปยึดกับความต้องเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่รู้อยู่ลึกๆว่าจะต้องเปลี่ยนแปลง ถ้ารับไม่ได้ก็จะทุกข์ ถ้ารู้ว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง ก็ยอมรับมันเสีย จะได้ไม่ทุกข์ ถ้าเราฉลาดรู้ทันไม่หลง ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่เราไม่ค่อยคิดแบบนี้กัน เพราะถูกปลูกฝังมาให้ยึดติด พอชอบอะไรก็จะยึดติดทันที พอเป็นของเราปั๊บก็ต้องอยู่กับเรา พอไปอยู่กับคนอื่นก็เสียใจ เพราะเรายึดติด ไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นไตรลักษณ์ก็จะเฉยๆ เป็นธรรมดาถึงเวลาเขาก็ต้องไป ถ้าเห็นว่าเป็นอนิจจัง เห็นว่าไม่ใช่ของเรา ก็จะไม่ทุกข์ ทั้ง ๓ ตัวนี้จะเกี่ยวข้องกัน ตัวทุกข์นี้จะเกี่ยวกับการรู้ทันหรือไม่ รู้ว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตาหรือไม่ ถ้ารู้ทันก็จะไม่ทุกข์ เพราะจะไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน ถ้าไม่พิจารณาด้วยปัญญาก็จะรู้ไม่ทัน พอมีอะไรเปลี่ยนแปลง มีอะไรจากไป ก็จะทุกข์ขึ้นมาทันที เพียงแต่คิดว่าจะจากไป ทั้งๆที่ยังไม่ทันจากไป ก็ทุกข์ทันที

 

ถาม  จะทำอย่างไรให้ทันทุกเรื่องทุกรายการ

 

ตอบ  ต้องพิจารณาทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้พิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก พิจารณาไตรลักษณ์ทุกลมหายใจเข้าออก เบื้องต้นก็เอาง่ายๆก่อน พิจารณาความตายก่อน กายเป็นสภาวธรรมส่วนหยาบ ส่วนที่ละเอียดเข้าไปก็พวกเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แม้ภายในจิตเองก็มีสภาวธรรม ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สว่างไสวแล้วก็เฉาได้ ไม่สว่างไสวไปตลอด ถ้าไปยึดติดกับความสว่างไสวก็จะพยายามรักษามัน ถ้ารักษาก็ไปยึดติด ยังต้องคอยดูแลรักษา ก็ยังมีความทุกข์อยู่ ทุกอย่างต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ  เหมือนกับปล่อยน้ำ ปล่อยลม ปล่อยแดด ปล่อยอากาศ ควบคุมเขาไม่ได้

 

ถาม  เวลามีอารมณ์โกรธ มีอารมณ์พอใจไม่พอใจออกมา จิตรู้ตามหลัง พอเกิดขึ้นมาแล้วถึงรู้ว่าเราโกรธ เราไม่พอใจแล้วนะ

 

ตอบ  เพราะปัญญายังไม่ได้ตัด ถ้าตัดแล้วก็จะไม่เกิด

 

ถาม  วิธีแก้ของลูกก็คือคอยบอกตัวเองว่า มันอยู่ไม่นาน เดี๋ยวมันก็ดับไป พอทำอย่างนี้บ่อยขึ้นๆ จะรู้ขึ้นมาเลยว่าอยู่ไม่นาน ไม่ต้องคอยบอกแล้ว 

 

ตอบ  เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ยังจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ ว่าอะไรที่ทำให้เราโกรธ

 

ถาม  นี่คือความหมายของคำว่าดูใจตัวเองใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  การดูใจมีอยู่หลายระดับ ดูที่ต้นหรือดูที่ปลาย ถ้าดูที่ปลายก็ดูว่ามันเกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวก็ดับไป แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกเลย เพราะไม่ได้ดูที่เหตุ ถ้าดูที่เหตุดูที่ต้นแล้วจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

 

ถาม  เราไม่สามารถไปคาดการณ์ได้ว่า เราจะโกรธหรือไม่โกรธ แต่เมื่อมันโกรธขึ้นมาแล้ว เราถึงจะตามรู้ได้ ว่ามันเกิดขึ้นมาแล้ว

 

ตอบ  ความโลภความโกรธความหลงมีเหตุ เมื่อดับเหตุได้แล้ว ก็ไม่ต้องไปตามรู้ไปตามแก้ ดับที่เหตุคือความหลง ความหลงทำให้โลภ เมื่อโลภแล้วไม่ได้ดังใจก็โกรธ ความหลงก็คือไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ในสภาวธรรมทั้งหลาย ถ้าเห็นแล้วก็จะไม่โลภไม่อยากได้อะไร เมื่อไม่อยากได้อะไรก็จะไม่โกรธ

 

ถาม  เราคอยเตือนตัวเองตลอดใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ให้รู้ว่าโลกนี้มีแต่ความทุกข์ ถ้าคิดที่จะหาความสุขในโลกนี้แสดงว่าเราหลงแล้ว ความสุขของเราอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่ลาภยศสรรเสริญสุข นี่คือความหลง ถ้าไม่แก้ความหลง ยังแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุขอยู่ ก็จะต้องทุกข์ไม่รู้จักจบ

 

ถาม  แต่การดำเนินชีวิตในโลก ต้องตั้งเป้าหมาย ตั้งยอดขาย ต้องขึ้นเวที มีคนปรบมือให้ ยังต้องเข้าสังคมอยู่

 

ตอบ  ต้องเข้าใจว่า การกระทำต่างๆในโลกนี้เป็นการเล่นละคร อย่าไปเอาจริงเอาจังแบบเอาเป็นเอาตาย ถึงเวลาขึ้นเวทีให้เขาตบมือก็ขึ้นไป แต่ใจต้องเป็นอุเบกขา ไม่ได้ดีใจ อย่างที่หลวงตาท่านบอกว่า ท่านทำอะไรเป็นกิริยาหมด เวลาดุด่าท่าทางเหมือนโกรธแค้นโกรธเคือง แต่ในใจไม่มีอะไร เป็นเพียงกิริยา เป็นการแสดง เราแสดงอย่างนั้นได้หรือเปล่า ถึงเวลาวางแผนก็วางแผนไป ถึงเวลาทำอะไรก็ทำไป พอไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ จะหงุดหงิดหรือเปล่า ถ้าหงุดหงิดมันก็เป็นโทษกับตัวเราเอง ที่ไปเอาจริงเอาจังมากจนเกินไป ลืมไปว่าเราเพียงเล่นละคร ที่เราไปเอาเป็นเอาตายกับมัน เพราะยังติดกับกามสุขอยู่ ถ้าอยากจะกินอะไรแล้วไม่ได้กิน จะหงุดหงิด ทำไมไม่คิดว่าเราเพียงเล่นละคร

 

ถาม  อย่าหวังผลเลิศ อย่าคิดว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  หวังได้แต่อย่าไปยึดติดกับความหวัง

 

ถาม  มีหน้าที่อะไรที่ต้องทำก็ทำไป แต่ไม่คาดหวัง

 

ตอบ  ทำไป แต่อย่าไปมีอารมณ์กับสิ่งที่เราทำ ทำด้วยเหตุด้วยผล มีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป ถ้ามีอุปสรรคมีปัญหาก็อย่าไปว้าวุ่นขุ่นมัว พยายามแก้ไป แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ไม่เสียใจ วางเฉยเป็นอุเบกขา แต่ถ้าจิตไม่ลงถึงฐาน จิตไม่รวม จะไม่รู้ว่าอุเบกขาจริงๆเป็นอย่างไร อุเบกขาของพวกเราเป็นแบบเฉยเมย แต่ใจวุ่นวาย ครูบาอาจารย์ท่านถึงเน้นว่าต้องสมถะก่อน จิตต้องลงถึงฐาน ไม่อย่างนั้นจะหาจุดว่างจุดอุเบกขาของจิตไม่เจอ แต่ฐานของสมาธินี้ยังไม่มั่นคง อำนาจของกิเลสยังทำให้เอนไปซ้ายขวาได้ ต้องใช้ปัญญาตัดตัวที่จะดึงจิตให้ออกจากฐาน ออกจากความว่าง ออกจากอุเบกขา ในเบื้องต้นเราต้องรู้ว่าความว่างอยู่ตรงไหนก่อน เหมือนเวลาชั่งน้ำหนัก ต้องหาจุดศูนย์ของตาชั่งให้ได้ก่อน ถ้าตาชั่งไม่อยู่ตรงศูนย์ เวลาชั่งจะไม่ตรงกับความจริง จิตที่ยังไม่สงบเวลาพิจารณา จะมีอคติ ทำให้ไม่เห็นตามความเป็นจริง

 

ถาม  การทำจิตให้สงบนี้ จำเป็นต้องนั่งนานๆ เดินจงกรมนานๆไหมคะ

 

ตอบ  ไม่จำเป็น อยู่ที่ทำแล้วมันได้ผล

 

ถาม  ถ้าว่างสัก ๕ นาที ๑๐ นาที ก็กำหนดดูลมหายใจ อย่างนี้ก็ถือว่าได้เหมือนกัน

 

ตอบ  ได้  มีวิธีทำสมาธิถึง ๔๐ ชนิด คือกรรมฐาน ๔๐

 

ถาม  ไม่เกี่ยวกับระยะเวลา

 

ตอบ  ไม่เกี่ยว

 

ถาม  บางคนนั่งภาวนาได้ ๒ – ๓ ชั่วโมง  แต่เราไม่มีเวลา ได้เพียง ๕ นาทีอยู่กับลมหายใจ อย่างนี้ก็ได้เหมือนกันใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  บางคน ๕ นาทีจิตลงถึงฐานเลย  ถ้ายังไม่ลงถึงฐานก็ยังไม่ดี

 

ถาม  ทราบได้อย่างไรคะ ว่าเราว่างเราสบาย

 

ตอบ  จะรู้เอง เหมือนกับตกหลุมตกบ่อตกเหว หายเงียบไปเลย หายไปหมดเลย ร่างกายหายไปหมดเลย ต้องรู้เอง ถ้าลงจริงๆแล้วไม่ต้องไปถามใคร 

 

ถาม  เบาโปร่งสบาย ไม่ได้คิดอะไร เหมือนว่างอยู่ แต่รู้อยู่ ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  สงบแต่ยังไม่รวมเต็มที่ ถ้ารวมเต็มที่จะเหมือนหูดับตับไหม้

 

ถาม  เหมือนจิตตกเหว

 

ตอบ  บางทีร่างกายกลายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน หายไปจากความรับรู้เลย

 

ถาม  แต่มันไม่นาน จำเป็นต้องนานไหมเจ้าคะ หรือแล้วแต่

 

ตอบ  นานได้ก็ดี ถ้าไม่นานก็พยายามทำไป ใช้ความสงบนี้เป็นฐานของวิปัสสนาได้ คือเรารู้แล้วว่าจิตว่างเป็นอย่างไร หน้าที่ของเราขั้นต่อไปก็คือ รักษาความว่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำงานทำการรับรู้อะไรต่างๆ ก็อย่าให้ออกจากฐานของความว่างนี้ ถ้าออกปั๊บมันจะรู้ พอโลภปั๊บจะรู้ พอโกรธปั๊บจะรู้ เป็นเหมือนกับน้ำนิ่ง พอใครโยนอะไรลงไป แม้แต่ก้อนกรวดเม็ดเล็กๆ น้ำจะกระเพื่อมขึ้นมาทันที ถ้าเป็นกิเลสจิตจะกระเพื่อมขึ้นมาทันที เวลาคิดมันปรุงหรือมีปฏิกิริยากับอะไรที่เห็นที่ได้ยิน จะกระเพื่อม พอใครพูดอะไรปั๊บ ถ้าเป็นกิเลสก็จะกระเพื่อมขึ้นมา ถ้าไม่เป็นกิเลสก็จะเฉยๆ ถ้าได้สมาธิแบบนี้แล้ว จะรู้เองว่าจะทำอย่างไรต่อไป เห็นแล้วว่าภารกิจที่แท้จริงอยู่ภายใน อยู่ที่ความกระเพื่อมของจิต จะทำอย่างไรไม่ให้มันกระเพื่อม ในขณะที่อยู่ในสมาธิจิตจะสงบนิ่ง แต่พอออกไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ กับบุคคลต่างๆ ยังไม่สามารถรักษาความนิ่งได้ เราจึงต้องหาวิธีรักษาให้ได้ ก็ต้องอาศัยปัญญา ต้องเข้าใจไตรลักษณ์ เข้าใจสมมุติ ถ้าเข้าใจแล้วก็จะปล่อยได้หมดทุกอย่าง ถ้ายังคิดว่าเป็นจริงเป็นจังอยู่ ก็จะไม่ปล่อย ถ้ามองธนบัตรเป็นเพียงกระดาษ แสดงว่าปล่อยได้แล้ว ถ้ายังเห็นว่าเป็นเงินอยู่ก็ยังปล่อยไม่ได้ 

 

ถาม  ผมใช้วิธีเจริญสติแล้วก็อยู่กับรู้ อยู่กับอากัปกิริยาปัจจุบัน มีอยู่วันหนึ่ง ได้ตั้งใจจะสวดมนต์ แต่จิตอยากจะเดินจงกรม ผมก็ไปเดินจงกรม เดินสักประมาณ ๕ หรือ ๑๐ นาที ปรากฏว่าขณะเดินนั้นเกิดความเข้าใจข้างในว่า ทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับเรานี่ มันอยู่ที่ตัวจิตไปสัมผัสกับอารมณ์จากทวารต่างๆ สิ่งต่างๆที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ แล้วก็เอามาปรุงแต่ง ถ้าจิตไม่รับเอามาคิดปรุง ทุกข์จะไม่เกิด ความคิดนี้เป็นตัวร้ายที่สุด แม้เราอยู่คนเดียวความคิดก็ยังเล่นงานเราได้

 

ตอบ  เป็นความเข้าใจในสภาวธรรม ต้องนำเอาไปปฏิบัติให้ได้อย่างต่อเนื่อง ในทุกขณะที่จิตคิดเลย พอเกิดความรู้อะไร ก็อย่าเอามาปรุงแต่ง ถ้าจะปรุงแต่งก็ให้ปรุงไปในทางไตรลักษณ์เสมอ เห็นอะไรก็บอกไม่เที่ยงนะ ทุกข์นะ ไม่ใช่ของเรานะ มันก็จะหดตัวเข้ามา จะไม่อยากได้ เห็นลูกก็บอกไม่ใช่ลูกเรานะ เดี๋ยวก็ตายแล้วนะ ต้องคิดอย่างนี้ จะได้ปล่อยวางได้ ต้องย้ำเตือนอยู่เรื่อยๆ พอห่วงเรื่องอะไร เดี๋ยวมันก็ผ่านไป แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ไม่แก้ บริษัทจะเจ๊งก็ให้มันเจ๊งไป เราเตรียมตัวไว้แล้ว เรามีร่มชูชีพแล้วจะไปกลัวอะไร ตอนนี้มีเงินอย่าไปใช้จนหมด เก็บไว้บ้าง เผื่อวันข้างหน้าหากบริษัทเจ๊ง จะได้มีอะไรไว้รองรับ สิ่งที่เราทำได้กลับไม่ค่อยทำกัน ชอบทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ มีเงินแทนที่จะเก็บไว้ก็เอาไปใช้ ถ้าไม่ได้ใช้แล้วจะตายให้ได้ พอใช้แล้วมีความสุข แต่ไม่คิดถึงอนาคต หากไม่มีรายได้ขึ้นมาจะทำอย่างไร คิดถึงตอนนั้นบ้างสิ แล้วเราจะมีกำลังต่อรอง ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร งานนี้ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร จะต้องปิดบริษัทก็ปิดไป ไม่เดือดร้อน

 

ถาม  ถ้าจิตจะปรุง ให้ปรุงไปในทางไตรลักษณ์

 

ตอบ  เป็นปัญญา เป็นการเจริญวิปัสสนา ถ้าคิดไปในทางไตรลักษณ์ทุกครั้งเลย พอเจอใครปั๊บก็บอกนี่เป็นไตรลักษณ์ มาเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็จากไปแล้ว ไม่ต้องไปดีใจ ถ้าดีใจเวลาเขาจากไปก็จะเสียใจ สังเกตดูเวลาเราอยู่คนเดียวเรารู้สึกเหงา พอมีใครมาเยี่ยมเราดีใจ พอเขาไปเราก็กลับมาเหงาเหมือนเดิม ถ้าอยู่คนเดียวได้ ใครมาใครไปเราจะไม่รู้สึกดีใจ ไม่รู้สึกเสียใจ เป็นการเตือนใจ ถ้ามีไตรลักษณ์อยู่คู่กับสัญญาสังขาร อยู่กับความรู้สึกนึกคิด จะไม่ยึดติด ไม่ห่วงไม่กังวลกับอะไรเลย พระอัญญาโกณทัญญะท่านจึงอุทานว่า มีการเกิดย่อมมีการดับเป็นธรรมดา มีมาก็ต้องมีไป มีได้ก็ต้องมีเสีย มีเกิดก็ต้องมีตาย คิดอยู่แค่นี้ก็พอแล้ว 

 

ถาม  วันนี้ตัวเรารู้สึกว่าเราพอแล้ว แต่เราต้องดูแลครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง ส่งหลานเรียนอะไรอย่างนี้ ก็ยังต้องทำต่อไป

 

ตอบ  เขาช่วยตัวเขาเองไม่ได้หรือ

 

ถาม  ช่วยไม่รอดค่ะ เขายังต้องพึ่งเราอยู่

 

ตอบ  ถ้าเขายังต้องพึ่งเราอยู่ ก็ต้องทำไปก่อน จนกว่าจะหาวิธีปลดเปลื้องภาระนี้ได้ ให้คนอื่นเขารับช่วงไปแทน

 

ถาม  แต่ถ้ายังไม่มี ลูกก็บอกตัวเองว่าเรากำลังสร้างบารมีอยู่

 

ตอบ  กลัวจะเป็นอุบายของกิเลสเสียมากกว่า ถึงบอกว่าต้องพยายามหาวิธีปลดเปลื้องภาระ ถ้าปลดได้เร็วเท่าไหร่ได้ยิ่งดี อย่าปล่อยให้ภาระนี้มาเป็นข้ออ้าง ทำให้เราไม่ไปบำเพ็ญธรรมที่สูงกว่านี้

 

ถาม  ทุกเดือนต้องเอาเงินเข้าบัญชีให้เขา

 

ตอบ  ถ้าสมมุติว่าวันนี้เราตายไปแล้วจะทำอย่างไร

 

ถาม  ก็เป็นเรื่องสุดวิสัย ก็คิดอย่างนั้นอยู่เหมือนกัน

 

ตอบ  ไปออกบวช ก็เป็นเรื่องสุดวิสัยเหมือนกัน

 

ถาม  ที่บอกให้ตัดออกไป มันก็ยากนะ รู้อยู่ว่ามันเป็นทุกข์

 

ตอบ  เป็นกรรมของเรา โมหะอวิชชาของเรามันมาก ถ้าเราจะตัดจริงๆมันตัดได้ทุกเมื่อ อยู่ที่เราจะกล้าตัดหรือไม่ คนเราแต่ละคนมีสิทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ที่จะทำอะไรก็ได้ อย่าไปอ้างคนอื่นเลย มันเป็นข้ออ้างมากกว่า พวกเราส่วนใหญ่ยังตัดไม่ได้กัน เลยเกาะกลุ่มกันอยู่ ถ้าตัดได้คงจะปลีกไป แยกออกจากวงการไปแล้ว แต่มันยากเหมือนติดยาเสพติด ติดคนติดอะไรต่างๆเหมือนติดยาเสพติด ติดแล้วเวลาต้องจากกัน มันทรมานใจ เป็นกรรมที่ทำให้ต้องอยู่ด้วยกัน ยังตัดกันไม่ขาด

 

ถาม  มีอยู่วันหนึ่งพอเจริญสติแล้วก็ตามดูตามรู้จิตครับ ช่วงนั้นเกิดความสงบ ทีนี้ในใจอยากจะเฝ้าดูมันให้นานๆ คืออยากจะอยู่กับตรงนั้นนานๆ ก็เลยมานึกถึงคำบริกรรมพุทโธขึ้นมา บริกรรมแล้วจะทำให้สติเราไม่หนี ก็เลยบริกรรมพุทโธ พอเริ่มบริกรรมปุ๊บมันกลับเป็นความสว่างขึ้นมา ไหลมา ความสงบนี้หายไปเลย ในใจไม่ต้องการแบบนี้ ต้องการให้สงบนานๆ พอถอยออกจากภาพนั้นแล้ว กลับเข้าไปที่สงบเดิมไม่ได้ โดนปิดกั้นไปเลย

 

ตอบ  มันนิ่งอยู่แล้ว เราไปทำให้มันไม่นิ่งเอง

 

ถาม  มันเลยถอยหลัง

 

ตอบ  ใช่  พอเราพุทโธปั๊บ มันก็ปรุงแต่งแล้ว ถ้ามันนิ่งก็ปล่อยมันนิ่งไป ทีนี้เกิดความโลภขึ้นมาเป็นกิเลส อยากจะให้มันอยู่นานๆ ก็เลยคิดว่าใช้พุทโธแล้วจะอยู่นาน คราวหน้าถ้ามันนิ่งอย่างนั้นอีก ก็ปล่อยให้มันนิ่ง ให้มีสติรู้อยู่กับความนิ่ง อย่าไปโลภ ต้องรู้ว่ามันก็เป็นอนิจจัง มันจะนิ่งนานหรือไม่นานก็ปล่อยมันไปตามเรื่อง พอถอนออกมาก็พิจารณาไตรลักษณ์ต่อ

 

ถาม  มันเหมือนถอยลงไปอีกขั้นหนึ่งใช่ไหมครับ

 

ตอบ มันดีอยู่แล้ว แต่กลัวมันจะหมด กลัวมันจะหายไป เลยคิดว่ามีพุทโธแล้วจะทำให้มันอยู่ได้นาน แต่พุทโธกลับมาไล่มันหายไปเลย

 

ถาม  ถ้าเฝ้าถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น

 

ตอบ ใจต้องเป็นอุเบกขาเสมอ เป็นกลางเสมอ รู้ตามความเป็นจริง ตอนที่ผลปรากฏ ก็ให้รู้ว่ามันเป็นแค่นี้ มันเป็นแบบนี้ ได้แค่นี้ ก็ได้แค่นี้ไปก่อน ถ้าอยากจะได้มากกว่านี้ ก็รอให้มันถอนออกมาจากความสงบก่อน แล้วค่อยพุทโธกลับเข้าไปใหม่ ถ้าไม่กลับเข้าไปใหม่ อย่างน้อยความสงบนี้ก็ยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่ ทำให้เราเย็นสบาย ทำอะไรก็พยายามรักษาความเย็นสบายนี้ไว้ คอยเตือนตนอยู่เรื่อยๆว่า อย่าไปยึดอย่าไปติดกับอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น เตือนสติไปเรื่อยๆ จะอยู่ในสภาพนั้นไปตลอดไม่ได้ ต้องออกมาทำภารกิจต่างๆ เราก็ใช้วิธีรักษาไม่ให้มันวุ่นวายได้ ๒ วิธีด้วยกันคือ ใช้พุทโธไปเรื่อยๆก็ได้ แต่จะเป็นแค่ระดับสมาธิ หรือใช้ไตรลักษณ์เตือนตนไปเรื่อยๆก็ได้ บอกว่าไอ้นี่ก็ไม่เที่ยง ไอ้นั่นก็ไม่เที่ยง อย่าไปยึดอย่าไปติด ถ้าไม่อยากจะทุกข์ มีหน้าที่อะไรทำก็ทำไป มีอะไรต้องดูแลรักษาก็ดูแลรักษาไป เพียงแต่ให้รู้ว่าเราเป็นเพียงผู้ดูแลรักษา ไม่ใช่เจ้าของจริง สักวันหนึ่งเจ้าของจริงก็จะมาเอาไป คือธรรมชาติจะเอากลับคืนไป ทุกอย่างจะต้องกลับคืนไปสู่ดินน้ำลมไฟหมด แม้แต่ร่างกายเราก็เช่นเดียวกัน พอถึงเวลาเจ้าของก็มาขอคืนไป เราเป็นเพียงผู้ดูแลรักษาร่างกายนี้เท่านั้น พอถึงเวลาที่เขาจะเอากลับไปสู่บ้านเก่า กลับไปสู่ที่เดิมของเขา กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ ก็ให้เขาไป เราก็จะไม่ทุกข์ ทั้งร่างกายของเรา ทั้งร่างกายของผู้อื่น ก็เช่นเดียวกัน ถึงเวลาก็ต้องกลับคืนสู่สภาพเดิมด้วยกันทุกคน ถ้าคอยเตือนอยู่เรื่อยๆแล้ว ใจจะสบาย ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว ถึงเวลาไปก็ไป ถ้ายังต้องอยู่ก็อยู่ไป

 

ถาม  ปกติผมจะพยายามเจริญสติอยู่กับรู้นะครับ แต่ทำไม่ได้ต่อเนื่อง เป็นระยะๆที่มีสติตามรู้ ขณะที่สติตามรู้มันจะดี มันจะว่าง ตัวรู้มันเหมือนแสงไฟกระจายออกมา ถ้าอยู่ตรงนั้นนานๆมันจะว่างไปเลย คือตัวรู้มันจะทะลุทะลวงทุกอย่าง เป็นความว่างที่บางครั้ง เหมือนกับความสว่าง บางครั้งเหมือนความว่างในตัวตน ขณะที่มีอารมณ์มากระทบ ตัวจิตจะอยู่ตรงนี้ แต่อารมณ์จะอยู่รอบๆ แต่ไม่ได้พิจารณาสังขาร พิจารณาไตรลักษณ์ต่อ ควรปล่อยอย่างนี้ไปก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาทีหลัง หรืออย่างไรดีครับ

 

ตอบ ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะติดในสมาธิ เพราะฉะนั้นเวลาออกจากความว่างนี้แล้ว ก็ต้องพิจารณาทุกอย่างให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ ภาพที่เห็นนี้ก็เป็นไตรลักษณ์ เสียงที่ได้ยินก็เป็นไตรลักษณ์ อะไรที่มาสัมผัสนี้เป็นไตรลักษณ์หมด

 

ถาม  อาการที่เกิดนี้ ลืมตาก็เป็นนะครับ ช่วงที่มีสติเราจะรู้ว่า มันรู้อยู่ ที่เดินก็เดิน ไม่รู้ว่ามันคือสมาธิหรือเปล่า มันก็เป็นความว่าง แต่ว่าเราก็มีอากัปกิริยาเดินๆไป ถ้ามันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆมันก็มีความสุขดี ผมทำในลักษณะนี้ตั้งแต่วันที่เกิดความรู้สึกว่า จริงๆแล้วสุขทุกข์มันอยู่ที่ใจเรา ถ้าจิตไม่แส่หาเรื่องแล้วมันจะไม่ทุกข์ ผมก็จะพยายามให้มันรู้อยู่ที่จิตตัวนี้ ให้มันมีความสุขตลอดเวลาโดยไม่ต้องไปมีอะไรเลย

 

ตอบ ที่ให้พิจารณาไตรลักษณ์ ก็เพื่อจะได้ไม่ไปมีอะไรกับอะไร ถ้าไม่พิจารณามันจะเผลอ มันก็จะไป  ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พอมันจะไป เราก็ดึงมันไว้ได้ บอกไปทำไม ไปแล้วได้อะไร เรามีของดีอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว

 

ถาม  ให้พิจารณาไตรลักษณ์ เพื่อคลายอุปาทาน ใช่ไหมคะ

 

ตอบ ใช่ ถ้าเป็นเพียงสมาธิจะหยุดตัวที่จะไปหาไม่ได้ ต้องหยุดมันด้วยไตรลักษณ์นี้ บอกว่าสิ่งที่เราไปหานี้มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เหมือนยาเสพติด อย่าไปหามัน เป็นความสุขก็จริง แต่เป็นความทุกข์มากกว่า เพราะมันไม่เที่ยง สุขเดี๋ยวเดียว แล้วก็หมดไป เดี๋ยวก็ต้องเสพใหม่อีก ถ้าไม่ได้เสพก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ ต้องพิจารณาอย่างนี้

 

ถาม  ตอนนี้คิดว่า ถ้าจะนั่งภาวนานั่งสมาธิ ก็เพื่อให้มีสติ ให้จิตมีกำลังรู้ทันสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้น

 

ตอบ รู้ทันอะไร

 

ถาม  รู้ทันอารมณ์กระทบ อะไรที่จะเข้ามา แม้แต่การที่จะต้องสูญเสียพลัดพรากจากกัน

 

ตอบ จะรู้ทันได้อย่างไร ก็ต้องรู้ว่ามันไม่เที่ยงไง ถ้ารู้ว่ามันไม่เที่ยงมันก็จะไม่มากระทบ ลองถามตัวเองดู ถ้าหากลูกตายไป จะรู้สึกเฉยๆหรือเปล่า

 

ถาม  ผมก็พยายามเตรียมตัวรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำเป็นระยะๆ แต่ไม่ได้ทำตลอดเวลา ยังขาดความต่อเนื่อง ไม่ได้ทำสม่ำเสมอ

 

ตอบ นั่นแหละเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ถ้าไม่ต้องการให้มีอารมณ์มากระทบกับจิต ไม่มารบกวนความสงบของจิต รบกวนอุเบกขา จะรักษามันได้อย่างไร เราได้มาจากสมาธิแล้ว แต่จะถูกทำลายด้วยความหลงความโลภความโกรธ ถ้ายังมีความหลงอยู่ ก็ยังจะกระทบกระเทือนจิตใจได้ ถ้าเรารู้ทันว่าเป็นไตรลักษณ์ เรายอมรับ เรารู้ล่วงหน้าแล้วว่า มันจะต้องเป็นอย่างนี้ พอมันเป็นขึ้นมาเราก็นิ่งเฉยได้ นั่นแหละที่สอนให้พิจารณา พอไม่พิจารณานี่ เหมือนกับลืมไปว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ พอเป็นขึ้นมาก็จะรับไม่ได้ ตอนต้นเราทำสมาธิ สมาธิก็ระงับดับสิ่งที่มากระทบกับจิตได้ชั่วคราว พอออกจากสมาธิ ก็กลับเป็นเหมือนเดิม พอได้เห็นอะไรได้ยินอะไรสัมผัสอะไร ก็จะกระทบใจ เพราะใจยังไปรับมาเป็นอารมณ์อยู่

 

ถ้าพิจารณาจนเห็นเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีอะไรเป็นของเรา ไม่ได้เป็นตัวตน เป็นแค่ดินน้ำลมไฟ เราก็จะเฉยๆ เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดว่าเป็นของเรา หรือให้ความสุขกับเรา ถ้ายังมองว่าจะให้ความสุขกับเรา เป็นของเรา ก็จะมีอารมณ์กับสิ่งนั้นทันที พอคิดว่าจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ใจก็เศร้าขึ้นมาทันที ร่างกายของเราทุกคนนี้เป็นเหมือนกันหมด แต่ทำไมเราจึงเสียใจเฉพาะของคนบางคน คนที่เราไม่ได้มีความผูกพันด้วย เราไม่มีอารมณ์อะไรกับเขา เขาจะเป็นอะไรเราก็เฉยๆได้ แต่คนที่เราให้ความสำคัญนี่ เราเฉยๆไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ไหน อยู่ที่ไปให้ความสำคัญกับเขา เพราะอะไร เพราะเราโง่ใช่ไหม เราหลงสมมุติใช่ไหม สมมุติว่าเขาเป็นพ่อเรา เป็นแม่เรา ทำไมไม่ดูว่าเป็นเพียงร่างกาย กายเขากายเราเป็นกายเหมือนกัน ดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ตายเหมือนกัน ถ้ากายนั้นตายเราไม่รู้สึกอะไร แล้วกายนี้ตายจะไปรู้สึกอะไรทำไม มันก็กายเหมือนกัน ลองถามตัวเองดู ไล่ไปอย่างนี้ ไล่หาเหตุหาผลไป ก็จะสรุปลงว่า เราไปแยกแยะเอง ไปหลงสมมุติ สมมุติที่แยกแยะว่า อันนี้เป็นของเรานะ อันนี้ไม่เป็นของเรา ถ้าไม่ใช่ของเรา เราไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นของเรานี้ ใครแตะไม่ได้ แต่ความจริงธรรมชาติไม่ว่าเป็นของใครทั้งนั้น ถึงเวลาเขาเอาไปหมด เขาขอคืนหมด ของเขาๆก็เอาไป ของเราเขาก็เอาไปเหมือนกัน

 

เราต้องเอาจินตมยปัญญามาเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญามี ๓ ขั้น ที่พูดให้ฟังนี้ก็เป็นสุตตมยปัญญา ถ้าเอาไปคิดต่อก็เป็นจินตมยปัญญา ถ้าพิจารณาทุกลมหายใจเข้าออกก็เป็นภาวนามยปัญญา  คิดทุกลมหายใจเข้าออกเลย จนปลงได้ปล่อยได้ ไม่กังวลกับเขาแล้ว ทีนี้ก็หยุดพิจารณาได้แล้ว เราไม่กังวลแล้ว ไม่ต้องพิจารณาก็ได้แล้ว เพราะรู้ว่าไม่มีปัญหากับเขาแล้ว ต้องไปถึงตรงนั้นให้ได้ พอถึงตรงนั้นแล้วก็จะสบาย พอเสร็จแล้วก็ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป เรียนจบแล้ววิชานี้ เอาเรื่องอื่นต่อ คนนี้หมดปัญหาไปแล้ว เอาคนอื่นมาพิจารณาต่อ หรือจะพิจารณาพร้อมกันหมดเลยก็ได้ ร่างกายของคนทุกคนเป็นเหมือนกันหมด เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูก เป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อน เป็นใครก็ตาม เป็นเหมือนกันหมด พิจารณาให้ครอบไปหมดเลย แล้วก็กลับมาพิจารณากายเราด้วย กายนอกก็คนอื่น กายในก็กายเรา ไม่ใช่เห็นแต่คนอื่นตายไปหมด แต่ไม่เห็นตัวเราจะต้องตายด้วย พอรู้ว่าจะต้องตายจะทำใจไม่ได้ พิจารณาทั้งกายนอกทั้งกายใน เพื่อตัดความทุกข์ความวุ่นวายใจ เท่านั้นเอง ไม่ได้ไปฆ่าเขา ไม่ได้ไปสาปแช่งให้เขาตาย บางคนคิดว่าพอไปคิดว่าเขาจะตายนี้ เหมือนไปสาปไปแช่งเขา ไม่ใช่ เป็นการสอน เป็นการเรียนธรรมชาติของร่างกายนี้ ว่าเป็นอย่างไร ร่างกายนี้มีแก่เจ็บตาย เป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ไม่สวยงาม เพื่อจะได้คลายความหลง คลายความทุกข์กับร่างกายเท่านั้นเอง

 

ความจริงเราก็คิดกันอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญา ภาวนาคือการเจริญอยู่เรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง เช่นเดินจงกรมก็พิจารณา พอเหนื่อยก็หยุดพิจารณา มาทำจิตให้สงบพักเอาแรงก่อน พอจิตถอนออกมาแล้ว ก็พิจารณาใหม่ พิจารณาไปเรื่อยๆ แต่คงจะทำกันไม่ได้ เพราะต้องเอาจิตไปทำอย่างอื่น ถ้าเป็นรถจะเอาไปวัดทุกวันก็ไม่ได้ เพราะต้องไปโรงพิมพ์ ต้องไปซื้อกับข้าวซื้อข้าวซื้อของ จิตก็เป็นเหมือนรถ ต้องทำหลายอย่าง  ถ้าไม่อยากให้ทำหลายอย่างก็ต้องบวช ถ้าบวชแล้วก็ทำอย่างเดียว ไม่ว่าจะทำกิจอะไร ก็สามารถพิจารณาไปได้เรื่อยๆ ปัดกวาดก็พิจารณาได้ บิณฑบาตก็พิจารณาได้ ถ้ายังต้องทำมาหากินก็ต้องคิดมาก มีลูกน้องมีลูกจ้าง มีรายรับรายจ่าย มีภาษีต้องเสีย ก็จะไม่มีเวลาภาวนา ไม่เกิดวิปัสสนา รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมา อย่างมากพอว่างตอนไหนก็ได้แค่มีสติดูจิต เพราะคิดมามากแล้ว ไม่อยากจะคิดอะไร อยากจะพักจิตมากกว่า ก็จะอยู่แค่ระดับสมาธิ พอออกจากสมาธิก็ไปทำงานทางโลกต่อ เพราะยังมีภาระทางโลกที่จะต้องทำอยู่ นอกจากเราฉลาด ในขณะที่ทำภารกิจทางโลก ก็เอาธรรมะสอดแทรกไปเรื่อยๆ ว่ามันไม่เที่ยงนะ เดี๋ยวก็จบ เดี๋ยวก็ตาย ถ้ามีสอดแทรกไปเรื่อยๆ ก็พอจะมีธรรมะ อาจจะเป็นภาวนามยปัญญาก็ได้ อย่างพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้บวช ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ แต่บรรลุตอน ๗ วันก่อนที่จะเสด็จสวรรคต วันนั้นท่านคงจะเห็นร่างกายไม่เที่ยงจริงๆ คงจะพิจารณาอย่างเต็มที่เลย จนปล่อยวางได้เลย

 

ถ้าไม่คิดในทางไตรลักษณ์ จะไม่มีทางเกิดปัญญาได้เลย ไม่มีทางที่จะตัดกิเลสได้เลย ไตรลักษณ์เป็นอาวุธสำคัญที่สุดของพระศาสนาเลย ไม่มีในศาสนาอื่น ศาสนาอื่นอาจจะเห็นทุกข์ อาจจะเห็นอนิจจาความไม่เที่ยง แต่ไม่เห็นอนัตตา ไม่มีใครเห็น มีแต่พระพุทธเจ้าที่เห็น เพราะพระพุทธเจ้าทรงเห็นจิต เห็นว่าจิตกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน ร่างกายไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ร่างกาย ถ้ายังหลงว่าจิตเป็นเรา ก็ต้องแยกความหลงออกจากจิต จิตก็ไม่ใช่เป็นเรา จิตก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นธาตุรู้ สรุปแล้วไม่มีเรา เราเป็นสมมุติ ที่อวิชชาความหลงสร้างขึ้นมา พอมีเรามันก็มีอุปาทานยึดติด มีตัณหาความอยากตามมา ถ้ารู้ว่าใจไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องมีอะไร ก็จะคลายความโลภความอยากได้

 

วันนี้คงจะกระจ่างเรื่องสมาธิกับปัญญา ถึงแม้จะไม่มีสมาธิเราก็พิจารณาไปก่อนบ้างก็ได้ เป็นการฝึกไปก่อน ให้เป็นนิสัย ถึงแม้จะไม่ได้ผลมาก ก็ยังได้ประโยชน์บ้าง เพราะปัญญาก็อบรมสมาธิได้ ถ้าบริกรรมไม่ถูกจริตกับเรา สวดมนต์ไม่ถูกจริต ดูลมหายใจไม่ถูกจริต ก็พิจารณาเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตาไป ก็ทำให้จิตสงบได้ แล้วแต่จริตของแต่ละคน บางเวลาจิตอาจจะชอบแบบนี้ บางเวลาอาจจะชอบแบบนั้นก็ได้ จิตเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ เหมือนกับกินอาหารจานโปรด ถ้ากินทุกวันก็จะเบื่อได้ ก็อยากจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ถ้าภาวนาพุทโธแล้วรู้สึกไม่ค่อยได้เรื่อง ลองพิจารณาธรรมบ้างก็ได้ ว่าเราเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย คนอื่นก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกัน ขอให้นำไปปฏิบัติ