กัณฑ์ที่ ๓๘๓       ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๑

 

      

อย่ากุสลานะ

 

 

 

เรื่องบวชพระถวายเป็นกุศลแก่หลวงตานี้ พวกเราเอาหลวงตามาเป็นเหตุ ผู้ที่จะได้ผลก็คือผู้บวชเอง อาศัยความกตัญญูกตเวที ความรักเคารพในองค์ท่าน ความปรารถนาให้ท่านอยู่กับเราไปนานๆเป็นเหตุ ทำให้คนที่โดยปกติอาจจะไม่ได้คิดบวชกันจะได้บวชกัน เมื่อบวชแล้วก็จะได้รับผลจากการบวช สำหรับองค์ท่านเองนั้น เรื่องกุศลนี้ท่านถึงพร้อมแล้ว ทั้งบุญและบาปท่านละได้หมดแล้ว ท่านไม่ต้องบำเพ็ญแล้ว ท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า อย่ากุสลานะ ตอนเราตายอย่ากุสลา กุสลาคือกุศล แปลว่าความฉลาด คนเราจะฉลาดได้ ต้องฉลาดในตอนเป็น ตอนที่มีชีวิตอยู่ ต้องสวดตอนที่เป็น หมายความว่าให้ฟังธรรมะในตอนที่มีชีวิตอยู่ ถ้าตายไปแล้วอย่าไปเคาะโลงศพ ไปนิมนต์พระมาสวด คนตายฟังไม่รู้เรื่อง อย่างหนังสือที่ชื่อว่า เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน คนตายอ่านไม่ได้ ต้องคนเป็นถึงจะอ่านได้ อย่างพวกเรานี้เป็นคนเป็นอยู่ตอนนี้ ถ้าอยากจะสร้างกุศลต้องสร้างกุศลตั้งแต่ตอนนี้ ดูพระพุทธเจ้าดูพระสาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง ท่านสร้างกุศลในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่กัน ในสมัยพุทธกาลงานศพก็ไม่มีการสวดกัน มีแต่ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน เพราะประโยชน์อยู่ตรงนั้น การฟังเทศน์ฟังธรรมทำให้เกิดกุศล สมัยนี้เวลาสวดกันคนฟังก็ไม่เข้าใจความหมาย คนสวดบางทีก็ไม่เข้าใจความหมาย เป็นเหมือนนกแก้ว นกแก้วถ่ายทอดสู่นกแก้ว แก้วจ๋าๆกันมาตลอด แต่ไม่รู้ว่าแก้วเป็นอะไร เจอแก้วก็เขี่ยทิ้งไป เหมือนไก่ได้พลอย คุ้ยเขี่ยๆหาแต่ตัวหนอนตัวไส้เดือน พอเจอพลอยเจอเพชรก็เขี่ยทิ้งไป เพราะไก่กินเพชรกินพลอยไม่ได้ ไก่จะเอาแต่ตัวหนอนตัวไส้เดือน เหมือนบุคคลที่ไม่ฉลาดที่ไม่มีกุสลา จะไม่เห็นธรรมะว่าเป็นเพชรเป็นพลอย จะเห็นว่าเป็นก้อนหินไป จะเห็นแต่เงินทองว่าเป็นของมีค่า เห็นธรรมะเป็นของไม่มีค่า จึงบวชกันยากทั้งหญิงและชาย หญิงก็บวชได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นชาย เพราะการห่มเหลืองห่มขาว โกนหัวไม่โกนหัวนี่ เป็นเพียงรูปแบบ

 

การบวชจริงอยู่ที่การปฏิบัติชำระกายวาจาใจ อยู่ที่การสละ สละทรัพย์สละครอบครัว สละยศถาบรรดาศักดิ์ สละความสุขทางโลก เพื่อเข้าสู่ความสุขทางธรรม สู่ความสงบ นี่คือการบวชที่แท้จริง บวชแล้วไม่ปฏิบัติไม่สละจริง ก็ไม่ได้บวชจริง บวช ๕ วัน ๑๐ วัน ๒ อาทิตย์ ๓ อาทิตย์ ๓ เดือน แล้วก็ลาสิกขาไป ยังไม่ถือเป็นการบวชที่แท้จริง สู้พวกที่ไม่ได้โกนหัว ไม่ได้ห่มผ้าขาวผ้าเหลือง แต่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำไม่ได้ ถึงแม้จะไม่มีรูปแบบของการบวช แต่มีสาระของการบวช คือใจก็มีจาคะเสียสละอยู่เรื่อยๆ มีอะไรที่ไม่ใช้ไม่ต้องการก็ไม่หวงเก็บเอาไว้ เก็บไว้เท่าที่จำเป็น สำหรับดูแลตนเองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ถ้ามีมากกว่านั้นก็ไม่เก็บเอาไว้ให้รกรุงรัง นี่คือจาคะการเสียสละ ศีลก็ตั้งอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘  ศีล ๕ ในวันปกติ ศีล ๘ ในวันธรรมสวนะ ในวันพระ ถ้าเจริญขึ้นไปได้ก็รักษาศีล ๘ ไปทุกวัน ก็พอเป็นฐานของการบำเพ็ญจิตตภาวนา ทำจิตใจให้สงบให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริง บำเพ็ญอย่างต่อเนื่อง ทั้งสมาธิและปัญญาสลับกันไป สมาธิเป็นที่พักของจิต ปัญญาเป็นที่ทำงาน เหมือนบ้านกับสำนักงาน ตอนเช้าวันจันทร์ถึงวันศุกร์เราก็ไปทำงานที่สำนักงาน ตอนเย็นก็เดินทางกลับบ้านมาพักผ่อนหลับนอน การปฏิบัติการพัฒนาจิตต้องมีทั้ง ๒ ส่วน จะทำงานอย่างเดียวคือเจริญปัญญาอย่างเดียว โดยไม่พักจิตเลย ก็จะหลงสังขาร จิตจะไม่มีกำลังที่จะหยุดยั้งคู่ต่อสู้ได้ เมื่อพิจารณาไปแล้วเห็นว่าเริ่มไม่ค่อยสงบแล้ว ก็ควรถอยกลับมา หยุดการพิจารณา แล้วก็มาทำจิตใจให้สงบ เคยสงบด้วยวิธีใดก็ทำไป จนจิตหยุดคิดปรุงแต่งสงบนิ่ง ให้พักอยู่นานๆเท่าที่จะเป็นไปได้ เท่าที่จิตจะต้องการพัก พอพักพอแล้วจิตก็จะถอนออกมาเอง จะมีกำลังวังชามีความแหลมคม ที่จะไปพิจารณาเพื่อกำจัดกิเลสที่เป็นปัญหาต่อไป เหมือนกับการทำงาน เมื่อถึงเวลาเลิกงาน ก็กลับบ้านพักผ่อนหลับนอนรับประทานอาหาร ตอนเช้าก็ตื่นมาด้วยความสดชื่น อาบน้ำอาบท่าแต่งตัว ออกไปทำงานต่อ จะไม่มีอารมณ์หงุดหงิด ถ้าทำงาน ๗ วัน ๗ คืนไม่หยุดหย่อนเลย จะทำไม่ไหว ทำไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีผลงานปรากฏขึ้นมา เสียเวลาไปเปล่าๆ

 

การปฏิบัติทางจิตตภาวนาจึงต้องมีการสลับกัน ระหว่างสมถะและวิปัสสนา ระหว่างสมาธิและปัญญา ท่านเปรียบเหมือนกับเป็นเท้า ๒ ข้าง เวลาเดินไม่เดินทีเดียว ๒ ข้างพร้อมกัน เวลาก้าวเท้าซ้ายเท้าขวาก็ยันไว้ พอก้าวเท้าขวาเท้าซ้ายก็ยันไว้ ทำให้เดินไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเดินพร้อมกันทั้ง ๒ เท้าก็ต้องกระโจนไปกระโดดไป ก็จะไปไม่ถึงไหน จะเหนื่อยแรง ไม่มีใครเดินแบบนี้กัน เท้า ๒ ข้างต้องสลับกันเดิน ข้อนี้ต้องพยายามเน้นอยู่เรื่อยๆ เพราะคนธรรมดาจะไม่เข้าใจเรื่องสมาธิกับปัญญากัน ไม่รู้ว่าจะเจริญปัญญาเมื่อไหร่ คิดว่าพอทำจิตให้สงบปั๊บก็ให้พิจารณาเลย ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะตอนที่จิตสงบนี้ ต้องการให้หยุดคิดหยุดพิจารณา อุตส่าห์ภาวนาพุทโธมาแทบตาย เพื่อให้หยุดคิด พอหยุดคิดปั๊บก็ไปดึงเอามาคิด ก็จะไม่ได้พักผ่อน หรือเข้าไปในสมาธิที่สงบแล้ว  ไม่อยู่กับที่ ถอนออกมารับรู้เรื่องต่างๆ อย่างนี้ก็เหมือนกัน ไม่ได้หยุดพัก พอวูบลงไปปั๊บเดี๋ยวเดียวก็ถอนออกมา แล้วก็ไปรับรู้เรื่องต่างๆ ไปตามรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น แล้วก็หลงดีใจว่ากำลังได้ผล กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่อุตส่าห์ทำมา แต่ความจริงแล้วไม่ได้อะไรเลย เพราะสิ่งที่ได้นั้นไม่มีความหมายต่องานที่เราต้องทำ คืองานชำระจิตใจ งานกำจัดความโลภความโกรธความหลง การออกไปรู้เห็นเรื่องต่างๆนี้ จะไม่ได้ประโยชน์เลย

 

ยกเว้นถ้าไปเห็นภาพของคนตาย เช่นตัวเราตาย คุณแม่แก้วท่านเคยรวมลงแล้วปรากฏว่าเห็นตัวท่านนอนตายอยู่ แล้วหลวงปู่มั่นก็มาบังสุกุลมากุสลามาทำฌาปนกิจให้ เห็นภาพหลวงปู่มั่นเอาไม้เท้าจี้ไปตรงร่างกายส่วนไหนก็เปื่อยเน่าไป ถ้าเป็นภาพอย่างนี้ที่เกี่ยวกับความตายเกี่ยวกับความเสื่อมของสังขารร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม แล้วโอปนยิโกน้อมเข้ามาสู่กายสู่ตัวเรา ว่าร่างกายของเราก็จะต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นวิปัสสนา เป็นการเจริญปัญญา แต่เป็นไปโดยไม่ได้บังคับ เพราะในอดีตเราเคยบำเพ็ญมาก่อน เคยพิจารณามาก่อนแล้ว แล้วถูกเก็บไว้ในส่วนลึกของใจ พอมีโอกาสเวลาที่จิตสงบก็จะโผล่ขึ้นมาให้เห็น ในขณะที่จิตไม่สงบนั้น จิตจะปรุงแต่ง จะมีเรื่องอื่นๆเข้ามา ซึ่งมีกำลังมากกว่าสิ่งต่างๆที่ได้เคยพิจารณาได้เคยเจริญแล้วในอดีต จึงไม่ค่อยปรากฏขึ้นมาในขณะที่จิตไม่สงบ แต่พอจิตสงบลงไปแล้ว ถ้ามีอะไรอยู่ภายในก็จะโผล่ขึ้นมาให้รู้ให้เห็น เหมือนกับน้ำ ถ้าน้ำไม่สงบนิ่ง ยังขุ่นยังมีคลื่นอยู่ จะมองไม่เห็นสิ่งต่างๆที่อยู่ในน้ำ แต่ถ้าน้ำสงบนิ่งใสแล้ว จะเห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในน้ำได้หมดเลย เห็นตัวปลาเห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในน้ำได้

 

จิตของเราก็เป็นเหมือนน้ำ ในสภาพปกติจะขุ่นมัวด้วยความโลภความโกรธความหลง ด้วยเรื่องราวต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตในแต่ละวัน ทำให้ไม่เห็นสิ่งที่มีอยู่ภายในจิต แต่ถ้าสามารถบำเพ็ญจนจิตสงบลงแล้วใสขึ้นมา ในตอนนั้นบุญบารมีเดิมที่เคยบำเพ็ญมาก็จะมีโอกาสปรากฏขึ้นมา มีฤทธิ์มีเดช อ่านจิตอ่านใจของผู้อื่นได้ ดูกายทิพย์ได้ ระลึกชาติได้ เป็นสิ่งที่อัศจรรย์แต่ก็ยังไม่อัศจรรย์จริง ถ้าเปรียบกับปัญญาการรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นคนละเรื่องกันเลย ถ้าบำเพ็ญแล้วไปเห็นอะไรต่างๆที่ปรากฏขึ้นมา ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้ลงไปในไตรลักษณ์ให้หมด ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม มันไม่เที่ยงทั้งนั้น ปรากฏขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าไปหลงยึดติดก็จะมีความทุกข์ เพราะอยากจะให้ปรากฏขึ้นอยู่เรื่อยๆ นั่งสมาธิทีไรก็อยากจะให้มีภาพต่างๆปรากฏขึ้นมา ก็เหมือนกับนั่งดูโทรทัศน์ การนั่งหลับตาทำจิตให้สงบแล้วปรากฏสิ่งต่างๆขึ้นมา ก็เหมือนกับดูโทรทัศน์ดูหนัง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ค่อยมาก เพราะภาพต่างๆที่ปรากฏจะไม่ค่อยไปทางธรรมะ ยกเว้นเป็นภาพความเสื่อมของร่างกาย เห็นเราเป็นคนแก่ เป็นคนเจ็บนอนอยู่ในโรงพยาบาลรอความตาย เห็นตัวเราตาย ถูกจับใส่โลง เอาขึ้นเมรุ จุดไฟเผาไหม้จนกลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป ถ้าเป็นภาพดังนี้ก็ควรเจริญอย่างต่อเนื่องจนติดตาติดใจ จนไม่วิตกหวาดกลัวกับความเป็นไปของร่างกาย

 

พอคิดว่าไม่กลัวแล้วก็ลองไปพิสูจน์ดู เคยนั่งอยู่แต่ในกุฏินั่งอยู่ในบ้าน ก็ลองไปนั่งที่เปลี่ยวๆน่ากลัวๆดู ดูว่ายังจะกลัวอยู่หรือไม่ ร่างกายจะเป็นจะตายอย่างไรก็พร้อมที่จะรับได้ทุกเวลาหรือไม่ ถ้ารับได้ปัญหาของร่างกายก็หมดไป คือส่วนของความแก่ความเจ็บความตาย แต่ยังมีอีกส่วนที่ต้องพิจารณาก็คืออสุภะความไม่สวยไม่งาม ถ้ายังไม่ได้พิจารณาเวลาเห็นร่างกายก็จะเกิดความยินดี เห็นร่างกายที่ชอบที่สวยงามก็จะเกิดความกำหนัดยินดี อยากจะเสพรสแห่งกาม ก็ต้องพิจารณาร่างกาย ให้เห็นสภาพที่ไม่สวยงาม ที่น่ารังเกียจ ที่มีอยู่ในทุกๆคน เพียงแต่ถูกซ่อนอยู่เหมือนกับขยะที่ซ่อนอยู่ในถุง ถ้าไม่เปิดถุงดูก็จะไม่รู้ว่าข้างในมีขยะ มองดูข้างนอกก็คิดว่าใส่ข้าวของที่พึ่งซื้อมาจากร้านค้า ร่างกายของเราก็เป็นเหมือนถุงเป็นกระเป๋าหนังใบหนึ่ง มีหนังหุ้มรอบตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ภายในมีสิ่งที่เป็นปฏิกูลเป็นขยะ มีน้ำปัสสาวะ น้ำเหงื่อ มีอุจจาระ มีอวัยวะต่างๆที่ไม่สวยงามซ่อนอยู่ข้างใน ถ้าไม่พิจารณาก็จะมองไม่เห็น เวลามองคนก็จะมองแต่รูปร่างหน้าตา ที่ปรากฏให้เห็นด้วยตาเนื้อ ถ้าไม่มีปัญญาคือตาในดูให้ครบถ้วนบริบรูณ์ทั้ง ๓๒ ส่วน ก็จะถูกความหลงหลอกให้เห็นว่าสวยงาม น่ายินดี น่าเอามาเป็นเพื่อน เป็นคู่ครอง ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆจนติดตาติดใจแล้ว ทุกครั้งที่เกิดความยินดี ทุกครั้งที่คิดถึงร่างกาย ก็จะเห็นภาพเหล่านี้ปรากฏขึ้นมา ก็จะดับกามตัณหาหรือกามราคะได้ ทำให้ไม่มีความอยากจะมีคู่ครอง ไม่อยากจะเสพกามอีกต่อไป ถ้ามั่นใจแน่ใจว่าไม่มีปัญหาแล้ว เรื่องของร่างกายก็จบ ไม่ต้องพิจารณาร่างกายอีกต่อไป เพราะปัญหาของร่างกายมีเพียงเท่านี้ เรื่องแก่เจ็บตาย เรื่องพลัดพรากจากกัน เรื่องอนัตตาไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เรื่องอสุภะไม่สวยงาม เรื่องปฏิกูลเป็นสิ่งสกปรก ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะไม่มีกามฉันทะความยินดีในกามอีกต่อไป

 

การพิจารณาธรรมะต้องสลับกับการพักอยู่ในสมาธิ พิจารณาไปสักระยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าเหนื่อยหรือไม่อยากจะพิจารณา ก็อย่าไปบังคับ ให้ย้อนจิตเข้ามาสู่ความสงบ เคยสงบด้วยการบริกรรมพุทโธก็บริกรรมพุทโธไป เคยสงบด้วยการกำหนดดูลมหรือดูผู้รู้ก็ทำไป ให้จิตนิ่ง ไม่คิดปรุงอะไร เมื่อจิตพักพอแล้วก็จะถอนออกมาเอง เมื่อออกมาแล้วก็พิจารณาต่อไป ถ้าพิจารณาอสุภะอยู่ ก็พิจารณาไปจนกว่าจะมีกำลังต้านความคิดที่ว่าสวยว่างาม ทุกครั้งที่ความคิดสวยงามปรากฏขึ้นมา ความคิดไม่สวยไม่งามก็ขึ้นมาลบล้างทันที เหมือนหมัดต่อหมัด ฟันต่อฟัน ตาต่อตา ทำไปจนกว่าความคิดที่ว่าสวยว่างามไม่ปรากฏขึ้นมาเลย เพราะปรากฏขึ้นมาทีไรก็จะถูกต้านถูกลบไปทุกครั้งไป พอพิจารณาจนปัญหาหมดไปแล้ว เรื่องของการพิจารณาอสุภะก็หมดไป เป็นเหมือนยา กินยาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ กินยาเพื่อทำลายเชื้อโรค ที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย เมื่ออาการเจ็บไข้ได้ป่วยหายไปแล้ว ก็หยุดกินยา การพิจารณาทางปัญญาก็เป็นการให้ธรรมโอสถแก่ใจ เมื่อความฟุ้งซ่านความทุกข์วุ่นวายใจ เกี่ยวกับเรื่องของร่างกายไม่มีแล้ว ก็ไม่รู้จะพิจารณาไปทำไม ต้องขยับขึ้นไปสู่ปัญหาที่ละเอียดกว่า คือนอกจากกายแล้วก็ยังมีนามธรรมยังมีจิต ที่เป็นที่ตั้งของศัตรูข้าศึกคือกิเลส กิเลสยังมีอยู่ในนามขันธ์ อยู่ในเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ยังมีอยู่ในตัวจิตเอง ต้องเข้าไปพิจารณาต่อ

 

พิจารณาให้เห็นว่านามขันธ์ก็เป็นเพียงสภาวธรรม มีการเกิดการดับเป็นธรรมดา เวทนาเป็นความรู้สึก ไม่มีผู้รู้สึก ไม่มีตัวตน มีฝนตก แต่ไม่มีคนโปรยน้ำฝนลงมา ฝนตกลงมาเพราะอะไร เพราะน้ำที่ระเหยขึ้นไปในอากาศ จับตัวเป็นเมฆ เมื่อหนักมากก็ตกลงมาเป็นน้ำฝน เวทนาก็เกิดขึ้นจากการสัมผัส ของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะกับตาหูจมูกลิ้นกาย หรือธรรมารมณ์ที่สัมผัสกับใจ ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา แต่ไม่มีผู้สร้างมันขึ้นมา ไม่มีผู้มีความรู้สึก เป็นเพียงแต่ความรู้สึก เป็นเวทนา สัญญาคือการจำได้หมายรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สังขารคือการคิดปรุงแต่ง หลังจากที่ได้สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะแล้วเกิดเวทนาขึ้นมา สังขารก็จะปรุงแต่งว่าควรจะทำอย่างไรดี ถ้าเป็นสุขเวทนาก็อยากให้เป็นไปนานๆอยู่ไปนานๆ ถ้าเป็นความทุกข์ก็อยากให้หายไปเร็วๆ สังขารก็จะคิดปรุงแต่งขึ้นมา เช่นนั่งไปสักระยะหนึ่งเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา สังขารก็จะปรุงว่าเป็นทุกข์แล้วควรจะขยับได้แล้ว ควรจะหนีมันได้แล้ว ไม่มีใครเป็นคนคิด มันคิดไปตามนิสัย ไปตามที่เคยถูกโปรแกรมมาโดยอวิชชาความไม่รู้จริงโมหะความหลง ที่คิดว่ามีผู้รับความเจ็บปวด มีตัวตนออกไปรับ ความจริงแล้วไม่มีตัวตน ตัวตนนี้ออกมาจากความหลง ความหลงสร้างขึ้นมา พอมีตัวตนก็จะเกิดความอยากจะหนีความเจ็บปวดไป

 

ถ้าพิจารณาว่าใจเป็นเพียงตัวรู้ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงผู้รู้ ใจสามารถรับรู้เวทนาได้ทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขเป็นทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์ ถ้ามีปัญญารู้ทันระงับดับตัวที่เป็นตัวตนได้ ให้ตัวรู้ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจก เวลามีภาพอะไรปรากฏขึ้นในกระจก กระจกจะไม่มีปฏิกิริยาแต่อย่างใด จะไม่ดีใจเวลามีภาพสวยๆปรากฏขึ้นในกระจก ไม่ขยะแขยงรังเกียจเวลามีภาพที่ไม่สวยงามปรากฏขึ้น กระจกเพียงแต่สะท้อนความจริงของภาพเท่านั้น ใจก็สะท้อนหรือรู้ความจริงของสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุขเป็นทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ หน้าที่ของผู้ที่พิจารณาหรือปัญญาก็คือ สอนใจให้ทำหน้าที่ของตน คือทำหน้าที่รับรู้ อย่าไปทำหน้าที่เป็นตัวตน ให้เป็นตัวรู้ ถ้าใจตั้งอยู่ในความเป็นตัวรู้ได้ ไม่เป็นตัวตนได้ อะไรจะเกิดขึ้นในใจก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะใจตั้งอยู่ในจุดที่รับได้ทุกรูปทุกอย่างทุกเรื่อง คือในจุดที่เรียกว่าอุเบกขา ใจเป็นกลาง ปราศจากอคติทั้ง ๔ คือรักชังกลัวหลง ถ้าไม่มีอคติแล้วก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร ทุกข์ในอริยสัจก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะสมุทัยคือความอยากหรือไม่อยากจะไม่มี นี่คืองานที่เราทำกันตั้งแต่ขั้นร่างกายมา เพื่อให้ใจอยู่ตรงจุดกลาง ไม่รักไม่ชัง ให้แต่รับรู้เรื่องราวต่างๆ แล้วก็ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา เหมือนกับรับรู้เรื่องฝนฟ้าอากาศแดดลม ฟังพยากรณ์อากาศ รับรู้ว่าวันนี้ฝนจะตก พรุ่งนี้แดดจะออก แต่ไม่มีสิทธิ์ไปสั่งฝนฟ้าให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ใจก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งให้สภาวธรรมที่ปรากฏในใจให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อปรากฏขึ้นมาก็รู้มันไป ถ้าสามารถสั่งได้ ก็อย่าไปคิดว่าเป็นอำนาจเด็ดขาด เช่นในขณะที่นั่งเจ็บปวดแล้วลุกขึ้นได้ ทำให้มันหายได้ ก็อย่าไปคิดว่าเป็นอำนาจเด็ดขาด เพราะจะมีสักวันหนึ่งที่เจ็บแล้วสั่งให้มันหายไปไม่ได้ เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หยูกยาต่างๆก็กินหมดแล้ว แต่ก็ไม่สามารถทำให้มันหายได้ จะต้องมีวาระหนึ่งที่จะไม่สามารถบังคับมันได้

 

การที่เรานั่งฝึกจิต ให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา ก็เพื่อเป็นการฝึกใจให้เข้าสู่อุเบกขา ไม่ให้มีอคติกับภาวะต่างๆที่มาสัมผัส เมื่อทำจนเกิดความช่ำชองแล้ว ต่อไปก็จะสบาย พร้อมที่จะรับกับทุกสภาพได้ เวลาอยู่อย่างสุขอย่างสบายก็รับได้ เวลาอยู่อย่างทุกข์ยากลำบากก็รับได้ ไม่มีความทุกข์ในใจ ความทุกข์มีแต่เพียงภายนอก เช่นความทุกข์ยากลำบากอดอยากขาดแคลน ช่วงนี้ข้าวยากหมากแพง เคยใช้เงินใช้ทองอย่างสบายตอนนี้ก็ต้องประหยัดลง ต้องใช้น้อยลง เพราะของแพงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่รายได้ยังไม่ขึ้นตาม แต่ใจที่ได้ฝึกมาจนช่ำชองแล้ว จะไม่กังวล จะไม่เดือดร้อนกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เพราะใจปรับตัวเองได้ ส่วนใหญ่ใจที่เป็นกลางจะไม่ค่อยพึ่งพาอาศัยสิ่งต่างๆภายนอกมากนัก ไม่พึ่งพาอาศัยเลยก็ว่าได้ สิ่งที่ต้องพึ่งพาอาศัยก็คือร่างกาย ที่ต้องอาศัยปัจจัย ๔  แต่ทางด้านบันเทิง การหาความสุขต่างๆ ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้ตัดไปได้เลย ใจไม่ต้องหาความสุขกับเรื่องต่างๆเหล่านี้ เพราะมีความสุขที่เหนือกว่าดีกว่าอยู่ภายในใจ ก็คือความสงบนี่แหละเป็นสิ่งที่ประเสริฐเลิศโลก อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ใจสงบ ใจเป็นกลาง ด้วยสมาธิด้วยปัญญา พิจารณาจนเห็นแล้วว่าไม่มีอะไรที่ควรไปยึดติด ไม่ควรที่จะไปแสวงหาความสุขจากอะไรเลย ทั้งภายนอกและภายใน ภายในก็คือเวทนา สุขทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์ ธรรมารมณ์ต่างๆ ภายนอกก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สิ่งเหล่านี้ใจจะไม่ไปยึดไปติด ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเขา ใจแยกออกจากสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ดีใจไม่เสียใจ กับการมาการไปของสิ่งเหล่านี้ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็ยังมีการสัมผัสรับรู้ของตาหูจมูกลิ้นกาย ยังมีความคิดปรุงแต่งของสังขารอยู่ ก็ยังมีอารมณ์ต่างๆภายในใจ แต่ใจจะรู้ทันแล้วก็ปล่อยวาง ไม่ได้เสียกับอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ต่างๆจึงมักจะไม่ปรากฏขึ้น เพราะการปรากฏขึ้นส่วนใหญ่ของอารมณ์เกิดจากความหลง เกิดจากความคิดปรุงแต่ง ในเมื่อไม่มีความหลง ไม่มีความคิดปรุงแต่ง ทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมชาติ ใจก็อยู่ในความสงบ เป็นกลางไปตลอด ไม่มีอะไรมาหลอกให้ไปดีอกดีใจ ไปเสียอกเสียใจกับอะไรอีกต่อไป

 

นี่คือเรื่องที่พวกเราต้องทำกัน ไม่มีใครทำแทนเราได้ บอกกันได้สอนกันได้ แต่ผู้ที่จะทำต้องเป็นพวกเราเอง แต่ละคนต้องทำกันเอง และก็ไม่ยากจนเกินไป แต่ก็ไม่ง่าย ยากง่ายของแต่ละคนนี่ก็ไม่เหมือนกัน บางคนก็ง่ายกว่า บางคนก็ยากกว่า อยู่ที่อดีตได้บำเพ็ญมามากน้อยต่างกัน ถ้าได้บำเพ็ญมามากกว่าก็จะง่ายกว่า ถ้าได้บำเพ็ญมาน้อยกว่าก็จะยากกว่า ไม่มีทางลัด ถ้าเห็นคนอื่นเขาทำง่ายแล้ว เราอยากจะง่ายเหมือนเขา แต่มันไม่ง่าย ก็แสดงว่าเราทำน้อยกว่าเขา เราก็ต้องทำให้มากขึ้นเท่านั้นเอง ทำให้มันมากขึ้นในวันนี้ แล้ววันพรุ่งนี้วันต่อไปมันก็จะง่าย อยู่ที่การบำเพ็ญ อยู่ที่การสะสม เหมือนมีการบ้านให้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เราอ่าน ๒ หน้าอีกคนเขาอ่าน ๑๐ หน้า เขาอ่านมากกว่าเรา เวลาตอบปัญหา เขาตอบได้มากกว่าเรา เราอ่านได้ครึ่งเล่ม เขาอ่านได้หมดเล่ม เวลาไปสอบเขาสอบได้เต็ม ๑๐๐ เราสอบได้ ๕๐ เราได้ครึ่งหนึ่ง เราได้ร้อยละห้าสิบ นักเรียนจึงมีคะแนนต่างกัน เพราะแต่ละคนบำเพ็ญมาไม่เท่ากันนั่นเอง พวกเราก็เช่นเดียวกัน บางคนไปไกลกว่า บางคนตามเขาไม่ค่อยทัน ล้มลุกคลุกคลานอยู่เรื่อยๆ ถ้ารู้ว่าเราอยู่ข้างหลังเราก็ต้องทำให้มากกว่าคนที่อยู่ข้างหน้า เพื่อจะได้ตามเขาทัน

 

เรื่องอย่างนี้รอกันไม่ได้ ไม่เหมือนกับการเดินทางที่รอกันได้ แต่การปฏิบัติไม่ควรรอกัน เพราะไม่ได้แข่งกับผู้อื่น เราแข่งกับเวลา เวลาของเราจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบทำเสียตอนนี้ พอเวลาของเราหมดก็จะไม่ได้ทำ จะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้บำเพ็ญต่ออีกเมื่อไหร่ เวลาของเราๆก็ไม่รู้ว่าเหลือมากน้อยเพียงไร เพราะไม่ได้เป็นของตายตัว ไม่ได้เป็นว่าทุกคนจะมีอายุถึง ๘๐ ปีทุกคน บางคนอาจจะไปไม่ถึง ๘๐ บางคนอาจจะเลย ๘๐ ไม่มีใครรู้ว่าจะไปถึงเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ควรคำนึงหรือคิดไว้เพื่อความไม่ประมาทก็คือ คิดว่าของเราอาจจะหมดในวันนี้ก็ได้ หรืออาจจะหมดพรุ่งนี้ก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะไม่ปล่อยเวลาอันมีค่านี้ให้ผ่านไปโดยไม่ได้บำเพ็ญภาวนา จะไม่เสียเวลากับเรื่องจุกจิกเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับอะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องชำระใจก็โยนทิ้งไปเลย เอาเวลาที่เหลืออันน้อยนี้มาบำเพ็ญ ถ้าทำจริงๆตั้งใจจริงๆบางทีเพียง ๗ วันก็พอ เวลาที่จะทำให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์ได้ บางคนอาจจะไม่ถึง ๗ วันก็ได้ อาจจะเพียงข้ามคืนก็บริสุทธิ์ได้ อยู่ที่ความเพียร อยู่ที่สติสมาธิและปัญญา ไม่ได้อยู่ที่ใคร ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่พระอริยสงฆ์ ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ แต่อยู่ที่ธรรมะทั้ง ๕ ประการนี้คือ ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา ที่เราต้องบำเพ็ญ ที่เราต้องเจริญให้มาก เหมือนกับการปีนขึ้นเขา คนที่จะปีนขึ้นเขาต้องมีกำลังพร้อม เพราะไม่เหมือนกับเดินในที่ราบ คนที่จะปีนเขาต้องใช้เวลาเตรียมตัว ทั้งทางด้านร่างกายสุขภาพและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ต้องออกกำลังกาย วิ่งทีละหลายๆกิโลฯ เพื่อให้ร่างกายมีกำลัง การบำเพ็ญทางด้านจิตตภาวนาก็เช่นเดียวกัน เป็นการสร้างพลังให้กับจิต จิตจะมีพลังได้ ก็ต้องมีศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา พอมีปัจจัยเหล่านี้พร้อมเพรียงแล้ว การปีนไปสู่ยอดของจิตยอดของธรรม ก็จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด จะไปได้อย่างรวดเร็ว ถึงที่หมายได้อย่างแน่นอน

 

หน้าที่ของเราคือการบำเพ็ญ ศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญานี้ ศรัทธาก็หมั่นฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ได้ทั้งศรัทธาแล้วก็ได้ทั้งปัญญาในระดับหนึ่ง ที่จะไปต่อยอดให้เป็นปัญญาที่ใช้ในการปฏิบัติการได้ ปัญญาจากการฟังนี้เป็นตัวจุดชนวน ให้ปัญญาปฏิบัติการปรากฏขึ้นมา ถ้ามีของเก่าอยู่บ้างแล้วพอฟังก็สามารถปีนถึงยอดได้เลย ถ้ายังไม่มีของเก่าก็เหมือนได้เมล็ดเอาไปเพาะเอาไปปลูก รดน้ำพรวนดินให้เจริญงอกงามต่อไป เกิดจากการได้ยินได้ฟังในเบื้องต้น แล้วก็นำเอาไปภาวนาด้วยสติ สติก็ต้องเจริญอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แต่เฉพาะเวลาที่นั่งสมาธิหรือเดินจงกรม สติเป็นพื้นฐาน เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของการปฏิบัติ เป็นขั้นอนุบาล ต้องมีสติตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับ ต้องฝึกสติอยู่เรื่อยๆ ให้สติดึงใจไว้ ให้อยู่กับตัวรู้ ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ให้ไปอยู่กับเรื่องราวต่างๆ ในอดีตในอนาคต ในที่โน่นที่นี่ ให้อยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ ให้อยู่กับร่างกาย อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ถ้ามีสติอยู่กับปัจจุบันแล้ว เวลาทำสมาธิก็จะสงบง่าย จะนิ่ง พอนิ่งแล้วเวลาไปพิจารณาทางปัญญา ก็จะเป็นภาวนามยปัญญา จะไม่เป็นวิปัสสนู ไม่เป็นความหลง ถ้าไม่มีสมาธิแล้วคิดไปพิจารณาไปบนพื้นฐานของความฟุ้งซ่าน ก็เป็นวิปัสสนู คิดว่าตนรู้แล้วเห็นแล้ว แต่จิตใจฟุ้งซ่านเหมือนกับลิง อย่างนี้หลอกตัวเอง แต่ถ้ามีความสงบเป็นพื้นฐานแล้ว เวลาพิจารณาแล้ว ถ้ายังฟุ้งซ่านอยู่ ยังไม่สงบ ยังไม่สามารถทำให้ความกระเพื่อมสงบลงได้ ก็แสดงว่ายังไม่ใช่ ต้องพิจารณาต่อ จนกว่าจิตไม่กระเพื่อมแล้ว ถึงจะรู้ว่าปัญหากับเรื่องนี้หมดไปแล้ว ต้องมีสมาธิความสงบเป็นตัวตัดสิน

 

ความสงบเป็นพื้นฐานของการหลุดพ้นก็ว่าได้ ถ้าหลุดพ้นด้วยความฟุ้งซ่านก็เป็นพวกบ้า ถ้าหลุดพ้นด้วยความสงบถึงจะเป็นพวกที่ไม่บ้า นี่คือความจำเป็นความสำคัญของสมาธิ แต่ถ้ามีสมาธิอย่างเดียวไม่เจริญปัญญา ก็สงบชั่วขณะที่อยู่ในสมาธิ พอออกมาสัมผัสกับอารมณ์ต่างๆ ก็เกิดการกระเพื่อมขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา สมาธิโดยลำพังไม่สามารถแก้ปัญหาของการกระเพื่อมจิตได้ ห้ามได้แต่เฉพาะเวลาที่อยู่ในความสงบเท่านั้น เป็นเหมือนหินทับหญ้า เวลาหินทับหญ้าไว้ หญ้าก็จะไม่งอกงาม แต่หญ้าไม่ตาย เพราะรากยังอยู่ในดิน พอยกหินออกไม่กี่วันก็เขียวขึ้นมาใหม่ จึงต้องมีทั้งสติทั้งสมาธิทั้งปัญญา ทั้งวิริยะความพากเพียร ทั้งศรัทธา ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่เชื่อในเรื่องต่างๆที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้แล้ว ก็โยนทิ้งถังขยะไป กลับไปสู่ชีวิตแบบเดิมๆ ไปหาความสุขจากการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปซื้อข้าวของต่างๆ ก็เป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็ต้องกลับไปทำใหม่อยู่เรื่อยๆ นี่คือคนที่ไม่มีศรัทธาต่อคำสอนของนักปราชญ์เช่นพระพุทธเจ้า จะเป็นอย่างนี้ แต่คนที่มีศรัทธาความเชื่อ ก็จะจาคะ จะเสียสละ บริจาคเงินทองข้าวของต่างๆ แทนที่จะเอาไปเที่ยว ก็เอาไปแจกจ่ายช่วยเหลือคนอื่น แล้วก็รักษาศีล ไม่เสพสุรายาเมา ไม่หาความสุขจากการกระทำผิดศีล เช่นประพฤติผิดประเวณี ที่กำลังเป็นที่นิยมกันมาก จิตใจของคนตกต่ำเป็นพวกสุนัขเดือน ๙ ไม่มีการสู่ขอ ไม่มีการแต่งงาน อยากจะอยู่กับใครก็อยู่กันไป เมื่อไม่อยากอยู่อยากจะเปลี่ยนคู่ก็เปลี่ยนกันไป การหาความสุขทางโลกเป็นอย่างนี้ ก็จะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรนี้ไป เวียนว่ายตายเกิดกับเรื่องเหล่านี้ไปเรื่อยๆไม่มีทางที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำได้ จะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรนี้ เกิดแก่เจ็บตาย เกิดมาแล้วก็จะเสพความสุขทางโลกไป ตายไปก็ไปใช้เวรใช้กรรม หมดกรรมก็กลับมาเกิดใหม่ มาเสพใหม่ วนไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จึงควรมีศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้น ให้เชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอน พระอริยสงฆ์ แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติด้วยความขยันหมั่นเพียร มีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็มุ่งมาทางปฏิบัติอย่างเดียว เจริญสติอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีเวลาว่างนั่งทำจิตให้สงบได้ก็ทำไป พิจารณาธรรมบทใดบทหนึ่งได้ก็พิจารณาไป พิจารณาร่างกาย เกิดแก่เจ็บตาย พลัดพรากจากกัน เป็นอสุภะไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูลสกปรก พิจารณาไป แล้วจิตจะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ  

 

ถาม  ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องศรัทธาวิริยะสติ ศรัทธาเกื้อหนุนให้เกิดวิริยะ พอมีวิริยะระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดผล เราต้องเสริมสร้างศรัทธาให้เพิ่มขึ้นใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ศรัทธาจะผลักให้เราไปสู่การปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วจะทำให้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น ถ้าเห็นผลแล้วจะเกิดศรัทธาเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นศรัทธาที่ไม่สั่นคลอน

 

ถาม  วิริยะทำให้เกิดผล ศรัทธาจึงจะเกิดมากขึ้น ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  เปลี่ยนจากศรัทธาที่สั่นคลอนเป็นศรัทธาที่ไม่สั่นคลอน พอเห็นผลแล้ว มีผลเป็นเครื่องยืนยันแล้ว ก็จะไม่ลังเลสงสัย เช่นได้ธนบัตรมาใบหนึ่ง ยังไม่แน่ใจว่าเป็นของจริงหรือของปลอม ก็ต้องเอาไปให้คนที่ชำนาญทางด้านธนบัตรดู ไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ช่วยพิสูจน์ให้หน่อย ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม พอเขาบอกว่าของจริงก็จะศรัทธา พอปฏิบัติจนเห็นผลแล้ว ก็จะมีศรัทธา เชื่อแล้วว่าปฏิบัติได้ผลจริงๆ มีประโยชน์กับเราจริงๆ ผลทางทานก็มีในระดับหนึ่ง ผลทางศีลก็มีระดับหนึ่ง แต่จะไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่ากับการภาวนา ถ้าจิตรวมลงเป็นหนึ่งได้นี้ มันจะมีน้ำหนักมาก แต่การให้ทานการเสียสละนี้ก็มีน้ำหนัก ถ้าทำไปแล้วเกิดความสุขใจขึ้นมา กล้าเสียสละประโยชน์สุขของเราเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น เห็นคนอดข้าวอดอาหาร เรามีอาหารเพียงแค่นี้ แต่เราไม่รับประทานสักมื้อหนึ่งก็ได้ เสียสละอาหารมื้อนี้ให้เขาไป เราหิวหน่อยทางด้านร่างกาย แต่จะเห็นความอิ่มเอิบของจิตใจปรากฏขึ้นมา เป็นผลที่เราเห็นได้จากการเสียสละ หรือจากการซื่อสัตย์สุจริตนี่ เราสามารถโกงได้เป็น ๑๐ ล้าน แต่เราไม่ทำ เราพอใจกับเงินเดือนที่เราได้เดือนละ ๔-๕ หมื่นหรือ ๔-๕ แสน แต่เราจะไม่คิดเอาประโยชน์จากหน้าที่การงานของเรา เราจะมีความสุขใจมีความภูมิใจ จะไม่หวั่นไหวต่อการกล่าวหา ใครจะกล่าวหาฟ้องร้องว่าประพฤติผิดมิชอบ ก็จะไม่รู้สึกอะไร นอนหลับสบาย แต่ถ้าไปรับสินบนมา จะกินไม่ได้นอนไม่หลับ นี่คือผลที่เกิดจากการรักษาศีลซื่อสัตย์สุจริต

 

แต่จะไม่ชัดเหมือนกับการภาวนา ที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย จิตที่ฟุ้งซ่านวุ่นวายแล้วสงบลง เป็นเหมือนเสียงที่ดังสนั่นหวั่นไหวแล้วเงียบลงไป ความสงบจะเป็นอย่างนั้น จะเห็นชัดกว่าทานและศีลมาก ถ้าทางปัญญาก็จะเกิดความโล่งอกโล่งใจ มีปัญหากับเรื่องอะไรแล้วพิจารณาจนตัดได้ปล่อยวางได้ อะไรจะเกิดก็เกิด ตอนต้นก็กังวล ว่าจะถูกปลดหรือไม่ ห่วงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับโดนกล่าวหาว่าประพฤติผิดมิชอบ ทั้งๆที่ไม่ได้ทำ แต่ใจก็ยังรักงานอยู่ ยังเสียดายงานอยู่ เสียดายรายได้ แต่ถ้าพิจารณาว่าถึงแม้รายได้จะมาก แต่ความต้องการของเราจริงๆ ไม่จำเป็นต้องอาศัยรายได้นี้ก็ได้ อยู่แบบสมถะเรียบง่ายได้ ถ้าไม่มีที่พึ่งก็ยังมีศาสนารอเราอยู่ มีข้าวฟรีกิน มีบ้านฟรีอยู่ เราก็ตัดได้ พิจารณาว่านี่แหละคือความทุกข์ ที่ไปยึดติดกับลาภ ที่มีทั้งเจริญและเสื่อม เวลาเจริญก็ดีอกดีใจ เวลาเสื่อมก็ทุกข์วุ่นวายใจ สู้อย่าไปอาศัยมันดีกว่า อยู่แบบไม่ต้องอาศัยมันก็ได้ คนอื่นเขาอยู่ได้ ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ จะออกจากงานก็ออก ไม่เป็นไร พิจารณาด้วยปัญญา ความวิตกกังวลต่างๆก็หายไป จะเห็นประโยชน์ของการพิจารณา ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้วก็จะปล่อยวางได้ ออกจากงานได้

 

ถาม  เวลาที่เกิดความฟุ้งซ่านในทางธรรม

 

ตอบ  ความฟุ้งซ่านในทางธรรมไม่มี ฟุ้งซ่านเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น

 

ถาม  คนที่เข้าไปแล้วเงียบไปเลย เป็นเพราะติดในสมาธิหรือว่าสติแตก

 

ตอบ  ไม่รู้ใจของเขา เห็นแต่สภาพภายนอก มีคนเขียนมาถามว่า มีเพื่อนที่ไปอยู่วัดแล้วกลับมาอยู่บ้าน แล้ววันหนึ่งก็โกนศีรษะนอนแข็งทื่อ  ถามว่าให้ทำอย่างไร ก็บอกให้ดูแลไปตามสภาพ อย่าไปกดดันเขา ให้เวลาเป็นเครื่องบำบัด จิตใจคงจะบอบช้ำมา

 

ถาม  บอบช้ำจากการพิจารณาธรรมหรือเปล่า

 

ตอบ  ถ้าเขาไม่บอก จะไปรู้ได้อย่างไร ไม่ต้องไปรู้เหตุ ผลมันบอกอยู่แล้วว่าจิตเขาบอบช้ำ จิตไม่เป็นปกติ ก็ต้องอาศัยเวลาฟื้นฟู ถ้าไม่มีธรรมะที่จะฟื้นฟูตัวเขาเอง ปรึกษากับหลวงตา หลวงตาท่านบอกให้ใช้พุทโธๆ เพื่อให้จิตสงบตัวลง จิตจะแกว่งไประหว่างความฟุ้งซ่านกับความซึมเศร้า เวลาฟุ้งซ่านขึ้นมาก็ออกมาทำโน่นทำนี่ กินโน่นกินนี่ เวลาซึมเศร้าก็แข็งทื่อไป

 

ถาม  ซึมเศร้าตรงนั้น อยู่ในสมาธิใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ใช่ ควรพยายามเข้าไปในสมาธิด้วยการเจริญพุทโธ ถ้าเป็นสมาธิจะตื่นเบิกบานสดใสสดชื่น อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนี้มันซึมเศร้า แกว่งไปมาระหว่างความฟุ้งซ่านกับความซึมเศร้า เวลาฟุ้งซ่านก็จะกระปรี้กระเปร่ากระตือรือร้น ทำโน่นทำนี่ กินโน่นกินนี่ เวลาซึมเศร้าก็หงอยเหงานิ่งไป ไม่ทราบไปทำอะไรมา จึงทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้นมา แต่ก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้กลับเป็นปกติ

 

ถาม  เขาเพ่งกสิณมาตลอด

 

ถาม  ตัวเขาต้องตั้งใจพุทโธใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าเขาไม่มีสติรับรู้ก็บอกเขาไม่ได้ ตัวเขาไม่ได้วุ่นวายหรอก คนรอบข้างต่างหากที่วุ่นวาย ที่พยายามฉุดลากเขาไป เขาไม่รู้ว่าตัวเขาเองอยู่ในสภาพอย่างไร เหมือนคนเมาสุรา เขาอยู่ในสภาพอย่างนั้น เหมือนคนที่นอนหลับแล้วฝันไป จิตใจของเขาไม่มีสติพอ ที่จะประคับประคองให้มีสามัญสำนึก เหมือนคนปกติทั่วไป จึงแนะนำให้ดูแลเขาไปตามสภาพ เป็นเหมือนเด็ก ถ้าร้องไห้กระจองอแง อยากจะกินน้ำกินข้าวก็หาให้เขากิน อยากจะนอนก็ปล่อยเขานอนไป แต่อย่าไปกดดันเขา ให้เวลาฟื้นฟู

 

ถาม  ในระหว่างนี้เขาจะมีสตินึกพุทโธได้ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ได้ ถ้าไม่รับรู้เรื่องภายนอก ถ้าไม่ฟัง หรือฟังแล้วไม่รู้ความหมาย ก็สื่อกันไม่ได้ ต้องให้เวลาเป็นตัวฟื้นฟู อาจจะค่อยแกว่งน้อยลงๆ จนกลับมาสู่สภาพปกติได้ต่อไป เหมือนกับน้ำที่กระเพื่อมแรงๆ ถ้าปล่อยน้ำไว้เฉยๆสักระยะหนึ่ง เดี๋ยวคลื่นก็จะเบาลงๆ แล้วก็จะนิ่งไปเอง แต่ถ้าคนภายนอกมาช่วยกันเขย่า มาช่วยกันกดดันเขา บอกให้เขาไปทำสิ่งนั้น มาทำสิ่งนี้ ลากเขาไปจูงเขามา ก็จะทำให้จิตของเขาต้องกระเพื่อมอยู่เรื่อยๆ

 

ถาม  วิธีแก้วิปัสสนูนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงบอกอุบายไว้ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ได้ศึกษารายละเอียด เพียงแต่อาศัยการวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับความหลง แต่ละกรณีไม่เหมือนกัน คือทำอย่างไรให้คนที่หลงมีสติขึ้นมา ให้รู้ว่าตนเองหลง นั่นคือเป้าหมาย กำลังไปผิดทาง อยู่ที่คนหลงว่าอยู่ในฐานะที่จะรับรู้ได้หรือไม่ อย่างคนที่อยู่ในสถานบำบัด คนเสียสตินี่ ไม่อยู่ในสภาพที่จะรับรู้วิธีแก้ปัญหาได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง หรือรู้เรื่องก็ทำไม่ได้ คนปกติอย่างเรายังทำกันไม่ได้เลย เราก็หลงเหมือนกัน เพียงแต่ยังอยู่ในระดับที่พอประคับประคองตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคม ก็เลยไม่เป็นปัญหา แต่เราก็หลง คนหลงไปช่วยคนหลงจะได้อะไร

 

ถาม  ความหลงแบบนี้ข้ามภพข้ามชาติไหมคะ หากตายไปแล้วกลับมาเกิดใหม่ สติยังแตกอยู่เหมือนเดิมไหมคะ

 

ตอบ  จิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เหมือนน้ำนี้ ถ้าขวดแตกแล้วเปลี่ยนขวดใหม่ น้ำก็ยังเป็นเหมือนเดิม ถ้าเป็นน้ำสะอาดมันก็สะอาด ถ้าน้ำเปื้อนก็ยังเปื้อนอยู่ น้ำไม่ได้เปลี่ยนจากการเปลี่ยนขวด สภาพของจิตไม่ได้เปลี่ยนตาม

 

ถาม  คนนี้อาจจะยังไม่บ้าก็ได้

 

ตอบ  อาจจะมีเชื้ออยู่แล้ว พอถูกความกดดันกระทบแรงๆเข้าก็เสียสติได้ หรือมีความมุ่งมั่นมากแล้วทำไม่ได้ จนเกิดความเครียดขึ้นมา บังคับจิตมากจนเกินไป ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ตึงเกินไปก็ไม่ดี หย่อนเกินไปก็ไม่ดี สายพิณต้องให้ตึงพอดี พระพุทธเจ้าก็เป็นเหมือนคนบ้านะ อดข้าวตั้ง ๔๙ วัน แต่ท่านมีสติปัญญาดึงตัวเองกลับได้ ถ้ายังดันทุรังอดต่อไปก็มีแต่ตายลูกเดียว การปฏิบัติตามลำพังเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อฟังผู้อื่น ก็จะเป็นอย่างนั้น คุณแม่แก้วถ้าไม่เชื่อหลวงตาก็จะไปทางนั้น จะไม่มีทางกลับมาทางวิปัสสนาได้ การปฏิบัตินี้ถ้ามีคนที่รู้จริงเห็นจริง มีประสบการณ์ผ่านมาแล้วคอยสั่งสอน จะมีคุณประโยชน์มาก ส่วนใหญ่ที่บ้ากันนี้ ก็เพราะเชื่อตัวเองมากเกินไป ไม่ยอมฟังผู้อื่น ควรยอมรับว่าเรายังไม่เก่งจริง มีคนที่ฉลาดกว่าเรา เก่งกว่าเราดีกว่าเรา ถ้ามีใครเตือนก็ขอให้ฟังไว้ก่อน แล้วเอามาพิจารณาดู แล้วลองเอาไปพิสูจน์ดู อย่าดันทุรังเชื่อมั่นในตัวเอง การเชื่อมั่นก็ดีอยู่ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล ของความจริง ของความเป็นไปได้ อย่าเชื่อมั่นแบบดันทุรัง ปฏิเสธการตักเตือนของผู้อื่น

 

เส้นทางนี้เป็นอย่างนี้ หลงได้ง่าย เพราะมีเชื้อความหลงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เป็นตัวนำอยู่แล้ว พอได้สัมผัสกับอะไรก็มักจะวิเคราะห์ผิด เหมือนเวลาไม่สบายไปหาหมอ หมอวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงเป็นอย่างนี้ รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย พอเปลี่ยนหมอใหม่ หมอวิเคราะห์ถูกโรค รักษา ๓ วันก็หาย นี่แหละเรียกว่าปัญญา ผู้ที่เจอปัญหาแล้ววิเคราะห์ได้ตรงกับปัญหาหรือไม่ ถ้าวิเคราะห์ผิดวิธีรักษาก็ผิด ผิดเป็นขบวนไปเลย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ถ้ามีมากก็เก่งมาก ถ้ามีน้อยก็เก่งน้อย จึงควรมีครูบาอาจารย์ไว้คอยสอน ถ้าไม่มีก็ให้ยึดหนังสือธรรมะที่ดีเช่นพระไตรปิฎก และหนังสือของครูบาอาจารย์ อ่านให้มากๆ แล้วจะได้ความรู้หลายด้านมายันกัน คำสอนของผู้อื่นเป็นเหมือนแผนที่ ทางที่เราไปนี้เป็นทางที่เรายังไม่เคยไป อาจจะหลงทางได้ถ้าไม่มีแผนที่ คิดว่าควรจะไปทางนี้ แต่ความจริงต้องไปอีกทางหนึ่ง อย่างนี้ก็หลงแล้ว หลงได้ทุกขั้นนะ ขั้นสมาธิก็หลงติดสมาธิ ขั้นปัญญาก็หลงสังขาร คิดว่าพอผ่านสมาธิแล้วก็ไม่ต้องทำสมาธิแล้ว เจริญปัญญาอย่างเดียว สมาธิยังจำเป็นอยู่ หรือคิดว่าได้สมาธิแล้วก็จบแล้ว จิตสงบแล้ว ไม่เจริญปัญญาต่อก็ติดอยู่ในสมาธิ ถ้าได้ยินได้ฟังอย่างนี้มาก่อน เราก็จะรู้ว่าต้องทำอย่างไร ได้แผนที่แล้ว ทีนี้อยู่ที่เวลาปฏิบัติจะจำได้หรือเปล่า เพราะทั้งๆที่เคยได้ยินได้ฟังมาพอปฏิบัติก็ลืมได้ หรือวิเคราะห์ผิดว่านี่ไม่ใช่สมาธิ นี้หลุดพ้นแล้ว แต่ความจริงเป็นเพียงสมาธิ หลุดพ้นชั่วคราว ยังไม่ถาวร นี่คืออานิสงส์จากการฟังเทศน์ฟังธรรม ทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง ขจัดความสงสัยได้ ทำให้จิตมีความสงบ ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยินได้ฟังมาก่อน สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วก็จะเกิดความเข้าใจดียิ่งขึ้นไป การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงเป็นมงคลด้วยประการฉะนี้

 

ถาม  เพื่อนลูกนั่งแล้วเหมือนกับถอนออกมาเร็วเกินไป เขาปวดหัวข้ามวันเลยค่ะ

 

ตอบ  เขาคงเสียดายกับสิ่งที่เขาได้ อยากจะให้มันกลับมาอีก ความอยากก็ทำให้เกิดปวดหัวขึ้นมาได้ ถ้าอยากมากๆ ต้องลืมเรื่องนั้น มันผ่านไปแล้ว จบไปแล้ว หนังเรื่องนั้นจบไปแล้ว ต้องตีตั๋วใหม่ ดูรอบใหม่ อดีตผ่านไปแล้ว สมาธิที่ได้มา จะลึกจะตื้น จะนานจะไม่นานนี้ มันจบไปแล้ว ให้ทำใหม่ หุงข้าวหม้อใหม่ หม้อเก่ามันผ่านไปแล้ว โยนให้หมากินไปหมดแล้ว อย่าไปเสียดาย อย่าไปอยากได้คืน ถ้าอยากมากๆ ก็ทำให้เครียดได้

 

ถาม  เขาไม่ได้บอก เขาบอกแต่ปวดหัว

 

ตอบ  อาจจะปวดหัวเรื่องอื่นก็ได้ เรื่องหนี้สิน เรื่องปัญหาต่างๆ

 

ถาม  เขาจะเห็นเร็วมากเลยค่ะ จะเห็นรูปเห็นร่างเยอะ เขาก็กลัวค่ะ

 

ตอบ  ให้เขากลับมาหาองค์ภาวนา กลับมาหาตัวรู้ กลับมาหาผู้รู้ ถ้าภาวนาพุทโธก็กลับมาหาพุทโธ พอพุทโธกลับมาแล้ว รูปต่างๆก็จะหายไป พุทโธไล่มันไปได้ ถ้าไปตามรู้ก็จะปรากฏขึ้นมาเรื่อยๆ

 

ถาม  ตอนนั้นไปนอนพักที่โรงแรม ลูกก็อยู่ตรงจุดนั้น เขามองกระจกก็เห็น เขาก็หลับตา พอลืมตาก็ยังเห็นอีก

 

ตอบ  เห็นก็รู้ว่าเห็นก็แล้วกัน อย่าไปยินดียินร้าย อย่าไปบังคับให้มันหาย เมื่อมันจะเห็นก็ต้องเห็น ถ้าไม่อยากเห็นก็หาอย่างอื่นมาเห็นแทน มาพุทโธแทน เราไปไล่มันไม่ได้ แต่เรามีอุบายให้มันหายไปได้ ด้วยการเข้าหาพุทโธแทน สวดมนต์แทน อย่าไปคิดถึงมัน เดี๋ยวก็หายไปเอง ถ้าเห็นแล้วพยายามจะไล่เขา ยิ่งไล่ยิ่งอยู่เพราะเราคิดถึงมันอยู่เรื่อยๆ

 

ถาม  อย่างนี้เขามาขอบุญหรือเปล่า

 

ตอบ  ทำไมไม่ถามเขาละ ถามได้ ว่าเป็นอย่างไร มาจากไหน เขาอาจจะมาปรับทุกข์ก็ได้ ขอส่วนบุญก็ได้ ภาพนอกภาพในมันก็เหมือนกัน พวกเราในปัจจุบันเป็นคน อนาคตก็เป็นผีเหมือนกัน เรื่องอะไรจะต้องกลัว สมมุติเราตายไปแล้ว มาโผล่ให้คุณเห็นนี้คุณจะกลัวเราไหม เราก็ไม่ได้ทำอะไรคุณขณะที่มีชีวิตอยู่ เวลาตายไปแล้วจะไปทำคุณทำไม ความกลัวก็คือความหลง คิดโดยไม่มีเหตุไม่มีผล ถ้าคิดด้วยเหตุด้วยผลแล้ว ไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก เห็นอะไรก็พุทโธไว้ก็แล้วกัน คิดถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเวลาไปอยู่ที่น่ากลัวๆ แล้วเกิดความกลัวขึ้นมา อย่าส่งจิตไปหาสิ่งที่กลัว ให้เจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วความกลัวก็จะหายไป จะรู้ว่าความกลัวออกมาจากใจ เมื่อไม่กลัวแล้วอะไรจะมาก็ไม่เป็นไร จะเห็นอะไรก็ไม่เป็นไร แต่ตอนเห็นถ้าเกิดอาการกลัว ก็อย่าส่งจิตไปหาสิ่งนั้น ให้เข้าหาพุทโธ ธัมโม สังโฆ เพราะคนเราเวลากลัวมากๆนี่จะสวดมนต์กันได้เร็ว ถ้าพุทโธๆก็จะแนบติดอยู่กับใจเลย

 

คนที่ต้องการให้จิตสงบ จึงต้องอาศัยที่น่ากลัวๆ ให้เกิดความกลัวขึ้นมา เมื่อเกิดความกลัวแล้วจะสวดมนต์อย่างตั้งใจ ทำอย่างจริงจังเลย ไม่สักแต่ว่าสวด ถ้าอยู่บ้านถึงเวลาสวดก็สวดไปอย่างนั้น จำใจสวด ใจไม่ได้อยู่กับการสวด สวดไปก็คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไป แต่ถ้าเกิดความกลัวๆนี่ จะไม่คิดเรื่องอื่น จะอยู่กับบทสวดมนต์อย่างเดียว บางทีสวดไม่ทันเสร็จจิตก็สงบแล้ว จะเห็นคุณค่าของสถานที่น่ากลัว เห็นคุณค่าของการสวดมนต์ ต้องไปกันนะ ถ้าอยากจะเห็นผลต้องไปในที่อย่างนั้น เป็นทางลัด อยากจะเห็นผลเร็วๆไม่ใช่หรือ ไม่กล้าลงทุนก็ไม่ได้ผล ลงทุนน้อยผลก็น้อย ลงทุนมากผลก็มาก อ่านประวัติครูบาอาจารย์ต่างๆก็อย่างนี้ทั้งนั้น อ่านในปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐาน ท่านก็ไปอยู่ตามป่าตามเขากัน บางองค์ท่านก็ไปนั่งทางเสือผ่าน บางองค์ก็ไปนั่งที่หน้าเหวเลย ถ้าสัปหงกก็ตกเหวเลย ถ้ารู้ว่าจะตกเหว จะไม่สัปหงก จะไม่ง่วง จะตื่นมีสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีสถานที่น่ากลัวๆ ก็อดอาหารแทน ทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน หรือไปอยู่กับครูบาอาจารย์ดุๆก็จะได้ประโยชน์ มีเสือในร่างของครูบาอาจารย์ ดุกว่าเสือจริงอีก อย่าไปกลัวครูบาอาจารย์ที่ดุๆ ท่านดุเพื่อเรา ความจริงใจท่านไม่ดุ ท่านเมตตาจะตายไป แต่ท่านเห็นคุณค่าของการดุด่า เป็นอุบาย เห็นคุณค่าของความกลัว ท่านถึงทำตนเป็นบุคคลที่น่ากลัวมาก แต่ใจจริงท่านรักเมตตาเราจะตายไป เพราะทุกวันนี้ที่ท่านอยู่นี้ ท่านไม่ได้อยู่เพื่อใคร ท่านอยู่เพื่อเรา ทำเพื่อเรา แล้วเราจะไปกลัวทำไม เวลาท่านดุด่าเรา ด่าเพื่อเรา ดุเพื่อเรา ควรจะดีใจทุกครั้งที่ท่านด่าเราดุเรา แสดงว่าท่านเมตตาจริงๆ

 

ถาม  ท่านไม่ต้องดุเลยค่ะ เห็นตาท่านก็กลัวแล้ว

 

ถาม  เวลาสวดมนต์บทสังฆคุณ แล้วกำหนดจิตเห็นครูบาอาจารย์องค์ที่ลูกเคารพนะค่ะ จะเป็นการยึดติดหรือเปล่าคะ

 

ตอบ อยู่ที่ว่าเราระลึกถึงท่านอย่างไร ถ้าระลึกเพื่อให้เกิดศรัทธาที่จะปฏิบัติ อย่างนี้ก็ไม่ยึดติด ถ้าคิดถึงท่านแล้วอยากให้ท่านอยู่กับเราไปนานๆ อย่างนี้ก็จะเป็นการยึดติด เพราะเวลาท่านจากไปเราจะเสียใจ ถ้าไม่ยึดติด รับความจริงได้ เวลาท่านอยู่กับเราก็ดี เวลาท่านไปก็ดี เพราะท่านไปเพียงร่างกาย เรายังระลึกถึงท่านได้เหมือนเดิม ระลึกถึงคุณงามความดีของท่านได้ ระลึกถึงปฏิปทาคำสอนของท่านได้ เหมือนกับท่านไม่ได้จากไป ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต  เห็นคุณธรรมของท่าน ไม่ได้เห็นสรีระร่างกายของท่าน เพราะสรีระร่างกายของท่านไม่ใช่เป็นองค์ท่าน องค์ท่านอยู่ที่คุณธรรม ทุกครั้งที่เราเจริญพระพุทธคุณพระสังฆคุณนี่ เราก็ถึงท่านแล้ว ได้องค์ท่านประดับอยู่ในใจของเราแล้ว ทุกครั้งที่ระลึกถึงท่าน ก็จะทำให้มีศรัทธามีวิริยะที่จะบำเพ็ญต่อไป หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจากไปแล้ว พระอานนท์ก็ยังบำเพ็ญต่อได้ ไม่ใช่พอท่านสิ้นแล้ว ก็หมดกำลังใจ ไม่ปฏิบัติ ท่านกลับเร่งความเพียรให้มากขึ้น

 

        คุณธรรมก็มี ๒ อย่าง คุณธรรมที่เราระลึกขึ้นมา แล้วก็คุณธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติ คุณธรรมที่เราระลึกขึ้นมายังไม่ถาวร เวลาระลึกขึ้นมาก็จะปรากฏขึ้นมา ถ้าไม่ระลึกถึงก็หายไป แต่ถ้าคุณธรรมที่เกิดจากการปฏิบัติ จะเป็นของแท้ จะอยู่กับเราไปตลอด ที่ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคตนี่ ต้องเห็นอย่างนี้ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจะไม่มีความสงสัยอีกต่อไป ไม่ต้องระลึกถึงท่านด้วย เพราะท่านมาเป็นเราแล้ว เมื่อก่อนเราเป็นนาย ก. นาย ข. แต่เดี๋ยวนี้มีพระธรรมมาเป็นตัวเราแทน เพราะเราไม่คิดแบบเดิมๆอย่างที่เราเคยคิด เราคิดแบบธรรมะ เมื่อก่อนก็ไม่ได้คิดแบบนี้ ก็คิดแบบทางโลกๆ ห่วงพ่อห่วงแม่ห่วงพี่ห่วงน้อง ห่วงเศรษฐกิจ ห่วงอะไรต่างๆ แต่ทุกวันนี้ไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่าอะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะเป็นก็เป็น ปฏิบัติไปแล้วจิตเหมือนกับถูกธรรมะเข้ามาสิง เมื่อก่อนนี้ถูกกิเลสสิง ถูกความหลงสิง ทำให้คิดตามกิเลส พอบำเพ็ญธรรมจนธรรมเป็นใหญ่แล้ว ก็จะคิดไปในทางธรรมะ เวลาที่เราสวดความจริงไม่ควรระลึกถึงท่านเสียด้วยซ้ำไป เพราะต้องการให้จิตเป็นหนึ่ง ถ้าสวดไปด้วยแล้วคิดถึงท่านด้วย จิตยังเป็น ๒ อยู่ ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจะสวดก็สวดไป อย่าไประลึกถึงท่าน ให้อยู่กับบทสวด อาศัยบทสวดเป็นตัวนำจิตให้เข้าสู่ความสงบ ถ้าสวดไปแล้วระลึกถึงภาพท่านไปด้วย จิตจะแกว่งไปแกว่งมา ระหว่างบทสวดกับภาพที่เราระลึกถึง จิตจะไม่นิ่ง อยากจะระลึกถึงท่านก็ไว้อีกวาระหนึ่งก็ได้ หลังจากที่สวดเสร็จแล้ว เวลาที่เรากราบพระ จะระลึกถึงท่านก็ได้ หรือจะใช้ภาพของท่านเป็นองค์ภาวนาก็ได้ เป็นนิมิต ระลึกถึงภาพของครูบาอาจารย์แล้วก็พยายามให้ภาพของท่านนั้นตั้งอยู่ในจิตนานๆ ไม่ให้มีเรื่องอย่างอื่นๆเข้ามาลบล้างภาพนั้นได้ จิตก็เป็นสมาธิได้ ให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าทำ ๒ อย่างพร้อมๆกัน

 

ถาม  เพื่อนจะบ่นกับลูกว่าเขามีปัญหา อยากจะสมหวังในชีวิต ลูกก็ชวนเขามาลองปฏิบัติธรรม เขาก็คิดว่าเขายังไม่เห็นความจำเป็นตรงนี้ เนื่องจากว่าทุกวันนี้เขาก็เป็นคนดีพอประมาณ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แล้วก็ดูแลครอบครัว แล้วเขาก็ไม่เข้าใจว่าการนั่งเฉยๆจะเป็นบุญได้อย่างไร

 

ตอบ  บอกเขาว่าตอนนี้เขากำลังหลง เขาคิดว่าเขาไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่เขากำลังทำตัวเขาเองให้เดือดร้อน ด้วยการอยากมีความหวังสมหวัง ถ้าเขามาฟังธรรมะแล้วเขาจะรู้ว่า ความสมหวังนี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน บางครั้งก็สมหวัง บางครั้งก็ไม่สมหวัง ถ้าเขาฟังธรรมะแล้วหูตาก็จะสว่างขึ้น แทนที่อยากจะให้สมหวัง เขาก็จะยอมรับกับความจริงว่า บางครั้งก็สมหวัง บางครั้งก็ไม่สมหวัง การมาวัดไม่ได้ให้มานั่งหลับตา ปิดหูปิดตา ทำจิตให้สงบอย่างเดียว แต่ให้มารับรู้สัจจธรรมความจริงของชีวิต ที่เรามักจะมองไม่เห็นกัน ต้องมาหาคนที่มีประสบการณ์ ที่ได้ศึกษาสัจจธรรมของชีวิตมาแล้ว เพื่อนำเอาไปพินิจพิจารณาดู เช่นสอนเขาว่า ปัญหาของเขาไม่ได้อยู่ที่ไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ แต่อยู่ตรงที่เขากำลังเบียดเบียนตัวเขาเองโดยไม่รู้สึกตัว จากความที่อยากจะให้สมหวังนี้เอง อยากไม่ได้ พออยากปั๊บจะทุกข์ขึ้นมาทันที ถ้าไม่อยากทุกข์ ไม่อยากกลุ้มอกกลุ้มใจ ก็อย่าไปอยากให้สมหวัง หวังได้แต่อย่าไปยึดติดอยู่กับความหวัง ทุกคนมีความหวังทั้งนั้น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลของความจริง บางอย่างเราหวังแล้วเราก็ได้ เช่นอยากจะเรียนให้จบมหาวิทยาลัย เราก็รู้ว่าความหวังนี้เป็นไปได้ แต่เราต้องขยันเรียน แต่หวังบางอย่างหวังไม่ได้ เช่นหวังให้สามีซื่อสัตย์กับเรา หวังให้เขารักเรา ถ้าเขาไม่ชอบเราแล้ว จะให้เขารักเราได้อย่างไร เราไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง บอกเขาให้คิดอย่างนี้ แล้วเขาจะไม่มีความทุกข์กับเรื่องอะไรเลย

 

คนส่วนใหญ่คิดว่าเข้าวัดเพื่อทำพิธีกรรมต่างๆ ขอศีลถวายสังฆทาน กรวดน้ำให้พร เสร็จแล้วก็กราบลาพระ ให้หลวงพ่อได้พักผ่อน ถ้าไปเจอพระเทศน์ ก็คิดว่าเทศน์เรื่องล้าสมัยงมงาย เรื่องนรกเรื่องสวรรค์ เรื่องเปรตเรื่องผี เรื่องเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นสิ่งที่เขามองไม่เห็น เขาพิสูจน์ไม่ได้ เขาก็เลยตัดบทไปง่ายๆว่าเป็นเรื่องงมงายไป จึงไม่สนใจ กลัวจะถูกล้างสมอง ไม่เคยไปวัดป่า ไม่เคยศึกษาธรรมะจากต้นฉบับ ถ้าศึกษาจากต้นฉบับจะรู้ว่าธรรมะเป็นวิชาความรู้ เป็นทั้งจิตศาสตร์และกายศาสตร์ เกี่ยวข้องทั้ง ๒ ส่วนของชีวิต คือจิตกับกาย ถ้าศึกษาแล้วจะเข้าใจธรรมชาติของจิตธรรมชาติของกาย เข้าใจความทุกข์ที่เกิดในจิต เข้าใจวิธีรักษาจิตไม่ให้ทุกข์กับเรื่องต่างๆ เป็นความรู้แท้ๆ เป็นวิชาความรู้ เป็นปริญญา เรียนแล้วเกิดปัญญา เพียงแต่ว่ามันขัดกับกิเลส ขัดกับทางโลก จึงไม่นำเอาไปบรรจุเป็นปริญญา ไม่สอนกันในมหาวิทยาลัย สอนแต่ที่วิทยาลัยสงฆ์ ในเมืองไทยก็มีอยู่ ๒ แห่งคือ มหามกุฎฯและมหาจุฬาลงกรณ์ฯ ที่สอนพุทธศาสตร์ แต่สอนเพียงครึ่งเดียว สอนทางด้านทฤษฎี ไม่สอนทางด้านปฏิบัติ ไม่พาเข้าป่าถือธุดงควัตร เช่นถือผ้า ๓ ผืน นอนโคนไม้ ฉันมื้อเดียว อยู่แต่ในเมือง มีแต่เครื่องบันเทิงต่างๆ มีเครื่องอำนวยความสุขครบถ้วน เป็นเหมือนฆราวาส เรียนแต่ทฤษฎี ไม่ได้นำเอามาใช้ขัดเกลาจิตใจ เพราะมีเจ้าของเก่าเขาคอยต่อต้านอยู่ ใจของปุถุชนของพวกเรานี้ ถูกกิเลสครอบงำเป็นเจ้าของอยู่ กิเลสจะไม่เปิดโอกาสให้ธรรมะเข้ามาในใจได้ง่ายๆ ถ้าไม่ผลักไม่ไล่ มันจะไม่ออกไป เราต้องพยายามไล่มันออกไป พยายามผลักดันธรรมะเข้าไปในใจ พยายามออกจากบ้านมาวัดเพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมกัน

 

เป็นการต่อสู้แก่งแย่งอำนาจกัน ผู้ที่มีอำนาจอยู่ก็หวงอำนาจ ผู้ที่ไม่มีอำนาจก็อยากจะโค่นล้มผู้ที่มีอำนาจ ด้วยวิธีการต่างๆ ในใจก็มีอำนาจอยู่ ๒ ส่วน ที่เรียกว่าธรรมะกับอธรรม ตอนนี้ใจของพวกเราถูกอธรรมควบคุมอยู่ ถ้าอยากจะได้ธรรมะ ก็ต้องเอาธรรมะเข้ามาต่อสู้กับอธรรม ขับไล่อธรรมออกไปจากใจ ถ้ายังชอบอธรรมอยู่ก็จะไม่สนใจหาธรรมะ พอใจอยู่กับกิเลส ก็ต้องปล่อยเขาไป เพราะไม่มีใครบังคับใครได้ เป็นเรื่องของแต่ละคน ที่จะมีปัญญามองเห็น  ว่าตนกำลังเป็นทาสหรือเป็นไท ถ้ายังมีความโลภความอยากต่างๆอยู่ ก็แสดงว่ายังเป็นทาสอยู่ เวลากิเลสสั่งให้โลภให้อยาก ไปเที่ยวที่นั่นไปเที่ยวที่นี่ ก็ต้องไปตามคำสั่ง ถ้าเป็นไทแล้วก็ไม่ต้องไป อยู่เฉยๆนี้สบายที่สุด ไม่ต้องมีอะไร แต่เราไม่รู้กันว่ายังเป็นทาสกันอยู่ จึงต้องอาศัยกระจกมาส่องใจ คือธรรมะนี่แหละ ธรรมะจะแสดงให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างการเป็นทาสและการเป็นไท เวลาเป็นทาสนี้มีแต่ความทุกข์ เวลาเป็นไทนี้ไม่มีความทุกข์เลย หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ถ้าฟังแล้วเกิดศรัทธาขึ้นมาก็ถือว่าเป็นบุญ มีโอกาสที่จะเป็นไทได้ ถ้าฟังแล้วไม่ศรัทธาก็ต้องเป็นทาสต่อไป

 

ถาม  ลูกชายไปพบพระภิกษุที่ปฏิบัติไม่ดี เขาก็บอกว่าไม่อยากใส่บาตร

 

ตอบ  บอกเขาว่าเวลาไปซื้อผลไม้ แล้วเจอผลไม้ที่เน่า เราก็โยนผลที่เน่าทิ้งไป ผลที่ดีเราก็กิน ไม่ใช่พอเห็นผลไม้เน่าลูกหนึ่งแล้วก็จะไม่กินผลไม้อีกเลย ก็จะอดตายได้ การทำบุญเป็นการให้อาหารกับจิตใจเขา ถ้าไปเจอพระที่ไม่ดีก็อย่าไปใส่บาตรท่านก็แล้วกัน ไปใส่องค์ที่ดี องค์ที่ดีก็ยังมีอยู่ ถ้าไม่มีพระเราก็ทำบุญกับคนก็ได้ ทำกับพ่อกับแม่ก็ได้ พ่อแม่ก็เป็นพระของเรา ทำกับผู้มีพระคุณ เช่นครูบาอาจารย์ก็ได้ ทำกับคนดีก็ได้ ได้บุญเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของกิเลสหาทางออก พอเจอพระไม่ดีรูปหนึ่งก็ดีใจ ต่อไปนี้ไม่ต้องทำบุญทำทานแล้ว

 

ถาม  การบริกรรมพุทโธธัมโมสังโฆนี่นะคะ เป็นการยึดติดไหมคะ

 

ตอบ  พุทโธธัมโมสังโฆเป็นเหมือนกับรถยนต์ ที่จะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง เวลาเดินทางจากบ้านมาที่นี่ก็ต้องอาศัยรถยนต์ จะว่ายึดติดก็ยึดติด แต่ยึดติดเฉพาะขณะที่เดินทางเท่านั้น พอมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ยังนั่งอยู่ ไม่ยอมลงมา อย่างนี้เรียกว่ายึดติด แต่ถ้าถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็ลงมาขึ้นศาลา อย่างนี้ไม่ยึดติด ต้องอาศัยรถเป็นพาหนะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง การบริกรรมพุทโธ การดูลมหายใจเข้าออก ก็เป็นพาหนะพาใจเข้าสู่ความสงบ พอใจเข้าสู่ความสงบแล้วพุทโธก็หายไป ธัมโมสังโฆก็หายไป หายไปโดยอัตโนมัติ โดยธรรมชาติ พอจิตสงบลงปั๊บการบริกรรมก็หยุดทันที โดยไม่ต้องบังคับ เหมือนกับการรับประทานอาหาร เป็นการยึดติดหรือเปล่า ที่เราต้องตักอาหารเข้าปากต้องเคี้ยว ถ้าไม่ตักอาหารเข้าปาก ไม่เคี้ยว ไม่กลืนอาหารเข้าไปแล้วร่างกายจะรับอาหารได้อย่างไร จะอิ่มได้อย่างไร เมื่ออิ่มแล้วก็หยุดกิน ไม่ได้กินไปตลอด การรับประทานยาก็เช่นเดียวกัน เราต้องรับประทานยาเพื่อรักษาโรคให้หาย เรายึดติดกับยาหรือเปล่า จะว่ายึดติดก็ไม่ใช่ เป็นการพึ่งพาอาศัยกัน แต่ถ้ากินจนหายแล้วยังกินอยู่ อย่างนี้ถึงเรียกว่ายึดติด บางคนติดยาก็มี ไม่มั่นใจทั้งๆที่โรคหายแล้ว แต่กลัวจะกลับคืนมาอีก ก็เลยกินไปเรื่อยๆ อย่างนี้ก็ยึดติด ต้องดูที่เหตุผลเป็นหลัก บางคนคิดว่าการอาศัยครูบาอาจารย์เป็นการยึดติด อาศัยธรรมะก็ยึดติด ต้องปล่อยหมด ต้องไม่ยึดติดกับอะไรเลย แต่เรายังต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้อยู่ เพื่อพาให้เราไปสู่จุดที่เราไม่ต้องอาศัยอะไรเลย อย่างพระพุทธเจ้าพระอรหันต์นี้ ท่านไม่ยึดติดกับอะไร บุญท่านก็ไม่ยึดติด ท่านไม่ต้องทำบุญแล้ว ที่ท่านทำเพราะท่านถูกยัดเยียดให้ทำ มีคนเอาเงินมาให้ท่าน แล้วจะให้ท่านทำอะไรกับมันละ ท่านเองก็ไม่ต้องการเงิน ท่านก็พิจารณาเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์เท่านั้นเอง แต่ไม่ได้นั่งฝันนั่งคิดว่าวันนี้จะมีคนมาถวายเท่าไหร่ จะได้เงินเอาไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่มีอยู่ในใจ ท่านไม่คิดทำบุญแล้ว ถ้ายังต้องอาศัยบุญก็ยังต้องทำบุญ อย่างพวกเรานี้ยังต้องอาศัยบุญ อาศัยการปฏิบัติอยู่ ถ้าไม่ทำแล้วจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างไร เหตุกับผลมันเชื่อมกันตรงนี้ เหตุก็คือการบำเพ็ญทานศีลภาวนา ที่จะพาให้ไปสู่จุดที่ไม่ต้องอาศัยทานศีลภาวนาต่อไป

 

คนที่จะปฏิเสธธรรมะมีหลายรูปแบบหลายเหตุผล อะไรนิดอะไรหน่อยก็กลายเป็นเรื่องยึดติด เป็นเรื่องงมงายไปหมด ก็เลยไปไม่ถึงไหนกัน กิเลสมันฉลาด มันหลอกล่อสอนใจให้เห็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นยาเสพติด ว่าศาสนาเป็นเหมือนยาเสพติด คนที่เข้าวัดเป็นเหมือนคนติดยาเสพติด แต่คนที่เข้าวัดไม่ได้ว่าเขาติดยาเสพติด ที่เข้าวัดแล้วเหมือนกับคนติดยาเสพติดก็มี ถูกหลอกให้ทำบุญแบบไม่มีเหตุมีผลก็มี ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาว่าทำบุญเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์อะไร มีประโยชน์จริงหรือเปล่า สร้างวัตถุให้มโหฬารใหญ่โต สร้างไปทำไม ต้องมีเหตุผลเวลาจะสร้างอะไร มีความจำเป็นหรือไม่ ถ้าสร้างเพื่อความยิ่งใหญ่ มันไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงหรอก ความยิ่งใหญ่ทางด้านวัตถุไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงคือความยิ่งใหญ่ของจิตใจ ความยิ่งใหญ่ของธรรมะ พระพุทธเจ้าไม่เคยสร้างวัดแม้แต่วัดเดียว สร้างแต่พระอรหันต์นับจำนวนไม่ถ้วน สร้างตรงนั้น สำคัญตรงนั้น ถ้าถูกหลอกให้สร้างอะไรก็อย่าไปหลงเชื่อ ถ้าจะทำก็ทำพอสมควร อย่าขายบ้านขายช่องเพื่อสวรรค์ชั้นนั้นสวรรค์ชั้นนี้ ทำบุญให้ทานไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดความโลภ ทำบุญให้ทานเพื่อให้ดับความโลภ ถ้าทำเพราะอยากได้สวรรค์ชั้นนั้นสวรรค์ชั้นนี้ อยากเป็นมหาเศรษฐี ไม่ใช่จุดประสงค์ของการทำบุญให้ทาน ทำบุญให้ทานเพื่อให้อยากน้อยลงให้โลภน้อยลง ให้มีความสุขใจต่างหาก

 

        ถ้าใครยังไม่ได้หนังสือธรรมะ ต้องการเอาไปอ่านก็เอาไปได้ มีข้อแม้อยู่ว่า เอาไปแล้วต้องอ่าน อย่าเอาไปตั้งไว้บนหิ้ง ถ้าไม่อ่านก็จะไม่เกิดประโยชน์ ความวิเศษของหนังสืออยู่ที่การอ่าน อ่านแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ ที่บวชอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เกิดจากการอ่านหนังสือธรรมะเล่มเล็กๆเล่มหนึ่ง พออ่านแล้วเหมือนกับไปจุดประกายความรู้ที่มีอยู่เดิมให้สว่างขึ้น เมื่อก่อนก็ริบๆหรี่ๆ เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง พออ่านธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว มันชัดแจ้ง มันเห็นทาง รู้ว่านี่คือทางที่เราต้องไป เมื่อก่อนไม่รู้ พยายามหาทางที่จะทำให้มีความสุขใจอย่างถาวร แต่ยังหาไม่เจอ มีแต่ความสุขใจแบบล้มลุกคลุกคลาน บางเวลาก็สุขใจ บางเวลาก็กลุ้มใจ พอได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงไม่กี่หน้าไม่กี่บรรทัดนี่ มันสว่างขึ้นมาเลย มันรู้เลยว่านี่คือทางที่เราต้องไป ก็เลยเขียนจดหมายไปขอหนังสือมาเพิ่ม จนได้หนังสือที่พาไปสู่การปฏิบัติ ก็ลองปฏิบัติตามดู ก็ได้ผล ก็เลยเกิดฉันทะวิริยะ เกิดศรัทธา ที่จะปฏิบัติมากขึ้นไป ก็เลยลาออกจากงาน ออกปฏิบัติเลย ไม่เสียดายรายได้ ไม่เสียดายความสุขที่ได้จากการใช้เงิน ได้ไปเที่ยวที่นั่นเที่ยวที่นี่ ได้ซื้อข้าวซื้อของ มันไม่มีรสชาติเลยหลังจากที่ได้สัมผัสกับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ

 

        เพียงแต่ว่ามันยังได้น้อยอยู่ อยากจะให้มีมากๆ โลภแบบนี้ไม่เป็นกิเลส โลภแบบนี้เป็นมรรคเป็นธรรม อยากจะได้ความสุขในใจมากขึ้น อยากจะไปปฏิบัติธรรมมากขึ้น อย่าไปคิดว่าเป็นกิเลส ถ้าคิดก็จะตกไปในหลุมพรางของกิเลส เขาต้องการให้เราคิดอย่างนี้ เพื่อจะได้ไม่ปฏิบัติ ถ้าโลภในการปฏิบัติ อยากจะปฏิบัติมากขึ้น อย่างนี้ไม่เป็นความโลภ เป็นมรรค แต่ต้องรู้จักประมาณ ไม่หย่อนเกินไป ไม่เคร่งเกินไป ต้องให้พอกับกำลังของเรา ถ้าแบกของที่เราไม่สามารถยกได้ก็จะท้อแท้ จะยอมแพ้ไปในที่สุด แต่ถ้าค่อยขยับขึ้นไปทีละนิดทีละหน่อย ก็จะมีกำลังขยับขึ้นตามไปได้ จึงควรปฏิบัติไปตามกำลังของเรา ศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรมะที่เป็นธรรมจริงๆ ที่เกี่ยวกับพระอริยสัจ ที่เกี่ยวกับมรรค ๘ ทานศีลภาวนา เป็นทางที่ถูกต้อง ไม่หลงทางอย่างแน่นอน อ่านแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ แล้วผลจะปรากฏขึ้นมาในใจ จะพาไปสู่จุดที่ไม่คาดคิดว่าจะไปได้ เมื่อก่อนไม่เคยคิดว่าจะกล้าโกนหัว ไม่เคยคิดว่าจะอยู่ในวัด ขังตัวเองไม่ให้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆได้ ก่อนบวชนี้เคยเห็นพระเณรแล้ว ใจเกิดความรู้สึกว้าเหว่หดหู่ขึ้นมา ไม่อยากอยู่ในสภาพของพระเณร ไปไหนมาไหนตามอำเภอใจไม่ได้

 

        แต่พอปฏิบัติแล้วกลับเห็นว่านี่คือทางที่ต้องไป เพราะจะมีเวลาปฏิบัติได้มาก ไม่ต้องมากังวลกับภารกิจอย่างอื่น ความกลัวความหดหู่ใจที่จะต้องเป็นพระก็หายไป ก็บวชได้โดยไม่รู้สึกอะไร เป็นไปตามขั้นตอนของการปฏิบัติ พอเดินมาถึงตรงนี้แล้ว ก็มีทางให้เลือก จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหรือจะตรงไป ก็ต้องเลือกทางที่เหมาะที่สุดต่อการเจริญของจิตใจ ก็ต้องบวชเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ไม่คิดวิตกกับเรื่องรูปร่างหน้าตา เพราะไม่ได้ไปหวังอะไรกับร่างกายแล้ว ไม่ได้ใช้ร่างกายหาความสุขจากทางรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ จึงอย่าไปกังวลกับอนาคตมากจนเกินไป บางคนกลัวว่าปฏิบัติมากแล้ว จะต้องทิ้งพ่อทิ้งแม่ทิ้งสามีทิ้งภรรยาทิ้งลูกทิ้งหลาน เป็นความคิดของกิเลส พอปฏิบัติไปมากๆเข้า จะเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้ แทนที่จะเห็นว่าเป็นคุณเป็นความสุข กลับเห็นว่าเป็นโทษเป็นความทุกข์ ก็จะตัดได้ปล่อยได้ แต่ไม่ได้ตัดโดยไม่มีเยื่อใยความเมตตากรุณา ตัดความยึดติด แต่ยังมีความผูกพัน มีเยื่อใยเมตตาสงสารห่วงใยกัน ช่วยเหลือกันดูแลกันอยู่เต็มหัวใจเหมือนเดิม ตัดตรงที่ความยึดติด ไปห่วงไปกังวล ไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ไม่มี เพราะเป็นความทุกข์

 

        จุดเริ่มต้นอยู่ที่การได้อ่านได้ยินได้ฟัง แล้วมันจะพาเราไปเอง ศึกษาในประวัติดูก็เหมือนกันทั้งนั้น ทุกคนต้องได้ยินได้ฟังก่อน พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสาวกองค์แรก สาวกแปลว่าผู้ฟัง ฟังแล้วก็ปฏิบัติทันที บรรลุได้ทันที ฟังครั้งแรกพระอัญญาโกณฑัญญะก็บรรลุธรรมขั้นแรกได้เลย การฟังธรรมจึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง การอ่านหนังสือธรรมะก็เหมือนกับการฟังธรรม เพราะถอดมาจากการแสดงธรรมทั้งนั้น พระไตรปิฎกก็ออกมาจากการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงไว้ตามสถานที่ต่างๆ ตามวาระต่างๆ แล้วก็จดจำกันมาสมัยก่อนพระท่องจำกัน เป็นอุบายรักษาพระธรรมคำสอน และเป็นอุบายทำสมาธิและเจริญปัญญา เพราะเมื่อท่องไปๆก็ทำให้จิตสงบ ไม่ไปคิดเรื่องราวต่างๆจิตก็สงบ ถ้าพิจารณาตามจนเข้าใจ ก็นำเอามาปฏิบัติได้เลย สมัยก่อนถึงมีการท่องจำพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สมัยนี้ก็ยังท่องกันอยู่ แต่ท่องไว้สวด ไม่ได้ศึกษาความหมายเท่าไหร่ เลยไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ได้เพียงสมาธิเป็นอย่างมาก ถ้าไม่เข้าใจความหมายของบทที่สวด ถ้าเข้าใจความหมายก็นำเอามาปฏิบัติได้เลย เอามาดับกิเลสได้เลย

 

        ขอให้มีฉันทะมีความยินดีต่อการฟังเทศน์ฟังธรรมก็แล้วกัน ดังธรรมบทที่แสดงไว้ว่า ไม่มีความยินดีอะไร จะดีเท่ากับความยินดีในธรรม ไม่มีรสอะไร ที่จะชนะรสแห่งธรรม รสแห่งธรรมจะปรากฏขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความยินดีในธรรม ยินดีที่จะฟัง ยินดีที่จะนำเอาไปปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วผลคือรสแห่งธรรม ก็จะปรากฏขึ้นมาในจิตในใจ ไม่ต้องสงสัย เป็นอกาลิโก เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธกาล เป็นอย่างนี้ในสมัยปัจจุบัน และจะเป็นอย่างนี้ไปตลอด จนถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อๆไปที่จะตามมา สอนอย่างนี้เหมือนกันหมด คำสอนแบบเดียวกัน เพราะกิเลสเป็นแบบเดียวกัน ยาที่จะกำจัดกิเลสก็เป็นตัวเดียวกัน คือมรรค ๘ ทานศีลภาวนา หรือศีลสมาธิปัญญา ถ้ายึดติดอยู่กับแนวนี้แล้วจะไม่หลงทาง ถ้าหลงก็หลงไม่ไกล ตอนที่สุภัททะปริพาชก จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตอนใกล้จะเสด็จปรินิพพาน แต่พระอานนท์ไม่ให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าได้ยินเข้าก็ทรงตรัสให้ปล่อยเขาเข้ามา เขาสงสัยว่าคำสอนของลัทธิต่างๆมีมากเหลือเกิน อยากจะทราบว่า คำสอนใดเป็นคำสอนที่ถูกทาง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า คำสอนใดก็ตามถ้ามีมรรคเป็นองค์ ๘ คำสอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูกทาง ไม่ได้ทรงตรัสว่าต้องเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ อยู่ที่ว่ามีมรรค ๘ หรือไม่ ถ้าคำสอนมีมรรคทั้ง ๘ ประการ ก็ถือว่าเป็นคำสอนที่ถูกทาง พาไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแน่นอน