กัณฑ์ที่ ๓๘๔       ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๑

 

ปรอทวัดอุณหภูมิของใจ

 

 

 

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่จะถึงนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระธรรมคำสอนเป็นครั้งแรก จะถือเป็นวันก่อตั้งของพระพุทธศาสนาก็ได้ ทุกวันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันคล้ายวันเกิดของพระพุทธศาสนา ปีนี้ก็เป็นปีที่ ๒๕๙๖ แล้ว เพราะเรานับวันที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นวันเริ่มต้นพุทธศักราช พระองค์ทรงประกาศพระธรรมคำสอน ๔๕ ปี ก่อนที่จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไป จึงต้องเอา ๔๕ มาบวกกับปี พ.ศ. ของปัจจุบัน ปีนี้ ๒๕๕๑ บวกกับ ๔๕ ปีก็เป็น ๒๕๙๖ ปี ใกล้จะถึง ๕๐๐๐ ปีเข้าไปเรื่อยๆ เพราะเวลาไม่หยุดยั้ง ศาสนาก็จะหดลงไปเรื่อยๆ หดเพราะคนไม่สนใจที่จะศึกษา ไม่สนใจที่จะปฏิบัติ ไม่ได้หดเพราะธรรมะหด ธรรมะไม่หดตามกาลตามเวลา ไม่เสื่อมตามกาลตามเวลา แต่คุณธรรมที่จะทำให้ศาสนามีอยู่ในใจของคนคือ ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา มีน้อยลงไป คนให้ความสนใจกับเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องของศาสนา อย่างในปัจจุบันนี้มีคนอยู่ในประเทศก็เกือบ ๗๐ ล้านคน แต่คนที่มีจิตใจใฝ่บุญใฝ่กุศลใฝ่การปฏิบัตินี้ ก็นับจำนวนได้ไม่มาก แสดงว่ามันเสื่อมไปจากใจคน เพราะมีความเจริญทางด้านวัตถุมาทดแทน

 

ความเจริญทางด้านวัตถุ เป็นผลจากการเจริญ ของความโลภความโกรธความหลง ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับศาสนา ถ้าสนใจกับเรื่องวัตถุ เรื่องความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายมากเพียงไร ใจก็จะอยู่ห่างไกลจากศาสนามากเพียงนั้น ความเจริญในทางโลกจึงไม่เป็นความเจริญที่แท้จริง แต่กลับเป็นความเสื่อมเสียมากกว่า เสื่อมที่จิตใจของคน ที่มีศีลธรรมน้อยลงไป มีความเมตตากรุณาน้อยลงไป มีความสงบน้อยลงไป มีความวุ่นวายมากขึ้น มีความฟุ้งซ่านมากขึ้น มีคนเป็นโรคจิตมากขึ้น มีคนบ้ามากขึ้น มีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น นี่เป็นผลของความเจริญทางด้านวัตถุ แต่เนื่องจากความมืดบอดหรือความหลงครอบงำจิตใจ จึงทำให้ไม่เห็นถึงความเสื่อมของจิตใจ ไม่เห็นถึงความเสื่อมของศาสนา กลับคิดว่ากำลังเจริญรุ่งเรือง อยากจะไปไหนก็ไปได้ อยากจะดูอยากจะฟังอะไรก็ดูได้ฟังได้ แต่ไม่เคยหันมาดูที่จิตใจเลยว่าร้อนหรือเย็น สงบหรือวุ่นวาย พระพุทธเจ้าจึงต้องประกาศพระอริยสัจ ๔ ตอนที่ทรงแสดงธรรมครั้งแรกนี้เลย เพราะเป็นตัววัดอุณหภูมิภายในจิตใจของเรา พระอริยสัจ ๔ มีทั้งส่วนที่ร้อนและส่วนที่เย็น เหมือนกับปรอทวัดอุณหภูมิที่วัดได้ตั้งแต่ ๐ องศา ถึง ๑๐๐ องศา

 

ถ้าใจมีมรรคมาก มีนิโรธมาก ใจก็เย็นใจก็สงบ ถ้ามีทุกข์มาก มีสมุทัยมากใจก็ร้อน นี่คือพระอริยสัจ ๔ มีส่วนที่ร้อนและมีส่วนที่เย็น พระอริยสัจ ๒ ข้อแรกคือทุกข์กับสมุทัยนี้ เป็นส่วนของความร้อนของจิตใจ ถ้ามีความอยากมากเพียงไร ความทุกข์ร้อนภายในจิตใจก็จะมีมากเพียงนั้น ถ้ามีมรรคและนิโรธมากเพียงไรก็จะมีความเย็นมากเพียงนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน ให้สร้างมรรคสร้างนิโรธไว้ให้มาก ให้ลดความทุกข์ความอยากให้น้อยลง ทำพระอริยสัจ ๒ ข้อแรกให้มีน้อยลงไป ด้วยการละความอยากทั้ง ๓ คือ ความอยากในกาม กามตัณหา ความอยากมีอยากเป็น ภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น วิภวตัณหา ถ้ามี ๓ ตัวนี้มากเพียงไรก็จะมีความร้อนมากเพียงนั้น สิ่งที่จะทำให้ความอยากทั้ง ๓ น้อยลงไป เบาบางลงไป ก็อยู่ที่การเจริญมรรค การสร้างบุญสร้างกุศล การปฏิบัติธรรม เพราะเป็นตัวลดละความอยากต่างๆ เช่นการมาฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ ก็เป็นการสร้างสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมรรค มรรค ๘ มีสัมมาทิฐิเป็นองค์เริ่มต้น แล้วก็มีสัมมาสังกัปโป สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิตามมา

 

พระอริยสัจนี้พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า เป็นกิจเป็นหน้าที่เป็นงานของผู้ที่ต้องการไปสู่พระนิพพาน จะต้องบำเพ็ญจะต้องทำให้ได้ มีอยู่ ๔ ข้อด้วยกันคือ ๑. ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้  ๒. สมุทัยต้องละ  ๓. นิโรธต้องทำให้แจ้ง  ๔. มรรคต้องเจริญให้มากบำเพ็ญให้มาก เพราะมรรคจะทำให้ละสมุทัยได้ เมื่อละสมุทัยได้นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมา เพราะสมุทัยเป็นตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์ พอดับสมุทัยได้ละสมุทัยได้ความทุกข์ก็ดับ นิโรธแปลว่าความดับทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมา ที่ทรงสอนให้กำหนดรู้ทุกข์ ก็เพื่อให้เราศึกษาให้รู้ว่าสิ่งที่เราไปติดอยู่นั้นเป็นทุกข์ ไม่เป็นสุขเลย เช่นพอเกิดมาแล้วก็ติดอยู่กับขันธ์ ๕  ติดอยู่กับรูปก็คือร่างกาย ติดอยู่กับเวทนา ติดอยู่กับความสุขกับความทุกข์ ความสุขก็เป็นกามตัณหา ความทุกข์ก็เป็นวิภวตัณหา พอเกิดความทุกข์ก็อยากจะให้หายไป ก็เป็นวิภวตัณหา เกิดความสุขก็เกิดเป็นภวตัณหา อยากจะให้สุขไปนานๆ ส่วนกามตัณหาก็เป็นความอยากได้ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เช่นเวลาไปเที่ยวไปดูไปฟัง ไปสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วเกิดความสุขใจขึ้นมา ก็อยากจะสัมผัสอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าอยากมีความสุขที่เกิดขึ้นมาภายในใจ โดยไม่ได้มาจากทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เป็นภวตัณหา เช่นร่างกายอยู่เป็นปกติไม่เจ็บไข้ได้ป่วย อย่างนี้ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่พอร่างกายเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เช่นเวลานั่งสมาธิแล้วเกิดความเจ็บปวดขึ้นมาตามส่วนต่างๆ ก็จะเกิดวิภวตัณหาขึ้นมา อยากจะให้ความเจ็บปวดดับไปหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บปวดไป เมื่อเกิดความอยากขึ้นมา ก็จะสร้างความทุกข์ทรมานใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นทุกข์ที่ตามมาจากความอยาก ไม่ได้เป็นทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บปวดของร่างกาย ความเจ็บปวดทางร่างกายของพระอรหันต์ จะไม่มีทุกข์ตามมาทางจิตใจ เพราะใจของท่านไม่มีวิภวตัณหา ไม่มีความอยากหนีจากความเจ็บปวดของร่างกาย จะเจ็บจะปวดอย่างไรก็ปล่อยให้เจ็บไป

 

เราจึงต้องใช้ขันธ์ ๕ นี้เป็นที่ศึกษา เพราะทุกข์เกิดที่ตรงนี้ เวทีของความทุกข์อยู่ตรงนี้ อยู่ที่รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ในใจขึ้นมาก็คือความหลง ไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณว่าเป็นอย่างไร มีมิจฉาทิฐิคือความเห็นผิดเป็นผู้นำ เห็นว่ารูปจะอยู่อย่างถาวร จะเป็นอย่างเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง จึงทำให้เกิดภวตัณหา อยากให้สาวให้สวยให้หนุ่มให้หล่ออยู่ตลอดเวลา เกิดวิภวตัณหา ไม่อยากให้แก่ให้เจ็บให้ตาย เกิดจากมิจฉาทิฐิ ไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของร่างกาย ว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่ก็เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จากทารกก็เป็นเด็ก จากเด็กก็เป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่ก็เป็นคนแก่ จากคนแก่ก็เป็นคนตาย เปลี่ยนไปตามเรื่องของมัน แต่ใจที่มีมิจฉาทิฐิจะไม่คิดอย่างนั้น จะคิดฝืนกับความจริง จะอยากให้หนุ่มให้สาวไปนานๆ ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย แต่ถ้ามีสัมมาทิฐิ พิจารณาร่างกายอยู่เรื่อยๆตามความเป็นจริงของเขา ว่าเกิดมาแล้วย่อมมีความแก่ความเจ็บความตายเป็นธรรมดา ถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปความไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายก็จะไม่โผล่ขึ้นมา เพราะรู้ว่าฝืนความจริง และสร้างความทุกข์ใจขึ้นมาเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ไม่ได้ทำให้ความแก่หายไป ไม่ได้ทำให้ความเจ็บหายไป ไม่ได้ทำให้ความตายหายไป แต่กลับทำให้มีความทุกข์เพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือความทุกข์ทรมานใจ เป็นทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย ไม่ใช่ทุกข์ที่เกิดจากร่างกาย ร่างกายเขาไม่ได้เป็นทุกข์ ร่างกายเขาแก่เจ็บตายเท่านั้นเอง แต่ใจต่างหากที่ไปทุกข์กับเขา เพราะไปอยากไม่ให้เขาแก่ไม่ให้เขาเจ็บไม่ให้เขาตาย นี่คือความหมายของทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้ต้องศึกษา ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงธรรมชาติของขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ตอนนี้เราก็ได้ยินแล้วว่าร่างกายมันเกิดแก่เจ็บตาย แต่เราต้องคอยเตือนใจอยู่เรื่อยๆ สอนอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่สอนก็จะเผลอ แป๊บเดียวก็จะคิดอยากไปซื้อยาแต่งหน้ามาทาแล้ว ดึงผิวให้มันตึงแล้ว ย้อมผมให้ดำแล้ว แสดงว่ามิจฉาทิฐิออกทำงานแล้ว ถ้าเป็นสัมมาทิฐิก็จะสบายใจไม่เดือดร้อน เหี่ยวก็เหี่ยว ย่นก็ย่น ขาวก็ขาว ไม่เป็นปัญหาอะไร  

 

ส่วนเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นเหมือนแสงหิ่งห้อย ที่เกิดดับเกิดดับภายในใจ ความสุขความทุกข์เกิดแล้วก็ดับไป สลับกันไป เดี๋ยวก็เจ็บตรงนั้นเดี๋ยวก็ปวดตรงนี้ เดี๋ยวก็หายไป ถ้าไม่ไปอะไรกับมัน เจ็บก็รู้ว่ามันเจ็บ เจ็บขาเจ็บแข้ง เจ็บศีรษะเจ็บท้อง ก็รู้ว่ามันเจ็บ ถ้ากินยาแก้ได้ก็แก้ไป แก้ไม่ได้ก็ปล่อยให้มันเจ็บไป จนกว่ามันจะหายของมันเอง มันไม่มีอะไรไม่หาย มันต้องหายแน่ๆ จะหายแบบไหนเท่านั้นเอง หายไปกับการหายของร่างกายก็หายเหมือนกัน หายไปกับฟืนกับไฟ เอาไปเผาเดี๋ยวมันก็หาย หายไปกับลมหายใจ พอไม่มีลมหายใจแล้วมันก็หายไปหมด ความเจ็บปวดในส่วนต่างๆของร่างกายก็หายไปหมด ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่หาย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าปล่อยได้ก็จะไม่สร้างสมุทัย คือความอยากให้มันหายขึ้นมา ก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาในใจ ซึ่งเป็นความทุกข์ที่ทรมานที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกายเป็นหลายร้อยเท่า ถ้าไม่สร้างความทุกข์ภายในใจได้แล้ว ความเจ็บปวดทางร่างกายจะไม่เป็นปัญหาอะไรกับใจ ใจจะรับรู้ได้ยิ้มได้อย่างสบาย เจ็บแค่นี้ทนได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร นี่คือเรื่องของเวทนา ส่วนสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เป็นตัวที่ทำให้เกิดเวทนา ความรู้สึกทุกข์สุขไม่ทุกข์ไม่สุขนั่นเอง มันทำงานร่วมกัน เช่นเห็นรูปแล้วแปลความหมายว่ารูปนั้นดี ก็เกิดสุขเวทนาขึ้นมา ถ้าแปลว่ามันไม่ดี ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมาทันที แต่ความจริงแล้วมันไม่มีอะไรดีหรือไม่ดี แต่ความหลงจะไปแยกแยะ เพราะความหลงมันไปตั้งตัวตนอยู่ที่ร่างกาย ถ้ามาทำลายร่างกายก็ว่าไม่ดี ถ้ามาส่งเสริมร่างกายก็ว่าดี เช่นกินอาหารก็ว่าดี ถ้ากินยาพิษเข้าไปก็ว่าไม่ดี ผู้ที่ว่าไม่ดีก็คือสัญญากับสังขาร แล้วก็ทำให้เกิดเวทนาขึ้นมา เวลากินยาพิษเข้าไปก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ก็อยากจะให้ความทุกข์หายไป ก็ต้องรีบไปล้างท้องรีบไปรักษา

 

แต่ถ้ายอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ถ้าผิดพลาดกินยาพิษเข้าไป มันจะตายก็ให้มันตายไป ใจไม่ได้อยากจะอยู่ต่อไป ไม่อยากจะไปแก้มัน ปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน มันก็จบ ความทุกข์ก็จะไม่มีในใจ ร่างกายก็ตายไป ไม่ตายวันนี้ก็ต้องตายวันพรุ่งนี้ ไม่มีวันไหนที่ไม่ตาย จะต้องตายสักวันหนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว เข้าใจถึงไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ แล้ว ก็จะไม่วิตกไม่วุ่นวายใจ ดูแลไปตามอัตภาพ ถ้าพอจะแก้ไขได้ก็แก้ไป ไม่แก้ก็ได้ แก้ก็เท่านั้น ไม่แก้ก็เท่านั้น แก้ก็ตาย ไม่แก้ก็ตาย ตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้นเอง แต่ถ้าคิดว่าอยู่แล้วทำประโยชน์ได้ก็แก้ไป อยู่เพื่อทำประโยชน์ ถ้าคิดว่าอยู่แล้วไม่ได้ทำประโยชน์อะไร อยู่กับไปก็เท่ากัน ก็ปล่อยมันก็ได้ นี่ก็ไม่ได้เป็นการฆ่าตัวตาย สมมุติว่ากินสารพิษเข้าไปหรือถูกงูพิษกัด อยู่ในที่ๆไม่มียารักษาอย่างนี้ ก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน ไปโรงพยาบาลก็ไม่ทัน ไม่มีรถ อยู่กลางป่าก็ต้องทำใจอย่างเดียว อย่าไปทุกข์ ใจอย่าไปทุกข์กับความตาย อย่าไปทุกข์กับความเจ็บป่วย ให้มันเป็นไปตามความเป็นจริงของมัน ใจก็จะไม่ทุกข์ มีทุกข์อยู่ที่กายคือความเจ็บปวดที่กายเท่านั้นเอง ก็จะไม่มาสร้างความทุกข์ทรมานให้กับจิตใจ เพราะใจปล่อยวาง ใจไม่ได้อยากจะหายามารักษา ไม่ทุรนทุราย ยอมรับความจริง ถึงแม้จะรักษาให้หายในวันนี้ได้ มันก็ต้องไปเจอวันที่ไม่มียาชนิดไหนที่จะรักษาให้หายได้ เป็นเพียงการประวิงเวลาไปเท่านั้นเอง เป็นการผัดเวลาของความตายให้มันเลื่อนออกไปหน่อย แต่ในที่สุดมันก็ต้องตาย หลักใหญ่จึงอยู่ที่ว่าต้องยอมรับความตายให้ได้ เมื่อรับได้แล้วจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่สำคัญ ตายวันนี้ก็ได้ ตายพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะหนีไม่พ้น เมื่อมีความเห็นอย่างนี้แล้ว การดำเนินชีวิตการมีสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆก็จะเปลี่ยนไปทันที จากการห่วงหวงกังวลยึดติดกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะไม่หวงไม่ห่วงไม่ยึดไม่ติดไม่กังวลกับอะไร กลับอยู่อย่างมีความสุข ไม่หิวไม่อยากไม่ต้องการอะไรเลย นี่ท่านเรียกว่านิโรธการดับทุกข์ เมื่อทุกข์ดับแล้วก็ไม่ห่วงไม่หวงไม่กังวล ไม่ยึดไม่ติดกับอะไร อะไรจะเป็นอะไรอย่างไร ใครจะเป็นอะไรอย่างไรก็เป็นไป จะไปแก้ไขจะไปป้องกันก็ได้ จะไม่ไปก็ได้ ไม่สำคัญ แต่ถ้าคิดว่าทำไปแล้วมันเกิดประโยชน์ก็ทำไป แต่ประโยชน์อะไรก็ไม่ดีเท่ากับประโยชน์ที่ได้จากการปล่อยวาง สำหรับผู้ปล่อยวางแล้วทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ปล่อยวางนี้ ไม่ทำไม่ได้ จะต้องทำจะต้องพยายามแก้ไขอย่างสุดกำลัง จะต้องป้องกันอย่างสุดกำลัง แล้วก็จะต้องทุกข์อย่างสุดกำลัง

 

นี่คือภารกิจในพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ต้องศึกษาขันธ์ ๕ ให้เข้าใจว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา  รูปเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สังขารความคิดปรุงแต่ง คิดดีก็มีคิดร้ายก็มี สัญญาความจำได้หมายรู้ จำผิดจำถูกก็มี จำถูกก็เป็นมรรค เช่นจำว่าทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ถ้าจำอย่างนี้ก็เป็นมรรค ถ้าจำว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา ก็เป็นกิเลสเป็นสมุทัย เราจึงต้องสร้างสัมมาทิฐิ สร้างสัญญาที่เป็นสัมมาทิฐิ ต้องมาเปลี่ยนสัญญาเดิม ถ้าคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา ต้องแก้ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ลูกคนนี้ไม่ใช่ลูกเรา พ่อคนนี้ไม่ใช่พ่อเรา แม่คนนี้ไม่ใช่แม่เรา เป็นเพียงสมมุติตามสถานภาพ ความจริงแล้วเป็นร่างกายเหมือนกันหมด ร่างกายของพ่อ ร่างกายของแม่ ร่างกายของลูก ร่างกายของเรา ก็เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็จะกลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ นี้คือความหมายของทุกข์ให้กำหนดรู้ ให้ศึกษา ให้เป็นสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามความจริง เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว ก็จะมีความคิดที่ถูกต้อง คือไม่อยาก ไม่อยากในรูปเสียงกลิ่นรส ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากไม่มีไม่อยากไม่เป็น จะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามความจริง ตามธรรมชาติ ถ้ามีมิจฉาทิฐิว่าเป็นตัวเราของเรา ก็จะเกิดความอยากขึ้นมาทันที อยากให้อยู่ไปนานๆ อยากไม่ให้เจ็บ ไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย  

 

สัมมาทิฐิจึงมาก่อน สัมมาสังกัปโปคือความคิดชอบก็จะตามมา คิดในทางที่ถูก คิดปล่อยวาง คิดลด คิดละความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ ถ้ามีมิจฉาทิฐิก็จะคิดอยากจะมีมากยิ่งขึ้น อยากจะได้มากยิ่งขึ้น อยากจะเป็นใหญ่มากยิ่งขึ้น อยากจะอยู่นานมากยิ่งขึ้น อยากจะรวยมากยิ่งขึ้น เป็นความคิดที่ตามมาจากมิจฉาทิฐิ แล้วก็จะไปทำเวรทำกรรมต่อไป ทำผิดศีลผิดธรรม พูดจาโกหกหลอกลวง ทำอาชีพที่ไม่ถูกต้อง ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้ามีสัมมาทิฐิแล้ว ก็จะคิดไม่อยากไม่โลภไม่โกรธ เวลาจะทำอะไรก็คำนึงเสมอว่า จะไม่ไปสร้างความเดือดร้อน ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ไปพูดโกหกหลอกลวงผู้อื่น ให้เสียอกเสียใจช้ำอกช้ำใจ ไม่ไปทำอาชีพที่กระทบกับชีวิตของผู้อื่น จะบำเพ็ญแต่สมณธรรม เจริญมรรคเจริญสมาธิเจริญสติให้มากๆ เพื่อให้จิตสงบให้มากๆ จิตสงบมากเท่าไหร่ ก็จะไม่อยากจะได้อะไรมากขึ้นไปเท่านั้น จนในที่สุดเมื่อสงบเต็มที่ด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฐิ ปล่อยวางทุกอย่าง ไม่ยึดไม่ติดกับอะไรแล้ว ก็จะไม่หิวไม่อยากไม่ต้องการอะไร นิโรธก็ปรากฏขึ้นมาเต็มที่ ในการบำเพ็ญกิจทั้ง ๔ นี้ ทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องบำเพ็ญให้มาก ตัวที่ดำเนินการจริงๆก็คือตัวมรรคนี้เอง เพราะเวลาเราฟังเทศน์ฟังธรรมเราก็กำลังเจริญสัมมาทิฐิ กำลังพิจารณาทุกข์ ได้ยินแล้วว่าร่างกายนี้เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา นี่ก็เป็นการกำหนดรู้ทุกข์แล้ว รู้ว่าร่างกาย รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา การได้ยินได้ฟังนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฐิ แต่ยังไม่เป็นสัมมาทิฐิที่ถาวร ถ้าฟังแล้วเราไม่เจริญต่อ ไม่เอาไปพิจารณาต่อ พอออกจากศาลานี้แล้วก็ไปคุยเรื่องอื่นกัน จะไปเที่ยวที่ไหน จะไปกินที่ไหนดี เรื่องสัมมาทิฐิก็จะหายไป กลายเป็นเรื่องของกามตัณหาขึ้นมาแล้ว ที่ไหนอร่อย ก็เป็นเรื่องของกามตัณหาแล้ว ถ้าจะกินก็กินตามมีตามเกิด ที่ไหนมีอาหารก็กินไปเลย เหมือนกับเติมน้ำมัน เจอปั้มน้ำมันก็เติมไปเลย น้ำมันเหมือนกัน อย่างนี้ถึงจะเป็นสัมมาทิฐิ

 

พอได้ยินได้ฟังแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องเอาไปพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นภาวนา คือทำอย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า ต้องพิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก ก็ทรงหมายถึงให้พิจารณาทุกข์นี่แหละ ให้พิจารณารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่ามีการเกิดแล้วก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา ไม่ใช่ฟังแต่ตอนนี้แล้ว พอออกจากที่นี่ก็จบ ถ้าอย่างนี้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เหมือนกับฟังเข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวา ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในใจเลย ไปแล้วก็ยังมีมิจฉาทิฐิเหมือนเดิม ยังอยากจะสวยยังอยากจะงามไปนานๆ ยังไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายอยู่ ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่าไม่ได้เจริญสัมมาทิฐิ ปล่อยให้มิจฉาทิฐิทำหน้าที่ต่อไปอย่างสบาย ถ้าอยากจะก้าวให้พ้นความทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ ๔ นี้ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะพระอริยสัจ ๔ นี้เป็นเหมือนกุญแจเข้าสู่พระนิพพาน เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างวัฏจักรกับพระนิพพาน ถ้าอยากจะออกจากวัฏจักรของการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องผ่านพระอริยสัจ ๔ ต้องปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ ๔ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ก็คือการเจริญมรรคนี้เอง มรรคต้องเจริญให้มาก เจริญให้ครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะเมื่อเจริญครบถ้วนแล้ว ก็เท่ากับได้กำหนดทุกข์ ได้ละสมุทัย ได้ทำนิโรธให้แจ้ง ตัวมรรคนี้เป็นตัวทำงาน เมื่อเจริญมรรค ๘ ให้ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสัมมาทิฐิแล้ว ก็จะพาไปสู่การศึกษาทุกข์ในขันธ์ ๕ พิจารณาไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ เมื่อเห็นแล้วก็จะละสมุทัยได้ ไม่ฝืนไม่อยากจะอยู่ไปนานๆ ยอมรับความจริง แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย ก็เท่ากับละสมุทัยไปในตัว เมื่อละสมุทัยแล้วนิโรธก็ปรากฏขึ้นมา นิโรธก็ทำให้แจ้งแล้ว ทั้งหมดนี้อยู่ที่การเจริญมรรคนี้เอง

 

จุดเริ่มต้นจึงอยู่ที่การศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรม พระพุทธศาสนาก็เริ่มต้นที่การแสดงธรรม แสดงให้กับพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แสดงสัมมาทิฐิ ผู้ฟังก็เจริญสัมมาทิฐิตาม พอเจริญแล้วก็นำไปสู่สัมมาสังกัปโป พระอัญญาโกณฑัญญะจึงไม่คิดฝืนความแก่ความเจ็บความตาย ยอมรับความแก่ความเจ็บความตาย พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า อัญญาโกณฑัญญะเธอเห็นแล้วหนอ ยอมรับความจริงนี้แล้วหนอ เธอเห็นแล้วว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เธอก็ไม่หวั่นไหว เธอสู้มันได้ ยอมรับมันได้ ไม่ฝ่าฝืนแล้ว ไม่มีความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายแล้ว จึงบรรลุธรรมได้ทันที พอมีสัมมาทิฐิปั๊บ สัมมาสังกัปโปตามมาปั๊บ ก็ละสมุทัยได้ พอละสมุทัยได้ ความทุกข์ที่เกิดจากความแก่ความเจ็บความตายก็จะหายไป เกิดขึ้นตรงนี้ ตรงที่ฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วนำเอาไปพิจารณาต่อ ถ้าพิจารณาเดี๋ยวนี้ ทำใจได้เดี๋ยวนี้ ก็บรรลุได้เดี๋ยวนี้ ถ้าตัดความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายไปได้ ไม่กลัวความแก่ความเจ็บความตายได้ ก็บรรลุได้ตรงนี้เลย ยอมแก่ยอมเจ็บยอมตาย ยอมเสียทุกอย่าง ต้องเสียอะไรก็เสียไป เสียลูกก็เสียไป เสียสามีก็เสียไป เสียภรรยาก็เสียไป เสียงานเสียการเสียตำแหน่งก็เสียไป ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเสียอยู่แล้วในวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว ธรรมอันใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็จะปล่อยวางได้ บรรลุได้ทันที

 

มันอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ใจ บรรลุที่ใจ ไม่ได้บรรลุที่ไหน บรรลุด้วยสัมมาทิฐิ ด้วยสัมมาสังกัปโป นี่แหละคืองานที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้กับพวกเราพุทธบริษัท ๔ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา งานนี้ทำได้ด้วยกันทุกคน ไม่ว่าหญิง ไม่ว่าชาย ฆราวาสหรือนักบวช หลักใหญ่อยู่ที่การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ถ้ามีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะรับผลของการปฏิบัติได้อย่างแน่นอน นี่แหละคือความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา อยู่ตรงนี้ การมีวันสำคัญต่างๆให้เรารำลึกถึงนี้ ก็เพื่อเตือนสติให้เรารู้ถึงหน้าที่ๆแท้จริงของเรา ว่าเราต้องทำอะไร หน้าที่ของพวกเราก็คือ ปลดเปลื้องใจของเราให้พ้นจากความทุกข์นั่นเอง ใจของเราตอนนี้ถูกมิจฉาทิฐิความเห็นผิดครอบงำ ทำให้เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา ทำให้เกิดความทุกข์ต่างๆตามมา เพราะไม่ดูแลรักษาใจเรา กลับไปดูแลสิ่งอื่น ดูแลสามี ดูแลภรรยา ดูแลลูก ดูแลสมบัติ ดูแลความสุขต่างๆในโลกนี้ เมื่อเราไปดูแลสิ่งอื่น ก็เท่ากับปล่อยปละละเลยดูแลใจของเรา ก็เลยถูกอำนาจของความหลงสร้างความทุกข์ให้กับเรา เราจึงต้องหันมาดูที่ใจเรา ดูว่าใจของเราตอนนี้เป็นอย่างไร สงบหรือวุ่นวาย ถ้าวุ่นวายก็แสดงว่าใจกำลังหลง วุ่นวายกับเรื่องนั้นก็หลงกับเรื่องนั้น ไม่เห็นไตรลักษณ์ในเรื่องนั้น ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ จะได้ปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะเป็นก็เป็น เขาจะไปก็ไป เขาจะอยู่ก็อยู่ เขาจะมาก็มา รับได้ทั้งนั้น เขาจะจากไปก็ไป เขาจะมาฆ่าเราก็ให้เขามา ถ้าหนีไม่ได้หนีไม่พ้นก็ให้เขาฆ่าเราไป กรรมบางทีหนีวันนี้ได้ พรุ่งนี้ก็ตามมาใหม่ได้ เวรกรรมเป็นอย่างนี้ พระอรหันต์ท่านจึงไม่หนี ยอมให้เขาฆ่าตายไปก็มี พระพุทธเจ้าก็ไม่หนี พระเทวทัตส่งคนมาฆ่า ท่านก็ฉลาด ท่านใช้ปัญญา สอนคนที่มาฆ่าให้เห็นโทษของการฆ่า จนเขาเปลี่ยนใจกลับไป แต่ท่านไม่กลัวตาย ถึงเวลาจะต้องตายท่านไม่หนี หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น มันเป็นเหมือนเงาตามตัว แต่ใจท่านไม่ทุกข์กับมัน อันนี้ต่างหากที่สำคัญ ท่านดูแลใจด้วยการปล่อยวางทุกอย่าง ยอมให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเรื่องของมัน เมื่อถึงเวลามันจะเป็นไป ก็ปล่อยให้มันเป็นไป ท่านไม่ยึดไม่ติดกับอะไร ไม่อยากกับอะไร ท่านมีสัมมาทิฐิคอยเตือนใจอยู่ตลอดเวลา ท่านรู้ว่าการอยากนี้ กลับเป็นการทำลายใจของตนเอง ให้ทุกข์ขึ้นมาโดยไม่จำเป็น

 

ความทุกข์ของใจนี้มันทรมานยิ่งกว่าความตาย แต่เราไม่รู้กัน ความตายนี้เป็นเหมือนกับเข็มฉีดยา บางคนกลัวเหลือเกิน กลัวถูกฉีดยา ความกลัวนี้กลับทุกข์มากกว่าเข็มฉีดยาเสียอีก เข็มฉีดยาพอจิ้มเข้าไปจึกเดียวเท่านั้นก็จบแล้ว ความตายพอไม่หายใจปั๊บก็จบแล้ว ไม่เห็นจะยากเย็นตรงไหนเลย กลัวกันเหลือเกิน เพราะความหลง ถ้าพิจารณาดูความตายแล้ว ก็จะเห็นว่าอยู่ที่ลมหายใจนี่เอง หายใจเข้าไปแล้วไม่หายใจออกมาก็จบ หายใจออกมาแล้วไม่หายใจเข้าไปก็จบ แค่เสี้ยววินาทีเดียวเท่านั้นเอง ความตาย ไม่ได้ยืดยาวอะไรเลย ที่ยืดยาวก็คือเวทนาความเจ็บปวด ก็ต้องฝึกเอาไว้ นั่งสมาธิไปนานๆให้ทนกับความเจ็บให้ได้ ต่อไปจะเจ็บขนาดไหนก็ปล่อยให้เจ็บได้ เจ็บไปจนมันหยุดเจ็บเอง พอหยุดหายใจมันก็จบ ถ้าได้พิจารณาถึงขั้นตอนของความตายแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวเลย แต่เราไม่กล้าพิจารณากัน กลัวกัน ไม่กล้าพิจารณา ว่าเวลาตายจะเป็นอย่างไร ลองพิจารณาดู มันก็เหมือนกับฉีดยา พอหมอปักเข็มทิ่มเข้าปึ้ดเดียวก็จบแล้ว ผ่านไปแล้ว เวลาตายก็แป๊บเดียวก็ตายไปแล้ว ไม่ได้ตายนานหรอก ความเป็นความตายแค่เสี้ยววินาทีเดียวเท่านั้น ถ้ายังไม่ตายก็ยังเป็นอยู่ ถ้าไม่เป็นก็ตาย

 

ถาม  เนื่องจากมีผู้อ่านหนังสือท่านอาจารย์แล้ว เขาไม่เข้าใจอุเบกขาของท่านอาจารย์ เพราะหน้าที่ก็ยังต้องทำอยู่ ไม่ใช่ให้วางลงไปทั้งหมด ความเมตตาก็ยังมีอยู่ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายตรงนี้ คือคนอ่านเขาบอกว่า ท่านอาจารย์ไม่ให้ทำอะไรเลย ซึ่งไม่ใช่

 

ตอบ  ให้ปล่อยวางทางใจ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาความเหมาะสม ว่าทำอะไรได้ก็ทำไป ช่วยเหลือใครได้ก็ช่วยเหลือไป สงเคราะห์ใครได้ก็สงเคราะห์ไป แต่กิเลสมันชอบคิดแบบสุดโต่ง พอบอกให้ปล่อยวางก็คิดว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็อย่าไปกินข้าวสิ ทำไมเลือกทำละ ถ้าเรื่องกินก็ยังกินอยู่ ยังหายใจอยู่ เวลาฟังควรใช้ปัญญาวิเคราะห์ไปด้วย นี่ฟังแบบเอาสีข้างฟัง ไม่ได้เอาหูฟัง เข้าใจไหม เอากิเลสฟัง ไม่ได้เอาปัญญาฟัง ฟังก็ต้องวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผลสิ ที่พูดนี้กำลังพูดถึงเรื่องอะไร พูดถึงเรื่องใจ เรื่องปัญหาของใจ ที่ไปวุ่นวาย ไปทุกข์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ให้ปล่อยวางเรื่องนั้น แต่เรื่องที่ไม่ทุกข์ เรื่องที่มีหน้าที่ต้องทำก็ทำไปสิ ยังต้องทำมาหากิน ยังต้องหายใจ ยังต้องอาบน้ำต้องกินข้าว ก็ทำไป ไม่ได้บอกไม่ให้ทำทุกอย่างเลย ไม่ให้ทำในเรื่องที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ก็คืออย่าไปอยาก อย่าไปอยากมี อยากเป็น อยากได้ อะไรต่างหาก นี่คือความหมายของอุเบกขา

 

        ที่เทศน์มาตลอดนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือทำใจให้เป็นอุเบกขา ให้ใจอยู่ระหว่างความอยากกับความไม่อยาก อยากก็ไม่ใช่ ไม่อยากก็ไม่เชิง เฉยๆ เช่นความตายก็ไม่อยากตาย แต่ก็ไม่กลัวตาย ไม่กล้าตาย ถ้ายังไม่ตายก็ขออยู่ไปก่อน แต่ถ้าถึงเวลาตายก็ไม่ขออยู่ เวลาตายก็ให้มันตายไป เวลามันอยู่ก็อยู่ไป พูดไปอีก ๑๐๐ ครั้งก็จะไม่เข้าใจถ้าไม่ปฏิบัติ เหมือนพูดถึงเรื่องทุเรียน พอพูดถึงทุเรียนบางคนก็คิดว่าเอาของมาจากในส้วมหรือ กลิ่นมันแรงถึงกับห้ามเอาขึ้นเครื่องบินเลยไม่ใช่หรือ เพราะไม่เคยสัมผัสกับรสชาติมัน ฝรั่งบางคนกินแล้วกลับติดใจนะ นี่ก็เหมือนกัน การฟังเทศน์ฟังธรรม พอบอกให้ปล่อยวางก็คิดแบบโลกๆ ให้ปล่อยทุกอย่าง ไม่ทำอะไรเลย ไม่เมตตาเลย กลายเป็นคนใจจืดใจดำใจไม้ไส้ระกำไปเลย คิดอย่างนี้คิดตามประสากิเลส ถ้าบอกว่าไม่มีตัวตนก็ไปฆ่าเขาได้สิ มีคนเคยถามปัญหาหลวงตาว่า ถ้าทุกอย่างไม่มีตัวตนเราก็ฆ่าเขาได้สิ เพราะไม่ได้ฆ่าใคร หลวงตาก็บอกไปว่า ฆ่าเขาแล้วดูว่าตำรวจจะจับหรือเปล่า ความจริงมีอยู่ ๒ ระดับ ความจริงของสมมุติกับความจริงของวิมุติ ความจริงของวิมุติไม่มีตัวตน เป็นดินน้ำลมไฟ แต่ความจริงของสมมุติมีตัวตน มีเจ้าของ มีสามีภรรยา ลองไปยุ่งกับสามีภรรยาใครดูสิ จะโดนกระทืบเอา จะบอกไม่มีของใครได้อย่างไร ต้องเข้าใจความจริงทั้ง ๒ ระดับ ความจริงทางโลกก็เข้าใจกันอยู่แล้วแต่ไม่พูดถึง ชอบเอาความจริงทางโลกมาโยงกับความจริงทางธรรม ก็เลยสับสนกันไปหมด

 

ถาม  เมื่ออาทิตย์ที่แล้วไม่สบายเป็นไข้หวัดใหญ่ มีความรู้สึกว่าไม่มีแรงเลย ปกติเคยทำงานอะไรได้คล่องแคล่ว ก็พยายามทำใจอย่างที่ท่านอาจารย์สอน แต่ทำไม่ได้  

 

ตอบ  ก็สอนมาตั้ง ๓ ปีแล้ว ไม่เอาไปฝึกไม่เอาไปปฏิบัติเลย หัดอยู่บ้านบ้าง หัดนั่งสมาธิให้มากๆ คนส่วนใหญ่คิดว่าเอาไว้เวลาใกล้ตายแล้วค่อยมาทำ ทำไม่ได้หรอก เช่นบอกว่าเวลาตายให้คิดแต่สิ่งที่ดีๆ คิดแต่พุทโธๆ มันคิดได้ที่ไหน ขนาดยังไม่ตายยังเป็นปกติยังคิดไม่ได้เลย แล้วขณะที่เจ็บปวดรวดร้าวทั่วร่างกายจะไปคิดถึงอะไรได้ ก็จะคิดแต่อยากจะให้ความเจ็บปวดหายไปเท่านั้นเอง ยิ่งอยากให้มันหายก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ ยิ่งทรมานใหญ่ เราต้องฝึกก่อนที่เหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้น เหมือนกับทหารที่ต้องซ้อมรบอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่รู้ว่าข้าศึกศัตรูจะบุกมาเมื่อไหร่ เราจึงต้องซ้อมอยู่เรื่อยๆ เตรียมตัวไว้ก่อน พิจารณาทุกข์ไว้เรื่อยๆ ขันธ์ ๕ เกิดแก่เจ็บตาย ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องที่เราจะต้องคอยพิจารณา คอยซ้อมไว้ ฝึกซ้อมนั่งให้มันเจ็บ แล้วก็อย่าไปลุก ปล่อยให้ความเจ็บมันหายไปเอง

 

วิธีที่จะไม่ไปยุ่งกับความเจ็บก็มีอยู่ ๒ อุบายคือสมาธิและปัญญา ถ้าใช้อุบายของสมาธิก็สวดมนต์ไปหรือพุทโธไป อย่าไปสนใจกับความเจ็บ ปล่อยให้มันเป็นไป ถ้าไม่ไปสนใจมันแล้ว ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้นในใจ จะรู้สึกว่าความเจ็บไม่รุนแรง ที่มันรุนแรงจนทนไม่ได้ ก็เพราะความทุกข์ทรมานใจ ที่อยากจะให้ความเจ็บมันหายไป ถ้าเราไม่ปล่อยให้มันคิดอยากให้มันหายไป เพราะเราเอาแต่สวดมนต์เอาแต่พุทโธ ก็จะไม่สร้างความทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย ที่ทรมานที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกายให้เกิดขึ้นมา ก็จะรู้สึกเฉยๆ พอทนได้ อาจจะหายไปเลยก็ได้ถ้าจิตสงบลงเต็มที่ ไม่รับรู้ความเจ็บปวดของร่างกายเลย ตัดความรับรู้ชั่วคราว นี่เป็นอุบายของสมาธิ ถ้าอุบายของปัญญา ก็พิจารณาความเจ็บของร่างกายว่าเป็นธรรมดา เป็นเวทนา มีเจ็บไม่เจ็บสลับกันไป ถึงเวลามันเจ็บก็ต้องให้มันเจ็บ ถึงเวลามันไม่เจ็บมันก็ไม่เจ็บ เหมือนกับฝนฟ้าอากาศ เวลาฝนตกเราก็ห้ามมันไม่ได้ อยากให้มันหยุดก็ไม่ได้ ถ้าไปอยากให้มันหยุดจะทรมานใจขึ้นมาทันที แต่ถ้ามันตกแล้วเราชอบมัน เย็นสบายดี ไม่ต้องทำอะไร นั่งเฉยๆอย่างมีความสุข คนทำงานกลางแจ้งบางทีก็ชอบเวลาฝนตก ไม่ต้องทำงาน แต่คนที่อยากจะออกไปเที่ยวจะไม่ชอบ แต่งตัวสวยๆพอโดนฝนหน้าตาเปียกปอน ต้องไปแต่งหน้าใหม่ ก็จะไม่ชอบ จะทุกข์ใจขึ้นมาทันที นี่คือการพิจารณาด้วยปัญญา ถ้าพิจารณาแล้วปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขาได้ จะไม่วุ่นวายใจ จะมีความสุขท่ามกลางความเจ็บปวดของร่างกาย ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดีเหมือนกัน ไม่ต้องทำงาน มีคนเอาอาหารมาให้กิน เอาน้ำมาให้ดื่ม มีแต่นอนอย่างเดียว ต้องฝึกอยู่เรื่อยๆ อย่าประมาท เพราะไม่รู้ว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไหร่ ถ้าฝึกซ้อมอยู่เรื่อยๆแล้วพอถึงเวลาเราก็จะสบาย ไม่วุ่นวาย

 

ถาม  ที่บ้านมีรังต่อหัวเสืออยู่ค่ะ รังใหญ่มากเลย มีแต่คนแนะนำให้เอาออกเพราะอันตรายมาก แต่พอฟังขั้นตอนที่จะต้องเอาเขาออกไปนี้ เราทำใจไม่ได้ ก็เลยคิดว่าเราต่างคนต่างอยู่

 

ตอบ  ถ้าทำอย่างนั้นได้ก็ดี

 

ถาม  ถ้าเกิดมันไปต่อยเพื่อนบ้าน

 

ตอบ  ก็ถือว่าเป็นกรรมของเขาก็แล้วกัน

 

ถาม  ตัวเองก็คิดว่าต่างคนต่างอยู่

 

ตอบ  ทำอย่างนี้ได้ก็ไม่เป็นเวรเป็นกรรมกัน จิตใจของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนทนอยู่กับมันไม่ได้ ยอมทำบาปเพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบัน แต่ลืมไปว่าผลของบาปจะมีตามมาในอนาคต ต่อไปเขาอาจจะไปเป็นแตนแล้วถูกขับไล่ไสส่งทำลายบ้านของตนก็ได้ ถ้าเราไม่ทำลายบ้านเขา ก็จะไม่มีใครมาทำลายบ้านของเรา ขอให้คิดมุมกลับบ้าง ว่าเวลาเราทำอะไรกับใครแล้วมันก็จะกลับมาหาเราได้เช่นเดียวกัน ถ้าอยู่ด้วยกันได้ก็ดี ถ้าทำใจได้ก็แสดงว่ามีจิตที่เป็นกุศล มีสัมมาทิฐิ ไม่คิดเบียดเบียนกัน คนอื่นจะพูดอย่างไรไม่ต้องไปสนใจ เอาความถูกต้องเอาศีลธรรมมาเป็นหลักยึดดีกว่า เช่นพระเวสสันดรท่านไม่ฟังใครนะ ถ้าท่านฟังคนอื่นท่านก็คงจะเสียสละอย่างที่ท่านเสียสละไม่ได้ ถ้าท่านเสียสละอย่างนั้นไม่ได้ท่านก็คงจะมาเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เราก็เหมือนกัน จะก้าวขึ้นสู่อริยมรรคอริยผลได้ก็ต้องยึดคุณธรรมเป็นหลัก ยึดความถูกต้องเป็นหลัก อย่าเอาความถูกใจเป็นหลัก ถูกใจแล้วไปทำบาปทำกรรม ไปสร้างเวรสร้างกรรม ก็จะวนเวียนอยู่กับการใช้เวรใช้กรรมไปเรื่อยๆ มีคนมาถามว่าถ้าปลวกขึ้นบ้านจะทำอย่างไร ก็มีอยู่ ๒ วิธี มีบริษัทมีคนบริการกำจัดให้ เขายินดีที่จะทำหน้าที่นี้ เขาเสนอมาเราก็สนองไป เราไม่ได้ไปสั่งเขา ถ้าอยู่ดีๆเขาไม่ได้เสนอมาแล้วเราไปสั่งเขา ก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่นี่เป็นความพอใจของเขาที่เขาจะทำ นี่ก็คิดในระดับของจิตที่ต่ำ ถ้าคิดในระดับจิตที่สูงก็ปล่อยให้มันกินให้หมด จะได้สร้างบ้านใหม่ จะได้บ้านหลังใหม่ ถ้าคิดอย่างนี้ก็เป็นจิตที่สูง ก็ได้ทั้ง ๒ อย่าง แล้วแต่ว่าระดับจิต

จะอยู่ตรงไหน

 

ถาม  ของลูกก็มีประสบการณ์คล้ายกัน ข้างบ้านมีรังต่อแต่เขาไม่เห็น แต่ที่บ้านเราเห็น ก็ไปบอกเขาให้ระวังตัวต่อ อยู่ๆรังต่อก็หายไป เราไม่เจตนาให้เขาทำลาย

 

ตอบ  เราไม่ได้สั่งให้เขาไปทำลาย เราเพียงบอกให้เขาเห็นภัยของตัวต่อเท่านั้นเอง เขาจะไปทำอะไรก็เรื่องของเขา

 

ถาม  ไม่ควรพูดหรือเปล่า

 

ตอบ  อยู่ที่เจตนาว่าพูดเพื่อทำลายหรือพูดเพื่อป้องกัน ถ้ามีเจตนาอยากให้รังต่อถูกทำลายไป แต่ไม่กล้าทำเอง เราก็เลยออกอุบายพูดออกไป ถ้าอย่างนี้ก็บาป อยู่ที่เจตนาเป็นหลัก

 

ถาม  เกิดขึ้นจากความกลัวหรือเปล่า ไม่ทราบ

 

ตอบ  นั่นแหละคือวิภวตัณหา ไม่อยากให้มันมาต่อย

 

ถาม  เวลาครูบาอาจารย์มีปลวกขึ้นกุฏิที ท่านไม่ทำอะไรใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ก็คงอย่างนั้น นอกจากลูกศิษย์ทนดูไม่ได้ มาช่วยกำจัดให้

 

ถาม  เวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย กับความทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้นเวลาภาวนานี่ มันปะปนกัน แยกกันไม่ค่อยออก ส่วนใหญ่จะเห็นส่วนของร่างกาย แต่ไม่ชัดเจนเรื่องจิตใจ

 

ตอบ เพราะปัญญาเรายังไม่ทัน ยังไม่สามารถแยกแยะความทุกข์ของ ๒ ส่วนออกจากกันได้ เพราะเกิดขึ้นพร้อมกันทันที พอเกิดความเจ็บปวดทางร่างกายปั๊บ ก็เกิดสมุทัยความอยาก ความกลัวความเจ็บปวดขึ้นมาทันที เพียงแต่หมอบอกจะฉีดยาเท่านั้นยังไม่ทันฉีดเลย ความกลัวเข็มฉีดยาก็มาก่อนแล้ว แต่มันละเอียด ถ้าเราไม่คอยดูที่ใจด้วยปัญญา ไม่สังเกตดูใจเรา จะไม่รู้ว่าเราทุกข์แล้ว ไม่รู้ว่าเกิดสมุทัยแล้ว เกิดความกลัวขึ้นมาแล้ว เพราะส่วนใหญ่เราจะไม่ดูใจเรา จะดูสิ่งภายนอกเสียมากกว่า ดูอะไรแล้วดีใจเสียใจนี้เราไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกว่าเราดีใจแล้วเสียใจแล้ว เรากลัวแล้ว เรารีบไปทำทันทีเลย พอกลัวตัวแตนก็รีบไปหาวิธีกำจัดมันทันทีเลย พอเห็นปั๊บก็ไปเลย มันไปอย่างรวดเร็ว ความจริงความทุกข์ทางใจมันเกิดขึ้นแล้ว ความกลัวนี้ก็เป็นความทุกข์ กลัวจะถูกมันต่อย แต่ถ้าเราภาวนามีสติดูใจอยู่เรื่อยๆ เราจะเห็นใจ เห็นอะไรต่างๆที่มีอยู่ภายในใจ ตามลำดับของกำลังของสติ ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องของปัญญาเรื่องของสมุทัยแล้ว พอเกิดอาการอยากขึ้นมาจะเห็นทันที จะรู้ว่าเกิดความอยากแล้ว จิตกระเพื่อมแล้ว ไม่เป็นปกติแล้ว

 

ถาม  อึดอัด

 

ตอบ  ถ้าไม่มองจะไม่รู้ จะไม่รู้สึกตัวว่าอึดอัด จะรีบระบายความรู้สึกนั้นทันที ถ้านั่งอยู่ก็ต้องลุกไป นั่งฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ พอนึกขึ้นได้ว่าลืมกุญแจไว้ในรถ กลัวรถหาย ก็จะนั่งไม่ได้แล้ว ต้องรีบลุกไปแล้ว เพราะเกิดความกลัว ความเสียดาย ความหวงรถของตน กลัวรถจะหายไป เป็นความทุกข์แล้ว เป็นความอยากขึ้นมา แต่เราไม่รู้หรอก แต่ถ้าเราคิดว่าการฟังธรรมสำคัญกว่ารถยนต์ ถ้ามันจะหายก็ให้มันหายไป ใจเราก็สงบ เราก็ฟังธรรมต่อได้ ดับด้วยปัญญา มันจะไปก็ไป หาใหม่ก็ได้ ได้รถใหม่ดีกว่ารถเก่า แต่ส่วนใหญ่เราจะไม่ได้ดูที่ใจเราเป็นหลัก พอใจเป็นอะไรมันจะสั่งการออกมาทันที เราจะไหลไปตามคำสั่งทันทีโดยไม่รู้สึกตัว มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อเกิดเรื่องเกิดราวแล้ว มาเสียอกเสียใจ ที่ไปทะเลาะวิวาทไปทุบไปตีกันก็ไปแบบไม่มีสติพาไป ถ้ามีสติก็จะหยุด รู้ว่าไปแล้วมันเสียมากกว่าได้ สิ่งที่ได้คือความสะใจความพอใจ แต่ผลเสียก็คือการมีเวรกรรมกัน มีเรื่องมีราวกัน

 

        แต่ถ้าเรามีสติ พอเกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมาปั๊บ เราก็บอกตัวเราเองว่า กำลังโกรธแล้วนะ กำลังไม่พอใจแล้ว และถ้าเคยฝึกสอนใจอยู่เรื่อยๆจะรู้ว่า จะนำพาไปสู่ปัญหาต่างๆ พอรู้เราก็ระงับความอยากนี้ได้ ถ้าเจริญสติอยู่เรื่อยๆ บำเพ็ญภาวนาอยู่เรื่อยๆ จะเห็นอาการต่างๆภายในใจ เวลาที่ปรากฏขึ้นมา เวลาโลภก็เห็น เวลาโกรธก็เห็น แล้วถ้าเราเจริญปัญญา พิจารณาถึงโทษถึงคุณของการกระทำที่จะตามมา เราจะรู้ว่าควรจะเลือกทางใด ถ้าออกไปตอบโต้เรื่องก็จะยาวไม่จบ เป็นเหมือนน้ำผึ้งหยดเดียว ถ้านิ่งเฉยได้ ปล่อยไป เรื่องก็จะจบ แต่ถ้าไม่ได้ฝึกสติจะไม่มีทางรู้เลย ก็จะไปโดยอัตโนมัติ พอใครมาสร้างปัญหาปั๊บ ก็จะไปจัดการกับคนนั้นทันที ไปคุยไปทำอะไรต่างๆ แทนที่จะมาแก้ปัญหาที่แท้จริงที่อยู่ในใจเรา คือความรำคาญใจ ความไม่พอใจ เรากลับไปแก้ที่คนจุดชนวน เรามีเชื้ออยู่แล้วในใจของเรา ถ้าเราทำลายเชื้อแล้ว ต่อให้ใครมาจุดชนวนอย่างไรมันก็ไม่ติด ถ้าไม่มีเชื้อไฟแล้วจะเอาไม้ขีดไฟมาจุดอย่างไรมันก็ไม่ติด แต่ถ้ามีเชื้อไฟอยู่แล้ว พอเอาไม้ขีดไฟมาจุดปั๊บมันก็จะติดทันที ใจเรามันมีเชื้อ ความโลภความโกรธความหลงนี่แหละที่เป็นเชื้อไฟ เชื้อของความทุกข์ ถ้าไม่มีความโลภความโกรธความหลงแล้ว ต่อให้ด่าเราอย่างไร ก็จะไม่เกิดความรู้สึกอะไร ต่อให้เอาของดีขนาดไหนมาล่อก็ไม่เกิดความโลภ เพราะไม่อยากได้อะไร เอาเพชรมาให้สัก ๑๐๐ กะรัต ดูแล้วก็เฉยๆ เป็นก้อนหินก้อนหนึ่งเท่านั้นเอง เอาไปทำอะไรได้ แต่ถ้ามีเชื้อนี่ พอมาสะกิดหน่อยปั๊บก็ลุกขึ้นมาทันที พอใครพูดไม่ดีหน่อยก็โกรธขึ้นมาทันที พอใครเสนออะไรที่น่าสนใจหน่อยก็รีบคว้ามับเลย  

 

สิ่งที่เราจะต้องแก้ไม่ได้อยู่ที่ภายนอก เราต้องแก้ที่ภายใน ต้องทำลายเชื้อต่างๆให้หมดไป เชื้อของความโลภความโกรธความหลง อย่าให้มีหลงเหลืออยู่ในใจ ถ้าไม่มีแล้วเราจะอยู่อย่างปกติสุข จะไม่อยากได้อะไร เมื่อไม่อยากได้อะไรก็ไม่ต้องไปทำอะไรแบบลับๆล่อๆ ไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรมหรือกฎหมาย แต่ถ้าอยากแล้วบางทีเราก็ต้องไปทำในสิ่งที่เสียหาย ถ้าไม่มีเชื้อแห่งความโกรธอยู่แล้ว ใครจะด่าอย่างไร ใครจะทำอย่างไร ก็จะไม่โกรธ แต่จะทำอะไรกับเขาหรือไม่ก็อยู่ที่เหตุผล ถ้าทำผิดกฎหมายก็แจ้งตำรวจได้ ถ้าเห็นว่าถ้าปล่อยให้เขาทำไป จะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ถ้าคิดว่าถ้าไปแจ้งแล้ว จะเป็นพิษเป็นภัยกับเรา จะไม่แจ้งก็ได้ ก็ปล่อยไป แล้วแต่เหตุผลที่จะทำหรือไม่ทำ โดยหลักใหญ่แล้วก็คือไม่ทำอะไรก็ได้ ไม่รำคาญใจกับการกระทำของเขา เขาทำอย่างไรก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน เป้าใหญ่ก็คือความสงบของใจเรา เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าใจสงบไม่วุ่นวายเราก็สบาย จะทำหรือไม่ทำก็ขึ้นอยู่กับเหตุผล ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ อย่างพระพุทธองค์ตอนต้น ก็ไม่มีความปรารถนาอยากจะสั่งสอนใคร ไม่สั่งสอนก็ไม่ผิดตรงไหน ก็จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป สัตว์โลกก็จะไม่ได้รับประโยชน์ แต่ถ้าทรงสั่งสอน สัตว์โลกก็จะได้รับประโยชน์ แต่ใครเหนื่อยก็พระพุทธเจ้าเหนื่อย ทำไมท่านยอมเหนื่อย ก็เพราะทรงมีพระมหากรุณามีความสงสารสัตว์โลก ทรงเห็นว่ามีโอกาสที่จะหลุดพ้นได้ ก็ยอมเหนื่อย ครูบาอาจารย์ต่างๆทำไมจึงยอมเหนื่อยกัน ก็เพราะสงสารพวกเรา อยากให้พวกเราได้อะไรไปบ้าง

 

ถาม  ขอท่านเมตตานานๆ

 

ตอบ  อยู่ที่ความจริง จะนานไม่นาน จะอยู่ได้หรือไม่ได้ อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป อย่าไปคิดถึงเรื่องนานไม่นาน ควรคิดว่าควรทำให้มากๆ อันนี้สำคัญกว่า เพราะถ้าทำให้มากแล้วจะไม่นานหรอกเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ๗ วันก็ได้แล้ว มัวทำอะไรกันอยู่ เคยถามตัวเองบ้างหรือเปล่า ว่าวันคืนผ่านไปๆ กำลังทำอะไรกันอยู่ กำลังทำกิจในอริยสัจ ๔ หรือกำลังทำกิจในบริษัท กิจในบริษัทก็ทำพอสมควร ทำพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็พอ ไม่ใช้เงินมากก็ไม่ต้องทำมาก จะได้แบ่งเวลามาปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น อยู่บ้านก็ปฏิบัติธรรมได้

 

ถาม  อยู่บ้านก็ทำแต่อาจจะทำน้อย

 

ตอบ  ไม่ได้เคี่ยวเข็ญใคร เพียงแต่พูดให้ฟัง เราต้องเคี่ยวเข็ญตัวเอง เพราะว่าใจของคนอื่นนี้ เราก็รู้อยู่แล้วว่าบังคับกันไม่ได้ บังคับใจของเรายังแสนจะลำบากเลย บังคับให้นั่งสมาธิแต่ละครั้งเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เวลาไปเที่ยวเหมือนปล่อยครกลงภูเขา มันกลิ้งลงไปเอง เพียงแต่ปล่อยมือปั๊บมันก็ไหลลงแล้ว ถ้ารู้สึกว่านั่งสมาธิยาก ก็ต้องเคี่ยวเข็ญให้มากๆ เคี่ยวเข็ญไปเรื่อยๆ ต่อไปจะง่ายเอง พอเห็นผลแล้วจะไม่ต้องเคี่ยวเข็ญเลย ถึงเวลาก็จะปฏิบัติทันที ไม่อยากจะทำอย่างอื่น ตอนใหม่ๆนี้มันยาก ตอนล้มลุกคลุกคลานนี้มันยาก แต่พอวิ่งได้แล้วจะไม่มีอะไรรั้งไว้ได้เลย

 

ถาม  ที่ท่านอาจารย์บอกว่า มันยากแต่ไม่สุดวิสัย

 

ตอบ  ใช่ ยากง่ายอยู่ที่ว่าได้ทำมามากน้อย ถ้าทำมามากมันก็ง่าย ถ้าทำมาน้อยมันก็ยาก ถ้าทำมาน้อยก็ต้องทำให้มาก ถ้าทำมามากก็ไม่ต้องทำมาก เหมือนคนตักน้ำไว้ครึ่งตุ่ม กับคนที่ตักยังไม่ได้ขันหนึ่งเลย คนที่ไม่ได้ขันหนึ่งก็ต้องตักมาก คนที่ได้ครึ่งตุ่มแล้วก็ตักอย่างสบายๆ เดี๋ยวเดียวก็เต็มตุ่ม

 

ถาม  เพื่อนฝากมาถาม เขาพยายามนั่งทุกวัน แต่ปรากฏว่าจะมีสิ่งรบกวนเขาตลอด พอหลับตาก็จะเห็น มีเสียงคนเดินอยู่ข้างเตียง ตลอด เขาบอกว่าอย่ามาให้เห็นนะ ให้มาในฝันก็ได้ เขากลัว

 

ตอบ  ถ้ากลัวก็เป็นปัญหา เพราะความกลัวเป็นสมุทัย บอกเขาว่าอย่ากลัวปล่อยให้มาตามอัธยาศัย เวลามาเราอย่าไปสนใจ ถ้าพุทโธอยู่ก็พุทโธของเราไป ถ้าสวดมนต์ก็สวดไป เหมือนกับเวลาเราสวดมนต์แล้วเสียงโทรศัพท์ดัง ก็ปล่อยให้มันดังไป อย่าไปกังวลกับเรื่องโทรศัพท์ ไม่รับสายสักพักมันก็หยุดเอง

 

ถาม  หรือเป็นไปได้ว่าเขาก็เป็นโลกของเขา เขาไม่รู้หรอกว่าเราเห็น เขา ก็อาจจะไม่รู้เรื่องของเราก็ได้

 

ตอบ  จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าจะทำอย่างไรกับมัน วิธีที่ถูกก็คืออย่าไปยุ่งกับมัน อย่าไปให้ความสำคัญ เช่นเรานั่งคุยกันตรงนี้ จะมีเสียงอะไรรอบข้าง เราก็ไม่ไปสนใจ ก็จะไม่รบกวนเรา ถ้าไปให้ความสำคัญกับเสียงรอบข้าง ก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง

 

ถาม  เขากลัว ไม่นั่งก็ไม่ได้ ถึงเวลาต้องนั่งก่อนจะนอน

 

ตอบ  ให้เขาท่องพุทโธไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะหายกลัวเอง  

 

ถาม  แล้วที่เขานั่งแล้วบอกว่าเงียบ ไม่เห็นอะไรเลย ลูกก็ถามว่านอนหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่ได้หลับ รู้ตัวมีสติ แต่ก็ไม่เห็นอะไร มันจะนิ่งตลอดเวลา

 

ตอบ  ก็ดี มันสงบในระดับหนึ่ง ยังไม่สงบเต็มที่ แบบสักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขาเอกัคตารมณ์ แต่เป็นความสงบระงับจากความคิดปรุงต่างๆ มีความคิดปรุงบ้าง แต่มันละเอียดจนสติปัญญามองไม่เห็น

 

ถาม  เขาไปดึงจิตออกมาพิจารณา ลูกก็บอกว่าไปดึงออกมาทำไม ในเมื่อจิตต้องการพัก

 

ตอบ  เวลาพักก็ให้มันพักให้เต็มที่ก่อน ตอนนั้นอย่าไปพิจารณา

 

ถาม  เขาดึงออกมา

 

ตอบ  ดึงออกมาจิตก็จะไม่มีกำลัง เหมือนกับคนทำงานมาเหนื่อยกลับมาบ้าน พอนอนได้ชั่วโมงก็ถูกเจ้านายโทรศัพท์มาเรียกไปทำงานต่ออย่างนี้ก็จะไม่มีแรงทำ ถ้าปล่อยให้พักเต็มที่ หลับนอนเต็มที่จนสว่าง ตื่นขึ้นมากินข้าวอาบน้ำอาบท่า แล้วค่อยไปทำงาน เขาก็จะมีกำลังที่จะทำงานได้เต็มที่ การพักจิตก็เช่นเดียวกัน เวลาจิตอยู่ในสมาธินานเพียงไร ก็ต้องปล่อยให้เขาพักไปตามความต้องการของเขา พอเขาพอแล้วเขาก็จะถอนออกมาเอง พอเมื่อถอนออกมาแล้วค่อยนำเอามาพิจารณาไตรลักษณ์ต่อไป

 

บางคนเข้าใจว่าพอจิตสงบแล้วปัญญาจะเกิดเอง อันนี้ก็เป็นความเข้าใจผิด ไปเรียนกับพระบางรูปท่านก็สอนอย่างนั้น พอจิตสงบแล้วสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ปรากฏขึ้นมา ที่ปรากฏไม่ใช่ปัญญา ปัญญาจะไม่ปรากฏขึ้นมาเอง ต้องอาศัยการพิจารณาแยกแยะอยู่เรื่อยๆ เช่นการพิจารณาความเปลี่ยนแปลง พิจารณาร่างกายเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าถ่ายรูปไว้ ๑๐ ปี จะเห็นว่าเราเป็นคนละคนกันเลย แต่ถ้าดูชั่วโมง ๒ ชั่วโมงจะไม่เห็นความแตกต่าง มันเปลี่ยนแปลงช้า ถ้าเป็นเวลายาวนานก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็น ต่อให้จิตสงบขนาดไหนก็จะนิ่งอยู่เฉยๆ ถ้าเห็นก็เห็นในสิ่งที่เคยพิจารณามาแล้ว เช่นเคยพิจารณาอสุภมาแล้ว ก็อาจจะโผล่ขึ้นมาได้ในขณะที่จิตสงบ อาจจะเห็นเรานอนตายเป็นศพแล้ว ถูกจับใส่โลงเอาเข้าไปเผาในเมรุ ก็อาจจะผุดขึ้นมาให้เห็นได้ อย่างนิมิตของคุณแม่แก้วเวลาจิตของท่านสงบรวมลง จะถอยออกมาเห็นว่าตัวเองนอนตายอยู่ มีหลวงปู่มั่นมาบังสุกุลให้ นี่ก็อาจจะเป็นเพราะเคยพิจารณามาก่อนแล้ว มีข้อมูลอยู่ในใจแล้ว พอจิตสงบข้อมูลเหล่านี้ก็ผุดขึ้นมา ถ้าไปรู้เรื่องอื่น เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับมรรคผล ไม่เกี่ยวกับปัญญา เช่นกายทิพย์ต่างๆ ภูตผีปีศาจต่างๆ ก็ต้องรู้ทันว่าเป็นเหมือนกับสิ่งที่ดูด้วยตาเนื้อ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาในทางมรรคผลนิพพาน

 

ถ้ามุ่งมั่นสู่มรรคผลนิพพาน ก็ต้องอย่าไปสนใจกับสิ่งต่างๆที่ปรากฏขึ้นมาในขณะที่จิตสงบ ถ้าปรากฏขึ้นมาก็ควรดึงจิตกลับมาหาที่ตัวรู้ อย่าไปตามรู้เรื่องที่ปรากฏขึ้น ถ้าใช้ธรรมบทใดเป็นเครื่องกำกับผูกจิตไว้ ก็กลับมาหาธรรมบทนั้น กลับมาหาพุทโธ กลับมาหาลม แล้วสิ่งต่างๆที่ปรากฏจะหายไปเอง ควรทำจิตให้สงบนิ่ง ไม่ให้ไปเห็นอะไร เพื่อจะได้พักจิต จะได้มีกำลังที่จะนำเอาไปพิจารณาทางไตรลักษณ์ต่อไป ถ้าปล่อยให้ไปตามรู้กับเรื่องต่างๆที่ปรากฏในสมาธิ ก็เป็นเหมือนกับนอนหลับแล้วฝันไป ฝันได้หลายเรื่อง มีทั้งตื่นเต้นหวาดเสียว น่าชื่นชมยินดี แต่พอตื่นขึ้นมาแล้วจะไม่มีเรี่ยวแรง เหมือนไม่ได้พักผ่อน ไม่เหมือนกับนอนหลับสนิทแล้วไม่ฝันเลย ตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่นเบิกบาน มีกำลังที่จะไปทำงานทำการต่อ การพักจิตให้นิ่งไม่มีอะไรมาปรากฏเลย เป็นฐานของวิปัสสนาของปัญญา ถ้าอยากจะเจริญทางปัญญาก็ต้องให้จิตสงบนิ่ง ไม่ให้มีอะไรปรากฏขึ้นมา ถ้ามีอะไรปรากฏขึ้นมาก็ต้องอย่าตามไป กลับเข้ามาหาใจ กลับมาหาตัวรู้ กลับมาหาพุทโธก็ได้ เพื่อจะได้ไม่ตามมัน พอไม่ตามเดี๋ยวมันก็หายไป จิตก็จะว่างนิ่งเฉย ก็ปล่อยให้นิ่งเฉยไป จนกว่าจะถอนออกมาเอง

 

ถาม  ควรจะประคองอยู่ตรงนั้น

 

ตอบ ถ้ามันสงบจริงๆจะไม่ต้องประคอง จะอยู่ของมันเอง ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร จะออกมาเอง ถ้าไม่ได้ศึกษาปฏิบัติจริงๆ ฟังอะไรมาแต่ละเรื่องก็สับสนไปหมด นั่งสมาธิก็ไม่รู้ว่านั่งไปเพื่ออะไร บางคนคิดว่านั่งเพื่อเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นอดีตเห็นอนาคต เห็นกายทิพย์เห็นอะไรต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้กับบางคน แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน ส่วนใหญ่เวลาจิตสงบแล้วจะไม่เห็นอะไร ก็ถือว่าดี ถ้าจะไปในทางมรรคผลนิพพาน ถ้าอยากจะเห็น พอสงบแล้วไม่เห็นก็จะวุ่นวายใจ คิดว่านั่งแล้วไม่ได้ผล เพราะไม่เข้าใจถึงเป้าหมายของการนั่งสมาธิ ว่านั่งเพื่ออะไร ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถ่องแท้ ให้ครบถ้วนทุกขบวนการ ก็จะหลงได้ บางคนสนใจแต่เรื่องสมาธิก็เอาแต่สมาธิอย่างเดียว ไม่สนใจเรื่องปัญญาเรื่องวิปัสสนา ไม่สนใจเรื่องศีลเรื่องทาน ก็จะปฏิบัติแบบผิดๆถูกๆไป พอได้อะไรขึ้นมาก็กลายเป็นเครื่องมือของกิเลสไป กลายเป็นหมอดูไป แทนที่จะเอาสมาธิมาเป็นฐานของปัญญา ก็เอาสมาธิมาเป็นเครื่องมือของกิเลส ไปทำมาหากินเป็นหมอดูจนร่ำรวยมีชื่อเสียงมีเงินมีทอง แต่ยังมีโลภโกรธหลงอยู่เต็มหัวใจ ในบรรดาอิทธิฤทธิ์ต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องอิทธิฤทธิ์ ที่เกิดจากการแสดงธรรมให้ผู้อื่นได้เข้าใจอย่างง่ายดาย ว่าเป็นอิทธิฤทธิ์ที่แท้จริง เพราะช่วยให้คนที่ฟังหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ แต่อิทธิฤทธิ์อย่างอื่นช่วยไม่ได้ มีแต่ช่วยให้หลงมากขึ้น