กัณฑ์ที่ ๓๘๖      ๒๑ กันยายน ๒๕๕๑

 

ยินดีกับการเป็นคนจน

 

 

 

ความจริงคนที่ให้อภัยนี่แหละ เป็นคนที่ได้รับประโยชน์ มากกว่าคนที่ถูกอาฆาตพยาบาท เพราะคนที่กำลังร้อนก็คือคนที่กำลังโกรธ คนที่กำลังอาฆาตพยาบาท พอให้อภัยได้ ดับความอาฆาตพยาบาทได้แล้ว ใจก็เย็นสบาย คำว่าบุญก็อยู่ตรงนี้ อยู่ที่ความสบายใจ สุขใจ เย็นใจ บุญเกิดขึ้นทันตาเห็น แต่เราไม่ดูที่ตรงนี้กัน เรามักจะไปดูผลที่มาจากภายนอก นั่งชะเง้อรออยู่เรื่อย เมื่อไหร่บุญจะหล่นทับเสียที ทำแล้วไม่ได้ผลเลย ทำแล้วการค้าก็ยังไม่ดี ตำแหน่งก็ยังไม่ได้เลื่อน อันนี้ไม่ได้เป็นผลหลัก แต่เป็นผลพลอยได้ อาจจะเกิดก็ได้ อาจจะไม่เกิดก็ได้ จึงไม่ควรไปกังวลกับผลพลอยได้ ให้สนใจกับผลที่เกิดขึ้นในใจ ในขณะที่เราทำในตอนนั้นเลย ใจเรานี้จะพลิกจากนรกเป็นสวรรค์ก็ได้ พลิกจากมารเป็นพระก็ได้ พลิกจากกิเลสเป็นธรรมะก็ได้ เพราะใจเป็นเครื่องมือของทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายธรรมะกับฝ่ายกิเลส เปรียบเหมือนกับรถมีคน ๒ คนแย่งกันขับ ถ้าคนฉลาดขับรถก็ปลอดภัย ถ้าคนโง่ขับรถก็ไปพลิกคว่ำได้ เวลาออกรถใหม่จึงไม่ต้องไปเจิมรถ ให้เจิมคนขับ ถ้าคนขับฉลาด มีสติมีปัญญา รู้หนักรู้เบา รู้ช้ารู้เร็ว รู้ควรไม่ควร ก็จะปลอดภัย ไม่มีปัญหาอะไร นอกจากว่ามันเป็นกรรมเก่า หรือเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ไม่อยู่ในอำนาจไปควบคุมบังคับได้ อย่างนั้นก็ต้องทำใจ ว่าเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ตายที่ไหนเมื่อไรไม่มีใครรู้ ถ้าตายแบบมีสติจะไม่ขาดทุน ตายอย่างสบาย ตายอย่างเย็น เพราะผู้รู้ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ผู้รู้ไม่ได้ตาย ร่างกายไม่รู้เรื่อง เขาไม่รู้ว่าเขาเป็นเขาตาย ผมนี้ไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร ฟัน เล็บ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เขาไม่ใช่ตัวรู้ เหมือนกับต้นไม้ เหมือนกับศาลา เขาไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร ผู้รู้คือใจ ผู้ที่เดือดร้อนก็คือใจที่ไม่ฉลาด ไปเดือดร้อนแทนเขา ไปแบกเขา ถ้าใจฉลาดก็จะรับรู้เฉยๆ รู้ว่าเขาเป็นอย่างนี้ รู้ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา รู้ว่าต้องแตกสลายไป แต่เขาก็ไม่ได้หายไปไหน ดินก็กลับไปสู่ดิน แล้วก็กลับมาเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ใหม่ น้ำก็กลับไปสู่น้ำแล้วก็กลับมารวมกันใหม่ กลับมาเป็นอาการ ๓๒ ใหม่ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกเป็นต้น หรือเป็นต้นไม้เป็นสิ่งต่างๆ เป็นการรวมตัวของดินน้ำลมไฟทั้งนั้น พอเมื่อถึงเวลาที่จะแยกทางกัน ก็แยกกันไปคนละทาง กลับไปสู่ที่เดิม ไปสู่ธาตุเดิม น้ำก็ไปอยู่กับน้ำ ดินก็ไปอยู่กับดิน ลมก็ไปอยู่กับลม ไฟก็ไปอยู่กับไฟ ก็วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ เหมือนกับน้ำที่ระเหยขึ้นไปบนท้องฟ้า เกาะตัวกันรวมตัวกันเป็นเมฆแล้วก็ตกลงมาเป็นฝน แล้วก็ไหลลงไปสู่แม่น้ำลำธาร ไหลซึมลงดินไป แล้วเราก็ตักขึ้นมาดื่ม เข้าสู่ร่างกาย แล้วก็ขับถ่ายออกมา เขาไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร

 

ผู้รู้ก็คือธาตุรู้ คือใจเท่านั้นที่รู้ สิ่งต่างๆในโลกในจักรวาลนี้ไม่รู้อะไร ดินไม่รู้ว่าเขาเป็นดิน น้ำไม่รู้ว่าเขาเป็นน้ำ ลมไฟไม่รู้ว่าเขาเป็นลมเป็นไฟ มีแต่ใจที่รู้ แต่รู้ไม่จริง ไปรู้ตอนที่เขารวมตัวกันเป็นร่างกายแล้ว เป็นมนุษย์แล้ว เป็นสัตว์แล้ว แล้วก็ไปหลงไปคิดว่าเขาเป็นตัวเป็นตน แล้วก็เกิดความอยากให้เขาอยู่ไปนานๆ อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้เป็นก็เสียใจ พอเวลาที่มันแตกสลายไปก็ร้องห่มร้องไห้กัน เพราะใจไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้รับการสอน ให้มองความจริงว่าเป็นอย่างไร ถูกความหลงครอบงำใจ ทำให้มองตรงกันข้ามกับความจริง มองเห็นเป็นตัวสัตว์ตัวบุคคล ไม่ได้เห็นว่าเป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่ได้เห็นว่าเป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง แต่เห็นเป็นนายร้อย นายพล นายพัน เป็นคุณหญิงคุณนาย เป็นอาจารย์ เป็นลูกศิษย์ เป็นอะไรต่างๆ ที่เป็นเพียงสมมุติที่ผูกติดไว้กับตุ๊กตาแต่ละตัว ให้ชื่อตุ๊กตาตัวนี้ว่านาย ก. นาย ข. มีตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์อย่างนั้นอย่างนี้  ไม่ได้มองความจริงว่าเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง กลับมองที่สมมุติ หลงตามสมมุติ แล้วก็ยึดติดกับสมมุติ ถ้าชอบก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ ถ้าไม่ชอบก็อยากจะให้หายไปโดยเร็ว ถ้าเป็นขอทานก็จะไม่ชอบ อยากจะเป็นคนรวย พอเป็นคนรวยก็อยากจะรวยไปนานๆ แต่เขาไม่เป็นอย่างนี้ไปตลอด รวยได้ก็จนได้ แต่จนแล้วรวยนี้ค่อนข้างจะยากกว่า รวยแล้วจนจะง่ายกว่า จึงมีคนจนเยอะ ถ้าฉลาดก็จะรู้ว่า รวยมันยาก จนมันง่าย ก็ควรจะยินดีกับความเป็นคนจนจะดีกว่า เพราะจะสมความปรารถนา เวลาสมความปรารถนาเราจะมีความสุข พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเรายินดีกับความเป็นคนจน ให้อยู่แบบคนจน เพราะง่ายกว่าอยู่แบบคนรวย อยากจะเป็นคนรวยก็ยากกว่าอยากเป็นคนจน อยู่แบบคนจนได้นี่แสนจะสบาย

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระทุกรูปให้อยู่แบบคนจน ให้มีเพียงอัฐบริขารเป็นสมบัติ คือมีบาตรไว้หาอาหาร มีผ้าบังสุกุล ๓ ผืนไว้นุ่งห่มเป็นต้น ผ้าสมัยก่อนจะเป็นผ้าบังสุกุล หมายถึงเศษผ้าที่ถูกทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ได้เป็นผ้าสำเร็จรูป เป็นผ้าทั้งพับ แต่เป็นผ้าขี้ริ้ว พอใช้งานได้ก็เก็บรวบรวมไว้ พอได้พอประมาณก็นำเอามาปะมาเย็บมาต่อกันให้เป็นผืนใหญ่ เอามาตัดเย็บให้เป็นจีวร ย้อมด้วยน้ำฝาด คือเอาแก่นไม้ เช่นแก่นขนุนมาต้มกับน้ำ จะมีสีออกมาบางๆ แล้วก็เอาหินแดงที่ฝนแล้วมาผสมกัน ย้อมเป็นสีกรัก สีกรักสมัยก่อนเป็นอย่างนี้ ไม่มีสีสำเร็จรูป ในสมัยปัจจุบันนี้มีสีสำเร็จรูป เอามาผสมกันสีก็จะไม่จางง่าย สีจะสดหรือจางไม่ค่อยสำคัญ พอให้รู้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของนักบวชก็ใช้ได้แล้ว ข้อสำคัญของผ้าก็คือมีไว้ปกปิดอวัยวะ ป้องกันอากาศหนาวเย็น ป้องกันพวกแมลงสัตว์ต่างๆ ที่จะมากัดมาต่อยร่างกาย สมัยเริ่มแรกของพระศาสนา พระจะใช้ผ้าเพียง ๒ ผืนเท่านั้นเอง คือผ้านุ่งเรียกว่าสบง ผ้าห่มเรียกว่าจีวร ต่อมามีพระที่มาบวชภายหลัง มีจิตใจไม่ค่อยเข้มแข็ง เหมือนกับพระที่บวชรุ่นแรกๆ เพราะพระที่บวชรุ่นแรกๆมีจิตใจที่สูง มีธรรมะมาก จิตใจจึงไม่ค่อยรู้สึกลำบากลำบนกับเรื่องของร่างกายเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยเจ้ากัน ต่อมาศาสนาได้เผยแผ่กว้างออกไป มีคนอยากจะบวชตามกันมาก แต่พวกนี้ยังไม่ได้เป็นพระอริยะกัน ยังติดกับความสุขทางร่างกาย เวลาอากาศหนาวมากจะรู้สึกว่าห่มจีวรผืนเดียวจะไม่พอ จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ว่าห่มจีวรผืนเดียวแล้วสู้หนาวไม่ไหว พระพุทธเจ้าจึงทรงพิจารณาด้วยการนั่งสมาธิในตอนหัวค่ำ ตั้งแต่ ๖ โมงเย็นถึง ๔ ทุ่ม ทรงห่มจีวรผืนหนึ่ง พอ ๔ ทุ่มขึ้นไปอากาศรู้สึกจะเย็นขึ้น จึงทรงห่มจีวรอีกผืนหนึ่ง ๔ ทุ่มถึงตี ๒ พอตี ๒ อากาศก็เย็นขึ้นอีก จึงนำจีวรอีกผืนหนึ่งมาห่มถึงจะรู้สึกสบาย ทรงพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มจีวรขึ้นมาอีก ๒ ผืนเพื่อไว้ห่มกันหนาว จีวรผืนที่ ๓ ที่ ๔ นี้ทรงให้เย็บรวมกันเป็นผืนเดียวกัน ให้เย็บเป็นผืนเดียวแต่มี ๒ ชั้น เรียกว่าสังฆาฏิ ผ้าที่พระพาดไว้บนบ่าเวลาทำพิธีกรรมต่างๆ เป็นผ้าผืนที่ ๓ ไว้ใช้สำหรับห่มกันหนาว ยามปกติใช้ผ้า ๒ ผืนก็พอ คือสงบกับจีวร ส่วนสังฆาฏิใช้เวลาอากาศเย็น สมัยก่อนพระอยู่ในป่ากันเป็นส่วนใหญ่ เวลาไปบิณฑบาตถ้าทิ้งสังฆาฏิไว้ที่พักก็อาจจะหายได้ เพราะสมัยก่อนผ้าหายาก ท่านจึงซ้อนผ้าสังฆาฏิอีกผืนเวลาออกบิณฑบาต ปกติจะห่มผืนเดียว แต่เวลาออกบิณฑบาตออกจากที่พักในป่า ไม่มีที่ปิดมิดชิด อยู่ตามโคนไม้ อยู่ตามถ้ำ ตามเรือนร้าง ถ้าทิ้งผ้าสังฆาฏิไว้ลิงหรือขโมยอาจจะเอาไปได้ จึงเป็นธรรมเนียมของพระป่าเวลาออกบิณฑบาต จะเอาผ้าสังฆาฏิไปด้วย นุ่งห่มทั้ง ๓ ผืนเลย

 

นี่คือการอยู่แบบคนจนอยู่ ถ้าอยู่แบบคนจนได้จะตัดปัญหาความอยากรวยได้ คนที่อยากจะรวยนี้บางทีก็ต้องไปทำบาปทำกรรม ไปทำผิดศีลผิดธรรม ไปหาเงินด้วยวิธีการต่างๆ ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง แล้วก็ไปสร้างความเสื่อมเสียให้กับจิตใจ ทำให้จิตใจตกต่ำ มีวิบากตามมา เบื้องต้นใจก็จะไม่มีความสุขแล้ว เวลาไปขโมยของๆคนอื่น หรือไปโกหกหลอกลวงคนอื่น เราก็ไม่สบายใจแล้ว แต่ความอยากมันมีอำนาจมาก ทำให้กล้าขโมย กล้าโกหกหลอกลวงผู้อื่น เพราะอยากจะมีหน้ามีตา อยากจะร่ำอยากจะรวย แต่พอถึงเวลาที่วิบากกรรมตามมา จะลำบากยิ่งกว่าตอนที่ไม่ได้ทำบาปทำกรรม อยู่อย่างปกติไม่ได้ ต้องหลบๆซ่อนๆ ต้องหนีไปอยู่ที่ห่างไกลจากกฎหมาย ที่คอยตามจับมาลงโทษ เพราะไม่รู้ว่าการรวยอย่างเป็นสุขนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร การรวยอย่างเป็นสุขก็เกิดจากการทำบุญมาในอดีตชาติ ทำบุญให้ทานมามากๆ ก็จะมาเกิดเป็นลูกเศรษฐี เกิดเป็นลูกของพระเจ้าแผ่นดิน หรือเกิดจากความขยันหมั่นเพียรอดทนอดกลั้น ได้เงินมาก็ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยตามอำนาจของความอยากของกิเลสตัณหา ซื้อแต่สิ่งที่จำเป็น คนที่จะรวยได้ต้องอยู่แบบคนจนเป็น เพราะเงินทองที่หามาได้จะไม่หมดไปอย่างง่ายดาย จะใช้แต่ละครั้งต้องมีเหตุมีผลจริงๆ ต้องมีความจำเป็นจริงๆ เมื่อเป็นอย่างนั้นรายรับก็จะมีมากกว่ารายจ่าย ก็จะเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้ นี่พูดถึงเรื่องใจ เรื่องของความสุขความทุกข์ของใจ อยู่ที่ใจ พวกเรารู้จักอยู่อย่างเป็นสุขหรือไม่ ถ้าไม่รู้ก็ควรดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ดูพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง  ดูว่าท่านอยู่อย่างไร ท่านก็อยู่อย่างคนจน การขบฉันท่านก็ยินดีตามมีตามเกิด บิณฑบาตได้อะไรมาก็ฉันไป มีเหลือก็ไม่เก็บเอาไว้ บริจาคให้ผู้อื่นไป ไม่กักตุน วันรุ่งขึ้นค่อยหาใหม่ หาได้มากน้อยก็ยินดีตามมีตามเกิด ถ้ากินไม่อิ่มในบางวันก็ถือว่าเป็นอานิสงส์อย่างหนึ่ง ทำให้จิตใจไม่ง่วงเหงาหาวนอน ทำให้การบำเพ็ญสบายสะดวก ถ้ารับประทานมากก็จะขี้เกียจ จะง่วงเหงาหาวนอน อยากจะหาหมอน ไม่อยากหาทางจงกรม อยู่แบบคนจนจึงมีแต่ประโยชน์ในทางธรรม มีประโยชน์กับจิตใจ เพราะจะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติทางจิตใจ ให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไปถึงจุดหมายปลายทางได้

 

ขั้นตอนของการพัฒนาจิตใจมีอยู่ ๓ ขั้นตอนด้วยกันคือ ๑. ปริยัติ ๒. ปฏิบัติ ๓. ปฏิเวธ ปริยัติคือการศึกษาวิธีการต่างๆที่จะพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นเจริญขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลงไปจนหมดสิ้นไป ต้องรู้ก่อนว่าทำอย่างไร เหมือนกับเวลาที่เล่นกีฬา เช่นตีกอล์ฟ ต้องศึกษาก่อนว่าตีอย่างไร ถ้ามีคนสอนการเรียนรู้ก็จะไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีคนสอนก็ต้องศึกษาเอง ก็จะไปช้า จะไม่รู้เหมือนคนที่มีประสบการณ์ ถ้าได้เขามาสอนก็จะรู้ว่าตีอย่างไร จึงตีได้เก่งได้ผลดี ในการศึกษาปริยัตินี่ ถ้ามีผู้ที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้ว ได้รับผลมาแล้วเป็นคนสอน การศึกษาและการปฏิบัติจะไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าศึกษาเองจะไม่รู้เคล็ดลับต่างๆ ที่จะทำให้เจริญอย่างรวดเร็ว การศึกษาจากตำรากับการศึกษาจากผู้ที่มีประสบการณ์จึงต่างกันมาก เพราะในตำราจะเขียนแบบกว้างๆ พอให้รู้ว่าขั้นตอนต่างๆ แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เคล็ดลับต่างๆนี้ ต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์มาสอนโดยตรง จะไปได้เร็วกว่า ไม่ต้องเสียเวลาทดสอบ ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง กว่าจะถึงเป้าหมายก็จะเสียเวลาพอสมควร เหมือนกับการเดินทางที่ไม่มีแผนที่ ไม่มีคนนำทาง พอไปถึงทางแยกไม่รู้จะไปทางไหนดี ก็ต้องลองไปทางซ้ายก่อน พอรู้ว่าไม่ใช่แล้ว ก็ต้องย้อนกลับมา เลี้ยวไปทางขวาหรือตรงไป จนกว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง ในเบื้องต้นต้องศึกษาก่อน ถ้ามีคนสอนก็จะไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มี มีแต่หนังสือก็พอใช้ได้ แต่จะไม่เหมือนกับมีคนคอยสอน อ่านไปแล้วอาจจะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด นำเอาไปปฏิบัติผิด ก็จะไม่ได้ผล ถ้าได้คนที่มีความสามารถมีประสบการณ์ คนที่บรรลุธรรมแล้วมาสอน ก็จะไม่เสียเวลา พอได้รับการสอนแล้ว ก็ต้องนำเอาไปปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนเฉยๆอย่างเดียว เหมือนกับการเรียนในทางโลก เรียนแล้วก็ถือว่าจบ มีการทดสอบความจำเท่านั้นเอง ว่าจำได้หรือเปล่า แต่ในทางปฏิบัติทางด้านจิตใจนี้ ไม่ได้อยู่ที่ความจำ แต่อยู่ที่ความจริง

 

ความจริงที่ต้องทำให้ได้ก็คือทำใจให้สงบนิ่ง ให้ฉลาด นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ วิธีที่จะทำจิตใจให้สงบนิ่งมีหลายหลากอุบายด้วยกัน อุปสรรคที่ขวางกั้นก็มีอยู่หลากหลายเช่นเดียวกัน เช่นกามฉันทะ ความยินดีในกามสุข ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ถ้าติดอยู่ก็จะรู้สึกว่าปฏิบัติได้ยาก ถ้าติดละครติดฟังเพลง ติดความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะรู้สึกว่าการไปอยู่ในที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้มันทรมานใจ ก็จะไม่อยากไป เป็นอุปสรรคอันหนึ่งที่ต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ถ้าฟันฝ่าไปไม่ได้ ก็จะติดอยู่ในกามภพ ผู้ที่ยังยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในกามภพ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเทพ ของมนุษย์และของสัตว์ในอบาย ขึ้นอยู่ว่าทำบาปหรือทำบุญ ถ้าทำบาปก็จะไปเกิดในอบาย ถ้าทำบุญก็จะไปเกิดเป็นเทพ เป็นมนุษย์ วนเวียนไปอย่างนี้ แต่จะไม่สามารถไปสู่มรรคผลนิพพานได้ เพราะผู้ที่จะไปสู่มรรคผลนิพพานได้ จะต้องตัดกามฉันทะให้ได้ ตัดความยินดีความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ผู้ปฏิบัติจึงต้องสำรวม ตาหูจมูกลิ้นกาย เรียกว่าอินทรียสังวร ไม่ดูรูป ไม่ฟังเสียง ไม่ดมกลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่สัมผัสโผฏฐัพพะ ที่ทำให้เกิดความสุข ความกำหนัดยินดีขึ้นมา อันนี้ต้องตัด การไปอยู่วัดก็เป็นการตัดโดยปริยายไป เพราะที่วัดจะไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้ได้สัมผัสนั่นเอง ไม่มีทีวีให้ดู ไม่มีวิทยุให้ฟัง ไม่มีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน ไม่มีอาหารถูกปากถูกคอให้รับประทาน ไม่มีเครื่องดื่มชนิดต่างๆที่ถูกอกถูกใจให้ดื่ม ให้ดื่มตามมีตามเกิด แล้วก็ให้พอประมาณ ให้รู้จักประมาณการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม รับประทานพอควรเท่าที่จำเป็น รับประทานมากไปก็จะทำให้เกิดนิวรณ์ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง เกิดอุปสรรคอีกตัวหนึ่งก็คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจ เวลาฉันอิ่มๆกินอิ่มๆแล้ว เวลานั่งก็สัปหงก คิดหาแต่หมอน เดินก็เดินไม่ไหว นี่ก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง ขนาดไปอยู่วัดแล้ว ไปสำรวมอินทรีย์แล้วก็ตาม พอไปเจออาหารที่ถูกปากเข้าก็เลยกินมากไปหน่อย พระบางรูปถึงต้องอดอาหาร ต้องผ่อนอาหาร หยุดฉันสัก ๓ วัน ๕ วัน ฉันของเบาๆ เช่นฉันน้ำปานะ ฉันน้ำผลไม้ในตอนบ่าย หรือในตอนเช้าก็อาจจะฉันนมสักกล่องหนึ่ง พอให้มีอะไรในท้องบ้าง ไม่ทรมานจนเกินไป ทำอย่างนี้แล้วจะไม่ง่วงเหงาหาวนอน จะมีความกระตือรือร้นที่จะบำเพ็ญภาวนาทำจิตให้สงบ เพราะถ้าจิตไม่สงบแล้วมันจะปรุงแต่ง คิดถึงเรื่องอาหาร อาหารอย่างนั้นก็อร่อยอย่างนี้ก็อร่อย พอไม่ได้รับประทานก็เกิดความทุกข์ใจความทรมานใจขึ้นมา

 

แต่พอควบคุมจิตใจให้อยู่กับกรรมฐานได้ ควบคุมความคิดไม่ให้คิดได้อย่างต่อเนื่อง ไม่นานจิตก็จะสงบนิ่งรวมลงเป็นหนึ่ง ตอนนั้นจิตก็จะว่าง ว่างจากความหิวกระหายที่เกิดจากความคิดปรุงแต่ง พอความหิวหายไป ความอิ่มก็เข้ามาแทนที่ จิตอิ่ม ถึงแม้ร่างกายจะหิว แต่ความหิวของร่างกายเมื่อเปรียบเทียบกับความหิวของใจแล้ว มันต่างกันเหมือน ๑ ต่อ ๑๐ ความหิวของร่างกายเพียง ๑ เท่า แต่ความหิวของใจเป็น ๑๐ เท่า พอระงับดับความหิวทางใจได้แล้ว ความหิวทางร่างกายจะไม่เป็นปัญหาอย่างไร เพียงแต่รู้สึกอ่อนเพลียบ้างเล็กน้อย รู้สึกท้องว่างๆ แต่กำลังใจกลับมีมากขึ้น พอจิตสงบแล้วถ้าลุกไปเดินจงกรม ก็เดินได้อย่างสบายไม่ขี้เกียจ พอเดินเมื่อยก็กลับมานั่งต่อ สามารถภาวนาได้อย่างต่อเนื่องในอิริยาบถทั้ง ๔ เจริญสติอยู่ตลอดเวลา ควบคุมจิตใจควบคุมความคิด ไม่ให้ไปคิดถึงอาหาร เพราะตอนนั้นเป้าหมายของใจจะมุ่งไปที่อาหารก่อนเสมอ ถ้าขาดแล้วก็อยากจะได้สิ่งที่ขาด ต้องยอมทนบ้างถ้าต้องการผลอันเลิศ ผลที่พระพุทธเจ้าก็ดีพระสาวกทั้งหลายก็ดีได้มา ไม่ได้มาอย่างง่ายดาย ยกเว้นบางองค์บางรูปที่ได้ลำบากลำบนทำมามากแล้วในอดีต ท่านมีศีลแล้ว มีสมาธิแล้ว เพียงแต่ขาดปัญญา พวกนี้เพียงได้ยินได้ฟังก็สามารถทำจิตให้หลุดพ้นได้ เช่นตอนที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก พระอัญญาโกณฑัญญะก็สามารถบรรลุธรรมขั้นแรกได้ บรรลุเป็นพระโสดาบันได้ และหลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศนาอีกครั้ง ๒ ครั้ง พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้พร้อมกันหมด โดยไม่ต้องไปลำบากลำบนนั่งสมาธิ เดินจงกรม อดอาหารอย่างพวกที่ยังไม่เคยทำมาก่อนต้องทำกัน ท่านทำมาแล้ว สิ่งที่ท่านขาดก็คือปัญญา ท่านมีศีลมีสมาธิอยู่แล้ว ท่านเคยทรมานตนด้วยวิธีการต่างๆมาแล้ว ท่านได้สำรวมอินทรีย์ ตาหูจมูกลิ้นกาย ฟันฝ่านิวรณ์ต่างๆอุปสรรคต่างๆมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความฟุ้งซ่านก็ดี ความง่วงเหงาหาวนอนก็ดี ความยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆก็ดี ความโกรธก็ดี ความลังเลสงสัยก็ดี สิ่งเหล่านี้ท่านฟันฝ่ามาแล้ว ท่านไม่สงสัยแล้วว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน

 

ความสุขที่แท้จริงมีอยู่ที่เดียวเท่านั้น คืออยู่ในใจเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน ที่อื่นเป็นความทุกข์ทั้งนั้น เป็นความทุกข์ที่ซ่อนมาในรูปของความสุข เป็นยาขมเคลือบน้ำตาล ความสุขทางโลกทางตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล เวลาได้อะไรมาใหม่ๆก็ดีอกดีใจมีความสุขใจ พอได้มาสักระยะหนึ่งก็กลายเป็นความขมขื่น กลายเป็นความเจ็บช้ำน้ำใจขึ้นมา กลายเป็นความเสียอกเสียใจขึ้นมา มันเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรในโลกนี้ มันมีความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ทั้งนั้น มีอะไรก็ต้องคอยดูแลรักษา คอยหวงคอยห่วงคอยกังวล เวลาเสียไปจากไป ก็ต้องร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ ความสุขที่แท้จริงไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในสิ่งต่างๆ ไม่มีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ความสุขที่แท้จริงมีอยู่ที่เดียวเท่านั้น ก็คือใจ นี่คือความลังเลสงสัยของผู้ปฏิบัติ เบื้องต้นยังไม่แน่ใจ ยังสงสัยอยู่ เพราะยังไม่เคยสัมผัสกับความสุขทางใจ ยังถูกกิเลสหลอกได้ ปฏิบัติอยู่วัด ๓ วัน พอออกมาก็ไปเที่ยวสัก ๗ วัน อย่างนี้ยังลังเลสงสัยอยู่ ยังไม่มั่นใจกับความสุขทางธรรมะทางด้านจิตใจ ถ้ามั่นใจแล้วใครมาชวนไปเที่ยวก็ไม่ไป ถึงแม้จะออกมาจากวัดแล้วก็จะอยู่บ้านปฏิบัติภาวนาต่อไป จะออกไปข้างนอกเฉพาะมีความจำเป็น ไปทำงานทำการทำมาหากินเท่านั้น แต่จะไม่ออกไปตามอำนาจของความอยาก คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้ายังมีภาระผูกพันของผู้ครองเรือนอยู่ก็จะทำหน้าที่ของตนไป แต่จะไม่หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่แสวงหาลาภยศสรรเสริญ เพียงแต่ทำไปตามหน้าที่ ถ้ายังมีภาระหน้าที่ต้องทำอยู่ พอมีโอกาสปล่อยวางตัดขาดจากภาระต่างๆได้ ก็จะแสวงหาที่สงบสงัดวิเวก อยู่แบบนักบวช ถ้าได้สัมผัสกับความสงบแล้วจะไม่สงสัย อย่างพวกที่ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วบรรลุธรรม พวกนี้เขาไม่สงสัยว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เขารู้อยู่ในใจ แต่ยังไม่รู้ว่าทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นได้อย่างถาวร ทำได้เพียงชั่วขณะ ทำจิตให้สงบได้เป็นพักๆไป เวลากำหนดพุทโธๆไป จิตสงบรวมลงเป็นหนึ่ง ก็สงบอยู่ได้สักระยะหนึ่ง จากนั้นก็ถอนออกมา พอถอนออกมาก็คิดปรุง คิดแล้วก็ลุกไปทำนั่นทำนี่ คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็สร้างความทุกข์ขึ้นมาอีก คิดถึงอดีต คิดถึงอนาคต คิดถึงอะไรต่างๆ ก็สร้างความทุกข์ สร้างความกังวลใจขึ้นมาได้ เพราะไม่มีปัญญาสอนใจให้คิดปล่อยวาง ไม่ต้องกังวล ให้รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมันก็ต้องเกิดขึ้น ไม่มีใครไปห้ามได้ ร่างกายจะแก่ จะเจ็บ จะตายนี้ ไปห้ามมันไม่ได้ ไปหยุดยั้งมันไม่ได้

 

สิ่งที่จะทำให้ใจปล่อยร่างกายได้ก็คือปัญญา ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้เพียงผู้เดียว รู้ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ใจ ผู้อื่นไม่รู้ ก่อนหน้าที่จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้นี้ ไม่มีใครรู้ว่าร่างกายไม่ใช่ใจ ใจคิดว่าร่างกายเป็นตัวเป็นตน ท่านถึงต้องมาแก้ความเห็นนี้ ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวตน ร่างกายไม่ใช่ใจ ผู้คิดไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่ผู้คิด ผู้คิดไม่ต้องกังวลกับร่างกาย ที่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของเขา มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายเป็นธรรมดา ผู้รู้คือใจที่มาหลงมายึดมาติดมาครอบครองร่างกายนี้ ไม่รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ใจ พอพระพุทธเจ้าแสดงอย่างนี้ปั๊บ คนที่มีสมาธิอยู่แล้วก็จะเข้าใจทันที รู้แล้วว่ากำลังแบกร่างกายนี้ หลงยึดติดร่างกายนี้ กังวลกับความแก่ความเจ็บความตาย ทำให้เกิดความทุกข์ใจในขณะที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ เวลาอยู่ในสมาธิไม่ได้คิดถึงเรื่องของร่างกาย จึงไม่มีความทุกข์กับร่างกาย พอออกจากสมาธิแล้วก็ไม่รู้จักวิธีคิด ที่จะทำไม่ให้ทุกข์ ไม่กังวล ไม่รู้ตรงนี้ ต้องให้พระพุทธเจ้ามาแสดง แล้วเรานำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมาเป็นโจทย์ ว่าร่างกายไม่ใช่เรา ทำไมถึงไม่ใช่เรา ก็ดูสิว่ามันมาจากที่ไหนแล้วมันไปที่ไหน มันก็มาจากดิน จากน้ำ จากลม จากไฟ เบื้องต้นก็จากน้ำ ๒ หยด ของพ่อหยดของแม่หยดมาผสมกัน แล้วก็อาศัยดินน้ำลมไฟของมารดาเป็นอาหารหล่อเลี้ยง ให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมาจนคลอดออกมา แล้วก็รับประทานอาหารเพิ่มเติม อาหารก็มาจากดินจากน้ำจากลมจากไฟ แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ จนผมดำก็กลายเป็นผมขาว หนังที่เต่งตึงก็กลายมาเป็นหนังที่เหี่ยวย่น สุขภาพที่สมบรูณ์แข็งแรงก็ค่อยๆเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แล้วต่อไปก็จะหยุดทำงาน ธาตุ ๔ ก็จะแยกออกจากกันไป ต้องพิจารณาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ แล้วจะเห็นได้ชัดว่าร่างกายเป็นวงจรของดินน้ำลมไฟ เป็นการรวมตัวของดินน้ำลมไฟ แล้วก็แยกสลายไป พอร่างกายตายไปแล้ว น้ำก็กลับไปสู่น้ำ น้ำก็ไหลออกจากร่างกายไป ความร้อนก็ออกไป อากาศก็ระเหยออกไป ทิ้งร่างกายไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะแห้งกรอบ เนื้อหนังก็จะแห้งกรอบ ต่อไปก็จะผุไป กระดูกก็จะผุไป กลายเป็นดินไป ส่วนใจเป็นแบบร่างกายหรือเปล่า ไม่เป็นหรอก เพราะใจคือผู้รู้ เวลาจิตสงบก็มีแต่ผู้รู้อยู่ตัวเดียว ไม่มีกาย พอผู้รู้ๆอย่างนี้ก็เข้าใจ ก็เลยไม่ยึดติดกับร่างกาย ปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามเรื่องของเขา ยอมรับความจริงของร่างกาย พอรับได้ก็สบายใจ ถ้าอยากรู้ว่ารับได้จริงหรือไม่ ก็ต้องพาร่ากายไปพิสูจน์ดู พาไปปล่อยไว้ในป่าช้าบ้าง ปล่อยไว้ในที่น่ากลัวๆ ที่อาจจะมีภัยต่อร่างกาย ดูสิว่าจะปล่อยมันได้ไหม จะวางเฉยได้ไหม ถ้าวางเฉยได้ไม่เดือดร้อน มันจะเป็นอะไรก็ให้มันเป็นไป พอมันปล่อยได้จริงๆแล้ว ใจจะโล่งจะเบาสบาย จะไม่วิตกกังวลกับร่างกายอีกต่อไป นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ

 

เมื่อปฏิบัติแล้วปฏิเวธคือผลก็จะปรากฏขึ้นมา ผลก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจนี่แหละ ใจที่โล่งที่เบาที่สบาย ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนที่หนักอกหนักใจกับร่างกาย กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ คนนั้นคนนี้ เพราะไปแบกมัน ก้อนหินก้อนหนึ่งจะใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ถ้าปล่อยไว้เฉยๆไม่ไปแบกมัน มันก็ไม่หนักหรอก ถ้าไม่ไปขยับเขยื้อนมัน ปล่อยไว้ตรงนั้นมันไม่หนักหรอก แต่ถ้าอยากจะย้ายมันไปจากตรงนี้ไปไว้ตรงนั้น มันจะหนักขึ้นมาทันที ฉันใดสิ่งต่างๆที่ใจไปยึดติดก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่หนัก เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป ร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ไปอยากให้มันอยู่นานๆ มันก็ไม่หนัก พออยากจะให้มันอยู่ไปนานๆ มันก็จะวิตกกังวล จะหวาดระแวงหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ ถ้าปล่อยไปตามบุญตามกรรม อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป ใจก็สบาย ใจไม่แบกมัน เหมือนกับร่างกายของคนอื่น คนอื่นเขาจะอยู่เขาจะไปเราไม่เดือดร้อนฉันใด ร่างกายของเราก็ต้องเป็นเหมือนร่างกายคนอื่น เราต้องปฏิบัติร่างกายของเรากับร่างกายคนอื่นให้เท่าเทียมกัน เพราะมันเหมือนกัน มีเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ไม่มีตัวตนเหมือนกัน เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ปัญหาของเราอยู่ที่เราไปหลงไปยึดไปติด ไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เราต้องดูตรงจุดนี้ ดูที่ใจเรา อย่าไปอยากกับอะไรจนถอนตัวไม่ขึ้น อยากได้แต่ต้องให้อยู่ในกรอบของความเป็นไปได้ บางอย่างก็ยังสามารถดูแลกันได้ เช่นสอนคนนั้นสอนคนนี้ ดูแลลูกหลานให้อยู่ในกรอบของความดีงาม ก็พอจะดูแลได้ในระดับที่เขาทำได้ ถ้าเขาทำไม่ได้ จะแหกคอกออกไป ไม่ต้องไปเสียใจ ต้องรู้ว่าไม่ได้อยู่ในวิสัยของเราแล้ว เราทำดีที่สุดแล้ว อย่างที่สอนนี้ก็สอนอย่างดีที่สุดแล้ว จะเอาไปทำหรือไม่ทำไม่ใช่เรื่องของเรา จะเชื่อไม่เชื่อก็ไม่สนใจ จะซาบซึ้งหรือไม่ซาบซึ้งก็ไม่สำคัญ เราทำหน้าที่ของเราเต็มที่แล้ว เราก็พอใจ การให้ธรรมะเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เป็นการสร้างความสุขใจ เพราะเวลาแสดงธรรมจะมีแต่กระแสธรรมไหลออกมา จะมีแต่ความเย็นความสบายใจ คนฟังก็เย็นใจไปด้วย เพราะกระแสธรรมเป็นเหมือนน้ำเย็น ใจของผู้แสดงก็เย็น ใจของผู้ฟังก็เย็น การแสดงธรรมไม่ขาดทุน ถ้าไม่มีกิเลสเข้าไปแทรก ไปอยากให้คนฟังต้องไปปฏิบัติตามอย่างจริงๆจังๆ อยากให้เขาบรรลุ ถ้าเขาไม่ทำไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง หรือไม่ศรัทธาไม่เชื่อเรา หรือฟังแล้วเบื่อคราวหน้าไม่มาฟังอีก ก็จะเสียใจ ถ้ามีกิเลสซ่อนเร้นอยู่ ถ้าไม่มีกิเลส ทำหน้าที่ไปเหมือนให้เงินเขา เขารับไปก็ดี ถ้าไม่รับก็ไม่เป็นไร ให้คนอื่นก็ได้ เป้าหมายก็คือการปล่อยวาง อย่าไปหลงว่าเป็นเรา เป็นของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีไว้เพื่อมาปลดเปลื้องภาระทางด้านจิตใจ ปลดเปลื้องความหลง ทำใจให้หลุดพ้น ทำใจให้สงบ แล้วจะพบกับความสุขที่แท้จริง

 

ถาม  พี่สะใภ้เจ็บหนักมาก หลานที่ดูแลอยู่ หลังจากที่แม่เจ็บหนักและคิดว่าอยู่ได้อีกไม่นาน ได้อ่านหนังสือท่านอาจารย์เป็นเครื่องจรรโลงใจตลอดมา เขาขอธรรมะมาว่า ถ้าวันไหนแม่รู้สึกดีขึ้นนิดหนึ่ง ใจเขาจะฟูมาก ถ้าวันไหนแม่ไม่ฟื้นตัวเลย ไม่พูดเลย ไม่ลืมตา ก็จะเป็นทุกข์มาก ตรงนี้ยังทำใจไม่ได้ ถึงแม้จะได้พิจารณาตามท่านอาจารย์ว่าเป็นไตรลักษณ์ แต่ยังเป็นทุกข์มากเหลือเกิน

 

ตอบ  ใจยังตัดไม่ขาด ตัดได้เป็นช่วงๆ เวลามีสติมีปัญญาก็จะปล่อยวางได้ พออาการดีขึ้น สติหายไปเลย ดีใจจนลืมไปแล้วว่า ดีขึ้นเพื่อที่จะเลวลงไปอีก ไม่มีอะไรดีไปตลอด ดีแล้วเดี๋ยวก็ต้องไม่ดี เพราะต้องไปสู่จุดจบอยู่ดี ไม่มองไปตรงจุดจบ มองอยู่ตรงจุดที่ขึ้นๆลงๆ เวลาขึ้นก็ดีใจ เวลาลงก็เสียใจ ไม่รู้ว่าในที่สุดก็จะต้องลงไปที่ศูนย์ มันกำลังดิ่งลงไป ขณะที่ดิ่งลงก็ยังมีขึ้นมาบ้างลงไปบ้าง แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องลงไปที่จุดนั้นทุกคน ไม่ว่าใครก็ตาม มีสุขภาพดีขนาดไหนขณะนี้ก็ตาม อาจจะไปถึงก่อนคนที่กำลังนอนใกล้ตายอยู่ก็ได้ ไม่มีอะไรแน่นอน ต้องให้พิจารณาความเสื่อมอยู่เรื่อยๆ เป็นปัญญา พวกเราส่วนใหญ่ชอบพิจารณาความเจริญกัน ทำอะไรก็อยากให้มันเจริญ ไม่เคยคิดเลยว่า อะไรที่เจริญก็ต้องเสื่อม ธรรมที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา สร้างกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาก็เสื่อมหมดไป สร้างกรุงโรมขึ้นมาก็เสื่อมหมดไป ตอนนี้ไปสร้างที่ประเทศดูไบ เดี๋ยวก็เสื่อมหมดไป ไม่มีอะไรที่จะอยู่ถาวร เพราะสิ่งต่างๆเมื่อรวมตัวแล้ว โดยธรรมชาติก็จะกลับไปสู่ที่เดิมเสมอ น้ำก็กลับไปหาน้ำ ไม่อยู่กับดิน สังเกตดูเวลาซักผ้าเสร็จแล้ว พอเอามาผึ่งเดี๋ยวก็แห้ง น้ำระเหยไปแล้ว น้ำไม่ยอมอยู่กับดิน ผ้าเป็นดิน อยู่กันเดี๋ยวเดียวก็หนีไปแล้ว จากไปแล้ว เป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง จะกลับไปที่เดิมของเขาเสมอ เวลามีพลังทางธรรมชาติ ทำให้มารวมกัน ก็มารวมกัน เช่นต้นไม้ เกิดขึ้นมาได้เพราะน้ำฝนลงมาจากท้องฟ้า พอมาสัมผัสกับดินกับเมล็ด  ก็เริ่มเจริญเติบโตขึ้นมา ในทะเลทราย ไม่มีน้ำก็ไม่มีต้นไม้ ถ้าทะเลทรายมีฝนตกอยู่เป็นประจำ ทะเลทรายก็กลายเป็นป่าขึ้นมาได้ เพราะเมล็ดพันธุ์ต่างๆจะถูกลมพัดไป เวลามีพายุมาเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆก็จะถูกพัดไปด้วย หรือลอยไปในน้ำก็มี ต้นมะพร้าวอยู่ๆก็ไปโผล่อยู่ที่เกาะนี้เกาะนั้น ทวีปนี้ทวีปนั้น พอมีปัจจัยที่ทำให้เจริญเติบโตได้ ก็จะเจริญเติบโตขึ้นมา พอเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็จะแก่ตายไป ธรรมชาติของธาตุ ๔ จะแยกกัน ไม่รวมกัน นอกจากมีพลังอย่างอื่นมาทำให้รวมกัน เช่นลมพัด ฝนตก 

 

จึงควรทำความเข้าใจไว้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีการเกิดขึ้นแล้วมีการดับไปเป็นธรรมดา อย่าไปหลงอยากให้อยู่ไปนานๆ เป็นไปไม่ได้ ไม่เป็นความจริง เห็นกันชัดๆอยู่ ทุกคนก็รู้ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายกันทุกคน แต่ไม่ยอมรับกัน เพราะไม่รู้ว่าการยอมรับความจริงจะทำให้สบายใจ การไม่ยอมรับความจริงจะทำให้ทุกข์ใจ เช่นวันก่อนมีโยมคนหนึ่งแม่อายุ ๙๐ กว่าแล้ว ตอนนี้กำลังเข้าโรงพยาบาล จะนิมนต์ให้เราไป เราบอกไม่ไปหรอก บอกว่าควรทำใจ เพราะคนเราเกิดมาไม่ช้าก็เร็วก็ต้องไป เธอบอกว่าตอนนี้ยังทำใจไม่ได้ ทำไมไม่ทำล่ะ ทำแล้วสบายใจ ถ้าไม่ทำจะทรมานใจ เธอไม่รู้ว่าทำใจได้แล้วจะสบายใจ พวกเราบางทีก็รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง พอเผลอปั๊บก็ไม่ยอมทำใจทันที ต้องมีสติเตือนตนอยู่เรื่อยๆ ต้องทำใจให้ยอมรับความจริง อะไรจะเกิดก็เกิด ทำได้เมื่อไร ก็จะสบายเมื่อนั้น ทำก่อนมันเกิดได้ยิ่งดี เหมือนที่ท่านสอนให้ตายก่อนตาย ก็แบบนี้ คิดเสียว่าเราตายไปแล้ว ของในโลกนี้จะเป็นอย่างไร ไม่มีผลกระทบกับเราแล้ว อยู่แบบคนตายอยู่ อยู่แบบไม่หวังอะไร ไม่ต้องการอะไร อะไรจะเป็นอย่างไรก็ได้ คนตายไม่ออกมาประท้วง ถ้าอยู่แบบคนตายได้แล้วใจจะสบาย เพราะดับความอยากได้ ความอยากเป็นสมุทัยในพระอริยสัจ ๔ ต้นเหตุของความทุกข์ก็คือความอยาก จึงต้องทำใจ เครื่องมือที่จะใช้ทำใจก็คือ ทานศีลภาวนา จะไปบังคับให้ทำใจไม่ได้ ต้องทำใจจากง่ายไปหายาก ทานคือการให้นี้ทำง่ายที่สุด มีอะไรเหลือกินเหลือใช้ก็เอาไปแจกจ่าย เพราะอย่างไรก็ต้องจากเราไปอยู่ดี เก็บไว้ก็ต้องคอยดูแลรักษา ต้องทุกข์กับมัน ถ้าให้ไปแล้วก็หมดภาระไป หมดปัญหาไป ใจก็เบาไประดับหนึ่ง สบายไประดับหนึ่ง ศีลคือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น จะหาอะไรมาเพิ่มอีกทำไม ไม่ต้องเอาแล้ว พอแล้ว มีเท่านี้ก็พออยู่ได้แล้ว ดูพระเป็นตัวอย่าง มีสมบัติเพียง ๘ ชิ้นก็อยู่ได้แล้ว พวกเรามีมากกว่าท่านตั้งหลายเท่า ทำไมจะอยู่ไม่ได้ ต้องคิดแบบนี้แล้วจะได้ไม่อยาก เมื่อไม่อยากจะได้ไม่ไปทำผิดศีล ไปเบียดเบียนผู้อื่น ถ้าไปเบียดเบียนผู้อื่นก็เป็นความทุกข์ทางด้านจิตใจ จิตใจต้องหวาดระแวง กลัวกับผลที่จะตามมา

 

ถาม  ท่านอาจารย์พูดถึงการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากผู้อื่น ถ้าในยุคที่ไม่มีพระพุทธเจ้า การเรียนรู้เพื่อหาสัจธรรมความเป็นจริง จะไม่ได้เลย ใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ที่เรียกว่าพุทธันดรใช่ไหม พระพุทธเจ้าก็อยู่ในสมัยพุทธันดร ตอนที่พระพุทธเจ้าแสวงหาการหลุดพ้นนี้ ไม่มีศาสนาพุทธปรากฏอยู่ ท่านจึงต้องหาของท่านเอง ต้องทดลองด้วยวิธีการต่างๆ ตอนต้นก็ไปศึกษาจากผู้รู้ต่างๆ ตอนที่เป็นฆราวาสพระราชบิดาก็หาครูมาสอน แต่ท่านก็ฉลาดกว่าครู มีความรู้มากกว่าครู พอออกบวชก็ไปเรียนกับพระอาจารย์ ๒ รูป ท่านก็สอนไปถึงขั้น รูปฌาน อรูปฌาน แต่ไม่มีใครรู้เรื่องวิปัสสนา ไม่มีใครรู้เรื่องไตรลักษณ์ ไม่รู้ว่าไตรลักษณ์คือกุญแจที่จะไขไปสู่การปล่อยวาง สู่การหลุดพ้นของจิตใจ เพราะจิตทุกดวงถูกอวิชชาครอบงำอยู่ ให้เห็นว่าสิ่งที่ครอบครองอยู่นี้ เป็นตัวตน เป็นของตน เช่นร่างกายนี้

 

ถาม  พระปัจเจกพุทธเจ้าเกิดขึ้นได้ไหม ในยุคนั้น

 

ตอบ  ได้ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงประกาศพระธรรมคำสอน ก็จะเป็นพระปัจเจกไป รู้แล้วนิ่งเสีย ไม่สอนใคร

 

ถาม  คราวนี้พูดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือคำสอนของครูบาอาจารย์ ในสมัยพุทธกาลฟังแล้วก็สามารถบรรลุธรรมได้เลย อย่างพวกเรานี้ฟังแล้วอย่างดีก็ได้แค่ความเย็นชุ่มฉ่ำ แต่ความรู้ไม่เกิด เพราะสภาวจิตแตกต่างกันใช่ไหมครับ

 

ตอบ  จิตแต่ละดวงได้รับการพัฒนามาต่างกัน ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น เป็นช่วงที่มีพวกจิตที่ได้พัฒนามาสูงอยู่มาก พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วแสดงธรรม พวกนี้ก็สามารถบรรลุได้อย่างรวดเร็ว พอพวกนี้หมดไป ก็มีพวกจิตที่ต่ำกว่ามาเรียน ก็รู้ช้าลงไป บรรลุน้อยลงไปเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบันนี้ที่มีน้อยมาก เพราะพวกที่รู้เร็ว พวกที่ฉลาด พวกที่ได้บำเพ็ญบารมีมามากแล้ว ได้เรียนจบ ได้บรรลุกันไปหมดแล้ว เหลือแต่พวกที่มีบารมีน้อย ถ้าเป็นกะทิ ก็เป็นน้ำที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ตัวกะทิเกือบหมดไปแล้ว เหลือน้อยเต็มที แต่ก็ยังมีบางองค์บางท่านที่มีบารมีมาก ที่ปฏิบัติไปได้อย่างรวดเร็ว

 

ถาม  ในสภาวะที่เราฟังธรรมอยู่นี้ คือสภาวะที่จิตเราสงบเป็นสมาธิลงไป มันน่าจะรับอะไรได้มากกว่าภาวะธรรมดาๆ ถูกไหมครับ

 

ตอบ  ขึ้นอยู่กับภาชนะที่รองรับ ใหญ่หรือเล็ก ถ้าเล็กก็รับได้น้อย ถ้าภาชนะอยู่ในระดับทาน ก็จะรับได้ในระดับทาน ถ้าอยู่ในระดับสมาธิ ก็จะรับได้ในระดับสมาธิ ถ้าอยู่ในระดับทาน มีอะไรก็เอาไปแจกจ่ายหมดเลย อยู่แบบพระไปเลย แสดงว่ามีภาชนะรองรับคำสอนในระดับทานได้อย่างเต็มที่ บางคนฟังแล้วในระดับทานยังทำไม่ได้เลย ทำได้เพียงเล็กๆน้อยๆ พอหอมปากหอมคอ ยังหวงเก็บไว้ซื้อของส่วนตัวมาใช้ มาเที่ยวมากินมาเล่น นี่แสดงว่าขนาดระดับทานยังทำไม่ได้เลย ถ้าทำได้จริงๆจะให้หมดเลย จะเก็บไว้เท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น ถ้าในระดับศีล จะรักษาศีลได้โดยไม่มีข้ออ้างเลย ไม่มีข้อแม้อะไรทั้งสิ้น จะรักษาได้มากน้อยกี่ข้อกี่วัน ก็อยู่ที่ภาชนะของศีลที่ได้สร้างขึ้นมา ในระดับสมาธิระดับปัญญาก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีภาชนะในระดับปัญญา พอแสดงธรรมปั๊บก็จะบรรลุได้ทันที อย่างพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น ท่านมีแล้วทั้งทานทั้งศีลทั้งสมาธิ ทานท่านก็สละเรือนออกบวชแล้ว ศีลก็รักษาอยู่ตลอดเวลา สมาธิก็ได้ในระดับฌาน ที่ไม่ได้ก็คือปัญญา มีอยู่บ้างแต่ไม่พอสอนใจให้หลุดพ้นได้ ขาดเพียงอันเดียวคืออนัตตา ท่านเห็นอนิจจัง รู้ว่าเกิดแล้วต้องแก่เจ็บตาย แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดแก่เจ็บ ตายนี้เป็นอะไรกันแน่ ยังหลงคิดว่าเป็นตัวท่านอยู่ พอพระพุทธเจ้าทรงบอกว่า สิ่งที่เกิดแก่เจ็บตายนี้ไม่ใช่ท่าน เป็นตุ๊กตา ได้มาจากพ่อจากแม่ แล้วหลงคิดว่าตุ๊กตาตัวนี้เป็นท่าน มันไม่ใช่ท่าน ไม่ใช่ตัวท่าน พอทรงตรัสอย่างนี้ท่านก็เข้าใจ ก็ปล่อยวางได้

 

ถาม  บางคนก็ทำภาชนะอยู่แค่ทานเท่านั้น ไม่พัฒนาขึ้นไป ก็เลยช้า

 

ตอบ  ใช่ ทานก็ยังทำไม่ถึงระดับพระเวสสันดร ที่เป็นขั้นอุกฤษฏ์ เป็นขั้นของพระโพธิสัตว์ ขั้นของสาวกภูมินี้ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองได้ก็พอแล้ว

 

ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ปฏิบัติกันน้อย ปริยัติมีมากแล้ว ฟังเทศน์ฟังธรรมของครูบาอาจารย์ทุกวัน แต่ยังไม่พอ เพราะภาชนะยังไม่ใหญ่พอที่จะบรรลุในขณะที่ฟังได้ ต้องปฏิบัติเพื่อสร้างภาชนะที่จะรองรับธรรมขั้นสูงขึ้นไป ต้องฟันฝ่านิวรณ์ทั้ง ๕ ไปให้ได้ โดยเฉพาะกามฉันทะ ความยึดติดในความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ยังยึดติดกันอยู่ ยังติดรูปเสียง ยังอยากดูนั่นดูนี่ อยากฟังนั่นฟังนี่ ลองอยู่บ้านเฉยๆดูสิ อยู่คนเดียว ปิดทีวี ปิดวิทยุ หาที่นั่งที่สบายนั่ง ไม่ขยับไปไหน ควบคุมใจไม่ให้ไปแสวงหาอะไรต่างๆทางตาหูจมูกลิ้นกาย ข้าวก็รับประทานแล้ว น้ำก็เอาวางไว้ข้างๆกาย เวลาหิวน้ำจะได้ดื่ม เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย แล้วก็นั่งอยู่ตรงนี้ ไม่ต้องไปไหน ควบคุมจิตใจด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญา ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ทำจิตสงบให้ได้ ถ้าทำได้แล้วจิตจะมีพลัง จะชนะความอยาก ชนะความโลภ ชนะกิเลสต่างๆได้ ไม่ต้องไปวัดก็ได้ ปฏิบัติที่บ้านก็ได้ ถ้ามีห้องอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่มีใครมารบกวน ลองขังตัวเองไว้ในห้องสัก ๘ ชั่วโมงสัก ๑๐ ชั่วโมงดู ไม่ต้องดูไม่ต้องฟังอะไร บางสำนักมีห้องให้อยู่ไม่ต้องออกมา ๗ วัน ๗ คืน มีคนส่งน้ำส่งข้าวให้ เรียกว่าสำรวมอินทรีย์ กิเลสชอบออกทางตาหูจมูกทางลิ้นทางกาย เราต้องปิดไม่ให้มันออก ดึงมันไว้ด้วยสติ อย่าอยู่เฉยๆ ต้องควบคุมจิตไปด้วย ต้องให้อยู่กับพุทโธ อยู่กับการสวดมนต์ มีสติดูความคิด พอคิดปั๊บก็ดับมันปั๊บ บอกมันว่าอย่าคิด พอมันจะคิดก็บอกว่าอย่าคิด ดูซิว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ ถ้าเราสั่งมันแล้ว มันไม่คิดได้ เราก็จะสบาย ถ้าเราสั่งมันไม่ให้คิด มันยังคิดอยู่ เราก็ต้องสู้กับมัน ว่าอย่าคิดๆ ถ้าจะคิดก็คิดพุทโธๆไป หรือคิดอรหังสัมมาสัมพุทโธ สวากขาโตภควตาธัมโม สุปฏิปันโนไป คิดไปอย่างนี้ จะเพลินแล้วก็จะสงบได้ ทำได้ ไม่ยากหรอก 

 

ลองจำกัดบริเวณดู กายก็กักไว้ในบริเวณหนึ่ง ใจก็กักด้วยสมาธิด้วยสติด้วยปัญญา ถ้าอยากจะคิดอยากจะเที่ยว ก็ให้เที่ยวในอาการ ๓๒  อยากไปไหน ไปที่ผมหรือ ไปที่ขน ไปที่เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก  หรือไปที่เกิดแก่เจ็บตายก็ได้ คนนั้นก็แก่ คนนี้ก็เจ็บ คนนั้นก็ตาย พิจารณาแบบนี้ก็ได้ เรียกว่าปัญญา ถ้าจะเจริญสติก็ให้รู้ดูอยู่กับความคิด ไม่ให้มันคิด ให้มีสติอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้ ส่วนร่างกายนี้ห้ามขยับ ให้อยู่ตรงเก้าอี้นี้ ถ้าเมื่อยจะยืนก็ได้ แต่ไม่ให้เดินไปไหนมาไหน ไม่ให้เอาอะไรมาดู ไม่ให้เอาอะไรมาฟัง ถ้าจะไปก็ไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น เข้าเสร็จแล้วก็รีบกลับมา ไม่เถลไถล กักบริเวณทั้งกายและใจ กายก็ต้องอยูในบริเวณที่กำหนดไว้ ใจก็ไม่ให้ไปเพ่นพ่าน ไม่ให้คิดถึงคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ให้อยู่กับบทสวดมนต์ อยู่กับพุทโธ อยู่กับธรรมะ ฟังธรรมของเราเองบ้าง ฟังของครูบาอาจารย์มามากพอแล้ว อย่างหลวงปู่มั่นท่านตอบปัญหา มีคนถามว่า ท่านอยู่ในป่าคนเดียว ท่านจะไปฟังธรรมที่ไหน ท่านตอบว่าท่านฟังธรรมอยู่ตลอดเวลา ท่านพิจารณาธรรมตลอดเวลา พอเริ่มพิจารณาแล้ว ธรรมจะไหลไปเอง ที่เรียกว่าธรรมจักร ตอนต้นก็ยากหน่อย ต่อไปมันก็จะหมุนไปเองโดยอัตโนมัติ ที่เรียกว่ามหาสติมหาปัญญา

 

ตอนต้นต้องบังคับก่อน ให้พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย พิจารณาอาการ ๓๒ พอชินแล้วเพลินแล้ว ก็จะพิจารณาอยู่เรื่อยๆ มองเห็นอะไรก็จะคิดแต่เรื่องราวเหล่านี้ ธรรมะก็จะต่อเนื่องกัน ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จะเข้าอกเข้าใจ จะเห็นไตรลักษณ์ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะเป็นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จะเห็นเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ พอเห็นไตรลักษณ์แล้วจิตจะถอนกลับเข้ามา ถ้าไม่เห็นกิเลสจะฉุดใจให้ไปหาทันที พอมีสติมีปัญญาปั๊บก็จะถอนกลับมา ถ้าไม่ฝึกพิจารณาเองมันจะไม่ขยับไปนะ อย่ามัวแต่รอธรรมะของพระพุทธเจ้ามาคอยลากเราไป เวลาฟังท่านๆก็ลากไป พอปิดเครื่องเทปปั๊บ เราก็ถูกกิเลสลากกลับไปอีกทางทันที ฟังแล้วต้องเอามาพิจารณาต่อ อย่าปล่อยให้ท่านลากเราอยู่ตลอดเวลา เป็นเหมือนเรือพ่วง เราต้องติดเครื่องในเรือเราบ้าง ต่อไปจะได้ไม่ต้องอาศัยเรืออื่นมาฉุดลากเรา พอมีเครื่องในเรือเราแล้ว เราก็สามารถขับพามันไปไหนมาไหนได้เอง การพิจารณาธรรมที่จะให้ได้ผล ก็ต้องมีสมาธิแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาไม่ได้เลยถ้ายังไม่มีสมาธิ แต่จะไม่ได้ผลเท่ากับการมีสมาธิ เพราะถ้ามีสมาธิแล้วเวลาพิจารณาอะไรจะตัดได้อย่างเด็ดขาด ถ้ายังไม่มีสมาธิก็อาศัยการพิจารณานี้เป็นการฝึกไปก่อน ฝึกให้เป็นนิสัย ถึงแม้จะตัดยังไม่ได้ อย่างน้อยก็เบรกมันไว้ได้บ้าง พอคิดถึงไตรลักษณ์ ก็จะทำให้ความอยากอ่อนตัวลง ถึงแม้จะยังไม่ขาด เพราะไม่มีกำลังไปตัดให้มันขาดได้ จนกว่าจะมีความสงบ พอมีความสงบแล้ว จะรู้ว่ามีสิ่งที่ดีกว่าในใจแล้ว ก็จะตัดสิ่งที่ไปติดอยู่ได้ ตอนนี้เรายังยึดติดกับความสุขภายนอกอยู่ เพราะยังไม่เห็นความสุขภายในใจที่เกิดจากความสงบ จึงตัดไม่ขาด ยังเสียดายอยู่ ถ้ามีความสุขภายในแล้ว จะตัดได้อย่างเด็ดขาดเลย เพราะรู้ว่าความสุขภายในนี้มันดีกว่า

 

นี่คือความสำคัญของสมาธิ จะช่วยปัญญาให้ตัดขาดได้อย่างเด็ดขาดเลย แต่ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้พิจารณา เพราะบางจริตจะถนัดกับการพิจารณาด้วยปัญญาเพื่อทำจิตให้สงบ ที่เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ พอคิดถึงไตรลักษณ์จิตจะสงบลง ระงับความฟุ้งซ่านได้ พอมีความสงบแล้วก็ไปพิจารณาถึงสิ่งที่ยึดติดอยู่ ถ้ายังยึดติดกับตำแหน่งอยู่ก็ตัดมัน พิจารณาว่ามันไม่เที่ยง ต้องคอยดูแลรักษา ทุกข์วุ่นวาย เห็นโทษก็จะตัดได้ เพราะตอนนี้เรามีสิ่งที่ดีกว่าตำแหน่งนั้นแล้ว คือความสงบใจ อยู่บ้านสบาย ไม่ต้องไปรับใช้เจ้านาย ไม่ต้องไปเคี่ยวเข็ญลูกน้อง ไม่มีใครมาสั่งอะไรเราได้ อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่เดือดร้อน เพราะได้พบที่พึ่งของเราแล้ว ที่พึ่งทางใจก็คือความสงบ ต้องพยายามปฏิบัติ พยายามตัดเรื่องราวของคนอื่นออกไปเสีย อย่าไปยุ่งกับเขาเลย ใครจะเป็นอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เขาต้องไปตามทางของเขา ถ้าพอที่จะดูแลกันได้ ช่วยเหลือกันได้ ก็ช่วยเหลือกันไป ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป ไม่ต้องเสียอกเสียใจ ไม่ต้องทุกข์ไม่ต้องกังวล ถ้ายังทุกข์ยังกังวลอยู่ แสดงว่าไม่ดูแลรักษาใจเรา ยังไม่ได้กุสลา ยังไม่ฉลาด ยังเข้าไม่ถึงใจ ยังไม่รู้ว่าการดูแลใจเป็นอย่างไร พอเข้าถึงใจแล้ว พอจิตสงบแล้วจะเห็นใจทันที จะรู้เวลาจิตกระเพื่อม รู้ว่ากำลังแส่ไปหาเรื่องแล้ว พอคิดถึงคนนั้นคนนี้ จิตจะกระเพื่อมขึ้นมา เวลาอยู่ในความสงบไม่ได้คิดถึงเขา ไม่เดือดร้อนเลย พอออกจากความสงบปั๊บ เริ่มคิดถึงเขาปั๊บ ใจก็กระเพื่อมขึ้นมาทันที จะเห็นชัด

 

ถ้ามีสมาธิแล้วจะเห็นชัด จะเห็นความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นในจิตได้อย่างชัดเจน จะเห็นโทษของการไปยุ่งกับคนอื่นมากจนเกินไป ยุ่งได้ในระดับหนึ่ง ยุ่งในระดับที่ไม่ทำให้ใจกระเพื่อม ยุ่งได้ ถ้าใจเริ่มกระเพื่อมแสดงว่ายุ่งมากเกินไปแล้ว เกินขีดของความพอดีแล้ว ความสงบเป็นเหมือนมาตรวัดใจเรา ถ้าเป็นรถก็มีมาตรวัดความเร็ว ถ้าวิ่งเร็วเกินขีดนี้ไป จะไม่ปลอดภัยแล้ว ความเร็ว ๑๒๐ กำลังดี พอถึง ๑๔๐ หรือ ๑๖๐ จะรู้ว่ามันอันตรายแล้ว ใจเราก็มีมาตรวัดเหมือนกัน ถ้ามีความสงบจะรู้ขีดของความพอดีต่อการปฏิบัติกับผู้อื่น ถ้าเริ่มกระเพื่อม เริ่มกระสับกระส่าย เริ่มกังวล แสดงว่ามากเกินไปแล้ว ถ้าไม่มีความสงบจะไม่รู้สึกตัว จะไม่รู้ว่ากำลังกระสับกระส่าย กำลังกังวล เพราะจิตกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา จึงไม่รู้ว่ามันกระเพื่อมเพิ่มขึ้นมาอีก เหมือนกับน้ำที่มีคลื่นอยู่ตลอดเวลา โยนอะไรลงไป ก็กระเพื่อมขึ้นมาอีกหน่อย ไม่ต่างกันมากนัก  ไม่เหมือนกับน้ำที่นิ่ง พอโยนก้อนกรวดก้อนเล็กๆลงไปก้อนเดียว มันก็กระเพื่อมแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจน นี่คือความสำคัญของสมาธิ ทำให้เรารู้ว่า อะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส อะไรเป็นตัณหา อะไรไม่เป็นตัณหา เพราะชีวิตของเรายังต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ที่ไม่เป็นกิเลส เช่นยังต้องดื่มน้ำ ยังต้องรับประทานอาหาร แต่ความต้องการเหล่านี้ จะไม่ทำให้จิตกระเพื่อม ครูบาอาจารย์ที่ท่านสูบบุหรี่ จิตของท่านไม่กระเพื่อมท่านถึงสูบได้ ถ้าจิตของท่านกระเพื่อม ท่านจะไม่สูบทันทีเลย ท่านดูแลรักษาจิตของท่านมากกว่าดูแลอย่างอื่น มีคนเอามาถวายก็สูบไป ไม่ได้รบกวนจิตใจของท่านแต่อย่างใด ไม่กระสับกระส่ายเวลาไม่ได้สูบ เวลาไม่มีก็ไม่ได้สั่งให้ใครไปซื้อมา หรือไปขอคนนั้นขอคนนี้ คนไม่รู้ก็คิดว่า ทำไมท่านบรรลุแล้วยังสูบบุหรี่อยู่ คิดตามฐานะของเขา เขาติดแต่ท่านไม่ติด มันต่างกันตรงนี้

 

ถาม  กับลูกเรายังเป็นห่วงยังกังวลอยู่ เขายังเรียนหนังสืออยู่

 

ตอบ  อย่าไปห่วง ดูแลเขาไปแต่อย่าเป็นห่วง ความห่วงเป็นความทุกข์ แต่การดูแลเป็นหน้าที่

 

ถาม  เป็นห่วง ไปเรียนหนังสือก็ต้องไปรับ กลับเองไม่ได้ อันนี้ตัดไม่ได้

 

ตอบ  ถ้าเป็นหน้าที่ก็ไม่ต้องตัด แต่ความห่วงนี้ต้องตัด  ไม่ต้องกังวล ทำไปตามหน้าที่ ถึงเวลาก็ไปรับไปส่ง เวลาไม่เห็นหน้าตาก็ไม่ต้องกังวลว่า เกิดอะไรขึ้นกับเขาหรือเปล่า ทำตามหน้าที่ไป ให้เขาหัดช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด พอทำอะไรเองได้ ก็สอนให้เขาทำเอง อย่าให้เขาพึ่งเรามากจนเกินไป จะกลายเป็นคนพิการไป สอนให้เขาพึ่งตนเองดีกว่า พ่อแม่บางคนรักลูกมากเกินไป อยากให้ลูกสบาย แต่ไม่รู้ว่าเป็นการทำให้ลูกพิการ ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เวลาขาดพ่อขาดแม่แล้วทำอะไรไม่เป็น ให้เขาลำบากบ้าง ให้เขาทุกข์บ้าง ให้เขาอดทนบ้าง เพื่อจะได้แข็งแกร่ง จะได้พึ่งตนเองได้ ถ้าคิดอยู่เสมอว่าสักวันเขาก็ต้องตาย หรือคิดว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากเขาไป เราก็จะไม่กังวล ทำตามหน้าที่ แต่ไม่หวาดวิตกกังวล ตอนนี้ลูกอยู่ที่ไหน มีอะไรเกิดขึ้นกับเขาหรือเปล่า ถ้ามีอะไรต้องสอนเขา ก็สอนเขาไป ให้เขามีภูมิคุ้มกันไว้ ยาเสพติดก็สอนเขา เพื่อนไม่ดีก็สอนเขา การประพฤติผิดศีลผิดธรรมก็สอนเขาไป เมื่อเราทำหน้าที่เต็มที่แล้ว เขาไม่ทำตามก็ช่วยไม่ได้ ไปห่วงใยก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเขาจะทำ ถ้าเขาไม่ฟังเรา ถ้าเขาฟังแล้วเขารับไม่ได้ เพราะเขาไม่มีภาชนะที่จะรับคำสอนของเราได้ เข้าหูซ้ายออกหูขวาไป เราห่วงเราก็ทุกข์ไปเปล่าๆ เขาไม่ได้ทุกข์กับเรา เขากลับสบาย ไปกินเหล้าไปเที่ยว หนีโรงเรียน มีความสุขจะตายไป เรากลับเป็นทุกข์กับเขา เพราะรู้ว่าต่อไปเขาจะต้องลำบาก หรือจะต้องมาพึ่งเรา เลี้ยงเท่าไรๆก็ไม่โต ถ้าสอนให้เขาช่วยตัวเองได้แล้ว ต่อไปเราจะสบาย เขาจะไม่มารบกวนเรา 

 

เรามีหน้าที่ก็ทำหน้าที่นั้นไป แต่ไม่ต้องแบก ไม่ต้องไปทุกข์แทนเขา เขาจะตกทุกข์ได้ยากก็เป็นกรรมของเขา เราไม่ได้สั่งให้เขาไป เขาเลือกทางของเขาเอง เรามีหน้าที่บอกแล้ว ว่าทางนั้นอย่าไปนะ มีแต่หลุมแต่บ่อ มีแต่โจรผู้ร้าย ไปแล้วถูกปล้น ช่วยไม่ได้นะ ถ้าเขาไปทางนั้น ถูกปล้นก็ช่วยไม่ได้ เป็นเรื่องของเขา ต้องดูใจเรา อย่าไปทุกข์กับใคร กินไม่ได้นอนไม่หลับ กับเรื่องโน้นเรื่องนี้ แม้กระทั่งเรื่องของเราเองก็อย่าทุกข์ อะไรที่ทำได้ก็ทำไป แก้ได้ก็แก้ไป ป้องกันได้ก็ป้องกันไป ถ้าทำไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด จะเสียอะไรก็เสียไป แต่อย่าไปเสียใจ ใจไม่ต้องเสีย รักษาใจไว้ ไปติดคุกติดตะรางก็ยังมีความสุขได้ ถ้ารักษาใจได้ อยู่ที่ไหนก็มีความสุขได้ เพราะใจไม่ขึ้นกับกาลสถานที่ เป็นอกาลิโก ใจขึ้นอยู่กับธรรมกับอธรรม ถ้ามีธรรมก็จะสงบเย็นสบาย ถ้ามีอธรรมมีกิเลสก็จะร้อนวุ่นวาย ที่พระพุทธเจ้าทรงมาสั่งสอน ก็เพื่อให้เราสร้างธรรมะขึ้นมา สร้างกุสลาขึ้นมา สร้างปัญญาขึ้นมา แต่มันกลับกลายเป็นธรรมเนียมสวดศพไปเสียแล้ว จะให้ไปกุสลาตอนตาย ตอนนั้นคนตายไม่ได้ยินแล้ว ไม่รู้เรื่องแล้ว ตอนนี้เรากำลังกุสลากัน กำลังมาทำใจให้ฉลาด ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม แต่นี่เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของการสร้างความฉลาด เพราะในวันหนึ่งเรามีถึง ๒๔ ชั่วโมง แล้วใจเราก็ทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง    ถ้าเราทำกุสลาตอนฟังธรรมเท่านั้น ส่วนเวลาอื่นปล่อยให้ไปทางกิเลส มันก็ยังโง่เหมือนเดิม พอฟังแล้วเราต้องเอามาเป็นเชื้อ มาขยายความ เอามาคิดต่อ เอามาพิจารณาต่ออยู่เรื่อยๆ อย่าปล่อยให้คิดไปตามที่เคยคิด ให้มีทุกขังอนิจจังอนัตตาสอดแทรกอยู่กับทุกความคิด ใหม่ๆก็อาจจะยากหน่อย เพราะไม่ค่อยถนัด แต่พอหัดคิดไปเรื่อยๆ ต่อไปจะเป็นเหมือนอาวุธคู่มือเลย เวลาอยากจะได้อะไรมันจะมาคอยเตือนเลย อนิจจังทุกขังอนัตตา จำเป็นหรือไม่จำเป็น จะคิดทันที ถ้าไม่จำเป็นไม่เอาดีกว่า อยู่อย่างนี้ก็สบายอยู่แล้ว หาเหามาใส่หัวทำไม ได้ไม่คุ้มเสีย ได้อะไรมาก็สนุกเพลิดเพลินไปกับมัน แล้วก็กลายเป็นภาระ ต้องมาคอยดูแลรักษา ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมแบบนี้ก่อนแต่งงาน ก็อาจจะไม่ได้แต่งงาน