กัณฑ์ที่ ๓๙๑       ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑

 

เป้าหมายของการไปวัด

 

 

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า มีการเจริญย่อมมีการเสื่อมไปเป็นธรรมดา จึงไม่ควรยึดติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ เช่นวัดวาอารามเป็นต้น มีการเจริญแล้วก็มีการเสื่อมหมดไป วัดที่สร้างถวายพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล ก็ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่แล้ว ปูชนียสถาน ๔ ก็เหลือแต่ซากปรักหักพัง จึงไม่ควรให้ความสำคัญทางด้านวัตถุ เพราะเป็นเพียงเครื่องสนับสนุนทางด้านจิตใจ มีร่างกายก็ต้องมีปัจจัย ๔ ไว้เป็นที่พึ่งอาศัย ต้องมีที่อยู่อาศัย พระก็อยู่วัด ญาติโยมก็อยู่บ้าน มีการเจริญและเสื่อมหมดไป วัดของครูบาอาจารย์ในแต่ละยุคก็เป็นอย่างนี้ เวลาครูบาอาจารย์มีชีวิตอยู่ ก็มีความเจริญรุ่งเรือง พอท่านมรณภาพไปแล้ว วัดก็กลายเป็นวัดร้างไป เช่นวัดของหลวงปู่แหวน หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่เทสก์ ตอนนี้มีใครไปบ้าง มีไปบ้างประปราย ไม่เหมือนสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ เพราะไม่ได้ไปดูวัด แต่ไปดูธรรมะ ไปฟังพระธรรมคำสอนของท่าน ที่ทำให้จิตใจร่มเย็นเป็นสุข มีความทุกข์น้อยลง จนไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่เลย นี่ต่างหากที่เป็นเป้าหมายของการไปวัด ไม่ได้ไปวัดเพื่อไปดูเจดีย์ที่สวยงาม โบสถ์ที่สวยงาม ที่เป็นเพียงองค์ประกอบ ไม่มีก็ไม่เสียหายตรงไหน ที่วัดหลวงตาจึงไม่เน้นเรื่องถาวรวัตถุ มีไว้ใช้งาน มีกุฏิพอประมาณ ไม่มากจนเกินไป ถ้ามีมากก็อยู่ใกล้ชิดกันมาก ความวิเวกก็จะหมดไป มีแต่ความอึกทึกครึกโครม แล้วก็ไม่สร้างอย่างวิจิตรพิสดาร สร้างเพื่อให้ใช้งานได้ก็พอ ศาลาที่สร้างตั้งแต่ตอนสร้างวัดมาก็ยังไม่ได้รื้อไป เพียงแต่ยกพื้นให้สูงขึ้น เพราะมีคนมามาก ชั้นบนพื้นที่ไม่พอ ก็เลยยกพื้นขึ้นเพื่อใช้ชั้นล่างที่กว้างใหญ่กว่าแทน ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไรกับวัตถุ ก็อย่าไปหลง อย่าไปยึดไปติด อย่าไปอยากให้เลิศไปตลอด เพราะเป็นไปไม่ได้ มีการเจริญย่อมมีการเสื่อมไปเป็นธรรมดา อย่าไปเสียเวลากับการดูแลรักษาถาวรวัตถุ สร้างไว้ก็ดี ไม่เสียหาย อยากจะสร้างเจดีย์สร้างโบสถ์ก็สร้างไป สร้างเสร็จแล้วก็ทำนุดูแลไปตามฐานะ จะเสื่อมก็ให้เสื่อมไป อนุชนรุ่นหลังที่มีศรัทธาก็จะสร้างขึ้นมาใหม่ เหมือนที่พวกเรามาสร้าง มาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนากัน ก็ทำกันไปตามศรัทธา แต่งานเหล่านี้ไม่ได้เป็นงานหลักของพุทธศาสนิกชน

 

งานหลักของพุทธศาสนิกชนก็คือการทำนุบำรุงจิตใจ สร้างพระขึ้นมาในจิตใจ พระแปลว่าผู้ประเสริฐ สร้างพระก็หมายถึงสร้างผู้ประเสริฐขึ้นมาในใจ ผู้ที่จะประเสริฐได้ จะต้องเป็นผู้ที่สงบระงับ จากความโลภความโกรธความหลง ถ้ามีความโลภความโกรธความหลงแล้ว จะไม่สามารถตั้งอยู่ในความประเสริฐได้ เพราะความโลภจะคอยผลักดันให้ไปแสวงหาสิ่งต่างๆ เมื่อมีอุปสรรคหรือมีปัญหาในการแสวงหาด้วยวิธีสุจริต ก็จะหาวิธีที่ไม่สุจริต เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เมื่อทำอย่างนี้จะประเสริฐได้อย่างไร ไปเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อให้ได้ลาภยศสรรเสริญสุข เช่นอยากจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทางการปกครอง เป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดี เป็นกษัตริย์ เป็นมหาจักรพรรดิ์ ก็ต้องต่อสู้ ต้องทำลายผู้อื่น เพื่อจะได้มาในสิ่งที่ต้องการ ในอดีตที่มีสงครามกันก็เพราะความอยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากมีอำนาจครอบงำผู้อื่น จนเกิดเป็นจักรวรรดินิยม พอมีอาวุธก็ออกไปต้อนไปกว้านเอาพื้นที่ของผู้อื่น มาอยู่ภายใต้การปกครองของตน ไม่คิดถึงความทุกข์ทรมานของผู้อื่น ถ้าได้ศึกษาธรรมะก็จะรู้ว่า เป็นวิถีทางของความโลภความโกรธความหลง ส่วนวิถีทางของความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ก็มีพระพุทธเจ้าของพวกเราเป็นตัวอย่าง ทรงสละราชสมบัติ ทรงออกบวชตั้งอยู่ในศีล กำจัดความโลภความโกรธความหลง ที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไป เมื่อได้บรรลุผลแล้ว เป็นผู้ประเสริฐแล้ว ก็ยังอุตส่าห์คิดถึงผู้อื่น สงสารผู้อื่น อยากให้ผู้อื่นได้พบกับความมหัศจรรย์ ของความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง จึงทรงนำเอาสิ่งที่ได้ปฏิบัติมาสั่งสอนให้กับผู้อื่น ผู้ที่มีความสามารถทางด้านสติปัญญา เข้าใจถึงความประเสริฐนี้ ก็น้อมนำไปปฏิบัติกัน จนปรากฏเป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมาเป็นจำนวนมาก มาจนถึงปัจจุบันนี้ และจะมีต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดยังมีการปฏิบัติ มีการสั่งสอน มีการศึกษาอยู่ นี่แลเป็นวิถีทางที่ถูกต้องที่สุด ถูกต้องตามหลักธรรมชาติของใจ

 

เพราะใจไม่ต้องการอะไร นอกจากความเป็นอิสระจากความโลภความโกรธความหลง ใจถูกความโลภความโกรธความหลงกดขี่ สร้างความทุกข์ให้ไม่รู้จักจบจักสิ้น มาเป็นเวลายาวนานแล้ว และจะเป็นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้กำจัดความโลภความโกรธความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจ จะทำได้ก็ต้องอาศัยคนอย่างพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน เพราะโดยลำพังของสัตว์โลกแล้ว จะไม่สามารถสั่งสอนตนเอง ให้กำจัดความโลภความโกรธความหลงได้ ต้องมีคนอย่างพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเหมือน ๑ ในแสนล้าน หรือ ๑ ในล้านล้านของสัตว์โลก ที่มีบารมีพอ มีความอดทนอดกลั้น พอ ที่ได้สะสมมาในแต่ละภพแต่ละชาติ จนมีพอที่จะกำจัดกิเลสตัณหา ให้หมดไปจากจิตจากใจได้ การปรากฏของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง จึงไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าปรากฏแต่ละครั้งก็สั้นมากและห่างกันมาก ถ้าเอาเวลาของเรามาวัดแทบจะวัดไม่ได้เลย เพราะเวลาของเรามันสั้นมาก เหมือนกับช่วงเวลาของไม้ขีดไฟ เพียงชั่วขณะหนึ่งก็ดับไปแล้ว ส่วนช่วงเวลาที่ว่างจากการปรากฏของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้น ก็เหมือนช่วงเวลาตอนกลางคืน ๑๒ ชั่วโมง มืดอยู่ ๑๒ ชั่วโมง แต่เวลาที่มีพระพุทธเจ้ามีพระพุทธศาสนานี้ เหมือนชั่ววูบหนึ่งของแสงไม้ขีดที่จุดขึ้นมา ระยะเวลา ๕๐๐๐ ปีที่ศาสนาพุทธจะมีอยู่ในโลกนี้ ก็เป็นเหมือนกับแสงสว่างของไม้ขีด สว่างชั่ววูบเดียวก็หมดแล้ว หลังจากนั้นก็ต้องรอให้มีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ มาจุดไม้ขีดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าได้เกิดในช่วงที่มีพระพุทธศาสนา ก็เป็นบุญวาสนา ถ้าเป็นผู้ปรารถนาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็จะได้รับประโยชน์ ถ้าไม่รู้เรื่องของความประเสริฐของจิตใจ ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ว่าเป็นอย่างไร ก็จะไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด ถึงแม้จะอยู่ร่วมกันใกล้ชิดกัน เป็นสามีภรรยากัน ภรรยาได้รับประโยชน์ รู้เห็นคุณค่าของแสงสว่างแห่งธรรม แต่สามีเหมือนกับคนหูหนวกตาบอด ก็จะไม่ได้รับประโยชน์เลย ทั้งๆที่ภรรยาก็พยายามโน้มน้าว พยายามจะฉุดดึงเข้ามา แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล

 

สามีและภรรยาที่ปฏิบัติธรรมด้วยกัน จะมีไม่มากนัก มีแต่จะแยกกันปฏิบัติ เพราะจิตของแต่ละคนได้รับการพัฒนา ได้รับการอบรมสั่งสอนมา ให้เข้าใจถึงหน้าที่ หรือเป้าหมายของชีวิตของตนต่างกัน ผู้ที่เห็นว่า การพัฒนาจิตใจเป็นหน้าที่ที่ถูกต้องมีน้อยกว่า ผู้ที่เข้าใจว่าการพัฒนาทางด้านลาภยศสรรเสริญสุขเป็นทางที่ถูกต้อง ถึงแม้จะเกิดในยุคที่มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกนี้ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ ถ้าเปรียบเทียบจำนวนก็เหมือนกับ เขาวัวกับขนวัว พวกที่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของการพัฒนาจิตใจ เป็นพวกเขาวัว ตัวหนึ่งมีเพียง ๒ เขา ซ้ายขวา พวกที่ไม่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของการพัฒนาจิตใจ เป็นเหมือนพวกขนวัว มีเต็มไปทั้งตัว นับไม่ถ้วน เรื่องของคนอื่นเราจึงไม่ควรไปกังวลมากจนเกินไป ถ้าเรารู้อะไรดี สามารถโน้มน้าวให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ก็ดีไป ถ้าไม่สนใจก็ไม่ได้เป็นปัญหาของเราแต่อย่างใด เราได้ทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรที่ดีแล้ว เห็นว่าดีจริงๆ ดีอย่างแท้จริง ชี้บอกแล้ว ถ้าไม่สนใจก็ถือว่าเป็นกรรมของเขา ยังไม่มีปัญญาพอที่จะเข้าถึงธรรมนี้ได้ ดังในบทธรรมคุณที่แสดงไว้ว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ธรรมนี้รู้ได้แต่วิญญูชนเท่านั้น ผู้ที่มีปัญญาอินทรีย์ อินทรีย์นี้มีอยู่ในทุกคน มีอยู่ ๕ ส่วนคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่ส่วนใหญ่เอามาใช้ในทางโลกกัน ในการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข มีน้อยคนที่จะใช้อินทรีย์ในทางศาสนา ทางพัฒนาจิตใจ นอกจากผู้ที่ได้รับการอบรมมาในอดีต เคยพบพระพุทธเจ้าในอดีตกาลมาก่อน เคยสัมผัสกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้รับการฝึกฝนอบรม จนติดเป็นนิสัยมา ก็จะเห็นคุณค่าของการบำเพ็ญ ของการพัฒนาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้ปราศจากกิเลสตัณหา

 

เรื่องของคนอื่นก็ดูแลกันไปเท่าที่จะดูแลได้ สอนเท่าที่จะสอนได้ แต่คนที่ควรจะสอนมากที่สุดก็คือตัวเราเอง พยายามดูแลตัวเราเอง ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นดูแลแทนเราไม่ได้ และเราก็ดูแลแทนคนอื่นไม่ได้ ในเรื่องของการพัฒนาจิตใจ การชำระกำจัดความโลภความโกรธความหลง ทำได้ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ทำกัน พยายามอบรมสั่งสอนผู้ที่มีความสนใจ มีศรัทธาวิริยะความอุตสาหะพากเพียรที่จะปฏิบัติ ที่จะละความโลภความโกรธความหลง ละความผูกพันกับสิ่งต่างๆภายนอกใจ ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่อัตตาหิ อัตโนนาโถ อยู่ที่การน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ น้อมเอาพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกมาเป็นตัวอย่าง ท่านดำเนินชีวิตอย่างไร เราก็ต้องพยายามดำเนินให้เหมือนกับท่านให้ได้ เหมือนกับเวลาเราชอบดาราคนไหน เขามีทรงผมแบบไหน ใส่เสื้อผ้าแบบไหน เราก็ทำแบบนั้น อย่างนั้นมันง่าย เพราะเป็นรูปธรรม เปลี่ยนทรงผมย้อมผม เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เหมือนกับดาราที่เราชอบ แต่จะเอาแบบครูบาอาจารย์นี้มันยาก ต้องออกจากบ้านไปอยู่วัด รับประทานข้าวมื้อเดียว เดินจงกรมนั่งสมาธิทั้งวัน เจริญสติทั้งวัน มันยากกว่ามาก แต่ก็ไม่สุดวิสัย มีทำกันมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่มากเหมือนกับการทำตามดารานายแบบนางแบบ เสื้อผ้าที่ดารานายแบบใส่จะผลิตออกมาขายเป็นจำนวนแสนชุดล้านชุด แต่เสื้อผ้าที่ผลิตให้ครูบาอาจารย์ใส่นี้ขายไม่ค่อยออกกัน ถ้าซื้อก็ไม่ซื้อมาใส่เอง แต่ซื้อไปถวายพระ พระก็มีเต็มตู้ล้นตู้ การทำบุญให้ถูกทางไม่ควรทำอย่างนี้ ควรเอาเงินซื้อของถวายพระเก็บไว้ แล้วลาออกจากงานมาปฏิบัติธรรม จะได้ประโยชน์มากกว่า ต้องดูท่านเป็นตัวอย่าง ท่านสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง สละสามีภรรยาสละลูก สละบ้านสละงานสละตำแหน่ง แล้วก็ออกปฏิบัติ แล้วผลที่ท่านได้รับมันคุ้มค่าไหม มันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มเสียอีก

 

สละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจ เพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์กับจิตใจนี้ กลับมองไม่เห็นคุณค่ากัน กลับเห็นการอยู่กับสิ่งไม่มีคุณค่า ว่ามีประโยชน์กว่าการตัดการละมันไป ถ้าคิดอย่างนี้แสดงว่ายังไม่มีปัญญา เป็นมิจฉาทิฐิ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นลาภยศสรรเสริญกามสุขเป็นดอกบัว เห็นการไปปฏิบัติอยู่ตามสถานที่สงบสงัดวิเวก ห่างไกลจากความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นกงจักรที่บาดใจ เวลาจะไปแต่ละครั้ง รู้สึกว่าทุกข์ยากลำบากเหลือเกิน แต่ทุกครั้งที่ไปเที่ยวไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ รู้สึกว่าง่ายเหลือเกิน ดีเหลือเกิน แต่ไม่ได้ดูผลที่ตามมาว่าเป็นอย่างไร ผลก็คือยังวุ่นวายใจ ยังเดือดร้อนใจ ยังหวาดวิตกกับการสูญเสีย กับการที่จะต้องอยู่แบบไม่มีอะไรอยู่ แต่ทางที่ครูบาอาจารย์ท่านไปนั้น อาจจะเป็นความทุกข์ในเบื้องต้น ที่จะต้องปรับตัวให้อยู่กับความอดอยากขาดแคลน อยู่แบบมักน้อยสันโดษ เป็นความทุกข์ที่ต้องปรับตัวปรับใจเท่านั้นเอง เคยทำอย่างหนึ่งพอต้องทำอีกอย่างหนึ่ง ก็จะรู้สึกไม่ถนัด จะรู้สึกว่ายาก พอฝืนทำไปสักระยะหนึ่งแล้ว ก็กลายเป็นนิสัยไป กลายเป็นของง่ายไป ผลที่ได้รับจากการอยู่แบบสงบ อยู่แบบสมถะ อยู่แบบเรียบง่าย อยู่แบบปราศจากความโลภความโกรธความหลงนี้ เป็นใจที่มีแต่ความสุขความมั่นคง ไม่หวาดกลัวหวั่นไหวกับการสูญเสียสิ่งต่างๆ บุคคลต่างๆ เป็นผลที่ไม่มองกัน มองแต่ผลที่ได้รับตอนที่ได้ทำ เช่นตอนที่ได้ออกไปเที่ยว จะร่าเริงใจขึ้นมาทันที เวลาอยู่บ้านรู้สึกว้าเหว่เหงาหงอย พอมีเพื่อนมาชวนให้ไปเที่ยว ก็ดีอกดีใจขึ้นมา เป็นความสุขชั่วขณะนั้น พอกลับมาบ้านก็ว้าเหว่เหมือนเดิม หวาดวิตกกังวลไม่มั่นคงเหมือนเดิม ไม่เหมือนกับการไปอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวก ปราศจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาไปจะค่อนข้างยากลำบาก ต้องฝืนต้องบังคับใจให้ไป พอได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จนกำจัดความโลภความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ในใจได้หมดแล้ว จะไม่มีอะไรแสนสบายเท่ากับใจดวงนั้น ใจที่มีแต่ความสบาย ความอิ่มความพอ ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อนกับเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตนเองก็ดี หรือเกิดขึ้นกับผู้อื่นก็ดี จะรับได้ จะไม่กระทบกระเทือนกับความสุขของใจ

 

นี่แหละคือเป้าหมาย ที่นักปราชญ์วิญญูชนทั้งหลายมุ่งไปกัน พวกคนโง่ก็จะมองไปที่ความสุขขณะที่ได้ทำสิ่งที่ถูกอกถูกใจ แต่ไม่ได้มองถึงผลที่ตามมาทีหลัง หลังจากที่ได้ไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆแล้วจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง มีความอิ่ม มีความพอ มีความสบายใจ หรือยังว้าเหว่เหงาหงอย ยังอยากออกไปแสวงหาความสุขต่างๆอีก เราต้องมองตรงจุดนี้ จะได้รู้ว่าอะไรเป็นกงจักร อะไรเป็นดอกบัว กงจักรก็คือความว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา หวาดกลัววิตกกังวล ไม่สบายอกไม่สบายใจ เป็นผลที่เกิดจากการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข แต่ความมั่นคง สบายอกสบายใจ เบาอกเบาใจพอใจ อิ่มหนำสำราญใจนี้ เกิดจากการละการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข เกิดจากการกำจัดความโลภความอยากให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ งานของเราจึงอยู่ตรงนี้ งานของเราก็อยู่ที่การละความสุขทางโลก แล้วก็มาสร้างความสุขทางใจ ด้วยการบำเพ็ญด้วยการปฏิบัติ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ทั้งการศึกษาได้ยินได้ฟังอยู่เรื่อยๆ เพราะการปฏิบัตินี้จะต้องมีครูคอยสอน เหมือนกับนักกีฬา จะเป็นนักกีฬาระดับเอกได้ ก็ต้องมีครูที่ดีสอน มีความขยันฝึกซ้อม ถ้ามีปัจจัย ๒ ส่วนคือ  ๑. มีครูที่ดี   ๒. มีความขยันหมั่นเพียร ก็จะบรรลุได้

 

เราก็ต้องพิจารณาตัวเราดูว่ามี ๒ อย่างนี้หรือเปล่า ครูบาอาจารย์ที่ดีเราก็มีกัน วิริยะความพากเพียร เรามีมากหรือมีน้อย  มี ๑๐๐ หรือมีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ มีน้อยเดือนหนึ่งก็ปฏิบัติครั้งหนึ่ง มีมากก็ปฏิบัติทุกวัน ซึ่งเราก็ทำได้ แต่เราไม่รู้กัน การเจริญปัญญาเราทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมการงานอะไร ถ้ามีไตรลักษณ์อยู่กับความคิดตลอดเวลา อยากจะได้อะไรก็คิดถึงไตรลักษณ์ ก็จะทำให้ความอยากเบาบางลง เอาไตรลักษณ์มาต้านความอยาก พิจารณาดูว่าจำเป็นหรือไม่ ถ้าจำเป็นก็อนุญาตให้ผ่านไปได้ เช่นต้องรับประทานอาหารอย่างนี้มันจำเป็น แต่ต้องมีประมาณ รับประทานตามความต้องการของร่างกาย อย่ารับประทานตามความต้องการของใจ ต้องชั่งน้ำหนักเอา ร่างกายต้องการเท่านี้เราก็กินเท่านี้ก็พอ อย่าไปกินตามใจ ถ้ากินตามใจก็จะเป็นโทษ เป็นกิเลส ถ้ามีไตรลักษณ์แล้ว จะแยกแยะได้ จะกำจัดความอยากได้ จึงไม่ต้องไปอยู่วัดเสมอไป ควรปฏิบัติในขณะที่เป็นฆราวาสไปก่อน จะได้ผลักดันให้ไปบวชได้ ถ้าเป็นฆราวาสไม่มีปัญญาผลักดันให้ไปบวชแล้ว จะไปบวชได้อย่างไร ถ้าไปก็ไปแบบถูกฉุดลากไป ตกกระไดพลอยโจนไป ไปแล้วก็กลับมา เพราะไม่มีปัญญาพอที่จะควบคุมสั่งสอนจิตใจให้ปฏิบัติได้ ใจยังคิดถึงความโลภความอยากในทางโลกอยู่ บวชไปไม่นานก็สึกไป เข้าวัดได้เป็นพักๆแล้วก็หายไป เพราะไม่มีปัญญาพอที่จะสกัดความหลง ถ้าปฏิบัติตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส จนเกิดความเบื่อหน่ายในเพศของฆราวาส ถ้าไปแล้วมักจะไม่ค่อยกลับมา อย่างนี้ไปจริง

 

จึงควรใช้เวลาที่มีคุณค่านี้ไปกับการพัฒนาจิตใจ กำจัดความโลภความอยากทั้งหลาย ที่เป็นปัญหาให้หมดไปจากจิตจากใจ อย่าไปเสียเวลากับเรื่องอย่างอื่นมากจนเกินไป ทำเท่าที่จำเป็น ทำเพื่อสนับสนุนงานหลัก คืองานพัฒนาจิตใจ ชีวิตของมนุษย์จะได้ไม่สูญเปล่า จะไม่ขาดทุน จะได้กำไร เช่นพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ทำมากัน ท่านใช้ชีวิตของท่านไปในการบำเพ็ญจิตตภาวนา พวกเราก็เห็นท่านเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว ว่าไม่ใช่ของโกหกหลอกลวงแต่อย่างใด เป็นของจริงของแท้ อยู่ในกำมือเราแล้ว จะปล่อยให้หลุดไปหรือไม่เท่านั้นเอง ควรพิจารณากัน ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ครูบาอาจารย์พูดแต่เรื่องใจเท่านั้น ร่างกายมีแต่จะร่วงโรยไปเรื่อยๆ ตามกาลตามเวลา เหมือนใบไม้ เขียวแล้วก็กลายเป็นเหลืองไป หลุดจากกิ่งไป ร่างกายของพวกเราก็เป็นเช่นเดียวกัน จะไปเร็วไปช้าเท่านั้นเอง แต่ไปแน่ๆ จึงอย่าไปกังวลกับเรื่องของร่างกาย ให้มากังวลกับเรื่องจิตใจ อย่าให้ใจไปผูกติดอยู่กับร่างกาย พยายามตัดร่างกายให้ออกไปจากใจให้ได้ เวลาร่างกายเป็นอะไรก็ดึงใจเข้ามา ด้วยกำลังของสมาธิก็ได้ บริกรรมพุทโธๆไปให้ถี่ยิบเลย ไม่ให้ใจไปคิดถึงร่างกาย ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน เหมือนตอนเวลาเรานอน เราก็ไม่ได้ไปกังวลกับร่างกาย หลับไปอย่างสบาย ปล่อยให้ร่างกายไปตามเรื่อง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็เหมือนกัน เราก็ดึงใจเข้ามาด้วยการบริกรรมพุทโธก็ได้ ด้วยอนิจจังทุกขังอนัตตาก็ได้ ดินน้ำลมไฟก็ได้ ว่าร่างกายนี้มันก็แค่อนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตาย ท่องคาถาเหล่านี้ไว้ อย่าไปคิดถึงเรื่องอื่น แล้วความอยากให้เป็นอย่างอื่นจะไม่มี เมื่อไม่มีแล้วก็จะไม่ทุกข์

 

พระอัญญาโกณฑัญญะพอได้ฟังพระอริยสัจ ๔ ก็เข้าใจ ว่าความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ก่อนหน้านี้ท่านรู้แล้วว่ามีกายและใจ แต่ไม่รู้ว่าทุกข์อยู่ตรงไหน ท่านก็คิดว่าทุกข์อยู่ที่ร่างกาย ที่ความแก่ความเจ็บความตาย คิดว่าร่างกายเป็นตัวของท่าน ท่านก็อยากให้มันอยู่ไปนานๆ ท่านไม่อยากจะแก่ ไม่อยากจะเจ็บ ไม่อยากจะตาย แต่ความไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายนี้แหละเป็นวิภวตัณหา เป็นต้นเหตุของความทุกข์ พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าทุกข์มันอยู่ในใจ เกิดจากใจหลงไปยึดติดกับร่างกาย ว่าเป็นตัวเราของเรา แล้วก็เกิดความอยาก คืออยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตายขึ้นมา ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา พอตัดความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายได้ นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา ทุกข์ก็ดับไปทันที จิตไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว ไม่หวาดกลัวกับความแก่ความเจ็บความตาย ด้วยการเจริญมรรค พิจารณาจนรู้ว่าทุกข์อยู่ที่ใจ ทุกข์ให้กำหนดรู้ รู้ที่ไหน รู้ที่ใจนี้ รู้ว่าใจมันทุกข์ ทุกข์เพราะความไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย พิจารณาให้เห็นว่าอะไรเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ความแก่ความเจ็บความตายเป็นเพียงชนวน พอใจหลงไปยึดไปติดร่างกายว่าเป็นตัวเราของเรา ก็เลยทำให้เกิดความอยากขึ้นมา อยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตาย เวลาเจ็บปวดก็อยากไม่เจ็บ ก็ยิ่งเจ็บขึ้นไปใหญ่ เพราะความเจ็บปวดทางร่างกายไม่รุนแรงเท่ากับความเจ็บปวดทางจิตใจ ที่เกิดจากความกลัวความเจ็บนี่เอง

 

ถ้าดึงใจออกมาจากความเจ็บของร่างกายได้ ก็จะไม่ค่อยเจ็บ เช่นเวลานั่งไปแล้วเกิดอาการเจ็บปวด เราก็ดึงใจเข้ามาด้วยพุทโธก็ได้ บริกรรมให้ถี่ยิบ อย่าไปคิดถึงความเจ็บ พอจิตไม่ได้พะวักพะวง ไม่กลัวกับความเจ็บแล้ว ความทุกข์ใจที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกาย ก็สงบตัวลง จะรู้สึกเบาสบายขึ้นมา ทั้งๆที่ยังมีความเจ็บของร่างกายอยู่ แต่มันไม่รุนแรง เหมือนกับตอนที่มีความกลัวความเจ็บ ขั้นต่อไปก็จะใช้ปัญญาพิจารณาว่า เจ็บแค่นี้จะไปกลัวทำไม จะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป อย่าไปอยากให้มันหาย อย่าไปกลัวมันก็แล้วกัน แล้วจะไม่มีความเจ็บที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในใจ ความเจ็บในอริยสัจนี้ คือทุกข์จะไม่เกิด ทุกข์ในอริยสัจดับได้ แต่ทุกข์ในร่างกายดับไม่ได้ ดับได้บ้างเป็นครั้งเป็นคราว ถ้ามีหยูกมียา ถ้าหมอฉีดยาชาให้ก็จะไม่รู้สึกเจ็บ เช่นเวลาไปถอนฟัน หมอฉีดยาชาให้ก็ไม่รู้สึกเจ็บ แต่เราไม่ได้อยู่กับหมอตลอดเวลา ไม่มียาฉีดตลอดเวลา ไม่ควรฉีดตลอดเวลาด้วย เพราะจะเป็นภัยมากกว่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามความจริง ใจไม่ไปกลัวมัน จะไม่เหลือบ่ากว่าแรง พอจะรับมันได้ แต่ไม่ได้ทนมันนะ คำว่าทนนี้แสดงว่าต่อสู้กัน ถ้ารับมันได้แสดงว่าไม่ได้ต่อสู้ เราต้อนรับเขา ไม่ผลักไสให้เขาไป เวลาเราทนนี้ เราฝืนใจบังคับ แต่อยากจะให้เขาหาย ถ้ายอมรับเขาแล้ว ตัวกิเลสตัวตัณหาที่กลัว ที่ต่อต้านจะหยุด ความเจ็บของร่างกายอาจจะดับก็ได้ หรือไม่ดับก็ได้ แต่ความทุกข์ในใจจะดับอย่างแน่นอน ความทุกข์ในใจเป็น ๙ ส่วนความทุกข์ทางร่างกายเป็นเพียง ๑ ส่วน

 

พอดับความทุกข์ทางใจ ๙ ส่วนไปได้แล้ว ความทุกข์ทางกาย ๑ ส่วนจะรู้สึกจิ๊บจ๊อย ไม่เป็นปัญหาอะไร ที่นั่งให้เจ็บนี้เพื่อให้เห็นอริยสัจ ถ้าเห็นอริยสัจก็จะบรรลุธรรม รู้ว่าทุกข์เกิดจากตัณหา และรู้ว่าทุกข์ดับด้วยสติปัญญา ที่แยกแยะทุกข์ ๒ ส่วนนี้ออกจากกันได้ จนปล่อยวางทุกข์ทางร่างกาย ละความกลัวทุกข์ทางร่างกายได้ พอเข้าใจหลักนี้แล้ว เวลาร่างกายมีความเจ็บปวด ก็รู้วิธีที่ทำไม่ให้ความทุกข์ใจเกิดขึ้น ด้วยการปล่อยความเจ็บปวดของร่างกายให้เป็นไปตามเรื่องของเขา ปวดหัวก็ปล่อยให้ปวดไป ไม่ต้องกินยาแก้ปวดก็ได้ ถ้าใจไม่ปวดแล้วจะไม่เจ็บ เจ็บเพียงนิดเดียว บางคนเป็นอะไรนิดอะไรหน่อย รีบวิ่งหายาหาหมอกันวุ่นวาย เพราะใจมันวุ่นวาย ใจมันทุกข์ ยาที่ใช้ส่วนใหญ่ไม่ได้รักษาร่างกายหรอก มันรักษาใจ ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น ว่ามียากินแล้ว สบายใจแล้ว พอเห็นหน้าหมอก็สบายใจแล้ว เป็นยาทางด้านจิตวิทยามากกว่า ถ้ามีธรรมโอสถแล้วจะไม่ต้องอาศัยยาเหล่านี้ ยาหม่องยาดม ยาทาแก้เคล็ดขัดยอกอะไรเหล่านี้ ไม่ต้องไปใช้หรอก ทำจิตให้นิ่งให้สงบอย่างเดียวทุกข์ ๙๐ เปอร์เซ็นต์จะหายไป ทุกข์ทางใจนี้หายไปหมด เหลือแต่ทุกข์ทางกาย ที่ต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา นี้คือการปฏิบัติระหว่างกายกับใจ ใจปล่อยวางกายได้ใจก็สบาย ใจยึดติดใจก็จะทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็เช่นเดียวกัน ของเราก็ทุกข์ ของคนอื่นก็ทุกข์ ถ้าไปกังวลกับคนอื่น ก็เป็นความทุกข์แล้ว ไปกังวลทำไม ไปทุกข์ทำไม ทำอะไรได้ก็ทำไป ช่วยได้ก็ช่วยไป ถ้าเขาปฏิเสธการช่วยเหลือก็สุดวิสัย เหมือนสาดน้ำใส่หลังสุนัข  เสียน้ำไปเปล่าๆ

 

คนอื่นเราก็พอดูแลกันได้ เป็นห่วงเป็นใยกันได้ แต่ให้มีขอบมีเขต อย่าไปห่วงใยจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อย่างนี้แสดงว่าเกินเหตุเกินผลแล้ว ไม่เกิดประโยชน์ แต่เกิดโทษกับตัวเรา ไม่มีเสื้อผ้าใส่ ก็ไปซื้อเสื้อผ้ามาให้ใส่ เรื่องก็จบ จะใส่ไม่ใส่ก็เรื่องของเขา ไม่มีอาหารก็หาอาหารมาให้ จะรับประทานหรือไม่รับประทานก็เรื่องของเขา ไม่มีความรู้ก็สอนเขา สอนเขาว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรถูกอะไรผิด อะไรควรไม่ควร ถ้าเขาไม่ฟัง จะไปตามทางของเขา ก็เรื่องของเขา เราไปห้ามเขาไม่ได้ แล้วเราจะอยู่อย่างสงบอย่างสบาย ท่ามกลางเหตุการณ์ที่มีทั้งดีและไม่ดีสลับกันไป ใจจะได้ไม่แกว่งเหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกา เวลาดีก็ดีอกดีใจ เวลาไม่ดีก็เสียอกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะใจไม่นิ่ง ใจไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ถ้ามีสมาธิมีปัญญาใจจะไม่แกว่ง จะอยู่ตรงกลาง ดีก็รู้ว่าดี ไม่ดีก็รู้ว่าไม่ดี ไม่เห็นมันเกี่ยวอะไรกับเราเลย ไม่ดีก็เรื่องของเขา ดีก็เรื่องของเขา ทำให้เราดีไว้ก็แล้วกัน ดีของเราก็คือไม่แกว่ง ดีของเราก็คือนิ่งสงบ ต้องอาศัยการฝึกฝนอบรม อาศัยสติสมาธิปัญญาเป็นเครื่องมือ ที่จะรักษาใจไม่ให้แกว่ง รักษาใจให้สงบนิ่ง ไม่เดือดร้อน ไม่มีปฏิกิริยากับเรื่องราวต่างๆ ที่ใจไปรับรู้ รู้อะไรก็รู้ได้ สัมผัสอะไรก็สัมผัสได้ ดีก็สัมผัสได้ ร้ายก็สัมผัสได้ แต่ใจก็ยังเป็นเหมือนเดิม ด้วยอำนาจของสติสมาธิและปัญญา เป็นธรรมที่พวกเราไม่ค่อยมีกัน สติก็ไม่ค่อยต่อเนื่อง สมาธิก็ไม่ค่อยนิ่งหรือไม่เคยนิ่งเลย ปัญญาก็ไม่เห็นไตรลักษณ์เลย เห็นแต่สุขอย่างเดียว ทั้งๆที่มันทุกข์แต่มองไม่เห็น

 

มันเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล สิ่งต่างๆในโลกนี้ ความสุขในโลกนี้มันไปปิดความทุกข์เสีย จึงมองไม่เห็นความทุกข์กัน เห็นแต่ความสุขในลาภยศสรรเสริญ ในการได้เสพได้สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่เห็นความทุกข์ที่จะตามมา เหมือนคนติดยาเสพติด ไม่เห็นความทุกข์ ว่าเป็นอย่างไรเวลาติดยาแล้ว เห็นแต่เฉพาะเวลาเสพ ว่าได้ขึ้นสวรรค์ มีความสุข พอหมดฤทธิ์ยาแล้วอยากจะได้ใหม่ แต่ไม่มียาให้เสพ ก็เป็นนรกไป มีเงินใช้ก็เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ พอเงินขาดมือก็เหมือนตกนรก เงินก็เป็นเหมือนยาเสพติดเหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเสพกันนี้เป็นเหมือนยาเสพติดทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามันไม่รุนแรงเท่ากับยาเสพติด รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่เราเสพกันติดกัน ถ้าไม่เช่นนั้นเราจะมีเครื่องเสียง มีโทรทัศน์ ให้เราดูให้เราฟังทำไม มันก็เหมือนติดยาเสพติด ไม่ได้เป็นอิสระ แต่เป็นทาส อยู่แบบไม่มีไม่ได้ ทั้งๆที่อยู่แบบไม่มีนี้แสนจะสบาย แต่ขาดไม่ได้ นี่ก็พยายามชี้ปัญหาให้เห็น เข้าใจกันหรือเปล่า พอกลับไปก็เหมือนเดิม ไปหาเงินหาทองหาสมบัติ แทนที่จะไปวัดกัน ไปปฏิบัติกัน ก็ยังเหมือนเดิมกัน มันยากขนาดไหนกัน ถึงตัดไม่ได้กัน มันก็เหมือนยาเสพติดนะ ติดอะไรแล้วมันก็เลิกยาก แต่เลิกได้นะ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลิกไม่ได้ เลิกได้ทุกคน แต่ต้องกล้าหาญ ต้องสู้ หลวงตาท่านสอนให้เป็นนักรบ อย่าเป็นนักหลบ ต้องสู้กับกิเลส อย่าไปหลบ อย่าไปหลบกิเลส สู้มัน ฆ่ามัน ทำลายมัน ตัดมันให้ได้

 

ถาม  เรื่องการเจ็บป่วย ไม่ทราบว่าวาระสุดท้ายของเรา จะทุกข์ทรมานขนาดไหน ถ้าจิตใจไม่มีความพร้อมแล้ว จะลำบากมาก

 

ตอบ  ถ้าไม่มีธรรมโอสถ ไม่มียารักษาใจ พอร่างกายเป็นอะไร ใจก็เป็นตามร่างกายไป ร่างกายยังพอมียารักษา แต่ใจไม่มี ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ได้สร้างธรรมโอสถ ถ้ามีก็สบาย ไม่เดือดร้อน

 

ถาม  ตอนนี้ก็เลยกลัวว่า จะไม่พร้อมที่จะเผชิญกับภาวะนั้น

 

ตอบ  ทำไมปล่อยให้ไม่พร้อมละ

 

ถาม  ก็พยายามทำอยู่ แต่ก็อาจจะไม่กล้าหาญ อย่างที่พระอาจารย์พูด ความกลัวหลายอย่างมันยังมีอยู่ในใจ

 

ตอบ  มันเหมือนวงจรอุบาทว์นะ จะออกจากความทุกข์ได้ ก็ต้องเผชิญกับความทุกข์ พอกลัวความทุกข์ก็เลยออกไม่ได้ ก็ยังวนเวียนอยู่กับกองทุกข์นี้อยู่ ควรมองว่า เหมือนกับมีเสี้ยนมีหนามตำเท้าเรา เวลาเดินแต่ละครั้งมันก็เจ็บ ถ้าเราถอนผ่ามันออกมา อาจจะเจ็บหน่อย แต่เจ็บไม่นาน พอแผลหายแล้วก็สบาย เป็นความทุกข์ระยะสั้น ไม่ได้ทุกข์ไปตลอด เหมือนทุกข์ที่เราติดอยู่ ที่นานเป็นกัปเป็นกัลป์ แต่ความทุกข์ที่ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์นี้ แค่ ๗ วัน ๗ คืนเท่านั้น ในยุคที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เกิน ๗ ปี ทนไม่ได้หรือแค่ ๗ ปีเท่านั้น หรือว่าจะยอมทุกข์ไปเป็นกัปเป็นกัลป์ ยอมปล่อยให้เสี้ยนหนามติดอยู่ในเท้า ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะมีกำลังใจ  ความสุขของพวกเราเป็นแบบสุขๆดิบๆ สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ สุขน้อยกว่าทุกข์ พอสุขแล้วก็จะมีความทุกข์ตามมาเสมอ ส่วนทางปฏิบัติจะทุกข์ก่อนแล้วค่อยสุขทีหลัง ดีกว่าสุขก่อนแล้วทุกข์ทีหลัง

 

ถาม  ท่านอาจารย์พูดถึงการหลุดพ้นภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีนี้ ทุกคนสามารถทำอย่างนั้นได้ไหม ถ้าบารมียังไม่แก่กล้าพอ

 

ตอบ  ต้องปฏิบัติในแนวทางของสติปัฏฐาน ๔ ให้ได้ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ มีสติประคับประคองจิตตลอดเวลา ไม่ให้จิตไปเพ่นพ่านเหมือนกับสุนัขที่ไม่มีเชือกผูก จิตนี้เป็นเหมือนสุนัข ถ้ามีสติก็เหมือนมีเชือกที่คอยดึงมันไว้ ให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา และให้คิดไปในทางธรรมะ ให้รู้ทันเวทนา ให้รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิต ให้รู้ทันร่างกาย รู้ว่าร่างกายต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา รู้ว่าร่างกายนี้เป็นเหมือนซากศพ เป็นอสุภะ รู้ว่าเวทนามีสุขมีทุกข์มีไม่สุขไม่ทุกข์ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา รู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด รู้ว่าอารมณ์มีทั้งโลภทั้งโกรธทั้งหลง มีทั้งดีใจเสียใจ มีทั้งสงบมีทั้งวุ่นวาย มีสติรู้ แต่ไม่วุ่นวายไปกับมัน มันจะวุ่นก็ปล่อยให้มันวุ่นไป รักษาจิตให้นิ่งตลอดเวลา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น กับร่างกายก็ดี กับเวทนาก็ดี กับจิตก็ดี ก็รู้ไปเท่านั้นเอง รู้อริยสัจ ๔ รู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าปฏิบัติในแนวทางของสติปัฏฐาน ๔ เพราะท่านแสดงไว้มี ๔ จุดด้วยกัน ในสติปัฏฐาน ๔ คือกายเวทนาจิตธรรม ต้องรู้ว่าร่างกายเป็นอย่างไร ต้องรู้ว่าเวทนาเป็นอย่างไร ต้องรู้ว่าจิตเป็นอย่างไร รู้ว่าไม่เที่ยง รู้ว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา รู้ว่าเป็นอนัตตา ไปควบคุมบังคับไม่ได้ แล้วก็รู้ธรรมก็คือรู้อริยสัจ ๔ รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นในใจ เพราะตัณหาความอยาก กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา รู้ว่านิโรธการดับของทุกข์ เกิดขึ้นจากการละตัณหาทั้ง ๓ นี้ รู้เครื่องมือที่จะละตัณหาทั้ง ๓ นี้ก็คือสติปัญญา

 

        สติก็คือรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ปัญญาก็รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ พอรู้ด้วยสติและปัญญาก็จะปล่อยวาง ปล่อยให้มันเป็นไป เจ็บก็เจ็บ เสียงเมื่อสักครู่นี้ดังมาก ดังแล้วก็ผ่านไป เป็นอนิจจัง ถ้ามีกิเลสก็จะตามเสียงไป มาจากที่ไหน ใครมาทำอะไร  ถ้าเพียงรับรู้ว่าเป็นเสียง เกิดขึ้นแล้วดับไป ก็จบแล้ว แต่ใจของพวกเราไม่เป็นอย่างนั้น พอมีอะไรมากระทบก็จะตามไปเลย ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ใครชมก็ตามไป ใครด่าก็ไป ตามไปเอาเรื่อง แทนที่จะเฉย ด่าแล้วก็ผ่านไปแล้ว ชมแล้วก็ผ่านไปแล้ว ใจเราไม่นิ่ง นี่คือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เจริญอย่างนี้ ถ้าเข้าถึงจุดนี้ได้ ๗ วันก็บรรลุได้ บางทีไม่ต้อง ๗ วัน ๗ ชั่วโมงก็บรรลุได้ ฟังธรรมปั๊บบรรลุได้ทันทีเลย ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนตอนที่ทรงบิณฑบาตอยู่ว่า สอนสั้นๆนะไม่มีเวลา เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยินไม่ให้มีอารมณ์กับสิ่งที่มาสัมผัส เพียงแต่รับรู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ต้องไปมีปฏิกิริยา ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับสิ่งที่มาสัมผัส สอนเพียงเท่านี้ก็บรรลุได้แล้ว อินทรีย์ของแต่ละคนก็มีมากน้อยต่างกัน ถ้ามีอินทรีย์มากก็จะเป็นพลังขึ้นมา ก็จะง่ายและรวดเร็ว ถ้ามีน้อยก็ต้องใช้เวลาสะสม เหมือนเติมน้ำมัน ถ้าน้ำมันเกือบจะเต็มถังแล้ว เติมแป๊บเดียวก็เต็ม ถ้าอยู่ที่ก้นถังก็ต้องใช้เวลามาก

 

ถาม  ท่านพระอาจารย์บอกว่าต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือกาย เวทนา จิต ธรรมผสมผสานเข้าไป ในขณะที่สภาวะเกิดขึ้น ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ความจริงทั้ง ๔ ส่วนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าอะไรจะเป็นตัวเด่น ถ้าเวทนาเป็นตัวเด่น ก็ต้องจ่อสติไปที่เวทนา เช่นเวลานั่งแล้วเกิดเจ็บปวดขึ้นมา เวทนามันเด่น ก็ต้องพิจารณาเวทนาเพื่อปล่อยวางเวทนา ถ้าเกิดราคะเห็นความสวยงาม  ก็ต้องเจริญอสุภะ ถ้ากลัวตาย ก็ต้องพิจารณาว่าความตายเป็นธรรมดา เพื่อกำจัดปัญหา คือตัณหาทั้ง ๓ นี้ เกิดราคะเกิดกามตัณหาขึ้นมา ก็ต้องเจริญอสุภะ กลัวความเจ็บปวดก็ต้องพิจารณาเวทนา ว่าเป็นอนิจจัง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีสุขมีทุกข์มีไม่สุขไม่ทุกข์ บังคับไม่ได้ แต่เราบังคับใจให้รับรู้มันได้ ไม่ต้องไปกลัวมัน ไม่ต้องไปอยากให้มันหาย ใจก็จะนิ่งเป็นปกติ ไม่วุ่นวายสับสนเดือดร้อน เวลามีอารมณ์เครียดก็รู้ว่ากำลังเครียด เราอย่าไปเครียดกับมัน อย่าไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้เครียด  บริกรรมพุทโธๆไป สักพักก็หายเครียด ถ้าไปคิดเรื่องเครียดจะยิ่งเครียดใหญ่ ต้องปล่อยวาง เครียดเพราะอยากใช่ไหม อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็ตัดความอยากเสีย  จะเป็นอย่างไรก็ช่าง อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะเป็นก็เป็น แค่นี้ก็จบ ตัดความเครียดได้ ถ้ามีสติตามรู้อย่างเดียวไม่พอ รู้ว่าเครียดแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องใช้ปัญญา พิจารณาอริยสัจ ๔ จะรู้ว่าความทุกข์ความเครียดเกิดจากความอยาก พอตัดความอยากได้ นิโรธความดับทุกข์หายเครียดก็จะปรากฏขึ้นมา ในเบื้องต้นอาจจะต้องตามรู้ไปก่อน ฝึกสติไปก่อน เพราะปัญญาค่อนข้างซับซ้อน ถ้าคิดวิเคราะห์ไม่เป็นก็จะยาก เหมือนเล่นหุ้น ถ้าวิเคราะห์หุ้นไม่เป็น ก็ต้องฟังคนอื่นตามคนอื่น ถ้าวิเคราะห์เป็น จะรู้ว่าควรซื้อเมื่อไร ควรขายเมื่อไร เพราะมีข้อมูลมีปัญญา ปัญญาเป็นของยาก เพราะต้องคิดด้วยเหตุด้วยผล

 

ถาม  แล้วเรามักจะเข้าข้างตัวเอง

 

ตอบ  กิเลสชอบเข้าข้างตัวเอง

 

ถาม  ก่อนที่ปัญญาจะหมุนได้ ต้องมีสมาธิระดับหนึ่งก่อน

 

ตอบ  ถ้าไม่มีสมาธิกิเลสจะมีแรงมาก จะคิดไปในทางโลภโกรธหลงอยู่เรื่อยๆ พอมีสมาธิแล้วกิเลสเหมือนถูกฉีดยาสลบ กำลังจะลดน้อยลง แต่ยังไม่ตาย ยังแผลงฤทธิ์ได้ แต่จะทำให้มีช่วงว่างพอที่จะคิดไปในทางปัญญา คิดแบบไม่เข้าข้างตัวเองได้ พอกำลังของสมาธิอ่อนลง กิเลสก็จะออกมาเพ่นพ่าน เราก็หยุดพิจารณา กลับมาทำสมาธิใหม่ ฉีดยาสลบใหม่ ถ้ากิเลสเริ่มออกมาเพ่นพ่าน พิจารณาไม่เป็นเหตุเป็นผล เริ่มฟุ้งซ่านแล้ว เริ่มหวั่นไหว เริ่มวิตกแล้ว แสดงว่ากำลังของสมาธิหมดแล้ว ถ้ากิเลสไม่ออกมา เวลาพิจารณาความตายจะไม่หวั่นไหว ถ้ามีกิเลสจะหวั่นไหวจะกลัว ถ้าพิจารณาแล้วจิตรับความตายไม่ได้ แสดงว่ากิเลสออกมาเพ่นพ่านแล้ว ต้องกลับไปทำจิตให้สงบก่อน แล้วกลับมาพิจารณาใหม่ จนมั่นใจว่าคุมความกลัวได้แล้ว ก็ไปเข้าสนามรบ ไปหาที่ท้าทายกับความตาย แล้วปลงกันตรงนั้นเลย เจอเสือเจองูหรือเจออะไร จะได้ทดสอบใจเลยว่า ปล่อยได้หรือไม่ ถ้าปล่อยได้แล้วจะหายกลัวทันที หายกลัวอย่างเด็ดขาดเลย ตอนที่พิจารณายังกลัวบ้างไม่กลัวบ้าง แล้วแต่กำลังของสมาธิ ถ้ามีสมาธิเวลาพิจารณาจะไม่กลัว มีสมาธิคอยคุมกิเลสอยู่ ก็ไม่กลัว แต่ยังไม่ตาย ต้องไปเจอของจริงๆ แล้วก็ยอมตายเลย ถ้าไม่กลัวตายก็ต้องยอมตายได้ พอยอมตายได้จิตก็ปล่อยวาง จะรู้ว่าไม่กลัวแล้ว

 

ถาม  สมาธิจะไปกดไม่ให้กิเลสออกมา

 

ตอบ  กดความคิดปรุงแต่งไม่ให้คิด พอไม่คิดมันก็สงบเย็นสบาย กิเลสก็ทำงานไม่ได้ กิเลสอาศัยความคิดเป็นเครื่องมือ ตอนออกจากสมาธิใหม่ๆ พอคิดทางปัญญา กิเลสจะแทรกเข้ามาไม่ได้ เพราะสมาธิยังมีกำลังมาก พอกำลังของสมาธิอ่อนลงไป กิเลสก็จะมีกำลังแทรกเข้ามามากขึ้น จนทำให้การพิจารณาอสุภะขยะแขยง พิจารณาความตายก็กลัว แสดงว่าสมาธิหมดกำลังแล้ว ควรหยุดพิจารณาแล้วกลับมาทำสมาธิใหม่ มาชาร์ตแบตฯมาฉีดยาสลบให้กิเลสใหม่ พอออกจากความสงบแล้วก็มาพิจารณาใหม่ ตอนออกมาใหม่ๆ เวลาพิจารณาจะไม่หวั่นไหว จะกล้าหาญ รับความจริงได้ พอพิจารณาจนมั่นใจว่าไม่กลัวแล้ว ก็ไปทดสอบดู ไปอยู่ในป่าช้าก็ได้ ไปคนเดียวไปตอนกลางคืน เดินไปในป่าคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องฉายไฟ ดูว่ากลัวหรือไม่ กลัวจะได้ปลง ไปเพื่อปลุกให้ความกลัวออกมา จะได้ดับมันได้ ความกลัวนี้เป็นกิเลส ต้องมีกับดักต้องมีตัวล่อมัน สถานที่น่ากลัวนี้เป็นตัวล่อให้มันออกมา พอมันออกมาแล้วก็ฆ่ามันด้วยการปลง ตายเป็นตาย ยอมตาย พอยอมปั๊บก็โล่งเบาสบาย อย่างอยู่บนเครื่องบินก็สามารถทำได้ เวลากัปตันบอกเครื่องเสีย จะได้ปลงเลย ตกเป็นตก ตายเป็นตาย

 

ถาม  เธอกลัวผีมากกว่ากลัวเครื่องตก

 

ตอบ  กลัวผีนี้มันไม่มีเหตุผลนะ ไม่มีใครเห็นผี ผีไม่มีหรอก ผีมีอยู่ในตัวเรานี่ ในตัวเรานี่คือผี เวลาไม่หายใจแล้ว มีใครอยากจะอยู่ใกล้บ้าง ตัวเรานี่เป็นผีแท้ๆกลับไม่กลัว แต่ผีปลอมกลับกลัวกัน กลัวผีที่เกิดจากจินตนาการ ผีจริงๆผีแท้ๆก็คือร่างกายนี้แหละ เวลาตายไป อะไรจะน่าเกลียดน่ากลัวเท่ากับซากศพ เราก็อยู่กับมันมาทุกวันตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันนี้ เราไม่กลัวกัน ความจริงเราไม่กลัวผีหรอก เราไปกลัวจินตนาการของเรามากกว่า เราไปสร้างมันขึ้นมาเอง หรือคนอื่นสร้างมาให้เราจินตนาการตาม หนังผีสร้างภาพหวาดกลัวให้เราดู มีใครจับผีเข้าพิพิธภัณฑ์ มาแสดงให้ดูบ้าง มีแต่ซากศพนี้แหละที่ถูกดองไว้ในโรงพยาบาลให้เราดู นั่นแหละผีแท้ เป็นอย่างนั้น ผีที่เคลื่อนไหวได้ไม่มีหรอก ของตายจะไปเคลื่อนไหวได้หรือ ปฏิบัติมาไม่รู้กี่ปีก็ไม่เคยเจอเลย ถ้ามีมันน่าจะเจอบ้าง ความไม่กลัวนี่แหละที่จะกำจัดผีได้ ความกลัวนี่แหละเป็นตัวสร้างผีขึ้นมา จึงมีคำพูดว่า ไม่มีอะไรน่ากลัวยิ่งกว่าความกลัว จึงควรรีบไปอยู่ป่าช้าได้แล้ว ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ท้องเราก็เป็นป่าช้าอยู่แล้ว มีทั้งเป็ดไก่หมูกุ้งปูปลา

 

ถาม  ผ่านทุกขเวทนาไปไม่ได้ จะทำอย่างไรดีคะ

 

ตอบ  พุทโธๆให้มันถี่ อย่าไปคิดเรื่องอื่น พุทโธๆไป หรืออนิจจังทุกขังอนัตตาก็ได้ ดินน้ำลมไฟก็ได้ อย่าไปคิดเรื่องอื่น ให้บริกรรม อนิจจังทุกขังอนัตตา พุทโธๆ เกิดแก่เจ็บตาย ไปเรื่อยๆ

 

ถาม  สลับกันไปก็ได้

 

ตอบ  บริกรรมพุทโธๆอย่างเดียวก็ได้ แล้วแต่จะชอบ ดึงใจไว้ไม่ให้ไปคิดถึงเวทนา ไม่ให้มีโอกาสกลัว หรืออยากให้เวทนาหายไป ปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่อง ทำใจเฉยๆ ไม่คิดปรุงแต่งกับเรื่องเวทนา นี่เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะต่อสู้กับทุกขเวทนา พอจิตมีพลังสมาธิแล้ว ต่อไปเวลาเจ็บปวดก็พิจารณาความจริงให้ได้ว่า มันเจ็บแค่นี้เอง เมื่อใจไม่ปรุงแต่งจะไม่กลัวความเจ็บของร่างกาย จะยอมรับ จะปล่อยวางเวทนาได้ ปล่อยด้วยปัญญา แต่เบื้องต้นต้องอาศัยการบริกรรมพุทโธๆไปก่อน บริกรรมอะไรที่เราถนัดเราชอบก็ได้ เกาะติดกับมันไป ทุกลมหายใจเข้าออก อย่าให้มีโอกาสคิดถึงความเจ็บเลย นั่งไม่ต้องกลัวเจ็บ นั่งเพื่อให้มันเจ็บ เพื่อจะได้เกิดปัญญา เพื่อจะได้เกิดสมาธิ สร้างสมาธิด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ไม่เห็นจะยากเลย คิดทั้งวันยังคิดได้ ทำไมคิดคำว่าพุทโธเพียง ๑๐ นาที ๒๐ นาทีทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าบริกรรมจริงๆ ไม่คิดเรื่องอื่น ภายใน ๕ นาทีก็ดับแล้ว ๕ นาที ๑๐ นาทีนี้ก็ดับแล้ว ทุกขเวทนาหายไปแล้ว จิตสงบลงแล้ว ไม่นานจริงๆ ลองทำดู ตอนนั่งใหม่ๆมันเจ็บเราก็นึกถึง อนิจจังๆ บริกรรมอนิจจังๆไป เพียง ๒ ถึง ๓ นาทีมันหายไปแล้ว ความเจ็บมันหายไป ไม่มีใครสอน มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาว่าจะต้องใช้แบบนี้ สู้มัน ลองทำดู

 

ถาม  มันเหมือนยื้อกัน เดี๋ยวมันก็มาอีก

 

ตอบ  เพราะไม่บริกรรม มัวแต่ไปจ้องมัน อย่าไปสนใจมันเลย อย่าไปยื้อ อย่าไปยุ่งกับมันเลย อยู่กับพุทโธๆอย่างเดียว หรืออยู่กับคำบริกรรมอื่นก็ได้ อย่าไปเล็งไปจ้องเมื่อไหร่จะหาย อย่างนี้ก็ไม่ได้บริกรรมแล้ว อย่าไปสนใจจะหายไม่หาย ไม่ต้องสนใจ ให้ฝากเป็นฝากตายไว้กับคำบริกรรม

 

ถาม  ให้ดูความรู้สึกไปเรื่อยๆ

 

ตอบ  ดูอย่างเดียวจะไม่พอ เพราะขณะที่เราดูความคิดปรุงแต่งยังคิดไปเรื่อยๆ ถ้าบริกรรมแล้วความคิดอื่นจะเข้ามาไม่ได้ เพราะคำบริกรรมก็เป็นสังขารความคิดปรุงแต่ง เหมือนกับความอยาก เป็นสังขารเหมือนกัน เหมือนใช้รถคันเดียวกัน ถ้าเราเอารถคันนี้มาขับคนอื่นก็ขับไม่ได้ ถ้าดูเฉยๆคนอื่นก็จะขับไปได้ เราต้องเอารถคันนี้มาขับ เอาสังขารนี้มาปรุงในทางธรรมะ ในทางมรรค ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป กิเลสก็จะไม่มีโอกาสมาคิดถึงความกลัว กลัวความเจ็บและอยากให้ความเจ็บหายไป พอไม่มีโอกาสจะคิดกิเลสก็หยุด พอหยุดทำงานความทุกข์ก็หายไป เวลาเรานั่งทำอะไรที่เพลินนี้ไม่เห็นเจ็บเลย พอนั่งสมาธิเพียง ๕ นาทีก็เริ่มเจ็บแล้ว มันไม่เคยเพราะกิเลสมันเริ่มก่อกวนแล้ว เพียงแต่นั่ง ๕ นาทีกิเลสก็เริ่มก่อกวนแล้ว อยากจะลุกแล้ว ความอยากจะลุกนี้ทำให้ทนนั่งอยู่ไม่ได้ ขาดสติดึงใจไว้ ควบคุมบังคับใจให้คิดตามที่เราสั่ง เหมือนสุนัขที่เราไม่สามารถดึงมันไว้ สติถ้าเป็นเชือกก็เป็นเชือกกล้วย พอมันกระตุกเชือกก็ขาด มันก็วิ่งไปแล้วตามเรื่องของมัน เราต้องเจริญสติให้มาก ปัญหาก็คือการขาดสติ ที่จะดึงใจให้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา เบื้องต้นต้องฝึกจิตให้อยู่ในปัจจุบัน ให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ อย่าให้ไปที่โน้นที่นั่น อย่าคิดถึงอดีตอนาคต ให้อยู่ในปัจจุบัน กำลังทำอะไรก็ให้อยู่กับการกระทำนั้น อย่างนี้เรียกว่าตามรู้เจริญสติ พอมีสติสั่งให้อยู่ที่นี่ได้แล้ว เวลาสั่งให้อยู่กับพุทโธมันก็จะอยู่กับพุทโธ แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ พอพุทโธได้ ๒ คำก็แวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว เมื่อไหร่จะหาย ยังไม่หายเลย มันไปแล้ว ไม่ได้อยู่กับพุทโธแล้ว ให้มันอยู่กับพุทโธอย่างเดียว ให้อยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียวอย่างต่อเนื่อง เพียง ๕ นาทีนี้ ทำไม่ได้หรือเพียง ๕ นาที ลองทำดู

 

ถาม  ให้มีสติอยู่กับงาน

 

ตอบ ให้มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ อย่าคิดถึงลูก คิดถึงพรุ่งนี้มะรืนนี้เมื่อวานนี้ ให้อยู่กับงานอย่างเดียว แปรงฟันก็ให้อยู่กับการแปรงฟัน อาบน้ำก็ให้อยู่กับการอาบน้ำ ถูสบู่ก็ให้อยู่กับการถูสบู่

 

ถาม  เวลาควบคุมสติ ถ้ามีอะไรปะทะเข้ามา ต้องมีสติไม่ให้มีอารมณ์

 

ตอบ  เป็นขั้นต่อไป ขั้นแรกให้อยู่ในปัจจุบันก่อน ต่อไปเวลามีอารมณ์ถ้ามีปัญญาก็ให้ใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาไป

 

ถาม  ถ้านึกได้ทีหลังว่าเมื่อสักครู่นี้ไม่ควรทำอย่างนั้น

 

ตอบ  ควรพิจารณาด้วยเหตุผล อย่าทำตามอารมณ์ พอใครพูดไม่ดีมาก็โกรธ แล้วก็ตอบโต้ไปทันที

 

ถาม  พยายามควบคุมตรงนี้ ต้องฝึกสติให้ได้ก่อน ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  แล้วค่อยใช้ปัญญาพิจารณาว่า ถ้าไม่มีความจำเป็นก็จะไม่ตอบโต้ ไม่โกรธ ไม่ยินดียินร้าย

 

ถาม  เวลาถือศีล ๘ ในวันทำงาน เรื่องอาหารที่ต้องทานก่อนเที่ยง ถ้าทำไม่ได้จะบาปไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ได้บุญเท่านั้นเอง เหมือนกับการถวายทาน ยังทำไม่ได้ก็ไม่บาป ถ้าเกี่ยวกับเรื่องอาหาร ไม่บาปแต่อย่างใด เป็นการลดละกิเลส 

 

ถาม  บางทีอาจจะเลยเที่ยงไปบ้าง มีคนบอกว่าถ้าทำไม่ได้ก็อย่าทำเลย

 

ตอบ  ทำได้เท่านี้ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย ต้องคิดอย่างนี้ เลยไปสักครึ่งชั่วโมง ชั่งโมงหนึ่ง ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย ใหม่ๆก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปก่อน จะให้วิ่งได้เลยย่อมเป็นไปไม่ได้ ดีกว่าไม่พยายามเลย ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปจะทำได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะทำอะไร พิมพ์ดีดใหม่ๆก็พิมพ์ผิดพิมพ์ถูก เพราะยังไม่ชำนาญ พอฝึกทำไปเรื่อยๆแล้ว ต่อไปก็เกิดความชำนาญขึ้นมาเอง เวลาเริ่มต้นทำอะไร อย่าไปหวังผลเลิศ ต้องครบ ๑๐๐ ให้ได้สัก ๑๐ คะแนนก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ดีกว่าไม่ทำเลย ทำไปแล้วพยายามพัฒนาขึ้นไป อย่ายืนอยู่กับที่ก็แล้วกัน ทำมาหลายปีแล้วแต่ได้เพียง ๑๐ คะแนน อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ตอนเริ่มต้นอย่าวิตกมากจนเกินไป ทำไม่ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ก็ไม่เป็นไร

 

ถาม  สักแต่ว่ารู้เป็นอย่างไร

 

ตอบ  สักแต่ว่ารู้นี่ก็รู้เฉยๆ ไม่มีอารมณ์กับสิ่งที่เรารับรู้ เวลาลูกบอกว่าหนูท้อง ยังไม่ได้แต่งงาน ก็เฉยๆ หมอบอกว่าคุณเป็นมะเร็งก็เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ ไม่รู้สึกอะไร ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ก็เฉยๆ ไม่ได้ดีใจ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร อยู่โดยไม่มีเงินมาตลอด ก็อยู่ได้ พอได้เงินมาก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ต้องปวดหัวคิดว่าจะเอาไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้คิดว่า โอ้โหเราจะมีความสุข จะไปซื้อข้าวซื้อของมาให้ความสุขกับเรา อย่างนี้ไม่มี ถ้าจิตสักแต่ว่ารู้แล้วจะไม่หิวกับอะไรทั้งนั้น ต้องเป็นในใจจากการบำเพ็ญ ถ้ามีสมาธิเต็มที่แล้ว พอได้รับคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่นพระปัญจวัคคีย์ หรือคนที่ขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมตอนบิณฑบาต ก็จะเข้าใจ การทำใจให้ว่าง ไม่มีอารมณ์กับอะไรเลย สักแต่ว่ารู้เท่านั้น เวลาที่อยู่ในสมาธิตอนนั้นก็ไม่รับรู้ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่รับรู้ร่างกาย สักแต่ว่ารู้ เพียงแต่สักแต่ว่ารู้อยู่ได้ชั่วระยะหนึ่ง พอถอนออกมาแล้ว ไปรับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  ก็เริ่มปรุงแต่งอารมณ์ขึ้นมา จึงทรงสอนให้ระงับการปรุงแต่ง เวลารับรู้อะไรก็อย่าไปปรุงแต่ง ให้รับรู้เฉยๆ ไม่ต้องไปดีใจเสียใจ ไม่ต้องไปยินดียินร้าย ในขณะที่อยู่ในสมาธิก็สักแต่ว่ารู้ได้ แต่พอออกมาจากสมาธิแล้ว รักษาสักแต่ว่ารู้นี้ไว้ไม่ได้ พอเห็นอะไรกิเลสที่ยังมีอยู่ ก็จะมีปฏิกิริยาตอบรับกับสิ่งที่ได้สัมผัสทันที เห็นสิ่งที่รักก็อยากได้ หวงและเสียดาย เห็นสิ่งที่เกลียดก็อยากจะให้หายไป อยากจะหนีจากมันไป ตอนนั้นก็ต้องใช้ปัญญาสอนว่า ให้สักแต่ว่ารู้ เขาจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา ไม่สำคัญ ถ้ามีปฏิกิริยาจะเป็นพิษเป็นภัยกับใจ ถึงแม้เขาจะทำร้ายเรา ก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับเราทำตัวเราเอง โดยมีปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งที่เราไปรับรู้

 

ถาม  เวลาเจริญปัญญา สังขารปรุงแต่งจะเข้ามามาก

 

ตอบ  การเจริญปัญญามันต้องใช้สังขารอยู่แล้ว

 

ถาม  แต่มันจะออกไปข้างนอก

 

ตอบ  กิเลสกับธรรมจะแย่งใช้สังขารกัน เหมือนแย่งกันใช้รถ มีรถคันเดียวแต่คน ๒ คนแย่งกันใช้ ถ้าปัญญาขับก็จะมาวัด ถ้ากิเลสขับก็จะเข้าโรงหนังโรงละคร

 

ถาม  จะให้ตีกรอบอย่างไร

 

ตอบ  ดึงไว้ในไตรลักษณ์ ให้อยู่ในกรอบของสติปัฏฐาน ๔ พิจารณาร่างกายก่อน จะพิจารณาในลักษณะไหนก็ได้ เช่นพิจารณาอาการ ๓๒ ก็ได้ ดินน้ำลมไฟก็ได้ อสุภะก็ได้ เกิดแก่เจ็บตายก็ได้ อนิจจังทุกขังอนัตตาก็ได้ จนกว่าจะมีกำลังบังคับให้คิดตามคำสั่งของเรา ตอนนั้นกิเลสจะไม่มีแรงดึงให้ไปคิดเรื่องอื่น เราบังคับสังขารได้ถ้าฝึกอยู่เรื่อยๆ ต้องให้ปัญญาเป็นคนขับตลอดเวลา อย่าให้กิเลสขับ ให้ความคิดไปทางธรรมะอย่างเดียว ไปในทางไตรลักษณ์ ในทางปล่อยวาง ทำได้ เพียงแต่ช่วงระยะแรกๆต้องแย่งกัน ใครมีกำลังมากกว่าใครเร็วกว่าก็จะได้ขับ ใครมีกำลังน้อยกว่าก็ต้องถอยออกไป เราสามารถสร้างปัญญาให้มีกำลังมากขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยการเจริญสติตลอดเวลา เพื่อจะได้ดึงความคิดไปในทางธรรมะ ในเบื้องต้นก็บริกรรมพุทโธๆไปก่อนก็ได้ ถ้าพิจารณาไตรลักษณ์ไม่เป็น ก็พุทโธๆไปก่อน หรือท่องชื่อไตรลักษณ์ไปก่อนก็ได้ อนิจจังทุกขังอนัตตาๆ อนิจจังคือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความทุกข์ก็คือความเจ็บปวดของจิตใจที่เกิดจากการยึดติด เกิดจากความโลภความอยาก อนัตตาก็คือไม่ใช่ตัวเราของเรา ควบคุมบังคับมันไม่ได้ ก็สอนอย่างนี้ไปก่อนก็ได้ ให้มีอยู่ในใจเรื่อยๆ พอไปเจอของจริงก็ต้องใช้มัน นี่เวทนามันก็เป็นอนัตตานะ เป็นอนิจจังเมื่อก่อนนี้ไม่เจ็บเดี๋ยวนี้มันเจ็บแล้ว มันเปลี่ยนแล้ว มันเจ็บได้เดี๋ยวมันก็หายเจ็บได้ สลับกันไป เราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ปล่อยให้มันเป็นไปตามเรื่องของมัน จะได้ไม่สร้างความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ พยายามคิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในเบื้องต้นจะพิจารณาอาการ ๓๒ ไปก่อนก็ได้ ท่องไปก่อนก็ได้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ท่องไป ขั้นต่อไปก็นึกถึงภาพของแต่ละอาการ ถ้าไม่รู้ว่ามีลักษณะอย่างไร ก็ไปหาของจริงดู ไปตามโรงพยาบาลที่มีการผ่าศพให้ดู ไตเป็นอย่างไร ตับเป็นอย่างไร หัวใจเป็นอย่างไร ดูภาพถ่ายในหนังสือที่พิมพ์แจกก็ได้ ดูแล้วพยายามนึกภาพไปเรื่อยจนติดตาติดใจ หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น กิเลสจะไม่สามารถดึงจิต ให้เกิดความกำหนัดยินดี เกิดกามตัณหาได้

 

        แต่พวกเราชอบปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยเปื่อย ไม่คุมให้มันทำตามคำสั่งของเรา ส่วนหนึ่งก็เพราะสิ่งแวดล้อม เราอยู่กับคนนั้นคนนี้เขาชวนคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ไปกับเขาแล้ว ถ้าอยู่กับนักปฏิบัติ เช่นมานั่งฟังธรรมะวันนี้ ๒ ชั่วโมง ก็ดึงมาทางธรรมะอย่างเดียว พอออกจากที่นี่ไป ถ้าอยู่คนเดียวได้ก็พอที่จะดึงไว้ได้ แต่ก็ไม่ง่าย ดึงได้เดี๋ยวเดียว กิเลสที่มีอยู่เดิมก็จะดึงไปอีก พอได้สติก็ดึงกลับมาอีก จึงต้องคอยดูใจเสมอว่ากำลังคิดอะไร คิดทางธรรมหรือคิดทางกิเลส ถ้ารู้ว่าคิดทางกิเลสก็ดึงกลับมาคิดทางธรรม เอาแต่พุทโธๆไปก่อนก็ได้ ถ้าไม่รู้จะคิดอะไร เอาแต่พุทโธๆไปก่อนก็ยังดี ถึงแม้จะไม่เป็นปัญญา อย่างน้อยก็จะเป็นสมาธิ จะไม่ไปทางกิเลส พอมีกำลังควบคุมความคิดได้แล้ว ก็จะสามารถกำหนดให้มันคิดเรื่องต่างๆได้ คิดเรื่องร่างกาย อาการ ๓๒ อสุภะ ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟได้ พิจารณาอริยสัจ ๔ ก็ได้ ต้องบังคับความคิดของเรา ท่านถึงสอนให้พุทโธๆทั้งวัน ขั้นอนุบาลขั้นต้นเลยก็คือพุทโธๆไปทั้งวัน อย่าไปลังเลสงสัยว่าจะได้ผลหรือไม่ ลองทำดู ในวันหนึ่งไม่ต้องคิดเรื่องอะไร ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปคิด พุทโธๆไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะทำอะไรก็พุทโธๆไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นความเย็นสงบปรากฏขึ้นมาถึงแม้จะไม่รวมลงก็ตาม แต่จะรู้สึกว่ามันเข้าไปข้างใน เวลาพุทโธๆมากๆก็เหมือนกับเดินเข้าไปในถ้ำ รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆจะห่างไกลออกไป เวลาเดินไปไหนไม่ต้องไปมองหน้าใคร มองเท้าเราแล้วก็พุทโธๆไป ไม่ต้องสนใจไม่ต้องไปคุยกับใครทักทายกับใคร ถ้าจำเป็นก็ยิ้มหน่อยก็พอแล้ว แล้วก็พุทโธๆต่อไป ใจจะสงบ ท่ามกลางความวุ่นวายต่างๆรอบตัวเรา เพราะใจไม่ออกไปรับเอาเข้ามาในใจ มีพุทโธๆดึงไว้ ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ลองเอาไปทำดู นี้คือการบ้าน แล้วคราวหน้ามารายงาน

 

ถาม  เคยฟังเทศน์หลวงตา ท่านสอนว่าวางภายนอกวางภายใน ว่างภายนอกว่างภายใน

 

ตอบ  พอปล่อยวางภายนอกและภายใน จิตก็จะว่างจากความโลภโกรธหลง ว่างจากความยึดติด ว่างจากการคิดปรุงแต่งเกี่ยวกับเรื่องภายนอกและเรื่องภายใน สักแต่ว่ารู้ ข้างนอกเป็นอย่างไรก็สักแต่ว่ารู้ ข้างในเป็นอย่างไรก็สักแต่ว่ารู้ไป ก่อนจะถึงจุดนั้นได้ก็ต้องดึงจิตให้มาทางธรรมะให้ได้ก่อน ไม่ให้ไปทางกิเลส เพราะตอนนี้จะไปทางกิเลสโดยอัตโนมัติ พอเห็นอะไรปั๊บจะไปทางกิเลสทันที เราต้องดึงมาทางธรรมะก่อน จนไม่ไปทางกิเลสแล้ว เราก็หยุดทางธรรมะ เพราะธรรมะเป็นเพียงยาแก้กิเลส พอจิตไม่ไปทางกิเลสแล้ว ธรรมะก็หมดหน้าที่ จะสักแต่ว่ารู้ได้ เฉยๆได้ตลอดเวลา ถ้าไปทางกิเลสก็ต้องเอามาทางธรรมะทันที เช่นอยากจะไปเที่ยวก็ต้องดึงกลับเข้ามาทันที พอไม่อยากไปเที่ยวแล้ว ธรรมะก็ไม่ต้องทำงาน หยุดได้แล้ว ธรรมะมีหน้าที่ต้านกิเลสเท่านั้นเอง ธรรมะเป็นมรรคเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป็นผล พอได้ผลได้นิพพานแล้วมรรคก็หมดหน้าที่ไป เหมือนนั่งรถมาที่นี่ ถ้ายังมาไม่ถึงที่นี่ก็ต้องนั่งอยู่ในรถจนกว่าจะถึง พอถึงแล้วก็ต้องลงจากรถ ไม่นั่งอยู่ในรถ พอได้ผลแล้วก็หยุดพิจารณาได้แล้ว ไม่มีอะไรจะต้องทำอีกแล้ว ถึงเป้าหมายแล้ว ได้ผลแล้ว ถ้ายังไม่ได้ผลก็ต้องเจริญมรรคให้มาก เจริญให้เต็มที่ กิจในอริยสัจ ๔ คือมรรคต้องเจริญให้มากให้สมบูรณ์ เพื่อละกิเลส กิเลสต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง นิโรธจะแจ้งได้ก็ต่อเมื่อได้ละกิเลส จะละกิเลสได้ก็ต้องเจริญมรรค คิดไปในทางมรรค อย่าไปคิดในทางกิเลส อย่าไปคิดอยากได้อยากมีอยากเป็น อยากใหญ่อยากโต อยากได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง อยากร่ำอยากรวย นี่คิดไปทางกิเลสทั้งนั้น

 

        ต้องคิดว่าไม่เที่ยง เป็นเพียงสมมุติ เป็นหัวโขน ไม่ถาวร จะรวยมากน้อยเพียงไร พอหมดอายุไขก็จบ เงินทองหามาได้เท่าไรเวลาตายไปก็เป็นของคนอื่นไป ไม่มีอะไรติดตัวไปเลย กลับมาเกิดก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ถ้ามีธรรมะติดไปกลับมาเกิดใหม่ก็ไม่ต้องเริ่มต้นที่ศูนย์ ทำต่อจากที่ได้ทำไว้ เพราะติดอยู่ในจิตแล้ว ถ้ามีสมาธิก็เจริญปัญญาได้เลย ไม่ต้องนั่งทำสมาธิ คนเราจึงมีภาวะทางธรรมะต่างกัน บางคนยังต้องทำทาน บางคนยังต้องรักษาศีล บางคนยังต้องนั่งสมาธิ บางคนพอฟังธรรมก็บรรลุได้เลย เพราะงานทางจิตใจไม่สูญไปกับความตายของร่างกาย เพราะใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เพียงแต่ใจต้องไปหาร่างกายใหม่เท่านั้นเอง พอได้เกิดเป็นมนุษย์ก็จะปฏิบัติต่อไป ถ้าไปถึงขั้นที่ไม่ต้องมีใครสอน ไม่ต้องมีใครชวน ใครฉุดใครลาก ก็จะไปเอง ถ้ายังอยู่ในขั้นที่ต้องให้คนอื่นคอยชวนคอยลากอยู่ ก็ต้องรอให้มีคนมาชวนถึงจะไป ก็ยังดีกว่าคนที่ชวนแล้วไม่ไปเลย แสดงว่าไม่มีอะไรติดมาเลย การสร้างบุญบารมีเพื่อพัฒนาจิตใจจึงดีกว่า ไม่สูญหาย ไม่เหมือนกับสร้างลาภยศสรรเสริญสุข พอตายไปกลับมาใหม่ก็ต้องสร้างอีก

 

ถาม  ถ้าเอาสังขารมาคิดในทางธรรมได้ สัญญาเวทนาวิญญาณก็เอามาใช้ในทางธรรมได้เช่นกัน ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ได้ แต่ตัวที่สำคัญก็คือสัญญากับสังขาร เพราะเป็นตัวที่จดจำและคิดปรุงแต่งขึ้นมา สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ ถ้าจะจำก็ควรจำเรื่องธรรมะ อย่าไปจำเรื่องกิเลส ถ้าจะคิดก็คิดเรื่องธรรมะ ส่วนวิญญาณเป็นตัวรับรู้เฉยๆ ถ้าสัญญาสังขารไม่ทำงานก็มีตัววิญญาณนี้แหละที่จะสักแต่ว่ารู้ วิญญาณเพียงรับรู้ รับภาพรับเสียงรับรูปรับกลิ่นต่างๆที่เข้ามาสู่ใจ จากนั้นสัญญาสังขารก็จะรับลูกต่อ ถ้าควบคุมสัญญาสังขารให้หยุดได้ ก็มีวิญญาณที่ทำหน้าที่อยู่ตัวเดียว เวทนาก็จะเป็นอุเบกขา จะไม่สุขไม่ทุกข์ จะเฉยๆ ไม่ดีใจเสียใจ วิญญาณเป็นผู้รับเรื่องต่างๆเข้ามา ตัวที่สำคัญก็คือสัญญาสังขาร ถ้าหยุด ๒ ตัวนี้หรือควบคุมสัญญาสังขาร เวทนาก็จะไม่สุขไม่ทุกข์ ถ้าสัญญาสังขารคิดไปในทางที่ดีก็เกิดความสุขใจขึ้นมา คิดไปในทางไม่ดีก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ไม่ดีทั้ง ๒ ส่วน เพราะพอเกิดความสุขใจก็ยึดติด พอเกิดความทุกข์ใจก็อยากให้หายไป เป็นสมุทัยขึ้นมา เป็นความทุกข์ในอริยสัจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าสักแต่ว่ารู้ คือวิญญาณรับข้อมูลมาแล้วก็หยุดตรงนั้น สัญญาสังขารไม่ต้องทำงาน เพียงแต่รู้ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาก็จะไม่ไปยุ่งกับมัน มันก็จบ แต่สัญญาแบบนี้มีน้อย มักจะมองอะไรว่าเป็นตัวเราของเราเสียมากกว่า ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ นี่คือตัวสัญญา สังขารก็ปรุงต่อ ถ้าไม่ดีก็หดหู่ใจขึ้นมา แต่เวลาปฏิบัติไม่ต้องมาคอยแยกแยะ มันทำงานของมันโดยอัตโนมัติ หน้าที่ของเราก็คือพยายามอัดธรรมะเข้าไปในใจ ให้คิดแต่เรื่องธรรมะอยู่เรื่อยๆ ตัวนี้จะทำหน้าที่หยุดทุกอย่างเอง อัดอนิจจังทุกขังอนัตตาเข้าไปเรื่อยๆ อัดเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะหยุดเอง

 

ถาม  จิตเรียนรู้แล้วก็หลุดเอง ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  จิตได้ข้อมูลใหม่ ข้อมูลเก่าทำให้อยากได้ อยากอยู่นานๆ อยากเป็นสุข อยากดีอยู่เรื่อยๆ แต่ข้อมูลใหม่จะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ สังขารก็จะหยุดอยาก จะเป็นอย่างไรก็เป็นไป อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะเป็นก็เป็น แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น พอเห็นอะไรจะต้องรีบจัดการแก้ไขทันที ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็หดหู่ใจ