กัณฑ์ที่ ๓๙๒       ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๑

 

แนวทางปฏิบัติ

 

 

 

ถาม  ขอแนวทางปฏิบัติ

 

ตอบ  ดูใจเราเป็นหลัก เวลาเห็นอะไร ให้ดูใจว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เห็น

 

ถาม  คำว่าดูใจนี้ ไม่เข้าใจว่าดูกับคิด ต่างกันตรงไหน

 

ตอบ เวลาคิดอยากจะทำอะไร อย่างนี้เป็นความคิด คิดจะดื่มน้ำ คิดจะพิมพ์หนังสือ คิดถึงคนนั้นคิดถึงคนนี้ เรียกว่าความคิด ดูใจก็ให้ดูความคิด คิดแล้วก็อย่าไปทำตามความคิดเสมอไป ให้วิเคราะห์ความคิด ว่าคิดดีหรือไม่ เช่นคิดจะไปทำร้ายผู้อื่น ก็อย่าไปทำ คิดมาทำบุญก็ทำเลย ต้องแยกแยะความคิดที่มีทั้งฝ่ายดีฝ่ายไม่ดีและฝ่ายตรงกลาง มีอยู่ ๓ ฝ่าย

 

ถาม  ถ้าคิดว่าจะมาทำบุญ เราก็รู้ว่าเราคิดอยากจะมาทำบุญ อย่างนี้เป็นการดูหรือเปล่า

 

ตอบ ถ้ารู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ก็แสดงว่ากำลังดูอยู่ แต่ยังไม่พอ ต้องวิเคราะห์ความคิดก่อน ก่อนที่จะปล่อยให้ออกมา ทางวาจาและทางกาย นอกจากดูความคิดแล้วก็ต้องดูอารมณ์ด้วย เวลาคิดโกรธใจจะร้อนขึ้นมาทันที ให้ดูตัวนี้เป็นสำคัญ ถ้าร้อนแสดงว่าคิดไม่ดีแล้ว เป็นโทษกับใจ ถ้าเกิดความรุ่มร้อน ความวิตก ความกังวล ความห่วงใย ความเสียใจ เป็นความคิดไม่ดีทั้งนั้น แล้วจะแก้ความคิดไม่ดีนี้ได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยธรรมะ คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่แก้ความคิดไม่ดีเหล่านี้ได้ เป็นเหมือนยา ความคิดไม่ดีเป็นเหมือนเชื้อโรค พอคิดแล้วเป็นไข้ขึ้นมาทางใจ กระอักกระอ่วนกระวนกระวายกระสับกระส่าย กินไม่ได้นอนไม่หลับแสดงว่าคิดไม่ดีแล้ว เช่นเรารักใครสักคนแล้วก็ห่วงกังวล เกิดอาการไม่ปกติแล้ว แสดงว่าคิดผิดแล้ว จะทำอย่างไรให้คิดถูก ท่านก็สอนว่าไม่ควรไปรักเขาขนาดนั้น ต้องรู้ความจริงที่จะเกิดขึ้น เขาอาจจะเป็นอะไรไปเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเราห้ามได้ก็ทำไป ถ้าห้ามไม่ได้ก็ต้องยอมรับความจริง เราก็จะหายกระอักกระอ่วนกระวนกระวาย

 

ถาม  ถ้าไม่หายล่ะ

 

ตอบ  ไม่หายแสดงว่ายังไม่ยอมรับความจริงนี้ ยังไม่ยอมปล่อยเขา

 

ถาม  ถ้าใจหนึ่งอยากจะปล่อย แต่อีกใจหนึ่งไม่อยากปล่อย

 

ตอบ กำลังต่อสู้กัน ฝ่ายหนึ่งอยากจะดึงเอาไว้ อีกฝ่ายหนึ่งอยากจะปล่อย ถ้ายังไม่อยากจะปล่อย ก็เป็นเพราะว่ายังไม่เห็นประโยชน์ของการปล่อย ยังคิดว่าดีถ้าเก็บไว้ ถ้าดูใจตอนที่ไม่ปล่อยจะเห็นว่าทุกข์ทรมานใจ ถ้าปล่อยได้จริงๆใจจะโล่งสบาย ที่ยังไม่อยากปล่อยเพราะวิเคราะห์ไม่ลึกพอ ยังไม่เห็นว่าในที่สุดเขาจะต้องล้มหายตายจากไป ต่อให้ดูแลรักษาประคับประคองอย่างเต็มที่ เช่นแม่ไม่สบายพาเข้าโรงพยาบาล ทำทุกวิถีทางที่จะให้หาย แต่ก็ไม่หายหรือหายก็ได้ หายวันนี้วันหน้าก็เป็นใหม่อีก เพราะเป็นธรรมชาติของร่างกายที่จะต้องแก่เจ็บตายไปในที่สุด เราจะทำเท่าไหร่ก็ทำไป แต่เราต้องยอมรับความจริง ทำตามหน้าที่ ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ในที่สุดก็ต้องแพ้ความแก่ความเจ็บความตายอยู่ดี ไม่ว่าใครทั้งนั้น เป็นแบบเดียวกัน ยังทำได้ก็ทำไป มียากินก็กินไป มีหมอรักษาก็รักษาไป จะรักษาขนาดไหนก็แล้วแต่ความพอใจ บางคนต้องเต็มที่ หมอยาเต็มที่ บางคนเอาแค่กินยาก็พอ ไม่นอนโรงพยาบาล ไม่ฉีดยา ไม่ใช้สายยาง ไม่ผ่าตัด ขึ้นอยู่ที่ธรรมะของแต่ละคน ว่ามีมากมีน้อย ถ้ามีธรรมะมากก็ไม่รักษามาก ถ้ามีน้อยก็จะรักษามาก ในที่สุดก็ไปจบที่โลงศพทั้งนั้น

 

ถาม  ถ้ารักษาน้อย ก็เหมือนกับไม่ได้ทำหน้าที่เต็มที่

 

ตอบ เรารักษาใจเต็มที่แทน

 

ถาม  ไม่ได้รักษาเขา

 

ตอบ  ใจเราสำคัญกว่า

 

ถาม  ไม่เป็นการเห็นแก่ตัวหรือ

 

ตอบ  ตัวของเขา ไม่ใช่ตัวของเรา

 

ถาม  เราเป็นลูก เรามีหน้าที่ดูแลเต็มที่

 

ตอบ เราต้องถามเขาว่าจะรักษาขนาดไหน จะไปบังคับเขาไม่ได้ ถ้าเขาไม่อยากจะเข้าโรงพยาบาลก็อย่าพาไป อย่าไปบังคับใจเขา ถามเขาจะเอาอย่างไร จะเอาขนาดไหน ควรเคารพสิทธิของเขา ชีวิตร่างกายเป็นของเขา อยากจะรักษาอย่างไรก็ทำตามที่เขาต้องการ เรามีหน้าที่รับใช้ ไม่มีหน้าที่สั่งการ

 

ถาม  ถ้าใจหนึ่งเป็นอกุศลอีกใจหนึ่งเป็นกุศล แต่อกุศลจะแรงกว่า ท่านอาจารย์บอกให้เอาธรรมะเข้ามาช่วย แต่อกุศลมันแรงมาก ต่อให้ฟังซีดีีธรรมะก็เอาไม่อยู่ ต้องทำอย่างไร

 

ตอบ ต้องเจริญสติเจริญสมาธิ เพราะเป็นการหยุดใจ เจริญสติดึงใจให้มาอยู่กับพุทโธๆ แทนที่จะไปอยู่กับความคิดนั้น  

 

ถาม  ถ้าทำไม่ได้

 

ตอบ  ได้สิ

 

ถาม  เคยพยายามทำเหมือนกัน แต่ก็หลุด แป๊บเดียว มันก็ไหลไปอีก

 

ตอบ  พยายามทำไปเรื่อยๆ ต่อไปจะดีเอง มันเหมือนตอนหัดเดินใหม่ๆ มันก็เดินไม่ได้ทันที เดินแล้วก็ล้มลุกคลุกคลาน ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปจะชำนาญขึ้น จะสามารถดึงใจให้อยู่กับพุทโธๆได้นานขึ้น  จนหยุดมันได้ ลืมเรื่องที่กำลังคิดไม่ดีได้เลย แต่ตอนนี้ความคิดไม่ดีจะคิดของมันเอง เราไม่มีกำลังดึงมันไว้ เพราะไม่เคยฝึกดึงมัน พอฝึกไปเรื่อยๆแล้ว กำลังที่จะดึงมันไว้ก็จะมีมากขึ้น จนสามารถบังคับความคิดได้ คิดไม่ดีก็ให้มันหยุดได้ บังคับให้มันคิดดีได้ ต่อไปจะติดเป็นนิสัย จะคิดแต่เรื่องที่ดี เรื่องที่ไม่ดีจะไม่คิด ความคิดเป็นเหมือนรถยนต์ ถ้าขับไม่เป็นปล่อยให้วิ่งลงเขา มันก็จะไปตามเรื่องของมัน ถ้าขับเป็นเราก็จะรู้จักใช้เบรกใช้พวงมาลัยควบคุมมันได้ การฝึกสติเป็นการฝึกควบคุมความคิด การฟังธรรมะเป็นการศึกษาวิธีการควบคุมความคิด ศึกษาว่าคิดแบบไหนดี คิดแบบไหนไม่ดี คิดดีต้องตรงกับความจริงของธรรมชาติ เช่นร่างกาย เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา มีเกิดแก่เจ็บตาย บังคับมันไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เกิดจากอาหารที่รับประทาน มาจากดินน้ำลมไฟ พอตายเอาไปฝังดินก็กลายเป็นดินไป เอาไปเผาไฟก็กลายเป็นขี้เถ้าไป นี่คือความคิดที่ดี เป็นประโยชน์กับใจ เพราะจะปรับทัศนคติของเราให้ถูกต้อง เมื่อก่อนจะเห็นเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นนาย ก. นาย ข. ต่อไปจะเห็นเป็นเพียงอาการ ๓๒ มีผมขนเล็บฟันเป็นต้น เป็นดินน้ำลมไฟ ไม่เที่ยง มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา

 

        พอเห็นอย่างนี้แล้วจะไม่ร้องห่มร้องไห้ ใครตายก็ไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าต้องตายและไม่มีใครตาย เป็นเหมือนขวดน้ำพลาสติก ผู้ที่ครอบครองร่างกายคือใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจเป็นผู้สั่งการ มาที่นี่วันนี้ ก็มีใจเป็นผู้สั่งมา สั่งให้เดิน สั่งให้ลุกขึ้น สั่งให้ทำอะไรต่างๆ แต่ใจไม่รู้ว่าใจเป็นใจ ไปหลงว่าร่างกายเป็นใจ เป็นตัวเรา เป็นของเรา พอร่างกายเป็นอะไรก็เกิดความหวาดกลัวขึ้นมา  พอรู้ความจริงว่าผู้หวาดกลัวกับผู้ตายเป็นคนละคนกัน ก็หายกลัว เหมือนแก้วน้ำกับเรานี่ เป็นคนละส่วนกัน แก้วน้ำแตกไป เราไม่ได้แตกไปด้วย พอร่างกายตายไปใจก็ไปหาร่างกายใหม่ ถ้ายังไม่ได้ร่างกายใหม่ ก็เหมือนอยู่ในฝัน ถ้าฝันดีก็มีความสุข ฝันร้ายก็มีความทุกข์ ตอนนั้นไม่มีร่างกายมาเกี่ยวข้อง ความฝันเกิดจากความคิดที่ฝังอยู่ในใจ ปรุงแต่งขึ้นมาให้เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนเขียนนิยาย  เหมือนฉายภาพยนตร์  เวลาเรานอนหลับฝันไปเราก็ดูภาพยนตร์ที่เราผลิต จากพฤติกรรมที่ทำไว้ในอดีต ทำกรรมอะไรไว้ ก็จะผลิตภาพยนตร์แบบนั้น ทำบาปทำกรรมฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไว้ ก็จะมีเรื่องแบบนี้ให้ดู ก็จะเป็นนรก ถ้าทำบุญทำประโยชน์ ก็จะมีเรื่องแบบนี้ให้ดู ดูแล้วก็มีความสุข ก็จะเป็นสวรรค์ นรกสวรรค์ไม่ใช่สถานที่ เป็นสถานภาพของจิต จิตเป็นผู้ผลิต ที่หวาดกลัวจนเป็นบ้าเป็นบอไป จิตก็เป็นผู้ผลิตขึ้นมา เวลาสูญเสียอะไรไปก็เศร้าโศกเสียใจ ทุกข์ระทมทุกข์จนทนอยู่ไม่ได้ คิดฆ่าตัวตายหนีความทุกข์  แต่หนีไม่พ้นเพราะทุกข์มันอยู่ในจิต ฆ่าร่างกายไป แต่ความคิดที่สร้างความทุกข์ยังอยู่ในจิต จะยิ่งคิดสร้างความทุกข์มากขึ้นไปใหญ่ เพราะการคิดฆ่าตัวเองนี้มันทุกข์ขนาดไหน ถ้าไม่มีสติจะไม่สามารถควบคุมความคิดได้ พอคิดอะไรก็จะทำตาม เช่นกระโดดตึกตาย ฆ่าคนอื่นแล้วก็ฆ่าตัวเอง ถ้ามีสติก็จะหยุดได้ มีปัญหาอะไรก็วิเคราะห์ดูเป็นขั้นเป็นตอนไป แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ปล่อยให้มันเป็นไป อะไรจะเกิดก็เกิด จะตกงานก็ตกไป หางานใหม่ได้ หาไม่ได้ก็อยู่บ้าน วิเคราะห์ไปเป็นขั้นเป็นตอน อย่างมากก็แค่ตาย ต้องตายอยู่ดี มีงานทำก็ต้องตาย

 

ถาม  ให้คิดอย่างนี้ก็คิดได้ แต่รู้สึกว่าเป็นเพียงการคิดตาม เป็นเพียงทฤษฎี ใจจะเป็นจริงอย่างนั้นได้หรือเปล่า

 

ตอบ  ต้องเป็นทฤษฎีไปก่อน แล้วนำเอาไปปฏิบัติให้ได้ ถ้าคิดแล้วไม่ปฏิบัติ คิดไปทำไมให้เสียเวลา ถ้าคิดว่านั่งสมาธิดีก็ต้องนั่งสมาธิ ไม่ใช่ไปเข้าบาร์เข้าผับ ก็รู้อยู่ว่าเข้าบาร์เข้าผับมันไม่ดี มีแต่เสียเงินเสียเวลาเสียสุขภาพ เหมือนคนติดยาเสพติด ก็รู้ว่าไม่ดีแต่เลิกไม่ได้ ไม่มีกำลัง ไม่มีสมาธิที่จะหยุดจิต เหมือนรถที่วิ่งลงเขา ควบคุมไม่ได้ ตัณหาจะต้องพาไปหาสิ่งที่อยากทันที อยากเหล้าก็พาเราไปหาเหล้า ไม่มีใครช่วยเราได้ เราต้องช่วยตัวเราเอง คนอื่นปฏิบัติแทนเราไม่ได้ แม้จะไปอยู่ที่สถานบำบัด ถ้ายังอยากอยู่ก็จะไม่เลิก พอออกจากสถานบำบัดก็กลับไปเสพใหม่ ต้องเห็นโทษของสิ่งที่ติดอยู่ ว่าเป็นอันตรายกับชีวิตจิตใจ ถึงจะทำให้เรามีความกล้าหาญ ที่จะยอมทนทุกข์ต่อสู้กับความอยาก เหมือนกับมีหนามตำเท้า เดินทีไรก็เจ็บทุกที ถ้าจะผ่าออกมันก็เจ็บ กว่าแผลจะหายก็เจ็บหลายวัน ควรยอมเจ็บเพื่อให้หายขาดเลยจะดีกว่า ดีกว่าปล่อยให้เจ็บไปเรื่อยๆ ติดอะไรจึงควรตัดให้ได้ เช่นติดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ติดกันทุกคน ติดมากติดน้อย อยู่แบบไม่มีรูปให้ดู ไม่มีเสียงให้ฟังไม่ได้ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา มันไม่ดีพอ มีสุขมีทุกข์ปนกันไป เหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล สุขเดี๋ยวเดียวแล้วก็ทุกข์

 

ถาม  บางทีก็ท้อเหมือนกัน เวลาปฏิบัติไม่เห็นอะไรเกิดขึ้นสักที

 

ตอบ  ปฏิบัติไม่เป็น ไม่ทำตามทฤษฎี เหมือนมวยวัด

 

ถาม  ต้องทำอย่างไร

 

ตอบ  ขั้นแรกต้องฝึกให้มีสติ  ทำอะไรก็อย่าปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยเปื่อย ให้จดจ่ออยู่กับกิจที่กำลังทำอยู่ ให้อยู่ในปัจจุบัน อย่าส่งไปในอดีตไปในอนาคต อยู่ตรงนี้เดี๋ยวนี้ คุยกันก็อยู่ตรงนี้ อย่าส่งไปที่สำนักงาน ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ ให้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ดึงมันไว้ ถ้าดึงไม่ได้ก็เอาพุทโธๆดึงไว้ก็ได้ ทำอะไรก็พุทโธๆไปในใจ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ถ้าจะคิดเรื่องที่จำเป็นจริงๆ ก็หยุดงานก่อน เอาความคิดมาเป็นงาน คิดให้พอ คิดเสร็จแล้วก็เอาเข้าลิ้นชัก แล้วก็กลับมาทำงานที่ต้องทำต่อ

 

ถาม  ทำทีละอย่าง

 

ตอบ  ให้รู้อยู่กับเหตุการณ์เดียว เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ต้องอยู่คนเดียวถึงจะทำได้

 

ถาม  ในชีวิตประจำวันทำอย่างนั้นไม่ได้

 

ตอบ  ถ้าเคยฝึกมาแล้วก็ทำได้ ต้องอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปที่อื่น เขาพูดอะไรก็ฟังเขา เขาพูดเสร็จแล้ว เราก็กลับมาดูตัวเราต่อ กลับมาดูสิ่งที่เรากำลังทำ ถ้าต้องพูดก็หยุดก่อน กำลังคุยกันอยู่นี้ก็คุยกันไป ไม่ส่งจิตไปที่อื่น อยู่ตรงนี้ ไม่คิดถึงงานที่ทำทิ้งไว้หรืองานที่ต้องทำ เอาเป็นเรื่องๆไป ให้อยู่ในปัจจุบัน เหตุการณ์เกิดในปัจจุบันเท่านั้น ไม่เกิดในอดีต ไม่เกิดในอนาคต อดีตเป็นความจำ อนาคตเป็นจินตนาการ คิดถึงพรุ่งนี้ แต่ไม่มีพรุ่งนี้ มีแต่วันนี้ มีขณะนี้เท่านั้น ไม่มีขณะอื่น ถ้าจิตนิ่งจะรู้ว่ามีแต่ปัจจุบันที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เสียงลมพัดผ่านเข้ามาแล้วก็หายไป รู้แล้วก็อย่าไปยึดอย่าไปติด เสียงดีเข้ามาก็อย่าไปดีใจ เพราะอยากจะฟังอีก เสียงไม่ดีก็อย่าเอามาคิดจนเป็นบ้าไป เขาพูดคำเดียวไม่ถูกใจ ก็คิดทั้งวัน มันผ่านไปแล้ว เขาพูดแค่วินาทีเดียว มันผ่านไปแล้ว แต่เอามาฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าต้องวิเคราะห์ก็วิเคราะห์ได้ เขาพูดอะไรก็วิเคราะห์ไป วิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล อย่าไปวิเคราะห์ด้วยอารมณ์ เขาต้องการที่จะสื่ออะไร ก็วิเคราะห์ไป ถ้าวิเคราะห์ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป มีโอกาสก็ถามเขา ถ้าไม่เป็นสาระก็ปล่อยให้ผ่านไป ให้ตั้งจิตอยู่บนเหตุผล อย่าตั้งอยู่บนอารมณ์ เรื่องชอบหรือไม่ชอบพยายามอย่าให้มี ให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราชอบหรือไม่ชอบ เกิดจากความหลง เพราะไม่รู้ว่าจริงๆแล้วมันเป็นอะไรกันแน่

 

        เราไปหลงในรูปร่างลักษณะ เห็นแก้วใบนี้ก็ชอบมัน ไม่รู้ว่าเป็นเพียงวัตถุ คนที่เราชอบหรือไม่ชอบ ก็มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน เป็นดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ถ้าไปชอบไปยึดติดก็จะทุกข์ พอรักแล้วก็จะหวง พอเป็นอะไรไปก็วุ่นวายใจ พอจะจากไปก็เสียใจ ต้องคิดเตรียมไว้ก่อน ว่าเขาจะต้องจากเราหรือเราต้องจากเขา ไม่มีอะไรอยู่ด้วยกันไปตลอด มีสิ่งเดียวที่อยู่กับเราไปตลอดก็คือใจเรานี่แหละ แม้แต่ร่างกายเราก็ต้องจากไป เราเปลี่ยนร่างกายมาไม่รู้กี่ร่างแล้ว ร้องห่มร้องไห้หวาดกลัวกับร่างกาย ไม่รู้มากี่ล้านครั้งแล้ว เพราะไม่รู้ว่ามันไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าเรารู้ว่ามันไม่ใช่ตัวเรา เราจะเดือดร้อนไหม ร่างกายของคนอื่นเป็นอย่างไร เราเดือดร้อนหรือไม่ ต้องคิดว่าร่างกายเป็นของคนอื่น มันก็จบ จะไม่ดีใจ ไม่เสียใจ จะเฉยๆ รับรู้กันไปตามความจริง ก่อนจะมาถึงขั้นนี้ได้ก็ต้องฝึกสติให้ได้ก่อน หัดควบคุมใจให้ได้ก่อน ถึงจะแก้ความคิดของเราได้ ตอนต้นก็หยุดมันก่อน พอหยุดได้แล้ว ก็เอามาคิดตามความจริง จนฝังเข้าไปในใจ ในจิตสำนึก พออยู่ในจิตสำนึกแล้ว พอเห็นอะไรก็จะทันๆ จะไม่เห็นเหมือนเมื่อก่อนนี้ จะไม่เห็นว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล แต่เห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟเหมือนกันหมด มาจากดินน้ำลมไฟ กลับสู่ดินน้ำลมไฟ ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ร่างกายก็เป็นอย่างนี้ ทุกอย่างมาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็กลับไปสู่ดินน้ำลมไฟหมด

 

        โลกนี้เป็นโลกของความหลง โลกมายา แต่เราไม่รู้กัน เราคิดว่าเป็นของจริง ถ้าไม่ได้ฟังเทศน์จะไม่รู้เลยว่าอะไรคือความจริง เราต้องมาสอนใจใหม่ ใจถูกสอนให้เห็นเป็นสัตว์เป็นบุคคล มีดีไม่ดี เกิดความรักความผูกพัน อยากจะให้อยู่ไปนานๆ แต่ไม่รู้ว่าร่างกายเราเป็นเพียงตุ๊กตา ร่างกายเราไม่ต่างจากตุ๊กตา ตุ๊กตาก็เอาแบบมาจากร่างกาย เพียงแต่ตุ๊กตาไม่ลึกลับซับซ้อนเหมือนกับร่างกาย ที่มีอวัยวะต่างๆ มีความสามารถมากกว่าตุ๊กตา โลกนี้เป็นโลกธาตุ ธาตุก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ทุกอย่างมาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น มีตรงไหนที่ไม่ใช่มาจากดินน้ำลมไฟบ้าง มีอย่างหนึ่งก็คืออากาศธาตุ ที่ไม่ใช่ดินน้ำลมไฟ คำว่าอากาศหมายถึงพื้นที่ว่างเปล่า ไม่ได้หมายถึงลมหายใจ ลมออกซิเจนนี้เป็นธาตุลม พวกก๊าซต่างๆเป็นธาตุลม ธาตุไฟก็หมายถึงความร้อน ธาตุน้ำก็หมายถึงของเหลว ธาตุดินก็หมายถึงของแข็ง ทางวิทยาศาสตร์เรียกธาตุ ๔ ว่า ของแข็ง ของเหลว ก๊าซ ความร้อน มีอย่างเดียวที่นักวิทยาศาสตร์มองไม่เห็นก็คือธาตุรู้ คือใจ ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน ส่วนใหญ่คิดว่าอยู่ในร่างกาย อยู่ในสมอง ถ้าไม่ภาวนาจะไม่รู้ว่าไม่ได้อยู่ในร่างกาย

 

ถาม  ไม่อยู่ในร่างกายแล้วอยู่ที่ไหน

 

ตอบ  เหมือนกับคลื่นโทรศัพท์ อยู่ในเครื่องหรือเปล่า

 

ถาม  ไม่อยู่ แต่จิตของเรา คงไม่อยู่กับคนอื่น แต่อยู่ในตัวเรา

 

ตอบ  มีปัจจัยที่ทำให้มันเกาะติดกันอยู่

 

ถาม  การเห็นจิตนี้ เห็นอะไรถึงเรียกว่าเห็นจิต

 

ตอบ  เห็นจิตนั้นเห็นได้หลายอย่าง เช่นเห็นความคิด เห็นว่าความคิดกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน

 

ถาม  มันแยกกัน เห็นได้ขนาดนั้น

 

ตอบ  ได้ ถ้านั่งสมาธิจนจิตรวมลง จิตปล่อยวางร่างกาย จิตก็จะแยกออกจากร่างกาย จะเห็นในจิต ไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะมาจับภาพของจิตได้ ต้องปฏิบัติเอง สันทิฐิโก ผู้ปฏิบัติย่อมพิสูจน์เห็นได้ ไม่มีวิธีอื่นที่จะพิสูจน์ได้นอกจากการปฏิบัติ จิตต้องรวมลง แล้วแยกออกจากกาย ถึงจะเห็นชัด

 

ถาม  จะเกิดปัญญาได้ หมายถึงต้องแยกจิตกับกายให้ได้ใช่ไหม

 

ตอบ  การรู้ว่ากายกับจิตเป็นคนละส่วน เป็นปัญญาระดับหนึ่ง ขั้นต่อไปต้องตัดความผูกพันให้ได้ ต้องศึกษาร่างกายให้ถ่องแท้ว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา พอรู้ว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะไม่วิตก ทำอย่างไรให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องเห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ  มันมาจากอะไรก็วิเคราะห์ดู มันก็มาจากน้ำ ๒ หยด ของพ่อหยด ของแม่หยด พอรวมกันจิตก็เข้ามาครอบครอง ต่อจากนั้นก็เจริญเติบโตขึ้นมา ด้วยอาหารของแม่หล่อเลี้ยงในท้อง แม่ก็รับประทานอาหารชนิดต่างๆ ที่มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น

 

ถาม  จิตรู้ได้อย่างไรว่าจะเข้าร่างกายไหน

 

ตอบ  เป็นไปตามกฎแห่งกรรม เป็นไปโดยอัตโนมัติ ถ้าจิตยังมีความอยากอยู่ จิตก็จะไปแสวงหาตามกำลังของบุญของกรรม มีการตั้งครรภ์ตรงไหนก็จะไปตรงนั้น ถ้าหาร่างกายของมนุษย์ไม่ได้ ก็ต้องเอาร่างกายของหมาของแมวของนกของปลาก่อน แล้วแต่กำลังของบุญของกรรม ถ้ากำลังบุญมากก็จะได้ร่างกายของมนุษย์ ถ้ากำลังกรรมมากก็จะได้ร่างกายของเดรัจฉาน ของเปรต ของสัตว์นรก

 

ถาม  นรกสวรรค์ไม่มีจริง

 

ตอบ  เป็นภาวะของจิต ถ้าร้อนเป็นไฟ ทุกข์ใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็เป็นนรก  แต่จะเป็นยาวนานกว่าขณะที่มีชีวิตอยู่ ที่รุ่มร้อนอยู่วัน ๒ วันแล้วก็หายไป เพราะมีเรื่องอื่นมากลบ แต่ถ้าไม่มีร่างกายไม่มีปัจจัยอื่นมากลบ ก็จะร้อนไปจนกว่าจะหมดแรงหมดเชื้อ ที่กิเลสตัณหาผลิตขึ้นมา พอหายไปก็มีบุญกรรมตัวใหม่ผลิตออกมาอีก ถ้าเป็นบุญก็จะเย็นสบาย ถ้าเป็นความโลภก็จะเป็นเปรต หิวอยู่ตลอดเวลา อยากกินอยากได้ตลอดเวลา ถ้าเป็นความดีก็จะมีความสุข กับรูปเสียงกลิ่นรสที่สดใสน่าชื่นชมยินดี เหมือนตอนฝันดี เหมือนอยู่ในสวรรค์ สวรรค์ก็คือภาวะของจิต ที่ความดีบุญกุศลผลิตขึ้นมาในจิต แล้วก็หมดไป พอหมดแล้วก็จะได้กลับมาเติมใหม่ที่ภพของมนุษย์ เป็นมนุษย์ก็สามารถสะสมบุญกรรมขึ้นมาใหม่ได้ ทำบาปทำกรรมก็จะสะสมอบายไว้ในใจ ทำบุญก็สะสมสวรรค์ไว้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาสั่งสอน ก็จะทำบาปทำกรรมสลับกันไป อารมณ์ดีก็ทำบุญ อารมณ์ไม่ดีก็ทำบาป ใครขัดใจก็โกรธ ใครเอาใจก็ดีใจ  จะวนเวียนอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาสอนให้ทำใจให้ว่าง คิดไม่ดีก็สะสมอบาย คิดดีก็สะสมสุคติ ปล่อยวางความคิดทั้งหมดจะดีกว่า คิดได้แต่อย่าไปยึดอย่าไปติด ให้เป็นเพียงกิริยา อย่ามีอารมณ์ผูกติด ทำอะไรก็ทำไปแต่อย่าไปมีอารมณ์ ก็จะไม่เป็นภพ มีหน้าที่อะไรก็ทำไป มีงานอะไรก็ทำไป แต่ไม่ยึดติดกับงาน ทำเสร็จแล้วก็แล้วกันไป

 

ถาม  ให้ปรับความคิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ

 

ตอบ  เป็นวิปัสสนา เพื่อปล่อยวาง

 

ถาม  ทำจิตให้อยู่ตรงกลาง

 

ตอบ ไม่ให้มีอารมณ์กับอะไร ต้องฝึกสมาธิจนจิตรวมลงเป็นหนึ่ง เหมือนเวลาจะชั่งน้ำหนัก ต้องดูตาชั่งว่าอยู่ที่ศูนย์หรือเปล่า ถ้าไม่อยู่ที่ศูนย์เวลาจะชั่งไม่ได้น้ำหนักที่เที่ยงตรง ใจก็เหมือนกัน ถ้าจะรู้ว่าไม่มีอารมณ์กับอะไรจริงๆ ก็ต้องทำใจไม่ให้มีอารมณ์ ทำให้เป็นอุเบกขาก่อน พอมีอุเบกขาแล้ว พอใจส่ายไปทางยินดียินร้ายจะรู้ทันที ถ้าเป็นอุเบกขาอะไรจะเปลี่ยนไป ใจไม่เปลี่ยนตาม ใจเป็นอุเบกขาเสมอ พอร้อนก็รู้ว่าร้อน ใจเฉยๆไม่มีอารมณ์กับความร้อน หนาวก็รู้ว่าหนาว ไม่มีอารมณ์กับความหนาว ถ้ามีอารมณ์ก็ต้องดึงกลับมาที่อุเบกขาให้ได้ พอร้อนขึ้นมาเริ่มหงุดหงิดก็ต้องดึงกลับมา ไม่ไปแก้ข้างนอก เช่นติดแอร์ ดึงใจให้อยู่ตรงกลาง ให้พอใจ ให้เฉยๆ จึงต้องฝึก แต่พวกเราชอบสุขชอบสบายกัน จึงต้องหัดอยู่กับความยากลำบากขาดแคลน เช่นมาอยู่วัด เพื่อปรับให้เป็นอุเบกขากับสภาพที่ยากลำบากขาดแคลนให้ได้

 

ต้องทำสมาธิให้มากๆ ถ้ายังไม่มีสมาธิ สติปัญญาจะไม่มีกำลังพอ  ไม่มีสมาธิเป็นตัวดึงใจไว้ รู้อยู่ว่าไม่ควรหงุดหงิด แต่ก็บังคับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ที่จะหงุดหงิด รู้อยู่ว่าไม่ควรดีใจ แต่ก็ห้ามไม่ได้ เวลาใครพูดดีก็อดที่จะดีใจไม่ได้ เวลาใครพูดไม่ดีก็อดที่จะหงุดหงิดใจไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังที่จะดึงใจให้อยู่ตรงกลางระหว่างความยินดีและยินร้าย การทำสมาธิก็เพื่อให้ใจได้เข้าสู่จุดอุเบกขา พอเข้าได้แล้วจะรู้ว่าเป็นอย่างไร จะรักษาใจให้อยู่ตรงนี้เสมอ พอมีอะไรมากระทบ ถ้าดีใจก็ต้องตัดทันที ไม่ไปสนใจ ดีใจแล้วเดี๋ยวก็ต้องวุ่นวายใจ เสียใจก็ต้องวุ่นวายใจ ปล่อยไป บังคับเขาไม่ได้ เหมือนเสียงนกเสียงกา ปล่อยเขาร้องไป ถ้าไม่รำคาญก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าไม่ยินดีก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่าไปผูกพันกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสกับใจ รู้แล้วก็ปล่อยวาง สักแต่ว่ารู้ อย่าไปยินดียินร้าย นี้คือเป้าหมาย ต้องฝึกทำสมาธิฝึกทำสติไปก่อน

 

ถาม  ฝึกทำสมาธิ มีวิธีไหนที่ทำให้มันอยู่ นั่งแล้วจะลอยไปเรื่อย

 

ตอบ  มีแต่เราไม่ทำกัน ไปอยู่วัดสิ อยู่คนเดียว ตัดทุกอย่าง ทนเอาปี ๒ ปีก็ต้องได้อะไรแน่ๆ เราเองทนอยู่ปีหนึ่ง อยู่คนเดียว ลาออกจากงาน แล้วอยู่คนเดียวเพื่อเจริญสติสมาธิปัญญา ไม่เห็นยากตรงไหนเลย แค่นี้ทำไมจึงตัดไม่ได้กัน เพียงปีเดียวกับการเจริญสติ ให้เวลากับอย่างอื่นเป็นสิบๆปีได้ แต่ให้กับสิ่งที่มีสาระมีคุณมีประโยชน์กับใจไม่ได้ ถ้าให้ไม่ได้ก็จะไม่ได้มรรคผล

 

ถาม  เอาแบบเริ่มต้น ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น

 

ตอบ  พุทโธๆไปเรื่อยๆ อย่าคุยกับตัวเอง ให้รู้อยู่กับงานที่กำลังทำ อย่าไปคิดเรื่องอื่น แปรงฟันก็ให้อยู่กับแปรงฟัน พุทโธๆไปแปรงฟันไป กินข้าวไปพุทโธๆไป เท่านั้นพอ อย่าไปคุยกับคนอื่น

 

ถาม  จิตรวมคืออะไร

 

ตอบ  รวมเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา สงบนิ่ง

 

ถาม  จะรู้ไหมเวลาที่จิตรวมแล้ว

 

ตอบ  รู้  จะแปลกประหลาดมหัศจรรย์ใจ

 

ถาม  เหมือนจิตว่างใช่ไหมคะ

 

ตอบ ใช่

 

ถาม  เวลาที่นั่งสมาธิแล้วเกิดความเจ็บปวด พอถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่ามันแยกออกจากกัน คือความเจ็บปวดยังมี แต่เราไม่ได้ไปผูกติดกับเขา เขาอยู่ของเขาตรงนั้น เขาไม่ได้หายไป อย่างนี้ถือว่ารวมหรือไม่

 

ตอบ  สงบเป็นอุเบกขา แต่ไม่รวมจนหายไปหมด รวมได้ ๒ แบบ รวมแบบหายไปหมด ร่างกายก็หายไป ความเจ็บปวดก็หายไป หรือรวมแบบความเจ็บยังอยู่ ร่างกายยังอยู่ แต่เรารู้อยู่เฉยๆ ต่างฝ่ายต่างอยู่ เหมือนกับเสียงนี่ เราไม่ไปรำคาญกับเสียง ปล่อยให้มีเสียงไป ลมพัดก็ปล่อยให้พัดไป อย่างนี้ก็ใช้ได้ เป็นได้ทั้ง ๒ อย่าง

 

       

ถาม  ไม่ทราบรายละเอียดปลีกย่อยในศีล ๘ มีข้อห้ามอะไรบ้าง ทำให้ไม่กล้าถือทั้งหมด เลยถือศีล ๕ แต่ทำแบบศีล ๘

 

ตอบ สาระของศีล ๘ ก็คือให้สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ให้หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จากการรับประทาน จากการหลับนอน

 

ถาม  เดี๋ยวนี้ลูกจะมี ๒ คาถา  คือ ๑. ความอยาก เพราะต้นตอก็คือเราอยาก ๒. ที่ใช้บ่อยในที่ทำงานก็คือ ไม่ต้องไปดูข้างนอก คือดูที่ตัวเรา กลับมาดูที่ตัวเรา บางเวลาคุยเรื่องงาน เราเริ่มหงุดหงิดแล้ว เริ่มจะเอ๊ะทำไมเขาเป็นแบบนี้ ทำไมทำกันอย่างนี้ ก็จะเริ่มกลับเข้ามา คือไม่ส่งออกนอกแล้ว

 

ตอบ ปล่อยให้เขาลุยไป ให้เขาเถียงกันไป เรานั่งเฉยๆ

 

ถาม  บางทีถ้าเราเริ่มวิพากษ์วิจารณ์เขา เราจะย้อนกลับมาดูตัวเองก่อน

 

ตอบ  อย่างนั้นถูกแล้ว

 

ถาม  เวลาเราโกรธ ก็ถามว่าโกรธเพราะอะไร ก็ช่วยได้มากค่ะ

 

ตอบ  แก้ปัญหาถูกจุดแล้ว ไฟกำลังไหม้ใจ อย่าไปดับที่อื่น ดับที่ใจ ความโกรธอยู่ที่ใจ ความหงุดหงิดอยู่ที่ใจ เพียงแต่อาศัยสิ่งภายนอกเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดขึ้น แต่ตัวที่เป็นปัญหาอยู่ที่ใจเรา เริ่มรู้แล้วว่าต้องมองข้างใน ต้องปล่อยข้างนอก หลวงปู่ดุลย์สอนเสมอว่า เข้าข้างในเป็นมรรค ออกข้างนอกเป็นสมุทัย ออกข้างนอกเป็นทุกข์ เข้าข้างในสุขสงบเย็นสบาย

 

ถาม  ถ้าหลงออกไปข้างนอก ก็จะหลงไม่นาน แล้วก็จะกลับมา จะรู้ว่าเมื่อสักครู่นี้หลงไปแล้วนะ

 

ตอบ  ใช้ได้ แสดงว่าได้เข้าสู่มรรคแล้ว เจริญอย่างนี้ไปเรื่อยๆ   

 

ถาม  ผ่านความเจ็บปวดให้ได้

 

ตอบ ต้องเข้าไปถึงจุดนั้น ต้องเจอความเจ็บปวด แล้วก็ใช้พุทโธๆ บริกรรมไปเรื่อยๆ ไม่ไปนึกถึงความเจ็บปวด เดี๋ยวมันก็หายไปเอง ต้องไปถึงตรงนั้นให้ได้ บางคนไปไม่ถึง นั่งได้เดี๋ยวเดียวยังไม่ทันเจ็บก็ลุกแล้ว หงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมาแล้ว อย่างนี้ก็อีกไกล สติไม่มีกำลังพอที่จะผ่านขั้นแรกไปได้ คือความหงุดหงิดฟุ้งซ่าน มันก็ไปไม่ถึงขั้นที่มันเกิดเวทนาทางร่างกายขึ้นมา ถ้าถึงขั้นนั้นก็ใช้พุทโธๆบริกรรมไป หรือพิจารณาแยกแยะว่าเป็นคนละส่วนกัน ปล่อยไปตามเรื่อง เวทนาก็เป็นเหมือนเสียง ที่เข้ามาทางหู แล้วไปปรากฏที่ใจ เวทนาก็มาจากร่างกาย แล้วก็ไปปรากฏที่ใจเหมือนกัน พอไปถึงใจก็เป็นสภาวธรรมที่ปรากฏในใจ มีสัญญาไปแยกว่าดีหรือไม่ดี ต้องลบสัญญาที่ไปว่าดีหรือไม่ดี โดยพิจารณาว่าเป็นเพียงสภาวธรรม ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เสียงก็เป็นสภาวธรรม เวทนาที่มาทางกายก็เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน พอไปถึงใจแล้วเป็นสภาวธรรมเหมือนกัน ถ้าดูอยู่ตรงใจแล้วจะเห็นว่า เสียงก็ดี รูปก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี เป็นสภาวธรรมทั้งหมด ใจรับรู้สภาวธรรมทุกรูปแบบได้ จะเจ็บจนขาดใจตายไป ก็เป็นเพียงสภาวธรรมที่ใจรับรู้เท่านั้นเอง ทำอะไรใจไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรจะทำใจได้ เหมือนกับภาพที่ปรากฏในจอโทรทัศน์ จะเป็นระเบิดนิวเคลียร์ก็ไม่ได้ทำให้จอระเบิดไปด้วย จะฆ่ากันฟันกันยิงกันในจอโทรทัศน์ ก็ไม่ได้ทำให้จอพังเสียหาย ใจก็เป็นอย่างนั้น ใจเป็นเพียงผู้รับรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป เป็นเหมือนจอโทรทัศน์ ปัญหาอยู่ตรงที่ไม่สักแต่ว่ารู้ กลับไปแปลความหมาย ว่าดีไม่ดี จนเกิดรักชังขึ้นมา เกิดทุกข์ขึ้นมา ต้องแก้ตรงนี้ ให้สักแต่ว่ารู้ ด้วยปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้ามีสติปัญญามีสมาธิแล้ว จะสามารถทำใจเป็นอุเบกขาสักแต่ว่ารู้ได้  ก็จะหมดปัญหา ไม่กลัวอะไร แต่พวกเราไปไม่ถึงตรงนั้นกัน จึงไม่ทันกิเลส กิเลสไปจองสัญญาไว้ก่อน ว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นพ่อเราเป็นแม่เรา เป็นเพื่อนเรา เป็นพี่เราเป็นน้องเรา พอเป็นอะไรไปก็วุ่นวายใจ ไม่ได้สักแต่ว่ารู้ ว่าเป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป

 

ถาม  ตอนที่ฟังทีแรกคิดว่าเข้าใจ จริงๆแล้วไม่ได้เข้าใจจริงๆ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็นึกได้ว่าได้สอนมาหมดแล้ว

 

ตอบ  ความเข้าใจมีอยู่หลายระดับ

 

ถาม  สำคัญตอนที่เกิดเหตุการณ์แล้ว ดึงมาใช้ให้ทัน

 

ตอบ  ตอนเข้าห้องสอบ