กัณฑ์ที่ ๔๐     ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

มรรค ๘

   

เป็นธรรมเนียมประเพณีของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเวลามาวัด มาที่ศาลาก็ดี มาที่พระอุโบสถก็ดี จะทำความเคารพบูชาพระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ พระรัตนตรัย  เพราะการบูชาสิ่งที่สมควรแก่การบูชาเป็นมงคลอย่างยิ่ง  ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า ปูชา จ ปูชณียานัง  เอตัมมังคลมุตตมัง  การบูชาพระพุทธองค์ได้ทรงจำแนกไว้สองแบบด้วยกันคือ .อามิสบูชา.ปฏิบัติบูชา   อามิสบูชาคือการบูชาด้วยเครื่องสักการะ  เช่นดอกไม้ธูปเทียน ปฏิบัติบูชาคือการบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติ กาย วาจา ใจ  ให้เป็นไปตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอน การบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติเป็นการบูชาที่แท้จริง เป็นการบูชาที่เลิศ เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตรงตามแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางไว้แล้ว ย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญ ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงปรารถนา ในการประกาศพระศาสนาให้แก่สัตว์โลก

ผู้ที่ปรารถนาความสุขความเจริญความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต  จึงควรดำเนินตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ไม่เคร่งจนเกินไปและไม่หย่อนจนเกินไป พอดีๆกับมนุษย์อย่างเราอย่างท่านทั้งหลายสามารถประพฤติปฏิบัติได้ แต่ผู้ประพฤติปฏิบัติจะต้องประกอบด้วยขันติความอดทน วิริยะความขยันหมั่นเพียร  ถ้าเป็นคนเกียจคร้านไม่มีความอดทนแล้ว แนวทางนี้จะรู้สึกว่าเป็นแนวทางที่ยากเย็นแสนสาหัส  แต่ถ้ามีวิริยะความขยันหมั่นเพียร ขันติิิิ  ความอดทน มัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลางนี้จะไม่เป็นหนทางที่ยากลำบากเลย พวกเราสามารถประพฤติปฏิบัติ แล้วนำความสุขความเจริญที่ปรารถนามาสู่ตัวเราได้อย่างแน่นอน

เราจึงควรศึกษาทำความเข้าใจว่ามัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลางนี้มีอะไรบ้าง พระพุทธองค์แสดงไว้ ๘ ประการด้วยกัน  เรียกว่ามรรค ๘     ประกอบไปด้วย  . สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ   . สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ   . สัมมาวาจา เจรจาชอบ    . สัมมากัมมันโต การกระทำชอบ   . สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ           .สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ   . สัมมาสติ  สติชอบ   . สัมมาสมาธิ การตั้งมั่นของจิตชอบ นี่คือรรคที่มีองค์ ๘  คำว่าชอบแปลว่าถูกต้อง 

. สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ   ความเห็นที่ถูกต้อง  คือความเห็นว่า  การกระทำของเรานั้นไม่ว่าทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี  เมื่อทำไปแล้วย่อมมีผลตามมา  การกระทำนี้เรียกว่ากรรม  ทางกายเรียกว่ากายกรรม  ทางวาจาเรียกว่าวจีกรรม  ทางใจเรียกว่ามโนกรรม  เมื่อทำไปแล้ว พูดไปแล้ว คิดไปแล้ว ย่อมมีผลตามมา  ขึ้นอยู่กับการกระทำนั้นๆว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด  ทำดีเรียกว่าบุญ  ผลที่ตามมาคือความสุขความสบายใจ ตายไปก็ไปสู่สุคติ  ทำชั่วเรียกว่าบาป ผลที่ตามมาคือความทุกข์  ตายไปก็ไปสู่ทุคติ  เป็นความเห็นที่ถูกต้อง บาปบุญมีจริง  นรกสวรรค์มีจริง  พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมจริง  ผู้มีศรัทธาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนก็สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันกับที่พระพุทธองค์ได้ทรงไปถึงได้

นี่คือความเห็นชอบ  คือเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นของจริง  ตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ   ความเห็นผิด เห็นผิดเป็นชอบ  ผู้มีมิจฉาทิฏฐิจะเห็นว่า นรกสวรรค์เป็นเรื่องหลอกลวงเป็นของไม่จริง เกิดมาแล้วตายก็สูญ ไม่มีการเกิดอีก  จะทำบุญทำกรรมอะไรไว้ก็ไม่มีการเสวยผลบุญกรรมนั้นๆ  นี่คือมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด  ต้องแยกแยะให้ออกระหว่างความเห็นทั้งสองนี้ เหมือนกับการเห็นว่าโลกนี้กลมหรือโลกนี้แบน  ถ้าเห็นว่าโลกนี้แบนก็เป็นความเห็นผิด  เป็นมิจฉาทิฏฐิ  ถ้าเห็นว่าโลกนี้กลม ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง  เป็นสัมมาทิฏฐิ  ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงนั่นเอง

สิ่งต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงสอนเป็นความจริงทั้งนั้น จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม  จะเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถปฏิเสธได้  เรากับพระพุทธเจ้านั้นต่างกันตรงที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น  แต่พวกเรายังไม่รู้ไม่เห็น เพราะจิตใจของพวกเรายังมืดบอดอยู่ ยังมีอวิชชา มีโมหะ ความหลงครอบงำจิตใจอยู่ เหมือนกับคนที่ถูกเครื่องพันธนาการปิดตาไว้  ทำให้เห็นแต่ความมืด  เหมือนคนตาดีอยู่ในที่มืด  ถึงแม้จะมีสายตาดีแต่ก็ไม่สามารถมองเห็นอะไรในที่มืดได้ การที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ก็เหมือนกับพระพุทธองค์ได้ทรงถอดเครื่องพันธนาการออกจากพระจักขุของพระองค์แล้ว ทำให้พระพุทธองค์สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ที่ปุถุชนคนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่าน ที่ยังมีอวิชชาโมหะครอบงำจิตใจอยู่ ไม่สามารถมองเห็นได้ พวกเราจึงไม่เห็นเรื่องบาปบุญคุณโทษ  ไม่เห็นเรื่องนรกสวรรค์อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ถ้าเป็นคนฉลาดก็ควรจะเริ่มต้นด้วยการมีศรัทธาคือเชื่อไว้ก่อน เพราะว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ให้เชื่อเฉยๆ ท่านให้เอาไปพิสูจน์ เป็นสันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติพึงรู้พึงเห็นได้  ขอให้ลองประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านทรงสอนเถิด  แล้วสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงรู้ทรงเห็นก็จะเป็นสิ่งที่เรารู้เห็นได้เช่นเดียวกัน  นี่คือสัมมาทิฏฐิ  ความเห็นที่ถูกต้อง

. สัมมาสังกัปโป  ความดำริชอบ  คิดในสิ่งที่ดีที่งาม  คิดทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ละบาปทั้งหลาย ทำจิตใจให้สะอาดหมดจด ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากจิตจากใจ นี่เป็นความคิดที่ถูกต้อง

. สัมมาวาจา เจรจาชอบ   คือ  . ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ  . ละเว้นจากการพูดคำหยาบ   . ละเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  . ละเว้นจากการพูดส่อเสียด  พูดส่อเสียดหมายถึงคำพูดที่สร้างความแตกแยกสามัคคี เช่นพูดให้คนที่รักกัน แตกกัน โกรธเกลียดกัน สามีภรรยารักกันดีอยู่ก็พูดยุยงให้เกิดความบาดหมางใจกัน โกรธกัน เกลียดกัน แตกสามัคคี  หรือพูดให้คนในสังคม ในครอบครัว ในบ้าน ในเมือง เกิดการแตกสามัคคี  พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละเว้นจากการพูดเหล่านี้  ให้ละเว้นจากการพูดปด ละเว้นจากการพูดคำหยาบ ละเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ละเว้นจากการพูดส่อเสียด  นี่คือสัมมาวาจา

. สัมมากัมมันโต  การกระทำชอบ คือการละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี ถ้าละเว้นได้ เราก็ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น  เมื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ความเดือดร้อนก็ไม่มาหาเรา  ไม่ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นย่อมไม่ถึงตัวเรา 

. สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ คือการเลี้ยงชีพที่ถูกต้องด้วยอาชีพสุจริต ไม่สร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่นในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ  ให้ละเว้นจากอาชีพที่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เช่นยิงนกตกปลา เลี้ยงสัตว์เพื่อที่จะฆ่าขาย  ให้ละเว้นจากการค้าสุรายาเมา  ค้ายาพิษ ค้าศาสตราวุธ   อาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่ไม่สุจริต ควรละเว้นอาชีพเหล่านี้เสีย  อาชีพอื่นยังมีอีกมากมาย  เช่นอาชีพครู อาชีพอาจารย์ อาชีพพยาบาล อาชีพหมอ อาชีพที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสัมมาอาชีวะ

.สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ  ความเพียรมีทั้งที่ถูกและที่ผิด  ที่ผิดก็คือขยันทำความชั่ว เช่นขยันกินเหล้าเมายา ขยันเที่ยวเตร่ ขยันเล่นการพนัน นี่คือความขยันที่ไม่ถูกต้อง  ความเพียรชอบคือ    . เพียรกระทำความดี    . เพียรรักษาความดีที่มีอยู่ไม่ให้สูญหายไป    . เพียรละการกระทำความชั่ว   . เพียรไม่ให้ความชั่วที่ละได้แล้วกลับฟื้นขึ้นมาอีก    นี่คือความเพียรชอบ

. สัมมาสติ สติชอบ   สติคือการระลึกรู้ ให้ระลึกรู้อยู่กับอะไร ก็ให้ระลึกรู้อยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรียกว่าพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ หรือระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก  เรียกว่าอานาปานสต พยายามควบคุมใจไม่ให้ไปคิดปรุงเรื่องราวต่างๆที่จะนำความทุกข์มาสู่ตัวเรา พวกเราไม่ค่อยควบคุมจิตใจกัน ไม่มีสติ ปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยๆ จนเกิดความฟุ้งซ่าน ความเศร้าโศกเสียใจ  ถ้าคิดมากๆจะทำให้เสียสติไปได้ เป็นบ้าไปเลยก็มีเพราะไม่มีสติที่ชอบนั่นเอง ไม่รู้จักระลึกในสิ่งที่ดีที่งาม  ถ้าระลึกอยู่กับ พุทโธ ธัมโม สังโฆ  หรือสวดบท อิติปิโส   สวากขาโต  สุปฏิปันโน อยู่ในใจไปเรื่อยๆ  ใจจะร่มเย็นเป็นสุข เพราะบทธรรมเหล่านี้เป็นเหมือนน้ำเย็นหล่อเลี้ยงจิตใจ  ถ้าระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว จิตใจจะเย็นสบาย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ลอยไป ลอยมา  ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน เป็นสัมมาสติ

. สัมมาสมาธิ  การตั้งมั่นของจิตชอบ จิตไม่วอกแวก ไม่ลอยไปลอยมา  เป็นจิตที่เหมือนกับหิน ไม่เคลื่อนไหวไปไหน ลมพัดขนาดไหนก็ไม่ไปตามลม ไม่เหมือนกับนุ่น  เวลาลมพัดก็จะลอยไปตามลม จิตที่มีสัมมาสมาธิเป็นจิตที่ไม่ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ   การที่จะทำจิตนิ่งให้ได้เป็นสมาธิที่ชอบ ต้องระลึกรู้อยู่กับบุญกุศลเช่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์   ระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก  อย่าให้จิตไปคิดเรื่องอื่นๆ  ถ้าระลึกรู้อยู่กับธรรมเหล่านี้ไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ช้าก็เร็วจิตจะรวมลงสู่ความสงบเป็นสมาธิ  นี่แหละคือสัมมาสมาธิ คือความสงบนิ่งของจิตใจ  จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สักแต่ว่ารู้  เป็นอุเบกขา ปล่อยวาง ไม่หวั่นไหวกับสิ่งต่างๆ นี่คือสัมมาสมาธิ

สมาธิที่ไม่ถูกต้องคือสมาธิที่เมื่อรวมลงไปแล้วไม่อยู่กับที่ กลับไปรู้เรื่องราวต่างๆ เช่นนิมิตต่างๆที่ปรากฏขึ้นมา จากภายในก็ดี จากภายนอกก็ดี เช่นพวกผีเทวดา หรือไปเที่ยวสวรรค์ เที่ยวนรก นี่คือเรื่องของนิมิตที่เกิดขึ้นกับจิตที่ไม่หยุดนิ่ง  สมาธิแบบนี้จะเป็นอยู่นานสักเท่าไร เมื่อออกจากสมาธิแล้ว จิตจะไม่มีความหนักแน่น ไม่มีกำลังที่จะไปต่อสู้กับความโลภ ความโกรธ ความหลง กับอารมณ์ต่างๆที่มากระทบกับจิตได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นสมาธิที่นิ่งสงบ ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ สักแต่ว่ารู้อยู่ตามลำพัง หลังจากที่ออกจากสมาธินั้นแล้ว จิตจะมีความเยือกเย็น มีความสดชื่น มีความเบิกบาน มีความหนักแน่น ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ต่างๆที่มากระทบ ไม่ว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  เมื่อได้สัมผัสก็ไม่เกิดอารมณ์ขึ้นมา ไม่เกิดความยินดียินร้าย  ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ  ความหลง  นี่แหละคือสมาธิที่ถูกต้อง 

นี่คือมรรคที่มีองค์ ๘ คือ . สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ  . สัมมาสังกัปโป  ความดำริชอบ   . สัมมาวาจา เจรจาชอบ    . สัมมากัมมันโต  การกระทำชอบ    . สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ           .สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ   . สัมมาสติ  สติชอบ   . สัมมาสมาธิ การตั้งมั่นของจิตชอบ เป็นทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ให้ชาวพุทธที่มีความศรัทธามีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์  น้อมเอามาประพฤติปฏิบัติกับกายวาจาใจ  เพื่อความสงบสุข ความสบายใจ ความเป็นสิริมงคล  ถ้ายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ตายไปก็จะไปสู่สุคติ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้