กัณฑ์ที่ ๔๐๖       ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

 

เวลาไม่มีวันหยุด

 

 

 

วันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เวลาไม่มีวันหยุดเหมือนวันทำงาน ที่มีวันเสาร์มีวันอาทิตย์ แต่เวลาไม่มีวันเสาร์วันอาทิตย์ ทำงานตลอดเวลา กำลังกลืนเราเข้าไปทีละเล็กทีละน้อย ดังคำพูดที่ว่า เวลากลืนสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย เหมือนงูที่ค่อยๆเขมือบเหยื่อเข้าไปในท้อง ทีละเล็กทีละน้อย ไม่นานก็จะหายเข้าไปในท้องงูหมด ชีวิตของพวกเราหรือสรรพสิ่งหรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นเหมือนเหยื่อที่งูกำลังเขมือบเข้าไป ร่างกายของพวกเราอีกไม่นานก็จะหายไป กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป เหมือนกับร่างกายของบรรพบุรุษที่ล่วงลับหายไปหมดแล้ว ถูกเวลากลืนไปหมด ร่างกายหรือชีวิตของพวกเราก็เช่นเดียวกัน แม้แต่พระวรกายของพระบรมศาสดาก็เช่นเดียวกัน เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากไป ก่อนที่พระองค์จะจากไป ได้ทรงประทานพระปัจฉิมโอวาทไว้ว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุด เป็นการเตือนสติไม่ให้พวกเราตั้งอยู่ในความประมาท ให้ระลึกถึงความไม่เที่ยงของสังขารอยู่ตลอดเวลา จะได้รีบตักตวงประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นที่จะตามมาต่อไป ด้วยการตั้งใจศึกษาและปฏิบัติพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ ทุกเวลานาทีที่ว่างจากภารกิจจำเป็น คือการดูแลรักษาร่างกาย ไม่ควรให้เวลาหมดไปโดยไม่ได้ทำอะไร ดังที่ทรงสอนให้คิดอยู่เสมอว่า วันเวลาล่วงไปๆ เรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำประโยชน์ให้แก่ชีวิตจิตใจ หรือกำลังทำประโยชน์ให้กับกิเลสตัณหา ความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ

 

ถ้าใช้เวลาไปกับความโลภความอยาก ก็จะสร้างพิษภัยให้กับใจ กดให้ใจตกต่ำ ให้มีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าทำประโยชน์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือบำเพ็ญทานศีลภาวนา ก็จะสร้างประโยชน์สุขให้แก่ใจ กำจัดพิษภัยต่างๆที่มีอยู่ภายในจิตใจให้หมดไป พิษภัยนี้เปรียบเหมือนเชื้อโรคในร่างกาย ถ้ามีอยู่ในร่างกายก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามียากำจัดเชื้อโรคให้หมดไปได้ ร่างกายก็จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ใจก็มีเชื้อโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับใจ คือกิเลสตัณหาต่างๆ ความโลภความอยากได้สิ่งต่างๆ อยากได้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น กิเลสตัณหาเหล่านี้เป็นเชื้อโรคของจิตใจ ทำให้จิตใจทุกข์ทรมาน เป็นโรคของใจ ถ้าอยากจะหาย ก็ต้องมียารักษาใจคือธรรมโอสถ ที่พระพุทธเจ้าทรงคิดค้นขึ้นมา จากการศึกษาและปฏิบัติตามหลักความจริงของกิเลส หลักความจริงของใจ ทรงรู้ว่ากิเลสเป็นพิษภัยแก่จิตใจ ใจไม่ต้องการกิเลส วิธีที่จะกำจัดกิเลสก็ทรงรู้ว่า อยู่ที่การบำเพ็ญทานศีลภาวนา เป็นยารักษาโรคที่ได้ทรงคิดค้นขึ้นมา ได้ทรงใช้รักษาพระทัยของพระองค์ จนหายจากโรคทุกข์ทรมานใจ หลังจากนั้นก็ทรงนำเอายาที่วิเศษนี้มาแจกจ่ายให้แก่ผู้อื่นต่อไป ผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อเมื่อได้รับยามาแล้ว ถ้าเอามารับประทานเอามาปฏิบัติ ตามที่พระองค์ทรงสอนให้ปฏิบัติ บำเพ็ญทานศีลภาวนาให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ก็จะสามารถรักษาโรคความทุกข์ทรมานใจ ให้หายขาดไปจากใจได้ ถ้าได้บำเพ็ญแล้วก็ถือว่าได้ทำประโยชน์ให้แก่ตนแล้ว เวลาของชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ก็จะใช้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป ด้วยการนำเอายาที่วิเศษคือธรรมโอสถนี้ มาสั่งสอนให้แก่ผู้อื่นต่อไป

 

นี่คือการใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่มีเวลาของภพชาติใดของสัตว์ชนิดใด ที่จะมีคุณค่ายิ่งกว่าของมนุษย์ เพราะมนุษย์เท่านั้นที่จะสามารถศึกษาและปฏิบัติ จนหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าเป็นสัตว์ชนิดอื่น เช่นเดรัจฉาน เป็นนกเป็นแมวเป็นสุนัข ก็จะไม่มีความสามารถพอที่จะศึกษาและปฏิบัติ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ เวลาของเดรัจฉานจึงไม่มีคุณค่าเหมือนกับเวลาของมนุษย์ แต่ถ้ามนุษย์ไม่ใช้เวลาให้ถูกกับฐานะของตน ไปใช้เหมือนกับเดรัจฉานใช้ ก็จะไม่ต่างกับเดรัจฉาน เดรัจฉานจะใช้ไปกับกิเลสตัณหา ความโลภความอยากต่างๆ ถ้ามนุษย์ใช้เหมือนกับเดรัจฉาน คือทำตามความโลภตามความอยากต่างๆ ชีวิตของมนุษย์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ก็จะไม่ต่างกับเดรัจฉาน คนที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้สะสมทานศีลภาวนาบารมีมา ก็จะใช้เวลาเหมือนกับเดรัจฉาน หาความสุขตามความโลภความอยาก ตามกามตัณหา ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปดื่มไปรับประทานอาหารตามร้านอาหารต่างๆ เหมือนเดรัจฉานทำกัน ไม่ต่างกันตรงไหน การได้เกิดเป็นมนุษย์จึงไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร เหมือนกับได้เครื่องมือที่มีค่ามา แต่ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด กลับเอาไปสร้างโทษกับตน เช่นมีด ถ้าเอามาใช้หั่นผักหั่นเนื้อหั่นปลา ก็จะทำอาหารที่เอร็ดอร่อยได้ ถ้าเอามาฟันตัวเองก็จะเป็นโทษ เอาเครื่องมือที่มีคุณค่ามาทำโทษ แทนที่จะเอามาทำประโยชน์กับตน

 

ชีวิตของมนุษย์ก็เป็นเหมือนเครื่องมือ ที่มีคุณค่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อจิตใจ เพราะทำให้ใจหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าได้พบพระพุทธศาสนาแล้วนำเอาคำสอน ของพระศาสนามาบำเพ็ญมาปฏิบัติ ก็จะได้สร้างเรือนใจให้แก่ใจ คือมรรคผลนิพพาน ที่เป็นที่อยู่ของใจ ด้วยการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ชีวิตของมนุษย์หรือเครื่องมือที่มีคุณค่าอย่างนี้ ก็จะทำประโยชน์ให้แก่ชีวิตจิตใจได้อย่างสูงสุด ก็เหมือนกับการใช้มีดทำประโยชน์ หั่นผักหั่นเนื้อ แต่ถ้าเอามีดมาฟันตัวเราเอง ก็เป็นการเอาเครื่องมือที่มีคุณค่ามาทำร้ายตัวเราเอง ถ้าศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับจิตใจ ถ้านำเอาไปใช้กับความโลภความอยากต่างๆ ก็จะทิ่มแทงจิตใจให้ทุกข์ทรมานตลอดเวลา นี่คือเรื่องของพวกเรา เคยคิดกันบ้างหรือไม่ ถ้าคิดก็จะเห็นภาพอย่างนี้ นักปราชญ์ทั้งหลาย เช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ใช้ชีวิตนี้ให้เกิดคุณประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจอย่างเต็มที่ ด้วยการบำเพ็ญทานศีลภาวนาอย่างเต็มที่ เคยอยู่ในฐานะฆราวาส มีสมบัติข้าวของเงินทอง มีฐานะต่างๆ ก็สละกันหมด เป็นราชโอรสก็สละราชสมบัติ เป็นเศรษฐีเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงๆ ก็ลาออกจากงานจากการ สละทรัพย์สมบัติเงินทองต่างๆให้แก่ผู้อื่น แล้วก็ออกบวช ออกไปถือศีล อยู่ตามสถานที่สงบสงัดวิเวก ตามป่าตามเขา บำเพ็ญภาวนา

 

เริ่มต้นที่สมถภาวนา ทำจิตใจให้สงบ เพราะถ้าจิตใจยังไม่สงบ จะไม่สามารถบำเพ็ญภาวนาขั้นที่ ๒ คือวิปัสสนาภาวนาได้ พอจิตสงบแล้วจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในจิตในใจ เหมือนกับน้ำนิ่ง จะใสจะเห็นสิ่งที่มีอยู่ในน้ำ จะเห็นปลาเห็นก้อนหินเห็นพืชผักต่างๆที่อยู่ใต้น้ำ ถ้าไม่นิ่งน้ำก็จะขุ่นมัว มองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ในน้ำ ภายในจิตของเรานั้นมีส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี ถ้าจิตไม่สงบจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ส่วนไหนดีส่วนไหนไม่ดี ส่วนไหนเป็นคุณ ส่วนไหนเป็นโทษ พอทำจิตให้สงบแล้วจะเห็นว่า สิ่งนี้เป็นคุณสิ่งนี้เป็นโทษ จะเห็นเวลาเกิดความโลภความอยากขึ้นมา จะเหมือนภูเขาไฟปะทุขึ้นมา เหมือนกับสิ่งแหลมคมทิ่มแทงจิตใจ จะไม่ต้องถามใครเลยว่าเป็นอะไร จะชื่ออะไรไม่สำคัญ จะเป็นชื่ออื่นก็ได้ ไม่เรียกว่ากิเลสตัณหา แต่เรียกว่าเขียวขาวดำแดงก็ได้ เพราะเป็นเพียงสมมุติที่เราให้กับอาการเหล่านี้ ที่มีอยู่ในใจ พระพุทธเจ้าทรงให้ชื่อของอาการเหล่านี้ว่ากิเลสตัณหาความโลภความอยาก พอจิตสงบแล้วเวลาเกิดความโลภเกิดความอยากขึ้นมาจะรู้เลย ไม่ต้องแนะนำตัวเอง ว่ากระผมคือกิเลสกระผมคือตัณหา แต่จะแสดงความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา

 

ถ้าจิตไม่สงบจะไม่เห็นจะไม่รู้ พอเกิดความโลภความอยากขึ้นมา ก็จะทำตามคำสั่งของความโลภความอยากทันที อยู่เฉยๆไม่ได้ ถ้าเกิดความโลภเกิดความอยากขึ้นมา ต้องรีบไปทำตามความโลภความอยากทันที เพราะไม่รู้ว่าอะไรกำลังสร้างความทุกข์ให้แก่ใจ แล้วก็ไปสร้างความทุกข์เพิ่มขึ้น จากการไปแสวงหาสิ่งต่างๆที่โลภที่อยาก จะไม่มีทางรู้ได้เลย ถ้าไม่ได้เจริญสมถภาวนาจนจิตรวมลงเป็นเอกัคตารมณ์ เป็นสักแต่ว่ารู้ เพราะขณะที่จิตรวมลงสักแต่ว่ารู้นั้นจะนิ่งสงบ ความโลภความอยากต่างๆ อารมณ์ต่างๆ ความคิดปรุงต่างๆ จะสงบระงับลงไป พอถอนออกมาจึงจะค่อยๆปรากฏขึ้นมา ตอนที่ปรากฏขึ้นมาจะเห็นชัดเลย ว่าเริ่มทุกข์แล้วเริ่มทรมานใจแล้ว พอเห็นอย่างนี้แล้วก็จะสามารถเจริญภาวนาขั้นต่อไปได้ ก็คือวิปัสสนาภาวนา เวลาโลภอยากได้อะไรจะรู้ว่าทุกข์ ก็จะหาวิธีกำจัดความโลภความอยาก ต้องพิจารณาสิ่งที่โลภที่อยากให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ให้เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าเห็นว่าเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุขก็จะไม่เอา เช่นอยากจะเสพยาเสพติด ถ้ามีปัญญารู้ว่ายาเสพติดเป็นโทษ ก็จะไม่เสพ ถึงแม้จะมีความสุขในขณะที่เสพ แต่รู้ว่าเสพแล้วจะติด จะทุกข์ทรมานถ้าไม่ได้เสพ จะต้องเสพไปเรื่อยๆ จะถูกยาเสพติดฆ่าตาย ถ้าเห็นโทษอย่างนี้ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนยาเสพติด ให้โทษให้ความทุกข์ทรมานแก่จิตใจ ก็จะไม่อยากจะไม่โลภ เพราะเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะ ๑. ไม่เที่ยง ไม่ดีไปตลอด เวลาได้มาใหม่ๆก็ดี แต่พอได้มาไม่นานก็เปลี่ยนไป ของใหม่ก็กลายเป็นของเก่าของชำรุด กลายเป็นภาระที่จะต้องดูแลรักษา เมื่อก่อนนี้ไม่มีสิ่งนี้ก็อยู่ได้มีความสุข แต่เดี๋ยวนี้ต้องมีสิ่งนี้ถึงจะมีความสุข ถ้าสิ่งนี้เป็นอะไรไป ก็ต้องมาแก้ให้ดีเหมือนเดิม ถ้าไม่ดีเหมือนเดิมก็ต้องหาสิ่งอื่นมาทดแทน ก็เลยต้องหาความทุกข์มาให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ๒. เป็นอนัตตา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเรา ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของเขา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป มีการเจริญแล้วก็มีการเสื่อมเป็นธรรมดา

 

ถ้าไม่ใช้ปัญญาจะไม่เห็น จะเห็นแต่ส่วนที่ดี ส่วนที่น่ารัก ส่วนที่น่าชื่นชม เห็นว่าได้มาแล้วจะมีความสุข แต่ไม่เคยคิดถึงความทุกข์ที่ตามมาจะแสนสาหัสขนาดไหน ไม่เคยคิดกัน จึงติดกัน จึงต้องเจริญวิปัสสนา ก่อนจะเจริญวิปัสสนาได้ ต้องมีสมถภาวนาก่อน ต้องมีความสงบจิตรวมลงเป็นหนึ่งก่อน พอจิตรวมลงแล้วจะรู้ว่าอะไรเป็นคุณอะไรเป็นโทษ จะรู้ว่าความอยากเป็นโทษ ความไม่อยากเป็นคุณ ก็จะไม่อยากไปเรื่อยๆ เพราะเวลาไม่อยากแล้วมันเย็นสงบสุขสบาย เวลาอยากจะทุกข์ทรมานใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็จะสามารถตัดไปได้เรื่อยๆตามหลักนี้ สิ่งที่ตัดก็คือวัตถุต่างๆ เบื้องต้นก็เป็นวัตถุส่วนหยาบ เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ บุคคลต่างๆ สิ่งของต่างๆ แล้วก็เข้ามาสู่ภายใน คือร่างกายของตนเอง แล้วก็เข้ามาสู่ความรู้สึก ความสุขความทุกข์ที่มีอยู่ในขันธ์ แล้วก็ความสุขความทุกข์ที่มีอยู่ในจิต จะขยับเข้ามา จะปล่อยไปเรื่อยๆ จะไม่อยากได้ความสุขเหล่านี้ ถ้าไม่อยากสุขก็จะไม่ทุกข์ ถ้าอยากสุขพอสุขหายไปก็จะทุกข์ขึ้นมา จึงไม่อยากมีความสุขเหมือนคนในโลกอยากมีกัน พอสิ้นปีก็ต้องส่งความสุขให้แก่กัน เราจึงไม่ส่งความสุขให้กับใคร เพราะรู้ว่าความสุขแบบนี้เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง สุขเดี๋ยวเดียวแล้วก็หายไป สุขตอนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พอวันที่ ๒ ต้องไปทำงาน สุขเหล่านั้นก็หายไป บางทีตื่นขึ้นมาวันที่ ๑ ก็ปวดหัวจากการเมาสุรา ดื่มสุรามากจนเกินไป ฉลองมากเกินไป นอนหลับไม่พอ พอตื่นขึ้นมา ความสุขที่ได้จากการฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ก็หมดไป

 

ถ้ามีความสุขที่ดีกว่าที่เหนือกว่า คือความสงบที่เกิดจากการบำเพ็ญสมถภาวนาแล้ว ก็จะไม่อยากได้ความสุขอื่น เพราะรู้ว่าไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เหมือนกับความสุขที่ได้จากการบำเพ็ญสมถภาวนา เป็นความสุขที่เที่ยงแท้แน่นอน อยู่กับใจไปตลอด ก็จะพยายามบำเพ็ญใจให้สงบไปเรื่อยๆ ใจสงบเวลาใดความสุขที่แท้จริงก็จะปรากฏขึ้นในเวลานั้น พอกิเลสตัณหาปรากฏขึ้นมาในใจเวลาใด ความสงบก็จะหายไปทันที จึงต้องกำจัดกิเลสตัณหาทุกครั้งที่ปรากฏขึ้นมา ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา พิจารณาวัตถุที่กิเลสตัณหาไปอยาก ถ้าเป็นกามตัณหาก็พิจารณารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ รูปก็เป็นทุกข์ เสียงก็เป็นทุกข์กลิ่นก็เป็นทุกข์ อยากจะดื่มของหวานๆ ของที่มีรสมีชาติก็ต้องตัดไป ถ้าดื่มเพื่อร่างกายก็ดื่มน้ำเปล่า ถ้าไม่ดื่มเพื่อร่างกายก็ไม่ต้องดื่มเลย สู้ดื่มความสงบดีกว่า เพราะเวลาไม่อยากแล้วจิตก็จะกลับเข้าสู่ความสงบ ก็จะได้ดื่มด่ำความสุขที่เกิดจากความสงบ ที่สุขมากกว่าสุขที่ได้จากการดื่มเครื่องดื่มที่ถูกปากถูกคอ ที่สุขเพียงเดี๋ยวเดียว แล้วก็จะอยากอีกแล้ว จึงต้องหามาดื่มอยู่เรื่อยๆ ซื้อขวดเดียวกระป๋องเดียวไม่ได้ ต้องซื้อเป็นโหลเก็บไว้ที่บ้าน เตรียมเอาไว้ต้อนรับความอยาก พออยากปั๊บก็เปิดขึ้นมาดื่มเลย ถ้ามีสมถะมีวิปัสสนาแล้ว จะไม่ต้องเก็บไว้ให้เกะกะรกบ้าน เพราะมีเครื่องดื่มที่ดีกว่าภายในใจ ก็คือความสงบที่ดื่มด่ำ ที่ให้ความอิ่มความสุขมากกว่า ถ้ามีความสงบแล้วจะเห็นโทษของกิเลสตัณหาทันที เพราะเวลากิเลสตัณหาเกิดขึ้นมาจะทำลายความสงบทันที จึงต้องกำจัดมันทันที กำจัดด้วยวิปัสสนาด้วยไตรลักษณ์นี่เอง ถ้าพิจารณาไตรลักษณ์แล้ว จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเหมือนยาเสพติด  เพียงแต่ทางโลกยังไม่ถือว่ารุนแรง ก็เลยไม่ได้ออกกฎหมายมาห้ามเหมือนห้ามยาเสพติด แต่ก็เป็นเหมือนยาเสพติด เวลาไม่ได้ดื่มเป็นอย่างไร ใจวุ่นวายต้องหามาดื่มให้ได้ จึงต้องพยายามเก็บไว้มากๆ เวลาเกิดความอยากแล้วจะได้มีดื่ม เพราะรู้ว่าเวลาไม่มีดื่มจะทุกข์ทรมานใจ

 

เวลาจิตไปโลภไปอยากกับรูปเสียงกลิ่นรส ก็ต้องพิจารณารูปเสียงกลิ่นรส ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าไปโลภไปอยากกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน สวยวันนี้หล่อวันนี้ ต่อไปก็จะไม่หล่อไม่สวย ไม่นานก็ต้องกลายเป็นซากศพ ต้องพิจารณาอย่างนี้ เพื่อจะได้เห็นอนิจจังความไม่เที่ยง เห็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถควบคุมบังคับ ให้เป็นหนุ่มเป็นสาว ให้หล่อให้สวยไปตลอด ต้องเปลี่ยนไปตามกาลตามเวลา ถ้าไปยึดไปติดก็จะทุกข์ทรมานใจ เวลาที่เปลี่ยนไป นี่คือเรื่องของร่างกาย ทั้งของผู้อื่นและของตัวเราเอง ของตัวเราก็ต้องพิจารณาเช่นเดียวกัน เราก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกัน ต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟเหมือนกัน พิจารณาจนเห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มาจากดินน้ำลมไฟ ในรูปของอาหารเครื่องดื่มชนิดต่างๆ มารวมตัวกันเป็นอาการ ๓๒ ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกเป็นต้น แล้วก็อยู่ไปจนไม่สามารถอยู่รวมกันได้ก็แยกออกจากกันไป น้ำก็ไปทางน้ำดินก็ไปทางดิน ลมก็ไปทางลม ไฟก็ไปทางไฟ ไปคนละทิศคนละทาง ไม่มีอะไรเหลืออยู่ ร่างกายที่เป็นนาย ก. นาย ข. ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไป อยู่ในความทรงจำเท่านั้น แต่ความจริงไม่มี เช่นร่างกายของพระพุทธเจ้า ร่างกายของครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือก็เช่นเดียวกัน ร่างกายของท่านได้กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไปหมดแล้ว อยู่เพียงแต่ความจำว่า พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ เป็นอย่างนี้  แต่ความจริงไม่มีแล้ว หาไม่เจอแล้ว เวลาไปประเทศอินเดียไปเจอหรือเปล่า ไปเจอร่างกายของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า ไม่มี หมดแล้ว เพราะเป็นเพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง นี่คือการพิจารณาไตรลักษณ์ ให้พิจารณาอย่างนี้ จะได้ปล่อยวางร่างกายของเราได้ ร่างกายของคนอื่นก็ปล่อยได้ เวลาใครตายจะไม่เดือดร้อน เวลาเราตายก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีตัณหาความอยากให้อยู่เกินเวลาของเขา พอถึงเวลาที่เขาจะไปก็ให้เขาไป ก็เท่านั้นเอง ใจก็จะหายจากโรคทุกข์ที่เกี่ยวกับร่างกาย

 

จากนั้นก็ขยับเข้าสู่วัตถุที่ละเอียดกว่า คือความสุขภายในใจ ต้องเห็นว่าเป็นเช่นเดียวกัน ไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก อยากให้สุขไปตลอด แต่เขาไม่สุข พอเปลี่ยนไปก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ต้องพิจารณาปล่อยให้เขาเป็นไป พอปล่อยไปแล้ว ก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป จะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ในใจ มีแต่ความสงบ เพราะไม่มีความอยาก ไม่มีความโลภกับสิ่งต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน เมื่อไม่มีทุกข์แล้วก็หมดปัญหาไป ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป เพราะชีวิตของพวกเราทุกคนนี้ที่ทำกันอยู่นี้ ก็ทำเพื่อหาความสุขกันทั้งนั้น แต่ไม่เคยเจอความสุขที่แท้จริง เจอความสุขที่เกิดๆดับๆ ก็เลยต้องหาอยู่เรื่อยๆ พอความสุขดับไปก็ต้องหามาใหม่อยู่เรื่อยๆ พอได้เจอความสุขที่ไม่เกิดไม่ดับแล้ว ที่มีอยู่ในใจตลอด ก็ไม่รู้จะไปหาอะไรอีก พอมีความสุขตลอดเวลาแล้ว ก็ถือว่าจบ การแสวงหาความสุขที่แท้จริง เพราะได้พบแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ไหนอยู่ในใจของเรานี่เอง เมื่อก่อนก็คิดว่าอยู่บนเขาลูกนั้น อยู่ในป่านั้น อยู่ที่วัดนั้น อยู่กับครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ ก็ต้องระเหเร่ร่อนไปหากัน หากันแทบเป็นแทบตาย ก็ยังหาไม่เจอสักที เพราะไม่ได้หาที่อยู่จริง ถ้าเป็นบุรุษไปรษณีย์ก็ส่งจดหมายไม่ถึงคนรับสักที เพราะไม่ดูที่จ่าหน้าว่าอยู่ตรงไหน จ่ามาที่ใจของเรา แต่เราไปที่โน่นที่นี่กัน ไปที่ป่านั้น ไปที่เขาลูกนี้ ไปหาครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้กัน แต่เขาจ่าหน้าให้หาที่ใจเรานี้

 

ให้หาความสุขด้วยสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา แต่ไม่ทำกัน ยังไปวัดโน้นวัดนี้กันอยู่ แล้วเมื่อไหร่จะเจอสักที ให้หันกลับมาที่ใจเรา หันกลับมาที่ทานศีลภาวนา ทานศีลภาวนานี้ทำที่ไหนก็ได้ อยู่ที่บ้านส่งเงินไปก็ได้ เราอยู่ภาวนาที่ไหนก็ส่งเงินไปแทนก็ได้ ตัวเราไม่ต้องไป ศีลก็รักษาที่ใจนี่แหละ ไม่ได้รักษาที่วัดหรอก ศีลอยู่ที่ใจ ศีลมีข้อเดียวก็คือรักษาใจนี่แหละ ใจที่สงบระงับก็จะมีศีลครบทุกข้อ จะเป็นศีล ๓๑๐ ข้อหรือ ๒๒๗ ข้อหรือ ๑๐ ข้อ ๘ ข้อ ๕ ข้อ ก็อยู่ที่ใจข้อเดียวนี่แหละ รักษาใจได้ข้อเดียว ระงับดับกิเลสตัณหาได้แล้ว ก็จะรักษาศีลได้ทุกข้อ ที่ต้องมีศีลมากมาย ก็เพราะกิเลสตัณหา พอเกิดกิเลสตัณหาแล้วก็อยากจะทำนั่นอยากจะทำนี่ ทำด้วยเล่ห์เหลี่ยมด้วยอุบายต่างๆ ก็ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น แล้วความเดือดร้อนนี้ก็ย้อนกลับมาหาตัวเราเอง พอไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เขาก็ต้องมาลงโทษเรามากำจัดเรา ถ้าเราสงบระงับไม่มีกิเลสตัณหาแล้ว ก็ไม่ต้องรักษาอะไร รักษาได้หมดทุกข้อ ไม่ต้องรู้ด้วยว่าศีล ๒๒๗ มีอะไรบ้าง ไม่จำเป็นต้องรู้ ถ้ารู้ตัวนี้ตัวเดียว รับรองได้ว่าจะไม่มีการทำผิดศีลโดยเด็ดขาด สมัยพระพุทธกาลสมัยแรกๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศสอนพระธรรมคำสอนนี้ ไม่มีพระวินัยไม่มีศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยสั่งสอนพระ เพราะพระทุกรูปที่มาบวช เป็นพระอรหันต์กันทั้งนั้น บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อน แล้วค่อยขออนุญาตบวชเป็นพระภิกษุ เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะก็เป็นพระโสดาบันก่อน พอพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ขอบวชพระกัน พอทรงไปโปรดนักบวชในสำนักอื่น จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ขอบวชเป็นพระภิกษุกัน จึงไม่ต้องมีพระวินัย เพราะท่านมีความสงบระงับ ไม่ได้ทำอะไรที่เสียหาย

 

พอรุ่นพระอรหันต์หมดไป พอพวกปุถุชนมาบวช ก็เริ่มมาสร้างปัญหาต่างๆขึ้นมา เพราะพวกนี้ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ พอมาบวชแล้วก็ไปทำบัดสีบัดซบต่างๆ มีคนไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยต้องกำหนดข้อห้ามต่างๆขึ้นมา ห้ามทำนั่นห้ามทำนี่ จาก ๑ ข้อเป็น ๒ ข้อ ๓ ข้อจนถึง ๒๒๗ ข้อ ถ้าทรงประทับอยู่ถึงวันนี้คงมีถึง ๒๒๗๐ ข้อ มีเรื่องให้มาแก้อยู่เรื่อยๆ ทุกวันนี้ไม่มีพระพุทธเจ้า พระสงฆ์จึงต้องช่วยกัน ช่วงนี้ก็มีข่าวขึ้นมาอีกแล้ว มีพระไปบวชภิกษุณี มีเรื่องให้แก้อยู่ตลอดเวลา เพราะใจของพระยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา ทำไมไม่ดูครูบาอาจารย์บ้าง หลวงปู่มั่นท่านเคยบวชภิกษุณีหรือเปล่า หลวงปู่ชาท่านเคยบวชภิกษุณีหรือเปล่า เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ชาไปบวชภิกษุณีทำไม ไปอวดเก่งกว่าครูบาอาจารย์ทำไม จำเป็นต้องบวชภิกษุณีด้วยหรือ ถ้าไม่บวชภิกษุณีแล้วจะตายหรืออย่างไร จะบรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้หรืออย่างไร คุณแม่ชีแก้วไม่เห็นต้องบวชเป็นภิกษุณีเลย ทำไมไม่ใช้สติปัญญา นี่คือปัญหาที่ตามมา บวชแล้วไม่ทำกิจของตน ไม่ทำจิตให้สงบ พอปฏิบัติไปได้หน่อย จิตสงบนิดหนึ่งก็คิดว่าบรรลุแล้ว แล้วก็ออกไปสั่งสอนผู้อื่น เป็นเจ้าสำนักแล้ว เป็นอาจารย์แล้ว สามารถล้มล้างปฏิปทาอันดีงามของครูบาอาจารย์ ที่ท่านได้ปฏิบัติมาได้อย่างไม่รู้สึกตัวเลย อำนาจของกิเลสตัณหาเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นศิษย์ที่มีครู ก็ควรดูครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่าง อย่าออกนอกลู่นอกทาง อย่าไปคิดว่าเก่งกว่าครูบาอาจารย์ จะได้ปลอดภัย จะได้อยู่ในกรอบของความถูกต้องดีงาม จะเจริญก้าวหน้าในธรรมยิ่งๆขึ้นไป อย่าไปอยากบวชเป็นภิกษุณีกันนะ แล้วมาด่าพระว่าไม่เมตตา ไม่ยอมบวชภิกษุณีให้ ชอบเกาไม่ถูกที่กัน ที่คันไม่เกา ชอบเกาที่ไม่คันกัน ที่คันก็คือใจของเรา ไม่เกากัน ไปเกาเรื่องนั้นเกาเรื่องนี้กัน

 

 

ถาม  แม่ชีไปบิณฑบาตได้หรือคะ

 

ตอบ เป็นเรื่องธรรมเนียม ถ้าชาวบ้านยินดีจะใส่บาตรก็ไปได้ เป็นโยมก็ไปได้ ถ้าเขายินดีให้ เป็นขอทานดีๆนี่เอง นักบวชต้องขอทาน การบิณฑบาตของพระก็คือการขอทานโปรดสัตว์นี่เอง เพียงแต่ไม่ได้เคาะประตูเรียกร้อง เดินไปเรื่อยๆ ถ้าอยากจะให้ก็ให้ ไม่ให้ก็ไม่ว่าอะไร เป็นขอทานบรรดาศักดิ์ มีศีลมีจริยาวัตรมีธรรม ถ้าเป็นขอทานทั่วไปจะไม่มีศีลไม่มีจริยาวัตร คนจึงไม่ค่อยให้ขอทานกัน แต่ยินดีให้พระภิกษุ แต่ความจริงท่านก็เป็นขอทานเหมือนกัน ต่างตรงที่ว่าท่านมีศีลมีปฏิปทาอันดีงาม มีการประพฤติปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ถ้าทำตัวเป็นที่น่าเลื่อมใสก็จะมีคนยินดีสนับสนุน ถึงแม้ไม่ได้โกนศีรษะห่มเหลือง เช่นในศาสนาอื่น มีนักบวชไม่ได้โกนศีรษะ แต่มีลูกศิษย์ลูกหาสนับสนุน อย่างพวกบาทหลวงนี้ไม่ต้องออกไปบิณฑบาต แต่มีเงินเดือนจากศรัทธาญาติโยม ให้เป็นค่าใช้จ่าย ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันตรงไหน ถ้าทำตนเป็นคนดีทำประโยชน์ให้แก่โลก ไม่โลภไม่สะสมสมบัติข้าวของเงินทอง จะมีคนยินดีสนับสนุนเสมอ ถ้ามีมากกว่าคนอื่นก็จะไม่มีใครอยากจะสนับสนุน ถ้าสละหมดทุกอย่าง เขาก็รู้ว่าต้องอาศัยผู้อื่น เขาก็ยินดีที่จะสนับสนุน ถ้าเขาเห็นว่าเราทำประโยชน์ให้แก่สังคม ทำประโยชน์ให้แก่โลก ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น อย่างที่พวกเรายินดีทำบุญกับพระกัน เพราะมีศรัทธา เห็นว่าท่านเป็นคนดี เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ที่พวกเรายังสละกันไม่ได้ จึงยินดีสนับสนุนท่าน จะได้อาศัยท่านพาพวกเราไปสู่ความสุขกัน

 

ถาม  มนุษย์ทำทานศีลภาวนาได้ตลอด แล้วเทวดาทำได้แค่ไหน

 

ตอบ ทำได้ไม่มากเพราะไม่มีคนสอน

 

ถาม  เห็นว่าฟังธรรมหลวงปู่หลวงตาได้

 

ตอบ นานๆจะมีหลวงปู่หลวงตาที่มีอภิญญา ที่สามารถติดต่อกันได้ พวกเทวดาก็ต้องเป็นพวกใฝ่บุญใฝ่กุศล ถ้าชอบหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสก็จะไม่สนใจ เทวดามีหลายพวก พวกที่ชอบทำบุญให้ทานแต่ไม่ชอบศึกษาธรรมะไม่ชอบภาวนา ก็จะไม่สนใจศึกษา ชอบทำบุญให้ทาน ชอบเที่ยว พวกที่สนใจภาวนาจะไม่ชอบเที่ยว ชอบสนทนาธรรม ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม ชอบภาวนา พวกนี้จะมาฟังธรรมกับพระพุทธเจ้าพระอรหันต์กัน แต่จะไม่ได้ภาวนา  

 

ถาม  เทวดาไม่ได้ภาวนาต่อเนื่องเหมือนมนุษย์หรือคะ

 

ตอบ มนุษย์ก็ยังไม่ภาวนาอย่างต่อเนื่อง พวกที่จะภาวนาได้อย่างต่อเนื่องต้องขั้นพระอนาคามี จิตจะมีสติปัญญาอัตโนมัติ จะภาวนาอย่างเดียว แต่พระสกิทาคามีพระโสดาบัน ยังชอบไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ เข้าวัด ๓ วันไปเที่ยว ๓ วัน ยังไม่ต่อเนื่อง พอตายไปก็ไปเป็นเทวดา แล้วแต่อารมณ์ อยากจะภาวนาก็ภาวนา อยากจะเที่ยวก็ไปเที่ยว จะติดเป็นนิสัยไป จะถูกอารมณ์ผลักดัน อารมณ์ของพระสกิทาคามีกับพระโสดาบัน ยังสลับกันระหว่างทางโลกกับทางธรรมอยู่ แต่อารมณ์ของพระอนาคามีจะไปทางธรรมอย่างเดียว ตัดราคะตัณหาได้หมดแล้ว ไม่สนใจกามราคะ เพราะพิจารณาอสุภะอยู่ตลอดเวลา เห็นร่างกายเป็นเหมือนซากศพอยู่ตลอดเวลา จึงไม่เกิดราคะตัณหาขึ้นมา อยากมีความสุขในจิตมากขึ้น มีความสงบในจิตมากขึ้น จะภาวนาตลอด จะไม่ไปฟังเทศน์ฟังธรรม จะรู้ว่างานอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การระงับดับกิเลสตัณหา ที่ทำลายความสงบสุขของใจ พระอนาคามีไม่ต้องศึกษากับใครก็ได้ บรรลุได้เอง อาจจะช้าหน่อย ถ้าไม่มีอาจารย์คอยสอน ถ้ามีอาจารย์คอยสอนก็เร็ว เพราะไม่ต้องเสียเวลาแก้ปัญหา จะไปติดอยู่กับความสว่างไสวที่อยู่ภายในจิต ถ้ามีคนคอยสอนคอยบอกไว้ล่วงหน้า พอพบปั๊บจะรู้เลย ก็จะพิจารณาด้วยไตรลักษณ์เลย ถ้าอยากจะภาวนาอย่างต่อเนื่องก็ต้องขั้นพระอนาคามี ต้องพิจารณาอสุภะ ตัดความอยากในราคะตัณหา ให้ได้อย่างสิ้นเชิง ตอนจิตจะสงบเป็นส่วนใหญ่ จะมีกิเลสที่ละเอียดโผล่ขึ้นมาเป็นระยะๆ ที่จะมาทำลายความสงบสุขที่ละเอียด ตอนนั้นต้องใช้สติปัญญาอัตโนมัติคอยทำลายอยู่ตลอดเวลา คอยเฝ้าดูจิตอยู่ตลอดเวลา พอเกิดอาการขึ้นมาก็รู้เลยว่า ปัญหามาแล้ว ต้องหาวิธีกำจัด จะพิจารณาไปเรื่อยๆ จนไม่มีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่ในจิต จนจิตเป็นนิพพานไป ถ้าบรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ไปประสบอุบัติเหตุตายไป ก็จะไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ จะเกิดเป็นพรหมแล้วก็จะภาวนาต่อ

 

ถาม  แต่ละขั้นจะมีขบวนการของมันใช่ไหม

 

ตอบ ในแต่ละขั้นจะมีปัญหาที่ต้องแก้ มีโจทย์ เหมือนเวลาเรียนหนังสือ เวลาสอบแต่ละชั้นจะมีข้อสอบที่ต่างกันไป ปี ๑ มีข้อสอบอย่างหนึ่ง ปี ๒ มีข้อสอบอย่างหนึ่ง ปี ๓  ปี ๔ ก็มีข้อสอบที่ต่างกันไป พอสอบปี ๑ ได้แล้วก็ไม่ต้องกลับไปสอบใหม่ เพราะเป็นข้อสอบเดิม ต้องไปสอบปีที่ ๒ ปีที่ ๓ ปีที่ ๔ ตามลำดับต่อไป วัตถุของความอยากจะเป็นข้อสอบ ตอนต้นจะติดอยู่ภายนอกก่อน ติดอยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส ต้องตัดให้ได้ก่อน แล้วก็มาตัดที่ร่างกาย ตัดที่ขันธ์ ๕ ตัดรูปขันธ์แล้ว ก็ตัดนามขันธ์ แล้วก็ตัดความสุขที่ละเอียดที่มีอยู่ในจิต ข้อสอบเป็นขั้นๆ ต้องภาวนาต้องปฏิบัติแล้วถึงจะเห็นจริง ที่ฟังอยู่นี้เป็นเพียงสัญญา ฟังแล้วเดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ถามใหม่ ถ้าปฏิบัติจนเห็นแล้วจะไม่ถาม

 

เราติดอยู่ขั้นไหน เวลาฟังธรรมจะรอให้ท่านแสดงถึงขั้นที่เราติดอยู่ เวลาท่านแสดงธรรมจะแสดงตามขั้น ขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ไปตามลำดับเราอยู่ขั้นไหนก็รอฟังท่าน พอมาถึงขั้นนี้ต้องทำอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจ เอาไปปฏิบัติต่อได้ หรือจะปฏิบัติในขณะที่ฟังเลยก็ได้ ถ้าไม่มั่นใจกับการปฏิบัติของเรา พอท่านบอกให้ทำอย่างนี้ เหมือนกับที่เราทำอยู่ ก็จะรู้ว่าทำถูกแล้ว นักปฏิบัติจะฟังธรรมกันแบบนี้ เวลาฟังแต่ละครั้ง จะได้ครูบาอาจารย์มาเคลียร์ปัญหาให้ พอเข้าใจปั๊บก็ผ่านไปได้ ก็จะขยับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ปฏิบัติไปก็จะไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ ยังลังเลสงสัย ก็ยังไม่ผ่าน ถ้ามีสติปัญญาแหลมคมมาก ก็ไม่ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ เช่นพระพุทธเจ้า ท่านไม่ต้องให้ใครมาสอนว่าถูกหรือไม่ถูก ท่านจะรู้เอง พออดพระกระยาหาร ๔๙ วันก็รู้ว่าไม่ใช่แล้ว ผิดทางแล้วท่านก็ย้อนกลับมาภาวนาทำจิตให้สงบ แล้วก็พิจารณาวิปัสสนา คนที่ฉลาดจะพิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอยู่ตลอดเวลา มีสติคอยดูใจตลอดเวลา จะเห็นจะรู้ จะสอนตนเองได้ ถ้าไม่ฉลาดก็ต้องอาศัยผู้อื่น ท่านถึงแยกนักปฏิบัติออกเป็นพวกที่บรรลุเร็วและบรรลุช้า อยู่ที่สติปัญญา ถ้าสติปัญญาแหลมคมจะบรรลุได้เร็วมาก ถ้าสติปัญญาทึบก็จะช้า บรรลุเร็วหรือบรรลุช้าอยู่ที่สติปัญญา ส่วนปฏิบัติง่ายหรือปฏิบัติยาก อยู่ที่กิเลสหนาหรือบาง ถ้ากิเลสหนาก็จะปฏิบัติยาก กิเลสบางก็จะปฏิบัติง่าย ได้กำจัดมามากแล้ว ได้ขูดออกไปมากแล้ว ถ้าเป็นสนิมก็ได้ขูดออกไปมากแล้ว พอมาขูดอีก ๒ – ๓ ครั้งก็หมด ถ้าสนิมหนา ขูดเท่าไหร่ก็ยังไม่เห็นเนื้อเหล็ก ก็จะรู้สึกจะยาก

 

ท่านจึงแบ่งนักปฏิบัติเป็น ๔ จำพวกคือ  ๑. รู้เร็วปฏิบัติง่าย พวกนี้กิเลสก็น้อยปัญญาก็แหลมคม  ๒. รู้ช้าปฏิบัติยาก พวกนี้กิเลสหนาปัญญาทึบ  ๓. รู้ช้าปฏิบัติง่าย พวกนี้กิเลสบางแต่ปัญญาทึบ  ๔. รู้เร็วปฏิบัติยาก พวกนี้กิเลสหนาแต่ปัญญาแหลมคม ต้องปฏิบัติด้วยความยากลำบาก ต้องทรมานตนอย่างสุดๆ บางองค์ต้องเดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก ปฏิบัติยาก กิเลสถึงจะตาย พวกปฏิบัติง่ายๆสบายๆ ฟังธรรมแล้วบรรลุเลย อย่างพระปัญจวัคคีย์นี้มีน้อย พวกเราลองตรวจดูว่าอยู่ขั้นไหนกัน ถึงแม้จะอยู่ในขั้นรู้ช้าปฏิบัติยาก ก็ยังดีกว่าไม่ติดขั้นใดเลย เพราะยังปฏิบัติอยู่ ดีกว่าพวกที่ไม่ติดอันดับเลย เพราะไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าบรรลุช้าก็ต้องหาครูบาอาจารย์ช่วย จะทำให้บรรลุเร็วได้ ท่านจะช่วยขัดเกลากิเลส จะคอยไล่ให้เข้าทางจงกรมให้ภาวนาอยู่เรื่อยๆ จะไม่ปล่อยให้ไปวัดโน้นวัดนี้ ถ้าอยู่กับท่านก็ต้องอยู่เลย ถ้าไปก็ไปเลย จะเข้าๆออกๆนี้ท่านไม่เอา แสดงว่าไม่ได้ไปภาวนา เหมือนคนไข้ไปอยู่ที่โรงพยาบาล อยู่สักวัน ๒ วัน แล้วก็ขอออกไปเที่ยวสักวัน ๒ วัน แล้วค่อยกลับมารักษาตัวใหม่ หมอบอกไม่รักษาดีกว่า รักษาจนวันตายก็ไม่หาย พอมีงานวันเกิดก็ขอลาหมอไป พอมีงานแต่งงานก็ขอลาไป แล้วค่อยกลับมารักษาต่อ หมอที่ไหนจะเอาคนไข้อย่างนี้ ควรหาครูบาอาจารย์ที่มีสำนักปฏิบัติที่เงียบสงบ มีท่านคอยทุ่มเทเวลาให้กับเรา เราจะก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว ท่านช่วยเราทั้ง ๒ ด้านเลย ช่วยให้บรรลุเร็ว และช่วยให้ปฏิบัติง่าย

 

ที่ปฏิบัติยากเพราะอยากจะปฏิบัติแบบสบายๆ พอนั่งเจ็บปวดหน่อยก็ไม่เอาแล้ว มันก็เลยยาก ถ้าเจ็บปวดแล้วไม่สนใจมัน ไม่ให้ความเจ็บปวดมาเป็นปัญหา มันก็ง่าย ไม่นานก็ทะลุไปได้ ความเจ็บปวดเป็นเหมือนพยับแดด ไม่ได้เป็นของจริง เราไปกลัวมันเอง ถ้าไม่กลัวมันเสียอย่าง มันทำลายใจไม่ได้หรอก มันไม่ได้เป็นของจริง เป็นเหมือนพยับแดด แต่พอเราเห็นปั๊บก็กลัวมันแล้ว เห็นว่ามันเป็นเหมือนเสือ ก็เลยกลัวตัวสั่น ถ้าเข้าไปหามัน พอถึงตัวมันๆก็จะหายไป เพราะมันเป็นเหมือนพยับแดด ความเจ็บปวดนี้ก็เหมือนกัน อย่าไปกลัวมัน ปล่อยมันเจ็บไป เราก็ภาวนาของเราไป บริกรรมพุทโธๆไป หรือพิจารณาให้เห็นว่า เป็นเพียงสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นที่จิตรับรู้เท่านั้นเอง เหมือนกับเสียงที่เราได้ยินขณะนี้ มันก็เป็นสภาวธรรมที่จิตรับรู้ จิตรับรู้ได้ทุกสภาวธรรม ไม่ว่าจะเป็นเสียงเป็นรูปเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ จะเป็นในรูปแบบไหนก็ตาม ที่ชอบหรือไม่ชอบ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร จิตรับรู้ได้หมด ปัญหาอยู่ที่ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็เป็นปัญหาตอนที่สัมผัสรับรู้ ถ้าชอบก็จะไม่เป็นปัญหาตอนที่สัมผัสรับรู้ เช่นพริกนี้ ถ้าชอบพริกก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่ชอบก็เป็นปัญหา รับประทานไม่ได้ เช่นเดียวกับเวทนา ถ้าชอบทุกขเวทนาชอบความเจ็บปวดก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่ชอบก็จะเป็นปัญหา

 

พระปฏิบัติจึงไม่กลัวความเจ็บปวดกัน ท่านฝึกให้ชอบความเจ็บปวด เดินจงกรมเป็นชั่วโมงๆ เพื่อฝึกใจให้ชินกับความเจ็บปวด พอชินแล้วก็จะไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด จะผ่านไปได้ เวลาอดอาหารก็เป็นการสร้างความเจ็บปวดขึ้นมาภายในร่างกาย เวลาร่างกายขาดอาหารก็เกิดความหิว ก็เป็นความเจ็บปวด ก็ต้องหาวิธีต่อสู้กับความเจ็บนี้ ก็คือทำจิตให้สงบ พอจิตสงบแล้ว ความเจ็บความหิวของร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่ไม่ชอบความหิว หรือความอยากรับประทานที่เป็นตัวปัญหา พอจิตสงบแล้วความอยากรับประทานก็หายไป ความทุกข์ทรมานใจที่เกิดจากความอยากรับประทาน หรือความไม่ชอบความหิว ก็จะหายไป ความหิวของร่างกาย ไม่รุนแรงเท่ากับความไม่ชอบความหิว หรือความอยากรับประทาน ที่ทำให้ทุกข์ทรมานใจมากกว่าหลายเท่า พอจับประเด็นนี้ได้แล้ว จะไม่กลัวความเจ็บปวดของร่างกาย หรือความหิวของร่างกาย แต่กลัวความทุกข์ทรมานใจ ที่เกิดจากความกลัวความหิวกลัวความเจ็บของร่างกายมากกว่า จึงต้องระงับดับความกลัวความเจ็บนี้ เวลาที่มันเกิดขึ้นมา ด้วยการทำใจให้สงบ ด้วยอุบายของสมถภาวนา เช่นบริกรรมพุทโธๆไป หรือด้วยการใช้ปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เหมือนกับเสียงที่ได้ยินได้ฟังในขณะนี้ มากระทบกับหูแล้วก็รับรู้ที่ใจ ความหิวก็กระทบกับร่างกายแล้วก็ไปรับรู้ที่ใจเหมือนกัน พอไปถึงใจก็เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงหรือความหิวของร่างกาย

 

เพราะใจไม่ได้เป็นร่างกาย ใจเป็นเพียงผู้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นอะไร ไม่ได้กระทบกระเทือนใจเลย มีแต่กิเลสตัณหาที่กระทบกระเทือนใจ ด้วยอวิชชาความไม่เข้าใจความหลง เหมือนกับดูหนังแล้วไปตื่นเต้นดีใจเสียใจกับหนังที่เราดู เราไม่ได้เป็นอะไรกับดาราที่แสดงเลย ทำไมไปเป็นอะไรไปกับเขาด้วย เพราะเราดูแบบเอาเขามาเป็นเรา เราเป็นเขา ถ้าดูว่าเขาเป็นเขา เราเป็นเรา เราเป็นคนดู เขาเป็นคนเล่น ก็ปล่อยเขาเล่นไป เราก็ดูไป ก็จะไม่เป็นปัญหา ดูฟุตบอล เวลาแพ้ก็เสียใจ เวลาชนะก็ดีอกดีใจ ฉลองกันทั่วประเทศ เป็นคนเล่น ไม่ได้เป็นคนดู ถ้าดูเฉยๆ เวลาแพ้ก็เขาแพ้ เราไม่ได้แพ้ เวลาชนะก็เขาชนะ เราไม่ได้ชนะไปกับเขาด้วย ถ้าดูเฉยๆ เวลาร่างกายเจ็บ ใจไม่ได้เจ็บไปกับร่างกาย ร่างกายหิว ใจก็ไม่ได้หิวไปกับร่างกาย ถ้าใจสงบนิ่งใจจะอิ่มตลอดเวลา จะเห็นว่างานที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจนี่แหละ อยู่ที่ทำใจให้สงบนิ่งให้ได้ตลอดเวลา เวลากิเลสตัณหาเกิดขึ้นมา ก็ต้องสยบมันให้ได้ สยบมันด้วยสมถะถ้ายังไม่มีปัญญา ถ้ารู้จักใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญา ถ้าใช้ปัญญาจะสยบได้อย่างถาวร จะไม่ฟื้นขึ้นมาอีก ถ้าสยบด้วยสมถะ จะสงบในขณะที่สมถะทำงาน เวลาจิตสงบ กิเลสตัณหาจะสงบไปด้วย พอจิตออกจากความสงบ กิเลสตัณหาก็จะออกมาทำงานต่อ ถ้าถูกสยบด้วยปัญญา ก็จะไม่ออกมาอีกเลย เพราะกิเลสตัณหาออกมาจากความหลง พอได้ปัญญาไปดับความหลง ก็จะไม่มีตัวที่จะสร้างกิเลสตัณหา การปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสอย่างถาวร จึงต้องใช้ปัญญา ถ้าใช้สมถะใช้สมาธิ จะกำจัดได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่จะไม่ถาวร เหมือนกับร่างกายเป็นโรคภัยไข้เจ็บอยู่เรื่อยๆ กินยาก็หาย แล้วก็เป็นใหม่อีก ถ้าจะหายอย่างถาวรก็ต้องเอาไปเผา จะไม่มีโรคอีก เพราะร่างกายเป็นที่ตั้งเป็นที่เกิดของโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าไม่มีร่างกายก็จะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ พระพุทธเจ้าจึงไม่ไปเกิดใหม่ เพราะไม่อยากมีโรคภัยไข้เจ็บ พระอรหันต์จึงไม่ไปเกิดใหม่ แต่พวกเรายังอยากจะเกิดใหม่ ยังอยากจะเป็นโรคกัน

 

งานทางโลกที่ทำไปนี้ ประโยชน์จะตกอยู่ที่ร่างกายกับที่กิเลส เพราะจะเอารายได้มาหาความสุขทางโลกกัน ถ้ามีรายได้พอจุนเจืออัตภาพร่างกายแล้ว มีเวลาที่จะปฏิบัติธรรมได้ ก็ควรหยุดงานทางโลก เพื่อมาปฏิบัติธรรมจะดีกว่า ครูบาอาจารย์ทุกรูปก็ทำอย่างนี้กัน งานทางโลกท่านก็สละหมดแล้ว ท่านถึงเป็นสรณะเป็นที่พึ่งของเราได้ เป็นที่พึ่งของท่านได้ เพราะท่านสละงานทางโลกไป แล้วก็ทุ่มเทกับงานทางธรรม ปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ศึกษาปฏิบัติธรรมจนสำเร็จ ก็จะไม่มีงานที่จะต้องทำอีกต่อไป มีแต่งานอดิเรก คือสั่งสอนผู้อื่นช่วยเหลือผู้อื่น งานนี้จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่ศรัทธา ถ้าจะสอนแต่ไม่มีคนศรัทธามาฟัง ก็ไม่ต้องสอน ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีศรัทธาด้วย ขึ้นอยู่กับผู้สอนด้วย ครูบาอาจารย์บางรูปท่านก็ไม่ค่อยสั่งสอนใคร บางรูปก็มีความรู้ความสามารถมาก สั่งสอนญาติโยมได้เป็นจำนวนมากมาย เป็นเรื่องอัธยาศัย ไม่ได้เป็นข้อบังคับ ถ้าทำงานของเราเสร็จแล้ว งานที่จะสงเคราะห์ผู้อื่น ถือเป็นงานอดิเรก จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย อยู่ที่ความรู้ความสามารถของตนเองที่จะสั่งสอนผู้อื่น แล้วก็อยู่ที่ศรัทธาของผู้อื่นจะสนใจฟัง จะสนใจศึกษาหรือไม่ อยู่ทั้ง ๒ ส่วน

 

พระพุทธเจ้าบางองค์ก็ไม่ได้สั่งสอนใคร ก็ทรงเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป ไม่มีใครทราบว่าท่านเป็นพระพุทธเจ้า อาจจะอยู่ในยุคที่ไม่มีใครสนใจกับการศึกษาปฏิบัติธรรมก็ได้ หรืออาจจะเป็นจริตของท่าน ที่ไม่อยากจะยุ่งกับการอบรมสั่งสอนผู้อื่น แม้แต่พระพุทธเจ้าของพวกเรา ในเบื้องต้นก็ทรงมีความรู้สึกอย่างนั้น ตอนที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงมีความท้อแท้ที่จะเผยแผ่สั่งสอนผู้อื่น เพราะทรงรู้ว่าเป็นความรู้ ที่ขัดกับความรู้สึกของคนในโลก เหมือนกับไปสอนคนที่ติดเหล้าติดบุหรี่ให้เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ หรือติดยาเสพติด เป็นงานที่ยากลำบาก ก็เลยไม่อยากจะขวนขวาย แต่เนื่องจากมีพระเมตตากรุณา ทรงเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่นำเอาไปปฏิบัติ ทรงพิจารณาเห็นว่าคนก็มีหลายจำพวกด้วยกัน พวกที่ไม่สามารถหรือไม่สนใจรับไปปฏิบัติก็มี พวกที่สนใจและสามารถรับไปปฏิบัติได้ก็มี พระองค์จึงทรงจำแนกแยกสัตว์ หรือผู้ที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมนี้ไว้ ๔ จำพวก เหมือนบัว ๔ เหล่า ทรงมุ่งไปสอนพวกที่มีความสนใจ จะรู้เร็วรู้ช้าก็อยู่ที่บุญบารมีที่ได้สร้างมา เบื้องต้นก็มุ่งไปพวกที่มีบารมีมาก เพราะสอนง่าย พูดเพียงคำ ๒ คำก็เข้าใจ ก็ปฏิบัติตามได้ บรรลุได้ พอหมดพวกแรกแล้วค่อยไปพวกที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป

 

นี่คืองานอดิเรกของผู้ที่เสร็จงานของตนแล้ว ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละท่าน เป็นสติปัญญาที่จะนำเอาธรรมที่รู้มาสอนผู้อื่น มาพูดให้คนอื่นฟังแล้วเกิดความเข้าใจ ถ้ามีศิลปะในการสั่งการสอน ก็จะสั่งสอนผู้อื่นได้มาก ถ้าไม่มีศิลปะ สอนแบบเนื้อๆไม่ขยายความ คนฟังก็อาจจะไม่เข้าใจ ถ้าสามารถแสดงธรรมให้คนเข้าใจได้ จะเป็นประโยชน์กับโลกมาก เช่นพระสารีบุตร พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง ว่าเป็นรองจากพระพุทธเจ้าเท่านั้นในการแสดงธรรม ทรงถือว่าเป็นอิทธิฤทธิ์ที่แท้จริง คือความสามารถในการเผยแผ่ธรรมะให้แก่ผู้อื่น ส่วนอิทธิฤทธิ์ที่มีตาทิพย์หูทิพย์ หรือเหาะเหินเดินอากาศได้นั้น ไม่ทรงถือเป็นอิทธิฤทธิ์ที่แท้จริง เพราะไม่ยังประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าเป็นอาหารก็เป็นชนิดที่ไม่ต้องเคี้ยวเลย เอาเข้าปากกลืนได้เลย ถ้าเป็นแบบเนื้อทั้งดุ้น ไม่มีฟันก็เคี้ยวไม่ได้ ก็จะกลืนยาก นี่คือการเปรียบเทียบ ระหว่างคนที่มีความสามารถแสดงธรรม กับคนที่ไม่มีความสามารถ มีความแตกต่างกัน ถ้าได้เจอคนที่มีความสามารถ เอาสิ่งที่ยากมาสอน ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ง่าย ให้เข้าอกเข้าใจได้ง่าย ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นวาสนา ถ้าไปเจอคนที่พูดสั้นๆพูดสรุป ก็ต้องขวนขวายมาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีใครสอนเลย เป็นอุปนิสัยเป็นจริตของแต่ละท่าน บังคับกันไม่ได้ บางท่านไม่ถนัดกับการแสดงธรรม สั่งสอนแบบธรรมดาไม่พิสดาร บางท่านถนัดในการชี้แจงขยายความ ก็ต้องเป็นไปตามจริตของท่าน พวกเราก็แล้วแต่บุญวาสนา ถ้าได้เจอผู้ที่มีความสามารถในการสั่งสอน ก็ถือว่าเป็นบุญ ถ้าเจอแล้วแต่ยังไม่เอาไปปฏิบัติ ก็ถือว่าเป็นกรรม

 

จะบังคับให้ครูบาอาจารย์แสดงธรรมไม่ได้ ครูบาอาจารย์บังคับลูกศิษย์ให้ปฏิบัติไม่ได้ ต่างฝ่ายต้องเป็นไปตามบุญบารมีของตน ถ้าบำเพ็ญบุญบารมีมามากก็จะปฏิบัติง่ายรู้เร็ว ถ้าไม่มีก็พยายามสร้างไป อย่าท้อแท้ อย่าเห็นคนอื่นเขาเก่งกว่าเรา แล้วทำให้เราท้อแท้ ไม่อยากจะสร้างบุญบารมีต่อ อย่าไปมองคนอื่น ให้มองที่ตัวเรา เรากำลังขาดอะไร ก็ต้องเติมสิ่งที่ขาดให้มันเต็ม อย่าไปดูน้ำในตุ่มของคนอื่น ให้ดูน้ำในตุ่มของเรา ตุ่มของคนอื่นเขาเต็มแล้ว แต่ของเรายังไม่เต็ม อย่าคิดว่าของเขาเต็มแล้ว เราไม่อยากเติมของเรา มันก็จะไม่เต็ม เราต้องคิดว่าของเขาเต็มแล้วของเรายังไม่เต็ม ต้องรีบเติมให้เต็มเหมือนของเขา เรามีปัญญาบารมีน้อยกว่าเขา ก็ต้องเสริมสร้างบารมีให้มีมากขึ้น เราปฏิบัติน้อยกว่าเขา ก็ต้องพยายามปฏิบัติให้มากกว่าเขา ความรู้ความสามารถในตัวเรานี้ สามารถพัฒนาให้มีเท่ากับเขาได้ ตอนนี้เราพัฒนาถึงระดับไหน เขาสูงกว่าเรา หรือเราสูงกว่าเขา ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเราพัฒนาไปถึงขีดสูงสุดของเราหรือยัง  อยู่ที่ตรงนี้ ถ้ายังก็ต้องพัฒนาขึ้นไป ให้ถึงขีดสูงสุดให้ได้ ไม่มีใครพัฒนาให้เราได้ เราต้องพัฒนาด้วยตัวเราเอง เป็นงานของเรา อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ผู้อื่นเป็นเพียงผู้บอกทาง เราต้องเป็นผู้เดิน รู้ทางแล้วแต่ไม่เดิน ก็จะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง

 

ถาม  ได้ฟังเรื่องอริยสัจ ๔ แล้วมีความรู้สึกขึ้นมาว่าทุกข์ มีทุกข์ซ้อนทุกข์ขึ้นในจิต ควรจะพิจารณาต่อใช่ไหมคะ

 

ตอบ พิจารณาให้เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก เกิดจากสมุทัย ถ้าละความอยากได้ ทุกข์ก็จะดับ จะดับความทุกข์ได้ก็ต้องเห็นไตรลักษณ์ ต้องใช้ไตรลักษณ์พิจารณาละความอยาก พอตัดความอยากได้ ความทุกข์ก็จะหายไป

 

ถาม  มันหายเป็นช่วงๆ มันเกิดดับๆ เป็นช่วงๆ

 

ตอบ เพราะยังตัดไม่ขาด

 

ถาม  บางช่วงเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา

 

ตอบ ต้องไปพิสูจน์ดูว่าเห็นจริงหรือไม่ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย เราทุกข์หรือเปล่า การพิจารณานี้เป็นเหมือนกับการวิเคราะห์ ยังไม่ได้เจอของจริง ต้องไปเจอของจริงดู ก็จะรู้ว่าปล่อยวางได้หรือไม่ พิจารณาร่างกายให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เพื่อจะได้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าเป็นร่างกายของคนอื่น ร่างกายคนอื่นเวลาหมอบอกว่าเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคมะเร็ง จะตายใน ๖ เดือน เราก็ไม่ได้ไปทุกข์วุ่นวายใจด้วย ถ้าหมอบอกว่าร่างกายของเราจะตายภายใน ๖ เดือน เราจะทุกข์วุ่นวายใจหรือไม่ ถ้าไม่ก็แสดงว่าเห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้ายังทุกข์วุ่นวายใจอยู่ ก็ยังไม่ผ่าน ตอนนี้เป็นเพียงการทำการบ้าน ต้องไปเข้าห้องสอบ

 

ถาม  อยู่ๆมันก็ผุดขึ้นมาในจิต

 

ตอบ เป็นธรรมที่เคยได้ยินมา หรือเคยพิจารณามาก่อน

 

ถาม  เป็นความหลงหรือเปล่า

 

ตอบ ไม่หลง เป็นธรรม อยู่ที่ว่าจะเอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ เอามาดับกิเลสได้หรือไม่ อยู่ตรงนั้น

 

ถาม  มันเกิดเป็นระยะๆ

 

ตอบ ก็ดี ให้รู้อยู่เรื่อยๆ พอมั่นใจแล้วก็ลองไปหาที่พิสูจน์ดู ที่ไหนน่ากลัวๆ ก็ไปอยู่ที่นั้น ดูว่าร่างกายยังเป็นของเราหรือไม่

 

ถาม  ก็เคยไปบ้าง ไปแค่วัน ๒ วัน ไม่ได้ไปนาน

 

ตอบ ไม่ได้อยู่ที่นานหรือไม่นาน อยู่ที่ปล่อยได้หรือไม่

 

ถาม  ถ้าไปปฏิบัติ ๒ หรือ ๓ สำนัก ถือเป็นการเที่ยวเร่ร่อนไปหรือเปล่า

 

ตอบ ไม่หรอก ถ้าไปเพื่อธรรมะ

 

ถาม  ไปเพราะว่าท่านแนะนำสั่งสอนเราได้ สถานที่ก็ถูกจริตด้วย  เลยไม่แน่ใจว่าท่องเที่ยวเกินไปหรือเปล่า

 

ตอบ ไม่หรอก ไปเพื่อหาที่ภาวนา หาครูบาอาจารย์ที่สอนเราได้ พอได้แล้วก็ไม่ควรไปที่อื่น ถ้าจะไปอีกก็แสดงว่าอยากเที่ยวแล้ว