กัณฑ์ที่ ๔๑๑       ๒๕ เมษายน ๒๕๕๓

 

ธาตุ ๖

 

 

 

สอนอยู่เสมอว่า เกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา แต่ใจไม่ตาย ไปกลัวทำไม ใจไม่เคยตาย กลับไปกลัวตายเสียเอง สิ่งที่ตายกลับไม่กลัวก็คือร่างกาย หนังเนื้อเอ็นกระดูกไม่กลัว ผู้ที่กลัวไม่ตาย ให้ค้นความจริงนี้ให้พบเถิด แล้วจะอยู่อย่างสบาย ให้พบผู้ที่ไม่ตาย ก็คือเรานี่เอง แต่ทำไมเรามองไม่เห็นตัวเรา เพราะไม่มีกระจกเงาดู กระจกเงาที่จะดูใจได้ก็คือธรรมะ การภาวนาเป็นการสร้างกระจกเงาดูใจ ถ้าสร้างสำเร็จแล้ว ก็จะมีดวงตาเห็นธรรม เห็นความจริง เห็นว่าใจกับกายเป็นคนละส่วนกัน กายเป็นดินน้ำลมไฟ ใจเป็นธาตุรู้ มาอยู่ร่วมกัน ตามอำนาจของตัณหาความอยาก ของบุญและบาป ถ้าเป็นอำนาจบุญก็ได้ร่างมนุษย์ ถ้าเป็นอำนาจบาปก็ได้ร่างเดรัจฉาน อยู่ไประยะหนึ่งแล้วก็แยกออกจากกัน แล้วก็กลับมารวมกันใหม่ กลับมาได้ร่างใหม่ กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้มานับไม่ถ้วนแล้ว แต่ผู้ที่ได้ร่างนี้ไม่เคยศึกษาความจริงนี้ ทุกครั้งที่ได้ร่างกายก็คิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา พอร่างกายเป็นอะไรไป ก็เกิดความหวาดกลัวเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้ามีกระจกเงาไว้ดูใจเหมือนมีกระจกเงาดูหน้าตา ก็จะรู้ว่าเราไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่เรา ท่านถึงได้แสดงไว้ว่าร่างกายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติดไปหลงคิดว่าเป็นตัวเราของเรา นี่คืออนิจจังทุกขังอนัตตา

 

ถ้าเห็นธรรมนี้ ก็จะมีกระจกเงาเห็นตนเอง จะไม่กลัวความตาย เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านก็เปล่งวาจาว่า สิ่งใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ท่านเห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็นเป็นคนละส่วนกัน สิ่งที่ถูกเห็นก็คือร่างกาย ที่ประกอบจากดินน้ำลมไฟ คือธาตุ ๔ ไม่ได้เป็นผู้เห็น ผู้เห็นเพียงมาครอบครองเป็นสมบัติชั่วคราว เมื่อถึงเวลาสมบัตินี้ก็จะต้องเสื่อมหมดสภาพไป ก็จะแยกกลับคืนสู่สภาพเดิม กลับไปสู่น้ำ กลับไปสู่ดิน กลับไปสู่ลม กลับไปสู่ไฟ เวลาคนตายไฟก็จะออกจากร่างไป ร่างกายก็จะเย็น น้ำก็จะไหลออกไป ลมก็จะระเหยออกไป ในที่สุดก็จะเหลือแต่ส่วนที่เป็นดิน เห็นกันชัดๆ ตัวเราอยู่ตรงไหน ตัวเขาอยู่ตรงไหน ไม่มีหรอก ผู้ที่เป็นเจ้าของร่างกายก็ไปแล้ว ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เป็นเหมือนกันทุกคน ใจของทุกคนเป็นธรรมชาติเดียวกัน เป็นธาตุรู้เหมือนกัน ต่างกันที่รู้ไม่จริงกับรู้จริงเท่านั้นเอง ถ้ารู้จริงก็ไม่ทุกข์ ปล่อยวางไม่ยึดไม่ติด ไม่อยากจะได้ร่างกายใหม่ เพราะได้มาทีไรก็ต้องเป็นภาระ เป็นภารหเว ปัญจขันธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระที่ต้องแบก เช่นพระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวก หลังจากที่ตรัสรู้บรรลุธรรมแล้ว ก็ยังต้องแบกภาระของร่างกายอยู่ ยังต้องดูแลรักษา ให้อาหารอาบน้ำอาบท่า   เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องให้ยา เป็นภาระอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีร่างกายก็จะไม่มีภาระ ถ้าไม่มีลูกก็จะไม่มีภาระที่ต้องเลี้ยงดูลูก ถ้ามีลูกก็จะมีภาระต้องเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่ออกมาจากท้อง จนกว่าจะเจริญเติบโต จนเลี้ยงตัวเองได้ ถึงจะหมดภาระ นี่คือกระจกส่องใจ แว่นดวงใจ แว่นส่องใจ คือปัญญา หรือแสงสว่างแห่งธรรม ที่จะทำให้เห็นความจริงนี้

 

มีพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียว ที่ทรงเห็นใจได้ด้วยพระองค์เอง ที่ทรงตรัสรู้ก็ตรัสรู้เรื่องของใจนี่เอง ตรัสรู้ว่าใจทุกข์เพราะอะไร ใจสุขเพราะอะไร ใจทุกข์เพราะหลง ไปยึดไปติดขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเราของเรา ทรงแสดงไว้ในทุกขสัจ อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีอุปาทานก็จะไม่มีความทุกข์ ถึงแม้จะมีขันธ์ ๕ แต่ถ้าไม่มีอุปาทานก็จะไม่ทุกข์ เช่นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไม่ทุกข์กับร่างกาย จะเป็นจะตายอย่างไรไม่เดือดร้อน ตายในอิริยาบถใดที่ไหนเวลาใดได้อย่างสบาย เพราะไม่มีอุปาทานในขันธ์ ๕ในร่างกาย ว่าเป็นตัวเราของเรา เห็นชัดอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ พระอริยสัจ ๔ ก็คือทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ทุกข์ได้แก่การเกิดแก่เจ็บตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ การประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ โดยสรุปก็คืออุปาทานในขันธ์ ๕ ทั้งของเราและของผู้อื่น อุปาทานในขันธ์ ๕ ของเราก็คือร่างกายเรา ของผู้อื่นก็คือของสามีของภรรยาของบุตรของธิดาของพ่อของแม่ของเพื่อน พอมีอุปาทานว่าเป็นเพื่อนเราเป็นญาติเรา ก็เกิดความอยากให้เขาอยู่อย่างปลอดภัย อยู่ไปนานๆ พอมีเหตุการณ์มากระทบกับความปลอดภัย ก็สร้างความหวั่นไหว สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนใจขึ้นมา ทั้งหมดนี้ก็เกิดจาก อวิชชาปัจจยาสังขารา ความเห็นผิดเป็นชอบ ไม่เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นตัวเราของเรา สัพเพธัมมาอนัตตา สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นเพียงธาตุ

 

ธาตุที่เห็นกันก็คือธาตุ ๔  ดินน้ำลมไฟ ธาตุที่ไม่เห็นมีอยู่ ๒ คืออากาศธาตุ และธาตุรู้คือใจ สรรพสัตว์ทั้งหลายมีธาตุ ๖ มาผสมกัน สิ่งอื่นๆมีเพียง ๕ ธาตุ มนุษย์กับเดรัจฉานมี ๖ ธาตุ คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ธาตุรู้คือใจ แล้วก็มีอากาศธาตุคือความว่าง ที่อยู่รอบร่างกาย และอยู่ข้างในร่างกายด้วย ตรงไหนเป็นช่องว่าง ตรงนั้นก็เป็นอากาศธาตุ เช่นที่รูจมูก ส่วนที่ว่างในร่างกาย ก็จะเป็นอากาศธาตุ ส่วนที่อยู่รอบร่างกายก็เป็นอากาศธาตุ ส่วนธาตุรู้ก็คือใจ ที่เป็นเจ้านายของร่างกาย ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ธาตุรู้เป็นผู้สั่งให้ร่างกายทำงาน ให้ไปนั่นมานี่ ให้พูดอย่างนั้นพูดอย่างนี้ ธาตุรู้เป็นทั้งผู้สั่งและผู้รับรู้ สิ่งต่างๆที่เข้ามาทางทวารทั้ง ๕ คือตาหูจมูกลิ้นกาย ส่วนอวิชชาปัจจยาสังขาราก็คือ ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ กลับไปคิดว่าเป็นตัวเราของเรา เวลาร่างกายสุขก็ดีใจ เวลาร่างกายเจ็บก็ทุกข์ใจ จึงเกิดตัณหาขึ้นมา เกิดกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหาขึ้นมา ตัณหาเป็นสมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะอวิชชาจึงเกิดอุปาทานตัณหาเกิดความทุกข์ตามมา ที่พวกเราทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ ก็ทุกข์ทางใจ เพราะตัณหาทั้ง ๓ นี้ อากาศร้อนก็ทุกข์ เพราะไม่ชอบเวทนาที่ร้อน อยากจะให้เย็นก็ทุกข์ ถ้ายอมรับความร้อนได้ ร้อนก็ร้อนไป ก็จะไม่ทุกข์ ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ไม่ต้องหาวิธีต่างๆมาดับความร้อน อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ตาย ก็จะไม่ทุกข์ เพราะไม่มีอุปาทาน ไม่ได้คิดว่าตัวเราร้อน ไม่ได้คิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา ตัวเราไม่ร้อน ตัวเราเพียงแต่รู้ว่าร่างกายร้อน ตัวเราคือผู้รู้ไม่ได้ร้อนไปกับร่างกาย เราเย็นด้วยความสงบ ด้วยการปล่อยวาง เป็นอุเบกขา ไม่มีตัณหาทั้ง ๓ กามตัณหาก็ไม่มี ภวตัณหาก็ไม่มี วิภวตัณหาก็ไม่มี ยินดีตามมีตามเกิด นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ

 

เพื่อสอนใจให้ปล่อยวาง ไม่ให้ยึดไม่ให้ติดในสิ่งต่างๆ ที่เป็นเพียงธาตุ ๖ ธาตุดินน้ำลมไฟ ธาตุอากาศและธาตุรู้ ถ้าเห็นได้อย่างชัดเจนในทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะปล่อยวางได้ จะไม่ทุกข์กับอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมาจากธาตุ ๖ นี้เอง ร่างกายและใจของเราก็มาจากธาตุ ๖ ของคนอื่นก็ธาตุ ๖ บ้านก็เป็นธาตุ  สมบัติต่างๆก็เป็นธาตุ เพชรก้อนโตเท่ากำมือก็เป็นธาตุ เป็นก้อนหินก้อนหนึ่งที่เราสมมุติว่ามีราคา แล้วก็หลงตามสมมุติ แต่ความจริงไม่มีราคาอะไร เป็นเพียงก้อนหินก้อนหนึ่ง กระดาษที่พิมพ์ตัวเลข ๑๐๐๐ เลข ๕๐๐ เลข ๑๐๐ ก็เป็นเพียงกระดาษ ถูกสมมุติให้มีราคาเท่านั้นเท่านี้ สมัยเป็นเด็กๆเคยเล่นไพ่ใช้เงินปลอม ไม่มีใครเชื่อกันว่าเป็นเงินจริง แต่เงินปลอมของผู้ใหญ่กลับเชื่อกัน เงินปลอมของเด็กไม่เชื่อ เป็นเงินปลอมเหมือนกัน เป็นกระดาษเหมือนกัน พอมีคนเชื่อก็เลยมีค่าขึ้นมา เอากระดาษนี้ไปแลกข้าวปลาอาหารได้ เพราะเชื่อกัน เงินของฝรั่งพิมพ์คำว่าเราเชื่อในพระเจ้าไว้ จึงมีคุณค่า ความจริงเป็นเพียงกระดาษ แต่ทุกคนเชื่อกันหลงกันว่ามีราคา จึงเป็นของมีราคาขึ้นมา แต่ความจริงไม่มีราคาอะไร ถ้าหลงอยู่ในป่า ไปเจอเพชรกองเท่าภูเขา ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร ไปเจอกล้วยสักหวีหนึ่งจะดีกว่า แต่เราไม่ใช้ปัญญาแยกแยะกัน เกิดมาถูกสอนให้เชื่อก็เชื่อตามกันมา สอนว่าร่างกายคนนี้เป็นพ่อ ร่างกายคนนี้เป็นแม่ ก็เชื่อกันมา คนนี้เป็นพี่ คนนี้เป็นน้อง คนนี้เป็นเจ้า คนนี้เป็นบ่าว ก็คนเหมือนกัน หน้าตาเจ้ากับหน้าตาบ่าวต่างกันตรงไหน ถ้าเจ้ามีเขาก็น่าจะวิเศษกว่าบ่าว เจ้าก็ไม่มีเขา บ่าวก็ไม่มีเขา มีแขนมีขาเหมือนกัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน จะไปตื่นเต้นกับอะไร เพราะไม่ใช้ปัญญา หลงตามสมมุติกัน สมมุติว่าคนนั้นมีราคา คนนี้ไม่มีราคา แต่ความจริงก็เป็นร่างกายเหมือนกัน เป็นธาตุ ๔ เหมือนกัน เป็นดินน้ำลมไฟเหมือนกัน นี้เรียกว่าปัญญา

 

จะรู้ทันกิเลสก็ต้องรู้แบบนี้ ต้องพิจารณาแบบนี้ ต้องมองอย่างนี้ จะได้หลุดพ้นจากสมมุติ เราติดอยู่กับสมมุติ จึงต้องศึกษาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ เป็นการบ้านสำหรับวันนี้ ไปพิจารณาดู เห็นอะไรก็พิจารณาว่าเป็นธาตุ แยกแยะดูว่าเป็นธาตุหรือไม่ มีอะไรบ้างที่ไม่เป็นธาตุ ดินน้ำลมไฟ ธาตุดินก็เป็นส่วนแข็ง ธาตุน้ำเป็นส่วนเหลว บางสิ่งก็มีทั้งธาตุดินธาตุน้ำผสมกัน ก็ข้นหน่อย ถ้าใสก็จะไม่มีธาตุดินเลย หรือมีน้อยมาก เช่นน้ำแร่ มีธาตุดินอยู่ด้วย แต่มีจำนวนน้อยมาก ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่าน้ำแร่ได้อย่างไร ต้องเรียกว่าน้ำกลั่น เพราะน้ำกลั่นแทบจะไม่มีธาตุดินผสมอยู่เลย เพราะกลั่นเอาแต่น้ำออกมา ทุกสิ่งทุกอย่างมีส่วนผสมของธาตุ ๔ รวมกันทั้งนั้น ไม่เที่ยง รวมตัวแล้วก็แยกออกจากกัน ธรรมชาติของธาตุจะกลับคืนสู่ธาตุเดิมเสมอ น้ำจะกลับไปรวมกับน้ำ ดินจะกลับไปรวมกับดิน แต่ถูกปัจจัยอื่นบังคับให้มารวมกัน พอรวมกันแล้วก็จะแยกกัน เช่นต้นไม้ที่โผล่ขึ้นมาจากดิน เพราะมีเมล็ดอยู่ในดิน พอมีน้ำมาผสม ต้นก็เลยงอกออกมา ถ้าไม่มีน้ำต้นไม้ก็ต้องแห้งตายไป ถ้าไม่มีอากาศต้นไม้ก็ต้องตาย ไม่มีความร้อนต้นไม้ก็ต้องตาย ต้องมีธาตุทั้ง ๔ ถึงจะเจริญเติบโตและอยู่ได้ ถ้าธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งหมดไปก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าพลังแยกที่จะทำให้แยกออกจากกัน มีกำลังมากกว่า ก็จะต้องตายไป ร่างกายของเราตายเพราะธาตุ ๔ ไม่ยอมอยู่ร่วมกัน จะแยกทางกัน ตอนต้นพลังที่ดึงไว้ให้อยู่ร่วมกันมีกำลังมากกว่า ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต พออ่อนกำลังลง สู้ปัจจัยที่จะแยกให้ออกจากกันไม่ได้ ร่างกายก็จะค่อยๆเสื่อมลงไป เริ่มแก่ลงไป แล้วในที่สุดก็แยกจากกันไปคนละทิศคนละทาง น้ำก็ไปทางหนึ่ง ไฟก็ไปทางหนึ่ง ลมก็ไปทางหนึ่ง ดินก็ไปทางหนึ่ง ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ให้พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะปล่อยวางได้ พอพร้อมที่จะปล่อยก็เอาไปปล่อยดู ไปทดสอบดูว่าปล่อยได้จริงหรือไม่ ที่ไหนที่น่ากลัวๆ ที่น่าจะมีอันตรายต่อร่างกาย ก็ลองไปดู

 

นักปฏิบัติตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้ ต้องทดสอบกันทั้งนั้น ต้องอยู่ป่าอยู่เขากันทั้งนั้น ต้องอยู่ตามลำพัง ถึงจะเกิดความกลัวสุดขีด พอเกิดความกลัวสุดขีด ถ้ามีปัญญาก็จะดับความกลัวได้ ดับด้วยการเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นธาตุ ๔  เชื่ออย่างเต็มที่ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถึงเวลาก็ยอมให้ไปเลย เวลากลัวสุดขีดก็ยอมปล่อยให้ไป ตายเป็นตาย พอปล่อยได้ปั๊บจิตจะหยุดกลัว จะแยกออกจากร่างกายให้เห็นเลย จะรวมเข้าสู่สมาธิ เป็นเอกัคตารมณ์ ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง หลังจากนั้นจะไม่มีความกลัวอีกต่อไป เพราะรู้ว่าใจไม่เป็นอะไร ร่างกายเป็น แต่ใจกลับสบาย จะไปกลัวตายทำไม พอสลัดร่างกายทิ้งไปได้แล้วจะสบายใจมาก แลกกันระหว่างร่างกายกับจิตที่รวมลงเป็นหนึ่งเป็นเอกัคตารมณ์ เราจะเอาอะไร ท่านถึงสอนว่านิพพานอยู่ฟากตาย ถ้าไม่ยอมตายจิตจะไม่ดิ่งลงสู่พระนิพพาน ไม่ดิ่งลงสู่ความสงบ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ ต้องทำการบ้านก่อน ต้องเตรียมต้องซ้อมไว้ก่อน ถ้าไม่ทำจะไม่มีกำลัง พอไปแล้วจะทำไม่ได้ จะสติแตก แทนที่จะดิ่งลงสู่ความสงบ จะดิ่งสู่ความเป็นบ้า เพราะควบคุมกิเลสไม่ได้ กิเลสจะทำให้สติแตก จะทำให้เป็นบ้าไปเลย ผู้ที่ปฏิบัติแล้วเป็นบ้ากัน เพราะไม่รู้กำลังของตนเอง ท่านถึงบังคับให้ผู้ที่บวชใหม่อยู่กับพระอาจารย์อย่างน้อย ๕ พรรษาก่อน ให้ศึกษาวิทยายุทธ์ ให้มีอาวุธคุ้มครองจิตใจก่อน แล้วค่อยออกไปต่อสู้กับกิเลสในสนามรบ

 

ตอนต้นก็ซ้อมกับอาจารย์ไปก่อน ให้อาจารย์ยุแหย่ให้เกิดกิเลสขึ้นมา ทำให้เรากลัว แล้วดูซิว่าจะปลงได้หรือไม่ ถ้าปลงได้ไม่กลัวท่าน ก็ออกวิเวกได้ ถ้ายังกลัวท่านอยู่ท่านก็จะไม่ให้ไป ถ้าบวชใหม่ไปอยู่วิเวกส่วนใหญ่มักจะเสียหาย ไม่ค่อยได้ประโยชน์ นอกจากเก่งจริงๆ เช่นพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะว่าไม่มีอาจารย์ก็ไม่เชิง ท่านก็ทรงศึกษากับพระอาจารย์ ไม่ได้ไปอยู่ตามลำพัง ทรงศึกษาตามสำนักต่างๆ การอยู่ศึกษากับอาจารย์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าคงไม่ทรงบังคับให้อยู่กับอาจารย์ถึง ๕ พรรษา พระที่บวชใหม่จะต้องไม่อยู่ปราศจากอาจารย์ ต้องถือนิสัยในอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์ ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่สามารถที่จะสอนได้ ท่านก็จะฝากให้ไปศึกษากับพระอาจารย์รูปที่สอนได้ ก็ต้องไปถือนิสัยกับพระอาจารย์รูปนั้น จะไปไหนมาไหนต้องขออนุญาตท่านก่อน ถ้าท่านให้ไปถึงจะไปได้ ถ้าท่านไม่ให้ไปก็ไปไม่ได้ ถ้าดื้อท่านก็จะไม่รับกลับมา ไปแล้วก็ไปเลย ไม่ต้องกลับมา ถือว่าขาดจากการเป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์แล้ว ถ้าอาจารย์สอนแล้วลูกศิษย์ไม่เชื่อฟัง ก็จะไม่มีประโยชน์ สอนไปก็เสียเวลา การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับผู้บวชใหม่ ผู้เริ่มปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้เลยว่าต้องศึกษาก่อน ปริยัติคือการศึกษาคำสอนของผู้รู้ ถ้ายังไม่รู้ก็ต้องหาผู้รู้ให้สั่งสอน ท่านสอนให้ทำอะไรก็ปฏิบัติตาม จนกว่าจะบรรลุผลขึ้นมา เป็นปฏิเวธ ปริยัตินำไปสู่การปฏิบัติ ปฏิบัตินำไปสู่ปฏิเวธ พอบรรลุธรรมแล้วค่อยเผยแผ่สั่งสอนผู้อื่นต่อไป จะสอนก็ได้ ไม่สอนก็ได้ ไม่มีกฎบังคับตายตัว ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละท่าน บางท่านไม่มีความสามารถที่จะสั่งสอนได้อย่างกว้างขวาง ก็อาจจะไม่สอน หรืออาจจะไม่มีผู้ศรัทธามาศึกษากับท่าน บางท่านมีความสามารถและมีผู้สนใจศึกษากับท่านมาก ท่านก็สอนไป

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ปฏิบัติ ก็คือปฏิเวธ การบรรลุผลที่เกิดจากการปฏิบัติ จะเกิดได้ก็ต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้องคือ สุปฏิปันโน อุชุ ญาย สามีจิ ปฏิปันโน จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้ ก็ต้องมีปริยัติที่ถูกต้อง มีคำสั่งสอนที่ถูกต้องคือ สวากขาโต ภควตาธัมโม จะศึกษากับใครถึงจะได้ สวากขาโต ภควตาธัมโม ก็ต้องศึกษาจากพระไตรปิฎก เชื่อกันว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้รับการถ่ายทอดมา ทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องศึกษาจากพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ครูบาอาจารย์ผู้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ถึงจะได้ สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมที่ตถาคตตรัสไว้ชอบแล้ว นี่คือขั้นตอนของการบำเพ็ญของพุทธศาสนิกชน ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เหมือนกัน ไม่ต่างกัน ต่างกันตรงที่เวลาที่จะมีให้ต่อการบำเพ็ญกิจของพระศาสนา ถ้าเป็นบรรพชิตก็จะมีเวลาเต็มที่ ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย ไม่มีภารกิจอย่างอื่นมาดึงไป แต่ถ้าเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน จะมีเวลาน้อยมากต่อการปฏิบัติกิจของพระศาสนา วันหนึ่งแทบจะไม่มีเวลาเลย ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ ถ้าไม่กำหนดตารางไว้จริงๆ แทบจะไม่มีเวลาบำเพ็ญกันเลย ตื่นเช้าขึ้นมาก็ตาลีตาลานรีบไปทำงาน ทำมาหากินกัน พอเย็นก็รีบตาลีตาลานกลับบ้าน เพื่อจะได้กินข้าวพักผ่อนหลับนอน หาความสุขเล็กๆน้อยๆจากการดูหนังฟังเพลง พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อจะได้มีกำลังออกไปทำงานในวันรุ่งขึ้น ฆราวาสจึงไม่ค่อยมีเวลาที่จะปฏิบัติกิจของพระศาสนา

 

ถามว่าฆราวาสกับบรรพชิตนี้ต่างกันไหม ไม่ต่างกัน มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน มีกายมีใจเหมือนกัน ต่างกันตรงที่มีความใฝ่ธรรมมากน้อยต่างกัน ถ้าใฝ่ธรรมมากก็จะมีกำลังมากพอที่จะสละเพศของฆราวาสได้ ออกไปปฏิบัติได้ ออกไปบวชเป็นบรรพชิต เป็นนักบวช เพื่อปฏิบัติอย่างเต็มที่ แต่ถ้าบวชแล้วไม่ได้ปฏิบัติ กลับมาทำกิจของฆราวาสก็ไม่ต่างกัน เช่นบวชแล้วไม่เคยนั่งสมาธิไม่เคยเดินจงกรมเลย ทำแต่บุญบังสังสวด บุญก็คืองานบุญ เช่นญาติโยมนิมนต์ไปทำบุญที่บ้าน ถือตาลปัตรไปนั่งสวดให้ญาติโยมฟัง เสร็จแล้วก็ฉัน ฉันเสร็จแล้วก็รับจตุปัจจัยไทยทาน แล้วก็กลับวัดมาพักผ่อน บ่ายๆก็ดื่มน้ำชากาแฟ ตอนกลางคืนก็เข้านอน เช้าก็ไปรับกิจนิมนต์ใหม่ รับสังฆทานบ้าง งานบุญบ้าง บังสุกุลบ้าง เวลาคนตายก็ไปบังสุกุล ถ้ามีพิธีสวดก็สวดกัน ถ้าทำกิจอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับฆราวาส เพราะนี่ไม่ใช่กิจของพระศาสนา ไม่ใช่กิจที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ ในอดีตนั้นท่านไม่ได้ถือกิจเหล่านี้เป็นกิจสำคัญ การสวดการท่องนี้ทำเพื่อสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นอุบาย ๓ ประการด้วยกันคือ ๑. เป็นการสอนผู้สวดเอง ให้รู้พระธรรมคำสั่งสอน ให้เกิดปัญญา  ๒. ให้มีสมาธิ เวลาสวดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือท่องไปในใจ เป็นการทำสมาธิภาวนา ๓. เป็นการอนุรักษ์คำสอนของพระพุทธเจ้าไว้   

 

ธรรมที่ออกมาจากใจกับธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้ จะตรงกัน จะไม่มีปัญหาไม่สงสัย ถ้าศึกษาอย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่มีปฏิเวธ จะสงสัย ไม่แน่ใจว่าธรรมที่ได้ยินนี้ถูกต้องหรือไม่ เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ถ้าจะอนุรักษ์พระศาสนาด้วยการท่องสวดอย่างเดียวจะไม่พอ พระศาสนาจะต้องหมดไปอย่างแน่นอน ถ้าไม่มีการปฏิบัติพระศาสนาก็จะหมดไป ต่อให้มีการจารึกพระไตรปิฎกไว้ในระบบข้อมูลสื่อสารต่างๆ ก็จะเป็นเพียงตัวหนังสือเท่านั้นเอง อ่านแล้วจะไม่เข้าใจจะลังเลสงสัย เช่นเรื่องธาตุ ๖ นี้ ถ้าไม่เคยได้ยินไม่เคยศึกษามาก่อน ฟังครั้งแรกก็จะต้องงงทันทีเลย ถ้าไม่ปฏิบัติจะไม่รู้ ถ้าปฏิบัติแล้วจะเข้าใจทันที พออ่านปั๊บจะรู้ทันทีเลยว่าพูดถึงเรื่องอะไร เพราะมีอยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน ธาตุ ๖ นี้อยู่ในตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้ มุ่งมาที่กายและใจของเราเท่านั้น อริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่ใจของเรา อยู่ที่ร่างกายของเรา ทุกขสัจคือการเกิดแก่เจ็บตาย อะไรล่ะที่เกิดแก่เจ็บตาย ก็ร่างกายนี้ อะไรที่ทุกข์ ก็ใจนี้ที่ทุกข์ เพราะไปยึดไปติดกับร่างกาย ว่าเป็นตัวเราของเรา นี่คือการอนุรักษ์พระศาสนาให้มีอายุยืนยาวนาน ต้องอนุรักษ์ด้วยปริยัติปฏิบัติปฏิเวธ ในสมัยโบราณท่านสวดกันเพื่อเหตุนี้ แต่ในสมัยปัจจุบัน ไม่ได้สวดเพื่อเหตุนี้ สวดเพื่อกระดาษที่พิมพ์ตัวเลข เป็นพิธีกรรม ได้อย่างมากก็ทาน ถ้าเอาเงินที่ได้มาไปทำทาน แต่การทำทานไม่ใช่หน้าที่ของนักบวช ที่ได้สละหมดแล้ว ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ถ้าบวชเพื่อมาหาเงิน ก็แสดงว่าไม่ได้มาบวชจริง

 

ผู้ที่บวชจริงๆได้สละหมดแล้ว ไม่ได้มาบวชเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง บวชเพื่อปฏิบัติธรรม ไม่ยุ่งกับเรื่องเงินทอง นอกจากว่ามันมายุ่งกับท่านเอง อย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้ เช่นครูบาอาจารย์ที่มีศรัทธาถวายเงินทองให้กับท่าน แต่จิตใจท่านไม่ได้มุ่งหาเงินหาทอง มันมาเอง ท่านก็ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่โลก ถ้าท่านยังไม่บรรลุก็จะเป็นปัญหาได้ เพราะจะมีกิเลสที่ทำให้เกิดความโลภ เกิดความอยาก เกิดความหวงขึ้นมาได้ ถ้าไปเกี่ยวข้องกับเงินทองก็จะเสียได้ แต่ถ้าบรรลุธรรมแล้วเสร็จกิจของท่านแล้ว วุสิตังพรหมจริยังแล้ว กิจในพรหมจรรย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อให้เกี่ยวข้องกับเงินทองกองเท่าภูเขาก็จะไม่เป็นปัญหาอย่างไร เพราะท่านรู้ว่ามันเป็นเพียงธาตุ เป็นกระดาษเท่านั้นเอง แต่เป็นประโยชน์กับผู้ที่เดือดร้อน ไม่มีข้าวกิน ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีเสื้อผ้าใส่ ก็จะเป็นประโยชน์ แต่กับตัวท่านมันไม่มีประโยชน์อะไร ทั้งกายและใจ กายท่านก็ปล่อย ใจท่านก็ไม่ทุกข์กับอะไร ไม่มีความอยาก ต่อให้ได้เงินทองกองเท่าภูเขา ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรกับท่าน กลับเป็นภาระ ที่จะต้องจัดการดูแลแจกจ่าย ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ถ้าผู้บวชใหม่เห็นครูบาอาจารย์มีเงินมีทองมาก ก็อยากจะมีเหมือนกับท่าน ก็แสดงว่าหลงทางแล้ว เพราะไม่ได้บวชเพื่อมาหาเงินหาทอง บวชเพื่อหาธรรม หาการหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นงานของนักบวช งานของพุทธศาสนิกชน

 

เป้าหมายของพวกเราทุกคน อยู่ที่การดับทุกข์ภายในใจ ถ้าปฏิบัติมากละได้มากก็จะดับได้มาก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้ เป็นเหมือนไฟ เงินทองนี้เป็นเหมือนไฟ จะคอยเผาใจเราอยู่เรื่อยๆ ความสุขที่มันให้กับเรานี้มีเพียงเล็กน้อย แต่ความทุกข์ที่เผาใจเรานี้ มีมากกว่าหลายเท่า แต่เราไม่รู้กัน พอเห็นเงินเห็นทองก็ตาลุกวาว คิดว่าจะให้ความสุขกับเรา แต่หารู้ไม่ว่าถ้าไปยึดติดกับเงินไปพึ่งเงินแล้ว เวลาไม่มีเงินจะทำอย่างไร จะอยู่เฉยๆได้ไหม ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับเงินทอง จะอยู่ตามมีตามเกิดได้ คนรวยถึงทุกข์มากกว่าคนจน ทุกข์เพราะกลัวจะจน แต่คนจนไม่กลัวความจน เพราะอยู่กับความจนตลอดเวลา คนจนทุกข์ตรงที่อยากจะรวย แต่คนรวยกลับทุกข์เพราะไม่อยากจะจน แล้วก็ทุกข์เพราะอยากจะรวยกว่าเก่าอีก ทุกข์ทั้ง ๒ ด้านเลย ทุกข์ทั้งขึ้นทุกข์ทั้งลง รวยแล้วยังอยากจะรวยกว่านี้อีก แล้วก็กลัวจะจนอีก จึงอย่าไปอยากรวย อย่าไปกลัวจน พอมีพอกินไปวันๆหนึ่งก็พอแล้ว อย่าไปเสียเวลากับการหาเงินหาทอง หรือรักษาเงินทองมากจนเกินเหตุ ให้มารักษาใจจะดีกว่า ด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ ด้วยปฏิเวธ พอได้ปฏิเวธแล้วใจจะปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวง ทุกข์ภัยต่างๆที่เกิดจากกิเลสตัณหาจะไม่มี เพราะไม่มีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่ในใจ ความสำคัญอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ที่ได้ชำระความโลภความโกรธความหลงจนหมดสิ้นไป ภารกิจอื่นไม่สำคัญ เพราะไม่สามารถชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ต้องปฏิบัติกิจของพระศาสนา คือปริยัติปฏิบัติปฏิเวธเท่านั้น ที่จะทำได้

 

ถ้าพอมีพอกินแล้ว ก็ควรหันมาปฏิบัติกิจของพระศาสนาให้มากขึ้นจะดีกว่า จะได้ไม่เสียชาติเกิด เพราะมนุษย์นี้เป็นชาติเดียวเท่านั้นที่จะปฏิบัติกิจของพระศาสนาได้ แล้วก็ต้องเป็นในขณะที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย ต้องมีสวากขาโต ภควตาธัมโม เป็นปริยัติธรรมนำทาง ถ้าไม่มีก็จะปฏิบัติแบบผิดๆถูกๆ จะไม่สามารถบรรลุผลที่ถูกต้องได้ พวกเราถือว่าโชคดีมีบุญวาสนา ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ในขณะที่ยังมี สวากขาโต ภควตาธัมโมอยู่ ถ้าไม่รีบตักตวงก็จะเสียโอกาสที่ดีนี้ไป ต้องพิจารณาและตัดสินใจเอง โอกาสอย่างนี้มีไม่บ่อย การจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก แล้วมาเจอพระพุทธศาสนาพร้อมๆกันนี้ เป็นสิ่งที่ยากมาก ดังที่ทรงแสดงไว้ว่า มีสิ่งที่ยากอยู่ ๔ ประการด้วยกันคือ ๑. การปรากฏของพระพุทธเจ้า ๒. การได้เกิดเป็นมนุษย์ ๓. การได้ศึกษาปฏิบัติธรรม ๔. การดำรงชีวิต ตอนนี้พวกเรามีครบทั้ง ๔ ส่วนแล้ว เป็นมนุษย์ ได้พบพระธรรมคำสอน ได้ศึกษาได้ปฏิบัติ ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่ขาดตอนนี้ก็คือการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติให้มากขึ้นศึกษาให้มากขึ้น ตอนนี้ศึกษาปฏิบัติเดือนละครั้ง รู้สึกว่าน้อยมาก ถ้ากินข้าวเดือนละครั้งจะเป็นอย่างไร ทำไมไม่ศึกษาปฏิบัติเหมือนกับกินข้าว กินข้าววันละ ๓ มื้อ น่าจะศึกษาปฏิบัติวันละ ๓ รอบ รอบเช้า รอบกลางวัน รอบเย็น รอบละชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ร่างกายอยู่ได้เพราะเราเลี้ยงดูอย่างดี แต่ใจเราไม่สะอาดเพราะเราไม่ชำระเหมือนกับเลี้ยงดูร่างกาย ถ้าชำระใจเหมือนเลี้ยงดูร่างกาย จะสะอาดมากกว่านี้ จะมีความสุขมากกว่านี้ ขอให้เอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี้ ไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติ ตามแต่จะเห็นสมควร

 

ถาม  เผอิญอยู่ในเหตุการณ์รถไฟฟ้าบีทีเอส จอดที่สถานีศาลาแดงสีลม ถูกยิงด้วยลูกระเบิด

 

ตอบ ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ไปก็แล้วกัน หรือเป็นการทดสอบจิตใจก็ได้ สติปัญญาตอนนั้นเป็นอย่างไร

 

ถาม  ตอนหมอบก็พุทโธ ก็คิดว่าเอ๊ะจะตายแล้วเหรอ

 

ตอบ ไม่ปลงว่าตายเป็นตาย เพียงแต่พุทโธ ยังอยู่แค่ขั้นสมาธิเท่านั้น

 

ถาม  พอพ้นออกมาได้ เสียงยังสั่นอยู่เลย

 

ตอบ เจอของจริงก็จะเป็นอย่างนี้ ตอนที่เราฟังธรรม ตอนที่เราพิจารณาธรรม เป็นการทำการบ้าน เวลาไปเจอของจริง ถึงจะรู้ว่าใจเป็นอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าผ่านต้องเป็นเหมือนน้ำนิ่ง ไม่กระเพื่อมเลย

 

ถาม  พระอาจารย์บอกว่าได้แค่สมาธิ ควรจะปฏิบัติอย่างไรคะ

 

ตอบ ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ก็จะปลงไปเลยว่า จะพังก็พังไป จะตายก็ตายไป

 

ถาม  โดยปกติถ้าเจอวิกฤตแบบนี้ จะพุทโธตลอด

 

ตอบ ถ้าพุทโธก็เป็นเพียงสมาธิ ข่มใจไม่ให้คิดกลัว ไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจะคิดว่าร่างกายไม่ใช่เป็นตัวเราของเรา ตายเป็นตาย ต้องตายแน่ๆสักวันหนึ่ง ถึงเวลาแล้วหรือ จะไปก็ไป ถ้าไม่เตรียมไว้ก่อนจะไม่คิดอย่างนี้

 

ถาม  ถ้าคิดว่าตายเป็นตาย แต่วิ่งหนีสุดชีวิต

 

ตอบ ความคิดกับความจริงมันค้านกัน

 

ถาม  ถ้าจะว่ารู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหางละเจ้าคะ

 

ตอบ อยู่ที่ใจเป็นหลัก ถ้าใจไม่เดือดร้อน การหลบเพื่อเป็นการรักษาชีวิตไว้ แต่ไม่ได้รักษาเพราะกลัว หรืออยากจะอยู่ต่อไป ก็ใช้ได้ ถ้าหลบเพราะกลัว ก็แสดงว่ายังใช้ไม่ได้

 

ถาม  ถ้าหลบเพื่อรักษาชีวิตไว้ภาวนา

 

ตอบ แสดงว่ายังไม่ปลง การภาวนาก็เพื่อให้ก้าวมาถึงจุดนี้ เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วจะหนีทำไม จะเข้าห้องสอบอยู่แล้ว ถ้าหนีก็แสดงว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าห้องสอบ จึงต้องอ้างรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง ขอผลัดไว้ก่อน ขอเลื่อนไปก่อน ขอเข้าห้องสอบวันหลัง ถ้าพร้อมจะเข้าห้องสอบก็ต้องไม่หนี  

 

ถาม  ถ้าคิดว่ารอดก็รอด ไม่รอดก็ไม่เป็นไรละเจ้าคะ

 

ตอบ ถ้าปล่อยได้แล้วจะทำอย่างไรก็ได้ จะรักษาก็ได้ ไม่รักษาก็ได้ ถ้ายังไม่ปล่อย ก็จะรักษาอย่างเดียว ไม่มีทางเลือก ต้องหลบอย่างเดียว ถ้าปล่อยได้แล้วก็จะเลือกได้ จะรักษาก็ได้ ไม่รักษาก็ได้ แล้วแต่เหตุการณ์ อย่างครูบาอาจารย์ จะหาหมอก็ได้ ไม่หาหมอก็ได้ ท่านไม่มีอะไรกับร่างกายแล้ว แต่ถ้ายังมีอยู่ก็จะต้องรักษา อยู่ที่ว่าเราผ่านหรือยัง ถ้ายังไม่ผ่าน ก็จะมีข้อแม้ ต้องดูแลรักษา ถ้าผ่านแล้วจะรักษาก็ได้ ไม่รักษาก็ได้ ไม่ต้องอธิบายให้คนอื่นฟัง คนอื่นจะว่าเราอย่างไรจะไม่สนใจ เรารู้ว่าเรารักษาหรือไม่รักษาเพื่ออะไร คนอื่นจะว่ายังยึดยังติดอยู่ก็ปล่อยให้เขาว่าไป แต่เรารู้อยู่แก่ใจ ไม่ต้องอธิบาย ว่าทำเพราะเหตุนั้นเพราะเหตุนี้ เราจะทำอะไรกับร่างกายเป็นเรื่องของเรา ข้อสำคัญขอให้ปล่อยให้ได้ก่อน พอปล่อยได้แล้ว จะไม่เป็นปัญหา ถ้ายังปล่อยไม่ได้ เวลาเกิดเหตุการณ์ปัญญาจะไม่ทัน เป็นเหมือนนักวิ่ง ๒ คนวิ่งแข่งกัน กิเลสกับธรรมวิ่งแข่งกัน ใครจะเร็วกว่ากัน ถ้าธรรมเร็วกว่าใจจะนิ่ง ถ้ากิเลสเร็วกว่าใจจะสั่น ต้องฝึกปัญญาให้เร็วขึ้น เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านคอยจี้คอยเร่งอยู่เรื่อยๆ ให้ปัญญาหมุนติ้วเลย ให้เร็วขึ้น ปัญญาจะเฉื่อยชามากตอนเริ่มปฏิบัติ ต้องอาศัยการกระตุ้นของครูบาอาจารย์ ถ้าท่านเก่งทางปัญญา ท่านจะกระตุ้นลูกศิษย์ คอยข่มคอยขู่คอยจี้ตลอดเวลา ใหม่ๆอยู่กับท่านก็ใจสั่นไปหมดเลย พอปัญญาเริ่มเร็วขึ้นก็จะสั่นน้อยลงไป จนนิ่งเลยก็ได้ คนที่ประสาทอ่อนจะอยู่ไม่ได้ ทนไม่ไหว รับไม่ได้

 

ถาม  ถ้ากิเลสมันดื้อจะทำอย่างไรดี

 

ตอบ ต้องสู้กับมัน ต้องทรมานมัน ต้องอดข้าว พระพุทธเจ้าทรงอดถึง ๔๙ วัน มันถึงไม่ดื้อ การอดข้าวทำให้กิเลสอ่อนแรงลงไปมาก กามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหาจะอ่อนลงไปมาก จะไม่แข็งกร้าวเหมือนกับเวลาที่กินข้าว เวลากินข้าวอิ่มๆมันจะดื้อ ไม่ยอมเข้าทางจงกรมนี้ ขอนอนก่อน

 

ถาม  ดื่มน้ำอย่างเดียวใช่ไหมคะ

 

ตอบ อยู่ที่ระดับของการอด อยู่ที่สถานที่ด้วย ถ้าธุดงค์ในป่าคนเดียว ก็จะมีแต่น้ำดื่มอย่างเดียว ถ้าอยู่ในวัดก็อาจจะมีนมดื่มบ้าง ตอนบ่ายก็จะมีน้ำชากาแฟน้ำตาลน้ำอ้อย ขึ้นอยู่กับผู้อด จะมีความเข้มงวดมากน้อยเพียงไร

 

การอดหมายถึงไม่ฉันอาหาร ไม่ออกบิณฑบาต ถ้าสหธรรมมิกสงสารเอาของมาฝาก เช่นนมกล่อง จะฉันก็ได้ ตอนบ่ายถ้ามีน้ำผึ้งน้ำผลไม้ดื่ม จะดื่มก็ได้ ไม่ดื่มก็ได้ ขึ้นอยู่ว่าจะอดหนักขนาดไหน การอดอาหารช่วยทำให้การภาวนาง่ายขึ้น เดินจงกรมง่ายขึ้น นั่งสมาธิไม่ง่วงเหงาหาวนอน ความเพียรมีมากขึ้น ความเกียจคร้านมีน้อยลง ความเห็นภัยมีมากขึ้น สติดีขึ้น เพราะต้องคอยควบคุมใจ เวลาอดอาหารใจจะปรุงแต่งเรื่องอาหารอยู่เรื่อย ต้องคอยดึงให้อยู่กับพุทโธ ถ้ายังพิจารณาไม่เป็น ถ้าพิจารณาเป็น ก็จะพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาอาหารที่อยู่ในปากอยู่ในท้อง ก็จะหายอยาก ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีสติไม่มีสมาธิก็จะอดไม่ได้ เพราะจะเห็นอาหารลอยอยู่ในใจตลอดเวลา ถ้ามีสติควบคุมใจได้ ก็จะบังคับให้ภาวนา ถ้าไม่พุทโธก็ต้องพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา ถ้าพิจารณาได้แล้วจะไม่มีปัญหาเรื่องอยากอาหารอีกต่อไป จะกินตามความจำเป็นของร่างกาย จะใช้การอดอาหารเป็นแนวทางของการปฏิบัติ จะไม่ฉันตามปกติ เพราะเวลาฉันจะขี้เกียจ จะเห็นความแตกต่างกัน ถ้าอยู่ในวัดการอดอาหารก็จะได้ปลีกวิเวก ไม่ต้องทำกิจร่วมกับหมู่คณะ ที่ต้องออกไปบิณฑบาตทำกิจที่ศาลา กว่าจะเสร็จก็หมดไป ๓ - ๔ ชั่วโมง ตอนนั้นก็สามารถเดินจงกรมนั่งสมาธิ อยู่ตามลำพังในที่พัก

 

การอดอาหารนี้ถ้าถูกจริต ก็จะเป็นเครื่องมือที่ดี เป็นอาวุธคู่ใจ ใช้ไปจนกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อีกต่อไป ถ้าไม่ถูกจริตก็จะอดไม่ได้ อดแล้วเครียดฟุ้งซ่าน คิดปรุงแต่งแต่เรื่องอาหารตลอดเวลา ไม่ภาวนา เวลาอดอาหารแล้วไม่ภาวนา พอจิตเผลอก็จะคิดแต่เรื่องอาหาร ก็จะหิวจะทุกข์ ต้องขยันภาวนา พอออกจากสมาธิก็จะเดินจงกรมต่อ คอยควบคุมจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องอาหาร จะใช้บริกรรมพุทโธก็ได้ จะใช้สติให้อยู่กับการเดินก็ได้ หรือจะพิจารณาธรรมก็ได้ พิจารณาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตาย อนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา เปลี่ยนไปตามอัธยาศัย ถ้าใจอยู่กับธรรมก็จะเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ พอพิจารณาจนจิตเริ่มไม่สงบแล้ว ก็หยุด กลับไปนั่งสมาธิใหม่ พุทโธๆไปหรือดูลมหายใจไป พักจิต พอจิตสงบความหิวความเหนื่อยทางร่างกายก็หายไป พอจิตออกมาจากสมาธิก็จะกระปรี้กระเปร่า มีกำลังวังชา ออกเดินจงกรมต่อ ก็จะได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องไปทำกิจอย่างอื่น กิจอย่างที่ต้องทำคือปัดกวาด ปัดกวาดไปก็ภาวนาไป เหมือนเดินจงกรมไป พุทโธๆไปหรือพิจารณาธรรมไป ถ้าไปคลุกคลีกับหมู่คณะจะคุยกัน พูดเรื่องนั้นพูดเรื่องนี้ จิตจะฟุ้ง พอกลับมาอยู่คนเดียว จิตยังฟุ้งอยู่ ภาวนาไม่ลง ถ้าเผลอสติทนไม่ไหว ก็จะไปหาของกินอีก ถ้ามีสติคุมจิตอยู่ตลอดเวลา ก็จะภาวนาตลอดเวลา จะลืมเรื่องกินไป

 

พอใจได้อาหารแล้วใจจะอิ่ม ความหิวของร่างกายจะไม่กระทบกับความอิ่มของใจ ถ้าใจหิวถึงแม้ร่างกายจะอิ่ม ก็ยังอยากจะกินอีก ทั้งๆที่ร่างกายพึ่งกินเสร็จไปใหม่ๆ ก็ยังอยากจะดื่มนั้นดื่มนี่ต่อ เพราะใจไม่อิ่ม ไม่ได้รับอาหารคือธรรมะ จึงไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้ปฏิบัติ ที่จะอดอาหารครั้งละหลายๆวัน ถ้าไม่เคยอดจะคิดว่าอยู่ได้อย่างไร ถ้าอดไปหลายวันก็อาจจะมีของบางอย่างดื่มบ้าง เช่นน้ำปานะน้ำตาล เพื่อให้มีกำลังบ้าง ครูบาอาจารย์ที่ไปอยู่ในป่า ไปธุดงค์ปลีกวิเวกไปอยู่องค์เดียว เวลาท่านอดอาหารหลายวัน ชาวบ้านคิดว่าท่านตาย ไม่ได้ไปบิณฑบาต ต้องมาที่พักดูว่าเป็นอย่างไร ท่านก็ไม่มีอะไรติดตัวไป ท่านก็ดื่มแต่น้ำอย่างเดียว ตอนนั้นจิตของท่านไม่ได้สนใจกับเรื่องอาหาร จิตของท่านอยู่กับธรรมตลอดเวลา เดินจงกรมนั่งสมาธิ ถ้าไม่พิจารณาก็เข้าสู่ความสงบ จิตก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

 

การปลีกวิเวกจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น ถ้าไปคลุกคลีจะเสียเวลา เพราะจิตจะคิดทางด้านอื่น จะคุยเรื่องโลกเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสกัน จิตก็จะฟุ้ง จะสงบยาก ถ้าอยู่คนเดียวจะไม่มีเรื่องอื่นมาดึงไป จะอยู่กับธรรมอย่างต่อเนื่อง จะเห็นธรรมชัดขึ้นไปเรื่อยๆ ดินน้ำลมไฟก็จะเห็นชัดขึ้น อสุภะก็จะเห็นชัดขึ้น คือเห็นอย่างต่อเนื่อง เห็นอยู่เรื่อยๆ เวลามองร่างกายก็จะเห็นอสุภะ จนติดตาติดใจ พอจิตจะเห็นว่าสวยว่างาม ก็จะถูกธรรมที่เห็นชัดอยู่นี้ลบออกไปทันที กามราคะจึงอยู่ในใจไม่ได้ ที่อยู่ได้เพราะเราเลี้ยงมัน ชอบคิดแต่ความสวยความงาม ถ้าคิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ก็เท่ากับเรากำลังเลี้ยงโมหะอวิชชา เลี้ยงความมืดบอด เลี้ยงความหลง ถ้าคิดว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นความจริงที่จะทำลายความหลง ความมืดบอดที่อยู่ในใจให้หมดไป ไม่มีทางอื่น มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น คือวิปัสสนาหรือปัญญา แต่ต้องมีสมาธิด้วยถึงจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีสติก่อน ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สงบ ถ้าไม่สงบกิเลสจะมีกำลังมากกว่า จะฉุดให้ไปคิดเรื่องโลก คิดถึงลูก คิดถึงสามี คิดถึงภรรยา คิดถึงสมบัติข้าวของเงินทอง ก็จะติดอยู่กับเรื่องเหล่านี้ เป็นการเลี้ยงกิเลสโมหะความหลง ให้มีอายุยืนยาวนานขึ้น เพื่อครอบครองจิตใจของเราต่อไป

 

ถ้าคิดในทางปัญญา ก็จะตัดอายุของกิเลสโมหะความหลง ให้สั้นลงไปเรื่อยๆ จนหมดไปในที่สุด สติปัญญาสมาธิเป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน มีศรัทธากับวิริยะสนับสนุน ต้องมีศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ศึกษาแล้วก็ปฏิบัติตาม ด้วยวิริยะอุตสาหะความพากเพียร ปฏิบัติอะไร ก็ปฏิบัติสติสมาธิและปัญญา ถ้ามีธรรมทั้ง ๓ นี้ก็จะมีวิมุตติการหลุดพ้นตามมา เป็นสูตรตายตัวตั้งแต่สมัยพุทธกาล ใครปฏิบัติตามสูตรนี้ได้ก็จะได้ผลอย่างนี้อย่างแน่นอน ไม่อย่างนั้นจะไม่ปรากฏมีพระอริยสงฆ์สาวกมาอย่างต่อเนื่อง ทุกยุคทุกสมัย จนถึงยุคปัจจุบันนี้ เพราะธรรมะเป็นอกาลิโก ไม่เสื่อมไปตามกาลตามเวลา สมัยพุทธกาลปฏิบัติกันอย่างไร สมัยนี้ถ้าปฏิบัติอย่างนั้น ก็จะได้ผลเหมือนกัน ไม่แตกต่างกัน อยู่ที่ไม่ปฏิบัติกัน หรือปฏิบัติเพียงเดือนละครั้ง แล้วก็มาบ่นว่าปฏิบัติไม่ก้าวหน้าเลย ปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว ปฏิบัติเดือนละครั้งมาตั้ง ๕ ปีแล้ว ต่อให้ปฏิบัติอย่างนี้อีก ๑๐๐ ปีก็จะไม่ก้าวหน้า

 

ถาม  อยากจะทำอยากปฏิบัติตามอย่างที่ท่านอาจารย์สอน และก็อยากเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์เป็น แต่ก็ทำไม่ได้สักที ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีแรงบันดาลใจอะไร

 

ตอบ ไม่มี มีแต่ความขยัน ต้องกำหนดตาราง บังคับตัวเราให้ทำตามตาราง กำหนดจากน้อยไปหามาก เช้าเย็นเอาวันละชั่วโมงก่อน ต่อมาก็เพิ่มเป็น ๒ ชั่วโมง เพิ่มจาก ๒ รอบเป็น ๓ รอบ ถ้าปล่อยวางได้มาก ก็จะเพิ่มได้มาก ต้องลดภารกิจอื่น อย่ารักพี่เสียดายน้อง ต้องเอาธรรม อย่าเอาโลก

 

ถาม  ลูกหมายความว่าท่านอาจารย์มีแรงบันดาลใจอะไร

 

ตอบ ความเชื่อและความขยัน ถ้าปฏิบัติมากก็ได้ผลมาก ถ้าปฏิบัติน้อยก็ได้ผลน้อย เชื่อว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมีจริง อยู่ในความสามารถของพวกเราของทุกคน ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงเสียเวลามาสอนพวกเรา แต่พวกเราไม่มีความเชื่อมั่นในคำสอน ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเรา เราประมาทตัวเรา เราประมาทคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่อุตสาหะพากเพียรที่จะปฏิบัติตาม ยังถูกกิเลสหลอกว่า ไม่มีปัญญา ไม่มีบารมี หลอกเราไปเรื่อยๆ ถ้ายังคิดอย่างนี้อยู่ อีก ๑๐ ชาติก็จะเป็นอย่างนี้ ถ้าคิดว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนความจริง เราสามารถปฏิบัติตามได้ ขอให้ทำจริงๆเถิด

 

ถาม  เวลาทำสมาธิจนรู้สึกว่านิ่ง ก็จะพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย หรือธาตุ ๔ พอพิจารณาแล้วจะรู้สึกสลดสังเวช แล้วก็ร้องไห้เกือบทุกครั้ง แบบนี้จิตเศร้าหมองหรือเปล่า

 

ตอบ ไม่เศร้าหมอง เป็นธรรมสังเวช ผลที่ต้องการคือการปล่อยวางร่างกาย เวลารู้สึกสลดสังเวชแล้ว ต้องปล่อยวางร่างกาย พิจารณาเพื่อให้จิตปล่อยวาง ไม่ให้ยึดติดกับร่างกาย  

 

ถาม  ต้องทำอย่างไรต่อไป

 

ตอบ พิจารณาไปเรื่อยๆ พอพร้อมแล้วก็ไปหาที่พิสูจน์ดู ว่ายังยึดติดอยู่หรือเปล่า ปล่อยได้หรือเปล่า ตอนนี้เป็นเพียงทำการบ้านเป็นการซ้อมอยู่ ยังไม่ได้ขึ้นเวทีจริง ถ้าคิดว่าพร้อมแล้ว เหมือนนักมวยที่ซ้อมมาอย่างเต็มที่แล้ว พร้อมที่จะขึ้นไปชิงเข็มขัดแล้ว ก็ขึ้นไปบนเวทีไปหาคู่ต่อสู้ คู่ต่อสู้ก็คือความกลัวตาย ไปหาสถานที่ๆจะทำให้เกิดความกลัวตายขึ้นมา สู้กับมันดู ดูว่ามันจะดับหรือเราจะดับ

 

ถาม  ถ้าเราดับก็คือเราสติแตก

 

ตอบ อาจจะไม่สติแตก แต่อาจจะใจสั่นขวัญหาย แสดงว่ายังดับเขาไม่ได้ ถ้าดับได้แล้ว จะเฉยจะยิ้มจะมีความสุข

 

ถาม  เวลาจิตนิ่ง จะมีแบบอารมณ์เศร้าหมองเข้ามา ก็เห็นว่าอารมณ์กับจิตไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกัน เห็นว่ามันเกิดดับ ถ้าสมมุติเราตายตอนที่เราดูความเศร้าหมองนี่ จิตจะไปไหนคะ

 

ตอบ ตอนนั้นจิตยังไม่สงบ ยังไม่ได้เป็นสมาธิ ไม่สงบเต็มที่ ถ้ายังมีอารมณ์อยู่ ยังไม่เป็นสมาธิ จิตยังไม่สงบ ถ้าเศร้าหมองก็ไปแบบเศร้าหมอง ถ้าผ่องใสก็ไปแบบผ่องใสอารมณ์จะเป็นตัวพาไป จะไปดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่อารมณ์นี้

 

ถาม  ถ้าจะดูเกิดดับ เราต้องตามดูใช่ไหม

 

ตอบ เวลาทำสมาธิไม่ต้องการตามดูอารมณ์ ควรบริกรรมพุทโธหรือดูลมหายใจเข้าออก อย่าไปดูอะไร ถ้าดูจะไม่ได้สมาธิ เวลาไม่ได้ทำสมาธิแล้วมีอารมณ์ไม่สบายใจขึ้นมา ถ้ามีสติปัญญาก็ควรพิจารณาเพื่อให้มันดับไป เช่นพิจารณาว่า ทำไมต้องมีอารมณ์กับสิ่งที่เราเห็น พิจารณาหาต้นเหตุ คือการไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงมีความรักความหวงความห่วง พอเห็นก็อดที่จะหวงไม่ได้ เกิดอารมณ์เศร้าหมองขึ้นมา ถ้ามีปัญญารู้ทันก็จะไม่หวงไม่ห่วง เพราะเดี๋ยวก็จะต้องตายจากกัน ก็จะหายเศร้าหมอง ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นสภาวธรรม เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ถ้าไปยึดไปติดก็จะเกิดความเศร้าหมอง เกิดความดีใจเสียใจ ต้องปล่อยวาง อารมณ์เป็นผล เราต้องพิจารณาเหตุ อะไรทำให้เกิดอารมณ์ ถ้าดับเหตุได้อารมณ์จะไม่เกิด ความไม่สบายใจจะไม่เกิด เช่นเราไม่สบายใจเพราะไปคิดว่าเขาเป็นสามีเป็นภรรยาเป็นลูกเรา ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาก็จะเห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ต้องแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ที่เป็นลูกเป็นสามีเป็นภรรยานี้ เป็นเพียงสมมุติ ไม่ได้เป็นความจริง ความจริงเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ที่จะต้องแยกสลายดับไป  

 

ต้องเห็นความจริงที่เหนือสมมุติ เราเห็นแต่ความจริงของสมมุติ ไม่เห็นความจริงของวิมุตติ ต้องเห็นความจริงของวิมุตติ จิตถึงจะวิมุตติหลุดพ้นได้ ความจริงของวิมุตติก็คือ เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นความจริงที่เหนือสมมุติ แต่เราเห็นความจริงของสมมุติ เห็นเป็นพี่เป็นน้องเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกศิษย์เป็นอาจารย์ เป็นลูกเป็นสามีเป็นภรรยา ไม่เห็นเป็นดินน้ำลมไฟ ไม่เห็นเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พอคิดถึงเขาหรือเห็นเขา ก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที ไม่รักก็ชัง ไม่ดีใจก็เสียใจ บางทีก็เฉยๆ แต่ไม่ได้เฉยๆเพราะอุเบกขา เพราะไม่ได้รักไม่ได้ชังก็เลยรู้สึกเฉยๆ อย่างนี้ไม่ใช่อุเบกขา ไม่ได้ปล่อยวาง ถ้าอุเบกขาปล่อยวาง ต้องเห็นเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตาย อนิจจังทุกขังอนัตตา ใจก็จะนิ่ง เห็นอะไรก็จะเฉยๆ

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นเราพิจารณาได้ตลอดเวลา ในทุกเรื่องที่เข้ามา แต่ตอนที่เรานั่งสมาธิเราพิจารณาเฉพาะเรื่องนั้น

 

ตอบ เป็นการทำการบ้าน ซ้อมเอาไว้ก่อน ถ้าเข้าสนามสอบจริง เวลาใครด่าเรายิ้มได้หรือไม่ พิจารณาได้หรือไม่ ว่าเป็นสักแต่ว่าเสียง เป็นสภาวธรรมที่เกิดแล้วดับ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 

ปัญญามีอยู่ ๓ ขั้นคือ ๑. สุตตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ตอนนี้เรากำลังฟังธรรมกัน ก็ได้ปัญญาระดับหนึ่ง  ๒. จินตามยปัญญา เอาธรรมที่ได้ยินไปทำการบ้าน เอาไปพิจารณาใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆ ซ้อมด่าเรา ด่าจนรู้สึกเฉยๆ ต่อไปเวลาใครด่าจะไม่ทุกข์ ๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ใช้ในเหตุการณ์จริง พอถูกด่าก็ยิ้มได้ ก็จะผ่านไปได้ ต้องทันกับเหตุการณ์ พอเกิดปั๊บก็รับได้ทันที กิเลสโผล่มาปั๊บดับได้ทันที อย่างนี้ถึงเป็นภาวนามยปัญญา ถ้าเป็นจินตามยปัญญา พอเจอของจริงก็สติแตก ใจก็กระเพื่อม ลืมหมดเลย อุตส่าห์ซ้อมมา เวลาโกรธ ก็โกรธอย่างเต็มที่เลย เป็นการทดสอบปัญญาว่าอยู่ขั้นไหน อยู่ขั้นจินตามยปัญญาหรืออยู่ขั้นภาวนามยปัญญา ถ้าอยู่ขั้นภาวนามยปัญญาก็จะรับได้ทุกรูปแบบ จะรู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ทันที เป็นสิ่งที่ต้องปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด อุบายที่จะทำให้เห็นอย่างนี้ ต้องไปคิดค้นเอาเอง เช่นมองว่าเป็นเหมือนเด็ก ไปถือสาทำไม จะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป เวลาเด็กทำอะไรเราไม่เดือดร้อน จะงอแงจะดื้อเราก็เฉย แต่กับแฟนเราสามีเราภรรยาเรา ทำไมดูว่าเขาเป็นเด็กไม่ได้ ถ้าดูว่าเป็นเด็กก็จะปล่อยเขา อยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป ต้องหาอุบายเอง ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  

 

อุบายของปัญญานี้มีหลากหลาย แต่สมาธิไม่ค่อยหลากหลาย ให้มีสติอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน เพื่อดึงจิตให้รวมลงเป็นสมาธิ ปัญญามีหลายขั้น ขั้นหยาบขั้นกลางขั้นละเอียด ขั้นหยาบก็เกี่ยวกับภายนอก คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ขั้นกลางก็เกี่ยวกับขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ขั้นละเอียดก็เกี่ยวกับจิต ต้องตัดภายนอกก่อนถึงจะเข้าสู่ภายในได้ พวกนักบวชตัดภายนอกได้แล้ว ตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สละข้าวของเงินทองแล้ว ก็ตรงมาที่ขันธ์ ๕ พิจารณารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จนปล่อยได้แล้วก็จะถึงตัวจิต จะพบกับกิเลสที่ละเอียดที่สุด ถ้าเพิ่งเริ่มปฏิบัติแล้วจะดูจิตเลย จะชำระกิเลสในจิตไม่ได้ ผู้ที่เริ่มปฏิบัติยังติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรส ดูจิตจะไม่ได้ผลอะไร จะโดนกิเลสหลอก หลอกให้ซื้อเป๊ปซี่มาดื่มก็ทำตาม หลอกให้ไปเที่ยวก็ไปเที่ยว ดูจิตอย่างนี้กิเลสชอบ กิเลสไม่ตาย จิตไม่สงบ

 

ถ้าดูจิตเพื่อพัฒนาสติ ก็ให้มีสติดูว่าจิตกำลังคิดอะไร คิดดีหรือคิดไม่ดี ถ้าคิดไม่ดีก็ต้องระงับ ถ้าไม่บริกรรมพุทโธ แสดงว่าเผลอสติแล้ว ถ้าใช้พุทโธเป็นกรรมฐาน ถ้ามีสติก็ต้องบริกรรมพุทโธตั้งแต่ตื่นจนหลับ ถ้าไม่บริกรรมพุทโธแสดงว่าเผลอสติแล้ว ถ้าใช้อาการ ๓๒ เป็นกรรมฐาน ก็ต้องพิจารณาอาการ ๓๒ ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯตลอดเวลา ตอนเริ่มต้นปฏิบัติควรตั้งสติที่กาย เพราะง่ายกว่าตั้งที่จิต เพราะกายหยาบกว่าจิต เห็นได้ด้วยตาเปล่า เอาจิตผูกไว้กับกาย กายอยู่ตรงไหนจิตก็อยู่ตรงนั้น ไม่ให้ไปที่อื่น ไม่ใช่กายอยู่ตรงนี้แต่จิตไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้จิตอยู่ที่กายตลอดเวลา กายกำลังเดิน จิตก็เดินไปกับกาย กายกำลังรับประทานอาหาร จิตก็รับประทานอาหารไปกับกาย กายกำลังอาบน้ำ จิตก็อาบน้ำไปกับกาย ให้จิตอยู่กับกายตลอดเวลา อย่างนี้ก็จะมีสติ เพราะจิตไม่ไปที่อื่น พอสั่งให้จิตดูลม หรือบริกรรมพุทโธ     ก็จะอยู่กับพุทโธอยู่กับลม ถ้าอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาทีจิตก็จะรวมลงสู่ความสงบ เป็นสมาธิ ถ้าไม่ออกไปรับรู้อะไรก็จะดี ถ้าออกไปรับรู้ก็ควรดึงจิตกลับเข้ามา ตอนนี้ไม่ควรไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ควรทำสมาธิเพื่อสร้างฐานของความสงบให้แก่จิต ถ้าจิตออกไปรับรู้จะไม่สงบ พอออกจากสมาธิจะเหมือนไม่ได้นั่งสมาธิ จะไม่มีกำลังที่จะต้านกิเลส พอเห็นรูปเสียงกลิ่นรส กิเลสก็จะทำงานทันที ถ้าจิตสงบนิ่งไม่ไปรับรู้อะไร เวลาออกมาจะมีกำลังต้านกิเลสได้ เวลาเห็นอะไรกิเลสจะไม่ขึ้นมาทันที จะมีเวลาเอาจิตที่สงบ ที่ไม่มีกิเลสรบกวน มาพิจารณาธรรมได้ มาเจริญวิปัสสนาได้ พอเจริญไปได้สักระยะหนึ่ง ความสงบก็จะอ่อนกำลังลง กิเลสก็จะออกมารบกวน จะพิจารณาไม่ได้ผล ก็ต้องกลับเข้าไปในสมาธิใหม่

 

สมาธิกับปัญญา จะสลับกันทำงาน จะสนับสนุนกัน สมาธิเป็นที่พักผ่อนหลับนอนของจิต ปัญญาเป็นที่ทำงาน เช่นพวกเราเช้าก็ออกจากบ้านไปทำงาน เย็นก็กลับมาบ้านมาพักผ่อนกินข้าวหลับนอน พอเช้าตื่นขึ้นมาก็ออกไปทำงานใหม่ การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เวลาออกจากสมาธิก็ไปทำงาน พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาขันธ์ ๕ พอพิจารณาไม่ได้ผลแล้ว ก็กลับมาพักในสมาธิ พอจิตอิ่มตัวแล้วถอนออกมาเอง ก็ไปพิจารณาใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ปัญญาจะไวขึ้นไปเรื่อยๆ จะทันกิเลสขึ้นไปเรื่อยๆ พอคิดอะไรไม่ตรงกับความจริงจะเห็นทันที ถ้าว่าสวยว่างามก็จะเห็นทันที คิดอยากจะอยู่ไปนานๆก็จะเห็นทันที อยากจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเห็นทันที จะตัดได้ทันที จิตจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง

 

ถาม  ไปปฏิบัติธรรมคราวหน้า กลางคืนจะไปนั่งข้างนอกจะได้ไหม

 

ตอบ ต้องดูใจตัวเองว่ามีกำลังพอหรือไม่ ไม่ต้องรีบร้อน ใจเย็นๆ ก้าวไปด้วยความมั่นใจ อย่ารีบร้อน อาจจะผิดพลาดได้ ถ้ายังไม่มั่นใจก็อย่าเพิ่งออกมานั่งข้างนอก

 

ถาม  ตอนที่ท่านอาจารย์ไปอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ไม่ได้พูดคุยกับใครโดยไม่จำเป็นและไม่ได้ออกไปไหนเลย ท่านมีวิหารธรรมข้อไหนเป็นเครื่องอยู่

 

ตอบ มีความสงบเป็นเครื่องอยู่

 

ถาม  ถ้ายังไม่มีแล้วมันดิ้นรน

 

ตอบ ต้องสู้กับมัน

 

ถาม  รู้สึกเหนื่อยมาก

 

ตอบ เป็นเหมือนปีนเขา พอถึงยอดเขาแล้วจะสบาย ต้องพยายาม

 

ถาม  บางครั้งมีกิเลสเกิดขึ้นในขณะที่เดินจงกรม แต่ไม่สามารถเอาชนะมันได้ ไปเล่าให้อาจารย์ฟัง ท่านพูดนิดเดียวก็วางได้ ถ้าไม่มีอาจารย์จะทำอย่างไร

 

ตอบ หาอาจารย์

 

ถาม  ถ้าไปอยู่กลางป่ากลางเขาคนเดียว จะสู้อย่างไร

 

ตอบ ต้องพร้อมก่อน ถ้ายังไม่พร้อมต้องอยู่กับอาจารย์ไปก่อน  

 

ตอนต้นต้องมีอาจารย์คอยสอนคอยให้กำลังใจ ต้องมีความสงบเป็นฐานก่อน ถึงจะออกไปอยู่คนเดียวได้ เป็นการเข้าสนามสอบแล้ว ถ้ามีสุตตมยปัญญา มีจินตามยปัญญาแล้ว อยากจะไปทดสอบกำลังของภาวนามยปัญญา ก็ต้องไปอยู่คนเดียว ไปเข้าสนามสอบ เป็นการปฏิบัติขั้นสูง ต้องมีสติมีสมาธิมีปัญญาพอที่จะรักษาตนได้แล้ว ท่านถึงจะให้ไป ถ้ายังไม่มีอย่าไปอยู่คนเดียว ยังเป็นเหมือนเด็กทารก ต้องมีพ่อแม่คอยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน พอโตเป็นที่พึ่งของตนได้แล้วค่อยไป ประโยชน์ของครูอาจารย์เป็นอย่างนี้ พอมีปัญหาไปเล่าให้ท่านฟังปั๊บ ท่านจะแก้ให้เราทันที ใจของเรายังไม่ดีพอ ไม่มีปัญญา มีแต่กิเลสคอยเหยียบย่ำทำลาย ทำให้ท้อแท้เบื่อหน่าย หมดศรัทธา ไม่อยากปฏิบัติ ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านจะสอนอยู่เรื่อยๆ สมัยที่ไปอยู่กับหลวงตา ไม่ค่อยมีคนไป ท่านจะเรียกประชุมสงฆ์ทุก ๔ – ๕ วัน อบรมธรรมะ พอฟังแล้วได้กำลังใจ พอออกจากที่ประชุมไปเดินจงกรมได้หลายชั่วโมง วันไหนไม่ได้ฟังธรรม เดินชั่วโมงเดียวก็เหนื่อยแล้ว ไม่อยากจะเดิน มันต่างกัน เวลาได้ฟังธรรมจะได้กำลังใจ แต่จะจางหายไปหลังจาก ๓ – ๔ วันผ่านไปแล้ว ท่านถึงต้องเรียกประชุมอยู่เรื่อยๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดวันพระให้ญาติโยมเข้าวัดกัน เพื่อจะได้เติมธรรมะเติมปัญญา เพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้มีกำลังต่อสู้กับปัญหาต่างๆ วันพระเป็นวันธรรมสวนะ วันฟังธรรม กาเลน ธัมมัสวนัง เอตัมมังคลมุตตมัง การฟังธรรมตามกาลตามเวลาเป็นมงคลอย่างยิ่ง

 

คราวที่แล้วบอกให้ฟังธรรมทุกวัน ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก่อนจะออกไปทำงาน เคยตื่นตอนกี่โมงก็ตื่นขึ้นมาก่อนสักชั่วโมงหนึ่ง นอนหัวค่ำกว่าปกติสักชั่วโมงหนึ่ง จะได้มีเวลานั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรมสักชั่วโมงหนึ่ง ก่อนจะไปทำงาน จะได้มีธรรมเตือนใจ จะต่างกันมากเลยถ้าได้ยินได้ฟังธรรมทุกวัน เวลาไปทำงานจะมีธรรมคอยเตือนใจเสมอ ถ้าไม่ฟังธรรมก็จะฟังแต่กิเลส เพราะในใจมีแต่กิเลส จะยั่วยุต่างๆนานา ทำให้ใจรุ่มร้อนกระวนกระวาย กระสับกระส่าย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้ามีธรรมก็จะปลงได้ เป็นธรรมดาของโลก มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา มีความสงบมีความวุ่นวายเป็นธรรมดา สลับกันไป แต่ไม่ต้องวุ่นวายไปกับเขา แยกใจออกจากสิ่งต่างๆ ด้วยธรรมะ ด้วยสติสมาธิปัญญา

 

ควรทำทุกวัน คือรักษาใจให้เป็นปกติ ทำอะไรได้ก็ทำไป ทำบุญได้ก็ทำไป ให้ทานได้ก็ให้ไป ช่วยเหลือใครได้ก็ช่วยไป จะไม่ไปทุบตีไม่ด่าไม่ว่าใคร ใครจะร้ายใครจะชั่ว ก็ปล่อยเขาไป ไม่ต้องไปว่าเขา ไม่เกิดประโยชน์อะไร จะทำให้เราชั่วและร้ายเท่ากับเขา ต้องวางเฉยเป็นอุเบกขา ต้องมีเมตตาเสมอ สัพเพสัตตา คำว่าสัพเพหมายถึงสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นพวกเราและไม่ใช่พวกเรา ไม่อย่างนั้นจะเป็นสัพเพสัตตาได้อย่างไร เสื้อแดงก็สัพเพสัตตา เสื้อเหลืองก็สัพเพสัตตา เสื้อหลากสีก็สัพเพสัตตา เป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ถ้ามีเมตตาปัญหาต่างๆจะเบาลง ตบมือข้างเดียวไม่ดังหรอก เอาหลักธรรมไปใช้เถิด จะลดปัญหาลดอุณหภูมิความรุนแรงได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างพุ่งความเกลียดชังเข้าหากัน จะเพิ่มอุณหภูมิของความรุนแรง

 

ถาม  ขณะพิจารณาดูศพที่อยู่ในโลง ก็กำหนดให้ตัวเองนอนทับศพนั้นไปเลย ซึ่งปกติไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ แต่วันนั้นนึกกลัวขึ้นมาทันที ก็เลยถอนออกมา ควรจะกลับไปพิจารณาอีกไหม

 

ตอบ ควรพิจารณาจนไม่กลัว ร่างกายของเราก็เป็นเหมือนร่างกายของเขา ดูจนรับความตายได้ ขั้นต่อไปก็ไปพิสูจน์ดู

 

ถาม  ไปพิสูจน์ดูอย่างไรคะ

 

ตอบ ต้องไปหาสถานที่หรือเหตุการณ์ ที่ท้าทายต่อความเป็นความตายดู เพราะยังอาจจะหลอกตัวเองอยู่ ความคิดอาจจะหลอกว่าไม่กลัวแล้ว แต่ยังไม่ได้เจอเหตุการณ์จริง เหมือนที่ไปเจอลูกระเบิด

 

ถาม  ในฐานะที่เราทั้งหลายเป็นลูกศิษย์หลวงตา ถ้าต่างคนต่างร่วมใจฝึกอบรมตน ให้มีสมาธิมากขึ้นๆทุกวัน มีสติปัญญาที่ดีขึ้นเรื่อยๆเราสามารถน้อมถวายให้ธาตุขันธ์ท่านอยู่ไปนานๆได้ไหมคะ

 

ตอบ ไม่ได้หรอก ธาตุขันธ์ของท่านต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย

 

ถาม  แต่มีคำสอนที่ว่า ไม่มีอำนาจใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าอำนาจของใจที่ฝึกไว้ดีแล้ว

 

ตอบ ดีสำหรับผู้ฝึก

 

ถาม  เพื่อน้อมถวายบูชาท่าน

 

ตอบ บูชาได้ แต่ไม่มีผลตามความต้องการของเรา การบูชาเป็นการแสดงความเคารพ

 

ถาม  แต่ไม่มีผลต่อองค์ท่านเลยหรือคะ

 

ตอบ ท่านไม่ต้องการอะไรจากพวกเรา ท่านไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น ท่านพอของท่านอยู่แล้ว ธาตุขันธ์ไม่ใช่ตัวของท่าน ธาตุขันธ์เป็นเพียงรถยนต์คันหนึ่ง ถ้ามันไม่วิ่งมันก็ไม่วิ่ง เมื่อมันหมดสภาพมันก็ไปไม่ได้ ร่างกายก็เหมือนกับรถยนต์ เมื่อมันจะหมดสภาพจะแตกสามัคคีจะแยกทางกัน ไม่มีใครจะหยุดมันได้ ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ต้องอยู่ถึงวันนี้ ถ้าทำบุญยืดชีวิตให้พระพุทธเจ้าได้

 

ถาม  แต่มีกล่าวไว้ว่า ถ้าพระอานนท์อาราธนาจะอยู่ต่อได้

 

ตอบ คนละเรื่องกัน ท่านหมายถึงว่า ในกรณีที่ธาตุขันธ์ของท่านยังอยู่ได้ แต่ต้องมีการบำรุงเป็นพิเศษ ดูแลเป็นพิเศษ ก็จะอยู่ได้นานขึ้น ถ้าไม่ดูแลพิเศษก็จะไปเร็วขึ้น ผู้ที่จะคอยดูแลก็คือพระอานนท์ พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสให้พระอานนท์ทราบ แต่พระอานนท์ไม่เข้าใจ ก็เลยไม่ได้อาราธนา ไม่ได้อาสาเป็นผู้อุปถัมภ์อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ถ้าไม่อาสาก็ไม่ทรงรับสั่ง  พระอานนท์ถึงถูกปรับอาบัติ หลังจากที่พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ๓ เดือน มีการสังคายนาพระธรรมคำสอน ท่ามกลางพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด มีการถามพระอานนท์ว่าทำไมไม่อาราธนาให้พระพุทธเจ้าอยู่ต่อ พระอานนท์บอกว่าไม่เข้าใจความหมาย พระสงฆ์ท่านก็เลยปรับอาบัติ คือตำหนิที่ไม่อาราธนาให้อยู่ต่อ

 

ถาม  ที่ทรงอยู่ต่อได้ เพราะทรงมีอิทธิบาท ๔ นี้ละเจ้าคะ

 

ตอบ อิทธิบาท ๔ ก็คือพลังจิตพลังธรรม จะสามารถประคับประคองร่างกายให้อยู่ได้นานกว่าจิตที่ไม่มีพลัง จิตที่ไม่มีพลังไม่มีกำลังจิตกำลังใจจะอยู่ต่อ ถึงแม้ร่างกายยังดีอยู่ก็อยู่ไม่ได้ เพราะจะไม่ดูแล ไม่กินข้าว ไม่หลับนอน ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินยา ร่างกายเมื่อไม่ได้รับการดูแล ก็ต้องเสื่อมไปอย่างรวดเร็ว ต่างกับร่างกายที่ได้รับการดูแล ร่างกายที่ได้รับการดูแลเพราะมีกำลังใจ เพราะใจเป็นผู้ดูแลร่างกาย พระพุทธเจ้าทรงมีกำลังใจที่จะดูแลรักษาร่างกาย แต่ต้องมีคนอื่นช่วยดูแล ต้องมีหมอมีคนคอยจัดยาถวายท่าน คอยจัดอาหารถวายท่าน อะไรต่างๆเหล่านี้ ถ้าไม่มีใครช่วยร่างกายก็จะอยู่ต่อไปไม่ได้ ผู้ดูแลก็ต้องสละเวลาของตน พระอานนท์ตอนนั้นก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าไม่อยากดึงพระอานนท์ไว้ ถ้าพระอานนท์จะลาไปปฏิบัติ ก็จะทรงปล่อยให้ไป ถ้าพระอานนท์จะอุปัฏฐากต่อ ก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ พอพระอานนท์ไม่ได้อาราธนา ก็แสดงว่าไม่อาสา เพราะพระอานนท์ไม่ฉลาด ไม่เข้าใจความหมาย ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ พอมาอาราธนาทีหลัง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าสายเสียแล้ว พอพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า จะไปแล้วนะอานนท์ภายใน ๓ เดือนนี้ ก็ขออาราธนาให้อยู่ต่อ พระพุทธเจ้าทรงตอบว่าสายไปเสียแล้ว เพราะเคยตรัสมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยอาราธนาเลย เวลาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตัดสินพระทัยลงไปแล้ว จะไม่ทรงกลับพระทัย

 

ถาม  ที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงมีอิทธิบาท ๔ ในการรักษาธาตุขันธ์ คือฉันทะความพอใจที่จะดำรงชีวิต

 

ตอบ จะอยู่ต่อไปเพื่อทำประโยชน์ให้กับโลก เพราะความสงสารความเมตตา ต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ แม้แต่ขณะที่จะเสด็จดับขันธ์ในคืนนั้น ก็ยังอุตส่าห์โปรดคนที่มาถามปัญหาคนสุดท้าย ตอนนั้นพระอานนท์ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า เพราะเห็นว่าอาการหนักเต็มที่แล้ว พอพระพุทธเจ้าทรงทราบก็ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้า เพราะความเมตตาที่ทรงมีต่อสัตว์โลกเสมอ

 

พอถึงเวลาก็ทรงตัดสินพระทัย พอตัดสินแล้วก็จะไม่เปลี่ยนพระทัย ทรงเห็นว่ามีพระอรหันตสาวกไม่น้อยกว่า ๕๐๐ รูป ที่จะทำหน้าที่แทนพระองค์ได้ ทรงมีความมั่นพระทัยว่าสัตว์โลกจะไม่ขาดที่พึ่ง ทรงตรัสว่าพวกเธอจะไม่ปราศจากศาสดา เพราะธรรมวินัยที่ตถาคตได้ตรัสไว้ชอบแล้วนี้แล จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป ผู้ที่จะสอนธรรมวินัยก็คือพระอรหันตสาวก ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐๐ รูป จึงอย่าถือการจากไปของครูบาอาจารย์เป็นเรื่องใหญ่โต เพราะเป็นเรื่องของเวลา เป็นคติธรรมดาของโลก ที่จะต้องเกิดขึ้น คำสอนของท่านก็มีการบันทึกไว้แล้ว มีประโยชน์เหมือนกับท่านมีชีวิตอยู่ ถ้าศึกษาปฏิบัติตามคำสอนก็จะได้รับประโยชน์ เหมือนกับตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ เวลาไปหาท่านก็ไม่ได้ไปหาร่างกายของท่าน แต่ไปหาธรรมะจากท่าน ไปฟังธรรมของท่านที่ยังอยู่ ทำไมไม่ฟังกัน