กัณฑ์ที่ ๔๑๔       ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓

 

ทำใจให้เฉย

 

 

 

ถ้าเรารู้จักทำใจให้เฉย เราจะไม่เหนื่อยอกเหนื่อยใจกัน ที่เหนื่อยกันก็เพราะไม่ทำใจให้เฉย ชอบไปวุ่นกับเหตุการณ์ต่างๆ ก็เลยเหนื่อย แต่ถ้าทำใจให้เฉย เหมือนดูละคร ก็จะไม่เหนื่อย ถ้าดูละครแต่ไม่ทำใจให้เฉยก็เหนื่อยได้เหมือนกัน ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ใจไม่นิ่งกัน ใจอ่อนไหวไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ใจไปสัมผัสรับรู้ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ใจไม่นิ่งเพราะไม่มีกำลังทำให้ใจนิ่ง เหมือนม้าไม่มีบังเหียน เราจึงต้องสร้างกำลังใจกัน คุณธรรมที่ทำให้ใจมีกำลังก็คืออินทรีย์ ๕ ถ้าได้รับการพัฒนาก็จะเป็นพละ ๕ พวกเรามีอินทรีย์ ๕ ที่มีกำลังพอสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ไม่มีกำลังที่จะหยุดจิต ไม่ให้ว้าวุ่นขุ่นมัวไปกับเหตุการณ์ต่างๆ เราจึงต้องพัฒนาอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕ ต้องพัฒนาศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ให้มีพลังไว้ควบคุมใจให้สักแต่ว่ารู้ ไม่ให้ไปมีอารมณ์กับเหตุการณ์ต่างๆ ให้ปล่อยวาง รู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ไปจุ้นจ้านกับเขา เขาจะดีจะชั่วจะสุขจะทุกข์ ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเราก็คือให้สักแต่ว่ารู้เท่านั้น ถ้ามีพละ ๕ ก็จะทำใจได้ พละ ๕ ที่สำคัญก็คือ สติ สมาธิ ปัญญา ที่มีศรัทธาและวิริยะเป็นผู้สนับสนุนให้เจริญเติบโตขึ้นมา

 

ในเบื้องต้นต้องมีศรัทธา ความเชื่อในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ว่าเป็นผู้ที่ได้พิสูจน์แล้วว่า พละ ๕ นี้เป็นเครื่องมือที่จะเสริมสร้างกำลังให้แก่ใจ ให้ใจสามารถรับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ถ้ามีศรัทธาในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็จะมีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร ที่จะศึกษาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ว่าท่านสอนให้ปฏิบัติอย่างไร เพื่อทำให้ใจมีพลังที่จะรับกับเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์ทรมานใจ เราจึงศึกษาด้วยการเข้าหาผู้รู้ หาครูบาอาจารย์ ศึกษาจากหนังสือธรรมะที่คัดมาจากพระไตรปิฎก จากหนังสือของครูบาอาจารย์ ของพระสุปฏิปันโน ที่ได้ปฏิบัติผ่านมาแล้ว ผู้รู้วิธีพัฒนาอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้เป็นพละ ๕ ขึ้นมา พอได้ศึกษาแล้วก็จะรู้ว่าต้องพัฒนาสติสมาธิและปัญญา

 

สติเป็นปัจจัยหลักของการปฏิบัติ ต้องเจริญสติก่อน สติเป็นเหมือนเชือก ที่จะผูกใจดึงใจเอาไว้ ให้อยู่นิ่ง ไม่ให้ไปเพ่นพ่านตามที่ต่างๆ ใจเป็นเหมือนลิง ถ้าไม่มีเชือกผูกคอไว้แล้วโยงไว้กับเสา ลิงจะไม่อยู่เฉยๆ จะต้องไปเพ่นพ่านทั่วไปหมด เวลาจะจับลิงเข้ากรง ก็จะไม่สามารถจับได้ แต่ถ้าเราผูกมันไว้กับเสา พอถึงเวลาจับเข้ากรง ก็จะลากมันเข้าไปในกรงได้อย่างง่ายดาย นี่คือสติ ที่เป็นเหมือนเชือกที่จะดึงจิต ไม่ให้ไปเพ่นพ่านตามที่ต่างๆ เวลาจะจับจิตเข้ากรงเข้าสมาธิ ให้จิตรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ ถ้ามีเชือกคือสติดึงจิตเข้าไปในกรง ก็จะไม่ยากเย็น ถ้าไม่มีเชือกก็จะไม่มีทางที่จะจับจิตเข้ากรงได้ เหมือนใช้มือเปล่าจับลิง ลิงมันเร็วกว่าเราหลายร้อยเท่า จิตมันเร็วกว่าเราหลายร้อยเท่า มีสติเท่านั้นที่จะปราบมันได้ ถ้าอยากจะมีสมาธิมีปัญญาก็ต้องมีสติก่อน การเจริญสติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการเจริญสมาธิปัญญา และวิมุตติการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

 

นี่คือทางที่ถูกต้อง คือการเจริญสติด้วยวิริยะความอุตสาหะพากเพียร ที่จะเจริญสติอยู่เสมอ ถึงแม้จะยากลำบาก เพราะไม่เคยทำ ไม่ถนัด เหมือนกับการใช้มือที่ไม่ถนัด ถ้าถนัดมือขวาแต่มีความจำเป็นต้องใช้มือซ้าย ตอนที่เริ่มใช้ใหม่ๆ จะรู้สึกไม่ถนัด รู้สึกลำบาก ไม่คล่องแคล่วว่องไว เหมือนกับใช้มือที่ถนัด ถ้ามือขวาขาดไปก็ต้องหัดใช้มือซ้าย พอใช้ไปเรื่อยๆก็จะถนัด ความถนัดในมือซ้ายมือขวานี้อยู่ที่จิต ถ้าจิตเคยใช้มือซ้ายมาหลายภพหลายชาติก็จะถนัดมือซ้าย จนกว่าจะถูกบังคับให้ใช้มือขวา เช่นพ่อแม่สอนให้ใช้มือขวาตั้งแต่เด็ก พอใช้ไปเรื่อยๆก็จะถนัดทั้ง ๒ มือ การฝึกให้มีสติในเบื้องต้น จึงเป็นเหมือนกับการใช้มือที่ไม่ถนัด เพราะเราถนัดในการไม่มีสตินั่นเอง เราชอบเผลอ ชอบปล่อยให้ใจลอยไปลอยมา ให้คิดเรื่อยเปื่อย ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว วันๆหนึ่งนี้ ใจเราอยู่กับตัวหรืออยู่กับเรื่องต่างๆ ลองสังเกตดู

 

ถ้าไม่มีสติ เวลาบังคับให้ใจนิ่ง ให้เข้าสู่สมาธิ ใจก็จะไม่ยอมเข้า บริกรรมพุทโธๆได้เพียง ๒ – ๓ วินาที ก็จะลอยไปคิดเรื่องอื่น ดูลมหายใจก็เช่นเดียวกัน เราจึงต้องเจริญสติให้เป็นนิสัย ให้ใจอยู่กับร่างกาย ไม่ว่าร่างกายกำลังทำอะไร กำลังเดินก็ให้อยู่กับการเดิน กำลังยืนก็ให้อยู่กับการยืน กำลังนั่งก็ให้อยู่กับการนั่ง กำลังนอนก็ให้อยู่กับการนอน กำลังรับประทานอาหาร อาบน้ำแต่งตัว ล้างถ้วยล้างชาม ซักเสื้อผ้า ทำงานต่างๆ ก็ให้อยู่กับงานนั้นๆ หรือจะบริกรรมพุทโธไปกับการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้ ไม่ให้ใจไปคิดเรื่องอื่น ให้บริกรรมพุทโธๆไป พระบางรูปท่านจะใช้การบริกรรมพุทโธเป็นเชือกไว้ดึงใจ ตื่นขึ้นมาก่อนที่จะลุกก็บริกรรมพุทโธๆไปภายในใจ กำลังลุกขึ้นมายืนก็พุทโธๆ เข้าห้องน้ำไปทำกิจก็พุทโธๆตลอดเวลา ให้จิตว่างจากเรื่องราวต่างๆ แล้วจะมีความสงบในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สงบเต็มที่ คือไม่ฟุ้งซ่าน จะว่างจากอารมณ์ต่างๆ พอถึงเวลานั่งสมาธิ ก็จะรวมเข้าสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็ว

 

การเข้าสู่สมาธิเข้าสู่ความสงบนี้ อาจจะมีประสบการณ์ต่างกัน อาจจะมีแสงมีภาพให้เห็น หรือไม่มีอะไรให้เห็นเลย ถ้าไม่มีอะไรเลยจะดีที่สุด ถ้ารวมลงแล้วสงบนิ่งเป็นเอกัคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ ไม่มีความคิดปรุงแต่ง ไม่สนใจกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ยังได้รับสัมผัสรับรู้ จะสักแต่ว่ารู้ ไม่มีอารมณ์กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ในบางกรณีก็จะลงไปแบบไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตาหูจมูกลิ้นกาย หายไปจากความรับรู้ของจิต แล้วก็นิ่งสงบ เป็นสัมมาสมาธิ คือสงบแล้วไม่เคลื่อนไหว ถ้าสงบแล้วเคลื่อนไหว คือออกไปรับรู้นิมิตต่างๆ อย่างนี้เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไม่เป็นฐานให้ปัญญา ไม่มีกำลังที่จะตัดกิเลส จิตที่ออกไปรับรู้นิมิตต่างๆนี้ เป็นเหมือนนอนหลับแล้วฝันไป เวลาออกจากสมาธิจะไม่มีพลัง ที่จะข่มจิตข่มใจ เวลาสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วเกิดอารมณ์โลภโกรธรักชัง ก็จะไม่สามารถดับได้ ไม่เหมือนกับสมาธิที่นิ่งสงบสักแต่ว่ารู้ พอถอนออกมาจะอิ่มเย็นสบาย พร้อมที่จะเจริญปัญญาต่อไป คือพิจารณาอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกฯลฯ พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย ดินน้ำลมไฟ ถ้าไม่อยากจะนั่งจะลุกขึ้นมาเดินจงกรมพิจารณาก็ได้ ตอนนั้นจะไม่มีอารมณ์อื่นมารบกวน มาฉุดลากให้จิตไปคิดเรื่องอื่น เพราะกิเลสยังงัวเงียอยู่ ถูกอำนาจของสมาธิกดไว้ ยังไม่มีกำลัง เหมือนคนเพิ่งตื่นใหม่ๆ ตอนนั้นจะพิจารณาธรรม ก็จะเห็นตามความจริง ถ้าพิจารณาอนิจจังก็จะเห็นว่าเป็นอนิจจังเกิดแก่เจ็บตาย ถ้าพิจารณาว่าเป็นดินน้ำลมไฟก็จะเห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟ ถ้าพิจารณาว่าเป็นทุกข์ก็จะเห็นว่าเป็นทุกข์ พอพิจารณาไปสักระยะหนึ่งแล้ว กิเลสเริ่มหายงัวเงีย เริ่มมีกำลังขึ้นมา ก็จะมาป่วนกับการพิจารณา ทำให้เห็นไม่ชัด ก็ต้องหยุดแล้วก็กลับไปทำสมาธิใหม่ แสดงว่ากิเลสมีกำลังต้านมากขึ้น ถึงเวลาที่ต้องให้ยาสลบกับกิเลสใหม่ ด้วยการกลับเข้าสู่สมาธิ ให้จิตสงบรวมลง สักแต่ว่ารู้ แล้วก็พักตามความต้องการของจิต หลังจากนั้นก็จะถอนออกมา แล้วค่อยพิจารณาใหม่

 

ในขณะที่อยู่ในสมาธิ ขณะที่จิตพัก สักแต่ว่ารู้อยู่ ไม่ต้องไปทำอะไร อย่าไปพิจารณาตอนนั้น เพราะจะเป็นการรบกวนจิต จิตจะไม่ได้พักผ่อน แล้วก็จะพิจารณาไม่ได้ผล รอให้จิตพักให้เต็มที่แล้วถอนออกมา มารับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กลับมาอยู่ในระดับจิตปกติ แล้วค่อยพิจารณา พิจารณาซ้ำๆซากๆ จนเป็นความรู้ที่ติดอยู่กับจิตตลอดเวลา เวลาเห็นร่างกายของใครก็ตาม จะเห็นพรึบเลย เห็นเกิดแก่เจ็บตาย เห็นดินน้ำลมไฟ เห็นอาการ ๓๒ เห็นอสุภะ เห็นปฏิกูล เหมือนกับอ่านหนังสือ พอเห็นตัวหนังสือปั๊บ ก็จะรู้ความหมายของตัวหนังสือนั้นเลย จะไม่เห็นเพียงแต่สมมุติ เช่นเห็นพ่อเห็นแม่เห็นพี่เห็นน้องเห็นเพื่อน ชื่อนั้นชื่อนี้ ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร ที่เป็นความรู้ทางโลก ที่จะผูกจิตให้ติดอยู่กับความทุกข์ ต้องมีความรู้ที่จะปลดจิตให้หลุดจากความทุกข์ คือเห็นพ่อเห็นแม่แล้วก็ต้องเห็นดินน้ำลมไฟ เห็นเกิดแก่เจ็บตาย ถ้าเห็นภาพที่สวยงามแล้วเกิดอารมณ์ใคร่ ก็ต้องเห็นอสุภะ เห็นอาการ ๓๒ เห็นอสุภะไม่สวยไม่งาม ปฏิกูลไม่สะอาด ที่ถูกขับออกมาตามทวารต่างๆของร่างกาย ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะดับความกำหนัดยินดี ความยึดติดว่าเป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้อง เพราะเห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ที่จะต้องแยกออกจากกันในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ต้องเห็นอย่างนี้ พอดูปั๊บก็จะเห็นเลย ไม่เพียงเห็นว่าเป็นใคร มีตำแหน่งอะไรเท่านั้น

 

การพิจารณาร่างกายนี้ เป็นการเพิ่มข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวกับร่างกายให้กับใจ ข้อมูลที่ใจขาด ทำให้ใจหลงยึดติด ว่าเป็นมนุษย์เป็นคน เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ มีฐานะอย่างนั้นอย่างนี้ มีความสัมพันธ์อย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะผูกจิตให้ติดอยู่กับความทุกข์ ต้องมีข้อมูลของพระพุทธเจ้า ที่ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง จนทำให้พระทัยของพระพุทธเจ้าหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย แล้วทรงนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่พวกเรา พวกเราต้องเอาข้อมูลเอาความรู้นี้เข้ามาไว้ในใจ ตอนนี้ข้อมูลนี้อยู่ในแผ่นซีดีอยู่ในหนังสือ อยู่ในตัวครูบาอาจารย์ ยังไม่ได้อยู่ในใจของเรา เวลาเปิดซีดีเราก็ได้ยินได้ฟัง เวลาอ่านหนังสือเราก็เห็น เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมเราก็ได้ยิน แต่พอไม่ได้อ่านไม่ได้ดูไม่ได้ฟัง มันก็หายไปเลย เพราะการได้ยินได้ฟังอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเอามาพิจารณาต่อ สลับกับการทำสมาธิและการเจริญสติ การเจริญสติเป็นงานหลัก ต้องมีสติตลอดเวลา เวลานั่งสมาธิก็มีสติควบคุมจิตให้อยู่กับกรรมฐาน เช่นอานาปานสติ หรือพุทธานุสติคือการบริกรรมพุทโธ ถ้าจิตอยู่กับกรรมฐานจิตก็จะรวมเข้าสู่ความสงบ พอออกจากความสงบก็ต้องเจริญปัญญาต่อ ถ้ามีความจำเป็นต้องทำภารกิจ ไม่สามารถพิจารณาได้ ก็ให้เจริญสติแทน เวลาทำงานต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ให้มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ตอนนั้นจะเจริญปัญญาไม่ค่อยได้ เพราะจิตต้องคิดเรื่องงาน ก็ให้คิดอยู่กับเรื่องงานนั้นอย่างเดียว อย่าไปคิดเรื่องอื่น เรื่องในอดีตหรืออนาคต ให้อยู่ในเรื่องปัจจุบัน ถ้าไม่ต้องคิดเรื่องงาน ก็ให้คิดทางปัญญา พิจารณาร่างกายเป็นหลัก

 

พิจารณาว่าร่างกายมีอาการ ๓๒ มาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็จะต้องกลับไปสู่ดินน้ำลมไฟต่อไป ก่อนจะไปก็ต้องแก่ก่อน ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยก่อน ให้พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซ้อมไปเรื่อยๆ ให้พร้อมที่จะรับกับเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น ถ้าอยากจะพิสูจน์ว่าพร้อมหรือยัง เช่นกับความเจ็บของร่างกาย ก็ให้นั่งสมาธิ พอเกิดอาการเจ็บปวด ก็ไม่ต้องขยับ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อให้ความเจ็บหายไป ปล่อยให้หายไปเอง เหมือนกับเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย พอโรคหายความเจ็บปวดก็หายไปเอง เช่นเวลาเป็นไข้แล้วปวดไปทั้งตัว ก็อย่าไปกินยาแก้ปวด นั่งสมาธิแทนใช้ธรรมะโอสถ ทำใจให้สงบ ปล่อยวางความเจ็บปวดของร่างกาย ร่างกายจะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป ถ้าทำจิตให้สงบได้ จะระงับความเจ็บของใจได้ ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าความเจ็บของร่างกายหลายร้อยเท่า พอความเจ็บของใจหายไป ความเจ็บของร่างกายจะรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา พอรับได้ พอทนได้ ไม่เดือดร้อน แต่ถ้ามีความเจ็บทางใจแล้ว ถึงแม้ความเจ็บทางร่างกายจะไม่รุนแรง ก็จะรับไม่ได้ เพราะทรมานที่ใจ ไม่ได้ทรมานที่ร่างกาย นี่ก็เป็นการพิสูจน์ไว้ก่อนว่า เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือช่วงใกล้ตาย ร่างกายจะมีอาการเจ็บปวดมาก ใจจะนิ่งหรือจะทุรนทุราย ต้องควบคุมใจให้นิ่ง ด้วยการบริกรรมพุทโธ หรือจะใช้อุบายของปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าร่างกายนี้ มันรู้หรือไม่เวลามันเจ็บ กระดูกมันรู้หรือไม่ว่ามันเจ็บ  เวลาเอากระดูกไก่กระดูกหมูไปต้มในน้ำร้อน มันรู้ว่ามันเจ็บหรือไม่ หรือมันก็เป็นเหมือนกับวัตถุชิ้นหนึ่ง ที่ไม่รู้เรื่องอะไร ร่างกายของคนที่ตายไปแล้ว เวลาเอาไปเผาไฟรู้หรือไม่ ว่าเจ็บหรือไม่ เขาไม่รู้หรอก ผู้รู้ก็คือใจ ที่ไม่ได้ถูกเผา ใจไปทุกข์ทรมานแทนร่างกายทำไม เช่นเดียวกับความเจ็บของร่างกายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ใจไม่ได้เป็นผู้เจ็บเสียหน่อย แต่ใจไปทุกข์ทรมานกับความเจ็บของร่างกายทำไม ทำไมไม่ปล่อยให้เขาเจ็บไปตามเรื่องของเขา เพราะนิสัยเราถูกปลูกฝังมา ให้รังเกียจให้ปฏิเสธความเจ็บของร่างกาย พอเกิดความเจ็บของร่างกาย ต้องทำให้หายไป ไม่ปล่อยให้มันหายเอง ถ้ามันเจ็บขยับได้ก็จะขยับ หรือรับประทานยาแก้ปวด นี่ไม่ใช่เป็นการดับความทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย คือความชอบหรือความชัง ทุกข์แบบนี้ต้องละความชอบความชัง เช่นสุขเวทนาก็อย่าไปชอบ ทุกขเวทนาก็อย่าไปชัง ต้องทำใจให้เป็นกลางเฉยๆ สุขก็ไม่ยินดี ทุกข์ก็ไม่ยินร้าย ปล่อยไปตามเรื่องของเขา ทำใจให้สักแต่ว่ารู้ เหมือนกับอยู่ในสมาธิ ถึงแม้จะรับรู้ก็รับรู้เฉยๆ ไม่มีอารมณ์

 

ถ้าไม่รักไม่ชังก็จะไม่มีสมุทัย ไม่มีภวตัณหาหรือวิภวตัณหา ภวตัณหาก็คืออยากจะให้เป็นอย่างนี้ เวลามีสุขเวทนาก็จะเกิดภวตัณหาอยากจะให้สุขไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็จะเกิดวิภวตัณหา อยากจะให้มันหายไป นี่ก็เป็นการสร้างสมุทัยขึ้นมา สมุทัยคือต้นเหตุของทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือทุกขสัจ สมุทัยเป็นสมุทัยสัจในอริยสัจ ๔ จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ก็ต้องเห็นอริยสัจ ๔ ในใจ นอกจากเห็นความเจ็บปวดของร่างกาย เห็นอสุภะ เห็นปฏิกูล เห็นความตาย ที่เป็นเครื่องมือให้ละสมุทัยที่เกิดขึ้น เพราะเวลาเห็นความตายก็จะเกิดความกลัวตายขึ้นมา ความกลัวตายนี้แหละคือทุกข์ เกิดจากวิภวตัณหาไม่อยากจะตาย ต้องใช้ปัญญาเข้ามาละวิภวตัณหาละสมุทัย ว่าร่างกายต้องตายเป็นธรรมดา พอจิตยอมรับความตายของร่างกายได้ ความกลัวตายก็จะหายไป แต่ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงความตายของร่างกาย ร่างกายก็ยังต้องตายเหมือนเดิม ร่างกายของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ต้องตายเหมือนเดิม ร่างกายของเราก็ต้องตายเหมือนเดิม แต่ความกลัวในใจของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ไม่มี แต่ปุถุชนอย่างพวกเรายังมีความกลัวกันอยู่ เพราะไม่มีปัญญา ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ที่จะทำให้ใจนิ่งเฉย รู้ว่าความตายเป็นเรื่องของร่างกาย ผู้รู้คือใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ทำไมจะต้องวุ่นวายไปกับร่างกาย การจะผ่านความกลัวความเจ็บปวดความกลัวตายได้ ต้องเห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์ที่เกิดจากความกลัวความเจ็บปวดกลัวความตาย เห็นนิโรธการดับทุกข์ภายในใจ ที่เกิดจากการมีปัญญา เห็นว่าความตายเป็นธรรมดา ถ้าเห็นอสุภะเห็นปฏิกูลในร่างกาย ก็จะดับกามตัณหากามราคะได้ ไม่ต้องมีคู่รักคู่ครอง เพราะไม่มีอารมณ์ความใคร่ที่อยากจะหลับนอนกับผู้อื่น อยู่เป็นโสดมีความสุขมากกว่า

 

การปฏิบัตินี้ก็เพื่อให้เห็นอริยสัจ ๔ ที่นั่งจนร่างกายเจ็บปวดก็เพื่อจะได้เห็นความกลัวความเจ็บปวด เห็นความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวความเจ็บปวด แล้วก็เห็นวิธีแก้คือปัญญา ที่จะแยกใจออกจากกาย สอนใจให้รับความเจ็บปวดของร่างกาย ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนฝนตกแดดออกเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่ไปวุ่นวายกับเขาก็จะไม่เดือดร้อน แต่ถ้าไปเจ้ากี้เจ้าการก็จะเดือดร้อน ต้องปล่อยเขาไปตามเรื่อง ความกลัวความเจ็บปวดก็จะดับไป ความกลัวตายก็จะหายไป ลองไปอยู่ในที่น่ากลัวจนเกิดความกลัวมากๆ คิดว่าจะตายจริงๆแล้วก็ยอมตายเลย พอยอมปั๊บความกลัวตายก็จะหายไป จิตก็จะโล่งเบาสบาย ร่างกายจะตายหรือไม่ตายก็ไม่สำคัญ แต่ความกลัวตายมันตายไปแล้ว ตัวนี้สำคัญกว่า ที่ปฏิบัติทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะดับไอ้ตัวนี้ ให้มันตายไป คือความทุกข์ใจนี่เอง ทุกข์ที่เกิดจากความกลัวความเจ็บปวด ทุกข์ที่เกิดจากความกลัวความตาย กลัวความสูญเสียสิ่งต่างๆที่รักที่ชอบไป จึงต้องสอนใจให้ปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด เพราะจะทำให้ทุกข์ทรมานใจ ถ้ามีปัญญาจะไม่ทุกข์ ปัญญาจะช่วยเราทุกครั้งที่เกิดความทุกข์ใจ ถ้าฝึกสอนให้คิดไปในทางปัญญา เราจะไม่ไปหาสิ่งอื่นมาดับทุกข์ เพราะสิ่งอื่นดับทุกข์ไม่ได้ เพียงแต่กดไว้ได้ชั่วคราว เช่นไม่สบายใจก็ไปดื่มสุราหรือไปเที่ยว ไปหาเพื่อน ไปคุยไปปรับทุกข์ เป็นการกลบความทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจไว้ชั่วคราว ไม่นานทุกข์ก็จะกลับมาใหม่ จนกว่าเราจะยอมรับความจริง ถ้ายอมรับความสูญเสียได้ จะเสียอะไรก็เสียไป ความทุกข์ก็จะหายไป ไม่ต้องไปปรับทุกข์กับใคร จะได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อย่างนี้ความทุกข์ก็ไม่มี แต่ถ้าคิดว่าจะต้องได้อย่างเดียว พอไม่ได้ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 

เราจึงต้องมีข้อมูลต่างๆเพื่อละความอยากของเรา ละกามตัณหา ละภวตัณหา ละวิภวตัณหา ที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมา ละความกลัวตาย ละความกลัวความเจ็บปวด ละความกลัวความสูญเสียสิ่งต่างๆ เช่นกลัวจะตกงาน กลัวจะเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ เสียคนนั้นเสียคนนี้ไป ไม่ต้องกลัว จะไปก็ไป ถ้าไม่ไปก็อยู่ ไม่มีใครอยู่ด้วยกันไปตลอด พวกเราทุกคนนี่อีก ๕๐ ปี จะเหลือสักกี่คน คิดอย่างนี้บ้างสิ จะกลัวอะไร ต้องเกิดแน่ๆ คิดอย่างนี้เป็นปัญญาเป็นมงคล แต่ทางโลกไม่กล้าคิดกัน คิดว่าเป็นอัปมงคล เป็นเหมือนแช่งกัน ก็เลยทุกข์ทรมานใจตลอดเวลา ได้ประโยชน์อะไรอยู่กับความทุกข์ สู้อยู่กับความไม่ทุกข์ แล้วก็ตายกับความไม่ทุกข์ไม่ดีกว่าหรือ ต้องกล้าสู้กับความจริง ว่าสักวันเราต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตาย ต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด นี่คือการสร้างพละสร้างกำลังให้กับใจ ถ้ามีปัญญาที่แท้จริงคือภาวนามยปัญญา ก็จะมีกำลังที่จะเผชิญหรือรับรู้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ที่ใจจะต้องสัมผัสรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นความตายของเราก็ดี หรือของผู้อื่นก็ดี ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดของเราก็ดี หรือของผู้อื่นก็ดี จะกล้ารับรู้ จะไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน เพราะเราเป็นเหมือนคนดูหนัง เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา กับชีวิตของเรานี้ ก็เป็นเหมือนหนังเท่านั้นเอง ใจเป็นผู้นั่งดู แต่ใจไม่ดูเฉยๆ ดูแล้วไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับเขาด้วย ไปมีส่วนได้เสียกับร่างกาย เวลาได้อะไรมาก็ดีใจไปกับร่างกาย พอร่างกายเสียอะไรไปก็เสียใจไปกับร่างกาย

 

การปฏิบัติเพื่อที่จะทำให้มีกำลังใจ ก็ต้องเจริญอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕ ขึ้นมา ในเบื้องต้นต้องมีศรัทธาความเชื่อมั่น ในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพระศาสนา ต้องรู้จักแยกแยะ สิ่งต่างๆออกจากพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เช่นวัดวาอารามเกิดไฟไหม้ มีศัตรูมาทำลาย อันนี้เป็นองค์ประกอบของศาสนา ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่แท้จริง คือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ที่อยู่ภายในใจของพระอริยะ เช่นพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ที่ไม่มีใครสามารถทำลายได้ ที่เราสามารถมีไว้ครอบครองได้ ด้วยการปฏิบัติสุปฏิปันโนนี้เอง ไม่ว่าอะไรจะเกิดกับพระศาสนา ก็จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เช่นเกิดขึ้นกับพระบางองค์ที่ปฏิบัติไม่ดี ก็เป็นเรื่องของแต่ละองค์ เราไม่ควรเสื่อมศรัทธาที่จะปฏิบัติตามพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ คือให้ทานรักษาศีลภาวนา อันนี้ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนได้ เป็นอกาลิโก การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นอกาลิโกนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ต่างๆ คนอื่นไม่ปฏิบัติ ก็ไม่ต้องไปตามเขา เราปฏิบัติของเราไป คนอื่นเบื่อไม่อยากจะมาวัด ไม่อยากจะมาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็เรื่องของเขา ถึงเวลาเราก็มาของเรา ถ้าอยู่บ้านก็เปิดเครื่องเสียงฟังธรรม เปิดหนังสืออ่าน แล้วก็ปฏิบัติตาม เพราะยังต้องฟังต้องอ่านอยู่เรื่อยๆ เพราะยังไม่มีธรรมะอยู่ภายในใจ ใจยังไม่หมุนไปทางปัญญา แต่ถ้าใจหมุนไปทางปัญญาแล้ว พิจารณาไตรลักษณ์อยู่อย่างสม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องอ่านไม่ต้องฟังก็ได้ ที่ฟังที่อ่านนี้ก็เพื่อกระตุ้นเตือนสติให้คิดไปในทางธรรมนั่นเอง

 

ถ้ายังคิดไปในทางนิจจังสุขขังอัตตาอยู่ ก็ต้องพิจารณาในทางอนิจจังทุกขังอนัตตาให้มาก ถ้ายังคิดเรื่องตัวตน เรื่องหาความสุขจากสิ่งต่างๆในโลกนี้ แสดงว่าใจยังไม่หมุนไปในทางธรรม ยังหมุนไปในทางกิเลสอยู่ จึงต้องหมั่นฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ เพื่อเป็นการเตือนสติ จนกว่าจะคิดไปในทางอนิจจังทุกขังอนัตตา พอคิดแล้วก็ไม่ต้องอ่านหนังสือธรรมะก็ได้ เพราะอ่านใจดีกว่า อ่านธรรมะในใจดีกว่า ง่ายกว่า ได้ผลคุ้มค่ากว่า เพราะเวลาพิจารณาไตรลักษณ์ ใจจะเย็นจะสบายจริงๆ เวลาวิตกกังวลกับเรื่องอะไร พอคิดถึงไตรลักษณ์ปั๊บใจจะเย็นลงทันที เหมือนเอาใจไว้ในตู้เย็น แต่ถ้ายังไม่มีตู้เย็นภายในใจ ก็ต้องอาศัยตู้เย็นข้างนอก ต้องอาศัยการฟังเทศน์ฟังธรรม การไปหาครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์จะพูดแต่เรื่องธรรมะ ไม่พูดเรื่องโลก นี่คือการเสริมสร้างศรัทธา พอมีศรัทธาก็จะมีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร ที่จะฟังให้มากขึ้นปฏิบัติให้มากขึ้น เจริญสติเจริญสมาธิเจริญปัญญาให้มากขึ้น จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ หมุนไปทางธรรมะตลอดเวลา พิจารณาแต่เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องอสุภะ เรื่องดินน้ำลมไฟ เรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องเปิดหนังสือดู ไม่ต้องเปิดเครื่องเสียงฟัง เพราะมีหนังสือมีเครื่องเสียงอยู่ภายในใจแล้ว เหมือนกับที่มีคนถามหลวงปู่มั่นว่า เวลาที่ท่านอยู่ในป่าในเขาตามลำพัง ท่านไปฟังเทศน์ฟังธรรมกับใคร เวลามีปัญหาท่านไปหาใครช่วยแก้ปัญหาให้ ท่านบอกว่าท่านฟังเทศน์ฟังธรรมตลอดเวลา เพราะใจท่านหมุนไปทางธรรมะนั้นเอง พิจารณาธรรมะอยู่ตลอดเวลา เป็นปัญญาตลอดเวลา เป็นมรรคตลอดเวลา ไม่ได้เป็นสมุทัยเหมือนพวกเรา ที่คิดแต่เรื่องหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย คิดอยากจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อยากไม่เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ จะคิดแต่อย่างนี้ คิดแต่เรื่องสมุทัย ใจจึงมีแต่ความรุ่มร้อน มีแต่ความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา ถ้าใจเป็นอย่างนี้ก็ต้องไปอยู่ใกล้ๆครูบาอาจารย์ ต้องเปิดธรรมะฟัง อ่านหนังสือธรรมะอยู่เรื่อยๆ ไม่ดูหนังฟังเพลงดูละคร ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่เรื่องของสมุทัยทั้งนั้น เรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น นี่คือการเสริมสร้างอินทรีย์ ๕ ให้เป็นพละ ๕ ที่จะให้ท่านทั้งหลายได้นำเอาไปพินิจพิจารณาและปฏิบัติกัน

 

วันนี้สมาชิกหายไปหลายท่าน เพราะจะไปปฏิบัติธรรมกัน มีวันหยุด ๔ วันติดต่อกัน ความจริงถ้าทำที่บ้านให้เป็นวัดได้ ก็ไม่ต้องไปวัดก็ได้ ถ้าปฏิบัติที่บ้านได้ เช่นรักษาศีล ๘ ได้ เจริญสติเจริญสมาธิเจริญปัญญาได้ ก็ปฏิบัติอยู่ที่บ้านก็ได้ แต่ถ้าบ้านไม่อำนวยไม่สัปปายะ ก็ต้องไปหาสถานที่สัปปายะ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ที่ยั่วยุให้เกิดกามตัณหา เกิดกามฉันทะ ถึงแม้จะไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสมายั่วยุ กิเลสก็ยังยั่วยุได้ ถึงแม้จะอยู่ในป่าก็ยังปรุงแต่งเรื่องของทางโลกได้ ถ้าไม่มีสติ ไม่ควบคุมจิต ก็จะเผลอคิดไปได้ ถ้าไม่มีธรรมะหล่อเลี้ยงจิตใจก็จะคิดได้ ถ้าหมั่นคิดทางธรรมะอยู่เรื่อยๆ เช่นพิจารณาอาการ ๓๒ อยู่เรื่อยๆ ก็จะมีธรรมะคอยหล่อเลี้ยงจิตใจ อยู่ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสแล้ว ก็ยังต้องควบคุมใจ แต่ก็ช่วยปิดช่องทางที่กิเลสจะออกมาหลายช่อง คือปิดตาหูจมูกลิ้นกาย เหลือแต่ใจช่องเดียว ที่ต้องควบคุมเฝ้าดูไม่ให้ใจไปคิดเรื่องสวยเรื่องงาม เรื่องที่จะทำให้เกิดกามอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ให้ใจคิดในทางปัญญา ก็จะไม่เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา จะมีความสงบเย็นสบาย มีความฉลาด พอพิจารณาบ่อยๆแล้ว ก็จะเป็นอัตโนมัติ เป็นเหมือนเงาตามตัว พอเห็นอะไร จะเห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นอสุภะเป็นปฏิกูล เป็นอาการ ๓๒ จะไม่คิดว่าเป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้อง รู้ว่าการเป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้องนี้เป็นสมมุติ ความจริงเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ที่สักวันหนึ่งจะต้องแยกจากกันไป

 

อยู่ที่ไหนที่เราสามารถเจริญสติสมาธิปัญญาได้ ที่นั่นคือวัดของเรา ที่เราเจริญมรรคได้ ถ้าไปอยู่วัดแล้วไม่ได้เจริญมรรค ก็เหมือนกับไม่ได้อยู่วัด ถ้าไปอยู่ในป่าที่สงบวิเวก แต่คิดแต่เรื่องบ้านเรื่องลูกเรื่องสามีเรื่องภรรยา อย่างนี้ก็เหมือนไม่ได้อยู่ที่สงบ ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะขาดสติ ไม่มีสติคอยผูกใจไว้ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ต้องมีสติคือเชือกผูกจิตไว้กับพุทโธหรือร่างกาย ร่างกายกำลังทำอะไรก็ผูกใจไว้กับร่างกาย ให้รู้แต่เรื่องของร่างกาย เวลาดูร่างกายก็นึกถึงผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ให้เกิดความเคยชินความชำนาญขึ้นมา ต่อไปจิตจะเฉยกับเรื่องของร่างกาย ของเราก็ดีหรือของผู้อื่นก็ดี จะไม่มีอารมณ์รัก ไม่มีอารมณ์ชัง จะเฉยๆ จะรักจะชังกับดินน้ำลมไฟไปทำไม เวลาเปียกฝนทำไมไม่โกรธ แต่เวลาถูกสาดน้ำเราทำไมถึงโกรธ เพราะไม่เห็นว่าเขาเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ กลับไปเห็นว่าเขาเป็นคน แต่ถ้าเห็นว่าเขาเป็นดินน้ำลมไฟ น้ำที่สาดใส่ก็เป็นน้ำ เหมือนกับน้ำฝน เช่นเวลาเปียกฝนเราไม่โกรธฝน แต่ถ้ามีคนสาดน้ำใส่ เราจะโกรธขึ้นมาทันที ถ้าใครขับรถมาชนรถเรานี้เราจะโกรธ แต่ถ้ารถไหลมาชนเอง ไม่มีคนขับ เราจะไม่โกรธ เพราะเห็นว่าเป็นคนหรือไม่เป็นคน ถ้าไม่เป็นคนก็ไม่รู้จะไปโกรธใคร ถ้าเป็นคนก็มีเป้าให้โกรธได้ เราต้องเห็นตามความจริงว่าไม่ได้เป็นคน เป็นเพียงธาตุ ดินน้ำลมไฟคือร่างกาย แล้วก็มีใจคือธาตุรู้เป็นผู้ควบคุมสั่งการ ล้วนเป็นธาตุทั้งนั้น มองให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีของเราของเขา ธาตุของเขากับธาตุของเราก็เหมือนกัน เขาก็ดินน้ำลมไฟ เราก็ดินน้ำลมไฟ เขาก็ธาตุรู้ เราก็ธาตุรู้ เหมือนกัน เขาก็เกิดแก่เจ็บตาย เราก็เกิดแก่เจ็บตาย หัดคิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วใจจะนิ่งเฉยได้ ปล่อยวางได้

 

ทำไมคิดกันไม่ได้ พอออกจากที่นี่ปั๊บก็คุยเรื่องอื่นกันแล้ว ต้องปลีกวิเวกต้องอยู่คนเดียว จึงจะสามารถควบคุมความคิดให้ไปในทางมรรคได้ พออยู่ด้วยกันหลายคนก็จะถูกชวนกันไปทางอื่น นอกจากอยู่กับพระอริยะเท่านั้น ท่านจะไม่ชวนไปทางอื่น ท่านจะคุยแต่เรื่องธรรมะ ดังสุภาษิตที่ว่า อเสวนา จ พาลานัง ปณฺฑิตานัญจ เสวนา ให้คบบัณฑิต อย่าคบคนพาล บัณฑิตก็คือพระอริยสงฆ์ คนพาลก็คือปุถุชนอย่างพวกเรา คนพาลแปลว่าคนโง่เข้าใจไหม ตรงข้ามกับคำว่าบัณฑิต บัณฑิตเป็นคนฉลาดพาลแปลว่าคนโง่คนหลง มีโมหะครอบงำจิตใจ จะคิดไปในทางโลก ถ้าบัณฑิตก็จะมีธรรมมีมรรค ก็จะคิดไปทางมรรคทางธรรม ท่านถึงสอนให้คบบัณฑิตอย่าไปคบคนพาล ให้เข้าหาพระอริยเจ้า ให้เข้าหาพระสุปฏิปันโน ท่านจะพูดแต่ธรรมะ จะไม่มีเรื่องของโลกเข้ามาเกี่ยวข้อง ใจของเราก็จะได้หมุนตาม แต่ถ้าไปคบคนพาลหรืออยู่กับคนพาล ก็จะคิดว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี ร้านอาหารไหนมีอาหารอร่อย ก็จะไปทางโลก เรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาเกือบ ๒ ชั่วโมงนี้ก็จะหายไป แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม พอออกจากที่นี่กลับไปที่พักก็จะเดินจงกรมภาวนาต่อ ปลีกวิเวก เอาธรรมะที่ได้ยินได้ฟังไปพิจารณาต่อ จิตก็จะมีกำลังมากขึ้นไปเรื่อยๆ จะสามารถต่อสู้กับอารมณ์ต่างๆเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้ จิตจะขยับก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จึงอย่าไปโทษคนเทศน์ ว่าฟังเทศน์มาตั้งหลายปีแล้วยังไปไม่ถึงไหน ต้องโทษคนฟัง ว่าฟังเหมือนทัพพีในหม้อแกง ฟังเข้าหูซ้ายออกหูขวา ไม่เข้าไปในใจเลย ในใจยังเต็มไปด้วยสมุทัย คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

 

สัจธรรมความจริงก็มีเท่านี้แหละ อยู่ที่ว่าเราจะสามารถทำให้จริงขึ้นมาในใจได้หรือไม่ ทำใจให้เป็นมรรคได้หรือไม่ เพราะใจตอนนี้เป็นสมุทัย เต็มไปด้วยกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เราจะทำอย่างไรให้กลายเป็นมรรค เป็นสติเป็นสมาธิเป็นปัญญา ถ้าทำให้ใจกลายเป็นสติสมาธิปัญญาได้ สมุทัยที่มีอยู่ในใจก็จะถูกขับออกไปหมด ไม่มีหลงเหลืออยู่ในใจเลย พอไม่มีสมุทัยอยู่ในใจก็จะมีแต่นิโรธ มีนิพพาน เป็นหลักตายตัว ไม่ว่าพระพุทธเจ้ากี่พระองค์จะมาตรัสรู้และมาสอนธรรมะ ก็จะสอนเรื่องอริยสัจ ๔ ที่มีอยู่ในใจของสัตว์โลกทั้งนั้น ใจของสัตว์โลกมีสมุทัยกับทุกข์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนมรรคกับนิโรธมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย จึงต้องสร้างมรรคสร้างนิโรธให้เกิดขึ้นภายในใจ ให้มีมากจนสามารถกำจัดทุกข์กับสมุทัยให้หมดสิ้นไปจากใจ เหมือนกับขนข้าวของเก่าออกจากบ้าน แล้วขนเอาข้าวของใหม่เข้ามา ของเก่าของพวกเราก็คือสมุทัย กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ขนมันออกไป แล้วก็ขนมรรคเข้ามา ขนสติสมาธิปัญญาเข้ามา พอมีสติสมาธิปัญญาแล้ว สมุทัยก็จะเข้ามาไม่ได้ ถ้าไม่มีสติสมาธิปัญญา สมุทัยก็จะเข้ามาได้ ท่านถึงบอกว่ามรรคต้องเจริญให้มาก เริ่มต้นด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม ศึกษาธรรมะไปก่อน เรียกว่าปริยัติธรรม พอได้ยินได้ฟังแล้วก็เอาไปปฏิบัติ ไปเจริญสติสมาธิปัญญาต่อ ทำให้มาก ทำทุกลมหายใจเข้าออก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ รับรองไม่เกิน ๗ ปีต้องบรรลุอย่างแน่นอน ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงพยากรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส เป็นหญิงหรือชาย เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่สำคัญ สำคัญว่าจะเจริญมรรค เจริญสติสมาธิปัญญาได้หรือไม่เท่านั้นเอง

 

ถ้าเจริญได้ทุกลมหายใจเข้าออก เดินยืนนั่งนอน ในอิริยาบถ ๔ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องเจริญสักอย่างหนึ่ง ไม่เจริญสติก็ต้องเจริญสมาธิหรือเจริญปัญญา ยกเว้นเวลาหลับเท่านั้นที่ไม่ได้เจริญ ไม่เกิน ๗ ปีอย่างแน่นอน ๗ ปีเป็นอย่างช้า อย่างเร็วก็เพียง ๗ วันเท่านั้นเอง เป็นไปได้ ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ทรงพยากรณ์ อยู่ที่ว่าจะทุ่มเทวิริยะ อยู่ที่ว่ามีศรัทธาต่อคำสอนของพระพุทธเจ้ามากน้อยเพียงไร ถ้ามีศรัทธา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะทิ้งทุกอย่าง ไม่ศรัทธาอย่างอื่นแล้ว ศรัทธาในคำสอนเพียงอย่างเดียว ไม่เอาอะไรเลย ออกบวชได้เลย ภรรยาก็ไม่เอา สามีก็ไม่เอา ลูกก็ไม่เอา สมบัติข้าวของเงินทอง ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายก็ไม่เอา เอาแต่มรรคอย่างเดียว ภาวนา เดินจงกรมนั่งสมาธิ ปลีกวิเวกหาที่สงบ อย่างนี้รับรองได้ไม่ ๗ วันก็ ๗ ปี จะต้องเห็นผลอย่างแน่นอน เป็นเรื่องของเหตุของผล ไม่ได้เป็นเรื่องของบุคคล ผู้หญิงก็ทำได้ผู้ชายก็ทำได้ เด็กก็ทำได้ผู้ใหญ่ก็ทำได้ ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าจะทรงบรรพชาพระราชโอรส ตั้งแต่อายุหกเจ็ดขวบ แล้วก็ให้อยู่กับพระอรหันต์อยู่กับพระพุทธเจ้า จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เรื่องเพศหรือวัยไม่เป็นปัญหาหรอก ปัญหาอยู่ที่ว่าจะสามารถบังคับใจ ให้ไปในทางมรรคทางผลได้หรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าไปทางกิเลสทางตัณหาก็จะไม่มีทางบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ทางนี้เป็นทางลัดที่สุดแล้ว ไม่มีทางไหนจะลัดมากกว่านี้แล้ว

 

วันก่อนได้ดูวีดีโอของหลวงตา เดือนที่แล้ววันที่ ๒๕ ที่หลวงตาไปเขาใหญ่ เห็นสมาชิกหลายคนไปกัน หลวงตาท่านก็ห่วงใยลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็พยายามเต็มที่ สอนอย่างสุดหัวใจแล้ว พวกเราไม่สุดหัวใจกับท่านบ้างหรือ ควรถวายเป็นปฏิบัติบูชาเลย หวงอะไรห่วงอะไรอยู่หรือ มีอะไรน่าหวง มีอะไรน่าห่วง มีแต่อนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น

 

ถาม  เวลาถือศีล ๕  มันเหมือนมีแรงจูงใจให้ผิดศีลเยอะมาก ข้อ ๔ นี้ตัวดี เขาถามอะไรมา ถ้าเราตอบความจริง เขาก็จะเสียน้ำใจ พยายามไม่พูด เขาก็พยายามซักให้ตอบอยู่นั่นแหละ ก็เลยต้องตอบไปครับ

 

ตอบ เราไปคิดว่าเขาจะเสียน้ำใจเอง อย่าไปคิดอย่างนั้นสิ เขาจะเสียน้ำใจก็เรื่องของเขา เราไม่เสียสัตย์ไม่ดีกว่าหรือ เคยเป็นลูกเสือหรือเปล่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ใช่ไหม เราอย่าไปเสียดายคนอื่น ถ้าเราพูดความจริงแล้วเขาโกรธเกลียด จะได้รู้ว่าเป็นเพื่อนจริงหรือไม่ ถ้าเป็นเพื่อนจริงเวลาพูดความจริงจะโกรธกันได้อย่างไร ต้องคิดอย่างนี้ เราคิดผิดเอง คิดว่าถ้ารักษาศีลแล้วคนจะเกลียดโกรธเรา แสดงว่าเขาไม่ใช่เพื่อนแท้ เป็นคนที่ไม่น่าคบด้วย ถ้าคิดว่าพูดแล้วเสียหาย ก็อย่าพูดก็แล้วกัน ที่พูดเพราะไม่มีสติ ใจของเราเร็วมาก ใครถามอะไรปั๊บ ก็จะตอบกลับไปทันที ต้องนับ ๑ ถึง ๕ ก่อนที่จะตอบ คิดดูก่อนว่าควรจะตอบหรือไม่ ถ้าจะตอบก็ต้องเป็นความจริง ถ้าตอบไม่ได้ ก็ไม่ต้องตอบ ก็จะรักษาศีลได้

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุลเกี่ยวกับการพูดปดดังนี้ ทรงตักน้ำขึ้นมาเต็มขันแล้วทรงตรัสกับพระราหุลว่า เวลาที่พระราหุลพูดปดครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็จะเทน้ำออกนิดหนึ่ง ถ้าพูดปดเรื่อยๆก็จะทรงเทน้ำออกเรื่อยๆ จนไม่มีน้ำเหลืออยู่ ทรงเปรียบน้ำเหมือนความดีที่มีอยู่ในตัวเรา ทุกครั้งที่พูดปดก็เหมือนกับเทความดีออกจากตัวเราไป เราไม่เสียดายความดีหรือ กลับไปเสียดายความรู้สึกของคนอื่น ทำไมไม่รักษาความดีของเราไว้ ให้คิดอย่างนี้ คนอื่นไม่ทุกข์เดือดร้อนเวลาที่เราทุกข์เราเดือดร้อน ถ้าไม่มีความดีเราจะลำบาก ไม่มีเครดิตนะ ถ้าพูดปดก็จะเป็นเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ พูดอะไรไม่มีใครเชื่อ ต้องคิดว่าการพูดปดทำให้เราเสียความดีไป มันคุ้มค่ากับการรักษาน้ำใจของผู้อื่นไหม ถ้าคิดอย่างนี้แล้วการรักษาศีลข้อ ๔ จะง่ายมาก ที่เราคบค้าสมาคมกันได้ก็เพราะเชื่อถือกัน ถ้าเชื่อถือกันไม่ได้ ใครจะคบค้าสมาคมกับเรา ไว้ใจกันไม่ได้ พูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง ต้องเห็นคุณค่าของสัจจะความจริงว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าคน จะคบกับเราหรือไม่ก็เรื่องของเขา ไม่คบกับเราก็ไม่เสียหายอย่างไร แต่ถ้าไม่มีสัตย์จะเสียหายมากกว่า เสียความดีไป เช่นเดียวกับศีลข้ออื่น เป็นความดีทั้งนั้น การลักทรัพย์นี้ไม่ดีใช่ไหม ถ้าไม่ลักทรัพย์ดี คนที่ไม่ลักทรัพย์เวลาอยู่กับผู้อื่น ผู้อื่นจะปลอดภัยสบายใจ ยินดีที่จะให้เราอยู่ด้วย เวลาเราไม่มีที่อยู่อาศัย ผู้อื่นก็ยินดีเปิดบ้านต้อนรับเรา เพราะรู้ว่าเราไม่ลักทรัพย์ แต่ถ้ารู้ว่าเราลักทรัพย์ ก็ต้องคิดหนัก บางทีก็ต้องปฏิเสธ ถ้ารู้ว่าเคยฆ่าผู้อื่น ยิ่งไม่อยากจะให้เราอยู่ด้วย

 

การรักษาศีล ๕ จึงมีคุณประโยชน์มาก มีค่ามากกว่าทรัพย์สมบัติเงินทอง ถ้ามีศีลแล้วจะได้ทรัพย์มาง่าย เวลาไปสมัครงานถ้าเขารู้ว่าเรามีศีลเขาจะรับเรา ถ้าไม่มีศีลเขาจะไม่รับเรา ต้นเหตุที่มาของทรัพย์ภายนอกก็คือทรัพย์ภายใน ก็คือศีล ๕  ยิ่งมีศีล ๒๒๗ ข้อนี้ยิ่งง่ายใหญ่ เห็นไหมมีคนเอาเงินมาให้พระอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปแสวงหา สีเลน โภคสมฺปทา ศีลเป็นเหตุให้เกิดโภคทรัพย์ ถ้าอยากจะร่ำรวยก็ต้องรักษาศีลไว้ให้ดี รวยแน่นอน ไม่รวยเพราะโกง รวยแบบโกงนี้ไม่รวยจริง เพราะอาจจะถูกยึดคืนไปหมด ถ้ารวยแบบมีศีลนี้ไม่มีใครยึดคืนไปได้ พยายามมองให้เห็นคุณค่าของศีล ว่ามีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ไม่ต้องเสียดายสิ่งอื่นๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สละแม้แต่ชีวิตเพื่อรักษาธรรม คือศีลนี้เอง ทรงสอนให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม พวกเราไม่เห็นคุณค่าของศีลกัน ก็เลยเหยียบศีลกันป่นปี้ไปหมด จนติดเป็นนิสัย จึงเห็นว่าการรักษาศีลเป็นของยากไป เพราะไม่เห็นคุณค่า ถ้าเห็นว่าศีลเป็นเหมือนเพชรนิลจินดา ก็จะรักษายิ่งกว่าชีวิต บางคนยอมตายกำเพชรไว้ในมือ รักเพชรยิ่งกว่ารักชีวิต เวลาโจรปล้นไม่ยอมให้เขาไป จึงต่อสู้เพื่อรักษาเพชร แล้วก็ถูกโจรฆ่าตาย เพราะรักเพชรยิ่งกว่ารักชีวิต ขอให้พวกเรารักศีลอย่างที่เรารักเพชร จะรักษาศีล ๕ ได้อย่างสบายเลย

 

ขอให้พวกเราใช้ชีวิตของมนุษย์นี้ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเมื่อไหร่ กลับมาคราวหน้าไม่รู้ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาหรือไม่ จึงควรพยายามบรรจุพระพุทธศาสนาให้อยู่ในใจให้ได้ ถ้ามีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจแล้ว กลับมาคราวหน้าไม่พบพระพุทธศาสนา เราก็ยังสามารถปฏิบัติไปตามลำพังได้ เพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจ มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถ้ามีดวงตาเห็นธรรมแล้ว จะมีครูบาอาจารย์มีพระศาสนาสอนหรือไม่ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเรารู้ทางแล้ว เห็นอริยสัจ ๔ แล้ว เห็นว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ทุกข์กับสมุทัย และสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ก็คือมรรคกับนิโรธ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว เกิดมากี่ภพกี่ชาติก็จะรู้จักวิธีแก้ปัญหา คือความทุกข์ทางใจได้ ที่มีดวงตาเห็นธรรมกัน ก็คือเห็นพระอริยสัจ ๔ ที่เกิดขึ้นในใจ เช่นเห็นความทุกข์ทรมานใจที่เกิดจากความกลัวตาย แล้วก็ปลงด้วยมรรคว่า เกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ถ้ายอมตายปั๊บนิโรธก็เกิดขึ้นมา ความรู้นี้จะอยู่ติดกับใจ จะเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่กลัวตาย เพราะรู้จักวิธีแก้ความกลัวตาย ความเจ็บก็เหมือนกัน ความรักความชังก็เหมือนกัน เพราะเห็นว่าเป็นความทุกข์ ทุกข์เพราะรัก ทุกข์เพราะชัง ก็จะเลิกรักเลิกชังทันที

 

นี่คือการมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจ จะสามารถปฏิบัติก้าวขึ้นไปตามลำดับได้ เพราะนี่เป็นเพียงก้าวแรกของการเห็นธรรม แต่ยังมีธรรมที่ละเอียดที่จะต้องปฏิบัติให้เห็นต่อไป เวลาที่เกิดความทุกข์ใจจะเข้ามาแก้ภายในใจทันที จะไม่ไปแก้ข้างนอก เช่นอากาศร้อนก็ไปหาเครื่องปรับอากาศมาติด อย่างนี้จะไม่ทำ จะแก้ภายในใจ ร้อนก็หัดอยู่กับความร้อนไป ความทุกข์ใจก็จะหายไป จะแก้ปัญหาที่ใจเสมอ อย่างนี้แสดงว่ารู้ทางแล้ว ไม่ต้องมีคนสอนก็ได้ แต่อาจจะช้าหน่อย เพราะอาจจะหลงติดอยู่ตรงจุดนั้นจุดนี้ เพราะยังไม่เคยผ่านทางนี้มาก่อน แต่ถ้ามีครูมีอาจารย์ก็จะไปได้เร็ว เพราะท่านจะคอยเตือน ถึงจุดนี้จะต้องติด จะต้องแก้อย่างไร มีครูอาจารย์คอยสอนก็จะไม่ติด พอถึงปั๊บจะรู้เลยว่า ตรงนี้ท่านเตือนไว้แล้ว เหมือนคนที่เคยขับรถผ่านทางนี้มาแล้ว จะบอกว่าตรงนี้ถนนไม่ดี เป็นหลุมเป็นบ่อ ตรงนี้ทางโค้งอันตราย พอมาถึงที่ก็จะรู้ทันที จะได้ระมัดระวัง จะผ่านไปได้อย่างปลอดภัย

 

ชาตินี้เรามีโอกาสกันแล้ว ควรเอาพระศาสนาเอาพระอริยสัจ ๔ ให้เข้ามาอยู่ในใจให้ได้ ให้เห็นพระอริยสัจ ๔ ภายในใจ เวลาไม่สบายใจจะรู้ทันทีว่าเกิดจากสมุทัย ไม่ได้เกิดจากอะไร วิธีแก้ก็ต้องแก้ด้วยมรรค ต้องละสมุทัยคือความอยาก อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ อย่าไปอยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตามที่เราอยาก ให้ละความอยาก จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วก็ถือว่าไม่เสียชาติเกิด ได้กำไร ได้ต้นทุน ได้แผนที่ ที่จะพาให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ โดยไม่มีพระศาสนาที่อยู่ภายนอก เกิดภพหน้าชาติหน้าเป็นมนุษย์แต่ไม่มีพระศาสนา ก็ยังสามารถปฏิบัติต่อไปได้ เพราะพระศาสนาจะมีอายุเพียง ๕๐๐๐ ปี ตามที่ได้ทรงพยากรณ์ไว้ ถ้าต้องไปใช้เวรใช้กรรมในนรก ไปรับบุญบนสวรรค์ เป็นเวลาหมื่นปีแสนปี พอกลับมาใหม่พระพุทธศาสนาก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่ เพราะมีอายุ ๕๐๐๐ ปี กว่าพระพุทธศาสนาของพระศรีอาริย์มาปรากฏก็อีกหลายกัป ชีวิตนี้อาจจะเป็นเหมือนรถเมล์เที่ยวสุดท้ายก็ได้นะ ถ้าไม่ขึ้นรถก็จะตกรถ

 

จึงควรรีบคว้าอริยสัจเข้ามาสู่ใจ ต้องนั่งให้เจ็บปวดแล้วดับไปเอง แยกทุกข์กายออกจากทุกข์ใจ ให้เห็นทุกข์ใจว่าเกิดจากความกลัวความเจ็บ ความอยากให้ความเจ็บหายไป แล้วก็ดับมันด้วยการละความกลัวความเจ็บ ไม่กลัว มันจะเจ็บก็ให้มันเจ็บไป ปล่อยให้มันเจ็บไป ถ้ากลัวตายก็ปล่อยให้มันตายไป ถึงเวลาตายก็ให้มันตายไป ปลงมันไป ถ้าปลงได้จะเห็นทุกข์ดับภายในใจเลย จิตจะดิ่งเข้าสู่ความสงบความสบาย พอเห็นอย่างนี้ก็จะเห็นอริยสัจ และจะใช้อริยสัจนี้แก้ปัญหาอื่นๆได้ เพราะยังมีปัญหาอื่นๆอีกมากที่ยังต้องแก้ เป็นปัญหาแบบเดียวกัน จะเป็นเรื่องสมุทัยกับทุกข์ วิธีแก้ก็คือมรรคกับนิโรธ การได้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนานี้เป็นบุญเป็นกุศลมาก จึงไม่ควรปล่อยให้โอกาสอันดีนี้ผ่านไป โดยไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือไป อย่าคว้าน้ำเหลว อย่าเสียชาติเกิด ต้องเอาดวงตาเห็นธรรมมาให้ได้ เห็นอริยสัจ ๔ ให้ได้ ต้องไม่กลัวความเจ็บไม่กลัวความตาย ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ พิจารณาความเจ็บอยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นธรรมดา จึงจะสามารถผ่านไปได้ ด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญา

 

ถาม  ที่ท่านอาจารย์ว่าดวงตาเห็นธรรมนี้ เป็นระดับโสดาบันใช่ไหม

 

ตอบ โสดาแปลว่ากระแส โสดาบันแปลว่าผู้ที่เข้าสู่กระแส พอเข้าสู่กระแสแล้วก็จะไม่ไปทางอื่น กระแสนี้จะพาไปสู่พระนิพพาน ต้องเห็นอริยสัจ ๔

 

ถาม  ลูกพิจารณาว่าคนเราทำไมถึงได้กลัวตาย เหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะว่าไม่ทราบว่าจะไปเกิดที่ไหน แต่ถ้ามั่นใจว่าตายไปแล้วเป็นเหมือนการย้ายบ้าน ถ้าบ้านใหม่ดีกว่าเดิมใหญ่กว่าเดิม ก็จะยินดีที่จะย้าย ที่ยังกลัวตายอยู่เพราะไม่แน่ใจว่าตายไปแล้ว จะได้สิ่งที่ดีกว่าหรือไม่ ถ้าแน่ใจว่าตายแล้วจะได้ไปสวรรค์แน่ๆ ได้พบพระพุทธศาสนาอีกแน่ๆ ก็จะมีกำลังใจเร่งความเพียรปฏิบัติ

 

ตอบ เราไม่เคยคิดอย่างนั้น คิดแต่ว่าความกลัวตายนี้เป็นทุกข์

 

ถาม  ทำไมเราถึงกลัวตาย

 

ตอบ เพราะรักที่จะอยู่ เราถึงกลัวตาย อยากจะอยู่จึงทำให้ไม่อยากตาย นี่คือปัญหา ยังอยากจะอยู่ ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา ต้องไม่อยากอยู่ ตั้งแต่ศึกษาปฏิบัติมา เราไม่เคยคิดถึงภพหน้าชาติหน้า ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญคือความทุกข์ที่อยู่ในใจเกิดจากอะไร จะทำอย่างไรให้หายไปได้ ทำไมวันนี้อารมณ์ดี พรุ่งนี้อารมณ์ไม่ดี ทำไมต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นเหตุที่ทำให้สนใจปฏิบัติ ต้องการแก้ปัญหาของใจ รู้ว่าใจเป็นโรค ไม่เป็นปกติ บางวันก็สุขบางวันก็ทุกข์ ทำไมจะต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมจึงแก้ไม่หายขาด แก้แล้วเดี๋ยวก็กลับมาใหม่ เพราะแก้ไม่ถูกจุดหรือเปล่า พอได้อ่านได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถึงเข้าใจว่าเหตุของความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก เกิดจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้าจะดับความทุกข์ก็ต้องละความอยากเหล่านี้ เช่นความอยากอยู่ก็ต้องละ อย่าไปอยากอยู่ อยู่เท่าที่อยู่ได้ อย่างที่มีคนขอให้หลวงตาอยู่ไปนานๆ หลวงตาก็ตอบว่าจะอยู่ไปจนตาย ไม่อยู่เกินนั้น ก็จะไม่กลัวตาย อยู่แค่ตาย เรื่องภพเรื่องชาตินี้ เราไม่ได้ถือเป็นประเด็นสำคัญในการปฏิบัติธรรมเลย ไม่เคยคิดเลย ชาติหน้าจะมีหรือไม่ เราไม่สนใจ สนใจเพียงแต่ว่าทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์ใจเท่านั้นเอง  พอรู้ว่าทุกข์เพราะความอยาก ก็ต้องละความอยาก อยากจะดื่มเหล้าก็ทุกข์แล้ว อยากจะเที่ยวก็ทุกข์แล้ว ถ้าไม่อยากดื่มเหล้าก็จะไม่ทุกข์กับเรื่องดื่มเหล้าเลย ถ้าไม่อยากสูบบุหรี่ก็จะไม่ทุกข์กับเรื่องสูบบุหรี่เลย ปัญหาจึงอยู่ที่ความอยาก ที่กลัวตายกันก็เพราะอยากจะอยู่ ก็อย่าไปอยากอยู่สิ อยู่เท่าที่อยู่ได้ เราคิดอย่างนี้

 

ข้อสำคัญอยู่ที่ให้รู้ว่าทุกข์ในใจเกิดจากความอยากต่างๆ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา วิธีที่จะดับทุกข์ได้ก็คือศีลสมาธิปัญญา หรือทานศีลภาวนา หรือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ธรรมเหล่านี้เป็นมรรคทั้งนั้น ที่จะทำให้มีกำลังควบคุมใจ ให้รับกับความจริงได้ ไม่ให้อยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรื่องภพชาตินั้นไม่สำคัญต่อการปฏิบัติ เป็นความรู้เสริมของชีวิต คือจิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย พอร่างกายตายไปจิตก็ไปต่อ ไปได้ร่างใหม่ แต่จิตไม่ได้เปลี่ยน มีอะไรอยู่ในจิตก็ยังอยู่เหมือนเดิม มีมรรคอยู่เท่าไหร่ก็ยังมีอยู่เท่านั้น มีสมุทัยอยู่เท่าไหร่ก็ยังมีอยู่เท่านั้น ไม่เปลี่ยน จะไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นนก เป็นเทพ ก็ยังมีอยู่เท่ากับตอนที่ตาย ถ้ายังมีมรรคไม่พอก็ต้องทำต่อ ถ้ามีพอแล้วก็ไม่ต้องทำ เช่นจิตของพระพุทธเจ้าจิตของพระอรหันตสาวก ท่านทำพอแล้ว ทำเต็มที่แล้ว ก็ไม่ต้องทำต่อ จิตท่านไม่ได้หายไปไหน จิตท่านถึงเมืองพอแล้ว ท่านก็หยุด ไม่ต้องไปหาร่างใหม่ ไปเกิดใหม่

 

ถาม  ลูกพิจารณาต่อว่า ถ้ามัวแต่คิดถึงชาติหน้า ก็เท่ากับส่งจิตไปในอนาคต ต้องกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

 

ตอบ ใช่แล้ว ต้องอยู่กับปัจจุบัน ดูอริยสัจ ๔ ภายในใจ ดูว่ากำลังทุกข์หรือไม่ ทุกข์เรื่องอะไร ถ้าไม่ทุกข์ก็ลองกระตุ้นความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาก็ได้ เช่นไปอยู่ที่ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาถ้ายังมีกามตัณหา จะได้รู้ว่าพอไม่ได้เสพรูปเสียงกลิ่นรส ก็เกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมา ก็ต้องละกามตัณหาให้ได้ พอละได้ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็จะหายไป ต้องแก้อย่างนี้

 

ถาม  สงสัยเรื่องการทำบุญนะคะ ถ้าจะได้บุญจริงๆ จะต้องไม่ต้องการผลตอบแทนกลับมาใช่ไหมคะ

 

ตอบ ใช่ ต้องให้เพื่อเป็นการสละ ข้าวของเงินทองต่างๆที่เรามีอยู่นี้ เป็นเหมือนสัมภาระที่ถ่วงเรือ ถ้าต้องการให้เรือวิ่งเร็ว ก็ต้องทำให้เรือเบา ถ้ามีสัมภาระมากๆก็จะหนัก จะวิ่งได้ช้า ถ้ามีสมบัติข้าวของเงินทองเกินความจำเป็น ก็จะทำให้การพัฒนาจิตใจไปได้ยาก เพราะจะถ่วง ต้องคอยดูแลรักษา คอยวิตกคอยกังวล เป็นภาระทางจิตใจ พอสละสมบัติให้แก่ผู้อื่นได้แล้ว ก็จะหมดภาระ เป้าหมายของการทำบุญอยู่ตรงนี้ ทำบุญเพื่อสละทรัพย์ส่วนเกินไป เก็บไว้ส่วนที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าไม่มีทรัพย์แล้ว ก็ไม่ต้องกังวลกับการไปหาทรัพย์มาทำบุญอีก เช่นเวลาบวชนี่ จะต้องสละทรัพย์ไปหมดเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้เอาพระราชทรัพย์ติดไปเลย ยกให้คนอื่นหมดเลย นั่นแหละคือการทำบุญ ไม่หวังผลตอบแทนจากคนที่รับสมบัติ ให้ไปแล้วกลับจะขอบใจผู้รับเสียอีก เพราะจะได้ไม่ต้องมาคอยดูแลรักษา มีคนอื่นดูแลให้แทน

 

ถาม  สงสัยเรื่องไม่หวังผลตอบแทน เท่าที่สังเกตเวลาผู้ใหญ่สอนให้เด็กทำบุญ ส่วนมากจะบอกว่า ทำบุญแล้วจะเจริญรุ่งเรือง ถ้าเด็กทำตามแล้วจะได้บุญจริงๆหรือ

 

ตอบ บุญคือความสุขใจ ที่เกิดจากการปล่อยวางสมบัติข้าวของเงินทอง แล้วมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุข หรือช่วยบรรเทาความทุกข์ความเดือดร้อนของผู้อื่น ทุกครั้งที่ทำอย่างนี้จะเกิดความสุขใจที่แปลว่าบุญ ส่วนผลพลอยได้เช่นได้รับผลตอบแทนจากคนที่เราได้ช่วยเหลือ อาจจะเกิดขึ้นก็ได้หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ วันหนึ่งเขาอาจจะร่ำรวยขึ้นมา แล้วอยากจะช่วยเหลือเราบ้าง อยู่ดีๆก็เขียนเช็คมาให้ล้านหนึ่ง ผลอย่างนี้เราไม่ควรเรียกร้องไม่ควรหวัง แต่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้  

 

ถาม  เด็กที่ได้รับการสอนว่า ทำบุญแล้วจะเจริญรุ่งเรือง ก็จะไม่ทราบว่าจะ ได้บุญจริงๆ ต้องไม่หวังผลตอบแทน

 

ตอบ เป็นการสอนของคนที่มีกิเลส ความจริงต้องสอนว่า การทำบุญเป็นการเสียสละ ทำให้มีความเมตตากรุณา ทำให้จิตใจสูงขึ้นเจริญขึ้น ไม่เห็นแก่ตัว มีความสุขใจ แต่สอนผิด พอทำบุญแล้วก็อยากจะได้ผลตอบแทน เช่นทำบุญแล้วจะร่ำรวยในภพหน้าชาติหน้า ซึ่งก็เป็นผลที่เกิดขึ้นได้ แต่ควรพูดถึงผลในปัจจุบันจะดีกว่า คือความสุขใจสบายใจ มีจิตใจที่สูงขึ้น เพราะมีความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว นี่คือผลที่จะได้รับจากการทำบุญ

 

ทำทานกับสุนัขหรือทำบุญกับพระอรหันต์นี้ ก็ได้บุญได้ความสุขใจเหมือนกัน ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเมตตากรุณา แต่ผลที่ได้รับตอบแทนจากสุนัขกับพระอรหันต์นี้ต่างกัน เป็นบุญอีกชนิดหนึ่ง ถ้าทำบุญกับพระอรหันต์ก็จะได้ฟังธรรมะ ได้สัมมาทิฐิความฉลาด ได้ศรัทธาที่จะปฏิบัติจิตใจให้สูงขึ้นให้สะอาดขึ้น ได้บรรลุธรรม ความทุกข์จะน้อยลงไปหรือหายไปหมด ทำบุญกับสุนัขก็จะได้ฟังสุนัขเห่า ท่านถึงเปรียบเทียบว่า ถ้าทำบุญกับคนธรรมดาจะได้หนึ่งส่วน ทำบุญกับคนมีศีลจะได้สิบส่วน ทำบุญกับพระโสดาบันจะได้ร้อยส่วน ทำบุญกับพระสกิทาคามีจะได้พันส่วน พระอนาคามีจะได้หมื่นส่วน พระอรหันต์จะได้แสนส่วน พระพุทธเจ้าจะได้ล้านส่วน เพราะความสามารถในการสอนธรรมของแต่ละท่านไม่เท่ากัน พระโสดาบันมีความรู้น้อยกว่าพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีมีความรู้น้อยกว่าพระอนาคามี พระอนาคามีมีความรู้น้อยกว่าพระอรหันต์ พระอรหันต์มีความรู้น้อยกว่าพระพุทธเจ้า อานิสงส์ผลบุญที่จะได้รับจากบุคคลที่เราทำบุญด้วยจึงต่างกัน ถ้าท่านไม่ได้สอนธรรมะเราก็จะไม่ได้ธรรมะ ไม่ได้บุญที่เกิดจากการฟังธรรม ได้แต่ความสุขใจจากความเมตตากรุณา ที่จะช่วยให้รักษาศีลได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าชอบช่วยเหลือผู้อื่น จะไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น ถ้าไม่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นก็จะชอบเบียดเบียนผู้อื่น ถ้าไม่ชอบทำบุญให้ทานจะรักษาศีลได้ยาก เพราะเสียดายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าไม่พูดปดจะไม่ได้สิ่งที่อยากได้ เช่นอยากจะขายของให้ได้มากๆก็ต้องโกหก ถ้าไม่อยากได้มากก็ไม่ต้องพูดปด ขายได้ก็ดี ขายไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน