กัณฑ์ที่ ๔๑๕       ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๓

 

ปรมัตถสัจจะ

 

 

 

การไปงานศพนี้ ไปเพื่อพิจารณาร่างกายว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ถ้าไปยึดติด อนัตตาไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มาจากดินน้ำลมไฟ กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ของเรา เป็นของเราโดยสมมุติ สมมุติสัจจะว่าเป็นของเรา แต่ปรมัตถสัจจะว่าเป็นของดินน้ำลมไฟ เป็นของธรรมชาติ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมชาติทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นดินน้ำลมไฟ เราอยู่ในโลกธาตุ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มาจากธาตุ ๔ คือดินน้ำลมไฟ ถ้าเป็นสัตว์เป็นมนุษย์ก็มีธาตุรู้มาครอบครองธาตุ ๔ ถ้าไม่มีธาตุรู้ ก็เป็นต้นไม้ภูเขาใบหญ้า เป็นวัตถุต่างๆ ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิตเคลื่อนไหวได้อย่างมนุษย์นี้ ก็มีธาตุรู้เป็นผู้ขับเคลื่อน เป็นผู้ทำให้ร่างกายไปไหนมาไหนได้ พูดอะไรได้ ทำอะไรได้ ธาตุทั้ง ๕ นี้ก็มีอากาศธาตุเป็นที่ตั้ง เป็นที่ไปไหนมาไหนได้ อากาศธาตุก็คือพื้นที่นี่เอง พื้นที่สามมิติ สูงกว้างลึก ธาตุ ๔ เช่นร่างกายตั้งอยู่ในอากาศธาตุ เมื่อคืนนี้พวกเราไปที่จันทบุรี วันนี้มาที่วัดญาณฯ เป็นการเคลื่อนไหวของธาตุ ๔ ในอากาศธาตุ เวลาธาตุรู้กับธาตุ ๔ แยกทางกัน ธาตุ ๔ คือร่างกายก็กลายเป็นซากศพไป กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟไป ถ้าธาตุรู้ยังไม่ได้ธาตุ ๔ ใหม่ ไม่ได้ร่างกายใหม่ ก็จะเป็นกายทิพย์ชนิดต่างๆ เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก เป็นคุณสมบัติของธาตุรู้ที่บาปบุญเป็นผู้ผลิตขึ้นมา เป็นไปตามการกระทำของธาตุรู้ ถ้าธาตุรู้คิดไปในทางบุญกุศล ก็จะเป็นเทพ เป็นพรหม เป็นพระอริยเจ้า ถ้าคิดไปในทางบาปทางอกุศล ก็จะเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ถ้าคิดด้วยความอาฆาตพยาบาท ก็จะเป็นสัตว์นรก ถ้าคิดด้วยความอยากความโลภก็จะเป็นเปรต ถ้าคิดด้วยความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เสียสละก็จะเป็นเทพ ถ้าเป็นอุเบกขาเป็นสมาธิก็จะเป็นพรหม ถ้าละอุปาทานในขันธ์ ๕ และในจิตได้ ก็จะเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ตามกำลังของธรรมคือสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญามาก เห็นไตรลักษณ์มาก ก็จะปล่อยวางได้มาก

 

นี่คือเรื่องของธาตุรู้ ที่เป็นผู้ผูกตนเองให้อยู่กับกองทุกข์ และเป็นผู้ที่จะปลดเปลื้องตนเองให้ออกจากกองทุกข์ โดยหลักของ อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ธาตุรู้ต้องเป็นผู้แก้ปัญหาของตนเอง เพราะธาตุรู้เป็นผู้สร้างปัญหาขึ้นมาเอง เมื่อสร้างเองก็ต้องแก้เอง ผู้อื่นแก้ให้ไม่ได้ แต่สอนให้แก้ได้ เช่นพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระองค์ได้ทรงแก้ปัญหาที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาได้แล้ว พระองค์ก็นำเอาวิธีนี้มาเผยแผ่ให้แก่ธาตุรู้ดวงอื่นๆ ธาตุรู้ดวงใดที่มีศรัทธาน้อมเอาไปปฏิบัติ ก็จะสามารถแก้ปัญหาของตนได้ ปัญหาของธาตุรู้ก็คือความทุกข์นี่เอง ความทุกข์ที่เกิดจากอวิชชา ที่ไม่รู้ความจริงของปรมัตถสัจจะ ไม่รู้ความจริงของธาตุทั้ง ๖ ว่าเป็นเพียงธาตุเท่านั้นเอง ธาตุรู้ก็เป็นธาตุ ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟก็เป็นธาตุ อากาศธาตุก็เป็นธาตุ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่เป็นของใครทั้งนั้น เป็นของธรรมชาติ มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่มีสติปัญญาสามารถเห็นธาตุทั้ง ๖ ได้ด้วยพระองค์เอง ผู้อื่นไม่มีสติปัญญาบารมีพอที่จะสอนตนเองให้เห็นได้ จึงต้องรอให้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ แล้วประกาศสอนพระธรรมคำสอน สอนเรื่องธาตุทั้ง ๖  สอนเรื่องสัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นธาตุรู้ เป็นอากาศธาตุ ถ้ารู้ธาตุทั้ง ๖ นี้อย่างแจ้งชัด และรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ก็จะปล่อยวางได้ จะไม่ทุกข์ จะไม่ยึดไม่ติด

 

ถ้ารู้ว่าไม่ใช่เป็นของเรา เราจะไม่ทุกข์ ถ้าหลงคิดว่าเป็นของเรา เราจะทุกข์ทันที ร่างกายของเรากับร่างกายของคนอื่นเป็นเหมือนกัน เช่นร่างกายที่งานศพ ก็เป็นร่างกายเหมือนกับร่างกายของเรา แต่เราไม่ทุกข์กับร่างกายนั้น เหมือนกับทุกข์กับร่างกายของเรา ทั้งๆที่ร่างกายของทุกคนเป็นเหมือนกันหมด คือเป็นดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด ทำไมเราจึงทุกข์กับร่างกายที่เราครอบครองอยู่นี้ ส่วนร่างกายของคนอื่นเราไม่ได้ทุกข์ด้วย เพราะเราเห็นตามสมมุติสัจจะ เห็นว่าร่างกายของคนอื่นไม่ใช่ของเรา เห็นร่างกายที่เราครอบครองอยู่นี้ว่าเป็นของเรา ความรู้ทางสมมุติสัจจะไม่สามารถปลดเปลื้องใจ ให้หลุดจากอุปาทาน หลุดจากความทุกข์ได้ ต้องอาศัยความรู้ทางปรมัตถสัจจะ คือต้องเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นของธรรมชาติ เป็นของดินน้ำลมไฟ ถึงเวลาดินน้ำลมไฟก็จะมาทวงคืนไป ส่วนที่เป็นน้ำ น้ำก็จะยึดคืนไป ส่วนที่เป็นลม ลมก็จะยึดคืนไป ส่วนที่เป็นไฟ ไฟก็จะยึดคืนไป ส่วนที่เป็นดิน ดินก็จะยึดคืนไป ร่างกายที่มีอาการ ๓๒ ก็จะสลายหายไปหมด นี่คือปรมัตถสัจจะ ที่เราต้องศึกษาให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งตลอดเวลา

 

การจะเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งตลอดเวลานี้ จิตต้องมีกำลัง กำลังของจิตก็คือสมาธิ ถ้าจิตสงบแล้วจิตจะมีกำลังต้านความคิดปรุงแต่ง ที่คิดไปในทางหลง มีกำลังผลักดันให้คิดไปในทางมรรค ทางธรรมะ ทางปรมัตถสัจจะ ถ้าไม่มีสมาธิจิตจะถูกอวิชชาผลักดันให้คิดไปในทางสมมุติสัจจะ ทำให้เกิดอุปาทาน เกิดตัณหา เกิดสมุทัย เกิดทุกข์ตามมา เพราะถ้าคิดว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็จะยึดจะหวง จะอยากให้อยู่ไปนานๆ ให้ดีไปนานๆ  ไม่อยากให้จบ เวลาไม่เป็นไปตามความอยากนี้ ก็จะทำให้ใจว้าวุ่นขุ่นมัว แต่ถ้ามีปัญญามีปรมัตถสัจจะ ก็จะไม่มีอุปาทาน ไม่มีความอยากให้ร่างกายอยู่ไปตลอด เป็นของเราไปตลอด เพราะรู้ว่าไม่ได้เป็นของเรานั่นเอง เป็นเหมือนของยืมมา ต้องเอาไปคืนเจ้าของเมื่อถึงเวลา ถ้ายืมเงินมาพอถึงเวลาก็ต้องใช้คืน เช่นเวลาซื้อของด้วยเงินผ่อน ก็เป็นเหมือนกับยืมเงินจากธนาคารมา พอถึงเวลาก็ต้องเอาเงินไปคืนธนาคารตามเวลาที่กำหนดไว้ ถ้าไม่คืนก็ต้องคืนของไป ร่างกายก็เป็นเหมือนกับของที่เรายืมมาจากธรรมชาติ ที่เราต้องคืนธรรมชาติไปเมื่อถึงเวลา ร่างกายของทุกๆคนเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

 

เวลาไปงานศพจึงควรพิจารณาให้เห็นความจริง ว่าร่างกายไม่เป็นของใครทั้งนั้น ผู้ที่ครอบครองร่างกายนี้ได้จากไปแล้ว ทิ้งร่างกายให้กลับคืนสู่เจ้าของเดิม กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่มีใครยับยั้งเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีปัญญาเห็นอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายใจไปกับการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า เกิดมาแล้วย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เกิดมาแล้วย่อมมีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้ เกิดมาแล้วย่อมมีความตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เกิดมาแล้วย่อมมีการพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมดา ล่วงพ้นไปไม่ได้ สิ่งที่เรารักที่เราหวงสักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป หรือเราต้องจากเขาไป เพราะไม่ได้เป็นของเรานั่นเอง ถ้าคิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เราจะอยู่อย่างไม่ยึดไม่ติด พร้อมที่จะคืนทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่เจ้าของไป ปัญหาอยู่ที่เราไม่ค่อยสอนใจเรา พอออกจากที่นี่ไปก็ลืมเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็คิดเหมือนเดิมๆ รถคันนี้ก็เป็นของเรา ภรรยาคนนี้ก็เป็นของเรา สามีก็เป็นของเรา เป็นตัวเราเป็นของเราไปหมด พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาก็ทุกข์ใจ ทุกข์ไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงที่เกิดขึ้นได้

 

นี่คือธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ จะไม่มีใครรู้เรื่องอนัตตา ไม่มีตัวตนไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะยึดติดกันแล้วก็จะทุกข์กัน ตายจากชาตินี้ไปก็ไปเกิดใหม่ เพราะยังยึดติดอยู่กับร่างกาย ยังอยากจะได้ร่างกายมาเป็นเครื่องมือไว้หาความสุข เหมือนกับรถยนต์ พอรถยนต์คันนี้เสีย ก็ต้องซื้อคันใหม่มาใช้ต่อ จะต้องซื้อไปเรื่อยๆ เพราะติดนิสัยเดินทางไปไหนมาไหน อยู่บ้านมีความอึดอัดใจเศร้าสร้อยหงอยเหงา ถ้าได้ออกไปข้างนอกได้ขับรถไปตามสถานที่ต่างๆจะสุขใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความทุกข์ต่างๆตามมา จากการที่ต้องมีรถยนต์ เพราะต้องคอยดูแลรักษา ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุภัยต่างๆ เป็นความทุกข์ที่ไม่จำเป็น ถ้าไม่มีรถยนต์ก็ไม่ต้องทุกข์กับรถยนต์ ถ้าไม่มีร่างกายก็ไม่ต้องทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ

 

ความทุกข์เหล่านี้เราไม่เห็นกัน เห็นแต่ความสุขที่เกิดจากการมีร่างกาย มีสมบัติมีสิ่งต่างๆ แต่ไม่เห็นความทุกข์ที่อยู่อีกด้านหนึ่ง ชีวิตของพวกเราจึงคลุกเคล้าไปด้วยความสุขและความทุกข์ ความสุขจะมีน้อยกว่าความทุกข์ สุขเป็นระยะๆเป็นช่วงๆ แวบเดียวประเดี๋ยวเดียว แต่ความทุกข์นี้จะมีอยู่ตลอดเวลา ทุกข์ในรูปแบบต่างๆ เช่นความวิตกกังวลห่วงใย ไม่สบายอกไม่สบายใจ เป็นความทุกข์ที่ไม่เห็นกัน เพราะมีอยู่จนชินชา แต่ก็พยายามหนีมันอยู่เรื่อย ต้องหาความสุขกัน เพราะอยู่เฉยๆไม่ได้ ถ้าอยู่เฉยๆก็จะรำคาญใจว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา ต้องออกไปหาความสุขต่างๆ ไปเสี่ยงกับภัยต่างๆ แต่ถ้าสามารถทำใจให้สงบนิ่งได้ จะมีความสุข ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องมีร่างกายก็ได้ พอร่างกายนี้ตายไปจะไม่อยากได้ร่างกายใหม่มาแบกให้เหนื่อยเปล่าๆ เพราะความสุขที่ได้จากร่างกาย สู้ความสุขที่ได้จากจิตใจที่สงบไม่ได้ เป็นเหมือนฟ้ากับดิน ความสุขทางจิตใจชนะความสุขทั้งปวง นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง  ไม่มีสุขใดที่จะเหนือความสุขใจ เราจึงต้องสร้างความสุขใจให้เกิดขึ้นให้ได้

 

ความสุขของใจมีอยู่ ๒ ระดับด้วยกันคือ ความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ ทำจิตให้สงบด้วยการบริกรรม ให้มีสติรู้อยู่กับการบริกรรม เพื่อให้จิตรวมลงเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ ไม่คิดปรุงแต่ง มีความสุขความสบายชั่วคราว คือสงบได้ระยะหนึ่ง แล้วก็จะถอนออกมารับรู้เรื่องราวต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกายและทางใจที่คิดปรุงแต่ง คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เวลาเห็นหรือได้ยินอะไร ก็จะมีอารมณ์ปรากฏขึ้นมา จะเห็นได้ชัดว่าอารมณ์เหล่านี้ทำให้จิตกระเพื่อม จิตที่ออกจากสมาธินี้จะเป็นเหมือนน้ำนิ่ง ถึงแม้น้ำจะไหลแต่ไม่มีคลื่น ต่างกับจิตที่ไม่มีสมาธิ ที่กระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ความกระเพื่อมของจิตเป็นความทุกข์ แต่เราไม่รู้กัน เวลาเราวิตกกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ ห่วงใยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ปวดหัวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ จิตของเรากำลังกระเพื่อม กำลังทุกข์ แต่เรามองไม่เห็น เพราะจิตไม่นิ่ง ไม่เป็นเอกัคตารมณ์ แต่ถ้าสามารถทำใจให้สงบรวมลงเป็นเอกัคตารมณ์ได้แล้ว เวลาออกมาจากสมาธิจิตก็ยังจะสงบอยู่ถึงแม้จะคิดปรุงแต่ง จะกระเพื่อมเวลาเกิดอารมณ์ต่างๆ ทำให้เห็นความแตกต่างของความสงบและการกระเพื่อม เวลากระเพื่อมเป็นเหมือนภูเขาไฟระเบิด จะรู้ว่านี่คือปัญหา ก็ต้องวิเคราะห์ว่าความกระเพื่อมนี้เกิดจากอะไร จากรูปเสียงหรือความคิดปรุงแต่ง ทำไมต้องกระเพื่อมด้วย เพราะไม่เห็นไตรลักษณ์นั่นเอง ไม่เห็นปรมัตถสัจจะ เห็นสมมุติสัจจะ เช่นเห็นสิ่งที่เรารักแล้วคิดว่า สักวันหนึ่งจะต้องจากเราไป หรือเราต้องจากเขาไป จิตก็จะกระเพื่อมขึ้นมา ถ้าคิดว่าเป็นของเรา ต้องใช้ปัญญาเข้ามาแก้ พิจารณาว่าไม่ใช่ของเรา เป็นของดินน้ำลมไฟ พอเห็นว่าเป็นของดินน้ำลมไฟจิตก็จะไม่กระเพื่อม เพราะเห็นปรมัตถสัจจะนั่นเอง

 

ดังนั้นการที่จะปล่อยวางอุปาทานได้ ก็ต้องเห็นปรมัตถสัจจะ ต้องเห็นว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของยืมมาจากธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของคนของสัตว์ หรือข้าวของต่างๆ ล้วนมาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็จะต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ช้าหรือเร็ว บางอย่างก็แยกกันออกช้า บางอย่างก็แยกกันออกเร็ว แต่ในที่สุดก็ต้องแยกออกจากกัน เวลาดินน้ำลมไฟมารวมกันแล้ว ก็จะพยายามแยกกลับคืนสู่ที่เดิม น้ำก็ต้องพยายามแยกกลับไปหาน้ำ ดินลมไฟก็เช่นเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างพยายามแยกออกจากกันตลอดเวลา ข้าวของต่างๆจึงเก่าลง เวลาซื้อมาใหม่ๆก็ดูสวยงามดี พอใช้ไปสักระยะหนึ่งก็จะดูเก่า แสดงว่ากำลังเสื่อม ธาตุ ๔ ที่อยู่ด้วยกัน จะแยกออกจากกันทีละเล็กทีละน้อย ทุกอย่างจึงมีการเสื่อมและสลายไปในที่สุด นี่คือการใช้ปัญญา ต้องสอนใจให้มองในทางปรมัตถสัจจะอยู่เรื่อยๆ ให้เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟที่แยกออกจากกัน ไม่มีอะไรอยู่เหมือนเดิม จะแยกออกจากกันอยู่เรื่อยๆ

 

จะเห็นได้ก็ต้องมีสมาธิก่อน จึงจะพิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเวลาที่จิตมีสมาธินี้ กิเลสตัณหาจะถูกกดไว้ไม่ให้มารบกวนการพิจารณา ทำให้เราสามารถดึงสังขารความคิดปรุงแต่ง ให้มาคิดในทางมรรค ให้คิดในทางปรมัตถสัจจะได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิเลย กิเลสตัณหาอวิชชาโมหะจะมีกำลังมาก จะดึงสังขารไปคิดในทางสมมุติสัจจะตลอดเวลา ว่าเป็นเราเป็นของเรา ว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ จะให้ความสุขกับเรา พอคิดอย่างนี้ก็จะขวนขวายไปตามความคิดนี้ ไปทำมาหากินหาเงินหาทอง ได้เงินได้ทองมาก็ดีอกดีใจ เอาไปซื้อข้าวของต่างๆ ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปดื่มไปรับประทาน แล้วเป็นยังไง ความทุกข์น้อยลงไปหรือเปล่า หรือกลับมีมากขึ้น พอได้ใช้เงินแล้วก็จะติดเป็นนิสัย เวลาไม่มีเงินใช้ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา บางทีมีเงินใช้ก็ยังเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะไม่ถึงใจ เคยใช้วันละห้าพันก็อยากจะใช้มากกว่านี้ ถึงจะมีความสุขมากกว่านี้ ก็จะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ต้องหามาเพิ่มอยู่เรื่อยๆ ต้องเหนื่อยยากกับการทำงานทำการ ต้องต่อสู้แข่งขันกับผู้อื่น นี่คือใจที่ไม่มีสมาธิ จะถูกฉุดลากไปในทางกิเลสตัณหา ถ้าใจมีสมาธิก็จะต่อต้าน จะไม่ไปตามกิเลสตัณหา  ไปทำไม อยู่เฉยๆนั่งสมาธิมีความสุขกว่าการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไปดื่มไปรับประทาน ไปดูไปฟัง นั่งหลับตาทำจิตใจให้สงบแล้ว ใจจะสบาย ไม่ต้องไปต่อสู้กับใคร ไม่ต้องไปมีปัญหาไปมีเรื่องกับใคร นี่คือคุณค่าของสมาธิ ถ้ามีแล้วจะมีทรัพย์ภายใน ที่วิเศษกว่าสิ่งต่างๆภายนอก ก็อยากจะมีมากขึ้น อยากให้มีตลอดเวลา ไม่เฉพาะในขณะที่นั่งสมาธิเท่านั้น

 

เวลาออกจากสมาธิถ้าไม่ใช้ปัญญาก็จะทุกข์ได้ พอเผลอกิเลสก็จะดึงสังขารความคิดปรุงแต่ง ให้คิดอยากไปที่นั่นที่นี่ ไปดูนั่นดูนี่ ไปฟังนั่นฟังนี่ ก็จะทุกข์ทรมานใจ จึงไม่ควรปล่อยให้สังขารคิดตามกิเลสตัณหา ควรคิดไปในทางมรรคทางธรรม ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาสิ่งต่างๆว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่ใช่เป็นเรา เป็นของเรา ไม่เป็นความสุข กิเลสจะหลอกเราว่าไปเที่ยวสนุกดีมีความสุข แต่ปัญญาจะบอกว่า เคยไปเที่ยวมาตั้งมากแล้ว กลับมาทีไรก็เศร้าสร้อยหงอยเหงาเหมือนเดิม เวลาไปเหมือนไก่บิน เวลากลับเป็นเหมือนห่ากิน อยากจะออกไปอีก อย่าไปดีกว่า นั่งสมาธิดีกว่า พอจิตสงบปั๊บ ก็จะสบายไปสักพักหนึ่ง พอออกจากสมาธิกิเลสก็จะมาลากไปอีก ต้องใช้ปัญญาต่อสู้มันไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะมีกำลังมากกว่ากิเลส ก็จะตัดความอยากไปได้ จากนั้นก็ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้ ถ้าตัดได้ด้วยปัญญา ว่าไม่ไปดีกว่า อยู่ดีกว่าไป ไปแล้วไม่ดี ไปแล้วก็วนอยู่ในอ่าง วนอยู่ในวงจรอุบาทว์ ไปวันนี้พรุ่งนี้ก็ต้องไปอีก ถ้าไม่ไปวันนี้พรุ่งนี้ก็ไม่อยากจะไป ก็จะไม่ไปตลอดได้ ไม่ต้องไปหาความสุขจากข้างนอก เพราะมีความสุขอยู่ข้างในแล้ว

 

นี่คือประโยชน์ที่ได้จากการไปงานศพ ไปเพื่อพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความแก่ความเจ็บความตายเป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นความสุข เป็นอนัตตา ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าพิจาณาอย่างนี้ เวลาร่างกายเป็นอะไรไป จะไม่ทุกข์ ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง จะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป จะแก่ก็ปล่อยให้แก่ไป จะตายก็ปล่อยให้ตายไป เพราะห้ามไม่ได้ ห้ามความจริงไม่ได้ แต่ห้ามใจได้ด้วยปัญญา ไม่ให้อยากเป็นอย่างอื่น จะอยู่เหนือความทุกข์ของร่างกายและนามขันธ์ได้ พอปล่อยร่างกายได้แล้ว ก็พิจารณานามขันธ์ต่อ คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณและจิต ที่จิตยังยึดติดอยู่ ว่าเป็นตัวเราเป็นของเราอยู่ ต้องทำลายอุปาทานอวิชชาโมหะความหลงนี้ ด้วยไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน พิจารณานามธรรมว่าเป็นสภาวธรรมที่เกิดดับเกิดดับ ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครควบคุมบังคับได้ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา พอรู้แล้วก็จะไม่ยึดติด ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง สุขก็รู้ว่าสุข ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ไม่ได้อยากให้สุขตลอดเวลา เพราะสุขทุกข์ของเวทนาจะสับเปลี่ยนกันอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกับสุขทุกข์ของจิต จะสลับกันไปเรื่อยๆ ถ้ารู้ทันด้วยปัญญาก็จะปล่อยวางความสุขความทุกข์ของร่างกายและของจิต จะสักแต่ว่ารู้ พอร่างกายแยกจากจิตอย่างถาวรแล้ว ก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความทุกข์อีกต่อไป ในขณะที่อยู่ด้วยกันก็ไม่ทุกข์ไปกับร่างกาย รู้ว่ามีสุขมีทุกข์เป็นปกติ ร่างกายต้องเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้เป็นธรรมดา

 

นี่คือเรื่องของปัญญา ที่จะเป็นผู้ทำลายความทุกข์ภายในใจ ส่วนสมาธินี้ทำได้แต่เพียงกดความทุกข์ไว้เท่านั้นเอง ส่วนศีลกับทานก็เป็นเพียงกรอบกันไม่ให้ความทุกข์ขยายตัว แต่ไม่สามารถทำลายความทุกข์ได้ มีปัญญาเท่านั้นที่จะทำลายความทุกข์ได้อย่างถาวร ปัญญาจะถอนรากถอนโคนของโมหะอวิชชา คือความไม่รู้จริง คือไม่รู้ปรมัตถสัจจะ ไม่รู้ไตรลักษณ์ ที่เรารู้กันนี้ยังไม่เรียกว่ารู้จริง เพราะรู้อย่างไม่ต่อเนื่อง รู้บางเวลา รู้แบบสัญญา ถ้ารู้แบบปัญญาจะรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก กิเลสทำงานทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าปัญญาไม่ทำงานทุกลมหายใจเข้าออกก็สู้กิเลสไม่ได้ กิเลสขยันกว่าปัญญา ทำงานทุกเวลานาที ทุกลมหายใจเข้าออก ปัญญาจึงต้องทำงานทุกลมหายใจเข้าออก ต้องพิจารณาอยู่เสมอเวลาออกจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ เห็นอะไรก็ต้องสะกิดใจว่าเป็นไตรลักษณ์นะ ไม่ใช่ของเรานะ ก็จะสู้กับกิเลสได้ นี่คือการไปงานศพ ไปเพื่อเห็นของจริง เพราะเพียงแต่นึกภาพยังไม่ถึงใจ สิบปากเล่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น แต่น่าเสียดายที่สมัยนี้งานศพไม่เปิดให้ดูศพ เห็นแต่โลง เห็นภาพตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ น่าจะถ่ายรูปตอนที่ตายแล้วมาติดไว้หน้าโลง จะได้เห็นของจริง นี่เอาภาพหล่อเหลามาติดไว้หน้าโลงศพ ติดไปทำไม เพราะยึดติดในสมมุติสัจจะ ยึดติดในความสวยงาม ก็เลยไม่เห็นความจริง ไปงานศพจึงไม่ได้ปัญญา ไม่ได้ประโยชน์ เป็นงานสังคมไป ไปเคารพผู้ตาย ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทางศาสนา ที่ไปงานศพเพื่อให้ปลง ให้พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ที่ท่านสอนให้ไปเยี่ยมป่าช้านี้ ก็เพื่อให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 

ถาม  งานก่อสร้างภายในวัดจะทำเฉพาะตอนออกพรรษาแล้ว

 

ตอบ ในพรรษาจะไม่ให้ทำอะไรเลย งานก่อสร้างนี้ท่านบอกว่าเป็นอันตรายต่อการภาวนามาก ในช่วงเข้าพรรษาจะไม่มีการก่อสร้าง จะเน้นการภาวนา เดินจงกรมนั่งสมาธิ จะอบรมอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง สมัยที่ท่านมีกำลังวังชานี้ ท่านจะอบรมอย่างถี่ บางที ๕ วัน ๖ วันก็เรียกประชุมครั้งหนึ่ง แต่พอท่านแก่ลงมากขึ้น มีโรคประจำตัว มีภาระกับญาติโยมมากขึ้น ก็จะห่าง ท่านเห็นความสำคัญของการอบรมมาก เป็นประโยชน์มาก เวลาไม่ได้ฟังธรรมใจจะคิดไปทางโลก พอได้ฟังธรรมใจจะหมุนไปทางธรรม ฟังแล้วจะมีกำลังใจ เหมือนต้นไม้ได้น้ำ มีความกระตือรือร้น ออกจากประชุมไปเดินจงกรมต่อได้หลายชั่วโมง ถ้าไม่มีประชุมก็จะขี้เกียจภาวนา เดินได้สองสามก้าวก็เบื่อแล้ว เพราะใจไม่หมุนไปทางธรรมเหมือนใจของท่าน ใจของท่านเป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา แต่ใจของพวกเรายังไปทางโลก ยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ พอคิดทางโลกก็จะไม่มีกำลังภาวนา พอได้ฟังธรรมแล้วก็จะมีกำลัง สมัยที่เราไปใหม่ๆยังไม่มีเทปให้ฟัง ได้แต่อ่านหนังสือของท่านวันละชั่วโมง ก็เหมือนกับได้ฟังท่านเทศน์ เพราะท่านเขียนออกมาจากใจ เป็นธรรมล้วนๆ อ่านแล้วจิตก็สงบ ไม่ต้องรอให้ท่านเรียกประชุม ท่านเรียกประชุมก็ดี ไม่เรียกประชุมก็ได้ฟังเทศน์ด้วยการอ่านหนังสือของท่าน ทำให้มีธรรมคอยเตือนใจให้เร่งปฏิบัติ การฟังธรรมจึงสำคัญมาก เพราะยังไม่รู้จักทาง ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ไม่รู้อุบายต่างๆ ปัญหาต่างๆ พอได้อ่านแล้วก็จะได้ความรู้เพิ่มเติม เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติ

 

ถาม  มีความรู้สึกว่าเวลาเราอ่านเล่มเดิมเรื่องเดิมนี่ ความรู้ไม่เหมือนกันครับ แต่ละครั้งเกร็ดที่ได้มามีความแตกต่างกัน

 

ตอบ ความรู้ของเราได้พัฒนาขึ้นไป เวลาอ่านเราจะพิจารณาไปตามระดับความรู้ความเข้าใจของเรา แต่ความรู้ของท่านลึกมาก พอจิตของเราละเอียดขึ้นพัฒนาสูงขึ้น ปัญญาลึกขึ้น ก็จะเข้าใจความรู้ที่ลึกขึ้น อีกอย่างหนึ่งเวลาเราอ่านนี้ บางครั้งใจของเราไม่มีสติอย่างต่อเนื่อง อ่านไปแล้วแต่ไม่เข้าไปในใจ พอมาอ่านใหม่ใจมีสติ ก็เลยได้ความรู้ใหม่ การฟังเทศน์การอ่านหนังสือแต่ละครั้งจึงไม่เหมือนกัน ทางโลกก็เป็นเหมือนกัน ดูหนังครั้งแรกกับดูหนังครั้งที่สองก็ไม่เหมือนกัน ดูครั้งที่ ๒ จะเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ได้เห็นในครั้งแรก ปริยัติการศึกษานี่สำคัญมาก แต่ปริยัติแบบปฏิบัตินะ ไม่ใช่ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่ไม่นำเอามาปฏิบัติ เรียนอย่างนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร รู้จักชื่อแต่ไม่รู้จักตัว ต้องเรียนเพื่อให้เราเข้าถึงตัวมัน พอรู้จักชื่อแล้วจะได้หาตัวมันให้เจอ ผู้ร้ายชื่อนี้อยู่ตรงนี้ ไม่ใช่รู้จักชื่อแต่ไม่ตามจับ เหมือนตำรวจที่รู้จักชื่อของผู้ร้ายแต่ไม่ไปตามจับตัวผู้ร้าย ผู้ร้ายก็อยู่อย่างลอยนวล ถ้าเป็นตำรวจดี พอรู้จักชื่อรู้จักหน้าตาของผู้ร้ายแล้ว ก็ต้องไปจับผู้ร้ายเอามาเข้ากรงให้ได้

 

ในทางปฏิบัติเราจะศึกษาเพื่อเอาไปใช้ในการปฏิบัติ ไม่ใช่ศึกษาแล้วก็ไปสอบ สอบผ่านแล้วก็แล้วกันไป ได้เปรียญ ๙  แต่ไม่เคยไปปฏิบัติเลย อย่างที่หลวงปู่มั่นบอกหลวงตา ตอนที่ไปกราบหลวงปู่มั่นขออนุญาตอยู่ศึกษากับท่าน ท่านก็อนุญาตให้อยู่แล้วท่านก็พูดธรรมะให้ฟังว่า ท่านเป็นถึงมหาฯ มีความรู้มากทางด้านปริยัติ แต่ยังไม่เป็นประโยชน์ เพราะใจของท่านไม่สามารถเอามาใช้ได้ ใจยังขาดความสงบ ต้องเอาความรู้ที่ได้เรียนมาตั้งไว้บนหิ้งก่อน ทำใจให้สงบก่อน เวลาภาวนาทำใจให้สงบ อย่าไปคิดถึงความรู้ต่างๆที่ได้เรียนมา เพราะจะเป็นสัญญาอารมณ์ เป็นอดีต เช่นเรียนรู้มาว่าสมาธิเป็นอย่างไร อุปจาระเป็นอย่างไร ขณิกะเป็นอย่างไร อัปปนาเป็นอย่างไร เวลาทำจิตให้สงบอย่าไปสนใจ ให้สนใจอยู่กับเหตุที่จะทำให้จิตสงบ คือให้มีสติอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่นอยู่กับพุทโธ อยู่กับอาการ ๓๒ อยู่กับลมหายใจเข้าออก ให้ใช้อารมณ์ผูกใจเอาไว้ ดึงใจเข้าสู่ความสงบ พอใจสงบแล้ว ความรู้ที่เรียนมาจากปริยัติก็จะบอกเราเองว่าเป็นขณิกะฯ เป็นอัปปนาฯ เป็นอุปจาระฯ แต่ถ้ายังไม่เจอของจริงก็จะคาดคะเนไปต่างๆนานา ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เวลานั่งผลยังไม่ปรากฏ ก็วาดภาพขึ้นมาว่าได้ผลแล้ว ถ้าขั้นปัญญาก็คาดว่าเป็นโสดาฯ เป็นนั่นเป็นนี่แล้ว สิ่งที่จะวัดความจริงก็คือความสงบ ความดับทุกข์ภายในใจ เป็นตัววัดผลของการภาวนา ไม่ต้องไปสนใจว่าเป็นขั้นไหน ไม่สำคัญ เหมือนกับกินข้าว จะอิ่มขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นพุงกาง ก็จะรู้เอง แต่จะเรียนรู้ไว้ก่อนก็ได้ เพื่อจะได้รู้ว่าปฏิบัติไปถึงไหนแล้ว แต่ต้องเอาผลจากการปฏิบัติเป็นตัววัด เพราะเป็นความจริง อย่าเอาความรู้ทางปริยัติมาบีบให้เข้ากับผลของการปฏิบัติ ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ บางทีกิเลสอาจจะหลอกก็ได้ กลายเป็นวิปัสสนูไป จะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญ ให้ดูว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ ใจกระเพื่อมหรือไม่กระเพื่อม สงบหรือไม่สงบก็แล้วกัน อยู่ตรงนั้น สำคัญตรงนั้น

 

ถาม  เวลาออกจากสมาธิแล้วมาเดินจงกรมต่อ จะคิดถึงการกระทำที่ไม่ดีในอดีต ผ่านมา ๓๐ ปีแล้ว  ก็จะไม่สบายใจ บางอย่างก็แก้ได้ บางอย่างก็แก้ไม่ได้ ส่วนที่แก้ไม่ได้นี้จะทำอย่างไร

 

ตอบ ก็ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา พิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ต้องยอมรับผลกรรม ความวิตกกังวลหรือกลัวนี้ เป็นการสร้างความทุกข์ขึ้นมาโดยใช่เหตุ ไม่ได้ลบล้างวิบากที่จะต้องเกิดขึ้น ถ้าจิตมีอุเบกขามีปัญญาก็จะรับได้ อะไรจะเกิดก็เกิด จิตจะไม่รุ่มร้อน ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน จะปล่อยวางได้ เพราะต้องเกิดอยู่ดี ไม่มีอะไรอยู่กับเราไปตลอด ถ้าต้องเจ็บก็ต้องเจ็บ เกิดมาแล้วก็ต้องเจ็บเป็นธรรมดา จะเจ็บด้วยโรคภัยไข้เจ็บ เจ็บด้วยวิบากกรรม ถูกทำร้าย หรืออุบัติเหตุ ก็เป็นความเจ็บ เจ็บที่ร่างกาย ไม่ได้เจ็บที่ใจ ใจเดือดร้อนทำไม ใจไม่ได้เจ็บ ถ้าใจนิ่งใจสงบ ก็จะมีความสุขท่ามกลางความเจ็บนั่นแหละ วิบากกรรมเราแก้ไม่ได้ แต่กรรมใหม่นี้เราแก้ได้ ด้วยการไม่ทำกรรมใหม่ ส่วนกรรมที่ทำไปแล้วเราแก้ไม่ได้ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับ เหมือนเตรียมรับพายุ ถ้ามีที่หลบภัยก็จะไม่วุ่นวายใจ ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญาก็จะมีสรณะมีที่พึ่ง มีที่รับภัยได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นความแก่ความเจ็บความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ

 

ถ้ายังกังวลกับกรรมเก่าแสดงว่า ยังขาดสติขาดสมาธิและปัญญา ต้องเร่งความเพียรให้มากขึ้น สร้างสติสมาธิและปัญญาขึ้นมาให้ได้ เพื่อจะได้ตัดความกังวลต่างๆ พร้อมที่จะรับกับวิบากกรรม ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นว่าเป็นเพียงธาตุ เป็นดินน้ำลมไฟ ตอนที่กังวลแสดงว่าจิตเผลอ ไม่ได้พิจารณาทางปัญญา คิดไปตามอารมณ์ แต่ก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง เพราะเป็นข้อสอบ ใจสร้างความทุกข์ขึ้นมา ใจก็ต้องหาวิธีดับ เพราะใจกำลังคิดไปในทางสมุทัย คือความกลัว ความอยากไม่เป็น อยากไม่มี อยากไม่ให้เกิดขึ้น ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ห้ามไม่ได้ เป็นธรรมชาติ เป็นอนัตตา แต่ห้ามใจได้ ห้ามไม่ให้ใจทุกข์วุ่นวายได้ นี่คืองานของเรา คือห้ามใจไม่ให้วิตกกังวล ด้วยการพิจารณาปรมัตถสัจจะ ให้เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ แล้วก็ปล่อยวาง ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ต้องปล่อย ถ้ายังทำได้ก็ทำไป ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย รักษาได้ก็รักษาไป ถ้ารักษาไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวาง

 

สติสมาธิปัญญาเป็นที่พึ่งของใจ ต้องมีสติสัมปชัญญะตั้งแต่ตื่นจนหลับ จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ พอดึงจิตมาพิจารณาไตรลักษณ์พิจารณาปรมัตถสัจจะ ก็จะลบล้างสมมุติสัจจะได้ สมมุติสัจจะเป็นตัวสร้างสมุทัย เพราะจะมีตัวเราของเราเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าพิจารณาทางปรมัตถสัจจะก็จะไม่มีตัวเราของเรา มีเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ มีธาตุรู้ จะเห็นว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ใจก็จะไม่ทุกข์ ต้องปลีกวิเวกนะ ถ้าทำงานทำการเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะดึงสังขารให้คิดแต่เรื่องสมมุติ งานของเรา เงินของเรา สมบัติของเรา เป็นสมมุติทั้งนั้น ถ้าปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียว อยู่กับต้นไม้ที่ไม่พูดว่าเป็นเราของเรา ก็จะไม่มีเรา จะเห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ อยู่ลำพังคนเดียวจะทำให้เราได้บรรยากาศของปรมัตถสัจจะ ถ้าอยู่หลายคนก็จะเกิดตัวเราตัวเขาขึ้นมา อยู่คนเดียวก็มีแต่ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ แล้วก็ธาตุรู้คือใจ แล้วคอยสอนใจว่าใจไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ใจเป็นเพียงธาตุรู้ แต่ใจมีสังขารที่คิดปรุงแต่งว่าเป็นเรา ก็ให้รู้ว่าเป็นสมมุติ เหมือนเล่นละคร สมมุติว่าร่างกายนี้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระราชินี เป็นพระเอก เป็นผู้ร้าย เป็นสมมุติ ออกมาจากสังขารความคิดปรุงแต่ง เป็นนาย ก. นาย ข. มีตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ เป็นสมมุติทั้งนั้น ความจริงแล้วร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ แต่ไม่มองตรงนี้กัน ไปมองตำแหน่งกัน ว่าเป็นอธิบดี เป็นเจ้านาย เป็นลูกน้อง มองอย่างนี้ มองสมมุติ ไม่มองว่าเป็นดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีอะไรต่างกัน ไม่มีใครวิเศษกว่ากันในเรื่องของร่างกาย ต่างกันที่สติปัญญา ถ้ามีสติปัญญามากก็มีทุกข์น้อยหรือไม่มีทุกข์เลย เช่นครูบาอาจารย์นี้ เวลาไปหาท่านเราไม่ได้ไปหาร่างกายของท่าน เราไปหาสติปัญญาของท่าน ไปฟังเทศน์ฟังธรรม ธรรมที่ท่านพูดออกมาเป็นความรู้ที่เรายังไม่รู้ เราอาศัยความรู้ของท่านมาเป็นต้นทุน เป็นเมล็ดพันธุ์พืช ที่เรารับมาปลูกไว้ในใจของเรา ด้วยการภาวนา ด้วยการพิจารณาตามที่ท่านสอนอยู่เรื่อยๆ ต่อไปก็จะงอกงามเป็นสติปัญญาของเราต่อไป

 

ถาม  ตอนที่ท่านเทศน์เมื่อสักครู่นี้ มีความรู้สึกว่าเราสามารถยกจิตข้ามไปได้สักระยะหนึ่ง แต่ทำไมพอกลับไปบ้านจะคิดว่าเราคือเรา

 

ตอบ ถูกสมมุติดึงกลับไป ตอนที่ฟังธรรมนี้ธรรมะดึงเราออกจากสมมุติ จึงต้องเอาธรรมะที่ได้ยินนี้ไปพิจารณาต่อ แต่เราไม่พิจารณากัน พอกลับไปก็ลืมธรรมะ กลับไปหาของเราต่อ หาลูกเรา หาสามีเรา หาเพื่อนเรา หาสมบัติของเรา ไม่กลับไปหาดินน้ำลมไฟ ไม่กลับไปหาไตรลักษณ์ ต้องกลับไปหาดินน้ำลมไฟ กลับไปหาไตรลักษณ์ ทำไมจะพิจารณาต่อไม่ได้ เพียง ๓ เรื่อง ดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องพลัดพรากจากสิ่งต่างๆไปหมด เป็นทุกข์ทั้งนั้น พิจารณาไม่ได้เพราะอวิชชามีกำลังมากกว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารานี้ทำงานทุกลมหายใจเข้าออก พอไปจากศาลาก็เริ่มคุยกันแล้ว เหมือนคนที่ถนัดมือขวา ตอนที่สอนให้ใช้มือซ้าย ก็ใช้ได้อยู่ พอไปจากศาลาก็กลับไปใช้มือขวาต่อ เพราะมันถนัด มันเคยชิน ต้องฝืน

 

การภาวนาเป็นการฝืนใจเรานี่เอง ฝืนใจให้คิดไปในทางธรรม คิดไปในทางมรรค ให้ทวนกระแสของกิเลสของอวิชชา ให้เข้าสู่กระแสธรรม พอเข้าสู่กระแสธรรมแล้ว จะไม่ต้องบังคับ จะไปทางธรรมเองพอได้เข้าสู่โสตะแล้ว คำว่าโสตะแปลว่ากระแส โสตะปะนะแปลว่าผู้เข้าสู่กระแสของพระนิพพาน เข้าสู่กระแสมรรคกระแสธรรม จะคิดไปในทางไตรลักษณ์ มองอะไรเห็นอะไรก็จะคิดไปในทางไตรลักษณ์ แต่ยังไม่คิดต่อเนื่องตลอดเวลา บางเวลาก็เผลอได้ ไม่ทันกิเลสที่ละเอียดกว่า เวลากิเลสโผล่ออกมาจะทิ่มแทงใจ จะรู้ว่าคิดแบบนี้ไม่ได้ เมื่อก่อนนี้คิดได้มีความสุข แต่เดี๋ยวนี้คิดไม่ได้แล้ว เพราะมันทิ่มแทงใจ เมื่อก่อนนี้มันทิ่มแทงใจแต่เราไม่รู้ เราคิดถึงแต่ความสุขที่จะได้รับ จึงไม่เห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เราไปแสวงหาความสุข เช่นอยากจะกินเหล้า ก็ต้องไปหาเหล้ามาดื่ม นี่ก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แต่มองข้ามมันไป เพราะมองไปที่ความสุขที่จะได้รับจากการดื่ม พอจิตนิ่งแล้วพอคิดขึ้นมาก็จะรู้ว่าทุกข์ทันที ก็จะไม่อยากไปหาเหล้ามาดื่ม นั่งเฉยๆดีกว่า สบายกว่า

 

พวกเรายังปฏิบัติกันน้อย ถ้าปฏิบัติมากก็จะตัดทุกอย่าง ไปอยู่วัดเลย บวชเลย ถึงจะปฏิบัติได้มาก แต่ไม่ได้หมายความว่า บวชแล้วจะปฏิบัติได้มากเหมือนกันทุกคน เพราะบางทีบวชแล้วก็ยังปฏิบัติไม่ได้ ยังอดคิดทางโลกไม่ได้ เช่นไปทอดผ้าป่าสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์ ถึงแม้จะเป็นบุญเป็นกุศล แต่ยังไม่เป็นการภาวนา ยังไม่ทวนกระแส อวิชชา ปัจจยา สังขารา ไม่คุ้มกับการบวช ถ้าบวชแล้วต้องภาวนาถึงจะได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะไม่บวชก็ทำบุญสร้างเจดีย์สร้างโบสถ์สร้างวัดได้ ไม่ต้องบวชก็ได้ แต่ถ้าบวชแล้วต้องภาวนา ควรจะเก็บตัว อย่าไปตามงานต่างๆ งานศพ งานครบรอบวันเกิดวันตาย ไม่ใช่งานของนักภาวนา ต้องอยู่ในป่าในเขา เดินจงกรมนั่งสมาธิ

 

ถาม  เคยคิดอยากจะทำอย่างที่ท่านอาจารย์พูด แต่เวลาจะบังคับมันทีไรมันดิ้น ก็เลยปล่อยบ้าง ดึงบ้าง

 

ตอบ อยากวิ่งเหมือนนักวิ่งมาราธอน พอวิ่งได้สัก ๑๐๐ เมตร ๒๐๐ เมตรก็ไม่ไหวแล้ว เหนื่อยแล้ว กำลังไม่พอ ต้องทำตามกำลังของเราไปก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มทีละเล็กทีละน้อย มันเพิ่มได้ ถ้าเพิ่มมากๆทีเดียวเลยจะไม่ไหว เพราะร่างกายและจิตใจต้องปรับตัว อย่าไปมองคนอื่น เห็นเขาทำมากก็อยากจะทำเหมือนเขา พอทำไม่ได้ก็จะท้อแท้ จะพาลไม่ทำเลย ควรเพิ่มไปทีละร้อยละสิบ เช่นเคยนั่ง ๔๐ นาทีก็เพิ่มเป็น ๔๔ นาที ค่อยๆเพิ่มขึ้นไป ก็จะนั่งได้นานขึ้นไปเรื่อยๆ สติก็ต้องเจริญให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ สตินี้สำคัญที่สุด การภาวนาจะก้าวหน้าก็อยู่ที่สตินี้ พยายามเจริญสติทั้งวัน ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ที่กำลังทำอยู่ อย่าไปอยู่ที่อื่น อย่าไปอดีต อย่าไปอนาคต นอกจากมีความจำเป็นต้องคิด ก็หยุดการกระทำอย่างอื่นก่อน แล้วก็ให้มีสติอยู่กับความคิด คิดด้วยเหตุด้วยผล คิดเท่าที่จำเป็น คิดเสร็จแล้วก็หยุดคิด แล้วก็กลับมาอยู่กับการกระทำการเคลื่อนไหวของร่างกายต่อไป อย่าทำแล้วก็คิดเรื่องอื่นด้วย จิตจะไม่เป็นหนึ่ง จิตจะเป็นสอง อยู่กับกายแล้วก็ไปคิดเรื่องอื่น จะไม่นิ่ง ถ้าอยู่ที่กายอย่างเดียวไม่ไปที่อื่นเลย ก็จะนิ่ง ไม่แกว่งไปแกว่งมา พออยู่ที่กายได้ ต่อไปจะให้อยู่กับพุทโธ ก็จะอยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับลมก็จะอยู่กับลม แล้วก็จะเข้าสู่ความสงบ พอสงบแล้วจะมีกำลังใจ

 

ความสงบนี้เป็นรางวัล เป็นตัวอย่างของรางวัลที่ ๑  เหมือนถูกเลขท้าย ๒ ตัว รู้ว่าทำแล้วได้กำไรแน่ๆ จะมีกำลังใจทำให้มากขึ้นไป จาก ๒ ตัวก็เป็น ๓ ตัว แล้วก็เป็นรางวัลที่ ๕ ที่ ๔ ที่ ๓ ไล่ขึ้นไปจนถึงรางวัลที่ ๑  ไม่มีใครจะถูกรางวัลที่ ๑ เลย ทุกคนต้องก้าวขึ้นไปตามขั้น ต่างกันที่ช้าหรือเร็ว บางคนก็ไปเร็ว บางคนก็ไปช้า อย่างพระปัญจวัคคีย์นี้ พอได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าสองสามครั้ง ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทั้งหมด แต่ฟังครั้งแรกบรรลุเป็นโสดาบันเพียงรูปเดียว พอทรงแสดงเรื่องอนัตตาในอนัตตลักขณสูตร ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๕ รูป พอไปโปรดพวกชฎิล ๕๐๐ รูปที่บูชาไฟ ก็ทรงสอนเรื่องไฟ ว่าไฟที่แท้จริงอยู่ในใจ คือไฟของราคะโทสะโมหะ พอแสดงจบก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูป เพราะมีศีลมีสมาธิกันอยู่แล้ว แต่ไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ปัญหาอยู่ตรงที่ไม่รู้ว่าราคะโทสะโมหะเป็นเหตุของความทุกข์ พอสอนให้ดับราคะโทสะโมหะปั๊บ ก็บรรลุได้ทันที สมัยแรกๆไม่ต้องสอนเรื่องสมาธิ ทรงแสดงแต่ปัญญา เพราะคนฟังมีศีลมีสมาธิแล้ว ต่อมาทรงต้องแสดงเรื่องสติ เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เพราะคนที่มาบวชไม่มีภูมิธรรมเหล่านี้ มีแต่ศรัทธา เห็นคนอื่นบวชแล้วบรรลุกัน ก็อยากจะบรรลุก็เลยมาบวช แต่ไม่รู้ว่าสติสมาธิเป็นอย่างไร จึงต้องสอนเรื่องสติก่อน ต้องสอนเรื่องศีลเรื่องวินัยของพระ บางคนบวชมาแล้วยังไปนอนกับภรรยา เพราะไม่รู้เรื่องของศีล ต้องทรงห้าม ทรงสอนว่าเป็นพระแล้วไปหลับนอนกับคนอื่นไม่ได้แล้ว ไม่ให้หาความสุขจากการหลับนอนกับคนอื่น ให้หาความสุขจากการทำจิตใจให้สงบ พระวินัยจึงปรากฏขึ้นมาทีละข้อสองข้อ เพราะคนที่มาบวชใหม่ไม่รู้ศีลของพระ ในสมัยปัจจุบันนี้ก็มีคนที่บวชแล้วทำผิดศีลกันเยอะ เพราะไม่ได้ศึกษา อุปัชฌาย์สมัยนี้เป็นอุปัชฌาย์เป็ด ไม่ใช่อุปัชฌาย์ไก่ ไก่นี้เวลาไข่ออกมาแล้วจะฟักด้วย แต่เป็ดจะไม่ฟัก อุปัชฌาย์สมัยนี้บวชแล้วไม่สอน ปล่อยตามบุญตามกรรม ปล่อยให้คนที่รู้ไม่จริงสอน ก็เลยสอนกันแบบผิดๆไป

 

ถาม  ขณะที่มีทุกข์เกิดขึ้นในใจ ถ้าไม่สามารถข้ามมันได้ ให้เราเจริญสติเพื่อเอากำลังไว้ใช้ในกาลข้างหน้าใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ ถ้าได้สติก็จะได้สมาธิ ได้สมาธิก็จะได้ปัญญา สติสนับสนุนให้เกิดสมาธิ สมาธิจะเป็นกำลังสนับสนุนการทำลายกิเลส มีปัญญาเป็นผู้ชี้บอกว่าอะไรคือกิเลส อะไรคือความจริง อะไรคือความไม่จริง ปัญญาจะเป็นผู้สอน เช่นสอนให้รู้ว่าไม่มีอะไรเป็นของเรานี้ ถ้ามีแต่สมาธิอย่างเดียวก็จะไม่รู้ว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา จะไม่รู้สัพเพ ธัมมา อนัตตา อย่างอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูปที่ได้ฌานได้สมาธิแล้ว แต่ยังไม่ได้ปัญญา พระพุทธเจ้าศึกษาจากพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูปได้แค่ฌานเท่านั้น จึงต้องแสวงหาปัญญาด้วยพระองค์เอง เพราะไม่มีใครรู้ปัญญานี้ มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่สามารถศึกษาสิ่งต่างๆ ที่มากระทบสัมผัสกับใจ จนเห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นอนัตตา ถึงจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะได้แค่ฌาน ได้แค่สวรรค์ชั้นพรหม แล้วก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เพราะเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ยังเสื่อมได้ เจริญแล้วก็เสื่อมได้ แต่ถ้าเป็นโลกุตรธรรมก็จะไม่เสื่อม เป็นโสดาฯแล้วก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นปุถุชน เป็นสกิทาคามีแล้วก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นโสดาฯ เป็นอนาคามีแล้วก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นสกิทาคามี เป็นอรหันต์แล้วก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นอนาคามี เพราะเป็นด้วยปัญญา ที่ยังเป็นปุถุชนเพราะไม่มีปัญญา มีแต่อวิชชา ไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงต้องเจริญสติก่อน

 

ต้องเจริญสติเป็นงานหลักเลย ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ ยืนเดินนั่งนอนให้มีสติควบคุมใจไว้ ไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้คิดอยู่กับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้รู้อยู่กับเรื่องนั้น แล้วก็จะมีกำลังบังคับจิต ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้ เวลานั่งทำสมาธิก็จะไม่ไปคิดเรื่องอื่น ก็จะสงบรวมเป็นหนึ่งได้ จะได้พบกับความสุขที่เกิดจากความสงบ แต่เป็นความสงบชั่วคราว พอออกจากความสงบแล้ว จิตจะคิดปรุงแต่งอีก แต่ความสงบที่ได้จากสมาธิยังมีหลงเหลืออยู่ มีกำลังพอที่จะคุมความโลภโกรธหลงไม่ให้มีกำลังมาก แต่ไม่ตาย เหมือนกับทุบศีรษะให้มันมึน ตอนนั้นก็สามารถเอาสังขารที่กิเลสเคยเอาไปใช้ มาใช้ในทางธรรมะได้ เอามาคิดทางไตรลักษณ์ได้ เอามาคิดทางปรมัตถสัจจะได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิเลย พอตื่นขึ้นมาปั๊บ กิเลสจะดึงไปคิดก่อนเลย ตัวเราของเรา วันนี้จะไปหาความสุขที่ไหนดี ไปหาเงินที่ไหนดี จะคิดไปทางนั้นทันที แต่ถ้ามีสมาธิก็จะคิดไปทางมรรค เวลากิเลสชวนให้คิดไปทางโลกก็จะต่อสู้กันเถียงกัน ถ้าปัญญามีกำลังมากกว่า ก็จะชนะกิเลส รู้ทันกิเลส  ถ้าปัญญามีกำลังน้อยกว่า ก็จะสู้กิเลสไม่ได้ ถึงแม้มีสมาธิก็ยังจะโลภโกรธหลง ถ้ามีปัญญามาก พอโลภปั๊บก็จะตัดได้ พอโกรธปั๊บก็จะตัดได้

 

พอออกจากสมาธิก็ต้องสอนใจให้เกิดปัญญา เช่นร่างกายเรานี้ เรายังไม่มีปัญญามองทะลุเลย อยู่กับเราตลอดเวลาเรายังไม่เห็นอาการ ๓๒ เลย ทำไมจะไม่เห็น เพราะไม่พิจารณากัน ก็เลยไม่เห็น เราจึงต้องพิจารณากันอยู่เรื่อยๆ ร่างกายของเรามีอะไรบ้าง มีผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูก เยื่อในกระดูกม้ามหัวใจตับพังผืดไตปอด ฯลฯ ท่องไปก่อนแล้วก็นึกภาพ หรือเปิดหนังสือที่มีภาพ ที่ผ่าร่างกายออกมาให้เห็นอวัยวะต่างๆ ดูแล้วก็นึกอยู่เรื่อยๆ ต่อไปเวลามองร่างกายของเราในกระจก จะเห็นส่วนที่อยู่ภายใต้ผิวหนังด้วย มองใครก็จะเห็นส่วนอื่นด้วย อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ามีปัญญา ถ้าไม่เห็นภายในก็ยังไม่มีปัญญา จะเห็นว่าสวยว่างามหรือน่าเกลียด แต่ความจริงมันมีทั้งสวยทั้งงามมีทั้งน่าเกลียดอยู่ในคนๆเดียวกัน มีทั้งส่วนที่น่าดูและไม่น่าดู แต่เรามักจะดูในส่วนที่น่าดู ส่วนที่ไม่น่าดูก็จะไม่ดูกัน ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ต่อไปจะชินกับส่วนที่ไม่น่าดู ส่วนที่น่าดูก็จะไม่ยินดี เพราะเห็นว่ามันก็มีส่วนที่ไม่น่าดูด้วย ก็จะทำให้ใจเป็นกลาง เฉยๆ ไม่น่าดูหรือน่าดู มันเป็นอย่างนั้น จะน่าดูหรือไม่น่าดู มันก็เป็นอย่างนั้น จะไม่ยินดียินร้าย จะเฉยๆ ดูเพื่อดับกามราคะ ถ้าไม่ดูส่วนที่ไม่น่าดูก็จะเห็นแต่ส่วนที่น่าดูน่ารัก แล้วก็จะเกิดความใคร่ขึ้นมา แต่ถ้าดูส่วนที่ไม่น่ารักไม่น่าดู ความใคร่ก็จะดับไป พอเห็นทั้ง ๒ ส่วน ทั้งน่ารักและไม่น่ารัก ทั้งน่าดูและไม่น่าดู ก็จะเฉยๆได้ ดูทีไรก็จะไม่เกิดราคะความใคร่ขึ้นมา ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัยไป ตอนนี้ยังไม่เป็นนิสัย ถ้าไม่พิจารณาปั๊บก็จะลืมไปเลย

 

ถาม  ที่ท่านอาจารย์พูดถึงจิตนิ่งกับจิตสงบนะค่ะ มันแตกต่างกันอย่างไรคะ

 

ตอบ เวลาจิตสงบจะไม่คิดปรุงแต่ง จะไม่กระเพื่อม

 

ถาม  แล้วนิ่งละคะ

 

ตอบ เวลานิ่งจิตจะคิดปรุงแต่ง แต่ไม่กระเพื่อม

 

ถาม  นิ่งก็จะทำง่ายกว่าสงบ

 

ตอบ เวลานิ่งกิเลสยังไม่ได้ทำงาน เวลากิเลสทำงานจะเห็นชัดเลย เพราะจิตจะกระเพื่อม จะรู้เลยว่าตัวปัญหาอยู่ที่ความกระเพื่อม เพราะมันทำลายความสุข แต่ถ้าไม่มีสมาธิไม่นิ่งจะไม่เห็น เพราะจะกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา ถ้านิ่งด้วยสงบด้วยก็จะเป็นเอกัคตารมณ์ ไม่ปรุงแต่ง พอออกจากสมาธิก็ยังนิ่ง ยังไม่กระเพื่อม พอคิดไปทางกิเลสก็จะกระเพื่อม ถ้าคิดไปทางมรรคก็จะไม่กระเพื่อม

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิแล้วเปิดเทปหลวงตาฟังด้วย จะมีสติอยู่ที่ลมหายใจ แล้วก็ฟังอย่างต่อเนื่อง แล้วอยู่ดีๆก็ฟังไม่เข้าใจครับ พยายามตั้งใจฟังหลวงตาแต่ก็ไม่เข้าใจ ได้ยินเสียงหลวงตาแต่ไม่เข้าใจความหมาย ไม่ทราบว่าจิตตอนนั้นเป็นอย่างไร

 

ตอบ เวลาฟังธรรมไม่ควรดูลมหายใจเข้าออก เพราะต้องการประโยชน์จากการฟังธรรม การฟังธรรมนี้ฟังได้ ๒ ลักษณะ ฟังแบบไม่เข้าใจแต่ได้ความสงบ เช่นธรรมที่ท่านแสดงสูงกว่าสติปัญญาของเราจะเข้าใจได้ แต่ถ้าเราเกาะติดอยู่กับเสียงธรรมของท่าน เราก็จะไม่ไปคิดปรุงแต่ง ใช้เสียงธรรมของท่านเป็นที่ผูกจิต ก็จะทำให้ใจของเราสงบได้ ได้ยินเสียงแต่ไม่เข้าใจ แต่ถ้าฟังแล้วพิจารณาตามก็จะได้ปัญญา จะคิดไปในทางมรรค ทำให้เกิดสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโป ใจไม่กระเพื่อม แต่ถ้าคิดไปทางโลก กังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ ใจก็จะกระเพื่อม เพราะเป็นสมุทัยเป็นทุกข์ การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นการระงับดับสมุทัย ดึงใจที่คิดไปทางโลกทางสมุทัยให้มาคิดทางธรรม เนื่องจากเราคิดเองไม่ได้ เราก็เลยอาศัยความคิดของครูบาอาจารย์เป็นผู้นำเราคิด ด้วยการฟังและพิจารณาตามไปด้วย ใจก็จะนิ่ง แต่ยังไม่รวมไม่สงบ ใจยังคิดอยู่แต่คิดไปในทางธรรม อย่างที่เรานั่งคุยธรรมะกันนี้ ใจจะสบายไม่อึดอัดรำคาญใจ แต่ถ้านั่งอยู่คนเดียว จะนั่งได้หรือไม่ เดี๋ยวก็ต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอคิดแล้วก็อยากจะลุกไปทำโน่นทำนี่

 

การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ฟังได้ ๒ แบบ ฟังเพื่อสมาธิหรือฟังเพื่อให้เกิดปัญญา จะเกิดปัญญาได้ก็ขึ้นอยู่ที่ปัญญาของเราด้วย ท่านจะแสดงธรรมทุกระดับ ตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไปจนถึงระดับสูง ปัญญาของเราอยู่ในระดับไหนก็จะรับได้ในระดับนั้น พอท่านเทศน์เลยระดับนั้นไปเราก็จะไม่เข้าใจ ถ้าเราอยู่ชั้น ๔ พอท่านเทศน์ถึงชั้น ๕ เราก็พอจะกระโดดตามท่านได้ แต่พอท่านเทศน์ไปชั้น ๖ ชั้น ๗ เราจะตามไม่ทัน เพราะปัญญาเรามีไม่พอ การฟังธรรมแบบนี้จะพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไป ถ้าเราอยู่ชั้น ๕ พอท่านมาเทศน์ถึงชั้น ๕ ที่เรารู้แล้ว เราก็จะจ้องรอฟังว่าท่านจะเทศน์อย่างไรเกี่ยวกับชั้น ๖ ชั้น ๗  พอฟังแล้วเราก็อาจจะก้าวขึ้นไปได้เลย ถ้าไม่ได้เราก็กลับไปปฏิบัติไปพิจารณาต่อ ไม่นานเราก็จะก้าวขึ้นชั้น ๖ ได้ จะขึ้นเป็นชั้นๆไป การฟังธรรมเพื่อปัญญาจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีปัญญาพอก็ฟังเสียงธรรม แล้วจิตก็จะสงบนิ่ง ได้ยินเสียงแต่จะไม่เข้าใจ ถ้านั่งเฉยๆคนเดียวจะนั่งไม่ได้ พอเปิดธรรมะฟังจะนั่งได้ เพราะมีเสียงธรรมกล่อมใจ ถ้ายังไม่สามารถนั่งสมาธิได้ สติยังไม่มีกำลังพอที่จะควบคุมบังคับ ให้ใจอยู่กับลมหายใจหรืออยู่กับพุทโธได้ ก็ต้องอาศัยการฟังธรรมไปก่อน ฟังไประยะหนึ่งแล้วจิตรู้สึกสบายก็หยุดฟังแล้วลองบริกรรมต่อ ถ้าบริกรรมได้จิตก็จะสงบลึกลงไปอีก หรือจะดูลมหายใจก็ได้ ภาวนาในตอนต้นจึงต้องอาศัยการฟังธรรมหรือสวดมนต์ไปก่อน เหมือนกับรถที่สตาร์ทไม่ติด ก็ต้องอาศัยรถคันอื่นลากไปก่อน พอรถวิ่งไปแล้วเราใส่เกียร์ปั๊บเครื่องก็จะติด การภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีเสียงธรรมฟังก็จะฟุ้งซ่าน ให้อยู่กับพุทโธก็อยู่ได้ปั๊บเดียว แล้วก็จะแวบไปคิดเรื่องต่างๆ ก็ต้องอาศัยการฟังธรรมไปก่อน ให้ธรรมช่วยดึงใจไว้ ให้ใจคิดในทางมรรค ก็จะทำให้ใจสงบลงได้ในระดับหนึ่ง

 

ถาม  ควรจะฟังด้วยจุดประสงค์เดียวใช่ไหม ไม่ใช่ ๒ อย่าง ถ้านั่งสมาธิแล้วฟังด้วย จิตจะสลับไปมา กลับไปหาสมาธิแล้วกลับมาที่ปัญญา พอกลับมาก็ตามไม่ทัน จริงๆควรจะเอาเพียงอย่างเดียว

 

ตอบ ตอนต้นฟังเพื่อปัญญาก่อน เพราะจะเข้าใจ แต่พอไปถึงขั้นที่ไม่เข้าใจก็ต้องปล่อย

 

ถาม  ปล่อยเอาสมาธิอย่างเดียว

 

ตอบ เพราะฟังไม่เข้าใจแล้ว ท่านแสดงธรรมที่สูงกว่าเราจะเข้าใจได้ เวลาฟังไม่ต้องกำหนดว่าจะฟังเพื่อสมาธิหรือปัญญา จะรู้เองในใจว่าจะฟังเพื่อปัญญาหรือสมาธิ ถ้าไม่อยากจะพิจารณาตามก็ฟังแต่เสียงไป ถ้าอยากจะพิจารณาตามก็พิจารณาไป อย่าไปกำหนดบังคับ ว่าตอนนี้จะฟังเพื่อสมาธิหรือปัญญา อยู่ที่จิตในขณะนั้นว่า มีกำลังพิจารณาตามหรือไม่ ตอนต้นนั่งฟังเฉยๆ ให้มีสติรู้อยู่ ไม่ต้องส่งจิตไปหาเสียงของท่าน ให้ตั้งรับอย่างเดียว เหมือนนักฟุตบอลที่เฝ้าประตู ไม่ต้องออกไปไล่ตามลูกบอล ให้อยู่ที่หน้าประตูเดี๋ยวลูกบอลก็วิ่งมาหาเอง ใจจะได้นิ่ง ไม่ต้องวิ่งตามเสียง ไม่ต้องลืมตาดูท่าน นั่งฟังเฉยๆ มีสติตั้งอยู่ข้างหน้า รอรับเสียงธรรมที่จะมาสัมผัสกับหู แล้วก็เข้าไปสู่ใจ ถ้าพิจารณาได้ก็พิจารณาไป ถ้าพิจารณาไม่ได้ก็ฟังเสียงธรรมไปเรื่อยๆ

 

อานิสงส์ของการฟังธรรมมีอยู่หลายประการ เช่นจะได้ความเห็นที่ถูกต้อง ได้ปัญญา จิตสงบผ่องใสเป็นสมาธิ ขจัดความสงสัยได้ แต่ต้องฟังด้วยกายวาจาใจที่สงบ กายต้องนั่งเฉยๆไม่ทำอะไร วาจาก็ไม่คุยกัน จิตต้องนิ่ง ต้องตั้งรับอย่างเดียว

 

ถาม  ฟังธรรมะท่านอาจารย์บ่อยๆ พอไปฟังธรรมะที่อื่น เป็นเหมือนของเด็กๆ อย่างนี้ถือว่าก้าวหน้าใช่ไหมคะ

 

ตอบ ไม่ เหมือนกินแกง ๒ หม้อ ได้เปรียบเทียบว่าหม้อนั้นกับหม้อนี้รสชาติไม่เหมือนกัน ถ้ากินหม้อเดียวจะไม่รู้ว่ารสชาติแกงหม้ออื่นเป็นอย่างไร ได้เห็นข้อแตกต่างกัน ถ้าอยากจะรู้ว่าก้าวหน้าหรือไม่ ต้องวัดที่กิเลสเรา ว่าน้อยลงไปหรือไม่ โกรธน้อยลงไปหรือไม่ โลภน้อยลงไปหรือไม่ อยากน้อยลงไปหรือไม่ อย่างนี้ถึงจะรู้ว่าก้าวหน้าหรือไม่ ทุกข์น้อยลงไปหรือไม่ เวลาเสียอะไรไปแล้วยังยิ้มได้หรือไม่ เวลาใครทำให้เราโกรธให้อภัยได้หรือไม่ ต้องวัดที่ใจเรา อย่าไปวัดที่อื่น

 

ถาม  เวลาพิจารณาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ฯลฯไปเรื่อยๆ แล้วหันมาดูที่ลมหายใจ ลมจะหายไปเลย ก็เลยรู้สึกกลัวตาย พยายามหาลม แต่ไม่มีลมเลย

 

ตอบ เวลาจิตละเอียดแล้วลมจะละเอียดตาม จะรู้สึกว่าไม่มีลม แต่ความจริงลมยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่สามารถสัมผัสรับรู้มันได้ หลวงตาท่านเขียนไว้แล้วว่า เวลาดูลมหายใจจะเจอปัญหานี้ พอจิตละเอียดลมก็จะละเอียดตาม พอไม่สามารถรับรู้ลมได้ก็จะตกใจว่า ไม่หายใจแล้วจะตายหรือเปล่า ท่านบอกว่าให้มีความเชื่อมั่นว่าไม่ตาย ตราบใดที่ยังมีผู้รู้อยู่ ยังมีสติรู้อยู่จะไม่ตายอย่างแน่นอน ไม่ต้องกลัว ให้ภาวนาต่อไป ให้อยู่กับตัวรู้ ให้สักแต่ว่ารู้ เดี๋ยวมันก็จะดิ่งลงเข้าสู่ความสงบ ขณะจิตรวมลงจะเหมือนกับหายใจเฮือกสุดท้าย วูบลงไปแล้วก็นิ่งสบาย ปล่อยวางร่างกายปล่อยวางลม แต่ยังหายใจอยู่ ร่างกายยังทำงานอยู่ แต่ใจไม่ไปรับรู้ ไม่มีใครตายด้วยการภาวนาอานาปานสติ ตายด้วยการไม่ภาวนามากกว่า

 

ถาม  ขณะที่รู้อย่างเดียวนี้ บางครั้งจิตจะถามว่าเราอยู่ที่ไหน

 

ตอบ อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ ให้สักแต่ว่ารู้ รู้ว่าตอนนี้ไม่มีลม ถ้าปรุงแต่งก็ให้หยุดปรุงแต่ง เพราะจะขวางจิตไม่ให้รวมลงเข้าสู่ความสงบ ต้องทำใจให้เป็นกลาง เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้

 

ถาม  มาถึงจุดนี้ทีไร จะหลงทุกที

 

ตอบ เพราะเราใช้สังขารความคิดปรุงแต่ง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ ที่ต้องการจะหยุดความคิดปรุงแต่ง ถ้าลมหายไปก็รู้ว่าลมหายไป อย่าไปคิดปรุงแต่ง แล้วมันจะรวมลง

 

ถาม  แสดงว่าสังขารมันดึงเราขึ้นมา เพื่อไม่ให้ลงสู่ความสงบใช่ไหมคะ

 

ตอบ ความลังเลสงสัยนี้เป็นนิวรณ์ ทำให้เราคิดปรุงแต่ง ไม่อยู่กับการภาวนา ถ้าไม่มีลมอยู่ก็ให้อยู่กับความว่าง ถ้ามีความคิดปรุงแต่งก็ต้องรู้ทัน ต้องหยุดทันที กลับมาอยู่กับความว่าง ความรู้อย่างเดียว ถึงแม้จะไม่รวมลงตอนนั้นจะรู้สึกสบายมาก ถ้าปล่อยไประยะหนึ่งก็จะรวมลง ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่งมาขวางกั้น ที่ไม่รวมก็เพราะความคิดปรุงแต่งคอยขวางกั้น ถ้ามีสติประคับประคองให้สักแต่ว่ารู้ เดี๋ยวก็จะวูบลงไปเอง พอคิดว่าไม่มีลมหายใจจะต้องตาย ก็คิดปรุงแต่งวิตกวิจารณ์แล้ว เราภาวนาเพื่อระงับความคิดปรุงแต่งวิตกวิจารณ์ ตอนต้นจะมีวิตกวิจารณ์ จากนั้นวิตกวิจารณ์ก็จะหายไป เหลือแต่สุขเหลือแต่ปีติ ต่อมาปีติก็หายไป สุขก็หายไป เหลือแต่อุเบกขา เหลือแต่เอกัคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ นั้นแหละคือความว่างจริงๆ เป็นความสงบเต็มที่

 

ถาม  ตอนนั้นตัวรู้ยังมีอยู่ใช่ไหมคะ

 

ตอบ มีอยู่ตลอดเวลา ตัวรู้ไม่หายไปไหน ตัวรู้จะเด่นขึ้นมา ยิ่งสงบมากตัวรู้จะยิ่งเด่นมากขึ้น เพราะทุกอย่างหายไปหมด เหลือแต่ตัวรู้ตัวเดียว ตัวรู้นี้ไม่หาย

 

ถาม  วูบลงไปนิดเดียว แล้วก็กลับขึ้นมา

 

ตอบ สติไม่มีกำลัง

 

ถาม  ต้องทำอย่างไร

 

ตอบ อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ อย่าไปคิดปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้

 

ถาม  เราคาดการณ์อาการของจิตได้ใช่ไหมครับ ว่ากำลังจะรวมลง

 

ตอบ คาดไม่ได้ ให้รู้เฉยๆ อย่าไปคาด

 

ถาม  พอสงสัยก็จะขวางทันที

 

ตอบ ทำไมไม่ลงสักที

 

ถาม  พอตั้งคำถามขึ้นในใจก็จะขวางไม่ให้รวมลง

 

ตอบ ใช่ มันปรุงแต่งแล้ว ต้องระงับความปรุงแต่ง ให้สักแต่ว่ารู้

 

ถาม  ถ้านิ่งแล้วประคับประคองไปเรื่อยๆ มันจะนิ่งไปเรื่อยๆ

 

ตอบ อยู่ที่กำลังของสติ ที่จะควบคุมสังขารความคิดปรุงแต่ง ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปสติจะมีกำลังมากขึ้น ต้องลืมอดีต ลืมอนาคต ให้อยู่ในปัจจุบัน ให้รู้เฉยๆ อย่าไปคิดปรุงแต่ง

 

ถาม  พอจิตสงบแล้วจะมีคำผลุดขึ้นมาว่า การเกิดเป็นทุกข์

 

ตอบ เป็นปัญญาเตือนใจ ให้รู้ว่าการเกิดนี้ไม่ดี เพื่อจะได้ตัดการเกิดให้ได้ มีเป้าหมายแล้วว่าปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิด ต้องรู้ว่าอะไรทำให้เราเกิด ก็คือความอยากต่างๆ ต้องตัดความอยากให้ได้ ตัดความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ความอยากมีอยากเป็น ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ต้องภาวนาต่อ มาถูกทางแล้ว

 

ถาม  การบริกรรมพุทโธควบคู่ไปกับการดูลมหายใจ จะขัดแย้งกันไหม

 

ตอบ ถ้าถูกจริตก็จะไม่ขัด

 

ถาม  ภาวนาพุทโธแล้วดูลมหายใจด้วยนี้ คืออะไรคะ

 

ตอบ หายใจเข้าก็จะว่าพุท หายใจออกก็จะว่าโธ ถ้าดูลมหายใจอย่างเดียวจิตยังคิดปรุงแต่ง ก็ให้เอาพุทโธเข้ามาควบคุมด้วย บางคนไม่ชอบเพราะมันยุ่งยาก ไหนจะต้องดูลม ไหนจะต้องท่องพุทโธด้วย ก็จะเอาพุทโธอย่างเดียว หรือเอาลมอย่างเดียว แล้วแต่จริตของแต่ละคน ให้ดูผลเป็นหลัก ภาวนาแบบนี้แล้วจิตสงบไหม ถ้าดูลมก็ไม่ต้องตามลมเข้าตามลมออก ให้เฝ้าดูอยู่ที่จุดเดียว คือที่ปลายจมูก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ เวลาลมเข้าออกจะต้องสัมผัสอยู่ตรงปลายจมูก ให้รู้อยู่ที่จุดสัมผัสของลมเข้าออก จะได้นิ่ง ถ้าตามลมเข้าตามลมออก จะไม่นิ่ง