กัณฑ์ที่ ๔๒๓       ๒๔ เมษายน ๒๕๕๔

 

สนใจใฝ่ธรรม

 

 

ยินดีที่ทุกคนมีความสนใจใฝ่ธรรม เพราะไม่มีอะไรมีคุณค่า เป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจ ยิ่งกว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะมีธรรมะเท่านั้น ที่ทำให้พวกเราได้หลุดพ้นจากความทุกข์ และพบความสุขอย่างแท้จริงและถาวร ที่วิธีดับทุกข์และสร้างความสุขต่างๆของโลกทำไม่ได้ เช่นการสร้างความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จากลาภยศสรรเสริญ ที่ให้ความสุขในขณะที่ได้สัมผัส แล้วก็จางหายไปเหมือนควันไฟ เหลือแต่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ความหิวความอยากความทุกข์ต่างๆ ที่ทำให้ต้องไปหาความสุขใหม่อีก แต่ไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะดับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ นอกจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น การใฝ่ธรรมยินดีในธรรมจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นคุณเป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจอย่างแท้จริง อย่าให้ความยินดีในธรรมหายไปจากใจ ด้วยการศึกษาธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ เวลาว่างจากภารกิจการงานอื่นๆ แทนที่จะดูหนังฟังเพลง ที่ให้ความสุขชั่วคราว แต่ไม่เป็นคุณเป็นประโยชน์กับจิตใจเลย

 

ถ้าได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว จะเข้าใจธรรมะ จะสามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้อง และบรรลุผลได้อย่างแน่นอน เหตุและผลเป็นของคู่กัน เหตุทำให้เกิดผล ถ้าเจริญเหตุที่ถูก ก็จะได้ผลที่ถูก ถ้าเจริญเหตุที่ผิด ก็จะได้ผลที่ผิด การศึกษาธรรมะจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นอันดับแรก ทรงสอนปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คือศึกษา ปฏิบัติ บรรลุผล ในเบื้องต้นต้องศึกษาจากผู้รู้เช่นพระพุทธเจ้า ครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสอน มีนักศึกษาอยู่ ๕ รูป คือพระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระอริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ หลังจากที่ทรงแสดงเสร็จ หนึ่งในผู้ฟังคือพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็ได้บรรลุผล ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังได้ปฏิบัติในขณะนั้นเลย ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ที่เกิดขึ้นตามลำดับ ขณะที่ทรงแสดงผู้ฟังก็พิจารณาตาม พอเข้าใจแล้วก็ปล่อยวางความเห็นผิด ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นความทุกข์นั่นเอง ไปยึดในสิ่งที่ไม่ควรยึด ก็จะสร้างความทุกข์ใจขึ้นมา

 

ทรงสอนว่าความทุกข์อยู่ที่ร่างกาย ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา ถ้าไปยึดไปติดร่างกาย ไปอยากให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย พอร่างกายแก่เจ็บตาย ใจก็จะทุกข์ ถ้าจะดับความทุกข์ ก็ต้องปล่อยวางร่างกาย คืออย่าไปอยากให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามความจริง คือมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการแก่ การเจ็บ การตายเป็นธรรมดา พอฟังแล้วพิจารณาตาม ทำใจให้ปล่อยวาง ตัดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายได้ ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็จะไม่เป็นปัญหาต่อผู้ที่เห็นด้วยปัญญาแล้วว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วดับไป พระอัญญาโกณฑัญญะหลังจากได้ฟังพระอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ปรากฏมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาว่า ความทุกข์เกิดจากความอยาก อยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็ต้องตัดความอยาก ด้วยการยอมรับว่า ธรรมอันใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา พอยอมรับแล้วก็จะไม่ทุกข์ กับสิ่งที่มีการเกิดมีการดับเป็นธรรมดา จะไม่ยึดไม่ติดอีกต่อไป

 

นอกจากร่างกายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ก็อยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ คำสรรเสริญยกย่องเยินยอ และความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีการเจริญและมีการเสื่อมเป็นธรรมดา ผู้ที่มีปัญญาเข้าใจหลักของไตรลักษณ์ เข้าใจหลักของอนิจจัง ของการเกิดและการดับ ก็จะไม่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ ถ้ายังต้องพึ่งพาอาศัยก็อาศัยไปเท่าที่จะอาศัยได้ แต่พร้อมที่จะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป เพราะในที่สุดก็ต้องเป็นอย่างนั้น เวลาร่างกายหยุดทำงาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่หามาได้ด้วยร่างกาย ก็จะหมดสภาพไปพร้อมกับร่างกาย ใจไม่สามารถเป็นเจ้าของได้อีกต่อไป เพราะไม่มีร่างกายที่จะไปควบคุมดูแล ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ เหมือนเวลาที่มีร่างกายอยู่ ถึงแม้จะกลับมาได้ร่างกายใหม่ ก็จะไม่มีใครเชื่อว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติเงินทองต่างๆเหล่านั้น จึงไม่ควรไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆที่ไม่เที่ยง ที่มีการเกิดและการดับเป็นธรรมดา จะได้ไม่ทุกข์ อะไรจะเกิดอะไรจะดับก็จะไม่เป็นปัญหา กับใจที่ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ ถ้ายังยึดยังติด ยังมีความอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ พอไม่ได้เป็นไปตามความอยาก ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

 

นี่คือคุณประโยชน์ของธรรมะ ของคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูป ก็จะไม่มีโอกาสมีดวงตาเห็นธรรมเลย ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงรู้นี้ ต้องเป็นคนระดับพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ที่สามารถรู้ได้ด้วยตนเอง ผู้อื่นไม่มีโอกาสรู้ได้เลย คือรู้พระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่มีใครสามารถรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะทุกคนไม่มองเข้ามาที่ใจ มองไปข้างนอกกัน เวลาใจทุกข์กลับไม่มองว่า ต้นเหตุอยู่ที่ข้างใน คือความอยาก พออยากปั๊บ ก็เป็นเหมือนสุนัขถูกน้ำร้อนลวก ต้องหาอะไรสักอย่างมาทำให้หายทุกข์ แทนที่จะพิจารณาว่า ความทุกข์อยู่ที่ไหน เกิดจากอะไร กลับไปดับทุกข์ด้วยวิธีต่างๆ เช่นไปหาเงินหาทอง ไปหาตำแหน่ง ไปหารูปเสียงกลิ่นรสมาเสพ ที่ช่วยกลบความทุกข์ใจได้เพียงชั่วคราว ไม่ได้ดับทุกข์อย่างถาวรหลังจากนั้นไม่นานก็จะเกิดความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อีก ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก

 

นักปราชญ์อย่างพระพุทธเจ้าทรงมองเข้ามาข้างใน มองดูที่ใจของพระองค์เอง แล้วพิจารณาหาสาเหตุว่า ทำไมพระองค์ไม่สบายใจ ทำไมทุกข์ใจ ก็ทรงเห็นว่าเพราะความอยากต่างๆนั่นเอง ความอยากในกาม ในรูปเสียงกลิ่นรส เวลาอยู่บ้านไม่ได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ได้เสพไม่ได้สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสชนิดต่างๆ ก็อยากจะออกไปเสพ ขณะที่อยากจะออกไปนี้ ใจก็ไม่สงบแล้ว รู้สึกว้าเหว่เบื่อหน่าย ก็เลยต้องออกไปหารูปเสียงกลิ่นรส ความอยากก็จะระงับไปชั่วคราว พอกลับมาบ้านไม่นาน ความอยากก็หวนกลับมาอีก ก็ต้องออกไปอีก แทนที่จะพิจารณาให้เห็นว่า ความอยากเป็นต้นเหตุของความหงุดหงิดว้าเหว่ กลับไม่คิดอย่างนั้นกัน ถ้าคิดอย่างนั้นก็จะได้พยายามละความอยาก ไม่ตอบสนองความอยาก ความอยากก็จะอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีเหลืออยู่ในใจเลย

 

ถ้าความอยากได้รับการตอบสนอง ความอยากก็จะทำท่าอ่อนลง แต่อ่อนลงไม่นาน แล้วก็จะกลับแรงขึ้นกว่าเก่าอีก ทุกครั้งที่ตอบสนองความอยาก ก็จะทำให้ความอยากมีกำลังเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ พอได้คืบก็อยากจะได้ศอก ได้ศอกก็อยากจะได้วา จะทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีขอบไม่มีเขต มหาสมุทรแม้จะกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหนก็ตาม ยังมีขอบมีฝั่งมีฝา แต่ความอยากนี้ไม่มีฝั่งไม่มีฝา กว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่ามหาสมุทร ถ้าไม่ได้พระพุทธเจ้ามาทรงสอน พวกเราก็จะอยากไปตลอดอนันตกาล การที่พวกเราได้มาเกิดกันในชาตินี้ ก็เป็นผลของความอยากของพวกเราเอง ส่วนพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ไม่ได้กลับมาเกิดอีกแล้ว เพราะรู้ทันความอยาก ได้กำจัดความอยากต่างๆให้หมดสิ้นไปจากใจของท่านแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ผลักดันให้ไปเกิดใหม่อีก

 

นี่คืออริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาสั่งสอนพวกเรา ถ้าพวกเรายึดหลักของพระอริยสัจ ๔ เป็นแนวทางของการดำเนินชีวิต รับรองได้ว่าความทุกข์ในใจจะน้อยลงไปตามลำดับ และหมดสิ้นไปอย่างแน่นอนภายในชาตินี้เลย ไม่ต้องเสียเวลาบำเพ็ญบารมีอย่างที่พระพุทธเจ้าต้องทรงบำเพ็ญมาเป็นกัปเป็นกัลป์ เพราะไม่ทรงทราบว่าต้องบำเพ็ญอะไรบ้าง ก็เลยต้องบำเพ็ญถูกบ้างผิดบ้าง จนกว่าจะเห็นพระอริยสัจ ๔ ส่วนพวกเราเพียงเกาะชายผ้าเหลือง ก็สามารถตามเสด็จได้อย่างสบาย ด้วยการน้อมเอาพระธรรมคำสอน คือพระอริยสัจ ๔ มาเป็นหลัก มีพระอริยสัจ ๔ อยู่ในความรู้สึกนึกคิดเสมอ เวลาใดที่มีความทุกข์ใจ ขอให้ระลึกถึงคำสั่งสอนทันที ว่าเราไม่สบายใจเพราะความอยากของเราเอง ไม่ใช่เพราะมีแผ่นดินไหว มีสึนามิ มีภัยต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหตุให้เราทุกข์ใจ ความทุกข์ใจเกิดขึ้นมาเพราะเราไม่อยากให้เกิดแผ่นดินไหว เกิดสึนามิ เกิดภัยต่างๆ เพราะไม่รู้ว่าภัยต่างๆเหล่านี้ ไม่สามารถทำลายใจได้ ทำลายได้ก็เพียงร่างกาย ซึ่งไม่ใช่เป็นตัวเราของเราอยู่แล้ว

 

เนื่องจากพวกเราไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่รู้ว่าตัวของเราคือใจที่ไม่ตาย ที่ไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถทำลายได้ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่รู้กัน เราก็เลยวิตกวุ่นวายกับภัยต่างๆ ถ้ามองกลับมาที่ใจว่า ตอนนี้ไม่สบายใจเพราะอะไร เพราะความอยากใช่ไหม ต้องอยากอะไรสักอย่างหนึ่ง ถึงทำให้ไม่สบายใจ ลองถามตัวเองดู จะได้คำตอบว่าไม่อยากให้เกิดภัยต่างๆ ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชีวิตของเรา เช่นตอนนี้ชีวิตของเรากำลังดีอยู่ อยากให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด พอมีเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา ก็เกิดความไม่สบายใจ คิดอย่างนี้เป็นการเจริญมรรค ใช้สติปัญญาวิเคราะห์ว่าทุกข์เกิดมาจากอะไร พอรู้ว่าความทุกข์เกิดจากความอยาก รู้ว่าความทุกข์จะดับได้ด้วยการละความอยาก ก็ละความอยากไป ความทุกข์ก็จะหายไป ความอยากเป็นเหมือนสวิทช์ไฟ เวลาจะเปิดไฟต้องเปิดสวิทช์ ไฟก็จะสว่างขึ้นมา ถ้าอยากดับไฟ ก็ปิดสวิทช์ ไฟก็จะดับไป ความอยากเป็นเหมือนสวิทช์ของความทุกข์ พออยากปั๊บความทุกข์ใจก็เกิดขึ้นมาทันที พอรู้ว่าความทุกข์เกิดจากความอยาก และดับทุกข์ได้ด้วยการละความอยาก เราก็ละความอยากไป เราก็จะดับทุกข์ใจได้ ไม่ว่าจะทุกข์กับเรื่องอะไร ก็อยู่ในทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคทั้งนั้น

 

นี่คือการทำงานของพระอริยสัจ ๔ ทำงานไปพร้อมๆกันทั้ง ๔ ประการ พอทุกข์เกิดปั๊บ สติปัญญาคือมรรค ก็เข้ามาวิเคราะห์ดูว่า ทำไมถึงไม่สบายใจ เพราะอะไร เพราะอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ใช่ไหม ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็อย่าไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา เช่นฝนจะตกก็ปล่อยให้ตกไป อย่าไปยุ่งกับเขา อย่างมากก็แค่เปียก ถ้าไม่อยากเปียกก็ไปหาที่หลบฝน ถึงแม้จะเปียก นั่งอยู่ท่ามกลางฝน ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะใจไม่ได้เปียกไปกับร่างกาย ฝนทำอะไรใจไม่ได้ ทำได้แต่เพียงร่างกายเท่านั้นเอง นี่คือการใช้ปัญญาวิเคราะห์ เป็นมรรค เป็นผู้พิจารณาว่าทุกข์เกิดจากอะไร พอรู้ว่าสมุทัยที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์คือความอยาก ก็ต้องละความอยาก พอละได้แล้วความทุกข์ก็จะดับไป ก็จะเป็นนิโรธ แปลว่าความดับของทุกข์ นี่คือเรื่องของพระอริยสัจ ๔ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญให้มาก นี้คืองานในพระอริยสัจ ๔ พอเกิดทุกข์ปั๊บ ก็ต้องพิจารณาด้วยมรรคทันที ด้วยสติปัญญาทันที พอรู้ว่าเกิดจากสมุทัย ก็ต้องละสมุทัย พอละสมุทัยแล้ว นิโรธความดับของทุกข์ก็ปรากฏขึ้นมา นี่คือพระอริยสัจ๔ ที่ทำงานอยู่ภายในใจของพวกเรา

 

ส่วนใหญ่ทำอยู่เพียงด้านเดียว คือด้านทุกข์กับสมุทัย เวลาเกิดความทุกข์แทนที่จะเจริญมรรค ใช้สติปัญญาพิจารณา ว่าอะไรกำลังทำให้เราทุกข์ ก็กลับไปทำตามคำสั่งของความอยาก ความอยากบอกว่าอยากดื่มเหล้า ก็ไปหาเหล้ามาดื่ม แทนที่จะละสมุทัยกลับไปเพิ่มสมุทัย ไปทำตามความอยาก แล้วเป็นอย่างไร ก็ต้องดื่มสุราไปจนวันตาย เลิกไม่ได้ถ้าไม่เห็นโทษของสุรา ไม่เห็นว่าความอยากดื่มสุราเป็นเหตุของความทุกข์ใจ ถ้าเห็นว่าความอยากดื่มสุราเป็นเหตุของความทุกข์ใจ ก็เป็นการเจริญมรรค ใช้สติปัญญาวิเคราะห์ ว่าความทุกข์ใจเกิดจากการอยากดื่มสุรา พอเลิกดื่มได้ความทุกข์ใจก็หายไป ความอยากดื่มสุราก็หายไป สุราก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป เพราะไม่มีความอยากจะดื่ม เข็ดแล้ว รู้แล้วว่าความอยากดื่มสุราเป็นต้นเหตุทำให้ทุกข์ทรมานใจ จึงต้องเจริญตามอย่างพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสว่า ทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้ ตถาคตได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยที่ต้องละ ตถาคตได้ละแล้ว นิโรธที่ต้องทำให้แจ้ง ตถาคตได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ต้องเจริญให้มาก ตถาคตได้เจริญเต็มที่แล้ว

 

ถ้าเจริญมรรคได้เต็มที่แล้ว ก็จะละสมุทัยได้ ทุกครั้งที่เกิดทุกข์ขึ้นมาจะมีมรรคมากำจัดสมุทัย คือความอยากต่างๆได้ทันที พอสมุทัยถูกกำจัดแล้วทุกข์ก็จะดับไป ต่อไปจะมีแต่นิโรธตลอดเวลา คือความดับทุกข์ตลอดเวลา เป็นพระนิพพานไป พระนิพพานคือใจที่ไม่มีความทุกข์อยู่เลย เป็นใจของพระอรหันต์เท่านั้น พระอริยบุคคลขั้นอื่นถึงแม้จะดับทุกข์ได้ แต่ยังดับไม่หมด มีเพียงพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ภายในใจเลย เพราะท่านได้เจริญมรรคเต็ม ๑๐๐ แล้ว ส่วนพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ยังเจริญไม่ได้เต็ม ๑๐๐ พระโสดาบันเจริญได้ประมาณ ๑ ใน ๔ พระสกิทาคามีได้ ๒ ใน ๔ พระอนาคามีได้ ๓ ใน ๔ พระอรหันต์เจริญได้ ๔ ใน ๔ คือครบ ๑๐๐ เลย หน้าที่ของพวกเราจึงอยู่ที่การเจริญมรรคนี้เอง มรรคเป็นผู้ที่จะกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้ง

 

มรรคคืออะไร ทรงแสดงไว้ ๘ อาการด้วยกันคือ ๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ๒. สัมมาสังกัปโป ความคิดที่ถูกต้อง ๓. สัมมากัมมันโต การกระทำที่ถูกต้อง ๔. สัมมาวาจา การพูดที่ถูกต้อง ๕. สัมมาอาชีโว อาชีพที่ถูกต้อง ๖. สัมมาวายาโม ความเพียรที่ถูกต้อง ๗. สัมมาสติ การระลึกรู้ที่ถูกต้อง ๘. สัมมาสมาธิ การตั้งมั่นของจิตที่ถูกต้อง นี่คือมรรคที่พวกเราต้องเจริญกัน และได้ทรงแสดงมรรคเป็น ๓ กลุ่มคือ ทาน ศีล ภาวนา สำหรับผู้ที่ยังมีสมบัติข้าวของเงินทอง จึงต้องให้ทานก่อน ต้องสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ศีลก็คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่พูดปด ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้อื่น ภาวนาก็คือสัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป แบ่งเป็น ๒ ส่วนด้วยกันคือสมาธิและปัญญา ก่อนจะมีสมาธิได้ต้องเจริญสติก่อน ต้องดึงจิตให้ตั้งอยู่ในปัจจุบัน ให้ระลึกรู้ในปัจจุบัน ให้อยู่กับการกระทำของร่างกาย ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่าให้จิตไประลึกรู้เรื่องต่างๆ เรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตก็ดี เรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นมาในอนาคตก็ดี อย่าส่งจิตไป ให้อยู่ในปัจจุบัน นี่เป็นการเจริญสติ จะใช้การบริกรรมพุทโธๆดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบันก็ได้ เพราะเวลาบริกรรมพุทโธๆ จิตจะไม่สามารถไปคิดเรื่องต่างๆได้

 

การเจริญสติจึงมีหลายวิธีด้วยกัน ในเบื้องต้นทรงสอนให้เจริญที่ร่างกาย ให้ตั้งสติอยู่ที่ร่างกาย หรือบริกรรมพุทโธๆไป ในขณะที่ดำเนินชีวิตประจำวัน พยายามควบคุมความคิดให้คิดให้น้อยที่สุด ให้คิดเท่าที่จำเป็น ถ้าต้องคิดก็ให้คิดเรื่องที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต อย่าไปคิดเพ้อเจ้อ อย่าไปคิดเพ้อฝัน อยากเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ มีอย่างนั้นมีอย่างนี้ อย่าไปคิดให้เสียเวลา ให้คิดหรือรู้อยู่กับเรื่องที่กำลังทำอยู่ เช่นรู้ว่ากำลังอาบน้ำ แปรงฟัน รับประทานอาหาร เดินไป เดินมา จิตจะได้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เวลาต้องการให้จิตสงบนิ่ง รวมลงเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขา ก็จะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย เวลาอยู่ที่สงบ นั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวให้ตรง หลับตาบริกรรมพุทโธๆ มีสติควบคุมจิตให้อยู่กับการบริกรรม ไม่นานจิตก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบนิ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขา เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้อง

 

ถ้าสงบแล้วออกไปรู้เรื่องต่างๆ เช่นเรื่องของกายทิพย์ อย่างนี้เป็นมิจฉาสมาธิ ถึงแม้จะน่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งก็ตาม แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา ต่อการเจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป ที่จะต้องเจริญต่อไป หลังจากที่ออกจากสมาธิแล้ว เพราะจะไม่มีกำลัง กิเลสไม่ได้ถูกฉีดยาสลบ พอออกจากสมาธิแล้วเริ่มคิดปรุงแต่ง กิเลสก็จะมาฉุดลากให้คิดไปในทางโลกทันที จะไม่คิดในทางสัมมาทิฏฐิ ทางสัมมาสังกัปโปเลย คือพิจารณาพระอริยสัจ ๔ หรือพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาเลย ถูกกิเลสตัณหาพาให้คิดไปในทางสมุทัยและทุกข์ แทนที่จะคิดไปในทางมรรคและนิโรธ พอออกจากสมาธิก็อยากจะดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ก็เป็นกิเลสแล้ว ดื่มน้ำเปล่าๆไม่ได้ ต้องดื่มน้ำที่มีรสชาติ มีกลิ่น มีสี หรือรับประทานขนมนมเนยต่างๆ ทั้งๆที่ยังไม่ใช่เวลารับประทาน ร่างกายรับประทานวันละ ๑ ครั้ง ก็พอเพียงแล้ว ถ้ารับประทานมากกว่านั้น ก็แสดงว่ารับประทานด้วยความอยาก ไม่ได้รับประทานด้วยความต้องการของร่างกาย ก็จะเป็นสมุทัย เป็นความทุกข์ขึ้นมา

 

ถ้าจิตรวมลงแล้วสงบนิ่งและว่าง เป็นอุเบกขาสักแต่ว่ารู้ นิ่งได้นานเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้กิเลสอ่อนกำลังลงไป เวลาออกจากสมาธิแบบนี้ กิเลสจะไม่มีกำลังฉุดลากให้ไปคิดในทางสมุทัยและทุกข์ จะคิดในทางมรรค ในทางไตรลักษณ์ ในทางทุกขังอนิจจังอนัตตา ในทางอริยสัจ ๔ ได้ คิดว่าความอยากต่างๆ เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ พออยากอะไรก็ต้องถามเลยว่า เป็นความอยากหรือเป็นความจำเป็น ถ้าเป็นความจำเป็นไม่ถือว่าเป็นสมุทัย เพราะร่างกายต้องมีปัจจัย ๔ ไว้ดูแล ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ นี่คือการเจริญปัญญา คิดด้วยเหตุด้วยผล พอรู้ว่าเป็นความอยาก ไม่ใช่เป็นความจำเป็น ก็จะตัดได้ เพราะมีกำลัง มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เช่นความอยากดื่มสุราจะไม่เกิดขึ้นมาในใจเลย ถ้าปฏิบัติธรรมได้ นั่งสมาธิได้ เจริญปัญญาได้ ถึงแม้จะติดสุรามามากน้อยเพียงไรก็ตาม จะไม่มีกำลังสร้างความอยากขึ้นมา เพราะใจมีมรรคคอยคุมสมุทัย พอคุมได้แล้วความทุกข์ต่างๆ ก็จะเบาบางลงไป และหมดสิ้นไปในที่สุด ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ด้วยการเจริญมรรค ด้วยการน้อมเอาพระอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า มาตั้งไว้ในใจเสมอ

 

เวลาที่เราไม่สบายใจทุกข์ใจ อย่าไปแก้ข้างนอก ให้เข้ามาแก้ข้างใน แก้ความอยากของเรา เช่นตอนนี้กลัวเปียก ก็หยุดกลัว ให้มันเปียกไป ตอนนี้จะนั่งฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรม ใจไม่เปียก ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวกลับไปบ้านอาบน้ำก็เปียกอยู่ดี เปียกที่นี่กับเปียกที่บ้าน ก็เปียกเหมือนกัน อยู่ที่ใจว่าพร้อมจะเปียกหรือไม่ ถ้าพร้อมก็ไม่มีความทุกข์กลับมีความสุข เวลากลับบ้านได้อาบน้ำทำไมมีความสุข ทำไมตอนนี้เปียกน้ำต้องทุกข์ด้วย เพราะใจไม่พร้อมที่จะเปียกนั่นเอง ตอนนี้จะเปียกก็ให้เปียกไป ถ้าใจพร้อมรับรองได้ว่าจะไม่ทุกข์ จะมีความสุข ความทุกข์อยู่ที่ใจ ต้องแก้ที่ใจ อย่าไปแก้ข้างนอก เพราะแก้เท่าไหร่ก็ไม่จบ เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เหมือนกับฆ่าต้นไม้ ต้องถอนรากถอนโคน อย่าตัดกิ่งก้าน ตัดไปเท่าไหร่เดี๋ยวก็งอกขึ้นมาใหม่ ถ้าต้องการดับทุกข์อย่างถาวร ก็ต้องตัดความอยากต่างๆให้หมดไปจากใจ ซึ่งมีอยู่ ๓ กลุ่มด้วยกันคือ ๑. กามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ๒. ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น ๓. วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

 

ตอนนี้เราก็มีก็เป็นอยู่แล้ว ให้พอใจกับความมีความเป็นของเรา อย่าไปอยากให้มีหรือเป็นมากไปกว่านี้ ตอนนี้เราเป็นอะไรขอให้พอใจ จะได้ไม่ทุกข์ ถ้าไม่พอใจก็จะทุกข์ เช่นตอนนี้เป็นประชาชนธรรมดา แต่อยากเป็นส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องไปวิ่งเต้นไปหาเสียง ต้องเสียเงินเสียทอง ทำบาปทำกรรม แทนที่จะดับความทุกข์ กลับสร้างความทุกข์ให้มีเพิ่มมากขึ้นไปอีก ต้องรู้จักกับคำว่ามักน้อยสันโดษ ยินดีตามสภาพ ตามมีตามเกิด เรียกว่าสันโดษ มีฐานะอย่างไรก็ให้พอใจ ยกเว้นเรื่องของธรรมะ สันโดษไม่ได้ พวกเรายังขาดธรรมะกันอยู่มาก ธรรมะเป็นที่พึ่งของเรา ต้องมีมาก อย่างอื่นเช่นลาภยศสรรเสริญสุข ต้องมีสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด แต่เรื่องธรรมะอย่าไปมักน้อยสันโดษ ต้องโลภให้มากๆ ต้องอยากให้มากๆ ต้องอยากปฏิบัติธรรมมากๆ อยากจะเจริญมรรคมากๆ ไม่เช่นนั้นจะเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าจะมักน้อยสันโดษ ก็ต้องไม่ทำบุญรักษาศีลปฏิบัติธรรมเลย จึงควรรำลึกถึงพระอริยสัจ ๔ อยู่เสมอ ให้รู้ว่านี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นรากเหง้าของพระพุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาท ออกมาจากพระอริยสัจ ๔ ทั้งนั้น ถ้าได้ศึกษาและปฏิบัติ จะรู้ว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ

 

ถาม          มีคนจะสร้างโบสถ์ถวายหลวงตา ท่านไม่ให้สร้าง

 

ตอบ          ในหลวงจะสร้างถวาย แต่หลวงตาตอบไปว่า สนใจสร้างพระมากกว่าสร้างถาวรวัตถุ โบสถ์เป็นที่ใช้ทำพิธีกรรม ไม่มีโบสถ์ก็ทำได้ สงฆ์เพียงกำหนดเขตสีมาขึ้นมา ก็ทำพิธีกรรมได้แล้ว เช่นการบวชพระ ต้องมีเขตมีสีมา

 

ถาม          เปลี่ยนแปลงเขตได้หรือไม่

 

ตอบ          สงฆ์เป็นผู้กำหนด สงฆ์ก็เปลี่ยนได้

 

สมัยพระพุทธกาลจะไม่ให้ความสำคัญกับถาวรวัตถุมากนัก ถ้าไม่มีกุฏิก็อยู่ตามโคนไม้ พอหลบแดดหลบฝนได้ ก็ใช้ได้แล้ว หรืออยู่ตามถ้ำ เพราะสมัยนั้นท่านมุ่งไปที่งานภาวนา เดินจงกรมนั่งสมาธิเป็นหลัก ถ้าสร้างถาวรวัตถุจะเสียเวลามาก ชีวิตก็ไม่แน่นอน ประมาทไม่ได้ ถ้าพลาดตายไปก่อน โอกาสทองก็จะหลุดจากมือไป พอกลับมาเกิดใหม่อีก ก็ไม่รู้ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือไม่ เพราะพระพุทธศาสนานานๆจะเกิดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง การได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ยาก จังหวะของการเกิดของพระพุทธศาสนา กับการเกิดเป็นมนุษย์ของพวกเรา จะตรงกันได้สักกี่ครั้งกัน พระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นได้ในแต่ละครั้ง ก็ต้องใช้เวลาเป็นกัป พอมีพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาใหม่ พวกเราจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์หรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือถ้าได้มาเกิดแต่กลับไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา เหมือนกับคนมากมายในโลกนี้ที่กล่าวหาว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนางมงาย สอนให้คนงมงาย ล้าสมัย ไม่ทันสมัย คนพวกนี้เป็นเหมือนพวกบัวก้นบึง ที่จะเป็นอาหารของปูของปลาไป ไม่มีโอกาสที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำได้

 

พวกที่มีโอกาสก็คือพวกที่มีศรัทธา มีความเชื่อในพระพุทธศาสนา เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อพระธรรมคำสอน เชื่อพระอริยสงฆ์สาวก แล้วก็ปฏิบัติตามกำลังของสติปัญญา วิริยะความพากเพียร ที่มีความเหลื่อมล้ำต่างกันไป เพราะสติปัญญาความเพียรของแต่ละคนมีไม่เท่ากันนั่นเอง บางคนก็ไปได้ไกล คนที่ไปไม่ได้ไกล ก็สามารถไปได้ ถ้าศึกษาพระธรรมคำสอนอยู่เรื่อยๆ มีใจใฝ่ในธรรม ยินดีในธรรม พอมีเวลาว่างก็เข้าหาธรรมะ อ่านหนังสือธรรมะ เปิดเทปธรรมะฟัง และปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยๆ จะทำให้เจริญก้าวหน้าในทางธรรม ต้องคิดเสมอว่าชีวิตไม่แน่นอน จะดับไป เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ตอนมีชีวิตอยู่นี้เหมือนกับได้รับอนุญาตจากมหาเศรษฐี ให้เข้าไปในห้องเก็บทรัพย์สมบัติ ไปขนเงินทองได้ตามที่ต้องการ จะมานั่งๆนอนๆดูทรัพย์สมบัติไปทำไม รีบขนไปไม่ดีกว่าหรือ เช่นเดียวกับพระอริยทรัพย์คือมรรคผลนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดตู้เซฟให้พวกเราเข้าไปขนกัน ถ้ายังขี้เกียจก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรดี ก็จะเป็นเหมือนไก่ได้พลอย ไก่ไม่ชอบพลอย แต่ชอบไส้เดือน พวกเราที่ไม่ชอบมรรคผลนิพพาน ก็เหมือนชอบไส้เดือน ชอบรูปเสียงกลิ่นรส ชอบลาภยศสรรเสริญ ถ้าชอบอย่างนี้ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอด

 

การระลึกถึงการจากไปของครูบาอาจารย์เป็นการเตือนสติ ว่าชีวิตของเราก็ต้องเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ควรประมาท ควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต ถ้ายังกลัวการสูญเสียชีวิตอยู่ ก็ต้องเจริญปัญญาให้มากๆ พิจารณาให้เห็นว่าร่างกายเกิดมาแล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นเหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่เราได้มาจากพ่อแม่ เราใช้ตุ๊กตาตัวนี้ เป็นเครื่องมือหาความสุข หาความทุกข์ให้กับเรา ส่วนใหญ่จะหาความทุกข์กันมากกว่า เพราะความหลง ไม่รู้ว่าความสุขเป็นอย่างไร ไปเห็นความทุกข์ว่าเป็นความสุข จึงมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทั้งๆที่หาความสุขกันตลอดเวลา แต่กลับต้องเจอความทุกข์ตลอดเวลา เพราะขาดความรู้ที่จะสอนให้รู้ว่า ความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร ตอนนี้พวกเรารู้แล้ว แต่ขาดความเพียรความกล้าหาญ ที่จะหาความสุขที่แท้จริงนี้ เพราะก่อนที่จะได้ความสุขที่แท้จริงนี้ ต้องเหนื่อยยากลำบาก เช่นพระพุทธเจ้าต้องออกจากวัง ถึงจะได้ความสุขนี้มา ถ้าอยู่ในวังจะไม่ได้ เคยอยู่ในวังแล้วต้องมาอยู่ในป่าในเขา อยู่แบบขอทาน จะทุกข์ยากลำบากขนาดไหน แต่ทำไมทรงทำได้ เพราะทรงมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า เป็นการหาความสุขที่แท้จริง แล้วในที่สุดก็ทรงได้ความสุขที่แท้จริง คือบรมสุข ปรมังสุขัง เป็นความสุขที่ถาวร ไม่มีวันหมดสิ้น

 

ถ้ายอมสละความสุขเล็กๆน้อยๆ เพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องยอมทุกข์ยากลำบาก อย่าไปกลัวความทุกข์ยากลำบากนี้เลย เพราะจะทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงตามมา เหมือนกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หมอบอกว่าก่อนจะหายต้องเจ็บตัวหน่อย ต้องผ่าตัด เอาสิ่งที่เป็นปัญหาออกจากร่างกายไป ก็ต้องยอมเจ็บ เพราะอยากจะหาย ฉันใดถ้าอยากจะได้ความสุขที่แท้จริง อยากจะพ้นจากความทุกข์ ก็ต้องยอมเจ็บตัวบ้าง เจ็บแบบพระปฏิบัติ อยู่แบบอดอยากขาดแคลน ทั้งๆที่มีมากได้ แต่ต้องบังคับไม่ให้มีมาก จะฉันวันละสามครั้งก็ฉันได้ แต่ต้องทำใจฉันครั้งเดียว ยอมอดข้าวเย็น ยอมหิวตอนเย็น ใช้วิธีนั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบเป็นการระงับความหิว เพราะความหิวส่วนใหญ่ ไม่ได้หิวที่ร่างกาย แต่หิวที่ใจ หิวที่ความอยากนี่แหละ พอทำใจให้สงบ ความอยากก็ระงับไปชั่วคราว ความหิวส่วนใหญ่ก็หายไป ก็เลยไม่รู้สึกหิว ความหิวของร่างกายมีเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้นเอง

 

เช่นเดียวกับความเจ็บของร่างกาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยหรือนั่งสมาธิไปนานๆ แล้วเกิดอาการเจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ ความเจ็บของร่างกายนี้มีเพียงเปอร์เซ็นต์เดียวเท่านั้น แต่ความเจ็บของใจนี้มี ๙๙ เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน ที่ทนไม่ได้ไม่ใช่ความเจ็บของร่างกาย แต่ทนความเจ็บของใจ ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บของร่างกายไป ด้วยการขยับตัว เปลี่ยนอิริยาบถ ความเจ็บใจนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา ถ้าสามารถควบคุมความอยากไม่ให้ทำงานได้ ความเจ็บของร่างกายจะเป็นเหมือนกับเข็มฉีดยา เวลาหมอบอกว่าจะฉีดยา ก็ทุกข์ขึ้นมาในใจก่อนแล้ว ยังไม่ทันถูกเข็มเลย พอหมอฉีดเข้าไปจริงๆ ก็เจ็บนิดเดียว จะเจ็บที่ใจมากกว่า แต่พอใจยอมเจ็บ จะเจ็บนิดเดียว เพราะฉะนั้นเวลานั่งสมาธิแล้วเกิดอาการเจ็บ ต้องควบคุมความอยากหนีจากความเจ็บนี้ไปให้ได้

 

มี ๒ อุบายด้วยกันคือ ๑. บริกรรมพุทโธๆให้ถี่ไปเลย ไม่ให้คิดถึงความเจ็บ จะเจ็บอย่างไรก็ปล่อยให้เจ็บไป ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ให้อยู่กับพุทโธๆ ไม่นานความเจ็บทางใจจะหายไปหมดเลย ใจก็จะสงบ บางทีความเจ็บที่ร่างกายก็หายไปหมดเลย ๒. ใช้ปัญญาพิจารณาว่ามันเจ็บจริงหรือ ใครบอกว่ามันเจ็บ เราไปบอกว่ามันเจ็บ หรือมันบอกว่ามันเจ็บ มันไม่ได้บอกสักหน่อยว่ามันเจ็บ เราเองต่างหากที่ไปบอกว่ามันเจ็บ ถ้าเราบอกว่ามันไม่เจ็บมันก็จะไม่เจ็บ เวลานั่งดูหนังแล้วปวดปัสสาวะ ยังไม่เจ็บเลย ไม่อยากลุก อยากจะดูต่อ ก็ดูได้ ทนเจ็บได้ เพราะใจไม่ได้เจ็บ ใจมีความสุขกับการดูหนัง ต้องสอนใจให้รู้ว่าความเจ็บของร่างกาย ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด ใจรับรู้ได้หมด เพราะใจไม่ได้เป็นร่างกาย แต่ที่ใจรับไม่ได้เพราะใจไม่ยอมรับเอง ใจอยากจะหนีจากความเจ็บ หรือกลัวความเจ็บ เลยทำให้เกิดความเจ็บมากขึ้นมาภายในใจ ต้องแก้ด้วยการสอนใจไม่ให้อยากให้ความเจ็บหายไป ให้เห็นว่าถ้าอยากให้หายจะทุกข์ ถ้าปล่อยวางได้ใจก็จะไม่ทุกข์ ถ้าทำได้แล้วต่อไปจะไม่กลัวความเจ็บ เพราะรู้วิธีปฏิบัติแล้ว จะยินดีต้อนรับ ไม่ขับไล่ไสส่ง ไม่วิ่งหนี ทำใจให้เป็นอุเบกขา ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ห้ามไม่ได้ แต่ห้ามใจไม่ให้ทุกข์ได้

 

เวลาร่างกายเจ็บปวด ไม่ต้องรับประทานยาแก้ปวด ถ้ามีอุเบกขา ที่ปวดมากๆทนไม่ได้ ไม่ได้ปวดที่ร่างกาย แต่ปวดที่ใจต่างหาก ใจปวดมากเพราะกลัวความเจ็บของร่างกาย อยากให้ความเจ็บหายไป เลยทำให้เกิดความทุกข์ทางใจขึ้นมา ต้องรับประทานยาแก้ปวดเพื่อให้ความเจ็บหายไป ถ้าทำใจให้เป็นอุเบกขา ปล่อยวางความเจ็บของร่างกายได้ จะไม่รู้สึกทรมานใจเลย ไม่ต้องรับประทานยา การรับประทานยาไม่ดี รับประทานมากๆจะติดยา มีผลเสียหายกับร่างกาย ใช้ธรรมโอสถดีกว่า เวลานั่งสมาธิเจ็บก็อย่าลุก พยายามนั่งสู้กับมัน แต่อย่าสู้แบบให้มันหาย หรือเอาชนะมัน สู้แบบยอมรับมัน ยอมเป็นเพื่อนกับมัน เหมือนกับเวลานั่งใกล้ๆกับคนที่เราไม่ชอบ จะรู้สึกขยะแขยง อยากให้เขาไปหรืออยากลุกหนี แต่ถ้าทำใจให้เฉยๆได้ จะรู้สึกเฉยๆ ปัญหาอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความอยาก ใจปล่อยวางไม่ได้ เป็นอุเบกขาไม่ได้ ถึงต้องทำสมาธิก่อน เพราะเวลาทำสมาธิแล้วใจจะเป็นอุเบกขา จะได้รู้ว่าอุเบกขาเป็นอย่างไร พอรู้แล้วเวลาออกจากสมาธิ ก็จะประคับประคองอุเบกขาต่อไป เวลามีอะไรดึงใจให้ออกจากอุเบกขาก็ดึงกลับมา ด้วยการปล่อยวางความอยากให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ใจก็จะเฉย

 

การทำสมาธินี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่รู้ว่าอุเบกขาอยู่ตรงไหน ใจจะแกว่งไปมาระหว่างรักกับชัง สุขกับทุกข์ ชอบกับเกลียด ไม่อยู่ตรงกลาง เพราะไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน พอทำสมาธิจนรวมลงเป็นอุเบกขาแล้วพอออกมาจะรู้ว่าอุเบกขาเป็นอย่างนี้ จะต้องรักษาเพราะเป็นทรัพย์ที่แท้จริง เป็นความสุขที่แท้จริง เวลาจิตอยู่ในอุเบกขา จะมีความสุข ไม่วุ่นวายใจ ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อนกับเรื่องราวต่างๆ พอใจจะออกไปจากอุเบกขา ก็ต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ว่า ไปยุ่งกับเขาทำไม เราควบคุมบังคับเขาไม่ได้ อย่างฝนตกนี่ เราสั่งเขาไม่ได้ สั่งให้หยุดให้ตกไม่ได้ แต่เราสั่งให้ใจเฉยๆได้ จะตกก็ปล่อยให้ตกไป จะหยุดก็หยุด ใจไม่ดีใจเสียใจ ไม่วุ่นวายกับการมาและไปของฝนแต่อย่างใด

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา แต่คนสมัยนี้มักจะคิดว่า สมาธิไม่สำคัญ ให้เจริญปัญญาเลย แต่ไม่รู้ว่าเจริญเพื่ออะไร เจริญเพื่อให้ปล่อยวาง แต่ไม่รู้ว่าการปล่อยวางอยู่ตรงไหน จะไม่มีทางปล่อยวางไว้ได้ จะหลอกตัวเองว่าปล่อยวางแล้ว แต่ยังทุกข์ทรมานใจอยู่ จึงควรเจริญมรรคให้มาก คือทานศีลภาวนา ภาวนาแบ่งเป็น ๒ ตอน คือ สมาธิและปัญญา ถ้าเป็นนักบวชทรงสอนให้เจริญศีลสมาธิปัญญา เพราะนักบวชได้ให้ทานไปหมดแล้ว ไม่มีสมบัติข้าวของเงินทองแล้ว นอกจากบวชไปนาน ๆแล้วมีบารมี มีคนเอาข้าวของเงินทองมาถวาย ก็ให้ทำไป แต่ไม่ได้ถือเป็นงานหลัก งานหลักของนักบวชคือศีลสมาธิปัญญา

 

ถาม          เวลาปฏิบัติอยู่ที่บ้าน จะตรวจสอบได้อย่างไร ว่าก้าวหน้ามาถูกทาง

 

ตอบ          ดูที่อารมณ์ว่าแรงขึ้นหรือเบาลง ความหงุดหงิดรำคาญใจน้อยลงหรือมากขึ้น ถ้าสบายใจปล่อยวางได้ รับกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ก็แสดงว่าก้าวหน้า ถ้ารับไม่ได้ แสดงว่ายังไม่ก้าวหน้า การปฏิบัติก็เพื่อให้ยอมรับความจริง ว่าไม่มีอะไรเป็นไปตามความต้องการของเรา

 

ถาม          เวลาปฏิบัติแล้วมีเหตุการณ์ทำให้จิตถดถอย พอกลับไปปฏิบัติต่อ ควรต่อยอด หรือนับหนึ่งใหม่

 

ตอบ          ทำต่อไป เหมือนรับประทานอาหารแล้วหยุดไป พอว่างก็รับประทานต่อ ไม่ได้เริ่มต้นใหม่ ทำไปตามกำลัง ทำอะไรได้ก็ทำไป นั่งสมาธิได้ก็นั่งไป ถ้านั่งไม่ได้ก็เปิดธรรมะฟังไปก่อน หรือสวดมนต์ไปก่อน หรือลุกขึ้นมาเดินจงกรม ควบคุมจิตใจให้อยู่กับการเดินก็ได้ ขึ้นอยู่กับจิตในขณะนั้นว่ามีกำลังมากน้อย ถ้ามีกำลังมากก็จะปฏิบัติได้มาก ถ้ามีกำลังน้อยก็จะปฏิบัติได้น้อย เป้าหมายอยู่ที่การควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ ถ้าว้าวุ่นขุ่นมัวก็ต้องหาวิธีทำให้กลับมาเป็นปกติ จะใช้วิธีการบริกรรมพุทโธๆ เพื่อให้ลืมเรื่องต่างๆ ที่ทำให้ว้าวุ่นขุ่นมัวก็ได้ หรือใช้ปัญญาวิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เหมือนฝนตกแดดออก เราไปห้ามเขาไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่เราไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ใจ ก็ต้องมาแก้ที่ใจ ดับความอยาก ปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ

 

                การปฏิบัติก็เพื่อรักษาความเป็นปกติของใจ ไม่ให้ทุกข์ไม่ให้วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ แต่ต้องฝึกซ้อมไว้ก่อน เพราะถ้าไม่ซ้อมเวลาเกิดเหตุการณ์ จะไม่สามารถดึงใจให้กลับสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว ต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่สภาพปกติ จะทรมานใจมาก ถ้าซ้อมไว้ก่อนก็จะสามารถดึงใจให้กลับเป็นปกติได้ทันที ปัญหาอยู่ที่เราไม่รู้ว่าใจไม่เป็นปกติ เพราะไม่คอยดูใจ มัวแต่ดูสิ่งที่อยู่ภายนอกใจ ต้องย้อนกลับมาดูที่ใจว่าเป็นปกติหรือไม่ ปล่อยวางได้หรือไม่วุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆหรือไม่ ให้คอยดูตรงนี้ สงบหรือว้าวุ่นขุ่นมัว จะวัดผลของการปฏิบัติก็วัดกันตรงนี้

 

                 ต้องซ้อมอยู่เรื่อยๆ พอมีปัญหาเกิดขึ้นมา จะแก้ปัญหาได้ทันที แทนที่จะไปแก้ข้างนอก ต้องแก้ปัญหาที่ใจก่อน ถ้าไปแก้ข้างนอกยิ่งแก้ยิ่งวุ่นวายใจ ในที่สุดก็เป็นบ้าไป เสียสติ ฆ่าตัวตายไป เพราะทำอะไรไม่ได้ดังใจ ต้องแก้ที่ใจ ต้องหยุดความอยากให้ได้ก่อน พอหยุดได้แล้ว ข้างนอกจะเป็นอย่างไรจะไม่เป็นปัญหา ถ้าหยุดไม่ได้ก็จะอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้ดังใจก็จะทุกข์ทรมานใจ จึงต้องฝึกต้องซ้อมไว้ก่อน ต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาไว้ก่อน สอนใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับ อย่าไปยุ่งกับเขาจะดีกว่า ถ้ายุ่งแล้วจะวุ่นวายใจ ถ้าไม่ยุ่งจะสบายใจ พออยู่ในเหตุการณ์ก็จะปล่อยวางได้ แก้ปัญหาของใจได้การปฏิบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ปฏิบัติเฉพาะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาเท่านั้น จะไม่ทันการณ์ เหมือนทหารต้องฝึกซ้อมการป้องกันประเทศไว้ก่อน พอเวลาเกิดศึกสงครามมีศัตรูบุกรุกจะรับกับเหตุการณ์ได้ ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ก่อน พอเกิดเหตุการณ์ จะสับสนวุ่นวายใจ ทำไม่ถูก

 

การวัดผลของการปฏิบัติให้ดูที่สติปัญญา ถ้าปฏิบัติก้าวหน้าสติปัญญาจะไว สามารถดับความวุ่นวายใจ ความโกรธ ความเสียใจ ความท้อแท้ใจได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องเจริญสติตลอดเวลา อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย เพราะจะสร้างปัญหา จะอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะเกิดความทุกข์ ความกังวลใจขึ้นมา ถ้าจะคิดก็ให้คิดความจริง คิดว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา เกิดมาแล้วต้องตาย คิดอย่างนี้แล้วจะทำให้มีปัญญา ที่จะแก้ความหลงได้ ความหลงจะหลอกให้คิดว่า จะไม่ตาย จะอยู่ไปตลอด ทำให้อยากอยู่ไปนานๆ พอมีเหตุการณ์ที่ขัดกับความอยาก ก็จะวุ่นวายใจขึ้นมาทันที แต่ถ้ารู้ความจริงว่าสักวันจะต้องตาย ก็จะรู้สึกเฉยๆ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่าใกล้ตายเข้าไปแล้วนะ

 

ถ้ารู้ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะรู้สึกเฉยๆ เห็นว่าร่างกายนี้เป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่เราได้มาจากพ่อจากแม่ เอามาใช้เป็นเครื่องมือหาความสุขความทุกข์ พอร่างกายตายไปก็เหมือนเสียตุ๊กตาไปตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้เสียตัวเราไป เพราะใจเราไม่ตาย ใจผู้รู้ผู้สั่งการไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ถ้าใจยังมีความอยากอยู่ ก็ไปหาร่างกายใหม่ ไปเกิดใหม่ แล้วก็มาอยู่แบบนี้ต่อไปอีกรอบหนึ่ง เป็นอย่างนี้มาหลายแสนหลายล้านรอบแล้ว แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเบื่อไม่อยากจะกลับมาเกิดอีก ก็จะตัดความอยากต่างๆ ที่เป็นเหตุของการกลับมาเกิดอีก ด้วยการเจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม พิจารณาไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ จะได้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีดวงตาเห็นธรรม มีปัญญา เห็นว่าความสุขความทุกข์อยู่ตรงไหน สามารถดับความทุกข์ทั้งหลายให้หมดไปได้ เหลือแต่ความสุขอย่างเดียวอยู่ภายในใจ พอถึงขั้นนั้นแล้วก็ไม่ต้องปฏิบัติอีกต่อไป ไม่ต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญสติ เพราะการเดินจงกรม นั่งสมาธิ และการเจริญสตินี้เป็นยารักษาโรคใจ คือความทุกข์ใจ พอโรคได้รับการรักษาจากยาจนหายขาดแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป

 

การปฏิบัติจึงมีวันสิ้นสุด ไม่เหมือนกับงานทางโลก ที่ต้องทำไปจนวันตาย เพราะใจหยุดไม่ได้ อยู่เฉยๆแล้วเหงา รู้สึกว่าไม่มีคุณค่า ต้องหาอะไรทำไปเรื่อยๆ เหนื่อยยากขนาดไหนก็หยุดไม่ได้ เป็นอำนาจของกิเลสผลักดัน ให้ไปทำงานที่ไม่ได้สร้างความสุข แต่สร้างความทุกข์ภายในใจให้มีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ สร้างภพชาติให้ยาวขึ้นไป พวกเราจึงควรเห็นความสำคัญทางศาสนา คือเจริญสติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา รักษาศีล ทำบุญให้ทาน เป็นงานที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ให้หมดไปจากใจ สร้างความสุขให้กับใจไปตลอด ไม่มีวันสิ้นสุด งานที่พระพุทธเจ้าได้ทำมาแล้ว และมอบหมายให้พวกเราทำกัน เพราะทรงเห็นว่าพวกเรายังไม่รู้จักความจริงนี้ ถ้าไม่สอนก็จะไม่รู้ได้ด้วยตนเอง จึงทรงสละเวลาถึง ๔๕ ปีด้วยกัน สั่งสอนญาติโยม พระเณร เทวดาทุกวัน

 

พระพุทธกิจ ๕ มีอยู่ ๕ ข้อคือ ๑. ตอนบ่ายทรงสั่งสอนฆราวาส ๒. ตอนค่ำทรงสั่งสอนพระภิกษุสามเณร ๓. ตอนดึกทรงสั่งสอนเทวดา ๔. ตอนเช้าก่อนทรงออกบิณฑบาตทรงเล็งญาณดูว่า จะไปโปรดสอนใครก่อนดี ดูคนที่พร้อมจะรับคำสอน พร้อมที่จะบรรลุธรรม ก็จะทรงไปโปรดคนนั้นก่อน ๕. แล้วก็ทรงออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ นี่เป็นกิจที่ทรงปฏิบัติมา ๔๕ พรรษา ทรงมุ่งไปที่การเผยแผ่ธรรมสั่งสอนธรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในโลกนี้ ไม่มีอะไรมีคุณค่ามากกว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย พวกเราจึงถือว่ามีโชคมีวาสนา ที่ได้มาพบพระธรรมคำสอน

 

หนังสือที่พวกเราได้รับไป ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้รับการสืบทอดมาด้วยการปฏิบัติ จากอาจารย์สู่ลูกศิษย์ อาจารย์องค์แรกก็คือพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์ก็คือพระสาวกทั้งหลาย พอฟังธรรมแล้วนำไปปฏิบัติก็มีดวงตาเห็นธรรม เห็นแบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น แล้วก็นำมาสอนลูกศิษย์อีกต่อ พอลูกศิษย์มีดวงตาเห็นธรรมก็ไปสอนผู้อื่นต่อ ถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ถ่ายทอดด้วยการศึกษา ด้วยการได้ยินได้ฟัง แล้วนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปปฏิบัติ แล้วก็ได้รับผลคือมรรคผลนิพพาน จากนั้นก็ไปสอนผู้อื่นต่อ นี่คือการสืบทอดและการรักษาพระพุทธศาสนา ให้คงอยู่กับโลกไปนานๆ อยู่ที่การศึกษาและการปฏิบัตินี้

 

ตอนนี้พวกเรามีหน้าที่ศึกษา มีหน้าที่ปฏิบัติ ก็ควรศึกษาไปปฏิบัติไป ยังไม่มีหน้าที่สั่งสอนก็อย่าเพิ่งสั่งสอน เพราะจะเสียเวลา จะสั่งสอนแบบคนหูหนวกตาบอด สั่งสอนไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะธรรมที่ได้ศึกษายังไม่เป็นธรรมแท้ เป็นจินตนาการ ศึกษาแล้วก็วาดภาพไป ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นภาพที่ไม่ตรงกับความจริง จะทำให้คนอื่นวาดภาพผิดตาม จึงควรศึกษาและปฏิบัติจนกว่าจะเห็นธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น หลังจากนั้นค่อยไปสั่งสอนผู้อื่นต่อไป

 

ถาม          ถ้าบรรลุโสดาบันแล้ว ต้องกลับมาเกิดอีกหรือเปล่า

 

ตอบ          ต้องกลับมาเกิดอีก แต่ไม่เกิน ๗ ชาติ ในพระคัมภีร์แสดงไว้อย่างนี้ ถ้าขยับขึ้นไปเป็นพระสกิทาคามี ก็จะกลับมาเกิดอีกชาติเดียว ถ้าเป็นพระอนาคามีก็ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะท่านตัดกามตัณหาได้หมดแล้ว ได้เจริญอสุภกัมมัฏฐานจนเบื่อหน่าย ในรูปร่างหน้าตาของคน ไม่เห็นว่าสวยงาม เหมือนตอนที่ยังไม่ได้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน พอพิจารณาเห็นอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เห็นสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่มีอยู่ภายในร่างกาย ที่ถูกขับออกมาทางทวารต่างๆ ก็เกิดความขยะแขยง แทนที่จะกำหนัดยินดี กลับขยะแขยง ไม่อยากจะเข้าใกล้ ถ้าพิจารณาจนเห็นเป็นซากศพ ก็จะไม่อยากร่วมหลับนอนด้วยเลย ความกำหนัดยินดีคือราคะตัณหา ได้หมดไปจากใจของพระอนาคามี ท่านก็เลยไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกต่อไป เพราะท่านมีความสุขที่เหนือกว่า คือความสุขสงบของใจที่เรียกว่า ฌาน ท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหม และบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหม

 

                นี่คือเรื่องของภพชาติที่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เป็นผลจากการได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถ้าปฏิบัติเพียงทานศีลและสมาธิ จะไม่ได้อริยมรรคอริยผล ตายไปก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเหมือนเดิม เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ องค์ที่ได้ฌาน หลังจากที่ท่านตายไปแล้ว ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม แต่เป็นสวรรค์ชั้นพรหมที่ต้องเสื่อม เพราะขึ้นไปด้วยกำลังของสมาธิ ไม่ได้ขึ้นไปด้วยกำลังของปัญญา เช่นของพระอนาคามี พระอนาคามีได้ชั้นพรหมด้วยการชำระกิเลส ที่ทำใจไม่ให้สงบ พอชำระกามราคะออกไปจากใจได้ ใจก็สงบเป็นธรรมชาติ เป็นฌานโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบริกรรมพุทโธเพ่งกสิณให้จิตสงบ ฌานแบบนี้ไม่มีวันเสื่อม

 

                พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าน่าเสียดาย ที่ไม่มีโอกาสได้สอนพระอาจารย์ทั้ง ๒ รูป วิธีทำฌานไม่ให้เสื่อม ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เพราะท่านตายไปก่อน ถ้าท่านยังไม่ตาย และพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง เรื่องอริยมรรคอริยผลให้ฟังรับรองได้ว่าจะสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ได้ในขณะที่ฟังเลย เช่นพระปัญจวัคคีย์ผู้ติดตามรับใช้พระพุทธเจ้า พอทรงแสดงธรรมครั้งแรกก็มีพระรูปหนึ่งบรรลุโสดาบันทันที หลังจากนั้นทรงแสดงพระธรรมอีกครั้งสองครั้ง ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งหมด ๕ รูปเลย เป็นอำนาจของพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทำได้ ไม่มีใครสามารถทำได้ เพราะปัญญาระดับนี้ต้องเป็นของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทำได้ ที่จะเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นพระอริยสัจ ๔

 

                พวกเราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนาแล้ว อย่าปล่อยให้พระอริยสัจ ๔ อย่าปล่อยให้อนิจจังทุกขังอนัตตา ห่างไกลไปจากใจ ต้องเจริญอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง จะได้เสร็จงานนี้ได้อย่างรวดเร็ว ดังที่ทรงพยากรณ์ไว้ว่า ๗ วัน หรือ ๗ ปี ถ้าปฏิบัติกันอย่างเต็มที่ เจริญสติอย่างเต็มที่ พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอริยสัจ ๔ อย่างเต็มที่ ไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก ถ้าฉลาดมาก ๗ วันก็สามารถบรรลุได้ ไม่ทรงปฏิเสธว่าคนนั้นคนนี้บรรลุไม่ได้ มีแต่พวกเราที่ไปปฏิเสธกันเอง ว่าบรรลุไม่ได้ ไปพูดกันเองต่างหากว่าเราเป็นไปไม่ได้เอง ทำไมไปปฏิเสธตัวเราเอง ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธเลย ทรงตรัสว่ามีสิทธิมีความสามารถเท่ากันหมด

 

ถาม          แม้กระทั่งฆราวาส

 

ตอบ          ได้ทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่การเป็นพระ เป็นฆราวาส อยู่ที่การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ที่สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ในสมัยพระพุทธกาล พระอรหันต์มีทุกเพศทุกวัย สามเณรก็มี ฆราวาสก็มี พระราชบิดาก็ทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต อำนาจของพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้านี้ มหัศจรรย์อย่างยิ่ง ตอนที่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้นี้ ไม่มีใครบรรลุอริยมรรคอริยผลได้แม้แต่คนเดียว แต่พอทรงตรัสรู้และประกาศพระธรรมคำสอนแล้ว มีพระอริยสงฆ์เป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสน ปรากฏขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ขอให้พวกเราอย่าลืมคุณค่าอันประเสริฐของพระธรรมคำสอนนี้ ขอให้ยินดีศึกษา ยินดีปฏิบัติ แล้วจะไม่ผิดหวัง ชีวิตนี้จะได้กำไร อย่าเป็นไก่ที่ได้พลอยแล้วเขี่ยทิ้งไป มัวแต่หาไส้เดือน คือความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ส่วนพลอยคืออริยมรรคอริยผล ที่เกิดจากการปฏิบัติทานศีลภาวนานี้ ก็เขี่ยทิ้งไป จะเอาแต่ไส้เดือน ที่กินเข้าไปแล้วทำให้ท้องเสีย พอไปติดรูปเสียงกลิ่นรสแล้วก็ต้องมาร้องห่มร้องไห้ เช่นเวลาสามีหรือภรรยาตายจากไป ก็เศร้าโศกเสียใจ นี่คือความสุขของพวกเรา พยายามมองให้เห็นความทุกข์ที่ซ่อนอยู่ด้วย จะได้ไม่อยากได้ความสุขแบบนี้