กัณฑ์ที่ ๔๒๔       ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔

 

ธรรมะเป็นอาหารใจ

 

 

วิถีชีวิตของพวกเรากำลังทำลายโลกกัน มีนักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณไว้ว่า ถ้ามนุษย์ใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปอีกไม่นาน จะถึงจุดที่แก้ไขไม่ได้ ธรรมชาติจะถูกทำลายหมด จะทำให้มนุษย์อยู่ไม่ได้ ความสุขทางโลกเป็นความสุขที่จะทำลายพวกเรา แต่ความสุขทางธรรมจะไม่ทำลาย ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญก้าวหน้า โลกมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่นป่าไม้เป็นต้น ในหนังสือของพระอาจารย์ทุยท่านก็เล่าว่า สมัยที่หลวงปู่มั่นฯออกปฏิบัติ มีประชากรในประเทศไทยอยู่ประมาณ ๑๘ ล้านคน ป่าไม้ยังมีอยู่มาก เวลานี้มีประชากรประมาณ ๖๓ ล้านคน ป่าไม้มีเหลือไม่มาก กำลังลดลงไปเรื่อยๆ เพราะวิถีชีวิตของพวกเราจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปเรื่อยๆ เช่นน้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุต่างๆ แล้วก็ทำให้มลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางดิน

 

อย่างในประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียหาย แผ่กัมมันตภาพรังสีออกมา ประชาชนที่อยู่ในรัศมี ๒๐ กิโลเมตร ต้องอพยพออกไปหมด อยู่ไม่ได้ อยู่ไปก็ตาย ดินเป็นพิษ ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ ปลูกพืชไม่ได้ เพราะปนเปื้อนด้วยกัมมันตภาพรังสี ถ้ารับประทานพืชผักที่ปนเปื้อน ก็จะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยและเสียชีวิตได้ แต่พวกเรายังไม่ยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตกัน ยังอยากมีไฟฟ้าใช้ มีเครื่องอำนวยความสุขความสะดวกต่างๆ ตามอำนาจของกิเลสตัณหา ที่จะผลิตความทุกข์ให้แก่พวกเราไปเรื่อยๆ พวกเราจึงควรเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการใช้เงินทองเป็นเครื่องมือให้ความสุข มาใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือแทน เช่นมีเงินเหลือใช้ ก็เอามาทำบุญให้ทาน แทนที่จะไปซื้อความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ให้หาความสุขจากการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสติ นั่งสมาธิเดินจงกรมแทน แล้วจะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมากเลย ที่ต้องใช้เงินทองมาก เพราะความหลงของกิเลสตัณหา ที่ต้องการความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 

เงินทองไม่ได้ให้ความสุขกับใจ มีแต่จะให้ความทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เป็นความทุกข์ทั้งนั้น เป็นพิษแก่จิตใจ ทำให้พวกเราต้องร้องห่มร้องไห้กัน เปิดโทรทัศน์ดูก็มีแต่เรื่องบ่น เปิดหนังสือพิมพ์ดูก็มีแต่เรื่องบ่น บ่นกันอยู่ตลอดเวลา เพราะเสพยาพิษกัน ถ้ามีธรรมะจะไม่บ่นกัน เพราะธรรมะเป็นอาหารใจ ทำให้อิ่มหนำสำราญใจ พอใจ มีความมั่นคง ไม่หวาดกลัว ธรรมะจะทำให้เรารู้จักตัวเรา ตอนนี้เราไม่รู้จักตัวเรา เราไปหลงคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา ความจริงร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เราคือใจที่ไม่ตาย แต่มีความหลง ที่หลอกให้ไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา ถ้ารู้ว่าเราเป็นใจที่ไม่ตาย เราก็จะไม่กลัวตาย จะไม่มีความทุกข์ จะมีแต่ความสุข ถ้ามีธรรมะมาก ก็จะมีความสุขมาก มีความทุกข์น้อย ถ้ามีความหลงมาก ก็จะมีความทุกข์มาก มีความสุขน้อย ความสุขความทุกข์ของใจจึงไม่ได้อยู่ที่ มีเงินมากหรือน้อย มีตำแหน่งสูงหรือต่ำ

 

แต่ความหลงจะทำให้คิดว่า มีเงินมากมีตำแหน่งสูงๆ มีบริษัทบริวารมาก จะมีความสุขมาก มีรูปเสียงกลิ่นรสชนิดต่างๆมาบำรุงบำเรอ จะมีความสุขมาก ความจริงสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นยาพิษทั้งนั้น ไม่ใช่อาหารของใจ ได้มามากน้อยก็ไม่เคยอิ่มเคยพอ มีแต่จะทำให้แสลงใจ กดดันจิตใจด้วยความเครียดต่างๆ พวกเราเครียดกับเรื่องงาน ก็เพราะรายได้ไม่เข้าเป้า เครียดกับคนอื่นเพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน เครียดได้กับทุกเรื่อง ถ้าไปยุ่งกับเขา เพราะจะไม่เป็นไปตามความต้องการของเราเสมอไป ต้องขัดใจเราบ้าง เราก็จะเครียด เพราะไม่เคยพิจารณาธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ ว่าเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ ทุกข์แปลว่าเครียด ที่ทุกข์ที่เครียดนี้ ก็เพราะใจไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่เขาไม่เป็นไปตามความต้องการของใจเสมอไป อย่างตอนนี้ฝนตกเสียงดัง ถ้าเราไม่ไปสนใจ เราปล่อยวาง เราก็จะไม่เครียด เราก็ฟังธรรมไป ตามมีตามเกิด ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ก็ไม่เป็นไร เราก็จะไม่เครียดกัน ถ้าอยากจะให้ฝนหยุด เราก็จะเครียด ความเครียดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่เราไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ขึ้นอยู่ที่ความอยากของใจ

 

เราเครียดเพราะใจเราอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านจึงเรียกว่าทุกขัง เพราะเขาเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นอนัตตา ไม่อยู่ภายใต้คำสั่งของเรา เราสั่งให้ฝนหยุด แต่เขาไม่หยุด เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเรา ไม่เที่ยง เพราะจะตกบ้างไม่ตกบ้าง ถ้าอยากจะให้ตกไปตลอดเวลา พอหยุดตกเราก็จะเครียด เราต้องทำความเข้าใจว่า ความทุกข์ในไตรลักษณ์นี้ เป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ เป็นทุกข์ ที่เกิดจากความอยาก สิ่งต่างๆไม่ได้เป็นทุกข์ เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย มีทุกขเวทนา แต่ทุกขเวทนาไม่ใช่ทุกข์ในอริยสัจ ๔ เป็นทุกข์ในขันธ์ ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวก็เจ็บ เดี๋ยวก็หายเจ็บ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สุขบ้างทุกข์บ้าง เป็นธรรมดาของร่างกายของเวทนาของขันธ์ ผู้ที่เป็นทุกข์ก็คือใจที่ไปยุ่งกับขันธ์ เช่นเวลาร่างกายไม่สบาย ใจก็ไม่สบายไปอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะไม่อยากไม่สบายนั่นเอง ไม่มีใครอยากให้เจ็บไข้ได้ป่วย พอเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะหงุดหงิดรำคาญใจทรมานใจ เพราะอยากจะให้หาย ไม่อยากให้เป็น ทุกข์นี้เป็นทุกข์ในอริยสัจ ที่เราแก้ได้ ควบคุมได้ ทำให้ดับได้ ทำให้เป็นนิโรธขึ้นมาได้ เราจะดับความเครียดได้ ถ้าปล่อยวางสิ่งที่เราไปเครียดด้วย ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา จะเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ปล่อยให้เจ็บไป เงินเดือนจะถูกตัดก็ให้ตัดไป จะถูกไล่ออกจากงานก็ให้ไล่ไป

 

ถ้าไม่ใช้เงินซื้อความสุข จะไม่เดือดร้อน ซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ คือปัจจัย ๔ ก็จะเก็บเงินได้หลายล้านแล้ว เวลาออกจากงานจะไม่เดือดร้อน ถ้ารับประทานวันละมื้อ ดื่มน้ำเปล่า กินอยู่แบบนักภาวนานักปฏิบัติ จะมีค่าใช้จ่ายไม่มาก ถ้าใช้เงินซื้อความสุข จะมีค่าใช้จ่ายมาก ต้องซื้อเครื่องดื่มขนมนมเนย น้ำหอม สิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ก็จะเครียดกับเรื่องเงินทอง ต้องหารายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย ถ้าทำไม่ได้ก็จะถูกปลดถูกไล่ออกจากงาน ถ้าใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือหาความสุข จะไม่เครียด เพราะธรรมะมีอยู่ตลอดเวลา เป็นอกาลิโก มีอยู่ทุกแห่งหน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สามารถใช้ธรรมะสร้างความสุขได้ตลอดเวลา ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ต้องทำทาน ให้ใช้ธรรมะที่สูงกว่าการให้ทาน คือการรักษาศีล มาให้ความสุข เพราะศีลจะทำให้จิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหวกับผลที่เกิดจากการทำบาป เพราะไม่ได้ทำบาป จึงไม่วิตกกังวลกับวิบากกรรม

 

ถ้านั่งสมาธิได้ก็จะมีความสงบสุขเย็นใจ ถ้าเจริญปัญญาได้ก็จะไม่ทุกข์กับอะไรเลย จะเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเห็นคุณค่าของการตัดกิเลสตัณหา ถ้าตัดได้แล้วจะสบายใจ ถ้ายึดติดจะทุกข์ทรมานใจ พอตัดได้แล้วใจจะโล่งจะเบาจะสบาย ในที่สุดแล้วพวกเราก็ต้องจากทุกสิ่งทุกอย่างไป ไปยึดติดทำไม ยึดติดแล้วทุกข์ ตัดดีกว่า ถ้าเขาจะอยู่ก็ให้เขาอยู่ไป ถ้าเขาจะจากก็ให้เขาจากไป พร้อมที่จะจากกันทุกเวลา เพราะในที่สุดก็ต้องจากกัน ถ้าพร้อมที่จะจากก็จะจากด้วยความสุข ถ้าไม่พร้อมก็จะจากด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ทุกข์ทรมานใจ เพราะไม่ได้ศึกษาความจริงว่าเราเป็นใจ ไปหลงคิดว่าเราเป็นร่างกาย ไปหลงคิดว่าความสุขอยู่ที่ การมีเงินซื้อสิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอความอยาก จึงต้องศึกษาให้รู้ว่าเราคือใจ คือผู้รู้ ผู้รู้จะมีความสุข ก็ต่อเมื่อผู้รู้สงบ ไม่วุ่นวาย ไม่ยึดติด ไม่อยากได้สิ่งต่างๆในโลกนี้

 

ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว จะได้รู้ว่างานของเราอยู่ที่การทำใจให้สงบ ตัดทุกสิ่งทุกอย่างด้วยไตรลักษณ์ ด้วยปัญญา ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจไปเกี่ยวข้องด้วย เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น คือลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรส ขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ สภาวธรรมต่างๆที่อยู่ในจิต เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น อย่าไปยึด อย่าไปติด ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของเขา ใจจะได้สงบ ไม่วุ่นวาย นี่แหละคืองานที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ทำกัน แล้วก็สอนพวกเราให้ทำกัน เพราะพวกเรามีความสามารถทำได้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง ถ้าทำก็จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ทำก็จะอยู่กับที่ ต้องสำรวจดูว่าเราทำหรือไม่ได้ทำ ทำมากหรือทำน้อย ถ้ายังไม่ได้ทำก็ต้องเริ่มทำ ถ้ายังไม่ได้นั่งสมาธิ ก็ต้องนั่ง ออกจากสมาธิก็เดินจงกรมต่อ พิจารณาไตรลักษณ์ ถ้าทำอยู่แล้วก็ต้องทำให้มากขึ้น เอาเวลาที่ไปทำอย่างอื่นมาปฏิบัติธรรม งานอย่างอื่นถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็อย่าไปทำ มาปฏิบัติธรรมให้เต็มที่เลย ทำมากก็จะเสร็จเร็ว ทำน้อยก็จะเสร็จช้า และอาจไม่ทันการ ถ้าตายไปก่อน กลับมาเกิดชาติหน้า ก็อาจจะไม่ได้ปฏิบัติ เพราะไม่มีใครสอน ยกเว้นถ้าได้ปฏิบัติถึงขั้นที่สามารถปฏิบัติเองได้ ไม่ต้องมีใครมาจูงมาสอน อย่างนี้ก็ถือว่าได้เข้าสู่กระแสของพระนิพพานแล้ว ไม่ต้องกังวลแล้ว กลับมาเกิดใหม่ก็จะปฏิบัติต่อเลย เพราะติดเป็นนิสัยแล้ว

 

การทำใจให้สงบการตัดกิเลสจะฝังอยู่ในใจ พอได้เกิดเป็นมนุษย์ก็จะปฏิบัติต่อทันที งานอย่างอื่นจะทำเท่าที่จำเป็น จะไม่หลงไปกับการหาเงินหาทอง หาลาภหายศ หาสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จะหาแต่ความสุขที่เกิดจากความสงบ จากการตัดกิเลสตัณหา จะก้าวไปเรื่อยๆ จนเสร็จงาน จึงอย่าประมาทนอนใจ อย่าไปคิดว่าจะมีเวลาปฏิบัติเสมอ เพราะพรุ่งนี้ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตอนนี้มีเวลาควรทำงานที่เป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง อย่าไปทำงานที่เป็นประโยชน์ชั่วคราว เป็นความสุขชั่วคราว ควรทำงานที่เป็นประโยชน์เป็นความสุขที่ถาวร เป็นงานที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ทำมาจนสำเร็จแล้ว วุสิตัง พรหมจริยัง คือกิจในพรหมจรรย์นี้ได้เสร็จสิ้นแล้ว งานนี้มีขอบเขต มีวันเสร็จสิ้น ไม่เหมือนงานทางโลก ทำไปเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันสิ้นสุด จะมีงานใหม่มารออยู่เสมอ เพราะอำนาจของความอยาก จะทำให้อยู่ไม่เป็นสุข จะหงุดหงิดรำคาญใจ ต้องหางานใหม่มาทำ ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็น มีเงินทองเหลือกินเหลือใช้ แต่อยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องหางานใหม่มาทำต่อ ทำไปจนวันตาย จนกว่าร่างกายจะทำไม่ไหว พอกลับมาเกิดใหม่ ก็ต้องทำอย่างนี้อีก ทุกภพทุกชาติ ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าทำงานทางธรรมะ พอทำเสร็จแล้ว ก็จะไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป เพราะจะไม่กลับมาเกิดอีก จะรู้ว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย เพราะไม่มีความอยากหลงเหลืออยู่เลย ใจอิ่มพออยู่ตลอดเวลา เป็นปรมัง สุขังตลอดเวลา

 

นี่คือการศึกษาชีวิตของพวกเรา ให้รู้ว่าตัวเรานี้อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ไม่ต้องวิตกกังวลกับร่างกาย เพราะรู้ว่าร่างกายต้องตายแน่ๆ ไม่ต้องกลัว เพราะเราไม่ได้เป็นร่างกาย ร่างกายเป็นเหมือนเครื่องใช้ไม้สอย เมื่อถึงเวลาที่ร่างกายจะหยุดทำงาน ก็ปล่อยให้หยุดไป ถ้าดูแลรักษาได้ก็ดูแลรักษาไป เพื่อเอามาทำประโยชน์ทางจิตใจ พอได้ประโยชน์ทางจิตใจครบบริบูรณ์แล้ว ก็ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป ถือว่าเป็นงานแถม ไม่ได้เป็นงานหลัก ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ไม่เดือดร้อน จึงควรศึกษาธรรมะอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ปฏิบัติ จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง จะได้รู้ว่าเราเป็นอะไรกันแน่ อะไรทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง ตอนต้นก็ต้องได้ยินได้ฟังจากผู้รู้แล้ว แล้วก็นำเอามาปฏิบัติ เอามาพิสูจน์ เพราะธรรมะเป็นสันทิฏฐิโก เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ได้ ว่าเป็นจริงหรือไม่ นี่คือเหตุผลที่พวกเราเข้าหาพระศาสนากัน เพื่อหาความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วก็จะได้ปฏิเวธ คือได้รับผลจากการปฏิบัติ เป็นสูตรตายตัว เป็นอกาลิโก ไม่เสื่อมไปกับกาลเวลา พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ และพระสาวกทุกๆรูป จะสอนเหมือนกันหมด จะสอนปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

 

มรรคผลจึงไม่เกิดจากการอยากได้ แต่เกิดจากการปฏิบัติ จากการศึกษาที่ถูกต้อง ถ้าศึกษาไม่ถูกต้อง ปฏิบัติก็จะไม่ถูกต้อง ปฏิเวธก็จะไม่ถูกต้อง จะไม่ได้ผลที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายได้กัน จึงต้องยึดทางนี้ แล้วจิตใจจะมีแต่เจริญก้าวหน้า มีความสุขเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ มีความทุกข์น้อยลงไปตามลำดับ จนหมดสิ้นไปอย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ต้นเหตุของความทุกข์ ของความเครียด ก็คือความอยาก การดับความทุกข์ ดับความเครียด ก็ต้องละความอยากด้วยปัญญา ให้เห็นว่าไม่มีอะไรน่าอยาก เพราะไม่มีอะไรเป็นความสุข เป็นทุกข์ทั้งนั้น ถ้ารู้ว่าสิ่งที่คิดว่ามีคุณค่าเป็นลูกระเบิด จะเก็บไว้ไหม ถ้ามีห่อของมาทางไปรษณีย์ เขียนว่าเป็นของมีค่า คิดว่าเป็นทองคำ พอเปิดออกมาเห็นเป็นลูกระเบิด จะเก็บไว้ไหม ปัญหาอยู่ที่ไม่เปิดดูกัน เชื่อว่าเป็นทองคำก็เก็บไว้เลย พอระเบิดก็จะต้องเจ็บตัว

 

พระธรรมคำสอนทุกบทออกมาจากพระอริยสัจ ๔ ทั้งนั้น ที่ทรงสอนให้ทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ก็คือการเจริญมรรคนี้เอง มรรคคือเครื่องมือที่จะละความอยาก เครื่องมือที่สำคัญก็คือสติสมาธิและปัญญา เพราะจะหยุดความอยากได้ ทานกับศีลได้เพียงแต่ทำให้ความอยากอ่อนกำลังลง เวลาให้ทานจะทำให้ความอยากอ่อนกำลังลง เวลาอยากได้อะไรก็จะหาในกรอบของศีลธรรม ไม่โกหก หลอกลวง ไม่ฉ้อโกง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ความอยากก็จะอ่อนกำลังลงอีก เวลาจะหยุดความอยากด้วยสมาธิก็จะง่าย พอหยุดความอยากด้วยสมาธิได้แล้ว ก็เหมือนตีศีรษะของความอยากให้มึนไป พอออกจากสมาธิก็ใช้ปัญญาตัดศีรษะได้เลย เพราะความอยากจะไม่มีแรงต่อสู้ เวลาจิตออกจากสมาธิใหม่ๆ ความอยากจะไม่มีกำลัง พอพิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ก็จะละความอยากได้เลย พอละความอยากได้แล้ว จะรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้มีคุณค่ามีความสุขเท่ากับการละความอยาก เพราะจะเบาใจสบายใจ ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะได้หรือไม่ เวลามีความอยากจะเครียด ต้องคอยรอดูว่าจะได้หรือไม่ เช่นอยากจะได้ตำแหน่ง ก็ต้องรอดูว่าจะได้หรือไม่ อยากจะได้คนนี้มาเป็นคู่ครอง ก็ต้องรอดูว่าจะได้หรือไม่ พอได้มาแล้วก็ต้องรอดูว่าจะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่ จะดีเสมอไปหรือไม่ ถ้าเห็นว่าความเครียดเกิดจากความอยาก ก็จะไม่อยากได้ อยู่คนเดียวดีกว่า ไม่มีอะไรก็อยู่ได้ อยู่แบบพระพุทธเจ้า อยู่แบบครูบาอาจารย์ดีกว่า

 

จะอยู่ได้ก็ต้องขยันภาวนา เดินจงกรมนั่งสมาธิ ต้องถือเป็นงานหลัก ตื่นขึ้นมาก็นั่งสมาธิ เวลาต้องทำกิจที่จำเป็น เช่นรับประทานอาหาร ก็เจริญสติไปด้วย เสร็จแล้วก็กลับมาภาวนาต่อ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำอย่างนี้ไป รับรองไม่เกิน ๗ ปี ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ จะต้องได้ผลอย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางให้อย่างชัดเจนแล้ว ถ้ายังไม่มีสมาธิไม่มีปัญญา ก็เจริญสติไปก่อน ดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน อย่าให้จิตไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่าไปในอดีต ในอนาคต ให้คิดแต่เรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ต้องคิดได้ยิ่งดี ให้รู้เฉยๆ ให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ถ้ากำลังเดินก็ให้รู้ว่ากำลังเดิน จะท่องซ้ายขวา ซ้ายขวาไปด้วยก็ได้ หรือจะบริกรรมพุทโธๆไปก็ได้ พอเหนื่อยอยากจะหยุดก็ไปนั่งสมาธิ บริกรรมพุทโธๆต่อ ถ้าอยากจะหยุดบริกรรมพุทโธ ก็ดูลมเข้าดูลมออกก็ได้ ดูแต่ลมอย่างเดียว อย่าไปคิดอะไร ถ้ามีสติจดจ่ออย่างต่อเนื่อง ไม่นาน ๕ นาที ๑๐ นาที จิตก็จะสงบ พอสงบแล้ว ก็ปล่อยให้สงบไปจนกว่าจะถอนออกมาเอง อย่าไปดึงออกมา พอถอนออกมาแล้ว ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรมถ้าไม่อยากจะนั่ง

 

ถ้านั่งต่อแล้วเกิดทุกขเวทนา ก็ต้องพิจารณาทุกขเวทนา พิจารณาให้เห็นว่าเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาเอง มีเหตุมีปัจจัยที่เราไม่สามารถไปควบคุมบังคับได้ เหมือนกับฝนตก ตกก็ปล่อยให้ตกไป เราก็นั่งของเราไป ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็รับรู้ไป ปล่อยให้เป็นไป ถ้ารับรู้เฉยๆ ไม่มีความอยากที่จะให้หายไป หรืออยากจะหนีจากไป ใจก็จะเป็นอุเบกขา จะสงบจะไม่ทุกข์เลย ถ้าอยากให้หายไป หรืออยากจะหนีจากไป ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ที่จะทำให้ทนนั่งต่อไปไม่ได้ ความเจ็บทางร่างกายไม่รุนแรงเท่ากับความทุกข์ทางใจ ที่เกิดจากความอยาก เวลาเจอทุกขเวทนา สิ่งที่ต้องการให้เห็น ก็คือทุกข์ในอริยสัจ ๔ แล้วให้ใช้ปัญญาดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ ถ้าพิจารณาก็จะเห็นว่า ทุกข์เกิดจากความอยากให้ความเจ็บหายไป หรือความอยากจะหนีจากความเจ็บไป อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าเปลี่ยนก็จะหายไปชั่วคราว แล้วก็จะกลับมาใหม่ ก็จะเจอปัญหาเดิมอีก ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะเห็นว่าการจะแก้ความทุกข์ใจต้องแก้ที่ใจ ไม่ใช่ที่ร่างกาย ที่เราบังคับไม่ได้ ต้องปล่อยวาง เหมือนกับฝนตกที่เราบังคับไม่ได้ ต้องปล่อยวาง จะตกก็ตกไป ร่างกายจะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา อย่าไปอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ยอมอยู่กับทุกขเวทนา นี่คือการพิจารณาด้วยปัญญา

 

ถ้ายังไม่มีกำลังพิจารณาด้วยปัญญา ก็ใช้อุบายของสมาธิไปก่อน บริกรรมพุทโธๆไป อย่าให้ใจมีโอกาสคิดถึงทุกขเวทนา อย่าให้มีโอกาสคิดอยากให้ความเจ็บหายไป หรือคิดอยากจะหนีจากความเจ็บไป ฝากเป็นฝากตายไว้กับพุทโธๆ บริกรรมพุทโธๆไป ไม่ให้ไปสนใจกับความเจ็บ แล้วความเจ็บจะไม่เป็นปัญหา เพราะใจไม่ได้สร้างทุกข์ในอริยสัจขึ้นมา เพราะไม่มีโอกาส เนื่องจากต้องบริกรรมพุทโธ ต้องให้ใจมีงานทำ ถ้าไม่มีงานทำ จะไปคิดถึงความเจ็บ จะอยากให้ความเจ็บหายไป ก็จะทนนั่งไปไม่ได้ เหมือนกับเวลาที่ทำอะไรเพลิดเพลิน จะลืมความหิวไปเลย ถึงเวลารับประทานอาหารจะไม่รู้สึกหิว เพราะใจไม่ได้อยู่กับความหิว แต่เวลาไม่มีอะไรทำ ก็อยากกินนั่นกินนี่ ไม่ได้หิวทางร่างกาย แต่หิวทางจิตใจ

 

การต่อสู้กับทุกขเวทนาก็ทำได้ ๒ วิธี คือ ๑. ทำด้วยอุบายของสมาธิ บริกรรมไปไม่ให้หยุดเลย ให้ขาดใจไปกับการบริกรรมเลย ๒. ทำด้วยอุบายของปัญญา พิจารณาว่าทุกขเวทนาเป็นเหมือนฝนตก ที่ใจห้ามไม่ได้ แต่รับรู้ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ถ้าไม่ได้อยากให้ทุกขเวทนาหายไป ถ้าอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ก็จะรับรู้ทุกขเวทนาไม่ได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทุกขเวทนา แต่อยู่ที่ความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป จึงต้องกำจัดตัณหาความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ไม่ใช่กำจัดทุกขเวทนา ที่ไม่ได้ทำให้ใจทุกข์ ความอยากให้ทุกขเวทนาหายไปต่างหากที่ทำให้ใจทุกข์ จนรับรู้ไม่ได้ พิจารณาอย่างนี้ไปแล้ว จะยอมรับความจริง ก็จะหยุดอยากให้ความเจ็บกายหายไป พอหยุดได้แล้ว ถึงแม้ความเจ็บกายไม่หายไป ก็จะไม่มารบกวนใจ เพราะตัวที่รบกวนใจ ไม่ใช่ความเจ็บกาย แต่เป็นความทุกข์ใจ ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บกายหายไป นี่คือการพิจารณาทุกขเวทนาทางปัญญา

 

เวทนาเป็นขันธ์ ที่เกิดจากการสัมผัสรับรู้กับสิ่งต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย เวลาสัมผัสกับความร้อนก็เป็นทุกขเวทนา เวลาสัมผัสกับความเย็นสบายก็เป็นสุขเวทนา เวลาสัมผัสกับความหนาวมากๆก็เป็นทุกขเวทนา ซึ่งไม่ใช่เป็นความทุกข์ทางใจ ความทุกข์ทางใจอยู่ที่ปฏิกิริยาของใจต่อเวทนา ว่ามีความอยากหรือไม่ ถ้ามีความอยากก็จะเกิดความทุกข์ทางใจขึ้นมา เช่นเวลาเกิดทุกขเวทนา ร่างกายเจ็บปวดขึ้นมา ถ้าใจมีปฏิกิริยาอยากให้ความเจ็บปวดหายไป ก็จะเกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เวลาร่างกายมีสุขเวทนา ถ้าอยากจะให้สุขไปเรื่อยๆ ก็จะทุกข์ใจ ถ้าใจวางเฉยได้ก็จะไม่ทุกข์ ทุกข์ทางใจนี้เกิดจากสมุทัย คือกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา เป็นทุกข์ที่ดับได้ ถ้าละกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหาได้

 

กามตัณหาคือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส อยากดู อยากฟัง อยากดื่ม อยากลิ้มรสต่างๆ อยากร่วมหลับนอนกับคนนั้นคนนี้ ภวตัณหาคือความอยากมีอยากเป็น อยากมีเงินมีทอง อยากร่ำรวย อยากเป็นมหาเศรษฐี อยากเป็นเจ้านาย อยากเป็นใหญ่เป็นโต วิภวตัณหาคือความอยากไม่มี อยากไม่เป็น อยากไม่จน อยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ตัณหาทั้ง ๓ นี้ที่สร้างความทุกข์ทรมานใจให้กับสัตว์โลกทั้งหลาย ถ้ามีมรรค คือทานศีลภาวนา ก็จะละความอยากทั้ง ๓ ได้ หน้าที่ของพวกเราก็คือ ต้องสร้างทานศีลภาวนาขึ้นมาให้ได้ เหมือนกับเวลารถยางแตก ถ้าไม่มีเครื่องมือ ก็จะเปลี่ยนยางไม่ได้ ต้องมีแม่แรงมายกรถให้ลอยขึ้น มีเครื่องมือมาถอดน็อต จะละความอยากทั้ง ๓ ด้วยตัวเราเองไม่ได้ ต้องมีเครื่องมือที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้ คือทานศีลภาวนา นี่คือมรรคที่ทรงสอนให้เจริญให้มาก ต้องเจริญให้สมบูรณ์ ถ้ามรรคสมบูรณ์แล้ว ก็จะละตัณหาได้อย่างสมบูรณ์ นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ ทุกข์ก็จะดับอย่างสมบูรณ์ นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา หัวใจของการปฏิบัติ อยู่ที่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าจะวัดผลของการปฏิบัติ ให้วัดที่ทุกข์สมุทัยกับนิโรธมรรค ว่าทุกข์สมุทัยมีมากขึ้น หรือนิโรธมรรคมีมากขึ้น ถ้าสมุทัยน้อยลง ทุกข์ก็จะน้อยลง ถ้ามรรคมีมากขึ้น นิโรธก็จะมีมากขึ้น จึงต้องทำมรรคให้มีมากขึ้น ต้องทำทานรักษาศีลภาวนาให้มาก ไม่มีใครทำให้เราได้ ถ้าพระพุทธเจ้าทำให้พวกเราได้ พวกเราก็คงสบายไปนานแล้ว

 

ถาม          ท่านอาจารย์พูดถึงการแก้เวทนาว่ามี ๒ วิธี คือสมาธิกับพิจารณาด้วยปัญญา การใช้สมาธิก็เข้าใจอยู่ การใช้วิธีพิจารณาด้วยปัญญา ถ้ากำลังสมาธิไม่พอ ใช้วิธีพิจารณาจะไม่ได้ผล

 

ตอบ          ใช่ ไม่ได้ผล ไม่มีกำลังพอ

 

ถาม          ไม่มีกำลังพอที่จะละตัณหาความอยากได้

 

ตอบ          สมาธิจึงมีความสำคัญมาก

 

ถาม          ถ้ากำลังไม่พอ ให้ใช้วิธีสมาธิไปก่อนใช่ไหม

 

ตอบ          ต้องใช้สมาธิดับทุกข์ภายในใจ ด้วยการบริกรรมเพื่อไม่ให้ความคิดปรุงแต่งของสังขาร ปรุงไปทางสมุทัย แล้วทุกข์จะดับไป

 

ถาม          เวลาเดินจงกรม ควรพิจารณาอะไร

 

ตอบ          พิจารณาอะไรก็ได้ ถ้าพิจารณาเวทนาตอนที่ยังไม่เกิด จะไม่เป็นของจริง เป็นสัญญา

 

ถาม          ถ้ายังไม่เจ็บ ให้นั่งจนกว่าจะเจ็บใช่ไหม

 

ตอบ          เวลาเจ็บก็อย่าไปอยากให้หาย ให้ชอบความเจ็บ

 

ถาม          ถ้ากำลังไม่พอ ก็แพ้มัน

 

ตอบ          เวลาเจ็บก็อย่ารีบลุก พยายามบอกว่าฉันชอบเธอนะ

 

ถาม          ก็ชอบได้สักชั่วโมง พอเลยชั่วโมงก็ชักจะไม่ชอบแล้ว

 

ตอบ          ไม่เป็นไร คราวหน้าก็เพิ่มเป็นชั่วโมงครึ่ง เพิ่มไปเรื่อยๆ ถ้าเปลี่ยนความไม่ชอบเป็นชอบได้ ใจจะวางเฉยได้ ต่อไปจะชอบก็ได้ไม่ชอบก็ได้ ตอนนี้เราเอาแต่ไม่ชอบอย่างเดียว ไม่มีทางเลือก ต้องสร้างทางเลือกให้กับใจ จากไม่ชอบ มาชอบบ้าง พอชอบได้แล้ว ก็จะเฉยๆได้

 

ถาม          เวลาเจ็บแล้วใจไม่นิ่ง ต้องรู้ไหมว่ามีความอยากหรือไม่

 

ตอบ          ไม่ต้องรู้ก็ได้ ถ้าทำใจให้รับความเจ็บได้

 

ถาม          เวลาหกล้มเท้าเจ็บมาก แต่จิตผู้รู้จะบอกว่า เท้าไม่ใช่เรา ไม่ต้องไปสนใจ จะรู้สึกว่าใจไม่เจ็บ เป็นสัญญาหรือปัญญา

 

ตอบ          ถ้าใจไม่เจ็บก็เป็นปัญญา เพราะอยู่ในเหตุการณ์จริง

 

ถาม          ใจไม่เจ็บแต่ใจรู้ว่าเท้าเจ็บ

 

ตอบ          ถ้าใจเฉยแสดงว่ามีปัญญา ใจปล่อยวาง เป็นอุเบกขา ไม่มีปฏิกิริยาต่อทุกขเวทนา ถ้าไม่มีปัญญา ก็จะร้องไห้ จะกลัว จะทุกข์ใจ

 

ถาม          ตัวที่คิดเป็นสังขารใช่ไหม

 

ตอบ          เป็นสังขาร ถ้าสัญญาจำไปทางสมุทัย สังขารก็จะคิดปรุงไปทางสมุทัยด้วย จะทำงานเป็นทีม สัญญาและสังขารจะไปคู่กัน ถ้าไปทางมรรคก็จะไปด้วยกัน ถ้าเห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะไปทางมรรค จะไม่คิดปรุงไปทางสมุทัย สัญญาเป็นตัวมอง มองว่าเป็นอะไร เป็นเรา หรือไม่ใช่เป็นเรา สัญญาเก่าจะมองว่าเป็นเราเป็นของเรา การเจริญปัญญาก็เพื่อจะเปลี่ยนสัญญาเก่า เปลี่ยนจากการมองว่าเป็นเราเป็นของเรา ให้มองว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา พอมองว่าไม่ได้เป็นเราเป็นของเรา สังขารก็จะไม่ปรุงแต่งไปทางสมุทัย ถ้ามองว่าเป็นตัวเรา สังขารก็จะปรุงไปทางสมุทัย ต้องเปลี่ยนสัญญาใหม่ พอมองว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ใจก็จะปล่อย การปล่อยเป็นมรรค นิโรธก็เกิดขึ้น ความคิดทางสมุทัยก็หยุด ใจจะเฉย สักแต่ว่ารู้ รู้ตามความจริง

 

ถาม          เวลาปฏิบัติแล้ววูบลงไป สติยังอยู่ ไม่ได้บริกรรม อยู่นิ่งๆเฉยๆ เป็นสุขแบบไม่ใช่ปีติ ตรงนั้นเป็นอุเบกขา เป็นเอกัคคตารมณ์ หรือเป็นอะไร

 

ตอบ          เป็นอุเบกขา ไม่มีอารมณ์รักชัง เป็นเอกัคคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ ไม่ปรุงแต่ง รู้เฉยๆ นิ่งสงบ เหมือนลิฟต์ดิ่งวูบลงมา จิตเวลาจะเข้าสู่ความสงบ ก็เหมือนลิฟต์ดิ่งลงมาแล้วก็หยุด จะรู้เฉยๆ เบาอกเบาใจ สบายอกสบายใจ บางทีมีปีติ น้ำตาไหลขนลุกซ่า แต่เป็นเดี๋ยวเดียว แล้วก็จะนิ่งสงบ เป็นอุเบกขา จนกว่าจะถอนออกมา เป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ถูกต้อง ถ้าสงบแล้วไม่นิ่ง ออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ สมาธิที่ไม่ถูกต้อง เช่นไปเห็นกายทิพย์ อย่างคุณแม่แก้วนี่ เป็นสมาธิที่ไม่นิ่ง พอจิตสงบแล้วจะออกไปรู้เรื่องของวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นสมาธิที่ไม่ดี เพราะไม่สนับสนุนปัญญา ไม่ได้ทำให้ความอยากอ่อนกำลังลง เพราะความอยากยังทำงานอยู่ อยากจะรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ พอออกจากสมาธิแบบนี้แล้ว จะไม่มีกำลังเจริญวิปัสสนา พิจารณาทางปัญญา ต้องตัดกำลังของความอยากด้วยสัมมาสมาธิ ต้องวางยาสลบให้กับความอยาก จะได้ไม่มีกำลังเวลาออกมาจากสมาธิเหมือนนักมวย ต้องโดนนับ ๘ สักครั้ง ๒ ครั้ง จะได้ชนะอย่างง่ายดาย ถ้ายังไม่นับ ๘ จะมีกำลังต่อสู้มาก การทำสมาธิ ก็เพื่อให้ความอยากคือตัณหาถูกนับ ๘ ต้องให้จิตนิ่งๆ เวลาออกมาจากสมาธิถึงจะพิจารณาได้ ถ้าจะเจริญมรรคอย่าไปตามรู้สิ่งต่างๆ ต้องดึงกลับมาที่ตัวรู้ อย่าไปสนใจ เดี๋ยวก็จะหายไปเอง

 

ถาม          พอหายไปแล้วเราต้องพิจารณาต่อไหม

 

ตอบ          ต้องการให้นิ่งสงบ ให้ว่าง เป็นอุเบกขา

 

ถาม          ถ้าจิตถอนออกมา

 

ตอบ          ถ้าอยากจะสงบอีก ก็ให้กลับเข้าไปในสมาธิใหม่ กำหนดดูลมใหม่ หรือบริกรรมพุทโธๆ จนกว่าจะพอ แล้วค่อยออกจากสมาธิมาเดินจงกรมต่อ มาพิจารณาไตรลักษณ์ต่อ พิจารณาเรื่องที่ยังหลงยึดติดอยู่ เช่นลาภยศสรรเสริญสุข พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย

 

ถาม          ดึงเข้ามาพิจารณา

 

ตอบ          พิจารณาว่าร่างกายจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย พิจารณาดูว่าเวลาแก่เป็นอย่างไร เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอย่างไร เพื่อสอนใจให้เตรียมรับกับเหตุการณ์ พอเจอเหตุการณ์จริงจะได้ไม่ตกใจ จะได้ทำหน้าที่ของใจให้ถูกต้อง เหมือนกับนักมวย ต้องซ้อมชกกระสอบทราย ซ้อมชกกับคู่ซ้อมไว้ก่อน เวลาขึ้นเวทีจะได้ชัยชนะ