กัณฑ์ที่ ๔๒๕      ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔

 

สักกายทิฐิ

 

 

 

เวลาฟังธรรมแล้วไม่บรรลุก็เพราะขาดสมาธิ ถ้ามีสมาธิต้องบรรลุได้ ถ้าจิตยังไม่รวม จะเข้าไม่ถึงฐานของจิต ไม่ถึงรากของกิเลสตัณหา ไม่ถึงพระอริยสัจ ๔  ถ้าจิตรวมลงแล้ว เวลาได้ยินได้ฟังธรรม จะถอดถอนกิเลสได้ทันที อย่างพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ได้บำเพ็ญศีลสมาธิมาเต็มที่แล้ว แต่ท่านไม่มีปัญญา ไม่รู้ไตรลักษณ์ คืออนิจจังทุกขังอนัตตา เพราะไม่มีใครรู้ไม่มีใครสอนมาก่อน พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา สักกายทิฐิที่เป็นกิเลสฝังลึกอยู่ในใจ ก็จะถูกถอนขึ้นมาทันที สักกายทิฐิคือการเห็นว่าขันธ์ ๕ คือร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเราของเรา พอทรงแสดงว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ถ้าไปยึดไปติด เป็นทุกข์ในอริยสัจ คือทุกข์ที่เกิดจากตัณหาความอยาก อยากให้ขันธ์ ๕ เที่ยง อยากให้ขันธ์ ๕ เป็นไปตามความปรารถนา พอไม่ได้เป็นก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา นี่เป็นทุกข์ในอริยสัจ ไม่ใช่ทุกข์ในขันธ์ ไม่ใช่ทุกข์ในร่างกาย ไม่ใช่ทุกข์ในเวทนา แต่เป็นทุกข์ที่เกิดจากตัณหาความอยาก ที่มีอวิชชาเป็นผู้ผลักดัน คืออวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาคือความไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงสภาวธรรม ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป รูปขันธ์ก็คือการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ นามขันธ์คือสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปภายในใจ ไม่มีตัวไม่มีตน พอได้ยินได้ฟังก็จะเข้าใจทันที

 

ถ้ามีสมาธิมีจิตที่สงบ จะเห็นอริยสัจ ๔ ปรากฏขึ้นในใจ เวลามีความอยากให้ร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอเกิดความอยากขึ้นมา ซึ่งเป็นสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่ทุกข์กาย ไม่ใช่ทุกขเวทนา พอคิดถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ใจก็ทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ด้วยอำนาจของสมุทัย ที่ไปคิดว่าร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเราของเรา ก็อยากจะให้สุข ไม่ให้ทุกข์ ถ้าสุขก็อยากให้สุขไปนานๆ ถ้าทุกข์ก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ อยากให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย อย่างนี้เป็นตัณหาความอยาก เป็นสมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ใจ เวลาบรรลุธรรมก็บรรลุตรงนี้ ตรงที่เห็นอริยสัจ ๔ ภายในใจอย่างชัดเจน ได้เห็นทุกข์ ได้เห็นสมุทัย ถ้าเคยได้ยินได้ฟังธรรมคือมรรค ที่พระองค์ทรงสอนว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พอเห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะละอุปาทานละตัณหาความอยากให้ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ เพราะรู้ว่าไม่สามารถฝืนความจริงของขันธ์ ๕ ได้ เป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ พอยอมรับความจริงทุกข์ที่มีอยู่ในใจก็ดับไปทันที เพราะสมุทัยหยุดทำงาน หยุดอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง  จะเป็นอย่างไรก็สักแต่ว่ารู้  รู้ด้วยสติรู้ด้วยปัญญา รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์  รู้ว่าต้องปล่อยวาง พอปล่อยวางได้ ความทุกข์ใจก็หายไป

 

นี่คืออริยมรรคอริยผล การเห็นอริยสัจ ๔ ขั้นต่างๆ ขั้นแรกก็ต้องเห็นสักกายทิฐิ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา สักกายทิฐิคือความเห็นผิดเป็นชอบ  เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวเราของเรา แล้วก็เกิดอุปาทานความยึดติดในขันธ์ ๕ เกิดตัณหาความอยากให้ขันธ์ ๕ เป็นไปตามความปรารถนาของตน ก็จะเกิดทุกข์ขึ้นมา เป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ที่อยู่ในใจ จะเห็นทุกข์นี้ได้ ต้องมีจิตที่สงบ จิตต้องรวมเข้าสู่ฐาน เป็นเอกัคคตารมณ์ พอออกมาจากความสงบ ก็จะมีความคิดปรุงแต่ง ขณะที่อยู่ในสมาธิจะไม่มีความคิดปรุงแต่ง จะไม่มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีแต่นิโรธคือความดับทุกข์ชั่วคราว ที่เกิดจากกำลังของสมาธิ เพราะตอนนั้นสัญญาสังขารไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ปรุงแต่งไปในทางสมุทัย แต่พอออกมาจากสมาธิแล้ว พอจิตเริ่มคิดถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะเกิดความอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้ามีสติมีปัญญารู้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะระงับความอยาก ทำใจให้เฉยๆ เป็นอย่างไรก็ได้ พอทำใจให้เฉยๆได้ ความทุกข์ใจที่เกิดจากความอยากก็จะหายไป เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ มีการเกิดย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ถ้ารู้อย่างนี้ก็ปล่อยวางได้ ตัดความอยากคือสมุทัยได้ เป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับโดยถ่ายเดียว ค้านไม่ได้ ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครค้านได้ นี่แหละคือการบรรลุธรรม ต้องมีสมาธิก่อน มีจิตที่สงบก่อน ต้องเข้าไปถึงรากฐานของกิเลสตัณหา ที่อยู่ในฐานของจิต การปฏิบัติจึงต้องเข้าไปในฐานของจิต เพื่อขุดเอารากของกิเลสตัณหาออกมา คือความเห็นผิดทั้งหลายคือโมหะ เช่นสักกายทิฐิเป็นความเห็นผิดข้อที่ ๑

 

ข้อที่ ๒ คือวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พอเห็นพระอริยสัจ ๔ ในฐานของจิต ก็จะหายสงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ถึงแม้จะไม่เคยเห็นมาก่อน พอรู้ว่าพระอริยสัจ ๔ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นพระธรรมคำสอน ก็จะไม่สงสัยว่าพระธรรมคำสอนเป็นคำสอนที่จริงหรือไม่ ถูกต้องตามหลักความจริงหรือไม่ จะไม่สงสัยในพระสงฆ์ ผู้เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรม พระสงฆ์ก็คือผู้มีดวงตาเห็นธรรมนี่เอง  คือพระโสดาบัน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่ได้ทำจิตให้ดิ่งเข้าสู่ฐาน แล้วก็เห็นอริยสัจ ๔ คือการทำงานของทุกข์สมุทัยนิโรธและมรรคอย่างชัดเจน เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะไม่ลังเลสงสัยอีกต่อไป ไม่ต้องเดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อนมัสการสังเวชนียสถาน ๔ ผู้ที่ต้องไปเพราะยังไม่เห็นพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ที่แท้จริงภายในใจ อย่างน้อยก็ขอให้ได้เห็นซากของสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ เช่นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระธรรมครั้งแรก และเสด็จดับขันธปรินิพพาน จะได้เกิดศรัทธาวิริยะฉันทะที่จะเจริญรอยตามพระพุทธบาท ก็จะหมั่นศึกษาพระธรรมคำสอน และปฏิบัติตาม จนกว่าจะบรรลุอริยมรรคอริยผล ก็จะเข้าถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ที่แท้จริง ต้องเริ่มจากการทำบุญให้ทาน รักษาศีลให้บริสุทธิ์ แล้วก็เจริญสติ เพื่อทำจิตให้รวมลงเป็นสมาธิ พอออกมาจากสมาธิ ก็พิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นไตรลักษณ์ ก็จะสามารถเห็นพระอริยสัจ ๔ ได้ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ที่ทำงานอยู่ในใจ นี่คืออานิสงส์ที่เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม

 

ก่อนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และประกาศพระธรรมคำสอน ไม่มีใครรู้เรื่องของสักกายทิฐิ เรื่องของไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา พอพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ทรงเห็นพระอริยสัจ ๔ ในพระทัยของพระองค์ ทรงเห็นสักกายทิฐิ แล้วนำเอามาเผยแผ่สั่งสอนให้แก่ผู้อื่น ถ้าผู้ฟังมีฐานะที่จะรับธรรมนี้ได้ ก็จะบรรลุธรรมได้ทันที ถ้าไม่บรรลุทั้งๆที่ได้ยินเรื่องพระอริยสัจ ๔ ได้ยินเรื่องขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตามานานแล้ว แต่ใจยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ ยังมีสักกายทิฐิอยู่ ยังเห็นว่าร่างกายเวทนาสัญญาสังขารเป็นตัวเราของเราอยู่ นั่นก็เป็นเพราะว่ายังไม่ได้เข้าไปในฐานของจิต คือจิตยังไม่ได้รวมเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ เพราะที่นั่นเป็นที่ฝังรากของสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส คือการไม่เห็นว่าสุขทุกข์ดีชั่วอยู่ที่การกระทำของตนเอง พอทำดีมีศีล ก็จะไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายใจ เวลาทุกข์วุ่นวายใจ ก็ไม่ได้มาแก้ที่ใจ ก็คือมารักษาศีล แต่ไปแก้ด้วยวิธีการสะเดาะเคราะห์ต่างๆ เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล เปลี่ยนทรงผม ทำพิธีต่างๆ บูชาสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้ดับความทุกข์ภายในใจ ที่เกิดจากการกระทำบาป ทุกครั้งที่ทำอะไรไม่ดี คิดร้ายพูดร้ายทำร้าย จะไม่สบายใจ พอได้เห็นพระอริยสัจ ๔ ก็จะไม่สงสัยเรื่องของการรักษาศีล เพราะเวลาทำผิดศีลใจจะทุกข์ เพราะเกิดสมุทัยความไม่อยากรับผลของการทำบาปนั้นเอง เวลาทำบาปทำแล้วไม่อยากจะถูกลงโทษ ก็เลยทุกข์ใจ  ถ้าได้เข้าสู่ฐานของจิตแล้ว จะเห็นว่าความทุกข์ความสุขในใจ เกิดจากความคิดดีหรือคิดร้าย ถ้าคิดดีใจจะไม่ทุกข์ ถ้าคิดไม่ดีใจจะทุกข์ ก็จะมาแก้ทุกข์ที่ใจ ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้

 

นี่คือสังโยชน์ที่ผูกมัดใจให้ติดอยู่ในกองทุกข์ ถ้ามีสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ก็จะทุกข์ ถ้าดับสังโยชน์ทั้ง ๓ นี้ได้ ความทุกข์ใจจะเบาบางลงไปในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีสังโยชน์อีก ๒ ที่อยู่ในกลุ่มของสังโยชน์เบื้องต่ำ คือกามราคะและปฏิฆะที่ต้องละให้ได้ กามราคะคือความกำหนัดยินดีในกามนี้เอง โดยเฉพาะการร่วมหลับนอนร่วมเพศ ส่วนปฏิฆะก็คือความหงุดหงิดรำคาญใจ เวลาเกิดกามราคะก็จะหงุดหงิด ถ้ายังไม่ได้ร่วมเพศ พอได้ร่วมเพศแล้วความหงุดหงิดก็จะหายไปชั่วคราว เพราะกามราคะได้หยุดไปชั่วคราว หลังจากที่ได้ไปร่วมหลับนอนได้ร่วมเพศแล้ว หลังจากนั้นก็จะเกิดกามราคะขึ้นมาใหม่ ก็จะหงุดหงิดใจอีก  การที่จะละกามราคะและปฏิฆะได้  ต้องเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาส่วนที่ไม่สวยงามของร่างกาย ส่วนที่สวยงามนี้เราเห็นกันอยู่ตลอดเวลา เพราะเราชอบเอาส่วนที่สวยงามออกมาโชว์กัน ถ้ายังไม่ได้อาบน้ำอาบท่า หวีเผ้าหวีผม แต่งเนื้อแต่งตัว จะไม่กล้าออกจากบ้านกันถ้าตื่นนอนลุกขึ้นจากเตียงขับรถออกไปทำงานเลย จะมีใครทำบ้าง ถ้าทำก็ไม่ต้องเจริญอสุภะกันให้เหนื่อย เพราะเห็นอสุภะกันตลอดเวลา แต่พวกเราไม่ชอบเอาอสุภะมาอวดกัน  ชอบเอาแต่สุภะความสวยงามมาอวดกัน ก็เลยทำให้เกิดกามราคะความกำหนัดยินดีขึ้นมา เกิดการข่มขืนกันฆ่ากัน ข่มขืนแล้วก็ต้องฆ่าปิดปาก ถ้าทุกคนเอาอสุภะมาอวดกัน จะไม่มีการข่มขืนกัน ไปไหนก็จะปลอดภัย กลับไม่ชอบอวดกัน ชอบทำตัวให้เป็นเหยื่อล่อพวกอาชญากร ถ้าไม่อยากจะถูกข่มขืน ก็เอาอสุภะออกมาอวดกัน จะไม่มีใครมาข่มขืน แต่งกายเหมือนคนขอทาน ใส่เสื้อผ้าขาดๆมีกลิ่นเหม็น จะปลอดภัย ไม่ถูกข่มขืนชำเรา พวกเราไปสร้างเหตุโดยไม่รู้สึกตัว ด้วยการแต่งตัวไม่ปกปิดร่างกายให้มิดชิด สวมใส่เสื้อผ้าตัวนิดเดียว ที่วัดต้องจัดโสร่งไว้คอยต้อนรับ ให้คนที่แต่งกายไม่สำรวมใส่โสร่งคลุมร่างกายไว้ ก่อนจะเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

 

ถ้าต้องการละกามราคะก็ต้องเจริญอสุภกรรมฐาน ต้องดูส่วนที่ไม่สวยไม่งามของร่างกาย ให้นึกถึงตอนที่เพิ่งตื่นขึ้นมา ผมเผ้ายังไม่ได้หวี ฟันยังไม่ได้แปรง เวลาไปขับถ่ายในห้องน้ำ ดูอวัยวะต่างๆที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง มองด้วยปัญญา คือให้นึกถึงภาพของอวัยวะต่างๆที่ซ่อนอยู่ภายใต้หนัง เช่นโครงกระดูก หัวใจ ตับ ไต ลำไส้ ถ้าดูอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เวลามองร่างกายก็จะมองอย่างสมดุล มองทั้งสองด้าน ด้านนอกก็เห็น ด้านในก็เห็น ก็จะระงับกามราคะได้ หรือจะดูสภาพที่ตายไปแล้วก็ได้ ก็เป็นร่างกายอันเดียวกัน ร่างกายที่เราชอบเรารัก สักวันหนึ่งก็จะต้องกลายเป็นซากศพไป ศพ ๓ วันเป็นอย่างไร ศพ ๗ วันเป็นอย่างไร ศพ ๑๕ วันเป็นอย่างไร ในสมัยก่อนเขาทิ้งศพไว้ในป่าช้า เวลามีแร้งกามากัดมากินเป็นอย่างไร เวลามีหนอนมีแมลงมีสัตว์ต่างๆมาแทะกินจะเป็นอย่างไร ให้ดูอย่างนี้บ้าง เพื่อจะได้เห็นความจริงของร่างกายว่าสวยจริงหรือไม่สวยจริง ถ้าดูอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง เวลาเห็นร่างกายปั๊บไม่ว่าจะแต่งกายให้สวยขนาดไหนก็ตาม มีรูปร่างหน้าตาสวยงามขนาดไหนก็ตาม อสุภะที่ได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆจะออกมาเตือนว่า ไม่ได้สวยงามอย่างที่เห็นด้วยตา ส่วนที่ไม่สวยที่ไม่เห็นก็มีอยู่ด้วย

 

นี่คือการเจริญอสุภกรรมฐาน ถ้าเจริญได้ประมาณสักครึ่งหนึ่ง ก็จะทำให้กามราคะเบาบางลงไป จะมีความเบื่อๆอยากๆ บางครั้งก็อยากถ้าเผลอ ไม่ได้คิดถึงอสุภะ เวลาใดที่นึกถึงอสุภะเวลานั้นก็จะเบื่อ ขั้นนี้เป็นขั้นของพระสกิทาคามี ได้ทำให้กามราคะและปฏิฆะเบาบางลงไป แต่ยังไม่หมด ถ้าเจริญอสุภะได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา มองครั้งใดก็จะเห็นอสุภะทันที ดับสุภะทันที อย่างนี้ก็จะเบื่อตลอดเวลา ไม่มีกามราคะไม่มีปฏิฆะหลงเหลืออยู่ภายในใจ ใจก็จะหมดความวุ่นวายไปกับเรื่องของร่างกาย จะเห็นร่างกายทุกสัดทุกส่วน เห็นตั้งแต่สักกายทิฐิมา ว่าเกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นธรรมดา เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็บรรลุขั้นอนาคามี   อนาคามีแปลว่าผู้ไม่กลับมาเกิดในกามภพ ไม่ต้องการร่างกายเป็นเครื่องมือในการหาความสุขอีกต่อไป จะหาความสุขจากความสงบภายในใจ จะไม่ต้องเกิดในกามภพ คือไม่เกิดเป็นเทพเป็นมนุษย์ แต่ยังต้องเกิดเป็นพรหมจนกว่าจะสามารถละสังโยชน์เบื้องบนที่มีอยู่ ๕ ข้อได้ คือ ๑. รูปราคะ ความติดใจในรูปฌาน ๒. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปฌาน ๓. มานะ การถือตัว ๔. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ๕. อวิชชา ความไม่รู้พระอริยสัจ ๔ ที่ละเอียด  อุทธัจจะเป็นความฟุ้งซ่านของจิตที่ละเอียด ต่างจากความฟุ้งซ่านของนิวรณ์ ที่เป็นชนิดหยาบ เป็นความฟุ้งซ่านชนิดละเอียด ที่เกิดจากการทำงานของมหาสติมหาปัญญา ที่เลยขอบเขต ไม่หยุดไม่หย่อน ไม่รู้จักพักผ่อน ก็เลยทำให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา พอเข้าถึงจุดนี้แล้ว สติปัญญาจะทำงานอย่างอัตโนมัติ จะขุดคุ้ยค้นหากิเลสหาสังโยชน์ ที่ยังสร้างความทุกข์ให้กับจิตอยู่ อย่างไม่หยุดไม่หย่อน ก็เลยทำให้เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา ถ้าหยุดพักจิตในสมาธิ หยุดความคิดปรุงแต่ง ให้อยู่ในความสงบ ความฟุ้งซ่านก็จะหายไป พอออกมาจากสมาธิก็จะพิจารณาขุดคุ้ยหากิเลสหาสังโยชน์ต่อ เพื่อกำจัดให้หมดสิ้นไป

 

พอได้บรรลุพระอนาคามีแล้ว จิตจะละเอียดมาก จะมีความสุขมาก ก็จะติดใจ เป็นรูปราคะและอรูปราคะ ติดในรูปฌานและอรูปฌาน เวลาออกมาสัมผัสรับรู้เรื่องต่างๆ จิตก็จะเกิดอารมณ์ขุ่นมัว เพราะยังมีมานะความถือตัวอยู่ ถือว่าตนสูงกว่า เท่ากัน หรือต่ำกว่าคนนั้นคนนี้ ก็จะมีความทุกข์ใจไม่พอใจ เช่นถ้าคิดว่าเป็นผู้ใหญ่ พอไม่ได้รับความเคารพจากผู้น้อย ก็จะไม่พอใจ เป็นแม่ไม่ได้รับการเคารพจากลูก ลูกไม่เชื่อฟัง ก็จะหงุดหงิดใจทุกข์ใจ ก็ต้องพิจารณามานะให้เห็นว่าเป็นเพียงสมมุติ สมมุติว่าเขาสูงกว่าเรา เท่าเรา หรือต่ำกว่าเรา ถ้าเป็นทหารก็จะสมมุติว่านายพันสูงกว่านายร้อย ความจริงแล้วจิตเหมือนกันทุกดวง ไม่มีสูงไม่มีต่ำกว่ากัน จิตเป็นเหมือนความว่าง มีแต่ความรู้สึกนึกคิด พอไม่รู้ความจริงนี้ ก็ไปหลงติดอยู่กับสมมุติ เช่นพอบวชเป็นพระก็ได้รับสมมุติว่ามีพรรษา ๑ พรรษา ๒ พรรษา ๓ ผู้ที่มีพรรษาสูงกว่าก็ต้องได้รับการเคารพจากผู้มีพรรษาที่ต่ำกว่า ถ้าผู้มีพรรษาต่ำกว่าไม่ให้ความเคารพ ก็อาจจะเกิดความไม่พอใจได้ ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นเพียงสมมุติเท่านั้นเอง เรื่องสูงเรื่องต่ำ แล้วก็อย่าไปยึดอย่าไปติด ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำตัวเป็นเหมือนปฐพี ให้เขาเหยียบย่ำได้ ให้ถ่ายปัสสาวะอุจจาระใส่ได้ ใครจะดูถูกดูแคลนดูหมิ่น จะไม่เคารพนับถือ ก็จะไม่เป็นปัญหาเลย เป็นการแสดงของเขา เขาจะด่าจะชม ก็เป็นการแสดงของเขา เราเป็นคนดู ก็ดูเขาไป นี่คือวิธีแก้มานะ

 

ถ้าพิจารณาเพื่อแก้มานะหรืออวิชชา อย่างไม่หยุดไม่หย่อน ก็จะเกิดอุทธัจจะขึ้นมา พิจารณาเพื่อให้รู้จักมานะและอวิชชา เคยได้ยินได้ฟังมา แต่ยังไม่เคยเจอตัว เคยอ่านในตำราเกี่ยวกับรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ตอนนี้รู้จักรูปราคะอรูปราคะแล้ว คือติดอยู่ในความสงบ ไม่พิจารณามานะและอวิชชา พอออกมาพิจารณา ก็จะพิจารณาไม่หยุดไม่หย่อน จนเป็นอุทธัจจะความฟุ้งซ่านขึ้นมา ทางที่ถูกต้องกลับไปพักในสมาธิในฌาน ในรูปฌานหรืออรูปฌาน พักจิตจนมีกำลังแล้ว ค่อยออกมาพิจารณาต่อ ก็จะเห็นมานะและอวิชชา มานะก็คือการถือตน อวิชชาคือไม่รู้พระอริยสัจ ๔ ที่ละเอียด ไม่เห็นทุกข์ที่ติดมากับความสุขที่ละเอียดและสว่างไสว ทำให้ยึดติด อยากให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด ไม่รู้ว่ามันไม่เที่ยง การขัดเกลากิเลสส่วนหยาบส่วนกลางออกไป ทำให้เกิดความสว่างไสว ความสงบ ความสุขที่ละเอียดขึ้นมา แต่ยังเป็นสมมุติอยู่  ยังเป็นไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าไม่รู้ก็จะคอยดูแลรักษา เวลาจะเสื่อมก็ใช้สติปัญญารักษา เพราะเคยใช้สติปัญญาในการทำจิต ให้สงบให้สว่างให้ผ่องใส ก็เลยยังต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนรู้ว่านี่ไม่ใช่วิธีที่จะปฏิบัติกับความสุขความสว่างนี้ ถ้าเป็นพระนิพพานเป็นสิ่งที่ถาวร ก็ไม่ต้องดูแลรักษา ถ้าเป็นไตรลักษณ์ ก็ต้องปล่อยวาง เจริญหรือเสื่อม ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง ไม่ต้องรักษา

 

อย่างที่หลวงตาท่านเคยพูดไว้ว่า ตอนที่อ่านเกี่ยวกับอวิชชานี่ก็นึกว่าเป็นเสือดุร้าย แต่พอไปเจอตัวจริงกลับเป็นเหมือนนางงาม ก็เลยไปดูแลรักษาปกป้องมัน แทนที่จะทำลายมันด้วยปัญญา คือเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าได้ยินได้ฟังจากผู้ที่ได้ผ่านมาแล้ว พอปฏิบัติถึงขั้นนี้ ก็จะรู้ทันที จะไม่เสียเวลา แต่ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ก็จะหลงติดไปก่อน เพราะสติปัญญาไม่รู้ทัน ว่ากำลังอารักขาอวิชชา แทนที่จะฆ่าอวิชชา ตอนต้นคิดว่าจะมาทำลายอวิชชา แต่พอเจออวิชชากลับไปอารักขาอวิชชา เพราะไม่รู้ว่าเป็นอวิชชา พอรู้แล้วก็จะปล่อยวาง ถ้าความสว่างความไสว ความสุขอันละเอียดนี้ จะเสื่อมก็ปล่อยให้เสื่อมไป พอปล่อยแล้วก็จะไม่มีอะไรเหลือ นอกจากความว่างที่เป็นปรมัง สุญญัง และความสุขที่เป็นปรมัง สุขัง เป็นธรรมชาติของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันหมดไป มีอยู่ในจิตของพวกเราทุกคน ที่ตอนนี้ถูกสิ่งที่เป็นไตรลักษณ์หุ้มห่ออยู่ ทำให้ไม่เห็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์นี้

 

หน้าที่ของพวกเราจึงอยู่ที่การปฏิบัติ เพื่อกำจัดสิ่งที่หุ้มห่อจิตคือสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ ด้วยการเจริญสติเพื่อสนับสนุนสมาธิให้จิตเข้าสู่ฐาน เพื่อเข้าถึงสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ ต้องเจริญสติให้มาก เพื่อทำจิตให้รวมเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ จะได้กำจัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการให้หมดไปได้ นี่คือแนวทางของการบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องเห็นพระอริยสัจ ๔ เห็นว่าทุกข์เกิดจากสมุทัยคือความอยาก ให้สิ่งต่างๆที่ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา ให้เป็นไปตามความอยาก มรรคผลทุกขั้นจะต้องบรรลุด้วยการปล่อยวาง จะปล่อยวางได้ก็ต้องมีเครื่องมือ เช่นจะปล่อยวางกามราคะได้ ก็ต้องเห็นว่าร่างกายไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ จะปล่อยวางสักกายทิฐิได้ ก็ต้องเห็นว่าร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา การเห็นสิ่งอื่นในเวลาภาวนานี้ไม่สำคัญเท่ากับเห็นพระอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ถ้าเห็นนิมิตต่างๆ ก็เหมือนกับเห็นสิ่งต่างๆด้วยตาเนื้อ ไม่เป็นประโยชน์ ควรเห็นว่าใจมีความรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เห็น ยังรัก ยังชัง ยังโลภ ยังโกรธหรือไม่ เวลาเห็นภาพที่สวยงาม มีกามราคะเกิดขึ้นมาหรือไม่ เห็นความตายแล้วเกิดความกลัวขึ้นมาหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราต้องเห็น ก็คือปฏิกิริยาของใจต่อสิ่งต่างๆที่ใจสัมผัสรับรู้ ถ้าเห็นแล้วสักแต่ว่ารู้ ก็จะหมดปัญหา

 

ดังที่ทรงสอนชายคนหนึ่ง ในขณะที่กำลังบิณฑบาตว่า เห็นอะไร ก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน  อย่าไปมีปฏิกิริยากับสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยิน พอตรัสเท่านั้นเขาก็บรรลุ แล้วก็ขอกราบลาเพื่อไปเตรียมอัฐบริขารเพื่ออุปสมบท ในระหว่างทางก็ไปถูกกระทิงขวิดตาย ก็เลยเกิดความเข้าใจผิดในวงพุทธศาสนิกชนว่า ถ้าบรรลุแล้วยังไม่ได้บวชภายใน ๗ วันจะต้องตาย เพราะชายคนนี้บรรลุแล้วแต่ยังไม่ได้บวช ก็เลยต้องตายไป พระราชบิดาก็ทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต ก็เลยกลัวกันว่าถ้าบรรลุแล้วไม่ได้บวชภายใน ๗ วัน จะต้องตายกัน อันนี้ไม่มีเหตุไม่มีผล เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า เพราะการโกนหัวห่มผ้าเหลืองจะป้องกันความตายได้อย่างไร เนื่องจากปัญญาของพุทธศาสนิกชนทุกวันนี้มีน้อยมาก พอได้ยินอะไรก็กลัวกันเชื่อกันไปหมด เป็นพวกมงคลตื่นข่าว พวกเราจึงต้องหนักแน่นต่อเหตุผล ต่อพระธรรมคำสอน ควรศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มาก ควรศึกษาจากต้นฉบับเลยคือพระไตรปิฎก ศึกษาพระธรรมพระสูตรที่สำคัญต่างๆ เช่นพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระอนัตตลักขณสูตร พระมงคลสูตร พระมหาสติปัฏฐานสูตร จะได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร เวลามีคนมาประกาศตนเป็นผู้วิเศษ สอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะได้รู้ว่าวิเศษจริงหรือไม่ สอนตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนหรือไม่ แต่พวกเราไม่ค่อยสนใจศึกษากัน ทั้งๆที่เป็นชาวพุทธ แต่ไม่ศึกษากันอย่างจริงจัง ไม่เหมือนชาวต่างประเทศ ที่ไม่ได้เกิดในประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนจากพระไตรปิฎก จึงรู้ดีกว่าพวกเรา ที่เป็นพวกใกล้เกลือกินด่าง ไม่ยอมศึกษากัน แต่ยังโชคดีที่มีครูบาอาจารย์ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติ นำมาถ่ายทอดมาป้อนให้พวกเรา ที่ชอบให้ป้อน ไม่ชอบหากินเอง ถ้าไม่ได้มาฟังธรรมที่นี่ ก็คงจะไม่ได้ศึกษาธรรมกัน พอกลับไปบ้านก็ไปดูพวกบันเทิง ไม่ดูธรรม ไม่ฟังธรรม แล้วจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร

 

ถ้าเป็นชาวพุทธจริงและอยากจะได้รับอานิสงส์จากการเป็นชาวพุทธ ก็ต้องศึกษา ปริยัติคือการศึกษา ศึกษาแล้วก็ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติแล้วปฏิเวธคือการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ก็จะเป็นผลที่ตามมาต่อไป เมื่อบรรลุแล้วก็จะสามารถสั่งสอนผู้อื่นได้ต่อไป และช่วยยืดอายุของพระพุทธศาสนา รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่กับโลกไปนานๆ อยู่ที่การศึกษา การปฏิบัติ การบรรลุผล และการเผยแผ่พระธรรมคำสอน ต้องทำตามขั้นตอน อย่าข้ามขั้นอย่างที่ทำกัน คือศึกษาแล้วก็ข้ามขั้นปฏิบัติ ไปเป็นครูเป็นอาจารย์ไปสั่งสอน ทั้งๆที่ยังไม่ได้บรรลุ ก็จะสั่งสอนด้วยจินตนาการ คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ คนฟังฟังแล้วก็งงไม่มั่นใจ ถ้าเชื่อก็จะหลงผิดไป ทำให้ศาสนาเสื่อม เพราะจะสอนผิดๆไปเรื่อยๆ จนสิ่งที่ถูกกลายเป็นผิด สิ่งที่ผิดกลายเป็นถูกไป นี่คือหน้าที่ของพวกเราชาวพุทธ ถ้าอยากจะทดแทนบุญคุณของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ขอให้ทำตามคำสอน คือศึกษา ปฏิบัติ บรรลุผล แล้วค่อยเผยแผ่ ตามลำดับ จะได้บูชาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อย่างแท้จริง เป็นสิริมงคล เป็นความสุขความเจริญ

 

มีญาติโยมอยากให้สร้างศาลาใหม่ ให้ใหญ่กว่าเก่า ได้ตอบไปว่าจะไม่มีการก่อสร้างบนนี้ เพราะต้องการรักษาสภาพของความเป็นป่า ของความสงบไว้ ไม่ต้องการความเจริญทางวัตถุ  ต้องการความเจริญทางจิตใจ ถ้าเจริญทางวัตถุก็มักจะทำลายความเจริญทางจิตใจ เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ที่ไหนมีการก่อการสร้าง ที่นั่นก็จะไม่มีความสงบ ไม่มีการปฏิบัติ เวลาหลวงตาสอนพระทุกครั้ง ท่านต้องบอกว่าอย่าก่อสร้าง ท่านรู้ว่าพระชอบก่อสร้างกุฏิ สร้างศาลา สร้างเจดีย์ แต่ไม่ชอบสร้างมรรคผลนิพพาน สร้างความสงบภายในใจ ใจจะสงบได้กายต้องสงบก่อน สภาพแวดล้อมของกายต้องสงบสงัดวิเวก ไม่คลุกคลีกัน จะมารวมกันเฉพาะเวลาทำกิจ เช่นฟังเทศน์ฟังธรรม ฉันจังหัน บิณฑบาต ปัดกวาด ที่พระป่าจะมาพบกัน แต่จะไม่สนทนากัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน ในสมัยพระพุทธกาลมีชาวบ้านสงสัยว่าพระทะเลาะกันหรือ จึงไม่พูดคุยกันเลย ความจริงท่านกำลังควบคุมกายวาจาใจของท่าน โดยเฉพาะใจของท่าน ให้อยู่ในความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ให้คิดปรุงแต่ง ถ้าคุยกันก็แสดงว่าใจยังฟุ้งซ่าน วิถีชีวิตของผู้ที่ปฏิบัติกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานจะต่างกัน ผู้ที่ไม่ปฏิบัติจะชอบการสนทนาสังสรรค์กัน ในวงการปฏิบัติจะรู้หน้าที่ของตน รู้ว่าต้องควบคุมความคิดปรุงแต่ง สำรวมกายวาจาใจ เพื่อให้ใจสงบ ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความสงบ การปฏิบัติจะก้าวหน้าหรือไม่ก็อยู่ที่ความสงบ ถ้าจิตไม่สงบไม่ถึงฐาน ปัญญาจะไม่เป็นปัญญา ไม่สามารถถอนรากถอนโคนของกิเลสตัณหาได้

 

ผู้ปฏิบัติจึงต้องมีความเข้มงวดกวดขัน ต้องรักษาจิตใจให้อยู่ในทำนองคลองธรรม ลดละกิเลสตัณหา ละลาภยศสรรเสริญและการหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ถ้าไปสมัครเป็นผู้แทนฯ แสดงว่าไม่ได้อยู่ในทางธรรมแล้ว กำลังไปในทางกิเลสตัณหา ไปสู่กองทุกข์ ไปสู่ความหายนะ ถ้าไม่ระมัดระวัง ถ้าไม่รักษาศีล ไปทำผิดกฎหมาย ก็ต้องไปติดคุกติดตะราง ตายไปก็ต้องไปใช้กรรมในอบาย จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม แต่คนที่มีปัญญาจะเชื่อ ไม่สงสัย ไม่กล้าทำบาปทำกรรม ตัดการหาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทำไมพระพุทธเจ้าและพระสาวก ไม่แสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข อย่างที่พวกเราแสวงหากัน เพราะไม่ใช่ทางไปสู่การดับทุกข์ ทำไมพวกเรายังดันทุรังไปทางนี้กัน เพราะถูกกิเลสกล่อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ปลุกธรรมขึ้นมากล่อม

 

เวลาครูบาอาจารย์จากไปแต่ละครั้งจะรู้สึกว้าเหว่มาก เพราะไม่ได้สร้างที่พึ่งภายในใจ ไปยึดติดที่พึ่งภายนอก ซึ่งเป็นที่พึ่งชั่วคราว ไม่ถาวรเหมือนกับที่พึ่งภายใน จึงควรสร้างที่พึ่งภายในใจด้วยการปฏิบัติ กำหนดเวลาปฏิบัติ อย่าปฏิบัติตามอารมณ์ ต้องกำหนดว่าจะภาวนาวันละกี่ชั่วโมง รักษาศีลกี่ข้อ ลดละการหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส เช่นดูโทรทัศน์ฟังเพลงอ่านหนังสือไร้สาระกี่ชั่วโมง ต้องกำหนดตารางขึ้นมา ถ้าไม่กำหนด ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์ ก็จะไปทางของกิเลสตัณหาตลอดเวลา เพราะกำลังของกิเลสตัณหามีกำลังมากกว่าธรรม ต้องกำหนดต้องควบคุมบังคับ ถึงจะมาทางธรรมได้ ต้องดึงใจให้มาทางธรรมให้ได้ อย่าไปเสียดายทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เป็นอยู่ ต้องนึกอยู่เรื่อยๆว่าสักวันหนึ่งจะต้องจากเราไป หรือเราต้องจากเขาไป จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากเขา เวลาไปไม่สามารถเอาเขาไปได้ สิ่งที่เอาไปได้คือบุญหรือบาป ความสงบหรือความวุ่นวาย ความหิวหรือความอิ่ม ถ้าไปกับความสงบกับความอิ่ม ก็จะไปกับความสุข ถ้าไปกับความหิวกับความอยาก ก็จะไปกับความทุกข์

 

ต้องคิดพิจารณาความไม่มีคุณค่าของสิ่งต่างๆที่เรามีอยู่ สิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตจิตใจก็คือธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้กับพวกเรา ให้รีบตักตวงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อจะได้เป็นเสบียง เป็นยานที่จะพาจิตใจไปสู่ความสิ้นสุดของความทุกข์ ถ้าสามารถเข้าสู่กระแสของพระนิพพานได้แล้ว ก็จะปลอดภัย ช้าหรือเร็ว อย่างน้อยก็รู้ว่าจะต้องไปถึงพระนิพพานอย่างแน่นอน ถ้าทำไม่ได้เวลาตายไปก็จะไปแบบว่าวหางขาด จะลอยไปตามลมของบาปและบุญ ถ้ามีธรรมอยู่ภายในใจก็จะเหมือนมีเครื่องบินลากจูงว่าว ให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ปรารถนา จึงควรจะรีบตักตวงธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะธรรมปฏิบัติคือจิตตภาวนา ต้องทำให้มาก เจริญสติให้มาก ให้ถือการเจริญสติเป็นงานหลัก ในทุกอิริยาบถ ทุกวันทุกเวลา ในขณะที่ตื่น ให้มีสติที่เป็นเหมือนบังเหียนควบคุมม้า ถ้าไม่มีบังเหียน จะไม่สามารถควบคุมม้าให้ไปตามทางที่ต้องการได้ ใจก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีสติ ก็จะไปตามอารมณ์ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ส่วนใหญ่จะไม่ดี จะพาไปสู่ความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความวุ่นวายใจ ต้องฝึกสติให้มาก เพื่อจะได้พาใจให้เข้าสู่ความสงบ ความเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขา พอเข้าถึงจุดนี้ได้แล้ว ก็จะสามารถเอาธรรมของพระพุทธเจ้ามาสอนใจได้ สอนให้ปล่อยวาง ให้ตัด ให้ละได้ ถ้าไม่มีสมาธิคือความสงบความเป็นหนึ่งของใจ จะสอนอย่างไรก็จะไม่ฟัง  ถ้ามีสมาธิแล้วจิตจะทำตาม สอนให้หยุดก็จะหยุด ถ้าไม่มีสมาธิจะหยุดไม่ได้ เวลาโกรธก็หยุดไม่ได้ เวลาโลภก็หยุดไม่ได้ เวลาอยากได้อะไรก็หยุดไม่ได้ ถ้ามีสมาธิแต่ยังไม่สามารถพิจาณาว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา อย่างน้อยก็จะหยุดความอยากได้ชั่วคราว ด้วยการเข้าไปในสมาธิ ต่อไปถ้าพิจารณาเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ในสิ่งที่อยากได้อยากมีอยากเป็น ก็จะสามารถตัดความอยากได้อย่างถาวร สมาธิจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก ในการทำให้ใจเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ทุกวันนี้ใจไม่ได้เป็นของตัวเอง ใจเป็นทาสของกิเลสตัณหา ความอยากต่างๆ ที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจวุ่นวายใจ และปัญหาต่างๆ

 

ธรรมจึงมีความสำคัญมาก เพราะมีธรรมเท่านั้นที่จะทำให้ใจหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาและความทุกข์ อยู่ที่ไหนจะมีแต่ความสุข จะยากดีมีจนไม่สำคัญ เพราะไม่ใช่เหตุของความสุขทุกข์ภายในใจ เหตุคือธรรมกับกิเลส ถ้ามีธรรมไม่มีกิเลสก็จะมีแต่ความสุข ถ้ามีกิเลสไม่มีธรรมก็จะมีแต่ความทุกข์ ไม่ได้อยู่ที่ร่ำรวยหรือยากจน ไม่ได้อยู่ที่มีตำแหน่งสูงหรือไม่สูง ไม่ได้อยู่ที่การยกย่องสรรเสริญหรือตำหนิติเตียนนินทา ไม่ได้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส แต่อยู่ที่ธรรมกับกิเลสเท่านั้น ถ้ามีธรรมใจก็จะสงบมีความสุข จะอิ่มจะพออยู่ตลอดเวลา ไม่อยากจะได้อะไร ไม่อยากจะมีอะไร ไม่อยากจะเป็นอะไร อยู่เฉยๆดีที่สุด สบายที่สุด ขอให้เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตายกับการปฏิบัติ พิจารณาถึงความตายอยู่เรื่อยๆ ชีวิตก็จะสั้นลงไปเรื่อยๆ ความสุขจากสิ่งต่างๆในโลกนี้เป็นของชั่วคราว สุขตอนที่ได้สัมผัส พอผ่านไปแล้วเหมือนไม่ได้สัมผัสเลย จึงต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ เติมเท่าไรก็เป็นเหมือนเดิม กลับมาที่ศูนย์เหมือนเดิม กลับมาที่ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ความว้าเหว่ ความหิว ความอยาก ถ้ามีธรรมแล้วจะไม่เป็นอย่างนี้ จะมีแต่ความสุขสบาย มีแต่ความพอ นี่คือคุณค่าของธรรม ถ้าได้สัมผัสกับความสงบของใจแล้วจะปล่อยวางทุกอย่างได้ พวกเราพยายามเข้าไปถึงจุดนั้นให้ได้ เข้าไปสู่ความสงบของใจให้ได้  

 

พระพุทธเจ้าทรงสละราชสมบัติได้ ก็เพราะในสมัยที่ทรงพระเยาว์ เคยได้สัมผัสกับความสุข ที่เกิดจากความสงบพระทัย ขณะที่ประทับอยู่ตามลำพัง ไม่มีบริษัทบริวารห้อมล้อม พอกายวิเวก จิตก็วิเวกตาม เพราะในอดีตเคยเป็นมาแล้ว เคยเข้าถึงจุดนี้มาแล้ว พอมีเหตุปัจจัยคือกายวิเวก ใจก็วิเวกตามทันที ไม่ได้เกิดกับทุกคน บางคนนั่งอยู่คนเดียว แทนที่ใจจะสงบกลับว้าเหว่หวาดกลัว แสดงว่ายังไม่เคยได้สัมผัสกับความสงบของใจมาก่อน แต่ถ้าเคยแล้วเวลาอยู่คนเดียวในที่เงียบสงบสงัด ความสงบของใจจะตามมาทันที พยายามทำให้ได้ ถ้าทำได้แล้วจะติดไปกับใจ ถึงแม้ไปเกิดภพหน้าชาติหน้าไม่มีพระพุทธศาสนา ก็จะไม่หลงทาง จะรู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ลาภยศสรรเสริญสุข จึงควรให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติจิตตภาวนา ให้ถือการเจริญสติเป็นงานหลัก เป็นกิจที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ เวลาไม่มีภารกิจที่ต้องทำ ก็ให้หามุมสงบนั่งหลับตาทำจิตให้สงบ พอจิตถอนออกมาจากความสงบ ก็สอนจิตให้รู้จักอนิจจังทุกขังอนัตตา

 

พิจารณาไปเรื่อยๆ จะเห็นชัดขึ้น จนเห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้น่ารักน่าสงวน น่ามีไว้ครอบครองเลย เห็นว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้น เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดติด ไม่ใช่ตัวเราของเรา ควบคุมบังคับไม่ได้ นี่คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติแล้วผลต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นอกาลิโก ไม่ได้ขึ้นกับกาลเวลา เกิดขึ้นได้ในสมัยพุทธกาล ก็เกิดขึ้นได้ในสมัยปัจจุบัน ถ้ามีเหตุก็ต้องมีผลตามมา เหมือนต้นไม้ในอดีตที่โตขึ้นมาได้เพราะน้ำกับดิน สมัยนี้ก็โตขึ้นมาได้เพราะน้ำกับดินเช่นกัน ความจริงของเหตุและผลไม่เปลี่ยน อยู่ที่ตัวเราเท่านั้น เราต้องปฏิบัติเอง ผู้อื่นปฏิบัติให้เราไม่ได้ สิ่งที่พวกเรากำลังขาดกันมากๆ ก็คือการสอนใจเตือนใจ ให้ปล่อยวาง ให้ลดละการดำเนินชีวิตไปในทางกิเลส แล้วหันมาดำเนินชีวิตไปในทางธรรม ให้มากขึ้นไปตามลำดับ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถไขว่คว้า เอาสิ่งที่ดีที่งาม ที่เลิศที่ประเสริฐได้ เราต้องไขว่คว้าเอง ผู้อื่นไม่สามารถไขว่คว้าให้เราได้ ขอให้พยายามทำต่อไป สู้ไม่ถอย