กัณฑ์ที่ ๔๒๖       ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔  


 

กามฉันทะ


 

การรับประทานอาหารจะรับประทานวันละกี่ครั้งก็ได้ ถ้าเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เหมือนกับรถยนต์ที่มีถังน้ำมันอยู่ถังเดียว จะเติมสามครั้งหรือครั้งเดียวให้เต็มถังก็เหมือนกัน ร่างกายก็เช่นเดียวกัน จะรับประทาน ๑ ครั้ง ๒ ครั้งหรือ ๓ ครั้ง ก็เหมือนกันถ้าปริมาณเท่ากัน ถ้ารับประทานข้าววันละ ๓ จาน จะแบ่งรับประทาน ๓ ครั้ง เช้ากลางวันเย็น หรือรับประทานครั้งเดียว ๓ จาน ร่างกายก็ได้ปริมาณอาหารเท่ากัน แต่กิเลสจะได้เสพรูปเสียงกลิ่นรสเพียงครั้งเดียว ถ้ารับประทานอาหารคาวหวานแบบรวมกัน ก็จะได้ปราบกิเลส เพราะกิเลสชอบรับประทานแบบแยกกัน ของคาวของหวานต้องแยกกัน ทั้งๆที่จะต้องไปรวมกันในท้อง ถ้ารับประทานเพื่อร่างกาย ก็ต้องรับประทานแบบรวมกัน ถ้ารับประทานแยกกัน ก็เพื่อกิเลสคือกามฉันทะ ความยินดีในกามรส กามรสก็คือกามคุณทั้ง ๕ ได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นการสร้างสมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ ทำให้จิตกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ยินดียินร้าย ไม่สงบ กามฉันทะเป็นนิวรณ์เครื่องกีดกั้นความสงบ จะทำจิตให้สงบได้ต้องทำลายนิวรณ์ทั้ง ๕ ให้ได้ เช่นกามฉันทะ ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ที่ทำใจให้สงบไม่ได้ ก็เพราะให้เวลาแก่กามฉันทะไปหมดเลย รับประทานอาหารเช้ากลางวันเย็น กลางคืนก็หลับนอนกับคู่ครอง หลับนอนบนฟูกหนาๆ มีเครื่องปรับอากาศ มีกลิ่นน้ำหอม จะได้หลับสบายเหมือนขึ้นสวรรค์ เป็นความสุขของผู้เสพกาม

ถ้ามีกามฉันทะก็จะต้องติดอยู่ในกามภพ เป็นเทพเป็นมนุษย์ถ้ารักษาศีลได้ ถ้ารักษาศีลไม่ได้ก็ต้องเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก กามภพแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือสุคติกับอบาย สุคติคือภพของผู้เสพกามที่รักษาศีล ๕ ได้ อบายคือภพของผู้รักษาศีล ๕ ไม่ได้ เช่นพวกที่ชอบอบายมุขต่างๆ เล่นการพนัน เสพสุรายาเมา เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้าน เพราะจะดึงจิตใจให้ลงต่ำ นิวรณ์จะขวางกั้นจิตใจไม่ให้ขึ้นสูง จะขึ้นสูงได้ก็ต้องอยู่เหนืออิทธิพลของอบายมุข และมีกำลังทำลายนิวรณ์เช่นกามฉันทะ ถึงจะเข้าสู่ความสงบได้ เข้าสู่ความสุขที่เหนือกว่าความสุขของกามรส ถ้ายังไม่ชนะกามฉ้นทะ ก็จะไม่สามารถทำจิตใจให้สงบได้ วิธีที่จะชนะกามฉันทะได้ ก็คือการถือศีล ๘ เช่นละเว้นจากการร่วมหลับนอนกับคู่ครอง ต้องนอนคนละห้อง ถ้านอนใกล้กันจะเกิดอารมณ์ขึ้นมาได้ ถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจที่จะถือศีล ๘ ไม่ร่วมหลับนอนกัน แต่กิเลสจะไม่ยอมถือด้วย จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา แล้วก็ละเว้นจากการประทานอาหารหลังเที่ยงวัน เพราะไม่จำเป็น ถ้าต้องการตัดกามฉันทะให้มากกว่านี้ ก็ต้องรับประทานครั้งเดียว ให้นำอาหารคาวหวานมาใส่รวมกันในจานเดียวกัน แล้วก็คลุกคนให้เป็นอาหารจานเดียว เพราะเดี๋ยวก็ต้องเข้าไปรวมกันในท้อง สำหรับร่างกายไม่เป็นปัญหา แต่กิเลสจะไม่ยอมให้ทำ ถ้าทำตามคำสั่งสอนของธรรมได้ จะไม่กังวลกับการรับประทานอาหาร

เวลาพระจะฉันจังหัน ต้องพิจารณาปฏิสังขาโยนิโสก่อน คือเหตุผลของการฉันจังหัน พระพุทธเจ้าทรงสอนพระ ให้พิจารณาปฏิสังขาโยนิโส ก่อนจะใช้ปัจจัย ๔ เช่นอาหารบิณฑบาต จีวร กุฏิที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ให้พิจารณาอย่างแยบคาย พิจารณาเหตุผลของการบริโภคปัจจัย ๔ เช่นการบริโภคอาหาร ให้พิจารณาว่าบริโภคเพื่อดับความหิวของร่างกาย ไม่ได้รับประทานเพื่อความสนุกสนาน เพื่อรสชาติ รับประทานเพื่อเยียวยาร่างกายให้อยู่อย่างปกติสุข นี่เรียกว่าปฏิสังขาโยนิโส ก่อนที่ครูบาอาจารย์จะฉัน จะปฏิสังขาโยนิโสก่อน อย่างน้อยหนึ่งนาที บางท่านอาจจะพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาดูการเปลี่ยนแปลงของอาหารในแต่ละขั้นตอน ขณะที่อยู่ในจาน ขณะที่รวมอยู่ในบาตร ขณะที่อยู่ในปาก ขณะที่อยู่ในท้อง ขณะที่อยู่ในส้วม ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว เรื่องกามฉันทะที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหารจะไม่เป็นปัญหา

ถ้ารับประทานเสร็จใหม่ๆ เห็นขนมก็หิวขึ้นมาอีก ก็ต้องดัดสันดานด้วยการอดอาหาร หลวงตาท่านเล่าว่าตอนที่ท่านบวชใหม่ๆ ฉันเสร็จเช็ดบาตรยังไม่ทันแห้งก็หิวอีกแล้ว ท่านก็บอกว่าถ้าหิวอย่างนี้ต้องไม่กินอีก ๓ วัน ท่านก็อดไม่ฉัน ๓ วัน หลังจากนั้นกิเลสก็ไม่กล้าหิว เพราะไม่ใช่ร่างกายที่หิว ร่างกายเพิ่งรับประทานเสร็จไปใหม่ๆ หิวได้อย่างไร ที่หิวเป็นกามฉันทะ การต่อสู้กับกามฉันทะที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร จึงมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ดังที่ได้อธิบายมา แต่ก็มีข้อที่ต้องระวังอยู่ข้อหนึ่งคือ เวลาที่พิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหาร ต้องรู้จักประมาณ พิจารณาเพื่อไม่ให้ยินดีและอยากกับรูปกลิ่นรสของอาหาร ถ้าพิจารณาเลยเถิดจนรับประทานไม่ได้ ก็ต้องหยุดพิจารณา เหมือนรับประทานยามากเกินไป หมอให้รับประทานวันละเม็ด แต่ไปรับประทานมากกว่าที่หมอสั่ง มีแม่ชีท่านหนึ่งมีปัญหาแบบนี้ คือเห็นเป็นปฏิกูลตั้งแต่อยู่ในจาน ทำให้รับประทานไม่ได้ ไปกราบถามหลวงตาว่าจะแก้อย่างไร หลวงตาท่านสอนให้พิจารณาว่าเป็นธาตุ ทั้งสิ่งที่บริโภคและผู้บริโภค คืออาหารก็มาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ร่างกายที่บริโภคอาหารก็เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นการเติมธาตุ ธาตุไม่รู้ว่าเป็นปฏิกูลหรือไม่ มีแต่กิเลสที่ยินดียินร้ายกับธาตุ เวลาอยู่ในจานก็ยินดี เวลาอยู่ในโถส้วมก็ยินร้าย ทั้งๆที่เป็นเพียงธาตุ ธาตุกับธาตุไม่มีปัญหาต่อกัน ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็จะกลับมารับประทานได้

นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในแวดวงปฏิบัติ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ก็จะหลงกัน เพราะมักจะปฏิบัติเลยเถิด ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยสอนคอยเตือนไว้ล่วงหน้า พอปฏิบัติไปถึงก็จะรู้ทันทีว่าเลยเถิดหรือไม่ นี่คือเรื่องการบริโภคอาหาร ถ้าบริโภคไม่เป็นก็จะเป็นกามฉันทะ เป็นนิวรณ์ ที่จะขวางความเจริญของจิตใจ คือความสงบสุข ถ้าปรารถนาความสงบสุข ก็จะต้องกล้าใช้อุบายวิธีต่างๆ มาทำลายกามฉันทะหรือกามตัณหา ทำไมต้องรับประทานวันละ ๓ หรือ ๔ ครั้ง ถ้ารับประทานเพื่อร่างกายรับประทานครั้งเดียวก็พอ ไม่ต้องแยกอาหารเป็นจานๆ ควรเอามารวมในจานเดียวกัน ถ้าจู้จี้จุกจิกก็คลุกอาหารให้เหมือนตอนที่อยู่ในท้อง ต่อไปการรับประทานอาหารจะไม่เป็นปัญหา มีอะไรก็รับประทานได้ ถ้าหิวก็พิจารณาความเป็นปฏิกูล หรือดัดนิสัยไม่รับประทานสัก ๓ วัน รับรองได้ว่ากามฉันทะจะพังทลายหายไปหมด จะไม่เป็นปัญหา ตอนที่ไปอยู่บ้านตาดใหม่ๆยังไม่ได้อดอาหาร ตอนเย็นก็จะคิดปรุงแต่งอาหารชนิดต่างๆ พอเห็นพระรูปอื่นอดอาหารก็ลองอดตามดู พออดแล้วความหิวตอนเย็นจะหายไปหมด โดนอำนาจของการอดอาหารทำให้ไม่กล้าปรุงแต่ง เพราะถ้าปรุงแต่งก็จะทุกข์ทรมานใจ ต้องระงับด้วยการเข้าสมาธิ ต้องเด็ดเดี่ยวถึงจะปราบกามฉันทะได้ นี่ก็คือศีลข้อที่ ๖ ไม่บริโภคอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว

ศีลข้อที่ ๗ คือละเว้นจากหาความสุข จากการแต่งเนื้อแต่งตัว ใช้เครื่องสำอางต่างๆ ทำให้ร่างกายมีกลิ่นหอม ร่างกายสวยงาม และไม่หาความสุขจากเครื่องบันเทิงต่างๆ เช่นดูหนังฟังเพลงร้องรำทำเพลง ที่เป็นกิจกรรมของกามฉันทะ ถ้าละไม่ได้ก็จะนั่งภาวนาไม่ได้ รับประทานอาหารเย็นเสร็จ ก็ดูละครฟังเพลง แล้วหลับนอนกับสามีภรรยา นอนบนฟูกหนาๆ ๘ หรือ ๙ ชั่วโมง ตื่นสาย เสียเวลาภาวนาไปเปล่าๆ ถ้าเป็นนักปฏิบัตินอนเพียง ๔ ชั่วโมงก็พอ พระพุทธเจ้าทรงกำหนดเวลาพักและปฏิบัติให้กับพระเณรดังนี้ ๖ โมงเย็นถึง ๔ ทุ่มให้เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ๔ ทุ่มถึงตี ๒ ให้พักนอนในท่าสีหไสยาสน์ ตี ๒ ถึง ๖ โมงเช้าให้เดินจงกรมและนั่งสมาธิต่อ จนถึงเวลาออกบิณฑบาต ร่างกายต้องการเพียง ๔ ชั่วโมงในการพักผ่อนหลับนอน ถ้านอนบนพื้นปูผ้าหรือปูเสื่อ พอร่างกายพักผ่อนเต็มที่แล้วก็จะตื่นขึ้นมา แต่ถ้านอนบนฟูกหนาๆ ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ มีกลิ่นหอม พอตื่นขึ้นมาจะไม่อยากจะลุก จะกลับไปนอนต่อ เป็นความขี้เกียจ ไม่บำเพ็ญจิตตภาวนา ไม่มีวิริยะอุตสาหะ เพราะติดอยู่กับกามฉันทะ ไม่สามารถนั่งสมาธิเดินจงกรมได้ จะคิดหาแต่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ถูกกามฉันทะลากไปตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว เวลาอาบน้ำก็ต้องใช้สบู่หอม เสร็จแล้วก็ชโลมด้วยน้ำหอม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสัน เลือกรับประทานอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ เพื่อรสที่ถูกปากถูกใจ อยู่ภายใต้คำสั่งของกามฉันทะตั้งแต่ตื่นจนหลับ

นักปฏิบัติต้องเปลี่ยนนิสัย พิจารณาดูว่าทำเพื่อกามฉันทะหรือไม่ เช่นอาบน้ำต้องใช้สบู่ที่มีกลิ่นหอมหรือไม่ ต้องประพรมน้ำหอมหรือไม่ เสื้อผ้าต้องเป็นแฟชั่นล่าสุดหรือไม่ ต้องรับประทานอาหารตามความชอบหรือไม่ หรือรับประทานอะไรก็ได้ คิดอย่างนี้จะตัดกามฉันทะได้ ถ้าจะให้ดีก็ควรเปลี่ยนวิถีชีวิตเลย เช่นไปอยู่วัดเพื่อควบคุมกามฉันทะ ไปปลีกวิเวก อยู่ห่างไกลจากแสงสีเสียง รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ เช่นในป่าในเขา ไม่มีละครให้ดู ไม่มีเพลงให้ฟัง แล้วก็ต้องสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ เพื่อไม่ให้เกิดกามฉันทะขึ้นมา ไม่ฟังสิ่งที่จะทำให้เกิดกามฉันทะขึ้นมา ถ้าจะฟังก็ฟังเทศน์ หรือดูหนังสือธรรมะ เพราะจะทำให้จิตสงบ นี่คือวิธีกำจัดกามฉันทะ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำจิตใจให้สงบ พอกำจัดได้แล้วการนั่งสมาธิก็นั่งได้อย่างสบาย ไม่มีอะไรมารบกวน ไม่มีความอยากดื่มอยากรับประทาน อยากดูอยากฟัง จิตก็จะสงบได้ ถ้ายังไม่สงบก็ต้องเจริญสติเพื่อไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ หรือสวดมนต์ สวดบทที่จำได้ ไม่ต้องเปิดหนังสือดู เพราะจะได้สวดในทุกอิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน เดินไปก็สวดมนต์ไป บริกรรมพุทโธๆไป

ถ้าสติมีกำลังมากพอ สามารถรู้ว่าร่างกายกำลังทำอะไรอยู่โดยไม่คิดอะไร ก็ไม่ต้องสวด ไม่ต้องบริกรรม เช่นรู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร กำลังตักอาหาร กำลังเคี้ยวอาหาร กำลังกลืนอาหาร ไม่คิดเรื่องอื่น ก็ไม่ต้องบริกรรมก็ได้ เพราะต้องการกำจัดความคิดปรุงแต่ง ให้สังขารทำงานให้น้อยที่สุด ให้จิตรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เหมือนตำรวจที่คอยเฝ้านักโทษ ไม่ให้หลุดไปจากสายตา ให้จิตเฝ้าดูร่างกายอยู่ทุกขณะ ไม่ไปที่อื่น อย่าปล่อยให้ร่างกายอยู่ตรงนี้แต่จิตอยู่ที่เชียงใหม่ อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ให้อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ ไม่ให้ไปอดีตไปอนาคต นี่คือการมีสติ ถ้าหยุดความคิดปรุงแต่งไม่ได้ ให้อยู่กับปัจจุบันไม่ได้ ก็ต้องใช้การบริกรรมเป็นเชือกอีกเส้นหนึ่ง สติจะได้มีกำลังมากขึ้น จะดึงจิตไม่ให้ลอยไปที่อื่นได้ ถ้าไม่ลอยไปที่อื่น ไม่คิดเรื่องราวต่างๆ เวลาภาวนาจะสงบได้เร็ว ให้อยู่กับพุทโธ ก็จะอยู่กับพุทโธ ให้อยู่กับลมหายใจ ก็จะอยู่กับลมหายใจ ไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ที่นั่งกันแล้วไม่สงบเพราะไม่อยู่กับงาน ชอบไปทำงานอื่น ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ขณะที่งานที่ให้ทำ คือให้พุทโธๆ กลับไม่ทำ ไปคิดถึงอาหาร คิดถึงความบันเทิง คิดถึงคนนั้นคนนี้ ก็เลยไม่สงบ จะสงบได้ใจต้องเป็นหนึ่ง ต้องอยู่กับเรื่องเดียว อยู่กับลมอย่างเดียว อยู่กับพุทโธอย่างเดียว ถึงจะสงบนิ่ง เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ไม่มีอะไรให้รู้ให้เห็น มีแต่ความว่าง เป็นสมาธิที่มีคุณประโยชน์ต่อการเจริญปัญญาต่อไป เพราะเป็นสมาธิที่ตัดกำลังของกิเลสตัณหา เหมือนถูกฉีดยาสลบ

ถ้าเป็นสมาธิที่ไปเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปพบกับเทพกับกายทิพย์ ระลึกชาติได้ความรู้เหล่านี้จะไม่ตัดกำลังของกิเลสตัณหา แต่กลับเปิดช่องให้กิเลสตัณหาทำงาน เพราะอยากจะรู้มากขึ้น อยากจะติดตามเรื่องราว เหมือนกับติดตามดูละคร ดูถึงตอนนี้แล้ว ก็อยากจะดูว่าตอนต่อไปเป็นอย่างไร พอออกจากสมาธิก็จะไม่มีกำลังพิจารณาความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย เช่นขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ หรืออายตนะภายนอกและภายใน คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และตาหูจมูกลิ้นกาย ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไม่มีทางที่จะพิจารณาได้ เพราะกิเลสตัณหาจะดึงไปคิดถึงเรื่องที่ได้พบได้เห็นมา อดที่จะไปอวดไปเล่าให้คนอื่นฟังไม่ได้ นั่งแบบนี้ไม่ได้นั่งเพื่อดับกิเลส แต่ส่งเสริมกิเลสให้มีมากขึ้น ถ้านั่งแล้วสงบนิ่งเป็นอุเบกขาสักแต่ว่ารู้ จะไม่อยากพูดอะไรกับใคร พูดไปก็ไม่รู้เรื่อง พูดให้เสียเวลาเปล่าๆ ถ้าจะพูดก็เพื่อให้รู้จักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่พูดอวดว่าเห็นสวรรค์ชั้นนั้น นรกชั้นนี้ เห็นเทพระดับนั้นระดับนี้ เป็นการพูดตามความอยาก อยากให้คนอื่นรู้ เวลาออกจากสมาธิแบบนี้จึงไม่ได้เจริญปัญญา

ถ้าออกจากสมาธิที่สงบนิ่งเป็นอุเบกขาสักแต่ว่ารู้ ใหม่ๆจิตยังเป็นอุเบกขาอยู่ เหมือนน้ำที่แช่อยู่ในตู้เย็น เวลาเอาออกจากตู้เย็นใหม่ๆ ก็ยังเย็นอยู่ แต่ความเย็นจะค่อยหมดไป จิตที่เป็นสมาธิก็เช่นเดียวกัน เป็นอุเบกขาเวลาออกมาใหม่ๆ ไม่โลภโมโทสัน เวลาพิจารณาสภาวธรรม เช่นความไม่เที่ยง ก็จะไม่มีอารมณ์มาขัดขวาง ถ้ากิเลสมีกำลังจะพิจารณาความไม่เที่ยงไม่ได้ เพราะกิเลสไม่ชอบความเสื่อม ความตาย ความสูญเสีย การพลัดพรากจากกัน กิเลสก็จะสร้างอารมณ์ก่อกวน พอคิดถึงเรื่องดับเรื่องตาย ก็จะหดหู่ขึ้นมาทันที หมดเรี่ยวหมดแรง ไม่มีกำลังจิตกำลังใจ ถ้าคิดไปเที่ยวที่นั้นที่นี่ ไปหาเงินหาทอง หาตำแหน่ง ก็จะดีใจดีดดิ้นเหมือนปลาได้น้ำ ถ้าออกจากสมาธิใหม่ๆ แล้วพิจารณาความตาย ความเสื่อม ความสูญเสีย การพลัดพรากจากกัน จิตจะเฉยๆ จะรับความจริงที่ว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกันได้ ถ้าไม่พิจารณาก็จะคิดว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น จึงคิดว่าจะอยู่ไปนานๆ จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย จะร่ำจะรวยมากขึ้น จะมีตำแหน่งสูงขึ้น จะคิดอย่างนี้ พอไปเจอของจริง คือความแก่ความเจ็บความตาย ก็ตกใจ ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จะไม่ตื่นเต้นตกใจ เพราะรู้ว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

เหมือนฉีดวัคซีนป้องกันโรค ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน เวลามีโรคระบาดจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะมีภูมิคุ้มกัน การพิจารณาปัญญาก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เกิดทุกข์ใจขึ้นมา พอได้พิจารณาบ่อยๆ ว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ จะฝังอยู่ในใจ จะไม่ลืม พอพบกับเหตุการณ์จริง ก็จะรู้สึกเฉยๆ เพราะรู้ว่าต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ไปวิตกกังวลทำไม ทำให้ทุกข์ใจไปเปล่าๆ แต่เวลาฉีดวัคซีนใหม่ๆ จะมีอาการแพ้ อาจจะเป็นไข้อ่อนๆ ฉันใดเวลาพิจารณาธรรมใหม่ๆ ก็จะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ก็ต้องฝืนพิจารณาไป เหมือนกินยาขมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ตอนที่ยังไม่ได้สมาธิจะหดหู่ใจ ให้คิดว่าเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน หลังจากได้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาแล้ว เวลาพิจารณาจะไม่หดหู่ จะสงบ เพราะความจริงจะทำให้จิตใจสงบ ถ้าใจยอมรับความจริง ไม่ต่อต้าน กิเลสจะไม่สามารถทำให้ใจทุกข์กับความจริงที่ต้องเกิดขึ้น นี่คือเรื่องของการปฏิบัติที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

ต้องถือศีล ๘ ถึงแม้จะไม่เต็มรูปแบบ ก็ยังดีกว่าไม่ถือเลย เพราะอาจจะต้องปรับให้เข้ากับภาวะของเรา เช่นรับประทานอาหารตอนเที่ยงถึงบ่ายโมง ไม่ได้นุ่งขาวห่มขาว เพราะต้องแต่งเครื่องแบบ รักษาศีล ๘ เพื่อสำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็เจริญสติทุกเวลานาที ตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับ พอได้สมาธิก็ต้องระวังมิจฉาสมาธิ ถ้าใจสงบแล้วออกไปรู้เรื่องต่างๆ ให้ดึงกลับมา อย่าไปตามรู้ จะไม่สงบ ไม่เป็นอุเบกขา ต้องให้สงบเป็นอุเบกขา อย่าไปดึงออกมา ปล่อยให้พักให้เต็มที่ ถึงแม้จะมีภาระกิจการงานที่ต้องทำ ก็อย่าไปให้ความสำคัญกว่าความสงบ ถ้าไปดึงออกมาต่อไปจะสงบยาก ปล่อยให้ถอยออกมาเอง พอเริ่มคิดปรุงแต่ง ก็ต้องเอามาพิจารณาทางปัญญา พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในสภาวธรรมต่างๆ เช่นรูปเสียงกลิ่นรส ลาภยศสรรเสริญสุข รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พิจารณาเพื่อตัดอุปาทาน ตัดตัณหาความอยาก ถ้าตัดได้ใจก็จะหลุดพ้นเป็นขั้นๆไป

ขั้นต้นก็ตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ตัดลาภยศสรรเสริญสุข แล้วเข้ามาตัดรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ และตัดในจิต พอกิเลสข้างนอกถูกตัด ก็จะถอยไปที่ร่างกาย ถอยไปที่เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ถอยเข้าไปในจิต ก็ต้องตามเข้าไปในจิต ตัดไม่ให้มีอะไรเหลือ เป็นการบรรลุเป็นขั้นๆ เป็นอริยมรรคอริยผล ๔ ขั้น คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล แล้วพระนิพพาน อรหัตผลกับพระนิพพานท่านแยกไว้เป็นสองส่วน ต้องได้อรหัตผลก่อนถึงจะเป็นนิพพาน นี่คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นรางวัลหรือปริญญา ของผู้ปฏิบัติสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ของผู้ถือศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ของผู้ออกบวช ถ้าอยากจะบรรลุเร็วก็ต้องหยุดกิจกรรมอย่างอื่น เหมือนนักศึกษาถ้าไปยุ่งกับกิจกรรมต่างๆ ก็จะเรียนไม่จบ เพราะไม่เข้าห้องเรียน มัวไปทำกิจกรรมอื่นแทน ถ้าต้องการจบเร็วๆ ภายในเจ็ดปีเป็นอย่างช้า ก็ต้องปล่อยวางกิจกรรมอย่างอื่นให้หมด สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองให้ผู้อื่นไป ออกบวช ไปอยู่ตามป่าตามเขา กับครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ ได้รับปริญญามาแล้วเป็นผู้สั่งสอน ก็จะสามารถจบได้ภายใน ๗ ปีอย่างแน่นอน

นี่คือเรื่องของการปฏิบัติธรรม ที่พวกเราตะเกียกตะกายปฏิบัติกัน ด้วยวิริยะอุตสาหะ ไม่เสียดายสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ คิดว่าเป็นวัสดุก่อสร้างเรือนใจ เช่นการบริจาคทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง เป็นเหมือนการซื้อวัสดุก่อสร้างเรือนใจ เวลาจะสร้างอาคารต้องซื้อวัสดุก่อสร้าง ถ้าสร้างเรือนใจก็ต้องซื้อวัสดุก่อสร้างของเรือนใจ คือทานศีลภาวนา ทานคือการให้สมบัติข้าวของเงินทองให้แก่ผู้อื่น เก็บไว้เท่าที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้นแล้วก็รักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ถ้าจะภาวนา แล้วก็เจริญสติอย่างต่อเนื่อง หาสถานที่สงบสงัดวิเวกอยู่ ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ รับรองได้ว่าจะต้องเกิดผลอย่างแน่นอน ถ้าเหตุเป็นอย่างนี้ผลไม่เป็นอย่างอื่น ที่ผลไม่เกิดเพราะเหตุไม่เป็นอย่างนี้ มีแต่จอโทรทัศน์ มีแต่เครื่องเสียง เครื่องบันเทิงต่างๆ ก็เลยไม่ได้ผลที่อยากได้กัน จึงควรพิจารณาที่เหตุว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังปฏิบัติธรรมหรือกำลังปฏิบัติกิเลส ส่วนใหญ่จะปฏิบัติแต่กามฉันทะ คิดถึงแต่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็เลยไม่บรรลุผลที่ต้องการ ขอให้นำไปพิจารณา

 

ถาม  ผู้ที่สามารถระลึกชาติได้ ไม่สามารถตัดตัณหาได้ ใช่หรือไม่

 

ตอบ  เป็นความรู้พิเศษ ไม่สามารถตัดกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ เป็นโลกิยธรรม ไม่ใช่โลกุตรธรรม ไม่ใช่มรรคผลนิพพาน ต้องเห็นไตรลักษณ์ถึงจะตัดตัณหาได้ ถึงจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้

 

ถาม  ญาติโยมมักจะเข้าใจว่า ครูบาอาจารย์ที่รู้วาระจิต หรือระลึกชาติได้ ละได้แล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง

 

ตอบ  เป็นความสามารถพิเศษ ไม่เกี่ยวกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์มี ๔ ประเภทด้วยกันคือ ๑. สุกขวิปัสสโก ไม่มีความสามารถพิเศษ  ๒. เตวิชโช ได้วิชชา ๓ คือ ๑. ปุพเพนิวาสานุสติ ระลึกชาติได้ ๒. จุตูปปาตญาณ รู้การตายและการเกิดของคนและสัตว์ ๓. อาสวักขยญาณ ญาณอันทำให้กิเลสสิ้นไป  ๓. ฉฬภิญโญ ได้อภิญญา ๖  ๔. จตุปฏิสัมภิทัปปัตโต มีความรู้แตกฉานในอรรถในธรรม

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิ บางครั้งก็วูบมืดหายไปเลย เหมือนกับนอนหลับ เป็นมิจฉาสมาธิใช่ไหมครับ

 

ตอบ  ไม่ใช่สมาธิ สติไม่มีกำลังก็เลยหลับไป

 

ถาม  หลับไปได้ตั้งสามชั่วโมง

 

ตอบ  ถ้ามีสติก็จะดึงเข้าสมาธิได้

 

ถาม  เวลามีอาการปวดจะดูเวทนา แล้วก็จะเฉย

 

ตอบ ถ้าเฉยได้ก็ดี

 

ถาม  เราสามารถเห็นได้ใช่ไหมครับว่า มีสติอยู่หรือไม่

 

ตอบ  ถ้ามีสติจะเห็นว่าจิตเป็นอุเบกขาหรือไม่ หรืออยากจะให้เวทนาหายไป ถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่าเวทนาเป็นอนัตตา ห้ามเวทนาไม่ได้ จะเจ็บก็ต้องปล่อยให้เจ็บไป จิตก็สักแต่ว่ารู้ไป ต่างฝ่ายต่างอยู่ ไม่กระทบกระเทือนกัน

 

ถาม  ไม่เข้าใจเรื่องสติหมดแรง แล้วจะวูบหลับไป

 

ตอบ  เวลาสติอ่อนกำลัง นั่งสมาธิจะหลับ

 

ถาม  จิตยิ่งนิ่ง สติยิ่งมีกำลังใช่หรือไม่

 

ตอบ  ใช่ สติจึงสำคัญมาก เป็นกุญแจดอกแรก จะเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้ ต้องมีกุญแจ ๓ ดอก ไว้เปิด ๓ ประตู ประตูแรกคือสติ พอเปิดประตูสติได้แล้ว ก็จะเจอประตูสมาธิ พอเปิดประตูสมาธิได้แล้ว ก็จะเจอประตูปัญญา พอเปิดประตูปัญญาได้แล้ว ก็จะได้มรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า สติสำคัญมาก ทรงเปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ทั้งหมด ปัญญาถึงแม้จะสำคัญมาก ก็สู้สติไม่ได้ เพราะปัญญาจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสมาธิ สมาธิจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสติ สติจึงต้องมาก่อน เวลาภาวนาทำจิตให้สงบ ต้องมีสติควบคุมจิต ไม่ให้ลอยไปลอยมา ไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน พอได้สติแล้ว เวลานั่งสมาธิจะสงบได้อย่างง่ายดาย นั่งเพียงห้านาทีก็สงบแล้ว พอออกจากสมาธิ ก็จะสามารถพิจารณาปัญญาได้ เพราะจะไม่มีกิเลสมารบกวน มาต่อต้านการพิจารณา

 

ถาม  พิจารณาแต่ยังตัดไม่ขาด

 

ตอบ  เพราะยังไม่เห็นไตรลักษณ์ ยังไม่เห็นทุกข์เพราะความอยาก ยังอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้อยู่ ต้องบอกว่าไม่เป็นไร เป็นก็ได้ ตายก็ได้ ถ้าตัดได้จริงต้องเห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟ เป็นอนัตตา เป็นเหมือนฟองน้ำ เกิดแล้วก็ดับ ตายไปแล้วก็หายไปหมด ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ นอกจากประวัติที่จารึกไว้ในหนังสืองานศพ เหมือนฟองน้ำ แต่พวกเราไม่เห็นกัน ติดสมมุติ เห็นว่าเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกเป็นหลาน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิง เป็นชาย เป็นกษัตริย์ เป็นขอทาน เป็นเศรษฐี

 

ถาม  เวลาเพื่อนตายไป จะใช้ปัญญาพิจารณาอย่างไร ให้เป็นโลกุตรธรรม ต้องพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ ต้องพิจารณาความจริงของร่างกายว่าไม่เที่ยง เป็นดินน้ำลมไฟ แต่ไม่พิจารณากัน กลับไปคิดว่าเป็นนาย ก. นาย ข. เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นสามี เป็นภรรยา เป็นลูก ไม่รู้ว่าเป็นสมมุติ เป็นชื่อที่ติดอยู่กับดินน้ำลมไฟ ในโลกนี้มีความจริงอยู่ ๒ ชนิด คือสมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ สมมุติสัจจะก็คือเป็นหญิงเป็นชาย เป็นนาย ก. นาย ข. ปรมัตถสัจจะก็คือเป็นดินน้ำลมไฟ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นอาการ ๓๒ แต่พวกเราไม่ดูปรมัตถสัจจะกัน ดูแต่สมมุติสัจจะ ว่าเป็นพ่อเราเป็นแม่เรา พอเป็นของเราก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ พอไม่อยู่ก็ทุกข์ใจ ถ้าพิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่อยู่ไปตลอด เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ก็จะหยุดความอยากได้ เวลาเขาเป็นอะไรไปก็จะไม่ทุกข์ ต้องเห็นปรมัตถสัจจะ อย่าเห็นสมมุติสัจจะเพียงอย่างเดียว เพราะปรมัตถสัจจะเป็นความจริงที่แท้จริง ถ้าเห็นปรมัตถสัจจะ ก็จะรู้ว่าเหมือนกันหมด เป็นดินน้ำลมไฟหมด

 

ถาม  จุดประสงค์ของการพิจารณาธาตุ ๔ เพื่อให้ปล่อยวางใช่หรือไม่

 

ตอบ  เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา จะตายก็ให้ตายไป ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเสียดาย

 

ถาม  เวลานั่งพอจิตเริ่มสงบ จะรู้สึกว่าเกือบรู้ตัวและเกือบไม่รู้ตัว

 

ตอบ  สติอ่อนกำลัง เหมือนเวลาใกล้หลับ รู้บ้างไม่รู้บ้าง

 

ถาม  ควรเปลี่ยนอิริยาบถใช่หรือไม่คะ

 

ตอบ  ควรเจริญสติให้มากในชีวิตประจำวัน ถ้านั่งแล้วรู้ว่าจะหลับ ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม มาเจริญสติให้มีกำลังมากขึ้น พอสติมีกำลังก็กลับไปนั่งต่อ เดินจงกรมนั่งสมาธิสลับกันไป ขณะที่เดินจงกรมก็ให้เจริญสติถ้ายังไม่ได้สมาธิ ถ้าได้สมาธิแล้ว เวลาเดินจงกรมก็พิจารณาปัญญาได้เลย ไม่ต้องเจริญสติ เพราะมีสติแล้ว ต้องเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ในสิ่งที่เรามีความผูกพัน เช่นการงาน ก็พิจารณาว่าไม่เที่ยง สักวันหนึ่งก็ต้องออกจากงาน ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์นี้ จะได้ไม่เสียใจ การพิจารณามีอยู่ ๒ ลักษณะคือ ๑. ทำการบ้าน เตรียมตัวไว้ก่อน สอนใจให้เตรียมรับกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น ๒. ขณะที่อยู่ในเหตุการณ์จริง เพื่อไม่ให้เสียใจกับการสูญเสีย พิจารณาว่าต้องเกิดขึ้น ห้ามไม่ได้ ร้องห่มร้องไห้เสียใจไปทำไม ทุกข์ใจไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร นี่เป็นการใช้ปัญญาในขณะที่เกิดเหตุการณ์จริง ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์จริง ก็ต้องพิจารณาทำการบ้านไปก่อน เตรียมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ต้องพิจารณาสิ่งที่ชอบที่หวง เวลาจากกันจะได้ไม่ทุกข์ ถ้าพิจารณาไม่เป็นเหตุเป็นผล มีอารมณ์ต่างๆเข้ามารบกวน ก็หยุดพิจารณา กลับไปนั่งสมาธิก่อน เพราะจิตไม่เป็นอุเบกขาแล้ว กิเลสมีกำลังออกมาสร้างอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัว ต้องกลับเข้าไปในสมาธิ เพื่อตัดกำลังของกิเลส ให้จิตเป็นอุเบกขา พอจิตได้พักเต็มที่แล้วก็จะถอนออกมาเอง เพื่อพิจารณาต่อไปจนกว่าจะตัดได้ พอตัดได้แล้วก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ถ้าไม่แน่ใจว่าตัดได้จริงหรือไม่ ก็ต้องไปหาเหตุการณ์จริงพิสูจน์ ถ้าคิดว่าไม่กลัวตายเวลาอยู่ในที่ปลอดภัย ก็ต้องไปอยู่ในที่ไม่ปลอดภัย ดูว่ายังกลัวหรือเปล่า ต้องเข้าห้องสอบเข้าสนามสอบ ถึงจะรู้จริง

ถ้าจะพิจารณาเวทนา ว่ามีสุขมีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีเกิดมีดับ จะรู้ว่าปล่อยวางได้หรือไม่ ก็ต้องนั่งให้เจ็บ ปล่อยให้ความเจ็บหายไปเอง เป็นการเข้าห้องสอบ ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ก่อน เวลาเข้าห้องสอบจะไม่รู้ว่าจะพิจารณาอย่างไร จะพิจารณาไม่ได้ว่ากายเป็นอย่างหนึ่ง เวทนาเป็นอย่างหนึ่ง ใจผู้รู้เป็นอย่างหนึ่ง ต้องพิจารณาไว้ล่วงหน้าก่อน พอพร้อมแล้วเราก็นั่งให้เจ็บ แยกว่าเวทนาเป็นอย่างหนึ่ง ร่างกายก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ใจผู้รู้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ของตน เวทนามีหน้าที่แสดงความเจ็บก็ปล่อยให้แสดงไป ร่างกายมีหน้าที่นั่งก็ปล่อยให้นั่งไป ใจมีหน้าที่รู้ก็รู้ไป รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ อย่าไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าอยากแล้วจะสร้างความทุกข์ขึ้นมา

 

ถาม  การพิจารณาซ้อมไปก่อนนี้ ก็คือการปรุงแต่งฝ่ายกุศลใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ เป็นมรรค พิจารณาไตรลักษณ์เป็นกุศล

 

ถาม  เวลาเห็นความจริงตรง คือปัญญาใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าใช้ความคิดพิจารณาดับทุกข์ในใจได้ ก็เป็นปัญญา ตอนที่ซ้อมพิจารณาก็เป็นจินตามยปัญญา เวลาอยู่ในเหตุการณ์จริงก็เป็นภาวนามยปัญญา จินตามยปัญญายังดับความทุกข์ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในเหตุการณ์จริง เวลาอยู่ในเหตุการณ์จริงจะเป็นภาวนามยปัญญา พอทุกข์เกิดขึ้นมา ก็พิจารณาจนเห็นว่าเกิดจากความอยาก พอละความอยากได้ ทุกข์ก็ดับไป ให้เห็นชัดๆ จึงจะเป็นการเห็นธรรม จะไม่สงสัยว่าดับทุกข์ได้หรือไม่

 

ถาม  ต้องเตรียมตัวตาย เตรียมรับความเจ็บปวดใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ ต้องเตรียมพร้อม

 

ถาม  ต้องทำอย่างไรคะ

 

ตอบ  ทำตามที่สอน ฟังไม่เข้าใจหรือ

 

ถาม  เข้าใจว่าจะต้องมีสมาธิ แต่ยังไม่เข้าใจการพิจารณาปัญญา

 

ตอบ  ต้องรักษาศีล ๘ เจริญสติสมาธิปัญญา ตอนนี้ทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน ตอนนี้ถือศีล ๘ ได้หรือยัง เจริญสติได้ทั้งวันหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ก็ต้องเจริญให้ได้ พอมีเวลาว่างก็นั่งสมาธิให้จิตรวมเป็นหนึ่ง พอรวมเป็นหนึ่งได้แล้ว ก็เจริญปัญญาต่อหลังจากออกจากสมาธิ ถ้ามีสมาธิแล้วก็จะสามารถดับความทุกข์ได้ชั่วคราว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาจะตายก็เข้าสมาธิไป จะได้ไม่ทรมาน แต่กิเลสยังไม่ตาย ความกลัวตายยังไม่หายไป ต้องไปแก้ในภพหน้าชาติหน้า ถ้าตายแบบไม่มีสมาธิไม่มีสติจะหลง จะร้องโวยวาย เพราะไม่มีสติควบคุมใจให้สงบนิ่ง การเจริญสติจึงสำคัญมาก พอมีสติแล้วจะสามารถควบคุมใจได้ในระดับหนึ่ง ถ้ามีสมาธิก็จะควบคุมได้เต็มที่ คือให้หยุดนิ่งเวลาที่อยู่ในสมาธิ แต่เวลาออกจากสมาธิจะควบคุมไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาควบคุม จึงต้องเจริญปัญญา เพื่อทำใจให้สงบตลอดเวลา

 

ถาม  การพิจารณาจำเป็นต้องอยู่ในท่านั่งท่าเดินหรือเปล่าคะ

 

ตอบ  พิจารณาได้ใน ๔ อิริยาบถ แต่ท่านอนไม่เหมาะ เพราะจะหลับง่าย ส่วนใหญ่จะเจริญใน ๓ อิริยาบถ เดินยืนนั่ง ถ้าออกจากสมาธิจะนั่งพิจารณาต่อก็ได้ ถ้าไม่อยากเดินจงกรม นั่งให้เจ็บ แล้วก็พิจารณาทุกขเวทนา อย่างเวลานั่งทั้งคืน ๘ ชั่วโมง จิตจะสงบเป็นพักๆ พอผ่านเวทนาตัวแรกไปก็จะสงบได้ระยะหนึ่ง เวทนาตัวที่ ๒ และ ๓ จะโผล่ขึ้นมาตามลำดับ ก็พิจารณาต่อเพื่อปล่อยวางทุกขเวทนา พอปล่อยได้หมดแล้วก็จะไม่กลัวความเจ็บ

 

การทำความเพียรพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๔ ลักษณะคือ ๑.ให้ทำความดีที่ยังไม่ได้ทำ ๒. ให้รักษาความดีที่ได้ทำแล้ว ๓. ให้ละบาปที่ยังไม่ได้ละ ๔. ให้ป้องกันบาปที่ได้ละแล้วไม่ให้หวนกลับคืนมาอีก ถ้าเพียรใน ๔ ลักษณะนี้ ก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้า ในช่วงเข้าพรรษาจะเป็นเวลาที่จะเร่งความเพียรกัน เช่นนั่งสมาธิทุกเช้าทุกคืน รักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ก็จะก้าวหน้า อย่าให้ความท้อแท้มาขวางกั้น ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน เวลาปฏิบัติถ้ามีความเบื่อหน่ายท้อแท้ ไม่มีกำลัง ก็ให้คิดถึงพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวก ครูบาอาจารย์ ท่านก็เป็นเหมือนเรา มีความท้อแท้เบื่อหน่ายเหมือนเรา เพราะอารมณ์มีขึ้นมีลง บางวันอารมณ์ดีก็มีกำลังปฏิบัติ บางวันอารมณ์ไม่ดีก็ไม่มีกำลัง ก็อย่าท้อแท้ ให้รู้ว่าเป็นเพียงอารมณ์ชั่วคราว เดี๋ยวก็ผ่านไป ถ้าวันนี้ปฏิบัติไม่ได้เลย ก็ให้อยู่เฉยๆไปก่อน อย่าเลิกปฏิบัติ ให้รู้ว่าจิตตกต่ำ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มีขึ้นมีลง รอให้อารมณ์นี้ผ่านไป พอมีกำลังใจก็ปฏิบัติต่อ ข้อสำคัญอย่าถอยอย่าเลิก ถ้าก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ก็ให้อยู่กับที่ไปก่อน อย่าถอยหลัง เอาละนะ พอสมควรแก่เวลา