กัณฑ์ที่ ๔๒๗       ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔

 

หลักของสติ

 

 

หลักของสติก็คือปัจจุบัน ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน อยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าอยู่กับการกระทำของร่างกายก็จะมีสติ ถ้าปล่อยให้ร่างกายอยู่ไปตามลำพัง ส่วนจิตไปคิดเรื่องอื่นก็จะไม่มีสติ ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สามารถทำใจให้สงบได้ เพราะใจไม่อยู่กับที่ ไปที่โน่นมาที่นี่ คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ พวกเรามีสติกันน้อยมาก มีพอกับการดำรงชีพ มีสติอยู่กับการกระทำเพียงแวบเดียว แล้วก็ไปคิดเรื่องอื่น แล้วก็กลับมาที่การกระทำ ไม่ได้อยู่กับการกระทำอย่างต่อเนื่อง ใจจึงไม่นิ่ง มีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น ตามความคิดปรุงแต่งต่างๆ คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วก็เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ เกิดความดีใจเสียใจ ไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นไปตามความอยากก็ดีใจ ถ้าไม่เป็นไปตามความอยากก็เสียใจ ชีวิตของพวกเราจึงวนไปเวียนมากับความดีใจเสียใจ ถ้าสามารถควบคุมใจให้นิ่ง ไม่ให้อยาก ใจก็จะไม่เสียใจหรือดีใจ จะรู้สึกเฉยๆกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่เดือดร้อนไม่วุ่นวาย ไม่ดีใจไม่เสียใจ เฉยๆสบายๆ ดีกว่าเสียใจหรือดีใจ เพราะเวลาดีใจก็อยากจะให้ดีใจไปเรื่อยๆ พอไม่ดีใจก็จะเสียใจ ปัญหาของพวกเราคือไม่มีสติ ที่จะคอยควบคุมใจให้อยู่เฉยๆ ให้สักแต่ว่ารู้ เช่นทำอะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้ กำลังเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน กำลังรับประทานอาหาร ก็รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร ไม่คิดเรื่องราวต่างๆ

 

การเจริญสติจึงเป็นงานที่สำคัญมาก เป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาธรรมะต่างๆ คือสมาธิปัญญาและวิมุตติการหลุดพ้น จะเกิดขึ้นจากการเจริญสติเป็นจุดเริ่มต้น เหมือนกับการเรียนหนังสือ ต้องเริ่มต้นที่การเรียน ก. ไก่ ข. ไข่ จนจำได้ทุกตัวอักษร จากนั้นก็หัดสะกด สระ อะ สระ อา แล้วก็ผสมตัวอักษร ศึกษาคำนิยามของแต่ละคำ ก็จะอ่านออกเขียนได้ การบรรลุมรรคผลนิพพาน มีปัญญา มีสมาธิ ต้องมีสติก่อน พวกเราสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ที่วัดหรืออยู่ที่ทำงาน พอตื่นขึ้นมาก็ควรตั้งสติเลย ผูกจิตให้อยู่กับร่างกาย ไม่ให้จิตไปที่อื่น ให้ดูว่าร่างกายกำลังทำอะไร กำลังนอน กำลังลุกขึ้น กำลังยืน กำลังเดิน กำลังทำกิจต่างๆ กำลังล้างหน้าล้างตาอาบน้ำแปรงฟัน กำลังแต่งตัว ต้องอยู่กับการกระทำ ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้ามีความจำเป็นต้องคิด ก็ให้หยุดการกระทำของร่างกายไว้ก่อน แล้วเอาสติมาจดจ่ออยู่กับความคิด ให้คิดด้วยเหตุด้วยผล คิดไปตามความจำเป็น พอคิดเสร็จแล้ว ก็หยุดคิด อย่าคิดเพ้อเจ้อเพ้อฝัน อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ควรคิด ควรหันกลับมาเฝ้าดูการกระทำของร่างกาย จะสามารถควบคุมความคิดได้

 

เวลานั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ ก็จะอยู่กับการบริกรรมพุทโธ จะไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่นานจิตก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบ พอสงบแล้วจะเห็นคุณค่าของความสงบ ว่าเป็นความสุขที่เลิศกว่าความสุขทั้งหลาย ต่อให้เอาเงินร้อยล้านมาแลกกับความสุขนี้ก็แลกไม่ได้ เพราะเงินร้อยล้านซื้อความสุขแบบนี้ไม่ได้ เป็นความสุขที่ต้องปฏิบัติเอง ปฏิบัติแทนกันไม่ได้ความสุขแบบนี้ที่ทำให้พระพุทธเจ้า สามารถสละราชสมบัติ ออกไปอยู่ในป่าในเขาได้ เพราะในสมัยที่ทรงพระเยาว์ ทรงเคยประสบกับความสงบของจิตนี้มาแล้ว ขณะที่ทรงประทับอยู่ตามลำพัง พวกข้าราชบริพารไปทำภารกิจอื่น พอไม่มีอะไรมารบกวน จิตก็สงบตัวลง ตามที่เคยฝึกมาในอดีต ก็เกิดความสุขที่ประทับใจกว่าความสุขอื่น เช่นความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้แล้วจะติดใจ จะว่าโลภก็ว่าได้ แต่ความจริงเป็นฉันทะความพอใจ ที่จะทำให้ความสุขแบบนี้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาตามมา ฉันทะคือความยินดีที่จะเจริญสติตลอดเวลา ยินดีที่จะสละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย สละลาภยศสรรเสริญ เพื่อทุ่มเทเวลากับการสร้างความสุขทางจิตใจ ทำจิตใจให้สงบด้วยการปลีกวิเวก หาสถานที่สงบสงัดอยู่ตามลำพัง เพื่อเจริญสติและสมาธิ เพื่อความสงบของจิต ถ้าได้สัมผัสเพียงครั้งเดียวจะติดอกติดใจ เหมือนกับได้ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง ที่ต้องชมให้ได้ พอหนังจริงเข้าโรง ก็จะไปดูทันที

 

การนั่งสมาธินี้ก็เหมือนกัน เวลานั่งแล้วจิตสงบได้ครั้งแรก จะติดอกติดใจ ถึงแม้จะได้สัมผัสเพียงชั่วขณะเดียว แต่เป็นความสุขที่พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ พลิกจิตที่วุ่นวายว้าวุ่น ให้เป็นจิตที่นิ่งสงบ ความวุ่นวายที่เกิดจากการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรม จะหายไปหมดเลย เวลาจิตสงบตัวลงไป จะเบาอกเบาใจ สุขใจ มหัศจรรย์ใจ จะรู้ว่าของดีจริงๆไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตนี่เอง ไม่ต้องไปเสียเวลาหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก ต่อให้ไปท่องเที่ยวรอบโลก ก็จะไม่ได้พบกับความสุขแบบนี้ ทำอะไรมากน้อยเพียงไร ก็จะไม่ได้ความสุขแบบนี้ ถ้าได้รับความสุขแบบนี้แล้ว จะขวนขวายใฝ่ฝันแต่ความสุขแบบนี้ ถ้ายังมีภารกิจการงาน ก็จะตัดให้น้อยลงไป ให้หมดไปตามลำดับ นี่คือความประเสริฐของการเจริญสติ ที่พวกเราต้องทำในชีวิตประจำวัน อย่าไปรอเจริญสติเวลาที่ไปอยู่วัด เพราะจะไม่ทันการณ์ ต้องเจริญสติในชีวิตประจำวันทุกวัน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับไป ควบคุมจิตให้อยู่กับร่างกาย เรียกว่ากายคตาสติปัฏฐาน ตั้งสติอยู่ที่ร่างกาย ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน เช่นการกระทำต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะทำอะไร รับประทานอาหาร ทำกับข้าว เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ต้องมีสติอยู่กับการกระทำอย่างเดียว ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าทำอย่างนี้แล้ว จะดึงจิตไว้ไม่ให้ลอยไปลอยมา ถ้าไม่มีสติจะทำหลายอย่างควบคู่กันไป เช่นกำลังรับประทานอาหาร ก็จะคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดถึงอนาคต คิดถึงอดีต ไม่อยู่ในปัจจุบัน จิตก็จะไม่นิ่ง จะแกว่งไปแกว่งมา ถ้าควบคุมจิตให้อยู่กับการกระทำของร่างกายได้ ก็จะมีสติควบคุมใจให้อยู่ในปัจจุบัน ให้นิ่ง ให้สงบได้

 

เวลาว่างจากภารกิจการงาน ก็นั่งหลับตาบริกรรมพุทโธ ถ้าชอบการบริกรรม ถ้าไม่ชอบจะดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ จะใช้มรณานุสติหรืออสุภกรรมฐาน เป็นเครื่องผูกใจก็ได้ ให้ใจอยู่กับเรื่องเดียว ถ้าไม่ไปคิดเรื่องอื่นก็จะรวมตัวเข้าสู่ความสงบ พอสงบแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าบริกรรมพุทโธก็จะหยุดไปโดยปริยาย ถ้าดูลมหายใจเข้าออก ลมก็จะหายไป จะอยู่กับความว่าง ความสงบ ความพอ ไม่อยากได้อะไร เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ก็ปล่อยให้สงบให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ อย่าไปดึงให้ออกมาคิดทางปัญญา เพราะยังไม่ใช่เวลา เวลาสงบเป็นเวลาเติมพลังเติมอาหาร ยิ่งสงบได้นานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งอิ่มเอิบใจ จะทำให้กิเลสตัณหาความอยากอ่อนกำลังลงไป พอออกมาจากสมาธิ มารับรู้ร่างกาย รูปเสียงกลิ่นรส เริ่มคิดปรุงแต่ง ก็อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้คิดทางปัญญา ปัญญาจะไม่เกิดขึ้นเองหลังจากที่ได้สมาธิแล้ว มักจะเข้าใจผิดคิดว่าพอมีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดมาขึ้นเอง ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะเกิดปัญญา เช่นพิจารณาสิ่งที่ใจมีความผูกพันอยู่ ถ้ามีความผูกพันกับการงาน ก็พิจารณาว่าการงานไม่เที่ยง มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา สักวันหนึ่งก็ต้องดับไป ต้องออกจากงาน ไม่อยู่กับงานไปตลอด ต้องไม่ยึดติด ต้องปล่อยวาง จะได้ไม่วิตกกังวล จะมีงานทำหรือไม่ เตรียมตัวเตรียมใจรับ กับการเปลี่ยนแปลง เวลาเกิดเหตุการณ์จริงขึ้นมาจะได้ไม่ทุกข์ใจ

 

ความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก อยู่ในพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกี่ยวกับอนิจจังความไม่เที่ยง เพราะอยากให้สิ่งที่ไม่เที่ยงเที่ยง ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าพิจารณาว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ก็จะไม่อยาก ยอมรับความไม่เที่ยง มีขึ้นมีลงมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ก็จะไม่ทุกข์ใจ อย่างนี้เรียกว่าปัญญา คือการพิจารณาไตรลักษณ์ของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ใจมีความสัมพันธ์ด้วย เป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด ร่างกายก็เป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง มีเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ บังคับให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้ ไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตายไม่ได้ ถ้าไม่ศึกษาไม่คอยสอนใจ ก็จะยึดติดกับร่างกาย อยากจะให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เวลาแก่เจ็บตาย ก็จะกลัวมาก จนไม่สามารถทำอะไรได้ หมดกำลังใจ พอหมอบอกว่าจะต้องตายภายใน ๓ เดือน ไม่รู้จะทำใจอย่างไร เพราะไม่ศึกษาความจริงของร่างกายไว้ก่อน จึงคิดว่าจะอยู่ไปนานๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย พอเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ทำใจไม่ได้ เพราะไม่ได้สอนใจให้เตรียมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าได้เจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ ก็จะรับกับความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ จะรู้สึกเฉยๆไม่เดือดร้อน

 

ถ้าจิตไม่สงบไม่มีสมาธิ เวลาพิจารณาความแก่เจ็บตายจะพิจารณาไม่ได้ เพราะกิเลสคอยขัดขวาง ไม่ให้พิจารณา จึงต้องทำสมาธิ ทำจิตให้สงบก่อน พอจิตสงบแล้วกิเลสตัณหาจะอ่อนกำลังลง เวลาพิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกาย ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย กิเลสตัณหาก็จะไม่มีกำลังมาขัดขวาง จะทำให้จิตเห็นอนิจจังความไม่เที่ยงได้ ก็จะไม่วุ่นวายเดือดร้อน เพราะมีความสุขอยู่กับความสงบของสมาธิ จะไม่รู้สึกเสียดาย ไม่มีร่างกายก็ไม่เป็นปัญหา ตราบใดจิตมีความสุขอยู่กับความสงบ ถ้าจิตไม่มีความสุขความสงบ ก็จะยึดติดกับความสุขทางร่างกาย ความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส การทำกิจกรรมต่างๆ พอไม่ได้ทำก็จะไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ใจ ถ้าได้ความสงบแล้ว จะไม่พึ่งร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุข ถ้าชอบออกสังคม ชอบหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จะชอบไปอยู่วัด ชอบอยู่ตามลำพังอยู่ที่สงบ แล้วก็เจริญสตินั่งสมาธิ ออกจากสมาธิก็เจริญปัญญา พิจารณาความจริงของสิ่งต่างๆ ที่จิตสัมผัสรับรู้ ว่าจะต้องจากกันไปในที่สุด ถ้ามีสมาธิเวลาพิจารณาความจริง จะไม่เสียดายหรือทุกข์ใจแต่ประการใด เพราะรู้ว่าเป็นความจริงที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ จะไม่ยึดติด อะไรจะเกิดจะดับก็ไม่เป็นปัญหา สติสมาธิและปัญญานี่แหละที่เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของใจที่แท้จริง ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา จิตจะปล่อยวางสิ่งต่างๆได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม อยู่ในสภาพที่ร่างกายเป็นปกติ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือใกล้จะตายก็จะทำได้ ถ้าได้ฝึกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จะไม่เป็นปัญหาไม่มีผลกระทบต่อความสงบสุขของจิตใจ จะสงบสุขไปตลอดเวลา

 

นี่คือความสุขที่พวกเราสามารถผลิตขึ้นมาได้ ไม่มีใครผลิตให้เราได้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ไม่สามารถเอานิพพานมาแจกให้พวกเราได้ ได้แต่เพียงบอกวิธีที่จะทำให้เกิดนิพพานขึ้นมา อยู่ที่พวกเราจะต้องขวนขวาย ต้องเจริญสติให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ พอมีเวลาว่างจากภารกิจต่างๆก็นั่งสมาธิ พอได้สมาธิแล้ว เวลาออกจากสมาธิ ก็ต้องพิจารณาความไม่เที่ยง ความทุกข์ และอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นสมบัติชั่วคราว พอร่างกายตายไป ก็กลายเป็นสมบัติของผู้อื่นไปสมบัติที่แท้จริงอยู่ภายในใจเรา คือมรรคผลนิพพาน เป็นสมบัติที่เอาติดตัวไปได้ เช่นถ้าได้โสดาปัตติผลแล้ว เวลาไปเกิดใหม่ ก็สามารถปฏิบัติต่อได้เลย เหมือนกับเรียนจบชั้นมัธยม ๑ แล้ว เวลาย้ายไปอีกโรงเรียนหนึ่ง ก็ต่อชั้นมัธยม ๒ ได้เลย ไม่ต้องกลับไปเรียนชั้นมัธยม ๑ ใหม่ นี่คือประโยชน์ของการมีทรัพย์ภายใน จะไม่สูญหายไปเหมือนทรัพย์ภายนอก พอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ปฏิบัติต่อได้เลย จากขั้นโสดาบันก็ขึ้นไปขั้นสกิทาคามีได้เลย ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ สติสมาธิปัญญาที่ได้เจริญแล้วก็ยังอยู่กับเรา ต้องเจริญส่วนที่ยังไม่ได้เจริญ

 

เช่นขั้นโสดาบันก็ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แต่ยังไม่ได้เจริญอสุภะ ยังไม่ได้ละกามราคะ ความกำหนัดยินดีในกาม พอกลับมาเกิดใหม่ก็ต้องเจริญอสุภะ แต่ไม่ต้องกลับไปพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เพราะรู้แล้วปล่อยวางได้แล้ว ไม่ยึดไม่ติดกับขันธ์ ๕ แล้ว ร่างกายเกิดแก่เจ็บตายไม่เดือดร้อน แต่ยังมีกามราคะ เวลาเห็นรูปร่างหน้าตาสวยงาม ก็ยังอยากจะเสพกาม ก็ต้องพิจารณาอสุภะ พิจารณาความไม่สวยไม่งามของร่างกาย พิจารณาดูอาการ ๓๒ พิจารณาซากศพ ว่าคนตายกับคนเป็นก็เป็นร่างกายอันเดียวกัน ต่างวาระเท่านั้นเอง คนเป็นก็ยังมีลมหายใจอยู่ เวลาไม่มีลมหายใจแล้วก็เป็นซากศพ ที่จะพองขึ้นอืดขึ้นมา ถ้าทิ้งไว้ในป่าช้าก็จะถูกแร้งกากัดกิน ถ้าไม่มีปัญญาก็จะหลงใหลคลั่งไคล้ เกิดกามารมณ์ ถ้าเห็นว่าเป็นอสุภะไม่สวยงาม เห็นอวัยวะต่างๆที่อยู่ภายใต้ของผิวหนัง ก็จะดับกามราคะได้ นี่คือเรื่องของทรัพย์ภายใน คือสติสมาธิปัญญาและวิมุตติขั้นต่างๆ พอได้ทรัพย์ภายในแล้วก็จะเป็นของเราไปตลอด ไม่มีใครมาพรากจากเราไปได้ ไม่เหมือนกับลาภยศสรรเสริญสุข พอตายไปแล้วก็หมดไป เกิดใหม่ก็ต้องเริ่มต้นใหม่

 

นี่คือความแตกต่างระหว่างทรัพย์ภายในกับทรัพย์ภายนอก คนฉลาดก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจ ให้กับการสร้างทรัพย์ภายใน คนโง่ก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจ ให้กับการสร้างทรัพย์ภายนอก เพราะคนโง่ไม่รู้ว่าตายไปแล้วต้องไปเกิดใหม่ แต่คนฉลาดรู้ว่าตายไปแล้วต้องไปเกิดใหม่อีก เพราะตายแต่เพียงร่างกาย ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย นี่คือคำสอนของคนฉลาด คือพระพุทธเจ้า พวกเราเชื่อคำสอนของคนฉลาด ก็ต้องปฏิบัติตามให้มากที่สุด จะไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน จะไม่คว้าน้ำเหลว เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเป็นความจริงทั้งหมด ไม่ได้ทรงแต่งขึ้นมา เพื่อหลอกให้พวกเราทำความดีกัน แต่มีผลที่เกิดจากการปฏิบัติจริงๆ จึงควรเชื่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เชื่อการศึกษาและการปฏิบัติ แล้วภายในอนาคตอันใกล้นี้ พวกเราจะได้รับทรัพย์ภายในที่ประเสริฐ เป็นสมบัติอย่างแน่นอน

 

เวลาจะตายไม่มีใครรู้ จึงต้องไม่ประมาท ต้องคิดว่าจะไปได้ทุกเวลา ถึงจะไม่ประมาท ถ้าคิดว่าจะอยู่ไปอีกหลายปี ก็จะประมาท ถ้าคิดว่าอาจจะตายในวันพรุ่งนี้หรือคืนนี้ ควรรีบศึกษาและปฏิบัติให้เสร็จก่อน ก็จะปลอดภัย หลังจากนั้นจะไปทำอะไรก็ได้ ถ้าเสร็จกิจนี้แล้วก็จะไม่อยากทำอะไร เพราะไม่มีความอยากเหลืออยู่ในใจ ถ้าได้พบกับความสงบจริงๆสักครั้งหนึ่ง ถ้าจิตรวมลงจริงๆสักครั้งหนึ่งก็จะติดใจ จะมีความมั่นใจว่าจะปฏิบัติได้ จะไปได้เร็ว จะทุ่มเทเวลาชีวิตจิตใจให้กับภารกิจนี้ เพราะไม่มีอะไรจะสุขเท่ากับความสงบ พอจิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว เป็นเหมือนอยู่กันคนละโลก เหมือนอยู่ที่ร้อนๆ แล้วเดินเข้าไปในห้องปรับอากาศที่เย็นสบาย ความทุกข์ว้าวุ่นขุ่นมัววิตกกังวลจะหายไปหมดเลย เหลือแต่ความสุขสงบเย็นสบาย จะรู้ว่าชีวิตนี้มีทางออก ก่อนหน้านี้หาทางออกไม่เจอ ต้องพึ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ก็รู้ว่าไม่ได้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง เป็นที่พึ่งชั่วคราว ไม่ถาวร ไม่ดีไปตลอด เพราะต้องเปลี่ยนไป ถ้าจำเจก็จะเบื่อ ต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ความสงบจะไม่เบื่อ จะดูดดื่มใจตลอดเวลา

 

อยู่ที่การฝึกสตินี่แหละ การเจริญสตินี่ไม่ยากหรอก ขอให้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า ต่อไปนี้ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ จะเจริญสติตลอดเวลา ถ้าควบคุมให้รู้อยู่กับการกระทำของร่างกายไม่ได้ จะไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ก็ใช้การบริกรรมพุทโธ หรือจะท่องเที่ยวอยู่ในร่างกายก็ได้ พิจารณาอาการ ๓๒ ไป ว่าร่างกายมีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก มีเยื่อในกระดูก มีม้าม หัวใจ ตับ ไต พังผืด ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เยื่อในสมองศีรษะ ฯลฯ หรือจะพิจารณาอนาคตของร่างกายก็ได้ คือความเจ็บไข้ได้ป่วยและความตาย ที่จะต้องตามมาอย่างแน่นอน พอตายไปแล้วก็ต้องเข้าไปในโลง บำเพ็ญกุศลอยู่ ๓ วัน ๗ วัน แล้วก็เข้าเตาเผาต่อไป ตอนเช้าก็เก็บกระดูกเก็บขี้เถ้า นี่คืออนาคตของร่างกาย จะต้องเป็นอย่างนี้ทุกคน ให้พิจารณาจนติดตาติดใจ หรือจะพิจารณาดูความเป็นธาตุของร่างกายก็ได้ ว่าร่างกายมาจากดินน้ำลมไฟ ในรูปของอาหารที่รับประทานเข้าไป ต้นข้าวต้นผักต้องมีดิน มีน้ำ มีอากาศ มีไฟคือความร้อน ถึงเจริญเติบโตได้ พอรับประทานผัก รับประทานข้าว ดื่มน้ำเข้าไป ก็แปลงเป็นผมขนเล็บ เป็นฟันอาการ ๓๒ พอร่างกายตายไป ธาตุทั้ง ๔ ก็แยกออกจากกัน น้ำก็แยกไปทางหนึ่ง ลมก็ไปทางหนื่ง ไฟก็ไปทางหนึ่ง ดินก็ไปทางหนึ่ง ร่างกายก็มีเท่านี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ไม่มีตัวไม่มีตน เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ นี่ก็อยู่ในกายคตาสติปัฏฐาน คือการตั้งสติที่ร่างกาย จะดูการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้ กำลังเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน กำลังอาบน้ำก็รู้ว่ากำลังอาบน้ำ ถ้าไม่ยอมรู้อยู่ที่ร่างกาย จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะใช้การบริกรรมพุทโธดึงไว้ก็ได้ ทำอะไรไปก็บริกรรมพุทโธๆไป ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น ให้คิดแต่คำว่าพุทโธๆ เวลานั่งสมาธิก็จะอยู่กับพุทโธ หรืออยู่กับลมหายใจ จะสงบได้อย่างรวดเร็ว

 

การเจริญสติเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีสติธรรมอย่างอื่นก็จะไม่เกิดขึ้น สมาธิก็จะไม่เกิด ปัญญาก็จะไม่เกิด เพราะจะไม่สามารถพิจารณาปัญญาได้ กิเลสจะดึงความคิดไป แทนที่จะคิดให้ปล่อยวาง กลับคิดให้สะสมมากขึ้น ให้ยึดติดมากขึ้น เพราะคิดว่าจะมีความมั่นคงมากขึ้น ให้หาเงินให้มากๆเพื่อจะได้มีความมั่นคง ก็จะไม่มีทางคิดทางปัญญาได้ คนที่มีความมั่นคงทางจิตใจมักจะไม่มีเงินทอง พระพุทธเจ้าไม่มีเงินทอง ครูบาอาจารย์ไม่มีเงินทอง แต่ท่านมีความมั่นคงทางจิตใจ ไม่หวั่นไหวกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ไม่มีปัญหา เพราะจิตเป็นอุเบกขาตลอดเวลา ไม่ดีใจไม่เสียใจ มีแต่พอใจ คนชมก็พอใจ คนด่าก็พอใจ เพราะใจไม่ไปรับ จะว่าอย่างไรก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ใจเป็นเหมือนคนดู ก็ดูไป คนแสดงจะแสดงอย่างไรก็ปล่อยเขาแสดงไป จะแสดงบทโหดก็ปล่อยเขาแสดงไป จะแสดงบทเมตตาก็ปล่อยเขาแสดงไป ไม่เกี่ยวกับเรา เราเป็นคนดู ไม่ได้ไม่เสียกับการแสดงของเขา

 

อย่าไปฝากความหวังความมั่นคงกับสิ่งต่างๆภายนอก ไม่ใช่ที่พึ่งของเรา เราพึ่งเขาไม่ได้ ต่อให้มั่นคงขนาดไหน ต้องเสื่อมและดับไป สิ่งที่ไม่เสื่อมไม่ดับก็คือธรรมะที่อยู่ในใจของเรา ต่อให้โลกนี้ระเบิดเป็นเสี่ยงๆไป ใจของพวกเราก็จะไม่ได้ระเบิดไปกับโลกนี้ มีแต่ร่างกายที่จะระเบิดไปด้วย ใจของพวกเราก็ไปตามบุญตามกรรมต่อไป นอกจากโลกนี้แล้ว ก็มีโลกอื่นให้มนุษย์เกิดได้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีพระพุทธเจ้ามาประสูติมาตรัสรู้มาสอนธรรม ให้แก่สัตว์โลกเป็นกัปเป็นกัลป์ได้อย่างไร โลกนี้ไม่ได้มีอายุยืนยาวนานมาเป็นกัปเป็นกัลป์ แสดงว่าต้องมีโลกอื่นที่มีมนุษย์อยู่ได้ แต่เราไม่สามารถติดต่อกันได้เท่านั้นเอง แต่จิตนี้สามารถไปถึงโลกอื่นได้อย่างรวดเร็ว เพราะจิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับความกว้างความยาวหรือระยะทาง จิตไปด้วยกระแสของความรู้ ทรงตรัสว่าเพียงแต่ยื่นแขนออกไปก็ถึงแล้ว เพียงคิดก็ถึงแล้ว คิดถึงกรุงเทพฯก็ถึงแล้ว จิตไปถึงแล้ว แต่ร่างกายต้องใช้เวลาอีก ๒ ชั่วโมงกว่าจะไปถึง ถ้ามีญาณหยั่งรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ ก็จะรู้ว่าตอนนี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ

 

เรื่องของจิตจึงเป็นเรื่องที่ลึกลับ ถ้าไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติก็จะไม่รู้ เพราะหลงยึดติดกับร่างกาย ที่ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ว่าเป็นตัวเราของเรา ก็เลยว่าจิตเป็นสิ่งที่วิเศษ ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่ถูกความหลงหลอกให้ไปยึดติดกับร่างกาย พอร่างกายเป็นอะไรจิตก็เป็นไปด้วย มีนิทานในสมัยพุทธกาล มีคนเลี้ยงม้าคนหนึ่งขาไม่ดี ขาเป๋ เดินกะเผลกๆ ม้าที่เลี้ยงก็เดินกะเผลกตามคนเลี้ยง ทั้งๆที่ขาม้าไม่ได้เป็นอะไร จิตเราก็เหมือนกัน พอได้ร่างกายมาครอบครอง ก็หลงคิดว่าร่างกายเป็นจิต พอร่างกายเป็นอะไรก็เป็นตามร่างกายไป ร่างกายแก่ก็แก่ตาม ร่างกายเจ็บก็เจ็บตาม เพราะไม่มีปัญญาแยกแยะจิตออกจากร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่เกิดแก่เจ็บตาย ส่วนจิตเป็นผู้รู้ เป็นผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิด ผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ จะลุกขึ้นได้ จิตต้องสั่งก่อน ว่าจะลุกถึงจะลุกได้ จะเดินจิตก็ต้องสั่ง จะมาที่นี่ได้จิตก็ต้องสั่งไว้ก่อน ว่าวันนี้จะมาที่นี่ พอถึงเวลาก็ออกเดินทางมากัน ร่างกายไม่รู้เรื่อง ร่างกายเป็นผู้ทำตามคำสั่งของจิต

 

พวกเราต้องศึกษาร่างกายกับจิต แยกให้ออกจากกัน อย่าให้เป็นคนเดียวกัน เพราะเป็นคนละคนกัน ใจเป็นเจ้าของร่างกาย ที่เป็นสมบัติชั่วคราว ที่จะต้องหมดสภาพไป ถ้าใจต้องอาศัยร่างกายทำประโยชน์ ก็ต้องรีบทำอย่างเต็มที่ คือปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ เจริญสติให้เต็มที่ พอทำงานนี้เสร็จแล้ว ร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้าปฏิบัติไม่เสร็จแล้วร่างกายตายไป ก็ต้องรอให้ได้ร่างกายอันใหม่ ถึงจะปฏิบัติต่อได้ ก็จะเสียเวลาไป จึงควรเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะตายวันนี้ก็ได้ ตายพรุ่งนี้ก็ได้ อีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้าก็ได้ ไม่มีใครรู้ ถ้าจะไม่ประมาท ก็ต้องคิดว่าอาจจะต้องตายในวันนี้ ถ้าคิดอย่างนี้เวลาไม่สบายไปหาหมอ พอหมอบอกว่าเหลืออีก ๓ เดือน ก็จะดีใจ เพราะคิดว่าจะตายวันนี้ แต่หมอให้ตั้ง ๓ เดือน ถ้าไม่คิดอย่างนี้ พอหมอบอกว่าเหลือ ๓ เดือน ก็จะหมดกำลังใจ วันก่อนก็มีผู้หญิงคนหนึ่งมาบอกว่า หมอบอกว่าเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย เหลืออีกไม่กี่เดือน จะให้ทำอย่างไร เราก็บอกให้รีบปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด ตอนนี้ไม่ต้องไปคิดถึงความตายแล้ว เพราะรู้อยู่ตลอดเวลา ถ้าไปคิดก็จะไม่มีกำลังใจปฏิบัติ ต้องลืมเรื่องความตาย ให้พุ่งไปที่การปฏิบัติธรรมให้มากที่สุด เจริญสตินั่งสมาธิเจริญปัญญาให้มากที่สุด

 

ถ้าไม่เห็นความตายก็จะไม่รีบขวนขวาย จึงต้องอยู่ใกล้เหตุการณ์จริง จะได้กระตือรือร้นปฏิบัติและบรรลุธรรมได้ อย่างพระราชบิดา ก็ทรงบรรลุ ๗ วันก่อนเสด็จสวรรคต เพราะเห็นความจริง เห็นความตาย กิเลสที่อยากจะอยู่ก็จะหายไป เพราะรู้ว่าอยากอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ ก็เลยไม่มีกิเลสมาคอยขัดขวาง ไม่ให้ตั้งใจปฏิบัติ ความห่วงใยความกังวล กับเรื่องสมบัติข้าวของเงินทอง กับบุคคลต่างๆ ตอนนั้นไม่สนใจแล้ว สนใจอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์กับความตาย ที่จะตามมาในระยะอันใกล้นี้ ถ้ามีคนสอนวิธีให้ทำจิตให้สงบ ก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว พอจิตสงบแล้วร่างกายจะเป็นอะไรก็จะไม่เดือดร้อน ต้องไปดูศพไปงานศพอยู่เรื่อยๆ ไปอยู่ในสถานที่ที่ท้าทายกับความเป็นความตาย ก็จะทำให้ไม่ประมาท จะรีบขวนขวาย จะเห็นว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ไม่มีความหมายเลย ช่วยไม่ได้เลยเวลาใกล้เป็นใกล้ตาย สมบัติเงินทองต่างๆช่วยไม่ได้เลย มีแต่การปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยได้ ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา ก็เหมือนมีอาวุธไว้ต่อสู้กับศัตรู ที่จะสร้างความทุกข์ต่างๆให้เกิดขึ้นตอนใกล้ตาย จะไม่หวั่นไหวเดือดร้อน จะปล่อยวางร่างกาย ใจก็จะสงบ

 

ถาม  เคยนั่งสมาธิทำอานาปานสติค่ะ พอสัก ๗-๘ วัน จิตก็ลงไปปรื๊ด ตอนนั้นใครเอาเงินล้านมาให้ ก็จะไม่อยากได้เลย เป็นครั้งเดียวเท่านั้น ทำไมตอนหลังไม่เป็นอีกเลย

 

ตอบ เพราะไม่ทำต่อ

 

ถาม  ทำอยู่ตลอด ตอนหลังก็รวมไปเรื่อยๆค่ะ แต่ไม่ปรื๊ดและปีติอย่างตอนนั้น

 

ตอบ ครั้งแรกเป็นของใหม่ จึงรู้สึกมหัศจรรย์ใจ ครั้งต่อๆไปก็จะรู้สึกเฉยๆ ถ้ายังรวมได้ยังสงบได้ก็ดีแล้ว ควรทำให้ชำนาญ จนสามารถเข้าสู่ความสงบได้ทุกเวลาที่ต้องการ จากนั้นก็ต้องเจริญปัญญา เพราะการทำสมาธิอย่างเดียว จิตจะสงบในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น พอออกจากสมาธิก็จะวุ่นวายไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ตอนนั้นก็ต้องสอนใจให้มีปัญญา ให้ใช้ปัญญาสกัดความวุ่นวายใจ เวลาใจไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็ต้องตัด อยากไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่ใจจะไปควบคุมบังคับได้ ต้องปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็เกิด ใจก็จะสงบ ถ้าอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ใจจะวิตกกังวล ต้องพิจารณาว่าสิ่งต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา มีเกิดมีดับ มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา เราไม่สามารถสั่งให้เขาเป็นไปตามความต้องการของเราได้ ถ้าไม่อยากวุ่นวายใจก็ต้องปล่อยวาง อย่าไปอยาก จะรักษาความสงบได้

 

ถาม  เวลาฟังเทศน์จิตจะปรื๊ดลงไปเลย จะฟังไม่รู้เรื่อง

 

ตอบ ถ้าต้องการฟังเทศน์เพื่อให้เกิดความรู้ ก็ต้องควบคุมใจให้อยู่กับเสียงธรรม ถ้าไม่ได้พิจารณาตาม จิตก็จะสงบตัวลง ไม่รับรู้เสียง ไม่รู้ว่ากำลังพูดอะไร อย่างนี้เป็นการฟังธรรมเพื่อให้ได้สมาธิ ไม่ได้ฟังเพื่อให้เกิดปัญญา ถ้าฟังแล้วพิจารณาตาม ก็จะเกิดปัญญา จะบรรลุธรรมขั้นต่างๆได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก ทรงแสดงขั้นของพระโสดาบัน พระอัญญาโกณฑัญญะก็บรรลุเป็นพระโสดาบันได้เลย เพราะพิจารณาตามเหตุตามผลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เห็นว่าความทุกข์เกิดจากความไม่ยอมรับความจริง ว่ามีเกิดย่อมมีดับเป็นธรรมดา พอยอมรับความจริงว่ามีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวตายก็จะหายไป ยอมรับว่าร่างกายเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา เห็นอนิจจังความไม่เที่ยงของร่างกาย เห็นความทุกข์ของใจที่ไปยึดไปอยากกับร่างกาย อยากจะให้อยู่ไปนานๆ พอรู้ว่าความทุกข์นี้เกิดจากความอยาก ก็ละความอยาก อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ไป คิดอย่างนี้ปั๊บความทุกข์ใจก็จะหายไปหมดเลย ก็จะบรรลุธรรมได้ในขณะที่ฟัง ถ้าอยากจะได้ปัญญาต้องพิจารณาตาม ถ้าพิจารณาตามไม่ได้ แต่เกาะติดอยู่กับเสียงธรรม ก็จะสงบเป็นสมาธิ

 

ถาม  อันแรกดีกว่าใช่ไหมคะ ไม่ให้สงบตัว

 

ตอบ ถ้าต้องการปัญญาก็ต้องไม่สงบ ความสงบนี้ทำเองก็ได้ แต่เรื่องปัญญานี้ ถ้าพิจารณาไม่เป็น ไม่รู้จักการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็ต้องให้ผู้ที่บรรลุมาก่อนสอน เพราะอนิจจังทุกขังอนัตตา มีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ ๑. สิ่งที่ถูกพิจารณาเช่นร่างกายเป็นอนิจจังและอนัตตา แต่ร่างกายไม่ทุกข์ ๒. ใจต่างหากที่ทุกข์ ใจที่ไปยึดติดกับร่างกายที่ทุกข์ เพราะอยากให้ร่างกายไม่ตาย แต่ความจริงร่างกายต้องตาย ก็เลยเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา พอยอมรับความจริงว่าร่างกายต้องตาย ละความอยากไม่ให้ร่างกายไม่ตายได้ ทุกข์ที่เกิดจากความอยากก็จะดับไป ถ้าไม่รู้ว่าว่าอนิจจังอนัตตาอยู่ที่ร่างกาย ส่วนทุกขังอยู่ที่ใจ ก็จะคิดว่าอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่ที่ร่างกาย ก็จะทำให้หลงได้

 

ถาม  ทุกขังต่างกับเวทนาอย่างไรคะ

 

ตอบ ทุกขเวทนาเป็นนามขันธ์ เวทนามี ๓ ชนิดคือ ๑. ทุกขเวทนา ๒. สุขเวทนา ๓. ไม่สุขไม่ทุกขเวทนา เวลาร่างกายกินข้าวอิ่มก็จะมีสุขเวทนา เวลาร่างกายหิวก็จะมีทุกขเวทนา ส่วนทุกขังคือความทุกข์ใจ ที่เกิดจากความอยากจะกิน ทั้งๆที่เพิ่งกินอิ่ม มีสุขเวทนา แต่ใจกลับมีความทุกข์ เพราะอยากจะกินอีก ทุกข์ในใจกับทุกข์ในขันธ์เป็นคนละส่วนกัน นามขันธ์กับใจเป็นคนละส่วนกัน เวลานั่งแล้วเจ็บที่ร่างกาย อันนี้เป็นทุกขเวทนา เป็นทุกข์ในขันธ์ ถ้าอยากให้ความทุกขเวทนาหายไป ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เกิดทุกข์ในอริยสัจ ที่มีน้ำหนักมากกว่าทุกข์ในขันธ์ ถ้าทุกข์ในอริยสัจไม่เกิด ทุกข์ของร่างกายคือทุกขเวทนาก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะปัญหาอยู่ที่ความทุกข์ใจ การปฏิบัติก็เพื่อดับทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ในใจ ที่เกิดจากตัณหาความอยาก แต่ทุกขเวทนาขันธ์ที่มีร่างกายเป็นเหตุ เราดับไม่ได้ ต้องดับไปเอง แต่ทุกข์ที่เราดับได้ก็คือทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่เกิดจากความอยากคือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้าละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้ ความทุกข์ใจก็จะดับไป เช่นนั่งบริกรรมพุทโธ ไม่ให้ใจอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ความทุกข์ใจที่เกิดจากความอยากก็จะหายไป เพราะใช้การบริกรรมพุทโธมาสกัดไว้ สกัดการทำงานของตัณหา ที่ใช้ความคิดปรุงแต่งเป็นเครื่องมือ ถ้าเอาสังขารความคิดปรุงแต่งมาบริกรรม ก็จะไม่สามารถสร้างตัณหาขึ้นมา ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด ใจก็จะสงบ ถึงแม้ความเจ็บของร่างกายยังมีอยู่ แต่ใจไม่วุ่นวายไปกับความเจ็บของร่างกาย

 

ถาม  ถ้าเอาปัญญามาคิดว่าเป็นดินน้ำลมไฟ

 

ตอบ เป็นอนัตตา เราไปควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้ายอมรับก็เป็นปัญญา ก็จะปล่อยวางได้ ก็จะไม่มีทุกข์ใจ เพราะไม่มีตัณหา ความอยากที่จะให้ความเจ็บของร่างกายหายไป

 

ถาม  จะดับทุกข์อย่างถาวรไหมคะ

 

ตอบ จะดับอย่างถาวร ทุกครั้งที่เจอความเจ็บจะไม่เดือดร้อน จะเฉยๆ

 

ถาม  ความรู้สึกยินดีหรือไม่ยินดี

 

ตอบ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความอยาก ถ้ายินดีก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ ถ้าไม่ยินดีก็อยากจะให้หายไปเร็วๆ ต้องตัดความยินดีและไม่ยินดี เพราะเป็นเหตุทำให้เกิดความอยากขึ้นมา ถ้าเฉยๆ จะอยู่จะไปก็ได้ ไม่เป็นปัญหา ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ คือไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เฉยๆ อะไรก็ได้ เจ็บก็ได้ ไม่เจ็บก็ได้ ใจต้องเฉยๆ แต่ใจถูกกิเลสซุ่มสอนให้รัก ให้ชัง ให้กลัว ให้หลงอยู่ตลอดเวลา ใจมีอคติ ๔ อยู่ตลอดเวลา ต้องใช้ปัญญาดับอคติ ๔ ให้รู้ว่าสิ่งที่ไปรักไปชัง ไปกลัว ไปหลง ไม่ได้ให้คุณให้โทษกับใจเลย ใจไปหลงเอง  ถ้าคิดว่าจะเป็นคุณกับใจก็รัก ถ้าคิดว่าจะเป็นภัยก็ชังก็กลัว ความจริงไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถให้คุณให้โทษกับใจเลย เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้ ใจเพียงรับรู้สิ่งต่างๆผ่านทางร่างกาย ร่างกายเป็นเครื่องมือรับข้อมูลต่างๆไปให้ใจ ใจไม่ได้อยู่ในมิตินี้ อยู่ในอีกมิติหนึ่ง ถึงแม้โลกจะระเบิดเป็นเสี่ยงๆ ใจจะไม่ถูกทำลายไปด้วย เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้

 

        ใจไม่ได้ไม่เสียกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดจะดับ ใจไม่ได้ไม่เสียด้วย แต่ใจไม่รู้ความจริงนี้ เพราะใจไปหลงยึดติดกับร่างกาย ไปคิดว่าใจกับร่างกายเป็นอันเดียวกัน ได้เสียไปกับร่างกาย เวลาร่างกายเจ็บ ใจก็จะเจ็บตามไปด้วย เวลาร่างกายสุข ใจก็จะสุขตามไปด้วย ต้องแยกใจออกจากร่างกายให้ได้ ให้ร่างกายเป็นเหมือนกับเครื่องบินที่ใช้วิทยุบังคับ ผู้ที่บังคับเครื่องบินไม่ได้อยู่ในเครื่องบิน เครื่องบินตกก็ไม่ได้ทำให้ผู้บังคับเครื่องบินเดือดร้อนแต่อย่างใด ร่างกายเป็นเหมือนหุ่นตัวหนึ่ง ที่ใจเป็นผู้บังคับ ด้วยการใช้กระแสจิต บังคับให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ใจไม่ได้ไม่เสียไปกับร่างกาย แต่ใจไปหลงคิดว่าได้เสียตามร่างกาย เวลาขึ้นเงินเดือนก็ดีใจ เวลาได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งก็ดีใจ เวลาถูกตัดเงินเดือนก็เสียใจ

 

ถาม  ฟังท่านอาจารย์พูดอย่างนี้ก็จะปิ๊งเข้าใจ

 

ตอบ แต่ทำไม่ได้

 

ถาม  พอเจอเหตุการณ์มันก็ทำไม่ได้

 

ตอบ เพราะไม่ฝึกทำใจให้ปล่อยวาง ให้เป็นอุเบกขา ถึงต้องกลับมาที่การเจริญสติสมาธิ เรามีปัญญาแต่เป็นสุตตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง มีจินตามยปัญญา ที่เกิดจากการคิด แต่ยังไม่มีภาวนามยปัญญา ที่เกิดจากการอยู่ในเหตุการณ์จริง พออยู่ในเหตุการณ์จริง กลับไปคิดว่าเราเป็นร่างกาย ร่างกายเป็นเรา

 

ถาม  ยังไม่ทัน

 

ตอบ เพราะไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ้าเดินจงกรมพิจารณาสลับกับการนั่งสมาธิ ปัญญาก็จะอยู่ในจิตตลอดเวลา

 

ถาม  ท่านอาจารย์ถึงให้ไปอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยง

 

ตอบ ถ้าอยู่ในเหตุการณ์ที่ท้าทายกับความเป็นความตาย จะได้ท้าทายให้ปล่อยร่างกาย ถ้าเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเราจริงๆ ก็จะปล่อยร่างกายไป

 

ถาม  เวลาร่างกายตายไป จิตยังไม่เห็นหรือคะว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา

 

ตอบ จิตไม่เห็น เพราะไม่มีสติปัญญา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจิตจะหลง จิตไม่นิ่ง

 

ถาม  แล้วหลังจากที่ตายไปแล้ว

 

ตอบ เหมือนคนที่สลบไสล ตายไปแล้วก็เหมือนนอนหลับฝันไป ถ้าฝันดีก็ขึ้นสวรรค์ ถ้าฝันร้ายก็ตกนรก จะมาตื่นก็ตอนที่มาเกิดใหม่ มาได้ร่างกายใหม่

 

ถาม  ถ้าบริกรรมพุทโธๆไปตลอด จะทันไหมคะ

 

ตอบ ขึ้นอยู่กับความสามารถของสติ ถ้าทำได้ก็จะเป็นฌาน เป็นสมาธิ ก็จะไปเกิดบนพรหมโลก อย่างพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ท่านชำนาญในการเข้าฌาน เวลาร่างกายท่านตายไป ท่านก็เข้าฌานไป ปล่อยวางร่างกายไปเข้าไปอยู่ในสมาธิ พอร่างกายตายไปจิตก็ไปสวรรค์ชั้นพรหม ถ้าฝึกบ่อยๆก็จะทำได้ ถ้าฝึกไม่บ่อย พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา ก็จะตกใจ ตื่น ลืมไปหมด ควรจะทำจิตให้สงบ กลับไม่ทำ กลับไปยึดติดกับร่างกาย ไม่ยอมให้ร่างกายตาย ก็เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา จึงต้องซ้อมไว้ก่อน การปฏิบัติก็เป็นการซ้อมไว้ก่อน ก่อนที่จะเข้าห้องสอบ พวกเราทุกคนต้องเข้าห้องสอบ คือความเจ็บและความตาย ถึงต้องนั่งให้เจ็บ จะได้ทำใจให้ปล่อยวางความเจ็บ อย่าไปอยากให้ความเจ็บหาย หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป ให้อยู่กับความเจ็บให้ได้ รับรู้ความเจ็บให้ได้ ความเจ็บทำลายใจไม่ได้หรอก เราไปกลัวความเจ็บเอง

 

        เหมือนดูหนังผี ผีอยู่ในจอ ออกมานอกจอไม่ได้ ทำร้ายคนดูไม่ได้ แต่คนดูต้องปิดตาไม่กล้าดู เพราะไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าเป็นเพียงหนัง ร่างกายเป็นเหมือนตัวละครในจอหนัง ส่วนใจเป็นคนดู แต่ใจไปติดอยู่กับตัวละคร พอตัวละครเป็นอะไรไปก็เป็นไปด้วย ไม่มีปัญญาแยกใจออกจากร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นตัวละคร ใจเป็นคนดูละคร ไม่ดูเฉยๆ ไปแสดงด้วย ไปดีใจ ไปเสียใจ ไม่ดูเฉยๆ สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ถึงต้องทำสมาธิเพื่อให้เข้าถึงอุเบกขาก่อน พอเข้าถึงสักแต่ว่ารู้ ถึงอุเบกขาได้แล้ว เวลาออกจากสมาธิก็ใช้ปัญญาประคับประคองใจ ไม่ให้ออกจากอุเบกขาได้ เพราะเวลาออกมาเห็นอะไรก็จะชอบจะชัง จะหลุดจากอุเบกขา ก็ต้องใช้ปัญญาให้กลับเข้าไปในอุเบกขา ให้เฉยๆ ชอบก็เฉย ชังก็เฉย ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็จะอยาก จะว้าวุ่นขุ่นมัว

 

ต้องมีสมาธิก่อน เพื่อเราจะได้พบจุดยืนของจิต คือสักแต่ว่ารู้ หรืออุเบกขา ไม่รักไม่ชัง ไม่ยินดียินร้าย รู้เฉยๆ พอออกจากสมาธิแล้ว กิเลสจะลากจิตให้ออกจากจุดนี้ ให้ไปรักไปชัง ไปกลัวไปหลง ต้องใช้ปัญญาสกัด ด้วยการพิจารณาว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ภายใต้คำสั่ง อย่าไปอยากเลย บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ ได้มาแล้วก็ต้องเสียไปอยู่ดี ถ้าอยากแล้วไม่ได้ ก็จะเสียใจ ไม่นิ่ง ไม่สงบ ต้องใช้ปัญญาหลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว การเจริญปัญญาก็เจริญได้ ๒ ลักษณะ ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงก็ซ้อมไปก่อน ถ้าอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นเราทำงาน พบคนพูดดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็ต้องรักษาใจไม่ให้ยินดียินร้าย ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องไปซ้อมก่อน ไปอยู่วัดสักพัก ไปพิจารณาเตรียมตัวไว้ก่อน ซ้อมไว้ก่อน พิจารณาว่าห้ามเขาไม่ได้ เป็นเหมือนฝนตกแดดออก แต่ห้ามใจเราได้ ห้ามไม่ให้ไปยินดียินร้าย รักษาอุเบกขาไว้ เป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุดของใจ

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิไม่ควรจะให้จิตลงลึกใช่ไหมคะ

 

ตอบ เวลานั่งสมาธิต้องการให้ลงลึกที่สุด ให้สงบเต็มที่ ให้ถึงฐาน ถึงจะเป็นสมาธิที่มีประโยชน์ต่อปัญญา อย่าเป็นสมาธิที่ไปรับรู้นิมิตต่างๆ อย่างนี้ไม่ดี เวลาออกจากสมาธิ จิตจะไม่มีกำลังพิจารณาทางปัญญา เพราะกิเลสไม่ได้ถูกตัดกำลัง พอออกมากิเลสจะออกมาเพ่นพ่านทันที ต่างกับสมาธิที่สงบนิ่งเย็น เวลาออกมาใหม่ๆ กิเลสยังไม่มีกำลัง จะเป็นเวลาที่ดีสำหรับการเจริญปัญญา เพราะไม่มีกิเลสมาคอยขัดขวาง มาลากจิตให้ไปทางกิเลส ความจริงเราสั่งไม่ได้ ว่าจะลงลึกหรือไม่ลึก อยู่ที่กำลังของสติ ถ้าสติมีกำลังมากก็จะลงลึก ถ้ามีน้อยก็จะลงไม่ลึก ไปกำหนดไม่ได้ เป้าหมายของการนั่งสมาธิก็คืออุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ความคิดปรุงแต่งสงบไปชั่วคราว ไม่คิดอะไร ถึงแม้จะรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส จิตจะไม่สนใจ บางครั้งร่างกายหายไป เหลือแต่ตัวรู้ อย่างนี้เป็นสมาธิที่ดี เป็นสัมมาสมาธิ แต่พอออกจากสมาธิแล้วก็ควรเจริญปัญญาเลย พิจารณาไตรลักษณ์ในสิ่งที่เรามีความผูกพัน เพื่อจะได้ตัดความผูกพัน จะได้ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป

 

จะเจริญปัญญาได้ก็ตอนที่ออกจากสมาธิใหม่ๆ หลังจากนั้นกิเลสจะมีกำลังมากขึ้น ก็จะดึงให้ไปห่วงใยกับสิ่งที่มีความผูกพัน ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วก็ต้องกลับเข้าไปในสมาธิ เพื่อตัดกำลังของกิเลสและสร้างกำลังของปัญญา พอออกมาจากสมาธิก็จะมีกำลังพิจารณาทางปัญญา จนกว่ากำลังของปัญญาจะอ่อนลง กำลังของกิเลสมีมากขึ้น ก็ต้องกลับไปนั่งสมาธิใหม่ ให้ทำสลับกันไประหว่างสมาธิกับปัญญา จนกว่าเราจะตัดความผูกพันได้ พอตัดได้แล้วก็หมดปัญหากับสิ่งนั้นไป ไม่ต้องพิจารณาสิ่งนั้นอีกต่อไป ถ้าพิจารณาปล่อยวางร่างกายได้แล้ว ไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วยและความตาย ก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องนี้อีก ถ้าเราปล่อยวางได้แล้ว พิจารณาเรื่องอื่นต่อไป จนกว่าจะไม่มีอะไรให้พิจารณา ไม่มีอะไรให้ตัด ก็ถือว่าได้ทำงานเสร็จแล้ว

 

ถาม  แล้วทำไมพอดิฉันมองกาย มองโครงกระดูกของดิฉัน ครั้งแรกจะเห็นถนัด พอมองไปสักสองครั้ง จะมองอะไรไม่เห็นเลย จะเป็นสีขาวไปหมด เหมือนกับบอกว่าพอแล้ว ไม่เอาแล้ว

 

ตอบ เรามองเพื่อตัดอะไร ถ้าตัดความยึดติด ว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ถ้ามองเห็นว่าร่างกายเป็นเพียงโครงกระดูก ไม่ใช่ตัวเราของเรา ปล่อยวางร่างกายได้ จะเห็นหรือไม่เห็นต่อไปก็ไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่ายังยึดติดอยู่กับร่างกายหรือเปล่า ยังคิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเราอยู่หรือเปล่า เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ เวลาไม่เห็นนี้ เพราะจิตเถลไถลก็ได้ ดูครั้งสองครั้งแล้ว ก็จะไม่ยอมดู ก็ต้องบังคับต้องกำหนดภาพขึ้นมาใหม่ ถ้าจะปล่อยให้เกิดขึ้นเอง ก็จะเกิดเพียงแวบเดียว ถ้าต้องการเห็นอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องกำหนดเองเพื่อให้ติดตาติดใจ ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงโครงกระดูก เวลาตายไปก็เหลือแต่โครงกระดูก ก็จะปล่อยวางความยึดติดในร่างกายได้ ปล่อยวางอุปาทาน ว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงโครงกระดูก พอไม่ยึดติดแล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป พิจารณาเรื่องอื่นที่ยังเป็นปัญหา ดูว่าทุกข์กับอะไร จนกว่าจะหายทุกข์ พิจารณาปัญญาสลับกับสมาธิ เพราะปัญญาจะทำงานได้ในระยะหนึ่ง ก็จะอ่อนกำลังลง กิเลสจะมีกำลังมากขึ้น กิเลสก็จะมาล้มการพิจารณา ก็ต้องหยุดแล้วกลับเข้าไปในสมาธิ

 

หลวงตาท่านเปรียบสมาธิกับปัญญา เป็นเหมือนเท้าซ้ายกับเท้าขวา ต้องสลับกันก้าว ในการปฏิบัติเพื่อตัดกิเลสขั้นต่างๆ ต้องอาศัยการก้าวไปของสมาธิและปัญญาสลับกันไป พอพิจารณาไประยะหนึ่งก็ต้องหยุดพักในสมาธิ เพื่อเสริมกำลัง พอได้กำลังแล้วก็กลับไปพิจารณาใหม่ เหมือนคนตัดฟืน ถ้าตัดไปเรื่อยๆ กำลังก็จะอ่อนลงไปเรื่อยๆ มีดที่ใช้ตัดฟืนก็จะทื่อไปตามลำดับ ตัดอย่างไรก็ไม่ขาด ก็ต้องพัก รับประทานอาหาร หลับนอน ลับมีด พอพักเสร็จแล้ว ก็มาตัดต่อ ไม้ท่อนที่ฟันตั้งหลายครั้งไม่ขาด ก็จะขาดทันที ปัญญาก็เป็นอย่างนั้น ถ้าพิจารณาไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็ตัดกิเลสไม่ได้ พอได้พักจิตในสมาธิ แล้วออกมาพิจารณาใหม่ ก็จะเห็นและตัดกิเลสได้เลย นี่คือการทำงานของสมาธิและปัญญา ต้องสนับสนุนกัน เหมือนเท้าซ้ายกับเท้าขวา ที่ต้องสนับสนุนกัน ถึงจะเดินไปได้

 

ในการปฏิบัติจิตตภาวนาเพื่อตัดกิเลส ต้องอาศัยทั้งสมาธิและปัญญา สลับกันทำงาน ถ้าเจริญแต่ปัญญาอย่างเดียว ไม่พักในสมาธิเลย ก็จะเกิดอุทธัจจะความฟุ้งซ่านขึ้นมา เพราะกิเลสรบกวน ไม่คิดด้วยเหตุด้วยผล คิดไปตามความอยากของกิเลส ก็จะเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา ต้องรู้ทัน ต้องหยุดพักในสมาธิ เวลาพิจารณาทางปัญญามักจะติดพัน เห็นคุณค่าของการพิจารณาของปัญญา ก็เลยไม่หยุดพิจารณา กลับไปเห็นโทษของสมาธิว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร มีแต่สงบอย่างเดียว แต่ไม่สามารถตัดกิเลสได้เลย พอพิจารณาทางปัญญา ก็ตัดกิเลสได้ ก็อยากจะตัดไปเรื่อยๆ อยากพิจารณาไปเรื่อยๆ จนตัดไม่ได้เลย เพราะมีดทื่อ ปัญญาทึบ ตอนนั้นก็ต้องหยุดพักในสมาธิ พอออกมาปัญญาจะแหลมคม พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะเห็นตามความจริง

 

ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยเตือนก็จะติดได้ พอได้สมาธิก็จะติดในสมาธิ จะไม่พิจารณาเวลาออกจากความสงบ ไม่สนใจปัญญา จะคิดเรื่อยเปื่อย คิดอยากได้นั่นอยากได้นี่ อยากทำนั่นอยากทำนี่ พอถึงเวลาก็นั่งสมาธิใหม่ อย่างนี้เรียกว่าติดสมาธิ ทำแต่สมาธิอย่างเดียว ไม่ออกพิจารณาทางปัญญา พอออกทางปัญญา ก็ไม่ยอมกลับเข้าไปในสมาธิ อย่างนี้เรียกว่าหลงสังขารความคิดปรุงแต่ง พิจารณาไม่หยุดไม่หย่อน ไม่พักในสมาธิ หลวงตาท่านเล่าว่า พอได้สมาธิก็จะติดในสมาธิ หลวงปู่มั่นท่านก็บอกว่า สมาธิเป็นเหมือนเนื้อติดฟัน พอออกพิจารณาทางปัญญา ก็พิจารณาอยู่ตลอดเวลา ไม่หลับไม่นอนเลย พอไปเล่าให้หลวงปู่มั่นฟัง ท่านก็บอกว่ากำลังหลงสังขาร เวลาปฏิบัติมักจะติด ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยสอน ถ้าได้สมาธิก็จะติดในสมาธิ พอไปทางปัญญาก็จะพิจารณาจนเลยเถิด

 

ถ้ามีครูบาอาจารย์ก็จะไปได้อย่างรวดเร็ว พอมาถึงจุดนี้ปั๊บ จะรู้ว่ากำลังติดสมาธิ เพราะไม่พิจารณาไตรลักษณ์ ไม่พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่พิจารณาอสุภะเลย อย่างนี้เรียกว่าติดสมาธิ พอพิจารณาทางปัญญา ก็ไม่นั่งสมาธิเลย พิจารณาทั้งวันทั้งคืน นอกจากเวลาหลับ ก็จะกลายเป็นวิปัสสนูไป คิดไปเองว่าได้บรรลุแล้ว เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้แล้ว แต่ความจริงไม่ได้เป็น เพราะจิตไม่สงบ จิตยังว้าวุ่นขุ่นมัว ถ้าบรรลุจิตต้องสงบ ความสงบเป็นตัววัดผล เวลาตัดกิเลสได้จิตจะดิ่งเข้าสู่ความสงบทันที ถ้าคิดว่าตัดได้แล้ว แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในจิต ก็ไม่ใช่แล้ว เป็นความหลงแล้ว ถ้าตัดได้แล้วจิตจะสงบเป็นอุเบกขา ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้วคอยบอกทาง ก็จะไม่หลง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ก็จะหลง จึงควรมีครูบาอาจารย์ที่ได้ผ่านมาแล้วคอยบอกทาง จะได้ไม่หลง ไม่ต้องคลำทางไปเอง

 

ถาม  กลางคืนหลังจากสวดมนต์ทำวัตรแล้วก็นั่งภาวนาพุทโธๆ พอตื่นขึ้นมาตอนตีสองตีสาม จะพิจารณาได้ไหมคะ

 

ตอบ ได้ พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา พิจารณาทั้งตัวเราเองและคนอื่น ไม่ใช่ร่างกายของเราเท่านั้น คนที่เรารักที่เรารู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน คนที่เราไม่รักเราไม่รู้จักก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องให้เห็นว่าทุกคนเป็นเหมือนกันหมด เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ควรเจริญสติและพิจารณาทางปัญญาในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่เจริญสติ ก็ควรพิจารณาทางปัญญา เห็นอะไรก็คิดว่าไม่เที่ยง อย่าไปอยากได้ ถ้าอยากได้ก็จะทุกข์ ก็จะตัดกิเลสได้