กัณฑ์ที่ ๔๒๘       ๑๑ กันยายน ๒๕๕๔

 

ปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง
 

 

 

 

วันเวลาผ่านไปตามลำดับ เหมือนกระแสน้ำที่ไหลไปแล้วไม่ย้อนกลับ เวลาของชีวิตก็เช่นเดียวกัน ผ่านไปแล้วก็หมดไป ทำให้เวลาที่เหลืออยู่มีน้อยลงไป ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาการปฏิบัติธรรม ก็จะมีน้อยลงไป  กำลังวังชาของร่างกายก็จะอ่อนลงไป เป็นสิ่งที่ควรพิจารณากันอยู่เนืองๆ เพื่อจะได้ไม่ประมาท จะได้รีบปฏิบัติรีบศึกษา ก่อนที่เวลาและกำลังวังชาจะหมดไป เพราะเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว จะไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าตายไปแล้วกลับมาเกิดใหม่ ก็ไม่แน่ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนา พระธรรมคำสอน อันประเสริฐของพระพุทธเจ้าอีกหรือไม่ ดังที่ได้ทรงพยากรณ์ไว้แล้วว่า พระพุทธศาสนาจะมีอายุประมาณ ๕๐๐๐ ปี นี่ก็ผ่านมาครึ่งทางแล้ว คือ ๒๕๕๔ ปี การจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์แต่ละครั้ง ก็ทรงแสดงว่าไม่เป็นของง่าย เพราะจะต้องไปใช้บาปไปรับบุญก่อน ซึ่งอาจจะเป็นเวลามากกว่า ๕๐๐๐ ปี พอกลับมาแล้วก็จะไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นเหมือนยุคที่ไม่มีแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ต้องอยู่ในที่มืด เหมือนตอนกลางคืน ถ้าไม่มีแสงสว่างจะทำอะไรก็จะยากลำบาก ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวและถูกต้อง จะทำแบบผิดๆถูกๆ ยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนาก็เป็นเช่นนั้น จะไม่มีแสงสว่างแห่งธรรม นำพาสัตว์โลกให้ไปสู่ความสุขความเจริญ ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย จะต้องศึกษาด้วยตนเอง ปฏิบัติด้วยตนเอง อย่างที่พระพุทธเจ้าที่ต้องทรงศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง ผิดๆถูกๆ แต่เนื่องจากทรงมีพระบารมี ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาอย่างมากมาย ที่ทำให้พระองค์เป็นพระองค์เดียวเท่านั้น ที่สามารถพบแสงสว่างแห่งธรรม พบทางที่จะนำพาไปสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จากความทุกข์ทั้งหลายได้ด้วยพระองค์เอง

 

ตอนนี้พวกเรากำลังอยู่ในยุคที่มีพระพุทธศาสนา มีแสงสว่างนำทาง จึงไม่ควรปล่อยปละละเลยหน้าที่ของพวกเรา คือการศึกษาและการปฏิบัติ เพื่อทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้แจ้งเห็นจริงด้วยพระองค์เอง คือพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธมรรค เป็นธรรมที่ผู้ปรารถนาความหลุดพ้น ปรารถนามรรคผลนิพพาน จะต้องปฏิบัติกัน อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมา พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ทุกข์ที่ต้องศึกษาต้องกำหนดรู้ พระองค์ได้ทรงศึกษาแล้ว สมุทัยที่ต้องละ พระองค์ได้ทรงละแล้ว นิโรธความดับทุกข์ที่ต้องทำให้แจ้ง พระองค์ได้ทรงทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ต้องเจริญให้มาก พระองค์ได้ทรงเจริญอย่างเต็มที่แล้ว จึงทำให้พระทัยของพระองค์หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จากวัฏสงสาร ไม่ต้องกลับมาเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป ทรงบรรลุถึงพระนิพพาน ที่เป็นปรมังสุขัง เป็นบรมสุข นี่คือธรรมที่พวกเราต้องทำให้รู้แจ้งเห็นจริง ให้ปรากฏขึ้นมาในใจ อย่าไปหาพระอริยสัจ ๔ ที่ข้างนอกใจ เพราะที่ข้างนอกใจไม่มีพระอริยสัจ ๔

 

พระอริยสัจ ๔ นี้อยู่ภายในใจ อยู่ในผู้รู้ ที่ยังถูกอำนาจของโมหะความหลง อวิชชาความมืดบอด หลอกให้ไปหาความสุข ความดับทุกข์ที่ข้างนอกใจ ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรส เพื่อดับความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ แต่หามาได้มากน้อยเพียงไร ความทุกข์ใจก็ยังไม่หมดไป และจะไม่มีวันหมดไป เพราะต้นเหตุของความทุกข์ใจ คือสมุทัยนี้อยู่ภายในใจ ไม่ได้อยู่ที่ภายนอก ไม่ได้อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ การดับทุกข์โดยใช้กามสุข คือความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จึงไม่ใช่ทาง พระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์มาแล้วด้วยพระองค์เอง ทรงเคยมีความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่ภายในพระทัยของพระองค์ก็ยังมีความทุกข์อยู่ จะมีความสุขและดับทุกข์ได้เพียงชั่วคราว ในขณะที่ได้เสพได้สัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แต่พอผ่านไปแล้ว ความทุกข์ใจก็ยังปรากฏขึ้นมาอีก เพราะสมุทัยไม่ได้รับการละนั่นเอง สมุทัยก็คือ ตัณหาทั้ง ๓ กามตัณหาความอยากในกาม อยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

 

นี่แหละคือต้นเหตุของความทุกข์ของสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเดรัจฉาน เป็นเทพเป็นพรหมหรือสัตว์นรก มีเหตุอันเดียวกัน คือตัณหาทั้ง ๓ นี้ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ผู้ที่ไม่มีความทุกข์ เช่น พระอรหันต์และพระพุทธเจ้า ก็เพราะได้ละตัณหาทั้ง ๓ นี้ ได้ละกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา จึงปรากฏนิโรธขึ้นมา ได้ทำนิโรธให้แจ้ง นิโรธคือความดับของทุกข์ ถ้าทุกข์เป็นเหมือนไฟ ฟืนที่ทำให้เกิดไฟ ก็เป็นสมุทัย ถ้าเอาฟืนออกจากกองไฟ ไฟก็จะต้องดับไป การดึงฟืนออกมาจากกองไฟก็คือมรรค มรรคก็คือทางแห่งการดับทุกข์ เครื่องมือที่ใช้ในการดับทุกข์ ทรงแสดงว่ามรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความคิดชอบ สัมมากัมมันโต การกระทำชอบ สัมมาวาจา การพูดชอบ สัมมาอาชีโว อาชีพชอบ สัมมาวายาโม ความเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิตชอบ

 

มรรคคือการดึงฟืนออกจากกองไฟ เป็นเครื่องมือที่จะละสมุทัย ละตัณหาทั้ง ๓ ละกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะทำได้ นอกจากมรรคนี้เท่านั้น พระองค์จึงทรงสอนให้เจริญให้มาก เจริญให้สมบูรณ์ เจริญให้เต็มที่ ด้วยการศึกษาและปฏิบัติพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พอได้ศึกษาและปฏิบัติแล้วก็จะมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ พอมีครบทั้ง ๘ ประการ ก็จะมีมรรคผลนิพพานตามมา มีนิโรธคือการดับทุกข์ มีการละสมุทัย มีการรู้ทุกข์ รู้ว่าทุกข์อยู่ภายในใจ ไม่ได้อยู่ภายนอก รู้ว่าเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือสมุทัยก็อยู่ภายในใจ รู้ว่าถ้าต้องการจะดับทุกข์ ก็ต้องละสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ รู้ว่าเครื่องมือที่จะใช้ในการดับทุกข์ก็คือมรรค พอได้เจริญมรรคอย่างเต็มที่แล้ว นิโรธคือความดับของทุกข์ก็จะเป็นผลตามมา นี่คือกิจในพระอริยสัจ ๔ ของผู้ที่ปรารถนามรรคผลนิพพาน

 

ต้องใช้พระอริยสัจ ๔ เป็นแนวทางของการดำเนิน ของการปฏิบัติ และเป็นที่วัดผลของการปฏิบัติ ว่าเจริญก้าวหน้าหรือถดถอย ให้ดูตรงที่พระอริยสัจ ๔ นี้ ดูว่าทุกข์มากขึ้นหรือน้อยลง สมุทัยคือตัณหามากขึ้นหรือน้อยลง ความดับทุกข์มากขึ้นหรือน้อยลง มรรค ๘ มีมากขึ้นหรือมีน้อยลง มรรค ๘ ต้องมีในใจ ไม่ใช่มีในพระไตรปิฎก ไม่ใช่มีในหนังสือ มีอยู่ในใจตลอดเวลาหรือไม่ เช่นสติ มีสติอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ นี่แหละเป็นตัววัดที่สำคัญที่สุดคือสติ ถ้าไม่มีสติแล้ว ศีลสมาธิปัญญาก็จะไม่มี จะไม่สามารถควบคุมความคิด ให้อยู่ในทำนองคลองธรรมได้ เช่นคนที่เสียสติ มักจะทำอะไรที่คนทั่วไปรังเกียจ เรียกว่าคนบ้า ไม่มีสติที่จะควบคุมความคิดและความเห็นให้ถูกต้องได้ การกระทำและการพูดจึงไม่ถูกต้อง

 

สติจึงเป็นองค์มรรคที่สำคัญที่สุด ถึงแม้จะไม่สามารถดับทุกข์ได้ด้วยสติ ฆ่ากิเลสได้ด้วยสติก็ตาม แต่ถ้าไม่มีสติเครื่องมือที่จะใช้ในการฆ่ากิเลส ก็จะไม่เกิดขึ้น คือสมาธิและปัญญา สมาธิก็ไม่สามารถฆ่ากิเลสได้โดยลำพัง ต้องปัญญาเท่านั้นที่จะทำได้ แต่ปัญญาถ้าไม่มีสมาธิ ก็จะไม่มีกำลังที่จะฆ่ากิเลสได้ สมาธิจะไม่มีถ้าไม่มีสติคอยดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้ลอยไปลอยมาตามอารมณ์ต่างๆ การเจริญสติจึงสำคัญที่สุด ครูบาอาจารย์คอยเน้นเรื่องสติ คอยดูการเคลื่อนไหวต่างๆของลูกศิษย์ลูกหา ว่ามีสติหรือไม่ พอเห็นว่าไม่มีสติก็จะเตือนเสมอ ด้วยวิธีต่างๆ พูดดีๆบ้าง ดุด่าว่ากล่าวตักเตือนบ้าง เพื่อจะได้มีสติ

 

วันนี้ได้ฟังธรรมของจริง เห็นธรรมของจริง คือเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของธรรมชาติ คือฝน เห็นอนัตตา คือไม่สามารถไปควบคุมบังคับฝนได้ เห็นอริยสัจ ๔ ภายในใจ ว่าหงุดหงิดหรือสงบ ถ้าหงุดหงิดก็แสดงว่ามีสมุทัย มีความอยากให้ฝนหยุด ถ้าไม่หงุดหงิดก็แสดงว่ามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ควบคุมใจให้ละความอยากได้ นี้คือหลักของพระอริยสัจ ๔ ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว จะไม่ต้องไปแก้ปัญหาที่ข้างนอก เช่นไปสั่งให้ฝนหยุด ไม่ต้องไปสั่งให้สามีภรรยาดีกับเรา ไม่ต้องไปสั่งให้คนนั้นคนนี้ดีกับเรา มาสั่งใจดีกว่า สั่งให้ใจอย่าไปอยากให้เขาดีกับเรา ปัญหาก็จะจบ พวกเราแก้ปัญหาผิดจุดกัน ไม่ได้แก้ที่ใจ ไปแก้ที่ข้างนอก ร้อนก็ไปซื้อเครื่องปรับอากาศมาติด หนาวเวลาอาบน้ำก็ไปซื้อเครื่องต้มน้ำร้อนมาติด นี่ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา ต้องแก้ที่ใจ คือความไม่อยากร้อนไม่อยากหนาว

 

ต้องฝึกใจให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้ อยู่กับความจริง ความจริงเป็นอย่างไร ต้องไม่ปฏิเสธ ไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น จะได้ไม่ทุกข์ใจ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลานั่งสมาธิแล้วเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ อย่าไปอยากให้หายเจ็บ อย่าไปอยากเปลี่ยนอิริยาบถ ให้ใช้สติสมาธิปัญญา ข่มใจ สอนใจ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ใช้สติใช้สมาธิ บริกรรมพุทโธๆไป ปล่อยให้เจ็บไป เรามีหน้าที่บริกรรมก็บริกรรมไป อย่าไปอยากให้ความเจ็บหายไป พอใจสงบแล้ว จะหายหรือไม่หาย ก็ไม่เป็นปัญหา ขณะที่บริกรรมก็ไม่เป็นปัญหา ตอนที่ไม่ได้บริกรรมนั่นแหละเป็นปัญหา ตอนที่ไปเห็นความเจ็บ แล้วอยากให้ความเจ็บหายไป หรืออยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ จะเกิดความเจ็บมากขึ้น เกิดความทรมานใจ นี่คือทุกข์ใจที่เกิดจากความอยาก อยากให้ความเจ็บหายไป อยากเปลี่ยนอิริยาบถ

 

ถ้าเจริญมรรคด้วยการบริกรรมพุทโธๆ เดี๋ยวใจก็จะสงบเป็นสมาธิ ขณะที่บริกรรมความเจ็บก็ไม่รบกวนใจ เวลาจิตสงบลงบางทีจิตจะไม่รับรู้ความเจ็บเลย ร่างกายหายไป ความเจ็บหายไป ถ้าไม่หายจิตก็จะนิ่ง สงบ ไม่เดือดร้อน เฉยๆ เหมือนเมื่อสักครู่นี้ ตอนที่นั่งทำสมาธิกัน ฝนจะหยุดหรือไม่หยุด เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะเราทำสมาธิ ทำใจให้สงบ พอมีสมาธิแล้ว ก็ใช้ปัญญาหยุดจิตได้ ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ เพียงบอกใจว่า มันเป็นอย่างนี้แหละ จะตกก็ปล่อยมันตกไป มันไม่เที่ยง เป็นอนัตตา เราห้ามมันไม่ได้ เช่นเดียวกับทุกขเวทนา ก็เป็นอย่างนี้แหละ ถึงเวลาจะเกิดก็เกิด เราห้ามมันไม่ได้ แต่อยู่กับมันได้ ถ้าไม่สร้างสมุทัยคือความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป นี่คือหลักของอริยสัจ ๔ ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็เท่ากับมีดวงตาเห็นธรรม เห็นพระอริยสัจ ๔ นี่คือการเห็นธรรม

 

แต่ธรรมมีหลายขั้น ขั้นพระโสดาบันก็ต้องเห็นว่า ขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่เที่ยง ต้องปล่อยวาง อย่าไปอยากให้เขาเป็นอย่างอื่น เวลารูปคือร่างกายแก่เจ็บไข้ได้ป่วยตายไป ก็ต้องยอมรับ มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา เวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็เช่นเดียวกัน มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ถ้ายอมรับความจริงทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นมาภายในใจ เพราะมีมรรคควบคุมไว้ มีสติปัญญาสมาธิคอยควบคุม ไม่ให้เกิดสมุทัยความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย อยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็จะมีดวงตาเห็นธรรมขั้นพระโสดาบัน จะปล่อยวางเรื่องลาภยศสรรเสริญสุข ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ลาภจะเจริญหรือเสื่อม ก็ไม่เป็นปัญหา ยศจะขึ้นหรือลง ก็ไม่เป็นปัญหา จะมีคนสรรเสริญหรือนินทา ก็ไม่เป็นปัญหา จะมีสุขมีทุกข์กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเข้าใจหลักของพระอริยสัจ ๔ ว่าความทุกข์นั้นเกิดจากความอยาก

 

ถ้าต้องการดับความทุกข์ ต้องดับที่ใจ ถ้าทุกข์กับรูปเสียงกลิ่นรส เพราะอยากจะออกไปเที่ยวข้างนอก แต่ไม่มีปัญญา เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สบาย ออกไปไม่ได้ ถ้าอยากจะออกไป ก็จะหงุดหงิด ว้าเหว่ เศร้าสร้อยหงอยเหงา ถ้าเปลี่ยนใจว่าไม่ไปก็ได้ อยู่บ้านก็ได้ นั่งทำสมาธิไป พอจิตสงบ ความว้าเหว่ความทุกข์ก็จะหายไป เพราะสมุทัยความอยากได้ถูกละไป ด้วยการทำจิตให้สงบ ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว ต่อนี้ไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าทุกข์ก็จะแก้ได้ ไม่ต้องใช้เงินแก้ ไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆภายนอกมาแก้ ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ไม่ต้องใช้เครื่องทำน้ำร้อนมาแก้ แก้ด้วยสติปัญญาสมาธิ แก้ด้วยมรรคที่จะดูแลรักษาใจไม่ให้ทุกข์เลย พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเราเจริญมรรคให้มาก เจริญให้เต็มที่ จะได้มีเครื่องมือดับทุกข์ภายในใจ

 

สติเป็นธรรมที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีสติก็จะไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิก็จะไม่สามารถพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตาได้ ไม่สามารถมองเห็นทุกข์ได้ ไม่สามารถกำหนดรู้ทุกข์ได้ ไม่สามารถละสมุทัยได้ ไม่สามารถทำนิโรธให้แจ้งได้ สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญที่สุด ต้องเจริญให้มาก หน้าที่ของพวกเราก็คือการเจริญมรรค เจริญสติสมาธิปัญญาให้มาก ถ้าเจริญมรรคได้มากแล้ว ทุกข์สมุทัยนิโรธก็จะไม่เป็นปัญหา ถ้ามีสติสมาธิปัญญา เวลามีความทุกข์ใจ ความหงุดหงิดรำคาญใจ เศร้าสร้อยหงอยเหงา จะรู้เลยว่าเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาแล้ว แล้วก็จะถามตัวเองว่า อยากได้อะไร อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร พอรู้ว่าเกิดจากความอยาก ก็ละมันเสีย ยอมรับความจริงว่า มันเป็นอย่างนี้แหละ ตอนนี้ไม่สบายต้องอยู่บ้านก็อยู่ไป อยู่กับความจริง  ตอนนี้สามีหรือภรรยาทิ้งเราไป ต้องอยู่คนเดียวก็อยู่ไป ไม่ต้องไปขอร้องให้เขากลับมา เขาอยากจะไปก็ปล่อยเขาไป เขาเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา

 

ปัญหาคือเราไม่คิดอย่างนั้น คิดว่าเขาเป็นนิจจังอัตตา คิดว่าจะต้องอยู่กับเราไปจนวันตาย คิดว่าเป็นของเรา อยู่ภายใต้คำสั่งของเรา พอไม่ได้เป็นก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะอยากจะให้เขากลับมา อยากจะให้เขาเป็นเหมือนเดิม แต่เขาเป็นอนิจจัง เขาเปลี่ยนไปแล้ว สั่งเขาไม่ได้ เพราะเป็นอนัตตา ถ้าเข้าใจหลักนี้แล้ว การดำเนินชีวิตจะเป็นไปอย่างสุขสบายราบรื่น ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจะแก้ได้หมด เพราะแก้ข้างใน ไม่ได้ไปแก้ข้างนอก ถ้าแก้ข้างนอก บางทีก็แก้ได้ บางทีก็แก้ไม่ได้ บางทีไปอ้อนวอนให้เขากลับมาอยู่กับเราได้ บางทีเขาก็ไม่กลับมา แต่ถ้าแก้ที่ใจก็จะแก้ได้ ด้วยการพิจารณาว่าเขาเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ก็ปล่อยเขาไป สั่งให้เขากลับมาไม่ได้ แต่เราอยู่คนเดียวได้ อยู่อย่างมีความสุขกว่าตอนที่อยู่กับเขาเสียอีก เพราะไม่ต้องห่วง ไม่ต้องหวง ไม่ต้องวิตกกังวล เขาจะเป็นจะตาย จะดีจะชั่ว ก็จะไม่เป็นปัญหา

 

นี่คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงหยิบยื่นให้กับพวกเรา เพื่อให้พวกเราได้พ้นทุกข์กัน อยู่ตรงนี้ อย่าไปหลงประเด็น อย่าไปหลงนั่งให้เห็นสวรรค์เห็นนรก มีฤทธิ์มีเดช ระลึกชาติได้ เรื่องอย่างนี้รู้ไปไม่เกิดประโยชน์ ไม่มาดับทุกข์ ต้องรู้ไตรลักษณ์เท่านั้น รู้อนิจจังทุกขังอนัตตา รู้ว่าไม่สามารถไปสั่งเขาได้ เขาต้องเปลี่ยนไปตามสภาพของเขา ไม่ช้าก็เร็ว นี่คือสิ่งที่เราขาดกันมาก ไม่เจริญกัน ไม่พิจารณากันอยู่เนืองๆ ก็เลยถูกความหลงมาหลอกว่า จะอยู่กับเราไปตลอด อยู่ภายใต้คำสั่งของเรา ให้ความสุขกับเราไปตลอด พอไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ก็ทุกข์ทรมานใจ บางครั้งถึงกับต้องฆ่าตัวตาย เพราะไม่รู้จักวิธีแก้ปัญหา คิดว่าการฆ่าตัวตาย เป็นวิธีแก้ปัญหา แต่ปัญหาไม่จบ เพราะปัญหาอยู่ที่ใจ อยู่ที่ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ถ้าไม่ศึกษาไม่เจริญมรรค ฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐๐ ชาติ ปัญหาก็ยังไม่หมด จะติดเป็นนิสัยไป ไปเกิดชาติหน้า ไปเจอปัญหาแบบนี้อีก ก็จะฆ่าตัวตายอีก จะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าแก้ปัญหาด้วยอริยสัจ ๔ ก็จะหมดปัญหา เพราะจะไม่กลับมาเกิดอีก จะไม่ต้องมาเจอปัญหาต่างๆเหล่านี้อีก

 

จึงควรพิจารณาอริยสัจ ๔ อยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะมรรค คือการเจริญสติสมาธิปัญญา เพื่อจะได้มีเครื่องมือคอยสอดส่องดูแลใจตลอดเวลา ว่าขณะนี้กำลังทุกข์หรือไม่ทุกข์ กำลังอยากหรือไม่อยาก ถ้าทุกข์จะแก้ได้ทันที ไม่ไปแก้ที่ข้างนอก ไม่ไปแก้ที่ฝนฟ้าอากาศ ไม่ไปแก้ที่คนนั้นคนนี้ แก้ที่ใจเรา แก้ที่สมุทัย แต่เรามักจะหลงประเด็นกัน หลงไปกับการเห็นนั่นเห็นนี่จากการนั่งสมาธิ ที่ไม่ใช่ทางสู่มรรคผลนิพพาน ต้องระวัง เช่นเดียวกับการรักษาศีล รักษาศีลเพื่อไม่ให้จิตใจว้าวุ่นขุ่นมัว อย่ารักษาจนทำอะไรไม่ได้ หายใจไม่ได้ กลัวหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป แล้วจะฆ่าเชื้อโรค ขับรถไม่ได้ เดี๋ยวแมลงวิ่งชนรถตาย สุนัขวิ่งชนรถตาย อย่างนี้มันเกินไป รักษาศีลเพื่อรักษาใจไม่ให้วุ่นวาย เพราะถ้าไปเบียดเบียน ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จะวุ่นวายใจไม่สงบ เช่นเดียวกับการให้ทาน ให้แล้วอย่าไปหวังว่าต้องได้นั่นได้นี่ จากท่านนั้นท่านนี้ ให้ทานเพื่อละความตระหนี่ ละอุปาทาน ไม่ให้ยึดติดกับสมบัติข้าวของเงินทอง จะได้ไม่วิตกกังวล จะได้สงบ เวลาไปภาวนาที่วัดจะได้ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล ว่าข้าวของที่บ้านจะถูกขโมยหรือไม่ ถ้าขโมยขึ้นบ้านก็ถือว่าเป็นการทำทานไป จะได้ไม่ต้องขนของมาที่วัด มีคนมาขนไปให้ ไม่ต้องเหนื่อย จะได้ซื้อของใหม่มาใช้ ถ้านั่งสมาธิได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีข้าวของต่างๆ ถ้าจิตสงบจะไม่อยากดูโทรทัศน์ฟังวิทยุ ไม่ต้องการเครื่องบันเทิงต่างๆ เครื่องอำนวยความสุขต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย อยากจะนั่งสมาธิอย่างเดียว เพราะเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย

 

อยู่ที่การปฏิบัติธรรม เจริญสติสมาธิปัญญา อยู่ที่การทำบุญให้ทาน อยู่ที่การรักษาศีล ทำให้เหมาะกับประเภท ทานก็ทำไปตามกำลัง อย่าไปดูคนอื่น เขาทำมากแต่เราไม่มีกำลังที่จะทำมากเหมือนเขา ก็อย่าไปรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ อย่าไปหาเงินมาทำบุญให้ทาน ทำในส่วนที่เรามี ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องทำ อย่างพระบวชแล้วก็ไม่ต้องทำทาน พระพุทธเจ้าจึงไม่สอน ทานศีลภาวนาแก่พระ ทรงสอนศีลสมาธิปัญญาแทน เวลาสอนพระทรงสอนไตรสิกขา คือศีลสมาธิปัญญา เวลาสอนฆราวาสญาติโยม ทรงสอนทานศีลภาวนา เพราะญาติโยมยังมีทรัพย์สมบัติ ต้องสละทรัพย์สมบัติ เพราะจะถ่วงความเจริญของจิตใจ เหมือนเรือ ถ้าบรรทุกของมากๆก็จะเพียบ จะวิ่งช้า อาจจะล่มได้ถ้าเจอคลื่นใหญ่ ต้องเจริญมรรคให้มาก แล้วมรรคผลนิพพานจะปรากฏขึ้นมาภายใน ๗ ปีอย่างแน่นอน

 

ถาม  วันหนึ่งลูกนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ได้ข่าวว่าคนที่รู้จักเสียชีวิต ก็เลยคิดไปว่า ถ้าเราโกรธเขาอยู่ พอเขาตายไป เรายังโกรธเขาอยู่หรือไม่ ถ้าไม่โกรธ แสดงว่าเราโกรธกายเขาใช่หรือไม่ กายเขาตายไป เราถึงได้หยุดโกรธ แต่ถ้าเราโกรธใจเขา เราน่าจะโกรธข้ามชาติไป ชาติหน้าโกรธอีก โกรธไปเรื่อยๆ ถ้าเราหยุดโกรธก็ไม่น่าจะโกรธใจ ก็เลยวนมาคิดว่า หรือว่าเราโกรธการกระทำ ถ้าเราโกรธการกระทำนั้นแปลว่าอะไร แปลว่าการกระทำนั้นมันน่าโกรธ ถ้าใจเราเป็นตัวโกรธ มันก็ไม่ใช่การกระทำ มันเป็นที่ใจ ก็หยุดคิดไปดื้อๆ ทั้งๆที่กำลังคิดเพลินดี ยังอยากคิดต่อ แต่ก็ไม่คิดต่อ หยุดไปเฉยๆ

 

ตอบ  เกือบจะได้คำตอบแล้ว เข้าไปถึงจุดแล้ว คือใจที่ไม่ชอบการกระทำของเขา พอเขาทำเราก็โกรธ ถ้าเราไม่มีความไม่ชอบ เขาจะทำอะไรเราก็จะไม่โกรธ ตรงประเด็นกับวันนี้ที่เทศน์ว่า อย่าไปแก้ที่เขา ต้องแก้ที่ใจเรา แก้ความโกรธที่เกิดจากความอยาก พอไม่ได้ดังใจก็โกรธ อยากให้เขาดี พอเขาไม่ดีก็โกรธ เกือบจะได้คำตอบแล้ว แต่หยุดเสียก่อน

 

ถาม   ท่านอาจารย์สอนให้เจริญปัญญาสลับกับสมาธิ จะนำไปปฏิบัติค่ะ

 

ตอบ  เวลาทำสมาธิก็อย่าพิจารณาปัญญา ต้องการให้จิตสงบนิ่งให้นานที่สุด ไม่คิดปรุงแต่ง ให้พิจารณาตอนที่จิตถอนออกมา มารับรู้รูปเสียงกลิ่นรส มาคิดปรุงแต่ง ให้เอาความคิดปรุงแต่งนี้มาคิดทางปัญญา อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ไม่มีเป้าหมาย ให้คิดพิจารณาเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา เพราะเป็นเวลาที่จิตยังเป็นอุเบกขาอยู่ กิเลสไม่มีกำลังมารบกวน เวลาจิตไม่สงบจะพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาไม่ได้ เพราะจะเกิดความหดหู่ ไม่อยากจะพิจารณาความเสื่อม ความตาย ความพลัดพรากจากกัน เวลาออกจากสมาธิใหม่ๆ กิเลสจะถูกตัดกำลัง ไม่มีกำลังสร้างอารมณ์หดหู่ ก็จะสามารถพิจารณาความไม่เที่ยงความเสื่อม ได้อย่างสบายไประยะหนึ่ง จนกว่ากิเลสจะมีกำลังมากขึ้น ก็จะสร้างอารมณ์ขัดขวาง หรือดึงให้ไปคิดเรื่องอื่นแทน ก็ต้องหยุดพิจารณา แล้วย้อนกลับมาทำสมาธิใหม่ ทำอย่างนี้สลับกันไป ถึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

 

ไม่ใช่พอจิตสงบปั๊บก็เริ่มพิจารณาเลย อย่างนี้ไม่ถูก สมาธิก็ต้องเป็นสมาธิที่สงบว่าง ไม่มีอะไรให้รับรู้ ไม่มีนิมิตต่างๆ เพราะถ้ามีนิมิตก็แสดงว่าใจยังไม่สงบเต็มที่ ใจยังทำงาน กิเลสยังทำงาน จะเกิดความยินดียินร้ายกับนิมิต ถ้าเป็นนิมิตที่ไม่สวยไม่งาม ก็จะไม่ชอบ กิเลสยังทำงานอยู่ จะไม่ได้ตัดกำลังของกิเลส พอออกจากสมาธิแบบนี้ ก็จะไม่อยากพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา จึงต้องระวัง ถ้ามีนิมิตต่างๆ อย่าไปตามนิมิต ให้ดึงกลับมาหาตัวรู้ ให้สักแต่ว่ารู้ หรือให้กลับมาที่อารมณ์กรรมฐานที่เราใช้ผูกใจไว้ จะเป็นลมหายใจ หรือการบริกรรมพุทโธก็ได้ อย่าไปตามรู้เรื่องราวต่างๆ กลับมาภาวนาต่อ บริกรรมต่อ ดูลมต่อ จนกว่าจะรวมเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ หยุดคิดปรุงแต่ง เหลือแต่ความว่าง แล้วก็ปล่อยให้อยู่อย่างนั้น จนกว่าจะถอนออกมาเอง

 

สมาธิมี ๒ แบบ สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิใจต้องสงบว่างเป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ไม่ไปรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ พอออกมาก็ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา กับเรื่องที่ยังเป็นปัญหากับเรา ที่สร้างความทุกข์ความวิตกกังวลให้กับเรา พิจารณาให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เพื่อจะได้ปล่อยวาง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือข้าวของต่างๆ ลาภยศสรรเสริญ สุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ต้องพิจารณาถ้ายังมีความผูกพัน มีความกังวลวิตก ถ้าไม่มีก็พิจารณาเรื่องที่ยังเป็นปัญหา เช่นร่างกายของเรา ยังกลัวความตายอยู่หรือไม่ ยังกลัวความเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่หรือไม่ ยังมีกามารมณ์อยู่หรือไม่ เห็นคนนั้นคนนี้แล้วยังเกิดกามารมณ์ขึ้นมาหรือไม่ เพราะเวลาเกิดกามารมณ์ ก็จะเกิดความทุกข์ใจ เกิดความหงุดหงิดใจขึ้นมา เกิดความอยากจะเสพกาม ก็ต้องพิจารณาอสุภะ พิจารณาความไม่สวยไม่งาม พิจารณาปฏิกูลความสกปรกของร่างกาย ที่ไปหลงใหลคลั่งไคล้ อยากจะเสพกามด้วย ให้มองให้เห็นส่วนที่ถูกปกปิดด้วยหนัง เช่นเห็นโครงกระดูก เห็นตับไตไส้พุง เห็นหัวใจเห็นปอดเห็นม้าม ควรพิจารณาอยู่เนืองๆ พอเวลาเห็นคนที่สวยงาม แล้วเกิดอารมณ์ จะได้มียามาดับความรู้สึกนี้

 

ถ้าไม่พิจารณาไว้ล่วงหน้าก่อน พอเห็นแล้วจะนึกแต่ภาพสวยๆอยู่ตลอดเวลา เห็นเพียงแวบเดียวแต่ใจจำได้ เอามาคิดติดตาติดใจตลอดเวลา ทำให้อยากจะอยู่ใกล้ชิดกับเขา แต่ถ้าเอาอสุภะมาแก้แป๊บเดียวก็จะหายไป ต้องทำไปจนไม่มีกามารมณ์เกิดขึ้น ทีนี้ก็จะมองแบบเฉยๆ เมื่อหายจากโรคแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยา เมื่อไม่มีกามารมณ์แล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอสุภะอีกต่อไป อสุภะกรรมฐานเป็นยาแก้ตัณหา แก้ความหลง พอแก้ได้หมดแล้ว ก็หมดปัญหา ไม่ต้องพิจารณา พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก ไม่ต้องพิจารณาไตรลักษณ์แล้ว ไม่ต้องพิจารณาอสุภะ เพราะไม่มีอารมณ์ มองอะไรก็สักแต่ว่ามอง สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่กลัวตาย ไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นร่างกายที่สวยงามก็เฉยๆ สวยเพียงภายนอก รู้อยู่ว่าข้างในเป็นอย่างไร

 

พอหมดปัญหาแล้ว เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาก็ไม่ต้องใช้อีกต่อไป การเดินจงกรมนั่งสมาธิของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ไม่ได้เดินหรือนั่งเพื่อดับฆ่ากิเลส เป็นวิหารธรรม เป็นการอยู่อย่างสุขสบายระหว่างขันธ์กับจิต ขันธ์กับจิตก็ต้องมีเวลาพักบ้าง จิตพักในสมาธิ ร่างกายก็ต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรม ออกกำลังกาย ร่างกายจะได้แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีชีวิตยืนยาวไปตามอายุขัย ไม่ตายก่อนวัย ไม่ได้เดินจงกรมนั่งสมาธิเพื่อดับกิเลส เพื่อมรรคผลนิพพาน เพราะได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว กิเลสได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์ได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป นอกจากกิจสงเคราะห์โลกเท่านั้น ไม่ว่าจะด้วยทางธรรมหรือทางวัตถุ ก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ถ้ามีวัตถุมาก มีศรัทธาญาติโยมนำมาถวายมาก ก็เอาไปสงเคราะห์โลกต่อไป ตามสมควรต่อกรณี ตามความเหมาะสม ถ้าไม่มีวัตถุ มีธรรมะก็อบรมสั่งสอนไป ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินตลอด ๔๕ พระพรรษา

 

หลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพุทธกิจอยู่ ๕ ประการด้วยกันคือ ๑. ในตอนบ่ายอบรมสั่งสอนญาติโยม ๒. ในตอนค่ำอบรมสั่งสอนพระเณร ๓. ในตอนดึกอบรมสั่งสอนเทวดา ๔. ในตอนเช้าก่อนที่จะเสด็จออกบิณฑบาตก็ทรงเล็งญาณ ว่าควรไปโปรดผู้ใดก่อนในวันนั้น ๕. เสร็จแล้วก็ทรงออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ นี่คือกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกวัน จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ยกเว้นในวันที่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สามารถทรงออกบิณฑบาตได้ ไม่สามารถอบรมสั่งสอนได้ ก็ต้องระงับไป นี้คืองานของผู้ที่เสร็จกิจของตนแล้ว วุสิตัง พรหมจริยังแล้ว  ไม่ได้ทำเพื่อตน ทำเพื่อผู้อื่น ไม่ต้องการผลตอบแทนจากการกระทำนี้ เพราะใจเต็มแล้ว ด้วยบุญกุศล ด้วยบรมสุข ปรมังสุขัง ไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่เลย ทำไปโดยไม่ได้หวังอะไรเลย

 

ในสายตาของคนมีกิเลสก็คิดว่า ทำเพื่อลาภสักการะ ทำเพื่อข้าวของเงินทอง บางคนก็ตำหนิครูบาอาจารย์ว่า อยากเป็นสังฆราช เขาคิดเขาพูดจากใจที่สกปรกของเขา พอเห็นคนอื่นทำอย่างนั้น ก็คิดว่าจะต้องเป็นอย่างที่เขาคิด เพราะไม่รู้จักความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นอย่างไร การกระทำโดยไม่มีความโลภ ความอยาก ความต้องการเป็นอย่างไร เขาไม่เคยมี มีแต่ทำทุกอย่างเพื่อความอยาก นี่คือความแตกต่างระหว่างใจของผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ กับใจของผู้ที่ยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ เวลาแสดงออกมาจะรู้ทันที

 

ถาม สถานที่ปฏิบัติมีความแตกต่างกันหรือไม่คะ เช่นที่เมรุกับระเบียงโบสถ์

 

ตอบ  มี ท่านเรียกว่าสัปปายะ คือเอื้อต่อการบำเพ็ญ เช่นนั่งสมาธิที่สี่แยกไฟแดงกับนั่งในป่า ถ้าต้องการปราบความกลัว ก็ต้องไปสถานที่ที่ทำให้เกิดความกลัว เพื่อจะได้เอาธรรมะออกมาปราบความกลัว ถ้าอยู่ในที่ปลอดภัย ความกลัวก็จะไม่ออกมา

 

ถาม  วันแรกที่ไปอยู่ที่เมรุ จะปวดศีรษะ พอแผ่เมตตา อาการปวดศีรษะก็หายไป มีส่วนหรือไม่คะ

 

ตอบ  มีส่วน เพราะจิตมีอุปาทาน ปรุงแต่ง เกิดความกลัว ทำให้ปวดศีรษะปวดท้อง  พอแผ่เมตตา ความกลัวก็หายไป

 

ถาม  ไม่ได้เกี่ยวกับวิญญาณที่อยู่บริเวณนั้นใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่เกี่ยว เป็นอุปาทาน

 

ถาม  เป็นไปได้หรือไม่คะ มีสัมภเวสีอยู่ตามบริเวณเมรุ

 

ตอบ  ไม่มีหรอก

 

ถาม  การภาวนาที่เมรุถือว่าเป็นที่สัปปายะหรือไม่คะ

 

ตอบ  ถ้าต้องการปราบความกลัวผี กลัวตาย ก็ต้องไปหาสถานที่ที่ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ถ้าต้องการแก้ความง่วงนอน ก็ต้องไปอยู่ที่น่ากลัว จะได้ไม่ง่วง ถ้าอยู่ไปสักระยะหนึ่งแล้ว ความกลัวหายไป ความง่วงกลับมา ก็ต้องเปลี่ยนที่ใหม่ ต้องหาสถานที่ที่ทำให้ไม่ง่วง เพื่อจะได้นั่งสมาธิแล้วไม่หลับ