กัณฑ์ที่ ๔๒๙       ๒๖ กันยายน ๒๕๕๔

 

รักษาร่างกายและใจ

 

 

 

เวลามีคนป่วยมาฟังธรรม ก็จะสอนให้เขาดูแลรักษาร่างกาย และดูแลรักษาใจของเขาไปด้วย ดูแลตามความจำเป็นของร่างกาย และตามความจำเป็นของใจ จะได้ไม่ท้อแท้ เพราะเวลาดูแลรักษาร่างกาย ก็อาจจะเกิดความเบื่อหน่ายท้อแท้ทางจิตใจได้ เพราะอยากจะให้อาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้ ก็เลยต้องสอนให้เขายอมรับความจริงว่า ร่างกายต้องเป็นไปตามวาระของเขา ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปเป็นธรรมดา ใจก็ต้องไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น ต้องยอมรับความจริงที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ยอมรับความจริงของร่างกาย เขาเป็นอย่างนี้ อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ให้เขาไป เขาไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงตุ๊กตา เป็นเครื่องมือที่เราใช้ติดต่อกับตุ๊กตาตัวอื่น ร่างกายของพวกเรานี่เป็นตุ๊กตาทั้งนั้น ใจใช้ร่างกายนี้ติดต่อกัน เหมือนกับที่พวกเราใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกัน ถ้าไม่มีโทรศัพท์มือถือก็จะติดต่อกันไม่ได้ ถ้าไม่มีร่างกายก็จะติดต่อกับร่างกายอื่นไม่ได้ ร่างกายนี้เป็นเหมือนโทรศัพท์มือถือ เป็นเหมือนตุ๊กตา ที่ใจใช้เป็นตัวรับส่งข้อมูลต่างๆ เช่นรูปเสียงกลิ่นรส

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้นพวกที่ไม่มีร่างกายล่ะคะ

 

ตอบ  ติดต่อด้วยกระแสจิต อย่างพวกเทพทั้งหลาย

 

ถาม  สัมภเวสีล่ะคะ

 

ตอบ  เหมือนกัน พวกกายทิพย์ก็ติดต่อกันด้วยกายทิพย์ คนที่มีร่างกายและมีพลังจิต ก็จะติดต่อกับพวกกายทิพย์ด้วยพลังจิต ไม่ได้ใช้ร่างกายติดต่อ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเทวดาทุกคืน ทรงใช้พลังจิตสอน ไม่ได้ใช้ร่างกายสอน เพราะร่างกายติดต่อกับพวกกายทิพย์ไม่ได้ ต้องใช้กายทิพย์คือพลังจิตติดต่อกับกายทิพย์ ใจนี่แหละคือกายทิพย์ พวกเรามนุษย์มี ๒ กาย กายหยาบก็คือร่างกาย และใจก็คือกายทิพย์ เวลาติดต่อกับพวกกายหยาบ ก็ต้องใช้กายหยาบติดต่อกัน พวกกายทิพย์ก็ใช้กายทิพย์ติดต่อกัน เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงติดต่อกับพระพุทธมารดา ก็ทรงใช้กายทิพย์ติดต่อ เวลาติดต่อกับพระราชบิดา ก็ทรงใช้กายหยาบติดต่อ กายหยาบนี่มันไม่เที่ยง มีขอบเขต มีอายุขัย พอหมดสภาพก็ใช้งานไม่ได้ แต่กายทิพย์ไม่มีวันหมดสภาพ ถ้ากายทิพย์ยังอยากจะติดต่อกับพวกกายหยาบ ก็ต้องไปเกิดใหม่ ไปหากายหยาบอันใหม่ ถ้ายังมีกามตัณหาก็จะไปเกิดใหม่ ไปหาร่างกายอันใหม่ เพราะยังอยากจะเสพสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรส ก็ต้องใช้กายหยาบเป็นเครื่องมือ ถ้าไม่มีความอยากแล้ว ก็จะไม่ไปหาร่างกายอันใหม่

 

กายทิพย์นี้ไม่ตายไปกับร่างกาย กายทิพย์เป็นผู้ไปรับผลบุญผลบาป เวลาทำบุญใจทิพย์ก็เป็นสวรรค์ขึ้นมา เป็นเทพขึ้นมา เวลานั่งสมาธิจิตสงบรวมลงเป็นสมาธิ ใจทิพย์ก็จะเป็นพรหมขึ้นมา พรหมที่เกิดจากการนั่งสมาธินี้ ต่างกับพรหมที่เกิดจากการบรรลุเป็นพระอนาคามี พรหมที่เกิดจากการนั่งสมาธินี้เสื่อมได้ พอสมาธิอ่อนกำลังลง กิเลสก็จะออกมาทำให้กายทิพย์หยาบลงไป จากพรหมก็ลงมาเป็นเทพ จากเทพก็จะมาเป็นมนุษย์ ได้กายหยาบ ได้เสพรูปเสียงกลิ่นรส ที่หยาบกว่ารูปเสียงกลิ่นรสทิพย์ ถ้าเป็นพระอนาคามีจะไม่เสื่อมลงมา เพราะเกิดจากการชำระกิเลส ที่ทำให้กายทิพย์หยาบ พอไม่มีกิเลสทำให้กายทิพย์หยาบ กายทิพย์ก็จะไม่หยาบขึ้น แต่จะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าปฏิบัติต่อไป จากพระอนาคามีก็จะเป็นพระอรหันต์ จะละเอียดที่สุด คือบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสที่จะมาทำให้กายทิพย์นี้หยาบอีกต่อไป จะเป็นกายทิพย์ที่บริสุทธิ์ไปตลอดอนันตกาล เป็นปรมังสุญญัง บรมสูญ ปรมังสุขัง บรมสุข

 

การกระทำของพวกเราที่ทำกันทุกวันนี้ เป็นการกระทำของกายทิพย์ มีร่างกายเป็นเครื่องมือ ถ้าทำบาปกายทิพย์ก็จะหยาบจะร้อนมากขึ้น เป็นเหมือนห้องที่มีเครื่องทำความร้อน ถ้าทำบุญกายทิพย์ก็จะละเอียดจะเย็นมากขึ้น เป็นเหมือนห้องที่มีเครื่องทำความเย็น เวลาทำบุญใจจะเย็นจะสงบ เวลาทำบาปใจจะร้อนจะทุกข์ สวรรค์นรกจึงอยู่ในใจเรานี้เอง อยู่ที่กายทิพย์นี้เอง กายทิพย์เป็นเทพเป็นสวรรค์ เป็นนรกเป็นเปรต อยู่ที่การกระทำที่เรียกว่ากรรม กรรมแปลว่าการกระทำ ดังสุภาษิตที่ว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกแยกสัตว์ให้เป็นสัตว์ประเภทต่างๆ กรรมก็มี ๒ ส่วน คือกรรมดีกับกรรมไม่ดี หรือบุญกับบาป ถ้าทำกรรมไม่ดีทำบาป ก็จะเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นนรก ถ้าทำบุญก็จะเป็นเทพเป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล ส่วนมนุษย์นี้เป็นที่กลับมา หลังจากไปรับผลบุญหรือไปรับผลบาปมา เหมือนคนที่ติดคุก พอหมดโทษแล้ว ก็ถูกปล่อยให้กลับบ้าน คือภพของมนุษย์ กลับมาทำบุญทำบาปใหม่จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

 

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ ไม่ให้ทำบาป ให้ทำบุญ เพื่อเวลาเราตายไปจะได้ไปรับรางวัล ไม่ต้องไปใช้โทษ พอรับรางวัลแล้วก็กลับมาทำบุญกันต่อ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำบุญไม่ทำบาปมาอย่างต่อเนื่อง จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นก็ไม่ต้องทำอีกต่อไป เพราะได้ชำระกิเลสที่ทำให้ใจหยาบ ให้ไปเกิดในภพต่างๆ จนหมดสิ้นไปแล้ว เหลือแต่ความสุขอย่างเดียว มีความพออยู่ตลอดเวลา นี่ก็คือเรื่องของใจของพวกเราทุกๆคน เป็นเหมือนกันหมด ต่างกันตรงที่ว่าบรรจุอะไรไว้ บรรจุบาปหรือบรรจุบุญ คนเราจึงมีบุญมีบาปไม่เท่ากัน

 

ถาม  ให้เงินเพื่อนยืมไป ทั้งๆที่รู้ว่าจะเอาไปเล่นการพนัน บาปไหมคะ

 

ตอบ  ไม่บาป เพราะเราไม่ได้บอกให้เขาไปเล่นการพนัน

 

ถาม  แต่รู้ว่าเอาไปเล่นการพนัน

 

ตอบ  เขาบอกหรือเปล่า

 

ถาม  บอกค่ะ

 

ตอบ  เราเพียงสนับสนุนให้เขาไปทำกิจที่เป็นโทษกับเขา แต่การเล่นการพนันนี้ไม่เป็นบาป เป็นเหตุที่จะพาให้ไปทำบาป

 

ถาม  ไม่ได้อยู่ในศีล ๕

 

ตอบ  เป็นอบายมุข คืออยู่ที่ปากประตูของอบาย กำลังจะเข้าไปแต่ยังไม่ได้เข้าไป ที่ว่าจะเป็นบาปต่อไป ก็เพราะว่าเมื่อเล่นการพนันแล้วเงินหมด ก็จะไปขโมยเงินคนอื่นมาเล่นต่อ

 

ถาม  โดยสรุปคนที่ให้ยืมเงินนี้ไม่บาป

 

ตอบ  ไม่บาป

 

เมื่อเช้านี้มีญาติโยมคนหนึ่ง สามีป่วยนอนโคม่าอยู่ในโรงพยาบาลอยากจะให้อาตมาไปรับสังฆทานที่โรงพยาบาล อาตมาบอกว่ามันสายเสียแล้ว ไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเขา เพราะถ้าอยู่ในโคม่าเขาก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าไม่อยู่ในโคม่า แล้วอยากจะถวายสังฆทาน ถวายรูปไหนก็ได้ ถ้าไม่ต้องการจะฟังธรรมะ เราก็แนะนำว่า ควรจะปล่อยให้เขาอยู่อย่างสงบจะดีกว่า อย่าไปรบกวนเขา อย่าไปทำให้เขาต้องมายุ่งยากกับเรื่องการทำบุญให้ทาน เพราะการให้ทานนี้เป็นบุญส่วนย่อย ไม่พอกับความต้องการของเขาในขณะนั้น สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดก็คือความสงบ ถ้าได้ธรรมะสอนใจให้ปล่อยวางได้ จะเป็นประโยชน์มากกว่า แต่ถ้าไม่อยู่ในสภาพจะรับรู้และเข้าใจธรรมะได้ แสดงธรรมให้เขาฟังก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 

เขาก็ถามอีกว่า หมอบอกว่ารักษาไม่หายแล้ว แต่ตอนนี้ใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ ถ้าเอาออกจะบาปหรือเปล่า เราบอกไม่บาปหรอก เราเพียงปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติ ดีกว่าให้เขาอยู่อย่างทรมาน การใช้เครื่องช่วยหายใจนี่ เท่ากับไปยืดความทุกข์ทรมานของร่างกายของเขา หมอก็บอกว่าไม่มีทางที่จะรักษาให้หายได้ ที่ใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆนี่ ก็เพื่อที่จะรักษาให้หาย ถ้ารักษาไม่หาย มีแต่ที่จะยืดความทุกข์ทรมานของร่างกายออกไป ใช้ไปทำไม การถอดเครื่องออกก็ไม่ได้ไปฆ่าเขา เพียงแต่ปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติ เหมือนกับพวกเราอยู่กันตอนนี้ เราก็ไม่ได้ใช้เครื่องอะไร

 

แล้วก็ถามอีกว่า สามีสั่งไว้ก่อนตายว่า เวลาตายไปแล้วอย่าเผา เพราะว่าเขาไม่ชอบ มันร้อน ก็รับปากไว้ แต่มาคิดว่าถ้าฝังแล้วจะเป็นภาระ ที่จะต้องไปหลุมฝังศพทุกปี อาจจะติดธุระไม่ว่างไปไม่ได้ เราก็บอกไปว่า ถ้ารับปากแล้วก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะเสียสัจจะ ส่วนเรื่องที่จะไปคารวะหรือไม่นั้น ไม่สำคัญ ไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ถ้าคิดถึงเขา ทำบุญกรวดน้ำไปให้เขาจะดีกว่า จะได้ประโยชน์มากกว่า มากกว่าเอาอาหารไปเซ่น แล้วก็เอามารับประทานกัน คนตายไม่ได้รับประโยชน์อะไร

 

ถาม  พอดีมีแม่ของเพื่อนคนหนึ่งเป็นอัมพาต ไม่รู้สึกตัวเลย คิดว่าคนที่เป็นทุกข์คือลูก ที่พยายามต่อสู้เอาแม่กลับมาให้ได้ เกิดความเครียดมาก จะนำเอาธรรมะที่ท่านอาจารย์สอนนี้ไปบอกเขา

 

ตอบ ความจริงตอนที่สอนเขานั้น ต้องการสอนคนถามปัญหามากกว่า เพราะคนที่จะตายนั้น ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว

 

ถาม  แต่คนที่จะตายนั้น ถึงแม้ร่างกายจะขยับไม่ได้ แต่จิตยังทราบอยู่ใช่ไหมคะ

 

ตอบ ถ้าหูไม่ได้ยินเสียง จะทราบได้อย่างไร

 

ถาม  แต่ถ้าหูได้ยิน

 

ตอบ อยู่ที่ว่ามีสติปัญญาพอจะเข้าใจเสียงที่พูดได้หรือเปล่า เพราะเวลาเจ็บปวดมากๆ จะไม่มีสติรับรู้ อยู่ในสภาพที่เรียกว่าหลง เหมือนกับหลับๆตื่นๆ ท่านถึงสอนให้กุสลาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่าไปกุสลาตอนที่ตายหรือใกล้ตาย เพราะไม่ทันการณ์แล้ว กุสลาคือสร้างธรรมะสร้างกุศลให้เกิดภายในใจ ให้มีปัญญา ให้รู้จักปล่อยวางร่างกาย ถึงเวลาจะต้องปล่อย เราปล่อยได้หรือเปล่า ถ้าปล่อยได้แล้ว ใจจะสงบเย็นสบาย เหมือนกับเวลาที่เขามาทวงหนี้ ถ้าพร้อมที่จะจ่าย เราก็จะสบายใจ เอาไปเลย ร่างกายก็เป็นเหมือนหนี้ ที่เราต้องคืนเจ้าของไป ร่างกายไม่ใช่ของเรา เป็นของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เรายืมมาใช้ชั่วคราว พอถึงเวลาเขาก็จะมาขอคืน กายทิพย์ที่เป็นผู้ดูแลร่างกายนี้ พร้อมที่จะคืนเขาไปหรือเปล่า ถ้ามีธรรมะก็จะพร้อม เพราะถ้าไม่ปล่อย จะทุกข์ทรมานใจ ถ้าปล่อยจะเย็นสบาย จิตจะดิ่งเข้าสู่อุเบกขา ไม่แบก ไม่หนักอกหนักใจ แต่ถ้าอยากจะอยู่ต่อไป จะทุกข์ทรมานใจมาก เหมือนเวลามีใครมาพรากของที่รักไป จะรู้สึกอย่างไร ถ้ายอมให้เขาไป ก็จะโล่งอกเลย ถ้าไม่ยอม ก็จะว้าวุ่นขุ่นมัว ทุกข์ทรมานใจ การทำบุญให้ทานนี่ ก็เป็นการฝึกคืนของต่างๆ ที่ไม่ใช่ของเราไป ข้าวของเงินทองต่างๆนี้ ไม่ใช่ของเรานะ ตอนนี้เรามาฝึกปล่อยวางกัน ถ้าทำได้แล้วเวลาพลัดพรากจากกันจะไม่เสียดาย ถ้าทำไม่ได้ ยังหวงอยู่ เวลาพลัดพรากจากกัน จะทุกข์ทรมานใจมาก จะไม่สงบ

 

ถาม  เอาเทปธรรมะหรือบทสวดมนต์ไปเปิดให้คนป่วยฟัง จะได้ประโยชน์ไหม

 

ตอบ  ตอนที่ไม่ป่วยเขาฟังหรือเปล่า ถ้าไม่ฟังตอนที่ป่วยจะฟังหรือ อยู่ที่ตัวเขา ถ้าฟังก็จะได้ประโยชน์ คนเราถ้าไม่จนตรอกก็จะไม่สู้ จะไม่หาที่พึ่ง พอใกล้จะตาย รู้ว่าไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งได้นอกจากธรรมะ ก็อาจจะตั้งใจฟังก็ได้ อาจจะบรรลุได้ด้วย เช่นพระราชบิดาของพระพุทธเจ้า ก็บรรลุ ๗ วันก่อนจะเสด็จสวรรคต ตอนนั้นทรงประชวรหนัก พระพุทธเจ้าก็เลยไปโปรด ไปแสดงธรรม ทรงสอนว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา เป็นของดินน้ำลมไฟ ต้องคืนเขาไป พอฟังแล้วเข้าใจ ทำใจได้ ก็จะบรรลุธรรมได้

 

ถาม  ทำให้ปล่อยวางได้

 

ตอบ  เพราะไม่รู้มาก่อนว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา พอมีคนมาบอกว่าไม่ใช่ของเรา ก็เหมือนเวลาไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล แล้วเขาสลับเอาลูกคนอื่นมาให้เรา อีก ๑๐ ปีต่อมาเขามาบอกว่า เด็กคนนี้ไม่ใช่ลูกของคุณนะ คุณพร้อมจะคืนให้พ่อแม่ของเด็กหรือเปล่า ถ้ายอมรับความจริง ว่าเด็กไม่ใช่ลูกของเรา จะเก็บไว้ทำไม คืนให้พ่อแม่ของเด็กไปไม่ดีกว่าหรือ พระพุทธเจ้าทรงเอาความจริงมาบอกพวกเราว่า ร่างกายไม่ใช่ของเรา เป็นของยืมมาจากดินน้ำลมไฟ เวลาจะตายก็เป็นเวลาที่เขาจะมาเอาคืนไป เราพร้อมที่จะคืนให้เขาไปหรือเปล่า ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ของเรา ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ เหมือนไปยืมรถของเพื่อนมาขับ พอถึงเวลาก็ต้องเอาไปคืน ถ้าไม่อยากคืนก็จะต้องเสียใจ

 

ถาม  สามีเพื่อนตอนใกล้จะเสียชีวิต เขาขอฟังเพลงคลาสิก เขาบอกว่าจะทำให้จิตนิ่งสงบ

 

ตอบ เวลาฟังเพลงจะมีอารมณ์

 

ถาม  ตอนนั้นเขาโคม่า

 

ตอบ ถ้าไม่รู้สึกตัว ฟังไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ฟังไม่รู้เรื่อง

 

ถาม  ถ้าเขายังพอรับรู้ได้

 

ตอบ  ฟังแล้วไม่แน่ว่าจะสงบหรือไม่ เพราะเสียงเพลงจะปลุกอารมณ์ขึ้นมา

 

ถาม  ตอนนั้นทุกขเวทนาน่าจะทำให้ฟังไม่ได้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ทุกขเวทนาไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่อยู่ในจิตในใจ ที่เกิดจากความไม่อยากตาย จะรุนแรงกว่าความทุกข์ของร่างกาย ที่ปฏิบัติธรรมกันนี้ก็เพื่อดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ในจิต ไม่ใช่ทุกข์ในขันธ์ ในร่างกาย ทุกข์ในขันธ์ไม่เป็นปัญหา อย่างพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกนี้ ท่านนิพพานคือตายได้อย่างสบาย เพราะท่านไม่มีทุกข์ในอริยสัจ ๔ ไม่มีทุกข์ในจิต ทุกข์ในกายกับทุกข์ในจิตนี้ เป็นเหมือนน้ำในตุ่มกับน้ำในมหาสมุทร ถ้าจิตมีความสุข ความทุกข์ของร่างกาย ซึ่งเป็นเหมือนน้ำในตุ่ม จะไม่มีกำลังสู้กับความสุข ที่เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทรได้ จิตของผู้ที่บริสุทธิ์หรือจิตที่เข้าฌานสมาบัติได้ จะไม่เดือดร้อนกับความเจ็บปวดของร่างกาย พวกที่เข้าฌานสมาบัติได้ เวลาจะตายก็เข้าฌานกัน พวกที่จิตบริสุทธิ์ก็ไม่ต้องเข้าฌานก็ได้ เพราะจิตไม่มีทุกข์ในอริยสัจ ๔   จิตรับรู้ความเจ็บปวดของร่างกายได้  อย่างไม่สะทกสะท้าน ต่างฝ่ายต่างอยู่

 

        สิ่งที่เราต้องทำก็คือทำให้ใจนิ่งสงบ ไม่ผลิตทุกข์ในอริยสัจ ๔ ขึ้นมา ต้องละต้นเหตุของทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ในขณะที่ตายก็คือความไม่อยากตายนี่แหละ ถ้าไม่อยากตายก็จะทุกข์ทรมานใจ ถ้ายอมรับความตาย ก็จะไม่ทุกข์ ความเจ็บปวดของร่างกายจะไม่เป็นปัญหา ความทุกข์ใจที่เกี่ยวกับร่างกายมีอยู่ ๒ ประการคือ ความไม่อยากตายและความไม่อยากเจ็บ ถ้าไม่อยากทุกข์ เวลาเจ็บก็ต้องอย่าไม่อยากเจ็บ เวลาจะตายก็อย่าไม่อยากตาย เวลานั่งแล้วเจ็บก็อย่าเพิ่งลุก พยายามทำใจให้นิ่ง อย่าไปอยากให้ความเจ็บหายไป อย่าอยากจะหนีจากความเจ็บไป ถ้าละความอยากนี้ได้แล้ว จิตจะสงบเป็นอุเบกขา ความทุกข์ใจก็จะหายไป ความทุกข์กายก็จะเจ็บเพียงนิดเดียว

 

        ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความเจ็บปวดของร่างกาย เพราะเป็นธรรมดาของร่างกาย ที่เกิดมาแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายไปเป็นธรรมดา เวทนา ก็มีสุขเวทนา มีทุกขเวทนา มีไม่สุขไม่ทุกขเวทนา สลับกันไป เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ความจริงใจรับได้ทั้ง ๓ เวทนา แต่ใจมีกิเลสก็เลยไปรักสุขเวทนา ชังทุกขเวทนา ก็เลยทำให้เกิดตัณหาขึ้นมา เกิดความอยาก อยากมีสุขอย่างเดียว ไม่อยากมีทุกข์ ก็เลยไปสร้างทุกข์ในอริยสัจ ๔ ขึ้นมา ซึ่งเป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทร ส่วนทุกข์ในขันธ์เป็นเหมือนน้ำในตุ่มน้ำ น้ำหนักต่างกันมาก ถ้าสามารถดับทุกข์ ในขนาดน้ำในมหาสมุทรได้ ทุกข์ในตุ่มน้ำจะไม่เป็นปัญหาเลย เหมือนไม้จิ้มฟันกับตะบอง เอาไม้จิ้มฟันเคาะหัวกับเอาไม้ตะบองเคาะหัว อย่างไหนจะเจ็บกว่ากัน ทุกข์ขนาดไม้จิ้มฟันนี้เราบังคับไม่ได้ แต่ทุกข์ขนาดไม้ตะบองนี่เราหยุดมันได้ แต่เราไม่หยุดกัน เพราะไม่เจริญสติ ไม่นั่งสมาธิ ไม่พิจารณาด้วยปัญญา ไม่พิจารณาไตรลักษณ์ ที่เป็นเครื่องมือที่จะหยุดความทุกข์อันใหญ่หลวงได้ ส่วนความทุกข์เล็กๆน้อยๆของร่างกายนี้ เราหยุดไม่ได้ ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของเขา

 

ถาม  ทุกข์ในมหาสมุทรอยู่ขั้นไหนคะ

 

ตอบ อยู่ในใจของสัตว์โลกทุกขั้น นอกจากใจของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น

 

ถาม  ส่วนทุกข์เท่าไม้จิ้มฟันนี่

 

ตอบ  ทุกข์เท่าไม้จิ้มฟันนี่มีอยู่ในร่างกายของทุกคน พอมีทุกข์เท่าไม้จิ้มฟัน ก็ไปสร้างทุกข์ขนาดมหาสมุทรขึ้นมาอีก เพราะกลัวความเจ็บ เช่นเวลาหมอบอกจะฉีดยาปั๊บ กิเลสก็สร้างทุกข์มหาสมุทรขึ้นมาในใจ ทุกข์ใจนี้เราหยุดมันได้ถ้ามีสติสมาธิปัญญา แต่เราไม่มีกัน พอร่างกายเจ็บขึ้นมานิด ใจก็ทุกข์ขึ้นมาใหญ่เลย ความทุกข์ใหญ่อยู่ที่ใจ ต้องใช้ธรรมะดับทุกข์ใจ ต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ควบคุมใจไม่ให้คิดปรุงแต่ง อยากให้หายเจ็บ อยากให้ไม่ตาย คิดอย่างนี้ก็จะผลิตทุกข์มหาสมุทรขึ้นมา ต้องทำใจให้นิ่ง ให้ว่างให้สงบตลอดเวลา หรือทำให้ใจยอมรับว่า ตายเป็นตาย เจ็บเป็นเจ็บ

 

ถาม  ต้องกลับมาที่ปฏิบัติใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ก็พูดมาตั้งเกือบ ๗ ปีแล้ว เพิ่งได้ข้อสรุปวันนี้เอง ก็ยังดี ไม่สายเกินไป ตอนนี้เริ่มปฏิบัติกันแล้วใช่ไหม หรือต้องรอให้หมอบอกว่าเหลืออีก ๖ เดือน คนเราถ้าไม่จนตรอกมักจะไม่หาที่พึ่ง จะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ

 

ถาม  คนป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่าความเจ็บอยู่ที่กาย ไม่ใช่ที่ใจ

 

ตอบ  เรื่องของความทุกข์ใจนี่จะไม่รู้กัน ถ้าไม่ได้ศึกษาไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าคิดว่าความทุกข์อยู่ที่ร่างกาย ก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจแก้ความทุกข์ที่ร่างกายอย่างเดียว ทั้งๆที่ใจทุกข์อยู่ตลอดเวลา กลับมองไม่เห็นกัน

 

ถาม  เพราะว่าเราอาศัยร่างกายอยู่

 

ตอบ  เพราะเราหลงไปอาศัยมันเอง เพราะไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ อ่านแล้วก็ไม่เข้าใจ ที่ท่านสอนรูปังอนัตตา ก็ไม่เข้าใจความหมาย ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเราเป็นอย่างไร เพราะเป็นของเรามาตั้งแต่เกิด พวกเราคิดอย่างนี้กันทั้งนั้น เพราะไม่รู้ว่าผู้ที่ว่าเป็นเราเป็นของเรา ไม่ใช่ร่างกาย คิดกันไปเองว่าร่างกายเป็นผู้คิด แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็คิดว่า จิตใจเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ได้คิดว่าเป็นคนละส่วนกัน มีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ทรงรู้ได้ด้วยพระองค์เองว่าเป็นคนละส่วนกัน หลังจากที่ทรงปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ อดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน เพราะคิดว่ากิเลสออกมาจากร่างกาย ถ้าไม่ให้ร่างกายรับประทานอาหาร กิเลสก็จะต้องตาย แต่กิเลสไม่ตาย มีแต่ร่างกายที่จะตาย ก็ทรงรู้ว่ากิเลสไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่ใจ จึงต้องมาแก้กิเลสด้วยการภาวนา สมถะและวิปัสสนาภาวนา จนได้ตรัสรู้ ทรงเห็นพระอริยสัจ ๔ ที่อยู่ในพระทัยของพระองค์ เห็นทุกข์ที่เกิดจากความอยากของพระองค์เอง เห็นความอยากเป็นกิเลส เป็นต้นเหตุของความทุกข์ เห็นวิธีที่จะดับกิเลส ก็คือสติสมาธิปัญญา พอมีสติสมาธิปัญญา ก็จะชนะกิเลสตัณหา ทุกข์ก็จะดับไป เป็นการต่อสู้ระหว่างความเห็นของ ๒ ฝ่าย ความเห็นที่ถูกกับความเห็นที่ผิด พอความเห็นที่ถูกทำลายความเห็นที่ผิดได้ ใจก็จะไม่ผลิตความทุกข์ขึ้นมา

 

ถ้ามองร่างกายของเรา เหมือนเรามองร่างกายของคนอื่นได้ เราก็จะไม่ทุกข์เลย เพราะร่างกายของเรามันไม่ใช่ของเราจริงๆ เป็นเหมือนของคนอื่น แต่เราไม่มองอย่างนั้น เพราะมีความเห็นผิด เห็นว่าเป็นของเรา วิธีที่จะมองให้เห็นก็ต้องเข้าไปในสมาธิ ทำจิตให้เป็นอุเบกขา พอเป็นอุเบกขาแล้วทุกอย่างจะไม่เป็นของเรา จิตจะแยกออกจากร่างกายชั่วคราว เป็นอุเบกขาชั่วคราว พอได้อุเบกขาแล้ว ก็จะรู้ว่าหลักของจิตก็คือจุดอุเบกขานี่เอง พอออกจากสมาธิก็ต้องใช้ปัญญาประคับประคองไว้ ด้วยการไม่ยึดไม่ติด ถ้ายึดติดจะออกจากอุเบกขาทันที จะวิตกกังวล จะห่วง จะอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ขึ้นมาทันที ถ้ามองว่าไม่ใช่เป็นของเรา ก็จะไม่ต้องวิตกกังวล ไม่ห่วง ต้องใช้ปัญญาสอนใจ ว่าร่างกายนี้เป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น ถ้าไม่ห่วงร่างกายของคนอื่นก็ไม่ต้องห่วงร่างกายนี้

 

ถาม  เราคิดตามกิเลส

 

ตอบ  ตามกิเลสไม่ได้ ต้องหยุดกิเลส ต้องนั่งสมาธิ ก็จะหยุดกิเลสได้

 

ถาม  แต่มันยากเพราะความผูกพัน

 

ตอบ  ยากเพราะตามกิเลสจนติดเป็นนิสัย 

 

ถาม  แต่ความจริงมันยาก เพราะความผูกพันสายโลหิต

 

ตอบ  ความห่วงใยเป็นตัวกัดกร่อนจิตใจ ถ้าเห็นว่าเราทุกข์ทรมาน เพราะไปยึดติดกับร่างกายของคนอื่น เราก็จะตัดความยึดติด เพราะไม่อยากจะทุกข์ทรมานใจ ถ้าไม่เห็นความทุกข์ทรมานใจของเรา กลับไปเห็นว่าเป็นสายเลือด เป็นของเรา ก็จะไม่ยอมตัดความยึดติด ถ้าสามารถทำใจให้สงบได้เพียงครั้งเดียว จะเห็นความแตกต่างระหว่างความสงบกับความวุ่นวายใจ ที่เกิดจากการไปกังวลกับเรื่องสายเลือด เรื่องของเราของเขา ก็จะทำให้เห็นโทษของความเห็นผิดและจะตัดได้ เพราะรู้ว่าเป็นต้นเหตุที่จะทำให้ทุกข์ทรมานใจ

 

ต้องปฏิบัติถึงจะเห็นถึงจะรู้ รู้ว่าความเห็นผิดนี้ เป็นผู้สร้างความทุกข์ให้กับเรา ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขเลย เพราะเป็นความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ต้องเอาความรู้จริงเห็นจริงของพระพุทธเจ้ามาใช้ถึงจะถูก คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ได้แก่สัพเพธัมมาอนัตตา สัพเพสังขาราอนิจจา สัพเพสังขาราทุกขา ที่เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ต้องเห็นแบบนี้ ต้องปฏิบัติถึงจะเข้าถึงความจริงนี้ได้ ตอนนี้เรายืนดูอยู่ฟากนี้ ความจริงอยู่ฟากโน้น สิ่งที่ขวางกั้นเราอยู่ก็คือแม่น้ำที่เราต้องว่ายข้าม แต่เราไม่ยอมว่ายกัน กลัวจมน้ำ

 

ถาม  ท่านอาจารย์พยายามสอน แต่พวกเราก็ยังทำไม่ได้

 

ตอบ  ไม่ยอมลงน้ำกัน ไม่ไปอยู่จำพรรษา ยังติดอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ กับคนนั้นคนนี้อยู่ ต้องตัดหมด รูปเสียงกลิ่นรส ลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะเป็นบ่วงที่ผูกเราไว้ ไม่ให้เราข้ามไปฝากโน้นได้ ความติดสุข ความกลัวความทุกข์ยากลำบาก เป็นอุปสรรค ต้องคิดว่าเป็นเหมือนการผ่าตัด ผ่าแล้วโรคหาย ถ้าไม่ผ่าก็จะเจ็บไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหาย ถ้ายอมเจ็บยอมให้ผ่า พอแผลหายแล้วความเจ็บก็จะหายไปตลอดเลย การปฏิบัตินี่พระพุทธเจ้าทรงรับประกันไว้แล้วว่า เจ็บอย่างมากก็ไม่เกิน ๗ ปี ถ้าเก่งถ้าฉลาด มีบุญบารมีมากก็เพียง ๗ วัน ต้องเจ็บทุกคนถึงจะหาย

 

ตอนนี้ต้องพยายามฝึกตายและฝึกเจ็บกันให้ได้ เอา ๒ ข้อนี้ก่อน ให้หัดอยู่กับความเจ็บ เวลาเจ็บก็ใช้สมาธิ ใช้ธรรมโอสถรักษา ไม่ต้องหายาแก้ปวดมารับประทาน นั่งสมาธิแทน บริกรรมพุทโธๆไป อย่างหลวงปู่มั่นตอนที่ท่านปวดท้องมากๆ ตอนต้นท่านก็หายาต้มกิน กินอย่างไรก็ไม่หาย ในที่สุดท่านก็โยนยาทิ้งไปหมดเลย นั่งสมาธิเข้าฌานไป แยกกายออกจากเวทนาออกจากจิต จิตรวมลงเข้าสู่สมาธิ พอออกจากสมาธิโรคหายไปหมดเลย เวลานั่งสมาธิแล้วเจ็บก็บริกรรมพุทโธๆให้ถี่ไปเลย ฝากเป็นฝากตายไว้กับพุทโธ ไม่ยอมลุก ยอมตายไปกับความเจ็บ ถ้าไม่ตายก็ต้องสงบ ผ่านความเจ็บไปได้ ต้องทำอย่างนี้ถึงจะผ่านไปได้

 

ถาม  พอนั่งแป๊บเดียวก็คันบ้าง มดมากัดบ้าง

 

ตอบ  ปล่อยให้กัดไป ปล่อยให้คันไป บริกรรมพุทโธๆไป พุทโธนี่แหละจะทำให้สงบได้ ถ้าไม่บริกรรมพุทโธก็จะไม่สงบ

 

ถาม  พอคันก็ขอเกาก่อน

 

ตอบ  เกาไม่ได้ จะเสียสมาธิ ใจจะแกว่งไปแกว่งมา ต้องให้ใจอยู่กับอารมณ์เดียว ทำไปเถิดไม่ยากหรอก ขอให้เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย ให้ตายไปกับพุทโธเลย

 

ถาม  นั่งประมาณชั่วโมงกว่าๆ จะปวดมากเลยค่ะ จากนั้นก็บอกว่าเดี๋ยวก็หายเอง แล้วมันก็หาย อยากทราบว่าจะเจ็บขึ้นไปเรื่อยๆไหมคะ

 

ตอบ หลวงตาท่านแสดงไว้ว่ามี ๓ ระดับ ระดับหนู ระดับหมู ระดับช้าง อะไรอย่างนี้ ถ้านั่งไปเรื่อยๆไม่ลุก พอตัวแรกดับไปสักระยะหนึ่ง ตัวที่ ๒ ก็เกิดโผล่ขึ้น แล้วก็จะไปเจอตัวที่ ๓ ที่เป็นเหมือนช้าง อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เหมือนจะระเบิดออกไป

 

ถาม  ถ้าผ่านระดับที่ ๓ ไปแล้ว จะไม่มีความปวดแล้วหรือคะ

 

ตอบ  จะไม่กลัวความปวด ไม่ทุกข์กับความปวด

 

ถาม  ความเจ็บปวดของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ความเจ็บของร่างกายเหมือนกัน แต่ความทุกข์ทรมานใจไม่เหมือน อยู่ที่กลัวมากหรือกลัวน้อย กลัวมากก็จะทุกข์มาก กลัวน้อยก็จะทุกข์น้อย

 

ถาม  ตอนนี้จะคิดอยู่อย่างเดียวว่า เดี๋ยวความเจ็บก็หาย

 

ตอบ  ถ้าหายได้ก็ดี ควรคิดว่าหายก็ได้ ไม่หายก็ได้ ถ้าคิดว่าหายแล้วไม่หาย จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 

ถาม  ตอนนี้มันหายอยู่ค่ะ กลัวต่อไปจะไม่หาย

 

ตอบ  ต้องคิดว่าหายก็ได้ ไม่หายก็ได้ บังคับเขาไม่ได้ แต่บังคับใจได้ บังคับใจไม่ให้วุ่นวาย จะไม่หายก็ได้ จะหายก็ได้ หายแล้วก็ต้องกลับมาใหม่ ให้คิดอย่างนี้ ไม่ต้องดีใจเวลาหาย ไม่อย่างนั้นเวลากลับมาใหม่ จะเสียใจ ให้เห็นอนิจจัง มีมามีไปเป็นธรรมดา ต้องรับกับสภาพ เหมือนกับรับสภาพน้ำท่วม ปีนี้น้ำท่วม อีกเดือน ๒ เดือน น้ำก็หายไป ปีหน้าก็กลับมาท่วมใหม่ ต้องอยู่กับเขาไป ความเจ็บก็เช่นเดียวกัน เจ็บแล้วหายไป เดี๋ยวก็กลับมาเจ็บใหม่ เป็นโรคภัยไข้เจ็บแล้วก็หาย เดี๋ยวก็ต้องกลับมาเป็นใหม่ เป็นอย่างนี้ไปจนกว่าร่างกายตายไป ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ใจ ว่าจะรับได้หรือไม่ ใจไม่หวั่นไหว ไม่หวาดกลัว ไม่วิตกกังวล มาก็ได้ไม่มาก็ได้ เราก็อยู่ของเราไป ใจมีหน้าที่รับรู้ก็รับรู้ไป

 

ปัญหาของใจคือไม่ยอมรับรู้ทุกขเวทนา รับรู้แต่สุขเวทนา พอทุกขเวทนามาก็ไม่อยากจะรับรู้ เหมือนกับการรับข่าวสาร ถ้าข่าวดีจะรับฟัง ถ้าข่าวร้ายจะไม่รับฟัง ต้องรับฟังทั้งข่าวดีทั้งข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ต้องรับรู้ได้หมด ใจไม่ได้เป็นอะไรกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นเพียงผู้รับรู้เท่านั้นเอง ถ้ารับรู้เฉยๆ ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้ามีอคติ มีรักมีชัง ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมา เวลารับรู้สิ่งที่ดีก็ชอบ ก็จะเกิดตัณหาความอยากให้อยู่ไปนานๆ จะเกิดความทุกข์ใจ ความวิตกกังวล กลัวจะจากไป ถ้าไปเจอสิ่งที่ไม่ชอบก็อยากให้หายไป ก็เกิดความทุกข์ทรมานใจ เวลาไม่หาย ต้องอยู่กับเขา ก็จะรู้สึกทุกข์ทรมานใจ ถ้ายอมรับได้ทั้ง ๒ ส่วน ไม่มีอคติ ไม่รักไม่ชัง ก็จะไม่ทุกข์ มาแบบไหนก็ได้ ไม่รัก ไม่ชัง เฉยๆ ต้องคิดอย่างนี้ ต้องไม่มีอคติ พวกเรารักความสุข เกลียดความทุกข์กัน พอความสุขมา ก็อยากให้สุขไปนานๆ พอความทุกข์มา ก็อยากให้หายไปเร็วๆ เวลาไม่สบาย ก็อยากจะให้หายเร็วๆ พอหายแล้วก็ไม่อยากจะให้กลับมาอีก แสดงว่าใจไม่เป็นกลาง ยังมีอคติ มีรัก มีชัง จึงต้องฝึกสติ เจริญสมาธิ ใช้ปัญญา ที่จะคอยรักษาใจให้อยู่ตรงกลาง ให้สักแต่ว่ารู้ รับรู้เฉยๆ รู้แล้วไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

 

ถาม  ตัวที่กระเพื่อมตามกิเลสตัณหา กับตัวที่รู้เป็นคนละตัว ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ตัวรู้นั่นแหละที่กระเพื่อม ตัวรู้เป็นเหมือนน้ำ ส่วนกิเลสตัณหาเป็นเหมือนก้อนอิฐที่เราโยนใส่ไปในน้ำ พอโยนเข้าไปน้ำก็จะกระเพื่อม ถ้ามีสติสมาธิปํญญา ก็จะไม่กระเพื่อม ถ้าน้ำเป็นน้ำแข็ง เวลาโยนก้อนหินลงไป ก็จะไม่กระเพื่อม ต้องทำใจให้เย็นเหมือนน้ำแข็ง ไม่กระเพื่อมกับอารมณ์ต่างๆ กับรูปเสียงกลิ่นรส กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ใจสัมผัสรับรู้ ส่งข่าวร้ายมาก็ไม่กระเพื่อม ส่งข่าวดีมาก็ไม่กระเพื่อม เฉยๆ รู้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับใจ ใจไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับข่าวดีหรือข่าวร้าย ได้อะไรมามากเท่าไหร่ ตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี เสียอะไรไปเท่าไหร่ก็เหมือนกับไม่ได้เสีย เพราะไม่ใช่ของเรา ไม่มีอะไรทำลายใจได้ แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ก็ทำลายใจไม่ได้ เพราะใจไม่ได้อยู่ในโลกนี้กับร่างกายนี้ ใจอยู่อีกที่หนึ่ง อยู่อีกมิติหนึ่ง อยู่อีกภูมิหนึ่ง ร่างกายอยู่ในโลกธาตุ โลกของดินน้ำลมไฟ แต่ใจอยู่ในโลกทิพย์

 

ถาม  คนที่บาปมากๆ ตายไปต้องไปตกนรก คือโดนลงโทษ ตัวไหนที่โดนลงโทษ

 

ตอบ  ก็ตัวใจนี่แหละ ตัวที่เป็นเจ้านายของร่างกาย แต่นรกไม่ได้เป็นสถานที่เหมือนคุกคลองเปรม แต่อยู่ในใจที่ทุกข์ร้อน

 

ถาม  ไม่ใช่ไปโดนลงโทษตอนสิ้นชีวิตไปแล้วใช่ไหม

 

ตอบ  เป็นทั้งในปัจจุบันเวลาที่คิดร้าย คิดไม่ดีใจก็ร้อนเป็นนรกขึ้นมา พอคิดดีก็เย็นลงมา

 

ถาม  แล้วตอนตายไปแล้ว

 

ตอบ อยู่ที่ความคิดของใจในตอนนั้น ถ้าคิดดีก็จะไปดี คิดไม่ดีก็จะไปไม่ดี จะคิดดีหรือไม่ดี อยู่ที่การกระทำในขณะที่มีชีวิตอยู่ ถ้าทำดีคิดดีมากกว่าทำไม่ดีคิดไม่ดี ก็จะไปดี ไปสู่สุคติ ถ้าทำไม่ดีคิดไม่ดีมากกว่าทำดีคิดดี ก็จะไปไม่ดี ไปสู่ทุคติ

 

เวลาตายไป จะเป็นเหมือนตอนที่เรานอนหลับฝันไป บางทีก็ฝันดี บางทีก็ฝันร้าย ถ้าฝันร้ายก็เป็นผลของบาป ถ้าฝันดีก็เป็นของบุญ ตอนที่จะตาย บุญกับบาปก็จะแข่งกัน ถ้าบุญมีกำลังมากกว่า ก็จะดึงใจไปสู่สุคติ ถ้าบาปมีกำลังมากกว่า ก็จะดึงใจไปสู่ทุคติ ถ้าบุญกับบาปมีกำลังเท่ากัน ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มาสร้างบาปสร้างบุญใหม่ ไม่ต้องไปสู่สุคติหรือทุคติ

 

ถาม  ไม่ต้องไปใช้บาปก่อนใช่ไหม

 

ตอบ  ไม่ต้อง เวลาทำบุญก็จะสร้างกำลังของบุญให้มากขึ้น เวลาทำบาป ก็จะสร้างกำลังของบาปให้มากขึ้น บุญกับบาปจะต่อสู้กัน ถ้าบุญมีกำลังมากกว่า ก็จะสร้างสวรรค์ ถ้าบาปมีกำลังมากกว่าก็จะสร้างนรก พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป จะไม่สร้างบาปจะสร้างแต่บุญอย่างเดียว กำลังบุญจึงมีมากกว่า ทำให้จิตของท่านสูงขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงพระนิพพาน พอถึงพระนิพพานแล้ว บุญก็จะไม่เสื่อมหมดกำลัง ถ้าสร้างบุญในระดับทานศีลสมาธิจะเสื่อมได้ ถ้าสร้างบุญในระดับปัญญาจะไม่เสื่อม ได้บุญขั้นไหนแล้วก็จะไม่เสื่อมลงมา ถ้าได้บุญระดับโสดาบัน ก็จะอยู่ในระดับโสดาบันไป ไม่มีวันเสื่อมลงมาเป็นปุถุชน ถ้าได้ขั้นอนาคามี ก็จะอยู่ในขั้นของพระอนาคามี ถ้าได้ขั้นของพระอรหันต์ ก็จะอยู่ในขั้นของพระอรหันต์ บาปเก่าๆจะไม่มีกำลังพอที่จะผลิตผลให้เกิดขึ้นในใจได้ เพราะบุญมีกำลังมากกว่า

 

การต่อสู้ระหว่างบุญกับบาปมีอยู่ภายในใจตลอดเวลา หลวงตาท่านว่ากิเลสกับธรรมเป็นคู่ต่อสู้กัน ถ้าสร้างพลังธรรมให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อไปกิเลสจะไม่สามารถผลิตผลบาปให้กับเราได้ จะผลิตแต่บุญอย่างเดียว อย่างพระโพธิสัตว์ ทุกภพทุกชาติที่ท่านกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ จะมาทำบุญเสมอ แล้วก็จะกลับไปเกิดเป็นเทพ แล้วก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์มาสร้างบารมีใหม่ เช่นพระเวสสันดร ท่านกลับมาเกิดเป็นมนุษย์สร้างทานบารมีอย่างเต็มที่ พอตายไปท่านก็ไปเกิดบนสวรรค์ พอลงมาจากสวรรค์ ก็มาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มาสร้างบุญใหม่อีก สร้างอย่างเต็มที่เลย จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

 

ขอให้ทำบุญไปเรื่อยๆ ไม่ขาดทุน ทำไปเถิด ทานศีลภาวนา ทำได้เท่าไรเป็นของเราหมดเลย บุญจะผลิตแต่สวรรค์ ผลิตแต่ความสุข จะไม่ไปเกิดในอบาย เพราะกำลังของบุญจะมีกำลังมากกว่าบาป เหมือนชักเย่อกัน ถ้าข้างหนึ่งมีคนเดียว อีกข้างหนึ่งมี ๕ คน จะไปทางไหน ถ้าไม่ไปทาง ๕ คน ถ้าทำบุญ ๕ ครั้ง ทำบาปครั้งเดียว บุญก็ต้องมีกำลังมากกว่า ถ้าทำบาป ๕ ครั้ง ทำบุญครั้งเดียว บาปก็จะมีกำลังมากกว่า พวกเราชอบทำบุญ ชอบรักษาศีล ชอบภาวนากันอยู่แล้ว ต้องไปสู่สุคติอย่างแน่นอน

 

ถาม  เราเน้นทำแต่ทานกับศีล ไม่ค่อยภาวนากัน

 

ตอบ  ก็เลยไม่ได้บุญขั้นสูงและถาวร บุญที่ไม่เสื่อม

 

ถาม  ได้แค่เป็นเทวดา

 

ตอบ  จากเทวดาก็ต้องกลับมาเป็นมนุษย์ใหม่ มาสร้างบุญใหม่ ก็ยังดีกว่าไปทำบาป อย่าให้บาปมีกำลังมากกว่าบุญ

 

วิหารธรรมคือเครื่องอยู่ระหว่างจิตที่บริสุทธิ์กับขันธ์ จิตที่บริสุทธิ์ไม่ได้ภาวนาเพื่อตัดกิเลส เพราะไม่มีกิเลสจะให้ตัด แต่ขันธ์ต้องการพักผ่อนหลับนอน เวลาทำสมาธิก็เป็นการพักขันธ์ พักทั้งร่างกาย พักทั้งจิตใจ พักสังขารความคิดปรุงแต่ง พระอรหันต์กับพระพุทธเจ้าเข้าสมาธิ เพื่อพักผ่อนร่างกายและจิตใจ ถ้านอนหลับจะพักแต่ร่างกายอย่างเดียว จิตใจยังทำงานได้ สังขารยังปรุงแต่งได้อยู่ ถ้านอนหลับสนิทไม่ฝัน ตื่นขึ้นมาร่างกายและจิตใจจะสดชื่นเบิกบานกว่าเวลานอนหลับแล้วฝันไป

 

ถาม  ฝันของพระอรหันต์เป็นเหมือนของปุถุชนไหมคะ

 

ตอบ  ไม่เหมือน ไม่ฝันเรื่องกิเลส

 

ถาม  พระอรหันต์ยังฝันอยู่หรือคะ

 

ตอบ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณยังทำงานอยู่

 

ถาม  จิตสงบแล้ว ว่างแล้ว

 

ตอบ  คำว่าว่างไม่ได้หมายความว่าหยุดทำงาน คำว่าว่างคือว่างจากกิเลสตัณหา ไม่ปรุงแต่งไปตามกิเลสตัณหา ถ้าเข้าสมาธิก็จะหยุดความคิดปรุงแต่ง ร่างกายก็ได้พัก ท่านถึงต้องเดินจงกรมนั่งสมาธิ ถ้านั่งมากๆ ร่างกายก็ปวดเมื่อย ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ อย่างนี้เรียกว่าวิหารธรรม เพื่อการอยู่อย่างสุขสบายระหว่างขันธ์กับจิต จิตต้องการพักผ่อนในสมาธิ ร่างกายต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ พักผ่อนหลับนอน รับประทานอาหาร ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่ต้องกินข้าว เพราะไม่มีความอยากแล้ว ร่างกายของพระอรหันต์กับของปุถุชนนี้เหมือนกัน แต่จิตของพระอรหันต์กับปุถุชนนี้ไม่เหมือนกัน เป็นจิตที่ไม่มีกิเลสกับจิตที่มีกิเลส ขันธ์เป็นเครื่องมือของจิต ถ้าจิตมีกิเลสก็จะคิดไปในทางกิเลส คิดอยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากร่ำอยากรวย อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ถ้าไม่มีกิเลสก็จะไม่คิดไปในทางนั้น จะเฉยๆ เป็นอะไรก็ได้ ให้เป็นอะไรก็เป็น ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเป็น แต่จริงๆแล้วไม่อยากเป็นอะไรทั้งนั้น ถ้ายังอยู่ในโลกสมมุติ ถ้าตั้งให้เป็นสังฆราชก็ต้องเป็น

 

ถาม  คนที่อยากเป็นก็แสดงว่ายัง

 

ตอบ  ยังมีกิเลส ถ้าเป็นแต่ไม่ได้อยาก ก็ไม่ได้เป็นกิเลส หลวงตาเคยเล่าเรื่องสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรฯองค์ก่อนว่า เวลาท่านไปรับพัดยศกลับมาวัด ท่านให้คนขับส่งลงที่ประตูหลังวัด แล้วก็บอกให้เอาพัดยศไปลงหน้าวัด เพราะมีญาติโยมกำลังรอรับเสด็จสังฆราชอยู่

 

ถาม  แต่ตัวท่านเองลงหลังวัด

 

ตอบ  ท่านลงหลังวัดแล้วเข้ากุฏิไปเลย แล้วสั่งคนขับให้เอาพัดยศเอาสังฆราชไป ตัวท่านไม่ได้เป็นสังฆราช ท่านเป็นหลวงตาชื่น

 

ถาม  พัดยศของหลวงตาก็ตั้งไว้บนศาลา ใครอยากเจอพระธรรมวิสุทธิมงคลก็ให้ขึ้นไปข้างบน ใครอยากพบหลวงตาก็ให้ลงมาข้างล่าง

 

ตอบ  ท่านรับด้วยความจำยอม เพราะอยู่ในโลกสมมุติ ถ้าไม่รับแล้วจะเสียมารยาท แต่ใจไม่มีความอยากได้เลย