กัณฑ์ที่ ๔๓๑       ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

 

เติมธาตุ

 

 

 

การดื่มน้ำนี้ก็เป็นการเติมธาตุน้ำ ร่างกายต้องการธาตุ เพราะทำมาจากธาตุ ต้องมีการเติมธาตุอยู่เรื่อยๆถึงจะอยู่ได้ ธาตุลมก็ต้องเติมอยู่ทุกเวลา ด้วยการหายใจเข้าหายใจออก เวลารับประทานอาหาร ก็เป็นการเติมธาตุน้ำธาตุดินธาตุไฟ ในอาหารก็มีธาตุไฟด้วย เวลารับประทานเข้าไปในร่างกาย ก็จะมีปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้เกิดความร้อนขึ้นมา เวลารับประทานอาหารเสร็จจะมีเหงื่อออก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าอาหารมีความร้อนจากการหุงต้ม อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี ของธาตุดินธาตุน้ำและธาตุลม เวลาผสมกันก็เกิดปฏิกิริยาทำให้เกิดความร้อนขึ้นมา ร่างกายจึงมีอุณหภูมิที่สม่ำเสมอ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่าหรือสูงกว่าที่ควรจะเป็น ก็จะเป็นปัญหาได้ เช่นเวลาเป็นไข้อุณหภูมิจะขึ้นสูงเกินไป เวลาเป็นไข้จับสั่นบางทีอุณหภูมิก็ลดลง ทำให้รู้สึกหนาว เป็นการทำงานของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 

ร่างกายนี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย มีธาตุรู้ที่เข้าไปเป็นผู้รับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่ร่างกายได้รับผ่านมาทางตาหูจมูกลิ้นกาย คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ร่างกายเป็นเหมือนเครื่องอัดเสียง ที่มีไมโครโฟนไว้รับเสียง ร่างกายก็มีหูไว้รับเสียง พอเข้ามาทางหูแล้ว ก็จะมีตัวรับรู้เสียงที่จะส่งไปให้ใจผู้รู้อีกทีหนึ่ง ตัวรับรู้นี้เรียกว่าวิญญาณ เป็นวิญญาณที่รับรู้ข้อมูล ที่ผ่านเข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ใช่วิญญาณที่เป็นผู้รู้ที่ออกจากร่างกายไป หลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว วิญญาณทั้ง ๒ นี้ต่างกัน ชื่อเหมือนกันแต่เป็นคนละอย่าง วิญญาณที่รับข้อมูลแล้วส่งไปให้ใจผู้รู้นี้ เรียกว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ ซึ่งจะทำงานและหยุดทำงานตามการสัมผัสรับรู้ ของอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน

 

อายตนะภายนอกก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อายตนะภายในก็คือตาหูจมูกลิ้นกาย เมื่อเสียงมาสัมผัสกับหู ก็จะเกิดการรับรู้ทางหู เรียกว่าโสตวิญญาณ เวลารูปสัมผัสกับตา ก็จะเกิดการรับรู้ทางตา เรียกว่าจักขุวิญญาณ พอรับรู้แล้วก็หายไป แล้วก็รับรู้ข้อมูลใหม่ ที่ส่งเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย มีการเกิดดับอยู่เรื่อยๆ มีการขาดตอนเวลาไม่มีการสัมผัส ถ้าหลับตาก็จะไม่มีการสัมผัสรูป จักขุวิญญาณก็จะไม่ทำงาน นี่คือวิญญาณในขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาวธรรม เป็นอาการของใจ ออกมาจากผู้รู้ ถ้าไม่มีผู้รู้ก็จะไม่มีวิญญาณ เช่นเวลาที่ร่างกายไม่มีผู้รู้ครอบครองแล้ว เช่นคนตาย ก็จะไม่มีวิญญาณไปรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส ที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย เพราะร่างกายไม่ทำงาน ตาหูจมูกลิ้นกายไม่ทำงาน รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ไม่สามารถเข้ามาทางร่างกาย เพื่อให้วิญญาณส่งไปสู่ผู้รู้ได้

 

ถ้าร่างกายยังทำงานอยู่ ยังมีตาหูจมูกลิ้นกาย และมีใจคือผู้รู้ครอบครองอยู่ ก็จะมีการรับรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พอเข้ามาแล้วก็จะมีนามขันธ์ คือสัญญาความจำได้หมายรู้ ที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์ ว่าเป็นรูปอะไรเป็นเสียงอะไร พอเห็นรูปแล้ว สัญญาก็จะพิจารณาดูว่าเป็นรูปใคร เป็นหญิงเป็นชาย เป็นคนที่รู้จักหรือไม่รู้จัก สัญญาก็เกิดดับๆ ทำตามหน้าที่ เวลาที่มีข้อมูลเข้ามาทางวิญญาณ สัญญาก็จะวิเคราะห์ว่าเป็นใคร ทำให้เกิดเวทนาตามมา ถ้าเป็นรูปหรือเสียงที่ชื่นชมยินดี ก็จะเกิดสุขเวทนาขึ้นมา ถ้าเป็นรูปหรือเสียงที่ไม่ชื่นชมยินดี รังเกียจหรือกลัว ก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา ถ้าเป็นรูปหรือเสียงที่เป็นกลาง ไม่น่ารักหรือน่าชัง ก็จะเกิดอทุกขมสุขเวทนา คือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา เมื่อปรากฏเวทนาแล้ว ก็จะเกิดสังขารความคิดปรุงแต่ง ที่จะปรุงแต่งว่าควรจะทำอย่างไร ควรจะต้อนรับหรือควรจะวิ่งหนี ถ้าเห็นเสือสังขารก็จะบอกว่าวิ่งหนีดีกว่า ถ้าเห็นสิ่งน่ารักสวยงาม ก็จะบอกว่าควรจะต้อนรับเขา เพราะเวลาเห็นสิ่งที่รักที่ชอบก็จะเกิดสุขเวทนา ก็จะอยากให้อยู่ใกล้กับความสุข ก็ต้องเข้าหา สังขารก็จะคิดปรุงแต่งต้องหาวิธีว่า จะให้สิ่งที่ให้ความสุขนี้อยู่ต่อไปได้อย่างไร ถ้าเห็นสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย เช่นเห็นเสือ ก็จะหาวิธีให้อยู่อย่างปลอดภัยได้อย่างไร ก็จะต้องคิดหาวิธีหนีจากเสือไป

 

ทั้งหมดนี้เรียกว่านามขันธ์ เริ่มต้นที่วิญญาณ ตามด้วยสัญญาเวทนา สังขาร ตัวที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือสัญญากับสังขาร สัญญาถ้าวิเคราะห์ ข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดความเห็นผิดเป็นชอบ เช่นเห็นรูปเสียงกลิ่นรสเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นนาย ก. นาย ข. เป็นหญิงเป็นชาย นี่เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องเห็นเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู สัมผัสด้วยจมูกลิ้นและกาย ล้วนเป็นธาตุ ๔ ทั้งนั้น แต่เนื่องจากไม่มีใครสอนตั้งแต่เกิดมา สอนแต่ข้อมูลผิดมาตลอด สอนว่าเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นพิษเป็นภัย เป็นคุณเป็นประโยชน์ ก็เลยทำให้มีปฏิกิริยาที่ผิด มีสุขเวทนามีทุกขเวทนาขึ้นมา สังขารก็จะปรุงแต่งไปทางสมุทัย คือตัณหาความอยาก อยากได้รูปเสียงกลิ่นรส อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น นี่เป็นปัญหาของปุถุชนที่มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ที่ฝังมาแล้วในจิตในใจ และที่ได้เรียนรู้เพิ่มในปัจจุบัน

 

ถ้าได้มาเจอพระพุทธศาสนา เจอพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ทรงสอนว่าสภาวธรรมทั้งหลาย คืออายตนะภายนอกนี้ ล้วนทำมาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ร่างกายของเราก็ดี วัตถุข้าวของต่างๆก็ดี ต้นไม้ใบหญ้าก็ดี ทำมาจากธาตุ ๔ ทั้งนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการเจริญเติบโต มีการเสื่อม มีการแยกสลายไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำด้วยธาตุ ๔ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น มีการรวมตัวเข้ามาให้เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นหญิงเป็นชาย เป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้อง แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นไปตามลำดับจนถึงขีดสูงสุด ก็จะเริ่มเสื่อมลงไป เวลาเสื่อมก็เรียกว่าแก่ชราภาพ เวลาเจริญก็เรียกว่าเติบโต จากเด็กก็เป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นผู้ใหญ่ พอเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้วก็จะเสื่อมลง เกิดอาการชำรุดทรุดโทรม เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องเยียวยารักษากันไปตามอัตภาพ เท่าที่จะทำได้ จนถึงขั้นที่เยียวยารักษาไม่ได้ ก็ถึงเวลาที่ธาตุ ๔ ของร่างกายจะต้องแยกออกจากกัน ร่างกายก็จะหมดสภาพไป เวลาตายไปธาตุไฟคือความร้อนก็ออกไป จับร่างกายของคนตายดูจะรู้สึกว่าเย็น กลิ่นที่ระเหยออกมาก็เป็นธาตุลม ธาตุน้ำเช่นน้ำเลือดน้ำเหลืองก็จะไหลออกมา ก็จะเหลือแต่หนังเนื้อเอ็นกระดูกและอวัยวะต่างๆที่จะแห้งกรอบไป ทิ้งไว้นานๆก็จะเปื่อยเป็นฝุ่นเป็นดินไป นี่คือร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ของบุคคลทั้งหลาย เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด

 

ถ้าจะมีสัมมาทิฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง ก็ต้องเห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเกิด มีการเจริญ มีการเสื่อม มีการดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นวัตถุ เป็นตุ๊กตาที่เราคือใจ ได้มาครอบครองชั่วระยะเวลาหนึ่ง ใจก็ไม่สามารถไปสั่งให้ร่างกาย เป็นไปตามความต้องการได้เสมอไป เช่นอยากจะให้หนุ่มให้สาวไปตลอดนี้ก็เป็นไปไม่ได้ อยากไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยเลยก็เป็นไปไม่ได้ อยากไม่ให้ตายเลยก็เป็นไปไม่ได้ เพราะขัดกับความจริงของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ที่รวมตัวกันเป็นร่างกาย นี่คือสัมมาทิฐิความเห็นที่ถูกต้อง ต้องเห็นว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เห็นว่าเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ แล้วก็เห็นว่าถ้าไปหลงยึดติด ว่าเป็นตัวตน เป็นตัวเราของเรา ก็จะอยากให้อยู่กับเราไปนานๆ ก็จะเกิดทุกขังขึ้นมา นี่คือไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา อนิจจังกับอนัตตาอยู่ที่ร่างกาย แต่ทุกขังอยู่ที่ใจ ใจที่มีความเห็นที่ไม่ถูกต้อง มีมิจฉาทิฐิ ที่เห็นว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา แล้วอยากจะให้ร่างกายอยู่ไปตลอด ซึ่งขัดกับอนิจจังอนัตตา ไม่อยู่ไปตลอด ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 

ถ้าเจริญสติสมาธิปัญญาได้แล้ว จะเห็นอย่างชัดเจนว่า ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่เที่ยง จะต้องดับไปในวันหนึ่ง ถ้าใจคิดว่านิจจังคือถาวร เป็นอัตตาตัวเราของเรา ก็จะเกิดวิภวตัณหา อยากไม่ให้ร่างกายแก่เจ็บตาย พอเกิดวิภวตัณหาก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา จะเห็นชัดในเวลาที่เกิดเหตุการณ์จริง เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย เวลาที่ใกล้ตาย เวลาไปอยู่ในสถานที่ที่น่ากลัว ที่ท้าทายต่อความเป็นความตาย วิภวตัณหาจะทำงานทันที ความทุกข์ใจจะเกิดขึ้นมาทันที ผู้ปฏิบัติที่ต้องการจะมีสัมมาทิฐิมีปัญญา ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่น่ากลัว เพื่อจะได้ปลุกความกลัวและวิธีแก้ความกลัว คือสติปัญญาขึ้นมา สติปัญญาที่ได้เรียนรู้มาทางปริยัติ เรียกว่าสุตมยปัญญา เช่นการฟังเทศน์เหมือนที่กำลังฟังอยู่ขณะนี้ เรารู้แล้วเรามีปัญญาแล้ว รู้ว่าร่างกายเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา แต่ความรู้นี้ยังไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้ เพราะความทุกข์ใจยังไม่ได้เกิด ตอนนี้เรายังไม่มีความทุกข์ใจ เพราะยังไม่มีอะไรมาทำให้คิดว่าเราจะตาย พอมีเหตุการณ์ที่จะทำให้คิดว่าเราจะตาย ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมาทันที เพราะสมุทัยคือวิภวตัณหาจะทำงานทันที จะไม่อยากตาย ตอนนั้นถ้าจะแก้ปัญหาก็จะรู้เลยว่า แก้ที่ร่างกายไม่ได้ เพราะห้ามร่างกายไม่ให้ตายไม่ได้ ร่างกายจะตายก็ต้องตาย แต่สิ่งที่เราห้ามได้ก็คือ ความทุกข์ใจ ด้วยการละความอยากไม่ตาย คือยอมตาย พอยอมแล้วสมุทัยก็จะหยุดทำงาน ผลของสมุทัยคือความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไป จิตก็จะสงบตัวลงเป็นอุเบกขา จะรู้ว่าได้หลุดพ้นจากความกลัวตายแล้ว จะไม่กลัวความตายอีกต่อไป เพราะยอมให้ร่างกายตายนั่นเอง

 

นี่คือทุกขังที่ต้องเห็นชัดๆ ต้องเห็นจากเหตุการณ์จริง ไม่ใช่เห็นจากการอ่านหรือจากการคิด ในขณะที่อยู่ในสถานที่ปลอดภัย อย่างนี้เป็นการทำการบ้าน ยังไม่ได้เข้าห้องสอบ อย่างที่พวกเราตอนนี้กำลังพบกัน คือการสูญเสียทรัพย์สินต่างๆที่ถูกน้ำท่วม นี่ก็เป็นการเข้าห้องสอบในระดับหนึ่ง แต่เป็นระดับไกลตัว ง่ายกว่าระดับใกล้ตัว ถ้าใกล้ตัวก็ต้องร่างกาย ถ้าไกลออกไปก็คือทรัพย์สินต่างๆ ที่ต้องใช้ปัญญาแก้เหมือนกัน ต้องเห็นว่าทรัพย์สินเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยงแท้แน่นอน บางทีก็อยู่กับเรา บางทีก็ไม่อยู่กับเรา มีเจริญมีเสื่อม ตอนนี้พวกเรากำลังเข้าห้องสอบอยู่ แต่เป็นห้องสอบระดับเล็ก ยังไม่ได้สูญเสียของที่ใกล้ตัว สิ่งที่เรารักและหวงมาก จะเป็นข้อสอบที่ยาก สิ่งที่เรารักและหวงน้อย จะเป็นข้อสอบที่ง่าย ถ้าไม่เตรียมทำข้อสอบไว้ก่อน พอถึงเวลาเข้าห้องสอบจะสอบไม่ผ่าน จะทุกข์ทรมานใจ จะไม่รู้จักหยุดความทุกข์ เพราะไม่รู้ว่าการที่จะดับความทุกข์ได้ ต้องละความอยากไม่ตาย ต้องยอมตาย จะเห็นชัดเวลาไปอยู่ในสถานที่ที่น่ากลัว มีหลวงตาท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าท่านกลัวผีมาก ท่านก็ไปนั่งสมาธิในป่าช้า เวลาได้ยินเสียงแกรกๆแกรกๆ ใจท่านก็กลัว สั่นไปหมด คิดว่าเป็นผี แต่เนื่องจากว่าท่านตั้งใจที่จะมาแก้ความกลัว ท่านก็เลยบังคับใจให้ไปดูสิ่งที่กลัว ว่าเป็นอะไรกันแน่ เป็นผีเป็นอะไรก็ยอมตาย ท่านบังคับใจด้วยสติด้วยปัญญา ค่อยๆเดินก้าวไป พอไปถึงก็เห็นสุนัขกำลังแทะกระดูกอยู่

 

ต้องใจกล้าถ้าต้องการผ่านข้อสอบ ใจต้องมีพลัง มีความหนักแน่น การจะมีพลังมีความหนักแน่น ต้องมีสมาธิก่อน ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่กล้าไป เพราะสู้ความกลัวไม่ได้ พอเกิดความกลัวแล้วจะหนีอย่างเดียว เหมือนบางคนที่มาปฏิบัติบนเขา พอมืดค่ำก็ขอกลับบ้าน เพราะยังไม่มีสมาธิ ไม่มีความสงบ ทำใจให้สงบไม่เป็น ถ้าทำสมาธิเป็น ก็จะหยุดความกลัวได้ด้วยการเข้าไปในสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ นั่งบริกรรมพุทโธๆไป ไม่ส่งใจให้ไปคิดถึงสิ่งที่กลัว พอใจสงบแล้วก็จะหายกลัว ถ้าอยากจะหายกลัวอย่างถาวร ต้องใช้ปัญญาปลง ไปดูสิ่งที่กลัวว่าเป็นอะไร ถ้าจะต้องตายก็ยอม ให้คิดอย่างนี้ พอยอมตายก็จะหายกลัวอย่างถาวร จะไปเจอสิ่งที่กลัวหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหาแล้ว เพราะปัญหาอยู่ที่ความกลัว อย่างตอนที่เราต่อสู้กับความกลัวนี้ เวลาเดินในวัดตอนกลางคืนก็กลัวงู พอกลัวมากๆก็คิดว่า นี่เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ ก็เลยตัดสินใจไม่ฉายไฟ เดินไปมืดๆ ถ้าจะเหยียบงูหรืองูจะกัดก็ให้มันกัดไป ตอนที่กลัวมากๆ กลัวสุดขีดนี้ พอปลงได้แล้วก็หายกลัว ใจดิ่งเข้าสู่ความสงบ ต้องปลงจริงๆ ต้องยอมตายจริงๆ ต้องยอมให้งูกัดจริงๆ ต้องคิดว่ามีงู คิดว่ากำลังจะเหยียบงู ความจริงจิตมันหลอกเรา แต่ก็ต้องให้มันหลอก จะได้ปลงตายได้ พอปลงได้แล้ว ใจก็จะสงบ จะหายกลัว การทำอย่างนี้เพื่อเป็นการเข้าห้องสอบ เป็นการรีดหนองคือความกลัวให้ออกมาจากใจ ก็ต้องเจ็บบ้างเป็นธรรมดา

 

นี่คือการพิจารณาไตรลักษณ์ในเหตุการณ์จริง ต้องมีเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นอนิจจังจริงๆ เห็นอนัตตาจริงๆ เห็นทุกขังจริงๆ ถึงจะเรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรม เห็นอริยสัจ ๔ จะเห็นว่าทุกข์และความกลัวนี้ เกิดจากความอยากไม่ตาย จะเห็นว่าวิธีที่จะดับทุกข์และความกลัวนี้ ต้องใช้ปัญญา ต้องเห็นไตรลักษณ์ ต้องยอมรับว่าร่างกายต้องตายแน่ๆ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ พอยอมรับความจริงนี้ได้ ความอยากไม่ตายจะหายไป ความกลัวหรือความทุกข์ที่เกิดจากความอยากไม่ตายก็จะหายไป นี่คือการเห็นอริยสัจ ๔ ในทางปฏิบัติจะเห็นอย่างนี้ เช่นเดียวกับการนั่งสมาธิ แล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาตามร่างกาย ก็จะเกิดความกลัวความเจ็บ อยากให้ความเจ็บหายไป ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า ความเจ็บของร่างกายนี้ เป็นเหมือนกับเสียงที่เข้าไปทางหูแล้วก็รับรู้ด้วยวิญญาณ ความเจ็บก็เข้ามาทางร่างกายแล้วก็รับรู้ด้วยวิญญาณ แล้วก็เกิดความอยากให้ความเจ็บหายไป เกิดความทุข์ใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ถ้าพิจารณาว่าเป็นเหมือนกับรูปเสียงกลิ่นรส ที่ร่างกายสัมผัส ใจเป็นเพียงผู้รับรู้ เป็นผู้ดูร่างกาย  เป็นสักขีพยาน ใจไม่ได้สัมผัสความเจ็บปวดด้วย ถ้ารู้เฉยๆ ไม่มีความอยากให้ความเจ็บหายไป ก็จะไม่มีความทุกข์ใจ จะรับรู้ความเจ็บปวดของร่างกายได้อย่างไม่สะทกสะท้าน

 

ถ้าใจหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นร่างกาย พอร่างกายเจ็บก็จะเกิดตัณหาเกิดสมุทัยขึ้นมา อยากให้หายเจ็บ อยากจะหนีความเจ็บ ใจก็เลยเจ็บ คือเกิดทุกขสัจขึ้นมา ที่เกิดจากสมุทัยสัจ อยากให้ความเจ็บหายไป ถ้ามีปัญญาก็จะไม่หลง จะเฉยๆ รับรู้ไป ว่าตอนนี้ร่างกายเจ็บ ก็ปล่อยเขาเจ็บไป ใจก็ดูไป จะหายหรือไม่หายก็ไม่เป็นไร ถ้าใจไม่ดิ้นรน ไม่มีสมุทัย ใจจะไม่ทุกข์ จะรับรู้ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน นี่ก็คือการเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่าเวทนาเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เป็นอนัตตา สั่งเวทนาไม่ได้ ก็จะเฉยๆ เป็นอุเบกขา ไม่เกิดสมุทัย ไม่เกิดตัณหา ไม่อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ใจก็จะไม่ทุกข์ จะเย็นสบายมีความสุขไม่เดือดร้อน นี่คือการเห็นอริยสัจ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 

ควรเจริญสติสมาธิปัญญากันให้มาก ถ้ายังไม่มีสติก็ต้องเจริญสติก่อน ถ้ามีสติแล้วก็ต้องเจริญสมาธิ พอได้สมาธิแล้วถึงจะเจริญปัญญาได้ พอออกจากสมาธิก็ควรพิจารณาไตรลักษณ์เลย เตรียมพร้อมไว้ก่อน สอนใจไปก่อน เตรียมรับกับความเจ็บ เตรียมรับกับความตาย พอถึงเวลาก็จะทำข้อสอบได้ เพราะทำการบ้านมาอย่างโชกโชนแล้ว พอถึงเวลาก็รู้ว่าจะต้องตอบปัญหาอย่างไร ถ้าไม่ทำการบ้านไว้ก่อน พอถึงเวลาเข้าห้องสอบ จะสอบไม่ผ่าน ถ้าการพิจารณาไม่เป็นเหตุเป็นผล แสดงว่าสมาธิอ่อนกำลังลง กิเลสตัณหามีกำลังมากกว่า ก็ต้องหยุดพิจารณา แล้วกลับเข้าไปในสมาธิใหม่ ทำใจให้สงบเป็นอุเบกขาให้นานที่สุด แล้วค่อยออกมาพิจารณาใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนคิดว่าพร้อมที่จะเข้าห้องสอบ ก็ไปหาที่ทดสอบดู กลัวตรงไหนก็ต้องไปตรงนั้น กลัวความเจ็บก็ต้องนั่งให้เจ็บ กลัวคนตำหนิติเตียนดุด่าว่ากล่าว ก็ต้องไปหาครูบาอาจารย์ที่ด่าเก่งๆ ให้ท่านโขกท่านเขกหัวสับหัวให้เละไปเลย ดูว่าจะนิ่งเฉยได้หรือไม่ จะสาธุได้หรือไม่ เหมือนคุณหญิงคุณนายที่เล่าบอกหลวงพ่อองค์หนึ่งว่า ตั้งแต่ฟังเทศน์ของหลวงพ่อแล้ว ใจดิฉันไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่เลย หลวงพ่อก็ตอบไปว่าอีตอแหล นั่นแหละคือการเข้าห้องสอบโดยไม่รู้สึกตัว

 

อยู่กับครูบาอาจารย์นี่เหมือนกับเข้าห้องสอบ ท่านมีลูกเล่นเยอะ ทำให้ต้องคอยระมัดระวัง เวลาอยู่ต่อหน้าหลวงตานี่เหมือนขึ้นเวที ท่านจะขุดคุ้ยกิเลสให้อยู่เรื่อยๆ ที่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ดุๆก็ดีตรงนี้ ได้เข้าห้องสอบ ถ้าปฏิบัติอยู่คนเดียวจะหลงทางได้ ถ้ายังไม่เจอเหตุการณ์จริง ก็จะจินตนาการไปว่าหมดกิเลสแล้ว ถ้ายังไม่ได้เข้าสนามสอบกิเลสจะไม่โผล่ออกมา ต้องเข้าสนามสอบถึงจะเจอกิเลส เหมือนนักมวยที่ชกกระสอบทราย ชกกับคู่ซ้อมแล้ว ก็จะคิดว่าได้เป็นแชมป์แน่นอน ทั้งๆที่ยังไม่ได้ขึ้นเวทีเลย จะเป็นแชมป์ก็ต้องขึ้นเวที ไปเจอคู่ต่อสู้จริงถึงจะรู้ นี่ก็เหมือนกัน จะหลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้น ต้องเจอของจริง เป็นสันทิฏฐิโก ไม่ต้องไปถามใคร ถ้าหลุดจริงๆจะรู้ ไม่ต้องถามใคร ไม่มีพระอรหันต์องค์ไหนบ้าไปถาม ว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร

 

ขอให้พวกเราทุ่มเทชีวิตจิตใจ ให้กับการปฏิบัติทานศีลภาวนา ปฏิบัติทานศีลในเบื้องต้น ที่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติกันก็คือภาวนา คือเจริญสติสมาธิปัญญา ให้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ อย่าให้กิเลสเอาเวลาที่มีคุณค่านี้ไปทางกิเลส ไปวิตกกังวลกับสิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา คือทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง บุคคลต่างๆ สามีภรรยาบุตรธิดา ที่จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากไปในที่สุด เสียเวลาเปล่าๆไปกับสิ่งที่เป็นเหมือนฟองน้ำ ไม่มีสาระอะไร สิ่งที่มีสาระคือธรรมนี้กลับไม่เอากัน คือสติสมาธิปัญญา ธรรมจะทำให้เราได้วิมุตติ ได้การหลุดพ้น ได้นิพพานัง ปรมังสุขัง สิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีคุณประโยชน์กับจิตใจเลย นอกจากเป็นบันได ให้ขึ้นไปสู่มรรคผลนิพพาน ถ้าไม่เอามาใช้เพื่อก้าวไปสู่มรรคผลนิพพาน ก็จะเสียชาติเกิด ไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินเงินทอง และร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

 

ควรจะเอาทรัพย์สินกับร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงนี้ มาใช้กับการปฏิบัติธรรม อย่าเอาไปใช้กับการสะสมภพชาติ เสริมสร้างกิเลสตัณหาให้มีมากขึ้น นี่คือหน้าที่ของพวกเรา งานของพวกเรา เป็นงานที่มีวันเสร็จ งานทางโลกทำไปจนวันตายก็จะไม่มีวันเสร็จสิ้น นี่เดี๋ยวน้ำลดก็ต้องไปสร้างไปซ่อมบ้านกันใหม่ อีกไม่นานก็กลับมาท่วมใหม่ แล้วก็มาซ่อมมาสร้างกันใหม่ ทำอย่างนี้ไปจนถึงวันตาย ตายไปก็ไม่ได้เอาอะไรไปเลย บ้านก็ไม่ได้เอาไป ทรัพย์สินสมบัติข้าวของเงินทองก็ไม่ได้เอาไป เอาไปแต่ความทุกข์ความวิตก ความเสียดาย ความเสียใจ ถ้าปฏิบัติธรรมกัน ทำทานรักษาศีลภาวนา ก็จะได้มรรคผลนิพพานไป พอได้นิพพานแล้วงานของเราก็หมดแล้ว ไม่ต้องทำอีกแล้ว ถ้าเป็นนักศึกษาก็เรียนจบรับปริญญาแล้ว นี่ปีนี้ก็เป็นปีที่ ๗ แล้วนะ ปีสุดท้ายแล้วนะ ในมหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์แล้วว่า ถ้าปฏิบัติสติสมาธิปัญญา จะต้องได้มรรคผลนิพพานอย่างแน่นอน อย่างช้าก็ ๗ ปี ถ้าฉลาดและเก่งก็ภายใน ๗ วัน

 

ถาม  ถ้าเครียดเรื่องน้ำท่วม แต่ปฏิบัติยังไม่ก้าวหน้า ควรจะพุทโธให้ใจสงบก่อน หรือว่าพิจารณาไปเลยว่ากลัวอะไร

 

ตอบ  แล้วแต่ว่าเรามีความสามารถที่จะทำอย่างไร จะใช้สมาธิเป็นเครื่องแก้ปัญหาไปก็ได้ หรือจะใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ ให้เห็นทุกขังก็ได้ ถ้าแก้ด้วยสมาธิก็จะเป็นการแก้ชั่วคราว ไม่ได้ถอนรากถอนโคนของปัญหา คือความทุกข์ใจ ถ้าแก้ด้วยปัญญาได้แล้ว คราวหน้าน้ำท่วมก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าแก้ด้วยสมาธิก็เป็นการ เบี่ยงเบนจิตใจ ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องน้ำท่วม ให้ใจเข้าสู่ความสงบ พอใจสงบก็จะไม่ทุกข์ในขณะที่อยู่ในสมาธิ พอออกมาถ้ากลับไปคิดถึงเรื่องน้ำท่วมอีกก็จะทุกข์ได้อีก ก็ต้องใช้ปัญญา ถ้าไม่อยากจะทุกข์ซ้ำซาก ต้องพิจารณาว่าทรัพย์สินสมบัติต่างๆไม่ใช่ของเรา เป็นของยืมมา เป็นของธรรมชาติ ตอนนี้น้ำมาเอาคืนไป ห้ามเขาไม่ได้ ถ้ายอมให้ท่วมยอมให้เสียหายก็จะไม่ทุกข์

 

        เรายังมีชีวิตอยู่ ไปเดือดร้อนทำไม ยังสามารถทำอะไรได้อยู่ ยังปฏิบัติธรรมได้อยู่ เป็นโอกาสดี เพราะถูกบังคับให้เข้าห้องสอบ พร้อมหรือไม่พร้อมก็ต้องเข้า คนเราต้องจนตรอกก่อนถึงจะสู้ ถ้าไม่จนตรอกก็จะผัดไปเรื่อยๆ พอมันจนตรอกไม่มีทางผัด ก็จะปฏิบัติจะพิจารณาด้วยปัญญา ปัญญาก็จะเกิดขึ้นมา อย่างที่มีคำพูดที่บอกว่า ทุกข์บ่มีปัญญาบ่เกิด ถ้าไม่มีความทุกข์ก็จะไม่ใช้ปัญญากัน เวลาสุขจะใช้กิเลสกัน เวลาสุขก็อยากจะให้สุขไปนานๆ ก็จะไปหาความสุขมาเพิ่ม ไปเที่ยววันนี้แล้ว พรุ่งนี้ก็อยากไปเที่ยวอีก เป็นเรื่องของกิเลส เวลาทุกข์อย่างตอนนี้น้ำท่วม ไม่มีที่ไป ทำอะไรไม่ได้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ก็ต้องปฏิบัติ ต้องใช้ปัญญา

 

ถาม  จะเพิ่มกำลังของสติได้อย่างไร

 

ตอบ  ต้องเจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตื่นขึ้นมาก็ต้องตั้งสติก่อนเลย ว่าตอนนี้ใจอยู่กับร่างกายหรือเปล่า อยู่ที่นี่อยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า เพราะที่ตั้งของสติก็คือปัจจุบันนี่เอง ใจต้องอยู่กับปัจจุบันถึงจะมีสติ ปัจจุบันก็มีร่างกายนี้ ที่เราพาไปไหนตลอดเวลา ถ้าผูกใจติดไว้กับร่างกาย ก็จะมีสติ ให้เฝ้าดูร่างกาย เรียกว่ากายคตาสติ แต่การเจริญสติก็มีหลายวิธีด้วยกัน จะใช้อย่างอื่นแทนก็ได้ ใช้การบริกรรมพุทโธ ก็เรียกว่าพุทธานุสติ แต่จะทำให้ใจแกว่งไปแกว่งมาบ้าง เพราะเวลาใช้พุทธานุสติ แล้วทำงานไปด้วย ใจต้องจดจ่ออยู่ ๒ เรื่อง จดจ่ออยู่กับงานที่ทำ แล้วก็บริกรรมพุทโธ ถ้าสามารถเฝ้าดูการกระทำของร่างกายอย่างเดียวได้ ใจจะนิ่งกว่า แต่พุทธานุสตินี่ก็ใช้ได้ ถ้าสติไม่มีกำลังควบคุมใจให้เฝ้าดูร่างกายได้ ยังแวบไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ก็ต้องดึงมันกลับมา ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป อย่างนี้ก็จะมีสติอย่างต่อเนื่อง ต้องมีสติไปจนถึงเวลานอนเลย ถ้าฝึกอย่างนี้แล้ว เวลานั่งสมาธินี้ ใจจะไม่ลอยไปลอยมา พอให้อยู่กับพุทโธก็อยู่ ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็อยู่ พออยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ๕ นาที ๑๐ นาทีก็จะสงบตัวลง

 

ถาม  สติอ่อนกำลังตามร่างกายไหมครับ ยกตัวอย่างเวลาใกล้จะหลับมันก็จะค่อยอ่อนตัวลง เวลาตื่นขึ้นมาจะเริ่มมีมากขึ้นตามลำดับ

 

ตอบ  มีส่วน เวลาร่างกายเหนื่อยจะหลับง่าย

 

ถาม  สติจะอยู่คงที่ตลอดเวลาได้หรือไม่

 

ตอบ  อยู่ที่กำลังของสติ ถ้าขั้นมหาสติ จะไม่อ่อนตามร่างกาย แต่เวลาพักผ่อนร่างกายสติจะหยุดทำงาน พอตื่นขึ้นมาก็จะทำงานต่อโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับ ถ้าเป็นสติล้มลุกคลุกคลานนี้ เวลาลุกขึ้นมาต้องบังคับให้ตั้งสติ ถ้าเป็นมหาสติจะไม่ต้องบังคับ

 

ถาม  ต้องทำให้เกิดมหาสติขึ้นมา

 

ตอบ  เริ่มจากการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากล้มลุกคลุกคลานไปก่อน จากนั้นก็จะยืนได้เดินได้วิ่งได้ จะพัฒนาไปอย่างนั้น สติมีความสำคัญมาก จะมีสมาธิได้ก็ต้องมีสติ จะพิจารณาปัญญาได้ก็ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติก็จะถูกกิเลสดึงไปคิดเรื่องอื่นแทน ถ้าได้สติแล้ว พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่าภายใน ๗ ปี ต้องได้บรรลุธรรมอย่างแน่นอน พอได้สติแล้ว ก็จะได้สมาธิ ได้ปัญญา พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา จนปล่อยวางได้ละได้ ก็จะได้อุเบกขา ใจจะนิ่งเป็นกลาง

 

ถาม  อุเบกขากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนาเหมือนกันไหมครับ

 

ตอบ  เป็นคำเดียวกัน แต่เป็นคนละเรื่องกัน เวทนาเป็นเรื่องของขันธ์ อุเบกขาเป็นความสงบนิ่งของใจ ขันธ์เป็นอาการของใจ คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เขาเรียกว่าอาการหรือแขนขาของใจ เวทนาก็มีสุขมีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ ตามการสัมผัสรับรู้กับอายตนะภายนอก ถ้าเห็นภาพที่ไม่ชอบก็เกิดทุกขเวทนา เห็นภาพที่ชอบก็เกิดสุขเวทนา เห็นภาพที่เป็นกลางก็จะเกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนา เป็นเรื่องของขันธ์ ในขณะที่เกิดเวทนานี้ ก็จะมีทุกข์หรือไม่ทุกข์ในใจได้ด้วย ถ้าเกิดความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ทุกข์ในจิตกับทุกข์ในขันธ์เป็นคนละอย่างกัน อุเบกขาในจิตกับในอุเบกขาในขันธ์ก็เช่นเดียวกัน เวทนาขันธ์นี้เราควบคุมบังคับไม่ได้ แต่เราควบคุมบังคับอุเบกขาในจิตได้ ควบคุมด้วยสติปัญญา

 

ถาม  ตัดที่เวทนา

 

ตอบ  เวทนาตัดไม่ได้ ตัดที่สมุทัยที่ตัณหา ความอยากให้เวทนาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ต้องตัดตัวนี้ ปล่อยให้เวทนาเป็นไปตามธรรมชาติ เหมือนปล่อยฝนตกแดดออก ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าไปทุกข์ร้อนด้วย ถ้าต้องการให้ฝนหยุดก็จะสร้างสมุทัยขึ้นมาในใจ ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ความทุกข์ใจนี้เราดับได้ เพราะเป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ เหตุของความทุกข์ใจก็คือความอยาก เครื่องมือหรือเหตุที่จะทำให้ทุกข์ใจดับไปก็คือมรรค มรรคก็คือสติปัญญาสัมมาทิฐิ เห็นความจริงว่าเราบังคับเขาไม่ได้ เห็นว่าเป็นสัพเพธัมมาอนัตตา

 

ถาม  จะเจริญมรรคที่มีองค์ ๘ ได้อย่างไร

 

ตอบ  เจริญด้วยสัมมาวายาโมคือความเพียรชอบ เพียรเจริญสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป พอมีสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโป แล้ว สัมมากัมมันโตสัมมาวาจาสัมมาอาชีโวก็จะตามมา พอมีสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโปก็จะรู้ว่าทำบาปไม่ได้ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไม่ได้ ประพฤติผิดประเวณีไม่ได้ ลักทรัพย์ไม่ได้ พูดปดมดเท็จไม่ได้ มีความอยากไม่ได้ เพราะจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

 

พอมันได้สติได้สมาธิได้ปัญญาแล้ว ทุกอย่างจะชัดเจน จะเข้าใจไปเอง ปัญญานี้สามารถวิเคราะห์ได้ทุกอย่าง ทั้งเรื่องภายในและเรื่องภายนอก เรื่องของทางโลกก็วิเคราะห์ได้ แต่ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องภายในคือเรื่องทุกข์นี่ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จะดับได้อย่างไร เหมือนมีนิทานในพระไตรปิฎก ที่มีคนถูกยิงด้วยลูกศร มีคนจะมาช่วยรักษาให้ ก็บอกอย่าเพิ่งรักษา ช่วยไปดูก่อนว่า คนที่ยิงนี้เป็นใคร เป็นลูกของใคร เป็นชนชั้นใด ลูกธนูทำด้วยขนนกอะไร เหล็กชนิดใด ไม้ชนิดใด ถ้าไปหาข้อมูลเหล่านี้มาก็จะตายเสียก่อน เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อมูล ปัญหาอยู่ที่แผลที่ถูกลูกธนูยิง จะรักษาหรือไม่รักษา ไม่ต้องไปสนใจเรื่องโลกจะแตกหรือไม่แตก ไม่เกี่ยวกับเรา

 

ตอนนี้ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ ทุกข์ใจหรือไม่ทุกข์ใจ ถ้าทุกข์ใจก็ต้องหายามารักษา คือธรรมโอสถ คือมรรค ๘ พอมีมรรค ๘ ก็จะเห็นว่าทุกข์ใจเกิดจากความอยากต่างๆ พอใช้มรรค ๘ โปะไปที่แผลปั๊บ ความอยากก็หายไป ใจก็เป็นอุเบกขา ยอมรับความจริง อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะตายก็ตาย อะไรจะเป็นก็เป็น น้ำจะท่วมก็ปล่อยให้ท่วมไป หนีได้ก็หนี หนีไม่ได้ก็อยู่กับมันไป จนกว่าจะแยกทางกันไป ทุกอย่างจะต้องแยกออกจากใจไปหมด ร่างกายไม่ได้อยู่กับใจไปตลอด ใจเพียงมาครอบครองไว้ชั่วระยะหนึ่ง ตามเหตุตามปัจจัยของร่างกาย พอปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ร่างกายอยู่ต่อไปไม่มีแล้ว ร่างกายก็จะย่อยสลายไปในที่สุด ปัญหาก็คือว่าใจไม่ยอมแยก ยังยึดติด ความไม่ยอมแยก จึงสร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ พอยอมแล้วก็จะไม่เป็นปัญหา

 

ยอม หยุด เย็น เป็นสูตร ๓ ย ยอมให้ทุกอย่างไป ใจก็จะหยุดต่อต้าน หยุดความอยาก พอหยุดความอยาก ใจก็หายทุกข์ ใจก็เย็นสงบเป็นอุเบกขา ไม่ต้องศึกษาปริยัติอย่างละเอียดหรอก ศึกษาสติสมาธิปัญญา ๓ ตัวนี้ก็พอแล้ว ศึกษาพระไตรปิฎกข้างในนี้ คือใจเรานี่ พระพุทธเจ้าก็ทรงศึกษาที่พระทัยของพระองค์ ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ที่พระทัยของพระองค์ พระไตรปิฎกที่มี ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ออกมาจากพระทัยของพระองค์ ไม่ได้ออกมาจากไหน ไม่ต้องศึกษาพระไตรปิฎกทั้งตู้ เสียเวลาเปล่าๆ จะกลายเป็นใบลานเปล่าไป โปฐิละใบลานเปล่า รู้แต่ชื่อ แต่พอเจอตัวกลับไม่รู้ว่าเป็นใคร แทนที่จะฆ่ากิเลสกลับไปรับใช้กิเลส เป็นสมุนกิเลส ตัณหาความอยากนี้เราก็รู้ว่าเป็นเหตุของความทุกข์ใจ แต่พอตัณหาเกิดขึ้นมาปั๊บ สั่งให้ทำอะไรนี้ จะทำตามทันที สั่งให้ไปเที่ยว จะไปทันที ให้หาอะไรมาดื่ม จะทำตามทันที มันทำตามทันที อย่างนี้ความรู้ที่ศึกษาจากพระไตรปิฎก จะเป็นเหมือนใบลานเปล่า

 

อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระโปฐิละ ว่าเป็นใบลานเปล่า ศึกษาพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด จำได้หมด แต่ไม่ปฏิบัติ จำได้แต่ชื่อ แต่ไม่รู้จักตัว ไม่เคยต่อสู้กับกิเลสตัณหาเลย กลับเป็นสมุนของกิเลสตัณหาไป จนเกิดความสมเพชตัวเองว่า เวลาเจอพระพุทธเจ้าทีไรแทนที่จะชมกลับตำหนิ ก็เลยได้สติว่าทรงต้องการให้ปฏิบัติ จึงไปสำนักที่มีแต่พระอรหันต์อยู่ แต่พระอรหันต์ท่านก็จะทดสอบใจ ไปหาหัวหน้าท่านก็บอกว่าท่านสอนไม่ได้ เพราะมีพรรษาน้อยกว่า ไปขอกี่องค์ก็พูดเหมือนกัน พอถึงองค์สุดท้ายเป็นสามเณร ก็ขอศึกษาด้วย สามเณรก็ทำท่าจะไม่เอาเหมือนกัน พระหัวหน้าก็บอกสามเณรว่า ไม่สงเคราะห์ท่านสักหน่อยหรือ สามเณรก็เลยรับไปเป็นลูกศิษย์ ตอนต้นก็ทดสอบดูก่อนว่ามีทิฐิหรือเปล่า ทิฐินี้เป็นเหมือนน้ำชาเก่าที่อยู่ในแก้ว ถ้าจะเทน้ำชาใหม่เข้าไปในแก้ว ก็ต้องเทน้ำชาเก่าทิ้งไปก่อน สามเณรก็ต้องดูก่อนว่า พร้อมที่จะรับคำสอนหรือไม่ ก็เลยทดสอบดูว่าจะเชื่อฟังหรือไม่ ก็ใช้ล้างบาตร ล้างกระโถน ทำภารกิจรับใช้เณร บางทีก็แกล้งให้ลุยลงไปเอาของในน้ำ พอจะหยิบมาก็บอกไม่เอาแล้วเปลี่ยนใจ ท่านก็ไม่มีกิริยาอาการดื้อดึงหรือโมโหโทโส ยอมทำตามคำสั่งทุกอย่าง

 

พอสามเณรเห็นว่าไม่มีทิฐิแล้ว ก็เลยสอนวิธีจับกะปอมที่อยู่ในจอมปลวกว่า มีทางเข้าออก ๖ ทาง ให้ปิด ๕ ทาง เปิดไว้ทางเดียว แล้วก็เฝ้าดูอยู่ตรงนั้น กะปอมจะต้องเข้าออกตรงนั้น ก็จะจับได้ง่าย ถ้าเปิดไว้ทั้ง ๖ ทางจะจับยาก กิเลสก็มีทางเข้าออก ๖ ทางด้วยกัน คือตาหูจมูกลิ้นกายและใจ ให้ปิด ๕ ทาง ปิดตาหูจมูกลิ้นกาย ด้วยการไปปลีกวิเวก สำรวมอินทรีย์ ไปอยู่ในป่า เป็นสถานที่ที่ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่จะเป็นทางให้กิเลสเข้าออก กิเลสก็จะเข้าออกที่ใจ คิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ ให้มีสติเฝ้าดูที่ใจ เวลาปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา ก็จะรู้ว่าเป็นทุกข์ ถ้ามีสมาธิจะเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะเวลากิเลสทำงานใจจะกระเพื่อม ก็จะรู้ว่าเป็นกิเลส คิดอย่างนี้ไม่ได้ กลัวตายไม่ได้ กลัวเจ็บไม่ได้ กลัวน้ำท่วมไม่ได้ ไม่นานพระโปฐิละก็ได้บรรลุธรรม

 

โพชฌงค์นี้ก็เป็นมรรคเหมือนกัน เป็นมรรคในอีกรูปแบบหนึ่ง พละ ๕ นี้ก็เป็นมรรคเหมือนกัน ทานศีลภาวนาก็เป็นมรรค ศีลสมาธิปัญญาก็เป็นมรรค ทรงแสดงมรรคไว้หลายรูปแบบ เพราะบุคคลที่ทรงสอนนี้ มีภูมิมีจริตต่างกัน ทรงแสดงธรรมไปตามภูมิตามจริตของผู้ฟัง แต่เป็นมรรคเหมือนกัน สติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นมรรค ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็เป็นมรรค อนัตตลักขณสูตรก็เป็นมรรค พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระธรรมคำสอนของพระองค์มีอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ถึงแม้จะมีมากมายถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่มีรสเดียวคือรสเค็ม พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีรสเดียวเช่นกัน คือทุกข์และวิธีการดับทุกข์ เรียนรู้แล้วก็ต้องเอามาปฏิบัติ ถ้าเอามาวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร จะถูกหลอกว่ารู้แล้วบรรลุแล้วก็ได้

 

ถาม  ควรไปกราบหลวงปู่มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส หรือไปกราบครูบาอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ตอบ  ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่สามารถให้ธรรมะ ให้แสงสว่างกับเราได้ ก็ควรไปกราบท่าน ถ้ากราบหลวงปู่มั่นก็จะได้เพียงรำลึกถึงพระคุณของท่าน ไม่ได้แสงสว่างแห่งธรรม แต่การไปกราบครูบาอาจารย์ที่มรณภาพไปแล้วก็ไม่เสียหายตรงไหน ขึ้นอยู่ที่ว่าเราต้องการอะไร ถ้าคิดถึงพระคุณของท่าน อยากจะไปกราบแสดงความกตัญญู แสดงความเคารพ ก็ไปกราบได้ ถ้าต้องการยารักษาใจ ต้องการธรรมโอสถ ก็ต้องไปหาผู้ที่สามารถสอนให้เรามีดวงตาเห็นธรรม

 

ถาม  เวลามีสิ่งมากระทบ อ่านข่าวแล้วเกิดอารมณ์ไม่พอใจ แล้วเกิดสติรู้ทัน ก็พิจารณาว่าทำไม เพราะอะไร จนอารมณ์ความรู้สึกเบาบางลงไป แล้วก็กลับมาบริกรรมต่อ

 

ตอบ  ถ้าใจสงบแล้ว จะบริกรรมก็ได้ ไม่บริกรรมก็ได้ ถ้าใจทุกข์กับสิ่งที่ได้ยิน ก็ต้องใช้สมาธิหรือใช้ปัญญาแก้ ถ้าใช้สมาธิก็ให้บริกรรมไป ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องที่ได้ยินมา จนกว่าจิตจะสงบแล้วลืมเรื่องนั้นไป ถ้าจะใช้ปัญญาก็พิจารณาว่าเป็นธรรมดาของโลก มีเจริญมีเสื่อม มีสุขมีทุกข์ แต่ใจเรามีอคติ ชอบฟังแต่เรื่องสุขเรื่องเจริญ พอได้ยินเรื่องทุกข์เรื่องเสื่อมก็จะหดหู่ใจ ต้องสอนใจว่า ต้องฟังได้ทั้ง ๒ เรื่อง เรื่องสุขก็ได้ เรื่องเจริญก็ได้ เรื่องทุกข์ก็ได้ เรื่องเสื่อมก็ได้ เพราะเราไม่สามารถไปสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ ให้สักแต่ว่ารู้ แล้วก็ปล่อยวาง อย่าไปมีปฏิกิริยา ถ้ามีปฏิกิริยาก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 

เรื่องจะร้ายแรงขนาดไหนก็ต้องยอมรับ จะเกิดขึ้นกับใครก็ตาม ถ้าแก้ไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับมันไป แม้แต่ความตายก็ต้องอยู่กับมันไป ยอมรับมันไป ต้องทำใจเป็นเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ สมมุติว่าถ้าต้องหยุดหายใจขณะนี้ ถ้าใจรู้แล้วเฉยได้ ก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ บรรลุได้ ถ้าหายใจไม่ออกแล้วตกใจกลัว แสดงว่าสอบตก จะสอบผ่านก็ต้องเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนนี้เป็นอย่างไร ตอนที่จะตายก็ต้องเป็นอย่างนั้น ทำใจให้เฉยเหมือนตอนนี้ จะเฉยได้ก็ต้องมีสติมีสมาธิมีปัญญา ที่เราต้องเจริญให้มาก พอมีมากแล้วจะรักษาใจให้นิ่งเฉยได้ ถ้าไม่มีก็จะถูกกิเลสดึงไป จะเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา ต้องปฏิบัติให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่พวกเราไม่ปฏิบัติกัน ไม่ตั้งสติกัน ปล่อยให้ใจไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ พอไปเจออารมณ์ไม่ดีก็หยุดไม่ได้ จึงต้องหัดหยุดให้ได้ ต้องสร้างอุเบกขาให้เกิดขึ้น ด้วยการเจริญสติและสมาธิ พอมีอุเบกขาแล้วก็เจริญปัญญา เตรียมรับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ต้องพร้อมอยู่ทุกเวลา ถ้าพร้อมแล้วจะไม่ตื่นตระหนก ไม่ทุกข์ทรมานใจ จะตั้งอยู่ในความสงบ เหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้

 

ถาม  เดี๋ยวนี้เขานิยมให้คิดในเชิงบวก คิดไปก็ไม่ได้แก้ปัญหา

 

ตอบ  เพราะเป็นกิเลส อยากได้ ไม่อยากเสีย ถึงแม้จะคิดในเชิงบวกอย่างไร ก็ต้องคิดเผื่อเสียอยู่ดี ไม่อย่างนั้นจะซื้อประกันภัยไว้ทำไม ต้องประกันความเสี่ยงอยู่ดี คิดในเชิงบวกเพื่อไม่ให้ท้อแท้หมดกำลังใจ คิดว่าข้างหน้ายังมีโอกาส อย่างน้ำท่วมนี้ถ้าคิดในเชิงบวกก็ต้องคิดว่า ไม่เป็นไรน้ำลดแล้วค่อยว่ากันใหม่ ถ้าคิดในเชิงลบก็จะท้อแท้เบื่อหน่าย หมดกำลังใจ การคิดในเชิงบวกนี้ ต้องคิดตามหลักความจริง ว่ามีทั้งบวกมีทั้งลบ ลาภยศสรรเสริญสุข มีทั้งบวกมีทั้งลบ เป็นโลกธรรม ๘ มีเจริญและเสื่อม แต่พวกเราจะคิดแต่ด้านบวก ต้องเจริญลาภเจริญยศสรรเสริญสุขอย่างเดียว คิดอย่างนี้เป็นกิเลส ถ้าคิดทางธรรมก็ต้องคิดว่า มีเจริญมีเสื่อม เป็นของคู่กัน เจริญลาภเสื่อมลาภ เจริญยศเสื่อมยศ มีสรรเสริญมีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ สลับกันไป ต้องรับได้ทั้ง ๒ ส่วน แต่พวกเราจะรับได้แต่ส่วนที่เจริญเท่านั้น พอเวลาเจอความเสื่อม อย่างเช่นตอนนี้ เสื่อมทรัพย์เสื่อมลาภไป เสียทองไป ๒ บาท ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะไม่คิดไว้ล่วงหน้าก่อนว่าจะเสื่อม

 

พวกเราต้องคิดทั้งทางบวกและทางลบ ในเรื่องลาภยศสรรเสริญสุข ต้องคิดเผื่อไว้ แต่เรื่องใจนี้คิดทางบวกได้เสมอ เพราะใจไม่ได้ไม่เสียกับอะไรเลย ไม่ว่าร่างกายจะเป็นอะไร ใจไม่ได้เป็นไปด้วย ใจไม่ต้องไปเดือดร้อนกับร่างกาย กับลาภยศสรรเสริญสุข นี่คือคิดทางบวก พวกเราสามารถทำใจให้มีแต่ความเจริญอย่างเดียวได้ กลับไม่ทำกัน ปฏิบัติทานศีลภาวนาไปสิ จะเจริญอย่างเดียว ไม่มีทางเสื่อม จะเจริญไปถึงนิพพานเลย ปรมัง สุขัง ไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันทุกข์ คิดทางบวกให้คิดอย่างนี้ คิดทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนา นี่แหละเป็นการคิดทางบวกที่ถูกต้อง ถ้าคิดในเรื่องโลกธรรม ว่าต้องเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย ก็จะหลอกตัวเอง เพราะทุกอย่างมีเจริญก็ต้องมีเสื่อม มีเกิดก็ต้องมีตาย ให้คิดอย่างนี้ เวลาเสื่อมหรือตาย จะได้ไม่เสียหลัก ไม่ทุกข์ทรมานใจ